ธรรมเนียมชาวคริสต์ เทศกาลอีสเตอร์ เฉลิมฉลองการเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิ
ใบไม้ดอกไม้จะเริ่มผลิตั้งแต่นั้น. ที่ข้าพเจ้าชอบเป็นพิเศษ
คือ ลำต้นไม้ที่เลี่ยนๆเกลี้ยงๆ(ที่ไม่มีเปลือกนอกหนาแบบต้นโอ๊ค) เช่นต้น Ginkgo, ต้น Beech, ต้น plane
tree (จำเป็นต้องยกตัวอย่างต้นไม้เหล่านี้จากประเทศที่มีสี่ฤดูอย่างชัดเจนเช่นในยุโรป)
กิ่งก้านทุกแขนงยังคงโล้นไร้ใบ
ระบบชีวิตภายในยังคงบิดขี้เกียจอยู่ ใกล้เวลาต้องตื่นและลุกขึ้นแต่งองค์ทรงเครื่อง. ก่อนที่ใบไม้จะผลิ ลำต้นเหล่านี้ เริ่มมีสีเขียวอ่อนๆ บางๆเบาๆ
เรื่อๆเหมือนแสงออร่ากระจายออกจากลำต้นที่ดูตันๆนั้น.
สีเขียวอ่อนๆของลำต้นจะหายไปเมื่อใบไม้ใบอ่อนเล็กๆเริ่มผลิ. ต้นฤดูใบไม้ผลินั้น เมื่อใบไม้สีเขียวอ่อนๆออกมาเต็มต้น
เราได้เห็นสีเขียวอ่อนแสนสวย เต็มท้องฟ้า เต็มสวน. สำหรับข้าพเจ้า
สวยกว่าดอกซากุระมากนัก.
ใบไม้กำลัง“แตกหนุ่ม”ปลิวไสวท้าทายสายลมต้นฤดูใบไม้ผลิที่ยังคงหนาวเย็น. หนึ่งถึงสองสัปดาห์ต่อมา พวกเขาก็เป็นหนุ่มฉกรรจ์ สีเขียวเข้มขึ้นๆ
ทำหน้าที่ธำรงชีวิตของต้นไม้นั้นอย่างขยันขันแข็งต่อไป.
ครั้งหนึ่งเดินทางไปถึงเมือง Schwerin (อยู่ในภาคเหนือ ใกล้ไปทางทะเลข้ามไปยังหมู่เกาะของเดนมาร์ก, เยอรมนี) มีประสาทสร้างในศตวรรษที่ 19 (Schloss Schwerin) มองดูเหมือนปราสาทในเทพนิยาย อีกทั้งตั้งบนเกาะเล็กๆกลางน้ำ นอกฝั่งเมือง Schwerin. ไปที่ปราสาทนั้นจึงเหมือนไปชายทะเล.
บนทางเดินไปยังปราสาท
Schwerin
[ฉเว-รีน] แปลงดอกไม้ที่พื้น
เป็นลวดลายสายน้ำไหล ปราสาทตั้งอบู่บนเกาะ ทางเดินที่เห็นจึงเป็นทางข้ามฝั่งน้ำ. ดอกไม้ที่ปลูกคือดอกแพนซี (pansy หรือดอก pensée (fr.) ที่มีนัยของความคิดคำนึง) สีเหลืองและสีม่วง. ลวดลายสะท้อนสภาพแวดล้อมและสภาพจิตในกระแสความคิดที่มิเคยหยุดของคน.
ปราสาท Schwerin เมื่อมองจากอุทยาน มีสนามหญ้าผืนใหญ่ๆหลายผืน แบบเรียบง่าย
ประดับด้วยประติมากรรมแบบคลาซสิกเป็นระยะ.
