Sunday, 5 February 2017

เคารพรูป รูปเคารพ - Different Cosmologies

เมื่อวานวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ตัดสินใจไปนครปฐม ไหว้พระร่วงโรจนฤทธิ์ ที่วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร  มีเวลามากพอ ทำให้ได้เดินรอบๆเนินที่ตั้งพระปฐมเจดีย์ ไม่นับบริเวณระดับพื้นล่างที่เป็นเขตขัณฑสีมาของวัดพระปฐมเจดีย์ฯ ซึ่งจนถึงวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ เป็นช่วงเทศกาลปีใหม่บวกตรุษจีน. พื้นที่ทั้งหมดของวัดจึงเป็นที่จัดงานวัดครั้งสำคัญ. ได้เห็นการจัดงานวัดขนาดใหญ่เป็นครั้งแรก สรุปได้สั้นๆว่า มีร้ายขายของ มีการแสดงสินค้าทุกอย่างทุกประเภททั้งไม่มีชีวิตและมีชีวิต ผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมจนถึงอุตสาหกรรมพื้นบ้านและอุตสาหกรรมหนัก เช่นเครื่องเรือนและรถยนตร์  หรือตั้งแต่ไม้จิ้มฟัน ไม้ซุงถึงบ้านสำเร็จรูป  (Only Thais know how!).  เผอิญไม่มีโอกาสเป็นนางพญาชมตลาด จึงลงรถขึ้นไปเดินบนลานวัดพระปฐมเจดีย์ แล้วก็เดินลงมาขึ้นรถต่อไปเลย.  ตั้งใจจะซื้อผลไม้มีชื่อของนครปฐม ก็ลืมสนิท เพราะต้องวนหาร้านอาหารสำหรับมื้อกลางวัน ก่อนจะเดินทางต่อไปยังวัดอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ราว ๓๐ กิโลเมตรจากกลางเมืองนครปฐม.
สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยไปพระปฐมเจดีย์ ให้พิจารณาแผนผังพื้นที่วัดคร่าวๆช้างล่างนี้ จะเห็นว่ามีอะไรน่าสนใจนอกเหนือองค์พระปฐมเจดีย์ 
 พื้นที่บนเนินสูงที่ตั้งของพระปฐมเจดีย์ โครงสร้างสถาปัตยกรรมรูปทรงกลมในรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส
คือภาพลักษณ์ของความงาม มั่นคงและความสมดุลทุกประการ
และพื้นที่บริเวณรอบๆพระปฐมเจดีย์ระดับพื้นถนน
นอกจากวิหารพระร่วงแล้วยังมีวิหารหลวง วิหารพระนอน และวิหารปัญจวัคีย์. ภายในพื้นที่จัตุรัสบนเนินสูง มีต้นโพธิ์และต้นไม้ใหญ่ๆให้ร่มเงาดี  มีต้นโพธิ์ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปลูกจากต้นที่นำมาจากวัดพุทธคยาในอินเดีย.  พระนอนที่นั่นก็งามมาก ขนาดเล็กกว่าพระพุทธไสยาสน์ที่วัดโพธิ์. รอบๆฐานองค์พระปฐม มีซุ้มที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ รวมทั้งหินหลักเมือง พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง ยังมีรูปปั้นหินแบบจีนรูปลักษณ์ต่างๆขนาดเล็กกว่าที่เห็นที่วัดโพธิ์ ที่ยืนยันการมาตั้งถิ่นฐานและการติดต่อค้าขายกับจีน  มีเก๋งจีนบนเนินสูงนี้ด้วยใกล้วิหารหลวง.  (ผู้สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับพระปฐมเจดีย์ หาอ่านได้ในเน็ตต่อไปเช่นที่นี่เป็นต้น >>  http://www.dhammathai.org/watthai/central/watprapathomchedi.php)




เขาติดป้ายว่า สถานที่รับบริจาคถวายน้ำปานะ ออกจะแปลกๆ แต่อยู่ด้านหลังผนังชั่วคราวนี้
คนไปบริจาคแพ็คน้ำดื่ม
 จากบริเวณต้นโพธิ์ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงปลูก
วิหารพระนอน


