Wednesday 16 December 2015

รองเท้ารูปดอกบัวของสตรีจีน Lotus shoes



หนึ่งในอารยธรรมที่ขึ้นชื่อลือนามว่าละเอียดประณีตของมนุษยชาติ คืออารยธรรมจีน (หากเริ่มจากจักรพรรดิจีนองค์แรกที่รู้จักกันในนามว่าจิ๋นซีฮ่องเต้ Qin Shi Huang ไปจนถึงจักรพรรดิองค์สุดท้ายในราชวงศ์ Qing, 221BC-1912).  สังคมจีนในยุคนั้น(ที่ยังส่งผลต่อมาถึงยุคนี้ด้วย) เป็นสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ patriarcal อย่างแท้จริงและเด็ดขาด. ในสังคมแบบนั้น ผู้หญิงไม่ได้มีตัวตน ไม่ใช่เอกบุคคลเสมอผู้ชาย  เธออยู่ใต้อิทธิพลของผู้ชาย และเธออยู่ไม่ได้ตามลำพังตนเอง. ผู้หญิงถูกลดให้เป็นคนเพศเมีย เป็นสินค้าในตลาดหาคู่.  ชะตากรรมของเธอหรือสถานะทางสังคมของเธอ ขึ้นอยู่กับความพร้อมในการปรนเปรอความสุขทางเพศแก่สามี และความสำเร็จในการทำหน้าที่ต่อเชื้อสายของตระกูลของสามี.
        ส่วนใหญ่ ครอบครัวเด็กผู้หญิงเธอได้กำหนดผู้ที่จะเป็นสามีของเธอแล้วตั้งแต่เธอเกิด โดยยึดขนบธรรมเนียมหรือมาตรการอันซับซ้อนในระบบเครือญาติและการสืบสกุลเป็นหลัก.  แต่การจับคู่ในวัยสาวก็มีเหมือนกัน และอาจขึ้นอยู่กับการเสนอกับการสนองระหว่างสองครอบครัว.  การแข่งขันแย่งชิงผู้ชายจากตระกูลสูงนั้น พ่อแม่ฝ่ายหญิงต้องวางแผนตั้งแต่เมื่อลูกสาวยังเป็นเด็กเล็ก เพื่อให้เธอได้รับเลือกไปเป็นภรรยาของลูกชายในตระกูลดีและ/หรือร่ำรวย.  ความพร้อมของเธอตามเงื่อนไขและค่านิยมต่างๆ เป็นดัชนีชี้ค่าตัวของเธอ และระบุราคาซื้อขายในตลาดหาคู่.  สำหรับครอบครัวของผู้ชายนั้น เด็กสาวแต่ละคนที่เข้าไปในครอบครัว เป็นเครื่องหมายของอำนาจ เหมือนถ้วยรางวัลชนะเลิศ ที่ประกาศให้สังคมรู้ว่าครอบครัวมั่งคั่งและมีอำนาจมากน้อยเพียงใด.  กฎเกณฑ์ต่างๆที่กำหนดไว้ให้ผู้หญิงในสังคมจีน รวมทั้งประเด็นความต้องการต่างๆที่สังคมต้องการจากเธอ และที่เธอต้องรีบสั่งสมเพื่อเพิ่มคุณค่าแก่ตัวเธอเองตั้งแต่วัยเยาว์  มีทุกอย่างทุกแบบตั้งแต่เรื่องสามัญไปจนถึงคุณสมบัติผู้ดีที่ละเอียดซับซ้อน คุณสมบัติในฐานะแม่บ้าน หรือคุณสมบัติของสตรีชาญฉลาดในสังคมชั้นสูง และที่แน่นอนคือต้องเป็นหญิงพรหมจารีย์ ที่เหมือนประกาศนียบัตรรับรองคุณภาพของผู้ที่ซื้อเธอไป. 
