A. กำเนิดและวิวัฒนาการของศิลปะบ็องไซในญี่ปุ่น พิพิธภัณฑ์บ็องไซที่โอ๊มิยะ
บทนี้อยู่ที่นี่ข้างล่างนี้
B. บ็องไซคืออะไร ทำไมบ็องไซ ประเภทและรูปลักษณะของต้นบ็องไซ
เชิญเข้าไปดูได้ที่นี่ >>
http://chotiroskovith.blogspot.com/2016/08/b.html
C. บ็องไซในปรัชญาและสุนทรีย์ของญี่ปุ่น
------------------------------------------------------------------
A. กำเนิดและวิวัฒนาการของศิลปะบ็องไซในญี่ปุ่น
ประวัติความเป็นมา
หนังสือที่พิพิธภัณฑ์บ็องไซที่โอ๊มิยะพิมพ์ออกจำหน่ายเป็นภาษาอังกฤษชื่อ
The story of “Bonsai”- The History of Bonsai from ancient times to the
present (ที่มีเพียง 22 หน้า
และมีภาพมากกว่าข้อความ. ต้องหาข้อมูลจากผู้รู้แจ้งชาวยุโรปที่ให้ข้อมูลละเอียดกว่ามาก
ที่ผู้สนใจสามารถเข้าไปอ่านได้ในอินเตอเน็ต ) ให้รายละเอียดที่เป็นใจความสำคัญสั้นๆดังต่อไปนี้ >>
การปลูกไม้ต้นหรือไม้ดอกในกระถางแบบใดแบบหนึ่ง
บางทีก็ประดับด้วยก้อนหินขนาดเล็กหรือกรวด จัดวางให้เหมือนภูมิประเทศแบบหนึ่ง คือการสร้างบ็องไซ
盆栽 [บ็องไซ]. เขาเริ่มปลูกต้นบ็องไซกันตั้งแต่เมื่อใด
ใครเป็นผู้ริเริ่ม รูปลักษณ์ต้นบ็องไซแบบไหนที่คนนิยมกันมาก? เป็นคำถามที่ทุกคนอยากรู้. แต่ไม่มีหลักฐานลายลักษณ์ชัดเจนพอที่กำหนดหรือยืนยันอย่างเป็นทางการได้. คำ “บ็องไซ” ที่เป็นคำญี่ปุ่น ก็เป็นคำใหม่ที่เริ่มใช้เมื่อสองร้อยกว่าปีมานี่เอง. อย่างไรก็ตาม
เราเห็นภาพบ็องไซเป็นองค์ประกอบหนึ่งในจิตรกรรมม้วน (scroll paintings)(ดูบท C ข้อ 1), ในจิตรกรรมประดับฉากหรือบนบานประตูที่เลื่อนปิดเปิด,
ในจิตรกรรมภาพพิมพ์ที่เหลือตกทอดมาจากอดีต.
จารึกเก่าที่สุดที่นำมาเป็นหลักฐานได้คือ
จิตรกรรมฝาผนังของจีนเมื่อราว 1300 ปีก่อน เป็นภาพประดับสุสานของเจ้าชายจีนนามว่า
Li Xian. (ข้อมูลยุโรปเจาะจงชื่อเจ้าชายว่า
Zhang Huai คนละชื่อคนละแซ่ดัน ไม่รู้ว่าใครกันแน่ ) ในภาพดังกล่าวมีคนยืนเรียงกันเป็นแถวยาว คนหนึ่งยกภาชนะเหมือนถาด
บนถาดมีต้นไม้เล็กๆสองต้น มีหินขนาบโดยรอบ เหมือนมีดอกไม้บนต้นด้วย. ภาพนี้ยืนยันให้รู้ว่า
มีการปลูกต้นไม้ในกระถางที่ประเทศจีนมานานแล้ว และผู้คนนิยมชมชื่นกันไม่น้อยจนต้องวาดภาพไว้บนกำแพงสุสาน. ในยุคนั้น
คนยังไม่รู้จักหรือใช้คำ”บ็องไซ” และก็ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า
ชาวจีนเรียกต้นไม้ในกระถางแบบนั้นว่าอย่างไร. ภาพนี้เป็นภาพหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดที่ตกทอดมาและทำให้เชื่อได้ว่า
การเลี้ยงต้นไม้ในกระถางที่ชาวญี่ปุ่นเรียกกันต่อมาว่า บ็องไซนั้น
เริ่มต้นขึ้นในประเทศจีนตั้งแต่ยุคโบราณ.
ภาพจากปกหนังสือที่พิพิธภัณฑ์บ็องไซโอ๊มิยะพิมพ์ออกเผยแผ่ ตัดออกมาจากภาพใหญ่ที่ประดับในสุสานของเจ้าชาย
Li Xian ในราชวงศ์ถัง ในราวปี AD.706 เห็นถาดต้นไม้ต้นเล็กๆสองต้นที่ผลิดอกงาม โผล่ออกเหนือก้อนหินสามสี่ก้อน
ต้นไม้บนถาดที่เห็นในภาพข้างบนนี้
อาจโยงไปถึง Penjing 盆景 หรือภูมิประเทศบนถาด ที่ทำกันมานานหลายพันปีแล้วในจีน เพราะเครื่องปั้นดินเผา
ทั้งแบบกระถางหรือถาด มีมาไม่ต่ำกว่า 5000 ปีบนดินแดนที่เป็นประเทศจีนปัจจุบัน.
พันปีต่อมาในยุคทองสัมฤทธิ์ของจีน ก็มีกระถางหรือชามหรืออ่างรูปแบบเดียวกันทำจากทองสัมฤทธิ์เพื่อใช้ในพิธีทางศาสนาและพิธีการเมือง. ความรู้เกี่ยวกับ ทฤษฎีธาตุห้า (อันมีน้ำ ไฟ ไม้ โลหะและดิน) ของจีนได้ฝังรากอย่างแน่นแฟ้นในจิตสำนึกของชาวจีนอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า
2300
ปี และมีอิทธิพลต่องานสร้างสรรค์ทุกชนิด เช่นหากสามารถเนรมิตภูเขาขนาดย่อส่วนได้อย่างสมดุล
ภูเขาย่อส่วนนั้นก็เป็นที่รวมพลังดีๆของขุนเขาในธรรมชาติได้เช่นกัน ยิ่งถ้าจำลองภูเขาจริงมาในขนาดย่อส่วนที่ถูกต้องสมดุลแล้ว
ภูเขาจำลองนั้นก็น่าจะมีพลังดีๆของภูเขาใหญ่ในตัวด้วย.
Höfische
Gesellschaft der Ming-Zeit, mit Penjing im Vordergrund. ภาพสตรีในยุคราชวงศ์ Ming (1368-1644) มีกระถางต้นไม้หลายกระถาง กระถางสี่เหลี่ยมผืนผ้าตรงดอกจันสีขาว
คือ penjing 盆景 หรือภูมิประเทศในถาด. สตรีที่อยู่ชิดขอบซ้ายของภาพ มือถือกระถางต้นไม้ขนาดจิ๋ว. ภาพจากหนังสือของ
Richard M. Barnhart ชื่อ Three Thousand Years
of Chinese Painting, New Haven, 2002. (ภาพจากวิกิพีเดีย
ระบุว่าอยู่ใน public domain).
ภาพภูมิทัศน์ย่อส่วนจากอัลบั้ม Gothaer
Penjing Album เมืองกวางตุ้ง
เนรมิตขึ้นในราวปี 1800
เพื่อส่งออกสู่ยุโรป
สองร้อยกว่าปีต่อมา ในราชวงศ์ฮั่น จีนเปิดเส้นทางค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน
ได้เริ่มนำเข้าธูปและพืชสมุนไพรที่มีกลิ่นหอม. เกิดความจำเป็นในการทำภาชนะบรรจุที่เหมาะสมกัน เช่นทำที่ปักธูปเป็นรูปภูเขา
มีรูให้เสียบธูปบนยอดเขา และมีพื้นที่ว่างรอบๆภูเขาสำหรับเติมน้ำเล็กน้อย
ให้ดูเหมือนภูเขาอยู่เหนือผืนน้ำทะเลเป็นต้น. รูปลักษณ์ดังกล่าวจำลองค่านิยมเกี่ยวกับเกาะที่เป็นแดนสวรรค์ที่อยู่ของทวยเทพ เป็นแดนแห่งความสุขนิรันดร์. ที่ปักธูปรูปภูเขานี้ทำด้วยทองสัมฤทธิ์บ้าง
เซรามิคบ้างหรือเป็นทองสัมฤทธิ์ชุบทองบ้าง
บางชิ้นจัดวางอยู่บนถาดมีขอบสูงขึ้นเล็กน้อย ให้เป็นพื้นที่รองรับขี้เถ้าธูปด้วย.
งานสร้างสรรค์บางแบบมีฝาครอบปิดบนถาดเมื่อไม่ใช้ปักธูป
บนฝาครอบก็บรรจงวาดภาพแบบต่างๆ
เช่นคนกำลังเดินป่า ขึ้นไปตามเนินเขาให้ถึงยอดเขาเป็นต้น.
การสร้างภูมิประเทศย่อส่วนบนถาด
พัฒนาหลากหลายออกไปตามสภาพภูมิประเทศของแต่ละท้องถิ่น
แผ่นดินจีนก็กว้างใหญ่ไพศาลยิ่งนัก ภูมิประเทศบนถาดจึงงามต่างๆกันไปอย่างน่าทึ่ง.
ภาชนะที่นำไปเป็นฐานของการจัดทำภูมิประเทศขนาดย่อส่วน
ที่เคยเป็นเครื่องลายครามบนแผ่นกระดานไม้ เปลี่ยนมาเป็นเครื่องปั้นดินเผาและเซรามิคแทน
ทั้งมีการนำไผ่ ลวดทองเหลืองและแถบตะกั่วมาจัดทำฉากภูมิประเทศบนถาดด้วย. กวีและนักเขียนต่างพูดถึงภูมิทัศน์ขนาดย่อส่วนแบบนี้อย่างน้อยก็หนึ่งครั้งในงานประพันธ์ของพวกเขา.
เช่นเดียวกับที่จิตรกรจำนวนมากได้แทรกรูปลักษณ์ของธรรมชาติบนถาดหรือต้นไม้ต้นเล็กๆเข้าไปในงานของพวกเขา. ทั้งหมดนี้สื่อค่านิยมที่ถูกยกระดับขึ้น จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของวิถีชีวิตของผู้มีการศึกษาสูงในยุคนั้น.
คำเรียกภูมิประเทศบนถาดของจีนที่ว่า Penjing 盆景 นั้น เพิ่งปรากฏในภาษาญี่ปุ่นในคริสต์ศตวรรษที่ 17 เท่านั้น (และคำนี้ก็มาเป็นรากของคำ
บ็องไซ 盆栽 ในภาษาญี่ปุ่น). เชื่อกันว่าภูมิทัศน์บนถาดถูกนำเข้ามาจากประเทศจีน อาจเป็นของที่ระลึกจากการไปที่พระสงฆ์ญี่ปุ่นไปศึกษาและสืบพระพุทธศาสนาในจีน.
