Friday 26 August 2016

B. ทำไมบ็องไซ ประเภทและรูปลักษณ์ของต้นบ็องไซ



การเลี้ยงบ็องไซไม่ใช่การสะสมพืชพรรณจากสวน ป่าหรือภูเขาแล้วนำมาปลูกลงในกระถางตามรูปทรงที่ไปเอามันมาจากธรรมชาติ. ต้นไม้หลายสายพันธุ์จะปลูกลงในกระถางไม่ได้เพราะรากใหญ่และแตกแขนงออกไปไกลในพื้นดิน. เพื่อสร้างสรรค์ความงามตามธรรมชาติของมันในขนาดย่อส่วนที่ตรงตามสรีรวิทยาที่แท้จริงในธรรมชาติ  เราต้องปรับต้นไม้ให้เข้าไปอยู่ในกระถางโดยไม่ไปทำลายระบบพันธุกรรมของมัน. หลักการนี้เรียกว่า Keisho-sodai (ที่แปลตามตัวว่า ขนาดเล็ก,เหมือนกันทุกอย่าง)
      การที่ต้นบ็องไซมีขนาดเล็กนั้น จึงไม่ใช่เพราะถูกจัดพันธุกรรมใหม่เพื่อให้มันเป็นต้นไม้แคระ  มันเติบโตตามธรรมชาติเฉกเช่นต้นไม้ใหญ่ทุกประการ. ความแตกต่างที่สำคัญที่สุดคือ ต้นไม้ในธรรมชาติเจริญเติบโตได้อย่างเต็มพิกัดในสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวย หากสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย มันก็ตายลงไปก่อนวัยอันควร เช่นพันธุ์ไหนเติบโตดีในสภาพภูมิธรณีแบบใด สูงสุดเท่าใด มีอายุยืนนานที่สุดเท่าใด. ส่วนต้นบ็องไซนั้นอยู่ในความดูแลของคนเลี้ยงอย่างใกล้ชิด นั่นคือ มีคนเข้าไปบริหารจัดการชีวิตของต้นบ็องไซ ด้วยความรู้ ความเข้าใจ ความรัก ควบคู่ไปกับเทคนิคและกระบวนการเลี้ยงทุกขั้นตอน ตั้งแต่การตัดกิ่ง ตัดรากให้พอเหมาะ การนำลงปลูกในกระถาง การริดใบ การมัด การดัดกิ่งให้เป็นไปตามแบบที่คิดไว้ และรู้จักใช้เทคนิคปรับเปลี่ยนส่วนของลำต้นที่ตายแล้วให้มันดูสวยงามโดยไม่ต้องตัดมันทิ้งเป็นต้น.
      พื้นที่น้อยนิดในกระถางตื้นๆ คือการจำกัดการแผ่กระจายของราก และทำให้ต้นไม้นั้นลดปริมาณอาหารสำรองที่สะสมภายในต้นของมัน นั่นคือต้นบ็องไซทำงานน้อยลง. การตัดแต่งโครงสร้างของกิ่งก้านสาขาบนดินและระบบรากที่อยู่ใต้ดินอย่างสม่ำเสมอ เท่ากับชะลอการเจริญเติบโตของมัน ไม่ให้มันเติบโตบรรลุศักยภาพในช่วงชีวิตปกติของต้นไม้นั้น หรือคือการชะลอความแก่ เฉกเช่นคนหรือสิ่งมีชีวิตอื่นใด วัยชรามากับปัญหาต่างๆ. ดังนั้นต้นบ็องไซที่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง จึงมีชีวิตอยู่ได้นาน แข็งแรงและกระปรี้กระเปร่าของวัยหนุ่มสาวเสมอ และเมื่อคนเลี้ยงจากไป หากมีอีกคนมารับช่วงอย่างถูกต้องเหมือนที่มันเคยได้รับ มันก็จะมีชีวิตยืนนานกว่าคนที่มาดูแลคนใหม่ด้วย. กระบวนการเลี้ยงดูบ็องไซแบบนี้ เหมือนกับการดูแลต้นไม้ที่ปลูกเป็นแนวรั้ว. ต้นไม้พวกนี้มีอายุยืนนานกว่าต้นไม้พันธุ์เดียวกันที่เจริญเติบโตในธรรมชาติ เพราะคนไม่ปล่อยให้มันเติบโตเต็มพิกัดของมัน ด้วยการตัดเล็มรั้วต้นไม้เสมอๆนั่นเอง. การดูแลรั้วต้นไม้ไม่เหมือนการดูแลต้นบ็องไซนัก แต่มันก็เป็นตัวอย่างและพยานให้เห็นชัดเจนว่า หากต้นไม้ถูกชะลอเวลาการเติบโตมิให้มันเจริญจนเต็มศักยภาพด้วยการตัดเล็มเป็นประจำ เท่ากับยืดชีวิตมันต่อไปได้เรื่อยๆ  เพราะธรรมชาติพืชพรรณต้องอยู่รอดเพื่อขยายและธำรงสายพันธุ์. เมื่อต้นไม้เจริญเติบโตในแนวตั้งจนถึงจุดสูงสุดของศักยภาพของสายพันธุ์ของมันแล้ว มันจะเริ่มขยายออกไปในแนวนอน แผ่กิ่งแขนงและผลิใบออกไปเรื่อยๆตามพลังชีวิตของมัน เมื่อสภาพแวดล้อมสมบูรณ์ มีน้ำ อากาศและดินดี ไม่มีอะไรหยุดชีวิตมันได้ เช่นนี้กิ่งก้านสาขาก็แผ่ออกไปรอบต้นของมันจนสุดศักยภาพของมันแล้วก็หยุดลง เหมือนผู้สูงอายุ อะไรนิดหน่อยก็ทำให้เจ็บป่วยได้ ต้นไม้ก็เช่นกัน เมื่อสิ้นพลังในการสร้างตัวใหม่ต่อไป ใบไม้เริ่มร่วงหล่น กิ่งก้านอ่อนแรงหักลงง่ายดาย เปลือกไม้หลุดออก แก่นไม้เริ่มเน่า ผุพังและตายในที่สุด. ลำต้นใหญ่ไม่นานก็ล้มลง เป็นจุดจบชีวิตของต้นไม้. ต้นบ็องไซก็เติบโตแบบนี้เช่นกัน แต่เพราะมีคนเข้าไปช่วยดูแลต้นบ็องไซ คอยตัดแต่งกิ่งหรือริดใบเพื่อรักษาความสมดุลของต้นบ็องไซไว้ให้คงที่เสมอ เช่นนี้ต้นบ็องไซจึงไม่มีโอกาสเติบโตเต็มพิกัดของมัน. มันต้องอยู่ต่อไปเพราะยังใช้ศักยภาพในตัวมันไม่หมด. และนี่อธิบายว่า ทำไมต้นบ็องไซจึงมีอายุได้หลายร้อยปี จนเหมือนว่า ชีวิตบ็องไซอยู่เหนือกาลเวลา ในขณะที่ต้นเดียวกันในธรรมชาติตายไปนานแล้ว. ในที่สุดความสำเร็จในการเลี้ยงต้นบ็องไซ คือการเนรมิตต้นไม้ในพื้นที่จำกัดในกระถางเล็กๆที่มันเจริญเติบโตได้เต็มที่จนฉายประกายของวัยงามออกจากรูปทรงโดยรวม จากสัดส่วนและรายละเอียดปลีกย่อยของต้นนั้น.
      คนอาจนำเมล็ดหรือต้นกล้าหรือรากพันธุ์ของต้นไม้ชนิดใดก็ได้ มาเลี้ยงในกระถางให้เป็นต้นบ็องไซขนาดเล็กจนถึงขนาดจิ๋ว โดยทั่วไปต้นบ็องไซอาจสูงตั้งแต่ไม่กี่เซนติเมตรแต่ไม่ควรเกินหนึ่งเมตร. ยิ่งเล็กมาก ยิ่งไม่เหมือนต้นไม้ใหญ่สายพันธุ์เดียวกันในธรรมชาติ ผู้เลี้ยงยิ่งต้องมีความรู้ ความตั้งใจมุ่งมั่นและความอดทนสูง. ไม้ต้นพันธุ์ใด(ที่มีลำต้นเป็นไม้) ก็นำมาปลูกในกระถางเป็นบ็องไซได้. การเลือกต้นไม้จึงไม่ใช่ประเด็นใหญ่ แต่ควรเลือกต้นไม้พื้นเมืองในถิ่นที่อยู่ ที่มันเติบโตได้ดีตามสภาพดินฟ้าอากาศที่มันคุ้นเคยอยู่แล้ว ย่อมดีกว่าเลี้ยงต้นไม้จากเขตหนาวในสภาพอากาศร้อนของไทย. เพราะตันไม้ในเขตอบอุ่นถึงเขตหนาว มีระยะเวลาพักในฤดูหนาวเหมือนกบจำศีล วงจรการเติบโตของมันจะหยุดลง ต้นไม้เตรียมตัวของมันเพื่อเริ่มวงจรใหม่ที่จะเริ่มขึ้นในฤดูใบไม้ผลิ. ต้นไม้จะพักเมื่ออุณหภูมิและความเข้มของแสงลดน้อยลงๆอย่างค่อยเป็นค่อยไปตลอดระยะสองถึงสามสัปดาห์ สำคัญอย่างยิ่งที่ต้องให้ต้นบ็องไซอยู่ตามวงจรธรรมชาติของมันเอง มันจึงจะอยู่รอดและมีชีวิตยืนนานได้.
        หากจะเพิ่มประเด็นส่วนตัวเข้าไปอีก ก็คือคนเลี้ยงชอบต้นไม้ใดเป็นพิเศษ ชอบไม้ดอก ไม้ใบหรือไม้ผลเป็นต้น. ต้องคิดต้องตัดสินใจก่อนจะเริ่มลงมือเลี้ยงต้นบ็องไซของตัวเอง. เมื่อเลือกได้แล้ว ประเด็นที่สำคัญต่อมาคือ เลี้ยงบ็องไซให้มีรูปทรงสันฐานอย่างไรที่ต้องจริตส่วนตัว  เมื่อคิดรูปทรงที่ชอบแล้ว จึงหาต้นกล้าที่เอื้อให้จัดรูปทรงที่ต้องการ. หรือเลือกต้นไม้ที่ชอบ แล้วหารูปทรงที่เหมาะกัน. หลังจากปลูกลงกระถางแล้ว ก็ไม่ควรเปลี่ยนรูปทรงของต้นบ็องไซอีก.    
        การจัดประเภทของบ็องไซมีหลายแบบ แต่ละแบบเน้นประเด็นที่อาจต่างกันไป แต่ทั้งหมดมีจุดหมายเดียวกัน คือ ให้ผู้เลี้ยงเข้าใจและเข้าถึงธรรมชาติของต้นบ็องไซ ควบคู่ไปกับการทำให้ต้นบ็องไซสะท้อนความงามตามธรรมชาติของมัน. การจัดแบบไหนดีที่สุดนั้น อยู่ที่ลักษณะของต้นที่นำมาปลูกและความตั้งใจของผู้เลี้ยง. 
      ชาวญี่ปุ่นสนใจต้นไม้ที่คนสามารถยกได้ด้วยมือเดียว เพราะเคลื่อนย้ายสะดวก กินที่น้อย. พวกเขานิยมเอาต้นบ็องไซขนาดนี้เข้าไปไว้ภายในห้องตอนเช้าและตอนเย็นนำมันออกไปไว้ในสวน. ต้นไม้ขนาดยกได้ด้วยมือเดียว ทำให้มีมือข้างหนึ่งว่างเพื่อเลื่อนหรือเปิดปิดประตูเข้าออกนั่นเอง. ในญี่ปุ่นแยกต้นไม้ที่ยกได้ด้วยมือเดียวไว้หลายกลุ่มดังนี้   
Mame (bonsai) 豆盆 (คำแรกแปลว่า ถั่ว สองคำที่เหลือคือคำบ็องไซ คำว่า ถั่ว นำมาใช้เพื่อเน้นลักษณะจิ๋วแบบเม็ดถั่ว) ต้นบ็องไซประเภทนี้สูงตั้งแต่ไม่กี่เซนติเมตรและไม่เกินสิบเซนติเมตร กระถางก็เล็กมาก หนึ่งมือจึงอาจถือได้หลายต้นหลายกระถาง.
ภาพจากเน็ต bonsaiempire.com
Shohin 小品盆 (คำแรกแปลว่า เล็ก คำที่สองแปลว่า สิ่งของ เพื่อบอกว่าต้นบ็องไซเป็นอะไรชิ้นเล็กๆ) ต้นบ็องไซกลุ่มนี้สูงไม่เกิน 16 เซนติเมตร. การเลี้ยงบ็องไซให้ได้ขนาดนี้นั้นยากมาก  หากใครเลี้ยงได้ ต้นนั้นมีราคางาม ปัจจุบันต้นบ็องไซที่สูงถึง 20 หรือ 25 เซนติเมตร บางทีคนก็อะลุ้มอล่วยจัดให้อยู่ในกลุ่มนี้.
ภาพจากเน็ต bonsaiempire.com
http://www.shohin-europe.com/DISPLAYartickles-coloursinthe-display.htm
Shuhin รวมต้นบ็องไซที่สูงระหว่าง 16-40 เซนติเมตร ยังเป็นขนาดที่คนถือหรือยกได้ด้วยมือข้างเดียว
Kotate ต้นบ็องไซในกลุ่มนี้สูงระหว่าง 40-60 เซนติเมตร  ต้องใช้สองมือยกต้นไม้.
Omono ต้นบ็องไซในกลุ่มนี้สูงตั้งแต่ 60-130 เซนติเมตร ต้องใช้คนสองคนช่วยกันยก.
บางคนสรุปขนาดความสูงของต้นบ็องไซที่มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ความสูงก็ไม่ตรงกันเลยทีเดียว
(แต่นามนั้นสำคัญไฉน หากเรารู้ว่าต้นบ็องไซของเราสูงเท่าไร ก็น่าจะพอ)

