Thursday, 23 June 2016

มหัศจรรย์ต้นแปะก้วย - The indestructible force of life

เรารู้กันดีว่า ปลายสงครามโลกครั้งที่สอง เมืองฮิโรชิมาและต่อมาเมืองนางาซากิ ถูกกองทัพอเมริกันถล่มด้วยระเบิดปรมาณู . นั่นเป็นการนำอาวุธนิวเคลียส์มาใช้ในสงครามเป็นครั้งแรก และผลของมันก็ทำให้ทุกคนต้องตลึง หวาดผวาและสุดสลดใจ. หากดูจากสภาพของเมืองฮิโรชีมาหลังจากระเบิดเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ปี 1945  เมืองทั้งเมืองกลายเป็นเมืองร้าง เหี้ยนเตียน สุดลูกหูลูกตา ฝรั่งพูดได้เพียงคำเดียวว่า นั่นคือ อาโปกาลิปส์.
 ทุกสิ่งที่ประกอบด้วยเซลล์, เนื้อหนังมังสาหรือชีวิต, มอดไหม้ราบพนาสูญ.


 เจ็ดหมื่นคนตายทันทีในระเบิด
สถิติปี 1946 รวมผู้เสียชีวิตเพราะบาดเจ็บและจากการแผ่รังสี ทั้งสิ้นหนึ่งแสนสี่หมื่นคน
 การระเบิดและการแผ่รังสี ทำให้อุณหภูมิภาคพื้นโลกตรงนั้น
สูงถึง 3000-4000 องศาเซนติเกรด
ดูรายละเอียดเกี่ยวกับสงครามปรมาณูนี้ได้ที่นี่
และเกี่ยวกับ Memorial Peace Park ได้ที่นี่

สองสามสัปดาห์หลังจากที่ประเทศญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม สหรัฐฯส่งหน่วยผู้เชี่ยวชาญรังสีปรมาณู ให้ไปชึ้นฝั่งเกาะญี่ปุ่นเพื่อสำรวจฮิโรชีมา. ผลการสำรวจปรากฏออกมาอย่างเป็นทางการว่า บนแผ่นดินที่ถูกรังสีปรมาณู จะไม่มีอะไรมีชีวิตต่อไปได้.

      ในบันทึกเหตุการณ์ที่พิพิธภัณฑ์สันติภาพเก็บไว้ (Hiroshima Peace Memorial  Museum 広島平和記念資料館 ) มีการเจาะจงรายละเอียดต่างๆของต้นไม้ที่ถูกรังสีปรมาณูเผาไหม้ไป ว่า 50% ของต้นไม้ทั้งหมดล้มตายเพราะก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่มากับการระเบิดของปรมาณู (SO2 ที่เกิดจากการเผาไหม้ของกำมะถัน) ในวันที่ 6 เดือนสิงหาคมปี 1945. ต่อมาในเดือนกันยายน เกิดพายุไต้ฝุ่นรุนแรง.  วันเวลาผ่านไป บนพื้นที่ที่อยู่ไกลจากใจกลางที่ระเบิดตกลง พวกหญ้าแพรกเริ่มโผล่ขึ้น ตามด้วยพืชพรรณจำนวนน้อย.  ในจำนวนน้อยนิดนี้ มีต้นแปะก้วยรวมอยู่ด้วย 7 ต้น. ใบอ่อนๆแตกตาออกมาจากลำต้นที่เคยถูกเผาเป็นตอตะโก. มันจึงเป็นเรื่องเหลือเชื่อ. ต้นแปะก้วย (Ginkgo biloba) รอดชีวิตจากมหันตภัยมาได้. เช่นต้นที่วัดโฮเซ็งจิ (Hosenji) ที่อยู่ห่างจากใจกลางระเบิด 1,130 เมตร  ทั้งๆที่ทุกอย่างตรงพื้นที่นั้นถูกเผาไหม้ราบเป็นหน้ากลอง แต่ต้นแปะก้วยนั้น ไม่นานต่อมาผลิช่อใหม่และมีชีวิตต่อมา. เกือบห้าสิบปีผ่านไป (ในปี 1994) เมื่อมีการสร้างบูรณะวัดขึ้นใหม่ สถาปนิกอยากจะโค่นต้นแปะก้วยที่นั่นลง เพราะมันกีดขวางการออกแบบ แต่คณะพระสงฆ์ไม่ยอม เพราะต้นแปะก้วยต้นนั้น มีค่าเสมอสารีริกธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ของวัด. สถาปนิกในที่สุด ต้องหาทางออกแบบวัดใหม่ ด้วยการสร้างอาคารทุกขั้นตอนให้ล้อมรอบต้นแปะก้วยต้นนั้น. พึงตระหนักไว้ให้ดีว่า ต้นไม้ที่ผ่านรังสี gamma (แกมมา) มาแล้ว ไม่ควรไปเล่นด้วย อย่าไปแตะต้องดีกว่า.  ต้นแปะก้วยที่นั่นจึงยังคงอยู่มาจนทุกวันนี้ และสถาปัตยกรรมของวัดก็แสดงชัดเจนถึงความสำคัญของต้นไม้ต้นนั้น (ดูภาพข้างล่างนี้). มีแผ่นป้ายโลหะประกาศให้คนรู้ว่า ต้นนี้คือต้นแปะก้วยที่รอดตายจากระเบิดปรมาณู. ยืนยันแก่ชาวโลกว่า ชีวิตไม่เคยยอมแพ้ที่เมืองฮิโรชีมา

 ต้นแปะก้วยที่ Hosen-ji

 

