Monday, 4 July 2016

กระดาษ จุดเริ่มต้นของเสรีภาพ - Paper, a freedom material

ญี่ปุ่นมีบริษัทผลิตกระดาษแบบตะวันตกบริษัทแรกตั้งแต่ปี 1873 ที่ตำบล Horifune อำเภอ Oji เขต Kita-ku กรุงโตเกียว. ในปี 1950 ได้เปลี่ยนที่ตั้งตรงนั้นให้เป็นพิพิธภัณฑ์กระดาษ และตั้งแต่ปี 1998 เป็นต้นมา พิพิธภัณฑ์กระดาษได้ย้ายไปอยู่ในอาคารสี่ชั้นภายในบริเวณสวนสาธารณะ Asukayama 飛鳥山公 [อะซือก้ะยาม่าโกเอ็ง] อำเภอ Oji . สวนนี้มีชื่อว่าเป็นจุดชมซากุระสำคัญจุดหนึ่งของโตเกียว มีภาพพิมพ์สมัยเมจิปี 1890 ที่บันทึกภาพจักรพรรดิ, จักรพรรดินี, เจ้าชายรัชทายาทและสตรีชาววังไปเดินเล่นที่นั่น.

ภาพผลงานของ Toyohara Chikanobu circa 1890.  เครดิตภาพ artsanddesignsjapan.com via Wikimedia.commons, Public domain. 

ยังมีภาพพิมพ์อื่นที่ยืนยันความสำคัญของสวนนี้สำหรับชาวเมืองหลวง เพราะอยู่ไม่ไกลจากกรุงโตเกียว มีรถไฟจากสถานี Ikebukuro ตรงถึงเลยในเวลา 14 นาที.

สวน Asukayama ในภาพพิมพ์ของ Utagawa Hiroshige 歌川 (1797-1858)

ภาพยืนยันความนิยมไปชมซากุระ “hanami” ที่นั่นในยุคปัจจุบัน

วันเวลาที่ไป คือพฤษภาคม ต้นซากุระเขียวชอุ่มร่มรื่น

สนามเด็กเล่น

บิดามารดากับลูกๆไปเที่ยวสวนด้วยกัน มีกิจกรรมด้วยกันเสมอ

ด้านหนึ่งตรงทางเข้าพิพิธภัณฑ์กระดาษ

พิพิธภัณฑ์กระดาษที่ข้าพเจ้าไปเยือนมานี้ ได้รวบรวมสรรพสิ่งที่เกี่ยวข้องกับกระดาษและการพิมพ์เป็นจำนวนถึง 40,000 ชิ้น และมีหนังสือเกี่ยวเนื่องกับหัวข้อเรื่องกระดาษอีกประมาณ 10,000 เล่ม. พื้นที่ทั้งหมดในอาคารสี่ชั้นรวมกันคือ 2,267 ตารางเมตร แบ่งการจัดนิทรรศการออกเป็นสามหัวข้อหลักดังนี้ คือ

๑) อุตสาหกรรมกระดาษในยุคสมัยใหม่ เครื่องจักรในการผลิตทุกขั้นตอน รวมทั้งมีมุมให้นั่งดูวีดีโอกระบวนการผลิตกระดาษในสมัยใหม่ (เป็นภาษาญี่ปุ่น)








มุมดูวีดีโอ ม้านั่งที่เห็นห้าตัวในภาพบน ทำด้วยกระดาษ

๒) นิทรรศการความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างภายในของกระดาษ เยื่อกระดาษเป็นเช่นใด จากพืชพันธุ์อะไร ตลอดจนการนำกระดาษที่ใช้แล้วมาผ่านกระบวนการใดเพื่อผลิตกลับเป็นกระดาษใหม่สำหรับใช้ต่อไปเป็นวงจร. ทั้งหมดนี้แสดงไว้อย่างชัดเจน พร้อมสรรพสิ่งที่เป็นกระดาษ การจำแนกประเภทของกระดาษ การนำส่งสู่โรงงานรีไซเคิลกระดาษ พร้อมแผนภูมิและภาพประกอบ เพื่อปลูกฝังความรู้เกี่ยวกับกระดาษให้สาธารณชน และโดยเฉพาะให้แก่นักเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาขึ้นไป แต่ละโรงเรียนจัดพานักเรียนมาดูนิทรรศการ มีคอมพิวเตอร์ให้นักเรียนร่วมตอบคำถามในรายการ <ปุจฉา-วิสัชนา>

๓) ประวัติของกระดาษในโลก ที่รวบรวมความรู้ของการผลิตกระดาษในชาติต่างๆตั้งแต่เมื่อ 2000 ปีก่อนคริสตกาลกับอารยธรรมอีจิปต์ เรื่อยลงมาถึงชาวจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ประเทศในยุโรปและชาวเอเชียอาคเนย์ (ในส่วนที่เกี่ยวกับเอเชียอาคเนย์มีข้อมูลน้อยมาก).

แผนผังแสดงการแผ่กระจายของความรู้ในการทำกระดาษจากประเทศจีนไปสู่ดินแดนต่างๆ

(ไหนๆเขามีแผนผังแบบนี้ให้ ข้าพเจ้าเลยขอสรุปเรื่องการทำกระดาษ ที่ได้อ่านมาจากข้อมูลความรู้อื่นๆมาเสริมเข้าตรงนี้สำหรับผู้สนใจทั่วไป ข้อมูลภาษาญี่ปุ่นที่มีที่นั่น สุดจะนำมาถ่ายทอดได้ และก็มีไม่ละเอียดเท่าข้อมูลในภาษาอังกฤษหรือฝรั่งเศส). มีบันทึกว่า ราวสามศตวรรษก่อนคริสตกาล ในสมัยจักรพรรดิจิ๋นซี มีการทำกระดาษขึ้นใช้แล้วในจีน. ในยุคปัจจุบันเมื่อมีการขุดสุสานโบราณในจีนยุคราชวงศ์ฮั่น (207 BC-9AD) ค้นพบผ้าไหมห่อจารึกลัทธิเต๋าของเล่าจื้อผู้เกิดในราวปี 604 ก่อนคริสตกาล. แต่หลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับศิลปะการทำกระดาษอย่างเป็นเรื่องเป็นราวนั้น เจาะจงปีคศ. 105 เมื่อ Tsai Lung ขุนนางผู้มีหน้าที่ดูแลกิจการด้านเกษตรกรรมของแผ่นดิน เป็นผู้วางมาตรฐานและส่งเสริมการใช้กระดาษอย่างจริงจังเป็นคนแรก พร้อมรายละเอียดว่าเป็นกระดาษที่ทำจากเยื่อไม้ไผ่, จากเปลือกต้นหม่อนและโดยเฉพาะจากต้นลินินและป่านเป็นสำคัญ (บางข้อมูลบอกว่ามีกระดาษทำจากไหมด้วย).