          คุณสมบัติที่เด็กสาวต้องมีนั้น รวมถึงการปรับ การดัดแปลงส่วนต่างๆของร่างกายให้เป็นไปเพื่อดึงดูดเพศ เพื่อสนองความสุขทางเพศ เช่นการเสริมให้ใหญ่ขึ้น, การมัดการพันเท้าของเด็กหญิงให้เหลือเล็กที่สุด เป็นหนึ่งในวิธีการดังกล่าว.  การมัดเท้าของเด็กผู้หญิงในสังคมจีน เป็นพยานหลักฐานยืนยันว่าผู้หญิงคือสินค้าอย่างหนึ่ง. ชายใดเป็นเจ้าของเด็กสาวเท้าเล็กๆ (ที่เป็นภรรยาหลวง เมียน้อยหรือนางบำเรอ) ยิ่งมีจำนวนมากเท่าใด ยิ่งเสริมหน้าตาและความสำเร็จในสังคมของเขา.  คนที่ทำหน้าที่หาสามีให้เด็กสาวของครอบครัวหนึ่ง จะนำรองเท้าคู่เล็กของหญิงสาวคนนั้นไปให้แม่ของครอบครัวผู้ชายดู (ไม่ใช่นำภาพเหมือนของหญิงสาวไปให้ดูหรอกนะ)  ยิ่งรองเท้าของเธอเล็กเท่าใด เด็กสาวคนนั้นยิ่งมีโอกาสจะได้รับเลือก. ชาวจีนเชื่อว่า ความเล็กของเท้าเป็นของขลังอย่างหนึ่งที่นำโชคลาภมาสู่ครอบครัว และหญิงสาวเท้าใหญ่ไม่สามารถได้สามีที่นำเกียรติและศักดิ์ศรีมาแก่ตระกูล. แม่ของฝ่ายชายจะสามารถตัดสินจากรองเท้าของเด็กสาวคนนั้นว่าเธอมีขีดความอดทนอดกลั้นในระดับไหน และมีความชำนาญในการเย็บปักถักร้อยเพียงใด.  ความอดทนกับความชำนาญในเรื่องเย็บปักถักร้อย เป็นคุณสมบัติสำคัญที่สุดสองสิ่งสำหรับการเป็นภรรยา.  หญิงสาวที่มีเท้าใหญ่ นอกจากจะหาสามีได้ยากหรือหาไม่ได้แล้ว ยังเป็นที่เยาะเย้ยของทุกคนอีกด้วย. 

ใครเป็นผู้มัดเท้าให้เด็กผู้หญิง?  มารดาหรือย่าเป็นผู้ทำให้เด็กผู้หญิงในครอบครัว บางทีอาจใช้บริการของหญิงตำแย ทั้งหมดเป็นผู้หญิง  หากผู้เป็นพ่อไม่เห็นด้วย พวกผู้หญิงจะคอยให้เขาออกเดินทางไปต่างถิ่นก่อน. เราต้องไม่ลืมว่า ผู้หญิงเป็นผู้เฝ้า ผู้อนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณี. ในสังคมที่มีขนบเข้มงวดในยุคก่อนนั้น แต่ละคนต้องรู้จักอยู่กับตำแหน่งหน้าที่และอยู่กับสถานะของตนบนบันไดสังคม  อยู่ใต้กรอบความประพฤติที่สังคมได้กำหนดมานานแล้ว เช่นเดียวกันกับการเข้าร่วมเป็นหนึ่งเดียวในกลุ่มสังคมของตน แต่ละคนต้องหลอมตัวเข้าในกรอบที่เขาอยู่อย่างสมบูรณ์เพื่อจรรโลงโครงสร้างสังคมให้ยั่งยืนยงตลอดไป.  ความประพฤติดังกล่าวเป็นเงื่อนไข sine qua non ที่ทำให้เอกบุคคลมีชีวิตอยู่ได้.  อีกประการหนึ่งการศึกษาพื้นฐานของเด็กชาวจีน การเรียนรู้การเข้าสังคมตั้งแต่วัยเด็ก ทั้งหมดนี้อยู่ในมือของผู้หญิง.  