เช่นเดียวกับต้นแปะก้วยที่สวน Shukkeien  縮景 [ฉุกเก้เย็ง] (สร้างขึ้นในปี 1620) ที่อยู่ห่างจากใจกลางไป 1.3 กิโลเมตร. ถูกระเบิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ปี 1945 จนเอนล้มลง ทางการและเจ้าหน้าที่สวน ได้ช่วยกันตัดกิ่งตอนบนๆของมันออกเพื่อมิให้มันล้มลง และทำที่ค้ำที่หนุนเพื่อเสริมให้มันตั้งอยู่ได้. จนบัดนี้ ต้นยังคงเอนๆอยู่แต่มีชีวิตต่อมาได้ ในขณะที่ต้นไม้อื่นๆในสวนตายหมดในปีนั้น. สำหรับชาวเมืองฮิโรชีมา สิ้นสงสัยว่า ต้นแปะก้วยที่กลับฟื้นคืนชีวิตต่อมาได้ คือสัญลักษณ์ของความหวัง เป็นความหวังที่ดุเดือดและดึงดันเพื่อธำรงชีวิต.
ต้นแปะก้วยที่สวน Shukkeien หลังจากถูกบ็อม
ต้นนี้มีเส้นผ่าศูนย์กลางตรงโคนลำต้นประมาณ 4 เมตร สูง 17 เมตร อายุอยู่ในราว 200 ปี. ระหว่างสงคราม ทางการประกาศให้สวน Shukkeien เป็นที่หลบภัยและที่รวมพล จึงมีผู้บาดเจ็บจากการระเบิดไปรวมอยู่ที่สวนนั้น บ่ายวันที่ระเบิดลง เกิดไฟลุกไหม้ขึ้นในป่าภายในบริเวณสวน และเกิดกระแสน้ำวนรุนแรงในแม่น้ำที่อยู่ใกล้ๆ ที่ดูดทั้งคนและสรรพสิ่งแถวนั้นลงไปด้วย คนตายเพิ่มขึ้นอีก. ต้นแปะก้วยที่ฟื้นคืนชีพ ยังมีแผลไหม้เป็นช่องโหว่ที่ลำต้น

สวน Shukkeien กับสะพานครึ่งวงกลม
 เจ้าหน้าที่สวนกำลังอธิบายและชี้ต้นแปะก้วยที่รอดตายมาได้แก่นักท่องเที่ยวญี่ปุ่น
 ต้นเดือนพฤษภาคมปี 2016 นี้ ใบใหม่ออกมาเต็มต้น
 ลำต้นแข็งแรง ยืนหยัดมั่นคง 
 คำประกาศของสหประชาชาติเกี่ยวกับต้นแปะก้วยต้นแม่(ในสวน Shukkeien)ที่เมืองฮิโรชีมา
เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2016 นายกเทศมนตรีเมืองฮิโรชีมา ได้เดินทางนำต้นอ่อนสูง 30 เซนติเมตร ที่เกิดจากต้นแปะก้วยต้นที่สวน Shukkeien นี้ไปไปมอบให้แก่ประธานคณะกรรมการ United Nations Office at Geneva (UNOG) เพื่อปลูกไว้ที่สวน Ariana Park ภายในบริเวณ Le Palais des Nations ที่ตั้งของสหประชาชาติในยุโรป. ความคิดเรื่องนำต้นแปะก้วยที่รอดตายจากระเบิดปรมาณูฮิโรชีมาไปปลูกที่นั่นนั้น เป็นโครงการชื่อ Green Legacy Hiroshima ที่ UNITAR (The United Nations Institute for Training and Research) เป็นผู้เริ่มขึ้น  เพื่อให้ต้นแปะก้วยเป็นสัญลักษณ์ของความหวัง การฟื้นฟูตัวเอง ความไม่ย่อท้อ คังคุณสมบัติพิเศษสุดของต้นแปะก้วยที่ทั้งงามสง่าหาที่เปรียบมิได้ และที่เอื้อเฟื้อต่อมวลชีวิตบนโลกด้วยสรรพคุณทางอาหารและยา อีกทั้งกระตุ้นให้ทุกชาติร่วมมือกันยกเลิกการใช้อาวุธนิวเคลียส์และช่วยกันสร้างสรรค์สันติสุขอย่างถาวรในโลกนี้. คณะกรรมการ UNITAR ยังได้นำเมล็ดจากต้นแปะก้วยทั้งหลายที่รอดตายจากการระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชีมา แจกไปยังเมืองต่างๆใน 25 ประเทศทั่วโลกให้เป็นสัญลักษณ์และสิ่งเตือนใจ.  Ban Ki-Moon เลขาธิการสหประชาชาติ จะเป็นผู้นำต้นแปะก้วยต้นอ่อนจากสวน Shukkeien ที่ UNOG ได้รับมอบไว้แล้ว ปลูกลงดินที่สวนใน Le Palais des Nations ปีนี้. ดูรายละเอียดเรื่องนี้ได้ที่นี่ >>  
นายกเทศมนตรีเมืองฮิโรชีมา มอบต้นกล้าแปะก้วยแก่ UNOC เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2016