       ผู้เลี้ยงบ็องไซ นำความงามของต้นไม้ในธรรมชาติ มาอยู่ในกระถางเล็กๆ และติดตามดูแลรักษาความงามนั้นให้คงอยู่ตลอดไป และให้ต้นไม้ผ่านการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลไปด้วยดี. ผู้รักสนใจบ็องไซ ได้จัดแยกรูปทรงของต้นบ็องไซออกเป็นสองแขนงใหญ่ๆ โดยพิจารณาจาก
๑) รูปทรงธรรมชาติ ที่ถอดแบบความงามของต้นไม้นั้นในธรรมชาติแวดล้อมจริง และ
๒) รูปทรงที่ดลใจและสร้างความอิ่มเอิบใจแก่ผู้ได้เห็น เหมือนเมื่อไปหยุดยืนพิจารณางานศิลป์ที่เสร็จสวยสมบูรณ์ ที่ยกระดับจิตสำนึกและจิตวิญญาณ จนอาจนำไปสู่การรู้แจ้งในสัจธรรมเป็นต้น.
      ต้นบ็องไซทั่วไป มักมีรูปทรงแบบใดแบบหนึ่งดังจะกล่าวต่อไปข้างล่างนี้. แน่นอนอาจมีผู้เลี้ยงต้นบ็องไซรูปทรงอื่นและโดยเฉพาะในหมู่ชาวตะวันตกที่อาจทดลองเลี้ยงต้นบ็องไซรูปลักษณ์ใหม่ๆตามค่านิยมและภูมิหลังจากสังคมตะวันตก. รูปทรงทั้งหลายที่สืบทอดมาเป็นเพียงข้อเสนอแนะ ไม่ใช่โซ่ตรวนที่ตรึงความคิดหรือจินตนาการของผู้เลี้ยง ไม่ใช่ผู้คุมที่คอยควบคุมการเลี้ยงให้อยู่แต่ภายในกรอบเหล่านี้  เพราะ ความสำเร็จสุดท้ายของผู้เลี้ยงบ็องไซ คือการไม่ทิ้งร่องรอยของมือคนเลี้ยงบนต้นบ็องไซของเขา.  
      การเลี้ยงต้นบ็องไซให้มีรูปทรงสันฐานอย่างไรนั้น ผู้เลี้ยงบ็องไซชาวญี่ปุ่นแนะว่าควรคำนึงถึงประเด็นสำคัญสี่ข้อต่อไปนี้
๑) ไม่ว่าจะเป็นต้นอะไร โครงสร้างรวมของส่วนสีเขียวของต้นไม้ ควรเป็นทรงสามเหลี่ยมสามมุม โดยมีมุมหนึ่งตรงกับยอดต้นไม้ต้นนั้น  ดังภาพข้างล่างนี้
๒) ต้องไม่ปล่อยให้กิ่งก้านของต้นบ็องไซ เติบโตเกินสัดส่วนที่สมมาตรกับขนาดของลำต้น.
๓) ต้นบ็องไซควรมีรูปทรงที่สมดุลพอเหมาะเมื่อมองจากโคนต้นขึ้นสู่ยอดต้นไม้  ทั้งยังต้องคำนึงถึงความสมดุลของระบบรากกับต้นทั้งต้นที่อยู่พ้นดินด้วย.
๔) รากต้นไม้ที่อยู่พ้นพื้นดินที่เห็นได้อย่างชัดเจน (เรียกว่า เนบารี nebari) ควรให้แผ่ออกสวยงามชัดเจนและสมดุลไปรอบๆลำต้น เช่นออกไปแปดทิศทาง ลักษณะเช่นนี้ยืนยันว่า รากได้ชอนไชฝังตัวมันเองอย่างสุขสมบูรณ์ในกระถางของมัน เท่ากับว่าต้นไม้นั้นมีรูปทรงที่มั่นคงแข็งแรงมากที่สุด. ประเด็นนี้สำคัญสำหรับความงามธรรมชาติของต้นไม้ เพื่อให้ได้รากที่สวยงามแบบนี้ จำเป็นต้องรู้จักตัดแต่งราก จัดไม่ให้รากข้ามหรือไขว้ไปบนรากแขนงอื่น. ในที่สุดคือรู้จักเลี้ยงต้นบ็องไซทั้งต้น. (อ่านรายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงบ็องไซให้ดีและสวย ต่อในตอนท้ายบทนี้)
รูปทรงสัญฐานของต้นบ็องไซ มีลำต้นแบบเด่นๆดังนี้
1. ลำต้นตั้งตรง แบบ Chokkan   ลำต้นเดี่ยว ตั้งตรงพุ่งสู่ท้องฟ้าเหมือนหอระฆัง ลำต้นเล็กเรียวเมื่อสูงขึ้นๆ. ยอดต้นไม้ตั้งฉากกับโคนต้น. (นึกถึงต้นไซเพรส-cypress ชัดเจนมากไม่ว่าจะมองจากมุมใด).
 