หลังอาหารเที่ยง เราเดินทางต่อไปยัง วัดอ้อน้อย (ธรรมอิสระ)   
โลโก้พิเศษของวัด เป็นรูปสวัสดิกะเวียนซ้าย
 พระอุโบสถกลางสระน้ำ
มีนัยสำคัญยิ่ง คิดถึงสำนวน ข้ามห้วงมหรรณพกว่าจะถึงแดนสุขาวดี
เปิดโล่งทั้งสี่ด้าน
 
 พระประธานภายในพระอุโบสถที่โล่งกว้าง เรียบง่าย ลมพัดไปมา ร่มเย็น สบายใจทันที
 บนเพดานตรงหน้าพระประธาน สวัสดิกะตรงกลางเวียนขวา ล้อมรอบด้วยพระอริยเจ้า
(ข้าพเจ้าไม่อาจเจาะจงได้ว่าใคร ฤาจะเป็นพระอรหันต์ประจำแปดทิศ โปรดดูตอนท้าย) 
รอบนอกมีสัญลักษณ์ของจักรราศรี
เพดานส่วนอื่นๆ เป็นจิตรกรรม พื้นสีฟ้า สว่าง เย็นตาเหมือนท้องฟ้า แทนสวรรค์ชั้นฟ้า
 มีรายละเอียดสวยงามและประณีต  เข้าใจว่า เป็นวิสัยทัศน์เกี่ยวกับสวรรค์และโดยเฉพาะป่าหิมพานต์
 และที่สถิตของเหล่าเทวดา
 คันทวยลวดลายสวยงาม ฝีมือประณีต
 รอบนอกเป็นสวนหย่อม มีต้นไม้ประดับ
 ทางเดินระเบียงโดยรอบพระอุโบสถ ปูกระเบื้องสีฟ้า
บนราวระเบียงประดับด้วยรูปปั้นขนาดเล็กสูงประมาณ ๔๐ กว่าเซนติเมตร ในท่าต่างๆ
รายละเอียดของคันทวยตัวอย่างหนึ่ง จากช่างฝีมือดี
 ราวลูกกรงเป็นเครื่องปั้นดินเผาเคลือบสีน้ำเงินขาว
พื้นระเบียงและลูกกรงกับหัวเสา
 หย่อมสวนหิน
 รูปปั้น อวโลกิเตศวร หรือพระโพธิสัตว์กวนอิม
มีรูปปั้นแบบนี้ประดับเป็นระยะๆบนราวระเบียง  ฝีมืองามประณีตมาก มีรายละเอียดยิบ
 รูปปั้น ราหุล (พระอรหันต์องค์ที่ ๑๑)
อ่านข้อมูลต่อได้ที่นี่ http://www.dhammathai.org/monk/monk40.php  
รูปปั้น สุปินฑ (พระอรหันต์องค์ที่ ๔ ในตำนาน ๑๘ อรหันต์)
 รูปปั้น ท้าวธตรฏญ์ (หรือท้าวธตรฐ) ท้าวจตุโลกบาลทิศตะวันออก
 รูปปั้น กนกวัจฉ (พระอรหันต์องค์ที่ ๒) รูปปั้นนี้มีสามหน้า
รูปปั้น อิงคต (พระอรหันต์องค์ที่ ๑๓)
 รูปปั้น นาคเสน (พระอรหันต์องค์ที่ ๑๒)
ชื่อที่กำกับไว้ ลอกมาตามที่ปรากฏจำหลักใต้รูปปั้นทุกรูป คงเป็นไปตามแบบที่หลวงปู่กำหนดไว้