มีผู้ระบุข้อความหนึ่งในจารึกที่มีอายุอยู่ในราวพันปีกว่าๆ ที่สรุปกันต่อมาว่าเป็นตำนานเรื่องแรกของต้นไม้ในกระถาง ข้อความนั้นมีดังนี้ “ต้นไม้ทั่วไปที่ขึ้นในสภาพแวดล้อมธรรมชาติของมัน
เป็นสิ่งหยาบ แต่เมื่อต้นไม้นั้นถูกนำมาอยู่ใกล้ๆคนผู้คอยดูแล
จัด ตัดและดัดกิ่งของมันด้วยความรักความสนใจ เมื่อต้นไม้นั้นพัฒนารูปลักษณ์และเจริญขึ้นตามอุปนิสัยเฉพาะตัวของมัน
เมื่อนั้นแหละจึงพูดได้ว่าต้นไม้นั้นมีพลังสร้างความสะเทือนใจแก่ผู้ดู “
ความสนใจต้นบ็องไซในญี่ปุ่นมีหลักฐานจารึกยืนยันอย่างชัดเจนเมื่อราว
800
ปีก่อนเท่านั้น. ชาวญี่ปุ่นหลงใหลชื่นชมทุกสิ่งที่มาจากแผ่นดินใหญ่จีน
รวมทั้งพุทธศาสนาแบบจีนที่รวมลัทธิพุทธแบบอินเดียเข้ากับลัทธิเต๋าที่มีมาก่อนในจีนโบราณ. ลัทธิพุทธแบบจีนจึงเข้าสู่ญี่ปุ่นและวิวัฒน์ขึ้นเป็นลัทธิเซนของญี่ปุ่น. พระสงฆ์เซนตระหนักและมองเห็นความงามในสภาพแวดล้อมของญี่ปุ่นเอง
แม้จะไม่หลากหลายเท่าภูมิประเทศในจีน และสามารถก้าวข้ามความจำกัดของพื้นที่ไปสู่อุดมการณ์มหภาคที่ครอบจักรวาล
สอดคล้องกับปรัชญาเซน ต้นไม้เพียงต้นเดียวอาจเป็นตัวแทนของจักรวาลได้. (นึกถึงบทกวีของ William Blake ที่ขึ้นต้นว่า To see a World in a
Grain of Sand..) และนี่คือ อัดลักษณ์ของ “ความเป็นญี่ปุ่น” ทั้งในศิลปะบ็องไซและในขนบธรรมเนียมอื่นๆ. จารึกจากศตวรรษที่ 14 มีภาพกระถางต้นไม้ของชาวญี่ปุ่นที่ลึกกว่ากระถางแบบจีน
และชาวญี่ปุ่นเรียกการปลูกต้นไม้ในกระถางว่า hachi no ki 鉢の木 [หะจิ๊ โน กิ]
ที่แปลตามตัวว่า ต้นไม้ในชามหรือกระถาง. ดังที่เห็นในภาพข้างล่างนี้
กระถางต้นบ๊วย ต้นซากุระและต้นสน
ภาพจากเน็ตที่ http://www.bonsaiempire.fr/origine/origine-bonsai
ภาพพิมพ์ผลงานของ Katsushika
Hokusai (1760-1849) ในกระถางต้นสน ยังมีต้นไม้ดอกอีกสองชนิด. ชามทรงรีสีดำๆเป็นชามล้างมือ
ตรงมุมซ้ายของภาพเห็นเหยือกน้ำ(ที่วางไว้สำหรับล้างมือในอ่าง
เช่นหลังจากดูแลต้นไม้ในกระถางแล้ว).
ภาพกระถางสารพัดแบบจากการ์ดของพิพิธภัณฑ์บ็องไซโอ๊มิยะ
เล่ากันในญี่ปุ่นว่า ในราวปี 1300 ปี มีซามูไร (侍 [ศะมูไร]) ยากจนคนหนึ่ง ได้ยอมสละกระถางต้นไม้เล็กๆสามต้นที่เหลือของเขา
เพื่อไปซื้อไม้มาทำความร้อนให้แก่พระธุดงค์รูปหนึ่งในคืนอันหนาวเหน็บ. คุณธรรมของซามูไรในเรื่องนี้เป็นที่ชื่นชอบกันมาก
มีนักเขียนนำไปดัดแปลงเป็นบทละครโน (Noh หรือ Nō 能 ที่แปลว่า
ความสามารถ ความช่ำชอง). สื่อสังคมแบบต่างๆได้นำเสนอภาพจากละครเรื่องนี้
แน่นอนมีภาพต้นไม้ในกระถางสามต้นของตัวละครเอกด้วย. ภาพพิมพ์จากไม้แกะสลักของเรื่องนี้ก็มีเช่นกันและตกทอดมาให้เห็นในปัจจุบัน.
ส่วนภาพ “ต้นบ็องไซ” ที่เก่าที่สุดที่พบในญี่ปุ่น
ปรากฏในภาพจิตรกรรมม้วน ยุค Kamakura (鎌倉時代 Kamakura
jidai, 1185–1333) ราว 700 ปีก่อนเท่านั้น. จิตรกรรมม้วนนี้รู้จักกันในนามว่า
Kasuga Gongen Genki (春日権現験記絵、かすがごんげんげんきえ แปลว่า The Miracles of the Kasuga Deity ) พบที่ศาลเจ้า Kasuga Taisha (春日大社 ที่เมืองนาราเมืองหลวงเก่าของญี่ปุ่น). เป็นจิตรกรรมม้วนบนผ้าไหมที่ตระกูล
Fujiwara (藤原) ทำขึ้นในยุค Kamakura. เป็นยุคที่ญี่ปุ่นเปิดรับศิลปวัฒนธรรมทั้งหลายของจีน
ที่รวมถึงการปลูกต้นไม้ในกระถาง. จิตรกรรมม้วนชุดนี้เล่าปาฏิหาริย์ของเทพเจ้า (พุทธและชินโต) ตามตำนานที่แพร่หลายในยุคนั้นและที่นำไปสู่การสถาปนาศาลเจ้า
Kasuga และวัด Kofukuji (興福寺) ทั้งสองแห่งอยู่ที่เมืองนารา. จิตรกรรมม้วนชุดนี้มีด้วยกันทั้งหมด 20 ม้วน แบ่งเป็นเนื้อหา 93 ตอนพร้อมภาพประกอบ ทำแล้วเสร็จในปี 1309
เป็นผลงานที่งามและประณีตทั้งของศิลปะงานไหมหลากสีสันที่เป็นเหมือนกรอบของจิตรกรรม
และความชำนาญของศิลปินในการแสดงเรื่องราวพร้อมภาพวิถีชีวิตและอาคารวิลลาบนพื้นสีเงินสีทองสุกสว่างในยุด
Heian (平安時代
Heian jidai [เฮยานจีได]) ของขุนนางชื่อ Fujiwara no Toshimori. (สังเกตบริเวณที่ติดดอกจันสีแดงในสองภาพข้างล่างนี้)
ในจิตรกรรมชุดนี้มีภาพเด็กๆนอนพังพาบบนพื้นเสื่อตะต๊ามิ
กำลังดูจิตรกรรมม้วน ตรงระเบียงนอกห้องมีชั้นไม้ใหญ่ บนชั้น ปูทรายไว้
มีหินสองก้อนวางประดับอยู่ และมีต้นไม้โผล่ระหว่างก้อนหินนั้น.
พิจารณาดูแล้ว ตรงกับลักษณะของต้นบ็องไซที่ขึ้นจากซอกหิน
ที่ชาวญี่ปุ่นเลี้ยงกันมากแบบหนึ่งในปัจจุบัน. นอกจากนี้ไกลออกไปนิดหน่อย
เห็นเหมือนถาดที่มีก้อนหินตั้งอยู่ภายใน ที่น่าจะเป็นรูปแบบหนึ่งของ Suiseki (水石 ซุยเซกิ, หินประดับที่มีรูปลักษณ์ธรรมชาติเหมือนสัตว์หรือเกาะเป็นต้น)(ดูบท C ข้อ 2)
ในจิตรกรรมม้วน “Boki Ekotoba” 慕歸絵詞 ที่เล่าชีวประวัติของพระภิกษุ
Kakunyo覚如 (1270-1351) แห่งวัดพุทธขนาดใหญ่กลางกรุงเกียวโตที่ชื่อ Nishi Honganji 西本願寺 [หนิชิ ฮ่งกั่นจิ] ม้วนที่หนึ่ง
เห็นถาดก้อนหินและต้นสนโผล่ขึ้นระหว่างก้อนหิน อีกถาดหนึ่งก็มีต้นวิสทีเรีย. ชัดเจนว่าคือต้นบ็องไซในความหมายปัจจุบัน. นอกจากนี้ก็มีกระถางต้นไม้บนชั้นใกล้หน้าต่าง
ในจิตรกรรมม้วนที่สามและที่ห้าตามลำดับ และในม้วนที่เก้า มีต้นบ้วย (Japanese ume tree) ที่ปลูกในกระถาง. (เสียใจที่มิอาจหาภาพประกอบให้ดูได้ เขาไม่ให้ถ่ายรูปและเป็นภาพที่สงวนลิขสิทธิ์).
ช่วงระยะเวลาที่เป็นรอยต่อระหว่างยุค Muromachi (室町時代,
Muromachi-jidai [มูโร๊มาจิ จิได] ในราวปี 1333-1573) และยุคเอโด๊ะ (Edo jidai 江戸時代 [เอโด๊ะจีได] ในระหว่างปี 1603-1867), คนนิยมให้มีภาพประดับบนฉากที่พับเข้าและคลี่ออกได้
หรือบนฉากประตูปิดตู้เก็บของ ที่เลื่อนไปมาได้. ภาพดังกล่าวบนพื้นสีทองงามผ่อง
มีบ็องไซต้นสน ต้นเมเปิล ต้น Tsubaki
(椿 [ซือบากิ] หมายถึง (Red)Camellia ดอกไม้นี้มีสมญาว่าเป็น กุหลาบของฤดูหนาว) และต้นอื่นๆอีกที่ปลูกเลี้ยงไว้บนถาด
มีหินล้อมรอบต้น.
จึงเป็นหลักฐานของความนิยมแนวใหม่ของยุคนั้น และยืนยันด้วยว่า ต้นบ็องไซนั้นมีค่ามากเพียงใดในจิตวิญญาณของชาวญี่ปุ่น
จนต้องบรรจงวาดไว้ให้ปรากฏในบริบทของวิลลาส่วนตัวของขุนนางตระกูลต่างๆในแต่ละยุค.
สามภาพนี้ไม่เกี่ยวกับต้นบ็องไซโดยตรง
หนังสือที่เหลือตกทอดมาจากยุคนั้นเล่มหนึ่ง คือหนังสือประเภทพจนานุกรมศัพท์เฉพาะ มีภาพต้นบ็องไซรวมอยู่ด้วย. ในหนังสือพจนานุกรมภาษาญี่ปุ่น-โปรตุเกส
(Nippo Jisho 日本辞書)
ที่คณะมิชชันนารีเยซูอิตเป็นผู้จัดทำขึ้นในปี 1603 ก็มีคำว่า “บ็องซัง” (Bonsan 盆山) ที่หมายถึงเครื่องปั้นดินเผาสำหรับจัดวางก้อนหินรูปลักษณ์ต่างๆ
และประกอบกันเป็นสภาพภูมิประเทศแบบหนึ่ง ที่อาจเทียบได้ว่าเป็น “ประติมากรรมภูมิทัศน์” ในความเข้าใจปัจจุบัน. ศิลปะแบบนี้เป็นที่นิยมกันมากในตระกูลโชกุน
Muromachi และในหมู่ภิกษุสงฆ์ยุคนั้น. คำอธิบายของคำ “บ็องซัง”
สอดคล้องกับภาพวาดที่ประดับฉากพับแบบต่างๆในยุคเดียวกัน ทำให้สรุปกันว่า คำ ”บ็องซัง” ในสมัยนั้นหมายถึงบ็องไซในปัจจุบันนี่เอง.
