Wednesday, 3 April 2019

Sakura Viewing

ซากุระกับ花見[หะน้ามิ]-Hanami. 
ดอกซากุระ ( [ศะกื๊อระ]) เป็นดอกไม้ที่ชาวโลกส่วนใหญ่โยงถึงประเทศญี่ปุ่นก่อนชาติใด จนกลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของญี่ปุ่นไปโดยปริยาย(อย่างไม่เป็นทางการ). แต่ไหนแต่ไรมา ชาวญี่ปุ่นชื่นชอบดอกไม้นี้เป็นพิเศษ คำเรียก ซากุระ ในภาษาญี่ปุ่นนั้น เจาะจงหมายถึงดอกซากุระ มากกว่าจะโยงไปถึงผลเชอรี่ที่กินได้ ( ซึ่งต้องเจาะจงเป็น 桜の果 / sakura no kudamono แปลตามตัวว่า สิ่งที่เป็นผลของซากุระ). ดูเหมือนว่า คำ cherry โยงไปถึงผลเชอรี่มากกว่าดอกเชอรี่ ในหมู่ชาวตะวันตก. เมื่อซากุระบาน ฤดูใบไม้ผลิมาถึงแล้ว.  ในวันแรกๆอากาศยังหนาวมาก แต่แสงแดดที่อบอุ่นขึ้นเล็กน้อย บวกกับความจดจ่อรอคอยฤดูผลิบาน ทำให้ผู้คนอยากเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดที่เบาบางกว่า ชุดสีอ่อนกว่าเสื้อผ้าสีคล้ำๆในฤดูหนาว  ทั้งเสื้อฟอร์มของที่ทำงานหรือเสื้อผ้านักเรียน เขาเปลี่ยนเป็นชุดฤดูใบไม้ผลิกันต้นเดือนเมษายนเลย.  คนเป็นหวัดในช่วงนี้มากเพราะความชะล่าใจหรือความไม่อยากทนอีกต่อไป.  
      ดอกไม้ผลิบานสีอ่อนๆเกือบขาวชวนให้จิตใจเบิกบานยิ่งนัก, มองไปในฝูงชน เสื้อผ้าสีอ่อนๆก็ดูดีเหมือนเห็นในหน้ายิ้มแย้ม. เมื่อซากุระบาน เป็นช่วงเปิดปีการศึกษาใหม่ที่เริ่มขึ้นในเดือนเมษายน  นักเรียนนักศึกษาต่างกระตือรือร้นอยากไปโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเพื่อพบปะเพื่อนๆที่ได้ห่างเหินกันไปในระหว่างปิดภาคฤดูหนาว  จิตใจเกิดพลังใหม่ๆเพื่อการเรียนในเทอมใหม่ปีการศึกษาใหม่.  ฤดูซากุระบานก็เป็นปีงบประมาณใหม่ในระบบราชการและธุรกรรมทุกชนิดในญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน ซากุระบานจึงโยงไปถึงการก้าวไปข้างหน้าสู่อนาคตใหม่อีกหนึ่งรอบ (มันจะร่วงเร็วก็ช่างมัน คนต้องก้าวต่อไป).
        ซากุระในประเทศญี่ปุ่นมีมากกว่า 300 สายพันธุ์  มีสองสามสายพันธุ์ที่แพร่หลายทั่วไปและเป็นที่นิยมกันมากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น. พันธุ์ที่เรียกกันว่า 染井吉野 [โซเมอี โยชิโน] - Somei yoshino เป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายไปทั่วญี่ปุ่น  ดั้งเดิมมาจากไหนนั้นยังไม่มีใครสามารถระบุได้  คิดกันว่าอาจมาจากการผสมสองสายพันธุ์ (สายพันธุ์ Prunus speciosa กับสายพันธุ์ Prunus pendula). เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นแล้ว มีอายุสั้นกว่าคือราว 20 ปี และสูงได้ถึง 7 เมตร ให้ดอกไม้ดอกใหญ่สีชมพูกลีบดอกชั้นเดียว.  สายพันธุ์นี้แตกใบเมื่อดอกบานเต็มที่แล้ว จึงทำให้ซากุระพันธุ์นี้ มองดูสะพรั่งเฉิดฉายไม่มีอะไรมาแทรก. สายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์หลักที่ประเทศญี่ปุ่นส่งไปเป็นของกำนัลแก่ประเทศต่างๆในยุโรปและในทวีปอเมริกาเหนือ.  มีผู้นำต้นซากุระเข้าสู่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 1862 และในปี 1909 ประเทศญี่ปุ่นได้ส่งของกำนัลเป็นต้นเชอรี่จำนวนกว่า 2000 ต้นจาก 11 สายพันธุ์ไปมอบให้แก่กรุงวอชิงตันดีซี (Washington D.C.)  เพื่อแสดงไมตรีจิตของชาวญี่ปุ่นต่อชาวอเมริกัน.  ต้นซากุระทั้งหมดไปปลูกอยู่สองฝั่งของแม่น้ำ Potomac สร้างทัศนียภาพที่ยิ่งใหญ่สองฝั่งแม่น้ำนั้น ที่เป็นที่รวมอนุสาวรีย์สำคัญๆของประเทศไว้. ทุกคนรู้ดีหรือเคยได้เห็นข่าวรายงานเกี่ยวกับซากุระบานในกรุงวอชิงตันดีซีว่างดงามน่าไปเดินชมมากเพียงใด (ดูภาพตัวอย่างท้ายเรื่อง). นอกจากนี้ยังมีเมืองอื่นๆที่ปลูกต้นเชอรี่จากญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก เช่นที่เมืองโตรอนโต (Toronto ในประเทศแคนาดา เริ่มปลูกต้นซากุระจากญี่ปุ่นในปี 1959) เป็นต้น.
          อีกสายพันธุ์หนึ่งเป็นพันธุ์ป่าขึ้นในเขตภูเขาตอนใต้และตอนกลางของเกาะฮอนชูและเป็นพันธุ์ที่เพาะปลูกกันแพร่หลาย เรียกว่าพันธุ์ 山桜  [ยามะ ศะกื๊อระ]  - Yamazakura (wild cherry tree)  พันธุ์นี้อาจขึ้นสูงไปได้ถึง 20-25 เมตร. สายพันธุ์นี้มีใบยาวเรียวกว่าและหยักเป็นซี่ลึกชัดเจน แตกใบ(สีออกแดงๆ)เกือบพร้อมๆกับการผลิดอก  ทำให้มีใบแทรกกับดอกซากุระเสมอ.
         สายพันธุ์ที่ต้องกล่าวถึงคือ ต้นซากุระที่มีกิ่งลู่ลง เรียกว่า 枝垂桜 [ชิด๊าเหระ ศะกื๊อระ] - Shidarezakura  ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า weeping sakura  (กิ่งที่ลู่ลง เหมือนกำลังก้มหน้าน้ำตาไหลพราก. ในภาษาญี่ปุ่น shidare มีความหมายว่า ก้มลง  น่าจะเรียกซากุระสายพันธุ์นี้ได้ว่า ซากุระพันธุ์โก้งโค้ง  มิได้โยงไปถึงการคำนับหรือคารวะ ดังที่หลายคนมองเช่นนั้นว่าเหมือนการถ่อมตน แต่คนญี่ปุ่นถ่อมตนจริงไหม นั่นคนละประเด็น) มักปลูกในสวนภายในบริเวณวัด. ต้นอาจสูงได้ราว 20 เมตร มีลำต้นใหญ่หนา กิ่งก็หนาใหญ่เช่นกัน แผ่ออกไปในแนวนอน แล้วจากกิ่งเหล่านี้แตกเป็นกิ่งเล็กๆตกลงในแนวดิ่งเป็นจำนวนมาก. บางทีเขาตัดยอดลง มิให้มันสูงเกินไป เพราะต้องการให้ลำต้นกลมใหญ่หนากว่าต้นซากุระทั่วไป เพื่อพยุงน้ำหนักของกิ่งใหญ่ๆ หนาและแข็งแรงที่แตกออกไปในแนวนอน พร้อมที่จะรับน้ำหนักของกิ่งดอกไม้กิ่งอื่นๆที่จะเกิดตามๆกันมาจำนวนมากในแต่ละปี. บางแห่งสร้างร่างร้านไม้ไผ่ที่จัดเป็นวงรอบทั้งต้น ทำให้กิ่งก้านสามารถแผ่ออกไปได้กว้างและไกลและอยู่ในระดับสูงพอๆกัน โดยเฉพาะเมื่อพื้นที่รอบข้างว่างเปล่า จึงไม่ถูกกิ่งไม้หรือแม้แต่รากของต้นข้างเคียงรบกวนหรือจำกัดการยืดยาวออก. ร่างร้านที่ทำขึ้นจึงยิ่งเน้นลักษณะเป็นชั้นๆ(ในแบบต้นสนฉัตร). บางแห่งทำร่างร้านพยุงกิ่งใหญ่ๆทั้งหลายไว้ส่วนหนึ่ง ก่อนจะปล่อยให้กิ่งเล็กกิ่งอ่อนกิ่งใหม่ๆตกดิ่งลง.  คนสวนคอยตัดเล็มปลายกิ่งเพื่อความงามสมดุล. ดอกส่วนใหญ่เป็นดอกชั้นเดียวสีชมพูเกือบขาว แต่ก็มีอีกสายพันธุ์หนึ่งที่มีดอกเป็นสีแดงและกลีบสองชั้นที่ผลิดอกประมาณหนึ่งอาทิตย์หลังต้นซากุระดอกเดี่ยว. ดอกซากุระที่บานไหวพริ้ว ยิ่งทำให้เหมือนม่านดอกไม้ ดังตัวอย่างภาพที่นำมาให้ดูข้างล่างนี้. 
       พันธุ์ที่เด่นเป็นพิเศษอีกพันธุ์หนึ่งคือ พันธุ์ที่ผลิดอกตั้งแต่ต้นๆฤดูใบไม้ผลิ คือราววันที่ 21 มีนาคม นั่นคือผลิดอกในช่วงวสันตวิษุวัต วันที่ระยะเวลากลางวันและกลางคืนยาวเท่ากันในฤดูใบไม้ผลิ  เรียกต้นเชอรี่ที่ผลินำหน้าสายพันธุ์อื่นๆว่า  彼岸桜  [หิกั๊น ศะกื๊อระ] -Higan Zakura  มีดอกชั้นเดียวห้ากลีบ.