ตัวอย่างต้นบ็องไซสองต้นที่มีใบอุดมสมบูรณ์ ทำให้มองไม่เห็นลำต้นตั้งตรงได้ชัดนัก
ต้นสนไซเพรส (Taxodium distichum) ที่เจ้าของเริ่มเลี้ยงตั้งแต่ปี 1987 ที่เห็นเป็นด้านหลังของต้นไม้แบบลำต้นตั้งตรงที่สวยงามมาก. Guy Guidry ได้มอบต้นบ็องไซนี้แก่พิพิธภัณฑ์ the National Bonsai & Penjing Museum, อยู่ที่ the United States National Arboretum.
ความสูงตรงแบบนี้มักตรึงใจคน เพราะหากเข้าไปยืนใกล้ๆต้นไม้ทรงตั้งตรงแบบนี้ จะรู้สึกเหมือนถูกรวบตัวเข้าไปใต้กิ่งก้านสาขาของมัน เหมือนมีผู้ปกป้อง. รูปทรงตั้งตรงมองดูแล้วเหมือนเลี้ยงง่าย ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่การจัดความสมดุลสองข้างของลำต้นให้เป็นรูปสามเหลี่ยมนั้นไม่ง่าย. กิ่งแรกที่แตกออกจากลำต้นควรอยู่ที่ตำแหน่งหนึ่งในสามของความสูงของลำต้น. หากมีกิ่งใดข้างใดของลำต้นตายลง ความสมดุลก็สิ้นสุดลง คนจึงมักพูดว่า การเลี้ยงบ็องไซเริ่มต้นและจบลงด้วยทรงตั้งตรงแบบ Chokkan  ถือว่าเป็นรูปทรงพื้นฐานของบ็องไซ.

2. ลำต้นคดเคี้ยว (เหมือนอักษร S) แต่สูงขึ้นในแนวตั้ง เรียกว่าแบบ Moyōgi 模様 เป็นลำต้นเดี่ยว กิ่งแตกออกจากส่วนโค้งออกของลำต้น ต้องไม่มีกิ่งในส่วนที่เว้าลง ยอดต้นไม้ตั้งฉากกับโคนต้น. กิ่งที่แตกออกเบนต่ำลงเล็กน้อย. เมื่อเทียบกับลำต้นตั้งตรงแบบที่หนึ่ง แบบที่สองนี้อาจเร้าอารมณ์อ่อนไหวได้มากกว่า ทรงนี้เน้นความงามของลำต้นและกิ่งก้านที่เหมือนลูกคลื่น ทำให้นึกถึงต้นไม้อายุมากบนเนินเขาหรือในท้องทุ่ง ที่ดูสง่าภูมิฐานและอ่อนโยนของผู้มีวัยงาม. การจัดกิ่งที่สมมาตรสมพงศ์กับความสูงและมุมของกิ่งของแขนงที่แตกออก เป็นกุญแจสำคัญของการรักษาความสมดุลของโครงสร้างทั้งต้น. รูปทรงแบบนี้เป็นที่นิยมกันมากเพราะต้นไม้ส่วนใหญ่ดัดให้เป็นทรงนี้ได้.
 
 
 
 
   ภาพจาก Unayerva.wordpress.com
 
หากลำต้นคดเคี้ยวเกินลักษณะเส้นในอักษร S  จะเรียกว่าเป็นแบบ Bankan ที่มักวาดไว้ในจิตรกรรมประดับฉากบนเวทีละครโนห์ (Noh ).  ยิ่งถ้ามีส่วนของกิ่งและลำต้นที่ตายแล้ว ไม่มีเปลือกหุ้ม มีสีออกขาวๆ (jin กับ shari ) เกาะเกี่ยวไปกับส่วนของลำต้นที่ยังมีชีวิตสีคล้ำๆ ยิ่งเน้นโครงร่างของต้นบ็องไซให้ชัดเจนน่าทึ่งขึ้นอีก ถ้าผู้เลี้ยงรู้จักจัดและเจียนลำต้นหรือกิ่งที่ตายให้สะอาดหมดจด  ต้นบ็องไซนั้นยิ่งดูเหมือนประติมากรรมแบบหนึ่ง.

3. ลำต้นเอนไปข้างหนึ่ง แบบ Shakan  ลำต้นเบนออกไปตั้งแต่โคนต้น  ยอดต้นไม้เบนออกไปในทิศตรงข้ามกับลำต้นและอาจทำมุมหักไปประมาณ 45 องศากับลำต้น(หรือไม่ก็ได้). กิ่งแรกของต้น อยู่ในทิศทางเดียวกับลำต้น และอยู่ในระดับความสูงที่ประมาณหนึ่งในสามของตวามสูงของต้นบ็องไซทั้งต้น.
 
 
 
ภาพจาก bonsai.uteki.net
บ็องไซแบบ Fukinagashi ภาพจาก bonsais.florpedia.com
บ็องไซแบบ Fukinagashi ภาพจาก bonsaimary.com 
รูปทรงแบบนี้เป็นภาพลักษณ์ของความไม่สมดุลไม่มั่นคง. ทำให้นึกถึงสภาพภูมิประเทศที่มีลมพัดแรง มีพายุกระหน่ำอยู่เสมอ. และหากลำต้นทั้งหมดเบนไปในทิศทางเดียว เรียกว่า แบบ Fukinagashi 吹流 ที่ยิ่งเน้นความรุนแรงของสภาพภูมิอากาศ ที่ทำให้ต้นไม้เอนเอียงไปข้างหนึ่งข้างเดียว ทุกกิ่งก็แตกแขนงออกไปในทิศทางเดียวกับทิศลมพัด. เป็นรูปทรงเดียวที่อนุญาตให้กิ่งแตกออกจากลำต้นได้หลายๆกิ่ง. เมื่อมองต้นไม้ทรงนี้ เรารู้ว่า ต้องมีพละกำลังมากเพื่ออยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่หฤโหด. รากของต้นไม้ทรงนี้ อยู่ในทิศตรงข้ามกับลำต้น แผ่ยึดพื้นอย่างมั่นคงเพื่อดีงและถ่วงน้ำหนักของลำต้นให้สมดุลให้ได้. เมื่อแรกมอง อาจรู้สึกว่าต้นไม้ไม่มั่นคง อาจล้มลงได้ง่ายในเวลาข้างหน้า แต่ในความเป็นจริง ต้นไม้พยายามรักษาความสมดุลของมันเพื่อความอยู่รอดโดยที่เราเองมองไม่เห็นอย่างชัดเจนถึงระบบการทำงานภายในสรีระของมันที่เป็นโลกที่อัศจรรย์ไม่น้อยเลย.
  ต้นไม้ที่มีรูปร่างแปลกหรือบิดเบี้ยวออกจากลักษณะตั้งตรง เป็นผลจากการต่อสู้ดำรงชีวิตในสภาพดินฟ้าอากาศแถบนั้น เช่นลำต้นโอนเอียงไปตามกระแสลมที่พัดผ่านบริเวณนั้นเป็นประจำ. รูปลักษณ์คดงอยังทำให้โยงไปถึงท่าฤาษีดัดตน ที่เป็นที่ยอมรับกันว่า ทำให้เลือดลมไหลเวียนดีและทำให้อายุยืน. ในแง่นี้จึงมีมิติขลังๆเพิ่มเข้าไปด้วย โดยทั่วไปคนไม่ตัดต้นไม้รูปทรงแบบนี้ไปใช้. วิสัยทัศน์ดังกล่าวอาจตรึงจิตสำนึกของคน ทำให้อยากเลี้ยงต้นบ็องไซให้เป็นรูปทรงแบบนี้ คิดกันว่า น่าจะเป็นรูปทรงแบบแรกๆที่ชาวญี่ปุ่นพยายามเลี้ยงให้ได้.
4. ต้นทรงไม้กวาด แบบ Hokidachi 箒立 มีลำต้นตั้งตรงและเรียวเล็กลงเมื่อสูงขึ้นดังในแบบที่หนึ่ง (Chokkan)  ทุกกิ่งแตกออกจากลำต้นที่เดียวกัน ที่ระดับความสูงเสมอกันคือราวกึ่งกลางของลำต้น. กิ่งก้านสาขาย่อยแตกออกจากกิ่งใหญ่ๆ. ยอดต้นไม้อาจเป็นทรงกลมรีหรือทรงกลมหรือทรงโดม. ลำต้นมิได้อยู่ตรงจุดกลางของกระถาง แต่ไปทางข้างนิดหน่อย. ทรงนี้มองดูภาพรวมของกิ่งและใบเหมือนไม้กวาด (hoki) ที่ตั้งขึ้น (dachi).
 
 
ต้นเมเปิล ภาพจาก arte108.forumeiros.com
ต้นไม้ที่เหมาะกับทรงนี้คือต้น elms, maples และ zelkovas  คนมักปลูกต้นไม้เหล่านี้เป็นแถวเป็นแนวตามสวนสาธารณะ. กิ่งไม้ใบไม้ของต้นเหล่านี้ มักแผ่เป็นทรงกลมหรือทรงโดมรีสวยงามในท้องฟ้าเหนือเส้นทางเดินในสวน. การเลี้ยงให้ได้โครงร่างเป็นทรงไม้กวาดแบบนี้ยากมาก ต้องรู้จักเลือกต้นไม้และดูแลให้ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ.  

5. ลำต้นทอดลงเหมือนสายน้ำตก เชื่อกันว่าเป็นรูปทรงต้นบ็องไซที่เก่าแก่ที่สุดแบบหนึ่ง และนิยมกันมากเป็นพิเศษในการเลี้ยงบ็องไซขนาดจิ๋ว(shohin ที่สูงไม่เกิน 8 นิ้วหรือราว 20 เซนติเมตร). ลำต้นใหญ่ของต้นบ็องไซสำคัญมาก และทั้งลำต้นเอนลงหรือโค้งต่ำออกจากกระถางลงสู่ทิศเบื้องต่ำ. หากลงต่ำอยู่ในระดับฐานของลำต้น แต่ไม่ให้ลงต่ำกว่านั้น จะเทียบลักษณะของลำต้นที่ทอดตัวลงว่าเหมือนสายน้ำที่ตกลงจากเนินเตี้ยๆ เรียกว่าแบบ Han kengai 半懸  ต้นบ็องไซแบบนี้ยอดไม้สองแห่ง ยอดหนึ่งอยู่ต่ำ อีกยอดหนึ่งอยู่สูง เพื่อถ่วงความสมดุลของทั้งต้น. ความสูงของต้นไม้รูปทรงนี้ คือความยาวระหว่างยอดต้นไม้สองยอดดังกล่าว. 
 
