Thursday, 31 March 2016

ยามเมื่อเชอรีบาน - Le Temps des Cerises



เพลง Le Temps des Cerises นี้ผู้ที่เคยศึกษาภาษาฝรั่งเศสเคยได้ยินกันมาแล้วแน่นอน  เพลงที่เราฟังหวานๆ ทำนองเรื่อยๆ เอื่อยๆ เยือกเย็นเหมือนลมพัดโชยมาในต้นฤดูใบไม้ผลิ แท้ที่จริงดั้งเดิมที่มาดุเดือด คุกกรุ่นด้วยคาวเลือด เพราะแต่งขึ้นในยามที่กรุงปารีสกำลังเผชิญชะตากรรมแบบสงครามกลางเมือง ที่เป็นเหตุการณ์ปฏิวัติที่เรียกกันว่า La Commune de Paris [ ลา ก็อมมูน เดอ ปารี ] ปี 1871. เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นที่ปารีส(เป็นสงครามกู้อิสรภาพ เพื่อความเสมอภาคภายในสังคมฝรั่งเศสเอง และมีนักศึกษาทั้งหลายเข้าร่วมเป็นอันมาก ) เป็นพื้นหลังของวรรณกรรมเรื่อง Les Misérables ของ Victor Hugo ที่ Claude-Michel Schönberg นำมาแต่งเป็นละครเพลงที่โด่งดังไม่รู้จืดจางมาจนถึงทุกวันนี้ (ตั้งแต่รอบปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมปี 1985 และยังมีการแสดงต่อมามิได้หยุด นี่ก็ 30 ปีแล้ว) เพลงต่างๆในละครเพลงนี้ก็ยังคงร้องกันมาอย่างต่อเนื่อง เช่น I dreamed a dream, The People’s song, A Heart full of love, etc. วรรณกรรมเรื่องนี้ สำหรับข้าพเจ้าเป็นมหากาพย์แห่งชีวิตมนุษย์. กี่ปีผ่านไปแล้ว เหตุการณ์ทำนองเดียวกัน การกดขี่ข่มเหง ความไม่เสมอภาคยังคงอยู่เสมอ อย่างเปิดเผยหรือแอบแฝง ณมุมใดมุมหนึ่งบนโลกมนุษย์นี้. What a shame! Shame on humanity! หากใครไม่ได้ดู ควรสละเวลาสักสามชั่วโมงดูได้ที่ลิงค์นี้ (เป็นภาษาอังกฤษ) วรรณกรรมของ V.Hugo รวมทั้งละครเพลงเรื่องนี้ มีการแปลออกเป็นหลายสิบภาษา. ดูละครเพลงได้ที่นี่ที่แสดงเป็นรอบพิเศษที่ Royal Albert Hall หลังจากที่แสดงบนเวทีที่ลอนดอนติดต่อกันมา 10 ปี. ดูจนจบถึงนาทีสุดท้าย มีนักร้องโอเปร่าที่แสดงเป็น Jean Valjean ตัวละครเอกของเรื่องจากประเทศต่างๆมาร่วมร้องในตอนจบเป็นภาษาต่างๆ >>>.
        
กลับมาที่ Le Temps des Cerises ยามเมื่อเชอรีบาน. Jean Baptiste Clément [ฌ็อง บาติ๊สตฺ เกฺลม็อง ] (1836-1903) แต่งเนื้อเพลงนี้ในปี 1866. เพลงนี้สรุปกันว่าสืบเนื่องและเกี่ยวโยงอย่างใกล้ชิดกับเหตุการณ์ปฏิวัติที่รู้จักกันในนามว่า La Commune de Paris ที่เกิดขึ้นในปี 1871.  J.B. Clément เป็นผู้หนึ่งในกระบวนการต่อสู้นั้นในระหว่าง “สัปดาห์นองเลือด” (la Semaine sanglante) ที่ปารีส. เขาแต่งเพลงนี้ขึ้นบนเส้นทางสู่เบลเยี่ยมและได้หยุดพักที่หมู่บ้าน Conchy-la-Saint-Niçaise  บ้านที่เขาไปพักนั้นมีต้นเชอรี่ปลูกทั่วบริเวณ และได้ดลใจเขา.  หลายปีต่อมาผู้แต่งได้อุทิศเพลงนี้แก่นางพยาบาลคนหนึ่งที่เขาได้พบระหว่างการต่อสู้ช่วงสัปดาห์นองเลือดที่ปารีส. เขาเขียนเจาะจงอุทิศเพลงนี้ไว้ดังนี้ : แก่ Louise [ลุยเสอะ] ผู้กล้าหาญ พลเมือง นางพยาบาลประจำรถพยาบาลที่ถนน Fontaine-au-Roi [ฟงแตน-โอ-รัว] วันอาทิตย์ที่ 28 เดือนพฤษภาคมปี 1871.  วันนั้นวันอาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคม 1871…ระหว่างเวลาสิบเฮ็ดนาฬิกาและเที่ยงวัน ข้าพเจ้าและพรรคพวกเห็นหญิงสาวอายุอยู่ในราวยี่สิบ-ยี่สิบสอง เธอถือตะกร้าขนมปังในมือมาหาเรา..และแม้เราจะไม่ยอมให้เธออยู่ร่วมในกลุ่มกับเรา เธอยืนกรานความตั้งใจและไม่ยอมจากพวกเราไป. ในที่สุด ห้านาทีผ่านไป เธอมีประโยชน์แก่เรามาก. สมาชิกของเราสองคนบาดเจ็บ คนหนึ่งถูกยิงที่ไหล่ อีกคนหนึ่งถูกยิงตรงหน้าผาก... เรารู้เพียงว่า เธอชื่อ Louise และเธอเป็นคนงาน. ชัดเจนว่า เธออยู่ฝ่ายพวกปฏิวัติ ฝ่ายคนที่หมดอาลัยตายอยากกับรัฐบาล กับสังคมที่ไร้ความยุติธรรมที่ปารีส. เกิดอะไรขึ้นกับเธอไหมนะ? เธออยู่ในหมู่คนจำนวนมากที่ถูกกองทหารรัฐบาลยิงตายไปหรือเปล่านะ ? เช่นนี้ ข้าพเจ้าต้องอุทิศเพลงนี้ เพลงที่นิยมแพร่หลายที่สุดในอัลบั้มเพลงของข้าพเจ้าให้แก่เธอผู้เป็นวีรสตรีที่ไม่มีใครรู้จัก... วันนั้นวันที่ 28 พฤษภาคม 1871 ที่เขาและ Eugène Varlin กับ Charles Ferré ไปอยู่หลังแนวเครื่องกีดขวางที่ฝ่ายปฏิวัติ (communards) รวมกันทำขึ้นเพื่อเป็นด่านป้องกันและเป็นที่กำบังภัยของพวกปฏิวัติ. วันนั้นเพื่อนทั้งสองของเขาถูกยิงตายที่นั่น. เมื่อ Antoine Renard [อ็องตวน เรอนารฺ ] (1825-1872) ประพันธ์ทำนองเพลงให้ในปี 1868. เพลง Le Temps des Cerises ได้กลายเป็นเพลงประจำกลุ่มปฏิวัติ (communards) และเป็นเพลงประจำใจของเหล่าคนงาน ของชนชั้นกรรมกร.


      อย่างไรก็ดี มีนักวิจารณ์กล่าวว่า คำอุทิศดังกล่าวอาจไม่จำเพาะเจาะจงสำหรับหญิงสาวที่ชื่อ Louise เพราะเมื่อพิจารณาเนื้อเพลง ไม่มีการเจาะจงที่ชัดเจนเพียงพอ แม้จะพูดถึง บาดแผลเหวอะหวะ, ความทรงจำที่ผมเก็บไว้ในดวงใจ, เชอรีของความรัก...ที่ร่วงลงเป็นหยดเลือด. คำพูดเหล่านี้อาจทำให้นึกถึงการปฏิวัติที่ล้มเหลวเหมือนการสูญเสียความรักไป. เช่นนี้จึงเอื้อให้คนนึกถึงวิธีการประพันธ์ที่ต้องการพูดถึงการปฏิวัติแต่หลีกเลี่ยงการกล่าวถึงตรงๆ. เชอรีเหมือนกระสุน ผลแดงเงางาม ผลอวบ เหมือนหญิงสาวสวยๆที่ควรหลีกเลี่ยง. การที่เพลงนี้ตรงกับเหตุการณ์ของ “สัปดาห์นองเลือด” ปลายเดือนพฤษภาคมปี 1871 นั้น ตรงกับวันเวลาที่ดอกเชอรีบาน. แต่เมื่อดูปีที่ประพันธ์ (1866) ทำให้รู้ว่าการวิเคราะห์เปรียบโยงดังกล่าวนั้น ทำขึ้นในภายหลัง. จึงอาจเป็นเพลงที่พูดถึงฤดูใบไม้ผลิและความรัก (โดยเฉพาะในบทสุดท้ายของเพลงที่เจาะจงความทุกข์จากความรัก). เชอรียังอาจทำให้นึกถึงความหวานและฤดูร้อนอันเป็นบริบทที่สดชื่นสนุกสนาน. ดังนั้นเพลงนี้จึงสื่อทั้งการระลึกถึงความหลังหนึ่งและความสุขเบิกบานขณะหนึ่ง.
      หากพิจารณาเนื้อหาที่เป็นกลาง, ที่กระตุ้นให้คิด, ที่เศร้าๆและโดยเฉพาะคุณภาพของบทกวีตามเนื้อหาแท้ๆของมันแล้ว ประเด็นเหล่านี้น่าจะเป็นกุญแจของความนิยมเพลงนี้. ชาวฝรั่งเศสรู้จักพลงนี้มากกว่าชื่อนักประพันธ์ด้วยซ้ำ และมีการแปลออกเป็นหลายภาษาทั้งภาษารัสเซีย ภาษาโรเมเนีย ภาษาจีน ญี่ปุ่นเป็นต้น
       ถ้าเพลง Le Temps des Cerises ได้เริ่มขึ้นด้วยการเป็นเพลงปฏิวัติ ในปัจจุบันเป็นเพียงเพลงรักน่ารักๆเพลงหนึ่งเท่านั้น ที่ยังคงเป็นที่นิยมกันเรื่อยมาไม่เสื่อมคลาย. ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ยี่สิบ มีนักร้องหลายคนได้นำไปร้อง. ในจำนวนนี้มี Yves Montand, Tino Rossi, Charles Trenet, Nana mouskouri เป็นต้น
      เนื้อเพลง Le Temps des Cerises (หรือ ยามเมื่อเชอรีบาน ) อยู่ในอัลบั้มเพลง Chansons Populaires de France (เพลงยอดนิยมของฝรั่งเศส) ที่ออกมาในปี 1963.
Quand nous chanterons le temps des cerises,
Et gai rossignol, et merle moqueur
Seront tous en fête !
Les belles auront la folie en tête
Et les amoureux du soleil au cœur !
Quand nous chanterons le temps des cerises
Sifflera bien mieux le merle moqueur !
เมื่อเราจะร้องเพลงยามเมื่อเชอรีบาน นกไนติงเกลที่ร่าเริง (กับ) นกดุเหว่าที่เย้ยหยัน ต่างก็มาร่วมวงเฉลิมฉลอง. พวกสาวสวยอาจหลงใหลเคลิบเคลิ้ม พวกคนรักรู้สึกอบอุ่นที่หัวใจเหมือนต้องแดดอ่อนๆ. เมื่อเราจะร้องเพลงยามเมื่อเชอรีบาน  นกดุเหว่าจะส่งเสียงเสนาะหูขึ้น..
Mais il est bien court, le temps des cerises
Où l'on s'en va deux cueillir en rêvant
Des pendants d'oreilles...
Cerises d'amour aux robes pareilles,
Tombant sous la feuille en gouttes de sang...
Mais il est bien court, le temps des cerises,
Pendants de corail qu'on cueille en rêvant !
แต่ยามเมื่อเชอรีบานนั้นแสนสั้น ยามเมื่อเราสองไปเด็ดผลเชอรีที่ห้อยลงเหมือนตุ้มหู ผลเชอรีของรักเราที่เป็นประกายเงางาม เมื่อนั้นเราสองเหมือนอยู่ในความฝัน. ผลเชอรีที่ตกลงใต้กองใบไม้ เหมือนหยดเลือด. แต่ยามเมื่อเชอรีบานั้นแสนสั้น ผลเชอรีที่ห้อยๆอยู่เหมือนปะการังที่เราเก็บมาในความฝัน
     Quand vous en serez au temps des cerises,
Si vous avez peur des chagrins d'amour,
Evitez les belles !
Moi qui ne crains pas les peines cruelles
Je ne vivrai pas sans souffrir un jour...
Quand vous en serez au temps des cerises
Vous aurez aussi des chagrins d'amour !
หากคุณอยู่ในยามเมื่อเชอรีบาน หากคุณกลัวจะเสียใจเพราะความรัก ก็อย่าไปใกล้สาวๆสวยๆนะ แต่ผมผู้ไม่กลัวความทุรนทุรายเพราะรัก ผมไม่อยากอยู่แม้สักวันเดียวโดยไม่เจ็บไม่ทุกข์เพราะรัก. หากคุณอยู่ในยามเมื่อเชอรีบาน คุณเองก็จะมีทุกข์เพราะรักเหมือนกัน !
J'aimerai toujours le temps des cerises,
C'est de ce temps-là que je garde au cœur
Une plaie ouverte !
Et dame Fortune, en m'étant offerte
Ne saurait jamais calmer ma douleur...
J’aimerai toujours le temps des cerises
Et le souvenir que je garde au cœur !
Jean-Baptiste Clément (1866)
ผมชอบ ยามเมื่อเชอรีบาน เสมอ อะไรๆที่เกิดขึ้นในยามนั้น ผมเก็บมันไว้ในดวงใจ แม้จะเป็นแผลที่เปิดเหวอะหวะ และแม้เมื่อโชคลาภมอบยาสมานแผลให้ผม มันก็มิอาจบันเทาความเจ็บปวดลงไปได้ ผมจะยังคงชอบยามเมื่อเชอรีบาน และความทรงจำต่างๆจากยามนั้นที่ฝังอยู่ในดวงใจ
เชิญฟังเพลงนี้ ขับร้องโดยสองนักร้องชื่อดัง จากที่นี่ >>
(เสียงของ Yves Montand)
(เสียงของ Nana Mouskouri)


ทั้งการต่อสู้ของชาวปารีส (la Commune de Paris) และการต่อสู้ของเอกบุคคลที่ตระหนักและยอมรับในสภาวะของความเป็นคน ที่ต้องผ่านการแพ้ ความสูญเสีย ความเจ็บปวดทุกข์ทรมานประเภทต่างๆในชีวิต คนล้มลุกคลุกคลานตั้งแต่เกิดจนตาย มีความสุขก็เพียงชั่วประเดี๋ยวประด๋าว. แต่มีคนที่ไม่เคยละความพยายาม ไม่ยอมพ่ายแพ้ต่อชะตากรรม ยืนหยัดสู้ชีวิตต่อไปด้วยความกล้าหาญจนถึงลมหายใจสุดท้าย.  คนเหล่านี้มีอำนาจ มีพลังที่ประคับประคองมนุษยชาติเรื่อยมา ที่ทำให้ทุกคนตระหนักว่า แม้จะสู้เงียบๆอยู่ในมุมของตนเอง เขาไม่ได้ทุกข์อยู่คนเดียว ยังมีเพื่อนร่วมทุกข์อีกจำนวนมาก. คนยังจะเกิด ยังจะตายอีกหลายหมื่นหลายแสนปี และมนุษย์ยังจะได้เห็นความยิ่งใหญ่ของมนุษย์ผู้เป็น คนเหนือคน ที่มาสะกิด มาให้กำลังใจ มาหนุนศักดิ์ศรีของความเป็นคนให้ปรากฎต่อไป แม้ว่าศักดิ์ศรี ความรัก ความงามหรือความดีใดๆ จะเป็นเพียงสิ่งสมมุติ เป็นมารยาทางโลก แต่จนกว่าทุกคนจะหลุดไปจากวัฏสงสารได้ทั้งหมด โลกยังต้องการศักดิ์ศรี ความรัก ความดี ความงามและความยุติธรรมในสังคม.   

รวบรวมข้อมูลจากหน้าต่างๆในอินเตอเน็ตเช่นในหน้าของวิกิพีเดีย และในเพ็จนี้ >>

โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ บันทึกความทรงจำไว้ ณ วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๙.

