Sunday 5 June 2016

เมื่อประกบทิวลิปกับดอกบัว - Tulip and Water lily



อักษรศาสตร์รุ่น ๓๕ หลายคน ได้มีโอกาสไปชมนิทรรศการ  “ ๑๐๐ พฤกษชาติอวดโฉม ฉลอง ๑๐๐ ปีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ” ของศิลปินพันธุ์ศักดิ์ จักกะพาก (Phansakdi Chakkaphak) ที่หอศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๙  โดยมีศิลปินเป็นผู้นำและบรรยายให้พวกเราฟังอย่างเข้มข้นเพียบเนื้อหาสาระตลอดเวลาเกือบสองชั่วโมง  เป็นอภิสิทธิ์ที่เราจักไม่ลืม. นิทรรศการนี้มีตั้งแต่วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ถึงวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๙. 
ดาวจรัสประกายเพชร คือศิลปินอาจารย์พันธุ์ศักดิ์ จักกะพาก
ดาวเข้มจิตอารีย์คือเพื่อนอาจารย์นพมาส แววหงษ์ ผู้ติดต่อเชิญศิลปินมาพบกับพวกเรา
ภาพจากกล้องของวงเดือน นาราสัจจ์  
       เราเดินดูภาพทั้งหมด มีศิลปินเป็นผู้อธิบายเคล็ดหรือเกร็ดย่อยที่เกี่ยวกับภาพพฤกษชาติแต่ละภาพ สั้นบ้างยาวบ้าง เนื่องจากเวลาที่มีไม่มาก ทำให้ไม่ได้ฟังคำบรรยายของหลายภาพ. ภาพหนึ่งที่ตรึงความสนใจของข้าพเจ้าเป็นพิเศษและข้าพเจ้าก็คอยฟังเกี่ยวกับภาพนั้น แต่พอเดินถึงภาพนั้น กลับมีผู้มาดึงตัวศิลปินไปถ่ายรูปและเดินไปยังรูปอื่น. ข้าพเจ้ายืนดูภาพนั้นหลายรอบ ดูจนดวงตาเห็นธรรม. ภาพที่ข้าพเจ้าสนใจนั้น คือภาพข้างล่างนี้ ที่นำมาจากเว็ปไซต์ Pinterest.com  ภาพนี้ได้กระตุ้นให้ข้าพเจ้าครุ่นคิดเกี่ยวกับการประกบทิวลิปกับดอกบัว 

ทันทีที่เห็นภาพ สมองโยงไปถึง Tulipomania ที่ข้าพเจ้าเคยค้นหาความรู้และตามไปดูภาพจิตรกรรมที่เกี่ยวข้องที่ประเทศเนเธอแลนด์ ไปยังพิพิธภัณฑ์ทิวลิปทั้งที่กรุงอัมสเตอดัมและโดยเฉพาะที่เมือง Lisse ที่ครบวงจรกว่า กับตามไปดูจิตรกรรมเกี่ยวกับดอกทิวลิปของ Frans Hals ที่เมือง Haarlem เป็นต้น. ในที่สุดได้เขียนบทความเกี่ยวกับดอกทิวลิปจากข้อมูลต่างๆที่ไปเรียนรู้และสัมผัสมา. ดอกทิวลิปทั้งสองในภาพของอาจารย์พันธุ์ศักดิ์ มีรูปลักษณ์เดียวกับดอกทิวลิปที่ผู้คนคลั่งไคล้กันจนเป็นปรากฎการณ์ระดับชาติจนถึงระดับยุโรป ที่ปรากฏวาดไว้พร้อมชื่อกำกับดอกทิวลิปพันธุ์นั้นในประวัติจิตรกรรมยุคศตวรรษที่ ๑๗ ในฮอลแลนด์  ดอกทิวลิปราคาแพงที่สุดและเป็นราชินีของดอกทิวลิปทั้งมวลชื่อว่า Semper Augustus และดอกที่รองลงไปในอันดับสองชื่อว่า Viceroy.
      ศิลปินได้นำรูปลักษณ์พิเศษของดอกทิวลิปที่ฝังในความทรงจำของชาวยุโรป มาเป็นองค์ประกอบควบคู่ไปกับภาพดอกบัวและฝักบัวที่ชาวไทยเราคุ้นเคยเป็นอย่างดี  ดูภาพแล้วทำให้ตระหนักชัดเจนถึงความลุ่มหลงลมๆแล้งๆในสิ่งที่ร่วงโรยได้ชั่วข้ามคืน ความหลงที่กลายเป็นความบ้าคลั่งของผู้คนในฮอลแลนด์ยุคศตวรรษที่ 17 ที่ยอมขายบ้านขายที่ดิน ขายทรัพย์สินเครื่องเพชรพลอยเพื่อแลกกับหัวทิวลิปพันธุ์นั้นหนึ่งหัว ( ราคาดอกทิวลิปแบบนั้นหนึ่งดอก มีค่าซื้อขายมากกว่าสิบเท่าของราคาภาพจิตรกรรม The Night Watch ของ Rembrandt ที่เป็นผลงานชิ้นยอดเยี่ยมที่สุดของจิตรกร!!! )  เพราะฉะนั้นเมื่อกระแสคลั่งดอกทิวลิปทำให้ระบบเศรษฐกิจยุคนั่นล่มสลาย ธนาคารและผู้คนจึงล้มละลายไปตามๆกัน. ตั้งแต่นั้นมา ดอกทิวลิปพันธุ์นั้นจึงเป็นสัญลักษณ์ของความหลง ของความไม่ยั่งยืนของสรรพสิ่งที่ชาวยุโรปได้เรียนรู้ในยุคนั้นด้วยเลือดและน้ำตา. ศิลปินได้จับนัยของความฝัน ความหลงและความอยากรวย มาเป็นองค์ประกอบภาพจิตรกรรมของเขา.
 The Night Watch by Rembrandt van Rijn, 1642.