ตอนที่ไป เป็นต้นฤดูสปริง
อากาศเย็นๆ ต้นไม้ยังโกร๋นๆอยู่มาก. ครั้งแรกที่ได้เห็นต้นไม้ไร้ใบกลางฤดูหนาวที่เมืองโคโลญ
(Köln)
ข้าพเจ้าตื่นตาตื่นใจไม่น้อย ที่ได้เห็นโครงสร้าง กิ่งก้านสาขาชัดเจน
เห็นความฉลาดของต้นไม้ในการจัดกิ่งทั้งหลายให้สมดุลมากที่สุดกับสภาพพื้นที่ที่มันยืนปักหลักอยู่. ความฉลาดในการจัดกิ่งให้สอดคล้องและยืนหยัดได้งามไปกับทิศทางลมเป็นต้น. ที่นั่นมีต้นไม้ใหญ่อายุมากงามๆหลายต้น มองไปไหนก็เห็นน้ำล้อมรอบ
ภูมิประเทศสวยสงบทีเดียว.
ชื่นชมโครงสร้างของต้นไม้ใหญ่ยามไร้ใบ
เมื่อวันที่ 21-22
เมษายนปี 2011.
ใบโอ๊คใบใหม่ ยังเอ๊าะๆ
ใบต้นเมเปิลดูยังอ่อนๆอยู่
แต่อากาศอบอุ่นขึ้นมาก ต้นก็รีบผลิดอกตามด้วยทันที
วันที่ออกไปเดินเล่น ชื่นชมภูมิประเทศ(22เมษายน2011) เห็นกลุ่มคนรวมกันมุมหนึ่ง บางคนกำลังปาอะไรอยู่ เสียงหัวเราะครื้นเครง. เลยเดินไปร่วม“เยอรมันมุง” มีป้าคนหนึ่งถือตะกร้าใส่ฟองไข่สดสีต่างๆ
ยื่นให้คนที่มุงดูอยู่ เชิญชวนให้หยิบไข่. หลายคนหยิบไข่คนละฟอง
แล้วปาไปที่ชายหนุ่มคนที่เห็นในภาพ ที่แต่งชุดกระต่าย(ชุดผ้ากันเปียกแบบเสื้อฝน) ยืนตั้งท่ารับไข่ สวมหน้ากาก(ดำน้ำ)ด้วย (ไม่งั้นไข่อาจเข้าตาได้). คนปาไข่ไปยังส่วนล่างของตัวเขามากกว่า เพื่อไม่ให้ไข่พุ่งไปไกลตกลงในน้ำ. ตัวเขาเปียกเปื้อนไข่มากอยู่แล้วตอนที่เข้าไปยืนดู. เขาก็ยังยิ้มๆอยู่นะ ตั้งท่ารับไข่ที่มีคนปาใส่ โดยไม่หลบ. ทั้งตัวปิดมิดชิดพอสมควร ยกเว้นไม่สวมรองเท้า. เขายืนตรงนั้นให้คนปาอยู่เป็นชั่วโมงเลยนะ.
ถามป้าคนหนึ่งว่า
ทำไมจึงเอาเขามาเป็นเป้าให้คนปาไข่เล่น มันไม่น่าสนุก เล่นน้ำประแป้งวันสงกรานต์ที่เมืองไทยดีกว่า. ป้าอธิบายว่า เขาถูกเลือกให้มายืนเป็นเป้าให้คนปาไข่ เพราะอายุเกินสามสิบแล้ว
ยังไม่มีแฟน ไม่มีลูก ถือว่าไม่มีคุณภาพ (> แหย่เล่นเท่านั้น). คนปาไปก็อาจด่าทอแบบสนุกๆด้วยว่า “ไอ้สิ้นหวัง แกไม่มีอะไรดีรึไง
ผู้หญิงจึงไม่รัก ฯลฯ”.
ทำไมแต่งตัวเป็นกระต่าย?
กระต่ายถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์
ของการมีลูกดก และโยงต่อไปถึงความรักใคร่และความปรารถนา. ภาพลักษณ์ของกระต่ายเชื่อมโยงไปถึงการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศ
ของฤดูกาลและโดยเฉพาะฤดูใบไม้ผลิ.