หลวงปู่พุทธอิสระเห็นความสำคัญของพระอรหันต์เหล่านี้ถึงกับให้ทำรูปปั้นของเหล่าพระอรหันต์ประดับบนราวระเบียงรอบพระอุโบสถ  ตำนานพระอรหันต์นี้จารึกไว้ในคัมภีร์ธรรมสถิต นิกายมหายาน ดูรายละเอียดได้ที่นี่ >>
ตรงนี้คือลานโพธิ์  มีสิ่งก่อสร้างสามชั้นสี่เหลี่ยมล้อมรอบต้นโพธิ์สามต้นที่อยู่ภายใน 
ประดับด้วยประติมากรรมจำหลักนูนเกี่ยวกับเหตุการณ์ในพุทธประวัติ
ใช้ลานนี้เป็นที่เดินเวียนเทียน
 อาคารอโรคยาเภสัช ที่ขายยาสมุนไพรผลิตภัณฑ์ไทยแท้พื้นบ้าน
และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์ หอมจัง
ยังมีศาลาปฏิบัติธรรม ที่พักและอาคารอเนกประสงค์สำหรับผู้ไปปฏิบัติธรรม โรงครัวและห้องสุขาสะอาดไร้กลิ่น ทุกอย่างอยู่ในธรรมชาติที่ร่มรื่น แบ่งพื้นที่ออกเป็นสัดเป็นส่วน
หลวงปู่พุทธอิสระได้ไปทำพิธีการสวดมาติกา บังสุกุล เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ ห้องโถง อาคาร 100 ปี โรงพยาบาลศิริราช วันศุกร์ที่ 20 มกราคม พุทธศักราช 2560 มีผู้ศรัทธาไปร่วมด้วยจำนวนมาก  และที่วัดอ้อน้อยเอง หลวงปู่ก็จัดพิธีบรรพชาอุปสมบทหมู่ถวายเป็นพระราชกุศลสตมวารแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชอีกด้วย. จริยวัตรของหลวงปู่ผู้ไม่เคยลดละท้อถอยในการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก จักเป็นแรงผลักดันให้ลูกไทยทั้งหลาย << เดินตามรอยเท้าพ่อจนกว่าชีวิตจะหาไม่ >>