      พระสงฆ์ชาวญี่ปุ่นได้เรียนรู้การทำกระดาษและสืบทอดการทำกระดาษต่อในญี่ปุ่นในปีคศ. 610 เพื่อใช้บันทึกพระสูตร. ชาวญี่ปุ่นได้พัฒนาทักษะและฝีมือการทำกระดาษอย่างไม่ลดละ รวมทั้งมีพืชพันธุ์ไม้คุณภาพดียิ่งสำหรับการทำกระดาษ. ดังนั้นตั้งแต่ปีคศ. 800 เป็นต้นมา ญี่ปุ่นเป็นเจ้าแห่งการทำกระดาษที่ไม่มีผู้ใดเสมอเหมือนทั้งในด้านคุณภาพ สีและการนำกระดาษมาใช้ในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของญี่ปุ่น

       เมื่อชาวอาหรับแผ่อิทธิพลไปบนเส้นทางสายไหมในปี 751 กองทัพจีนในยุคนั้น (ราชวงศ์ถัง) ได้ทำสงครามกับพวกอาหรับแถบลุ่มแม่น้ำ Talas ใกล้เมือง Samarkand (เป็นสงคราม 怛羅斯會 ในภาษาจีน) กองทัพจีนพ่ายแพ้และมิอาจกุมอำนาจบนเส้นทางสายไหมด้านตะวันตกต่อไปได้ ชาวอาหรับจึงมีอิทธิพลในแถบนั้นต่อมาอีกสี่ร้อยกว่าปี พ้นจากการควบคุมของจีนตั้งแต่นั้น. นักโทษจีนถูกชาวอาหรับนำตัวไปยังดินแดนตะวันออกกลาง.  เอกสารจากหลายแหล่งยืนยันเหมือนกันว่า นักโทษจีนเหล่านั้นเองที่ได้สอนเทคนิคการทำกระดาษให้แก่ชาวอาหรับ.

      ชาวอาหรับเรียนรู้อย่างรวดเร็วและตระหนักถึงประโยชน์ของการมีกระดาษเพื่อเผยแผ่อิสลามไปในโลก. ทั้งได้ทดลองนำใยฝ้ายเข้าไปช่วยเพื่อให้ได้กระดาษสีขาวกว่า แต่ไม่สำเร็จนัก. อย่างไรก็ดี อิสลามเริ่มใช้กระดาษเป็นเวกเตอร์สำหรับการสื่อสาร จนพูดได้ว่า “กระดาษ” คือการสื่อสารมวลชนขนาดใหญ่ที่สุดชนิดแรกของมนุษย์. อิสลามแผ่ออกไปครอบครองดินแดนกว้างไกลออกไปๆทางทิศตะวันตก. หลักฐานทางโบราณคดีระบุการมีกระดาษใช้ที่เมืองแบกแดดแล้วในปี 793, ที่กรุงไคโรในปี 900, ที่ Xàtiva (หรือเมือง San Felipe ในสเปนปัจจุบัน) ในปี 1056, ที่เกาะซิซิลีในปี 1102, ที่มอร็อคโคในปี 1184 มีโรงงานผลิตกระดาษมากกว่า 400 แห่งแล้ว, ที่เมือง Fabriano ในอิตาลีในปี 1276, และเข้าถึงฝรั่งเศสในตอนต้นศตวรรษที่ 14. ชาวอาหรับจึงเป็นผู้เผยแผ่การทำกระดาษจากจีนไปสู่โลกตะวันตก.

       ยุโรปเริ่มรู้จักผลิตกระดาษตั้งแต่ศตวรรษที่ 13. ในปี 1440 เมื่อ Gutenberg ประดิษฐ์ตัวอักษรที่นำเข้าออกไปเรียงใหม่เป็นคำใหม่ตัวใหม่ได้ไม่สิ้นสุดบนแท่นพิมพ์ ถือเป็นการปฏิวัติครั้งสำคัญที่สุดในวัฒนธรรมโลก ที่ตามด้วยยุคการปฏิรูปศาสนา(1515-1570) กำเนิดของนิกายโปรเตสแตนต์.

        สรุปสั้นๆในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องของเราคือ วิทยานิพนธ์ 95 หัวข้อ(Die 95 Thesen, 1517) ของ Martin Luther (1483-1546) เสนอและอภิปรายจุดยืนหลักสองประการของเขาว่า

๑) คัมภีร์ไบเบิลต้องเป็นหัวใจของศาสนา เป็นบทบัญญัติเดียวที่ต้องยึดมั่น และ ๒) มนุษย์สามารถหลุดพ้นจากบาปได้ด้วยศรัทธา ความรักและความหวังในพระเจ้า ในพระเมตตาของพระองค์. มิใช่ด้วยการเอาใจพระเจ้า, มิใช่ด้วยการทำบุญ. การทำนุบำรุงศาสนามิใช่การแก้บาป, มิใช่การซื้อบุญ ดังที่ศาสนจักรเทศน์สั่งสอนเสมอมาเพื่อเรี่ยไรทรัพย์สินเงินทองจากคริสต์ศาสนิกชน (ฟังไม่ผิดไปจากการทำบุญเพื่อซื้อที่ในสวรรค์).