ส่วนคำบ็องไซที่ใช้ในปัจจุบัน ที่เขียนด้วยอักษรจีนดังนี้ 盆栽 [บ็องไซ] คำแรกแปลว่า << กระถาง, สิ่งบรรจุ >> คำที่สองแปลว่า << ปลูก, เลี้ยงดู >> รวมกันเป็นคำที่ดั้งเดิมออกเสียงว่า [บ็อง-อูเอรึ] เพื่อเน้นความหมายของกริยาปลูกในคำที่สอง. อย่างไรก็ตาม การออกเสียง “บ็องไซ” ได้เข้าไปแทนที่อย่างรวดเร็ว
และกลายเป็นการอ่านที่ถูกต้องแบบเดียวที่ชาวญี่ปุ่นใช้กันมาจนทุกวันนี้. (ส่วน บ็อนไซ ที่ออกเสียง น หนู นั้นเป็นการออกเสียงของชนชาติอื่นที่ยึดคำ
bonsai ในอักษรโรมันเป็นหลัก). คำบ็องไซในความหมายปัจจุบันเจาะจงมากขึ้นว่า
คือ ศิลปะการปลูกและเลี้ยงต้นไม้ในกระถางตามแบบญี่ปุ่น
ไม่รวมไปถึงต้นไม้ในกระถางแบบจีน. และแม้ว่าญี่ปุ่นรับวัฒนธรรมการปลูกต้นไม้ในกระถางจากจีน
แต่ ญี่ปุ่นได้พัฒนาวิธีการเลี้ยง
วิสัยทัศน์ของการเลี้ยงและอุดมการณ์ความงามของต้นบ็องไซ ให้สอดคล้องกับปรัชญาของลัทธิเซน. คำบ็องไซจึงใช้หมายถึงศิลปะแขนงนี้ของญี่ปุ่นโดยเฉพาะ.
เจ้าศักดินายุคเอโด๊ะ(daimyo 大名[ไดโม]) ชอบเลี้ยงต้นบ็องไซกันทั่วถ้วนหน้าดังปรากฏชัดเจนในภาพวาดวิลลาและสวนต่างๆของพวกเขา. บางภาพเห็นด้วยว่า
มีการจัดพื้นที่เพื่อต้นบ็องไซโดยเฉพาะ. ในตอนแรกอาจเป็นสวนพืชพรรณสมุนไพรแล้วขยายออกมารวมพืชพรรณไม้ชนิดต่างๆที่ขึ้นในธรรมชาติและที่ปลูกในกระถาง. ประเด็นที่พึงรู้คือ ความสนใจเลี้ยงต้นสนสายพันธุ์ต่างๆเป็นต้นบ็องไซ
ยืนยันความสำคัญของต้นสนในค่านิยมของชาวญี่ปุ่นและโดยเฉพาะสำหรับตระกูล Tokugawa (徳川) [ถกคึกาวา]
ที่นิยมต้นสนพันธุ์ที่เรียกว่า Goyomatsu (五葉松 หรือ Five needle pine ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Pinus
parviflora). มีต้นสนสายพันธุ์นี้ที่โชกุน Tokugawa Iemitsu (徳川 家光 ผู้มีอำนาจปกครองญี่ปุ่นในระหว่างปี 1623-1651) ได้ปลูกและเลี้ยงมา
ที่ยังมีชีวิตสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ต้นสนบ็องไซนั้นจึงกลายเป็นมรดกล้ำค่าชิ้นหนึ่ง
ที่สำนักพระราชวังแห่งองค์จักรพรรดิญี่ปุ่นได้เข้าไปดูแลต่อมาเมื่อสิ้นยุคของโชกุนตระกูล
Tokugawa. ปัจจุบันต้นบ็องไซที่เป็นสนห้าเข็มยังคงมีชีวิตอยู่
เป็นพยานหลักฐานว่า ต้นบ็องไซมีชีวิตยืนนานเป็นร้อยๆปีถึงพันปี. ต้นดังกล่าวปัจจุบันอยู่ในบริเวณโรงเรียนมัธยม The Tokyo Metropolitan Engei High School,東京都立園芸高等学校 ในกรุงโตเกียว. (ทำไมไปอยู่ที่นั่น อาจเป็นเพราะมันเติบโตอยู่ในบริเวณนั้นที่เคยเป็นดินแดนของโชกุน
จึงมีมติไม่ย้ายมันไปที่อื่นกระมัง).
ต้นสน Goyomatsu (五葉松 Japanese Five Needle pine)
จากพิพิธภัณฑ์บ็องไซเมืองโอ๊มิยะ เลี้ยงดัดลำต้นให้เอนไปข้างๆ
สังเกตลักษณะเข็มสน ที่เป็นพู่เล็กๆมีห้าเข็ม
หลายพู่รวมกันเป็นกระจุกออกจากกิ่ง
การเลี้ยงบ็องไซ เริ่มขึ้นภายในกลุ่มชนชั้นสูง
ในหมู่เจ้าเมืองสมัยก่อนๆ จนถึงครึ่งหลังของยุตเอโด๊ะ(ยุค Edo อยู่ในช่วงปีคศ.1603-1867) การเลี้ยงบ็องไซจึงแผ่วงกว้างออกไป
ดังปรากฏวาดไว้ในภาพพิมพ์ที่เรียกว่า Ukiyoe(浮世 [อุ๊กิโย]) จำนวนมากที่แสดงให้เห็นตลาดคนขายคนซื้อ
หรือภาพชีวิตแวดล้อมของผู้คนยุคนั้นที่มีกระถางต้นไม้แบบต่างๆรวมอยู่ด้วยอย่างชัดเจน. ชมภาพตัวอย่างข้างล่างนี้ที่พบในอินเตอเน็ต.
สตรีในภาพแต่งตัวเหมือนพร้อมจะออกไปที่ไหนสักแห่ง
มือหนึ่งถือกระปุก(ใส่ขนม?) เห็นโบว์ข้างบนกระปุก เท้าก้าวออกไป แต่ยังเอี้ยวตัว
หันไปมองต้นไม้ในกระถางสามต้น.
เป็นกระถางกระเบื้องดินเผาเคลือบสีน้ำเงินแบบกระเบื้องลายครามของจีน.
ต้นแรกชัดเจนว่าคือต้นน้ำเต้า (gourd) ส่วนต้นอื่นนั้นดูแล้วน่าจะเป็นพืชผักหรือสมุนไพร.
สตรีในภาพนี้น่าจะอยู่ในบริบทของถนนในเมือง
เธอสวมเสื้อคลุมตัวนอกทับเสื้อผ้าที่ดูเหมือนจะเป็นเสื้อผ้าในชีวิตสามัญประจำวัน.
เธอเห็นหาบขายต้นไม่ในกระถาง หันไปมองด้วยความสนใจเพราะเป็นต้นไม้ดอก.
ส่วนต้นไม้ที่มีดอกสะพรั่งในตอนบนด้านซ้ายของภาพ ดูเหมือนจะเป็นต้นบ้วย (ume 梅[อูเหมะ// อุเมะ]) เป็นต้นบ็องไซที่ตั้งตรงอย่างสวยงามและสมดุล. การแทรกภาพต้นบ็องไซตรงมุมนี้ อาจต้องการโยงต้นไม้ที่วางขายกับต้นไม้ที่มีในบ้านหรือที่อยากได้
หรืออาจสื่อจินตนาการเกี่ยวกับบ็องไซที่โผล่ขึ้นในใจของสตรีคนนี้หรือของจิตรกรเอง.
ตั้งแต่โชกุนลงไปจนถึงสามัญชน
ต่างพยายามปลูกต้นไม้แบบใดแบบหนึ่ง อย่างน้อยก็ต้น azalea สักกระถางหนึ่ง. บางคนใช้เปลือกหอยเป่าฮื้อปลูกต้นบ็องไซของเขา. ปลายศตวรรษที่ 18 ที่กรุงเกียวโตเมืองหลวงของญี่ปุ่นในยุคนั้น
มีการจัดนิทรรศการบ็องไซต้นสน (ตอนนั้นยังไม่มีคำบ็องไซใช้) เป็นประจำทุกปี. ผู้เลี้ยงบ็องไซมาจากห้าจังหวัดรอบๆเกียวโต
ต่างนำบ็องไซของพวกเขามาแสดงคนละต้นสองต้นให้ผู้เข้าชมได้เห็นได้พิจารณา. ยุคนั้นเมือง Takamatsu
(高松 เมืองกำเนิดของหมู่บ้านบ็องไซ Kinashi 鬼無植木の里と盆栽) มีรายได้ส่วนใหญ่มาจากการปลูกสนเป็นต้นบ็องไซรูปทรงต่างๆเพื่อขาย ดังภาพที่นำมาให้ชมข้างล่างนี้
สวนสน Kinashi (鬼無)
ที่เมือง Takamatsu
(高松)
บนเกาะ Shikoku (四国)
ในราวปี 1800
กลุ่มนักวิจัยศิลปะจีน มาประชุมกันที่เมืองโอซากาเพื่อถกกันถึงสไตลการสร้างต้นไม้ขนาดจิ๋วแบบใหม่ๆ
ที่มีผู้ปลูกเลี้ยงกันมากขึ้นในกระถางเตี้ยและตื้นๆ (盆) และคนพาเรียกกันว่า บ็องไซ (จากอักษรจีน 盆栽 ที่ออกเสียงแบบญี่ปุ่น) เพื่อให้มันแตกต่างไปจากต้นไม้ในชามก้นลึกกว่าที่เรียกว่า
hachi no
ki 鉢の木 ดังกล่าวมาข้างต้น. เรื่องนี้ยืนยันว่ามีผู้ปลูกเลี้ยงต้นไม้ในกระถางขนาดเล็กๆเตี้ยๆได้สำเร็จด้วยดีแล้ว. (หลังจากนั้น การเลี้ยงบ็องไซจะค่อยๆเบนออกจากบริบทของศาสนา ก้าวข้ามขนบธรรมเนียมเก่าที่มีมา
สู่การเลี้ยงบ็องไซในฐานะของศิลปวัตถุประเภทหนึ่ง).
เรื่อยมาในยุคเม้จิ (Meiji jidai 明治時代
[เม้จิ-จิได], 23 ตุลาคม 1868-30
กรกฎาคม 1912) การเลี้ยงบ็อนไซกลายเป็นขนบประเพณีอีกหนึ่งอย่างที่สตรีญี่ปุ่นต้องเรียนและถือปฏิบัติ. มีชมรมต่างๆตั้งขึ้นเพื่อสอนสตรีญี่ปุ่นให้เรียนดนตรี
กวีนิพนธ์ วาดเขียน กระบวนการของวิถีชา มารยาทในสังคม (étiquette [เอตีแก๊ต] เช่นรูปแบบการทักทาย)
ตลอดจนขนบธรรมเนียมในการครองเรือนเป็นต้น. หนึ่งใน “การอบรมสตรี” ของญี่ปุ่นรวมการรู้จักเลี้ยงดูบ็องไซ. ภาพวิถีชีวิตชาวญี่ปุ่น มีวาดไว้และพิมพ์ออกมาเป็นจำนวนมากตามกระบวนการศิลปะภาพพิมพ์จากไม้แกะสลัก
(ukiyoe) ที่แพร่
หลายไปทั่วทั้งญี่ปุ่น. ในปัจจุบันการเลี้ยงดูบ็องไซเป็นงานอดิเรกของผู้หญิงอย่างหนึ่ง
ตามจริตส่วนตัวมิได้เคร่งครัดจนกลายเป็นข้อบังคับดังในสมัยเม้จิ. แต่ค่านิยมในการโยงผู้หญิงกับบ็องไซก็ยังคงอยู่ในจิตสำนึก
อาจเกี่ยวกับความสุขใจและความอ่อนโยนที่ได้จากสองสิ่งที่พอจะเทียบกันได้ในหลายประเด็น.