สี่ภาพนี้มาจากบริเวณโบสถ์เทนรีเคียว (  [เท้งรีคิโย])  เมือง (เท็งรี) จังหวัดนารา (奈良 [น้าหระ])  ที่นั่นมีต้นซากุระพันธุ์กิ่งลู่ลงสามต้นขนาดใหญ่และมีอายุเกินร้อยทุกต้น. เนื่องจากแต่ละต้น ตั้งเด่นสง่าบนพื้นที่ว่างโดยรอบ ทำให้รากแต่ละต้นสามารถแผ่ออกไปกว้างไกลใต้ดิน. ส่วนบนดินแต่ละกิ่งก็ยืดยาวออกๆ ทำให้มีการทำร่างร้านด้วยไม้ไผ่เป็นชั้นๆอย่างดี ทำไว้เป็นการถาวรเลย เพื่อพยุงกิ่งทั้งหมด ในขณะเดียวกันเท่ากับจัดกิ่งในอยู่ในระดับเดียวกัน จนดูเป็นชั้นๆอย่างที่เห็นในภาพใหญ่ข้างบน. ต้นที่เห็นต้นซ้ายมือมีดอกเป็นสีชมพูอ่อนๆ  ส่วนดอกซากุระต้นขวามือมีสีเกือบขาว.
ซากุระพันธุ์กิ่งลู่ลงนี้ มีไม่มากและพัฒนาพันธุ์ยากด้วย เพราะฉะนั้น ต้นที่มีอายุมากที่ยืนเด่นตามที่ต่างๆในญี่ปุ่น จึงเป็นดาราสำคัญ มีการตั้งศาลเจ้าใต้ต้นนั้น. เกือบทุกต้นถูกจัดให้เป็นสมบัติของชาติ และมีข่าวติดตามและถ่ายทอดการผลิบานของมันอย่างต่อเนื่องทุกระยะ ทำให้ผู้คนเดินทางไปชมและคารวะต้นซากุระผู้เฒ่าเหล่านั้น(ซึ่งอยู่ต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่). 
       ต้นซากุระพันธุ์กิ่งลู่ลงที่ขึ้นโดดเดี่ยวในธรรมชาติ รูปทรงสันฐานดังตัวอย่างต้นนี้ที่อยู่ที่ตำบล 大宇陀 [โออูดะโจ่] - Ouda-cho เรียกกันว่า  又兵街  [หมะต้ะเบย-ซะกือระ]  เมือง宇陀 [อูดะ] ในจังหวัดนารา. ที่นั่นไม่มีการทำร่างร้านเพื่อพยุงกิ่งของมัน ปล่อยให้มันเติบโตในบริบทธรรมชาติ จึงมีหลายกิ่งที่ทอดลงจรดพื้น.
สี่ภาพข้างล่างนี้ ถ่ายจากตำบล 大宇陀[โออูดะโจ่] - Ouda-cho  เขต 宇陀郡 [อูดากุน] - Uda-gun  จังหวัดนารา



ต้นบ๊วยที่ปลูกเป็นฉากหลัง สีสดมาก
ชุมชนที่อยู่ในแถบนี้ รวมกันพัฒนาพื้นที่ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เช่นปลูกต้นบ๊วยดอกสีชมพูสดๆเป็นแนว ดูเหมือนฉาก ส่งให้ต้นซากุระเด่นเหมือนดารากลางเวทีละคร ดอกซากุระสีอ่อนๆก็โดดเด่นชัดเจนมากด้วย. ส่วนด้านหน้าจัดพื้นที่เป็นขั้นบันได ทำให้นึกถึงอัฒจันทร์ในโรงละครกรีกโบราณ. ภาพเหล่านี้ ดอกซากุระร่วงไปเกือบหมดแล้ว (ทั้งๆที่บานไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์เลย) ในมุมมองรวมๆจากที่ไกลออกไป ยังเหลือ profile สีชมพูอ่อนๆของทั้งต้น.
      ห้าภาพข้างล่างนี้ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของซากุระพันธุ์กิ่งลู่ลง ต้นนี้ตั้งชื่อกันไว้ว่าต้น 滝桜  [ต๊ะกิ ศะกื๊อระ] - Takizakura  หรือ “ซากุระน้ำตก”.  อยู่ที่อำเภอ 三春 [มิฮารุ] -Miharu ในจังหวัด  福島県 [ฟึกื๊อชีมะ] – Fukushima.  เห็นไม้ค้ำมั่นคงถาวร ค้ำเกือบทุกกิ่งทุกแขนง.  ลำต้นจริงๆเมื่อเทียบกับสัดส่วนโดยรวมแล้ว ไม่สูงนักคือประมาณ 19 เมตร แขนงใหญ่ๆทอดยืดยาวออกไปถึง 22 เมตร เห็นกิ่งฝอยๆจำนวนมาก. ต้นยืนเด่นบนเนินสูง ยามดอกซากุระบาน ดอกไม้ห้อยพลิ้วลู่ลมและกระเพื่อมเหมือนแนวน้ำตก. เมื่อยืนมองขึ้นไปจากเชิงเนิน เหมือนกำลังยืนชมน้ำตกตรงหน้า. ทางการได้ร่วมมือกับชุมชนที่นั่น จัดสรรค์พื้นที่เพื่อให้ผู้คนจากภาคอื่นๆมีโอกาสได้เข้าไปชมอย่างใกล้ชิด ทั้งได้พยายามเพาะพันธุ์และขยายพันธุ์จากต้นนี้ และปลูกไว้บนเนินในบริเวณใกล้เคียงกันนั้น เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีสายพันธุ์นี้ขึ้นในญี่ปุ่นอีกชั่วลูกชั่วหลาน. ต้นซากุระที่ปลูกบนเนินรอบหมู่บ้านทั้งหมดเป็นลูกหลานของต้นนี้. “ซากุระน้ำตก” มีอายุมากกว่าพันปี เส้นผ่าศูนย์กลางตรงโคนต้น 9.5 เมตร  อกบานระหว่างปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม. ทางการได้ขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติแห่งชาติ ในปี 1922 และเป็นหนึ่งในซากุระสามต้นที่เด่นสง่าที่สุดของญี่ปุ่น.




