Monday 23 November 2015

อ่านออกเสียง Read out loud

เพื่อนจี๊ดสุธาทิพ นักอาสาพัฒนาตัวยงของรุ่นเราตลอดสามสิบสี่ปีที่ผ่านมา ผู้มุ่งพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตและสติปัญญาของเด็กไทยด้วยกิจกรรมในหลายด้าน. ด้านหนึ่งที่ทำมาอย่างต่อเนื่องคือการนำหนังสือไปให้เด็กในชุมชนห่างไกล การสร้างห้องสมุดเด็ก การส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้ด้วยกรรมวิธีต่างๆให้เด็กฯลฯ  มีทีมจิตอาสาที่ร่วมมือกับหลายเครือข่ายในสังคม ฯลฯ (ขอคารวะค่ะ)
เพื่อนจี๊ดได้โพสหัวข้อนี้ลงในเฟส ด้วยภาพข้างบนนี้. ถูกใจและเห็นด้วย.
    โพสนี้ทำให้นึกขึ้นมาได้ว่า ที่มหาวิทยาลัยปารีส เคยเรียนวิชา Anatomie de la phonation (ที่แปลคร่าวๆได้ว่า กายภาพวิเคราะห์ของกระบวนการออกเสียง) กับศาสตราจารย์นายแพทย์ Valencien (จำได้แต่ชื่อ) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจมูกและคอ. เป็นวิชาแพทย์ที่เป็นหนึ่งในหลักสูตร(เกือบบังคับ)ให้เข้าเรียน. มีคนเรียนอยู่ราวสิบคน เราเป็นเอเชียคนเดียว. นั่งเรียนเป็นเบื้อเป็นใบ้ หนึ่งเทอมผ่านไป ต้องสอบ. ข้อสอบจะเป็นอย่างไรนะ มีหนังสือเรื่องนี้อยู่หนึ่งเล่ม อาจารย์นายแพทย์เป็นผู้เขียนเองและใช้สอนมา.  นึกเตรียมผ่าตัด cross section ของใบหน้าเราเองว่า เมื่ออากาศหรือลมเข้าไปทางจมูกและปาก ผ่านหุบเหว โขดหิน โกรกธาร ท่ออะไรต่ออะไรลงไปถึงปอด แล้วเราจะบีบจมูกปิดและเม้มริมฝีปากแน่น เพื่อรักษาอากาศนั้น (because air is vital) ทำไปแล้วก็เห็นว่ามีสิทธิ์ขาดใจ. ตามหลักธรรมชาติ อะไรเข้าไปก็ต้องออกมา  จะให้มันออกมามากน้อยก็ต้องให้ออกมา เพราะชีวิตไม่หยุดอยู่กับที่ ต้องมี activity ต้องมีการหมุนเวียน. เลยเข้าใจว่า การหายใจออกสำคัญพอๆกับการหายใจเข้า.  แล้วลมที่จะให้มันออกนั้น มันก็ต้องย้อนเส้นทางผ่านภูมิประเทศหลายแบบกว่าจะหลุดออกมาจากตัวเรา. อัฉริยะของสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะ “คน” เปลี่ยนลมนั้นเป็นเสียง จากเสียงเป็นพยางค์ จากพยางค์เป็นคำ เป็นวลี เป็นประโยค. มนุษย์ได้เจาะทะลุกำแพงความเงียบออกมาอย่างเป็นระเบียบระบบมากขึ้นๆและเราก็ต้องปวดเศียรเวียนเกล้ากับการเข้าใจเสียงต่างๆที่ลมหายใจออกของเราพาไป. 
   วันสอบ เตรียมตก ฉันไปเรียนภาษา ไม่ได้ไปเรียนแพทย์สักหน่อย. เดินเซื่องๆเข้าห้องสอบพร้อมกระดาษA4 หนึ่งแผ่นและเครื่องเขียนหลายสี เผื่อจะวาดอะไรเล่นและแต่งเติมให้งดงามแก้เซ็ง. อาจารย์นายแพทย์เดินเข้ามา เขียนคำถามบนกระดานดำ บอกว่า พวกคุณมีเวลาไม่จำกัดแล้วเดินออกไป. (หลายวิชาที่เคยเรียนเคยสอบมาในฝรั่งเศส ที่อาจารย์บอกว่า ให้เวลาตอบไม่จำกัดนั้น อย่าได้หลงระเริงไป เพราะท่านรู้แน่แก่ใจว่า ความอดทนของคนมีขีดจำกัด. ชัดเจน! เพราะนอกจากความรู้อันจำกัดของนักศึกษาแล้ว การทนหิวทนกระหายของคนมีขีดจำกัด. มีคนเดินออกจากห้องสอบในเวลาครึ่งชั่วโมงไปจนถึงสองสามชั่วโมง). จำไม่ได้แล้วว่าคำถามที่สอบมานั้นคืออะไร. ได้ขีดๆเขียนๆไปเหมือนหุ่นกำลังทำงาน. เพื่อนร่วมชั้นหยิบหนังสือของอาจารย์ขึ้นมาเปิดลอกเลย. ห๊า!!! เรามองไปมองมา ทุกคนตั้งอกตั้งใจลอก. คนหนึ่งหันบอกว่า เธอเอาหนังสือขึ้นมาลอกลงไปเลย. ซวยจริงๆ เรามีแต่กระดาษA4.  