ภาพซ้าย สตรีญี่ปุ่นยืนข้างโต๊ะต้นบ็องไซ
ภาพขวาเห็นส่วนหนึ่งของต้นบ็องไซ (ตรงดอกจันสีแดง)
สตรีคนนี้กำลังฝึกดนตรี
ด้านหลังเธอในเวิ้งมีต้นบ็องไซเล็กๆ ลำต้นเดี่ยวเพรียวและบาง
บนเสาชิดด้านซ้ายของภาพ
ยังมีกิ่งไม้ปักในปล้องไม้ไผ่
สตรีชนชั้นสูงญี่ปุ่นต้องเรียนรู้อะไรบ้าง
ดนตรี การจัดดอกไม้
การเขียนลายมือและการประพันธ์ การอ่านหนังสือและการเย็บปักถักร้อย
(ข้อมูลภาพระบุว่า Yōshū Chikanobu Utsushino Kajin Shu,
ภาพจาก commons.wikimedia.org )
เช่นเดียวกันในภาพนี้
จากซ้ายคือการฝึกคัดลายมือ ฝึกกิริยาท่าทาง การรู้จักชงชา. เห็นต้นบ๊วยบ็องไซผลิดอกงามในด้านซ้าย
ในภาพขวา เนื่องจากเกี่ยวกับการชงชา ห้องที่นั่ง มีเวิ้งtokonoma มีจิตรกรรมม้วนและดอกไม้ที่จัดในตะกร้า(ikebana)
ชิดขอบขวาของภาพเห็นต้นบ็องไซขนาดจิ๋ว. (ภาพจาก rivertea.com)
สตรีคนหนึ่งกำลังเขียนหรือแต่งอะไร
บนโต๊ะด้านขวามือเธอมีแป้นกับแท่งสีดำเมื่อฝนกับน้ำได้สีหมึกสำหรับเขียน
มุมโต๊ะซ้ายมือของเธอมีต้นบ็องไซต้นเล็กๆ มองเข้าไปในเวิ้ง tokonoma ที่อยู่ถัดไปเห็นถาดหินที่แสดงภูมิประเทศ
(suiseki) เด่นตรงกลาง ข้างๆมีแจกันดอกไม้
อีกด้านหนึ่งเป็นตั้งหนังสือที่เธอต้องเรียนต้องอ่าน เป็นองค์ความรู้ที่เธอพึงมี. สุดชานไปทางผนังกำแพง
เห็นอ่างหินบรรจุน้ำ มีทัพพีไม้ไผ่วางขวางบนอ่างหิน
ใช้ตักน้ำในอ่างหินเมื่อเตรียมน้ำชา. ภาพนี้เสนอบริบทชัดเจนของห้องในคฤหาสน์ของชนชั้นสูง
และสิ่งที่สตรีทำในชีวิตประจำวัน. ภาพนี้จากพืพืธภัณฑ์ Brooklyn Museum, New York.
เป็นธรรมดาที่สามัญชนทั่วไป ไม่มีบ้านหรือที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่กว้างขวางหรือมีสวนขนาดใหญ่เฉกเช่นวิลลาของเจ้านายศักดินาทั้งหลาย. พวกเขาอาจมีพื้นที่ว่างขนาดเล็กที่ใช้ร่วมกันกับบ้านหลายหลังที่ตั้งเรียงกันไปในเขตเดียวกัน
และไม่มีโอกาสได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลจากต้นไม้ใหญ่ๆใกล้ที่อยู่อาศัยของพวกเขาเอง เพราะฉะนั้นต้นไม้ที่ปลูกในกระถางเป็นทางออกเดียวที่ทำให้พวกเขารู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติและชื่นชมมันจากที่พักของพวกเขาได้โดยตรง. เช่นนี้ตลาดในยุคเอโด๊ะ หน้าวัดและศาลเจ้าทุกแห่งโดยเฉพาะในช่วงที่มีงานเทศกาลหรืองานวัด
มีคนนำไม้ดอก ไม้ใบ ในกระถางมาวางขายเป็นประจำเกือบทุกวัน. ในบริบทนี้เองที่ทำให้การเลี้ยงต้นไม้ในกระถางแพร่หลายมากขึ้นๆตามลำดับ.
สตรีสูงศักดิ์ในภาพนี้
น่าจะอยู่ในร้านขายต้นไม้ มีกระถางต้นไม้หลายพันธุ์ทั้งไม้ดอกและไม้ประดับไม่มีดอก.
บนพื้นยังเห็นหลายต้นที่ห่ออยู่กับก้อนดินกลมๆมัดเรียบร้อยเหมือนพร้อมขายให้นำไปปลูกลงดินหรือในกระถางต่อไป.
สตรีมองเหมือนกำลังลังเลใจว่าจะซื้อต้นในกระถางดีหรือต้นไหนชนิดไหนดี.
ตรงหน้าอกของเธอ
เห็นกระเป๋าผ้าสีขาวๆ(ใส่เงินกระมัง)ที่เหน็บอยู่ในโอ๊บิสีน้ำเงินๆ (obi 帯 [โอ๊บิ] ที่เป็นผ้าแถบกว้างคืบกว่าสำหรับคาดรอบตัวทับบนชุดกิโมโนที่สวยงาม(เรียกเสื้อตัวยาวคลุมเท้าของกิโมโนชุดทางการของสตรีสาวว่า
Furisode ). กระเป๋าผ้าสีขาวนั้นเป็นแบบรูดปิดเปิด
เชือกร้อยกระเป๋าทิ้งลงจากโอ๊บิ ตรงปลายมีสิ่งประดับห้อยตุ้งติ้งสีออกทองๆ. สตรีคนนี้จึงออกมาที่ร้านด้วยความตั้งใจจะซื้อต้นไม้.
ตลอดศตวรรษต่อมา ต้นบ็องไซมีรูปลักษณ์แบบใหม่แนวใหม่
นำไปสู่การพิมพ์หนังสือและแค็ตตาล็อกต้นบ็องไซ ที่รวมภาพอุปกรณ์เฉพาะหลายชนิดที่จำเป็นในการเลี้ยงดูต้นบ็องไซและภาพกระถางบ็องไซแบบต่างๆ ในที่สุดเป็นส่วนหนึ่งในนิทรรศการบ็องไซด้วย. เส้นลวดได้เข้าไปแทนที่ด้ายป่านเพื่อดัดรูปร่างของต้นไม้. กระถางที่ชาวจีนผลิตและส่งออกมาขายในญี่ปุ่น
ก็เปลี่ยนรูปแบบให้สอดคล้องกับความต้องการแนวใหม่ของผู้เลี้ยงชาวญี่ปุ่น.
จำนวนคนเลี้ยงบ็องไซก็ทวีมากขึ้น.
ภาพจากนิทรรศการบ็องไซ Kokufu
Bonsai Ten (国風盆栽展)
เดือนธันวาคม 1934
หลังสงคราม
ศิลปะบ็องไซได้พัฒนาจนบรรลุจุดสูงสุดในฐานะของศิลปะพื้นบ้านที่สำคัญประเภทหนึ่ง. มีการจัดนิทรรศการหลายครั้งในแต่ละปีตามเมืองต่างๆ
ตั้งโปรแกรมสอนศิลปะนี้แก่ชาวญี่ปุ่นและโปรแกรมพิเศษสำหรับชาวต่างชาติผู้สนใจจำนวนมากที่เดินทางไปศึกษาเรื่องบ็องไซในญี่ปุ่น. หนังสือและวารสารบ็องไซออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง. การรู้จักใช้อุปกรณ์เฉพาะที่เหมาะกับต้นไม้ขนาดเล็กๆ
บวกกับความรู้ด้านสรีรวิทยาของพืชพรรณ ทำให้ ผู้เชี่ยวชาญชั้นครู ก้าวข้ามจากการเลี้ยงต้นไม้ไปสู่การสร้างสรรค์ศิลปะด้วยต้นไม้.
ความนิยมที่เป็นกระแสใหม่อีกกระแสหนึ่งในยุคเอโด๊ะคือ
ความหลงใหลชื่นชมวัฒนธรรมจีนเช่นกวีนิพนธ์, ศิลปะการเขียนลายมือแบบอักษรวิจิตร, ศิลปะภาพวาดของจีน. กระแสนี้ได้กระตุ้นให้เกิดขนบใหม่ที่เรียกว่าวิถี sencha
(Senchado 煎茶道 [เซ็นจะโด]. วิถีนี้แตกต่างไปจากวิถีชาที่เรียกว่า
sado/chado 茶道 [ซะโด] (ดูบท C. ข้อ 3). ความแตกต่างของสองพิธีนี้
อยู่ที่ชนิดของชาที่ใช้ ที่มาจากถิ่นที่ปลูกต่างกันและฤดูเก็บเกี่ยวใบชาแต่ละชนิดที่ต่างกัน
แต่ประเด็นที่เห็นขัดที่สุดที่ต้องรู้ คือ senchado ใช้ใบชา ส่วน sado ใช้ผงชาป่น ). วิถี senchado ถือปฏิบัติกันในกรุงโตเกียวและเมืองโอซากาเป็นสำคัญและสืบสานต่อมาในยุคเม้จิ. จนถึงตอนนั้น พิธีชงชาทำกันในห้องปูเสื่อตะต๊ามิ (畳เสื่อที่ใช้ปูพื้นที่ทั้งห้องของญี่ปุ่น) ที่เรียกว่า Zashiki-kazari (座敷飾 [ศ่าชิกิ๊ คะศ่าหริ]. ความหมายของห้องขยายออกไปรวมวิธีการจัดวางอุปกรณ์ที่ใช้ในพิธีชงชาหรือ
chanoyu-no-dougu
茶湯の道具 และการจัดที่ตั้งวางแจกันดอกไม้หรือต้นบ็องไซ. มีกฏระเบียบที่ยึดปฏิบัติกันมาตั้งแต่ยุค
Muromachi (1392-573). ห้องนั้นมีหิ้ง, ชั้น, ตู้เก็บของ, ซุ้มที่ลึกเข้าไป (เป็นเวิ้งแบบalcove ที่เรียกว่า tokonoma
床の間) และมุมหนังสือ. วางอะไร ที่ไหนและอย่างไรนั้น
เป็นไปตามกฏตามขนบวิถีชาอย่างเฉพาะเจาะจง (ดูคำอธิบายต่อไปในบท C ข้อ 3). ในวิลลาขนาดใหญ่บางทีรวมไปถึงการจัดสถานที่รับรองแขก (kaisho
会所) อีกห้องหนึ่ง ก่อนเข้าไปในห้องพิธีชงชา) เมื่อความนิยมบ็องไซแพร่หลายมากขึ้นๆ มีการนำต้นบ็องไซเข้าไปประดับในบริเวณเวิ้ง
tokonoma. ต้นบ็องไซที่มองดูเหมือนต้นไม้ในจิตรกรรมภูมิทัศน์ที่ศิลปินและปัญญาชนชาวญี่ปุ่นยุคนั้นชื่นชมมากที่สุด
จนต้องตั้งศัพท์เรียกรูปทรงของต้นบ็องไซว่า เป็นต้นบ็องไซ “ทรงปัญญาชน” (bunjingi 文人木).
ตัวอย่างจิตรกรรมภูมิทัศน์ของจีนที่ตรึงใจชาวญี่ปุ่น
ที่ดลใจให้เลี้ยงต้นบ็องไซทรง “ปัญญาชน”
นอกจากนี้ดินที่ใช้ในการทำเครื่องเซรามิคที่ใช้ในพิธีชงชาก็เป็นดินเดียวกับที่ใช้ทำกระถางบ็องไซ
(เรียกว่ากระถาง Deimono). นี่เป็นมาตรการสำคัญในการเลือกดินสำหรับไปปั้นเป็นกระถางบรรจุต้นบ็องไซ. ยุคนี้เองที่คำว่า
“บ็องไซ” ปรากฏอย่างสม่ำเสมอในหนังสือแค็ตตาล็อกอุปกรณ์สำหรับพิธีชงชา. สรุปกันว่า
คำนี้เกิดขึ้นพร้อมๆกับการพัฒนาวิถีชา Senchado จากประเทศจีน.