      ต้นไม้ที่รอดตายจากระเบิดปรมาณูในปี 1945 ที่เมืองฮิโรชีมา เรียกกันในภาษาญี่ปุ่นว่า Hibakujumoku 被爆樹木 [หิบ๊ะ-กือจึ๊-มกขึ] ในความหมายของ  "survivor tree", หรือ A-bombed tree ในภาษาอังกฤษ ) สรุปกันไว้ว่า ความร้อนจากการระเบิดในสามวินาทีแรก ภายในอาณาบริเวณสามกิโลเมตรจากใจกลางจุดระเบิด ร้อนประมาณ 40 เท่าของความร้อนจากดวงอาทิตย์. ต้นไม้พืชพรรณที่อยู่เหนือพื้นดินถูกรังสีปรมาณูทำลายโดยตรง แต่ส่วนที่อยู่ลึกลงไปใต้ดินนั้นมิได้โดนเข้าจังๆ. ความสามารถในการฟื้นฟูตัวเองของต้นไม้เหล่านั้น ขึ้นอยู่กับชนิดและพันธุ์. ต้นที่มีใบไม้แผ่กว้างกว่า ดูเหมือนจะฟื้นฟูได้เร็วกว่า. จากการสำรวจในปี  2011 ต้นไม้ประมาณ 170 ชนิดที่เติบโตในเมืองฮิโรชีมา เป็นต้นไม้พันธุ์ที่เติบโตที่นั่นมาก่อนเหตุการณ์ถล่มเมืองฮิโรชีมา. การตรวจดูศักยภาพของการฟื้นฟูของต้นไม้แต่ละสายพันธุ์ ยังผลให้ต้น oleander 夾竹桃 [キョウチクト] หรือ kyochikuto [เคียวจิ๊กกือโตะ] หรือต้นยี่โถ ได้รับเลือกให้เป็นต้นไม้ของเมืองฮิโรชีมาอย่างเป็นทางการเพราะคุณสมบัติที่ตื่นตัวมีพละกำลังของมัน.     