เปิดเทอมใหม่ เมื่อครูประกาศผลสอบ ปรากฏว่าเราสอบผ่านแฮะ. เพื่อนร่วมห้องมองเราอย่างเคืองๆ เพราะเราได้คะแนนมากกว่าด้วย ซึ่งเราก็ไม่เคยเข้าใจว่าทำไม. หรือเพราะครูรู้ว่าเราไม่ได้ลอกหนังสือครู เลยให้คะแนนความซื่อตรง... จิตของปัญญาชนฝรั่งเศสระดับอาจารย์มหาวิทยาลัยนั้นสุดจะหยั่งได้.
    ความรู้เลือนลางไปแล้ว จากที่ได้เรียนผ่าตัดกระบวนการออกเสียงของคน ตามด้วยการแปรเสียงและลมหายใจของคนให้เป็นภาพ มีรูปมีร่างชัดเจนและแตกต่างกัน รวมทั้งการแปรความรู้สึกที่ติดมากับเสียงขณะที่เราพูด ออกเป็นภาพสามมิติที่แสดงความถี่ ความเข้มในเวลาจริงด้วยเครื่อง sonagramme (ที่ใช้ในยุคทศวรรษที่ 1970. เทคโนโลยีนี้ได้พัฒนาประสิทธิภาพขึ้นสูงอีกเหลือคณาในปัจจุบัน). จบแล้วได้ปริญญามาแล้ว มีตำแหน่งการงานแล้ว ก็เป็นอันสิ้นสุดลง.
    วันนี้นึกขึ้นมาได้อีกว่า ครั้งหนึ่งถูกขอตัวให้ไปช่วยเป็นล่ามหรือแปลให้กับคนไทยที่ไปออกบูธแสดงสินค้า และเปิดโอกาสให้นักลงทุนชาวฝรั่งเศสไปชมและสั่งซื้อได้โดยตรงกับเจ้าของคนไทยที่นำสินค้าไปออกบูธ. เราไปทำหน้าที่ให้คนไทยรายหนึ่ง พูดไปแปลไปให้ทั้งสองฝ่าย เขาตกลงกันได้ด้วยดี.  จำไม่ได้ว่ามีใครให้เงินค่าบริการของเราไหม มันคงน้อยมากจึงไม่ได้เหลืออยู่ในสมอง แต่ที่ไม่ลืมคือ เมื่อจบการเจรจา ทุกอย่างลงตัว เราหันไปบอกฝ่ายคนไทยว่า ให้เช้คคนฝรั่งเศสคนนั้น เขามีอำนาจซื้อ มีตัวตนจริงในบริษัทที่เขาพูดถึง บริษัทมีจริงหรือเป็นพ่อค้าเดี่ยวๆแฝงมาฯลฯ  ฝ่ายไทยมองหน้าเรางงๆ เราบอกว่าไม่รู้สิ แต่น้ำเสียงและลมหายใจของคนนั้น มีอะไรซ่อนเร้นยังไงไม่รู้ ขอให้ตรวจสอบที่มาที่ไปของเขาให้ละเอียด. ฝ่ายไทยแน่นอนกระตือรือร้น ดีใจว่าจะได้ลูกค้า ยอมเอออวยไปซะหมด ไม่ "เก็ต" อะไรอื่น นอกจากคำนวณตัวเลขที่จะได้.
     นึกถึง sonagramme ที่กำลังเรียนในตอนนั้น ที่ต้องดูต้องวิเคราะห์ภาพของเสียงที่สถาบัน เราเองก็แปลกใจ. และนั่นเป็นการแปลการเป็นล่าม ครั้งเดียว ครั้งแรกและครั้งสุดท้าย.  ปกติ เราแปลเนื้อหาในข้อความ แปลคำ แปลความคิดจนอาจถ่ายทอดความรู้สึกของตัวละครในเรื่องได้เป็นต้น แต่ยังมีอีกมิติหนึ่ง มิติของผู้เขียนที่รวมจิตวิญญาณของผู้เขียน ที่เราไม่นึกไปและที่อาจให้ข้อมูล ที่เป็น suprasegmental (ศัพท์ภาษาศาสตร์เทคนิค ที่เราเข้าใจชัดเจนตอนนั้นเองว่า มันหมายถึงอะไรได้บ้าง) ที่ให้นัยยะพิเศษขึ้นอีก. คิดแล้วก็บอกตัวเองว่า นี่เราไปแปลหรือไปจับจิตวิทยาของคนคู่ค้ากันนะ. ไม่เอาแล้ว เหนื่อยใจ.
  