      ในภาพของอาจารย์พันธุ์ศักดิ์ จักกะพาก ดอกบัวโดดเด่นอยู่เหนือดอกทิวลิป  โดยธรรมชาติดอกบัวโผล่ขึ้นสะอาดหมดจดจากโคลนตม. ฝักบัวที่ให้ผลเป็นเม็ดบัวที่เป็นทั้งอาหารและยา. สารจากศิลปินชัดเจน. ดอกบัวเป็นสัญลักษณะของพระธรรมที่อยู่เหนือกาลเวลา. พุทธธรรมที่เป็นอาหารหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณและเป็นโอสถวิเศษบรรเทาทุกข์ทั้งปวง. ภาพนี้ของศิลปินได้เปิดดวงตาให้เห็นธรรม นำสายตาให้มองอย่างตระหนักรู้ถึงสาเหตุแห่งทุกข์ มองให้ทะลุกรอบจำกัดและอำนาจของโลกมายา. ข้าพเจ้าแน่ใจว่าเป็นสารที่ศิลปินต้องการสื่อแก่ผู้ชม  ศิลปินเป็นผู้มีใจศรัทธายึดมั่นในพุทธวิถีดังเส้นทางชีวิตที่เราได้ฟังจากปากของศิลปินเอง.
      การประกอบภาพนี้ได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับกระบวนการสร้างสรรค์งานศิลป์อีกด้วย. ศิลปินได้ใช้สัญลักษณ์ที่ฝังรากมาก่อนแล้วในจิตสำนึกของปัญญาชนตะวันตก มาเป็นองค์ประกอบควบคู่ไปกับสัญลักษณ์ของดอกบัวในค่านิยมตะวันออก ประกบกันเป็นจิตรกรรมใหม่ตามอุดมการณ์ของศิลปินเอง เพิ่มความลุ่มลึกแก่นัยความหมายเดิม และกระชับสารหรือความหวังในจิตวิญญาณของศิลปิน ที่ต้องการให้จิตรกรรมของเขาเป็นภาพสะท้อนของชีวิตที่งามงดและเป็นประโยชน์ ให้จิตรกรรมของเขากระตุ้นความตระหนักรู้แก่ผู้ชชาวพุทธอย่างชาญฉลาดว่า ทุกอย่างล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา.
ขอคารวะศิลปินพันธุ์ศักดิ์ จักกะพากมาณที่นี้.

ดอกทิวลิปแบบนั้นสูญพันธุ์ไปแล้ว จิตรกรรม The Night Watch ของ Rembrandt กลับมีค่าเกินร้อยล้านยูโรในปัจจุบัน. ดอกไม้โรยราไปดอกแล้วดอกเล่า สูญพันธุ์ไปก็มาก  ศิลปินก็ตายไปตามกฏธรรมชาติ แต่จิตรกรรมดอกไม้ยังคงความงามและดั่งงานศิลป์ชั้นครูทั้งหลาย จะยังคงอยู่ข้ามศตวรรษ โคจรไปกับกาลเวลาและดลใจงานสร้างสรรค์ใหม่ๆต่อไปไม่รู้จบ.



 บันทึกความประทับใจของโชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ ณวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๙.

      ถือโอกาสนี้แทรกบทความเกี่ยวกับการคลั่งดอกทิวลิปในยุโรป สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยอ่าน เชิญได้ที่นี่ >> http://chotirosk.blogspot.com/2014/06/tulipomania.html

วันนั้น อาจารย์พันธุ์ศักดิ์ได้พูดถึงจิตรกรพฤกษชาติที่ชื่อ Marianne North ที่มีผลงานทั้งหมดรวมอยู่ที่หอศิลป์ Marianne North  ในสวน Kew กรุงลอนดอน และเราก็ได้รู้ว่า เดี๋ยวมีอีกอาคารหนึ่งที่มีผลงานของอาจารย์พันธุ์ศักดิ์ จักกะพากแสดงร่วมอยู่ด้วย  เป็นหน้าเป็นตาแก่ชาติเรา.
       นำเรื่องราวของ Marianne North ผู้เป็นจิตรกรพฤกษชาติหญิงคนแรกของอังกฤษ มาลงเป็นตัวอย่างสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยไปดู  ที่อาจกระตุ้นความสนใจในจิตรกรรมพฤกษชาติให้กว้างออกไปในประเทศไทยเรา. ตามรอยเท้าของศิลปินอาจารย์พันธุ์ศักดิ์ จักกะพาก ผู้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติแล้วอย่างเต็มภาคภูมิ. ติดตามดูตัวอย่างจิตรกรรมของ Marianne North ได้ที่นี่ >>

สุดท้าย ติดตามอ่านศิลปินพฤกษชาติคนแรกๆของอังกฤษและสก็อตแลนด์ได้ ภายในบทความเรื่อง
ความรักพืชพรรณของชาวอังกฤษ  ที่นี่ >>  







1 comment:

  1. ภาพดอกทิวลิปกับดอกบัวนี้ ตามมิติที่กล่าวมา จึงเป็นหลักฐานยืนยันความเป็น Botanical Painter และมิใช่เป็น flower illustrator.

    ReplyDelete