อีกมุมหนึ่งบนพื้นที่ อาคารที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของวัดอ้อน้อยอีกแห่งหนึ่ง (เป็นปริศนาธรรมสำหรับข้าพเจ้าด้วย) คือ โรงเจหอคุณธรรมฟ้า ที่สร้างตามสถาปัตยกรรมจีนทั้งหมด เมื่อเจาะจงเช่นนี้ ย่อมทำให้จินตนาการศิลปะจีนที่เต็มไปด้วยสีสัน รูปลักษณ์จำนวนมาก ตรงข้ามกับความเรียบง่ายของพระอุโบสถอย่างสิ้นเชิง  ในมุมมองนี้จึงเป็นปริศนาธรรมให้ขบคิดได้  ดูเหมือนว่า นายช่างชาวจีนเป็นผู้มาเนรมิตทุกอย่าง และทำได้ดีด้วย รายละเอียดเล็กๆน้อยๆทั้งปูนปั้นหรืองานไม้แกะสลัก รวมทั้งรูปปั้นเทพเจ้าทั้งหลายตามขนบความเชื่อ Chinese cosmology  ทั้งหมดรวมกันเป็นแหล่งความรู้แบบหนึ่งที่อาจหาดูได้ครบถ้วนเหมือนที่นั่นไม่ง่ายนัก  นำภาพมาลงเป็นตัวอย่างเท่านั้น เพราะมีมากเกินกว่าจะบันทึกได้.  โดยส่วนตัว ไปดูให้เห็นเป็นขวัญตาเท่านั้น มิได้มีเจตจำนงเพื่อการศึกษาลัทธิความเชื่อในเทพเจ้าของจีน  ที่ข้าพเจ้าสนใจคือ การใช้โรงเจเป็นโรงทานของหลวงปู่พุทธอิสระ ความเมตตาต่อประชาชนนั้น เป็นสิ่งที่ทุกคนสำนึกได้จากจริยวัตรของท่าน  ชื่อโรงเจหอคุณธรรมฟ้าก็บ่งบอกให้เข้าใจว่า การทำบุญทำทาน ตลอดจนการช่วยเหลือเอื้อเฟื้อผู้ที่ด้อยโอกาสกว่า เป็นคุณธรรมสูงที่ไม่มีอะไรมาจำกัดได้เหมือนความไพศาลของท้องฟ้า.
 ประตูใหญ่ทางเข้าโรงเจ แถบสีแดงเขียนกำกับไว้ว่า โรงเจหอคุณธรรมฟ้า
หลังคางอนโค้งประดับด้วยนกฟีนิกซ์ (phoenix)  
 พระพุทธรูปประจำวันเกิด ในหมู่เทพเจ้าจีนที่อยู่ข้างหลังในอาคารต่างๆสี่ทิศ
 ตรงกลางบันไดขึ้นสู่อาคารหลัก ที่ประดิษฐานของรูปปั้น เง็กเซียนฮ่องเต้
บนแนวตรงกับรูปปั้นมังกรและนกฟีนิกส์ที่เห็นนี้
 รูปปั้นที่เป็นองค์ประธานคือ เง็กเซียนฮ่องเต้ กำกับไว้ว่าสร้างตามศิลปะจีนผสมธิเบต
หน้าตาสวยและดูสง่าแต่อ่อนโยนกว่าที่เคยเห็นมาในวัดจีนอื่นๆ ฝีมือเยี่ยมมาก
ส่วนรูปปั้นสตรีทางซ้าย น่าจะเป็นเทพมารดาในสวรรค์
 ากหอกลาง เขาให้เดินออกไปทางซ้าย มีระเบียงเชื่อมหอในทิศต่างๆพร้อมเทพเจ้าประจำทิศ 
ที่นั่นพื้นที่เดินไปมาสะอาดและสะดวก
 เมื่อเดินไปครบทุกหอทุกทิศ ก็กลับมาถึงหอกลาง
มองขึ้นไปบนฟ้า บนหลังคาเห็นมังกรประดับอยู่จำนวนมาก
หลักๆคือมังกรกับนกฟีนิกซ์ สัญลักษณ์ของความเป็นอมตะนั่นเอง
จบรายงานการไปเยือนนครปฐม คิดคำนึงถึงพระปฐมเจดีย์  อุโบสถวัดอ้อน้อยธรรมอิสระ โรงเจหอคุณธรรมฟ้า  สามแบบที่แตกต่างกันมาก  เราชอบแบบไหน ทำไม ชอบหรือไม่ แล้วแต่จริตและรสนิยม. รูปลักษณ์ภายนอกที่คนเนรมิตและสร้างสรรค์ขึ้นด้วยศิลปะ เพื่ออะไร?  วัด พระพุทธรูป ภาพเทพเจ้าต่างๆ เคยเป็นผลผลิตของความศรัทธาอันแก่กล้า เป็นการแสดงออกที่จริงใจของศิลปินและนายช่าง  เราอาจรู้สึกได้ว่ามีชีวิตและจิตวิญญาณของผู้ทำแทรกลงในอณูวัสดุด้วย และเมื่อเป็นเช่นนั้น ผลงานนั้นจึงตรึงใจคนดู และเมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้รู้เจาะจงว่านั่นคืองานศิลป์ที่มีค่า ที่อยู่เหนือกาลเวลาและสถานที่ และที่อาจดลใจให้คนอื่นๆลงมือสร้างสรรค์งานชิ้นใหม่ๆได้. ราคางานศิลป์ชั้นครูที่แพงมหาศาลนั้น ไม่ใช่เพราะวัสดุแพง หรือเพราะใช้เวลาทำนานมาก หรือทำยากมากเป็นต้น  แต่ที่แพงเพราะมันคือส่วนหนึ่งของชีวิตคนๆหนึ่งที่หมดไปกับสิ่งนั้นและที่หาอะไรมาทดแทนไม่ได้.  ผลผลิตอุตสาหกรรมขาดมิตินี้ แม้ว่าเทคโนโลยีปัจจุบัน มีส่วนทำให้ผลผลิตอุตสาหกรรมดีขึ้นมากจนสวยขั้นเป็นศิลปวัตถุได้ก็ตาม.