มีธรรมเนียมชาติอื่นต่างกันไปเล็กน้อย
แต่มีนัยเหมือนกัน เช่นใช้กระต่ายป่าแทนกระต่ายบ้าน(เช่นในสหรัฐฯ
และจังหวัดอัลซ้าส์ในฝรั่งเศส), ในเยอรมนี ชาวเมืองแถบ Thüringen ใช้นกกระสา
(เราคุ้นเคยกับภาพการ์ตูนที่นกกระสาคาบเด็กทารกในผ้าอ้อมไปส่งพ่อแม่) หรือในแถบ Westfalen ใช้สุนัขจิ้งจอก, ส่วนในสวิสเซอแลนด์ ใช้นกคุคคู
(cuckoo นกดุเหว่า). สัตว์ที่นำมาร่วมในเทศกาลอีสเตอร์นี้ เขาจำลองเหมือนจริงขนาดย่อส่วน ทำด้วยช็อกโกแล็ต
ให้เป็นขนมตอบแทนเด็กๆที่ออกวิ่งตามหาไข่ในสวนเช้าวันอีสเตอร์.
ภาพ Black & White นี้จากสวนที่
Helsinki
[เฮ้ลซิงกิ]
ประเทศฟินแลนด์
ทำไมใช้ไข่? ไข่ เป็นภาพที่ง่ายและชัดเจนของชีวิตที่พร้อมจะเกิดใหม่. ความจริงทางชีวเคมี ชีวิตคือการสืบเผ่าพันธุ์ จงทำหน้าที่ให้ดี!!!
ป้าเยอรมัน ยื่นไข่ไก่ให้ข้าพเจ้าหนึ่งฟอง
ให้ปาผู้ชายคนนั้น ข้าพเจ้าไม่รับ บอกขออภัย ไม่ทำนะคะ แล้วรีบเดินออกมา ก่อนที่ทั้งทีมจะรู้ว่า นี่หกสิบกว่าใกล้ม้วยแล้ว
ยังไม่ได้วางไข่ซักฟอง…
มองไข่ในหลายมิติ
ไข่เป็นสัญลักษณ์แรกที่คนใฃ้มาแต่โลกโบราณ
เพื่อสื่อนัยของชีวิตและการเกิดใหม่.
เล่ากันมาว่าชาวอีจิปต์และชาวเปอเชีย
นิยมระบายสีบนไข่สีต่างๆเมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ. ชาวโกลและเหล่าดรูอิด (Druids) แต้มไข่เป็นสีแดงเพื่อเทิดทูนพระอาทิตย์. สำหรับชาวยิว
ไข่เป็นสัญลักษณ์ทั้งของการเกิดใหม่และการตาย จนถึงทุกวันนี้
ชาวยิวยังคงมีชีวิตที่ไม่สงบสุข.
หัวหน้านักบวชชาวยิว จุ่มไข่ลงในน้ำเกลือ
เป็นสัญลักษณ์เตือนให้นึกถึงน้ำตาที่หลั่งไหลเมื่อสูญเสียอิสรภาพ.
ชีวิตที่ทะลุเปลือก
โผล่ออกมา ให้ภาพชัดเจนที่ศาสนาคริสต์นำไปเปรียบกับการฟื้นคืนชีวิต. จนถึงศตวรรษที่17 ศาสนาคริสต์ห้ามคนกินไข่ในระหว่างถือศีลอด (la Carême / Lent) ระหว่างนี้แม่ไก่ก็ยังวางไข่ตามปกติของมัน
คนจึงเก็บไข่ไว้และคิดตกแต่งให้สวยงามเพื่อใช้ในเทศกาลอีสเตอร์. นอกจากนี้
ยังเล่าไว้ในคัมภีร์ฉบับของ Luc เล่ม3 บาทที่ 1-2 ว่าเมื่อพระเยซูฟื้นคืนชีวิต
มารีมัดเดอแลนได้ไปกรุงโรมเข้าพบจักรพรรดิ Tiberius (ปีคศ 27/28
ตามคัมภีร์ของ) นางนำไข่ทาสีแดงไปให้หนึ่งฟอง และมีข้อความกำกับว่า
พระคริสต์ได้ฟื้นคืนชีวิต.
พระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ ได้ยกระดับการตกแต่งเปลือกไข่
ให้ขึ้นเป็นธรรมเนียมถาวร. ยุคนั้น
ใครที่มีไข่จากเล้าของตัวเองที่มีขนาดโตที่สุด
มักนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายในระหว่างสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์และในวันอีสเตอร์. พระเจ้าหลุยส์เองมีตะกร้าใส่ไข่ขนาดใหญ่ๆหลายตะกร้า
บรรจุไข่ที่ประดับด้วยลวดลายวาดลงบนแผ่นทองคำเปลว พระองค์แจกไข่ให้แก่ข้าราชสำนักทุกคน
รวมถึงกลุ่มคนรับใช้และคนบริการทั้งหลายในพระราชวังด้วย.
จนถึงปัจจุบันนี้ หลายครอบครัวยังคงจัดฉลองวันอีสเตอร์แบบง่ายๆ ด้วยการมีภาชนะบรรจุไข่หลากสีสัน
และมีช็อกโกแล็ตเป็นกระต่ายตัวน้อยๆ สำหรับลูกหลานในครอบครัว. เทศกาลอีสเตอร์เป็นโอกาสทำเงินโอกาสหนึ่งในยุคนี้
ร้านขนมตามถนนก็ตกแต่งร้านด้วยไข่และกระต่าย ทั้งหมดทำด้วยช็อกโกแล็ต
หุ้มด้วยกระดาษสีอลูมีเนียมแผ่นบางๆสีต่างๆ.
ไข่ที่ตกแต่งอย่างประณีตสวยงามของชาวรัสเซียและชาวฮังการี
ได้ยกระดับการตกแต่งไข่ขึ้นเป็นเนรมิตศิลป์แขนงหนึ่ง. ในที่สุดเมื่อถึงเทศกาลอีสเตอร์ ชุมชนในยุโรป
โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยว มีการจัดประกวด การแสดงนิทรรศการไข่ประดับตามพิพิธภัณฑ์. ชุมชนจัดประดับจัตุรัสกลางเมืองหรือในสวนด้วยไข่ จรรโลงทั้งศิลปะการตกแต่งไข่
ขยายวิสัยทัศน์ให้แก่เยาวชนรุ่นต่อไปและสานไมตรีของชุมชนด้วย(ทุกคนต่างช่วยกันตกแต่งไข่คนละฟองสองฟองเป็นต้น).
ภาพตัวอย่างจากเมือง
Rothenburg ob der Tauber [โรเทินบูก] ในเยอรมนี
ไข่ที่ทำเก็บเป็นของสะสมนั้น
ทำจากวัสดุหลายประเภท เป็นไข่ไม้แกะ ไข่หินแกะ(จากหินประเภทต่างๆ)
ไข่กระเบื้องเคลือบเนื้อดี ไข่คริสตัล ไข่ทำด้วยเงิน หรือไข่ทองคำเป็นต้น. ภาพจากพิพิธภัณฑ์ไข่ประดับนานาชาติที่ Muzeul International al Oualor Lucia Condrea, ที่เมือง Moldovița
ประเทศโรเมเนีย. นอกจากนิทรรศการถาวรที่รวมไข่ที่ทำขึ้นจากวัสดุแบบต่างๆ
ประดับสวยงามจากนานาประเทศเป็นจำนวนมาก ที่นั่นยังมีการสาธิตวิธีทำให้กลุ่มนักเที่ยวด้วย.
ตัวอย่างไข่โลหะมีค่าเช่นเงินหรือทอง
แบบเปิดได้ ข้างในเก็บจี้ทองประดับมุก(ดูคล้ายไม้กางเขน)
และจี้จำหลักรูปพระเยซูบนไม้กางเขน ข้างหนึ่งมีบันได อีกข้างมีไก่ สื่อนัยศาสนา. คนโทดินดำที่วางอยู่ข้างๆในมุมขวานั้น
ใช้เป็นที่วางไข่ฟองโตๆที่เปราะบางเป็นต้น.
ไข่จากหินชนิดต่างๆ
แบบเกลี้ยงๆโชว์ลายธรรมชาติในเนื้อหิน หรือแต่งแต้มลวดลาย.
ไข่กระเบื้องเคลือบประดับด้วยภาพวาดดอกไม้เป็นต้น.