Friday, 4 March 2016

ต้นตำรับมรณานุสติในตะวันตก - Death in the West

มองมรณานุสติผ่านศิลปวัฒนธรรมตะวันตก
คริสต์ศาสนาปลูกฝังความคิดมาตั้งแต่ต้นว่า อาดัมกับอีฟอาจหาญขัดคำสั่งของพระเจ้า เท่ากับมิได้มีความรักความเชื่อใจในพระเจ้าอย่างหมดจิตหมดใจ  จึงได้ทำบาปต่อผู้ให้กำเนิด  ต้องถูกลงโทษ ถูกขับออกจากสวรรค์ กระเด็นออกจากพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้า.  ผลของการทำบาปทำให้อาดัมกับอีฟกลายเป็น ผู้รู้ตาย คือต้องตายเพราะได้ออกนอกอาณาจักรนิรันดร์ของพระเจ้า.  ทุกคนที่เกิดมาบนโลกจึงมี บาปกำเนิด ติดตัวและต้องรับโทษต่อตามอาดัมกับอีฟ.  นั่นคือทุกคนต้องตาย. แต่พระเจ้ายังเมตตาส่งพระบุตรลงมาในโลกมนุษย์ มาช่วยบอกทางสู่สวรรค์ กลับไปสู่อาณาจักรของพระเจ้า ด้วยการเข้าพิธีรับศีลมหาสนิท ล้างบาปและประกาศตว่ารักและเชื่อพระองค์ แล้วเพียรทำความดี. พระเยซูบนโลกจึงต้องตายเยี่ยงคนด้วย เป็นการยอมตายเพื่อช่วยไถ่บาปให้มนุษย์. พระองค์ใช้พระองค์เองเป็นประตูเพื่อนำชาวคริสต์ที่ดีสู่สวรรค์. การที่พระเยซูฟื้นคืนชีวิตและกลับไปสวรรค์ได้ เป็นการยืนยันต่อคนว่า พวกเขายังมีโอกาสกลับไปได้ ด้วยศรัทธาและด้วยความรักในพระองค์. เช่นนี้ คริสต์ศาสนาจึงปลูกฝังความคิด เรื่องชีวิตหลังความตายบนโลก.  เมื่อชาวคริสต์เชื่อและมั่นใจเช่นนั้น ความตายของคนบนโลก จึงมิได้เป็นการสิ้นสุดของชีวิต. 
      ความศรัทธาอย่างแท้จริงในพระเยซูและอัครสาวกกับนักบุญนักบวชต่างๆตั้งแต่ต้นคริสตกาลมาถึงยุคกลาง ได้เป็นจุดยืนมั่นคงที่ทำให้ทุกคนหยุดวิตกกังวล และมั่นใจว่าความรักอย่างหมดจิตหมดใจในพระเจ้า จะทำให้ความหวังทั้งหลายเป็นจริง. เพราะพระองค์เป็นผู้เนรมิตทุกอย่าง จึงย่อมบริหารจัดการชีวิตคนได้อย่างเรียบร้อย. ในวิสัยทัศน์นี้เองที่เราอาจพูดได้ว่า ความตายเป็นสิ่งหนึ่งในชีวิตประจำวัน, เหมือนสมาชิกขี้อายที่หลบซ่อนภายในบ้าน จะแสดงตัวเมื่อถึงวาระเท่านั้น. จนถึงยุคกลางคนมิได้คิดถึงความตาย แต่ รับรู้ ว่า ความตายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของพวกเขา. หากสมาชิกในครอบครัวป่วยและทรุดลงๆใกล้ตายนั้น เขาตายในหมู่ญาติพี่น้องลูกหลานภายในครัวเรือนของตน. แล้วจึงนำไปฝังในวัดที่เป็นที่อยู่ของพระเจ้าที่ตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน,กลางชุมชน. ทุกคนสบายใจ อาจเศร้าเสียใจบ้างแต่ไม่ฟูมฟายโวยวาย เพราะคนตายยังอยู่ใกล้ๆ. ความตายในบริบทนี้ อารีแอซ(Philippe Ariès)[1] บอกว่าคือ การนอนหลับ. เป็นการพักชั่วคราวเหมือนกำลังรอคอยการฟื้นคืนชีวิต.  
      คัมภีร์ใหม่โดยเฉพาะเล่มของอัครทูตจอห์นได้พรรณนาและเจาะจงเรื่องการพิพากษาสุดท้าย. เรื่องนี้มีส่วนกระตุ้นให้คิดเรื่องความตายควบคู่ไปกับการหลุดพ้นจากบาป(salvation) หรือโชคชะตาสุดท้ายเมื่อโลกสิ้นสุดลง. ในเมื่อแต่ละคนจะถูกพิพากษา แต่ละคนต้องรับผิดชอบความดีความชั่วของตน จะได้รับการไถ่บาปหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับตนเองเท่านั้น  คนอื่นไม่มีส่วนในบุญหรือบาปของเขา. โดยปริยาย ความตายจึงถูกมองว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล.  วิสัยทัศน์นี้โดดเด่นมากขึ้นตามลำดับตั้งแต่ศตวรรษที่สิบสองลงมา และกลายเป็นต้นกำเนิดของการเสนอภาพของความตายสยองขวัญแบบต่างๆในศตวรรษที่สิบห้า. ศิลปะเกี่ยวกับความตายในยุคนั้น ล้วนเผยให้เข้าใจว่า คนกลัวตายมากขึ้น มากกว่าในต้นคริสตกาล. คำจารึกบนหินเหนือหลุมศพ, อนุสรณ์ความทรงจำ, ประติมากรรมประดับสุสาน, ทั้งหมดสะท้อนวิสัยทัศน์ใหม่นี้. ฝ่ายการศาสนาก็เพิ่มพิธีมิซซาสำหรับคนตาย. ในสังคมมีการรวมกลุ่มผู้สำนึกผิดที่ต้องการล้างผิดด้วยการทำทุกรกิริยาแบบต่างๆเป็นต้น(penitence).  
      เราได้ติดตามหาข้อมูลจากเอกสารเรื่องเล่า,ตำนานหรือวรรณกรรมรวมทั้งสำนวนภาษา ตลอดจนภาพวาดหรือทัศนศิลป์แบบอื่นใดที่เกี่ยวกับหัวข้อความตายอย่างเฉพาะเจาะจง. ทั้งหมดรวมกันเป็นข้อมูลจากยุคกลาง ที่เป็นที่อ้างอิงทั่วไปในหมู่ปัญญาชนชาวยุโรป และเราสรุปมารวมกันในบทความนี้ ที่จะช่วยให้เราเข้าใจวิสัยทัศน์และจิตสำนึกเกี่ยวกับความตายในหมู่ชาวยุโรปมากขึ้น.

1. จารึกเรื่อง การพบปะระหว่างคนเป็นสามคนและคนตายสามคน (Les dits des trois vifs et des trois morts [เล ดี เด ทรัว วิฟ เอ เด ทรัว มอรฺ])
      จารึกเรื่องนี้มาจากตำนานที่แพร่หลายในยุโรปและโดยเฉพาะในฝรั่งเศสและอิตาลีตอนใต้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 เล่าถึงผู้ดีสามคนเดินทางไปพบคนตายสามคน. (โครงกระดูกที่แทนความตายนั้นบางทีมีเสื้อคลุมหุ้มทั้งตัว บางทีเป็นโครงกระดูกเปล่าเปลือยสมจริงของร่างคน). คนเป็นทั้งสามมิได้อกสั่นขวัญแขวนนัก. คนตายเอ่ยปากเจรจาด้วย ทั้งขู่และเตือนสติในทำนองว่า เราเคยเป็นอย่างที่พวกเจ้าเป็นในขณะนี้ และพวกเจ้าก็จะเป็นอย่างเราในตอนนี้. ความร่ำรวย, เกียรติยศ, อำนาจ, ไม่มีค่าอะไรหรอกเมื่อเจ้าตาย[2]  คำพูดดังกล่าวได้กลายเป็นหัวข้อและเนื้อหาสำคัญที่แพร่หลายออกไปในกวีนิพนธ์ภาษาตะวันตกเช่นภาษาฝรั่งเศส, เยอรมัน, ละติน, อิตาเลียนและภาษาอังกฤษ. นักวิจัยยังไม่สามารถเจาะจงที่มาของตำนานนี้ และยังไม่มีหลักฐานใดยืนยันว่า จารึกของตำนานเรื่องนี้เกิดขึ้นก่อนหรือหลังจิตรกรรมฝาผนังเนื้อหาเดียวกันที่ประดับวัดต่างๆหลายแห่งในอิตาลีและฝรั่งเศส. บ้างว่าน่าจะมาจากวัฒนธรรมไบแซนไทนหรือมุสลิม. บ้างอ้างว่าฝรั่งเศสน่าจะเป็นต้นกำเนิดของตำนาน เพราะเมื่อพิจารณาจากหลักฐานลายลักษณ์เกี่ยวกับตำนานเรื่องนี้ที่รวบรวมได้ถึงยี่สิบฉบับในประเทศฝรั่งเศส, มี15 ฉบับเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส(สามฉบับมาจากปลายศตวรรษที่ 13 และอีกสิบสองฉบับในศตวรรษที่14) หนึ่งฉบับเป็นภาษาเยอรมัน, สองฉบับเป็นภาษาละติน, หนึ่งฉบับเป็นภาษาอิตาเลียนและอีกหนึ่งฉบับเป็นภาษาอังกฤษ. ไม่มีประเทศใดที่มีหลักฐานลายลักษณ์ของตำนานเรื่องนี้มากเท่าที่พบในฝรั่งเศส. 
      ส่วนภาพวาดประกอบบทกวีเนื้อหานี้นั้น เป็นแบบง่ายๆ ที่เก่าที่สุดเป็นภาพประกอบบทกวีของ โบดวง เดอ กงเด ที่แต่งขึ้นในปี 1285 (Baudoin de Condé, 1240-1280)[3]  ในภาพนั้นคนตายยืนแข็งนิ่งอยู่กับที่ คนเป็นที่เป็นผู้ดีสามคนเดินมา. หน้าตาท่าทางไม่บอกว่าหวาดกลัวที่พบคนตาย. เหยี่ยวในภาพบอกให้รู้ว่าคนเป็นทั้งสามเป็นชนชั้นสูงและออกมาล่าสัตว์. ภาพวาดประกอบบทกวีเนื้อหานี้ ให้รายละเอียดซับซ้อนขึ้นในยุคต่อมา เช่นในหนังสือสวดจากลุกซอมบูร์กปี 1340[4] คนเป็นทั้งสามขี่ม้ามาพบคนตายที่ลุกขึ้นจากหีบศพ. จิตรกรเสนอสภาพของร่างที่กำลังเน่าเปื่อยตามความเป็นจริง มากบ้างน้อยบ้างเพื่อสื่อว่าตายในเวลาต่างกัน.
ภาพจิตรกรรมน้อยที่ประกอบเรื่อง การพบปะระหว่างคนเป็นสามคนและคนตายสามคน ในหนังสือสวดเล่ม Psautier de Bonne de Luxembourg ผลงานของ ฌ็อง เลอนัวร์ (Jean Le Noir) เนรมิตขึ้นในระหว่างปี 1348-49. ปัจจุบันอยู่ที่ Metropolitan Museum กรุงนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา. ภาพจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.
      ตั้งแต่ยุคกลางเป็นต้นมา ชนชั้นสูงต้องการมีหนังสือสวดมนตร์สำหรับใช้ส่วนตัว จึงมีการว่าจ้างจิตรกรให้เนรมิตหนังสือสวดพร้อมภาพจิตรกรรมน้อยประกอบบทสวดในแต่ละตอน.  หนังสือสวดในสมัยนั้นทำจากแผ่นหนังสัตว์ จารึกเนื้อหาที่ใช้เป็นบทสวดในแต่ละเวลาในแต่ละวัน. มีภาพจิตรกรรมน้อยประดับเกือบทุกหน้ามากบ้างน้อยบ้าง. เป็นงานที่ใช้ฝีมือคนทำตั้งแต่เตรียมแผ่นหนังจนถึงการเข้าเล่ม จึงเป็นหนังสือที่ใช้เวลาทำนานมากและมีค่าสูง.[5] ความนิยมหนังสือสวดแบบนี้ มีส่วนช่วยเผยแพร่ตำนานเรื่องนี้. ระหว่างศตวรรษที่ 13 ไปจนถึงศตวรรษที่ 15 การเสนอภาพเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ. คนตายดูน่ากลัวหรือน่ารังเกียจมากขึ้น. บ้างถือหอกเป็นอาวุธโถมเข้าใส่คนเป็น. บางแห่งมีผู้หญิงในหมู่คนเป็น. นอกจากภาพวาดประกอบในหนังสือสวดดังกล่าว ยังมีภาพเฟรสโก้(fresco)ของตำนานนี้บนผนังวัดอีกจำนวนมากทั่วไปในยุโรป. ทั้งที่เป็นภาพเฉพาะเกี่ยวกับตำนานนี้ และที่ประกอบเคียงข้างภาพเฟรสโก้ชุด เริงระบำกับความตาย (ดังจะกล่าวต่อไปในข้อ 2.)  นักประวัติศาสตร์ยืนยันว่าตำนานเรื่องนี้มิได้เป็นต้นแบบของ เริงระบำกับความตาย. แม้ว่าการนำเสนอของทั้งสองเรื่องเหมือนกัน คือมีการสนทนาระหว่างคนเป็นกับคนตาย มีองค์ประกอบภาพที่เจาะจงระบบชนชั้นในสังคมอย่างชัดเจน.  ทั้งสองเรื่อง เน้นความแตกต่างให้เห็นระหว่างความสง่างามของคนเป็นและความน่าขยะแขยงของคนตาย. แต่จุดยืนที่เป็นปรัชญาจากสองเรื่องนี้ต่างกัน. ในตำนาน การพบปะระหว่างคนเป็นสามคนกับคนตายสามคน คนตายบอกและขู่ให้คนเป็นรีบกลับตัวกลับใจเป็นคนดี.  ส่วนในเรื่อง เริงระบำกับความตาย นั้น ทุกอย่างสายเกินแก้แล้ว คนเป็นหมดโอกาสกลับตัวกลับใจเสียแล้ว ต้องถูกความตายลากตัวไป.   

2. เริงระบำกับความตาย ( La Danse Macabre  ที่แปลตามตัวได้ว่า ระบำสยองขวัญ เราเลือกใช้ เริงระบำกับความตาย เพราะตรงกับเนื้อหาที่เห็นได้จากภาพและจากบทพรรณนา) [6] 
      เรื่อง เริงระบำกับความตาย ได้ชื่อว่าเป็นเนื้อหาศิลปะที่สมบูรณ์แบบที่สุดของยุคกลางที่สืบทอดมาถึงศตวรรษที่ 16.  เนื้อหาเล่าถึงความตาย(ในร่างของโครงกระดูกเต็มตัว)ที่มาจับคนจากทุกชนชั้น จัดเป็นคู่ๆให้เข้าวง จูงมือเต้นรำ เรียงกันเป็นแถวยาวไปสู่หลุมศพ. เหมือนการเต้นรำหมู่ในงานรื่นเริงประจำหมู่บ้าน. เหนือหรือใต้ภาพคู่เต้นแต่ละคู่ มีบทกลอนเขียนจารึกไว้. บุคคลตัวอย่างที่มักปรากฏในเรื่องนี้ มีสันตะปาปา, จักรพรรดิ, กษัตริย์, อัศวิน, แพทย์, พ่อค้า, นายหน้า, โจร, ชาวนาหรือแม้แต่เด็กเล็กที่ยังไร้เดียงสา เพื่อให้เป็นตัวแทนของชนชั้นต่างๆและชี้ให้เห็นความแตกต่างของสถานะทางสังคม.
      ความตายจับคู่กับคนเป็นหนึ่งคน, คนเจรจากับความตาย, อ้อนวอนให้ปล่อยตนด้วยความสำนึกผิดและสิ้นหวัง, หรือขอความเห็นใจจากความตายเป็นต้น. แต่ความตายไม่ปรานี กล่าวโทษกระทบกระแทก เย้ยหยันหรือดูหมิ่นดูแคลนคน. และความตายก็ดึงทุกคนเข้าไปสู่วงรำมรณะ. บทสนทนาระหว่างคนเป็นคนตายแต่ละคู่ เน้นความลุ่มหลงของคนที่วนเวียนอยู่ในยศถาบันดาศักดิ์ ที่ไร้ประโยชน์เพราะมิอาจช่วยให้เขาพ้นความตายได้. ย้ำว่าทุกคนเสมอภาคกันเบื้องหน้าความตาย. บทสนทนาทั้งหมดรวมกันเป็นเนื้อหาของเรื่องเริงระบำกับความตาย.  บาทหลวงได้ใช้เรื่องนี้เทศน์สั่งสอนชาวคริสต์. กลุ่มนักบวชขอทาน[7] ที่ออกเดินเท้าเผยแพร่คำสอนไปทั่วยุโรป ก็มีส่วนช่วยเผยแพร่เรื่องนี้ไปทั่วคริสตจักร เนื่องจากเป็นบทสนทนาจึงถูกนำไปจัดเป็นบทละคร แสดงการโต้ตอบเป็นคู่ๆระหว่างความตายกับบุคคลจากชนชั้นต่างๆที่เรียงกันไปตามลำดับจากชนชั้นสูงสู่ชนชั้นต่ำ[8]  
      เนื้อหาของเรื่องนี้ยังปรากฏเป็นภาพเฟรสโก้ประดับผนังวัดจำนวนมากและประดับกำแพงด้านนอกหรือด้านในของสุสานอีกจำนวนไม่น้อยในยุโรปตอนเหนีอ. คำกลอนเรื่องนี้แพร่กระจายไปทั่วทั้งยุโรปกับคณะละครสัญจร.  ความนิยมดังกล่าวมาจากการสำเหนียกและการใคร่ครวญเกี่ยวกับชีวิตและความตาย โดยเฉพาะในยุคที่ความตายคอยหลอกหลอนอยู่ทุกมุมเมือง.  เป็นยุคของสงครามร้อยปี ความอดอยากและโรคระบาด.  ในภาพเฟรสโก้บางแห่ง ความตายถือเครื่องดนตรีประเภทหนึ่งในมือ โยงนัยของการยั่วยวน ของดนตรีที่มีอำนาจทำให้คนเคลิบเคลิ้มหลงใหล เหมือนเสียงเพลงของเหล่าปีศาจทะเลครึ่งคนครึ่งนก(siren)ในวรรณกรรมกรีกเรื่องออดิสซี (Odyssey) เป็นต้น.
      ภาพชุดเริงระบำกับความตายที่เก่าที่สุด คือที่วาดประดับบนผนังวัดอีโนซ็องส์ที่ปารีส (Cimetière des Innocents, 1424 สุสานนี้ถูกทำลายไปแล้วตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19) มีผู้ถ่ายทอดไว้ในหนังสือที่พิมพ์ออกสู่ตลาดในปี 1485 และเชื่อกันว่า นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของความนิยมประดับผนังกำแพงวัดและสุสานด้วยภาพเฟรสโก้เนื้อหานี้ในประเทศยุโรปอื่นๆ. เรื่องนี้เป็นบทเตือนสติสำหรับผู้มีอำนาจในมือ, เป็นเสียงเรียกให้ทุกคนอยู่ในศีลธรรมและมีความรับผิดชอบ ในขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งปลอบใจสำหรับผู้ยากไร้ว่า เบื้องหน้าเขามีความตายที่จักเกลี่ยและกลบความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคมให้หมดไปในที่สุด. แต่เนื้อหาพื้นฐานที่แท้จริง สั้นและเด็ดขาด คือความไม่ยั่งยืนของชีวิต. ตั้งแต่ยุคกลางเป็นต้นมา สังคมแต่ละยุคสมัยเนรมิตภาพเริงระบำกับความตายที่มีลักษณะเฉพาะของยุค.
 ภาพ เริงระบำกับความตาย  เป็นจิตรกรรมฝาผนังประดับผนังกำแพงวัด (ที่เมือง ลิวเบ็ค – Lübeck ในเยอรมนี) มีบทกลอนภาษาเยอรมันประดับควบคู่กันไป. เนื้อหาเป็นบทสนทนาระหว่าง คนเป็นที่ยังมีชีวิตและนุ่งห่มเสื้อผ้าที่บอกว่าแต่ละคนมาจากชนชั้นใด มียศถาบรรดาศักดิ์อะไรบ้างเป็นต้น กับ ความตายในร่างของโครงกระดูกทั้งตัว มีผ้าขาว(ผ้าห่อศพ) คลุมไว้อย่างหลวมๆ.  ความตายเป็นผู้ลากและจับคนแต่ละคนให้เข้าร่วมวงรำไปสู่หลุมศพ. ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์, สันตะปาปา, เจ้านาย, หญิงผู้ดี, สามัญชนหรือเด็กทารก (ภาพจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)
 
ภาพ เริงระบำของความตาย ผลงานของ มิชาเอ็ล โว้ลเกอมุต (Michael Wolgemut  จิตรกรชาวเยอรมัน)  ภาพพิมพ์ของเขาปรากฏเป็นส่วนหนึ่งในบันทึกเหตุการณ์ของโลก - Liber Chronicum หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า Chronicle of Nuremberg ที่ ฮาตมัน ชีเดิล (Hartmann Schedel) เป็นผู้ประพันธ์และผู้พิมพ์ในปี 1493. เนื้อหาของภาพพิมพ์นั้นมาจากความเชื่อพื้นบ้านในยุคกลางว่า บางคืนเหล่าวิญญาณจะออกจากหลุมศพมาเต้นระบำอย่างลิงโลดใจในหมู่ดวงวิญญาณด้วยกัน ก่อนที่จะออกไปคร่าชีวิตคนอื่นๆ.
บานหน้าต่างขนาดสูงใหญ่พร้อมจิตรกรรมกระจกสีประดับช่องกลางเหนือประตูทิศเหนือ ที่วัด Marienkirche [มารีเอ็นเค-ฉะ] เมืองลิวเบ็ค (Lübeck) ในเยอรมนี  เนื้อหาในกระจกสีบานนี้ คือ เริงระบำกับความตาย  นับเป็นบานหน้าต่างกระจกสีที่หาดูได้ยาก เพราะไม่ปรากฏมีการเนรมิตแบบเดียวกันนี้ที่ใด.  หน้าต่างนี้ ศาสตราจารย์โยฮันเนส  ฉไรเทอ (Johannes Schreiter) เป็นผู้เนรมิตขึ้นในปี 2002 โดยอาศัยภาพพิมพ์เก่าที่มาร์กุซ ลิวเพิตส์ (Markus Lüpertz) ได้ทำไว้.
      ในยุคปัจจุบัน คริสตีย็อง บอลตันสกี (Christian Boltanski, 1944-) ศิลปินฝรั่งเศสก็นำเสนอ เริงระบำกับความตาย แต่แทนการเนรมิตภาพเฟรสโก้หรือจิตรกรรมฝาผนัง เขาใช้หุ่นเงาจัดเหมือนการแสดงละครหนังใหญ่ ฉายไปประดับบนกำแพงในห้องนิทรรศการ. เงาเป็นสิ่งจับต้องไม่ได้ ไม่มีตัวตน คือความว่างเปล่าไร้แก่นสาร จึงเป็นภาพลักษณ์ที่สมบูรณ์ของความตายได้เป็นอย่างดี. นิทรรศการของบอลตันสกีชุดนี้ อยู่ที่ศูนย์ ศิลปะแห่งแสงสว่าง (Zentrum für Internationale Lichtkunst Unna) เมืองอุนนา (Unna) ประเทศเยอรมนี.  

