Thursday 25 August 2016

C. บ็องไซในปรัชญาและสุนทรีย์ของญี่ปุ่น

คนฉลาดผู้สร้างสรรค์ สิ่งใหม่ สิ่งใดในญี่ปุ่น มักโยงไปถึงขนบประเพณีและอุดมการณ์สุนทรีย์ที่ยึดถือกันมาในอดีต เป็นการแทรกตัว กำหนดจุดยืนของเขาบนเส้นทางประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น และเพราะเขาสร้างใยโยงไปแบบนี้เอง ที่ทำให้งานสร้างสรรค์ แนวใหม่ของเขามีพื้นฐานมั่นคงทั้งในด้านชีวิตส่วนตัวและในแง่วิวัฒนาการของสังคม. เพราะฉะนั้น หากใครที่คิดว่า ตนได้สร้าง สิ่งใหม่บริสุทธิ์จริงแท้แล้วไซร้ ที่ไม่มีอะไรเหมือนมาก่อน คนนั้นก็ยังคงหลงวนเวียนอยู่กับโลกของตัวเองที่จำกัด เพราะไม่ว่าจะมองในมุมไหนของวิทยาศาสตร์แขนงใด ของลัทธิศาสนาใด ไม่มีอะไรใหม่ภายใต้แสงอาทิตย์. ไม่มีอะไรเกิดขึ้นหรือหายไป มีแต่การแปรรูปเปลี่ยนรูปจากสิ่งเดิมๆที่เคยมีมาก่อน. (ขอให้ทำใจเสียเถิด เป็นการดีที่จะยึดสิ่งดีงามที่มีมาก่อน มาสร้างเป็น aura ให้ตัวเอง). เช่นนี้ เราจึงต้องพิจารณาต้นบ็องไซในบริบทที่กว้างออกไปในสังคมญี่ปุ่น ดังหัวข้อย่อยๆหกเรื่องที่นำมาเป็นตัวอย่างข้างล่างนี้ ที่เป็นพื้นฐานและเอกลักษณ์ของ ความเป็นญี่ปุ่น.  

1. จิตรกรรมแขวน (Hanging scroll) หรือในภาษาจีน 立軸 ญี่ปุ่นใช้คำ 掛軸 (kakejiku) เป็นภาพม้วนที่คลี่ลงในแนวดิ่ง. ภาพวาดบนผืนผ้าใบม้วนนี้เป็นแบบศิลปะเอเชียตะวันออก. เนื้อหามีทั้งภูมิประเทศ ธรรมชาติไม้ดอก เรื่องเล่าและสำนวนคำขวัญที่คัดด้วยลายมือแบบอักษรวิจิตร.  จิตรกรรมบนแผ่นกระดาษหรือผ้าไหม จะถูกติดประกบลงบนผืนผ้าไหมที่ทอแน่นกว่าและมีลวดลายในตัว ที่ทำหน้าที่เหมือนกรอบรูป. (มีรายละเอียดเกี่ยวกับการทำผืนผ้าสำหรับจิตรกรรมม้วนอีกมาก ที่ผู้สนใจหาอ่านได้ในอินเตอเน็ต)  จิตรกรรมม้วนแบบนี้พัฒนามาจากแถบไม้ไผ่ที่เหลาจนเป็นแถบยาวและบาง หรือจากธงผ้าไหม. แถบไม้ไผ่และธงผ้าไหมคือ กระดาษบันทึกแบบแรกๆของจีนยุคโบราณเป็นจารึกวรรณกรรมหรือเรื่องราวประวัติศาสตร์. ทั้งสองแบบใช้แขวนให้ห้อยลงจากผนังกำแพง. หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดมาจากสมัยราชวงศ์ฮั่นราวสองร้อยปีก่อนคริสตกาล. ในสมัยราชวงศ์ถัง (Tang, 618-907 AD) รูปแบบของจิตรกรรมม้วนแบบนี้มีหลักการและโครงสร้างที่ถาวรแล้ว. ในสมัยราชวงศ์ซ่ง (Song, 960-1279) ศิลปินจีนนิยมใช้วัสดุรูปแบบนี้เป็นพื้นที่แสดงจิตนาการของพวกเขา. จิตรกรรมก็มีขนาดและสัดส่วนหลากหลายขึ้น. ในที่สุดจิตรกรรมรูปแบบนี้พัฒนาสืบทอดเรื่อยมาถึงปัจจุบัน เป็นเอกลักษณ์หนึ่งของจีน ที่เกาหลีและญี่ปุ่น(ต่อมาเวียดนามก็เช่นกัน) รับไปพัฒนาในศิลปะของทั้งสองประเทศด้วย. ในยุคเอโด๊ะ(1603-1868) ปัญญาชนญี่ปุ่นมีโอกาสสัมผัสความละเอียดประณีตของศิลปวัฒนธรรมจีนและนำเข้ามาเป็นแบบในญี่ปุ่น. พวกเขาศึกษาวิเคราะห์และเรียนรู้อุดมกาณ์สุนทรีย์และปรัชญาจากจีน จนในที่สุดสามารถพัฒนารูปแบบศิลปะตามหลักสุนทรีย์ของญี่ปุ่นเอง ที่รวมถึงจิตรกรรมแขวนหรือม้วนดังกล่าว. ญี่ปุ่นให้ความสำคัญต่อจิตรกรรมแขวนแบบนี้อย่างมากโดยเฉพาะเมื่อเกิดประเพณีชงชาขึ้น (chado / sado). จิตรกรรมแขวนเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสามอย่างที่ขาดเสียมิได้ในพิธีชงชา. จิตรกรรมแบบแขวนจะประดับบนผนังกำแพงภายในเวิ้ง (tokonoma โปรดดูที่ข้อ 3 ต่อไป) ในห้องประกอบพิธีชงชา เพื่อสร้างบรรยากาศและนำจินตนาการของผู้ร่วมพิธีสู่ความงาม ความยิ่งใหญ่ในธรรมชาติ. ภาพที่นำไปแขวนอยู่บนผนังกำแพงชั่วระยะเวลาหนึ่ง แล้วก็ม้วนเก็บรักษาไว้อย่างดี.  เมื่อเก็บม้วนหนึ่งไป อาจนำอีกม้วนหนึ่งออกมาแขวนแทน ตามโอกาสหรือวาระพิเศษ หรือเพื่อให้สอดคล้องกับฤดูกาล. (โปรดดูเรื่อง Tokonoma ต่อในข้อ 3 เรื่องพิธีชงชาหรือวิถีชา).
 ดอกจันสีขาวเจาะจงพื้นที่ในเวิ้งที่เรียกว่า Tokonoma มีภาพม้วนแขวนอยู่บนผนังด้านใน
เป็นลายมืออักษรจีนวิจิตร ติดประดับอยู่. ภาพจากเน็ต enaftour.com
สี่ตัวอย่างจิตรกรรมม้วนสำหรับแขวนตามแนวสูง ฝีมือคนจีน
ภาพแสดงสี่ฤดูจากอินเตอเน็ตที่ www.terapeak.com
สามตัวอย่างของจิตรกรรมม้วนใช้แขวน ศิลปะญี่ปุ่น
จากอินเตอเน็ตที่ japanbrandonline.com
จิตรกรรมม้วนอีกแบบหนึ่งที่ไม่แขวน แต่คลี่ออกดูบนโต๊ะยาว (หรือบนพื้นเสื่อตะต๊ามิญี่ปุ่น) หรือใช้สองมือถือและกางออกดู เริ่มดูจากขอบขวามือไป คลี่ออกไปเรื่อยๆทางซ้ายจนจบม้วน. เป็นการดูทีละส่วนทีละตอน เพราะมักจะยาวมาก ถึงสองสามเมตรก็มี. ส่วนความกว้าง (หรือส่วนสูงของภาพอยู่ระหว่าง 25-40 ซม. เรียกเป็น , handscroll). เมื่อดูภาพส่วนไหนแล้วก็ม้วนเข้า ดูภาพส่วนต่อไปทางซ้ายมือ เสร็จแล้วก็ม้วนเก็บเลย ไม่วางโชว์ มักเป็นภาพบนผ้าไหมหรือกระดาษที่ต่อๆกันยาวเหยียด.  

ตัวอย่างจิตรกรรมม้วนแบบคลี่ดู ชื่อภาพตั้งไว้ว่า Early Autumn, ผลงานของศิลปินราชสำนักซ่ง ชื่อ Qian Xuan (1235-1305), ศตวรรษที่ 13, ภาพนี้อยู่ที่ Detroit Institute of Arts, Detroit, Michigan, USA. (From Wikipedia, public domain)
การวาดภาพที่ม้วนเข้าออกแบบนี้ เป็นศิลปะโบราณที่เริ่มขึ้นในจีนตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสตกาล และสืบทอดกันต่อมาในจีนและแผ่ออกไปบนดินแดนตะวันออก (เกาหลี ญี่ปุ่นและเวียดนามด้วย) วัสดุที่ใช้ก็พัฒนาดีขึ้นทั้งกระดาษและผ้าไหม. เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นทัศนียภาพ, ภาพพร้อมคำบรรยายที่เขียนลงเป็นลายมือ, ภาพเหตุการณ์, ภาพดอกไม้ที่ต่อเนื่องกันไปตามฤดูกาล, หรือเป็นเรื่องเล่าเรื่องบันทึกล้วนๆ ที่จารึกลงด้วยลายมือเป็นอักษรจีนเป็นต้น. ญี่ปุ่นเรียกจิตรกรรมม้วนในแนวนอนนี้ว่า emakimono 絵巻 เริ่มขึ้นและแพร่หลายในระหว่างศตวรรษที่ 11-16 เท่านั้น
 ตัวอย่างภาพดอกไม้แปดชนิดของจิตรกร Qian Xuan, Eight Flowers, 13th century, Palace Museum, Beijing. (From Wikipedia, public domain)

ร้านขายสรรพสิ่งทั้งแบบจีน ญี่ปุ่นหรือเกาหลี  รวมทั้งกระถางลายครามขนาดใหญ่ของจีน
      ทำไมต้องมีจิตรกรรมภาพม้วนด้วย? ในญี่ปุ่นมีคนพร้อมที่จะจ่ายเงินเป็นล้านๆเพื่อเป็นเจ้าของจิตรกรรมม้วนฝีมือศิลปินชั้นครู สำหรับนำไปประดับพื้นที่จัดแสดงบ็องไซของเขา. ภาพจิตรกรรมม้วนฝีมือดีนั้นราคาแพงมาก แต่เดี๋ยวนี้อาจหาซื้อได้จากร้านขายศิลปวัตถุ Asian style ทั่วไปในโลก. สวยงามในระดับหนึ่ง. การเลือกซื้อภาพเนื้อหาใดนั้น ต้องคำนึงว่า เนื้อหาและรูปแบบของภาพ เสริมและสร้างมโนทัศน์ของภูมิประเทศ ฤดูกาล นัยลึกล้ำของสถานที่หนึ่ง เช่นภาพภูเขาสูงทำให้นึกถึงภูมิประเทศสูงๆต่ำๆในหุบเขาสูงที่มีต้นสนปกคลุม, ภาพนกนางนวลที่ทำให้มโนไปถึงชายฝั่งทะเล หรือภาพหิมะปกคลุมบนเนินเขาเพื่อสื่อฤดูหนาว.  สิ่งที่นำเข้าไปจัดภายในพื้นที่แสดงต้นบ็องไซนั้น ต้องไปกระตุ้นและเร้าจินตนาการและจิตสำนึกของผู้ดู นำผู้ดูไปใน ภูมิประเทศของอารมณ์สะเทือนและของปัญญา”. หากทำได้อย่างนี้ เท่ากับยกระดับต้นบ็องไซขึ้นสูง.  แน่นอนผู้ดูแต่ละคนมีจินตนาการที่เข้มมากน้อยต่างกัน. การจัดพื้นที่โชว์ที่ดีและได้ผลดีที่สุด คือเมื่อทำให้ผู้ดูคิดใคร่ครวญว่า ชีวิตสร้างศิลปะ หรือศิลปะสร้างชีวิต  