ในตะวันตก
เมื่อเห็นไข่ประดับ ผู้คนมักนึกต่อไปถึงไข่ฟาแบร์เช่ และนึกถึงศิลปิน Peter Karl Fabergé [ฟาแบรฺ-เฌ่] (1846-1920) ผู้เนรมิตไข่ให้เป็นสมบัติล้ำค่าไร้เทียมทานสำหรับพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียในศตวรรษที่19. เขาเกิดที่เมือง Saint-Petersburg ในครอบครัวช่างเพชรช่างทอง. เขามีผลงานยอดเยี่ยม
เคยได้รางวัลเหรียญทองจากนิทรรศการ Pan-Russian Exhibition, Moscow 1882. บริษัทฟาแบร์เช่ (Maison Fabergé) ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากราชสำนักให้เป็นผู้จัดทำจัดหาเครื่องเพชรพลอยและของมีค่าอื่นๆถวายพระเจ้าซาร์และเชื้อพระวงศ์ตั้งแต่ปี
1884. ในปี 1885 พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่สาม ทรงขอให้ฟาแบร์เช่ประดิษฐ์ไข่หนึ่งฟองเพื่อพระราชทานแด่พระราชินี
Maria Fedorovna
ในเทศกาลอีสเตอร์. พระราชประสงค์นั้นทำให้ฟาแบร์เช่ประดิษฐ์ไข่เป็นครั้งแรก. พระราชินีทรงพอพระราชหฤทัยมาก พระเจ้าซาร์จึงทรงสั่งให้ประดิษฐ์ไข่ถวายทุกปี. ฟาแบร์เช่จึงเนรมิตไข่วิเศษวิจิตรงดงามแบบต่างๆเพื่อถวายพระเจ้าซาร์ Alexander III และซาร์ Nicholas II ผู้พระราชทานเป็นของขวัญแด่พระราชินีและพระราชชนนีของพระองค์.
ไข่แต่ละแบบในแต่ละปีนั้น
มีเนื้อหาหรือสิ่งประดับที่เป็นอนุสรณ์เหตุการณ์สำคัญๆที่เกิดขึ้นในช่วงระยะหนึ่งปีที่ผ่านไป
ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองหรือเหตุการณ์ในชีวิตส่วนพระองค์. เช่นนี้ไข่ฟาแบร์เช่ นอกจากมีค่ามหาศาลเพราะวัสดุและเครื่องเพชรพลอยที่ใช้ทำ
ยังเป็นจารึกประวัติศาสตร์ของราชวงศ์โรมาน็อฟในศตวรรษที่ 19 ต้นศตวรรษที่
20. (ราชวงศ์ Romanov ครองรัสเซียระหว่างปี 1613-1917). ผลงานการสร้างสรรค์ไข่ฟาแบร์เช่ทั้งหมดทำขึ้นภายในโรงงานของฟาแบร์เช่ที่เมือง
St. Petersburg ในรัสเซีย. ชิ้นที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขาประดิษฐ์ขึ้นสำหรับพระเจ้าซาร์ดังกล่าว มีทั้งหมดรวม 52(หรือ54) ชิ้น. ถูกยึดไปพร้อมทรัพย์สินอื่นๆของราชวงศ์โรมาน็อฟ (Romanov) ในการปฏิวัติรัสเซีย (เดือนกุมภาพันธ์ 1917) ที่เป็นจุดจบของระบอบราชาธิปไตยในรัสเซีย. ข้อมูลบางแหล่งบอกว่า
มีสมบัติที่เป็น“ไข่ของจักรพรรดิ” 53 ชิ้น 42 ชิ้นกระจายไปอยู่ในที่ต่างๆทั่วโลก.
นานๆก็มีการประมูลขาย“ไข่ผลงานของฟาแบร์เช่” ที่มีมูลค่าอย่างต่ำอยู่ที่ 50 ล้านดอลลาร์เป็นต้น. ค่าของงานแต่ละชิ้นของฟาแบร์เช่
ยืนยันความเป็นเลิศของฝีมือและอัจฉริยะในการสร้างสรรค์ของเขา. เป็นสุดยอดของนฤมิตศิลป์ที่หาที่เปรียบมิได้.