มองในเวลาดังกล่าวที่ยังไม่มีดอกไม่มีใบ เห็นความสง่างาม ความชาญฉลาดของต้นไม้. ภาพเหล่านี้ถ่ายเมื่อ 15 เมษายน 2006  สองวันก่อนหน้านั้นมีประกาศว่าดอกตูมๆออกมาแล้ว จึงรีบเดินทางไปดู รถเมล์ที่จัดนำไปชมโดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายนก็เริ่มบริการแล้ว  ปรากฏว่า ยังเป็นดอกตูมๆอยู่  การไปตรงกับช่วงที่ซากุระบานเต็มต้น ต้องถือว่าเป็นโชคแบบหนึ่ง เพราะหากไม่ไปก่อนเวลาก็มักไปหลังเวลา  ข้อดีคือมีโอกาสพินิจพิจารณาพื้นที่โดยรอบมากขึ้น เพราะผู้คนยังน้อยอยู่  ถึงกระนั้นวันที่ไปก็มีรถทัวร์พานักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นจากถิ่นอื่นไปหลายคันทีเดียว.  
เมื่อดอกบานเต็มต้นก็จะเป็นเช่นนี้  ภาพจากวิกิพีเดีย 
ระบุไว้ว่าเป็นภาพของ 京浜にけ  ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2009

      กลางกรุงเกียวโต มีซากุระพันธุ์กิ่งลู่ลงต้นหนึ่ง มีชื่อเจาะจงว่า  一重白彼岸枝垂桜  [หิโต๊เอะ ชีโระ ฮีกั๊น ชิดาเหระ ศะกื๊อระ] - Hitoe Shiro Higan Shidarezakura  แปลตามอักษรแต่ละตัวว่า กลีบเดี่ยว, สีขาว, ห้อยย้อยลง, ซากุระ รวมความได้ว่า  ต้นซากุระที่กิ่งลู่ลงมีดอกสีขาวกลีบเดี่ยว อยู่ในสวนสาธารณะชื่อ 円山公園  [มารุยามะโกเอ็ง] - Maruyama Kōen  ตั้งอยู่บนเชิงเนินของเทือกเขาด้านทิศตะวันออกของกรุงเกียวโต (東山 [ฮิกาชิยามะ] - Higashiyama) เป็นสวนสาธารณะแห่งแรกของกรุงเกียวโต สร้างสรรค์ขึ้นในปี 1886 ตามผังสวนของ 小川  治兵衛 [โอกาวา จิเฮย] - Ogawa Jihei (1860-1933) นักภูมิทัศน์และคนสวนชื่อดังชาวญี่ปุ่น. สร้างแล้วเสร็จในปี 1889  มีพื้นที่ราว 86,000 ตารางเมตร ที่รวมท้องที่รอบบริเวณเนินเขาทั้งหมด มีทั้งสวนดอกไม้ สวนผลไม้ ร้านอาหารจำนวนมาก โรงมหรสพ รวมทั้งศูนย์วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์. หากมองสวนนี้ตรงบริเวณที่ยืนของต้นซากุระต้นดารา พื้นที่เขียวดูเหมือนถูกจำกัดลงไปมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อมีผู้คนแห่กันไปชมดอกซากุระที่นั่น และเมื่อมีกลุ่มชนไปจัดปิคนิคทั่วไปในสวน ยิ่งทำให้พื้นที่สำหรับเดินเหลือน้อยลงมาก. นอกจากนี้เมื่อมีการนำอาหารเข้าไปปิ้งย่างกินกันที่นั่น บวกกับผู้คนที่สูบบุหรี่กันมาก ได้ทำลายความงาม ความสงบของสวนนั้นไปอย่างน่าเสียดายยิ่ง. 

ต้นซากุระดาราเอกของสวนมารุยามะในยามค่ำคืน ที่กรุงเกียวโต
ซากุระต้นแรกดั้งเดิมที่ขึ้นอยู่ในบริเวณสวนมารุยามะ สืบสาวอายุไปได้ถึง 200 ปี มีเส้นผ่าศูนย์กลางณโคนต้น 4 เมตร สูง 12 เมตร ถูกยกขึ้นเป็น อนุสาวรีย์ธรรมชาติ ในปี 1938  มันตายลงในปี 1947. นอกจากซากุระดาราเอกต้นนี้ ยังมีซากุระสายพันธุ์ต่างๆอีกประมาณ 680 ต้นรวมทั้งพันธุ์ภูเขาและพันธุ์ Somei Yoshino เช่นนี้ทำให้สวนมารุยะมะในกรุงเกียวโตเป็นจุดยอดนิยมจุดหนึ่งสำหรับการไปชมซากุระบาน. เมื่อกล่าวถึงต้นซากุระดาราเอกต้นนี้ ชาวญี่ปุ่นยังจำ 佐野藤右衛門 [ซะโน โตะเอมง] - Sano Toemon (1928- ) นักภูมิทัศน์และ“หมอซากุระ”ผู้มีชื่อเสียง. ในปี 1928 เขาสังเกตเห็นต้นซากุระที่นั่นเริ่มป่วย(เพราะวัยชราของมัน) จึงได้พยายามเก็บสะสมเมล็ดจากต้นนั้นและเพาะพันธุ์ขึ้นในสวนของเขา แต่มีเพียงเมล็ดสามเมล็ดเท่านั้นที่มีชีวิตรอดมาและเติบโตขึ้น. เมื่อต้นดาราตายลงในปี 1947 เขาจึงได้ปลูกต้นลูกที่เขาเพาะขึ้นจากเมล็ดของต้นแรกเข้าแทนที่ในปี 1949. ต้นที่เห็นในปัจจุบันคือต้นรุ่นที่สอง ลูกของต้นแรก อายุเจ็ดสิบกว่าปี.  ต้นที่สองนี้ก็มีปัญหาสุขภาพเหมือนกัน แต่คนสวนคนปัจจุบัน(ซึ่งก็เป็นลูกชายของ Sano Toemon) ได้พยายามศึกษาสภาพดินอย่างละเอียดและหาทางช่วยอย่างต่อเนื่อง เพราะปัญหาสำคัญที่ทำร้ายต้นซากุระ คือคุณภาพดินที่มีสิ่งแปลกปลอมที่มากับน้ำที่ปนเปื้อนสารที่ไม่เป็นมิตรกับต้นซากุระ. ต้นไม้เหมือนคน จะมีอายุยืนมีสุขภาพดี ต้องมีน้ำสะอาด ซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ยากขึ้นๆในสภาพแวดล้อมของเมืองสมัยใหม่.  สำหรับต้นซากุระดาราเอกของสวนมารุยามะนั้น เขาดูแลมันเหมือนลูกแท้ๆของเขา คนพูดกันว่า เขาหายใจเข้าออกเป็นต้นซากุระต้นนั้น เขาพูดคุยกับต้นนั้นเสมอและหาทางช่วยและบำรุงต้นนั้นอย่างไม่เคยละเลยหรือท้อถอย. ผลของความรักความพยายามของเขา ต้นซากุระต้นที่สองได้ผลิกิ่งใหม่ๆเมื่อไม่กี่ปีมานี้ เป็นความหวังใหม่ของทั้งคนสวนและชาวเมือง.

      ทางการญี่ปุ่นได้จัดขึ้นทะเบียนต้นซากุระที่สำคัญและเด่นที่สุดของญี่ปุ่นจากทั่วทั้งประเทศจำนวน 5 ต้น เรียกว่า 日本五大桜 [นีห้ง โกดัย ศะกือระ] - Nihon Godai Zakura ทั้งห้าต้นเป็นซากุระพันธุ์กิ่งลู่ลงทั้งหมด. นำรายชื่อมาลงไว้สำหรับผู้สนใจติดตามไปดู
1)  三春滝桜 [มีฮารึ ต๊ะกี่ศะกื๊อระ] - Miharu Takizakura  ที่จังหวัด Fukushima (รายละเอียดที่อยู่ดังนี้ 福島県田村郡三春町滝桜久保地内) 
2)  石戸蒲桜 [อิชิโต๊ะ กาบะศะกื๊อระ] - Ishito Kabazakura ที่จังหวัด Saitama (รายละเอียดที่อยู่ดังนี้ 埼玉県北本市石戸宿3119)
3)  神代桜 [ยามาตะกะ จินไดซะกือระ] - Yamataka Jindaizakura ที่จังหวัด Yamanashi (รายละเอียดที่อยู่ดังนี้ 山梨県北杜市武川町山高2763)
4)  淡墨桜 [เนโอดานิ อือซือศึ ศะกื๊อระ] - Neodani Usuzumizakura  ที่จังหวัด Gifu (รายละเอียดที่อยู่ดังนี้ 岐阜県本巣郡根尾板所上段995)
5)  狩宿の下馬ザクラ [คารียาโด่ เกบา ศะะกือระ] - Kariyado Gebazakura ที่จังหวัด Shizuoka (รายละเอียดที่อยู่ดังนี้ 静岡県富士宮市狩宿98-)

