Saturday 17 September 2016

ชีวิตปางก่อนๆของพระพุทธเจ้า - สัตวชาดก



      คติเกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิด หรือการที่วิญญาณคนตายจะไปเกิดในร่างใหม่นั้น เป็นรากฐานความเชื่อของทุกลัทธิทุกศาสนาในอินเดียไม่เคยปรากฎเล่าไว้เลยว่า มีผู้ใดตั้งข้อสงสัยไม่เชื่อในเรื่องนี้. ความเชื่อดังกล่าวฝังรากมานานแต่โบราณกาลแล้วในอินเดีย ในกรีซโบราณและในที่สุดแผ่เป็นภูมิหลังของทัศนคติและจิตสำนึกของเหล่านักเขียนยุคต่อๆมาในยุโรปและโดยเฉพาะของชาวเอเชียเกือบทุกชาติ. อินเดียไม่ได้เป็นเจ้าตำรับของความเชื่อเรื่องการเวียนว่าตายเกิดดังที่เรามักจะเข้าใจกัน. ใครเป็นผู้ต้นคิดนั้นไม่น่าสนใจเท่าความจริงที่ว่า อินเดียเป็นประเทศเดียวที่ยึดเอาคติความเชื่อนี้ เป็นรากฐานของลัทธิศาสนาต่างๆ. กล่าวสั้นๆเกี่ยวกับคตินี้ก็คือ วิญญาณเป็นเป็นสิ่งที่ไม่ตาย และเมื่อร่างกายสิ้นลมลง วิญญาณก็จะย้ายไปอยู่ในร่างใหม่อีกร่างหนึ่ง เช่นนี้เรื่อยๆไม่มีที่สิ้นสุด.  
     ชาวอินเดียถือกันว่า คตินี้ส่งเสริมความกล้าหาญ เพราะทำให้คนไม่กลัวตาย. พึงเข้าใจว่า การที่มาเกิดเป็นคนในชาตินี้ ก็ไม่เป็นสิ่งประกันว่าจะไม่ไปเกิดเป็นสัตว์ในชาติหน้า. นั่นคือ แม้เราต้องมาเกิดใหม่ เราก็ไม่อาจเลือกเกิดได้ตามความพอใจ และเราก็ไม่ได้มาเกิดเป็นอะไรต่ออะไรโดยความบังเอิญ. การเกิดใหม่ของเราเป็นผลโดยตรงของชีวิตและความประพฤติของเราในชาตินี้. ชีวิตในอดีต ปัจจุบันหรือในอนาคต ขึ้นอยู่กับ"กรรม"ของเราในแต่ละชาติ, ขึ้นอยู่กับจำนวนความดีและความเลวที่ทำมา บวกลบกันแล้วเป็นผลลัพธ์ที่กำหนดร่างใหม่ในชีวิตแบบใหม่ ที่วิญญาณจะไปเกิด. เห็นได้ว่าความยิ่งใหญ่ของอินเดีย อยู่ที่การรู้จักใช้หลักศีลธรรมจรรยามาผนวกกับคติการเวียนว่ายตายเกิด และสร้างเป็นรากฐานที่มั่นคงของทุกศาสนาในอินเดีย และยังทำให้คตินี้กลายเป็นกุญแจแก้ปัญหาสังคมต่างๆได้อย่างวิเศษ. 
     พูดง่ายๆคือ ถ้าชีวิตของเราในขณะนี้เป็นผลจากการกระทำของเราเองในอดีตชาติ  เราจะไปโทษใครเล่าถ้าเราตกระกำลำบากหรืออับโชคในชาตินี้.  อีกประการหนึ่งทฤษฎีว่าด้วย "กรรม" ก็เป็นข้อปลอบใจที่ดีแก่ผู้รักความยุติธรรม ผู้เห็นตำตาว่า ในสังคมปัจจุบันคนทำดีมักตกทุกข์ได้ยาก แต่คนเลวกลับร่ำรวยในยศฐาบรรดาศักดิ์. เขาปลอบใจตัวเองได้ว่า วันหนึ่งเถอะกรรมจะตามสนองคนเลวเหล่านั้นอย่างแน่นอน ไม่ชาตินี้ก็ชาติหน้า. เมื่อคิดดูเผินๆ การมีโอกาสไม่รู้จบสิ้นที่จะได้เกิดใหม่ตลอดไปนั้น  น่าจะเป็นสิ่งน่ายินดีสำหรับทุกคน แต่การที่ต้องเกิดใหม่ หมายถึงต้องมีความทุกข์ใหม่ อาจมีความสุขใหม่บ้าง แต่ต้องแก่และต้องตายอีก.  เช่นนี้คงมีวันหนึ่งที่วิญญาณเหนื่อยล้าหรือเบื่อเต็มทีในกงล้อของการเวียนว่ายตายเกิด.   
     ความยิ่งใหญ่ของพุทธศาสนาอยู่ที่การสอนให้เข้าใจถึงเหตุแห่งความทุกข์และแสดงหนทางของการดับทุกข์นั้น ซึ่งมีอยู่ทางเดียว คือการเบี่ยงตัวออกจากกงล้อของการเวียนว่ายตายเกิด และนั่นคือการหลุดพ้นที่แท้จริงสู่นิพพาน.  แต่การที่จะบรรลุนิพพานนั้น ต้องมีจิตใจที่แน่วแน่ที่มุ่งสู่การดับขันธ์ และต้องใช้ความมานะพยายามอย่างยิ่งยวดและเนิ่นนานหลายชีวิต. ในแต่ละชีวิตก็ต้องพยายามสะสมคุณงามความดีเล็กๆน้อยๆต่างๆ ดังเห็นได้จากนิทานชาดกของพระพุทธเจ้า.  แต่ละชีวิตอันแสนสั้นหลายร้อยชาติเพื่อบำเพ็ญคุณธรรมเพียงอย่างสองอย่าง และเพื่อไต่เต้าขึ้นสู่ระดับจิตสำนึกที่ดีขึ้นที่สูงขึ้นเรื่อยๆ. พระพุทธองค์ทรงมีชีวิตอยู่ (ตามหลักฐานที่เก็บได้จากนิทานชาดก) ๕๔๗ ชาติ  จึงได้บรรลุนิพพาน.

      ความจริงแล้วนิทานเกี่ยวกับสัตว์มีมานานแล้วและรู้จักกันแพร่หลายในชีวิตของชาวอินเดีย. มีหลายเรื่องที่ไปคล้องจองกับนิทานอีสป หรือนิทานฝรั่งเศสของลาฟงแตน ( La Fontaine, กวีและนักเขียนนิทานผู้มีชื่อชาวฝรั่งเศส มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ ๑๗ ) ผู้ได้ดัดแปลงนิทานแบบเดียวกันให้เข้ากับสภาพวัฒนธรรมของฝรั่งเศส.  ผู้ที่รวบรวมชาดกของพระพุทธเจ้า เพียงแต่มาเสริมแต่งให้รัดกุมและโยงไปหาพระพุทธองค์เพื่อให้เป็นตัวอย่างและบทเรียนเกี่ยวกับจริยธรรมและศีลธรรม  บางทีก็ทำไม่แนบเนียนนัก.  บทเรียนจากนิทานต่างหากที่เราควรเน้นไม่ว่ากับเด็กหรือผู้ใหญ่ ว่าการประพฤติดี ประพฤติชอบนั้นทำได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าในสภาพใด เป็นคนหรือเป็นสัตว์. การกระทำเล็กๆน้อยๆหรือแม้เพียงจิตสำนึกที่ดีในขณะหนึ่ง มีความหมายเสมอและสั่งสมเป็นกุศลกรรมของเราเอง.  อีกประการหนึ่งนิทานชาดกแสดงให้เห็นว่า การสร้างสมความดีนั้นยากเพียงใด ต้องใช้เวลานานเพียงใด ต้องใช้ชีวิตหลายร้อยหลายพันชาติ กว่าจะเป็นคนที่สมบูรณ์เพียบพร้อมทั้งกาย วาจาและใจ อันเป็นจุดยืนที่จะนำสู่การรู้แจ้งเห็นจริงเกี่ยวกับภาวะที่ต้องเกิดแล้วตายแล้วเกิดแล้วตามย และในที่สุดช่วยให้เราหลุดพ้นจากห้วงของสงสาร (สังสาระ หรือ สังสารวัฏ Samsara). สัตวชาดกเล่าชีวิตพระโพธิสัตว์ในหมู่สัตว์ และรวมไปถึงชาติต่างๆของพระโพธิสัตว์เมื่อเกิดเป็นสัตว์และมีบทบาทชีวิตเข้าไปพัวพันในสังคมมนุษย์  แสดงคุณสมบัติที่เหนือกว่าของสัตว์นั้น และในขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นความไร้ศีลธรรม ความเอารัดเอาเปรียบ หรือความเห็นแก่ตัวของคน.
      ชาดกที่นำมาเล่าต่อไปนี้ แปล เรียบเรียงและวิเคราะห์จากหนังสือชีวิตปางก่อนๆ ของพระพุทธเจ้า (Les Vies Antérieures du Bouddha) ซึ่ง Alfred Foucher ราชบัณฑิตชาวฝรั่งเศสผู้ศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมและศาสนาต่างๆในอินเดียอย่างละเอียดถ่องแท้.  เขาได้เขียนรวบรวมความรู้และ  แสดงทัศนคติวิเคราะห์วิจารณ์อย่างน่าสนใจ เป็นการมองอารยธรรมตะวันออกด้วยสายตาและภูมิหลังของชาวตะวันตก.  หนังสือดังกล่าว Musée Guimet [มูเซ่ กีเม] ที่ปารีส (เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมสาระความรู้จากอารยะธรรมตะวันออก และอารยธรรมจากแหล่งอื่นๆของโลก) ได้พิมพ์ออกเผยแพร่เมื่อปี คศ.1955. ภูมิหลังตะวันตกเปิดมุมมองใหม่แก่เราชาวพุทธไทย และวิธีการนำเสนอก็อ่านสนุกไม่น้อย สนุกกว่าจากต้นฉบับของอินเดีย หรือฉบับภาษาอังกฤษที่เป็นบทแปล ส่วนฉบับฝรั่งเศสที่ข้าพเจ้าเลือกมาเป็นแบบการนำเสนอนั้น บวกการวิเคราะห์วิจารณ์ของผู้ประพันธ์ไว้ด้วย. บทความนี้มิได้โยงไปถึงชาดกเรื่องเดียวกันในหนังสือเล่มอื่นใดเลย เพราะไม่มีจุดประสงค์ในการวิเคราะห์เปรียบเทียบการแปลเนื้อหาของชาดกจากหนังสือแหล่งต่างๆ แต่เป็นการแนะศีลธรรมพุทธศาสนาจากมุมมองของนิทานชาดกสำหรับนักศึกษาต่างชาติเท่านั้น.