 
ต้น ginkgo biloba ภาพจาก espacepourlavie.ca
หากลำต้นทอดลงเหมือนน้ำตกที่สูงชัน เรียกว่าแบบ Kengai   ปลายยอดของลำต้นทอดลงต่ำมาก ต่ำกว่าระดับฐานของกระถาง. ต้นบ็องไซทรงนี้ มักตั้งวางบนโต๊ะที่มีขาสูงด้วย ซึ่งเท่ากับเน้นความยาวของลำต้นที่ตกลง เหมือนสายน้ำที่ไหลตกจากหน้าผาสูงชัน.
 
  ภาพจาก pinterest.com
ต้นสนบ็องไซที่เทียบกับสายน้ำตกจากหน้าผาสูงชันนั้น โยงถึงภาพของลำต้นที่ห้อยหรอมแหรมจากหน้าผา สื่อความมุ่งมั่นในการดำรงชีวิตในสภาพธรรมชาติที่หฤโหด และหากเป็นต้นไม้ดอกหรือไม้ผล ยามที่มันมีดอกและผล ที่ห้อยลู่ลงแต่ท่าทางแข็งแรงต้านแรงศูนย์ถ่วงได้นั้น เหมือนมันกำลังเหยียดตัวยืดแข้งขาออกอย่างเต็มที่ ด้วยความพอใจในแสงแดดที่อบอุ่น.

6. ทรงโก้อย่างมีระดับ ดั่งสถานะของผู้คงแก่เรียนหรือปัญญาชน เรียกว่าแบบ Bunjingi 文人 (ที่ชาวตะวันตกแปลว่าเป็นแบบ Literati style). อักษรจีนตัวแรก แปลว่า ภาษาหรือวรรณคดี ตัวที่สองแปลว่า คน และตัวที่สามแปลว่า ต้นไม้.  รวมกันให้ความหมายของต้นไม้ที่สะท้อนความเป็นปัญญาชน. (ดูบท C ข้อ 5)
ต้นบ็องไซทรงปัญญาชน มีลำต้นสูงชะลูด บอบบาง ไม่เป็นแนวตรงสม่ำเสมอและไร้กิ่งใดๆจากโคนต้นถึงจุดหักเหที่มีกิ่งแตกออก หรือที่ลำต้นงอตัว ทำมุมแหลมราว 30 องศา. หากลำต้นแตกกิ่งแต่ไม่งอตัวเป็นมุมแหลม กิ่งแขนงใหม่ที่ดูบอบบางไปรวมอยู่ตอนบนใกล้ยอดต้นไม้.  บ็องไซแบบนี้มักใช้กระถางทรงกลมขนาดเล็ก และลึกน้อยกว่าชามก๋วยเตี๋ยว. รูปทรงแบบนี้ลอกเลียนมาจากต้นไม้ในภาพภูมิประเทศสีหมึกของจีน (ญี่ปุ่นเรียกว่า sumi-e) ที่เข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นพร้อมๆกับพุทธศาสนา (คือลัทธิเซนในเวลาต่อมา) ในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 12-13.  
 
 
 
        ภาพต้นไม้ในจิตรกรรมภูมิทัศน์จีนตรึงใจและดลใจชาวญี่ปุ่นในยุคนั้น พวกเขาจึงพยายามเลี้ยงต้นบ็องไซให้มีรูปทรงแบบนั้น. ต้นไม้รูปทรงนี้ขึ้นในหุบเขาที่มักมีแสงสว่างไม่เพียงพอ ลำต้นชะลูดขึ้นลดเลี้ยวไปหาแสงสว่าง ไม่มีกิ่งในตอนล่างของลำต้น มันจะแตกกิ่งเรียวๆเล็กๆใกล้ยอดต้นไม้ที่ไปถึงจุดแสงสว่างเท่านั้น แล้วจึงผลิใบ. ลำต้นจึงผอมชะลูดจากฐานแต่แข็งแกร่งพอ. ใบไม้ปลายกิ่งเหล่านี้ก็ไม่มีมากเพื่อไม่ไปถ่วงให้กิ่งหนักหักลง หากเลี้ยงต้นบ็องไซรูปทรงนี้ ใบไม้ตรงปลายกิ่งต้องคอยดูแลให้มีปริมาณพอดีเพื่อรักษาสมดุลของต้นบ็องไซให้คงอยู่. ความเรียบง่ายของลำต้นตรึงสายตาและตรึงใจปัญญาชน. มองแล้วจิตโลดแล่นเหมือนพ้นออกจากกรอบสู่เสรีภาพ. อย่างไรก็ดี การเลี้ยงต้นบ็องไซให้มีรูปทรงเรียวบางแบบนี้นั้น เป็นเรื่องยากยิ่ง ทำให้ไม่มีต้นบ็องไซรูปทรงนี้ให้เห็นมากนัก.

7.  ต้นบ็องไซที่เห็นรากชัดเจนอยู่เหนือพื้นดิน แบบ Neagari 根上 เห็นรากเส้นใหญ่ๆโผล่ขึ้นเหนือพื้น ต่อความสูงของลำต้น  ดูเหมือนต้นลอยอยู่ในอากาศ.
 
 
 
        ในวิถีธรรมชาติบนพื้นโลก บางครั้งน้ำท่วมหรือดินโคลนถล่ม ซัดและกัดกร่อนพื้นดินรอบๆต้นไม้ไปเสีย จนทำให้เห็นรากที่เดิมฝังอยู่ใต้พื้น เหมือนถูกยกขึ้นเหนือพื้นดินผิวหน้า. รากเหล่านั้นที่รอดตายมาได้ ถูกลมพัดกระหน่ำเหนือพื้นดินอีก จนในที่สุดรากเหล่านั้นค่อยๆเปลี่ยนสภาพกลายเป็นลำต้นไปด้วย. ชาวญี่ปุ่นเรียกรากแบบนี้ว่า Neagari 根上.  เราอาจคิดว่ามันไม่น่าจะเกิดขึ้นบ่อยนักในธรรมชาติ แต่จริงๆแล้วมันเกิดขึ้นบ่อยกว่าที่เราคิด. บางต้นที่มีชีวิตผ่านสภาวะแบบนี้มา กลับงามแปลกตาแนวใหม่. รากเหนือดินแบบนี้อาจนำมาปลูกลงดินใหม่ให้ขึ้นเป็นต้นใหม่ หรือนำมาเลี้ยงเป็นต้นบ็องไซได้เลย. รากแบบนี้มีหลายแขนง พันเกี่ยวไปมาอย่างซับซ้อน เป็นภาพลักษณ์ของธรรมชาติสามมิติอย่างแท้จริง ที่เผยให้เราเห็นความสมดุลกลมกลืนสูงสุดที่ต้นไม้ได้จัดการบริหารตัวตนของมันเองเพื่อความอยู่รอด.  เมื่อเลี้ยงต้นบ็องไซให้มีรากแบบนี้นั้น ต้องใช้ลวดพันเพื่อจัดรูปร่างและทิศทางของรากแต่ละแขนง บางทีอาจต้องตัดให้สั้นลงเป็นต้น. กระบวนการเลี้ยงและดูแลนี้ต้องค่อยทำค่อยไป ใช้เวลานานมากกว่าระบบรากเหนือพื้นจะเข้าที่เข้าทางและสวยงาม. 

8. ต้นบ็องไซที่อยู่เหนือก้อนหิน อาจมีรากส่วนหนึ่งในร่องหินนั้น แต่มีรากอื่นๆยืดยาวออกมาคลุมก้อนหินของมัน เป็นแบบ Sekijōju 石上  ต้นไม้เด่นอยู่เหนือก้อนหินและรากของมันงอกยาวโอบคลุมก้อนหินไว้ รวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกับก้อนหิน. ต้นบ็องไซทรงนี้ รูปลักษณ์ของรากมีความสำคัญเท่าๆกับต้นบ็องไซ.
 
 
9. ต้นบ็องไซบนก้อนหิน Ishitsuki 石付 ต้นไม้งอกขึ้นจากร่องหิน. ลักษณะรูปร่างของก้อนหินที่เลือกมาสร้างบ็องไซทรงนี้สำคัญมากที่สุด. ตามขนบที่นิยมกันในญี่ปุ่น หินก้อนใหญ่นี้จัดวางอยู่ในถาดหรือเครื่องปั้นดินเผาที่ไม่มีรูใดๆ เพราะจะบรรจุน้ำเพื่อสื่อภาพลักษณ์ของทะเล แต่ก็มีผู้เลี้ยงต้นบ็องไซทรงนี้ที่ไม่รวมประเด็นของผืนน้ำเข้าไป และเติมดินลงในภาชนะแทน.
 