     สรุปแล้วขอสนับสนุนข้อความในโพสที่เพื่อนจี๊ดนำมาลงในเฟส มันง่ายและชัดเจนว่า       
> อ่านออกเสียง อ่านดังๆ พัฒนาหลอดเสียง เสียงใสขึ้น กังวานขึ้น สุขภาพปากดีขึ้นเพราะการถ่ายเทหมุนเวียนอากาศภายในปาก.
> หูดีขึ้นเพราะได้ยินเสียงตัวเอง เสียงอวัยวะที่ articulate แต่ละพยางค์  หูจะคุ้นกับเสียงเล็กเสียงน้อย รวมทั้งเสียงลมหายใจ สร้างศักยภาพในการวิเคราะห์เสียงอื่นๆได้ดีขึ้นด้วย.
> เพิ่มทักษะในการควบคุมจังหวะการหายใจของตนเอง ซึ่งอาจนำไปสู่การร้องเพลง การพูดในที่สาธารณะ การเป็นนักพูด นักเทศน์ฯลฯได้ดีขึ้น.
> ตาดีขึ้นเพราะต้องกวาดตาไปมาบนหน้าหนังสือ (จนถึงการกลอกลูกตาเบิกตา ตามการกระตุ้นมากน้อยของเนื้อหาที่อ่าน) เป็นการออกกำลังตาที่วิเศษและไม่เสียเวลาเพิ่มเลย.
> การอ่านออกเสียงช่วยพัฒนาความทรงจำ จำเรื่องนั้นๆได้ดีขึ้น. การท่องจำเป็นวิธีการเรียนการสอนมาแต่โบราณ. การท่องจำ ทำให้ผู้เรียนกลืนเนื้อหาเข้าไปในตัวเขา เหมือนเขากลายเป็นหนังสือหรือเนื้อหานั้น. นึกถึงหนังเรื่อง Fahrennheit 451[i] ที่เคยดูมาในสมัยเด็ก ใช้การท่องจำเพื่ออนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมที่เป็นวรรณกรรมของโลกและที่ถูกสั่งเผาทิ้ง(ในหนังเรื่องนี้) การท่องจำแม้จะมีข้อเสียเมื่อคนท่อง จำเท่านั้นโดยไม่วิเคราะห์เนื้อหาหรือตีความในนั้นไม่แตก จึงต้องสอนการวิเคราะห์เนื้อหาควบคู่ไปกับการท่องจำ.
สรุปแล้วดีทุกอย่าง สำหรับทุกคน ทุกเพศและทุกวัย. 