      เมื่อพิจารณาดูวิธีการเล่าของนิทานชาดกห้าร้อยกว่าเรื่อง จะเห็นว่า ทุกเรื่องเกิดขึ้นจากคำพูดหนึ่ง หรือเหตุการณ์หนึ่งในชาติปัจจุบัน  พระพุทธเจ้าทรงบอกว่าคำพูดหรือเหตุการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นแล้วในอดีตชาติ. ทำให้มีผู้ทูลขอให้พระองค์ทรงเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนหลัง ซึ่งพระองค์ก็ทรงโปรดและถือโอกาสนั้นสั่งสอนธรรมะหรือปลูกฝังคุณธรรมในจิตใจของผู้ฟัง. ชาดาส่วนใหญ่มักจบลงด้วยการชี้ตัวให้รู้ว่า ในเรื่องนั้นใครกลับมาเกิดเป็นใครในชาติปัจจุบัน.  การที่นิทานชาดกคงอยู่มาได้หลายพันปีแล้วนั้น ไม่ใช่เพราะคนเชื่อในกฎแห่งกรรมเท่านั้น แต่เพราะยังมีผู้ที่มีอำนาจจิตเหนือสามัญชน ผู้สามารถรำลึกชาติต่างๆในอดีตทั้งของตนและของผู้อื่น มิฉะนั้นก็จะไม่มีผู้เล่านิทานเหล่านี้ได้ และคงไม่มีผู้ใดเกินไปกว่าพระพุทธเจ้า. จึงถือกันว่าพระองค์ทรงเป็นผู้เล่านิทานชาดกของพระองค์เอง และเหล่าสาวกเป็นผู้จดจำแล้วนำมาเขียนลงทีหลัง. อนึ่งการรำลึกชาติได้นั้น เป็นหนึ่งในคุณสมบัติพิเศษห้าประการของภิกษุสงฆ์ผู้มีฌาณแก่กล้าและมีดวงตาเห็นธรรมแล้ว (คุณสมบัติพิเศษ ๕ ประการนี้คือ ความสามารถในการแปลงกายหนึ่ง, ในการมองทะลุสรรพสิ่งและการมองไปได้ไกลกว่าเส้นขอบฟ้าหนึ่ง, ในการได้ยินเสียงจากดินแดนไกลโพ้นหนึ่ง, ในการอ่านความคิดของผู้อื่นหนึ่งและในการำลึกชาติในอดีตของตนเองและของผู้อื่นหนึ่ง).  แต่พระพุทธเจ้าได้ทรงห้ามพระภิกษุสงฆ์โอ้อวดตัวว่าเหนือมนุษย์ หรือใช้ความสามารถพิเศษเหล่านี้ เพราะเคยเป็นเหตุให้เกิดความโกลาหลและชิงดีชิงเด่นในหมู่นักบวชต่างลัทธิและต่างสำนักในสมัยพระพุทธกาลมาแล้ว.
      ในคติของอินเดียต้นไม้และหินผานับเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตด้วย  แต่ตามที่ปรากฎเล่าไว้ในชาดกของพระพุทธเจ้านั้น พระพุทธองค์ไม่เคยได้เกิดเป็นต้นไม้หรือภูผา แต่เคยเป็นสัตว์ เป็นคนในวรรณะต่างๆ เป็นหญิง ชายหรืออมนุษย์.
 คัดลอกจากภาพเขียนโบราณ ในถ้ำ Ajanta caves ประเทศอินเดีย
จากหนังสือชาดก ตอน "กวางแห่งต้นไทร"
      ในที่นี้เราเล่าถึงชีวิตปางก่อนๆของพระพุทธเจ้าเมื่อเกิดเป็นสัตว์ ก่อนที่พระองค์มาเกิดเป็นศักยะมุนีและตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า. เราเรียกพระองค์ว่าพระโพธิสัตว์ หมายความว่า ผู้ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า.
      มีปรากฏเล่าไว้ในชาดกเรื่องที่ ๗๕ ว่า ครั้งหนึ่ง พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดเป็นปลา. แน่นอนท่านเกิดเป็นพญาปลา เป็นหัวหน้าฝูงปลาทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในหนองน้ำเดียวกัน. ยามนั้นเกิดฝนแล้ง ข้าวยากหมากแพงไปทั่วทั้งกรุงโกศาลา. แสงแดดก็แผดเผา ทำให้หนองน้ำแห้งขอดลง. เหล่าปลาต่างพยายามชอนไชลงในดินโคลนก้นหนองน้ำ เพื่อให้ได้สัมผัสความชื้น ยังชีวิตต่อไปตามประสายาก.  พวกกาและนกกินปลาต่างๆ พากันมาที่หนองน้ำที่เกือบแห้งแล้ว ใช้ปากยาวๆของมันดึงตัวปลาออกมากินอย่างง่ายดาย.  เหตุการณ์คับขันเช่นนี้ พญาปลาต้องหาทางช่วยเหลือพวกของตน. เราต้องไม่ลืมว่า พญาปลาในฐานะของผู้นำต้องรับผิดชอบในชะตากรรมของลูกน้อง. ความเจริญหรือความหายนะของพวกมันขึ้นอยู่กับความดีหรือความชั่วของพวกมันก็จริง แต่พญาปลาก็ต้องช่วย. ส่วนจะทำอะไรได้แค่ไหนนั้น ในเมื่อตัวเองก็เป็นเพียงปลาตัวหนึ่ง จะไปบงการสั่งดินฟ้าอากาศอย่างไรได้เล่า.  แต่อย่าหัวเราะเยาะไปเชียวนะ ยามที่หมดหนทาง ก็ยังเหลือการกระทำอย่างหนึ่งที่เป็นอาวุธของคนดีทุกคน เป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพที่สุดด้วย. นั่นคือ "การกล่าวสัจจะวาจา" (เอเตนะ สัจจะ วัชเชนะ โสตถิ เม โหตุ สัพพะทา). พญาปลาเหลือบตามองสู่เบื้องบนและพูดกับเจ้าแห่งพายุฝนว่า "จิตใจเราเศร้าหมอง บริวารของเรานั้นตั้งตนอยู่ในทางที่ดีที่ชอบเสมอมา ทำไมท่านจึงไม่ทำให้ฝนตกเล่า แม้ว่าเราจะเกิดมาในหมู่พันธุ์ปลาที่ตัวใหญ่จะกินตัวเล็กเป็นอาหาร ถึงกระนั้นตั้งแต่เกิด เรายังไม่เคยกินพวกเดียวกันเลย ไม่ว่าจะเป็นปลาตัวเล็ก ขนาดเท่าเมล็ดข้าว ก็ยังไม่เคยกิน. ด้วยผลแห่งความจริงอันนี้ เราขอให้ท่านบันดาลให้ฝนตก และช่วยบริวารของเราจากอันตรายด้วยเถิด".  อานุภาพของความจริงไม่มีใครหรืออะไรจะฝืนได้ ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติหรืออำนาจลึกลับอื่นใด.  เจ้าแห่งพายุฝนดลบันดาลให้ฝนตกโดยพลัน  ฝนหลั่งไหลปกคลุมหนองน้ำและผืนแผ่นดิน ยังความอุดมสมบูรณ์ไปทั่วทั้งแคว้น.
      ในอีกชาติหนึ่ง (ชาดกเรื่องที่ ๓๒) เล่าว่า ในหนองน้ำแห่งหนึ่งมีปูอาศัยอยู่กับฝูงปลาจำนวนมาก หนองน้ำนั้นออกจะเล็กเกินไป. วันหนึ่งนกกระสาเจ้าเล่ห์มาหยุดยืนอยู่ข้างๆหนองนั้น ท่าทางครุ่นคิดแกมเศร้า. ฝูงปลาเห็นก็แปลกใจ พากันถามตามอุปนิสัยอยากรู้อยากเห็นว่า "คุณนกคิดอะไรอยู่หรือ" นกตอบว่า "คิดถึงพวกเจ้านั่นแหละ  คิดด้วยความเป็นห่วงด้วย เพราะน้ำในหนองลดลงทุกที อาหารของพวกเจ้าก็ร่อยหรอลงด้วย ช้ำแดดก็แผดเผา ฉันน่ะหวั่นใจว่าพวกเจ้าจะมีชีวิตต่อไปได้สักกี่น้ำ".  พวกปลาถามต่อว่า "แล้วคุณนกคิดหาทางออกอะไรได้งั้นหรือ".  นกตอบว่า "ถ้าพวกเจ้าทำตามความคิดของฉันล่ะก็  ฉันนี่แหละจะคาบพาพวกเจ้าทีละตัวๆ ไปยังสระบัวใหญ่แห่งหนึ่งและจะปล่อยพวกเจ้าไว้ในสระนั้น". "แม่คุณเอ๋ย ตั้งแต่โลกเป็นโลกมา ก็ยังไม่เคยปรากฎว่ามีนกกระสาตัวใดที่เป็นห่วงสนใจการกินดีอยู่ดีของพวกปลาอย่างเราๆเลย. พูดก็พูดเถอะ ความจริงคุณอยากกินพวกเราทีละตัวต่างหาก".  "ฉันคิดแล้ว พวกเจ้าคงจะไม่เชื่อฉันหรอก  ถ้าพวกเจ้าสงสัยว่าสระบัวที่ฉันพูดถึงนั้น มีจริงหรือไม่ พวกเจ้าก็ลองส่งปลาสักตัวไปดูกับฉันให้เห็นกับตาสิ".  เหล่าปลารู้สึกมั่นใจขึ้น จึงพากันเลือกตัวแทนตัวหนึ่งให้ไปกับนกกระสา. ปลาที่ถูกเลือกเป็นปลาตัวโตและตาบอดข้างหนึ่ง  พวกปลาแน่ใจว่าตัวแทนตัวนี้มีขนาดใหญ่พอที่จะป้องกันตัวเองได้ทั้งในน้ำและบนบก. นกกระสาคาบเจ้าตัวแทน พาไปชมสระอย่างละเอียดลออ แล้วก็พากลับมาส่ง.  ปลาตัวแทนมาเล่าถึงความน่าอยู่ และความอุดมสมบูรณ์ของสระบัวใหญ่สู่เพื่อนๆปลา จนต่างสิ้นความสงสัยและพร้อมที่จะย้ายไปอยู่ที่นั่น. นกกระสาเลือกพาเจ้าปลาตัวใหญ่และตาบอดข้างเดียวไปก่อน เมื่อไปถึงสระแทนที่จะปล่อยลงน้ำ กลับไปวางไว้ในง่ามกิ่งไม้ใกล้ๆ และเจาะปลาตัวนั้นกินอย่างสบายใจ ทิ้งก้างปลาลงใต้ต้นไม้นั้นเอง แล้วกลับมาที่หนองน้ำถามหาผู้ประสงค์จะเดินทางตัวต่อไป. เช่นนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า จนปลาเกือบทุกตัวไปหมดแล้ว เหลือแต่ปูตัวเดียว.  นกกระสาพูดกับปูว่า "เอาล่ะฉันจะพาเจ้าไปเหมือนกับปลาตัวอื่นๆ". แน่นอน ปูก็อยากย้ายไปอยู่ที่ดีกว่าเหมือนกัน แต่มันฉลาดเกินกว่าจะไว้ใจนกและไม่ลืมคิดเตรียมแผนป้องกันตัว. ปูปฏิเสธที่จะให้นกคาบไป อ้างว่ารูปร่างอย่างมันนั้นตกหลุดจากปากนกได้ง่ายๆ แต่ถ้ามันสามารถใช้ก้ามปูหนีบติดกับตัวนกได้ มันรู้ว่ามันจะปลอดภัยแน่นอน และเพื่อกันอุบัติเหตุจึงขอให้นกยอมให้มันหนีบคอเกาะไปดีกว่า  มันจะยอมไปโดยดี. นกกระสาออกจะหลงตัวเองที่ประสบความสำเร็จอย่างดีตลอดมา จึงประมาทตกลงตามนี้ และทั้งสองก็ออกเดินทาง. ไม่ช้าก็มาถึงสระบัว นกเบนเข้าหาต้นไม้ที่สังหารปลาตามที่มันเคยทำกับปลาทุกตัว.  ปูรีบร้องว่า "ลุง ! ลุง ! ไปผิดทางแล้ว".  " โอ้โฮ พูดเป็นลุงเป็นหลานกันเชียวรึ  เจ้าคิดว่าข้าเป็นคนรับใช้เจ้ารึไง  เหลือบดูกองก้างปลาที่โคนต้นไม้สิ  ตรงนั้นแหละที่ข้าจะกินเจ้าเหมือนกับปลาตัวอื่นๆ". "พวกปลาตกเป็นเหยื่อของความโง่เขลาเบาปัญญา แต่ข้าจะไม่ปล่อยให้เจ้ากินข้าหรอก ข้าจะหนีบคอเจ้าให้ตายคาก้ามของข้า  ถึงข้าจะตายเพราะตกลง อย่างน้อยเราก็ตายด้วยกัน".  พูดดังนั้นแล้วปูหนีบก้ามปูให้แน่นเข้าๆบีบคอนกกระสา.  เจ้านกอ้าปากพะยาบๆ น้ำตาไหลพรากและสั่นเทิ้มไปทั้งตัว. กระนั้นยังมีแรงร้องขอชีวิตว่า "นายเอ๋ย ข้าไม่กินนายแล้ว โปรดไว้ชีวิตข้าเถิด". "ก็ได้ แต่ต้องมีข้อแม้ เจ้าต้องพาข้าไปปล่อยในสระ".  ทันทีที่นกวางปูลงบนขอบสระบัว ปูออกแรงหนีบจนคอนกหลุดขาดทันที  แล้วจึงค่อยๆ คลานลงในที่อยู่ใหม่ (แน่นอนปูได้ทำสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อความยุติธรรมต่อหลายร้อยชีวิตที่นกได้ทำลาย แต่เราควรเชื่อหรือว่า พระโพธิสัตว์ได้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตหนึ่งโดยเฉพาะหลังจากที่สัญญาว่าจะปล่อย.  ทางออกของนิทานคือระบุว่า พระโพธิสัตว์ไม่ได้เป็นปูตัวนั้น แต่เป็นแมลงตัวเล็กๆ ที่อาศัยอยู่กับเปลือกต้นไม้ใกล้สระน้ำนั้น  พระองค์ไม่ได้ทำอะไรเลย แต่ได้เห็นเหตุการณ์ทุกอย่าง (มิฉะนั้นก็ไม่มีผู้เล่า). จุดอ่อนของเรื่องอยู่ที่ว่า แมลงตัวนี้ไม่อาจไปอยู่ใกล้หนองน้ำในขณะเดียวกันได้  จึงไม่อาจรู้ความเป็นไปก่อนหน้านั้นได้.
      นิทานชาดกหลายเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์เมื่อเกิดเป็นนก. เรื่องที่เราเลือกมาเล่านี้ มีปรากฏจำหลักไว้บนเสาเล็กๆเสาหนึ่งที่เมืองภารหุต (bharhut) และเล่าถึงความฉลาดเฉลียวในการต่อสู้ต้านอำนาจยั่วยุของสตรีเพศ.  เรื่องนี้เกี่ยวกับแมวที่ปรารถนาจะเป็นคู่ครองของพระโพธิสัตว์-นก โดยสัญญาว่า จะเป็นคู่ที่อ่อนหวานและยอมตนทุกอย่าง. ไม่วายที่พระโพธิสัตว์จะพยายามหว่านล้อมให้แมวเห็นว่า อันสัตว์สี่เท้ากับสัตว์สองเท้านั้นมีธรรมชาติแตกต่างกันมาก จะเป็นคู่ครองกันไม่ได้. แมวก็ยังไม่วายตามเซ้าซี้.  ในที่สุดพระโพธิสัตว์-นก ต้องตัดความเป็นสุภาพบุรุษออกชั่วคราวและแจกแจงแฉความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติของแมวว่า "เป็นสัตว์ที่กินนกหนึ่ง, เป็นสัตว์ที่กินเลือดหนึ่ง, เป็นขโมยหนึ่ง และเป็นเหมือนตัวผีร้ายสำหรับไก่หนึ่ง".  เมื่อถูกบริภาษดังกล่าว แมวรีบเผ่นไปหลบซ่อนด้วยความละอาย พ้นหูพ้นตาของนกตั้งแต่นั้นมา.
      อีกชาติหนึ่งเมื่อพระโพธิสัตว์เกิดเป็นนกหัวขวาน(ชาดกเรื่องที่ ๓๐๘). วันหนึ่งไปพบสิงโตกำลังมีกระดูกติดขวางลำคออยู่ เป็นที่ทรมานยิ่งนักเพราะทำให้ไม่อาจกลืนกินอะไรได้อีก. นกหัวขวานเสนอจะช่วยดึงกระดูกออกจากลำคอให้.  จริงอยู่นกหัวขวานมีปากแหลมยาว แต่มันก็ไม่มีลำคอยาวเหมือนนกกระยาง  มันจึงต้องเอาตัวมันทั้งตัวลงไปในลำคอของสิงโตผู้ป่วย จึงช่วยเหลือได้เต็มที่. นกหัวขวานเริ่มด้วยการเอาไม้เนื้อแข็งท่อนหนึ่งไปยันปากสิงโตไว้ เพื่อให้อ้าปากค้างไว้เช่นนั้น (แน่นอนกับชนบางจำพวก หรือกับสัตว์ร้ายบางชนิด ไม่ว่าเราจะระมัดระวังตัวอย่างไร ก็ไม่มีวันเกินกว่าเหตุ). หลังจากนั้นจึงเริ่มดึงชิ้นกระดูกที่ขวางคอสิงโต แล้วคาบออกจากปากมหึมาของสัตว์ร้าย ใช้ปากเคาะลงที่ท่อนไม้ที่ยันปากสิงโตให้หลุดลง แล้วตัวเองก็บินขึ้นไปเกาะบนกิ่งไม้ พออกพอใจกับผลงานศัลยกรรมของตน. เมื่อสิงโตเจ้าป่าหายเจ็บปวดแล้ว นกหัวขวานหวังจะได้เห็นความกตัญญูจากสิงโต แต่กลับถูกถากถางทวงบุญคุณว่า "เป็นบุญนักหนาแล้วที่เจ้าเข้าไปในปากข้าและกลับออกมาได้โดยไม่ตาย". ป่วยการที่จะบอกว่า ในเรื่องนี้ นกหัวขวานผู้มีใจช่วยผู้ตกทุกข์คือพระโพธิสัตว์และสิงโตผู้อกกตัญญูคือผู้กรุยทางบอกความไม่รู้คุณของเทวทัตในอนาคต.
      ในอีกเรื่องทำนองเดียวกันนี้ บทบาทสำคัญตกเป็นของนกกระทา.  เรารู้กันว่าในหมู่คณะสงฆ์ไม่มีการแบ่งแยกหรือถือความแตกต่างที่สืบมาจากวรรณะ ฐานะและวิชาความรู้. พระพุทธองค์ทรงยกเลิกคติการแบ่งแยกดังกล่าวภายในหมู่คณะสงฆ์ และหากจะมีการแบ่งชั้นก็ให้ถืออายุการเข้ามาบวชในศาสนาเป็นสำคัญเท่านั้น. ผู้มีอาวุโสสูงคือผู้ที่บวชเรียนมานานกว่า. ในยามที่ฝูงสัตว์ยังอยู่ด้วยกันโดยไม่ก้าวร้าวรุกรานกันนั้น  ฝูงสัตว์ต่างก็มีความรู้สึกเหมือนกันว่า ถ้าจะให้สัตว์ทั้งหลายมีชีวิตอยู่ด้วยกันฉันมิตรในสังคมสัตว์ จำเป็นต้องยอมรับหลักของความมีอาวุโสในหมู่สัตว์.  เมื่อตกลงกันตามนี้แล้ว และเพื่อหลีกเลี่ยงความไม่พอใจระหว่างกันในอนาคต  สัตว์คู่หูสามตัวอันมีนกกระทา ลิงและช้าง จึงมาร่วมตกลงกันให้แจ่มชัดลงไปว่า ใครในหมู่พวกเขาเป็นผู้มีอายุมากกว่าผู้อื่น  ผู้นั้นจะได้รับความเคารพนับถือจากทุกคน. ทั้งสามมาชุมนุมกันณไหล่เขาหิมาลัย ใต้ร่มเงาของต้นไทรต้นหนึ่ง. ช้างเป็นฝ่ายพูดขึ้นก่อนว่า "เมื่อผมยังเล็กๆ มักจะผ่านมาทางนี้บ่อยๆ และเคยก้าวท้าวข้ามต้นไทรต้นนี้อยู่เสมอ ตอนนั้นกิ่งที่สูงที่สุดของต้น ยังสูงแค่เฉียดๆสะดือของผมเท่านั้น. วันนี้ต้นไทรนี้สูงใหญ่ให้ร่มเงาแก่เราแล้ว".  ลิงพูดต่อว่า "เมื่อผมยังเล็กๆ นั่งติดพื้น เพียงยืดคอขึ้นนิดเดียว ผมก็สามารถเด็ดกัดยอดอ่อนๆของไทรต้นนี้”. นกกระทาซึ่งคือพระโพธิสัตว์ พูดเป็นคนสุดท้ายว่า "เพื่อนเอ๋ย ที่ตรงนี้เมื่อก่อนมีต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่ง เดี๋ยวนี้หายไปแล้ว ฉันเคยมากินผลของต้นนั้นบ่อยๆ และเพราะกระเพาะฉันไม่ย่อยเมล็ดผลไม้ ฉันมีเหตุผลที่จะเชื่อว่า ฉันเองแหละที่เป็นผู้หว่านเมล็ดที่เติบโตขึ้นเป็นต้นที่ให้ร่มเงาเราอยู่เดี๋ยวนี้".  เมื่อได้ยินดังนั้น เพื่อนทั้งสองต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นกกระทาเป็นผู้มีอายุมากที่สุด สมควรจะได้รับความเคารพนับถือจากทุกคน (นิทานชาดกเรื่องนี้ฉบับภาษาจีน ได้เขียนเพิ่มเติมไว้ว่า เมล็ดที่ตกลงนั้นตกจากปากนกกระทา ไม่ได้ออกมากับขี้นก ทำให้นิทานฟังดูดีกว่า).
       ยังมีนิทานอีกสามเรื่องที่เกี่ยวกับไฟไหม้ป่าซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อชีวิตสัตว์ในป่าแม้แต่พวกนกเองก็เกรงกลัว. ยามนั้นพระโพธิสัตว์เกิดเป็นหัวหน้าฝูงนกในป่า (ชาดกเรื่องที่ ๓๖). วันหนึ่งสังเกตเห็นว่าเมื่อลมพัดมา กิ่งไม้สองกิ่งของต้นไม้ใหญ่ที่ฝูงนกทำรังอยู่ เสียดสีกันอย่างน่ากลัว เพราะเปลือกไม้ค่อยๆ หลุดลงเป็นผงและมีควันออกมา.  พระโพธิสัตว์นึกเห็นภัยที่จะตามมา จึงร้องบอกให้บรรดานกหนีเอาตัวรอดไปจากต้นไม้นั้น. นกพวกที่ฉลาด เชื่อฟังและทำตาม. พากันบินหนีจากไปอย่างรวดเร็ว  ในขณะที่พวกที่โง่เง่าอวดดี ทำหูทวนลมและไม่ยอมละทิ้งที่อยู่ไป บอกตัวเองว่า "หัวหน้าเราเป็นอย่างนี้เสมอ เห็นฝูงจระเข้ในน้ำหยดเดียว".  ไม่ช้าหลังจากนั้น นกพวกนี้มองอะไรไม่เห็นเสียแล้วเพราะควันที่แผ่กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว ทั้งหมดตายในกองไฟ เป็นเหยื่อของความไม่เชื่อฟังของตนเอง.