2. Suiseki [ซุยเซกิ] (อักษรตัวแรกแปลว่า น้ำ และตัวที่สองแปลว่า หิน) เป็นกระแสชื่นชมหิน พินิจความมั่นคงยืนยง ความไม่เสื่อมสลายของหิน. กาลเวลาและดินน้ำลมไฟได้ประทับและขัดเกลาบนผิวหน้าของหิน จนเป็นรูปลักษณ์ต่างๆในขนาดต่างๆ. ก้อนหินรูปลักษณะต่างๆชักและเชื่อมใยไปถึงสรรพสิ่งในธรรมชาติ. บางคนจึงเรียกว่าเป็นหินของความคิดคำนึง. คนมักวางก้อนหินดังกล่าวบนฐานไม้หรือฐานอื่นใดที่งามประณีต ที่อาจเป็นถาด ชามทองเหลือง ที่บรรจุน้ำหรือทราย เพื่อเน้นความโดดเด่นของหินที่นำออกโชว์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วหินเป็นภาพลักษณ์ของเกาะ. เมื่อจัดวางอย่างเหมาะสมและสมดุล เกิดเป็นศิลปะหินประดับที่เรียกว่า suiseki.
       ศิลปะหินประดับเริ่มขึ้นในประเทศจีน เรียกว่า «gongshi» (อักษรตัวแรกแปลว่า มอบให้, เสนอ; ตัวที่สองแปลว่า หิน). เหล่าปราชญ์ในจีนนิยมชมชื่นหินรูปลักษณ์ต่างๆ ที่นำจินตนาการไกลออกไปในธรรมชาติ ดังปรากฏในจารึกจีนศตวรรษที่ 11 ที่อธิบายรูปลักษณ์และความสำคัญของหิน gongshi. ราชสำนักของจักรพรรดิจีนนำเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นในยุคสมัย Asuka (538-710 AD.)
 จารึกจีนนี้ เล่าเหตุการณ์อะไรสักอย่างหนึ่งเกี่ยวกับหินที่แสดงไว้ด้านขวา บอกให้รู้ว่า คนจีนสนใจเรื่องหินมานาน และซึมซับรูปลักษณ์ของหินแบบต่างๆไว้ในจินตนาการ เหมือนเก็บข้อมูลสำหรับนำไปใช้ในงานสร้างสรรค์ต่อไปในอนาคต.
 รูปลักษณ์ของหิน การจัดตั้งให้ด้านไหนเป็นด้านหน้าตามความต้องการของผู้จัด
คือการนำสายตาและจินตนาการของผู้ดู
หินประดับแบบนี้เป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่ชนชั้นปกครองและในหมู่ซามูไรตลอดยุค Kamakura (1183-1333 AD.).  นิทรรศการบ็องไซในโลกตะวันตก(เกือบทุกครั้ง) มีการนำ suiseki ไปแสดงด้วย จึงได้กระตุ้นกระแสชื่นชมหินธรรมชาติไปด้วย. หินประดับแบบนี้ในเกาหลีเรียกว่า «Suseok» หรือ 수석 [ซูส็อก] เน้นคุณสมบัติของเนื้อหินธรรมชาติ ที่เป็นมงคลแก่ชีวิต ที่นำไปสู่การเจียระไนหินสีต่างๆเพื่อเป็นเครื่องประดับบนตัวทั้งหญิงและชาย. ส่วน suiseki-水石 ญี่ปุ่นนั้นเน้นรูปลักษณ์ภายนอกของหินที่เลียนแบบภูมิประเทศของหินผาและผืนน้ำ (山水景石)

นอกจากนี้ยังมีการจำแนกประเภทของหินที่นำมาประดับ ตามรูปลักษณ์ของมัน เช่น หินที่มองดูเหมือนภูมิประเทศ (Sansui keijo-seki) เช่นภูเขา แคนยอน เกาะ ผาน้ำตก ฝั่งทะเล โขดหิน ถ้ำ หรือที่ราบสูง, หินที่มองดูคล้ายคน สัตว์ เรือ บ้านหรือสะพาน (Keisho-seki), หินที่ทำให้นึกถึงดวงดาว ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ (Gensho-seki), หินที่มองดูเหมือนต้นไม้ ดอกไม้ ผลไม้ หญ้าหรือป่าไม้ (Kigata-ishi), หินที่ทำให้นึกถึงสภาพดินฟ้าอากาศในยามฝนตก แดดร้อนจัด สายฟ้าแล็บ หรือหิมะ (Tenko-seki), ผิวหน้าของหินที่ทำให้นึกถึงรอยเท้าสัตว์หรือการผสมปนเปของสรรพสิ่ง (Chusho-seki). เขาจัดหินประดับรูปลักษณ์ต่างๆเหล่านี้บนถาดเตี้ยๆที่บรรจุทรายหรือน้ำ อาจนำเข้าไปวางในเวิ้ง Tokonoma ไม่ไกลจากต้นบ็องไซ หรือวางแยกต่างหากบนโต๊ะไม้เป็นต้น. ในบริบทของการเลี้ยงบ็องไซ หินประดับมีส่วนเสริมความมีชีวิตชีวาแก่ต้นบ็องไซ เพราะสภาพแวดล้อมรอบตัวเราทุกหนทุกแห่ง)คือสนามคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ที่กระทบต่อสรรพสิ่งและสรรพชีวิตในแบบต่างๆกัน สรรพสิ่งจึงทั้งรับและสะท้อนชีวิต(วิญญาณ)ต่อทุกอย่างรอบตัว สื่อสารกันโดยที่ตามองไม่เห็น แต่ผู้มีสมาธิและนั่งสมาธิจนจิตสงบมั่นคงจะสามารถรู้สึกได้ถึงเครือข่ายการสื่อสารรอบๆตัวเรา(เช่นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า) สำหรับต้นบ็องไซ การมีหินวางอยู่ข้างๆ ปลอบใจว่ามันอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีชีวิต และเหมือนทุกชีวิต มันไม่ชอบความโดดเดี่ยวอ้างว้างอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่. 
        ลักษณะของหินประดับ ทำให้นึกถึงเกาะต่างๆนอกฝั่งทะเลญี่ปุ่น. ชายฝั่งที่โดดเด่นมากที่สุดคือนอกฝั่งเมือง Matsushima (ใกล้เมือง Sendai ) ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสามภูมิทัศน์ที่งามตระการตาที่สุดของญี่ปุ่น นอกฝั่งทะเลส่วนนี้ มีเกาะจำนวนมากไม่ต่ำกว่า 260 เกาะ. ต้นสนขึ้นบนเกาะเหล่านั้นได้อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง ไม่ผิดกับรูปทรงของบ็องไซที่คนพยายามเลี้ยงไว้บนก้อนหินดังได้กล่าวไว้ในบทที่สอง. ดูแผนผังที่ตั้งเกาะต่างๆนอกฝั่งทะเล และชมตัวอย่างเกาะที่ได้เดินทางไปถ่ายมาเอง.