3. ชัยชนะของความตาย (Le triomphe de la mort)
      โรคระบาดที่เกิดขึ้นในกลางศตวรรษที่ 14 และที่คร่าชีวิตไปกว่าหนึ่งในสามของประชากรในยุโรป ได้ฝังความกลัว โรคดำมรณะ (หรือ the Black Death) และความกลัวโรคระบาดในจิตใจทุกผู้ทุกนามในชีวิตแต่ละวัน. ถึงกระนั้นความกลัวตายกลับไปกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับความตาย เหมือนเป็นการสร้างพลังต้านความกลัวนั้น. ความพิศวงบวกความขยาดที่เห็นได้จากความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงระหว่างร่างที่มีชีวิตในความอิ่มเอิบและร่างไร้ชีวิตที่เน่าเปื่อยส่งกลิ่นเหม็น ก็กลายเป็นสิ่งปลอบใจได้เช่นกัน. ความสนใจที่กลายเป็นความหมกมุ่นได้ค่อยๆเปลี่ยนไปเป็นความคุ้นเคยกับภาพลักษณ์ของความตาย. ในสภาพจิตวิทยาแบบนี้เองที่เกิดการนำเสนอความตายด้วยรูปลักษณ์หลากหลายในระบบศิลปะตะวันตก รวมทั้งการนำความตายมาเป็นเนื้อหาที่โดดเด่นเนื้อหาเดียวของวรรณกรรม, จิตรกรรม, ประติมากรรม, ดนตรีและการละคร.  
      การนำเสนอความตายพัฒนาตามบริบทสังคม เกิดหัวข้อใหม่. ชัยชนะของความตาย  (the Triumph of Death ในภาษาอังกฤษ) ที่สื่อให้เห็นว่า ในกลางศตวรรษที่ 14 นั้นวิธีการมองและรับรู้ความตายเปลี่ยนไป เป็นความตายในฉากต่อสู้อย่างดุเดือดกับคน โดยมีจุดจบของการต่อสู้นั้นเด็ดขาดและถาวร. นั่นคือความตายเป็นฝ่ายชนะเสมอ. โดยปริยาย ชัยชนะของความตาย จึงเป็นการนำเสนอความตายในจิตรกรรมมากกว่าแบบอื่นใด. ภาพชุดนี้ที่เก่าแก่ที่สุดและที่เหลือมาให้เห็นจนทุกวันนี้นั้น ยังอยู่ในสภาพที่ดีเกือบสมบูรณ์ คือภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สุสานเมืองปิซาในประเทศอิตาลี (Campo Santo [กั๊มโป ซ่านโตะ] เมืองPisa) [9]  โดยมีความตายถือเคียวยาวเก็บเกี่ยววิญญาณโดยไม่สนใจว่าใครเป็นใคร. วิธีการนำเสนอเนื้อหานี้ กลายเป็นแบบของการนำเสนอภาพสงครามในสมัยต่อมา เพราะภาพสงคราม คือการอวดเกียรติศักดิ์ของผู้ชนะเหนือความตายของศัตรู โดยปริยายภาพสงครามจึงเป็นภาพของความตาย. 
ภาพชัยชนะของความตาย (Triomphe de la mort) ของปีเตอร์ เบรอเฮิล (Pieter Brueghel จิตรกรชาวเฟลมิช มีชีวิตในราวปี 1525-9 ถึง1569)  เนรมิตขึ้นในปี 1562.  ความตายอยู่ตรงกลางของภาพ มือถือเคียวด้ามใหญ่และยาว นั่งคร่อมบนหลังม้า  กำลังผลักกลุ่มคนเข้าไปในโรงยาวใหญ่ที่มีเครื่องหมายกากบาทแสดงไว้ เพื่อหลอกล่อให้คนหลงผิดว่า ถูกผลักไปในทางดีไปบนเส้นทางของพระคริสต์  แต่ความจริงเป็นกับดักวิญญาณ.  มีร่างในรูปโครงกระดูกกระจายเต็มทั้งภาพ.  ความตายกำลังล่าวิญญาณโดยไม่เลือก, กำลังปฏิบัติการอย่างไม่ลดละทั้งฆ่า, ทั้งแทง, เฉือนคอหอยหรือนำคนขึ้นแขวนคอ.  มีเกวียนบรรจุหัวกะโหลกคนจนเพียบ. ในภาพนี้มีร่างโครงกระดูกมากกว่าร่างคนที่ยังมีชีวิต บอกให้รู้ว่าคนตายไปแล้วเป็นจำนวนมาก.  ภูมิทัศน์ที่เห็นเป็นฉากหลังของเหตุการณ์ ก็สะท้อนให้เห็นถึงความตาย. ทั้งต้นไม้และหญ้ากำลังแห้งเหี่ยว มีไฟลุกไหม้ไกลออกไปในภูเขา.  เป็นภาพที่สื่อความตายที่รุนแรง. ไม่มีใครมาช่วยไถ่บาป, ไม่เหลือความหวังใดอีกเลย. 
      ในจิตรกรรมอื่นๆเช่น ความตายถือคันธนูและลูกศรยื่นมือออกไปข้างหน้า เหมือนประกาศชัยชนะเหนือมนุษยชาติที่นอนตายระเนระนาด เสื้อผ้าที่สวมอยู่บอกให้รู้ว่าคนตายมาจากทุกวงสังคม. ในศตวรรษที่ 19 ศิลปินภาพพิมพ์ชาวเยอรมันชื่ออัลเฟรด เรเทิล (Alfred Rethel, 1816-1859 ชาวเยอรมัน) ได้เสนอภาพพิมพ์เป็นชุด ให้ชื่อว่า ระบำแห่งความตาย ปี 1848 (Auch ein Todtentanz 1848). เขาได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์นองเลือดที่เกิดขึ้นในการปฏิวัติปี 1848 ในฝรั่งเศส เขาเสนอภาพลักษณ์ของความตายที่เป็นทั้งผู้นำในการต่อสู้และผู้ชนะในสงคราม. บางภาพความตายนั่งบนหลังม้า มือถือธงชัยเหนือศพนักรบ. บางภาพความตายกวดตามชาวเมือง มือถือเคียวด้ามยาวที่มีคันชั่งเล็กๆติดอยู่ (เหมือนจะยืนยันว่า ทุกคนตายเหมือนกันหมด เป็นความยุติธรรมเดียวของคน). ภาพพิมพ์ของเขาถ่ายทอดความตายในเมืองที่อาคารบ้านเรือนถูกทำลาย, ผู้คนล้มตาย, เด็กเล็กร้องเรียกหาแม่เป็นต้น. ไม่มีอะไรในภาพชุดนี้ของเขาที่เหมือนการจับคู่เริงระบำตามชื่อเลย. ผลงานของเขาได้โดนใจผู้คนสมัยนั้นอย่างมากและในวงกว้างพ้นพรมแดนของประเทศหนึ่งประเทศเดียว. ต่อมาในปี 1851 เมื่ออหิวาตกโรคระบาดในยุโรป เขาก็ได้สร้างภาพพิมพ์ของ ความตายที่เป็นฆาตรกร[10] ในภาพความตายทำท่าสีไวโอลินในขณะที่นักดนตรีต่างหนีเอาตัวรอด. มีผู้หญิงสวมเสื้อคลุมหลวมๆนั่งอยู่ มือถืออาวุธแบบหนึ่ง นางเป็นสัญลักษณ์ของเชื้อโรคที่คร่าชีวิตคน.
ภาพพิมพ์ผลงานของ อัลเฟรด เรเทิล (Alfred Rethel, 1816-1859 ชาวเยอรมัน) เป็นหนึ่งในภาพชุด ระบำแห่งความตาย ปี 1848(Totentanz 1848). ความตายโดดเด่นอยู่กลางภาพ กำลังสีไวโอลินที่ทำจากกระดูกคน. ในมุมบนซ้ายนักดนตรีพากันหนี. ด้านขวาสตรีนางหนึ่งห่มคลุมทั้งตัว นั่งอยู่  นางเป็นสัญลักษณ์ของโรคร้ายที่คร่าชีวิตคน (ภาพจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)

4. ศิลปะของการตาย (Ars moriendi [อารฺซฺ มอรีเอ็นดิ] ).
      Ars moriendi คือศิลปะของการตาย ของการตายดี ในความหมายตรงข้ามกับการตายอย่างทุกข์ทรมานและการไม่ได้รับการไถ่บาปในวาระสุดท้ายก่อนสิ้นใจ. เป็นชื่อบทจารึกภาษาละตินสองฉบับที่เขียนขึ้นในศตวรรษที่15  ฉบับแรกเป็นฉบับยาว นักบวชชาวโดมินิแกนคนหนึ่งเขียนขึ้นในปี 1415[11]  ฉบับที่สองสั้นกว่าและมีภาพประกอบสิบเอ็ดภาพ เขียนขึ้นในราวปี 1450. การมีภาพช่วยความเข้าใจและช่วยความจำได้ดีกว่า เพราะไม่ใช่ทุกคนในสังคมยุคนั้นที่อ่านภาษาละตินได้แตกฉาน. จารึกเรื่องนี้ถูกแปลและพิมพ์เป็นภาษายุโรปอื่นๆทันที ทั้งยังมีฉบับที่แปลจากภาษาละตินให้เป็นภาษาพื้นบ้านเพื่อให้ชาวบ้านทั่วไปเข้าใจได้ด้วย. วรรณกรรมเรื่องนี้เป็นหนึ่งในหนังสือที่พิมพ์ออกเล่มแรกๆในยุโรป.
      เนื้อหาในจารึกฉบับยาว แบ่งออกเป็นหกบท เล่าถึงชายคนหนึ่งผู้เจ็บหนัก มโนสำนึกกำลังดิ้นรนต่อสู้ เหมือนอยู่ระหว่างการเลือกทางเดินไปสู่แสงสว่าง หรือติดตามสิ่งยั่วยวนต่างๆไปลงนรก. ในบทที่หนึ่ง กล่าวถึงสิ่งดีๆที่เกิดกับความตายและสรุปว่าไม่ควรกลัวความตาย. ในบทที่สอง เสนอสิ่งยั่วยวนห้าประเภทที่รุกรานผู้ใกล้ตายและวิธีการต่อสู้กับสิ่งยั่วยวนเหล่านั้น โดยเน้นว่าสิ่งยั่วยวนทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะการขาดศรัทธา, เพราะความสิ้นหวัง, ความกระวนกระวายไร้ความอดทน, ความหยิ่งผยองและความตระหนี่. ในบทที่สาม แจกแจงปัญหาเจ็ดข้อที่ผู้ใกล้ตายตั้งกระทู้ถามตนเอง และเสนอบทปลอบใจบทต่างๆที่ช่วยผู้ใกล้ตายให้พ้นทุกข์ทรมาน หากเขามีความรักในพระคริสต์. ในบทที่สี่ แนะนำให้คนยึดชีวิตของพระคริสต์เป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิต. ในบทที่ห้า ชี้แนะความประพฤติอันควรแก่ผู้ใกล้ชิดและครอบครัวของผู้ใกล้ตาย. และในบทที่หก รวมบทสวดมนต์ที่ผู้ใกล้ตายต้องท่อง.  
      ส่วนในจารึกฉบับสั้นนั้น พัฒนาขึ้นจากเนื้อหาของบทที่สองในฉบับยาวเพียงบทเดียว. มีภาพพิมพ์ประกอบทั้งหมดสิบเอ็ดภาพ จัดเป็นคู่ๆห้าคู่ แต่ละคู่ชี้ถึงสิ่งยั่วยวนแบบหนึ่งโดยมีปีศาจมาจับตัวผู้ใกล้ตาย เสนอสิ่งยั่วยวนใจให้, และในภาพที่สิบเอ็ดที่เป็นภาพสุดท้าย เสนอภาพของผู้ใกล้ตาย ผู้ชนะข้อพิสูจน์ต่างๆและได้รับเข้าสู่สวรรค์ในขณะที่ปีศาจถอยกลับไปลงนรก.   
      หกสิบปีหลังจากการระบาดของโรคดำมรณะที่ได้คร่าชีวิตคนไปเป็นจำนวนมากรวมทั้งนักบวช, บาทหลวงและพระสังฆราช ทำให้องค์การศาสนาขาดผู้ทำหน้าที่ช่วยผู้ใกล้ตายให้เตรียมตัวเตรียมใจสำหรับการเดินทางผ่านพิภพ. ผู้คนยังคงหวาดหวั่นอยู่มาก. ความกลัวที่ต้องตายโดยไม่ได้รับการเจิมหรือการพรมน้ำมนต์ก่อนตาย(extreme unction) และไม่ได้ล้างบาปเป็นครั้งสุดท้ายนั้น เป็นความตายที่สิ้นหวังที่สุดที่ทำให้เขาหมดโอกาสไปสู่อาณาจักรของพระเจ้า.  คริสต์ศาสนาได้ใช้จารึกเรื่องนี้ เป็นช่องทางใหม่ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและเพิ่มสมรรถภาพกับความคล่องตัวของศาสนา. หนังสือชี้ทางชีวิตขั้นสุดท้ายเล่มนี้ แต่ละคนสามารถใช้เป็นคู่มือในการนำทางผู้ใกล้ตายแทนบาทหลวงได้ในกรณีจำเป็น. ความคิดที่ให้สามัญชนทำหน้าที่แทนบาทหลวงนำวิญญาณผู้ใกล้ตายนั้น เป็นเรื่องที่ไม่เคยมีใครคิดกันมาก่อน. จารึกเรื่องนี้ได้ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจและเข้าถึงแก่นแท้ของคริสต์ศาสนาได้ดีขึ้นด้วย พร้อมกับเตรียมชาวคริสต์ให้เผชิญหน้ากับความตายอย่างมีสติ. เป็นคู่มือสำหรับผู้ใกล้ตายกับญาติผู้ต้องปฏิบัตินำทางผู้ใกล้ตาย. จารึกเรื่องนี้ช่วยลดความกลัวลงไปได้มาก, สอนให้รู้จักเตรียมตัวตาย, สอนให้รู้ว่าการตายดีนั้นมีค่า, มีความหมายสำคัญ, และทำอย่างไรจึงจะตายดี, ต้องทำตนอย่างไรเมื่อต้องอยู่เป็นเพื่อนผู้ใกล้ตายจนถึงนาทีสุดท้ายของเขา. การที่มีผู้สนใจจารึกเรื่องนี้มาก เป็นผลจากจิตสำนึกของชาวยุโรปโดยเฉพาะในหมู่ปัญญาชนที่เชื่อว่า ตนสามารถเข้าถึงปรัชญาลึกซึ้งของศาสนาได้และสามารถนำทางจิตวิญญาณของคนอื่นได้.   