      งานประพันธ์ของ Martin Luther เป็นจุดหักเหสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ศาสนาและวัฒนธรรมในยุโรป. ความคิดดังกล่าวนำไปสู่ความแตกแยกในศาสนาคริสต์อย่างเด็ดขาดและถาวร. กลายเป็นสองลัทธิคาทอลิกและโปรเตสแตน์ในเวลาต่อมา. ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้เช่นกัน ที่เริ่มมี การแปลคัมภีร์ และงานประพันธ์ของนักปราชญ์ทางศาสนาเช่นของนักบุญ Augustine (340-430) เพื่อเปิดโอกาสให้ปัญญาชนเข้าถึงพระคัมภีร์  ให้อ่าน ตรึกตรองและทำความเข้าใจคัมภีร์โดยตรงเลย จึงมีการตีพิมพ์คัมภีร์ออกมาจำนวนมาก เพื่อให้คัมภีร์เป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณของชาวคริสต์ทั้งหมด.  

      ประเด็นนี้ถือเป็นการปฎิวัติวัฒนธรรมที่มีนัยสำคัญมากเช่นกัน. ลูเธอร์ได้แปลคัมภีร์จากภาษาละตินเป็นภาษาเยอรมัน. เช่นนี้เองที่ กระดาษได้เป็นวัสดุสำคัญในการถ่ายทอดคัมภีร์สู่สามัญชน และการพิมพ์ที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วในยุโรป ได้เปิดศักราชของการเรียนรู้และการเขียนออกไปไกลสุดขอบฟ้า ไม่มีพรมแดนใดขวางกั้นอีกต่อไป. ตลาดหนังสือเริ่มขยายวงกว้างออกไป ออกจากวัดอาราม จากกลุ่มนักบวชสู่ชนชั้นสูงและชนชั้นกลาง. ชนชั้นกลางผู้ร่ำรวยขึ้นมา กลายเป็นผู้ส่งเสริมและเผยแผ่ศิลปวิทยาแทนพวกนักบวช. การอ่านและการเขียน มิใช่อภิสิทธิ์ของชนชั้นใดเป็นพิเศษแล้ว แต่เป็นสิทธิมนุษยชนสากล. ความสำคัญของกระดาษจึงยิ่งถูกยกขึ้นสูง เป็นอันดับแรกๆในวิถีชีวิตของคน.

      อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจและสำคัญมากในพิธีกรรมของนิกายโปรเตสแตนต์ คือ ดนตรีศาสนา. จนถึงต้นศตวรรษที่ 16 ดนตรีศาสนาที่ร้องกันในวัดอารามและโบสถ์คาทอลิกเป็นภาษาละตินและกลุ่มนักบวชประจำวัดแต่ละแห่งเป็นผู้ขับร้อง. ลูเธอร์เป็นคนรักดนตรี เขาแต่งดนตรีสำหรับใช้ในพิธีกรรมของวัดหลายบท. คณะปฏิรูปศาสนาสนับสนุนและต้องการให้ชาวคริสต์หรือประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการสวดการร้องเพลงสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าด้วย นั่นคือการร้องพร้อมกันทั้งหมดในวัดไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย เด็กหรือผู้ใหญ่.  เกิดการพัฒนาดนตรีศาสนา การประพันธ์ดนตรีและคำร้องโดยนำเนื้อหาจากคัมภีร์มาใส่ในเพลง. ทำนองเพลงที่ใช้ บ้างก็มาจากทำนองเพลงพื้นบ้านที่ชาวเยอรมันคุ้นเคยกันอยู่แล้ว ทำให้ทุกคนเข้าร่วมร้องเพลงด้วยกันได้ไม่ยากเลย. เอื้อให้เกิดความรู้สึกร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวทั้งในชุมชนและในศรัทธา. เป็นกระบวนการสร้างความปรองดองที่วิเศษที่สุด ที่ต้องจริตและสอดคล้องกับความรักความสนใจดนตรีของชาวเยอรมัน. กล่าวได้ว่า นิกายโปรเตสแตนต์มีส่วนปลูกฝังความรักดนตรีในจิตวิญญาณของชาวเยอรมัน. (ในศตวรรษที่ 18 นักประพันธ์ดนตรีศาสนาชาวเยอรมันที่ชาวโลกยกย่องชื่นชมมากคือ Johann Sebastian Bach, 1685-1750 ยังมีนักประพันธ์ดนตรีคนอื่นๆ ). ดนตรีศาสนาในที่สุดจึงส่งเสริมการใช้กระดาษและการพัฒนากระดาษเพื่อบันทึกงานประพันธ์ บทเพลงบทสวดต่างๆ และเผยแผ่แก่ศาสนิกทุกคน.

       ส่วนในญี่ปุ่น สถิติระบุว่า ในปลายปีคศ. 1800 มีไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนครอบครัวที่สืบทอดการทำกระดาษด้วยมือตามขนบโบราณ. ในศตวรรษที่ 19 เมื่อชาวยุโรปเข้าสู่ญี่ปุ่นและได้นำเทคโนโลยีการผลิตกระดาษด้วยเครื่องจักรและเมื่อชาวฝรั่งเศสนำเทคนิคการพิมพ์กระดาษเข้าไปตั้งในญี่ปุ่น เกิดกระแสคลั่งทุกอย่างที่เป็นตะวันตก ทำให้การทำกระดาษญี่ปุ่นตามแบบดั้งเดิมลดน้อยลงไปเรื่อยๆ. ในปีคศ.1983 เหลือครอบครัวผู้สืบทอดการทำกระดาษญี่ปุ่นด้วยมือเพียง 479 แห่งเท่านั้น. ปัจจุบันนี้อุตสาหกรรมการทำกระดาษด้วยมือในญี่ปุ่น ยังต้องเผชิญกับคู่แข่งอื่นๆในตลาดโลกเพราะอินเดีย ไทยและเนปาล เริ่มผลิตกระดาษสาออกขายในราคาถูกกว่าเพราะระดับค่าครองชีพในประเทศเหล่านี้ต่ำกว่ามาก.  