3. Tea ceremony ประเพณีชงชาหรือวิถีชาของญี่ปุ่นมีรายละเอียดมาก ในที่นี้เรานำมาเล่าแต่เพียงย่อๆเพื่อให้เห็นว่าวิถีชาของญี่ปุ่นได้ฝังรากสร้างความสุนทรีย์แบบญี่ปุ่นอย่างไรบ้าง.
      จารึกเกี่ยวกับชาที่เก่าที่สุดเล่าว่า ชาวจีนรู้จักชาและดื่มชากันแล้วตั้งแต่สมัยจักรพรรดิ Jing ราชวงศ์ฮั่น (188-141 BC) เมื่อราวศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล. พวกเขาเอาใบชามาตากแห้ง แล้วใช้หินป่นและอัดเป็นก้อนเล็กๆแน่นๆ. เมื่อจะดื่มชาก็เอาก้อนชานั้นมาบด ผสมสมุนไพรอื่นๆเข้าไป เพิ่มสรรพคุณและรสชาติต่างๆกัน. การดื่มชาจึงเริ่มด้วยการเป็นยาบรรเทาความเจ็บป่วยก่อน แล้วจึงเป็นเครื่องดื่มเพื่อความสุขสำราญ. ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 8 Lu Yu (733-804) ได้แต่งหนังสือ (Tea Classic) เกี่ยวกับเรื่องชาโดยเฉพาะอย่างละเอียดลออ ทั้งเรื่องการเพาะปลูกชาและการตระเตรียมชา อุณหภูมิของน้ำตลอดจนอุปกรณ์และวิธีการใช้ในการชงชา. ชีวิตของเขาอยู่ในกรอบศีลธรรมจรรยาพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด ที่ได้ดลใจพระสงฆ์ชาวญี่ปุ่นที่ไปสืบพระศาสนาในจีน นำไปเป็นแบบอย่างของการครองตน ที่วิวัฒน์ขึ้นเป็นลัทธิเซนในญี่ปุ่น. การสถาปนาวิถีชาในญี่ปุ่นก็เป็นผลจากวิถีชีวิตแบบพุทธเซนดังกล่าว.
 รูปปั้น Lu Yu ที่เมือง X’ian 西 ในประเทศจีน ดูเหมือนว่า มือถือกระปุกใส่ชา
ภาพวาดแสดงบริบทการดื่มชาในจีนสมัยก่อน คนสำคัญนั่งบนตั่ง เครื่องน้ำชาและและอาหารกับขนม
จัดวางเต็มโต๊ะเบื้องหน้าบุคคลสำคัญๆ มีสตรีนางหนึ่งเล่นดนตรีขับกล่อมไปด้วย 
เสียงหรือดนตรีคงไพเราะเสนาะหู เพระทุกคนหันไปฟังอย่างตั้งใจ 
การปลูกชาในญี่ปุ่นนั้น เริ่มขึ้นในสมัยราชวงศ์ถัง (818-907) เมื่อพระสงฆ์ชาวญี่ปุ่นนำเมล็ดชาจากประเทศจีนติดตัวมาที่ญี่ปุ่น. ยุคที่กรุงนาราเป็นเมืองหลวง (710-794) เริ่มมีการปลูกชาแล้วแต่ยังอยู่ในวงแคบ ตอนนั้นน้ำชาเป็นยา ดื่มในหมู่พระภิกษุและชนชั้นสูง. ในปลายราชวงศ์ถัง ชาวจีนเริ่มดื่มชากันมากขึ้นและการดื่มชาเปลี่ยนไป น้ำชามิได้เป็นยาเท่านั้นแต่เป็นเครื่องดื่มสำหรับทุกคน เป็นการดื่มเพื่อความสุขความพอใจ. ส่วนในญี่ปุ่น น้ำชายังคงเป็นยาสำหรับพระภิกษุและชนชั้นสูงต่อมาอีกเป็นเวลานาน. ญี่ปุ่นยังตามรสนิยมจีนเรื่องการดื่มชาไม่ทัน เพราะความสัมพันธ์ทางการค้าและการแลกเปลี่ยนระหว่างสองประเทศลดน้อยลง. ญี่ปุ่นต้องปลูกต้นชาเองและพัฒนาชาและทุกอย่างที่เกี่ยวกับชาภายในหมู่คนญี่ปุ่นด้วยกัน. ตั้งต้นด้วยการปลูกชา ตอนนั้นปลูกอยู่แถบเมือง Uji () จังหวัดนารา หลังจากนั้นจึงค่อยๆขยายวงออกไปเกือบทั่วเกาะญี่ปุ่น. ชาจึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่หายากและมีราคาแพง. เป็นเช่นนี้เรื่อยมาในสมัย Heian (794-1192) เมื่อกรุงเกียวโตเป็นเมืองหลวง. ความเป็นของมีค่าและเป็นผลิตภัณฑ์ที่หายาก ทำให้การดื่มชามีกฎมีเกณฑ์อย่างละเอียด เหมือนต้องคอยระวังมิให้เสียของ.
       Myoan Eisai (明菴栄西) พระสงฆ์ญี่ปุ่นได้เดินทางไปศึกษาปรัชญาและศาสนาที่เมืองจีนในปี 1187 เมื่อเขาเดินทางกลับมาที่ญี่ปุ่น เขาเป็นผู้วางรากฐานพุทธศาสนาลัทธิเซนและให้สร้างวัดนิกาย Rinzai 臨済宗 แห่งแรกในญี่ปุ่น. กล่าวกันว่า เขาเป็นคนแรกที่สั่งให้ปลูกชาเพื่อใช้ในพิธีการศาสนา ทั้งยังเป็นคนแนะและสอนวิธีการบดใบชาให้ละเอียดก่อนเติมน้ำร้อน. เขาได้เห็นในราชสำนักจีนใช้กระจุกไม้ไผ่ที่ตัดเหลาเป็นซี่เล็กๆตีและคนผงชากับน้ำร้อนจนเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน จึงนำวิธีการแบบนี้มาใช้ในญี่ปุ่น และกลายเป็นกรรมวิธีสำคัญในพิธีชงชาของญี่ปุ่นตั้งแต่นั้นมา
แปรงซี่ไม้ไผ่ (茶筅 chasen) ที่ใช้ตี กวน คนผงชาเขียวในน้ำเดือดจนเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน
ยุคนั้นมีพระภิกษุอื่นๆที่ไม่เห็นด้วยกับหลักศาสนาพุทธที่ Eisai นำมาเผยแผ่ในญี่ปุ่น แต่โชกุนตระกูล Kamakura (1192-1333) กลับสนับสนุนเขา. ในปี 1211(บางตำราบอกว่าปี 1191) พระ Eisai ได้ประพันธ์หนังสือเรื่องชา ชื่อ Kissa Yojoki 喫茶養生 ที่แปลว่า บันทึกการดื่มชาเพื่อสุขภาพ เช่นช่วยให้เจริญอาหาร, คลายอาการเหน็บชา, ร้อนในหรือคลื่นเหียนอาเจียร. Eisai เชื่อในสรรพคุณของชาว่าสามารถรักษาความผิดปกติของร่างกายได้เกือบทุกโรค. นี่อาจเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดพิธีชงชาและวิถีชาที่แพร่หลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางต่อมา.
        ในศตวรรษที่ 13 การปลูกชาได้ขยายออกไปทั่วทุกภูมิภาคในญี่ปุ่น. ชนชั้นซามูไรนิยมชมชอบขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมจีนยุคราชวงศ์ซ่ง (Song, 960-1279) และรับกระบวนการชงชาดื่มชาของจีนมาด้วย ทั้งยังเสริมขั้นตอนการเตรียมชาเขียวเข้าไปอีกให้ครบวงจร. เมื่อโชกุนตระกูล Kamakura เสื่อมลง มีศึกสงครามชิงอำนาจกันไปทั่วในญี่ปุ่น เกิดชนชั้นใหม่ เป็นพวกเศรษฐีใหม่ (Gekokujou) ผู้ชอบความหรูหราโอ่อ่า ที่ดึงดูดสายตามวลมหาชน. ในยุค Muromachi (?1337-1573) พิธีชงชาทำกันในราชสำนักในหมู่ชาววัง, ชนชั้นสูงและซามูไร. พวกเขาใช้ถ้วยชาเครื่องลายครามราคาแพง(จากจีน)และเชิญแขกในชนชั้นเดียวกันมาเป็นจำนวนมาก. พวกเขาจัดงานเลี้ยงน้ำชาในหมู่เพื่อนๆ ให้ทุกคนดื่มน้ำชา ทดสอบว่ารู้จักแยกแยะน้ำชาไหมว่าถ้วยไหนเป็นชาจริง (Honcha) ถ้วยไหนเป็นชาผสมอื่นๆ. เกิดการพนันขันแข่ง มีรางวัลเป็นของมีค่าสูงให้ผู้ชนะ. เช่นนี้จากการดื่มน้ำชาในถ้วยคนละถ้วย ไปสู่การดื่มชาสิบถ้วย ยี่สิบถ้วยจนอาจถึงร้อยถ้วย คนอยากร่วมมากขึ้นๆในที่สุดใช้ถ้วยชาขนาดใหญ่ ดื่มกันคนละอึกแล้วส่งต่อไปยังคนอื่นๆ เพราะไม่มีใครมีถ้วยชาเป็นจำนวนมากถึงเพียงนั้น.
      ความสนุกในยุคนั้นยังทิ้งร่องรอยมาในปัจจุบัน ในพิธีดื่มน้ำชาจากถ้วยชาถ้วยมหึมาถ้วยเดียวกัน (มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 30 เซนติเมตรและหนัก 5 กิโลกรัม) ดื่มแล้วส่งต่อไปให้ผู้มาร่วมพิธีชาพิเศษนี้ทุกคน. ในจังหวัดนาราที่วัด Saidaiji ยังมีพิธีนี้อยู่เรียกว่า O-Chamori [โอ ฉ้ะโมหรี] (Grand Tea Ceremony)  ปัจจุบันดูเหมือนจัดปีละสองครั้งต้นปีในฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ หรือฤดูใบไม้ผลิกับฤดูใบไม้ร่วง.   เดี๋ยวนี้ทางวัดจัดพิธีชาในถ้วยยักษ์นี้ให้ได้เป็นการส่วนตัว หากมีกลุ่มคนถึง 30 คน. เล่ากันใหม่ในยุคใหม่ว่า ขณะที่พระสงฆ์เตรียมบดผงชาในถ้วยขนาดใหญ่ เพื่อทำน้ำชาสักการะแก่ทวยเทพของวัด หิมะโปรยปรายลงมา ต่างตะลึงตรึงใจในความงาม เมื่อเสร็จพิธีจึงให้ผู้ไปร่วมพิธีได้ดื่มร่วมกันเป็นสิริมงคล. (ในหมู่ซามูไรการดื่มเหล้าสาเกจากถ้วยใบเดียวกัน ยืนยันความผูกพันเป็นหนึ่งเดียว กระชับความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อกัน).
ในสมัยหนึ่งเมื่อมีการร่วมดื่มชาพร้อมกันเป็นกลุ่ม ถ้วยชาใหญ่ดังในภาพนี้ สตรีคนกลางหน้าก้มลงดูชาในมือที่เธอยกขึ้น(จะดื่ม)ด้วยสองมือ  ถ้วยชาขนาดชามก๋ยวเตี๋ยว(อูดง)) บนพื้นตรงหน้ามีจานขนมหวาน ชาถ้วยเดียวกันและจานขนมจะส่งต่อไปให้คนอื่นๆ เพราะฉะนั้นไม่มีถ้วยชาส่วนตัวสำหรับทุกคน จึงต้องมีผ้าป่านขาวบางที่ผู้ชงชาคอยเช็ดปากถ้วยชาให้. สมัยนี้มีถ้วยให้คนละถ้วย(เป็นถ้วยเล็กๆ) ขนมก็คนละจาน เพราะทุกอย่างผลิตเป็นอุตสาหกรรม ให้สังเกตเวิ้งด้านหลัง มีภาพวาดม้วนห้อยลงจากผนัง ด้านขวามีหิ้งวาง มีแจกันดอกไม้ เครื่องปั้นดินเผานิดหน่อยวางเป็นระเบียบ ตรงพื้นดูเหมือนว่าเป็นต้นบ็องไซขนาดจิ๋ว  ภาชนะใหญ่ลักษณะหม้อ ถ้วยและกระปุกที่อยู่ตรงหน้าสตรีที่นั่งริมขวาสุด คือหม้อน้ำเดือดและกระปุกบรรจุผงชาเขียว ถ้วยคนและแปรงไม้ไผ่สำหรับกวนและคนชาเขียว ปล้องไม้ไผ่ที่ทำหน้าที่ของทัพพีด้ามยาวสำหรับตักน้ำเดือดเป็นต้น
  พิธีดื่มชาจากถ้วยยักษ์ที่วัด Saidaiji จังหวัดนารา ยุคปัจจุบัน
น้ำหนัก 5 กิโลกรัมนั้น ผู้หญิงยกขึ้นซดไม่ไหว คนนั่งข้างๆต้องช่วย