       อีกชาติหนึ่งเมื่อพระโพธิสัตว์เกิดเป็นพันธุ์นกชนิดหนึ่งคล้ายนกกระทาแต่ตัวใหญ่กว่า.  ยามนั้นพระโพธิสัตว์อาศัยอยู่ในป่าใหญ่ใกล้เมืองกุสินาราที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้าในอนาคต. เกิดไฟป่าครั้งใหญ่ พระโพธิสัตว์-นกไม่มีที่พึ่งอื่น นอกจากความกล้าหาญของตนเอง จึงตั้งจิตว่าจะต่อสู้กับแรงไฟป่าจนตัวตาย แล้วบินจุ่มตัวลงในทะเลสาบใกล้ๆ  บินไปกระพือให้น้ำหยดลงที่กองไฟ ดับไฟไปได้แถบหนึ่ง แล้วบินกลับไปจุ่มตัวที่ทะเลสาบอีก บินกลับไปดับไฟเช่นนี้อย่างไม่ท้อถอย. เราท่านคงคิดเหมือนกันว่า เป็นพฤติกรรมที่ไร้ความหมายเสียจริงๆ แต่ความตั้งใจจริงของพระโพธิสัตว์ ทำให้เทพยดาเกิดความละอายแก่ใจและบันดาลให้ไฟดับลง.
      ในอีกชาติหนึ่งพระโพธิสัตว์-นก สามารถดับไฟป่าได้เหมือนกัน โดยไม่ต้องออกแรงขยับปีกมากถึงเพียงนั้น. ทำไมน่ะหรือ ก็เพราะพระองค์เพิ่งออกจากไข่นก ยังขยับตัวขยับปีกหรือขาไม่ได้เลย แต่นกน้อยก็แสดงตัวให้เห็นว่า จะมีอนาคตที่ไม่เหมือนใคร (ชาดกเรื่องที่ ๓๕ ฉากนี้มีปรากฏจำหลักไว้ที่โบโรบูดูร์ในอินโดนีเซีย). ยามนั้นไฟไหม้ป่า แนวไฟกำลังแผ่ไปยังรังที่นกน้อยเพิ่งตื่นลืมตาดูโลก. เมื่อรู้ว่าอันตรายจวนตัวเช่นนั้น โดยที่ตัวเองยังไม่ได้อยู่ในสภาพจะทำอะไรได้ จึงเพียงแต่พูดประกาศความจริงออกมาว่า "ปีกของฉัน ฉันยังใช้บินไม่ได้. ขาของฉัน ฉันก็ยังใช้เดินไม่ได้. พ่อและแม่ทอดทิ้งฉันไว้แต่ลำพัง. เจ้าแห่งอัคคี จงถอยไปจากเรา". เมื่อได้ยินสัจจะวาจาเช่นนั้น ไฟถอยหลังห่างออกไปสามสิบสองเมตร และดับสนิทเหมือนคบเพลิงที่ถูกจุ่มลงน้ำ.
      บ่อยๆอีกเหมือนกันที่พระโพธิสัตว์เกิดเป็นหนึ่งในพันธุ์สัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เช่น ครั้งหนึ่งเกิดเป็นวัวเชบูซึ่งเป็นวัวพันธุ์อินเดียที่มีหนอกหนึ่งหนอกอยู่กลางหลัง. ยามนั้นวัวเดินไปจมอยู่กลางสระบัวซึ่งเผอิญมีน้ำวนลง ดึงตัววัวไว้ทำให้กระดุกกระดิกไม่ได้ วัวจมลงไปครึ่งตัวแล้ว และติดอยู่อย่างนั้นมาหลายวัน. สุนัขจิ้งจอกผ่านมาเห็นสภาพ นึกกระหยิ่มยิ้มย่อง และเตรียมพร้อมที่จะกระโดดเข้าใส่วัว คิดกะสาระตะไปด้วยว่า จะมีอาหารกินไปได้หลายวันทีเดียว. แต่สุนัขจิ้งจอกไม่รู้ว่าเจ้าของวัวได้วางกับดักไว้ในบริเวณนั้น เพื่อคุ้มครองวัวจนกว่าเขาจะกลับมากับผู้ช่วย และจะดึงวัวออกจากสระน้ำวนนั้น. ระหว่างที่สุนัขจิ้งจอกเดินมองหาวิธีจู่โจม เท้าข้างหนึ่งไปเหยียบปมเชือกที่เจ้าของวัววางไว้. สุนัขจิ้งจอกจึงถูกดึงเด้งขึ้นไปห้อยต่องแต่งบนกิ่งไม้ใกล้สระบัวนั้นเอง.  วัวพูดกับสุนัขจิ้งจอกว่า "ในป่านี้ คงไม่มีใครผ่านมาและเสียเงินชมการเริงระบำกับปลายเชือกของเจ้าหรอก". ฟังดูไม่น่าจะเป็นคำพูดของพระโพธิสัตว์เพราะบาดใจเกินไป แต่พึงคิดเสียว่าเป็นความสังเวชใจของวัว เพราะได้เตือนสุนัขจิ้งจอกก่อนแล้วว่า อย่าได้คิดร้ายต่อตนเลย จะตกที่นั่งลำบาก.
       ในอีกชาติหนึ่ง พระโพธิสัตว์คราวนี้ไม่ได้เกิดเป็นวัวเชบู แต่เป็นควายผู้อดทน (ชาดกเรื่องที่ ๒๗๘ ).  ลิงตัวหนึ่งเห็นความอดกลั้นเป็นเลิศของพระโพธิสัตว์-ควาย  จึงกำเริบคะนองตน กระโดดขึ้นขี่หลังควาย  เล่นหกคะเมนตีลังกา หยอกเย้าควายต่างๆนาๆ ถึงกับเอามือไปปิดตาทั้งสองของควาย. ควายก็ยังคงรักษาอารมณ์ไว้ได้ ไม่ขุ่นมัวแต่ประการใด  เป็นที่แปลกใจแก่ผู้ได้พบเห็น เพราะถ้าควายต้องการกำจัดลิงให้พ้นหูพ้นตา ก็ทำได้ง่ายมาก.  วันหนึ่งด้วยความคึกคะนองและวางใจว่า ควายจะไม่ทำอะไรตน  ลิงกระโดดขึ้นไปโลดเล่นบนหลังควาย ตามความเคยชินของอุปนิสัยที่ไร้ความยั้งคิด แต่ครั้งนี้กลับถูกเหวี่ยงลงบนพื้นดิน และถูกเหยียบจนตายคาที่.  พระโพธิสัตว์-ควายหมดความอดกลั้นแล้วหรือนี่?  เปล่าเลย! ลิงไปหยอกผิดตัวต่างหาก.  แน่นอนควายตัวอื่นย่อมไม่ปล่อยให้ถูกล้อเลียนเล่นหัวตนแบบนั้น  (ในนิทานฉบับของจีน เล่าว่า พวกพราหมณ์ทั้งหลายอดรนทนดูความทะเล้นของลิงต่อไปไม่ไหว จึงจัดการฆ่าลิงเสียเอง) เช่นนี้ลิงทะเล้นๆย่อมตายเพราะความทะเล้นของตน. หากปรากฎมีลิงที่มีความคิดและมีสติในนิทาน ก็เมื่อพระโพธิสัตว์ถือกำเนิดเป็นลิงตัวนั้น ดังเรื่องที่เราจะเล่าต่อไปนี้
       ยามนั้นบนต้นไทรใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคา มีลิงอาศัยอยู่ตัวหนึ่ง ความใกล้ชิดเห็นกันบ่อยๆ ทำให้ลิงผูกไมตรีกับปลาโลมา (บางฉบับว่าเป็นจระเข้ บางฉบับว่าเป็นเต่า อย่างไรก็ตามเป็นสัตว์น้ำชนิดหนึ่ง). มีการแลกเปลี่ยนผลไม้ ของกินเล็กๆน้อยๆ นอกเหนือไปจากการสนทนาปราศรัยอย่างถูกคอกัน. ความใกล้ชิดของเพื่อนรักสองตัวนี้ เป็นที่หมั่นไส้ของปลาโลมาตัวเมีย อาจเป็นเพราะความโกรธขึ้งเก่าๆในชาติปางก่อนกระมัง หรือเพราะความอิจฉาริษยาในสันดาน ทำให้ปลาโลมาตัวเมียนึกอยากให้ลิงตายเสียให้พ้นหูพ้นตาตน. จึงแกล้งทำเป็นป่วย และร้องอยากกินหัวใจลิง. แน่นอน ปลาโลมาผู้เป็นสามีย่อมปฏิเสธที่จะทำร้ายเพื่อนรัก เพราะเป็นการละเมิดกฎแห่งมิตรภาพ แต่เขาไม่เคยรู้ฤทธิเดชของน้ำตาสตรี โดยเฉพาะคนใจอ่อนผู้รักใคร่ภรรยาอย่างเขา จะทนดูเธอร้องห่มร้องไห้อ้อนวอนเขาไปได้สักกี่น้ำ  (บางฉบับเล่าว่าปลาโลมาตัวเมีย  เห็นร่างอันกำยำของลิง เกิดความอยากกินชนิดกลั้นไม่อยู่ เหมือนความอยากกินของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ที่จะต้องกินสิ่งที่ตัวเองอยากให้ได้ มิฉะนั้นอาจคลุ้มคลั่งหรือถึงตายไปก็มี). สามีพยายามหว่านล้อมให้เปลี่ยนใจ ก็ไม่สำเร็จ  แม้จะชี้แจงให้เห็นว่า ลิงเป็นสัตว์บก ส่วนเขาเป็นสัตว์น้ำ จะไปจับลิงได้อย่างไร. ในที่สุด ปลาโลมาคิดหาอุบายได้. วันหนึ่งฉวยโอกาสที่เห็นลิงมาดื่มน้ำคลายร้อนที่แม่น้ำ จึงรี่เข้าไปหาและชวนคุย  เล่าให้ลิงฟังว่าบนฝั่งตรงข้ามมีผลไม้อุดมสมบูรณ์ น่าที่ลิงจะไปเก็บกินให้อิ่มปากอิ่มท้อง. "แม่คงคาทั้งกว้างทั้งลึก ฉันจะข้ามไปได้อย่างไร" ลิงพูด. ปลาโลมารีบรับอาสาจะพาไป โดยให้ลิงขี่หลังตน เมื่อไปถึงตรงกลางแม่น้ำ ปลาโลมาเตรียมจะดิ่งตัวลงในน้ำลึกเพื่อให้ลิงจมน้ำตาย. ลิงเห็นดังนั้นก็ตกใจกลัว ปลาโลมาจึงเล่าให้ฟังถึงสาเหตุที่ต้องล่อลิงมาฆ่า. เมื่อได้ฟังเรื่องราว ลิงพูดขึ้นว่า "เพื่อนเอ๋ย เพื่อนควรบอกเราตรงๆ เสียแต่แรก. ถ้าเรารู้ก่อน เราจะได้เอาหัวใจติดตัวมากับเรา. เพื่อนรู้ไม่ใช่หรือว่าลิงอย่างพวกเรามีชีวิตบนกิ่งไม้ วันๆต้องกระโดดห้อยโหนไปมาจากกิ่งหนึ่งไปอีกกิ่งหนึ่ง ไม่ได้หยุดกันเลย ถ้าเราเก็บหัวใจไว้ติดตัว หัวใจจะบอบช้ำมากเพราะถูกกระแทกอยู่เสมอ เราจึงมีธรรมเนียมเก็บหัวใจไว้กับที่อยู่. เพื่อนไม่เห็นหรือหัวใจของฉันน่ะแขวนอยู่บนกิ่งต้นไทรนั่นไง พาฉันไปขึ้นฝั่งสิ ฉันจะปลดหัวใจฉันให้เพื่อนไปเลย คิดดูให้ดีนะ วันนี้ถ้าเพื่อนกลับบ้านมือเปล่า ภรรยาจะว่าอย่างไร".  ปลาโลมาได้ฟังดังนั้น ไม่หยุดคิดให้เสียเวลาอีกต่อไป  รีบว่ายน้ำพาลิงไปส่งที่ฝั่งตามเดิม.  แน่นอนที่สุด ทันทีที่เท้าลิงเหยียบพื้น ก็อดสบประมาทปลาโลมาไม่ได้ว่า โง่เขลาเบาปัญญา เพราะพออกพอใจเป็นล้นพ้นที่สามารถหลอกผู้ที่มาหลอกตน.