ฟาแบร์เช่ยังมีลูกค้าส่วนตัวด้วย
จากชนชั้นสูงและคหบดีมหาเศรษฐีคนอื่นๆเช่นตระกูล Malborough (cf. Winston Churchill), ตระกูล Rothschild
เป็นต้น. ทรัพย์สมบัติของตระกูลฟาแบร์เช่ก็ถูกคณะปฏิวัติบอลเชวิก(Bolsheviks)
ยึดไปเป็นของรัฐหมดตั้งแต่ปี 1918. ตระกูลเขาต้องลี้ภัยออกจากรัสเซีย.
โรงงานฟาแบร์เช่ ถูกขายทอดตลาดและเปลี่ยนมือไปเรื่อยๆ. ปัจจุบันมีชื่อการค้าว่า
Fabergé Limited
ยังขายผลิตภัณฑ์เครื่องเพชรพลอยรูปไข่. ชมคลิปวีดีโอเกี่ยวกับผลงานชิ้นยอดเยี่ยมไข่ดั้งเดิมฝีมือจากฟาแบร์เช่ได้ที่นี่. ยาว 4:32 นาที >> https://www.dailymotion.com/video/xm5vh1
แต่ละปี ไข่ที่ฟาแบร์เช่เนรมิตขึ้น
ยิ่งวิจิตรพิศดารมากขึ้นๆ ทุกแบบมีอะไรซ่อนอยู่ภายใน ให้เป็นของขวัญ“ชิ้นอัศจรรย์ใจ”. ไข่ฟาแบร์เช่จึงเปิดออก
หรือเปิดเข้าไปจนถึงชั้นในสุด (ในแบบเดียวกับตุ๊กตาแม่ลูกดก matriochka). ดูภาพตัวอย่างไข่ของฟาแบร์เช่รุ่นถวายซาร์แห่งรัสเซีย
ข้างล่างนี้
ไข่ฟาแบร์เช่ชิ้นแรกที่ทำขึ้นในปี 1885 ภายนอกเป็นไข่สีครีม ทำจากกระเบื้องเคลือบเนื้อดี แบบเรียบๆ
เมื่อเปิดออก ภายในเป็นทองคำ มีลูกกลมทองคำทั้งลูก. เมื่อเปิดลูกทองคำ มีแม่ไก่ทองคำ ตาเป็นทับทิม.
เมื่อเปิดตัวแม่ไก่ มีจี้ทับทิบหนึ่งเม็ด และมีมงกุฎฝังเพชร บนยอดมงกุฎเป็นทับทิม. ซาร์ Alexander III ทรงมอบแด่พระมเหสี ผู้พอพระทัยมาก
จนซาร์สั่งให้ฟาแบร์เช่เนรมิตไข่ถวายพระองค์ทุกปีในเทศกาลอีสเตอร์.
ภาพนี้ของ Михаил
Овчинников, 16 September 2013. [CC BY-SA 4.0 (https://creativecommons.org/licenses/by-sa/4.0)],
from Wikimedia Commons.
จิตรกรรมนี้เป็นผลงานของ Laurits Regner Tuxen, 1898. ภาพเล่าเหตุการณ์พิธีราชาภิเษกของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สองและพระราชินีอเล็กซานดรา
(Coronation of
Nicholas II and Alexandra Fyodorovna, 1896). ภาพจาก Wikimedia Commons [Public
domain].
ในวาระราชาภิเษก ฟาแบร์เช่ได้เนรมิตไข่ที่มีรถม้าทองคำอยู่ภายใน (1897) เพื่อเป็นอนุสรณ์เหตุการณ์สำคัญดังกล่าว ดังภาพข้างบนนี้. เรียกกันว่า Imperial Coronation Egg. ภาพนี้เป็นของ Miguel Hermoso Cuesta เมื่อวันที่
18 May 2011 ถ่ายจากนิทรรศการที่กรุงโรม. ข้อมูลภาพดังนี้ [CC BY-SA 3.0
(https://creativecommons.org/licenses/by-sa/3.0)], from Wikimedia Commons.