      ตั้งแต่โบราณมา นักเขียน กวี ศิลปินต่างได้พูดถึงการผลิบานของซากุระที่กลั่นกรองจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ฝังอยู่ในจิตสำนึก. สิ่งที่พวกเขากล่าวหรือแสดงออกมาในรูปแบบใดแบบหนึ่งเช่นจิตรกรรมประดับประตูที่เป็นฉากเลื่อนภายในอาคาร หรือภาพพิมพ์ ทั้งหมดนอกจากเผยแพร่ภาพของความงามของดอกไม้ในธรรมชาติแล้ว และเน้นนัยหลักนัยเดียวกันคือความเปราะบางตามธรรมชาติของดอกซากุระ ที่บานเพียงหนึ่งถึงสองสัปดาห์เท่านั้น.
     ปลายเดือนมีนาคมต้นเมษายน เป็นช่วงที่อากาศแปรปรวนเสมอ  ฝนหรือพายุฉับพลันที่มักเกิดขึ้นในช่วงนี้ ทำให้ดอกซากุระร่วงหล่นทันที. ชาวญี่ปุ่นพูดกันว่า เป็นระยะที่ 三寒四温 [ซังกัง ชีอง] - Sankan Shion ในความหมายของ “สามวันหนาว สี่วันอุ่น”.  พออากาศเริ่มอุ่นขึ้น ลำต้นและกิ่งไม้ก็เริ่มมีสีเขียวจางๆ. อุ่นอีกหนึ่งวัน ดอกตูมก็ปรากฏให้เห็น. อุ่นต่ออีกวัน มันจะเริ่มบาน แต่พอกำลังจะบาน ลมหนาวพัดกระหน่ำขึ้นอีก บางทีท้องฟ้าคละฟุ้งเหมือนมีพายุฝุ่น บางทีฝนตก ใบอ่อนๆก็หลุดลง. ต้นไม้กิ่งไม้หยุดพักไปสามสี่วัน แล้วจะโผล่มาท้าทายใหม่เพราะแสงแดดอุ่นขึ้นๆอย่างรวดเร็วในแต่ละวัน. ระยะอากาศผันผวนแบบนี้ ชาวเกาหลีพูดว่า 곷샘추 อากาศหนาวในฤดูดอกไม้บาน ที่แปลกันในภาษาชาวบ้านว่า ฤดูหนาวอิจฉาดอกไม้ เลยต้องส่งลมหนาวมากระหน่ำเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะล่าถอยไปนานหกเดือน.
       เมื่อมองดูดอกไม้ที่ร่วงหล่นทั้งๆที่เพิ่งผลิได้ไม่นาน คนย่อมสะเทือนใจและเห็นความไม่ยั่งยืนของชีวิต กระตุ้นมรณานุสติ นำไปสู่งานสร้างสรรค์ทางวรรณกรรมที่เน้นความจริง ว่าชีวิตนี้น้อยนักและความงามเป็นเพียงมายาชั่วครู่ชั่วยาม. รสโศกที่แทรกอยู่เป็นประเด็นเด่น เป็นกุญแจสำคัญของการสร้างสรรค์  ถือว่าเป็นเนื้อหาที่สูงศักดิ์ เพราะเชื่อกันมาตลอดว่า คนเท่านั้นที่รู้จักแสดงความทุกข์ และความทุกข์เป็นบทนำสู่การพัฒนาจิตใจและสังคม (แต่ในความเป็นจริง สรรพชีวิต มีสุขมีทุกข์เหมือนกัน รวมถึงต้นไม้ด้วย เพียงแต่คนไม่ใส่ใจรับรู้)  

          เทศกาลชมดอกไม้บานมีมานานแล้วและปรากฏจารึก บันทึกหรือแสดงไว้ในวรรณคดี ในนาฏศิลป์และในวิจิตรศิลป์อื่นๆ  ในยุค 平安時代 [เฮยันจีได] - Heian jidai (คศ.794-1185) ชนชั้นสูงนิยมจัดปาร์ตี้ชมดอกไม้กันแล้ว  ต่อมาในยุค 安土桃山時代 [อะซื้อจิ-โมโม้ยามะ จีได] - Azuchi-Momoyama jidai (คศ. 1568-1600) มีการจัดงานปาร์ตี้ชมดอกไม้อย่างเอิกเกริกต่อหน้าปวงประชา โดยเฉพาะในสมัยของเจ้าผู้ครอง 豊臣 秀吉 [โตโย้โตมิ ฮิเดโยชิ] - Toyotomi Hideyoshi (1536-1598) ที่จัดขึ้นในบริเวณวัด 醍醐寺  [ดัยโก้จิ] - Daigoji ชานเมืองเกียวโต  ฉลองกันแบบนี้เรื่อยมาถึงสมัย 江戸時代 [เอะโด๊จีได] - Edo (1600-1868). สามัญชนเริ่มจัดปาร์ตี้ชมดอกไม้บานด้วย และสืบต่อมาถึงทุกวันนี้ ความนิยมมิได้ลดน้อยลงไปเลย ทั้งยังได้กระตุ้นความสนใจและขยายระดับการชื่นชมไปสู่ประเทศอื่นๆทั่วโลกด้วย  และ มีส่วนกระตุ้นการอนุรักษ์ธรรมชาติ การสร้างสวนสาธารณะ และการปลูกต้นไม้ในปริมาณมากเพื่อรวมสีสันของดอกไม้ใบไม้เข้าอยู่ในพื้นที่หนึ่ง ดึงดูดผู้คนและผลักดันการท่องเที่ยว. เริ่มจากการเป็นผลพลอยได้ จนกลายเป็นการสร้างรายได้งามแก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง.  บางแห่งถึงกับโค่นถางพื้นที่ป่าเดิมเพื่อสร้างสวนไม้ดอกขึ้นอย่างเฉพาะเจาะจง เพราะเห็นกำไรงามกว่าการทิ้งป่าไว้เฉยๆ  ในทำนองเดียวกับที่นักลงทุนถางป่าเบญจพันธุ์หรือป่าผสมทิ้ง เพื่อปลูกไม้เศรษฐกิจพันธุ์เดียวทั้งหมดเพราะได้กำไรมากกว่า โดยไม่คำนึงถึงความเสื่อมของเนื้อดินที่จะตามมา และนี่กลับกลายเป็นผลร้ายต่อระบบนิเวศ. เศรษฐกิจมาก่อนเสมอ.




ห้าภาพนี้มาจากบริเวณวัด Daigoji ที่เคยเป็นที่จัดงานปาร์ตี้ชมดอกไม้บานมาแล้วในศตวรรษที่16 ดอกไม้ในภาพสุดท้าย คือดอกบ๊วย (ume) ไม่ใช่ดอกซากุระ
       ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ในญี่ปุ่นมีรายงานข่าวเหมือนการพยากรณ์อากาศประจำวัน แต่เป็นการพยากรณ์การผลิบานของดอกซากุระ (เรียกกันในญี่ปุ่นว่า 桜前線[สะกื๊อระ เซ็งเซ็ง] - sakura zensen)  ที่โดยปริยายเริ่มจากภาคใต้ของหมู่เกาะญี่ปุ่นที่อบอุ่นกว่าภาคอื่นๆ เรื่อยขึ้นไปเหนือ ตอนบนของเกาะต่างๆและล่าสุดคือการผลิบานของดอกซากุระบนเกาะฮ็อกไกโดในเดือนพฤษภาคม (แต่สถานการณ์ภูมิอากาศโลกที่ร้อนขึ้นๆทุกปี ทำให้การผลิบานเลื่อนออกไปๆ บางปีกลางเดือนพฤษภาคม ซากุระยังไม่บานเต็มที่ แล้วปีต่อๆไปล่ะ จะเป็นอย่างไรหนอ).  ตลอดช่วงเวลาที่ดอกซากุระบานจากภาคใต้ขึ้นสู่ภาคเหนือ เป็นระยะเวลาการชมดอกไม้บาน ที่เรียกว่า 花見 [ฮานามิ] -Hanami (อักษรจีนตัวแรกแปลว่า ดอกไม้  ตัวที่สองแปลว่า พบปะ, เห็น  เขาใช้สำนวนอังกฤษว่า flower viewing  สำนวนจีนหรืออังกฤษมิได้เจาะจงว่าเป็นดอกซากุระ แต่ในบริบทของญี่ปุ่น Hanami หมายถึง การชมดอกซากุระบานเป็นสำคัญ).  ยิ่งบริเวณใด สวนใด ริมฝั่งน้ำใดที่มีต้นซากุระผลิบานสะพรั่งมาก ผู้คนจากที่ต่างๆหลั่งไหลไปชม และหากมีโอกาส ก็ไปกันในหมู่เพื่อน ไปปิคนิคใต้ต้นซากุระ ทานอาหารร่วมกัน ร้องรำทำเพลงอย่างเบิกบาน. คู่รักเลือกไปกันเป็นคู่ๆตามลำพัง เก็บภาพสวยๆไว้สำหรับชื่นชม. นอกจากการไปชมดอกซากุระ การไปปิคนิคใต้ต้นซากุระ ชาวญี่ปุ่นยุคใหม่ยังนิยมไปชมซากุระยามค่ำคืน เรียกว่า 夜桜 [โยศะกือระ] – yozakura.  วัด ศาลเจ้าหรือสวนที่มีต้นซากุระจำนวนมากเพียงพอ ติดหลอดไฟ ส่องต้นซากุระเป็นแนว เป็นมุมมองที่สวยงามมุมต่างๆ  โดยเฉพาะในคืนเดือนหงาย ท้องฟ้ามืด ดวงจันทร์แจ่มจรัส ทอแสงส่องต้นซากุระต้นพระเอกนางเอกของวัดหรือศาลเจ้าหรือสวน. ทั้งหมดเป็นภาพที่ตื่นตาตื่นใจไม่น้อย.
ไม่ค่อยมีใครคิดว่าการติดหลอดไฟบนต้นไม้ ส่องแสงไฟในยามที่ต้นไม้ต้องพักผ่อน (ถึงสามทุ่ม) จะส่งผลต่อวงจรชีวะเคมีภายในต้นไม้หรือไม่และอย่างไร. การเข้าชมสวนหรือวัดยามค่ำคืนในช่วงเวลาชมดอกไม้(หรือใบไม้ในฤดูใบไม้ร่วง) เสียค่าเข้าแพงด้วย และหากคิดจะไปตอนเย็นๆแล้วคอยในสวนจนเขาเริ่มเปิดไฟ ก็ทำไม่ได้ เพราะเขาให้ทุกคนออกจากสวนตั้งแต่บ่ายสี่โมงกว่าๆ.  ใครที่อยากดูยามมีแสงไฟ ต้องไปเข้าคิวซื้อตั๋วใหม่อีกใบหนึ่งอีกครั้งหนึ่ง และตั้งแต่ห้าโมงเย็น มีคนไปเข้าคิวรอซื้อตั๋วและเข้าสวนกันแล้ว คิวยาวมากด้วย.
     ทุกปี วันซากุระ บานในระยะเวลาใกล้เคียงกับข้อมูลที่ให้ในแผนที่ข้างล่างนี้  อาจก่อนหรือหลังสักหนึ่งอาทิตย์ แล้วแต่สภาพการณ์ของฤดูหนาวปีนั้น  เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ที่คิดจะไปชมซากุระบานในเขตใด ก็อาจใช้แผนที่นี้เป็นเครื่องมือกะกำหนดเวลาเดินทางได้บ้าง. ชาวบ้านชาวนาชาวไร่ ว่ากันว่า ปีไหนฤดูหนาวๆมาก ซากุระจะบานก่อน ฤดูร้อนมาถึงก่อนกำหนด และปีนั้นฤดูร้อนจะนานกว่า อุ่นกว่า เป็นต้น
ตัวอย่างการจัดทำแผนที่ 桜前線 - sakura zensen พยากรณ์การบานของดอกซากุระทั่วทั้งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มจากภาคใต้ของประเทศ. ตัวเลขตัวแรก บอกเดือนตามด้วยวันที่ เช่น 3/22-25 คือเดือนสาม(มีนาคม) ราวๆวันที่ 22-25. 