          การมัดเท้าของเด็กผู้หญิงเป็นทางเดียวที่ทำให้พวกเธอมีอนาคต และหากโชคอำนวย พวกเธออาจก้าวขึ้นสู่สถานะสังคมที่ดีกว่า ที่มีระดับสูงกว่าสถานภาพดั้งเดิมของครอบครัวที่เธอเกิด หรืออย่างน้อยที่สุดทำให้เด็กผู้หญิงเหล่านั้นไม่ตกอับ ยากจน อดตายหรือกลายเป็นขยะสังคม.  เมื่อแม่ผูกมัดเท้าของลูกผู้หญิง เธอกำลังถ่ายทอดความหมายของการทำแบบนั้นในสังคมที่พวกเธออยู่.  เช่นนี้ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างสังคม เด็กผู้หญิงได้รับผ่านกระบวนการสร้างค่าของผู้หญิงให้มีเท้าเล็กที่สุด.  ต่อมาเมื่อเด็กผู้หญิงเหล่านี้เป็นแม่ เธอเองก็จะพันและมัดเท้าลูกๆ ผู้หญิงของพวกเธอ.
           เฉกเช่นดอกบัวที่ได้อาหารหล่อเลี้ยงชีวิตจากโคลนตมที่มันเกิดและมันก็แบ่งบานเป็นดอกบัวที่โผล่ขึ้นเหนือน้ำ บริสุทธิ์ สะอาดหมดจด. โคลนตมแทนความทุกข์ ความลำบาก กิเลสตัณหาต่างๆ ที่เป็นบ่อเกิดและพื้นฐานของชีวิต ก่อนจะแบ่งบานเต็มที่ บนเส้นทางของการเรียนรู้ การปรับเปลี่ยนและการบรรลุสู่สถานะที่สูงขึ้น สู่แสงสว่าง เหมือนที่ดอกบัวกลายเป็นภาพลักษณ์ของความสง่างามไร้ตำหนิ ของความเป็นผู้ดี. เช่นนี้เองที่เท้าเล็กๆรูปดอกบัวจึงเป็นเสน่ห์มัดใจชายผู้สูงศักดิ์. 
        การมัดเท้าในประวัติศาสตร์จีนนั้น เริ่มขึ้นในศตวรรษที่ 10  การมีเท้าเล็กทำให้เธอต่างจากสามัญชนคนอื่นๆ  บ่งบอกความมีรสนิยมที่ประณีต.  เริ่มในหมู่สตรีชาววังและในหมู่ชนชั้นสูงก่อน แล้วจึงค่อยๆแพร่หลายไปในหมู่ชนชั้นกลางและในที่สุดเข้าไปถึงผู้หญิงในทุกชนชั้น.  ในยุคนั้น สตรีจีนผู้โก้เก๋ ต้องการให้ตัวเองเด่นเหนือชาวมงโกลผู้เข้าไปรุกรานจีน (ที่มีกิริยาท่าทางห้าวหาญจนเกือบจะหยาบกระด้าง. มีเอกสารจารึกไว้ว่าหญิงชาวมงโกลมีเท้าใหญ่). 
           เล่ากันว่าการมัดเท้า เริ่มมาจากความหลงใหลของเจ้าชาย Li Yu (ศตวรรษที่ 10)  ต่อนางสนมคนหนึ่งที่ชื่อ Lady Yao เพราะนางมีเท้าที่เล็กมาก  นางยืนเต้นระบำปลายเท้าบนแท่น(สี)ทองรูปดอกบัวที่ประดับด้วยเพชรนิลจินดา.  ความน่าถนอมของเท้าของนาง ทำให้นางสนมคนอื่นๆอิจฉาริษยา  และพยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้เท้าของพวกเธอดูเล็กลงด้วยการมัดการพันเท้าไว้.  เช่นนี้เท้าถูกดัดแปลงออกไปจากลักษณะเดิม และได้จุดประกายให้มีการแต่งโคลงกลอนเกี่ยวกับเท้าเล็กๆของสตรี ยถคนั้นเรียกเท้าแบบนั้นว่า เท้าดอกบัวทอง.