สถาปัตยกรรมญี่ปุ่นก็วิวัฒน์พัฒนาตามกาลเวลา จากพระราชวังขนาดใหญ่ในยุค Heian เป็นแบบเรียบง่ายลงไปสำหรับที่อยู่ของเหล่าซามูไร ต่อมาก็นำบางส่วนจากสถาปัตยกรรมวัดเข้ามาปนในสถาปัตยกรรมวิลลาและคฤหาสน์แบบญี่ปุ่น เรียกว่าแบบ Shoin หรือ Shoin-zukuri 書院 เป็นแบบสถาปัตยกรรมของห้องโถงใหญ่ที่รับรองผู้คนที่ไปวัด, เป็นแบบที่อยู่ของเจ้าอาวาสในลัทธิเซน และตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมาเป็นสถาปัตยกรรมแบบฉบับตามประเพณีญี่ปุ่นมาจนถึงปัจจุบัน. คำ shoin อักษรตัวแรกแปลว่า หนังสือ ตัวที่สองแปลว่า สำนักหรือคอร์ด รวมกันหมายถึงสถานที่สำหรับอ่านหนังสือธรรมะหรือพระสูตร อยู่ภายในวัด ต่อมามีความหมายกว้างออกไปและไม่จำเป็นต้องอยู่ภายในบริเวณวัด เป็นห้องทำงาน ห้องอ่านหนังสือส่วนตัว. สำคัญคือเป็นห้องที่พื้นปูด้วยเสื่อตะต๊ามิทั้งหมด ทุกคนนั่งบนพื้น เครื่องเรือนที่ใช้ก็เข้ากับสภาพของคนที่นั่งบนพื้น ในระดับสายตาของคนที่นั่งบนพื้น. ห้องโถง shoin ในวิลลาของชุนนางชั้นผู้ใหญ่และของชนชั้นซามูไ และของเจ้าอาวาส ใช้เป็นที่รับรองแขก และเป็นที่ประกอบพิธีชงชา. พวกขุนนางและซามูไร ให้ความสนใจในการตกแต่งประดับพื้นที่ในห้องนี้และโดยเฉพาะในเวิ้ง Tokonoma และสิ่งของที่นำประดับบนหิ้งที่อยู่ข้างๆเวิ้ง ประตูที่เลื่อนปิดเปิดตู้เก็บอุปกรณ์เครื่องใช้ สำหรับพิธีชงชา โต๊ะเล็กๆ ทุกอย่างในห้อง shoin ต้องจัดวางอย่างเหมาะสม ไม่มีอะไรเกะกะสายตา ทุกอย่างในห้องเสริมความงามเรียบร้อยและสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ผู้เข้าไปในห้องนั้นจิตสงบลงไปเรื่อยๆตามลำดับและติดตามขั้นตอนของการเตรียมชาจนถึงการดื่มชาด้วยความสงบ. ตามวิลลาใหญ่ๆทั่วไปในญี่ปุ่น ยังอนุรักษ์สถาปัตยกรรมแบบประเพณีของญี่ปุ่นไว้ มักเปิดห้อง Shoin ให้เห็นทุกๆด้าน
ห้องโถงใหญ่ที่ Tenryuji 天龍  เป็นหนึ่งในวัดเซนสาขา Rinzai ที่สำคัญที่สุดของกรุงเกียวโต สถาปนาขึ้นในปี 1345 ได้ขึ้นเป็นมรดกโลกของยูเนสโกปี 1994. อาคารทั้งหลายที่นั่นบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในศตวรรษที่ 19. ภาพนี้รวมพื้นที่ตรงเวิ้ง Tokonoma ของห้องสองห้อง. สมัยก่อนเมื่ออาคารนั้นเป็นที่อยู่อาศัย มีประตูเลื่อนปิดเหมือนผนังกั้นตลอดความยาว ใต้ภาพอักษรวิจิตรบนผนังตอนบนด้านขวา ประตูบานเลื่อนจึงปิดแบ่งห้องรับรองออกเป็นสองห้องใหญ่.
   เมื่อนั่งมองจากห้องโถงใหญ่ในอาคารหลังใหญ่ที่สุด (大方丈 ōhōjō) ของ Tenryuji ดังในภาพบน เบื้องหน้าคือทัศนียภาพที่สวยงามของสวน ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของสถาปัตยกรรมประเพณีของญี่ปุ่น.
ห้องโถงใหญ่ที่เป็นห้องรับรอง (shoin) ภาพเก่านี้ระบุไว้ว่าเป็น Residence of Soichiro Asano
ห้องประกอบพิธีชงชา ระเบียบในการจัดวางนั้นมีหลักเฉพาะเจาะจงที่ยึดถือปฏิบัติกันมา. ปกติจะเป็นขนาดเสื่อสี่ผืนครึ่ง. หมายเลข 1 เป็นประตูเข้าออกแบบเลื่อนไปมา (茶道口), หมายเลข 2 เป็นเสาหลักของห้องจากเพดานจรดพื้น อีกเสาหนึ่งหนึ่งที่อยู่ติดมุมห้องด้านขวาในภาพเป็นเสาผู้ช่วย  เสาหลักนั้นสำคัญมาก เลือกใช้ไม้คุณภาพดีที่สุดในขณะเดียวกันก็ต้องให้ดูงามเรียบตามธรรมชาติเนื้อไม้ ทีได้ขัดเกลาให้ลื่นมือ (เรียกเสานี้ว่า Tokobashira 床柱), หมายเลข 3 เป็นไม้คานณตำแหน่งที่เห็นในภาพ เหมือนเป็นกรอบเน้นพื้นที่เวิ้ง Tokonoma มักเลือกใช้ไม้จากต้น red cedar, redwood, หรือต้น Paulownia (เรียกไม้คานส่วนนี้ว่า Otoshigake 落としがけ), หมายเลข 4 จิตรกรรมม้วน (Kakejiku 掛軸) ที่ห้อยลงจากผนังภายในเวิ้ง Tokomoma อาจเป็นภูมิประเทศ ดอกไม้ นกหรือภาพฤดูกาล, ยังอาจเป็นภาพอักษรลายมือสวยงาม ที่เป็นคำคม แง่คิด คำสอนหรือบทกวี ที่พระสงฆ์เป้นผู้เขียนด้วยลายมือเป็นหมึกดำ. กรอบของภาพที่ยาวตั้งแต่ตอนบนถึงปลายล่าง เป็นผ้าไหมทอลวดลายในตัว บนพื้นภายในเวิ้งอาจมีต้นบ็องไซหรือแจกันดอกไม้, หมายเลข 5 เป็นไม้ส่วนล่างของเวิ้งที่ยกเวิ้งขึ้นสูงจากพื้นไม่เกินสิบเซนติเมตร เป็นกรอบล่างของเวิ้ง Tokonoma, หมายเลข 6 บนพื้นที่เสื่อตะต๊ามิใกล้ที่วางอุปกรณ์เครื่องใช้สำหรับเตรียมชา เป็นที่นั่งของเจ้าบ้าน(teishu 亭主) (เรียกตำแหน่งที่นั่งนั้นว่า Temaeza) เจ้าบ้านเป็นผู้ทำหน้าที่จุดถ่านไฟ เตรียมชาและเสริฟชาด้วย แขกผู้ไปเยือนนั้นนั่งบนตะต๊ามิผืนอื่นๆตรงหน้าเจ้าบ้าน แขกผู้มีเกียรติสูงสุด เจ้าบ้านจะให้นั่งใกล้เวิ้ง Tokonoma ที่สุด ถือว่าเป็นตำแหน่งเกียรติยศ.
        ประเพณีชงชาและวิถีชาในห้องโถงใหญ่ shoin ตามวิลลาของชนชั้นสูงและผู้ร่ำรวยนั้น ไม่มีหรือสิ้นสุดลงแล้วในปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อลัทธิเซนแทรกซึมเข้าในจิตสำนึกของชาวญี่ปุ่นทุกชนชั้นมากขึ้นๆ. ทุกคนอยากมีโอกาสเข้าร่วมพิธีชงชาและดื่มชา. พีธีชาจึงย้ายไปในห้องขนาดเล็กลงมาก, ใหญ่เพียงพอสำหรับสี่ห้าคนเข้าไปนั่งพร้อมกันเท่านั้น เกิดสถาปัตยกรรมของเรือนน้ำชา (ที่แปลตามตัวว่า ห้องน้ำชาหรือ tea room) ที่แยกออกไปจากอาคารที่พักหรือเรือนใหญ่. อาคารชามักอยู่ที่ปลายสวนหรือบนเนินสูง ต้องเดินลัดเลาะไปในสุมทุมพุ่มไม้ อาจต้องเดินไปบนหินที่วางเป็นทางเดินไปจนถึงที่ตั้ง.  เจ้าของวิลลาที่มีสวนขนาดใหญ่ ใช้เรือนน้ำชาเป็นที่พักผ่อน คลายเครียดจากภารกิจและปัญหาสังคม. เขาจะเดินไปในสวนและไปหยุดพักที่เรือนน้ำชา ดื่มน้ำชา ปล่อยความคิดคำนึงไปในธรรมชาติ แทนการครุ่นคิดเรื่องหน้าที่หรือความรับผิดชอบที่รัดตัวเขาอยู่เป็นต้น.
เชิญชมภาพตัวอย่างเรือนน้ำชาหรืออาคารชาข้างล่างนี้ ลักษณะอาคารมองจากภายนอกนั้นดูเรียบง่ายมาก เหมือนกระต๊อบชาวนาที่ดูสะอาดเรียบร้อย สื่อความสมถะของผู้เป็นเจ้าของ.
ให้สังเกตการเส้นทางเดินที่เป็นกรวดหินก้อนเล็กๆ และเมื่อเข้าใกล้เรือนก็ใช้ก้อนหินขนาดใหญ่หลายแบบหลายขนาด จัดวางไว้เป็นองค์ประกอบของผังสวน และเป็นทางก้าวเดินหรือก้าวขึ้นด้วย. อาคารชาเป็นเรือนค่อนข้างเตี้ย ต้องก้มหัวลงเพื่อเปิดประตูเลื่อนผ่านเข้าไปในห้อง แล้วก็ต้องนั่งคุกเข่าลงบนพื้นทันที. ความสูงของประตู เพดานและสัดส่วนทั้งหลายอยู่ในขนาดเล็ก (คนเตี้ยก็ยังต้องก้มหัวลง) นี่เป็นประเด็นที่มีนัยสำคัญมากในปรัชญาเซนและในวิถีชา(อ่านในเรื่องต่อไปข้างล่างนี้) แบบดั้งเดิมใช้ฟางข้าวมุงซ้อนกันหนาเป็นหลังคาเรือน. วัสดุที่ใช้นำมาจากธรรมชาติทั้งสิ้น และพยายามรักษาความเป็นธรรมชาติของวัสดุไว้ครบ. ดังภาพตัวอย่างเรือนน้ำชาในบริเวณวัด Kodaiji 高台 กรุงเกียวโต.
เรือนน้ำชาที่วัด Kodaiji ภาพจากเน็ต muza.chan.net
ช่องเปิดตรงดอกจันนั้นคือทางเข้า (เรียกทางเข้าแบบนี้ว่า Nijiriguchi )
คนเข้าออกต้องก้มตัวลงมาก(ถึงเก้าสิบองศา สำหรับคนสูงๆ)
 เรือนน้ำชาภายในบริเวณสวน Kenrokuen 兼六園, เมือง Kanazawa 金沢
สังเกตเส้นทางเดินไปมาบนหินจนถึงหน้าประตู ที่นี่ประตูบานสูงแบบเลื่อนเปิดปิด
ภาพวาด (แบบ ukiyoe) เห็นว่าประตูเข้าออกเตี้ยๆขนาดสี่เหลี่ยมจัตุรัส (Nijiriguchi ). สตรีอีกคนกำลังรองน้ำจากอ่างน้ำพุเพื่อนำไปใช้เป็นน้ำในการชงชา มีท่อต่อจากตาน้ำใต้ดินที่มีในบริเวณพื้นที่ของวิลลา มาถึงหน้าเรือนน้ำชา หินบนพื้นเป็นเส้นทางเดินที่ขึ้นไปบนเรือน เป็นเหตุหนึ่งที่ญี่ปุ่นสวมเกี๊ยะสูง เพราะพื้นอาจเฉอะแฉะ  แต่เมื่อพื้นไม่แฉะ เขาก็คุกเข่าลงบนหินก้อนที่อยู่ตรงหน้าอ่างน้ำหิน. พื้นที่ทั้งหมดรอบๆเรือนน้ำชา ปกติสะอาดไม่มีที่ติ (เดินสวนญี่ปุ่นทั้งวัน รองเท้าไม่สกปรก เคยได้ยินหนุ่มอเมริกันใน NHK ทีวี ที่บอกว่า เขาแทบจะเลียพื้นได้เลย!) 
เรือนน้ำชาที่สร้างตามสถาปัตยกรรมประเพณีญี่ปุ่น
ให้เป็นตัวอย่างในนิทรรศการพืชสวนของอังกฤษ Chelsea Flower Show, June 2013.