ในประเทศญี่ปุ่น ภูเขาที่ขึ้นชื่อว่าเป็นจุดชมซากุระที่ตรึงตาตรึงใจที่สุด คือเทือกเขาโยชิโนในจังหวัดนารา (吉野山 Yoshino-yama, 奈良県, Nara-ken). ทุกปี ผู้คนจำนวนมากจากทั่วญี่ปุ่น(และจากต่างประเทศ) เดินทางไปชมเทือกเขาโยชิโนในฤดูดอกซากุระบาน. ทุกคนยืนยันว่าเป็นทัศนียภาพที่ประทับตาประทับใจที่สุด และในระหว่างฤดูใบไม้ร่วง คนก็ไปกันล้นหลามเมื่อใบต้นซากุระเปลี่ยนสีเป็นสีชมพูปนสีน้ำตาลๆ จนแห้งร่วงหล่นลง. ปี 2004 ยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลก ถิ่นโยชิโนในฐานะที่เป็น หนึ่งในสถานศักดิ์สิทธิ์บนเส้นทางจาริกตามแนวเทือกเขาคี (Sacred Sites and Pilgrimage Routes in the Kii Mountain Range)
เทือกเขาโยชิโนในจังหวัดนารา  ภาพจากวิกิพีเดีย 
ภาพถ่ายของ Tawashi2006 เมื่อวันที่ 12 เมษายนปี 2008

ภาพข้างล่างนี้ จากหมู่บ้าน 花見山 [ฮาหนะมิยามา] - HanaMiYama  ในจังหวัด Fukushima เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกจุดหนึ่ง. ที่น่าสนใจเพราะอยู่ในพื้นที่ท้องทุ่งท้องนาที่มีต้นซากุระขึ้นจำนวนมากจากท้องนาขึ้นไปบนเนินเขารอบๆ และมีต้นไม้ดอกอื่นๆอีก จึงหลากสีสันยิ่งนักตั้งแต่เดือนเมษายนไปตลอดฤดูร้อน. ไกลออกไปคือเทือกเขา [อะซือม่า] -Azuma.









    หากไม่มีโอกาสออกไปชมดอกซากุระบานในชนบท. ในเมืองใหญ่ๆเช่นกรุงโตเกียว เมืองโอซากาและเมืองอื่นๆอีกจำนวนมาก ก็มีจุดชมซากุระเหมือนกันที่น่าอภิรมย์ไม่น้อย.
ภาพต่อไปนี้ จากบริเวณ 嵐山 [อะระชี้ยาหม] -Arashiyama ชานกรุงเกียวโต จุดชมดอกซากุระบานที่มีชื่อเสียงมากอีกแห่งหนึ่ง.  ทุกคนคงอยากนั่งใต้ต้นซากุระ แต่ไม่มีพื้นสนามหญ้าสำหรับทุกคนหรือมีพื้นหญ้าใต้ทุกต้น บางทีจึงนั่งบนพื้นหิน หรือริมฝั่งแม่น้ำที่มีแนวต้นซากุระ หรืออาจนั่งเหนือคันนาหรือบนขอบสระเลี้ยงปลา. บางแห่งมีที่นั่งใต้เต๊นท์ที่ขายอาหารประเภทจานด่วนแบบญี่ปุ่น(แต่ไม่ใช่เพื่อไปนั่งชมดอกไม้ หรือไปนั่งพักนานๆ เขาไม่ทำกัน ถ้าไม่ซื้ออาหารจากคนขาย) เป็นต้น.
  ไปด้วยรถไฟขบวนหวานเย็น ชมดอกไม้สองข้างทางไปด้วย
 ที่จอดรถที่สวยที่สุดที่เคยเห็น
 สะพานดวงจันทร์ข้ามน้ำ Togetsukyo
 ชอบภาพนี้
Row, row, row your boat  Gently down the stream 
  Merrily merrily, merrily, merrily Life is but a dream





บนเกาะฮ็อกไกโด  พื้นที่ทุ่งโล่งมีมากเพราะยังไม่มีตึกรามบ้านช่องเป็นอาคารสูงๆใหญ่ๆ  สวนก็กว้างใหญ่เพียงพอ มีที่นั่งให้(เกือบ)ทุกคนที่เมือง [หะโกดาเตะ] - Hakodate ในสวน 五稜 [โกริโย่กั๊กกึ] – Goryōkaku.  สวนนี้มีหอสูงรูปห้าเหลี่ยม เข้ากับพื้นที่รูปห้าเหลี่ยมของป้อมและปราสาทของเมืองที่มีแม่น้ำไหลล้อมรอบเกือบทุกด้าน. เจ้าหน้าที่จัดเตรียมปูผ้าปลาสติกใต้ต้นซากุระในสวน (ต้องเสียเงินเช่า) แต่เพราะปีนั้น(2013) กลางเดือนพฤษภาคม อากาศยังหนาวมาก ดอกซากุระยังไม่บาน มีบางต้นที่ดอกบานบ้างนิดๆหน่อยๆ. เห็นชัดเจนว่า ต้นซากุระส่วนใหญ่ลำต้นสีดำคล้ำๆเกือบเปล่าเปลือย.             
ภาพข้างล่างนี้จากสวนที่ Goryokaku-koen [โกรีโยกั๊กกึ โกเอ็ง]  เมือง Hakodate [หะโกดาเตะ] บนเกาะฮ็อกไกโด.