5. สำนวนละติน จำไว้ว่าวันหนึ่งเจ้าจะตาย  (Memento mori [เมเม้นโต๊ะ มอรี])
      Memento mori เป็นสำนวนภาษาละตินที่อาจแปลได้ว่า อย่าลืมว่าเจ้าต้องตาย  หรือ จำไว้ว่าวันหนึ่งเจ้าจะตาย.  สำนวนนี้ติดปากและคาใจทุกผู้ทุกนามมาตั้งแต่ต้นคริสตกาล และเป็นเนื้อหาที่แฝงอยู่ในผลงานคริสต์ศิลป์ที่พัฒนาขึ้นหลากหลายรูปแบบโดยที่ทั้งหมดมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือการเตือนสติแก่คนว่าไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า[12] 
      คริสต์ศาสนาได้เน้น,จารึกและจรรโลงความสำคัญของ การพิพากษาสุดท้ายปลูกฝังความเข้าใจเกี่ยวกับนรก, สวรรค์, และวิญญาณคนดีคนชั่ว. นำความตายออกมาสู่แนวหน้าของการไตร่ตรอง และกระชับความเชื่อในชีวิตหลังความตาย. ดังปรากฏเจาะจงไว้ในคัมภีร์ไบเบิล (Ecclesiasticus 7:40) ที่กล่าวไว้ว่า ไม่ว่าเจ้าทำอะไรก็ตาม ขอให้คำนึงถึงวันสุดท้ายของเจ้า แล้วเจ้าจะไม่ทำบาปอีก. คำกล่าวนี้คือความหมายของ  Memento mori  คริสต์ศาสนาต้องการเน้นนัยเทียบกับสำนวนละติน Nunc est bibendum [นุ๊งคฺ เอ็สตฺ บี๊บังดุ่ม] ที่หมายความว่า จงสนุกกับชีวิตเถิด เพราะเวลาไม่คอยใคร  อันเป็นค่านิยมในสังคมจากยุคก่อนคริสตกาล[13]  
     พิธีกรรมที่ปฏิบัติกันในวัน Ash Wednesday[14] เมื่อบาทหลวงนำขี้เถ้า[15] เจิมเป็นรูปกากบาทบนหน้าผาก หรือโปรยบนศีรษะของชาวคริสต์ พร้อมกับเตือนว่า จงจำไว้ว่า เจ้าเป็นธุลีและจะกลับคืนสู่ธุลี (Remember that thou art dust, and to dust thou shalt return. Genesis 3:19). ขี้เถ้าสะท้อนความไม่ยั่งยืนของชีวิตและเตือนให้รู้สำนึกผิดต่อพระผู้เป็นเจ้า. พิธีกรรมนี้จึงถ่ายทอดเนื้อหาของสำนวนนี้ออกมาเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน.
      ภาพความตายในร่างของโครงกระดูกเต็มตัวที่เก็บเกี่ยวและปลิดชีวิตคน ในสมัยนั้นมักถูกเปรียบว่าเป็นเหมือนโรคห่าที่คร่าชีวิตคนปีละจำนวนมาก. ความตายที่ถูกเทียบกับเชื้ออหิวาห์ ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง. ต่อมามีการใช้ภาพหัวกะโหลกคนเท่านั้นแทนความตายเพื่อความรวบรัดและเรียบง่ายขึ้น. บางทีมีปีกติดประดับหัวกะโหลก. นอกจากนี้ยังอาจใช้นาฬิกาทรายหรือนาฬิกา เป็นเครื่องเตือนสติเกี่ยวกับความตายที่จะมาถึง. นาฬิกาที่ประดับสุสานบางทีก็มีคำขวัญคำเตือนใจจารึกไว้ด้วย. ในยุคนั้นใช้สำนวนละตินเป็นหลัก เช่น ultima forsan [อุ๊ลติมา ฟอรซัน] ในความหมายว่า นี่อาจเป็นชั่วโมงสุดท้าย(ของเจ้า) หรือ tempus fugit [เต็มปุซ ฟูจิต] ที่แปลตามตัวว่า เวลาหนีไป ในความหมายของความสั้นของเวลา (มีสำนวนเต็มอีกว่า tempus volat hora fugit =time flies, the hour flees หรือ เวลาบินไป ชั่วโมงหนีไป). ไม่เฉพาะในสุสาน นาฬิกาบอกเวลาหรือนาฬิกาแดดในสวนหรือในเมือง(โดยเฉพาะที่อังกฤษ) ก็นิยมจารึกสำนวนโวหารเกี่ยวกับเวลาประกอบด้วยเช่นกัน. ในสมัยปัจจุบันมีการทำหุ่นยนตร์เป็นโครงกระดูกทำหน้าที่ตีบอกเวลาบนกำแพงของศาลากลางจังหวัด เช่นที่เมืองปร้ากในสาธารณรัฐเช็กเป็นต้น. นาฬิกาที่ทำขึ้นด้วยระบบอัตโนมัติในยุโรปสมัยใหม่ ยังเน้นนัยของการเป็นนาฬิกาแห่งความตาย. เนื้อหาของ Memento mori จึงไม่เคยล้าสมัยและยังคงเตือนใจคนอยู่เสมอ.
นาฬิกาบอกเวลาหลายระบบที่ประดิษฐ์ขึ้นประดับบนกำแพงทิศใต้ของศาลากลางจังหวัด (Town Hall) ที่กรุงปร้าก (Prague) สาธารณรัฐเช็ก (Czech Republic)  ประกอบด้วยนาฬิกาดาราศาสตร์(astronomical clock) หน้าปัดกลมวงบน และใต้ลงไปเป็นนาฬิกาปฏิทิน (calendar clock). นาฬิกานี้พิเศษสุดเหนือกว่านาฬิกาโบราณแบบใดณที่อื่นใดในโลก เพราะเมื่อระฆังตีบอกเวลาในแต่ละชั่วโมง  หน้าต่างหลายบานจะเปิดออกกว้าง มีรูปปั้นของเหล่าอัครสาวก, ร่างโครงกระดูกและคนบาปทั้งหลายจูงกันออกมาเริงระบำ, เป็นระบำแห่งความตาย ระบำแห่งชะตากรรม.(ปัจจุบัน ไม้แน่ใจว่า ยังมเป็นเช่นนั้น เพราะปีที่ไปดูนั้น ไม่มีเห็นแต่เหล่าสาวก)
นาฬิกาดาราศาสตร์ ประดิษฐ์ขึ้นในปี1410.  หน้าปัดสร้างตามแบบเครื่องมือดาราศาสตร์โบราณ(astrolabe)ที่มีทั้งหน้าปัดวงเล็กซ้อนเหนือหน้าปัดวงใหญ่. หน้าปัดเล็กนี้ประกอบด้วยสัญลักษณ์จักรราศีสิบสองราศี พร้อมเข็มนาฬิกาที่มีรูปดวงดาวสีทองประดับที่บอกตำแหน่งของดวงอาทิตย์, ส่วนเข็มสีดำมีลูกกลมเล็กๆนั้นบอกตำแหน่งของดวงจันทร์. วงกลมที่เห็นนี้จะเคลื่อนหมุนรอบตัวมันเองบอกลักษณะของดวงจันทร์ (เดือนหงาย เดือนคว่ำ เดือนมืด เดือนเพ็ญ).  นาฬิกาดาราศาสตร์แบบนี้เป็นเครื่องมือดาราศาสตร์แบบแรกๆของมนุษย์ที่ใช้หาตำแหน่งของดวงดาวในสมัยก่อน และมีวิธีการอ่านอย่างเฉพาะเจาะจงน่าสนใจยิ่งนัก.  
ตรงมุมบนขวาของหน้าปัด มีโครงกระดูกที่ถือกระดิ่งเล็กๆในมือขวาและนาฬิกาทรายในมือซ้าย. รูปปั้นความตายสั่นกระดิ่งบอกเวลาทุกชั่วโมง  ตั้งข้างรูปปั้นคนที่โพกศีรษะ(ชาวเตอร์ก)ที่ถือเครื่องดนตรีในมือ สื่อนัยของความสนุกสนานบันเทิงใจที่ขับกล่อมให้คนหลงใหลเคลิบเคลิ้ม.   
ส่วนรูปปั้นเล็กที่ประดับบนมุมบนซ้ายของนาฬิกาดาราศาสตร์ มีรูปปั้นคนหนึ่งถือกระจกในมือสื่อความหลงตัว,ความหยิ่งผยอง. รูปปั้นอีกรูปหนึ่งใบหน้าของคนแก่มือถือไม้เท้า มืออีกข้างหนึ่งกำถุงทองไว้แน่น ชี้ถึงความละโมบและความตระหนี่ถี่เหนียวในนิสัย.
ส่วนนาฬิกาปฏิทินพร้อมภาพในวงกลมวงใหญ่สิบสองวง ที่แสดงกิจกรรมในชีวิตของชาวเมืองในแต่ละเดือน และในวงกลมวงเล็กอีกสิบสองวงที่เป็นรูปสัญลักษณ์ของสิบสองจักรราศี.  มีรูปปั้นเทวทูตถือดาบและโล่ประดับด้านซ้ายของหน้าปัด และรูปปั้นของชาวเมืองยุคนั้นในสถานภาพต่างๆประดับด้านซ้ายและด้านขวา. หน้าปัดปฏิทินสมัยใหม่นี้สร้างเพิ่มเข้าไปติดกำแพงในปี 1870  พร้อมทั้งการเพิ่มระบบรูปปั้นของอัครสาวกสิบสองคนเหนือหน้าปัดนาฬิกาดาราศาสตร์. 
เมื่อนาฬิกาตีบอกเวลาในแต่ละชั่วโมง รูปปั้นสาวกสองคนจะปรากฏที่หน้าต่างเล็กสองบานที่เปิดเป็นช่องไว้เหนือนาฬิกาดาราศาสตร์(ดูภาพหอนาฬิกาข้างบน). ระบบนาฬิกาซับซ้อนแบบที่นี่นั้น นิยมกันมากในยุโรป. นาฬิกาดาราศาสตร์ที่กรุงปร้ากนี้นับว่าเก่าแก่เป็นที่สามของโลก และเป็นนาฬิกาดาราศาสตร์ที่เก่าที่สุดที่ยังคงเดินและบอกเวลามาจนถึงปัจจุบัน นานกว่าหกร้อยปีแล้ว.  

      จิตรกรรมภาพชีวิตนิ่งของ ความหลง-vanitas รวมสัญลักษณ์ของความตายไว้ด้วยเสมอ. มักใช้หัวกะโหลกเป็นองค์ประกอบในภาพ หรืออาจเป็นภาพลักษณ์อื่นที่นุ่มนวลกว่า เช่นภาพดอกไม้ที่มีกลีบร่วงหล่นลง, ผลไม้ที่มีหนอนไชกินหรือกำลังเน่าเปื่อยเป็นต้น. ภาพชีวิตนิ่งของความหลงมักรวมสรรพวัตถุที่มีค่า, ของฟุ่มเฟือยประเภทต่างๆ, จัดวางเคียงข้างภาพลักษณ์ของความตาย. ในจิตรกรรมแบบนี้ ศิลปะการประกอบภาพและความละเอียดในการใช้สีกับเทคนิคจิตรกรรมอยู่ในระดับสูงมาก. สิ่งของที่วางกระจายให้เห็น, ไม่มีมิติของสิ่งยั่วยวนตัณหาแต่เป็นสัญลักษณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมของความหลงประเภทต่างๆที่ต้องจบลงที่ความตาย.  วัตถุที่นำมาประกอบภาพ คือกะโหลกศีรษะ, โครงระดูก, นาฬิกาแบบต่างๆ, แก้วหรือขวดไวน์ที่คว่ำลง, ปืน, มีด, หน้ากาก, ดอกไม้ในแจกัน, ผลไม้ในตะกร้า, เทียนดับหรือซากสถาปัตยกรรมโบราณเป็นต้น.
ตัวอย่างจิตรกรรมชีวิตนิ่งผลงานของฮาร์เมิน สตีนเว็ก (Harmen Steenwyck, 1612-ราว1655) ตั้งชื่อภาพไว้ว่า An Allegory of the Vanities of Human Life (ภาพอุปมานิทัศน์ของความหลงประเภทต่างๆในชีวิตคน). ปัจจุบันอยู่ที่หอศิลป์แห่งชาติ The National Gallery กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ.  ในภาพจิตรกรเจาะจงรวมสรรพสิ่งที่โยงไปถึงความสุขที่มาประทับประสาทสัมผัสเช่นเครื่องดนตรี, ไหเหล้า, ผ้าแพรที่เงางาม, หรือที่สื่อความสนใจความกระหายอยากรู้เช่นหนังสือ, และที่อาจสื่ออำนาจ, การเดินทางไกลรวมทั้งความร่ำรวยจากการค้าขายไปไกลในต่างทวีปเช่น ดาบแบบซามูไร และเปลือกหอย. ส่วนตะเกียงที่ดับแล้ว, ตลับนาฬิกา, เข้าร่วมกับกะโหลกศีรษะที่โดดเด่นอยู่ในลำแสงสว่าง, ย้ำไม่ให้ลืมว่า ชีวิตเจ้าเปราะบางและแสนสั้น ความตายรอเจ้าอยู่.  
       Memento mori ยังเป็นเนื้อหาแกนเนื้อหาหนึ่งในวรรณกรรม ที่รู้จักกันแพร่หลายเป็นพิเศษ คืองานประพันธ์อาลัยคร่ำครวญ เรื่อง Elegy Written in the Country Churchyard  ของโทมัส เกรย์ (Thomas Gray, 1716-1771) กวีชาวอังกฤษในปลายศตวรรษที่18.  บทประพันธ์ของเขาได้เปิดศักราชของงานประพันธ์แนวใหม่ ที่เกี่ยวกับความตายอย่างเฉพาะเจาะจง. ทำให้โทมัส เกรย์ได้รับสมญานามว่าเป็น กวีป่าช้า (graveyard poet). พระยาอุปกิตศิลปะสาร(นิ่ม กาญจนาชีวะ) ได้แปลเป็นกลอนดอกสร้อยทั้งหมด 33 บท และให้ชื่อในภาษาไทยว่า รำพึงในป่าช้า[16]
      เนื้อหาของความตายยังทำให้มีการประพันธ์ลีลาดนตรีแขนงใหม่ในตะวันตก เป็นดนตรีประกอบขบวนแห่ศพ (funeral march) เช่นงานประพันธ์ของโชแป็ง-Chopin หรือของแบรลีโอ๊ซ-Berlioz เป็นต้น หรือเพลงสวดส่งวิญญาณไปสวรรค์ (requiem [เร้คีเอ็ม]หรือ requiem Mass)  เช่น Requiem ของโมสาร์ต (Mozart, 1756-1791 โมสาร์ตยังแต่งไม่จบ เขาเสียชีวิตก่อน) หรือ Requiem ของแวรดี้ (Messa da Requiem ของ GiusepeVerdi, 1813-1901, แสดงครั้งแรกในปี 1874). ในที่สุดเนื้อหาของ Memento mori ปรากฏอยู่ในศิลปะตะวันตกหลายรูปแบบหลายแขนง.

6. ความตายกับหญิงสาว (Le Jeune fille et la Mort)
      เนื้อหาสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นจุดหักเหสำคัญในการนำเสนอภาพลักษณ์ของความตายในตะวันตก คือเรื่อง ความตายกับหญิงสาว.  เนื้อหานี้อาจสืบสาวย้อนรอยไปถึงวรรณกรรมโบราณ, ในตำนานเทพปกรณัมกรีก เรื่องการลักตัวของเทพสตรีเพอแซโฟนี (the rape of Persephone [เพอแซ้เฟอนี] ชื่อของเทพในภาษากรีก).  ตำนานเรื่องนี้เป็นเนื้อหายอดนิยมเนื้อหาหนึ่งโดยเฉพาะในประติมากรรม เสนอตอนที่เฮดีซ (Hades [เฮ้ดีส]) เทพแห่งบาดาลฉวยโอกาสที่เทพเธอกำลังเก็บดอกไม้ในหมู่นางฟ้า, ทันทีที่นางก้มตัวลงเก็บดอกนารซิสซัสบนพื้น แผ่นดินตรงนั้นก็แยกออกและเฮดีสโผล่ขึ้นมาจับตัวนางลงไปอยู่ในโลกใต้บาดาล ไปเป็นราชินีแห่งโลกบาดาล.
ภาพเล่าเหตุการณ์ที่เฮดิสขึ้นมาจากโลกใต้บาดาล และลักพาตัวเทพสตรีเพอแซโฟนี (Persephone ชื่อในภาษากรีก)ไปเป็นราชินีแห่งโลกใต้พิภพ.  ประติมากรรมเนื้อหานี้เป็นที่นิยมกันมาก และมักเป็นหนึ่งในประติมากรรมประดับสวนและอุทยานในยุโรป . บริเวณที่เห็นในภาพนี้คือสวนมุมหนึ่ง (Hofgarten  แปลว่า สวนในวัง) ภายในปราสาท เรสิเด๊นส์ (Würzburger Residenz) ที่เมืองวุซบูร์ก (Würzburg) ประเทศเยอรมนี.
      ตำนานนี้มาเป็นเนื้อหาของ ความตายกับหญิงสาว (Le Jeune fille et la Mort)ในปลายศตวรรษที่15 ที่ค่อยๆเบนออกไปเป็น ความงามกับความตาย[17].  ศิลปินเสนอภาพหญิงสาวบริสุทธิ์อิ่มอวบงามทั้งเรือนร่าง น่ารักน่าใคร่เป็นที่สุด ใช้ความงามสตรีเป็นบทอุปมาว่า ชีวิตนี้สั้น, สั้นเหมือนความหยิ่งผยองในความงามของสตรี เพราะร่างนั้น, ใบหน้านั้น, ผมสลวยหรือหน้าอกอิ่มอวบแบบนั้น ก็จะกลายเป็นอาหารของหนอน. เนื้อหาเรื่องนี้ได้เปิดโอกาสและเป็นข้ออ้างให้ศิลปินนำเสนอภาพเปล่าเปลือยของผู้หญิงพร้อมๆกับภาพของความตายที่กระหายกามารมณ์. ตัวอย่างที่เด่นที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลป์ คือผลงานจิตรกรรมปี 1517 ของฮันส์ บัลดุง กรีน (Hans Baldung Grien [ฮั้นสฺ บั๊ลดุ่ง กรีน], 1484-1545 ชาวเยอรมัน) หรือเรียกกันสั้นๆว่า ฮันส์ บัลดุง ชื่อภาพ Der Tod und das Mädchen (ความตายกับหญิงสาว) หรือบางทีก็รู้จักกันในชื่อว่า Der Tod und die Wollust (ความตายกับความสุขสัมผัส)
ภาพ ความตายกับหญิงสาว - Der Tod und das Mädchen  หรือบางทีก็รู้จักกันในชื่อว่า Der Tod und die Wollust (ความตายกับความสุขสัมผัส).  ผลงานของฮันส์ บัลดุง(Hans Baldung) ความตายเข้าประกบหญิงสาว กำผมของเธอไว้ หนีไม่รอด. ปัจจุบันอยู่ที่หอศิลป์เมืองบาเซิล ประเทศสวิสเซอแลนด์ (Kunstmuseum Basel). ภาพจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.     
      เนื้อหานี้นิยมกันมากในยุโรปและโดยเฉพาะในเยอรมนียุคเรอแนสซ็องส์ เพราะไปกระตุ้นให้คนตระหนักถึงเงามืดหรือความหวาดหวั่นลึกๆที่แทรกอยู่ในอารมณ์รักที่รุนแรงกับการมีเพศสัมพันธ์ ที่จะเป็นหัวข้อศึกษาเชิงจิตวิเคราะห์ในเวลาต่อมา. เอ็ดเวิด มุงค์ (Edvard Munch, 1863-1944 ชาวนอร์เวย์ ผลงานปี 1894) กลับเสนอให้เข้าใจว่า ความรักมีชัยเหนือความตาย เพราะหญิงสาวในภาพของเขามิได้แสดงท่าทีว่าถูกข่มขู่ แม้ใบหน้าเฉยเมย และมือก็โอบกอดความตาย(โครงกระดูก)ไว้. ห้าปีหลังจากภาพนี้ มุนค์ได้เนรมิตภาพ จูบจากความตาย (The Kiss of Death, 1899) ในภาพหลังนี้ หญิงสาวในภาพหน้าตาเหมือนกับหญิงสาวในภาพแรก ผมสลวยของเธอแผ่ปรกลำคอและไหล่ของความตาย ที่กำลังจูบเธออย่างกระเหี้ยนกระหือรือ. ในภาพที่สองนี้เช่นกัน หญิงสาวดูไม่ยินดียินร้าย ตาทอดมองไกลออกไป.  เธอ(ตัวแทนของความรัก)จึงเป็นผู้สยบความตายมากกว่า อย่างน้อยก็ชั่วระยะเวลาหนึ่ง. 
     ภาพหญิงสาวกับความตายในผลงานยุคปัจจุบันนั้นเน้นนัยความหมายต่างจากหรือตรงข้ามกับความหมายดั้งเดิมที่ความตายมีชัยเหนือความรัก. เป็นวิสัยทัศน์ส่วนตัวของศิลปินแต่ละคนมากกว่า. จิตรกรรมเนื้อหานี้ยังถูกนำไปเขียนเป็นบทละครและสร้างเป็นภาพยนตร์ [18].