      ที่ญี่ปุ่น มีตัวอย่างเช่น คนผลิตใบหน้าหรือรูปลักษณ์ของหลวงพ่อโตวัดโทไดจิเมืองนารา เป็นหน้ากากบ้าง เป็นพวงกุญแจบ้าง หรือเป็นรูปประดับผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า หรือบนเครื่องเขียนแบบใดแบบหนึ่ง เคยทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกไม่พอใจว่าเป็นการขาดความเคารพ. คนญี่ปุ่นจึงดูเหมือนไม่ยึดติดกับรูปเคารพใด. ในขณะเดียวกัน ก็มีการยกชนชั้นสูงที่เป็นปุถุชที่มีคุณงามความดีขึ้นเป็นเทพ ตั้งศาลเจ้าให้และมีผู้คนไปเคารพขอพร. หรือมีการตั้งศาลเจ้าสักการะต้นไม้ผู้เฒ่าของหมู่บ้าน. ค่านิยมจึงแยกเป็นหลายกระแส จริงๆแล้วยากจะเจาะจงว่า พวกเขาเชื่ออะไรจริงจังไหม ทุกอย่างหลวมๆ แต่วัดทั้งหลายสร้างกฎ ปลูกฝังและคอยกระชับค่านิยมมิให้เสื่อมลงไปได้ เพื่อความอยู่รอดของศาสนสถานที่มีจำนวนมากในญี่ปุ่น เพื่อจรรโลงวัฒนธรรมของชาติให้ปรากฏแก่ชาวโลก มากกว่าจะเป็นศูนย์สั่งสอนจิตวิญญาณหรือเผยแผ่พระธรรมอย่างแท้จริงแก่คนทั่วไป. มีกลุ่มคนที่ปวารณาตัวเข้ารับใช้ศาสนาเท่านั้น กินอยู่กับวัดเลย เป็นเหมือนการทำมาหาเลี้ยงชีพแบบหนึ่ง. มีองค์การศาสนาเล็กๆน้อยๆจำนวนมากในญี่ปุ่น สถาบันแบบนี้ไม่ต้องเสียภาษีรายได้. มาในปัจจุบันดูเหมือนว่ากำลังจะเปลี่ยนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทุกองค์กรเสียภาษีแก่รัฐด้วย.   

      ในตะวันตก ฝรั่งซื้อเศียรพระพุทธรูปไปประกอบเป็นตะเกียง หรือไปตั้งประดับบ้านเป็นเครื่องเรือนชิ้นหนึ่งแบบหนึ่ง หรือนำเศียรพระไปวางในหมู่รองเท้าหรือสินค้าที่ตั้งโชว์ขายหน้าร้าน. คนทำมองพระพุทธรูปในแง่ของ วัตถุชิ้นหนึ่งที่เขานำมาจัดมาประดับตามรสนิยมของเขา  เหมือนการนำดอกไม้มาจัดแจกันให้ดูงาม โดยไม่มีเจตนาอื่นใดแอบแฝงเลย.  เป็นเสรีภาพของเขาใช่ไหม?  การริเริ่มสร้างภาพของสิ่งที่คนเชื่อ เพื่อให้เป็นตัวแทนของสิ่งที่เขาเชื่อ  ดั้งเดิมนั้นเพื่อให้เป็นสิ่งเตือนใจไปถึงคำสอนเท่านั้น เหมือนที่ในขนบตะวันตก สร้างรูปปั้นจักรพรรดิโรมันประดับเมือง รูปปั้นเทพวีนัสประดับสวนหรือรูปปั้นอื่นๆอีกจำนวนมาก แต่ละรูปแทนอุดมการณ์ ความคิดหรือเจาะจงเหตุการณ์สำคัญในประวัติชีวิตของคนนั้นๆ. การเลือกรูปปั้นใดและการจัดวางแบบไหน เหมือนการจัดข้อมูลสาระความรู้ที่พวกเขาต้องการสื่อสารแก่ผู้ดู.  เป็นมิติของข้อมูลแท้ๆทั้งด้านความคิดและด้านศิลปะ.  แต่เมื่อคนผนวกความเชื่อและศรัทธาส่วนตัวเข้าไปในภาพลักษณ์หนึ่งมากขึ้นๆ  ภาพลักษณ์นั้นกลายเป็นรูปเคารพ (icon) และคนสักการะเพราะเชื่อในอิทธิปาฏิหาริย์ของภาพนั้น. จิตมนุษย์อ่อนแอโหยหาที่พึ่งทางใจ โหยหาพลังที่เหนือกว่าตนเอง ใฝ่หาอยากเป็นเจ้าของสิ่งอื่นๆที่ยังไม่มีเป็นต้น จึงอยู่ในวังวนของสิ่งที่คนสมมุติขึ้น. เมื่อคริสต์ศาสนาเข้าครอบงำชาวตะวันตก สำนักวาติกันเคยสั่งทำลายรูปปั้นทวยเทพกรีกโรมัน ที่ส่วนใหญ่เป็นรูปปั้นเปลือย  ประณามว่าเป็นสิ่งกระตุ้นกามจนทำให้ศีลธรรมเสื่อม แต่แล้วต่อมากลัพลิกนโยบายใช้รูปปั้นกรีกโรมันเหล่านั้น มาเป็นการตีแผ่ให้เห็นถึงความหลงของมนุษย์ที่เป็นเหตุของความเสื่อมทรามในสังตมและปูทางไปสู่การปลูกฝังคุณธรรมที่ศาสนาต้องการ.