ภาพจาก aidobonsai.com
ภาพจาก Bonsaiempire.com

ต้นบ็องไซทรงนี้เลียนแบบทิวทัศน์ในธรรมชาติที่มีต้นไม้และหินอยู่เคียงข้างกันและกัน. การใช้หินให้โอกาสศิลปินสร้างภาพที่เก็บรายละเอียดของพื้นที่ภูเขา, พื้นที่ชายฝั่งทะเล, หรือเกาะที่เป็นฉากหลังไกลออกไป. คนดูก็จินตนาการภูมิทัศน์ในธรรมชาติจริงได้ง่าย. ตำแหน่งของหินเป็นตัวกำหนดว่าภูมิทัศน์ของบ็องไซแนะไปถึงทิวทัศน์ที่ไกลออกไป หรือสื่อการเก็บตัวเข้าสู่พื้นที่จำกัดพื้นที่หนึ่ง. บ็องไซแบบนี้เหมือนการสร้างภูมิประเทศจริงในขนาดย่อส่วน. การเลี้ยงต้นบ็องไซคู่กับหินนี้ ขึ้นอยู่กับวิธีการจัดวางก้อนหินลงในกระถาง. แบบที่แพร่หลายคือการวางหินตั้งตรงให้เหมือนภูเขาสูงชันลูกหนึ่ง.

อีกแบบหนึ่งคือวางก้อนหินนอนลงตามแนวยาว เวลาผ่านไปรากต้นไม้เติบโตหุ้มก้อนหินนั้น จะถือว่านั่นเป็นความสำเร็จเพราะปัจจัยของอายุได้แสดงออกอย่างสมบูรณ์  เพิ่มคุณค่าแก่ต้นบ็องไซขึ้นอีกมาก. แบบสุดท้าย ให้ต้นบ็องไซเติบโตในดินที่วางบนแผ่นหินที่แบนราบ  หินทำหน้าที่ของกระถาง. ต้นไม้หลายต้นโผล่ขึ้นจากรากหลายแขนง. รูปทรงของบ็องไซแบบนี้อาจโยงไปถึงฉากธรรมชาติบนเกาะที่อยู่ไกลๆ โดดเดี่ยวในทะเลกว้าง หรือสภาพริมฝั่งแม่น้ำหรือในป่า. ถือกันว่า เป็นรูปแบบที่เก่าที่สุดแบบหนึ่งของการเลี้ยงบ็องไซ  เป็นความพยายามเนรมิตฉากธรรมชาติที่มีหินและต้นไม้อยู่ด้วยกัน. ในจารึกศตวรรษที่ 12  มีการจัดบ็องไซแบบนี้แล้ว. รูปทรงแบบนี้ใช้เวลานานกว่าจะได้ต้นบ็องไซที่งามเลิศ เมื่อต้นไม้กับหินกลายเป็นหนึ่งเดียวกันและเมื่อสรรพสิ่งที่ผู้เลี้ยงนำเข้าไปช่วยในการจัดรูปทรงสันฐาน ถูกนำออกไปแล้วทั้งหมด เมื่อนั้นพูดได้ว่า เกิดบ็องไซแบบ Ishitsuki ในที่สุด.
ภาพจาก Artofbonsai.org

10. ทรงภูมิประเทศ Saikei การจัดบ็องไซแบบนี้เพื่อเสนอภูมิประเทศแบบหนึ่ง เป็นถาดหินที่สื่อทัศนียภาพภูเขาสูงๆต่ำๆ.  อาจใช้ต้นไม้หลายชนิดหลายสายพันธุ์มาปลูกด้วยกัน.
 

ภาพจาก mundobonsai.net
11. บ็องไซทรงแพ Ikada-Buki  มีต้นไม้เติบโตขึ้นจากตอไม้ตอเดียวกัน การเลี้ยงบ็องไซแบบนี้ไม่ยากนัก เพียงแต่นำส่วนของลำต้นมาตัดกิ่งข้างที่จะวางนอนลงออกให้หมด เหลือกิ่งตอนบนไว้ ซึ่งจะเติบโตขึ้นเป็นลำต้นใหม่ๆต่อไป.

 

12. บ็องไซที่มีลำต้นจำนวนหนึ่งเติบโตขึ้นมาจากรากเดียวกัน Ne-tsuranari 根連な
 

 ภาพจาก bonsaiexperience.com
ภาพจาก bonsaibark.com
แบบ Netsuranari 根連な เช่นเดียวกับแบบ Kabudachi 株立() มีต้นไม้หลายต้นเชื่อมต่อกันด้วยรากชุดเดียวกัน. ต่างกันตรงที่ลำต้นแบบ Netsuranani เห็นรากของมันชัดเจนเหนือพื้น และไม่ได้งอกขึ้นจากจุดเดียวกัน ลำต้นก็มักไม่ตั้งตรง. ส่วนรากของต้นแบบ Kabudachi นั้นฝังอยู่ในดินเสียส่วนใหญ่  ลำต้นงอกออกจากจุดหรือตำแหน่งเดียวกัน  หากลำต้นแยกออกเป็นสองง่าม เรียกว่า Sokan  , เป็นสามเรียกว่า Sankan และเมื่อมีตั้งแต่ห้าหรือมากกว่า เรียกว่า Kabudachi株立(). จำนวนลำต้นต้องเป็นเลขคี่เท่านั้น ยกเว้นกรณีเดียวคือเมื่อเป็นสองง่ามหรือ Sokan.  ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดเลี้ยงให้มีลำต้นเป็นเลขคู่แทนเลขคี่. เมื่อเป็นลำต้นสองง่าม ก็มักโยงผู้ดูไปถึงความสัมพันธ์ของพ่อลูก, สามีภรรยาหรือคู่รัก. ไม่ว่าจะมีลำต้นจำนวนเท่าใด ต้องคอยตัดแต่งริดใบ มิให้เกยกันหรือแย่งพื้นที่ของกันและกัน เพื่อรักษาความสมดุลของต้นไม้ทั้งกระถางไว้.

ภาพจาก pinterest.com

13. แบบละเมาะไม้ Yose-ue 寄せ植 แบบนี้ก็นิยมให้มีลำต้นเป็นจำนวนคี่ (ยกเว้นกรณีของลำต้นสองต้นหรือ soju) อาจเป็นป่าไม้ที่มีต้นไม้สามต้น เรียกว่าป่า Sambon yose, มีห้าต้นเรียกว่า Gohon yose,  มีเจ็ดต้นเรียกว่า Nanathon yose, มีเก้าต้นเรียกว่า Kyuhon yose, และมากกว่าเก้าต้นขึ้นไปเรียกว่า Yose-ue.
 ภาพจาก pinterest.com
ภาพจาก thesecret.hu
ต้นบ็องไซต้นนี้เป็นที่รู้จักกันมากในสหรัฐฯ เจ้าของ (John Y. Naka, 1914-2004) ตั้งชื่อไว้ว่า Goshin ที่มีต้นที่ตายแล้วผสมปนลงไปในหมู่ต้นที่ยังมีชีวิตอยู่. เขาปลูกต้นบ็องไซพันธุ์สนต้นนี้ในราวปี 1953 เมื่อมีหลานเขาเพิ่มต้นใหม่เข้าไปๆในที่สุดมีต้นเท่าจำนวนลูกหลาน. ต้นนี้ได้ไปตั้งโชว์อยู่ที่ The National Bonsai & Penjing Museum ภายในบริเวณสวนรุกขชาติที่กรุงวอชิงตันดีซี (The National Arbpretum in Washington, DC.) ทั้งหมดที่ 11 ต้น (พันธุ์ Juniperus chinensis ‘Foemina’) แทนหลานสิบเอ็ดคนของเขา. ภาพที่นำมาลงเป็นภาพถ่ายของ Joanna เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2007 (จากอินเตอเน็ตที่ระบุว่า under the Creative Commons Attribution 2.0 Generic license )   
บ็องไซแบบนี้สะท้อนภูมิประเทศอันกว้างใหญ่ในพื้นที่เล็กๆของกระถาง. เป็นภาพลักษณ์ของป่าละเมาะหรือป่าใหญ่. ปลูกต้นไม้เรียงเป็นแถวไป. Yose-ue บ็องไซ เป็นกลุ่มต้นไม้ที่ต่างเติบโตจากรากคนละชุดที่แผ่กระจายอยู่ในกระถางตื้นๆหรือบนหินในแนวนอน. หากจำนวนต้นไม้ไม่มาก เรียกว่าเป็นแบบ Kabudachi株立().  เมื่อศิลปะเพิ่มทฤษฎีของทัศนมิติราว 70 ปีก่อน การเลี้ยงบ็องไซก็เป็นไปตามหลักการนี้ คือพิจารณาการเลี้ยงทั้งในแนวลึกและแนวราบ. ทัศนมิติเป็นกุญแจของการเลี้ยงบ็องไซแบบ Yose-ue ที่ใกล้ความเป็นจริงในโลกธรรมชาติยิ่งขึ้นอีก.  คนมองดูบ็องไซแบบนี้ เหมือนกำลังมองดูป่าไม้จริงๆแห่งหนึ่ง อาจเป็นป่าละเมาะหรือป่าแสม. เราอาจมองเห็นป่าไม้ที่กว้างใหญ่ เพียงการมองผ่านต้นไม้ขนาดเล็กอย่างบ็องไซแบบ Yose-ue ได้ เพราะมันเป็นภาพจำลองของภูมิประเทศที่มีจริง.

14. บ็องไซที่มีส่วนของลำต้นที่ไร้เปลือก เรียกว่าแบบ Sharikan 舎利 (หรือ Sharimiki) ลำต้นถูกแกะเปลือกออกไปเพราะส่วนนั้นตายลงแต่แทนการตัดทิ้ง ก็ยังรักษามันไว้ เพื่อให้มันสื่อการก้าวผ่านพ้นภัยภิบัติธรรมชาติที่รุนแรงหรือภัยสงคราม(เช่นโดนระเบิด). บางทีเหลือส่วนที่ยังมีชีวิตอยู่ที่เป็นเพียงแถบแคบๆบนลำต้นสูง แต่ยังพอให้มันดูดอาหารและน้ำมาหล่อเลี้ยงชีวิตของทั้งต้นต่อไป.
 