7. สามวัยของคนกับความตาย  (Les Trois âges de l’Homme et la Mort)
       ตั้งแต่ยุคคลาซสิกดังปรากฏในเทพปกรณัมกรีกเรื่องอีดีพัส (Oedipus) ผู้แก้ปริศนาที่สฟิงค์ถามว่า สัตว์อะไรที่เดินสี่ขาในตอนเช้า สองขาในตอนเที่ยงและสามขาในตอนเย็น และมันอ่อนแอที่สุดเมื่อมันเดินสี่ขา. อีดีพัสตอบว่าคือคน เพราะเมื่อเป็นเด็กทารกคลานสี่ขา, และเติบโตขึ้นเดินสองขาตัวตั้งตรง, และในวัยชราถือไม้เท้าช่วยพยุงตัวจึงเหมือนมีสามขา. เมื่ออีดีพัสตอบถูก สฟิงค์โกรธจนทำร้ายตัวเองถึงตาย. ปริศนาของสฟิงค์จึงเป็นเรื่องของวัยสามวัยในชีวิต แต่ละวัยมีศักยภาพต่างกันโดยมีวัยเยาว์สื่อความบริสุทธิ์, วัยฉกรรจ์สื่อการพัฒนาอันสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ และวัยชราสื่อความฉลาดสุขุม. 
      สามวัยของชีวิตก็มาเป็นกุญแจไขความเข้าใจในคริสต์ศาสนาและคริสต์ศิลป์. ผู้นำจิตวิญญาณในศาสนาที่มีสมญานามว่าบิดาแห่งทะเลทราย (เพราะใช้ชีวิตคิดพิจารณาตรึกตรองเกี่ยวกับคำสอนในทะเลทรายห่างไกลจากชุมชน) ก็ได้แบ่งจิตวิญญาณเป็นสามขั้นตอน คือความเข้าใจเกี่ยวกับตัวตนของตนเอง(เกี่ยวกับจุดอ่อนของตนเอง)หนึ่ง, ความเข้าใจในคนอื่น(หรือการรวมเป็นหนึ่งเดียวในภราดรภาพกับเพื่อนร่วมโลก)หนึ่ง, และความเข้าใจในพระเจ้าโดยการสวดมนตร์ภาวนาอีกหนึ่ง. มิใช่เป็นเรื่องบังเอิญที่สามวัยของคนทำให้นึกถึงคติตรีเอกานุภาพ(Trinity). เกือบทุกอย่างในคริสต์ศาสนาเกี่ยวกับเลขสาม, ตั้งแต่พระบิดา, พระจิตและพระบุตร. พระเยซูองค์น้อยในอ้อมแขนของพระแม่มารีมีโจเซฟยืนชื่นชมอยู่ข้างๆ. สามกษัตริย์เดินทางตามดวงดาวมาพบกัน สามกษัตริย์ที่เป็นคนจากสามวัย มาจากสามทวีป(ดินแดนตะวันออกกลาง, ตะวันตกและดินแดนทางใต้คือแอฟริกา) เพื่อสื่อนัยว่าโลกทั้งโลกมาพร้อมหน้ากันเพื่อแสดงความชื่นชมพระเยซูองค์น้อย. สามในเรื่องการพบปะระหว่างคนเป็นสามคนและคนตายสามคน(ที่กล่าวถึงใน 1.) เป็นต้น.
ภาพจิตรกรรมน้อยจากหนังสือ Le Livre des propriétés des choses ของบาร์เตเลมี ล็องเกฺลส์ (Barthélémy l’Anglais) ปี 1480.  ฝีมือภาพจิตรกรรมน้อยของ เอ-วราด์ เดสแป็งก์ (Evrard d’Espinques) ปัจจุบันอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติกรุงปารีส.  ภาพแสดงวัยสามวัยคือทารก, วัยกลางคนและวัยชรา. ความตายยืนเด่นอยู่กลางภาพ. มือทั้งสองถืออาวุธพร้อมจะคร่าชีวิตคนทั้งสามวัย. ให้สังเกตว่า โครงกระดูกสัญลักษณ์ของความตายในศิลปะตะวันตก จะแสดงให้เห็นว่า บริเวณท้องเปิดเหวอะหวะ เพื่อบอกว่า อวัยวะภายในเน่าเปื่อยร่วงหลุดออกไปหมดแล้ว หนังหน้าท้องยังติดกับโครงกระดูกและจะหลุดออกในไม่ช้า . 
ภาพจิตรกรรมผลงานของติซียาโน(Tiziano, 1488-1576 ชาวอิตาเลียน) เสนออุปมานิทัศน์ของความไม่ประมาท โดยเชื่อมโยงกาลเวลากับสามวัยของคนที่พัฒนาเป็นสามขั้นของสติปัญญา.  ใบหน้าคนแก่คืออดีตกาลที่เกี่ยวเนื่องกับความทรงจำต่างๆ, เชื่อมไปถึงหมาป่า(ตามคติของ Macrobe). ปัจจุบันกาลเป็นใบหน้าชายวัยฉกรรจ์ผู้มั่นใจในตนเอง, โยงไปถึงสิงโตที่เฉียบขาด ฉับพลันและรุนแรง.  ส่วนอนาคตกาลเป็นใบหน้าหนุ่มรุ่นๆ ที่เต็มไปด้วยความหวัง, ความหวังที่ชะโลมใจเปรียบได้กับสุนัขเลี้ยงที่ประจบนาย.  ภาพนี้อยู่ที่ National Gallery กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ.
      ในจิตรกรรมที่เกี่ยวกับวัยในชีวิตคน มักเป็นภาพของผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ราวกับว่าร่างผู้หญิงที่แก่ลงๆเน้นความน่าสังเวชได้มากกว่า. แต่เมื่อคิดหาเหตุผลดีๆแล้ว ผู้หญิงเป็นผู้ให้กำเนิด จึงทำให้โยงวัยเด็กกับวัยสาวหรือรุ่นลูกกับรุ่นแม่ได้สะดวก. ตัวอย่างเช่นจิตรกรรมของกุสตัฟ คลิ้มท์ (Gustav Klimt, 1862-1918 ชาวออสเตรีย) ผู้เนรมิตจิตรกรรมชื่อ สามวัยของผู้หญิง (Les Trois âges de la femme) ที่เน้นความแตกต่างระหว่างชีวิตกับความตาย ด้วยวิธีการนำเสนอภาพที่ไม่เหมือนใคร ผิดหลักการจิตรกรรมคลาซสิก (ติดตามชมภาพได้ที่ www.photosmarval.org ที่หัวข้อ Art Nouveau และเข้าไปดูภาพของจิตรกรคนนี้).
      ในปี 1511 ฮันส์ บัลดุง ได้เนรมิตภาพ สตรีสามวัยกับความตาย (Die drei Lebensalter und der Tod  ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Kunsthistorisches Museum กรุงเวียนนา). เขาเสนอความจริงที่ไม่ตายว่า สรรพสิ่งอยู่ใต้อิทธิพลของกาลเวลาเหมือนธรรมชาติที่แห้งเหี่ยว เกิดใหม่ สร้างความงามใหม่ เด็กเจริญวัยเป็นหนุ่มเป็นสาว แก่ลงและตายไป เป็นวงจรของชีวิต. จิตรกรผู้นี้ยังมีผลงานอื่นๆในแนวนี้อีกมากมาย  (ดูตัวอย่างได้อีกใน http://www.all-art.org/history230-14-2.html).  ผลพลอยได้จากเนื้อหานี้ คือ ภาพหญิงสาวร่างเปลือยกลายเป็นเนื้อหาเด่นของศิลปะมากขึ้นๆตามลำดับ.

สามวัยของสตรีกับความตาย ผลงานของฮันส์ บัลดุง - Hans Baldung (ปี 1511) ภาพนี้จากพิพิธภัณฑ์ Kunsthistorisches Museum กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย.  ในภาพมีคนสามคนกับโครงกระดูกที่หมายถึง ความตาย  คนทั้งสามรวมกันอยู่ในซีกซ้ายของภาพ.  ความตาย เด่นอยู่ซีกขวาของภาพ.  จิตรกรใช้ผ้าคลุมผืนบางและยาวเชื่อมเนื้อหาและเสนอวิธีการอ่านภาพให้ประจักษ์.  จากเด็กทารกที่พื้นแทบเท้าของหญิงสาว  เด็กดึงผ้ามาคลุมตัว. ผ้านั้นยังคลุมอวัยวะของหญิงสาว เรือนร่างอิ่มอวบ บอกความพร้อมที่จะมีลูก ผู้จะสืบเผ่าพันธุ์สืบทอดชีวิตต่อไป. ในขณะที่ตัวหญิงสาววันหนึ่งก็จะถูกความตายดึงไป. ดังนัยที่เห็นได้ชัดจากภาพเพราะมือข้างหนึ่งของ ความตาย จับผ้าคลุมไว้.  ส่วนหญิงชรานั้นมีกริยาท่าทางที่เชื่อมโยงกับหญิงสาว.  มือข้างหนึ่งของเธอแตะอยู่ที่กระจกที่หญิงสาวถือไว้ในมือ เหมือนจะบอกให้หญิงสาวชื่มชมภูมิใจในความงามของตนให้เต็มที่ เพราะความงามจะร่วงโรยเร็ว.  อีกมือหนึ่งของหญิงชราไปปัดมือของความตาย ที่ถือนาฬิกาทรายไว้ เหมือนจะผลักเวลาตายออกไปไกลตัว.  มีผู้แปลความหมายของเด็กทารกในภาพนี้ว่า มิได้เป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาตามขนบที่สืบทอดมาจากโบราณ เพราะใกล้ตัวเด็กมีผลแอปเปิลหนึ่งลูก. ข้างๆมีไม้ก้านยาวประดับด้วยหัวม้า (ในแบบของม้าก้านกล้วยที่เด็กๆใช้ขี่เล่นกัน). ผลแอปเปิลจึงอาจเน้นนัยของบาปกำเนิดตามระบบสัญลักษณ์คริสต์ศาสนา.  ส่วนม้านั้นสื่อนัยของการเป็น ม้าดีดกะโหลก  ขาดวินัย ตามที่ปรากฏเขียนไว้ในนิทานอีสป ที่ยังเจาะจงต่อไปด้วยว่า สุนัขเป็นตัวแทนของวัยชรา. สุนัขเป็นเพื่อนกับผู้ที่เลี้ยงดูมัน. วัวเป็นตัวแทนของวัยฉกรรจ์ แทนศักยภาพของการทำงาน. นมวัวเป็นอาหารของเด็กและคนชรา.  ส่วนความตายนั้นท่าทางองอาจและไม่ลดละ. เด็กทารกแน่นอนยังคิดไม่ได้.  ส่วนเด็กสาวก็ยังหลงระเริงในความงามของตนเอง  มีแต่หญิงชราเท่านั้นที่มีปฏิกิริยาสู้ต่อต้านกับความตาย.  เช่นนี้การอ่านภาพสามวัยนี้จึงอ่านได้หลายระดับ. 

          อีกหนึ่งตัวอย่างจากผลงานของ กุสตัฟ คลิ้มท์ (Gustav Klimt, 1862-1918 ชาวออสเตรีย) ผู้เนรมิตจิตรกรรมชื่อ สามวัยของผู้หญิง (Les Trois âges de la femme, 1905) ที่เน้นความแตกต่างระหว่างชีวิตกับความตายด้วยวิธีการนำเสนอภาพที่ไม่เหมือนใคร ผิดหลักการจิตรกรรมคลาซสิก  ภาพผู้หญิงสาวสวยอุ้มเด็ก ทำให้นึกถึงภาพของพระแม่มารีอุ้มพระเยซูองค์น้อยทันที    ใบหน้าของหญิงสาวสวยหลับตา เหมือนไม่ไยดีต่อสภาพรอบข้าง  คอพับลงจดหัวของเด็กในอ้อมกอด  ส่วนเด็กก็หลับใหลบนอกมารดาไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น  หญิงสาวมีผ้าแพรบางๆพันส่วนล่างของลำตัว  จิตรกรบรรจงตกแต่งผืนผ้านี้ด้วยลวดลาย รวมทั้งบริเวณเหนือศีรษะของเธอ  สีสันที่รวมกันเป็นตัวเธอและเด็ก ดูจะสื่อความสดชื่นความสุขหรือความสงบสันติของชีวิตได้ดี  ในขณะที่หญิงชราให้ความรู้สึกตรงกันข้าม  ร่างเปล่าเปลือย ยืนหันข้าง ห่อเหี่ยว หลังคร่อม  คอตกพับอย่างสิ้นหวังเพราะชีวิตกำลังจะจบลง   จุดเด่นของภาพอยู่ที่การนำบุคคลสามวัยยืนติดกันเหมือนกำลังผนึกความสัมพันธ์เข้าเป็นบล็อกตรงกลางของภาพ  โดยที่สองข้างไม่มีรูปลักษณ์ใด นอกจากเป็นพื้นป้ายดำมืดๆไม่สม่ำเสมอ ดูสกปรกเหมือนกำแพงเก่าดำๆมอๆ  ฉากหลังเช่นนี้เหมือนจะชี้บอกความมืดมนหรือความน่าเกลียดของชีวิตหรือของความตาย.
ภาพ สามวัยในชีวิต(ของผู้หญิง) พร้อมรายละเอียดของวัยแรกและวัยที่สอง. จิตรกรรมของกุสตัฟ คลิ้มท์ (Gustav Klimt) ที่ประดับหอศิลป์ Galleria Nazionale d’Arte Moderna กรุงโรม ประเทศอิตาลี.  ติดตามดูผลงานชิ้นอื่นๆของคลิ้มท์ได้ที่ www.photosmarval.org ในหัวข้อ Art Nouveau และเข้าไปดูภาพของจิตรกรคนนี้.

      ยังมีการเปรียบเทียบความตายกับสิ่งอื่นๆ เช่น ความตายในร่างของคนตระหนี่ถี่เหนียว (ดังปรากฏในจิตรกรรมของบอส( Bosch [บ๊อซฺ] ในราวปี1494) ที่ยังพยายามไขว่คว้าถุงเงินถุงทองที่มารมาล่ออยู่ข้างหน้าแทนการเลือกเดินไปในแสงสว่างที่สาดส่องลงมาต้องไม้กางเขน.
ภาพจิตรกรรมของบอส(Bosch) เนรมิตขึ้นในราวปี 1494. ในภาพนี้ คนใกล้ตายครึ่งนั่งครึ่งนอนบนเตียง. เห็นเทวทูตอยู่หัวเตียงประคองหลังคนใกล้ตาย  เงยหน้าและชี้มือไปยังรูปพระเยซูบนไม้กางเขน. มีลำแสงหนึ่งส่องสว่างผ่านกระจกหน้าต่างบานเล็กบนกำแพง เพื่อแนะให้คนใกล้ตายยึดพระเยซูเป็นที่พึ่งทางใจ. แต่แทนที่คนใกล้ตายจะเงยหน้ามองไปในทางนั้น กลับมองไปที่ความตายที่โผล่หน้าออกมาข้างหลังประตูห้อง พร้อมที่จะมารับวิญญาณคนนี้ไป.  คนใกล้ตายที่เป็นคนตระหนี่คนนี้ ยังไม่วายที่จะยื่นมือออกไปจะรับถุงเงินทองที่มารตัวหนึ่งโผล่ออกจากใต้ม่านมาส่งให้ถึงเตียง.  คนตระหนี่ยังต้องการรวบรวมเงินทองแม้ในขณะจะสิ้นใจ.  เห็นได้ชัดว่า ความชั่วมีรูปลักษณ์ของสัตว์ ดูเหมือนเขียด ตัวเหมือนกิ้งกือ ที่แฝงตัวตามที่ต่างๆรอบๆเตียง ทั้งเหนือเพดานเตียง ใต้เตียง ในหีบสมบัติ ใต้หีบ ในจีบผ้าคลุมเป็นต้น.  พูดได้ว่ามารมายั่วยวนจนถึงนาทีสุดท้ายเพื่อจะดึงวิญญาณผู้ตายไปอยู่ฝ่ายความชั่ว.  คนตระหนี่มิได้เห็นแสงธรรมแสงแห่งความหวัง  ยังคงหลงใหลสมบัตินอกกาย.  บนพื้นหน้าข้างล่างของภาพ เห็นหมวกเหล็ก ดาบและหลาวกองอยู่ บอกให้รู้ว่า คนนี้เป็นอัศวิน มีเลือดผู้ดี ผ้าแพรมันเลื่อมที่พาดอยู่บนธรณีประตู รวมทั้งผ้าที่ใช้ทำม่านปิดรอบเสาเตียงก็ยืนยันว่าเป็นผู้มีอันจะกิน. เน้นให้เข้าใจว่าคนใกล้ตายคนนี้มีสมบัติและผูกพันกับทรัพย์สินเงินทอง. แต่ดวงตาดวงใจมิได้สนใจทางแห่งแสงสว่างที่เทวทูตชี้ให้.  หีบสมบัติปลายเตียงเปิดอ้าอยู่.  นักบวชคนหนึ่งปล่อยเหรียญเงินลงในหีบ.  มีมารตัวเล็กมารองรับไว้.  นักบวชคงมาทำพิธีล้างบาปให้แก่คนตระหนี่ก่อนตาย  แต่คงเห็นแล้วว่า ไปไม่รอดแน่คนนี้ ยังหลงยังอยากได้เงินทอง ทั้งๆที่เมื่อตายแล้วก็เอาติดตัวไปไม่ได้.  สังเกตเห็นว่านักบวชมีกุญแจห้อยข้างตัวเหมือนบอกว่าจะเป็นเจ้าของหีบนั้นแล้ว. แต่ในหีบก็มีมารคอยแอบยักยอกเงินทองของวัดไป.  จิตรกรดูเหมือนตั้งใจแนะทางแห่งแสงสว่าง, ให้ยึดกฎบัญญัติของพระเจ้าแทนการสนใจสะสมเงินทองบนโลกนี้.  ภาพนี้อยู่ที่ National Gallery of Art, Washington DC, USA.
      ในศิลปะปัจจุบัน ความตายยังคงเป็นเนื้อหาที่มิได้ลดความสำคัญลงหรือมีอิทธิพลน้อยลงในจิตสำนึกของคน. ศิลปินมีวิธีการนำเสนอแบบแปลกและใหม่ๆ ปลุกและกระตุ้นจินตนาการของคนดูได้มากเช่นกัน. ตัวอย่างผลงานของ คริสตีย็อง บอลตันสกี (Christian Boltanski, 1944- ศิลปินชาวฝรั่งเศส) ที่จัดแสดงในนิทรรศการ Monumenta 2010[19].  เขาตั้งชื่อนิทรรศการของเขาว่า คน-Personnes (อ่านว่า แปรฺซอน) บนพื้นห้องขนาดใหญ่ เขานำเสื้อผ้ามาวางแผ่เป็นบล็อกสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลายสิบบล็อกเรียงต่อๆกันไปตลอดความกว้างยาวของพื้นที่. มีช่องว่างระหว่างบล็อกให้เป็นทางเดิน. มีเสาตั้งเป็นสี่มุมของแต่ละบล็อก. วิธีการดังกล่าวเมื่อมองจากที่สูงในขณะที่สายตามองกวาดพื้นที่ จะเห็นว่าเหมือนการจัดที่ตั้งของหลุมศพภายในสุสานทั่วๆไป. ในมุมมองนี้เสื้อผ้าของคนที่แผ่อยู่บนพื้นเป็นสัญลักษณ์ของคนตาย. ไกลออกไปบนพื้นที่อีกมุมหนึ่ง มีเสื้อผ้ากองทับๆและซ้อนๆกันจนเป็นเนินสูง. มีปั้นจั่นตัวหนึ่งที่เคลื่อนขึ้นและลงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อมันลดต่ำลงปั้นจั่นเปิดอ้าและคว้าเสื้อผ้าจากเนินนั้น ติดปั้นจั่นขึ้นไปในอากาศ(ราว35 เมตรจากพื้น) แล้วปั้นจั่นเปิดอ้าออก เสื้อผ้าเหล่านั้น ตกลงบนเนินอีก. เป็นเช่นนี้ไม่หยุดหย่อน. ศิลปินใช้เสื้อผ้าเป็นสัญลักษณ์ของคน ส่วนปั้นจั่นนั้นคือภาพลักษณ์ของความตายที่จะจับคนไปจากโลกนี้. นิทรรศการ คน-Personnes ให้อีกมุมมองหนึ่งของชีวิตกับความตาย. 

8. อโปกาลิปส์ (Apocalypse)
เนื่องจากเคยนำหัวข้อนี้แยกไปลงในบล็อกแล้ว จึงไม่นำมากล่าวซ้ำตรงนี้
ผู้ที่ยังไม่เคยอ่าน อาจกลับไปอ่านและดูภาพที่เกี่ยวข้องได้ที่นี่ >>

9. การพิพากษาสุดท้าย (Le Jugement Dernier)
เนื่องจากได้นำหัวข้อนี้แยกไปต่างหาก ไปลงในบล็อกแล้ว จึงไม่นำมาลงซ้าตรงนี้
ผู้ที่ยังไม่เคยอ่าน กลับไปอ่านและดูภาพที่เกี่ยวข้องได้ที่นี่ >>


      ข้อมูลศิลปวัฒนธรรมที่เป็นภูมิหลังของปัญญาชนชาวตะวันตกที่กล่าวมาข้างต้น ได้เสนอภาพลักษณ์และปลูกจิตสำนึกเกี่ยวกับความตายไว้อย่างชัดเจนว่า การตายดีกับการตายชั่วนั้นต่างกันมากเพียงใดที่ผลักดันให้คนทำความดีละเว้นความชั่ว หรือกลับตัวกลับใจ. ศิลปวัฒนธรรมอาจกระตุ้นความกลัวตายของชาวยุโรปในยุคก่อนๆและทำให้ชาวยุโรปคุ้นเคยกับการเห็นโครงกระดูกหรือคนตาย จนถึงกับใช้โครงกระดูกมาเป็นสิ่งประดับในบริบทชีวิตประจำวันเพื่อเตือนใจ, เพื่อกระตุ้นให้ตรึกตรอง, หรือดลใจให้สร้างสรรค์งานศิลป์ ทั้งด้านวรรณกรรม, ดนตรี, ประติมากรรม หรือเพื่อการเรียนรู้สรีรศาสตร์ของคนเป็นต้น. ความกลัวตายได้ค่อยๆเบนไปสู่ความสนใจเกี่ยวกับความตายและการตายมากขึ้นๆ, ไปสู่การใฝ่รู้, ใฝ่ตรอง, หาปรัชญาและเจาะลึกไปถึงแก่นแท้ของชีวิต ในขณะเดียวกันก็ยังหล่อเลี้ยงความใฝ่ฝันที่จะมีชีวิตนิรันดร์ จะด้วยความเชื่อศรัทธาในศาสนา หรือด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถหยุดกาลเวลาและหยุดความเสื่อมโทรมเน่าเปื่อยของเซลล์ชีวิต. ในระหว่างการรอคอยความเป็นไปได้นี้ มนุษย์ยังต้องเตรียมใจรับความเป็นไปได้นั้นด้วย ที่จะพลิกความเคยชิน, ปรับจิตสำนึก, ท้าทายเหตุผลทุกชนิด และสังคมพร้อมจะโอบอุ้ม ความไม่รู้ตาย กับผลกระทบที่จะตามมากับความเป็นไปได้นั้นอย่างไร?