          การมัดและพันเท้าเริ่มเมื่อเด็กผู้หญิงอายุได้ 4 หรือ 5 ขวบ การพันเท้าเป็นการทำให้รูปร่างเท้าเปลี่ยนไปทีละเล็กทีละน้อย. ต้องใช้เวลานานและต้องทนเจ็บมากกว่าจะได้เท้าเล็กสมความมุ่งหมาย. ผู้เป็นแม่จะดึงนิ้วเท้าเล็กสี่นิ้วไปไว้ใต้ฝ่าเท้า ให้ไปใกล้ส้นเท้าให้มากที่สุด. นิ้วหัวแม่เท้าเท่านั้นที่ถูกปล่อยไว้ตามธรรมชาติ ไม่ทำอะไรกับมัน.  การมัดเท้าแบบนี้จะเพิ่มความแน่นมากขึ้นๆ จนทำให้กระดูกของนิ้วเท้าถูกดัดงอตามไป.  ขั้นที่สองเท้าถูกดัดโค้งไปตามท่อกลวงทองแดงขนาดเล็กเพื่อให้เท้าส่วนหน้าและหลังบรรจบกัน ยกเว้นนิ้วหัวแม่เท้า และทำให้หลังเท้านูนโค้ง.  จุดมุ่งหมายในการทำอย่างนี้เพื่อให้เท้าเล็กที่สุดที่จะเล็กได้ในขณะเดียวกันเท้าก็กลายรูปร่างไป โดยมีนิ้วหัวแม่เท้าโดดเด่น และหลังเท้าโค้งเป็นโพรงกลมอยู่ใต้ฝ่าเท้า. เล่ากันว่าโพรงนี้และหัวแม่เท้ามีส่วนเพิ่มความสุขทางเพศแก่ผู้ชาย. 
          เวลาที่เท้าของเด็กสาวจะพ้นการพันการมัดก็เมื่อเธออาบน้ำ  ทุกวัน(บางตำราบอกว่าทุก 3 วัน) หลังอาบน้ำ และทุก 2 อาทิตย์ เท้าจะถูกมัดให้แน่นขึ้นอีก แล้วถูกสอดลงในรองเท้าที่มีขนาดเล็กกว่าคู่ที่ใส่มาก่อนวันนั้น.  จุดมุ่งหมายคือบีบให้เท้าเป็นรูปดอกบัว บีบไม่ให้เท้ายาวเกิน 7.5 ซม.-10 ซม. เท้าขนาดนี้เรียกว่า เท้าดอกบัวเงิน. เมื่อเธอแต่งงานไปแล้ว สามีเป็นผู้ถอดรองเท้าให้เธอ และดึงผ้าพันเท้าของเธอออก เป็นจุดเริ่มต้นในกระบวนการแสดงความรักใคร่ในตัวเธอ. ผ้ามัดเท้านั้นเป็นแถบผ้าฝ้ายหรือผ้าไหมยาว 3 เมตร ซึ่งสามีอาจใช้มัดตัวภรรยาไว้เพื่อให้เธอยอมเขา.  เจาะจงกันมาด้วยว่า บนรองเท้าที่เด็กสาวสวมในคืนวันแต่งงานนั้น มีฉากแสดงความรักแบบต่างๆปักไว้อย่างชัดเจน เป็นบทสอนแก่เจ้าสาว.  