      มีชาดกเล่าเรื่องพระโพธิสัตว์ช้างหลายชาติด้วยกัน ดังเราจะยกมาเล่าสองเรื่องดังนี้. ครั้งหนึ่งพระโพธิสัตว์ถือกำเนิดเป็นเจ้าชายช้าง (ชาดกเรื่องที่ ๒๖๖) อาศัยอยู่ในโขลงช้างตามไหล่เขาหิมาลัย. ยามนั้นมีปูยักษ์ตัวหนึ่งอาศัยหลบซ่อนอยู่ในทะเลสาบที่เหล่าช้างไปอาบน้ำกันบ่อยๆ. ปูยักษ์ตัวนี้ตามรังควานทำร้ายฝูงช้างอยู่เสมอจนเป็นที่หวาดหวั่นกันไปทั่ว. เจ้าชายช้างขออนุญาตพระบิดาออกไปประลองกำลังกับศัตรูตัวร้ายของโขลง. เจ้าชายคิดหาหนทางและซักถามความให้กระจ่างว่า "เจ้าปูออกมาหนีบพวกเราเมื่อไหร่ ตอนที่พวกเราลงไปในน้ำหรือตอนที่พวกเรากำลังอาบน้ำ หรือตอนที่พวกเราจะลุกออกจากน้ำ". ช้างทุกตัวตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ตอนที่พวกเขาจะออกจากน้ำ. เมื่อรู้ดังนี้เจ้าชายสั่งให้เหล่าช้างไปอาบน้ำกันตามปกติในวันรุ่งขึ้น. ตัวเจ้าชายเองจะออกจากน้ำเป็นตัวสุดท้าย. เหตุการณ์เป็นไปตามคำพูดของเจ้าชาย เมื่อเจ้าชายจะออกจากทะเลสาบ รู้สึกว่าเท้าถูกปูหนีบไว้แน่น  เหมือนแท่งทองคำในง่ามคีมเหล็กของช่างตีเหล็ก. เจ้าชายร้องครางด้วยความเจ็บปวด. ช้างอื่นๆต่างเผ่นหนีไปหมด เหลือแต่ช้างภรรยาผู้ซื่อสัตย์ของเจ้าชาย. เจ้าชายพยายามสลัดเท้าเพื่อให้ปูหลุดลง แต่ก็ไม่สำเร็จ. ภรรยาเห็นดังนั้น จึงเริ่มร้องเพลงครวญสรรเสริญปู และอ้อนวอนปูให้ปล่อยสามีของตน. เสียงเพลงบวกเสียงอ้อนวอนไพเราะจับใจปูยิ่งนัก จนในที่สุดปูใจอ่อนยอมปล่อยเท้าของเจ้าชาย.  ทันทีที่เท้าหลุดจากก้ามหนีบของปู  เจ้าชายหันหลังกลับและเหยียบลงบนตัวปู บดขยี้ศัตรูแหลกเป็นผุยผงไปทันที. ในขณะที่ฝูงช้างต่างวิ่งย้อนกลับมาร่วมวงชัยชนะด้วย. เราจะดึงคำสอนจากนิทานเรื่องนี้อย่างไรดีล่ะ พระท่านบอกว่าชีวิตปูน่ะไม่น่าใส่ใจ แต่ บทเรียนที่พึงจำไว้คือ อย่าได้หลงไหลในเสียงอิสตรี และรู้ไว้ว่าในหมู่ศัตรูของเรา ผู้ที่น่ากลัวที่สุดมักจะเป็นผู้ที่เล็กที่สุด.
       อีกชาติหนึ่ง ในสมัยของเท้าพรหมทัตผู้ครองเมืองพาราณสี(ชาดกเรื่องที่ ๓๖๗). ครั้งนั้นนกกระทาตัวหนึ่งทำรังอยู่ในพุ่มไม้ ในดินแดนหากินของฝูงช้าง. นกกระทาเพิ่งวางไข่ ฟักและกกลูกน้อยได้ไม่นาน ฝูงช้างเผอิญจะเดินทางผ่านเข้ามาในบริเวณนั้น. แม่นกกางปีกออกสองข้าง กระวีกระวาดไปพบพญาช้าง ขอให้ไว้ชีวิตลูกนกน้อยๆของตน (เนื่องจากช้างมีลำตัวใหญ่มหึมาเมื่อเดินผ่านไปทางใด และยิ่งผ่านไปทั้งฝูง ก็เหมือนกับกวาดบริเวณนั้นให้ราบเหี้ยนเตียนไปด้วย). พญาช้างตกลงตามคำขอของแม่นก และเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุพลาดพลั้งใดๆ ตัวพญาช้างเองไปยืนคร่อมรังของนกกระทาไว้ ทำให้ช้างทั้งฝูงเบนผ่านรังนกไป.  ก่อนจะจากไป พญาช้างยังเตือนให้แม่นกรู้ว่า มีช้างตกมันตัวหนึ่ง เกเรและโหดร้าย ได้แยกตัวออกจากฝูง เร่ร่อนวนเวียนอยู่ในบริเวณนั้น. และก็เป็นจริงตามคำเตือน ช้างตัวนี้ผ่านมาและไม่ยอมฟังเสียงร้องอ้อนวอนของแม่นก นึกชอบใจที่จะได้เหยียบลูกนกทั้งรังใต้ฝ่าเท้ามัน. เพียงเท้าข้างเดียวของมันก็ขยี้นกตายไปทั้งรังในบัดดลนั้นเอง. แต่ฆาตกรรมอันโหดเหี้ยมนี้ย่อมไม่ถูกปล่อยปละละเลย. แม่นกมีเพื่อนฝูงนกด้วยกัน  นกกาตัวหนึ่งจึงบินมาจิกตาทั้งสองข้างของฆาตกร แล้วแมลงวันหัวเขียวก็มาไข่ลงที่ตาซึ่งเลือดออกทั้งสองข้าง ไม่ช้าก็เกิดหนอนชอนไชที่ตาช้าง ช้างตาบอดมีไข้สูง ตอนนี้เป็นหน้าที่ของกบที่จะชักช้างไปตกเหว. กบไปร้องอยู่ที่ขอบเหว ทำให้ช้างคิดว่าตรงนั้นมีหนองน้ำ เดินไปในทิศทางนั้นแล้วตกเหวตายในที่สุด. แม่นกตามไปดูเป็นสักขีพยานและร้องอย่างมีชัยว่า "ข้าได้เห็นศพของศัตรู". ในเรื่องนี้พญาช้างคือพระโพธิสัตว์  ส่วนช้างที่พาลเกเรคือเทวทัตในอนาคต. แม่นกเป็นใครนั้นไม่ได้เจาะจงไว้.

      นิทานชาดกที่เกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ - สัตว์ในหมู่มนุษย์  ส่วนใหญ่มักต้องการชี้ให้เห็นอุปนิสัยที่ไม่ต้องทำนองคลองธรรมของมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องน่าอับอายในเมื่อมนุษย์ชอบคิดว่าตนฉลาดเหนือกว่าสัตว์อื่นใด แต่ทำไมจึงไร้ความยุติธรรม หรือไม่มีใจสูงกว่าสัตว์. นิทานชาดกเหล่านี้ บางทีก็ต้องการเน้นคุณสมบัติของสัตว์ที่มนุษย์มักคิดไม่ถึงหรือมองไม่เห็น.
      นิทานหลายเรื่องเล่าไว้ว่า  เมื่อครั้งพระโพธิสัตว์ถือกำเนิดเป็นนก ต้องคอยระวังตัวให้พ้นจากเงื้อมมือของพวกนายพรานล่านก. ยามนั้นพญามารเกิดเป็นนายพรานหากินด้วยการจับนกไปขาย. หลายครั้งที่พระโพธิสัตว์นกหนีเอาชีวิตรอดไปได้ด้วยภูมิปัญญาที่เหนือกว่า แต่ก็เคยพลาดท่าไปติดกับของนายพรานเหมือนกัน. ในกรณีนี้ แม้พระโพธิสัตว์นกผู้ถูกจับใส่กรง ก็ยังไม่จนมุม ตั้งจิตปณิธานอดอาหารจนผ่ายผอมเกินกว่าที่จะมีใครสนใจซื้อ. ในที่สุดพระองค์ก็สามารถหนีรอดกลับเข้าสู่ป่ามาตุภูมิไปได้. ในชาติอื่นๆ เมื่อพระโพธิสัตว์นกถูกจับไปได้ พระองค์ก็สามารถเบนเหตุการณ์ไปในทางที่ส่งเสริมอำนาจและศักดาของพระองค์  เช่นเมื่อครั้งพระองค์เกิดเป็นพญาห่าน ถูกนายพรานจับไป หมายจะประกอบอาหารถวายพระเจ้ากรุงพาราณสีเอาความดีความชอบ แต่พญาห่านกลับไปเทศน์ชนะใจคนในวังรวมทั้งพระเจ้ากรุงพาราณสีเอง ว่าการดำรงชีวิตอย่างมีศีลธรรมนั้นมีความอิ่มเอิบอย่างไร.
       อีกเรื่องหนึ่ง ในสมัยที่พระเจ้าพรหมทัตครองเมืองพาราณสี ยามนั้นชาวบ้านมีธรรมเนียมนิยมแขวนตระกร้าไว้ตามชายคาบ้านเพื่อให้นกได้ใช้เป็นรัง ถือว่าเป็นกุศลกรรมอย่างหนึ่ง. พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดเป็นนกพิราบและได้มาอาศัยอยู่ในรังแบบนั้น เป็นรังที่พ่อครัวแขวนไว้ที่ชายคาบ้านของเจ้านายผู้เป็นนายธนาคารมีเงินคนหนึ่ง. ความที่พระโพธิสัตว์-นกพิราบไม่เคยคิดลักเล็กขโมยน้อยอาหารอะไรจากครัว จึงเป็นที่ไว้วางใจของพ่อครัว จนสามารถบินเข้าออกในครัวได้ทุกเมื่อ. ยามเดียวกันนั้นมีนกกาตัวหนึ่งได้กลิ่นหอมโอชาจากครัวของบ้านนายธนาคารอยู่เสมอ ก็รู้สึกทรมานใจทรมานท้องตนยิ่งนัก ได้แอบดูพฤติกรรมของนกพิราบ หมายไว้ในใจว่าจะใช้นกพิราบเป็นเครื่องมือเพื่อให้ตัวเองได้อิ่มท้อง. วันหนึ่งก็เข้าไปตีสนิทกับนกพิราบ ยกย่องเยินยอขอเป็นมิตรสนิท ตกเย็นนกพิราบจึงพากลับมาที่รังชายคาบ้านนายธนาคาร. พ่อครัวผู้ใจดีเห็นว่านกพิราบพาเพื่อนมาอยู่ด้วย ก็จัดแจงแขวนตะกร้าอีกตระกร้าหนึ่งเพื่อให้เป็นรังของกา. นกพิราบเสี้ยมสอนความประพฤติให้กาทำตามอย่างเคร่งครัด และกาก็ตั้งอยู่ในความซื่อสัตว์ ไม่ลักขโมยเลย เป็นเวลาติดต่อกันได้สามสี่วัน. แต่เมื่อพ่อครัวได้ปลามาข้องใหญ่ ยั่วยวนใจที่สุด กาไม่อาจทานอำนาจความตะกละของตนได้. เช้าวันนั้น มิไยที่นกพิราบจะร้องเรียกกาเพื่อออกไปหาอาการกันตามประสาที่เคยทำกัน กาก็ไม่ยอมออกจากรัง เสแสร้งโอดครวญว่า ตนกำลังปวดท้องไม่อาจจะออกไปหาอาหารได้ในวันนั้น. นกพิราบนึกสงสัยอยู่เหมือนกัน เพราะไม่เคยได้ยินว่านกกาปวดท้องเป็น แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรจึงออกไปหาอาหารกินตามลำพัง. ฝ่ายพ่อครัวเมื่อตระเตรียมล้างปลาเสร็จ ก็จัดปรุงแต่งปลาด้วยเครื่องเทศต่างๆ หวังจะแสดงฝีมืออวดเจ้านายเต็มที่. เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว ระหว่างคอยเวลาอาหาร เขาปิดครอบถาดปลาตามปกตินิสัยที่ละเอียดลออของเขา แล้วเดินออกไปรับลมและซับเหงื่อ. เจ้ากาผู้แอบสังเกตการณ์อยู่ เห็นว่าโอกาสเหมาะมาถึงแล้ว จึงพุ่งเข้าใส่ถาดปลา. แน่นอนกระทบฝาครอบก่อน ทำให้เกิดเสียงขึ้น. พ่อครัวรี่ถลาเข้าไปในครัวทันทีทันควันเหมือนกัน และเร็วพอที่จะคว้าตะครุบปีกของกาไว้ได้. กาไม่รู้หรอกว่า พ่อครัวที่พิถีพิถันไม่ชอบให้ใครคนอื่นมาแตะต้องอาหารที่ตนเตรียมไว้. นี่เป็นสัตว์เดียรัจฉานที่หมายจะมาขโมยกิน ยิ่งไม่มีวันให้อภัยได้. พ่อครัวนอกจากมือไวยังหัวไว จัดการถอนขน ชโลมทาน้ำมันและซอสทั่วตัว แล้วส่งลงทอดเป็นอาหารของตนเสียเลยในวันนั้น. ก่อนสิ้นใจ เจ้ากายังได้ยินคำสอนของนกพิราบที่เคย พร่ำบอกถึงผลร้ายของความตะกละ.