       พิพิธภัณฑ์ได้แสดงขั้นตอนการทำกระดาษ washi [วาชิ]ไว้ ด้วยหุ่นจำลองขนาดเล็ก หุ่นทั้งหมดก็ทำจากกระดาษ washi ด้วยเช่นกัน.

     คำ นี้อักษรตัวแรก แปลว่า เอกภาพ, ดุลยภาพ ฯลฯ เป็นชื่อเดิมที่ใช้เรียกชนชาติญี่ปุ่น. ญี่ปุ่นอ่านว่า Wa หรือ Yamato มาจากคำจีน ที่แปลว่า คนแคระ. คำว่า “วา” จึงแปลว่า ญี่ปุ่น เช่น wagyu เนื้อ(วัว)ญี่ปุ่น. น่าสนใจว่าอาจเป็นคำที่คนจีนเรียกชาวเกาะญี่ปุ่นในสมัยก่อนๆดังปรากฏในจารึกจีนโบราณและใช้มาจนถึงศตวรรษที่แปด ญี่ปุ่นจึงเปลี่ยนมาใช้อักษร แทน. อักษรตัวที่สอง แปลว่า กระดาษ.  

      มีกระดาษ washi แบบต่างๆ ความหนาต่างๆให้จับให้สัมผัสเพื่อให้รู้จักความแตกต่างอย่างถ่องแท้. กระดาษญี่ปุ่นทำจากไยเปลือกไม้ เจาะจงไว้ว่าจากต้น Kozo [โกโสะ] (Broussonetia papyrifera), ต้น Mitsumata ミツマタ (Edgeworthia chrysantha), ต้น Ganpi 雁皮 [กังปี] (Diplomorpha sikokiana) และก็มีกระดาษที่ทำจากเยื่อไม้ของต้นไผ่, ต้นป่าน, ต้นข้าวและต้นข้าวสาลีด้วย. ในสวนของพิพิธฑภัณฑ์ปลูกต้นไม้ที่ใช้ทำกระดาษให้ได้เห็นกันชัดๆโดยเฉพาะสามต้นสำคัญที่กล่าวมาที่มีคุณสมบัติเหนียวและทนทาน ที่เป็นวัตถุดิบพิเศษที่ทำให้คุณภาพกระดาษญี่ปุ่นนั้นเลื่องลือไปทั่วโลกตั้งแต่ต้นคริสตกาล. ในยุคเดียวกันนั้น ยุโรปยังไม่มีความรู้เรื่องกระดาษเลย.




หุ่นประกอบสาธิตการทำกระดาษตามขั้นตอนโบราณ

      ในพิพิธภัณฑ์ ยังมีพื้นที่สำหรับจัดนิทรรศการเฉพาะวาระที่เปลี่ยนทุกสองถึงสามเดือน และพื้นที่สำหรับสอนการทำกระดาษญี่ปุ่นแก่ผู้สนใจอีกด้วย (ต้องติดต่อล่วงหน้า). ที่นั่นเขาภูมิใจกันว่า เป็นพิพิธภัณฑ์กระดาษที่ครบวงจรที่สุดแห่งหนึ่งในโลก.

        ขอนำข้อมูลเพิ่มเติมและภาพประกอบอื่นๆที่ได้อ่านมาจากเพจต่างๆในอินเตอเน็ต โดยเฉพาะที่ japanesepaperplace ที่ได้สาธยายความพิเศษของกระดาษญี่ปุ่น washi ไว้อย่างละเอียด. นำมาเล่าเพื่อให้เป็นแนวทางการพัฒนาคุณสมบัติของกระดาษไทย หรือการรู้จักเจาะจงจูงใจในผลิตภัณฑ์ (แบบโฆษณาชวนเชื่อ) ให้ฟังดูน่าเชื่อถือ (ที่ไม่ใช่การโกหกหรือยกเมฆ). เขาระบุว่า

๑) กระดาษ washi ให้สัมผัสที่อบอุ่น นุ่มมือ จึงเหมาะที่จะนำไปใช้ทำบัตรอวยพรและหนังสือ.

๒) กระดาษ washi ใช้เยื่อไม้ที่เป็นเส้นยาว ทุบและยืดออกไปราบเรียบ ไม่หักหรือตัดเยื่อไม้ให้สั้นลง. จึงได้มวลเยื่อไม้บริสุทธิ์กว่า มีคุณภาพเสมอกันตั้งแต่ต้น กลางถึงปลายกระดาษ.  ในสมัยก่อนกระดาษ washi ที่ทำจากเยื่อไม้บริสุทธิ์ไม่มีอะไรเจือปนนั้น นำไปเย็บเป็นเสื้อ หรือเป็นชั้นซับในของชุดกิโมโน. (ดูภาพในข้อต่อไปข้างล่างนี้)

๓)  การใช้เยื่อไม้ที่ยาวๆและอาศัยธรรมชาติที่ดีเยี่ยมของวัตถุดิบ ทำให้กระดาษ washi ทนต่อการเปียกน้ำ จึงเป็นกระดาษที่ไม่ยุ่ยสลาย  เหมาะกับการทำเป็น papier mâché [ปาปิเอ มาเช่] (ที่ต้องใช้แป้งเปียกเมื่อประกอบเป็นรูปลักษณ์ใด) หรือการทำภาพพิมพ์โลหะที่ต้องแช่ลงในน้ำ. เยื่อไม้เส้นยาวๆยังทิ้งลักษณะละเอียดของมันไว้เป็นขอบของกระดาษ ยืนยันการผลิตด้วยมือของกระดาษแผ่นนั้น.