ความตายคืออะไรในโลกยุคใหม่ [20]
      ตั้งแต่ยุคเรอแนสซ็องส์และตามกระแสมนุษยนิยมที่แพร่ออกไปทั่วยุโรป ต่อด้วยกระแสการยึดเหตุผลเป็นฐานความรู้ในศตวรรษที่18(rationalism)  วิสัยทัศน์ที่เปลี่ยนไปและแตกต่างจากจุดยืนดั้งเดิมมากขึ้นๆ ทำให้คิดไปได้ว่า เกิดวิกฤติศรัทธาในหมู่ชาวคริสต์. การคิดอย่างเป็นกระบวนเป็นระบบตามแนววิทยาศาสตร์วิเคราะห์ ทำให้คนมองข้ามแก่นศาสนา, ศรัทธาความเชื่อคลอนแคลน. ศาสนามิได้เป็นแกนนำผูกสัมพันธภาพในชุมชน, มิได้มีอิทธิพลเหนือชีวิตประชาราษฎร์เหมือนในยุคก่อนๆแล้ว. อีกประการหนึ่งเมื่อคนคิดกันมากขึ้นๆ เกิดความสงสัย มีคำถามที่คอยคำตอบ ที่บางครั้งองค์การศาสนาก็มิอาจให้คำตอบที่สมเหตุสมผลตามตรรกะวิทยาของคนรุ่นใหม่. คำถามต่างๆเช่น ความตายคืออะไร, ชีวิตคืออะไร, คนมีร่างกายและวิญญาณแยกกันไหม, วิญญาณอยู่ที่ไหนในร่างกายคน, วิญญาณออกจากร่างอย่างไร, เมื่อใด, เมื่อร่างตายแล้ววิญญาณไปไหน, เมื่อใดวิญญาณจะถูกตัดสินเพื่อไปสู่สวรรค์หรือไปลงนรก, ระหว่างการรอคอยการพิพากษาสุดท้ายนี้ วิญญาณอยู่ที่ไหน, ทำอะไร เป็นต้น.  ความจริงแล้วคำถามเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้กับคนที่นับถือทุกศาสนามิใช่เฉพาะคริสต์ศาสนาเท่านั้น.
      คำถามหรือความสงสัยเกี่ยวกับวิญญาณมิได้เพิ่งอุบัติขึ้นในยุคใหม่  ตั้งแต่ยุคโบราณ ปราชญ์สมัยต่างๆได้ให้คำจำกัดความของคำนี้. เช่นวัฒนธรรมกรีกโบราณระบุว่า วิญญาณเป็นพลังขับเคลื่อนอวัยวะทั้งหลายในร่างกาย และเป็นมอเตอร์ที่สร้างเจตนา, ความตั้งใจ, ความต้องการ, กระบวนการรับรู้และกระบวนการหาเหตุผลของคน. บ้างบอกว่าในร่างกายมีวิญญาณผัก (vegetative soul) ที่มีหน้าที่เสนอและสนองอย่างอัตโนมัติต่อสิ่งที่ไปกระทบ. บ้างว่ามี วิญญาณสัมผัส (sensitive soul) ที่ไวต่อการรับรู้ และตอบโต้รับมือกับสิ่งที่มากระทบประสาทสัมผัส. หรือมี วิญญาณเหตุผล, วิญญาณสติ (reasoning soul) ที่รับผิดชอบในส่วนของการคิด, การสรุปและการสั่งสมความรู้อย่างมีเหตุมีผล อย่างมีต้นสายปลายเหตุ. คิดกันว่า วิญญาณเหตุผลหรือวิญญาณสติ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของคน เพราะเป็นฐานของความคิด การตัดสินและความรับผิดชอบในพฤติกรรมของคน. หากวิญญาณนี้จากไปหรือสิ้นสุดลง ชีวิตก็จบลง. 
      ส่วนวิญญาณอยู่ที่ไหนในร่างกายคนนั้น ปราชญ์และนักคิดในยุคต่างๆตรึกตรองกันมาเงียบๆอย่างต่อเนื่องและแนะให้คนคิดตาม. ในสมัยโบราณคนยังไม่รู้ชัดเจนว่าตับมีหน้าที่อะไร จึงคิดว่าตับเป็นที่ตั้งวิญญาณ. ต่อมาปราชญ์กรีกโบราณ(เช่นอริสโตเติล)คิดกันว่า วิญญาณอยู่ที่หัวใจ. เดส์การ์ต(René Descartes, 1596-1650 นักปราชญ์และนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศส)[21]คิดว่าวิญญาณอยู่ในโพรงช่องหนึ่งภายในต่อมใต้สมอง(pinal gland). บางคนว่าวิญญาณน่าจะเป็นอวัยวะหนึ่งของคนที่ซ่อนอยู่ในช่องโพรงหนึ่งภายในร่างกาย[22]. วิญญาณอยู่ที่ไหน ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันเรื่อยมาจนถึงศตวรรษที่สิบหก. หลังจากนั้นการศึกษาเรื่องวิญญาณถูกตัดออกจากขอบเขตของสรีระศาสตร์และค่อยๆเบนไปอยู่ในการศึกษาแขนงอื่นเช่นจิตวิทยาเป็นต้น[23]
      เดส์การ์ตเป็นคนแรกที่แยกร่างกายและวิญญาณออกเป็นสองส่วน แต่ย้ำว่าทั้งสองส่วนมีปฏิกิริยาที่ส่งผลกระทบต่อกันและกัน. เดส์การ์ตยังกำหนดบทบาทการรับรู้ของวิญญาณ. งานเขียนของเขาที่เกี่ยวกับความตายแสดงอย่างชัดเจนว่า วิญญาณของคนๆหนึ่งต้องมีจิตสำนึกที่คนนั้นสั่งสมมาตลอดชั่วชีวิตเขา เป็นองค์ประกอบสำคัญ เพราะจิตสำนึกนี้เป็นข้อพิสูจน์และยืนยันความจริงของการมีชีวิตใหม่ต่อจากชีวิตที่เขาเคยมีมาก่อนตาย. จิตสำนึกนี้ทำให้คนที่ฟื้นคืนชีวิตใหม่สามารถรับรู้ความสุขความทุกข์แบบต่างๆและเทียบกับประสบการณ์ในชีวิตปางก่อน. การรับรู้เรื่องวิญญาณคือการยอมรับว่าทั้งจิตสำนึกและวิญญาณเป็นสิ่งอรูปะ จึงพินิจพิจารณามันเชิงกายภาคไม่ได้ เช่นเดียวกับ ความไม่ตายที่ไม่มีรูปร่างตัวตน. หากยอมรับว่าสิ่งที่ไม่มีรูปไม่มีตัวตนเหมือนกันเท่านั้น จึงเข้าถึงซึ่งกันและกันได้, เราอาจเข้าใจดีขึ้นว่า การจะมีชีวิตนิรันดร์ต้องสลัดส่วนที่เป็นรูปเป็นร่างของส่วนที่เน่าเปื่อยได้ออกไปก่อน, เหลือเพียงส่วนที่ไม่มีรูป มื่อนั้นวิญญาณและจิตสำนึกก็อาจรวมเข้าไปในความไม่รู้ตายได้.[24] เดส์การ์ตยังได้กล่าวถึง อาการของคนหมดสติ ที่ไม่อาจเคลื่อนไหวได้ และวิญญาณออกจากร่าง.  สามร้อยกว่าปีต่อมาเท่านั้น ที่อาการเดียวกันนี้ถูกจำกัดความใหม่ว่า เป็นอาการโคม่าที่มิอาจกลับคืนสู่ปกติได้ (การแพทย์ใช้สำนวนว่า irreversible coma ในที่ประชุมของคณะกรรมาธิการ Harvard Committee, 1968).
      ต้นศตวรรษที่สิบแปด นักบวชชาวอังกฤษชื่อ สตีเฟน เฮลส์ (Stephen Hales, 1677-1761)[25] ผู้มีความสนใจเป็นพิเศษในวิทยาศาสตร์ ได้นำการทดลองเรื่องหนึ่งที่ลีโอนารโด ดา วินชี (Leonardo da Vinci, 1452-1519) เคยทำมาแล้ว. เฮลส์ทดลองใหม่อีกซ้ำๆกันหลายครั้งเพื่อความแน่ใจว่าผลเหมือนกันทุกครั้ง. เขาได้มัดคอกบตัวหนึ่งอย่างแน่นหนาด้วยผ้าพันแผล แล้วตัดหัวกบออก. หัวใจของกบยังคงเต้นต่อมาอีกชั่วระยะเวลาหนึ่ง (ซึ่งเป็นปฏิกิริยาปกติที่เกิดขึ้นเมื่อสมองตาย). สามสิบชั่วโมงต่อมา แขนขาของกบยังคงมีปฏิกิริยาเมื่อถูกจี้. การเคลื่อนไหวของกบหยุดอย่างสิ้นเชิงเมื่อระบบประสาทส่วนกลางของกระดูกสันหลังถูกทำลายเท่านั้น. ปฏิกิริยาตอบโต้ในระดับของไขสันหลังในตอนนั้น ยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างถ่องแท้ คนได้แต่อธิบายว่า การถูกกระทบกระแทก(เช่นการไปจี้ตัวกบ) ไปกระตุ้นระบบความรู้สึก และเพราะยังมีความรู้สึกจึงเท่ากับว่าวิญญาณยังคงอยู่. วิญญาณไขสันหลัง นี้ได้กลายเป็นเรื่องที่ถกเถียงโต้แย้งกันมาก. ทำนองเดียวกันในศตวรรษที่19 คนที่ถูกตัดคอบนกีโยตีน(guillotine) ยังอาจมีหัวเข่ากระตุกได้อีกและอาจนานถึงยี่สิบนาทีหลังจากที่ถูกตัดหัวออกแล้ว. ในปัจจุบันเรารู้กันแล้วว่า ปฏิกิริยาหรือการเคลื่อนไหวตอบโต้สิ่งที่มากระตุ้นระบบประสาทของไขสันหลังนั้น อาจเกิดขึ้นได้แม้ว่าสมองจะตายแล้ว.   
      ตั้งแต่ครึ่งหลังของศตวรรษที่20 ความตายกลายเป็นเนื้อหาที่คนสนใจกันเป็นพิเศษ.  ความตายได้กลายเป็นแกนกลางของการศึกษาวิจัยทุกแขนง. เป็นหนึ่งในข่าวประจำบนหน้าหนังสือพิมพ์ที่ป้อนความอยากรู้อยากเห็น: ใครตาย, เพราะอะไร, อย่างไร, เมื่อไรเป็นต้น. สื่อเสนอข้อมูลอย่างละเอียดลออทั้งภาพทั้งรายงาน, โทรทัศน์ยังตามไปสัมภาษณ์ญาติของผู้ตาย แม้กระทั่งผู้ใกล้ตายก็ไม่เว้น. ความตายได้กลายเป็นเนื้อหายอดนิยมของสื่อแบบต่างๆ. ภาพยนตร์เสนอฆาตรกรรมแบบต่างๆ ให้รายละเอียดทุกมุมมอง, สร้างและฝึกความละเอียดในการแก้ปัญหา ในขณะเดียวกันก็อาจกระตุ้นความอยากทดลองฆาตรกรรมวิธีใหม่ๆ. หนังสงครามและหนังอาชญากรรมแก้แค้นแบบต่างๆ ที่สรรเสริญชัยชนะและเทคนิคการต่อสู้โดยปริยายยกระดับการฆ่าขึ้นเป็นวีรกรรม. สงครามทั้งในจอและนอกจอ ความตายและความทุกข์ของมวลชนในชีวิตประจำวันของชนหลายชาติในมุมต่างๆของโลก ทำให้นึกถึงการตายแบบต่างๆในอาโปกาลิปส์. คนได้ยินได้เห็นจนกลายเป็นเรื่องธรรมดาๆที่ดูเหมือนไม่ทำให้ใจหดหู่อีกต่อไปแล้ว. วรรณกรรมผีก็พัฒนาขึ้น และโดยเฉพาะนำมาทำเป็นภาพยนตร์ออกสู่ตลาดและติดตลาดนานมากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว. ดูเหมือนว่าความนิยมมิได้ลดลงเลย. จิตสำนึกของคนแข็งกระด้างถึงเพียงนั้นแล้วหรือ?  ภาพลักษณ์ของความตาย ค่อยๆเปลี่ยนจากร่างโครงกระดูก สู่ร่างของปีศาจหน้าตาน่าเกลียดน่ากลัว กึ่งสัตว์กึ่งยักษ์ที่สูงใหญ่ล่ำสันและโมโหร้าย แล้วมาเป็นร่างแบบหุ่นยนตร์ที่ซับซ้อนมากขึ้นๆ.    
      แม้ว่ามนุษย์ยังคงมีโลภรักโกรธหลงและพร้อมที่จะทรยศหักหลังคนที่ขัดผลประโยชน์ของเขา, มนุษยชาติไร้ สติ ถึงเพียงนั้นแล้วหรือ? สติปัญญาและความรู้สึกของคนจริงๆนั้นไม่มีคุณค่าเลยหรือ? มีทางออกอื่นไหม? นวนิยายวิทยาศาสตร์เสนอปัญหาของยุคใหม่ที่ความเป็นตัวตนของเอกบุคคลตายไปแล้วและเข้าสู่ระบบกลไกอีเล็กทรอนิกอย่างถอนตัวไม่ขึ้น. กล่าวได้ว่าตั้งแต่ครึ่งหลังของศตวรรษที่ยี่สิบเป็นต้นมา มนุษย์ชาชินกับเรื่องตายและสนุกกับเรื่องผีหรืออมุษย์แบบต่างๆ. อีกทั้งยังแนะให้คิดว่า คนได้ใช้รูปลักษณ์ของความตาย(โครงกระดูก) เป็นเครื่องอำพรางก่ออาชญากรรม และได้เพิ่มนัยของความโหดร้าย, ความเลวแบบต่างๆเข้าไปในความคิดเรื่องความตาย จนเกือบจะเป็นสมการไปแล้วว่า ความตายคือความชั่วแบบต่างๆ ซึ่งหากพิจารณาความคิดเรื่องความตายที่สืบทอดมาแต่โบราณนั้น ความตายมาคร่าชีวิตตามวาระ ทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์และกระทำต่อทุกคนอย่างเสมอภาคกัน. ความตายไม่ใช่ความชั่ว เป็นคนละเรื่องกัน. ความชั่วของคน คนก่อขึ้นเองมิใช่หรือ ที่ได้เข้าสิงในภาพลักษณ์ของความตายและสร้างความหวาดหวั่นสยองขวัญแนวใหม่แก่คนในยุคปัจจุบัน. หัวกะโหลกปรากฏเป็นแบบประดับแบบหนึ่งที่หลายคนชื่นชอบ, เป็นภาพประดับบนเสื้อผ้า, เป็นพวงกุญแจหรือสร้อยคอ, เป็นโปสเตอร์ปิดฝาผนัง เป็นต้น. มรณานุสตินั้นพัฒนาตามไปด้วยหรือไม่ ยังต้องคอยดูกันต่อไป. 
      ชีวิตอันสับสนในสังคมปัจจุบันได้กระตุ้นจินตนาการของนักประพันธ์ ที่เสนอเนื้อหาของความล้มเหลวที่แฝงอยู่หลังความเจริญตระการตาและเจิดจ้าด้วยแสงไฟ. เป็นเนื้อหาของความเศร้าสลดระเหี่ยใจจากมุมมองต่างๆ.  เนื้อหาส่วนใหญ่มักนำไปสู่ความตายในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง. มีเรื่องที่กระตุ้นสังคมให้หยุดคิด, ให้เห็นว่ายังมีทางออก, มีความหวังอยู่บ้าง หรือเสนอจุดจบที่มืดแปดด้าน เป็นความสิ้นหวังหมดทางออก.  
      ปัญหาวิกฤติในสังคมปัจจุบันที่ยังคาใจแพทย์, นักกฎหมายและนักเทววิทยา ทำให้เกิดความจำเป็นในการให้คำจำกัดความความตาย ที่ต้องสอดคล้องกับความจริงและอุดมการณ์ทางการแพทย์, ความถูกต้องทางกฎหมายและต้องไม่ขัดแย้งกับลัทธิความเชื่อหรือศีลธรรมศาสนาเป็นต้น. แต่คำจำกัดความของความตายย่อมเปลี่ยนแปลงและแตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม แต่ละยุคสมัยและมีขอบเขตต่างกันในข้อกำหนดกฎหมายของแต่ละชนชาติด้วย จึงเป็นสิ่งท้าทายปัญญาชนรุ่นปัจจุบัน. ณ เวลานี้การใช้ประเด็น ความตายของสมอง ยังคงเป็นมาตรการสุดท้ายเมื่อต้องกำหนดชัดเจนว่า คนหนึ่งตายแล้วหรือยัง.  
      การแพทย์ ศาสนา(ศีลธรรม)และกฎหมาย ยังคงถกเถียงกันอยู่เกี่ยวกับกรณีที่ผู้ป่วยหนักที่แพทย์หรือเทคโนโลยีใดช่วยไม่ได้แล้ว และครอบครัวหรือญาติสนิท(อาจรวมทั้งผู้ป่วยเองด้วย) ต้องการยุติชีวิตผักนั้น(euthanasia). เกือบทุกประเทศถือว่าการกระทำนี้ผิดกฎหมายและผู้ที่เข้าไปมีส่วนในการช่วยให้ตาย จักได้รับโทษอาญาตามกฎหมาย. หรือกรณีที่ผู้ชราขอสิทธิ์ตายตามกำหนดเวลาที่เขาเลือก ด้วยวิธีที่เขาเลือกและในสภาพแวดล้อมที่เขาเลือก ด้วยการขอความร่วมมือหรือความช่วยเหลือจากแพทย์หรือจากคนอื่น(assisted suicide) แทนการทำร้ายตัวเองอย่างทรมานตามลำพัง เช่นกินยาพิษหรือยานอนหลับจำนวนมาก, แขวนคอตาย, ยิงตัวตายเป็นต้น. กรณีเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า จิตสำนึกเกี่ยวกับความตายของชาวตะวันตกได้พัฒนาควบคู่ไปกับจิตสำนึกเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน. คนกระทู้ถามสังคมว่า ในที่สุดเอกบุคคลมีสิทธิ์เหนือชีวิตของเขาเองหรือไม่? ทำไมคนอื่น อีกหลายฝ่ายที่ผู้อยากตายมิเคยรู้จักคุ้นเคย ต้องเข้าไปยุ่งกับความตายส่วนตัวของเขา?  ทำไมในเมื่อแต่ละคนต้องรับผิดชอบต่อชีวิตตนทั้งในด้านการหาเลี้ยงชีพและในด้านจริยธรรม แต่ขอตายตามกำหนดเวลาที่เขาต้องการ, ขอตายด้วยจิตสำนึกที่แจ่มกระจ่าง, ด้วยการยอมรับความตายอย่างสงบ. ทำไมการขอตายอย่างสวยงามอย่างมีศักดิ์ศรีนั้น เขากลับไม่มีสิทธิ์? สิทธิของการอยู่น่าจะควบคู่ไปกับสิทธิของการตายหรือไม่?
      สวิตเซอแลนด์ดูเหมือนจะเป็นประเทศเดียวที่มีองค์การเฉพาะเพื่อช่วยเหลือการฆ่าตัวตาย แบบนี้ และได้รณรงค์อย่างต่อเนื่องในประเทศเพื่อกระตุ้นประชาพิจารณ์และในที่สุดนำไปสู่การทำประชามติ. ผลคือชาวสวิสฯเกือบทั้งหมดเห็นว่า ควรจะเป็นเรื่องที่กฎหมายต้องยอมรับและบัญญัติข้อบทกฎหมายอย่างเฉพาะเจาะจงพร้อมเงื่อนไขอย่างละเอียดเพื่อมิให้มีทางรั่วใดๆที่เปิดช่องทางที่นำไปสู่การก่ออาชญากรรมเพื่อผลประโยชน์จากผู้ตายเป็นต้น. ชาวสวิสฯส่วนน้อยที่ไม่เห็นด้วยนั้น มาจากอุดมการณ์ด้านศาสนา, มาจากศีลธรรมส่วนตัวของพวกเขาเป็นสำคัญ. ในที่สุดประเทศสวิสเซอแลนด์ได้บัญญัติกฎหมายออกมาแล้ว(มิถุนายน 2012) พร้อมรายละเอียดและเงื่อนไขทุกแง่ทุกมุม. กฎหมายนี้บังคับใช้ในโรงพยาบาล คลินิกและองค์การเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้น. กระบวนการช่วยผู้ตายแนวนี้ อาจทำได้ในโรงพยาบาล, คลินิกหรือในบ้านพักส่วนตัวของผู้ป่วย. ประเทศสวิสฯยังเป็นประเทศเดียวที่องค์การบางแห่งเปิดรับผู้สมัครเข้ารับบริการช่วยเหลือในการฆ่าตัวตาย(ใต้เงื่อนไขบางประการ) จากต่างประเทศ[26]
      ในอีกด้านหนึ่ง กระบวนการแช่(ศพ)แข็งในไนโตรเย็นเหลว (cryonics) ได้เพิ่มอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการเก็บรักษาผู้ตายผู้ยังอยากอยู่และยังมีความหวังว่าวันหนึ่งในอนาคต อัจฉริยะของคนจักเสนอเทคโนโลยีการเยียวยารักษาที่ทำให้ร่างกายเขากลับฟื้นมีชีวิตขึ้นใหม่[27]  ส่วนเทคโนโลยีอวกาศ ก็ได้เสนอทางเลือกสำหรับผู้ตายไว้เช่นกัน คือ เสนอบริการนำอังคารของผู้ตายไปโปรยในอวกาศ. ปัญหาเรื่องผลประโยชน์เชิงธุรกิจการค้า ได้เข้าไปมีบทบาทกับการตายของเอกบุคคลในห้องของผู้ตาย. กฎหมายได้เข้าไปควบคุมคนป่วยหนักใกล้ตายถึงในห้องไอซียู และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของแพทย์ผู้รักษาคนป่วยหนัก ว่าจะหยุดการอภิบาลคนป่วยหรือจะยืดชีวิตคนป่วย. มีผู้กล่าวว่า ในโลกทุกวันนี้ สิ่งเดียวที่แน่นอนและชัดเจนว่าคนหนึ่งตายไป แล้ว คือการที่คนนั้นไม่สามารถฟ้องร้องหรือดำเนินคดีกับใครได้อีกต่อไป.
      ปัจจุบันความตายกลายเป็นธุรกิจทำเงินแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งจากการปฏิวัติเทคโนโลยีและจากวิสัยทัศน์และทีท่าของคนสมัยใหม่ต่อความตาย. เดี๋ยวนี้มีอุตสาหกรรมความตาย[28] ที่รวมเครือข่ายการบริการทุกระดับ ตั้งแต่นาทีที่คนสิ้นใจไปจนถึงการจัดทำหลุมศพ, การจัดขบวนแห่ศพ, พิธีศพและพิธีรำลึกถึงผู้ตายในวาระต่างๆ ตั้งแต่การจัดการกับร่างผู้ตาย(แต่งหน้า แต่งตัว การอบร่างผู้ตายด้วยเครื่องหอม), การจัดหาดอกไม้ บางทียังรวมถึงการจัดเครื่องแต่งกายของญาติผู้ตาย, การจัดสถานที่ตั้งวางศพก่อนการฝังศพเป็นต้น. ในสหรัฐอเมริกา ยังมีสุสานแบบดร๊ายว์อิน(drive-in) ที่ญาติผู้ตายขับรถนำศพผู้ตายเข้าไปในสุสานแบบนั้น และใช้บริการที่มีพร้อมให้ได้ทันที สำหรับคนยุคปัจจุบันผู้ยุ่งมากผู้จำเป็นต้องประนีประนอมการอุทิศเวลาแก่ผู้จากไปกับการบริหารธุรกิจของเขาที่ทุกนาทีคือเงินหรือทองที่เขาจะได้หรือเสียไปเป็นต้น.
      นักจิตวิทยาชาวอังกฤษชื่อเอลิซาเบธ กู-บลา-รอส(Elisabeth Kübler-Ross, 1926-2004)[29] ได้แจกแจงระดับและขั้นตอนในจิตวิทยาของคนที่รู้ว่าความตายกำลังจะมาถึงเขา ว่าเริ่มด้วยการปฏิเสธหรือการไม่ยอมรับ, ต่อมาเป็นความโกรธ, ตามด้วยความฮึดสู้ด้วยการหาทางช่วยให้ตนตายช้าลง, พยายามยืดชีวิตต่อไปอีกเหมือนกำลังต่อลองกับความตาย, หลังจากนั้นจิตใจเริ่มเตรียมรับความเสียใจที่ต้องตาย และในที่สุดถึงขั้นสุดท้ายคือการยอมจำนนต่อชะตาชีวิต. เธอได้เขียนจากประสบการณ์ในชีวิตเมื่อเป็นพยาบาลอาสาสมัครในสงครามโลกครั้งที่สองและในบริบทของสังคมอเมริกันเป็นหลัก.  กล่าวโดยรวมสำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว ลำดับขั้นตอนในปฏิกิริยาตอบโต้กับความตาย อาจมิได้เป็นไปตามขั้นตอนเหมือนกันเลยทีเดียว แต่ละคนอาจใช้เวลามากน้อยในแต่ละขั้นต่างกัน, การข้ามจากขั้นหนึ่งสู่อีกขั้นหนึ่ง, หรือบางคนอาจกระโดดจากขั้นต้นไปขั้นสุดท้าย. เป็นกระบวนการจิตวิทยาส่วนตัวของแต่ละคน ซึ่งมีส่วนขึ้นอยู่กับความพร้อมหรือวุฒิภาวะของจิตสำนึกของแต่ละคนด้วย. ผลงานของเธอกระตุ้นให้คนหันไปพินิจพิเคราะห์มิติของความเศร้า ที่อาจช่วยให้เราเข้าใจปฏิกิริยาด้านอารมณ์ความรู้สึกของเราเองหรือของคนอื่นเมื่อตกอยู่ในภาวะเขย่าขวัญของการต้องตายและกำลังจะตาย.
      กลับมาสู่มุมมองของคริสต์ศาสนา เราเข้าใจได้ไม่ยากว่าเนื้อหาในคัมภีร์ ลัทธิและประเพณีที่กำหนดมาเมื่อสองพันปีก่อนหรือแม้เมื่อสองร้อยปีก่อน ย่อมไม่อาจครอบคลุมสภาพแวดล้อม บริบทสังคม, ความซับซ้อนของกฎหมายหรืออุปนิสัยทีท่าของคนในยุคปัจจุบันได้สนิท. ตั้งแต่ปลายยุคกลางมีการเพิ่มภาพลักษณ์ใหม่ๆเข้าในระบบสัญลักษณ์ศาสนา เพื่อเชื่อมหรืออุดช่องห่างระหว่างเนื้อหาต่างๆในส่วนลึก. องค์การศาสนาเองก็พัฒนาวิธีการเทศน์สั่งสอน, กระบวนการเผยแพร่ลัทธิ(ทั้งหมดหรือบทใดตอนใด)และการเข้าถึงจิตวิญญาณของคนในแนวใหม่ รวมทั้งเปลี่ยนทีท่าของนักบวช. คริสต์จักรยังต้องตระหนักถึงการไม่เข้าไปก้าวก่ายหรือประณามศาสนาอื่นใด. ในโลกปัจจุบันที่มีแต่ความรุนแรง คริสต์ศาสนาต้องร่วมมือกับศาสนาสำคัญๆอื่นๆเพื่อนำสันติภาพมาสู่ชาวโลก. นี่ดูเหมือนจะเป็นพันธกิจที่สำคัญที่สุดในโลกปัจจุบัน. ทุกศาสนาต้องร่วมกันอย่างแข็งขัน มิให้ศาสนาตกเป็นเครื่องมือของการเมืองหรือเป็นข้ออ้างสำหรับการรุกรานฆ่าทำลายล้างคนและศาสนสถานอื่นๆ. ด้วยวิธีการอันชาญฉลาดคริสต์ศาสนายังคงมีบทบาทสำคัญอย่างต่อเนื่องในโลกตะวันตกและโดยเฉพาะในทวีปอเมริกาและในยุโรป[30] ที่น่าคิดคือ ในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดที่มีเทคโนโลยีเจริญสูงสุด, อิทธิพลของความเจริญหรืออำนาจของเทคโนโลยี กลับมิได้เอื้ออำนวยความสงบสุขอย่างทั่วถ้วนหน้าแก่ประชาชน, มิได้ดับไฟแห่งศรัทธาให้สิ้นเชื้อลงไปได้. อีกหลายร้อยล้านคนยังไม่เห็นหรือไม่รู้สึกว่า เขามีความสำเร็จหรือมีความสุขจริงๆในชีวิต. โลกียวัตถุจึงยังมิอาจนำความสงบสุขอย่างยั่งยืนแก่คน. ในส่วนลึกของจิตวิทยามนุษย์ ศาสนาอาจเป็นแสงสว่างลำสุดท้าย, เป็นความหวังสุดท้ายของความสุข. บางทีพลังจากศรัทธาเท่านั้นที่อาจช่วยให้คน(รวยหรือจน)อยู่ดีและตายดี.
      คนได้อาศัยความตายมาเป็นเครื่องมือในการสร้างระบบศีลธรรมจริยธรรม, พัฒนาวัฒนธรรมและสร้างระบบสังคมที่ยุติธรรมมากขึ้น ที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขมาตั้งแต่โบราณกาล. ความตายเคยเป็นสิ่งเตือนใจและเป็นบทเรียนสำหรับผู้ที่อยากมีชีวิตที่ดีและมีความสุข. แต่สภาพสังคมปัจจุบันกลับทำให้เข้าใจว่า ความตายกลายเป็นเรื่องเล็กเรื่องธรรมดาสามัญที่เกิดขึ้นประจำวัน. คนจำนวนหลายร้อยล้านคนรับรู้ความตายหรือความทุกข์ของคนอื่นเหมือนกำลังดูหนัง ไกลความจริงในชีวิตประจำวันของพวกเขา. ความตายดูเหมือนจะสิ้นพลังกระตุ้นให้คนรักความดีละเว้นความชั่ว แต่กลับผลักดันให้คนฉวยโอกาสจากนาทีปัจจุบันเพื่อหาเงินหาความสุขให้มากที่สุดจะด้วยวิธีใดก็ตาม.