อย่างไรก็ดี พิธี Senchado เลิกลงไปตามลำดับเพราะเกิดสงครามจีนญี่ปุ่นในปี
1894. ปัจจัยวัฒนธรรมและการเมืองส่งผลกระทบต่อบทบาทของต้นบ็องไซในพิธี
เซ็นจะ พร้อมๆกับที่เกิดกระแสการเลี้ยงต้นบ็องไซในแนวใหม่ๆที่แตกต่างจากอุดมการณ์ของเหล่าศิลปินและปัญญาชนผู้ฝักใฝ่ศิลปะจีน. ต้นบ็องไซในสมัยเม้จิ
เป็นต้นแบบของบ็องไซที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน. เป็นยุคที่นักการเมืองและนักธุรกิจกลายเป็นผู้นำหรือผู้อุปถัมภ์รายสำคัญๆที่ทำให้ศิลปะบ็องไซพัฒนาก้าวหน้าต่อมา. หนึ่งในบุคคลสำคัญดังกล่าวคือ
Okuma Shingenobu (大隈 重信,1838-1922) เขาเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น
(1914-1916) และผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเอกชนชื่อ Waseda Daigaku (早稲田大学) หรือที่เรียกกันย่อๆว่า Sōdai 早大 [โซได]. อาคารที่ตั้งส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยนี้อยู่แถว
Shinjuku กรุงโตเกียว). ในพื้นที่วิลลาของเขา เขาจัดพื้นที่พิเศษภายในคฤหาสน์ให้เป็นที่ตั้งโชว์ต้นบ็องไซทั้งหมดที่เขามี. เช่นนี้ปัจจัยทางการเมืองและทางธุรกิจได้เสริมหน้าตาและยกสถานภาพของศิลปะบ็องไซ
จนกลายเป็นสัญลักษณ์ดีเด่นของความเป็นผู้รู้ ผู้ดีในสังคม. นักการเมืองคนต่อมาก็ดำเนินรอยตามบนวิถีเดียวกันนี้.
Okuma Shingenobu 大隈 重信
ค่านิยมที่วิวัฒน์ไปตามกระแสการเมืองและธุรกิจ
กระตุ้นให้ชมรมคนรักบ็องไซมองหาพื้นที่ดินเพื่อให้เป็น “นิวาสถานถาวรของบ็องไซ”. ตอนนั้นยังเป็นช่วงเวลาก่อนสงครามจีนญี่ปุ่นครั้งที่สอง
(7 กรกฎาคม 1937-9 กันยายน 1945). ความเคลื่อนไหวนี้นำไปสู่การยอมรับและการสถาปนาศิลปะบ็องไซอย่างถาวร สรุปได้ว่า กระแสศิลปะบ็องไซ มี Toshio Kobayashi เป็นผู้นำ. เขาเป็นบรรณาธิการและผู้พิมพ์วารสาร “บ็องไซ” ตลอดช่วงชีวิตเขา. เขายืนยันเรื่อยมาว่า บ็องไซไม่ใช่การทำสวนการเลี้ยงต้นไม้เป็นงานอดิเรก แต่เป็นงานสร้างสรรค์ที่มีศักดิ์ศรีเฉกเช่นจิตรกรรมหรือประติมากรรม. เขายังต้องการให้มีนิวาสถานที่เป็นทางการของบ็องไซ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะแบบหนึ่ง
ตรงตามอุดมการณ์และหลักเกณฑ์ของพิพิธภัณฑ์ในโลกตะวันตก
ให้มีนิทรรศการประจำและเปิดให้สาธารณชนเข้าชม.
ความคิดดังกล่าวได้กระตุ้นโลกของศิลปะในญี่ปุ่นและเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเมื่อมีการจัดนิทรรศการบ็องไซในปี
1934
(Kokofu Bonsai Exhibition) ที่ Tokyo Metropolitan Art Museum. ญี่ปุ่นได้สถาปนาพิพิธภัณฑ์นี้ขึ้นในเขต Ueno上野 [อูเอ๊โนะ] เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของการก้าวสู่ยุคสมัยใหม่ของประเทศ.
ญี่ปุ่นจัดนิทรรศการบ็องไซประจำชาติ
ครั้งแรกในปี 1914 และจัดกันต่อมาเป็นประจำทุกปีจนถึงปี 1933 ที่สวน Hibiya 日比谷公園 ในกรุงโตเกียว. ในช่วงระยะเดียวกันนี้
เวิ้งลึกเข้าไปในกำแพง (tokonoma 床の間) ภายในห้องรับแขกของบ้าน
ที่มักใช้เป็นห้องประกอบพิธีชงชา (หากไม่มีอาคารชาโดยเฉพาะดังที่มีตามวิลลาใหญ่ๆของชนชั้นสูง)
ได้เป็นพื้นที่จัดโชว์ต้นบ็องไซของบ้านไปด้วย. ต้นบ็องไซจึงกลาย เป็นองค์ประกอบอีกหนึ่งอย่างในการจัดห้องตามขนบญี่ปุ่นเพื่อประกอบพิธีชงชา.
เพราะฉะนั้น ในพื้นที่เวิ้งดังกล่าว มีสิ่งประดับสามสิ่งคือต้นบ็องไซ
จิตรกรรมม้วนและกระถางปลูกพืชพันธุ์หญ้าเล็กๆอยู่ข้างๆ ที่นำมาจัดวางรวมกัน
สามสิ่งนี้โยงนัยไปถึง คน สวรรค์และแผ่นดิน สร้างบรรยากาศที่กลมกลืน ที่ช่วยให้ผู้เห็นผ่อนคลาย
รู้สึกสบายตาสบายใจได้ทันที. ดังภาพตัวอย่างข้างล่างนี้
การจัดวางสิ่งประดับสามสิ่งในเวิ้ง tokonoma
ของห้องรับรองระดับกลาง (Gyo
行) ต้นบ็องไซเป็นจุดตรึงสายตา
เป็นต้นไม้ในฤดูใบไม้ร่วง. จิตรกรรมม้วนบนผนังที่อยู่เยื้องไปข้างหลังเป็นภูมิทัศน์ของหุบเขาสูง
มีต้นสนสีเขียวๆ. กรอบของภาพมีสีเข้ากับสีของใบไม้เชื่อมโยงธรรมชาติสองรูปแบบ. บนพื้นด้านซ้าย
มีต้นบ็องไซขนาดจิ๋ววางไว้เพื่อเสริมความโดดเด่นให้แก่ต้นใหญ่ ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่สะท้อนตอบรับและยืนยันการมีชีวิตของกันและกัน.
ในภาพนี้ ต้นบ็องไซเป็นองค์ประกอบเดียวในเวิ้ง tokonoma
ของห้องรับรองระดับวีไอพี (ห้อง Shin 真) ที่ใช้เป็นห้องประกอบพิธีชงชา ผู้เป็นเจ้าของหรือผู้เลี้ยงต้องการเน้นความสำคัญสูงสุดของต้นบ็องไซ ที่มีลำต้นตั้งตรงมั่นคง
มีมวลใบไม้รวมกันเป็นรูปโคนคว่ำ ยอดต้นไม้กลมมนๆ. ต้นบ็องไซลักษณะนี้ สง่าภูมิฐาน
เป็นความภูมิใจสูงสุดของผู้เลี้ยงหรือผู้เป็นเจ้าของ.
ต้นบ็องไซต้นจิ๋วในเวิ้งทางซ้ายที่มีชั้นและตู้สำหรับวางอุปกรณ์เกี่ยวกับการชงชา
นำเข้าไปวางเพื่อปรับความสมดุลของทัศนมิติอย่างสงบเสงี่ยม. ภาพจากพิพิธภัณฑ์บ็องไซโอ๊มิยะ (ดูรายละเอียดต่อไปข้างล่างนี้)
ในปี 1934 สมาคมผู้รักบ็องไซ Kokufu-ten Bonsai Association หรือ 国風盆栽展 จัดนิทรรศการบ็องไซโดยเจาะจงชื่อว่า
Kokufu-ten 国風展. ปีนั้น Yorinaga
Matsudaira (頼寿松平1845-1944)
เป็นประธานสมาคม (เขาเป็นประธานสมาคมต่อไปตลอดชึวิต). เขาเป็นคนแรกที่เนรมิต shohin bonsai ได้สำเร็จ (
小品盆栽 shohin bonsái คือบ็องไซที่มีขนาดความสูงไม่เกิน
16
เซนติเมตร ปัจจุบันอะลุ้มอล่วยให้ต้นสูงได้จนถึง 20 บางทีถึง 25 เซนติเมตร)
เขามุ่งมั่นเผยแผ่ศิลปะบ็องไซออกไปทั่วทั้งญี่ปุ่นและขยายต่อไปสู่นานาประเทศ. เครือข่ายของนิทรรศการจึงได้ขยายเป็นวงกว้างขึ้นอีกมาก ติดต่อกันเช่นนี้
ไม่นานก็กลายเป็นงานมหกรรมของบ็องไซโลกประจำปี ที่สืบทอดต่อมาจนทุกวันนี้. ผู้เลี้ยงบ็องไซมืออาชีพหรือมือสมัครเล่น
หรือผู้รักสนใจบ็องไซ ต่างมีความเห็นเหมือนกันว่านิทรรศการ Kokufu-ten เป็นที่สุดของนิทรรศการบ็องไซในโลก
ที่รวมบ็องไซงามที่สุดราว 500 ต้นมาอยู่ในที่เดียวกัน.
Matsudaira
ผู้เนรมิตบ็องไซขนาดจิ๋ว (shohin
bonsai) และนำออกแสดงที่นิทรรศการบ็องไซ
Kokufu-ten
ปี 1934. ภาพนี้จากเน็ตที่กำกับไว้ว่า William
N. Valavanis เป็นผู้ส่งไปลงในเว็ปที่ http://www.phoenixbonsai.com/Days/Kokufuten.html
Matsudaira กับต้นบ็องไซจิ๋วของเขา
และตั้งแต่ปี 1964 สมาคม Kokufu-ten ถูกยกระดับขึ้นและเปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมบ็องไซแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ Nippon Binsai Association หรือ
日本盆栽協会. นิทรรศการบ็องไซปีนั้น เป็นครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด จัดที่สวน Hibuya เช่นทุกปี. ปีนั้นเป็นปีที่ญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค 1964 ด้วย สมาคมจึงเห็นเป็นโอกาสวิเศษสำหรับเปิดโลกของบ็องไซสู่สายตานานาประเทศ. ปัจจุบันญี่ปุ่นยังคงจัดนิทรรศการบ็องไซอย่างต่อเนื่อง นิทรรศการแต่ละครั้ง รวมตัวอย่างบ็องไซที่เจริญเติบโตสมบูรณ์และงามเป็นเลิศ
มาอยู่ในที่เดียวกันเป็นจำนวนมาก. ก่อนนิทรรศการ ผู้เลี้ยงพยายามสุดกำลังเพื่อให้ต้นบ็องไซของพวกเขา
มีโอกาสผ่านเข้าไปแสดงในนิทรรศการดังกล่าว. ความนิยมบ็องไซพุ่งสูงขึ้นๆ จนต้องมีการจัดสองครั้งต่อปี
มักจะอยู่ในเดือนมีนาคมและพฤศจิกายน. ปัจจุบันมหกรรมบ็องไซโลกนี้ได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากกระทรวงศึกษาธิการ, เทศบาลกรุงโตเกียวและ NHK TV.