      เป็นที่รู้กันว่า กาเป็นสัตว์ที่ตะกละมาก ชอบลักขโมยอาหาร เป็นนกที่ไม่มีใครชอบหรือไว้ใจ  ถึงกระนั้นก็ปรากฏเล่าไว้เหมือนกันว่ากาก็รู้จักเสียสละอุทิศชีวิต. แน่นอนเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นในยามที่พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดเป็นพญากานั่นเอง(ชาดกเรื่องที่ ๒๙๒). เรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่งศรีภรรยาของพญากา เกิดความอยากลิ้มรสพระกระยาหารชนิดต่างๆจากโต๊ะเสวยของเจ้าเมืองพาราณสี. แน่นอน นางรู้ว่าการนี้นางจะหวังพึ่งพระสวามีไม่ได้ เพราะความเป็นพญากาทำให้ต้องเกาะประทับอยู่กับแท่นให้เป็นสง่าราศีต่อบริวาร และแน่นอนผู้เล่าชาดกเรื่องนี้ ย่อมไม่กล้าเล่าพาดพิงถึงพระองค์ให้ชื่อเสียงมัวหมอง. นางกาศรีภรรยาจึงจับตาสังเกตบริวารกาทั้งหมดแปดหมื่นตัว เพื่อหาผู้เหมาะสมกับราชกิจนี้. ไม่นานก็เลือกได้  เป็นกากัปตันหนุ่มช่างประจบเอาใจและอาจหาญพร้อมจะรับใช้นางพญากาโดยไม่เสียดายชีวิต. กัปตันหนุ่มเริ่มด้วยการบุกเข้าตะครุบอาหารโดยตรงจากกระทะและหม้อในครัวหลวง. หลายครั้งเข้าพ่อครัวและลูกครัวพากันคลุมตาข่ายปิดทางเข้าออกห้องครัว.  กัปตันกายังไม่ยอมละทิ้งหน้าที่ง่ายๆ เปลี่ยนแผนไปดักตระครุบอาหารจากถาดขณะที่พ่อครัวแบกไปสู่โต๊ะเสวย. พ่อครัวก็ไม่ยอมแพ้เหมือนกัน เอาฝาชีครอบถาดอาหารเสียจนมิดชิด. เมื่อการณ์เป็นเช่นนี้ กัปตันกาตรงเข้าจิกจมูกของคนแบกอาหารเสียเลย. แน่นอน ด้วยความตกใจและยังเจ็บตัว คนแบกปล่อยถาดอาหารตกหลุดจากมือ กัปตันกาก็รีบฉวยโอกาสบินเข้าตะครุบอาหารชิ้นใหญ่ที่สุดในถาดไปถวายนางพญากาอีกจนได้.  เป็นอย่างนี้อยู่ได้พักหนึ่ง ในที่สุดกัปตันกาถูกจับตัวไปอยู่ต่อหน้าพระพักตร์เจ้าเมืองพาราณสีเพื่อรับพิจารณาโทษ แต่พระเจ้าพาราณสีทรงตัดสินยกโทษให้กัปตันกา แถมยังทรงยกย่องความกล้าหาญและความจงรักภักดีของเขาที่มีต่อเจ้านาย.
      มีสิบกว่าชาติที่พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดเป็นกวาง ที่น่าเล่าสู่กันฟังก็มีหลายเรื่อง เช่น ยามเมื่อพระองค์เกิดเป็นกวางมิตรสนิทกับนกหัวขวานตัวเขียวตัวหนึ่งและเต่าอีกตัวหนึ่ง. สามสหายอยู่ด้วยกันในความสงบสุขริมฝั่งทะเลสาบกลางป่าใหญ่แห่งหนึ่ง. วันหนึ่งมีนายพรานผ่านเข้าไปในป่านั้น และสังเกตเห็นรอยเท้ากวางที่มุ่งไปยังทะเลสาบเพื่อดื่มน้ำ จึงทำกับดักเป็นห่วง ใช้เชือกหนังอย่างดีเลย. หมายจะกลับไปดูในวันรุ่งขึ้น มั่นใจเต็มที่ว่าจะได้ตัวกวางอย่างแน่นอน. กลยุทธ์ของนายพรานได้ผลตามที่คาดไว้. กวางผู้น่าสงสารถูกกับดักเหนี่ยวขาไว้ข้างหนึ่ง สลัดอย่างไรก็ไม่หลุดไม่ขาด. เสียงครวญของกวางทำให้นกหัวขวานบินรี่เข้าไปดู ส่วนเต่าก็กระวีกระวาดออกจากรูของมันเพื่อมาช่วยเพื่อน. ทั้งสามปรึกษาหารือกัน เพื่อให้เต่ามีเวลากัดแทะเชือกหนังที่ผูกขากวางให้หลุดออก  นกหัวขวานจะพยายามไปล่อนายพรานให้มาถึงล่าช้าลง. เช้าตรู่วันนั้น นายพรานตื่นขึ้นได้ คว้ามีดสำหรับล่าสัตว์ ก็เปิดประตูกระท่อมหมายจะตรงไปในป่าเพื่อจับกวางที่ดักไว้. แต่พอเปิดประตูก็เห็นนกหัวขวานวนเวียนอยู่ตรงหน้าบ้าน. นายพรานรู้ว่าการเห็นนกหัวขวานแต่เช้านั้นเป็นลางที่ไม่ดีนัก ก็ผลุนผลันกลับเข้าไปในบ้าน และเพื่อหลีกเลี่ยงลางร้ายที่เห็นตรงหน้าบ้าน  นายพรานจึงคิดออกไปทางประตูหลัง. แต่นกหัวขวานบินมาดักอยู่ก่อนแล้วที่ตรงประตูหลัง. นายพรานกลับเข้าไปในกระท่อมใหม่เพื่อไปออกประตูหน้า  แล้วก็ต้องกลับเข้าไปอีกเพื่อไปออกประตูหลัง. เช่นนี้หลายครั้งหลายครา จนในที่สุดนายพรานเลิกสนใจเจ้านก ตรงไปในป่า. กว่าจะถึงที่วางกับดักไว้ก็สายมากแล้ว  เขาทันเห็นกวางสลัดห่วงที่ตรึงขามันไว้หลุดออกไปได้ และวิ่งหายไปในป่าใหญ่นั้น. ส่วนเต่ายังคงอยู่ที่ตรงนั้น หอบด้วยความเพลีย หลังจากที่ได้ใช้กำลังทึ้งและกัดจนเชือกหนังขาดออก. นายพรานแค้นที่เหยื่อหลุดไปได้ เห็นเต่าก็เข้าไปคว้าตัวไว้ จับทิ้งลงในย่ามแบกขึ้นหลังออกจากป่า หมายจะนำเต่าไปแกงกินเสีย ในเมื่อพลาดเหยื่อตัวสำคัญ ได้เต่าไปกินยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย.  คราวนี้เป็นทีของกวางที่ต้องมาช่วยชีวิตเต่าเพื่อนยากของมัน. กวางรู้เรื่องเพราะนกหัวขวานผู้เห็นเหตุการณ์บินมาบอก. กวางตัดสินใจวิ่งกลับมายังนายพราน ทำเดินขาเป๋เพื่อล่อใจนายพรานให้ออกตามตน. ได้ผลดีเกินคาด. นายพรานทิ้งย่ามลงทันทีเพื่อจะได้วิ่งเร็วขึ้น. กวางล่อนายพรานออกไปไกลในป่าพอสมควรแล้ว ก็หันหลังกลับวิ่งควบฝีเท้าเต็มที่มาช่วยเต่า เอาเขาทิ่มแทงย่ามจนขาดปล่อยเต่าออกจากย่ามที่คุมขังได้สำเร็จ(นี่เป็นนิทานชาดกเรื่องที่๔๘๖). เรื่องเดียวกันนี้ในนิทานของลาฟงแตน ( La Fontaine, XII ) เพิ่มบทบาทของหนูเข้าไปอีกตัว และหนูกลายเป็นตัวเอกของเรื่องไป. อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องการเน้นเหมือนกันในทุกฉบับ คือต้องการให้นิทานเรื่องนี้สื่อชัยชนะของมิตรภาพ สรรเสริญความมีน้ำใจต่อกันระหว่างเพื่อนฝูง.