ในโลกธรรมชาติ รูปลักษณ์แบบ sharikan มักเห็นในหมู่ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ๆเช่นต้นสน ซีดาร์และ juniper. ต้นไม้ที่มีอายุหลายร้อยปี กาลเวลากับดินฟ้าอากาศทั้งลมพายุ หิมะที่ปกคลุมลงเหมือนผ้าห่มหนาๆ หรือฟ้าผ่า ทำให้ลำต้นตายลง กิ่งก้านก็ยื่นออกจากแนวเดิมของมัน เปลือกต้นไม้ส่วนที่ตายเปื่อยหลุดออก เผยให้เห็นแก่นไม้ภายใน มองดูเหมือนถูกถอดเสื้อคลุมออก ยิ่งหากเป็นโพรงลึกเข้าไปถึงแก่นไม้ เรียกว่า Sabamiki หรือ Sabakan. ส่วนที่ตายนี้บางทีก็มิได้อยู่ที่ลำต้นเท่านั้นแต่อาจลามไปถึงกิ่งได้. กิ่งที่ขาวเปล่าเปลือยไร้ใบและเปลือกเรียกว่า jin และลำต้นส่วนที่ไร้เปลือกเรียกว่า shari. ส่วนที่ตายและที่ยังมีชีวิต อาจยังตรงแนบอยู่คู่กัน หรือขดงอไปมา(Nejikan). ในสภาวะแบบนี้ ลำต้นที่ไม่ตายยังทำหน้าที่ลำเลียงน้ำและอาหารต่อไปได้. ส่วนที่ยังมีชีวิตเต็มคือที่เห็นเป็นสีเข้มๆ (เรียกว่า Mizusui) และใบไม้ก็ยังผลิอย่างสมบูรณ์ในส่วนอื่นๆ. กิ่งไม้ที่เปล่าเปลือยกับลำต้นที่ไร้เปลือก เป็นเครื่องหมายของกาลเวลา ของชีวิตที่ผ่านฤดูกาล ผ่านสภาพอากาศแบบต่างๆมาอย่างทรหดอดทน มักเห็นชัดเจนในต้นไม้พันธุ์สนที่เป็นไม้เนื้อแข็งและที่มีความทนทานสูง. ประเด็นเรื่องอายุ เป็นกุญแจของความงามของต้นบ็องไซ เพราะตามหลักสุนทรีย์ญี่ปุ่น วัยสูงคือวัยงาม.  เช่นนี้ ในโลกของบ็องไซ ผู้เลี้ยงบางคนจงใจใช้มีดแกะเข้าไปในลำต้นและกิ่ง เพื่อทำให้เกิดลักษณะ jin กับ shari บนต้นบ็องไซ เขาเจียนและขัดเกลามันเพื่อให้ได้ลักษณะลำต้นและกิ่งที่สวยงามตัดกัน โดยระวังไม่ไปทำลายท่อลำเลียงน้ำและสารอาหารของต้นไม้. ผู้เลี้ยงสร้างลักษณะของ jin กับ shari เหมือนกำลังสลักเสลาหินให้เป็นงานประติมากรรม. ลักษณะของ jin กับ shari มีส่วนทำให้โครงสร้างของต้นบ็องไซโดดเด่นขึ้นด้วยเช่นกัน. ในที่สุดรูปลักษณ์ที่เป็นชีวิตและที่เป็นความตาย เกาะเกี่ยวพันไขว้กันไปด้วยกัน ยืนยันสัจธรรมให้ปรากฏแก่สายตา.

ตัวอย่างต้นบ็องไซที่มีลำต้นส่วนที่ตายเป็นโพรงลึก เป็นต้นสนพันธุ์ California Juniper ที่ตั้งโชว์อยู่ที่ The National Bonsai & Penjing Museum, The United States National Arboretum. มีข้อความกำกับไว้ว่าต้นนี้เลี้ยงมาตั้งแต่ปี 1964 Harry Hirao ได้มอบให้แก่พิพิธภัณฑ์. ส่วนภาพถ่ายนี้เป็นของ Sage Ross ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2008.

(ภาพวาดที่นำมาประกอบข้างบนนี้ โดยเฉพาะภาพที่มีชื่อกำกับสีแดงทั้งหมดนำมาจากวิกิพีเดีย ที่เจาะจงให้ระบุว่า Original by de:Benutzer:Neitram, edited into svg by Simon Eugster-Simon 20:20, 20 July 2006 (UTC), under the Creative Commons Attribution-Share Alike 3.0”)