มหกรรมบ็องไซโลกปี 2016 นี้กลับไปจัดที่สวนภายในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ東京都美術館Tokyo Metropolitan Art Museum ที่ฉลอง 90 ปีของการสถาปนาพิพิธภัณฑ์ (ตั้งแต่ปี 1926). มหกรรมบ็องไซปี 2016 นี้จัดขึ้นในภาคแรกระหว่างวันที่
5-14
กุมภาพันธ์. นอกจากนิทรรศการบ็องไซ ยังมีนิทรรศการบ็องไซขนาดจิ๋วโดยเฉพาะและ suiseki (水石 หรือหินประดับบนถาด) จัดที่กรุงเกียวโตในเดือนมกราคมทุกปี มีชื่อเรียกนิทรรศการว่า Gafu-ten 雅風展 ที่รวมถึงการขายกระถางต้นบ็องไซจิ๋ว
เครื่องมือเครื่องใช้สำหรับการเลี้ยงบ็องไซและต้นกล้าสำหรับนำไปเลี้ยงต่อเป็นต้น.
กระถางสำหรับต้นบ็องไซจิ๋ว
ถาดสำหรับปลูกและเลี้ยงบ็องไซ
ตัวอย่างเครื่องมือสำหรับการเลี้ยงดู ตัดแต่งต้นบ็องไซโดยเฉพาะ
ชาวต่างชาติที่เดินทางไปถึงดินแดนตะวันออกไกลตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา
ได้กล่าวถึง “ต้นไม้แคระ” ของญี่ปุ่นพร้อมเรื่องเล่าต่างๆเกี่ยวกับประเทศ. มีการพิมพ์ภาพต้นไม้แคระในวารสารต่างๆ
พิมพ์แล้วพิมพ์อีกหลายครั้ง. ชาวตะวันตกยังคงเรียกบ็องไซว่า “ต้นไม้แคระญี่ปุ่น”. ต้นไม้แคระญี่ปุ่นได้เดินทางไปอวดตัวในนิทรรศการนานาชาติ, ครั้งแรกในปี 1876 ในวาระครบรอบ100 ปีแห่งการประกาศเอกราชของสหรัฐอเมริกา (United States Centennial International
Exhibition Philadelphia, May 10 - November 10, 1876). ต่อมาที่ Expositions
Universelles de Paris ปี 1878
และปี 1889, ที่ Chicago
Expo เมือง Chicago
ในปี 1893,
ที่
Universal Exposition St-Louis ในปี 1904 และปี 1910. ไปออกแสดงที่ Panama
Pacific International Exposition San Francisco ปี 1915.
หนังสือเกี่ยวกับต้นไม้แคระโดยเฉพาะที่พิมพ์ออกเป็นภาษาตะวันตกเล่มแรก
คือภาษาฝรั่งเศสในปี 1902 และภาษาอังกฤษในปี 1940. ฉบับภาษาอังกฤษของ Yoshimura & Halford ที่พิมพ์ในปี 1957 ชื่อว่า «Miniature
Trees and Landscapes» ถือว่าเป็น “คัมภีร์บ็องไซในโลกตะวันตก”. Yuji Yoshimura (1921-1997 เป็น Bonsai
master เขาอยู่ที่สหรัฐฯ
สอนและเผยแผ่ศิลปะบ็องไซในโลกตะวันตก) ได้เชื่อมโยงศิลปะบ็องไซคลาซสิกของญี่ปุ่นกับวิถีชีวิตสมัยใหม่ของตะวันตกได้อย่างลงตัว. ในที่สุดชาวตะวันตกยอมรับว่าบ็องไซเป็นงานสร้างสรรค์ที่ประณีตและงามสง่า และยอมรับศิลปะการสร้าง
“ทัศนียภาพบนถาด”(penjing)
ของจีน. การติดต่อกับครูบ็องไซชาวญี่ปุ่นหรือผู้เลี้ยงบ็องไซมืออาชีพและการเดินทางของชาวตะวันตกสู่ญี่ปุ่นเพื่อศึกษาและพัฒนาทักษะเกี่ยวกับบ็องไซ
ทำให้บ็องไซขยายวงกว้างไปในยุโรป. ความรู้ทางวิทยาศาสตร์พืชพรรณ ที่ขยายเจาะลึกต่อไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างพืชพรรณชนิดต่างๆเมื่อนำมาประกอบกันเป็นบ็องไซอยู่ด้วยกันบนพื้นที่จำกัด ทำให้การเลี้ยงต้นบ็องไซมีฐานมั่นคงยิ่งขึ้นอีก. นอกจากนี้ ชาวตะวันตกผู้เก่งในการวิเคราะห์แจกแจง, ยังฉลาดพรรณนาให้เห็นความงามของรูปลักษณ์แบบต่างๆของต้นบ็องไซ เท่ากับช่วยเผยแผ่และอนุรักษ์ศิลปะบ็องไซไปด้วย.
ต่อมาในปีที่มี World Expo
1970 ที่โอซากา นิทรรศการบ็องไซได้กระตุ้นความสนใจและความตระหนักรู้เกี่ยวกับบ็องไซเป็นอย่างมากที่แพร่ต่อไปทั้งยุโรป. เกิดการนำเข้ากระถางบ็อนไซจากญี่ปุ่นเข้าสู่ตลาดยุโรป
มีการจัดตั้งบ็องไซอาคาเดมี.
ทุกวันนี้ญี่ปุ่นส่งออกต้นบ็องไซไปทั่วโลก มีจีนและเวียดนามที่เป็นตลาดสำคัญ. ในขณะเดียวกัน ก็มีชาวต่างชาติทั้งเด็กและผู้ใหญ่เดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อศึกษาบ็องไซ
เรียนปลูกเรียนเลี้ยง.
ในยุตศตวรรษที่ 21 นี้เกิดการทำบ็องไซแนวใหม่ เป็น man bonsai ที่ชาวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งกำลังหลงใหล. Paradise Yamamoto เป็นผู้ริเริ่มขึ้นเมื่อ 27 ปีก่อน เขาเรียกว่า “มังบ็องไซ-man
bonsai”. มังบ็องไซ ก็เหมือนต้นบ็องไซปกติ แต่มีการนำรูปหุ่นคน
สัตว์ และสรรพสิ่งทั้งแบบบ้าน สะพาน เจดีย์ฯลฯ (ตามหลักการ) ปั้นด้วยดินขนาดเล็กๆ
ในทีท่าต่างๆ เพิ่มเข้าไปในกระถาง เหมือนสร้างเนื้อเรื่องของชีวิตคนเข้าไปกับต้นไม้. ต้องคิดเนื้อหาที่ต้องการนำเสนอในกระถางบ็องไซ จัดวางเหมือนจัดตัวละครบนเวที ดูให้สิ่งที่นำเข้าไปเสริมในกระถางบ็องไซ
มีขนาดพอเหมาะพอดีกับต้นบ็องไซ. ถ้าตั้งชื่อประกอบฉากที่นำเสนอไว้ด้วย
ก็จะดี เพราะช่วยให้คนดูเข้าใจเจตจำนงของการจัดฉากได้ง่ายขึ้น. ดังตัวอย่างที่นำมาให้ชม ขอให้พิจารณาเองว่า บ็องไซแบบนี้ รสนิยมอย่างนี้ “งาม” ต้องจริตหรือไม่อย่างไร.
ให้สังเกตกวาง moose
ที่มีเขาเป็นแผง
ระหว่างแมกไม้ในป่าบนเนินเขา
สะพานข้ามธารน้ำที่เชื่อมป่าไผ่
มีตะเกียงหินอีกฝั่งหนึ่ง
ต้นบ็องไซเหมือนต้นไม้ต้นใหญ่ที่มีอายุมากของบ้านที่แทรกเข้าไปในเนินเขา
ภูมิประเทศยิ่งใหญ่ของโขดหินผาบนเกาะกลางทะเล
แม้ในสภาพแวดล้อมเช่นนั้น
ต้นสนก็ยังเจริญงอกงามได้
ทำให้นึกถึงเกาะนอกฝั่งประเทศญี่ปุ่น
เกาะกลางทะเลเช่นทะเลนอกฝั่งเมือง Matsushima
ในจังหวัด
Miyagi.
ตัวอย่างของ “ภูมิทัศน์บนถาด” แบบนี้เป็น
saikei landscape
(หรือ Penjing 盆景 ของจีน) จาก US National Bonsai and Penjing
Museum, Washinton DC.
ต้นบ็องไซรูปแบบนี้
เหมือนเสาเอกหรือเสาคอลัมน์ใหญ่ๆ
เป็นที่เกาะเกี่ยวของสถาปัตยกรรมส่วนต่างๆที่ประกอบกันเป็นบ้านพักบนต้นไม้
ค่านิยมเกี่ยวกับต้นบ็องไซ กลายไปเป็นส่วนหนึ่งของ
“ของเล่น” ของคนยุคใหม่.
ผลงานของศิลปินญี่ปุ่นชื่อ Japanese artist Takanori Aiba
ปัจจุบัน ค่านิยมเดิมที่บอกว่าบ็องไซเป็นงานอดิเรกของคนแก่นั้นเปลี่ยนไปแล้ว. มีชมรมสอนการเลี้ยงบ็องไซสำหรับผู้เริ่มคิดทำ ผู้ที่ไม่เคยรู้อะไรมาก่อน.
เช่นที่โตเกียว มีชมรมสอน ไม่ใช่เลี้ยงและดูแลต้นบ็องไซต้นหนึ่งต้นเดียว
แต่อาจรวมหลายๆต้น หลายพันธุ์ไว้ด้วยกันในกระถาง เหมือนการปลูกต้นไม้ปกติในสวนหย่อมหนึ่ง
เช่นนี้ทำให้ทุกคนเข้าถึงต้นบ็องไซหลายชนิด ขยายองค์ความรู้เรื่องต้นบ็องไซออกไปกว้างขึ้น
และยังขยายวงของผู้เลี้ยงออกไปด้วยเพราะสำหรับทุกผู้ทุกวัย หญิงหรือชาย
เด็กหรือผู้ใหญ่. พืชที่เลือกมาเลี้ยง
เลือกจากความต้านทานต่อความแห้งแล้งและต่อโรค มีขนาดต่างๆ การทำบ็องไซแบบคละกันอย่างนี้ มีเสน่ห์ดึงดูดความสนใจของผู้หญิง ในชั้นเรียนแต่ละคนติดตามต้นไม้เหล่านั้นที่เติบโตให้ดอกให้ผลในปีต่อๆมา. ชมรมจัดหาต้นกล้ามาให้เลือกเลี้ยงเป็นต้นบ็องไซ
ให้คนเรียนจัดการตกแต่งด้วยต้นพันธุ์อื่นแบบอื่นเข้าไปเองตามความต้องการหรือตามจินตนาการของตนเอง.
บางคนบอกว่านำต้นบ็องไซไปตั้งบนโต๊ะอาหาร กินไปหรือดื่มกาแฟไป
มองดูมันไป เป็นความเพลิดเพลินและช่วยทำให้รู้สึกสดชื่อนกระปรี้กระเปร่าขึ้นด้วย. คนจำนวนมากได้หันมาเลี้ยงต้นบ็องไซ กลายเป็นกิจกรรมยามว่างที่สนุกและผ่อนคลาย.