       เมื่อเรานึกถึงการไปชมซากุระ เรามักจินตนาการแนวต้นซากุระหรือกลุ่มต้นซากุระหลายๆต้นที่ออกดอกบานสะพรั่ง. เราคนไทยจะยินดีมากที่ได้ไปถ่ายรูปกับต้นซากุระหรือไปใกล้ๆดอกซากุระเหมือนจะแข่งความงามกับดอกไม้. ชาวญี่ปุ่นก็ชอบทำแบบนั้นเหมือนกันไม่ว่าหญิงหรือชาย. เมื่อถามความเห็นของชาวญี่ปุ่นเกี่ยวกับจุดไปชมซากุระที่แต่ละคนชื่นชอบเป็นพิเศษ หรือมีต้นซากุระต้นโปรดของแต่ละคนไหม. คำตอบก็แตกต่างกันไป และมีส่วนเกี่ยวกับวัยของแต่ละคน. หนุ่มสาวชอบไปนั่งชมซากุระด้วยกันในสวนที่มีแนวต้นซากุระทอดยาว และโดยเฉพาะหากอยู่ติดฝั่งแม่น้ำด้วยก็ยิ่งชอบ รวมทั้งการไปนั่งพายเรือตามลำพังไปตามแม่น้ำที่เห็นดอกซากุระบานเป็นแนวตลอดฝั่งแม่น้ำ. วัยทำงานโดยเฉพาะผู้เริ่มงานใหม่ๆ อาจนัดเพื่อนร่วมงานไปปิคนิคกันในสวนใต้ต้นซากุระ หาอาหารไปทานด้วยกัน ร้องรำทำเพลงไปด้วย เป็นการผ่อนคลายจากความเครียดในสำนักงานและแสดงสปิริตของการเข้าร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับมติของบริษัทเป็นต้น. ข้อเสียของการไปปิคนิคใต้ต้นไม้นั้น ในสายตาของข้าพเจ้า ทำลายความสงบและความงามขรึมของธรรมชาติไปมาก เพราะนอกจากเสียงคนเสียงพูดคุยเสียงหัวเราะที่ดังขึ้นๆเป็นสัดส่วนกับการดื่มแอลกอฮอลที่เพิ่มขึ้นๆ กลิ่นอาหารจากการปิ้งย่างนั้นทำให้บรรยากาศแย่ลงไปอีก และยังมีกลิ่นบุหรี่ที่ชาวญี่ปุ่นทั้งหญิงและชายสูบกันมาก. เช่นนี้เมื่อข้าพเจ้าไปชมซากุระโดยเฉพาะในสวนที่มีพื้นที่จำกัดกลางเมืองใหญ่ (เช่นที่สวนมารุยามะอันเลื่องชื่อกลางกรุงเกียวโต) กลิ่นต่างๆบวกกลิ่นตัวของคนจำนวนมากที่เบียดเสียดกันโดยเฉพาะในยามค่ำคืน(เพราะการชมซากุระนั้นยืดต่อไปในเวลาค่ำคืน เมื่อสวนเปิดไฟส่องต้นซากุระให้สว่างไสว) มิได้ปลื้มอะไรเลย. หากเป็นภูมิประเทศในต่างจังหวัด ในที่โล่งเปิดกว้าง มีแม่น้ำและเทือกเขาเป็นฉากหลังไกลออกไป ข้าพเจ้ารู้สึกชอบมากกว่า. สายลมแสงแดดแม้กระทั่งฝนที่อาจโปรยปรายลงมา ก็ไม่ทำลายความพอใจในการได้เดินชมซากุระ. หลายคนมีต้นซากุระต้นโปรดที่อาจเป็นเพียงต้นซากุระต้นเดียวต้นธรรมดาๆที่ขึ้นบนคันนาหรือริมทางหนึ่งในชนบทเป็นต้น. เช่นนั้นหากมีโอกาสเขาก็ไปนั่งปิคนิคง่ายๆใต้ต้นนั้นตามลำพังกับสมาชิกในครอบครัว ซึ่งก็มีเพียงครอบครัวของเขาเท่านั้นในบริบทอันเฉพาะเจาะจงนั้น หรือแม้เพียงขับรถผ่านไปหยุดชื่นชมต้นซากุระต้นโปรดสักพัก ก่อนเดินทางต่อไปบนวิถีชีวิตของเขา. นี่เป็นความผูกพันที่ลึกซึ้ง ส่วนตัวและยั่งยืนกว่าของชาวญี่ปุ่นอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่ใช่เรื่องฉาบฉวยเลย.  
      ความรู้สึกที่ล้ำลึกของชาวญี่ปุ่นกลุ่มเงียบนี้  ทำให้มีการจัดเก็บรายละเอียดของต้นซากุระต้นเดี่ยวที่ยืนเด่นสง่างามในภูมิประเทศ ที่เกือบไม่มีต้นซากุระอื่นเลยในแวดล้อมที่ตั้งนั้น (หากมี ก็หมายความว่ามีการปลูกขึ้นในยุคหลัง ส่วนใหญ่เป็นการปลูกจากเมล็ดของต้นเดิม เพื่ออนุรักษ์พันธุ์และเพื่อต่ออายุให้กับต้นดั้งเดิมนั้น). ต้นซากุระที่เก็บบันทึกไว้ในรายชื่อต้นไม้อนุรักษ์แห่งชาติ ทั้งหมดมีอายุเกินร้อยปีถึงหลายร้อยปี(เรียกกันในญี่ปุ่นว่าเป็นต้นไม้โบราณ). มีการวัดขนาดและความสูงของต้นไม้แต่ละต้นและข้อมูลที่เกี่ยวข้องอื่นๆด้วย (อาจมีเรื่องเล่าหรือประวัติของต้นนั้นประกอบ). ซากุระต้นเดี่ยวนั้น ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า 一本桜 [อิ๊บป้ง ศะกือระ] - Ippon Zakura. ที่สนใจกันเป็นพิเศษคือ เป็นต้นเดี่ยวที่ขึ้นอยู่ในบริเวณวัดและโดยทั่วไปในบริเวณสุสสาน หรือเป็นต้นเดี่ยวที่ขึ้นอยู่กลางทุ่ง(โดยเฉพาะทุ่งนา). เมื่อดอกซากุระเริ่มบาน เป็นสิ่งชี้บอกเวลาแก่ชาวนาในถิ่นนั้นว่า เริ่มปลูกข้าวได้แล้ว. ยังมีตำนานเล่าเกี่ยวกับต้นซากุระเดี่ยวว่า ผู้ปลูกอาจเป็นซามูไรที่เมื่อเดินทางข้ามขุนเขาไปได้อย่างปลอดภัย ก็ปลูกต้นซากุระไว้เป็นอนุสรณ์ และหากมีโอกาสกลับผ่านขุนเขานั้นอีก มักนำสมบัติส่วนตัวของเขาไปผูกไว้ที่กิ่งต้นนั้น (เล่ากันว่า บางทีผูกม้าของเขาไว้ที่นั่น ซึ่งไม่น่าจะจริง เพราะเท่ากับทิ้งม้าที่รับใช้เขามา). ขนบแบบเดียวกันก็มีในตะวันตกตั้งแต่โบราณกาลมา ในสมัยโรมัน นายทหารที่ไปรบชิงชัยกลับมา มักนำอาวุธคู่มือไปผูกไว้บนต้นไม้ข้างแท่นบูชาเหมือนการเซ่นบวงสรวงเทพเจ้า(โดยเฉพาะในยุคที่สถานศักดิ์สิทธิ์ในความเชื่อโบราณอยู่ในป่าลึก). ความพิเศษของซากุระต้นเดี่ยว ทำให้ชาวญี่ปุ่นด้นดั้นไปชม ไปเก็บภาพของต้นนั้นๆไว้.

      ส่วนต้นเดี่ยวอื่นๆที่มิได้เข้าข่ายสามกรณีพิเศษดังกล่าว ก็มีอยู่มากตามตำบลหรือจังหวัดต่างๆ หากต้นไม้นั้นอยู่ในตำบลใด ชาวบ้านของตำบลนั้น เป็นผู้ดูแลต้นซากุระนั้นเหมือนดูแลบุตรหลาน. ความรู้สึกผูกพันแบบนี้ ลุ่มลึกและยั่งยืนที่จะสืบทอดต่อไปสู่อนุชนรุ่นหลังอย่างแน่นอน รวมทั้งต้นไม้ใหญ่อายุมากภายในบ้านส่วนตัวของบางคน (ซึ่งมักเป็นบ้านคหบดีเก่า). ในกรณีอย่างนี้ เจ้าของบ้านและเพื่อนบ้านในบริเวณนั้น ก็ใจดีเปิดพื้นที่บางส่วนให้สาธารณชนไปชมไปถ่ายรูปกันได้  เป็นความภูมิใจของผู้เป็นเจ้าของ. ต้นซากุระต้นเดี่ยวขนาดใหญ่อายุมาก มีกระจายอยู่หลายแห่งในหลายตำบลและหลายจังหวัด  ดังตัวอย่างในวิดีโอคลิปที่นำมาให้ชม   
(กรุณาก็อปปี้ที่ตั้งของเว็ปไวต์ แล้วนำไปแปะลงบนช่องที่มี  http://... โดยลบที่อยู่ที่มีอยู่ก่อนไปเสีย ก็จะเข้าไปดูได้  อย่าพลาดทีเดียว เพราะแม้จะไปดูณสถานที่จริงในญี่ปุ่น โอกาสเห็นในมุมมองกว้างแบบนั้นแทบไม่มี.
                       