แมวกวักจากกระดาษ papier mâché ประดับด้วยภาพสีสันสวยงาม

อัลบัมโปสการ์ดจากปี 1880 ที่ทำจาก Papier mâché 

ภาพจาก AntiquesAtlas.com

ตุ๊กตาญี่ปุ่นจากกระดาษ papier mâché มองดูเหมือนเครื่องปั้นดินเผาเนื้อละเอียด

ตุ๊กตา Ichimatsu ในชุดประจำชาติยุคปี 800/1200 

ที่ทำจากกระดาษ papier mâché

๔) เยื่อไม้จากต้น Kozo และต้น Mitsumata โปร่งแสงตามธรรมชาติของมัน เป็นคุณสมบัติพิเศษของต้นไม้สองพันธุ์นี้ในตะวันออก ดังนั้นเยื่อไม้จากสองต้นนี้จึงนำไปใช้ในการถ่ายทอดหรือส่งผ่านแสงสว่าง. (ดูภาพตะเกียงข้างล่างต่อไป)      

๕) ธรรมชาติของเยื่อไม้ ทำให้มันซึมซับหมึกและสี. กระดาษที่ทำจากเยื่อไม้บริสุทธิ์ไม่มีอะไรเจือปน เมื่อลงสีน้ำหรือสีย้อมผ้าแล้ว สีจะสดชัดแจ๋ว.

ภาพวาดไว้เมื่อกี่ร้อยปีแล้วยังไม่ซีดหรือจางลงเลย ที่ Tenryuji, Kyoto. มังกรก็ยังดูดุเดือดน่าเกรงขาม ใครอย่าได้หยามเชียว!

๖) เนื่องจากเยื่อไม้มีโครงสร้างภายในของมันที่มีความยืดหยุ่นสูงตามธรรมชาติ กระดาษ washi จึงไม่ยับ ไม่ย่น และฉีกไม่ขาด. เหมาะสำหรับนำไปทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม ทำปกหนังสือหรือบรรจุภัณฑ์ต่างๆเป็นต้น. ชมภาพถ่ายจากพิพิธภัณฑ์ในส่วนที่นำกระดาษไปทำเป็นเครื่องแต่งกายดังต่อไปนี้




ปราสาทกระดาษที่เห็นในภาพ จำลองจากปราสาทสวยงามที่ขึ้นชื่อมากที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น คือปราสาท Kumamoto 熊本 ที่มีอายุ 400 ปี (ที่พังทลายลงเพราะแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 6.4 ตามสเกลของ Richter ในวันที่ 16 เมษายน 2016) 

ในยุคใหม่นี้ ยังมีการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยกระดาษอยู่ เน้นประสิทธิภาพของกระดาษในงานออกแบบแฟชั่น มากกว่าการมุ่งเปลี่ยนให้คนไปใช้เสื้อผ้ากระดาษแทน เพราะวิถีชีวิตในยุคปัจจุบันที่ต้องสู้ลม สู้แดด สู้ฝนและสู้หิมะ จึงยังมีข้อจำกัดในการใช้เสื้อผ้ากระดาษในชีวิตนอกอาคารบ้านเรือน.

ภาพจาก beachbungalow8.blogspot.com

กำกับไว้ว่า Deepa Panchamia

๗) กระดาษ washi มีน้ำหนักน้อยกว่ากระดาษอื่นใดที่มีความหนาเสมอกัน นำไปใช้เป็นหน้าหนังสือ ทำให้หนังสือมีน้ำหนักเบากว่า ไม่หนักมือ.

๘) กระดาษ washi ที่ผลิตตามกรรมวิธีดั้งเดิมของญี่ปุ่นนั้นปลอดกรด เพราะไม่มีการใช้สารฟอกขาว ไม่มีสารที่ใส่เพื่อทำให้มันแข็ง. มีตัวอย่างกระดาษพิมพ์ที่ใช้ในญี่ปุ่นเมื่อพันปีก่อน ที่ยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ทุกประการมาจนทุกวันนี้. กระดาษจากหมู่บ้านทำกระดาษที่ Kurotani มีชื่อว่าเป็นกระดาษเอกสารที่มีคุณสมบัติดีที่สุด. ดังตัวอย่างหนังสือนวนิยายจากสมัย Edo (江戸時 1603-1868) ในภาพข้างล่างนี้

๙) หลายศตวรรษต่อๆกันมา การออกแบบและพิมพ์ภาพจากไม้แกะสลัก หรือจากแผ่นฉลุลวดลายด้วยมือตามศิลปะและเทคนิคเฉพาะของญี่ปุ่น ได้สร้างสรรค์กระดาษแบบต่างๆที่มีสีสันและมีชีวิตชีวาเพื่อใช้ในการประดับตกแต่ง รวมทั้งกระดาษ chiyogami 千代 (บางทีก็เรียกว่า Yuzen ที่มีลวดลายซ้ำๆกันไปโดยตลอด) สำหรับติดเป็นม่าน บนฉากหรือแท่นบังตา ก็มีให้เลือกใช้เป็นจำนวนมาก และแม้ว่ามันจะเป็นผลผลิตจากเครื่องจักร แต่คุณสมบัติที่ผลิตกันในญี่ปุ่นนั้นมีส่วนผสมของเยื่อไม้ต้น Kozo ประมาณ 70 % นับเป็นผลผลิตที่มีคุณภาพสูงเมื่อเทียบกับกระดาษติดผนังของที่อื่น.





ญี่ปุ่นใช้กระดาษ washi ทำอะไรบ้าง? 