เว็ปไซต์ที่น่าสนใจติดตามไปอ่านและดูภาพ กรรมวิธีต่างๆในการสร้างสรรค์บ็องไซ เช่น

เมื่อเลือกต้นไม้ที่อยากจะเลื้ยงและรูปทรงสันฐานของต้นบ็องไซที่ต้องการเลี้ยงแล้ว จะเริ่มปลูกอย่างไรนั้น ต้องคำนึงถึง ความสมดุลระหว่างส่วนของต้นบ็องไซที่อยู่เหนือพื้นและระบบรากของมันที่อยู่ใต้พื้น เป็นประเด็นแรก. (ส่วนที่อยู่เหนือพื้นรวมลำต้นจากโคนไปถึงยอดไม้ กิ่งก้านสาขาไปจนถึงปลายไม้ ใบทั้งหลาย ดอก ผล และรากที่อยู่เหนือพื้นด้วย ดังในบ็องไซแบบที่ 7, 9 เป็นต้น). ไม่ว่ากรณีใดๆ ต้องรักษาความสมดุลนี้ให้คงอยู่เสมอ มันคือความเป็นความตายของต้นบ็องไซ.
      ธรรมชาติของต้นไม้ รากจะขยายตัวใหญ่ขึ้นตามความต้องการของการแตกหน่อแตกกิ่ง และกิ่งที่ผลิใหม่จะเติบโตเท่าที่รากจะรับมือกับมันได้ ทั้งสองอาศัยซึ่งกันและกัน. ความสมดุลระหว่างรากกับกิ่งที่แตกออก ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญสามประการ
๑) ความสมดุลเรื่องน้ำ. ขนาดของราก กิ่งหรือลำต้น ขึ้นอยู่กับความสมดุลของปริมาณน้ำที่รากดูดซึมเข้าไปและปริมาณของน้ำที่ใบไม้เขียวคายออกในกระบวนการสังเคราะห์แสง (photosynthesis). น้ำในต้นไม้จำเป็นสำหรับการสังเคราะห์แสงและการเจริญเติบโตของเซลล์พืช.
๒) ความสมดุลของสารอาหาร.  ต้นไม้เติบโตด้วยการแตกตัวของเซลล์ในตาไม้. การแตกตัวของเซลล์เกิดขึ้นได้เมื่อรากดูดเอาสารอาหารเข้าไปในตัวมัน และเมื่อใบสีเขียวทำการสังเคราะห์แสงที่ทำให้เกิดสารคาร์โบไฮเดรดขึ้น. สารอาหารและคาร์ดบไฮเดรดจำเป็นอย่างยิ่ง รากและกิ่งที่แตกใหม่จะเติบโตได้เท่าที่มีปริมาณสารอาหารเพียงพอสำหรับมัน.
๓) ความสมดุลในระบบภายในของต้นไม้. รากแก้วที่อยู่ตรงกลางจะแตกรากแขนงอื่นๆออก ขนาดและความยาวของระบบรากจะกระจายออกเป็นสัดส่วนพอเหมาะกับขนาดของต้นที่อยู่เหนือดินเพื่อมิให้ต้นนั้นเอนล้ม.
      เพื่อรักษาความสมดุลระหว่างระบบรากกับลำต้น ขนาดของต้นบ็องไซเมื่อถึงจุดที่กำหนดไว้แล้วนั้นต้องคงที่. ผู้เลี้ยงต้องคอยตัดแต่งทั้งลำต้น ตัดกิ่งริดใบทิ้งที่งอกขี้นในแนวดิ่งหรือแผ่ออกไปในแนวนอนหรือออกนอกตัวลำต้น. ต้องคอยสังเกต เพื่อให้รู้ว่าต้องตัดอะไรออกทิ้ง (ใบใหม่ ใบเก่า) โดยรักษาความสมดุลของต้นไว้เสมอ.
      ต้นบ็องไซที่จัดให้เป็นรูปทรงต่างๆที่นำมาเสนอนั้น คือรูปลักษณ์ที่ใกล้เคียงกับที่มันเป็นจริงในบริบทนิเวศของมัน แต่การเลี้ยงดูบ็องไซก็เป็นไปตามจินตนาการกับอุดมการณ์ของผู้เลี้ยงด้วยเช่นกัน ในเมื่อขนบนี้เกิดและพัฒนาขึ้นพร้อมๆกับพุทธศาสนาเซนที่ส่งอิทธิพลต่อปรัชญาการครองชีวิตและขนบประเพณีอื่นๆโดยเฉพาะประเพณีชงชาที่ยึดหลักสุนทรีย์แนวใหม่ของ wabi-sabi (ดูรายละเอียดต่อไปในบท C ข้อ4) ดังนั้น จึงมีหลักการเลี้ยงบ็องไซที่ครูผู้เลี้ยงได้วางไว้เป็นมาตรการอ้างอิงที่อาจเป็นคู่มือสำหรับผู้เลี้ยงมือใหม่ทั้งหลาย. เช่นนี้เท่ากับว่าผู้ที่เลี้ยงบ็องไซได้ซึมซับปรัชญาและแนวสุนทรีย์ที่มีมาก่อนไว้แล้วไม่มากก็น้อย. ข้าพเจ้าได้รวบรวมประเด็นปลีกย่อยต่างๆมาดังต่อไปนี้
** กิ่งก้านสาขาของต้นบ็องไซรวมกันเป็นภาพลักษณ์ของลำต้น  ลำต้นตั้งตรงขนาดกำลังงามย่อมมีกิ่งมีแขนงตรงและงามในแบบเดียวกัน. ลำต้นเตี้ยและโก่งงอย่อมให้กิ่งรูปแบบเดียวกัน. ดังนั้นลำต้นที่ตั้งตรงกับกิ่งที่งอคดเคี้ยว จึงไปด้วยกันไม่ได้. กิ่งก้านของต้นบ็องไซไม่ควรพุ่งตรงมายังผู้ดู มันรุกเร้าเกินไปและเหมือนข้ามหน้าลำต้น. ในทำนองเดียวกันส่วนที่ตายของต้นไม้ต้องไม่เด่นข้ามหน้าส่วนที่ยังมีชีวิต.
      ต้นไม้ที่มีอายุมากไม่มีกิ่งก้านใหญ่ๆมากนัก. เราควรสร้างต้นบ็องไซให้มีกิ่งก้านใหญ่กิ่งหลักเพียงกิ่งเดียว. หากมีหลายกิ่ง กิ่งแรกเป็นกิ่งสำคัญที่สุดของต้นไม้ ปกติมักใหญ่ที่สุดด้วยเพราะความมีอายุมาก. เป็นกิ่งที่กำหนดทิศทางและภาพลักษณ์ของลำต้น.  จึงมักยื่นออกมาด้านหน้า (sashi-eda). กิ่งที่สองมักอยู่ในทิศตรงข้ามกับกิ่งแรก เพื่อความสมดุลของต้นไม้ และในที่สุดก็จะเอนออกมาด้านหน้าเล็กน้อยด้วย. กิ่งที่สามที่อยู่ด้านหลังเป็นกิ่งที่สื่อมิติลึก และสร้างทัศนมิติของต้นไม้ทั้งต้น. มักเป็นกิ่งที่เรียวบางกว่าสองกิ่งแรกและแผ่ไปทางข้างลำต้นข้างใดข้างหนึ่ง ขึ้นอยู่กับทิศทางของสองกิ่งแรก. ต้นไม้บางต้นอาจมีกิ่งที่สามโผล่ออกจากลำต้นก่อนกิ่งที่สอง แต่ไม่ปรากฏว่ากิ่งหลังนี้งอกก่อนกิ่งแรก. กิ่งย่อยอื่นๆงอกและโผล่ออกตามรูปแบบของกิ่งหลักกิ่งแรก และสอดคล้องกลมกลืนกับกิ่งแรกเสมอ ยิ่งขึ้นไปสูง กิ่งเหล่านี้จะเรียวเล็กและแตกกิ่งย่อยๆออก. กิ่งทั้งหลายแผ่ออกเป็นคู่ๆ. หากปล่อยให้มีกิ่งที่สามออกมา นานๆเข้ารอยเชื่อมต่อของสามกิ่ง จะทำให้ลำต้นตรงนั้นโปน ไม่สวยแน่นอน จึงควรหลีกเลี่ยง. ไม่ควรมีจำนวนกิ่งมากเกินไป แสงและอากาศต้องผ่านทะลุไปยังทุกกิ่งได้สะดวก มิฉะนั้นกิ่งที่ขาดแสงและอากาศก็จะเฉาและตายลง. ต้องดูว่าใบทั้งหลายกระจายไปบนกิ่งอย่างพอเหมาะและไม่ให้มีใบไปรวมกันตรงปลายกิ่ง.
** ลำต้นเป็นจุดเด่นที่สุดของต้นไม้ เห็นได้อย่างชัดเจน ไม่ควรมีตำหนิใดๆบนลำต้นนั้น. ด้านหน้าเป็นด้านตรงเมื่อดูบ็องไซ จึงต้องชัดเจน และเมื่อก้มลงเงยมองจากลำต้นขึ้นไปถึงยอด ก็เหมือนการยืนเงยหน้ามองต้นไม้ใหญ่ๆในธรรมชาติ.
** ต้องไม่บังคับต้นไม้ เช่นลำต้นเดิมเป็นแบบตั้งตรง (Chokkan) แล้วไปบิดให้มันคดเคี้ยว (แบบ Moyogi).
** ความคดเคี้ยวของลำต้นรูปทรงใด ต้องลดลงเมื่อขึ้นไปสู่ยอดต้นไม้. ยอดไม้ต้องเป็นทรงกลมและเบนมาด้านหน้านิดๆสู่ผู้ดู. ยอดทรงกลมเป็นตัวบ่งบอกวัยสูงของต้นบ็องไซ และการมีอายุมาก คือประเด็นสำคัญที่สุดประเด็นหนึ่งของการเลี้ยงบ็องไซ. ยอดต้นไม้ต้องไม่ตรงแหลมแบบต้นสนที่ใช้ประดับในเทศกาลคริสต์มาสของชาวคริสต์.
** ต้นบ็องไซโดยทั่วไปคือภาพลักษณ์ของต้นไม้ที่มีอายุมาก. สิ่งที่แสดงอายุของต้นไม้ เช่น เปลือกไม้ที่เก่าแก่, กิ่งไม้ที่ลู่หรืองอตัว, ลักษณะการแตกกิ่ง, ลักษณะของส่วนที่ตายกับส่วนที่ยังมีชีวิต, ยอดไม้ทรงกลมๆ  ประเด็นเหล่านี้ต้องเด่นชัดในต้นบ็องไซ.
** ต้องรู้จักการตัดกิ่ง ตัดออกน้อยดีกว่าตัดออกมาก รู้จักการใช้กรรไกรตัด เลือกกิ่งที่ควรตัดให้ถูกต้อง และต้องรู้ว่าควรตัดกิ่งเมื่อใด ช่วงไหนของปี เวลาไหน ต้นไม้แต่ละต้นมีความพร้อมไม่เหมือนกัน. เกี่ยวกับการดูแลกิ่งนั้นมีรายละเอียดอื่นๆอีกมากเช่น ไม่ควรมีกิ่งที่โผล่ออกไปจากส่วนเว้าของลำต้น, ต้องไม่ให้กิ่งก้านของต้นไม้ซ้อนทับหรือไขว้กัน (sashichiga-eda), ต้องไม่ให้กิ่งโผล่ออกจากจุดเดียวกันบนลำต้นแล้วยื่นออกไปในทิศตรงข้าม (kannuki-eda) หรือไม้ให้มีกิ่งกระจายออกเหมือนซี่กงล้อ (kuruma-eda), ดูว่ากิ่งที่โผล่ออกจากข้างลำต้น ต้องไม่ไปโผล่ออกด้านหน้าของลำต้น (mikikiri-eda), ต้องตัดกิ่งที่โผล่ขึ้นตั้งตรง (tachi-eda) ไม่ให้กิ่งย่อยเด่นเกินลำต้นหรือกิ่งหลัก, กิ่งที่เจริญเติบโตมากเกินไปและมีเส้นผ่าศูนย์กลางเกินขนาดของลำต้น ต้องถูกตัดทิ้ง (oyafuko-eda), หากมีกิ่งที่แตกออกเป็นสองง่ามแม้จะแผ่ออกอย่างได้สัดส่วนงาม ก็ต้องตัดทิ้งกิ่งหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อขนาดของกิ่งสองง่ามนี้เท่าขนาดของลำต้น (ลำต้นต้องเด่นเป็นหนึ่งเสมอ กิ่งอื่นใดต้องไม่งามเกินหน้ามัน), ตัดกิ่งที่เกิดซ้อนกันขึ้นไปให้เหลือเพียงกิ่งเดียว (kasanari-eda). นอกจากการตัดแต่งกิ่ง ยังต้องรู้จักการใช้ลวดดัดกิ่งหรือตรึงลำต้นตั้งแต่ต้นยังอ่อนอยู่ เพื่อให้ได้รูปทรงของต้นตามต้องการ.