      ศิลปะควรอยู่พ้นอิทธิพลศาสนาหรือความเชื่อใดหรือไม่?  คนเราต้องอยู่ใต้อิทธิพลของความเชื่อของคนอื่นหรือไม่?  กรณี << ฉันคือชาร์ลี >> ยังเถียงกันไม่จบ.  หากเรายึดหลักเสรีภาพในการแสดงออก ใครจะใช้พระพุทธรูปแบบไหน ก็เป็นเรื่องของเขาหรือมิใช่?  ผู้ที่มีจิตใจละเอียดอ่อนอาจเลือกที่จะหลีกเลี่ยงทำร้ายจิตใจคนอื่นด้วยความเต็มใจ. แต่การเลือกนี้โดยปริยายริดรอนสิทธิเสรีภาพของเขาแล้ว.   

      คำสอนหนึ่งที่หลวงปู่พุทธอิสระกล่าวไว้ (เคยฟังจากปากท่านเอง และได้พบเขียนไว้เตือนใจคนที่วัดอ้อน้อยด้วยว่า)
จงใช้สมมติ ยอมรับสมมติ เคารพสมมติ ให้เกียรติในสมมติ
สุดท้ายจงอย่ายึดติดสิ่งที่เป็นสมมติ  นี่คือ วิมุตติธรรม
คำสอนของหลวงปู่ เป็นสันติวิธีในหมู่คนที่มีความคิดความเชื่อต่างกันได้เตือนสติของข้าพเจ้าว่า ต้องไม่ยึดติดกับสิ่งที่สมมุติกันขึ้น. เดี๋ยวนี้ข้าพเจ้ามองพระพุทธรูป มองทะลุไปถึงพระธรรมคำสอน ให้เตือนใจไปแต่ละย่างก้าว.  เคยไม่ชอบที่คนหล่อพระพุทธรูปแบบกลวงข้างในองค์พระ เหมือนองค์หลวงพ่อโต Kamakura Daibutsu (鎌倉大) ข้างในกลวง แถมเขาเปิดให้คนเข้าออกขึ้นลงไปดูข้างในองค์พระด้วย.  มาบัดนี้ ข้าพเจ้าเห็นแล้วว่า นั่นเป็นปริศนาธรรมบทหนึ่ง.
ใจที่ว่างเปล่ากิเลสตัณหาหรือการยึดติดใดๆ  จักบรรลุแก่นแท้ของสัจธรรม  
เห็นคำสอนอีกบทที่หลวงปู่ติดไว้ที่วัดอ้อน้อย ในทำนองว่า  
หากเห็นขี้เป็นทอง และเห็นทองเป็นขี้ได้ พุทธะบังเกิดแล้วในใจ 
การมองขี้กับทองมีค่าเท่ากัน จิตไม่มีภาระ ไม่มีห่วงกังวล ไม่มีเครื่องผูกยึด
มีอิ่มแล้วเต็ม เย็นแล้วสบาย สงบและนิ่ง.
โชติรสเอ๋ย เจ้ายังเห็นสีขี้กับสีทองต่างกันอยู่มาก


บันทึกเดินทางของ โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ ณวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐.


ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับพระอรหันต์แปดทิศที่ล้อมรอบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ
ท่านอัญญาโกญฑัญญะ อยู่ทางทิศบูรพา (ตะวันออก)
ท่านพระมหากัสสปะ อยู่ทางทิศอาคเนย์ (ตะวันออกเฉียงใต้)
ท่านพระสารีบุตร อยู่ทางทิศทักษิณ (ใต้)
ท่านพระอุบาลี อยู่ทางทิศหรดี (ตะวันตกเฉียงใต้)
ท่านพระอานนท์ อยู่ทางทิศปัจฉิม (ตะวันตก)
ท่านพระภควัมปติ อยู่ทางทิศพายัพ (ตะวันตกเฉียงเหนือ)
ท่านพระโมคคัลลานะ อยู่ทางทิศอุดร (เหนือ)
ท่านพระราหุล อยู่ทางทิศอิสาณ (ตะวันออกเฉียงเหนือ)


7 February 2017
อนุสนธิจากการไปเยือนวัดอ้อน้อย(ธรรมอิสระ) ที่นครปฐม มีเกร็ดเล็กน้อยมาเพิ่มให้ว่า ที่วัด เท่าที่เห็นวันนั้น (คนอื่นก็บอกเช่นนั้น) ไม่มีที่ให้บริจาคเงิน ไม่มีตู้ตั้งใดๆ.
เมื่อเทียบกับที่พระปฐมเจดีย์ มีเต็มทั่วบริเวณ แถมยังมีเทปบันทึกกระตุ้นแบบโฆษณาชวนเชื่อว่าทำบุญจะได้อะไร ประหนึ่งบอกขายของ.
ที่โรงเจหอคุณธรรมฟ้า มีตั้งไว้หนึ่งกล่อง บนลานกว้างหน้าหอกลาง บนเส้นตรงแนวเดียวกับตำแหน่งที่ประดิษฐานเทพบดี เง็กเซียนฮ่องเต้ ภายในหอกลาง ที่มีตรงนั้น คิดว่า เนื่องจากเป็นโรงเจโรงทานตามขนบจีน และเป็นช่วงทำทานในเทศกาลตรุษจีน จึงเปิดให้คนไปกราบไหว้เทพเจ้าจีนจนถึงวันนั้น  ให้กราบไหว้กันตรงลานใหญ่ข้างนอกอาคารกลางเท่านั้น 
ภายในหอต่างๆทั้งสี่ทิศ ว่าง สะอาด ไม่มีสิ่งอื่นใด ไม่มีดอกไม้ ควันธูป เทียนฯลฯ  บรรยากาศผิดวัดจีนที่อื่นๆอย่างชัดเจนมาก. หอทั้งสี่ทิศรวมรูปแบบสถาปัตยกรรมและรูปปั้นเทพเจ้าจีนธิเบต  เปิดโอกาสให้ผู้ไป พินิจชื่นชมศิลปะจีนธิเบตที่ประณีตสวยงาม แต่ไม่มากจนรก. ความโปร่งโล่งภายในและภายนอก เป็นเอกลักษณ์ที่น่าประทับใจยิ่ง. คนไปไม่รู้สึกเหมือนถูกบีบบังคับให้ตัวเล็กตัวลีบเพราะอยู่เบื้องหน้าเทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์.
มีผู้บอกว่า หากต้องการทำบุญร่วมกับหลวงปู่ ให้ซื้ออาหารสด หมูเห็ดเป็ดไก่ ผักผลไม้ นำไปมอบที่วัดเลย เพราะสวนครัวของหลวงปู่ผลิตไม่ทันแล้ว (ร้อยกว่าวันมาแล้วที่หลวงปู่ตั้งโรงทานที่สนามหลวง) หลวงปู่ก็คิดเมนูออกมา ทำเป็นอาหารแจกจ่ายไปในที่ที่ต้องการ. ที่สนามหลวงทั่านก็ไม่รับเงินบริจาคใดๆ. ทางเดียวที่จะบริจาคเงินร่วมในกุศลกรรมกับท่าน คือทางบัญชีธนาคาร มีจริง ของวัดจริง(เช้คแล้ว ลองทำแล้ว) ชื่อบัญชี ดังนี้
ธนาคารธนชาติ บัญชีออมทรัพย์ สาขากำแพงแสน
Temple Wat Ornoi หมายเลข 358 6 027 98 4               
ไม่ว่าจะทำบุญวันเกิด ทำบุญให้ใคร วาระใด  ส่วนตัวคิดว่า ทำบุญกับหลวงปู่ ท่านบริหารจัดการทุกบาททุกสตางค์เพื่อบรรเทาทุกข์ เป็น immediate relief โปรดสัตว์อย่างแท้จริง
ทุกคนรู้เห็นเป็นประจักษ์ว่า หลวงปู่ไปทุกทิศทั่วไทย < ตามรอยเท้าพ่อ >
. ข้าพเจ้าจึงจดบัญชีของวัดติดกระเป๋าไว้เลย.