       การสร้างเรือนน้ำชาขึ้นเพื่อพิธีชงชาอย่างเฉพาะเจาะจง เริ่มจากพระเซนรูปหนึ่งชื่อ Murata Shukou 村田珠光 [มูราต้า จึ๊กโก](1423–1502). นับถือกันว่าเป็นผู้สถาปนาประเพณีชงชาหรือวิถีแห่งชา. เขาเป็นผู้วางหลักการ กิริยาท่าทางตามขั้นตอนของการเตรียมชาจนถึงการเสริฟชา, และปลูกฝังจิตสำนึกของประเพณีชงชา. เขาศึกษาพุทธศาสนาและฝึกสมาธิตามลัทธิเซนอย่างไม่ลดละ ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีความเข้าใจรู้แจ้งเกี่ยวกับเซน. เขาใช้ชีวิตวันๆอยู่ในห้องน้ำชาในจังหวัดนารา ศึกษาและกำหนดหลักการของพิธีชงชาให้สมบูรณ์. เป็นผู้เริ่มธรรมเนียมว่า เขาเองเป็นผู้เสริฟชาแก่แขกผู้มาเยือน เขาชอบความกันเอง บรรยากาศส่วนตัวในห้องเล็กๆที่ใหญ่พอสำหรับสี่ห้าคน. พื้นห้องปูด้วยเสื่อตะต๊ามิ ขนาดสี่ผืนครึ่งที่เขาเป็นผู้กำหนดเพื่อให้ได้ห้องเล็กที่มีบรรยากาศอันสงบ จิตใจเปิดกว้างเข้าถึงความหมายลึกล้ำของวิถีแห่งชาตามหลักปรัชญาเซนที่เขาได้เรียนรู้จากวัด Daikokuji 大国寺  ที่จังหวัดเกียวโต. เขายังสอนให้ผู้สนใจ เรียนรู้ศิลปะอื่นๆที่โยงเกี่ยวไปถึงวิถีชาอีกด้วย.
        บุคคลสำคัญอีกผู้หนึ่งที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อวัฒนธรรมชาและอุดมการณ์สุนทรีย์ตามหลักปรัชญาเซนในญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 16 คือ Sen no Rikyū 千利休 [เซ็ง โน หริกิว] (1522-1591). คนเรียกเขาสั้นๆว่า Rikyū. เขาไปเรียนและเข้าฝึกกระบวนการวิถีชาตั้งแต่วัยเยาว์กับครูชาคนสำคัญๆของยุคนั้น (เช่น tea master Takeno Jo-o) และเข้าถึงจิตวิญญาณของวิถีชาอย่างแท้จริง. ได้เรียนและรับใช้ครูคนสำคัญๆของยุค ได้เห็นวิถีการดำเนินชีวิตของพระสงฆ์และปราชญ์คนสำคัญๆผู้ใช้ชีวิตวันๆอ่านหนังสือ, แต่งบทกวี, คราดกรวดหรือทรายบนพื้นตามรูปลักษณ์ที่กำหนดไว้ ที่เป็นแบบสวนทรายสวนหินให้ดูคงที่สม่ำเสมอ, ฝึกเขียนลายมือแบบอักษรวิจิตร, ฝึกร้องเพลงสวด, เดินทางจาริกแสวงบุญ, บ้างยังฝึกยิงธนู. ในขณะเดียวกันพระเณรในศาสนาก็ร่วมในกิจการงานที่จำเป็นสำหรับหมู่คณะที่เขาอาศัยอยู่ ปลูกผัก ทำสวน ดูแลสถานที่ให้สะอาดเรียบร้อยอยู่เสมอ. ช่วงหนึ่งในชีวิตเขาได้สละทุกอย่างและออกเดินทางไปในชนบทตามต่างจังหวัด แทบจะไม่มีอะไรติดตัวไปด้วยเลย มุ่งการสั่งสมประสบการณ์ ฝึกสมาธิเพื่อให้เกิดความเข้าใจในตัวตนของตนและรู้แจ้งในสัจธรรมชีวิต.
      เขาคำนึงถึงสภาพของสังคม พธีชงชาในยุคนั้นที่กลายเป็นการแข่งบุญแข่งวาสนา เป็นการแสดงความฟุ้งเฟ้อที่เขาไม่เห็นด้วย. ครูชาชองเขา (Takeno Jo-o)และตัวเขาพยายามแทรกอุดมการณ์ใหม่ของ wabi- sabi (ดูหัวข้อ 4 ข้างล่างนี้) ที่เน้นความเรียบง่าย ความเป็นธรรมชาติ ความงามที่ขัดเกลาจิตใจให้สงบ แทนการกระตุ้นความอยากหรือกิเลส. Rikyū ได้พลิกกระแสสังคมยุคนั้น หันไปเน้นความเรียบง่ายของพิธี ลดขั้นตอนพิธีกรรมลงไปเพื่อให้ผู้คนผ่อนคลายจนสบายอกสบายใจ ใช้อุปกรณ์แบบธรรมดาสามัญที่ผลิตจากมือนายช่าง เน้นความสงบของบรรยากาศแทนความโอ่อ่าเฉิดฉาย. โยงไปอิงลัทธิเซนที่เน้นความไม่ยั่งยืนของสรรพสิ่ง ความเป็นคนที่อาจทำอะไรผิดพลาดได้ จึงไม่ยึดติดกับความสมบูรณ์ของรูปลักษณ์ที่ได้สัดส่วนไม่ผิดเพี้ยนหรือความสวยที่ไร้ที่ติ. เขาเรียกวิถีชาแนวของเขาว่า wabi-cha . วิถีวาบิ๊ชาเป็นที่นิยมกันทันทีและเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ในหมู่ชาวญี่ปุ่นผู้ดีเก่าหรือพวกอนุรักษ์นิยม. (ถึงกระนั้น ปรัชญาเซนและอุดมการณ์ wabi-sabi ก็ยังมิได้ฝังรากลงลึกในหมู่ชาวญี่ปุ่น ผู้ชื่นชอบและหลงใหลสิ่งสวยงามหรูหราสไตล์ตะวันตก. กระแสคลั่งแบรนด์เนมยิ่งเข้มข้นในหมู่หนุ่มสาว อาจเป็นเพราะพวกเขาไม่ดื่มน้ำชากันแล้ว หันไปดื่มกาแฟในเครื่องถ้วยชามเนื้อละเอียดหรูอย่างมีระดับ หรือซื้อน้ำขาดื่มจากขวดปลาสติกที่กลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นและส่งออกไปทั่วโลก สนองชีวิตสะดวกซื้อสะดวกกินของคนยุคใหม่)
      วิถีชาที่ Rikyū เริ่มขึ้น ส่งผลต่อรูปแบบการสร้างเรือนน้ำชาภายในสวน. เขาวางกฎใหม่สำหรับเรือนน้ำชา ลดขนาดลงเหลือสองตารางเมตร ให้อยู่ลึกๆเข้าไปในมุมสงบของสวน ให้ประตูขึ้นเรือนน้ำชาเล็กและเตี้ยกว่าปกติ เพื่อบังคับให้คนที่จะเข้าไปต้องก้มหัวลง พับ ego และลบความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางสังคมให้หมด ทรุดตัวลงนั่งในระดับเดียวกับคนอื่นๆ  พูดคุยกับคนอื่นๆได้อย่างกันเองไม่มีพิธีรีตอง. อุดมการณ์ของเขารวมไปถึงเครื่องใช้ในพิธีชาด้วย ไม่ต้องการให้ใช้ถ้วยชาหรือหม้อชาราคาแพง ให้เห็นค่าของช้อนตักผงชาที่เป็นไม้ไผ่ที่เขาใช้มานาน เขาบอกว่ายิ่งเป็นของเก่าแก่ ยิ่งงามเวลา งามความรู้สึกที่ได้ใช้ช้อนนั้นมาเป็นเวลานาน คุ้นมือเหมือนคุ้นเคยเพื่อนผู้สงบเงียบคนหนึ่ง. Rikyū ตั้งใจกั้นพรมแดนระหว่างโลกของการดื่มชาออกจากโลกสังคมภายนอก. สวนกลายเป็นส่วนสำคัญยิ่งส่วนหนึ่งของวิถีชา แบบสวนต้องเป็นแบบธรรมชาติมากที่สุด. เส้นทางเดินที่ทอดไปยังเรือนน้ำชาก็จะลดเลี้ยว เดินไปบนทางปูทรายหรือกรวดขนาดเล็กๆ บนหินที่บังคับให้มองไปที่หินทีละก้าวเพราะมิได้เรียงติดกันไปและหินก็ขนาดต่างๆกันด้วย. เขาเชื่อว่านี่เป็นส่วนหนึ่งที่เตรียมใจคนให้พร้อมเพื่อเข้าสู่โลกธรรมชาติ และในที่สุดเพื่อให้จิตวิญญาณหลอมตัวกลมกลืนไปกับธรรมชาติของสวน ได้กลิ่นไม้ กลิ่นหญ้ามอสและต่อไปถึงกลิ่นใบชา ให้รู้สึกสายลม ให้ได้ยินเสียงนก แทรกตัวเป็นหนึ่งเดียวกับโลกธรรมชาติ. เมื่อจบการดื่มชา ต่างแยกย้ายกันไป ผู้เข้าร่วมควรจะรู้สึกสงบภายในใจของเขา. วิธีการดื่มชาจึงเป็นสิ่งปลอบประโลม ชะโลมใจและบรรเทาความคิดหมกมุ่นทั้งหลายให้คลายลง ทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น สุขภาพกายก็ดีขึ้นตามลำดับด้วย. เพราะฉะนั้นวิถีชาตามหลักการของ Rikyū จึงเป็นปรัชญาเพื่อความสงบทางใจ.
     วิถี wabi-cha นั้น Rikyū ยังแนะให้ยึดคติที่ว่า โอกาสที่จะพบกันอาจเป็นโอกาสเดียว ตามหลักพุทธศาสนาคือไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต มีแต่ปัจจุบัน นาทีปัจจุบัน หรือที่เราพูดกันสั้นๆว่า ที่นี่และเดี๋ยวนี้ สำคัญที่สุด. เพราะฉะนั้นเมื่อมีโอกาสจะดื่มชากับใคร ก็จงฉวยโอกาสนั้น อย่ารีรอ (ในภาษาญี่ปุ่นคือสำนวน ich-go-ich-e 一期一会 [อิจิ๊โก อิจี๊เอะ]) เพราะฉะนั้น เมื่อเขาเชิญใครไปดื่มน้ำชา เขาเตรียมทุกอย่างและปฏิบัติตามขั้นตอน เตรียมขนมหวานที่ผู้รับเชิญชอบกิน เขาทำด้วยความสุขความจริงใจเพื่อให้เกียรติผู้ที่เขาเชิญมา และทำให้การเตรียมการดื่มชาแต่ละครั้งเป็นความสุขความพอใจสูงสุด เหมือนที่พูดกันมาในทุกชาติทุกภาษาว่า ใช้ชีวิตให้เต็มที่เหมือนวันนี้เป็นวันสุดท้าย แต่พึงระวังว่า เต็มที่นั้นมิใช่ในทางที่ทำให้จิตเสื่อมลง แต่ในทางที่ยกระดับจิตวิญญาณในสูงขึ้น สอดคล้องกับอุดมการณ์ที่ว่า ชีวิตที่ดีควรมีความสมดุลไม่มากไม่น้อย ไม่ตึงไม่หย่อน ( wa [วะ] ), มีจิตที่นอบน้อมถ่อมตน เคารพซึ่งกันและกัน ( kei [เกอิ]), มีจิตที่แจ่มกระจ่าง บริสุทธิ์โปร่งใส ( sei [เซอิ]) และมีจิตที่สงบ ( jaku [จิยักกึ]). อุดมการณ์นี้ควรสะท้อนให้เห็นให้รู้สึกได้ในวิถีชา ในการจัดสวน จนถึงในงานสร้างสรรค์ทุกชนิด. 
      ประสบการณ์ส่วนตัวทำให้เข้าใจว่า ความช้าในพิธีชาทีละขั้นตอน ตั้งแต่การคอยให้น้ำเดือด ไปจนถึงทำชาเสร็จพร้อมดื่ม พิสูจน์ความอดทนและสอนให้อดทน จนในที่สุดไม่รู้สึกว่าต้องทน เพราะเมื่อจิตผ่อนคลาย ก็รู้สึกดี สบายตัวสบายใจในห้องที่เกือบว่างเปล่า เท่ากับไม่มีน้ำหนักอะไรกดทับ. (อยากจะนอนตรงนั้นสักงีบเลย)
       เกร็ดย่อยที่น่าคิดคือ Rikyū ได้เป็นครูชา (tea master) ของเจ้าผู้ครองในยุคนั้น คนสุดท้ายคือ Toyotomi Hideyoshi 豊臣秀吉 (?1536-1598) รัฐบุรุษคนสำคัญยิ่งคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น. Rikyū พยายามหลีกเลี่ยงการเข้าไปยุ่งกับการเมืองหรือนโยบายใดๆ ซึ่งคงไม่ง่ายนัก สร้างความอึดอัดใจกันในราชสำนัก. อุดมการณ์ของ Rikyū ที่เน้นความเรียบง่าย ความสมถะ สวนกระแสแนวโน้มของสังคมยุคนั้น และซ้ำร้ายไม่เป็นที่สบอารมณ์ของ Hideyoshi ผู้เป็นเสมือนเพื่อนสนิทของเขาด้วย บวกปัญหาอื่นๆอีกมากที่ไม่มีใครรู้สาเหตุชัดเจน ทำให้ Rikyū ตัดสินใจทำ Hara-kiri (ฆ่าตัวตายด้วยการใช้มีดคว้านท้องของตัวเอง ตามวิถีของซามูไร) หลังจากประกอบพิธีชาครั้งสุดท้าย.
       Rikyū ยังเป็นผู้วางรากฐานโรงเรียนสอนวิถีชาที่สำคัญที่สุดของญี่ปุ่นสามแห่ง (ที่มีชื่อดังนี้ Urasenke, Omotesenke, Mushanokōjisenke ดูรายละเอียดต่อได้ที่ http://japanese-tea-ceremony.net/schools.html