      อีกเรื่องหนึ่งที่แสดงน้ำใจอันบริสุทธ์ของกวาง คือนิทานชาดกเรื่องที่ ๑๒. ยามนั้นเทวทัตได้มาเกิดเป็นกวางจ่าฝูงร่วมกับพระโพธิสัตว์-กวาง ดูแลฝูงกวางกว่าพันตัว ในบริเวณป่าที่สงวนไว้เพื่อการล่าสัตว์โดยเฉพาะของเจ้าเมืองพาราณสี. เจ้าเมืองพาราณสีตอนนั้นนิยมการล่าสัตว์ยิ่งนัก โดยไม่คำนึงถึงชีวิตของพวกกวางที่ล้มตายลงต่อหน้าต่อตาทุกวันเป็นจำนวนมากโดยเปล่าประโยชน์.  พวกกวางที่โดนธนูบาดเจ็บและหนีไปตายในป่าลึกที่ที่คนจะตามไปไม่พบ ก็มีไม่น้อย. ทำให้พระโพธิสัตว์-กวางเศร้าใจยิ่งนัก จึงไปเสนอเจ้าเมืองพาราณสีว่า จะบริการส่งกวางไปให้พระองค์วันละตัว แต่ขอให้พระองค์หยุดทำร้ายฝูงกวางที่อยู่ในความดูแลของตนและกวางของเทวทัต. เจ้าเมืองตกลงเห็นชอบด้วย. พระโพธิสัตว์-กวางกับพระเทวทัต-กวางจึงผลัดกันเลือกกวางจากฝูงที่อยู่ในความดูและของตนไปให้พ่อครัวของเจ้าเมืองเพื่อประกอบเป็นอาหาร. การเลือกนี้ใช้วิธีจับสลากทุกวัน. วันหนึ่งเป็นคราวของกวางแม่ลูกอ่อนตัวหนึ่งที่ได้รับเลือก. นางร้องขอเทวทัต-กวางจ่าฝูงว่า ขอให้นางคลอดลูกก่อนแล้วจะยินยอมไป. แต่เทวทัต-กวางผู้มีใจแข็งเพิกเฉยไม่ยอม. กวางตัวอื่นๆ ก็ทำหูทวนลมเสีย. กวางแม่ลูกอ่อนหมดหนทาง จึงหันไปขอพึ่งพระโพธิสัตว์-กวาง. แน่นอนพระโพธิสัตว์ผู้มีใจบุญเสมอ ย่อมอนุมัติให้ตามที่นางขอ และเสนอตัวเองไปเป็นอาหารของเจ้าเมืองพาราณสีในวันนั้น เพราะไม่อยากบังคับให้กวางตัวอื่นไปตายเร็วกว่าที่ชะตาของตนกำหนดไว้. เมื่อพ่อครัวหลวงเห็นพญากวางเดินเข้าไปหาเขาอย่างองอาจพร้อมที่จะถวายชีวิตเพื่อปฏิบัติตามคำสัญญาที่ให้ไว้ต่อเจ้าเมือง. เขาอดหวั่นไหวไม่ได้ และฆ่าพญากวางไม่ลง. วิ่งไปกราบทูลเรื่องราวต่อเจ้าเมืองพาราณสี เจ้าเมืองเห็นความเสียสละและความมีน้ำใจของพญากวาง รู้สึกประทับใจมาก. สั่งห้ามล่ากวางอย่างเด็ดขาดตั้งแต่บัดนั้น. แล้วพระองค์ก็เริ่มเสวยแต่อาหารผักตั้งแต่นั้นมา. เจ้าเมืองพาราณสีคนนี้ไม่ใช่ผู้อื่นใด คือผู้ที่จะเกิดเป็นพระเจ้าอโศกมหาราชในสมัยพุทธกาลนั่นเอง.
      มีเรื่องเล่าว่า ต่อมาแม้ชาวนาจะประท้วงกฏห้ามล่าสัตว์ เพราะทำให้จำนวนกวางเพิ่มขึ้น และกวางเหล่านี้ไปแทะเล็มกินพวกพืชผักที่ชาวนาปลูกไว้เสียหายมากขึ้นกว่าก่อนๆ  แต่เจ้าเมืองก็ไม่ยกเลิกกฎบัญญัติห้ามการล่าสัตว์. บริเวณป่าตรงนั้นต่อมาได้ชื่อว่าเป็นสวนกวางหลวงและกลายเป็นสถานภิกขาจารแห่งหนึ่งที่ชาวพุทธนิยมไป อยู่ทางทิศเหนือของเมืองพาราณสี  เพราะในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปแสดงเทศนาโปรดสัตว์ที่นั่นด้วย.
       เรื่องทำนองเดียวกันนี้ ก็ยังมีปรากฏเล่าไว้ในนิทานชาดกอื่นๆ เช่น ในยามที่พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดเป็นพญาวานรในหมู่ลิงแปดหมื่นกว่าตัว (นิทานชาดกเรื่องที่ ๔o๗). ยามนั้นลิงทั้งหมดอาศัยอยู่อย่างมีความสุขในป่าใหญ่แถบเขาหิมาลัย และเลี้ยงปากลี้ยงท้องด้วยผลไม้จากต้นไม้ต้นมหึมาต้นหนึ่งที่สูงเกือบจรดสวรรค์เลยทีเดียว (บางฉบับบอกว่าเป็นต้นมะม่วงใหญ่ บางฉบับเจาะจงว่าเป็นต้นมะเดื่อ) แต่สิ่งที่เรายืนยันได้อย่างแน่นอนคือ ผลไม้ต้นนี้ลูกงามและรสหวานอร่อยชนิดหาผลไม้อื่นใดมาเปรียบไม่ได้เลย. ปัญหามีอยู่ว่า กิ่งใหญ่กิ่งหนึ่งตกทอดลงเหนือแม่น้ำคงคา  พญาวานรผู้มองเห็นการณ์ไกล ได้กำชับกำชาลูกน้องทั้งหมดว่า อย่าได้ทิ้งให้กิ่งนั้นมีผลไม้สุกงอมเป็นอันขาด ถ้าพวกเขาอยากจะคุ้มครองผลประโยชน์ของตนเอง อยากมีผลไม้อร่อยๆกินต่อไปอย่างสุขสบายใจ. แต่แม้ว่าบรรดาลิงจะกวดขันดูแลกิ่งนั้นอยู่เสมอ ปรากฏว่ามีผลไม้ลูกหนึ่งเล็ดลอดสายตาของพวกลิงไปได้  เนื่องจากมีรังมดแดงห่อหุ้มผลนั้นอยู่.  ในที่สุดผลไม้ลูกนั้นสุกและล่วงตกลงและไหลไปกับสายน้ำของแม่คงคา จนไปติดอยู่กับตาข่ายที่ขึงกันน้ำรอบๆบริเวณที่สรงสนานส่วนพระองค์ของเจ้าเมืองพาราณสี. เจ้าเมืองทอดพระเนตรเห็นผลไม้ที่สุกงอมน่ากินเช่นนั้น ก็ทรงหยิบขึ้นเสวย (โดยไม่ลืมให้มหาดเล็กคนหนึ่งกินดูก่อนว่ามีพิษมีภัยหรือไม่) แน่นอนเมื่อเจ้าเมืองพาราณสีได้ลิ้มรสอันวิเศษของผลไม้นั้นแล้ว ย่อมไม่มีวันพอพระทัยในผลไม้อื่นใดอีกเลย และมีพระประสงค์อยากเสวยอีก. มหาดเล็กนักเดินป่าจึงกราบทูลให้เสด็จทวนน้ำขึ้นไปหาต้นไม้ที่มีผลรสเลิศนั้น. เหตุการณ์จึงเป็นไปตามที่พญาวานรได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า. พระเจ้าพาราณสีพากองทัพทวนน้ำขึ้นไปหาต้นไม้ดังกล่าว ในที่สุดเย็นวันหนึ่งก็เข้าไปใกล้ต้นมะเดื่อใหญ่. ทรงเห็นและแน่พระทัยว่าเป็นต้นไม้ที่ทรงแสวงหาอยู่ เพราะเห็นลำต้นมหึมาได้แต่ไกล แถมยังได้กลิ่นหอมจากต้นไม้นั้นด้วย.  นอกจากนี้ยังทรงเห็นว่า บนกิ่งก้านสาขาของต้นไม้ใหญ่นี้ มีฝูงลิงอาศัยอยู่ กำลังกินผลไม้อันโอชะที่พระองค์สู้อุตส่าห์เดินทางตามหามาจนถึงที่ด้วยความลำบาก ก็ทรงไม่พอพระทัยมาก ถือว่าลิงพวกนี้ไม่ใช่คู่แข่งที่คู่ควรกับพระองค์ จึงมีบัญชาสั่งให้ทหารเข้าล้อมต้นมะเดื่อ ให้พวกนายธนูเตรียมพร้อมที่จะยิงฝูงลิงให้กระจัดกระจายไปตอนตะวันรุ่ง. ฝ่ายลิงพากันแตกตื่นที่ถูกล้อม แต่พญาวานรปลอบให้หายกลัว พร้อมกับเริ่มแผนยุทธศาสตร์. นั่นคือ พญาวานรกระโดดข้ามไปที่ฝั่งตรงข้าม (แน่นอนมีพญาวานรเท่านั้นที่สามารถกระโดดไกลข้ามแม่น้ำคงคาได้) แล้วเลือกหาต้นไม้ที่ลำต้นใหญ่แข็งแรงพอ หาหวายไว้เส้นหนึ่งที่ขนาดยาวพอเหมาะผูกกับลำต้นนั้นข้างหนึ่งและกับขาตัวเองอีกข้างหนึ่ง หลังจากนั้นก็กระโดดกลับไปที่ต้นมะเดื่อเพื่อช่วยลูกน้องทั้งฝูง แต่ความกว้างของแม่น้ำคงคาในตอนนั้นทำให้พญาวานรต้องยื่นแขนสองข้างออกเพื่อฉวยกิ่งจากต้นมะเดื่อใหญ่ฝั่งนี้ให้ได้. เช่นนี้เอาตัวเองเป็นสะพานเชื่อมสองฝั่งของแม่น้ำคงคา และสั่งให้ฝูงลิงทั้งหมดปีนข้ามบนตัวเพื่อไปสู่ที่ปลอดภัยบนฝั่งตรงข้าม. ลิงทั้งหลายต่างพยายามทำตัวให้เบาที่สุดเพื่อช่วยลดความลำบากของพญาวานร ยกเว้นลิงเทวทัตที่นอกจากจะทิ้งน้ำหนักตัวของตนลงอย่างเต็มที่แล้ว  ตอนที่ไปเหยียบอยู่บนตัวของพญาวานร ยังพยายามกระทืบเพื่อให้ม้ามของพญาวานรแตก แต่ก็ไม่สำเร็จ. เช้าตรู่วันรุ่งขึ้น เจ้าเมืองพาราณสีทรงเห็นว่า ฝูงลิงทั้งหลายได้ย้ายออกไปจากต้นมะเดื่อใหญ่นั้นเกือบหมดแล้ว และยังเห็นพญาวานรตรึงตัวเองในสภาพของสะพานอยู่ ท่าทางเหนื่อยอ่อนไปทั้งตัว เจ้าเมืองรู้สึกประทับใจ และละอายแก่ใจตนเองยิ่งนัก. สั่งให้ทหารเอาผ้าห่มผืนใหญ่ไปขึงรองรับตัวพญาวานรข้างล่างต้นมะเดื่อใหญ่ เพื่อให้พญาวานรทิ้งตัวลงไปได้โดยไม่เจ็บตัว. ในภาพศิลาจำหลักของนิทานเรื่องนี้ที่เมืองบารหุต (Barhout) จำหลักให้เห็นว่า หลังจากนั้นเจ้าเมืองพาราณสีและพญาวานรได้นั่งสนทนากันอย่างเทียมบ่าเทียมไหล่ ในฐานะของกษัตริย์ผู้เป็นมิตรที่ดีต่อกัน. พวกลิงจะได้กลับไปอยู่กินบนต้นมะเดื่ออีกไหม อย่างไร ไม่มีการเล่าต่อ เพราะไม่ใช่จุดสำคัญที่นิทานชาดกต้องการสอน.