          เท้าเล็กรูปดอกบัวนั้น ถือเป็นส่วนของร่างกายที่กระตุ้นความใคร่ที่สุด และรองเท้าเล็กๆแสนน่ารักของพวกเธอ ก็เป็นที่รวมจินตนาการของความใคร่ความพิศวาท. สามีชาวจีนชื่นชมรองเท้าดอกบัวเล็กจิ๋วของบรรดาผู้หญิงในอ้อมแขนของเขา.  เขานำรองเท้าคู่เล็กๆของพวกเธอออกอวดด้วยความภาคภูมิใจ บางทีจัดวางไว้บนถาดเล็กๆ.  ผู้หญิงมีรองเท้าดอกบัวที่ปักอย่างสวยงามและประณีตเป็นจำนวนร้อยๆคู่. พวกเธอใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆปักรองเท้าแต่ละคู่  ที่ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการแพร่พันธุ์ ของการมีอายุยืนยาว ของดุลยภาพและของการผนึกรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน.
            มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่าในปลายศตวรรษที่ 19 เมื่อทูตจีนคนหนึ่งถูกส่งไปประจำที่ราชสำนักของรัสเซีย  ตามกระบวนวิถีการทูต เขามิอาจพาภรรยาคนใดคนหนึ่งของเขาที่มีเท้ารูปดอกบัวไปรัสเซียด้วย  ดังนั้นเขาทดแทนด้วยการนำรองเท้าปักของเหล่าภรรยาไปในกระเป๋าเดินทางจำนวนมาก และสารภาพว่ารองเท้าเหล่านั้น ได้ให้ความพอใจทางเพศอย่างเพียงพอตลอดระยะเวลาที่เขาอยู่ในรัสเซีย.  พึงรู้ว่า รองเท้ารูปดอกบัวสีแดง เคยเป็นของรองเท้าของสตรีในราชสำนักมาก่อน.
           ในอีกมุมมองหนึ่ง การมัดเท้าเป็นวิธีการจำกัดเสรีภาพของผู้หญิงได้ เพราะเท้าเล็กๆที่บิดจนผิดรูปลักษณ์ธรรมชาติ ที่ทำให้เธอทนทุกข์ทรมานมาเป็นเวลาสิบกว่าปีตั้งแต่วัยเด็กเล็ก และเมื่อเธอเติบโตเป็นสาว เท้าอย่างนั้นทำให้พวกเธอเดินด้วยความยากลำบาก เดินช้าและไม่คล่องตัว ก้าวสั้นๆหรือต้องกระโดด โดยปริยายผู้หญิงจีนจึงมีชีวิตจำกัดอยู่ภายในบ้านในครอบครัวเท่านั้น แม้ในบทกวีจีนจะเขียนสรรเสริญว่าพวกเธอมีกิริยาอาการเคลื่อนไหวเหมือนนกนางแอ่นที่กำลังโผบิน แต่บทกวีเหล่านั้น ผู้ชายเป็นคนเขียน พรรณนาจากที่เห็นกับตา บวกจินตนาการฝันของพวกเขา. หากกวีทั้งหลายต้องถูกมัดเท้าอย่างนั้นบ้าง วรรณกรรมจีนคงพลิกผันไปไม่น้อย. ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกระบวนการดัดเท้าให้เล็กน่าใคร่ที่ทำกันมาพันกว่าปีแล้วนั้น ทำให้พวกเธอเหมือนคนทุพพลภาพ.  ทำให้พวกเธอข้อเท้าบวม หรือเป็นหนอง กล้ามเนื้อไม่เจริญเติบโตหรือกลายเป็นอัมพาต ทำให้เท้าผิดรูปเป็นเท้าปุกเพราะนิ้วเท้าถูกฝังเข้าไปใต้ฝ่าเท้า. 
        การมัดเท้าพันเท้าค่อยๆน้อยลงเมื่อประเทศจีนกลายเป็นประเทศสาธารณรัฐในปี 1912 และหมดไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อประธานาธิบดีเม๋าเจอตุงออกกฎหมายห้ามการมัดเท้าอีกต่อไปอย่างเด็ดขาดในปี 1949.