ดูรายละเอียดอื่นๆเกี่ยวกับ Sen no Rikyū ได้ในเน็ตเช่นจากเพจสองแห่งนี้ >>    

ห้องน้ำชาแบบเรียบๆที่ Rikyū เป็นผู้ออกแบบ มีชื่อว่า Tai-an (待庵), ที่วัด Myokian 妙喜 กรุงเกียวโต เป็นวัดเซนคติ Rinzai (臨済宗) ที่สถาปนาขึ้นในยุค Muromachi (1337-1573) เรือนน้ำชานี้เป็นเรือนที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งสามเรือนน้ำชาที่ขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติของชาติ. พื้นที่ภายในเพียงสองตารางเมตร. หมายเลข 1 บอกพื้นที่เวิ่ง Tokonoma มีภาพม้วนแขวนห้อยลงบนผนัง เป็นอักษรลายมือเขียนด้วยหมึกดำ. หมายเลข 2 เป็นหลุมลงใช้เป็นที่ต้มน้ำ. หมายเลข 3 เครื่องใช้สามชิ้นที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมและการชงชา ทั้งหมดทรงกระบอกกลมขนาดต่างๆ กระปุกเล็กที่สุดใส่ผงชาเขียว บนฝาปิดของกระปุกกลางมีไม้ไผ่ที่ปลายเจียนให้ตักผงชาได้. อุปกรณ์อื่นๆมิได้เอาเข้าไปตั้งโชว์ด้วย ยังมีอีกหลายชิ้น. เมื่อมีพิธีชงชา เจ้าบ้านผู้ประกอบพิธีเป็นผู้นำอุปกรณ์ข้าไปวางในตำแหน่งที่เหมาะสมกับที่เขาจะนั่งเตรียมตั้งแต่จุดไฟถ่าน ต้มน้ำร้อนจนถึงเสริฟชา. เขาจะเชิญชวนให้กินขนมหวานก่อน. เมื่อมีรสหวานๆในปากแล้ว จึงดื่มชาเขียวที่เจ้าบ้านจะเสริฟให้ รสหวานๆของขนมที่กินไปแล้ว ลดความขมของน้ำชาเขียวล้วนๆ.(ดูรายละเอียดต่อไปได้ที่นี่.)  
      พื้นที่เวิ้ง Tokonoma ในห้องน้ำชาดังอธิบายมา ไม่ว่าจะเป็นห้องโถงใหญ่ shoin ในวังหรือวิลลาสมัยก่อนหรือในเรือนน้ำชาขนาดเล็ก เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของห้องทั้งห้อง เป็นพื้นที่(เกือบพูดได้ว่า)ศักดิ์สิทธิ์. จึงเป็นที่ตั้งของต้นบ็องไซที่เจ้าบ้านเลี้ยงดูฟูมฟัก และหากมีต้นบ็องไซตั้งเด่นในเวิ้ง องค์ประกอบอื่นๆกลายเป็นสิ่งที่เข้าไปเสริมต้นบ็องไซและต้องไม่เด่นเกินหน้าต้นบ็องไซ. ข้าพเจ้าคิดสรุปว่า เพราะต้นบ็องไซคือเลือดเนื้อและวิญญาณของเจ้าบ้านผู้เลี้ยงดูมันมา. หากยึดหลักปรัชญาเซน ต้นบ็องไซเป็น Microcosm ที่โอบอุ้ม Macrocosm อยู่ในตัวมัน. ต้นไม้เพียงต้นเดียวสื่อธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ในจักรวาลได้ มันจึงมีศักดิ์ศรีเหนือองค์ประกอบอื่น เหนือกว่าภาพวาดที่แขวนอยู่ เหนือกว่าหินประดับ (suiseki) ที่อาจนำเข้าไปตั้งเป็นเพื่อน แม้ว่าหินจะเป็นธรรมชาติส่วนหนึ่ง แต่เป็นส่วนเดียว เป็นส่วนที่วิวัฒนาการแล้วและหยุดอยู่กับที่ ในขณะที่ต้นบ็องไซยังจะมีชีวิตและวิวัฒน์พัฒนาต่อไปอีก ต้นบ็องไซจึงสำคัญที่สุดในแง่นี้.         
      ตามประเพณีโบราณมาของญี่ปุ่น ตั้งแต่เจ้านาย พระสงฆ์ ขุนนาง ซามูไร ต่างถือเป็นมารยาทผู้ดีที่จะจัดห้องต้อนรับผู้ไปเยือนอย่างสมเกียรติ. เชิญไปในห้องที่มีบรรยากาศสงบผ่อนคลาย ช่วยให้จิตใจผ่องใส ละความหมกมุ่นในชีวิตประจำวันลงไปได้ในขณะที่อยู่ในพิธีชงชาและดื่มชา สำนึกเกี่ยวกับปัญหา ความขัดแย้งหรือหน้ากากสังคม หยุดลงในชั่วขณะนั้น ดีงจิตวิญญาณสู่สัจธรรมของชีวิตในความเรียบง่ายเมื่อสมบัติใดไม่มีค่าเท่าความสงบในใจคน.
      ทำไมต้องเป็นชาหรือ คนจีนปลูกชาและค้นพบสรรพคุณชองชามาก่อนผู้อื่นใด ตั้งแต่ยุคโบราณมาชาเป็นยาที่ดีที่สุดสำหรับบรรเทาอาการโรคภัยต่างๆโดยไม่มีผลข้างเคียงใดๆเมื่อเทียบกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ หรือเมื่อเทียบกับกาแฟเป็นต้น. ประเทศในยุโรปเช่นอังกฤษ ฝรั่งเศส ได้ศึกษาวิเคราะห์วิจัยชาอย่างต่อเนื่องตามแนววิทยาศาสตร์ และยืนยันสรรพคุณที่เหนือกว่าของชาเสมอมา. ในศตวรรษที่ 19 หรือมิใช่ ที่อังกฤษพบวิธีการขนย้ายพืชพรรณจากมุมหนึ่งของโลกไปสู่อีกมุมหนึ่ง ด้วยการใช้ตู้กระจกWardian case และที่ Robert Fortune (1812-1880 นักพฤกษศาสตร์ ที่เป็นนักเดินทางและพรานล่าพืชพรรณชาวสก็อต) ใช้ตู้แบบนี้ ขนส่งต้นชาสองหมื่นต้นจากเมืองเซี่ยงไฮ้ ไปยังแคว้นอัสสัมในอินเดีย  สถาปนาอุตสาหกรรมผลิตใบชาในอินเดีย. ทุกวันนี้ อินเดียกลายเป็นผู้ผลิตใบชาคุณภาพดีที่สุดในโลกหลายชนิด.
        มองอย่างซื่อๆง่ายๆ การดื่มชาคือการดื่มธรรมชาติ เสพรสดิน สูดกลิ่นหอมของใบที่มาจากการหลอมตัวกับพลังงานแสงแดด มาผสมกับน้ำใสบริสุทธิ์(ที่ไหลมาจากตาน้ำใต้ดิน). น้ำชาเกิดจากการรวมตัวของดิน น้ำ ลม ไฟ, รวม ของดี ที่ชีวิตต้องการ ไม่มีสารอื่นใดเจือปนเลย. วิทยาศาสตร์พืชพรรณและวิทยาการด้านโภชนาการ ยืนยันเสมอมาว่าชาไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ผู้ใด. ดื่มได้ทุกเวลา ทุกเพศและทุกวัย.
        ข้าพเจ้าอดนึกจินตนาการต่อไปถึงวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นผู้ยังยึดติดกับจิตสำนึกงามๆสมัยก่อนโดยเฉพาะระหว่างชายหญิง สิ่งหนึ่งที่เชื่อมหัวใจคนสองคนได้ยั่งยืน คือเมื่อฝ่ายหนึ่งปรนนิบัติอีกฝ่ายหนึ่งด้วยการประกอบพิธีชงชา เรียบง่ายแต่ตั้งใจ ในสภาพแวดล้อมสงบ อากาศดี ท้องฟ้าแจ่มใส หรือแม้ในความเงียบสงัดของยามราตรี ใต้แสงดาวหรือแสงเดือน ไม่ต้องมีคำพูดใดๆเลย แต่ดวงใจสองดวงเข้าถึงกันและกันได้ จิบน้ำชาและปล่อยอารมณ์ไปกับธรรมชาติ คำสัญญาเกิดขึ้นในใจคนทั้งสอง พวกเขาจะไม่ลืมกันและหากมีต้นบ็องไซสักต้นในที่นั้น ต้นบ็องไซก็เป็นพยานความผูกพันของทั้งสอง มันพลอยปลาบปลื้มไปด้วยแน่นอน!!!       