๑) กระดาษ washiใช้เป็นกระดาษพิมพ์ภาพต่างๆได้อย่างวิเศษ ไม่ว่าจะเป็นภาพพิมพ์จากไม้แกะ, จากแผ่นโลหะ, จากพรมน้ำมัน (linoblock) หรือจากแท่นพิมพ์อักษรนูน หรือจากการปั๊มลึกลงในกระดาษตามกระบวนการทำภาพพิมพ์หลายสีเป็นต้น. เล่ากันมาว่า จิตรกรฮอลแลนด์ Rembrandt (1606?-1669) มักใช้กระดาษญี่ปุ่นเมื่อพิมพ์ภาพที่ละเอียดๆ.  ภาพวาดของ David Milne (1882-1953 ขาวแคนาดา) ใช้กระดาษที่ทำจากเยื่อต้น Ganpi. ชาวเอสกิโมในแคนาดา (Canadian Inuit) ใช้กระดาษญี่ปุ่นเพื่อให้ได้ภาพพิมพ์ที่สดสวยและชัดเจนจากหินจำหลักหรือจากการทาบบนแบบที่ฉลุแล้วพ่นสีเป็นต้น

๒) ความหลากหลายทั้งเนื้อกระดาษ สีสันและรูปแบบของกระดาษ washi ทำให้เหมาะกับการสร้างสรรค์ผลงานด้วยกระบวนการแปะติดกาว (collage) และนิยมใช้กระดาษชนิด chiri (rice paper) และ chiyogami 千代 เป็นพิเศษ. ศิลปินสมัยใหม่เริ่มด้วยการเอากระดาษ(ชนิดต่างกันหรือเหมือนกัน) มาแปะติดกันในแบบที่ต้องการ ให้มันกลายเป็นผืนผ้าใบ แล้วจึงลงมือวาดรูปบนแผ่นกระดาษที่แปะๆเป็นผืนนั้น.

๓) กระดาษญี่ปุ่นนำไปใช้ทำโคมไฟแบบต่างๆได้ ทำม่าน หรือบังตา ที่ไม่ทำให้ห้องมืดสนิท แต่ยังปล่อยให้แสงผ่านได้ กรองความจ้ามาเป็นแสงสลัวๆแทน สร้างบรรยากาศที่นวลตาให้แก่ห้อง. (นิยมใช้กระดาษชนิด mino, silk, seikaiha และ unryu). ๓) กระดาษญี่ปุ่นนำไปใช้ทำโคมไฟแบบต่างๆได้ ทำม่าน หรือบังตา ที่ไม่ทำให้ห้องมืดสนิท แต่ยังปล่อยให้แสงผ่านได้ กรองความจ้ามาเป็นแสงสลัวๆแทน สร้างบรรยากาศที่นวลตาให้แก่ห้อง. (นิยมใช้กระดาษชนิด mino, silk, seikaiha และ unryu).




๔) ใช้ในการเย็บและเข้ารูปเล่มหนังสือ (bookbinding) กระดาษที่แข็งทนทานและยืดหยุ่นได้ นำมาทำเป็นปกหนังสือ สันหนังสือ กล่องใส่หนังสือแต่ละเล่ม หรือซองหนังสือเป็นต้น. ความทนทานต่อน้ำ จึงเหมาะสำหรับใช้ในการปะ ซ่อมแซมหนังสือเก่าๆที่มีค่า. ชมภาพตัวอย่างการเย็บเข้าเล่มข้างล่างนี้







๕) ภาพวาดพู่กัน(จีน) หรือ Sumi-e [ซือมีเอ้ะ] และภาพอักษรวิจิตรที่เขียนด้วยพู่กัน หรือShodo[ โฉ้วโด่] (calligraphy) ใช้กระดาษญี่ปุ่น (เช่นชนิด ise, kai, mino และกระดาษ Kurotani ทั้งหลายนั้น) เป็นอีกหนึ่งอัตลักษณ์ญี่ปุ่นที่สืบทอดกันมา.





 กระดาษญี่ปุ่น นำไปใช้ทำอะไรอีกสารพัดอย่างในวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่น เช่นการพับกระดาษให้เป็นรูปลักษณ์ต่างๆ, ทำว่าว, ตุ๊กตา, ทำร่ม ตลอดจนศิลปะการทำหีบห่อ. ดูภาพตัวอย่างต่อไปนี้...  

ภาพจาก dreamtime.com




ดอกไม้กระดาษพับเป็นภาพเลย. ภาพจาก JapanZone.com


 ภาพจาก Spoon & Tamago.com

กล่องกระดาษสุดงาม ภาพจาก Goorigami.com

กล่องกระดาษประดับด้วยดอกไม้บนฝากล่อง

ภาพจาก Origamitutorials.com

ผลงานกระดาษพับของ Sirishap

จากตัวอย่างว่าว แบบและลายที่แพร่หลายในญี่ปุ่น เป็นว่าวขนาดใหญ่ทีเดียว
แสดงไว้ภายในพิพิธภัณฑ์กระดาษ

กำกับไว้ว่า  Kime-komi and Oshie ทำจากกระดาษและเศษผ้ากิโมโนเก่า

 กำกับไว้ว่า Kurumi-e fabric

ประตู หน้าต่าง หิ้ง ชั้น ตู้ จากกระดาษกับไม้ทั้งสิ้น ภาพจาก Tenryuji, Kyoto.

ห้องเรียนของพระ เณร ที่ Tenryuji, Kyoto.

ประตูที่ ByodoIn, เมือง Uji, Nara prefecture.

หน้าต่างที่เรือนน้ำชา ในสวน Shukkeien, Hiroshima.

หน้าต่างแสนสามัญ เก็และสงบเสี่ยม ของเรือนน้ำชาอีกแห่ง 

ในสวน Shukkeien, Hiroshima.

อีกเอกลักษณ์หนึ่งของความเป็นญี่ปุ่น
กระดาษสำหรับวางขนม แล้ววางบนจาน, กระดาษห่อแท่งไม้เล็กๆสำหรับจิ้มขนม 
รวมกันเป็นความอิ่มตาอิ่มใจเมื่อเสริฟพร้อมชาเขียว matcha 抹茶

ดังตัวอย่างที่ยกมาให้ดู กระดาษเป็นวัสดุสำคัญในการทำประตูหน้าต่าง กรอบเสื่อปูพื้น, ทำฉากพื้นหลังในการถ่ายภาพหรือในการอัดภาพ, เอาไปปิดฝาผนังหรือคลุมเครื่องเรือน, ไปทำบัตรเชิญไปงานมงคลสมรสและในงานออกแบบทั้งหลายรวมถึงในการสื่อสารมวลชน และในที่สุดกระดาษหนึ่งแผ่นในมือศิลปิน ก็อาจกลายเป็นงานศิลป์ล้ำค่าได้.  แม้ว่าเทคโนโลยีใหม่ๆได้เข้าไปแทนที่กระบวนการผลิตแบบดั้งเดิมไปมากก็ตาม  ยังมีกลุ่มคนทำกระดาษ washi ที่ยืนหยัดสืบทอดการผลิตกระดาษแบบดั้งเดิมด้วยมือ พวกเขายืนยันว่า สิ่งที่ดีที่สุดนั้น ต้องรักษาไว้มิให้สูญหายไป. 