      สิ่งมีชีวิตที่รอดตายจากระเบิดนิวเคลียส์มาได้นั้น ต้องเป็นชีวิตที่มิมีอะไรทำลายได้. ถ้าเป็นเช่นนั้น ความลับเกี่ยวกับธรรมชาติของต้นแปะก้วยมีคุณค่ามหาศาล. นักวิทยาศาสตร์ตั้งฉายาแก่ต้นแปะก้วยว่า เป็นฟอสซิลที่มีชีวิต (the living fossil) ว่าเป็นต้นไม้ที่แข็งแรงทนทานที่สุดในอาณาจักรของพืชพรรณ.  เป็นต้นไม้ที่มีศักยภาพสูงในการต้านโรค ต้านแมลง และสามารถผลิตรากและต้นกล้า(จากลำต้น)ในอากาศ. เป็นต้นไม้ที่มีอายุยืนนาน บางต้นอยู่มาได้ถึง 2500 ปี.
        ต้นแปะก้วยเป็นต้นไม้เดียวในตระกูล Ginkgoales ที่ยังมีชีวิตเหลืออยู่บนโลก และเป็นหนึ่งเดียวในวงศ์ Ginkgoacées ที่ยังเหลืออยู่. เดิมเคยมีสมาชิกร่วมวงศ์ 18 ประเภทที่หายสูญไปจากโลกแล้ว. ฟอสซิลทั้งหลายของสมาชิกในวงศ์นี้ จัดอายุอยู่ในราว 270 ล้านปี. ให้นึกเทียบว่ายุคไดโนเสาร์ หรือยุค Jurassic นั้นประมาณว่าอยู่ในช่วง 213 ล้านปีก่อน. นั่นคือต้นแปะก้วยมีอยู่ในโลกแล้วก่อนยุคไดโนเสาร์ประมาณห้าสิบเจ็ดล้านปี. และในราว 144 ล้านปีก่อน ต้นแปะก้วยมีหลายสายพันธุ์และขึ้นอย่างอุดมสมบูรณ์บนพื้นผิวโลกที่ต่อมาคือทวีปเอเชีย, ยุโรปและอเมริกาเหนือ. 160 ล้านปีต่อมา เมื่อเกิดปรากฏการณ์ลูกอุกกาบาตขนาดใหญ่พุ่งเข้าชนโลก ได้ทำลายสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่มีในตอนนั้น(ทั้งไดโนเสาร์ด้วย)หายสูญไปจากผิวพื้นโลก ยกเว้นต้นแปะก้วยที่รอดตายมาได้และฟื้นตัวขึ้นมาใหม่. หลักฐานจากการบันทึกฟอสซิล เจาะจงกันว่า ราว 7 ล้านปีก่อน ต้นแปะก้วยหายไปจากทวีปอเมริกาเหนือ และราว 2.5 ล้านปีก่อน ก็หายไปจากยุโรป. ต้นแปะก้วยเจริญเติบโตในภูมิอากาศชื้นและอบอุ่น. ฟอสซิลของใบแปะก้วยที่พบในจีน เหมือนใบแปะก้วยในยุคปัจจุบันมาก ทำให้เชื่อว่า ต้นแปะก้วยไม่เคยเปลี่ยนหรือวิวัฒน์พัฒนาแปลกแยกแตกต่างออกไปเลยตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงปัจจุบัน. เป็นต้นไม้ที่มีเมล็ดที่เก่าแก่ที่สุดในโลกของพืชพรรณ. จึงเป็นความมหัศจรรย์ใจไม่รู้วายของเหล่านักวิทยาศาสตร์. ในที่สุดต้นแปะก้วยเป็นสิ่งมีชีวิตสิ่งเดียวในโลกของเรานี้ ที่เป็นตัวเชื่อมโลกโบราณกับโลกปัจจุบัน. สิ้นสงสัยกันแล้วว่า ความรู้ที่ได้จากการศึกษาต้นแปะก้วยจะเป็นฐานสำคัญสู่ความเข้าใจวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนโลกในบริบทต่างๆอย่างยิ่ง.
ตัวอย่างฟอสซิลของใบแปะก้วย
ชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งชื่อ Sakugoro Hirase (1856-1925) สนใจต้นไม้นี้เป็นพิเศษในฐานะที่เป็นนักวาดภาพพืชพรรณประจำแผนกวิทยาศาสตร์ของ Imperial University ในปี 1888 (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยโตเกียว) และต่อมาเป็นผู้ช่วยนักวิจัย (assistant researcher). เขาพัฒนาทักษะความชำนาญในเทคนิคการศึกษาวิเคราะห์วิจัยพืชพรรณด้วยตัวเขาเอง และตั้งแต่ปี 1893 เขาเริ่มศึกษาด้านการกระจายพันธุ์และกระบวนการกำเนิดของตัวอ่อน (embryo - อ็มบรีโอ) ของต้นแปะก้วย. และได้เห็นขนอ่อนๆที่เคลื่อนไหวได้ในเซลล์สืบพันธุ์ของผลแปะก้วยเพศเมียเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 กันยายน 1896. นั่นเป็นการค้นพบที่ปฏิวัติความรู้ในเรื่องพืชที่มีเมล็ด. เขาประจักษ์ว่า ต้นแปะก้วยนั้น อยู่ระหว่างพืชตระกูลเฟิร์นและพืชตระกูลสน. การค้นพบนี้ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารพฤกษศาสตร์ของโตเกียว (เป็นภาษาญี่ปุ่น) ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน และเป็นที่รับรู้และยอมรับกันไปทั่วโลก. ยังผลให้มีการตั้งวงศ์ Ginkgoacées ขึ้นในปี 1897 และตั้งตระกลู Ginkgoales ขึ้นในปี 1898.
        หลังจากนั้นไม่นาน นักวิจัยชาวญี่ปุ่นอีกคนหนึ่งชื่อ Ikeno ได้ค้นพบเซลล์สืบพันธุ์แบบเดียวกันในต้นปาล์ม Cycas revolute (ชื่อสามัญว่า Sago palm). ทั้ง Hirase และ Ikeno ได้รับรางวัลจากราชบัณฑิตยสภาของญี่ปุ่นในปี 1912. หนึ่งปีหลังจากนั้น Hirase ได้ลาออกและไปเป็นครูสอนในโรงเรียนแห่งหนึ่ง. คิดกันว่า การที่เขาต้องลาออกนั้น เป็นเพราะเขาไม่มีปริญญาใดมาก่อนจากมหาวิทยาลัยใด. ทั้งๆที่ในยุคนั้น ผู้ร่วมงานและสมาคมพฤกษศาสตร์ของญี่ปุ่น ชื่นชมความเพียรพยายามของเขามาก. ส่วน Ikeno ผู้เป็นผู้ช่วยอาจารย์ต่อมา ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นศาสตราจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์มหาวิทยาลัยโตเกียว. เขาได้เขียนคำไว้อาลัยให้แก่ Hirase เมื่อ Hirase ถึงแก่กรรมในปี 1925.