ทุกวันนี้มีนิทรรศการบ็องไซจำนวนมากในญี่ปุ่นและในโลก
ทำให้คนมีโอกาสได้เห็นและชื่นชมต้นบ็องไซมากขึ้นและอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้คนเลี้ยงบ็องไซมืออาชีพก็มีโอกาสไปต่างประเทศ
อาจไปสอนศิลปะบ็องไซแก่ชนทุกชาติ ทั้งผู้หญิง ผู้ชายและเด็ก. บางทีการเลี้ยงต้นบ็องไซอาจเทียบได้กับการมีสัตว์เลี้ยงในบ้าน
มีโอกาสได้อยู่กับต้นบ็องไซอย่างใกล้ชิด เพราะแม้ผู้คนออกไปเที่ยวในธรรมชาติ
ก็มักไม่มีโอกาสเข้าใกล้ ไปดู สังเกตหรือไปแตะต้องต้นไม้ เพราะฉะนั้น การเลี้ยงต้นบ็องไซเองในบ้าน เป็นวิธีหนึ่งที่ปลูกฝังความเข้าใจต้นบ็องไซในกระถางของเขาเองอย่างถ่องแท้
ที่นำไปสู่ความรู้และกระตุ้นจิตสำนึกเกี่ยวกับธรรมชาติพืชพรรณและระบบนิเวศของโลก.
แนะนำหมู่บ้านบ็องไซโอ๊มิยะและพิพิธภัณฑ์บ็องไซ
ในช่วงเวลาระหว่างสมัยเอโด๊ะ สมัยเม้จิและสมัย Taisho
(Taishō jidai 大正時代, [ไทโชจิได], 1912-26) ร้านบ็องไซทั้งหลายไปตั้งรวมกันอยู่ในที่ตำบล Sendagi ในเขต Bunkyo
กรุงโตเกียว (ปัจจุบันคือเขต Dangozaka)
แต่การพัฒนากรุงโตเกียวในยุคใหม่ ที่กระตุ้นอุตสาหกรรม และการพัฒนาผังเมืองที่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง
การก่อสร้างอาคารสูงๆทำให้พื้นที่โล่งกว้าง ดินดี อากาศดีลดน้อยลงๆ
ส่งผลต่อการเพาะปลูกเลี้ยงดูต้นบ็องไซในเมืองหลวง. แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปี 1923 ยิ่งกระทบความอยู่รอดของศูนย์บริบาลบ็องไซ
และกลายเป็นโอกาสเหมาะให้ชมรมคนรักบ็องไซทั้งหลายรวมตัวกันไปสร้างหมู่บ้านบ็องไซในชานเมืองหลวง
และในที่สุดได้มารวมกันที่หมู่บ้านบ็องไซโอ๊มิยะตั้งแต่ปี 1925 เป็นต้นมา. ในปี 1928 มีการสถาปนาสหกรณ์บ็องไซ มีสมาชิก 20 คน
จัดกฎระเบียบการเข้าไปตั้งบ้านเรือนในหมู่บ้านบ็องไซ จารึกปี 1936 ระบุว่ามีศูนย์บริบาลบ็องไซ
35 แห่ง. สถิติเดือนกันยายนปี
2013 มีศูนย์อยู่ 6 แห่ง. ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
เกิดอคติต่อการเลี้ยงต้นบ็องไซ ว่าเป็นกิจกรรมที่หรูหราฟุ่มเฟือย. อย่างไรก็ตามคนรักบ็องไซก็รวมตัวกันเพื่อฟี้นฟูศิลปะนี้
มีนักการเมืองและบุคคลดังๆของสังคมร่วมสนับสนุนและได้ไปเยือนหมู่บ้านบ็องไซในทศวรรษที่
1940 และทศวรรษที่ 1960.
มีหลักฐานเล่ากันมาว่า
ภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวในปี 1923 เมืองโตเกียวเสียหายไปทั่ว. ชาวสวนผู้มีอาชีพเลี้ยงบ็องไซที่นั่นรวมตัวกัน
มองหาพื้นที่กว้างขวางเพียงพอ ที่มีอากาศดีและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเพาะปลูกบ็องไซ
ด้วยความมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์ศิลปะบ็องไซจากยุคเอโด๊ะ (Edo jidai 江戸時代 [เอโด๊ะจีได]) ให้คงอยู่และสืบทอดต่อไปยังชนรุ่นหลัง. พวกเขาค้นพบและตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่เมือง
Omiya (大宮 [โอ๊มิยะ])
ทางเหนือของกรุงโตเกียวในจังหวัด Saitama [ไซ้ตะหมะ] และตั้งเป็นหมู่บ้านบ็องไซที่นั่นในปี 1925. ทั้งหมดรวมกันกำหนดเงื่อนไข
4 ข้อสำหรับผู้ที่อยากเข้าไปอยู่ภายในหมู่บ้านบ็องไซนี้ว่า
เพื่ออนุรักษ์ค่านิยมและศิลปะของเอโด๊ะ ดังนี้
๑) คนนั้น(ครอบครัวนั้น)
ต้องเลี้ยงต้นบ็องไซอย่างน้อย 10 ต้น
๒) ต้องยอมเปิดสวนให้สาธารณชนเข้าชม
๓)
อาคารบ้านเรือนในหมู่บ้านนั้นต้องเป็นแบบชั้นเดียว
๔) รั้วบ้านเป็นรั้วต้นไม้เท่านั้น
ข้อกำหนดดังกล่าวทำให้หมู่บ้านบ็องไซที่เมืองโอ๊มิยะ
กลายเป็นแดนศักดิ์สิทธิ์ของบ็องไซ หมู่บ้านบ็องไซโอ๊มิยะยังคงรักษาอัตลักษณ์ตามเงื่อนไขสี่ประการดังกล่าวไม่เสื่อมคลายลงจนถึงทุกวันนี้. หมู่บ้านบ็องไซเมืองโอ๊มิยาเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก.
มีการจัดกรุ๊ปทัวร์พาไปชมหมู่บ้านนี้เสมอมา. ชาวต่างชาติผู้รักสนใจบ็องไซและบุคคลสำคัญๆจากประเทศต่างๆก็แวะไปชมมิได้ขาด. ในปัจจุบัน
หมู่บ้านบ็องไซโอ๊มิยะ ประกอบด้วยสวนบ็องไซหกแห่งที่ผู้คนไปเยี่ยมชมได้
แต่ละแห่งรวมต้นบ็องไซรูปลักษณ์ต่างๆ ที่เจ้าของเลี้ยงดูมาตามอุดมการณ์และความรู้สึกส่วนตัว
เช่นการเลือกประเภทของต้นไม้และความตั้งใจในการสืบทอดศิลปะนี้ตามความถนัดของแต่ละคน.
บางคนเปิดสอนการเลี้ยงต้นบ็อนไซ บางคนรวมกิจกรรมการทำกระถางกระเบื้องเคลือบเข้าไปในศิลปะการจัดการวางบ็องไซ
บางคนรวมศิลปะการจัดพื้นที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสุนทรีย์โดยรวมของบ็อนไซ. สำหรับผู้รักผู้สนใจบ็องไซ
หมู่บ้านนี้เป็นแหล่งความรู้และแรงบันดาลใจที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง.
1. 九霞園 Kyuka-en เจ้าของคือ Isamu
MURATA เขาเลี้ยงต้นบ็องไซมากกว่า 300 ต้นจากสายพันธุ์ต่างๆ.
2. 清香園 Seikou-en เจ้าของคือ Tomio YAMADA ผู้เน้นเลี้ยงบ็องไซให้สวยงามตามฤดูกาล.
3. 藤樹園 Toju-en เจ้าของคือ Hiromi HAMANO สวนนี้สอนวิธีการเลี้ยงดูต้นบ็องไซตั้งแต่ปี 1966 และเลี้ยงต้นไม้พันธุ์สนเป็นสำคัญ.
4. 芙蓉園 Fuyo-en เจ้าของคือ Hiroshi TAKEYAMA ผู้เน้นสร้างต้นบ็องไซไม้ดอกและ
บ็องไซแนวป่าละเมาะ.
5. 蔓青園 Mansei-en เจ้าของคือ Hatsuji KATO เป็นสวนบ็องไซแห่งแรกของหมู่บ้าน เปิดในปี 1925 สร้างบ็องไซแนวป่า ภูเขาสูงและหุบเขา ตามหลักสุนทรีย์ญี่ปุ่นที่รู้จักกันในนามว่า wabi-sabi 侘寂 [วาบิ๊ ซาบิ]. (ดูรายละเอียดใน C. ข้อ 4 สรุปสั้นๆได้ว่า เห็นความงามในสิ่งเรียบง่าย ในชีวิตสามัญชน สิ่งที่กาลเวลาได้ขัดเกลาหรือเคลือบมา รวมทั้งเห็นความงามในข้อบกพร่อง ในความไม่สมบูรณ์สมดุล เพราะนั่นคือสัจจธรรมของชีวิต)
6. 松雪園 Shosetsu-en เจ้าของคือ Teruo KUROSU สวนนี้เน้นความสุนทรีย์ในการเตรียมพื้นที่ที่จัดตั้งต้นบ็องไซ ควบคู่ไปกับศิลปะบ็องไซ.
ในวาระที่มีนิทรรศการนานาชาติ (หรือ World Expo-เอ็กซโปโลก) ปี 1970 ที่จัดขึ้นที่เมือง Osaka [โอสะก๊ะ] รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดนิทรรศการบ็องไซกับศิลปะการจัดหินประดับที่สะท้อนภูมิประเทศแบบหนึ่ง
หรือซุยเซกิ (suiseki 水石[ซุยเซกิ] (ดูรายละเอียดใน C. ข้อ 2) ให้เป็นนิทรรศการตัวแทนชองความเป็นญี่ปุ่นต่อสายตาของชาวโลก. ต้นบ็องไซที่นำไปแสดงครั้งนั้นนำไปจากหมู่บ้านบ็องไซที่โอ๊มิยะเกือบทั้งหมด.
ภาพตัวอย่างของ Suiseki-水石- ซุยเซกิ. ภาพจาก
ส่วนการประชุมบ็องไซนานาชาติครั้งแรกจัดขึ้นในปี
1989 ที่เมืองโอ๊มิยะนี้เช่นกัน.
การประชุมครั้งนั้นจัดติดต่อกันสี่วัน มีผู้รักบ็องไซเข้าร่วม 1200 คนจาก 32 ประเทศ. ทั้งหมดนำต้นบ็องไซมาร่วมแสดงและเข้าร่วมในกิจกรรมเชิงปฎิบัติการด้วย
(workshops). นับเป็นความสำเร็จที่เมืองโอ๊มิยะภูมิใจอย่างยิ่ง. การประชุมบ็องไซนานาชาติยังคงจัดมาถึงทุกวันนี้
โดยจัดทุกสี่ปี ตามเมืองต่างๆทั่วโลก. ในปี 2017 เป็นการประชุมครั้งที่ 8 และจะกลับมาจัดที่เมืองโอ๊มิยะ
เมืองต้นกำเนิดของปรากฏการณ์บ็องไซนานาชาติดังได้กล่าวมา ระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2017.
ตรงประตูทางเข้าพิพิธภัณฑ์ติดแผ่นป้ายไว้แล้วด้วยความภูมิใจตั้งแต่ปีนี้ว่า
การประชุมบ็องไซนานาชาติในปี 2017 นั้น เมืองโอ๊มิยะ
ได้รับเลือกให้เป็นสถานที่จัดการประชุม
พิพิธภัณฑ์บ็องไซที่เมืองโอ๊มิยะ จังหวัดไซ้ตะหมะ (The Omiya
Bonsai Art Museum, Saitama. さいたま市大宮盆栽美術館 ) ตั้งขึ้นในปี 2010 เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวมศิลปะเรื่องบ็องไซโดยเฉพาะแห่งเดียวแห่งแรกของโลกที่เปิดแก่สาธารณชน.