      การสร้างสรรค์รูปแบบประเภทต่างๆทั้งแบบสองมิติหรือสามมิติ ได้พัฒนาขึ้นอีกมากและแผ่กระจายทั่วไปในประเทศต่างๆ. ศิลปะการพับกระดาษจากญี่ปุ่นอาจมีส่วนผลักดันเนรมิตศิลป์ด้านนี้. การตัดกระดาษเป็นรูปภาพต่างๆละเอียดยิบของศิลปินชาวสวิสฯและเยอรมันก็มีชื่อขึ้นหน้าขึ้นตา. ศิลปินทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติ ได้นำกระดาษมาจัดทำเป็นภาพภูมิทัศน์หลายมิติหรือเป็นประติมากรรมแบบหนึ่ง เปิดเป็นเนรมิตศิลป์แนวใหม่ที่มีศักดิ์และสิทธิ์ในตัวเอง. เชิญชมตัวอย่างข้างล่างต่อไปนี้ ที่นำมาจากเพจต่างๆในอินเตอเน็ตที่มีให้ดูมากมาย. ผู้สนใจอาจตามไปพินิจพิจารณาเป็นแบบอย่าง เพื่อเสกสรรค์ตัวเอง.

นกกระเรียนกระดาษพับของ Christian Marianciuc

จาก boredpanda.com

สองชิ้นนี้ เป็นผลงานกระดาษพับของนักออกแบบชาวอังกฤษ Richard Sweeney ภาพจาก Japanese American National Museum


ผลงานกระดาษพับของ Yuko Nishimura
ศิลปะกระดาษตัดฉลุของ Parth Kpthekar อินเดีย
ศิลปะกระดาษฉลุลายจากศิลปินชาวสวิสฯ Ueli Hofer
ศิลปะการตัดกระดาษแผ่นเดียวให้เป็นรูปลักษณ์ของ Peter Calleson
สองภาพนี้ เป็นผลงานกระดาษประดิษฐ์ของ Elsa Mora
ประติมากรรมกระดาษของ Jeff Nishinaka จากเพจ Crafthubs.com

ประติมากรรมกระดาษของศิลปินชาวอังกฤษ Su Blackwell. ศิลปินเจาะจงอธิบายว่า บางทีทิวทัศน์และตัวละครในหนังสืออยากโลดแล่นออกจากกรงที่ขังพวกมันไว้ภายในหน้าหนังสือ  จึงได้จัดท่ากระโดดลิงโลดใจของตัวละคร ที่พลอยทำให้ต้นไม้และกิ่งไม้สั่นเทิ้มเมื่อเปิดตัวออกสัมผัสโลกภายนอกเป็นครั้งแรก.

ประติมากรรมกระดาษของศิลปินชาวอังกฤษ Su Blackwell คนเดียวกัน, ตั้งชื่อไว้ว่า Migrating words หรือการอพยพย้ายถิ่นของถ้อยคำ.

รวมผลงานประติมากรรมร่วมสมัยของ Odani Motohiko
ตัวอย่างต่างๆที่นำให้ชมเพียงเล็กน้อยนี้ เพียงพอที่ยืนยันว่า ชาวญี่ปุ่นใช้กระดาษอย่างเต็มศักยภาพธรรมชาติของมัน ว่า วิธีการใช้กระดาษของชาวญี่ปุ่นยกระดับการรู้จักใช้กระดาษขึ้นเป็นสุนทรีย์แนวหนึ่งที่สอดคล้องกับปรัชญาเซนด้วย. ในที่สุด คนสามารถใช้กระดาษเป็นวัสดุในงานสร้างสรรค์ได้อย่างวิจิตรพิศดาร แทบไม่มีขีดจำกัด.

      การสัมผัสกับกระดาษครั้งแรกในชีวิตของเรา น่าจะเป็นกระดาษชำระ (หลังจากวัยทารกในผ้าอ้อมที่แม่ต้องซักให้วันละหลายครั้ง. ผ้าอ้อมสมัยใหม่ - diaper ได้ลดภาระของแม่ทั้งหลายลงไปมาก ) กระดาษอื่นๆที่เราสัมผัสและเรียนรู้มาในชีวิต มีจำนวนมาก กระดาษเช็ดมือ เช็ดหน้า กระดาษหนังสือพิมพ์ กระดานชนวนและกระดานดำที่โรงเรียนก็เป็นกระดาษแบบหนึ่ง กระดาษแต่ละหน้าในหนังสือ กระดาษสมุดสารพัดแบบ. ทั้งหมดมีความหมายมากขึ้นๆตามวัย เมื่อเรารู้จักเขียนหรือจดบันทึกสิ่งอื่นๆที่ไม่ใช่การคัดลอกบทเรียนหรือการทำการบ้าน. เมื่อเราเติบใหญ่พอที่จะมี “ความคิด ความฝัน” ตามวัย กระดาษสมุดจึงเป็นที่รวมความคิด ความฝัน ความรัก อารมณ์และประสบการณ์ต่างๆที่ผ่านเข้ามาในชีวิต. สิ่งเหล่านี้ก็พัฒนาต่อมาตามวัยและตามการศึกษา. เราอาจกล่าวได้ว่า กระดาษเป็นเพื่อนสนิทของเรา (ดังที่มีสำนวนอเมริกันที่แปลกันมาว่า ไดอารีที่รัก).