        งานวิจัยดังกล่าวมา ได้กระตุ้นความสนใจแก่นักพฤกษศาสตร์ชาวญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง. ผลการวิเคราะห์วิจัยได้นำความรู้ใหม่ๆเกี่ยวกับต้นแปะก้วยมาสู่สังคมตลอดศตวรรษที่ 20.  ในปี 1932 นักเคมี Furukawa เกิดเอะใจขึ้นมาเกี่ยวกับต้นแปะก้วย และทำให้เขาเริ่มศึกษาวิทยาศาสตร์พืชพรรณอย่างเจาะลึกและคุ้ยหาคุณสมบัติที่ซ่อนอยู่ในต้นแปะก้วยที่คนยังหยั่งไม่ถึง. แต่โมเลกุลของพืชต้นนี้สลับซับซ้อนยิ่งนัก เขาต้องใช้เวลาสิบกว่าปีเพื่อพัฒนาการวิจัยเรื่องนี้อย่างเจาะลึกไปในทุกมิติ จนในที่สุดเขาสามารถแยกแยะโครงสร้างทางเคมี ginkgolides ของต้นแปะก้วยเป็นครั้งแรก และในปี 1966 Koji Nakanishi ก็สืบสานการค้นคว้าทางโครงสร้างทางเคมีของแปะก้วยต่อมาอย่างเป็นผลสำเร็จ.  
       การแพทย์แผนจีนใช้ผลแปะก้วยเสมอมา. ผลแปะก้วยเป็นอาหารในจีนอย่างน้อยตั้งแต่ยุคราชวงศ์ฮั่น (Han ราวสองร้อยปีกว่าก่อนคริสตกาล).  ตั้งแต่ราชวงศ์ Sung และราชวงศ์ Yuan เป็นต้นมา มีการปลูกต้นแปะก้วยทั่วไปในประเทศจีน. บันทึกในปี 1578 ระบุว่าคู่บ่าวสาวกินผลแปะก้วยในพิธีแต่งงาน และอาหารที่กินกันในเทศกาลต่างๆใช้ผลแปะก้วยทำด้วย บางทีก็ใช้ผลแปะก้วยแทนเม็ดบัว. โดยทั่วไปชาวจีนดูแลทนุถนอมต้นแปะก้วยที่มีอายุยืนนานมากเป็นพิเศษ โดยมิได้เกี่ยวข้องกับความเชื่องมงายใดๆ. ลำพังความงามของต้นไม้และผลแปะก้วยที่มีสรรพคุณสูง ก็มีความหมายมากเพียงพอสำหรับทุกคน.
      ญี่ปุ่นใช้ผลแปะก้วยตามแพทย์แผนจีน. ความรัก ความประณีตและความพร้อมที่เหนือกว่า ทำให้ชาวญี่ปุ่นกลายเป็นผู้เผยแผ่ภาพลักษณ์และสรรพคุณของต้นแปะก้วยแก่ชาวตะวันตกอย่างลึกซึ้งกว่าชาวจีนในยุคเดียวกันและยุคต่อมา. ผลแปะก้วยปรากฏในจารึกเก่าญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 1492 และเป็นส่วนประกอบในขนมหรือของขบเคี้ยวสำหรับพิธีชา. ในสมัย Edo  [เอโด๊ะ] (1600-1867) สามัญชนชาวญี่ปุ่นเริ่มกินผลแปะก้วยเหมือนกินผักชนิดหนึ่งและใช้เป็นเครื่องปรุงอย่างหนึ่งในอาหารและของหมักดองหลายประเภท. ในศตวรรษที่ 18 ผลแปะก้วยเป็นอาหารขบเคี้ยวเมื่อดื่มเหล้าสาเก saké [ซาเก๊ะ] (เหล้าญี่ปุ่นนี้หมักขึ้นจากข้าวสารที่สีแล้ว มีปริมาณแอลกอฮอลโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 15-16 % ปริมาตร). คนกินแปะก้วยแบบเผาหรือแบบต้ม และที่นิยมกันทั่วไปคือใส่ลงในไข่ตุ๋นแบบญี่ปุ่นที่เรียกว่า chawanmushi  [ฉะวั้งมือฉิ] ( แปลว่า ชา / แปลว่า ถ้วย มักเป็นถ้วยดินเผา / แปลว่า อบไอน้ำ รวมกันหมายถึง ถ้วยไข่ตุ๋นตามแบบญี่ปุ่น และในอาหารประเภทหม้อไฟที่มักกินกันในฤดูนาวที่เรียกว่า nabe-ryori   [นาเบ้ะ-หริโอ้-รี] ( แปลว่า หม้อแบบหม้อสุกี้ มักเป็นหม้อดิน /แปลว่า ปรุงอาหาร, ศิลปะการทำอาหาร)
Flora Japonica par Siebold et Zuccarini, Leyde 1835/42.
ในภาพนี้ ใช้ชื่อเรียกแปะก้วยว่า Salisburia
ต่อมาชื่อนี้ตกไป ชื่อ Ginkgo เข้ามาแทนจนทุกวันนี้
       ส่วนการแพทย์ตะวันตกใช้ใบแปะก้วยมากกว่า. ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 เป็นต้นมา การแพทย์ตะวันตกเริ่มศึกษาและใช้แปะก้วยเป็นพืชสมุนไพร.  นายแพทย์ C.A.Stuart และ F.Porter Smith ได้แปลตำราสมุนไพรของจีน ที่ Li Shih-Chen (ฉบับปี 1578) ที่รวบรวมมาจากผลงานของ Pen Tsao Kang Mu.  นายแพทย์ตะวันตกทั้งสอง ต่างยืนยันสรรพคุณของผลแปะก้วยว่าช่วยแก้อาการหืดหอบ แก้ไอ แก้ลำไส้อักเสบ ช่วยในระบบขับถ่ายเป็นต้น. กินผลแปะก้วยสดๆ ช่วยกำจัดเซลล์มะเร็ง และช่วยหยุดการกระจายของไวรัส. หากกินสุก มันช่วยในการดูดซึมและกำจัดพาราสิก. จากยุคนั้นเป็นต้นมา มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับต้นและผลแปะก้วยมากขึ้นๆ ไม่เพียงแต่นักพฤกษศาสตร์เท่านั้น ยังรวมถึงผู้ชำนาญเรื่องสัตว์และพืชดึกดำบรรพ์, นักชีวเคมี, นักประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและนักเทววิทยา. ในปัจจุบันมีข้อมูลความรู้เกี่ยวกับต้นแปะก้วยจำนวนมากในทุกภาษา ที่อาจหาอ่านได้จากเพจต่างๆในอินเตอเน็ต. ยุโรป อเมริกา แคนาดาและประเทศอื่นๆอีกจำนวนมาก นำสรรพคุณของแปะก้วยไปใช้ให้เป็นประโยชน์ทั้งทางโภชนาการและทางการเยียวยารักษา
การแตกหน่อของต้นแปะก้วยต้นผู้
 การแตกหน่อของต้นแปะก้วยต้นเมีย
ผลแปะก้วยในฤดูร้อนและต่อมาเมื่อมันสุกพร้อมจะร่วงหล่นลงในฤดูใบไม้ร่วง