ซากุระต้นเดี่ยวที่ จังหวัด Fukuoka  เรียกกันว่า Saio no ippon zakura 福岡県・豊前市 才尾の一本桜
ชมวิดีโอคลิปได้ที่  http://www.youtube.com/watch?v=Znzi9O95cLg  (2:03 นาที)
และที่   https://www.youtube.com/watch?v=2Htsi5Htbus (6:04 min)
หรือที่ https://www.youtube.com/watch?v=SFx-ODf9kco (2:35 min) ต้นนี้ที่เกาะคิวชู อายุกว่า 400 ปี
หรือที่ https://www.youtube.com/watch?v=9fV1R4nSHp4 (พันธุ์กลีบซ้อนกันจนแน่น) ที่ 熊本県球磨郡あさぎり町須恵松尾集落の標高350mに咲く一本桜です
https://www.youtube.com/watch?v=VSbIHKs0gEQ  Cherry blossom in Ueno Park, Tokyo.
ต้นซากุระต้นเดี่ยวต้นเดียวกัน ในพื้นที่ฟาร์ม 小岩井農場 (Koiwai Farm, เมือง Shizukuishi) ในจังหวัด 岩手 (Iwate) เทือกเขาที่เห็นไกลออกไปคือ Iwate-san

      ชีวิตอันสั้นของดอกซากุระ ถูกนำไปใช้ในวงการทหาร เพื่อยกระดับความตายในหน่วยกามิกาเสะขึ้นอย่างงดงามและสูงส่ง (ภาษาญี่ปุ่นใช้คำ 神風 โดยที่อักษรจีนตัวแรกแปลว่า เทพเจ้า และอักษรจีนตัวที่สองแปลว่า ลม รวมกันในความหมายว่า ลมแห่งจิตวิญญาณ  เป็นหน่วยจู่โจมพิเศษ 特別攻撃隊 -[โต๊ะกึเบ๊ตสึ โคเกะกิตัย] - Tokubetsu Kōgekitai  ในกองทัพญี่ปุ่น). ชีวิตและอุดมการณ์ของซามูไรหรือความพร้อมสละชีพของทหารในระหว่างสงครามโลก ถูกนำไปเปรียบเทียบกับวงจรชีวิตของต้นซากุระและโดยเฉพาะดอกซากุระอันเปราะบาง กระชับไว้ในจิตวิญญาณว่า  ไม่มีความตายใดที่จะมีศักดิ์ศรีเหนือไปกว่าการตายในสมรภูมิเพื่อชาติ เหมือนกลีบดอกซากุระที่ร่วงหลุดปลิวว่อนไปในอากาศ ให้ภาพที่งามตรึงตาและกระตุ้นความมุ่งมั่นที่ไม่ถดถอย.   
      ซากุระยังได้ให้นัยอีกหนึ่งที่หมายถึง การเสแสร้ง ทำเป็นกระตือรือร้นซื้อของหรือสินค้าชนิดหนึ่ง เพื่อดึงดูดลูกค้าคนอื่นๆให้มาสนใจซื้อด้วย ใช้คำนี้เพื่อหมายถึงคนที่เข้าไปดูการแสดงฟรี โดยโยงไปถึงการไปชมดอกไม้บาน ซึ่งเป็นการชมฟรี.

       อักษรจีน [ฮะหนะ] แปลว่า ดอกไม้ และญี่ปุ่นนำไปประกอบเป็นสำนวน hana-mi ที่แปลตรงตามตัวอักษรว่า การชมดอกไม้  และโดยปริยายหมายถึง การออกไปชมดอกซากุระบาน ในหมู่ชาวญี่ปุ่นดังกล่าวมาแล้ว  ยังมีสำนวนที่ใช้คำจีน “ดอกไม้” ในสำนวนญี่ปุ่นเช่น  花より団子 - Hana yori dango [ฮะหนะ โยริ ดังโกะ] ใช้เป็นคำพังเพยหรือสุภาษิตสอนใจว่า สิ่งที่เป็นประโยชน์ย่อมต้องมาก่อนสิ่งที่สวยอย่างเดียว.  สำนวนนี้ทำให้นึกถึงสภาพความเป็นจริงในชุมชน นึกถึงพฤติกรรมของชาวญี่ปุ่นเมื่อออกไปออกันในสวน ในวัดหรือศาลเจ้า ว่าทุกคนดูจะสนใจกับการกินการดื่มเหล้ามากกว่าการไปนั่งพินิจพิจารณาชื่นชมความงามของดอกไม้ หรือคิดลุ่มลึกเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของชีวิตคนที่ทำให้เครียดมากขึ้น. นั่นคือคนสนใจไปกินไปดื่มและสนุกกับเพื่อนๆมากกว่าสิ่งอื่นใด  อุดมการณ์เป็นเรื่องสูงส่ง แต่ชีวิตจริงในแต่ละวันต้องมาก่อน.
      ภาพดอกซากุระบาน เป็นแบบประดับในศิลปะญี่ปุ่นหลากหลายแขนงรวมทั้งในภาพยนต์ หนังการ์ตูน หนังสือการ์ตูน ศิลปะการแสดง ดนตรีพื้นบ้านและในเพลงป๊อปหลายเพลง เป็นลายประดับบนสิ่งของเครื่องใช้สามัญ เครื่องเขียน เครื่องถ้วยชาม หรือกิโมโน เป็นต้น. ที่ติดมือชาวญี่ปุ่นทุกวัน เหรียญร้อยเยนที่ใช้ในญี่ปุ่น มีด้านหนึ่งเป็นรูปดอกซากุระ (เงินในมือ มลายหายไป ชีวิตสั้นกว่าซากุระได้เหมือนกัน).

       ชาวญี่ปุ่นยังนำดอกซากุระไปใช้ในการปรุงแต่งอาหาร เช่นปรุงแต่งในเส้นขนมจีน ทำเป็นซากุระนิวเม็ง เส้นสีชมพูสวยงามและอร่อย (เหมือนที่เรามีข้าว(คลุกผง) ดอกอัญชันหรือดอกไม้สมุนไพรอื่นๆ). หรือนำดอกซากุระที่หมักเค็มไว้ แช่ลงในน้ำร้อน ทำเป็น [สะกื๊อระ-ยู] - sakura-yu  (เป็นน้ำชาสมุนไพรแบบหนึ่งทำจากดอกซากุระที่หมักดองในเกลือ นำมาชงกับน้ำต้มเดือด) ชานี้มักใช้ในพิธีแต่งงานและโอกาสเฉลิมฉลองต่างๆ. ยังมีขนมเหนียวซากุระ ที่เรียกว่า 桜餅  [สะกื๊อระ-โมจิ] -sakura-mochi  เหมือนลูกซาละเปาขนาดเล็กๆ ทำด้วยแป้งข้าวเหนียว(หรือข้าวจ้าว) ไส้ถั่วแดง  มีใบซากุระที่ดองเค็มๆนิดๆปิดบนลูกโมจิอีกชั้นหนึ่ง ใบซากุระก็กินได้เช่นกัน.
ชาดอกซากุระ (sakura-yu)
ขนมเหนียวซากุระ (sakura-mochi) แบบหนึ่ง