4. Wabi-Sabi สรุปเป็นคำอธิบายสั้นๆของสำนวน wabi-sabi ได้ว่า

วาบิ๊ ความหมายดั้งเดิมแปลว่า โดดเดี่ยว อ้างว้าง น่าสังเวชฯลฯ แต่ต่อมาในศตวรรษที่ 14 ความหมายเปลี่ยนไปในแง่มุมที่ดีขึ้น กลายเป็นความโดดเดี่ยวที่แสนหวานเมื่อมีโอกาสอยู่ตามลำพังในความสงบของธรรมชาติแวดล้อม เป็นโอกาสให้สัมผัสอารมณ์สะเทือนแบบต่างๆ เป็น bitter sweet melancholy.

ซาบิ ดั้งเดิมแปลว่า ผอมแห้ง ยากไร้ แบบบ้านนอก ไม่มีระดับเป็นต้น โยงไปถึงความไม่จีรังยั่งยืนของสรรพสิ่ง ที่กาลเวลาได้ขัดเกลาหรือสัมผัสและทิ้งเป็นรอยเตือนมรณานุสติ รวมกันแล้วเป็นปรัชญาความงามและความอิ่มเอิบใจจากสภาพแวดล้อมธรรมชาติ จากสรรพสิ่งที่เรียบง่ายในวิถีชีวิตที่ไม่หรูหราฟุ้งเฟ้อ เห็นความงามในความไม่สมดุลสมบูรณ์ในข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นโดยไม่พยายามกลบเกลื่อนแต่แก้ไขให้เรียบร้อยที่สุด อะไรที่ผิดรูปไปบ้างก็ไม่ปกปิด เพราะนั่นเป็น human imperfection ให้เห็นความงามของสิ่งที่ผ่านกาลเวลามาและมีรอยนิ้วเป็นพยานของอัตลักษณ์ของคนทำ อุดมการณ์นี้จึงสอนและนำไปสู่การรู้จริงและรู้แจ้ง ที่สุดท้ายสอดคล้องกับปรัชญาเซนและปูทางไปสู่การสถาปนาขนบพิธีชงชา.

มีวีดีโอภาษาอังกฤษที่สรุปสั้นและง่ายเกี่ยวกับหลักสุนทรีย์ Wabi-sabi ผู้สนใจตามไปดูได้ที่นี่ >>

https://www.youtube.com/watch?v=QmHLYhxYVjA

                                             

5. คำจีน (ที่อ่านแบบญี่ปุ่นว่า bunjin) อักษรจีนตัวแรกแปลว่า ภาษาหรือวรรณคดี, ตัวที่สองแปลว่า คน. รวมกันมีความหมายว่า คนที่อ่านออกเขียนได้  โดยนัยคือปัญญาชน ผู้คงแก่เรียน. คำนี้พบในจารึกโบราณจีนตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 2 ถึง 3 ก่อนคริสตกาล. คำนี้นำไปใช้อธิบายแจกแจงคุณสมบัติที่ดีและสติปัญญาที่แจ่มกระจ่างในขนบวัฒนธรรมหลายรูปแบบ เช่นโยงไปถึงความรู้ในแขนงต่างๆ มีปรัชญา ประวัติศาสตร์ วาทะศิลป์ และศิลปะอักษรวิจิตรเป็นต้น. สำนวนนี้จึงนำไปใช้อธิบายศิลปะการวาดภาพสีหมึกด้วย ที่เรียกว่า文人  bunjinga (ในความหมายว่า ภาพสไตล์ปราชญ์), ในศิลปะการแสดงดนตรีเช่นพิณจีน, ในเกมหมากรุก go และในงานช่างศิลป์ต่างๆเช่น การแกะตราประทับ, การออกแบบแฟชั่น, การออกแบบตกแต่งภายใน, การเลี้ยงบ็องไซไปจนถึงการทำสวน. ลักษณะเฉพาะของอุดมการณ์ bunjin โดยทั่วไปคือภูมิปัญญาที่จักเป็นประโยชน์ต่อสรรพสิ่ง ที่แฝงอยู่ในจิตที่ใฝ่สูง ในวิญญาณที่อิสระ ที่รักความสันโดษ ที่ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก ที่กล้าผจญภัย ที่รู้จักมองและเห็นความงามในสภาพภูมิประเทศของขุนเขาสูงทะมึนเป็นต้น. ภาพวาด bunjinga ของจีนเป็นตัวอย่างของจิตสำนึกดังกล่าว.
      ปัญญาชนชาวญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 19 ได้ซึมซับอุดมการณ์จีนดังกล่าว นึกเทียบตนเองว่าเป็นดั่งต้นไม้รูปทรงปัญญาชนในภาพวาดจีน และต่อมาก็ต้องการถ่ายทอดภาพลักษณ์ของต้นไม้ในภูมิประเทศที่หฤโหดของหุบเขาสูงชันในจีน ลงบนต้นบ็องไซ จึงเกิดต้นบ็องไซทรงปัญญาชนขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นต้นบ็องไซแบบแรกๆของญี่ปุ่นด้วย.
      ต้นบ็องไซรูปทรงนี้ ดูเรียบๆ ลำต้นที่ผอมเรียวและกิ่งก้านที่เหลือน้อยที่สุด มองดูเบาโหวงเหมือนหลุดจากกรอบ. อาจเป็นบริบทนี้กระมังที่โดนใจปัญญาชนญี่ปุ่น ผู้ต้องการความสงบทางใจ ก้าวข้ามความวุ่นวายของสังคม สู่ความสันโดษและพัฒนาความสุขที่ประณีตในความเรียบง่าย ที่สอดคล้องกับหลักการ wabi-sabi วาบิ๊-ซาบิ ในสุนทรีย์ญี่ปุ่นด้วย.
      เมื่อตระกูล Tokugawa ขึ้นบริหารประเทศในราวปี 1600 การรบราฆ่าฟันระหว่างตระกูลที่ต้องการยึดอำนาจสงบลง เปิดศักราชใหม่ของญี่ปุ่น เป็นสมัยเอโด๊ะตั้งแต่นั้นจนถึงราวปี 1868. แม้ว่าญี่ปุ่นจะปิดตัวเอง แต่เกิดชนชั้นใหม่ที่เป็นชนชั้นกลางที่ร่ำรวยจากการค้าขายและชนชั้นข้าราชการชั้นสูง. ยุคนั้นโชกุนอุปถัมภ์ตระกูลศิลปินไว้สองสามตระกูล เป็นตระกูลช่างวาดช่างตกแต่ง เช่นตระกูล Kano และตระกูล Tosa ผู้ได้รับมอบหมายให้บูรณะตกแต่งเพดานและผนังกำแพงภายในวัง. นายช่างทั้งหลายได้แบบอย่างและแรงบันดาลใจจากแบบและเนื้อหาศิลปะที่เคยมีมา และค่อยๆแทรกฉากชีวิตและภาพเหมือนของคนยุคเอโด๊ะเข้าไปในงานสร้างสรรค์ของพวกเขา. ผลงานของพวกเขาเป็นที่นิยมชมชื่นในหมู่ผู้ร่ำรวยผู้อุปถัมภ์ศาสตร์และศิลป์ในสังคมยุคนั้น.     
      ญี่ปุ่นสมัยเอโด๊ะพัฒนาขึ้นทั้งทางวัฒนธรรมและทางเศรษฐกิจ ภายในเครือข่ายของตน แต่ในขณะเดียวกันที่เมืองนางาซากิ กลับมีการแลกเปลี่ยนการค้าระหว่างญี่ปุ่นกับจีนมากขึ้น โดยเฉพาะกับจีนและกับกลุ่มพ่อค้าโปรตุเกสที่เมืองมาเก๊า.  ศิลปินชาวญี่ปุ่นค้นพบศิลปวัฒนธรรมจีนสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 14-15 จากหนังสือต่างๆ. พวกเขาได้เห็นศิลปะอันประณีต ลุ่มลึก แฝงด้วยปรัชญาจากลัทธิขงจื้อที่มีอิทธิพลต่อวิสัยทัศน์ของศิลปินจีนเกี่ยวกับธรรมชาติและภูมิประเทศด้วย.
      ลำต้นเปล่าเปลือยของต้นไม้ กิ่งก้านสวยเรียบๆ เหมือนศิลปะอักษรวิจิตรแบบหนึ่ง พอจะจัดได้ว่ามีอะไรที่สื่อปัญญาบริสุทธิ์”. จิตรกรชาวจีนและต่อมาชาวญี่ปุ่น ใช้พู่กันป้ายหมึกแตะลงไปบนแผ่นกระดาษวาดเขียน ถ่ายทอดวิสัยทัศน์และอุดมการณ์ของธรรมชาติให้ประจักษ์ ได้กลายเป็นต้นแบบของจิตรกรรมแบบหนึ่งอย่างถาวร. แม้จะมีกฎมีขนบที่ควบคุมการสร้างสรรค์ตามกระแส bunjinga  ถ้าเพ่งพิจารณาให้ดี ทิวทัศน์แบบนี้มีรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่ต่างกัน เช่นรูปแบบองค์ประกอบแต่ละอย่างที่ทำให้ภาพรวมในแต่ละภาพไม่เหมือนกันเลยทีเดียว. จิตรกรหรือช่างเขียนอักษรวิจิตร ต้องมีจิตที่สงบ มีสมาธิ ก่อนที่จะแต้มสีลง. ภาพภูมิทัศน์ที่แสดงออกมาเป็นเพียงสิ่งที่กระตุ้น นำผู้ดูให้เห็นตัวตน เข้าถึงความคิดคำนึงของจิตรกร เช่นภาพลักษณ์ง่ายๆของศาลาหลังเล็กหลังเดียวบนเขาที่จิตรกรป้ายสีเพียงไม่กี่ครั้ง  รูปลักษณ์ห่างไกลจากความเป็นจริง หรือเป็นแบบรวบรัดตัดย่อเท่านั้น. การสร้างสรรค์ของศิลปินกระแสนี้ในที่สุดคือการตรึกตรองเกี่ยวกับชีวิต ระหว่างโลกที่เห็นด้วยตากับโลกที่รู้สึกได้ด้วยหัวใจและจิตวิญญาณ.
      ศิลปินญี่ปุ่นสามคนที่ยกย่องเชิดชูศิลปวัฒนธรรมจีนในยุคนั้นคือ Gion Nankai (1676-1751), Yanagisawa Kien (1704-1758) และ Sakaki Hyakunen (1697-1752) พวกเขาได้แรงบันดาลใจทั้งเนื้อหาและเทคนิคจากศิลปินชาวจีนภาคใต้หรือจากดินแดนแถบ Nanzonghua 南宗  จึงเป็นที่มาของสำนวน Nanga ในภาษาญี่ปุ่น (แปลตามตัวว่า ใต้ + ภาพ หมายถึงจิตรกรรมจากภาคใต้ ). เกิดกระแสศิลปะแนวใหม่ในญี่ปุ่น ศิลปินญี่ปุ่นแต่ละคนจะโยงผลงานของตนไปยังภาพจิตรกรรมจีนภาพใดภาพหนึ่งที่เขาชื่นชอบ พัฒนาฝีมือและแทรกโลกทัศน์ส่วนตัวของเขาควบคู่ไปด้วย จนในที่สุดก้าวสู่การสร้างสรรค์แบบเฉพาะตัวของพวกเขาเอง. จิตรกรรมกระแสนี้มักเป็นสีเดียว แต่บางทีก็แต่งแต้มสีอื่นลงไปด้วยเพื่อสื่อการแปรเปลี่ยนของฤดูกาลเป็นต้น.
      ศิลปินจีนเป็นปัญญาชนที่แสดงศักยภาพและวิสัยทัศน์ส่วนตัวในภาพของพวกเขา พวกเขามีเสรีภาพในการสร้างภาพตามจินตนาการและอุดมการณ์ของพวกเขา ไม่น้อยไปกว่าศิลปินที่เป็นพระสงฆ์ชาวพุทธหรือผู้ที่นับถือลัทธิขงจื้อ. ส่วนศิลปินญี่ปุ่นมิได้ทำงานเป็นเอกเทศ พวกเขาขึ้นอยู่กับผู้อุปถัมภ์  ขึ้นอยู่กับเจ้านายศักดินาที่เขาทำงานให้ จึงไม่อาจพัฒนาศักยภาพให้เต็มตามวิสัยทัศน์ส่วนตัวได้.  ถึงกระนั้นศิลปินญี่ปุ่นเองก็รวมตัวกันเรียกร้องสถานะของปัญญาชนผู้ต้องการสำรวจและทดลองวิธีการแสดงออกแนวใหม่ๆในศิลปะแขนงต่างๆที่รวมไปถึงการเขียนอักษรวิจิตร ดนตรี กวีนิพนธ์ ให้ทัดเทียมกับศิลปินชาวจีน. ศิลปินญี่ปุ่นสี่คนนี้คือ Ike No Taiga (1723-1776) และ Yosa Buson (1716-1783)  อีกทั้ง Tanomura Chikuden (1777-1835) กับ Tani Buncho (1763-1840). ทั้งสี่คนเป็นตัวแทนที่โดดเด่นที่สุดของกระแส Nanga พวกเขาสามารถก้าวข้ามหลักการหรือกรอบที่บางครั้งเข้มงวดเกินไปของจีน และสร้างแนวศิลปะส่วนตัวของแต่ละคนได้อย่างเต็มภาคภูมิ. ศิลปินสี่คนนี้มีอิทธิพลต่อศิลปินญี่ปุ่นรุ่นหลังๆที่ตามมาอย่างชัดเจนไม่เสื่อมคลาย.