วิธีกินผลแปะก้วยที่มีประโยชน์ทันตาเห็นแบบหนึ่ง แทนการต้มจนผลแปะก้วยป่องพองเป็นสีเหลืองๆขาวๆที่คนไทยคุ้นเคย คือการเผาหรือคั่วไปมาบนเตา โรยเกลือลงไปด้วย เสร็จแล้วจะแกะเปลือกแข็งของผลแปะก้วยได้ง่าย ผลภายในเป็นสีเขียวใสเหมือนมรกต กินได้เลย. กินแบบนี้จะให้พลัง ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายโดยเฉพาะในฤดูหนาว แต่ในอากาศร้อนๆอย่างเมืองไทย ต้องรู้จักกินแค่พอประมาณ (ไม่เกิน 3-4 ลูก) เพราะอาจทำให้ร้อนในได้.

ชื่อแปะก้วย แปลว่า ผลไม้สีขาว. ดั้งเดิมขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีนแถบเทือกเขา Tianmenshan   เป็นพันธุ์ที่เพาะปลูกขึ้น พันธุ์ดั้งเดิมที่ขึ้นเองในป่านั้นสูญพันธุ์ไปเกือบหมด(ว่างั้น). จากที่นั่น ต้นแปะก้วยเข้าไปในญี่ปุ่นและเกาหลีในราวศตวรรษที่ 12. คนไทยคุ้นเคยกับชื่อแปะก้วย ส่วนชื่อ ginkgo [กิ๊งโก่] นั้น มาจากการอ่านถอดเสียงคำจีน 銀杏 (เงิน/สีเงิน + abricot) ของคนญี่ปุ่น (ซึ่งไม่ตรงกับเสียงในภาษาจีน yínxìng และที่ใช้เรียกผลแปะก้วย ที่มีลักษณะคล้ายผล abricot สีเงิน. ปัจจุบันคนญี่ปุ่นเรียกต้นแปะก้วยว่า イチョ [อิโจ] และผลแปะก้วยว่า ว่า ginnan ぎんなん [กินนัง]. ในภาษาเกาหลีเรียกว่า 은행 (eunhaeng) คำนี้มีสองความหมายแปลว่า ผลแปะก้วย และธนาคาร. เมื่อต้องการเจาะจง อาจเติมคำว่า (ที่แปลว่า ต้นไม้) เข้าตรงท้ายเป็น 은행  [อึนแฮ็งนามู] คือต้นแปะก้วย.
      ตะวันตกยึดเอาการออกเสียงของ ginkgo รวมทั้งการเขียนด้วยอักษรโรมันดังกล่าว ซึ่งปรากฎว่าเป็นการถอดอักษรผิดของ Engelbert Kaempfer (1651-1716 แพทย์, นักธรรมชาติวิทยาชาวเยอรมัน) ผู้ไปอยู่ที่ญี่ปุ่น มีหน้าที่อยู่ในบริษัทเดินเรืออินดีสของเนเธอแลนด์. เขาเป็นชาวตะวันตกคนแรกที่ได้เขียนบรรยายต้นแปะก้วย สิ่งที่เขาเขียนนั้นปรากฏอยู่ในอนุทินชีวิตของเขาที่รวมเป็นเล่มในชื่อว่า Amoentatum exoticarum ที่พิมพ์ออกมาในปี 1712  เขายังได้นำต้นกล้ากลับมาปลูกในแคว้นสหภาพยุโรปตอนเหนือ(ที่ต่อมาหลายแคว้นรวมกันเป็นประเทศเนเธอแลนด์ และเบลเยี่ยมกับลักเซมเบิร์ก) และโดยเฉพาะในสวนพฤกษศาสตร์เมือง Utrecht. ประมาณกันว่าในปี 1730 เกิดต้นแปะก้วยต้นแรกในยุโรป.  Engelbert Kaempfer ได้จดชื่อคำอ่านของต้นแปะก้วยตามที่ชาวญี่ปุ่นอ่าน แต่เกิดผิดพลาดไปเพราะเขาไปใช้คำ kyo (เช่น kyo ในคำเกียวโต) บวกเข้าไปในคำ gin ที่แปลว่าเงิน/สีเงินๆ. เขาจึงถอดเสียงชื่อต้นนี้เป็น gin + kyo  และเมื่ออ่านตัดเสียงเป็น gink เสียง yo กลายไปเป็น go. และเพราะเขาถอดเสียงออกเป็นตัวอักษรโรมันผิดนี่เอง คำนี้จึงเขียนผิดๆมาตลอดสามศตวรรษและยังคงใช้ต่อกันมา. Carl von Linné (หรือ Carl Linnaeus, 1707-1778 นักพฤกษศาสตร์ชาวสวีเดน) นำคำโรมันของเขามาใช้เลยเมื่อเกี่ยวกับพืชพรรณจากญี่ปุ่น ในเมื่อเขาเองไม่เคยไปและไม่คุ้นกับเสียงคำต่างๆในภาษาญี่ปุ่น. การจะตามไปแก้เอกสารต่างๆ ทำไม่ไหวกัน. ในที่สุดชื่อทางพฤกษศาสตร์อย่างเป็นทางการจึงเป็น Ginkgo biloba.  คำ biloba ที่มาต่อท้ายเพื่อเจาะจงรูปลักษณ์ของใบไม้ของต้นแปะก้วยว่า ที่มีรอยแยกกลางใบที่คลี่ออกสองข้างเหมือนพัด (จากคำว่า bis แปลว่า สอง และคำว่า lobe ที่แปลว่า กลีบ หรือ ใบ เช่นในลักษณะของใบหู). อิทธิพลของศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่นนั้น แพร่ออกไปในยุโรป และโดยเฉพาะในหมู่ปัญญาชนและศิลปินที่ต่างสะสมสรรพสิ่งจากญี่ปุ่นรวมทั้งจิตรกรรมภาพพิมพ์ ukiyo-e 浮世 [อุกีโยเอ๊ะ] (ศิลปะภาพพิมพ์สีจากบล็อกไม้ที่ศิลปินแกะสลักเป็นภาพเนื้อหาชีวิตและวิถีชุมชน เป็นสื่อศิลปะที่โดดเด่นขึ้นมาในระหว่างศตวรรษที่ 17-19) ที่มีส่วนดลใจแนวทางการสร้างสรรค์ของ Vincent van Gogh หรือ Claude Monet เป็นต้น. เช่นนี้ต้นแปะก้วยก็เป็นสิ่งหนึ่งใน โลกญี่ปุ่นที่ชาวตะวันตกได้เรียนรู้จากการสำรวจ การเดินเรือค้าขาย จนถึงการล่าอาณานิคม.  
        มีบันทึกของ Johann Wolfgang von Goethe (1749-1832 กวี, นักประพันธ์, นักปราชญ์และนักการเมืองชาวเยอรมัน) ได้เก็บใบแปะก้วยจากอุทยานปราสาทเมือง Heidelberg และส่งใบหนึ่งไปให้หญิงคนรักชื่อ Marianne von Willemer. กวีได้ร่างกลอนบทหนึ่งและอ่านให้เธอและเพื่อนๆฟังขณะล่องเรือไปบนแม่น้ำ Main ที่ Gerbermühle ย่านตากอากาศของเมือง Frankfurt-am-Main (15 กันยายน 1815).  ทั้งสองพบกันอีกในวันที่ 23 กันยายน 1815, Goethe ได้นำใบแปะก้วยสองใบ แปะติดลง บนกระดาษบทกลอนที่เขาแต่งและเขียนด้วยลายมือของเขาเอง ดังภาพข้างล่างนี้ 
เอกสารดั้งเดิมฉบับนี้ ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Goethe Museum เมือง Düsseldorf ประเทศเยอรมนี โคลงบทนี้ มีดังนี้ >>
Dieses Baums Blatt, der von Osten
Meinem Garten anvertraut,
Gibt geheimen Sinn zu kosten,
Wie's den Wissenden erbaut.