บรรณานุกรมข้อมูล
เว็บไซต์ต่อไปนี้ ให้ข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกับเนื้อหาของบทความนี้. บ้างพร้อมภาพประกอบที่น่าสนใจ เป็นประโยชน์แก่การค้นคว้าต่อไป
www.arthistoryclub.com ให้ข้อมูลเกี่ยวกับศิลปะแขนงต่างๆรวมทั้งที่เกี่ยวกับความตายและการฌาปนกิจในสหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่นและในอาณาจักรโรมัน.
www.catacombes-de-paris.fr  เป็นเว็บไซต์ทางการของเทศบาลนครปารีส ที่เกี่ยวข้องกับสุสานใต้ดินโดยเฉพาะ.
www.cryonics.org สถาบันวิจัยเพื่อการเก็บรักษาร่างที่ไร้ชีวิตด้วยการแช่แข็งเพื่อกระตุ้นให้ฟื้นคืนชีวิตในอนาคต. ข้อมูลต่างๆ.
www.dignitas.ch หรือ www.exit-geneve.ch  องค์การสวิสเซอแลนด์ที่ช่วยให้ผู้ป่วยหนัก ตายอย่างสงบตามที่ผู้ป่วยต้องการ.
www.ekrfoundation.org เกี่ยวกับงานวิจัยของ Elisabeth Kübler-Ross
www.encyclopedia.com หัวข้อต่างๆที่เกี่ยวกับความตาย รวมทั้งนักเขียนเช่น
Philippe Ariès หรือ René Descartes เป็นต้น.
www.pere-lachaise.com ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสุสานแปร์ลาแช้ส  ที่ตั้งของหลุมศพบุคคลสำคัญๆทั้งหมด.
www.revolution-obseques.fr เป็นเว็บไซต์ทางการที่ให้ข้อมูลรายละเอียดทุกขั้นตอนของการฌาปนกิจ.
www.rwi.uzh.ch  กฎหมายว่าด้วยการช่วยผู้ป่วยหนักให้ตายอย่างสงบ (assisted suicide).
Ariès, Philippe. L’Homme devant la mort. Paris : Seuil. 1977.
Ariès, Philippe & Patricia Ranum. Western Attitudes towards Death : From the Middle  Ages to the Present. The John Hopkins Symposia in Comparative History. Kindle Edition. 1975.
Krammer, Kenneth Paul. The Sacred Art of Dying. New Jersey : Paulist Press. 1988.
Moiroux, Jules. Le cimetière du Père-Lachaise. Guide illustré. 1908.
Stannard, David E. The Puritan Way of Death. Oxford University Press, 1979.

โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ รวบรวมนำเสนอ เป็นมรณานุสติอีกแนวหนึ่ง
เขียนไว้เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๕.