แต่ละคนมีวิถีชีวิต วิธีมองโลกต่างๆกัน เช่นเดียวกับวิธีทำความดี ทำบุญ ทำทาน ทำอย่างไร กับใคร ทำเท่าใด หรือสังคมพาไป
หรือตามกำลัง ตามจริต ตามเวลาและตามสถานที่ที่เลือกเอง
จะป่าวประกาศให้คนอื่นรู้ด้วยหรือไม่ เป็นเรื่องของแต่ละคน แต่ละมุมมอง แต่ละความตั้งใจ
รำลึกถึงคำพูดของท่านอาจารย์จินตนา ยศสุนทร ที่เคยกล่าวสอนเราในห้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า
อย่าให้การทำบุญ ทำดี กลายเป็นความหลง >>  vanité // vanity 
สำนวนพระอาจารย์สมัยนี้ คือ ติดดี (จนกลายเป็นห่วงถ่วงใจ ปลาบปลื้มหลงตน)
คำพูดของ Salomon ที่ฝังในจิตสำนึกของคนตะวันตก คือ Vanity! Vanity! All is vanity!..
ชอบสำนวนที่กำกับชื่อวัดอ้อน้อยว่า  ธรรมอิสระ 
ชอบเพราะรู้สึกว่า เคารพความเป็นเอกบุคคล ให้แต่ละคนมีเสรีภาพทางความคิด ทางการเลือกประพฤติปฏิบัติธรรม ให้โอกาสเขาสัมผัสศาสนา สัมผัสธรรม สัมผัสแรงดลใจด้วยตัวเขาเอง  เมื่อนั้น ธรรม(ความดีหรือทาน) ที่เขาทำบริสุทธิ์ นำความอิ่มเอิบใจเต็มร้อย. เขานั่นแหละจะเป็นภาพสะท้อนของความดี ของธรรม ที่อาจดลใจคนอื่นต่อไป โดยอาจไม่ต้องปริปากบอกเล่าใดๆเลย.  
ชอบคำสอนของท่านพุทธทาสด้วยว่า วัดอยู่ในใจเรา ( ไม่ต้องไปวัดที่ไหนเลยก็ได้ )
หรือ บวชเป็นพระได้ที่บ้าน (ไม่ว่าหญิงหรือชาย)
รู้ตระหนักว่า ท่านพุทธทาสใจกว้างเหมือนท้องฟ้า
สมณะภาวะ  อุบัติขึ้นในจิตวิญญาณของคน มิได้อยู่ที่การนุ่มห่มเหลือ
งหรืออยู่ที่ไปจำวัดแห่งใด
อาสนะของพระคถาคต อยู่ใต้ต้นไม้
โชติรส