** ระหว่างกิ่งต่างๆของต้นไม้ ต้องมีช่องว่าง. เมื่อมองต้นไม้ทั้งต้น ก็ต้องเห็นช่องว่างระหว่างกิ่งต่างๆด้วย ช่องว่างแบบนี้เป็นกุญแจสำคัญดอกหนึ่งสู่ความงามของต้นไม้ ทำให้ต้นไม้นั้นดูโปร่งเบา. ช่องว่าง ยังสร้างมิติของความลึกแก่ต้นไม้ด้วย. จึงต้องวางกระถางบ็องไซไว้ในที่มีแสงสว่างเพียงพอ แสงแดดมากน้อยแล้วแต่พันธุ์ ไปวางไว้ใกล้หน้าต่างดีสำหรับต้นไม้เสมอ แสงสว่างทำให้ต้นไม้เติบโต ระวังแสงแดดตรงที่อาจไม่เหมาะกับต้นไม้บางชนิด. ต้องรู้จักต้นไม้ที่เลี้ยง ความต้องการของมันแล้วปรับทุกอย่างให้เข้ากับความต้องการตามธรรมชาตินิสัยของต้นแต่ละต้น. นอกจากแสงก็ต้องให้มีลมหมุนเวียนถ่ายเทในบริเวณที่ตั้งบ็องไซ หรือเปิดหน้าต่างให้อากาหมุนเวียนและถ่ายเท แต่ต้องรู้ด้วยว่าต้นไม้บางชนิดไม่ชอบลมเช่นต้นเมเปิล.
** การใส่ปุ๋ย ควรใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี ต้นไม้บางชนิดมีระยะเวลาใส่ปุ๋ยและต้องหยุดใส่ปุ๋ยในบางระยะ ห้ามใส่ปุ๋ยให้ต้นไม้ที่ป่วยหรือเป็นโรค. การเฝ้าสังเกตต้นบ็องไซเป็นประจำทุกวัน ทำให้รู้ได้ว่าต้องช่วยต้นไม้อย่างไรเมื่อใด รวมไปถึงการกำจัดศัตรูพืชได้ทันท่วงที หรือรู้จักรดน้ำให้พอเหมาะพอเพียง. โดยทั่วไปผู้เลี้ยงบ็องไซรดน้ำด้วยการฉีดละอองน้ำฝอยๆเหมือนละอองฝนเหนือใบไม้. ต้องรู้ด้วยว่าผิวดินต้องแห้งก่อนที่จะรดน้ำครั้งต่อไป  รู้จักเพิ่มความชื้นเช่นด้วยการวางถาดน้ำใกล้ๆต้นบ็องไซ.
** ต้องคำนึงถึงความต้องการหรืออุปนิสัยเฉพาะของต้นไม้พันธุ์ที่นำมาเลี้ยง รักษารูปทรงธรรมชาติของมันให้ปรากฏชัดเจน.  เช่นนี้ต้นสนจึงอาจเป็นต้นตั้งตรง หรือเทลงแบบน้ำตก หรือมีลำต้นคดเคี้ยวไปมาได้ แต่ต้นมะกอกไม่เคยมีรูปทรงเทลงเหมือนน้ำตก.
** สิ่งที่ต้องทำเมื่อปลูกบ็องไซ คือการปลูกใหม่ (replanting) เพราะหากทิ้งไว้ในกระถางนานเกินไป รากก็เน่าเปื่อย. ยกต้นบ็องไซขึ้นจากกระถางเลย แกะเอาดินเก่าๆออก ตัดรากที่เน่าเปื่อยทิ้ง (ถ้าเป็นรากที่อยู่เหนือพื้น-nebari ต้องทำเมื่อต้นบ็องไซยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ ถ้ารอช้าจนรากเติบใหญ่ขึ้น ก็จะแก้ไขรูปลักษณ์ของรากที่พ้นดินเหล่านั้นไม่ได้) นำดินดีดินพิเศษใส่ลงชั้นล่างของกระถาง ก่อนนำต้นบ็องไซลงไปใหม่พร้อมดินใหม๋ เสร็จแล้วรดน้ำ ปกติควร ปลูกใหม่ทุกสองสามปี จะทำให้ต้นบ็องไซแข็งแรงและมีสุขภาพดี. การปลูกใหม่เป็นโอกาสให้จัดรูปแบบต้นไม้ เปลี่ยนลักษณะของด้านหน้า หมุนลำต้นไปในแนวใหม่ หรือเปลี่ยนกระถางแบบใหม่ อาจให้ความรู้สึกเหมือนได้ต้นไม้ต้นใหม่.  กระถางบ็องไซเป็นบ้านของต้นบ็องไซ บ้านที่มันจะเติบโตอย่างมีความสุข บ้านนี้สำคัญต่อภาพรวมของต้นบ็องไซ เป็นราศีแบบหนึ่ง. การเลือกกระถางสำหรับต้นบ็องไซขึ้นอยู่กับชนิดของต้นไม้และรูปทรงที่ต้องการให้มันเป็น. ต้นไม้บางชนิดเติบโตดีในกระถางที่ลึกหน่อย บางชนิดเติบโตได้สวยในกระถางตื้นๆ.  
** ลำต้นหรือกิ่งส่วนที่เป็นสีขาวๆนั้น (ลักษณะ jin และ shari) เพราะการเน่าเปื่อน แต่ไม่ตัดทิ้งกลับแปลงมันให้อยู่ติดไปกับส่วนที่ยังมีชีวิต สร้างเป็นสีตรงข้ามขาวดำบนต้นนั้น การรู้จักใช้กิ่งตายไปแล้วมาประดับประกบกับกิ่งหรือลำต้นที่ยังมีชีวิตนั้น ขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญส่วนตัวของผู้เลี้ยง. คนเลี้ยงมองดูกิ่งเปื่อย ว่ารูปลักษณ์อย่างไร เอาส่วนที่เน่าเปื่อยออก เพื่อมิให้การเน่าเปื่อยแผ่กระจายออกไปยังส่วนอื่น หลังจากนั้นทาสารละลายซัลเฟอร์ลงบนกิ่งนั้น ตัดเล็มขัดเกลากิ่งที่ตายให้ดูสวยงาม เมื่อจัดเสร็จ ก็ยังคงให้เห็นรูปลักษณ์ร่องรอยว่าต้นไม้นั้นได้ผ่านความลำบากในชีวิตมัน (ตามหลักการของ wabi-sabi ที่สอนให้เห็นความงามของสิ่งที่บกพร่อง ความงามของการต่อสู้เป็นต้น)
** เนื้อดินที่ใช้ปลูกบ็องไซต้องมีคุณภาพดี ระบายน้ำได้ดี กักน้ำไว้เท่าที่จำเป็น มิฉะนั้นรากจะเน่า และต้นไม้ก็ดูดไปใช้อย่างพอเพียง. ปกติต้นบ็องไซที่ขายกันในท้องตลาด ดินไม่มีคุณภาพนัก ควรรีบยกขึ้นจากดินเดิม เปลี่ยนดินและปลูกใหม่.
** คนมักเข้าใจผิดกันว่า ต้นบ็องไซนั้นต้องเลี้ยงไว้ภายในอาคารเท่านั้น ความจริงแล้วพืชพรรณที่เลี้ยงเป็นบ็องไซจำนวนมากต้องเลี้ยงไว้นอกบ้าน ให้มันรับรู้และยืนหยัดสู้ในทุกสภาพอากศเช่นต้นไม้ขนาดปกติทั่วไป. ต้นไม้เขตร้อนต้องการแสงแดดและความชื้นมาก หากเลี้ยงในเขตอบอุ่นถึงหนาว มันก็ต้องอยู่ภายในสภาพแวดล้อมที่จัดให้ใกล้เคียงที่สุดกับระบบนิเวศเดิมของมัน เดี๋ยวนี้คนใช้วิธีการผิดธรรมชาติเข้าช่วย เช่นแสงไฟฟ้าแทนแสงแดดที่ไม่เพียงพอ ใช้เครื่องทำความชื้นไฟฟ้าเพิ่มความชื้นในอากาศฯลฯ. ไม่ว่ากรณีใด ต้นบ็องไซแต่ละต้นต้องมีชีวิตของมันครบวงจรตามปกติเหมือนต้นไม้ใหญ่ มิฉะนั้นมันก็มิอาจเติบโตได้และจะค่อยๆเหี่ยวเฉาและตายลงตามลำดับ.  จึงเป็นการดีที่จะเลือกต้นไม้ที่เหมาะกับสภาพอากาศท้องถิ่นของผู้เลี้ยง มิฉะนั้นก็ต้องมีความพร้อมในการสร้างที่อยู่ของบ็องไซภายในบ้าน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมากหากต้องการเลี้ยงให้เต็มศักยภาพของมันบนกาลเวลาอันยาวนานของชีวิตต้นบ็องไซ.
** ต้นไม้แต่ละชนิดมีกระบวนการเติบโตของตัวเอง ผู้เลี้ยงต้องผลักดันศักยภาพของต้นไม้ให้ประจักษ์ชัดเจน จึงนับว่าเลี้ยงได้สำเร็จและเลี้ยงได้งาม.  ผู้เลี้ยงต้นบ็องไซสัมผัสแตะต้องต้นไม้ สายตามองดูต้นบ็องไซอย่างพินิจพิเคราะห์ทั่วทั้งต้น ตัดตกแต่งให้มันดูงามอยู่เสมอ ให้น้ำและสารอาหารเมื่อจำเป็น นำแสงสว่างและสายลมไปให้ วันแล้ววันเล่าเขาถ่ายทอดความเอาใจใส่ ความมุ่งมั่นในสิ่งที่เขาทำ สู่ต้นบ็องไซ จนเกิดเป็นความผูกพัน ความเข้าใจกันและกันมากขึ้นๆ (มีการพิสูจน์กันมานานแล้วว่าต้นไม้ ติดเจ้าของ มันเติบโต ออกดอกออกผล เพราะมันมีความสุขและพอใจที่มีผู้ดูแลอยู่ใกล้ชิดมันเสมอ) ในที่สุดมันก็ตอบแทนด้วยการเติบโตตามใจผู้เลี้ยง เช่นนี้จึงพูดกันว่า ต้นบ็องไซของใครสะท้อนวิสัยทัศน์ของผู้นั้น. ความสำเร็จในการเลี้ยงต้นบ็องไซต้นหนึ่ง รวมความรู้ความเข้าใจด้านพฤกษศาสตร์, ค่านิยมด้านความงามสุนทรีย์, จิตสำนึกที่ลุ่มลึกกับคุณธรรมของผู้เลี้ยง. ถึงกระนั้นท้ายที่สุดเมื่อรูปทรงสันฐาน กิ่งก้านของต้นบ็องไซแผ่ออกสวยงามเต็มที่แล้ว ต้องไม่เหลือร่องรอยฝีมือคนเลี้ยงบนต้นบ็องไซต้นนั้น ต้องให้ความรู้สึกว่าทั้งหมดเป็นสิ่งที่ต้นไม้จัดการและวิวัฒน์ตัวมันเองเพื่อให้ได้รูปทรงที่สมดุลสมบูรณ์ที่สุดตามธรรมชาติของมัน.

บันทึกความสนใจส่วนตัวของโชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ ณ เดือนสิงหาคม ๒๕๕๙.

ติดตามบทที่สาม C. บ็องไซในปรัชญาและสุนทรีย์ของญี่ปุ่น
เชิญเข้าไปดูได้ที่นี่ >> http://chotiroskovith.blogspot.com/2016/08/c.html

และชมภาพต้นบ็องไซงามๆจากคลังสะสมบ็องไซในสหรัฐฯได้ที่นี่ >>




 

No comments:

Post a Comment