Ist es ein lebendig Wesen,
Das sich in sich selbst getrennt?
Sind es zwei, die sich erlesen,
Dasz man sie als Eines kennt?

Solche Frage zu erwidern,
Fand ich wohl den rechten Sinn:
Fühlst du nicht an meinen Liedern,
Dasz ich Eins und doppelt bin?
ใจความว่า >>> ใบไม้จากต้นไม้ที่ตะวันออกได้มอบแก่สวนของผม แนะให้คนฉลาดที่รู้จักมอง จับนัยความหมายลับที่ซ่อนอยู่
ฤานั่นจะเป็นอะไรที่พิเศษไม่มีสองที่ฉีกแยกตัวมันออก หรือเป็นสองสิ่งที่เลือกกันและกันเพราะต้องการรวมเป็นหนึ่งเดียว 
ผมตอบคำถามนี้ได้ เพราะได้เจาะทะลุนัยของปริศนาแล้ว คุณไม่รู้หรือเมื่ออ่านคำกลอนของผม ว่าผมเป็นหนึ่งและก็เป็นสอง 
Goethe ได้ส่งแผ่นบันทึกบทกลอนของเขาไปให้หญิงคนรักในวันที่ 27 กันยายน 1815.  ใบแปะก้วยเป็นภาพลักษณ์ทั้งของความเป็นหนึ่งและความเป็นทวิภาค จึงได้ดลใจกวีให้แต่งบทกลอนดังกล่าว. บทกวีนี้ปรากฏพิมพ์ในหนัสือ West-östlichen Divan ในปี 1819 และเจาะจงใช้ชื่อว่า Ginkgo biloba (เขียนตามอักษรดังที่เห็นนี้). ส่วนวันที่ 15 กันยายน 1815 ที่ปรากฏเขียนไว้บนแผ่นกระดาษ หมายถึงวันที่เขาและเธอไปพักผ่อนที่ Gerbermühle (ชื่อสถานที่บอกให้รู้ว่า บริเวณนั้นเคยเป็นโรงสีข้าวโม่ข้าวให้เป็นแป้งข้าวสาลี ที่ต่อมามีการบูรณะเป็นโรงแรมหรู)
  ภาพนี้จากอินเตอเน็ต กำกับไว้เพียง Annette Versel
ที่น่าจะหมายถึงสตรีในวงกลมเล็กๆตอนล่างของภาพ
ภาพนี้ที่ Gerbermühle. กวี Goethe ได้เขียนกลอนกำกับไว้
ลงวันที่ 28 August 1816 คนละปีกับที่กวีไปกับหญิงคนรัก
       ต้นแปะก้วยนี้ เรียกกันต่างๆในภาษาต่างๆในยุโรป ตามจินตนาการเป็นส่วนใหญ่ เช่น ในภาษาอังกฤษเรียกว่าเป็นต้น maidenhair tree เพราะใบไม้เหมือนกับปลายสุดของใบเฟิร์น (ต้น maidenhair fern, Adiantum capillus-veneris)
       ส่วนในภาษาฝรั่งเศสนั้น มีชื่อเรียกที่ไม่เกี่ยวกับรูปลักษณ์ใดๆของต้นแปะก้วย แต่กลับไปเกี่ยวกับราคาของต้นไม้นี้ ในบริบทเจาะจงของ M. de Pétigny ชาวฝรั่งเศสผู้ค้าขายเพาะพันธุ์พืช เขาได้ซื้อต้นแปะก้วยจำนวน 5 ต้นกับนักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษ(ไม่ปรากฏนาม) เป็นจำนวนเงินมหาศาลในปี 1780 คือประมาณ 40 écus d’or คือสี่สิบเหรียญทองต่อต้น ( ประมาณ 500 ยูโรในปัจจุบัน. écu เป็นเหรียญกษาปณ์ ที่ใช้กันในยุโรปและโดยเฉพาะในฝรั่งเศสที่เริ่มผลิตออกใช้ตั้งแต่ราวปี 1263 ในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่เก้าเพื่อให้เป็นเงินตราร่วมกันของทั้งราชอาณาจักร มีทั้งเหรียญทอง เหรียญเงินและเหรียญทองแดง จนถึงปี 1878 จึงหยุดผลิต เหรียญนี้หยุดใช้ในฝรั่งเศสในปี 1920 )  เชื่อกันว่า ต้น Ginkgo ที่ขึ้นในฝรั่งเศสทั้งหมดเป็นลูกหลานของห้าต้นที่เขาซื้อไปปลูกและเพาะพันธุ์ในฝรั่งเศส.  ยังมีสำนวนเรียกต้นแปะก้วยว่า « arbre aux mille écus » แพงยิ่งขึ้นอีกเพราะเทียบกับ 1000 écus แต่เป็นค่าเชิงอุปมาอุปมัยที่โยงไปถึงใบไม้สีเหลืองทองอร่ามในฤดูใบไม้ร่วง และที่ร่วงพลูจากต้นประหนึ่งแผ่นทองคำ ที่โปรยลงปูพื้นเป็นพรมสีทองคำใต้ฝ่าเท้า.   
 