เขาประกาศว่าเป็นที่รวมบ็องไซต้นงามๆต้นพิเศษพิศดารร้อยกว่าต้น
และรวมสรรพสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับบ็องไซ เช่นกระถางที่มักเป็นเครื่องปั้นดินเผาแบบเรียบ
รูปลักษณ์งามสมดุล หรือบางคนมีรสนิยมตามแบบจีนนิยมเครื่องลายคราม
หรือกระเบื้องเซรามิค บางทีก็เคลือบสีพร้อมลวดลายประกอบสำหรับเป็นพื้นที่ของบ็องไซ. นอกจากนี้ก็มีหินประดับบ็องไซ, โต๊ะวางต้นบ็องไซ, จิตรกรรมเนื้อหาบ็องไซ,
ประวัติและค่านิยมพื้นบ้านเกี่ยวกับบ็องไซ. นิทรรศการถาวรเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและการพัฒนาบ็องไซในญี่ปุ่น
กับการก่อตั้งสมาคมหรือชมรมคนรักบ็องไซ.
จิตรกรรมที่ตกทอดมาจากยุคเก่าๆที่มีภาพบ็องไซรวมอยู่ด้วย
อันเป็นหลักฐานสำคัญในการย้อนรอยกำเนิดของบ็องไซในจีนและในญี่ปุ่น. นิทรรศการจรก็มีเสมอ
จัดตามฤดูกาล โดยเลือกนำมาเสนอในแต่ละวาระประมาณ 50 ต้น. มีห้องนิทรรศการและแกลเลอรีหลายห้องที่รวมเนื้อหาเกี่ยวกับบ็องไซไว้
ให้เป็นที่ไปศึกษาค้นคว้าได้เลย. ห้องทั้งหลายอยู่ชั้นล่าง
ส่วนห้องปาฐกถาและห้องสัมนาอยู่ชั้นบน. จากระเบียงชั้นบน เรามองเห็นพื้นที่สวนบ็องไซที่เป็นพื้นที่กลางแจ้ง. ต้นบ็อนไซถูกจัดวางไปตามผังพื้นที่สวน
เปิดโอกาสให้ชมแต่ละต้นได้อย่างใกล้ชิดและเขาอนุญาตให้ถ่ายรูปได้
ส่วนต้นบ็องไซที่เป็นสมบัติล้ำค่าของพิพิธภัณฑ์นั้นอยู่ภายในอาคารนิทรรศการชั้นล่าง
เขาห้ามถ่ายรูป.
แนวโน้มในปัจจุบัน
กระแสย้อนกลับไปในยุคแรกๆในประวัติการเลี้ยงดูบ็องไซ
คือบางครั้งนำต้นบ็องไซเข้าไปอยู่ในห้องภายในอาคาร
และโดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวโยงไปถึงพิธีชงชา
ซึ่งในปัจจุบันก็มีการฟื้นฟูขนบธรรมเนียมตามวิถีชาอย่างแท้จริง
และเป็นขนบธรรมเนียมที่เป็นอัตลักษณ์ถาวรของญี่ปุ่นไปแล้ว. เช่นนี้ในพิพิธภัณฑ์บ็องไซจึงมีนิทรรศการห้องประกอบพิธีชงชา (Zashiki-kazari, ดูรายละเอียดต่อไปในบท C. ข้อ 3) เสนอให้เห็นลักษณะและผังห้องอย่างชัดเจน.
ห้องดังกล่าวมีสถาปัตยกรรมแบบประเพณีญี่ปุ่น มีหิ้ง ชั้น ตู้ที่มีประตูแบบเลื่อนปิดเปิดและพื้นห้องปูด้วยเสื่อตะต๊ามิเป็นต้น.
ในครัวเรือนสามัญชนที่อาศัยอยู่ในบ้านแบบญี่ปุ่น ห้องแบบนี้เป็นห้องรับรองแขกผู้ไปเยือนซึ่งในชีวิตปกติก็เป็นห้องรวมสมาชิกในครอบครัว. ถ้าบ้านหลังใหญ่ ฐานะดี
ห้องรับรองแขกมีพื้นที่กว้างขวาง มีสิ่งประดับห้องที่มีราคามากขึ้นตามลำดับ.
ในพิพิธภัณฑ์จึงมีการแสดงห้องสามแบบตามวิถีชีวิตของครอบครัวญี่ปุ่นสามระดับที่แตกต่างกัน. สามห้องสามแบบมีชื่อเรียกตามลำดับจากห้องระดับธรรมดาสู่ห้องระดับวีไอพี
(เป็นห้องแบบ informal, semi-formal และ formal) ที่เรียกในภาษาญี่ปุ่นตามลำดับดังนี้
ห้อง So (草), ห้อง Gyo (行) และห้อง Shin (真). ดังภาพตัวอย่างแบบห้องที่นำมาให้ชมข้างล่างนี้
ภาพจากหนังสือ The story of “Bonsai”-
The History of Bonsai from ancient times to
the present.
ในปัจจุบัน ชาวญี่ปุ่นย้ายไปอยู่ในบ้านอาคารแบบอพ้าตเม้นต์หรือคอนโดมากขึ้นๆ
การมีห้องประกอบพิธีชงชาส่วนตัวภายในบ้านลดน้อยลงตามเมืองใหญ่. แต่นั่นมิได้ทำให้พิธีชงชาลดน้อยลง
เพราะชาวญี่ปุ่นยังรักที่จะไปร่วมพีธีชาที่จัดกันตามสวน
ที่มีอาคารชงชาแบบดั้งเดิมในบริบทแวดล้อมที่สวยงามท่ามกลางธรรมชาติของแต่ละฤดูกาล. เป็นหนึ่งในกิจกรรมของชาวญี่ปุ่นเมื่อไปเที่ยวสวนขนาดใหญ่ๆ
หรือเมื่อนัดไปกันเป็นกลุ่มกับชมรมกิจกรรมเป็นต้น. ในกรณีแบบนี้
พวกเขาอาจนัดกันสวมชุดกิโมโนสวยงามไปชมสวนและเข้าร่วมดื่มชาด้วยกันในอาคารชา
นับเป็นการสืบทอดและส่งเสริมขนบวัฒนธรรมอันสวยงามให้ยืนยงต่อไป. สวนที่ไม่มีอาคารชาตามขนบดั้งเดิม
ก็ยังมีบริการน้ำชาพร้อมขนมหวานในสวน ให้นั่งใต้ร่มสีแดง
เป็นรูปแบบการแวะดื่มน้ำชาสมัยใหม่ที่ยังมีอะไรที่เป็นสุนทรีย์อยู่ไม่น้อย
เพราะการจัดบริเวณสวนหย่อมเล็กๆให้เป็นมุมน้ำชา สะอาดเรียบร้อยและร่มรื่น.
เชิญชมภาพรอบบริเวณของพิพิธภัณฑ์บ็องไซโอ๊มิยะ
ที่ได้ไปถ่ายรูปมาให้ดูต่อไปนี้
ร้านอาหารที่อยู่เยื้องพิพิธภัณฑ์บ็องไซโอ๊มิยะ
พื้นที่หน้าร้านพร้อมต้นไม้และรั้วจากไม้ไผ่ที่จัดได้อย่างสวยงามและเรียบเนี๊ยบ
ทางเข้าบริเวณพิพิธภัณฑ์บ็องไซโอ๊มิยะ
รายละเอียดบนก้อนหินที่วางเป็นระยะตรงทางเข้า บอกให้รู้ว่าห้ามรถผ่านเข้าไป
หินแต่ละก้อนมีลวดลายดอกไม้ชนิดต่างๆจำหลักไว้
ทางเข้าพิพิธภัณฑ์บ็องไซโอ๊มิยะ
พร้อมแผงติดประกาศกิจกรรมปัจจุบันและอนาคต
เมื่อเข้าไปภายในอาคารเป็นห้องโถงใหญ่ มีบ็องไซต้นดาราที่พิพิธภัณฑ์เลือกมาตั้งโชว์
เหมือนต้อนรับผู้มาชมพิพิธภัณฑ์ เข้าใจว่า
มีการเปลี่ยนต้นอื่นมาแทนในแต่ละโอกาส
แผนผังแสดงพื้นที่พิพิธภัณฑ์และสวนกลางแจ้งที่แสดงบ็องไซ
จุดวงกลมๆบนแผนผังบอกตำแหน่งที่ตั้งถาวรที่สำหรับวางโชว์ต้นบ็องไซ
ส่วนต้นบ็องไซในสวนบางต้นจะถูกย้ายออกไปและมีต้นอื่นมาวางไว้แทน
เพื่อให้เป็นไปตามฤดูกาล
เช่นฤดูใบไม้ผลิจะเป็นบ็องไซพันธุ์ไม้ดอกเป็นต้น
จากระเบียงชั้นสองที่เปิดให้เข้าออกได้
มีม้านั่งบนระเบียงให้คนนั่งพักผ่อน
และชมสวนบ็องไซจากที่สูง
ต้น Sugi (杉 Japanese Cedar) เลี้ยงเป็นทรงตั้งตรง
ต้น Karin (花梨 Japanese Quince)
เดือนพฤษภาคมที่ไปเยือนตอนนั้น ต้นนี้มีผลแล้วเห็นขัดเจน
สังเกตลำต้นใหญ่ที่แข็งแรงบนกระถางถาดเล็กๆ
ต้น Shimpaku (真柏銘寿雲 Japanese Juniper
named Jyuun)
ให้สังเกตวิธีการดัดลำต้นและจัดกิ่ง กิ่งสีขาวๆนั้น
เป็นกิ่งที่ตายแล้วที่ยังเกาะรวมอยู่กับลำต้นใหญ่
ดูใกล้ๆจะเห็นว่าลำต้นเหมือนประติมากรรมสมัยใหม่แบบหนึ่ง เจ้าของมิได้ตัดส่วนที่ตายแล้วทิ้งแต่ดูแลตัดและขัดเกลามันจนลื่นมือสวยสะอาด
มีรูปลักษณ์ที่สวยงามปกป้องลำต้นที่ยังมีชีวิตที่เป็นสีคล้ำๆ.
ต้น Kuro-matsu (黑松 Black Pine)
มาพิจารณาต้นบ็องไซต้นดาราที่ประดับในห้องโถงของพิพิธภัณฑ์
นี่เป็นด้านหน้าของต้น
เดินถ่ายรูปต้นไม้ไปรอบด้าน
เห็นว่าลำต้นจริงๆที่ยังมีชีวิต(สีคล้ำๆที่แทบจะมองไม่เห็น นอกจากเข้าไปเปิดดูในหมู่ใบสนสีเขียวๆ). ประเด็นเด่นคือกิ่งและลำต้นที่ตายแล้วที่เป็นส่วนสีขาวๆของต้นนี้
ที่เจ้าของได้ดูแลขัดเกลาตัดแต่งจนกลายเป็นประติมากรรมชิ้นงาม
มีรูปลักษณ์แปลกตามาก แสดงให้เห็นจินตนาการของผู้เลี้ยงบ็องไซต้นนี้. ต้นบ็องไซแบบนี้
จึงเป็นตัวอย่างของงานสร้างสรรค์ เป็นการสร้างงานศิลป์ด้วยต้นไม้
ที่มีศักดิ์และสิทธิ์เสมองานสร้างสรรค์ศิลปะแขนงอื่นใด.
ด้านหลังของต้นบ็องไซ
บันทึกเดินทางของโชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ ณ เดือนสิงหาคม ๒๕๕๙.
------------------------------------------------------------------------------
ติดตามไปดูบทที่สองได้ที่นี่
B. บ็องไซคืออะไร ทำไมบ็องไซ ประเภทและรูปลักษณ์ของต้นบ็องไซ
เชิญเข้าไปดูได้ที่นี่ >>
http://chotiroskovith.blogspot.com/2016/08/b.html
C. บ็องไซในปรัชญาและสุนทรีย์ของญี่ปุ่น