ปล. >> เดี๋ยวนี้เราไม่ได้อ่านออกเสียง เสียงแหบแห้ง ลิ้นแข็ง อีกหน่อยก็พูดตะกุกตะกัก ติดอ่าง พูดไม่ทันความคิด. สำหรับคนอยู่คนเดียวร้อยเปอเซ็นอย่างเรา ที่บางทีปิดปากเงียบติดต่อกันหลายวัน ถ้าไปปฏิบัติธรรมที่เขาให้เก็บวาจา แน่ใจว่าเราจะชนะคนอื่นๆ.
นี่ไม่ใช่เรื่องดีนะจะบอกให้  ผลข้างเคียงของการไม่พูด ไม่ให้อวัยวะในปากได้ออกกำลังยืดเส้นเสียง ยืดเส้นเอ็น ยืดกล้ามเนื้อต่างๆตั้งแต่ริมฝีปากลงไปถึงปอด มีมากกว่าที่เราคิด.
มองเห็นภาพตนเองชัดเจนว่า เราก็จะไปถึงจุดนั้น หากไม่เริ่มต้นอ่านออกเสียง พูดดังๆกับตัวเองแม้ใครจะคิดว่าสติเสียไปแล้ว หรือร้องเพลงหงุงๆหงิงๆของเราไป เพื่อยืดวันที่ pathologie de la parole (ข้อบกพร่องในการพูด ลิ้นคับปาก ฯลฯ) จะเข้าครอบงำเราให้ออกไป. และเห็นควรว่า ต้องปล่อยคนสูงวัยให้บ่นพึมพำของแกไปเรื่อยๆหรือกระตุ้นให้แกพูดบ่อยๆ. เราเบื่อก็อย่าฟังแต่อย่าห้ามอย่าบ่นเลย.
การกินก็มีส่วนช่วยในเรื่องนี้ อาจเป็นอย่างนี้ก็ได้กระมัง ที่คนพูดน้อยบางคน กินเก่ง กินจุ. ธรรมชาติช่วยให้เขามีเวลาออกกำลังกล้ามเนื้อในปากนั่นเอง. แม้จะไม่เกี่ยวกับเส้นเสียงนักก็ตาม.
หะฮา! รู้กัน โชไม่พูดมากและกินเก่ง.  เอวัง...

โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ ณ วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘.


[i]  ข้อมูลเรื่องนี้ ติดตามไปอ่านได้ในวิกิพีเดีย พูดแล้วเราเองก็อยากกลับไปดูอีก คงให้ความคิดความรู้สึกต่างกันมากจากยุคเด็กที่เราดูครั้งแรก.  พบลิงค์นี้ที่จะเข้าไปดูหนังเรื่องนี้ได้อีกThank Heavens! ขอบคุณเทคโนโลยีที่ทำให้เรามีโอกาสบันเทิงรื่นเริงได้ในวัยชรา ที่น่าจะทำให้เราไม่รู้สึกชราไปตามกาย. ลองดูที่นี่ค่ะ https://www.youtube.com/watch?v=T0bVqgBSZHk


3 comments:

  1. สนุกค่ะ ได้ประโยชน์ด้วย ตอนนี้ได้อ่านออกเสียงให้หลานฟังทุกวันได้ประโยชน์ทั้งยายและหลานเลย ขอบคุณที่เล่าเรื่องดีๆสู่กันฟังนะคะ

    ReplyDelete
  2. ในหนังเรื่อง Fahrenheit 451 เพื่ออนุรักษ์หนังสือที่จะถูกเผา กลุ่มคนรักหนังสือ ที่เรียกในเรื่องว่า book people เริ่มท่องจำหนังสือ จนแต่ละคนกลายเป็น incarnation ของหนังสือเล่มที่เขาท่องเลย และก็เล่าต่อๆไปด้วยปากให้ลูกหลาน โดยให้ฟังแต่ละประโยค แล้วให้เด็กพูดซ้ำ ทุกถ้อยคำ รวมทั้งจังหวพการอ่านและ intonation หรือ stress ที่ผู้เล่าเล่าให้ฟัง ... ทั้งนี้(ตามในหนังหรือตามที่ผู้แต่งเรื่องฟาเร็นไฮต์เจาะจงไว้) เพื่อว่าเมื่อผ่านพ้นยุคมืด จะมีการถ่ายทอดออกเป็นหนังสืออีกครั้งหนึ่ง. หลานเป้าต่อไปก็คงถึงวัยที่จะพูดตามแล้วสินะ ดีใจมากค่ะ.

    ReplyDelete
  3. พบบทย่อเนื้อเรื่องของ Fahrenheit 451 เผื่อใครสนใจอ่าน ตามไปดูได้ในนี้ http://www.cliffsnotes.com/literature/f/fahrenheit-451/book-summary

    ReplyDelete