      ใบแปะก้วย เป็นใบไม้ประจำเมืองโตเกียว ใบให้แผ่ออกในสไตล์คล้ายตัวอักษรโรมันที T หลังโค้ง แทนอักษร T ในคำอังกฤษ Tokyo. เน้นนัยของการเจริญพัฒนา ความอุดมสมบูรณ์ เสน่ห์และความสงบสุข.  ต้นแปะก้วยมักปรากฏกล่าวถึงในนวนิยายญี่ปุ่นในสมัยเมจิ (Meiji, 明治時代  Meiji-jidai ในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคมปี 1868 ถึงวันที่ 30 กรกฎาคมปี 1912) แต่ก็ยังน้อยกว่าต้นและดอกซากระในฤดูใบไม้ผลิ หรือต้นเมเปิลในฤดูใบไม้ร่วง. ส่วนประเทศจีนใช้ต้นแปะก้วยเป็นต้นไม้ประจำชาติ.

      ที่โตเกียวมีถนนที่ปลูกต้นแปะก้วยสองข้าง (เมืองอื่นก็มีเช่นกัน) ถนนสายนี้ Ginkgo Trees Avenue ยาวประมาณ 300 เมตร ทอดเชื่อมกับถนนสาย Aoyama Dori 青山通 และต่อไปยังศาลเจ้า MeijiJingu Gaein 明治神宮外苑. มีต้นแปะก้วยเรียงรายสองฝั่งถนน 159 ต้น. เวลาที่น่าไปชมที่สุด ปกติแล้วคือสองสามวันสุดท้ายของเดือนพฤศจิกายนจนถึงต้นเดือนธันวาคม.  พึงทราบว่า เมื่อใบต้นแปะก้วยเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทองแล้ว มันจะร่วงภายในระยะเวลาสั้นมาก คือตั้งแต่ 1-15 วัน ก็หมดต้นเลย.
ชมและฟังเพลงพร้อมกับเดินไปตามถนนสายนี้ที่โตเกียวในคลิปวิดีโอนี้ น่าเสียดายที่ภาพสั่นๆ แต่เพลงเพราะและที่เราคุ้นเคย หรือเข้าไปดูที่นี่ ภาพชัดว่า แต่มีดนตรีอื่น 
สำหรับผู้ที่สนใจเนื้อเพลงสุกียากี้ เข้าไปดูได้ที่นี่ บทแปลที่นำไปร้องในเวอชั่นภาษาอังกฤษ มีหลายฉบับ แล้วแต่(คณะ)นักร้อง.  

ข้อมูลด้านสรรพคุณของแปะก้วยทั้งผลและใบ มีให้อ่านเป็นจำนวนมากในเน็ตสำหรับผู้สนใจ. สำหรับข้าพเจ้า ขอจบบันทึกเรื่องต้นแปะก้วยแต่เพียงเท่านี้.  ภาพต้นแปะก้วยที่เคยเห็นมาในชีวิตตั้งแต่ในบริเวณหอพักมหาวิทยาลัยที่ปารีส (la Cité Universitaire, boulevard Jourdan) หรือต้นแปะก้วยในประเทศต่างๆ รวมทั้งแนวต้นแปะก้วยบนเส้นทางที่ข้าพเจ้าขี่จักรยานสามล้อไปยังมหาวิทยาลัยเท็นรี. ในฤดูใบไม้ร่วง ต้องขี่ไปบนผลแปะก้วยที่ร่วงหล่นลงบนพื้นถนนสายนั้น. มีคนไปเก็บผลแปะก้วยเหมือนกัน แต่ก็ยังเกลื่อนถนน. ไม่เคยได้หยุดเก็บมั่ง เพราะต้องรีบไปสอน.

นำภาพจากกล้องของตัวเอง (ได้ปรับแสงให้ชัดเจนขึ้น) ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2003 เช้าสิบโมง ณพื้นที่อุทยานหน้าที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ 水戸市県立歴史  Mito City Prefectural Museum of History เมือง Mito [มีโต๊ะ] ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงโตเกียว เมื่อเทียบกับถนนสายแปะก้วยที่โตเกียว อาจจะมีต้นไม้น้อยกว่า ถนนสั้นกว่า แต่สงบกว่า ได้ใกล้ชิดต้นไม้มากกว่า และสูดอากาศกับความงามสีทองของสถานที่อย่างเต็มที่โดยไม่มีใครบัง. เป็นความเบิกบานใจที่ยังไม่ลืม  
 ช่างภาพคนหนึ่งกำลังตั้งใจ ต้องพร้อมที่จะนั่งหรือนอนลงเพื่อภาพ once in a lifetime
 ดูบนพื้น ใบไม้ร่วงลงไปมากแล้ว
ต้นแรกด้านขวาเหลือใบน้อยมาก ภายในไม่ถึงชั่วโมงก็จะไม่เหลือสักใบ 
 ปูย่าพาหลานไปเดินเล่น
 พรมสีทองผืนใหญ่ปูคลุมพื้นที่สนาม 
 ป้าอยากสนุกอย่างหนูบ้าง 

สีเหลืองสว่างสุกใสในยามที่อากาศหนาวเย็น ทำให้รู้สึกอบอุ่น สดชื่นและจิตใจเบิกบาน.  
ขอบคุณต้นแปะก้วย ต้นไม้ที่รักที่จะยังอยู่ในใจข้าพเจ้าตลอดไป.

บันทึกความทรงจำของ โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ ณ วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๙.