ให้พิจารณาลักษณะดอกซากุระจากสายพันธุ์ต่างๆ
ดอกสีขาวชั้นเดียว ห้ากลีบ ไม่มีสีชมพูปนเลย  
ส่วนใหญ่เป็นดอกซากุระพันธุ์กิ่งลู่ลง เช่นต้นที่อยู่สวนมารุยามะกลางกรุงเกียวโต
ดอกสีขาวใจกลางอมชมพู ดอกชั้นเดียว ห้ากลีบ สายพันธุ์ Somei Yoshino
ดอกสีชมพูอ่อนๆ มี ๕ กลีบ ชั้นเดียว ใจกลางสีชมพูเข้ม
ดอกสีขาวชมพูอ่อนเกือบขาว มี ๕ กลีบ ชั้นเดียว ใจกลางสีชมพูอ่อนถึงเข้ม
ดอกสีชมพูอ่อน กลีบชั้นเดียว  มี ๕ กลีบ
ดอกสีชมพู  มี ๕ กลีบ ชั้นเดียว ใจกลางไม่มีสีเข้มอื่นเจือปน
ดอกกลีบชั้นเดียวมักมีเกสรยาวยื่นออกมากกว่าดอกกลีบซ้อนๆหลายชั้น
ดอกสีชมพูอ่อนๆ  กลีบซ้อนตั้งแต่สองถึงสามชั้น  มีราว ๑๐ กลีบ 
ใจกลางดอกสีกลมกลืนกับสีดอก
ดอกสีชมพูอ่อน กลีบซ้อนสองถึงสามชั้น สายพันธุ์ที่มีราว ๑๐ กลีบ 
ดอกตูมมีสีชมพูเข้มมาก 
อีกมุมมองหนึ่งของกิ่งซากุระ ที่ชูอวดความงามขึ้นสู่ท้องฟ้า 
ดอกซากุระซ้อนกันสิบกว่าชั้นจนแน่น ส่วนใหญ่สีชมพูสดมากกว่าสีอ่อนๆ
ซากุระกลีบซ้อนจนแน่น สายพันธุ์ที่มีมากกว่า ๑๐ กลีบ 
เมื่อกลีบดอกร่วงหมดแล้ว เห็นฐานดอกสีแดงที่ยังมีเกสรติดอยู่
ซากุระบานเต็มต้น เต็มภูเขา มองดูเหมือนหมอกเมฆ จึงเป็นภาพลักษณ์ถาวรของความเปราะบาง ความไม่ยั่งยืนของชีวิต แง่คิดนี้มักโยงไปถึงอิทธิพลของพุทธศาสนา ซึ่งอยู่ในอุดมการณ์ของ 物の哀れ [โมโน โหน่ อะวาเหระ] - mono no aware  อันเป็นอุดมการณ์สุนทรีย์ที่ปลูกฝังกันมาตั้งแต่ยุคเฮยัน (Hiean Period,794-1185). 
อุดมการณ์นี้สอนให้ รู้จักมองและเห็นคุณค่าของความงามที่ชั่วครู่ชั่วยามในธรรมชาติและในชีวิตคน. ให้เห็นความงามและรู้สึกถึงคุณค่า มักตามด้วยอารมณ์เศร้าสะเทือนใจ ที่ในบางขณะควบความรู้สึกชื่นชม ตื่นทึ่งและความปลื้มปิติไปด้วย. สอนให้รู้สึก รู้จักจับอารมณ์ไหวต่างๆ (เท่ากับรู้เท่าทันธรรมชาติลึกล้ำในใจคน) แต่สุดท้ายก็ต้องไม่ยึดติด กับความงามหรือกับอารมณ์ใด.
ขอจบลงด้วยบทกลอนญี่ปุ่นบทนี้ เป็นตัวอย่างบทกลอนแต่งตามฉันทลักษณ์แบบหนึ่งของญี่ปุ่นที่เรียกว่า iroha uta ที่ประกอบด้วย 47 พยางค์  รวมทั้งบทถอดความในภาษาอังกฤษ  คัดลอกมาจากสารานุกรมญี่ปุ่น ในหัวข้อ iroha poem, p.624.
Iro wa nioedo chirinuru o
Waga yo tare zo tsume naran
Ui no okuyama kyō koete
Asaki yume miji ei mo sezu )
The colors blossom, scatter, and fall.
In this world of ours, who lasts forever?
Today let us cross over the remote mountains of life’s illusions.
And dream no more shallow dreams nor succumb to drunkenness.

ข้อมูลบางส่วนจากอินเตอเน็ตที่  http://japanese.about.com/od/japanesecultur1/a/031900.htm
และ JAPAN – An Illustrated Encyclopedia. Ed. Kodancha

จากญี่ปุ่นไปวอชิงตันดีซี นำบางส่วนของภาพมาลงด้วยกัน. ในวาระการเลือกตั้งปี ๒๕๖๒ อะไรหลายอย่างที่นั่น ชวนให้คิดให้หวังเห็นความเจริญพัฒนาของชาติบ้านเกิดของเรา.
บนฝั่งแม่น้ำ Potomac กรุงวอชิงตันดีซี  ยามดอกซากุระบาน


มุมหนึ่งบนพื้นที่สวนริมฝั่งน้ำนี้  มีหินพร้อมแผ่นโลหะจำหลักข้อความดังนี้
The first Japanese cherry trees presented to the city of Washington as a gesture of friendship and good will by the city of Tokyo, were planted on this site, March 27, 1912.
ต้นซากุระกว่า 2000 ต้นเป็นของกำนัลจากกรุงโตเกียวมอบให้แก่กรุงวอชิงตัน(ดีซี) ให้เป็นสัญลักษณ์ของไมตรีจิตและเจตจำนงอันดี ต้นซากุระทั้งหมดได้นำมาปลูกณที่นี้เมื่อวันที่ 27 เดือนมีนาคม ปี1912
ไกลออกไป เห็นอาคารอนุสรณ์สถานหินอ่อนทั้งหลัง (Thomas Jefferson Memorial)  ที่สร้างขึ้นเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดี Thomas Jefferson (ประธานาธิบดีคนที่สามของสหรัฐฯ ระหว่างปี 1801-1809) เป็นหนึ่งในบุคคลผู้วางรากฐานในการสถาปนาประเทศ. เป็นนักเขียนคนสำคัญผู้แต่ง Declaration of Independence (คำประกาศอิสรภาพ). จากด้านหน้าเมื่อเดินเข้าไปในอาคาร ใต้โดมทรงกลมสูงใหญ่ มีรูปปั้นบร็อนซ์ของประธานาธิบดีโทมัส เจฟเฟอสันในท่ายืน. บนกำแพงหินอ่อนสี่ด้านภายในโดม มีคำพูดของเจฟเฟอสันจำหลักลงสี่บท (ติดตามต่อไปได้ง่ายในเน็ต).
อีกด้านหนึ่งเห็นเสาสูงโอเบลิซก์ที่สร้างขึ้นให้เป็นอนุสาวรีย์อนุสรณ์แด่ประธานาธิบดียอร์ช วอชิงตัน (1732-1799) ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ เรียกว่า Washington Memorial  เป็นเสาหินอ่อน หินแกรนิตและหินแปรเนื้อแข็ง(bluestone gneiss).  เป็นเสาโอเบลิซก์ที่สูงที่สุดในโลก คือสูง 555 ฟุตและ 5 ½ นิ้ว หรือ 169.294 เมตร เริ่มก่อสร้างในปี 1848 หยุดชะงักไประหว่างปี 1854-1877 และสร้างต่อจนแล้วเสร็จลงในปี 1884 สามเหลี่ยมปิรามิดบนยอดเสาโอเบลิซก์เป็นอลูมีเนียมตัน ใช้เป็นสายล่อฟ้าด้วย. ยุคนั้นอลูมีเนียมยังเป็นโลหะมีค่าสูง. ในจารึกเกี่ยวกับประธานาธิบดียอร์ช วอชิงตันนั้น  มักระบุว่า เป็นบิดาของประเทศ  ที่หนึ่งในการรบ ที่หนึ่งในการทำนุบำรุงสันติภาพ และที่หนึ่งในหัวใจของคนร่วมชาติ. เป็นผู้นำการเมืองและโดยเฉพาะการทหารของประเทศสหรัฐอเมริกาที่เพิ่งสถาปนาขึ้น. พระเจ้ายอร์ชที่สามแห่งอังกฤษผู้เคยเป็นศัตรูของเขา ทรงตรัสถึงยอร์ช วอชิงตันว่า เป็น บุคคลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุค. อนุสาวรีย์นี้เปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ 9 เดือนตุลาคม ปี 1888.
    ไกลออกไปทางซ้าย อาคารเหมือนปราสาทสีแดงๆ  เรียกกันที่นั่นว่า The Castle  คืออาคารแรก สร้างขึ้นในปี 1847. เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของกลุ่มพิพิธภัณฑ์ Smithsonian และยังคงเป็นมาจนถึงทุกวันนี้. Smithsonian Institute ได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ทั้งหมด 19 แห่ง ศูนย์วิจัย 9 แห่งและพิพิธภัณฑ์ในเครือข่ายอื่นๆทั่วโลกอีกประมาณ 168 แห่ง. ตั้งขึ้นในปี 1846  for the increase and diffusion of knowledge  (เพื่อเพิ่มพูนและเผยแผ่ความรู้). ทุกแห่งเปิดให้ประชาชนเข้าได้โดยไม่เก็บค่าผ่านประตู.

สร้างประเทศ  คือสร้างคน  สร้างคนคือสร้างเครือข่ายความรู้
หน้าที่ของรัฐบาลคือพัฒนาระบบการศึกษา  ส่งเสริมการเรียนรู้ทุกรูปแบบ 
มนุษย์ทุกคนมีสิทธิในการรับการศึกษา  การเรียนเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน
เป็นพันธกิจสำคัญที่สุดของสังคมที่ต้องให้สำเร็จลุล่วงอย่างต่อเนื่อง เพื่อความมั่นคงและมั่งคั่งของประเทศ.

เมื่อดอกร่วงหล่น  พื้นสนามเป็นสีชมพู...     
พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง  โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี  นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์  สถิตทั่วแต่ชั่วดีประดับไว้ในโลกา
(สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ใน กฤษณาสอนน้องคำฉันท์)

โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์  รวบรวมนำเสนอลงบล็อก
วันที่  ๔ เมษายน ๒๕๖๒.