ขนบธรรมเนียมโบราณในเกือบทุกประเทศ จัดให้เท้าเป็นสิ่งกระตุ้นความกระสันสวาท ที่ต้องนำออกโชว์เพื่อให้เห็นคุณค่าของมันอย่างเต็มที่.  ที่รู้จักกันแพร่หลายและชัดเจนที่สุด คือธรรมเนียมจีน.  เท้าผู้หญิงถูกมัดตั้งแต่เด็ก มิให้มันเติบโตและคุมให้มันอยู่ในขนาดเล็ก ให้เหมือนดอกบัวดอกหนึ่ง.  คำ
กล่าวที่ชาวโลกพูดถึงหญิงชาวจีนในสมัยก่อนคือ “ หญิงที่เท้าถูดมัด”  

ตัวอย่างรองเท้าในศตวรรษที่ 19 ของผู้หญิงจีน รองเท้าดอกบัวที่เห็นนี้ มีขนาดยาวเพียง 7.6 เซนติเมตร หรือราว 3 นิ้ว การมีเท้าเล็กๆอย่างนี้ ถือเป็นคุณสมบัติล้ำเลิศเหนือคุณสมบัติอื่นๆของหญิงจีน. 


ในวิถีสังคมสมัยใหม่ คนสวมรองเท้าเกือบตลอดเวลา เมื่ออยู่นอกบ้าน แม้เมื่ออยู่ภายในบ้าน ก็ยังมีรองเท้าแตะเป็นผ้านิ่มๆหรือรองเท้าแตะแบบอื่นสำหรับสวมในบ้าน ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีอาจมาจากประเทศที่อยู่ในเขตอากาศหนาว เพื่อรักษาเท้าให้อบอุ่นเสมอ. ในประเทศศูนย์สูตร คนคุ้นเคยกับการเดินเท้าเปล่ามากกว่า โดยเฉพาะภายในบ้าน  พื้นไม้ พื้นอิฐหรือหินขัด ทำให้เย็นสบายเท้าโดยเฉพาะเมื่ออากาศร้อนมาก.  การเดินเท้าเปล่าไปบนพื้นไม้หรือพื้นหินขัดช่วยผ่อนคลายความร้อนได้ รวมถึงการเดินเท้าเปล่าไปบนพื้นปูกระเบื้องเคลือบในห้องน้ำ พื้นสนามหญ้าหรือพื้นทรายตามชายหาด.  เท้าจึงเป็นจุดรับรู้สภาพธรรมชาติของพื้นโลกและรับรู้สภาพภูมิอากาศ สัมผัสแดดหรือรับลมในทุกฤดูกาล. ธรรมชาติสร้างเท้าคนมาอย่างดี มันแข็งแรง หนาและใหญ่เพียงพอเพื่อรับน้ำหนักทั้งร่าง เพื่อให้เราเดินได้ วิ่งได้ กระโดดได้ เต้นรำได้. คนมีความสามารถสูงสุดในการเคลื่อนไหวเท้าได้อย่างพิเศษพิสดารมากท่าหลายทางจริงๆเมื่อเทียบกับสัตว์อื่นที่มีสองขาเท่าคน.  สตรีชาวตะวันตกโดยเฉพาะไม่ยอมแลกเสรีภาพของเธอกับการทนทรมานตนเองเกือบตลอดชีวิตในแบบหญิงจีน เพียงเพื่อให้มีเท้าที่กระตุ้นเพศ หรือสวยเพื่อผู้ชาย. เท้าได้เพิ่มนัยยะสำคัญขึ้นอีกมิติหนึ่ง คือเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพของแต่ละบุคคล.

(อ่านรายละเอียดได้ในหัวข้อเรื่อง Foot binding ในวิกิพีเดีย หรือเพ็จอื่นๆก็มี
ตัวอย่างจากที่นี่ http://ns2.web-o-net.com/term-papers.com/accepted-original.002/16410585.html )

โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ รายงาน ณ วันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๘.

No comments:

Post a Comment