       กระดาษเป็นประจักษ์พยานของความเป็นตัวตนของเรา. งานประพันธ์ของนักเขียนในสมัยก่อน (ยุคที่เริ่มมีกระดาษใช้แล้ว) เขียนลงด้วยลายมือ บนกระดาษทีละหน้า เขียนไปแก้ไป เติมนั่นลบนี่ไปเรื่อยๆด้วยการขีดฆ่า การเสริม การแทรกคำเหนือหรือใต้บันทัด การโยงออกไปในช่องว่างของกระดาษ.  หากพิจารณาหน้ากระดาษต้นฉบับของนักเขียน (manuscripts) จนถึงศตวรรษที่ 20 แล้ว หน้ากระดาษต้นฉบับเหล่านั้นที่เต็มไปด้วยการแก้การเติม เปิดโอกาสให้เราแทรกเข้าไปถึงจิตวิญญาณของผู้เขียนในขณะที่กำลังสร้างงานประพันธ์ของเขา. ตัวอย่างสุดยอดของกระดาษงานประพันธ์ต้นฉบับที่เลื่องลือมากที่สุดในโลกตะวันตก คือต้นฉบับงานเขียน A la recherche du temps perdu ของ Marcel Proust (1871-1922) ที่หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศสเก็บรักษายิ่งกว่าสมบัติหายากสิ่งใด. (ไม่สามารถหาภาพมาให้ดูได้) เราเห็นลายมือของผู้เขียนและติดตามลายมือนั้นไปในแต่ละคำ แต่ละบันทัด แต่ละหน้า เหมือนกำลังเข้าไปนั่งในใจของนักประพันธ์และเกาะติดความคิดของเขาไปทุกวินาที. นี่เป็นความอัศจรรย์ที่ปัญญาชนชาวยุโรปสนใจยิ่งนัก. ห้องสมุดในยุโรปทุกแห่งเก็บและสะสมต้นฉบับงานประพันธ์ทั้งหลายอย่างทะนุถนอมเหมือนกำลังโอบอุ้มจิตวิญญาณของผู้ประพันธ์ไว้.  ต้นฉบับงานประพันธ์ดนตรีของนักประพันธ์เอกของโลกก็เช่นกัน

ดูตัวอย่างต้นฉบับสักหนึ่งหน้าในงานประพันธ์ของ Charles Dickens(1812-1870) เครดิตภาพจากที่นี่.
ต้นฉบับหน้าหนึ่งบทที่สองของเรื่อง Persuasion ลายมือของ Jane Austen เอง.
จากเพจ m.yibei.com

ข้าพเจ้าเองเก็บสมุดบันทึกและกระดาษขนาดต่างๆแบบต่างๆ (การ์ด ภาพ ฯลฯ) ที่ได้จดได้เขียนอะไรต่ออะไรไว้มาตั้งแต่วัยสาว และจำเป็นต้องทำลายทิ้งเสีย เพราะมันกินพื้นที่อาศัยของข้าพเจ้าไปมาก. การจะกินจะนอนข้างกองหนังสือก็ไม่ถูกสุขอนามัยนัก เพราะความร้อนความชื้นทำให้มีตัวไรเล็กๆ ฯลฯ. สรุปแล้วจึงต้องทิ้งมันไปทั้งหมดและทำใจว่ามันคืออดีตที่ผ่านไปแล้ว และก็เริ่มเก็บบันทึกงานเขียนทั้งหลายลงในหน้า words ที่เป็นกระดาษในยุคนี้. กระดาษยุคใหม่นี้ไม่มีรอยลบรอยแก้ให้เห็นแล้ว จึงมิได้บันทึกการเลือกคำ ความลังเล การเปลี่ยนแปลงในมิติลึกขณะเขียน เพราะระบบดิจิตัลกำจัดสิ่งที่ลบที่แก้ไปเสียสิ้น นอกจากเราอยากบันทึกความเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่เขียนแล้วให้เป็นเวอชั่นหนึ่ง สองหรือสาม.

      ในเมื่อคำพูดล่องลอยหายไปในอากาศ (แม้ว่าจะมีเทคนิคอัดเสียงได้ เสียงก็ยังมีชีวิตที่จำกัดกว่า  ยังไม่มีจุดยืนทางกฎหมายที่มั่นคงนัก) กระดาษเป็นสิ่งกระตุ้นความตระหนักรู้เกี่ยวกับตนเอง การผนึกตัวตนของตนเอง เป็นเวทีความคิด ความเห็นหรือความฝันของเรา. เป็นพื้นที่แสดงสิทธิและเสรีภาพของเรา. เป็นเสียงของเราที่จะยังอยู่ต่อไป อย่างน้อยก็นานกว่าเสียงที่เหือดหายและเงียบลงไปพร้อมความตาย.

      กระดาษที่บันทึกสาระความรู้ กฎหมาย หน้าที่พลเมือง ศีลธรรม ปรัชญา วรรณกรรมทั้งหลายของคนในยุคต่างๆ ที่กลายมาเป็นหนังสือให้ความรู้แก่ชนรุ่นต่อๆมา เป็นมรดกล้ำค่าหาที่เปรียบมิได้ ที่ได้ผลักดันสังคมมนุษย์ให้ก้าวมาจนถึงจุดปัจจุบัน และเป็นสิ่งที่พิสูจน์ความเหนือกว่าของสมองของคนและในท้ายที่สุด กระดาษนี่แหละที่ปูฐานของประชาธิปไตยที่เราต้องช่วยกันสร้างและต่อยอดไปให้สมบูรณ์ที่สุด.

บันทึกเดินทางของโชติรส โกวิทวัฒนพงศ์. 

วันที่ ๔ กรกฏาคม ๒๕๕๙.

 พิพิธภัณฑ์กระดาษที่กรุงโตเกียว 博物 

1-1-3, Oji, Kita-ku, Tokyo 114-0002, Japan
Phone03-3916-2320 Fax03-5907-7511