ไข่ดอกไม้แบบนี้ ฟาแบร์เช่เนรมิตขึ้นในปี 1898 สำหรับพระราชินีอเล็กซานดรา ประดับด้วยดอก lilies of the valley. เมื่อกดปุ่มบนยอดไข่
มีกิ่งทองเลื่อนสูงขึ้นอย่างอัตโนมัติและแผ่ออกเหมือนใบไม้สามใบ
มีภาพของซาร์นิโคลัสที่สองและลูกสาวสองคนแรกของพระองค์. พระราชินีทรงโปรดไข่ดอก
lilies of the valley มาก ทรงนำติดตัวไปทุกแห่งเมื่อเดินทาง. ไข่ฟาแบร์เช่ชิ้นนี้
ได้นำออกแสดงในงานมหกรรมนานาชาติที่กรุงปารีส (Exposition
Universelle Paris, 1900). ฟาแบร์เช่ได้รับพระราชทานเหรียญกิตติมศักดิ์ในปีนั้น. ภาพนี้ของ Miguel Hermoso Cuesta เมื่อวันที่ 18 May 2011 ถ่ายจากนิทรรศการที่กรุงโรม. ข้อมูลภาพดังนี้ [CC BY-SA 3.0
(https://creativecommons.org/licenses/by-sa/3.0)], from Wikimedia Commons.
ไข่ฟาแบร์เช่อีกแบบหนึ่ง
เป็นแบบตะกร้าเพชร ตอนบนเป็นช่อดอกไม้หลากพันธุ์ รวมดอกไม้สามัญจากทุ่งหญ้า (prairie flowers) ในฤดูร้อน. ชิ้นนี้ชื่อ “Basket of Flowers” egg by Fabergé
(1901). ภาพของ KDS4444, 11 May 2017. [CC BY-SA
4.0 (https://creativecommons.org/licenses/by-sa/4.0)], from Wikimedia Commons.
ไข่ “Moscow Kremlin” ที่ฟาแบร์เช่เนรมิตขึ้น(1906). เจาะจงชัดเจนความสำคัญของกลุ่มสถาปัตยกรรมนี้
ใจกลางเมืองมอสโคว์. ไข่ฟาแบร์เช่ชิ้นนี้ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์
Kremlin
Armoury หนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่เก่าที่สุดในกรุงมอสโคว์.
ภาพถ่ายนี้เป็นของ Stan Shebs.
ไข่ฟาแบร์เช่ชิ้นนี้ตั้งชื่อไว้ว่า
Rose Trellis
Egg (1907) ประดับด้วยดอกกุหลาบตรงกลางตาข่ายไม้ระแนงที่ประดับด้วยเพชร. ซาร์นิโคลัสที่สองทรงมอบแด่พระมเหสีเมื่อวันที่
22 เมษายน 1907 ในวาระที่พระมเหสีทรงให้กำเนิดพระราชโอรส
Alexei
Nicholaievich (ในปี 1904. ปีนั้นเกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับญี่ปุ่น
การเนรมิตไข่ฟาแบร์เช่จึงหยุดชะงักไป). ภายในมีสร้อยคอเพชรหนึ่งเส้นและมีภาพเหมือนขนาดจิ๋วของพระราชโอรสในกรอบประดับเพชร
(ที่หายสาบสูญไป).
ภาพนี้จากพิพิธภัณฑ์ Walters Art Museum [Public
domain, GFDL (http://www.gnu.org/copyleft/fdl.html)], via Wikimedia Commons.
ฝ่ายโภชนาการศึกษายืนยันประโยชน์ของไข่ต่อคนทุกวัย
เป็นโปรตีนราคาถูกของชนทุกชั้น
ไข่ดาวทอดร้อนๆ
ไข่เจียวเพียวๆหรือผสมสมุนไพร…
ขอบคุณแม่ไก่ที่มอบไข่
และมอบกายเลี้ยงดูเรามา
ขอบคุณและขออภัย...
บันทึกความทรงจำของโชติรส
๑ พฤษภาคม ๒๕๖๑.