6. Mono no Aware 物の哀れ [โมโน้ โน อ๊าวาเหระ] หรือ the pathos of things แปลตามตัวอักษรได้ว่า ความเปราะบางของสรรพสิ่ง.  เป็นสัจธรรมที่เราได้ยินเสมอ พระอาจารย์ทั้งหลายต่างย้ำแล้วย้ำอีกให้เห็นความไม่ยั่งยืนของสรรพสิ่งทั้งที่มองเห็นและที่มองไม่เห็นเช่นความคิด ความรู้ อารมณ์ ความรู้สึกใดๆ ทั้งหมดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่และจะจบลง (ในภาษาญี่ปุ่นใช้คำว่า mujō 無常[หมู่โจ]). ทั้งหมดเกิดจากนิวรณ์แบบใดแบบหนึ่ง(นิวรณ์๕). คนที่รู้แจ้งในสัจธรรมย่อมพยายามสลัดนิวรณ์เหล่านี้ให้หลุดออก(อาจพูดได้ว่าเป็นผู้มีอินทรียสังวร มีญาณสังวรเป็นต้น) และไม่ตกเป็นเหยื่อของความสุ่มหลงใดๆที่รังแต่นำความทุกข์มาให้. พุทธศาสนาของเรามุ่งให้เรากำจัดทุกข์ลงไปเรื่อยๆ ขจัดการยึดติด จนไปสู่ภาวะไร้ทุกข์ สู่ความว่าง สู่นิพพาน.
      ปรัชญาญี่ปุ่นก็เข้าถึงสัจธรรมนี้ แต่ที่พิเศษไปอีกแนวหนึ่งในหมู่ปัญญาชนของญี่ปุ่น คือความตระหนักรู้ดังกล่าว ยิ่งทำให้สรรพสิ่งมีค่าสูง มีความงามเพิ่มขึ้น มีอำนาจผลักดันอารมณ์สะเทือนออกไปถึงที่สุด สร้างความสุขในความอาลัยอาวรณ์ว่าความสุขนั้นเป็นเพียงชั่วครู่. พวกเขามิได้เน้นการขจัดนิวรณ์ ตัดความรู้สึกใดๆทิ้งแต่เสพเหมือนยอมกินยาขมๆด้วยใจทั้งสุขและทุกข์. มีนักวิจารณ์เขียนไว้ว่า สำหรับชาวญี่ปุ่น หากทุกอย่างยั่งยืนชั่วนิรันดร์ สรรพสิ่งก็หมดอำนาจลง หมดอำนาจที่จะก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือน หมดอำนาจที่จะทำให้คนรัก คนชมความงาม หรือสร้างสรรค์งานศิลป์ใดๆ แต่เพราะความไม่ยั่งยืนนั่นเองที่ทำให้ทุกสิ่งแสนหวานแสนสวย พวกเขายอมรับความไม่ยั่งยืนของชีวิต ในขณะเดียวกันก็สำนึกและรู้คุณค่าในฐานะที่เป็นแรงกระตุ้นให้พวกเขาเสพสุขอย่างเต็มที่ในชีวิตด้วย. ความตระหนักรู้และท่าทีดังกล่าวกลายเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดการจารึกถ่ายทอดความรู้สึกเร้นลับซับซ้อนในใจคน ความกังขา ห่วงหาฯลฯ หรือเมื่อเสียงนกร้องกู่เรียกในธรรมชาติก็ทำให้นึกถึงตนเองที่คอยการกลับมาของคนรัก. ภาพดอกซากุระที่ร่วงหล่นในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ก็ทำให้นึกถึงวัยสาวของตนที่จะล่วงลับไปเป็นต้น. การแสดงออกด้วยการเขียนบันทึกบนกระดาษเป็นลายมือต่อๆไปไม่สิ้นสุด เป็นร้อยแก้วหรือบทกวีกลายเป็นแนวการประพันธ์ เป็นวัจนะลีลาของวรรณกรรมที่ขึ้นชื่อเลื่องลือเรื่อง The Tale of Genji (源氏物語 Genji monogatari, ผู้แต่งเป็นหญิงชื่อ Murasaki Shikibu) ที่แต่งขึ้นในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 11. วัจนะลีลาของวรรณกรรมเรื่องนี้ ตรึงใจผู้อ่านทุกชาติ (มีการแปลออกเป็นภาษาต่างประเทศหลายสิบภาษา) เพราะผู้อ่านเหมือนเข้าไปนั่งอยู่ในใจของผู้ประพันธ์ มีความรู้สึกร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับผู้แต่ง รู้สึกเห็นใจอาลัยอาวรณ์ว่าทุกสิ่งก็จะผ่านไป และเห็นความสำคัญของอดีตที่ยังคงชัดเจนในปัจจุบัน.
      วรรณกรรมเรื่อง The Tale of Genji เป็นตัวอย่างแบบฉบับของปรัชญาญี่ปุ่นที่สรุปอยู่ในสำนวนสั้นๆว่า Mono no aware. วัจนะลีลาของเรื่องนี้ได้เป็นแบบอย่างของงานสร้างสรรค์ทางวรรณกรรมของญี่ปุ่นต่อๆมา จนมาถึงในสมัยใหม่ ก็ยังเป็นแนวการถ่ายทำภาพยนต์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของภาพยนต์ญี่ปุ่น. วิธีการดำเนินเรื่องในภาพยนต์ญี่ปุ่นตามนัยของ Mono no Aware เช่นแทนการให้นักแสดง แสดงความรู้สึกทางสีหน้า ท่าทางหรือแววตา กลับหันไปใช้ความนิ่ง ความคงอยู่ของสรรพสิ่งรอบข้างที่เคยมีเคยอยู่ณตำแหน่งนั้น สภาพห้องที่ทุกอย่างเหมือนเดิม แต่ไม่มีอะไรเหมือนเดิมแล้ว เพราะคนหนึ่งที่เคยอยู่ที่นั่นไปแล้ว ไม่อยู่แล้ว. หรือในความชุลมุนของเหตุการณ์ที่เพิ่งสิ้นสุดลง คำพูดเดิมๆที่เคยถามเคยพูดกันมานับครั้งไม่ถ้วนระหว่างคนในหมู่บ้านเดียวกันหรือในครอบครัวเดียวกันเช่น วันนี้ อากาศดีนะไม่มีคำพูดอื่น ไม่มีการคร่ำครวญ การระบายอารมณ์ใดๆ แล้วต่างคนต่างเดินจากไป หรือเดินต่อไปในชีวิตประจำวันแบบเดิมๆ โดยที่แท้จริงในจิตใจไม่มีอะไรเหมือนเดิมเพราะสิ่งที่รักที่สุด สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่อยู่แล้ว จบลงไปแล้ว ยอมรับและยอมจำนนต่อชะตาชีวิตเป็นต้น. นี่เป็นตัวอย่างของนัยความหมายของสำนวนนี้ในภาษาญี่ปุ่น. 
รายละเอียดเพิ่มเติม เกี่ยวกับลัทธิเซน.  

บันทึกความสนใจส่วนตัวของ โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ ณ เดือนสิงหาคม ๒๕๕๙.

เจาะสามมิติเรื่องบ็องไซ  Trilogy of Bonsai
A. กำเนิดและวิวัฒนาการของศิลปะบ็องไซในญี่ปุ่น  พิพิธภัณฑ์บ็องไซที่โอ๊มิยะ
เชิญเข้าไปดูได้ที่นี่ >> http://chotiroskovith.blogspot.com/2016/08/trilogy-of-bonsai.html  
B. บ็องไซคืออะไร ทำไมบ็องไซ ประเภทและรูปลักษณของต้นบ็องไซ
เชิญเข้าไปดูได้ที่นี่ >> http://chotiroskovith.blogspot.com/2016/08/b.html
C. บ็องไซในปรัชญาและสุนทรีย์ของญี่ปุ่น
เชิญเข้าไปดูได้ที่นี่ >> http://chotiroskovith.blogspot.com/2016/08/c.html

No comments:

Post a Comment