[1] ฟิลิป อารีแอซ (Philippe Ariès, 1914-1984) นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส. อารีแอซเห็นความสำคัญของวัยเด็ก เขาวิเคราะห์วัยเด็กในฐานะที่เป็นโครงสร้างสังคมแบบหนึ่ง มิใช่เป็นเพียงผลผลิตของปฏิกิริยาชีวภาค.  อารีแอซ จึงเป็นผู้วางรากฐานการศึกษาประวัติศาสตร์ของวัยเด็ก และยกขึ้นเป็นวิชาศึกษาแขนงหนึ่ง (งานประพันธ์ของเขาเรื่อง L’Enfant et la vie familiale, 1960 ที่แปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อว่า Centuries of Childhood, 1962).  ในงานวิจัยเรื่องประวัติทีท่าของคนเบื้องหน้าความตายกับการตาย  เขาได้ยกความตายขึ้นเป็นโครงสร้างสังคมแบบหนึ่งเช่นกัน (งานประพันธ์เรื่อง Essais sur l’histoire de la mort en Occident du Moyen Age à nos jours, 1975 ที่แปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อว่า  Western Attitudes Toward Death: From the Middle Ages to the Present) หนังสือสำคัญเล่มสุดท้ายของเขาเรื่อง คนเบื้องหน้าความตาย (L’homme devant la mort, 1977 และแปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ The Hour of Our Death ,1991) น่าสนใจที่ผลงานส่วนใหญ่ของอารีแอซแพร่หลายในประเทศอังกฤษมากกว่าในฝรั่งเศส.  อารีแอซได้เขียนหนังสือและบทความจำนวนมาก และเป็นที่จดจำและอ้างอิงถึงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ วัยเด็ก และ ความตาย  เขามองว่า ความตายเป็นหนึ่งในเสาหลักของสังคมที่มีผลกระทบต่อสังคมทุกด้านเป็นต้น อ่านรายละเอียดได้ที่ www.encyclopedia.com
[2] จากข้อความในภาษาละตินที่ว่า  Quod fuimus; quod sumus, vos eritis. แปลว่า What we were, you are; what we are, you will be. ชีวิตเจ้าขณะนี้ คือชีวิตที่เราเคยมี และสภาพที่เราเป็นในขณะนี้ คือสภาพที่เจ้าจะเป็นในอนาคต  (เพราะฉะนั้น อย่าได้ประมาท หรือหยิ่งผยองกับปัจจุบันนักเลย )
[3] เขาเป็นกวีผู้เดินทางขับร้องบทกวีของเขา. ใช้ภาษา “ออยล์-langue d’oïl”ที่เป็นภาษาถิ่นในภาคเหนือของฝรั่งเศส  มีผู้รวบรวมบทกวีของเขาได้ 24 เรื่อง แต่งเป็นบทกลอนแปดพยางค์ เนื้อหาเกี่ยวกับศีลธรรม, ศาสนา, นิทานอุปมาอุปมัย, เรื่องราวของอัศวินและหน้าที่ของอัศวิน.  หนึ่งในบทกวีคือเรื่อง การพบปะระหว่างคนเป็นสามคนและคนตายสามคน ที่ประกอบด้วยกลอน 164 บาท.
[4] หนังสือสวดเล่ม Psautier de Bonne de Luxembourg เป็นผลงานประพันธ์ของ Jean Le Noir ชาวฝรั่งเศส. เขายังได้ประดับหน้าหนังสือสวดด้วยภาพจิตรกรรมน้อยฝีมือของเขาเอง.  เล่มนี้เขาเนรมิตขึ้นในระหว่างปี 1348-49 ตอนนั้นกาฬโรคกำลังระบาดในยุโรป  ความตายจึงเป็นเนื้อหาเด่นของหนังสือเล่มนี้. ผลงานของเขาเลื่องลือไปไกลในช่วงปี 1335-1380.
[5] หนังสือสวดมนตร์แบบนี้เรียกกันว่า  livre d’heures ในภาษาฝรั่งเศส หรือ book of hours ในภาษาอังกฤษ.
[6] Dance of Death ในภาษาอังกฤษ,  To(d)tentanz  ในภาษาเยอรมัน หรือ La Danza generale de la Muerte ในภาษาสเปนเป็นต้น. โบ๊ดแลร์ (Baudelaire, 1821-1867) กวีชาวฝรั่งเศสก็ได้แต่งกวีนิพนธ์เนื้อหาและชื่อเดียวกัน แต่ไม่มีบทสนทนาระหว่างคนเป็นกับคนตาย.  ฟร้านซฺ ลิสตส์ (Franz Listz, 1811-1886) ก็ได้ประพันธ์ดนตรีนามว่า Totendanz[โท้นฺทั้นสฺ] เนื้อหาเดียวกันในปี 1849 และในปี 1886 นักเปียโนและคีย์บอร์ดชาวฝรั่งเศสชื่อ กามีล แซ็ง-ซ็อง(Camille Saint-Saëns, 1835-1921) ก็ได้ประพันธ์ดนตรีซิมโฟนีในชื่อเดียวกันนี้เป็นต้น.
[7] กลุ่มบาทหลวงขอทานที่นักบุญฟรานซิสแห่งเมืองอัสซีสิ (Francesco di Assisi) เป็นผู้ก่อตั้งขึ้นในศตวรรษที่ 13.
[8] ละครเรื่องนี้เคยแสดงภายในบริเวณวัดอีโนซ็องส์ (chapelle et cimetière des Innocents) ที่ปารีส. วัดที่นั่นยังมีภาพเฟรสโก้เรื่องนี้ประดับกำแพง(ตั้งแต่ปี 1424) แต่ปัจจุบันวัดและสุสานที่นั่นถูกรื้อถอนและปราบพื้นที่เสียสิ้นแล้ว. เชื่อกันว่าเนื้อหาของเรื่องนี้ มาจากคัมภีร์เล่ม Maccabees [แมคคะบีซ] ที่เล่าประวัติการสถาปนารัฐอิสระจูดา และเรื่องของชาวยิวที่ถูกกดขี่ข่มเหง, ถูกบังคับให้กระทำในสิ่งที่ขัดกับความเชื่อของชาวยิว เช่นเรื่องของนักบวชผู้สอนศาสนาชาวยิว (Eleazar ใน 2 Maccabees 6:18) ผู้ถูกบังคับให้กินเนื้อหมู แต่เขาคายทิ้งทุกครั้ง ในที่สุดจึงถูกเฆี่ยนโบยจนตาย.  และเรื่องของแม่กับลูกชายเจ็ดคนที่ยืนยันไม่ยอมกินเนื้อหมูแม้จะถูกบังคับทรมานจนสิ้นชีวิตไปทั้งครอบครัว (2Maccabees 6:18-7:42)  ก่อนตายแต่ละคนเอ่ยวาจายืนยันความเชื่อในพระเจ้าและไม่หวั่นไหวกับความตายที่รออยู่ตรงหน้า.  เรื่องเล่าทั้งสองในคัมภีร์ได้จับจินตนาการของชาวคริสต์ในยุคกลาง และบาทหลวงในยุคนั้นก็นำไปเทศน์ในวัด. คัมภีร์เล่มนี้จึงเป็นต้นแบบของการยอมตายโดยไม่ยอมทำสิ่งที่ขัดกับความเชื่อของตน(martyrdom) และอาจเป็นที่มาของคำว่า macabre ที่ใช้ในชื่อ Danse macabre - เริงระบำกับความตาย. แต่นักวิจัยบางคนกลับอ้างว่า คำ macabre มาจากคำอาหรับ makabir หรือ maqabir ที่แปลว่า หลุมศพ หรือ สุสาน.  เรื่อง เริงระบำกับความตาย  จึงอาจมาจากวัฒนธรรมอาหรับ.  ในที่สุดต้นกำเนิดของเรื่องนี้จึงยังไม่ชัดเจน.
[9] เชื่อกันว่าเป็นผลงานของ Francesco Traini [ฟรันเชสโก ตรัยนี] หรือ Buonamico Buffalmacco [บูโอนามิโก บุฟฟัลมักโก]  เนรมิตขึ้นในราวปี 1365.
[10] เขาได้แรงบันดาลใจจากงานเขียนของกวีไฮนริช ไฮนเน (Heinrich Heine, 1797-1856 ชาวเยอรมัน) ผู้เล่าถึงการระบาดของเชื้อโรคที่เกิดขึ้นในระหว่างเทศกาลฉลองคาร์นิวัลที่ปารีสปี 1832.
[11] จารึกฉบับยาว มีชื่อดั้งเดิมว่า Tractatus artis bene moriendi  นักบวชชาวโดมินิแกนคนหนึ่งเขียนขึ้นในปี 1415  ตามคำขอร้องของสภานักบวช (Concile de Constance) ที่มีขึ้นในเยอรมนีระหว่างปี 1414-1418. จารึกนี้แพร่หลายออกไปในเกือบทุกประเทศในยุโรปตะวันตกและเป็นที่นิยมกันมาก โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษ ได้กลายเป็นขนบวรรณกรรมที่รรลุจุดสูงสุดในศตวรรษที่สิบเจ็ด และทำให้เกิดหนังสือคู่กันสองเล่ม เล่มหนึ่งคือ การใช้ชีวิตในบุญกุศล (Holy Living) และอีกเล่มหนึ่งคือ การตายเยี่ยงนักบุญ (Holy Dying). ส่วนจารึกฉบับสั้นแม้จะเป็นที่นิยมกันมากกว่าฉบับยาว(โดยเฉพาะในประเทศเนเธอแลนด์) แต่ก็ไม่มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ.
[12] สำนวนนี้สืบย้อนไปได้ถึงต้นคริสตกาล ดังปรากฏจารึกไว้ในงานเรื่อง Apologeticus  ของ Tertullian (c.160-c.225 AD.). ในยุคโรมันคนใช้สำนวนนี้เตือนสตินายพลโรมันผู้รบศึกมีชัยชนะ ขยายดินแดนและกลับจากสงคราม  เดินพาเหรดโชว์ตัวผ่านไปตามถนน มีทาสคนหนึ่งเดินตามอยู่ข้างหลัง เหมือนคอยเตือนใจนายพลคนนั้นว่า แม้เขาได้บรรลุจุดสุดยอดของชีวิตในวันนั้น วันรุ่งขึ้นเขาอาจล้มตายหรือถูกสยบได้.  ทาสเป็นสัญลักษณ์ทำหน้าที่บอกนายพลผู้ทรงอำนาจว่า วันหนึ่งเขาก็จะตาย.   
[13] สำนวนเต็มว่า  Nunc est bibendum, nunc pede libero pulsanda tellus ที่แปลได้ว่า นี่เป็นเวลาดื่ม นี่เป็นเวลาเริงระบำได้อย่างลิงโลดใจ.  เป็นสำนวนจากกวีนิพนธ์ของอ๊อราซ เรื่องโอ๊ดส์ (Horace, 52-8 BC., Les Odes  book I, ode xxxvii, line 1-2)  ที่เตือนให้คนหาความสุขจากนาทีปัจจุบันให้มากที่สุด (ทิ้งให้เข้าใจว่า พรุ่งนี้อาจตายได้).
[14] วัน Ash Wednesday ในปฏิทินคริสต์ศาสนาเป็นวันแรกของฤดูถือบวช (Lent) ชาวคริสต์ที่ดีจะใช้เวลาช่วงนี้ทำสมาธิและปฏิบัติธรรม รวมทั้งอดอาหาร(บางมื้อ) เพื่อแสดงความรู้สำนึกผิดในความประพฤติที่ผ่านมาของตน  และเพื่อรำลึกถึงพระเยซูคริสต์ผู้ได้ถือศีลอดตลอดสี่สิบวันในทะเลทรายก่อนที่จะเริ่มเทศนาสั่งสอน.
     ฤดูถือบวชของชาวคริสต์นี้ คือสี่สิบหกวันก่อนถึงวันอีสเตอร์ที่ตรงกับวันที่ 20 เดือนมีนาคม.  วันอีสเตอร์เป็นวันที่ดวงอาทิตย์โคจรข้ามเส้นศูนย์สูตร และทำให้กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน เกิดขึ้นประมาณวันที่ 20 เดือนมีนาคม (เรียกว่า spring equinox) และอีกครั้งหนึ่งประมาณวันที่ 22 เดือนกันยายน (เรียกว่า autumn equinox).
[15] ขี้เถ้าที่ใช้นั้นเก็บมาจากการเผากิ่งปาล์มในเทศกาล Palm Sunday ของปีที่ผ่านไป เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อพระเยซูคริสต์ขี่ลาเข้าเมืองเยรูซาเล็มและชาวเมืองได้ใช้กิ่งต้นปาล์มโบกต้อนรับพระองค์. พระเยซูเริ่มเทศนาสั่งสอนชาวเมืองในเยรูซาเล็มตั้งแต่วันนั้น จนถูกทหารโรมันจับตัวไป.
[16] อ่านฉบับแปลเทียบเคียงกับบทประพันธ์ของโทมัส เกรย์ได้ที่ >> 
http://www.st.ac.th/bhatips/tip49/thai_elegy_m249.html
[17] ในยุคปัจจุบันก็มาเป็นเนื้อหาของ “The Beauty and the Beast” สาวงามที่ยอมมอบตนให้กับสัตว์ปีศาจเพื่อช่วยชีวิตของบิดา.  แสดงการยินยอมสละตัวตนเหมือนพร้อมจะเผชิญหน้ากับความตาย แต่โชคดีที่ร่างของสัตว์ปีศาจนั้นเป็นเพียงคราบภายนอของเจ้าชายผู้ถูกสาป.  ความงามบวกความเห็นอกเห็นใจในความทุกข์ เป็นกุญแจช่วยให้เจ้าชายได้กลับคืนสู่ร่างของชายหนุ่มรูปงาม. เรื่องนี้จึงเน้นความรักความดีของคนหนึ่งที่อาจสยบหรือพลิกชะตากรรมของอีกคนหนึ่ง.   
[18] เช่น บทละครสามองก์จบของอาเรียล ดอร์ฟมัน-Ariel Dorfman ชื่อหญิงสาวกับความตาย แต่งขึ้นในปี 1991 เน้นประเด็นของเพศสัมพันธ์, ความรุนแรงและความตาย. ต่อมาโรมัน โปลันสกี-Roman Polanski ได้นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี 1994.
[19] กระทรวงวัฒนธรรมและการสื่อสารของฝรั่งเศส - Ministère de la Culture et de la Communication เป็นผู้ริเริ่มโครงการ โมนูเม็นตะ-Monumenta  ของฝรั่งเศสในปี 2007  โดยเชิญศิลปินยุคใหม่ที่มีผลงานเป็นที่รู้จักกันในระดับนานาประเทศ ให้ไปจัดนิทรรศการของเขาในห้องโถงใหญ่ของอาคารกร็องด์ปาแลส์ (le Grand Palais, Paris). จะเป็นนิทรรศการเฉพาะของเขาคนเดียวเท่านั้น ตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือนกว่าๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจไปชมได้.  การเลือกใช้สถานที่ที่นั่น เพราะพื้นที่ห้องโถงกว้างใหญ่ถึง 13,500 ตารางเมตร และมีหลังคาโค้งทรงกลมลูกที่สูงที่สุดคือ 45 เมตรจากระดับพื้น. พื้นที่ลำตัวยาว 200 เมตร กว้างตั้งแต่ 50 ถึง 100 เมตร. หลังคาสูงและโล่งใต้โครงสร้างทรงกลมหลายลูกทำให้พื้นที่สว่างไสว  และเหมาะกับการติดตั้งผลงานขนาดใหญ่ๆ ทั้งยังเอื้ออำนวยต่อการเข้าชมของคนหมู่ใหญ่โดยไม่ทำให้รู้สึกอึดอัด คนชมไม่เบียดเสียดกัน. โครงการโมนูเม็นตะ จัดต่อเนื่องมาเกือบทุกปี.
[20] ในบทความนี้ เราจำกัดขอบเขตของข้อมูลตั้งแต่ต้นยุคกลางจนถึงยุคใหม่ในโลกตะวันตก. 
[21] René Descartes อ่านในภาษาฝรั่งเศสว่า [เรอเน่ เด-ก๊ารฺ-เตอะ]   ผลงานเขียนและระบบความคิดของเดส์การ์ตมีรายละเอียดทั้งกว้างและลึก ที่ครอบคลุมความรู้ในหลายแขนงทั้งคณิตศาสตร์, ฟิสิกส์, สรีรศาสตร์, ปรัชญา, สังคมศาสตร์เป็นต้น.  มีความคิดหลายอย่างที่คลาดเคลื่อนผิดจากการค้นพบและการศึกษาวิจัยในยุคปัจจุบัน แต่สิ่งที่เขาเขียนและความคิดของเขา ได้เป็นกระดานกระโดดไปสู่จุดยืนใหม่ๆ, ศาสตร์และความรู้ใหม่ๆในปัจจุบัน.
[22] ศาสตราจารย์ Isbrand van Diemerbroek แห่งเมืองอูเทร็ชต์ Utrecht  ได้เขียนหนังสือเรื่อง The Anatome Corporis Humani (1672) ป็นหนังสือกายวิภาคศาสตร์ ที่วิเคราะห์วิพากษ์เรื่องวิญญาณเหมือนเป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกายคน. หลังจากนั้นมา วิญญาณมิได้เป็นส่วนหนึ่งของกายวิภาคศาสตร์อีกเลย. 
[23] มีผู้ให้แง่คิดว่า การแพทย์สมัยปัจจุบันต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บของคน เหมือนกำลังต่อสู้กับคนร้ายที่หมอทุกคนต้องห้ำหั่นให้สิ้นซาก. คู่ต่อสู้ของหมอ คือร่างของคนป่วยที่เป็นสิ่งเดียวที่หมอเห็นและจับต้องได้. ปรัชญาของการแพทย์สมัยใหม่ได้เบนจากการทุ่มความสนใจต่อคนป่วยไปรับมือกับความเจ็บป่วยโดยการอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่. หมอมองดูคนป่วย อาจมิได้เห็น คน แต่เห็นโรคที่หมอต้องต่อสู้. เขาอาจลืมนึกถึงจิตสำนึกและวิญญาณของคนป่วย.  ในที่สุดหมอมองดูความตายของคนป่วย ว่าเป็นการพ่ายแพ้, เป็นความล้มเหลวส่วนตัว.    
[24] ในกระบวนการคิดแบบนี้ เท่ากับว่าจิตสำนึกของคนมิเคยสูญสิ้นไปไหน แต่เข้าเป็นหนึ่งเดียวกับวิญญาณ (วิญญาณกับจิตสำนึกเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่ เป็นคำถามที่ท้าทายนักคิดต่อไป) เช่นนี้การที่คนหนึ่งระลึกชาติได้ คือระลึกถึงอดีตที่เคยผ่านมา ความทรงจำของชีวิตในปางก่อนจึงไม่น่าจะเป็นความทรงจำของสมอง (ในร่างที่มีชีวิตของคนในภพปัจจุบัน)  แต่อาจเป็นความทรงจำของมวลจิตสำนึก ที่ผนึกเป็นส่วนหนึ่งของวิญญาณของคนนั้น. กระบวนการคิดแบบนี้ยังอาจอธิบายการฟื้นคืนชีวิตของพระเยซูคริสต์ได้ดีกว่า แทนการใช้ปาฏิหาริย์มาโอบล้อมและให้คำจำกัดความว่าเป็น ความลึกลับที่อธิบายกันไม่ได้. 
        ในตะวันตกก็มีผู้ศึกษาเรื่องการกลับชาติมาเกิดใหม่และการระลึกชาติได้อย่างมีหลักการ หลักเกณฑ์และบันทึกพยานหลักฐาน. ผู้หนึ่งที่วิเคราะห์วิจัยเรื่องนี้คือ ศาสตรจารย์ Ian Pretyman Stevenson (1918-2007) ชาวแคนาเดียน  เขาเป็นนักชีวเคมีและนักจิตวิทยาที่ School of Medecine, University of Virginia. เขาได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับหัวข้อนี้หลายเล่มตามแนววิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์ และได้รวบรวมกรณีศึกษาจากประเทศต่างๆทั้งในเอเชียและยุโรป (รวมกรณีจากประเทศไทยจำนวนสิบสองกรณี) ในหนังสือ Cases of the Reincarnation Type (1975-2003). เขาเชื่อว่า ความรู้จากเรื่องนี้อาจช่วยการแพทย์สมัยใหม่ให้เข้าใจผู้ป่วยโรคประสาทและโรคจิตได้ดีขึ้น.  มีผู้คิดว่างานเขียนของเขามิอาจนับได้ว่าเป็นผลงานทางวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง. ถึงกระนั้นก็ยังมีผู้นำผลงานของ Stevenson มาวิเคราะห์วิจัยอีก เช่น Tom Shroder ในหนังสือชื่อ Old Souls: The Scientific Evidence for Past Lives (1999) เป็นต้น. 
[25] ดูรายละเอียดเกี่ยวกับผลงานและอิทธิพลของเขาต่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ ได้ที่นี่ >> www.galileo.rice.edu
[26] ผู้สนใจติดตามอ่านรายละเอียดได้ที่ www.dignitas.ch หรือองค์การ EXIT A.D.M.D. ที่นี่ >> www.exit-geneve.ch
[27] ตัวเลขจากสมาคมและสถาบันที่เกี่ยวข้อง ระบุว่า มีสมาชิกแล้ว 1014 คน มีผู้ตายที่เก็บแช่แข็งไว้แล้ว111คน. มีคนที่ลงทะเบียนและจ่ายเงินสนับสนุนรายปีเพื่อใช้บริการนี้เมื่อเขาตาย 448 ราย. มีสัตว์เลี้ยงที่แช่แข็งไว้แล้ว 89 ตัว และมีอวัยวะ, เนื้อเยื้อหรือดีเอ็นเอที่แช่แข็งไว้แล้ว56 รายการ.  ดูรายละเอียดได้ที่ Alcor Life Extension Foundation, The American Cryonics Society, หรือ The Cryonics Institute.
[28] ดังที่ อีฟลิน วอห์ (Evelyn Waught [อี๊เวอลิน วอหฺ])ได้เขียนถากถางไว้ในหนังสือ Loved One-ผู้เป็นที่รัก และที่ เจสสิกา มิลฟอร์ด(Jessica Milford) ได้ศึกษาวิจัยไว้ในหนังสือ  American Way of Death- ความตายแบบอเมริกัน.
[29] Elisabeth Kübler-Ross [เอลิซาเบธ กูบลาฮอส] 1926-2004 เป็นจิตแพทย์และนักหนังสือพิมพ์ชาวสวิสฯโดยกำเนิด และย้ายไปอยู่อเมริกาตั้งแต่อายุสิบหก.  เคยเป็นพยาบาลอาสาสมัครในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และหลังสงครามได้เข้าศึกษาในโรงเรียนแพทย์.  เธอศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสภาวะสุดท้ายของการเจ็บป่วยจากประสบการณ์ตรงที่เธอเคยมีในระหว่างสงคราม และพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับความตายและการตาย (On Death & Dying, 1969). อ่านเกี่ยวกับเธอเพิ่มเติมได้ที่นี่ >> www.ekrfoundation.org
[30] ตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา มีชาวคริสต์(Christian population รวมทุกลัทธิทุกนิกายที่แตกออกจาคริสต์ศาสนา เช่น แคทอลิก โปรเตสแตนต์ ออร์ธอด็อกส์เป็นต้น)  เป็น 79.5 % ของจำนวนประชากร, ในรัสเซียมี 73.6% , ในเยอรมนีมี 70.8% . ดูรายละเอียดได้ที่นี่ >> http://www.pewforum.org  จากศูนย์การวิจัยพิว ในแขนง The Pew Forum on Religion & Public Life, Washinton DC. USA. 
---------


ศิลปะประดับความตาย
1. ต้นตำรับมรณานุสติในตะวันตก     
2. ระบบสุสานของกรุงปารีส ตัวอย่างสวนสุสานแปร์ลาแช้ส
3. ศิลปะประดับความตายในตะวันตก 1 – รูปแบบและความหมายของไม้กางเขน
4. ศิลปะประดับความตาย 2 – แผ่นหิน
5. ศิลปะประดับความตาย 3 – รูปปั้น
6. ศิลปะประดับความตาย 4 – โลงศพ
7. ศิลปะประดับความตาย 5 – อนุสรณ์สถาน
8. ศิลปะประดับความตาย 6 – สุสานแนวใหม่ในตะวันตกปัจจุบัน



สนใจอยากรู้เรื่องอื่นๆ เชิญเข้าไปเลือกอ่านได้ที่นี่ >>
http://chotirosk.blogspot.com/2016/01/link-to-my-two-blogs.html