      นิทานชาดกที่เล่าเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์-ช้าง ก็มีหลายเรื่อง. เรื่องที่มีชื่อเสียงที่สุดคงเป็นชาดกที่เกี่ยวกับพญาช้างหกงวง (นิทานชาดกเรื่องที่ ๕๑๔). ยามนั้นพระโพธิสัตว์-ช้างปกครองฝูงช้างกว่าแปดหมื่นตัวในหุบเขาลึกกลางป่าหิมพานต์ อยู่กันด้วยความสงบสุขเพราะยังไม่มีนายพรานแกะรอยไปถึงถิ่นนั้นได้. ความยุ่งยากเกิดขึ้นเพราะพญาช้างมีภรรยายอดรักสองตัว. วันหนึ่งพญาช้างเผอิญไปได้ดอกบัวสวยงามมาดอกหนึ่งจึงมอบให้กับภรรยายอดรักตัวหนึ่ง. ช้างภรรยาอีกตัวหนึ่งไม่ได้ ความน้อยใจในพญาช้างสวามี บวกกับความอิจฉาของสตรีเพศทำให้นางช้างตัวนี้กลั้นใจตาย. ก่อนสิ้นลม นางได้ตั้งปณิธานอย่างแรงกล้า ขอเกิดใหม่เป็นศรีภรรยาของเจ้าเมืองพาราณสี เพื่อจะได้มีโอกาสแก้แค้น. อาจเป็นเพราะนางช้างตัวนี้เคยทำบุญมามากพอสมควร  คำอธิฐานของนางก่อนตายจึงกลายเป็นความจริงขึ้นมา. นางเกิดใหม่และยังรำลึกชาติกำเนิดก่อนของนางได้. ทันทีที่ได้เป็นพระราชินีของเจ้าเมืองพาราณสี นางก็เริ่มคิดหาลู่ทางที่จะแก้แค้นคู่ปรับเก่า. มารยาอิสตรีทำให้นางแกล้งเก็บตัว ขังตัวเองใบหน้าโศกสลด. นางสนองพระโอษฐ์ต่างตระหนกตกใจที่เห็นอาการพระราชินีคร่ำครวญปานจะสิ้นลม หากไม่ได้งวงพญาช้างที่นางเห็นในฝันมาครอบครอง. แน่นอนเมื่อเจ้าเมืองพาราณสีทรงทราบเรื่อง ก็ทรงสั่งประชุมนายพรานผู้ชำนาญป่าทั้งราชอาณาจักร ทรงเลือกคนที่เก่งที่สุดไว้. พระราชินีชี้ทางไปสู่ถิ่นของพญาช้าง นายพรานจึงสามารถแกะรอยเข้าไปใกล้ฝูงพญาช้างได้สำเร็จ. พรานรู้ดีว่าจุดอ่อนของช้างอยู่ที่ท้องเท่านั้น จึงขุดหลุมลึกลงแล้วซ่อนตัวอยู่ในหลุมคอยดักพญาช้าง. เมื่อพญาช้างผ่านมาก็ยิงธนูพุ่งตรงไปที่ท้องช้าง (บางฉบับบอกอีกว่า ธนูนั้นอาบยาพิษ).  พญาช้างเจ็บปวดส่งเสียงร้องลั่นป่าซึ่งทำให้ฝูงช้างต่างพากันวิ่งหนีเอาตัวรอดตามปรกติวิสัย. เหลือแต่พญาช้างต่อหน้าฆาตกร. ความมีใจเมตตาของพญาช้างทำให้พญาช้างไม่ทำร้ายนายพราน (เพราะถ้าหากจะทำ ก็ง่ายมากเหยียบลงที่หลุมก้าวเดียวก็พอ นายพรานหรือจะรอดชีวิตไปได้) และยังบอกอนุญาตก่อนสิ้นใจให้นายพรานเอางวงไปได้ทั้งหมด. การที่ผู้แต่งนิทานชาดกต้องเจาะจงเรื่องนี้ เพื่อให้เราระลึกไว้ว่า วิธีการให้ทาน มีความสำคัญพอๆกับทานหรือสิ่งของที่ให้. อีกประการหนึ่งมีเล่าเพิ่มเติมไว้ว่า นายพรานเจ้าเล่ห์แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าของนักบวชผู้ธุดงค์ผ่านเข้าไปในป่าใหญ่แห่งนั้น เพื่อไม่ให้พญาช้างสงสัย เขาจึงสามารถเข้าไปประชิดตัวพญาช้างได้ในที่สุด. นายพรานได้งวงช้างทั้งหมดไปถวายพระราชินีตามพระประสงค์. เมื่อพระราชินีเห็นงวงช้างวางสยบอยู่แทบเท้า ทรงระลึกถึงพญาช้างผู้เคยเป็นสวามีสุดที่รักในชาติปางก่อน หรือทรงเสียใจสำนึกผิดในความใจดำของนางเอง หรืออาจจะเป็นความรู้สึกรุนแรงทั้งสองอย่างรวมกันอย่างปัจจุบันทันด่วน ทำให้นางล้มหงายหลังสิ้นใจในนาทีนั้น.
      มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าในภาพจารึกหรือศิลาจำหลักเหตุการณ์แบบต่างๆในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า  เมื่อมีภาพช้างก็มักมีภาพม้าอยู่ด้วย ทำให้เรารู้ว่า ต้องมีนิทานชาดกเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์-ม้า. ม้าและโดยเฉพาะม้าศึกเป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์เจ็ดอย่างที่แสดงความเป็นพระราชาธิบดีในสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ประเทศไหน และโดยเฉพาะในอินเดียโบราญ. พระราชาผู้มีม้าพันธุ์เลิศเลือดบริสุทธิ์ ยิ่งเป็นที่เกรงกลัวของข้าแผ่นดินและของเมืองอื่นๆ พอๆกับที่มีพญาช้างเผือกไว้ในครอบครอง. ม้าและช้างที่มีคุณสมบัติเลิศหาไม่ได้ง่ายๆโดยเฉพาะในอินเดีย ภูมิอากาศไม่อำนวยต่อการเลี้ยงและขยายพันธุ์ม้า เลือดบริสุทธิ์ ม้าและช้างดีๆ จึงเป็นเสมือนสิ่งค้ำประกันความมั่นคงของกษัตริย์และของราชอาณาจักร. นิทานชาดกเรื่องที่จะเล่านี้(ชาดกเรื่องที่ ๒๕๔) มีความว่า ครั้งหนึ่งมีนายคาราวานจากแดนหุบเขาทางเหนือของอินเดีย ต้อนฝูงม้าของตนลงมาขายในดินแดนภาคกลางของประเทศ. ปรากฏว่ามีม้าตัวเมียในฝูง ท้องแก่จวนคลอด ม้าทุกตัวในฝูงต่างเกิดความรู้สึกสังหรณ์ชัดเจนว่า ลูกม้าที่จะเกิดมาเป็นม้าเลือดบริสุทธิ์แท้. ม้าแต่ละตัวต่างตั้งอยู่ในความสงบตั้งแต่บัดนั้น ไม่ร้องส่งเสียงให้หนวกหู เหมือนเกรงจะรบกวนม้าน้อยในท้องแม่ และเมื่อม้าน้อยลืมตาดูโลกแล้ว ม้าทั้งหลายต่างปฏิเสธไม่ยอมเดินทางไกล. เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้นายคาราวานวิตกกังวลยิ่งนัก พลางสงสัยว่ามีโรคระบาดในฝูงม้าของตนหรือไฉน. ไปๆมาๆ ก็เลยเอาผิดที่เจ้าม้าน้อยที่เพิ่งเกิด ว่าเป็นผู้นำเคราะห์มาสู่ตน. เนื่องจากความล่าช้าที่เกิดขึ้น ทำให้ฝูงคาราวานไปติดฤดูฝนที่แถบเมืองปุตจิตะกะ (Poudjitaka).  นายคาราวานคิดคำนึงอยู่ในใจว่า ถ้าเขาฝืนต้อนฝูงม้าเดินทางต่อไปตามแผน กีบเท้าของม้าจะชอกช้ำเกินไป หมดราคาลงได้ จำเป็นต้องรอค้างอยู่บริเวณนั้นจนกว่าฤดูฝนจะล่วงผ่านไป.  ระหว่างสามเดือนที่พักแรมอยู่ที่นั่น นายคาราวานก็ได้ถือโอกาสใช้บริการของนายช่างพื้นบ้าน ก่อนต้อนฝูงม้าเดินทางต่อไป เขาก็จัดการจ่ายค่าแรงงานต่างๆแก่นายช่างที่มาทำงานให้เขา. ในหมู่คนงานชาวบ้าน มีช่างปั้นหม้อคนหนึ่งรวมอยู่ด้วย. ความที่เขารีรอล้าหลังเพื่อน เมื่อเขาไปขอค่าบริการกับนายคาราวาน  นายคาราวานบอกเขาว่าเขามาช้าเกินไปเพราะเขาไม่มีเงินสดเหลือแล้ว แต่อย่างไรก็ตามถ้าช่างปั้นหม้อต้องการ เขาจะยกลูกม้าที่เพิ่งเกิดให้เขาเป็นค่าตอบแทน. ช่างปั้นหม้อบ่นอุบอิบว่า คงจะเป็นโชคชิ้นเอกล่ะสิ เพราะเมื่อเขาปั้นหม้อเสร็จ เจ้าม้าน้อยก็จะเป็นผู้ทุบหม้อแตก. เจ้าม้าน้อยได้ยินคำสนทนาดังกล่าว และนึกอยากจะไปให้พ้นจากนายเก่าที่คิดร้ายกับตนอยู่เสมอ จึงเดินเข้าไปเลียแข้งเลียขาของช่างปั้นหม้อ ทำท่าประจบเอาใจ. ช่างปั้นหม้อนึกเอ็นดูเจ้าม้าน้อยขึ้นมา ในที่สุดก็ยอมรับม้าน้อยแทนค่าแรงงานของตน. ภรรยาช่างปั้นหม้อเห็นว่าได้ม้ามาแทนก็บ่นทำนองเดียวกันว่า  เจ้าม้าน้อยจะเดินเตะหม้อไหที่ตนอบแห้งและวางผึ่งไว้ให้แหลกละเอียดแน่ทีเดียว. เจ้าม้าน้อยได้ยินก็เดินเข้าไปเลียแข้งเลียขาประจบนางเช่นเดียวกับที่ทำต่อช่างปั้นหม้อ. นางใจอ่อนลงด้วยความเอ็นดู. เจ้าม้าน้อยยังแสดงให้เห็นว่าตนสามารถเดินไปมาในกองหม้อโดยไม่เผลอเหยียบหม้อไหใดแตก. ในที่สุดก็กลายเป็นสมาชิกของบ้านช่างปั้นหม้อ. วันหนึ่งเมื่อช่างปั้นหม้อต้องออกไปหาดินเหนียวมาใช้ถุงหนึ่ง เจ้าม้าน้อยก็เดินตามไปด้วย.  เมื่อช่างปั้นหม้อหิ้วถุงมา เจ้าม้าน้อยก็ยื่นหลังเหมือนจะบอกให้นายเอาถุงดินเหนียวขึ้นวางบนหลังตนได้. ช่างปั้นรู้สึกพอใจยิ่งนัก พูดกับภรรยาว่า ต่อไปนี้ตนไม่ต้องแบกหิ้วถุงวัตถุดิบที่ใช้ในอาชีพของตนแล้ว  เพราะมีเจ้าม้าน้อยคอยช่วยผ่อนแรงตน. เขาจัดการสร้างคอกม้าให้ และจัดหาหญ้าอ่อนมาเลี้ยงดูเจ้าม้าน้อยด้วยความรักและรู้ค่าของมัน. ระหว่างนี้ในเมืองพาราณสี ปรากฎว่า ม้าคู่บัลลังก์ของเจ้าเมืองตายลงไป พวกหัวเมืองที่เคยส่งส่วยพอรู้ข่าว ก็เอาใจออกห่าง หยุดการส่งส่วย แถมยังขู่ด้วยว่าจะมาลักพาตัวเจ้าเมืองไป ถ้าเจ้าเมืองยังคงรักสนุกไม่เป็นแก่นสารแบบนั้น. นี่เป็นการบังคับให้เจ้าเมืองเก็บตัวอยู่ภายในรั้ววัง. ฝ่ายนายคาราวานเดินทางต้อนฝูงม้าลงมาตามจุดต่างๆบนเส้นทางจนในที่สุดถึงเมืองพาราณสี. เจ้าเมืองเริ่มมีความหวังที่จะได้ม้าคู่แผ่นดินตัวใหม่ ก็เร่งให้พวกขุนนางออกไปดูฝูงม้าของนายคาราวานและหาม้าตัวที่คู่ควรที่สุดมาให้ได้. บรรดาขุนวังทั้งหลายพร้อมผู้เชี่ยวชาญเรื่องม้าจึงพากันมาหานายคาราวาน สำรวจดูม้าทั้งฝูงก็หาพบม้าที่ดี ที่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะเป็นม้าคู่บ้านคู่เมืองไม่ แต่ด้วยความเชี่ยวชาญพวกเขาเห็นแน่แก่ใจว่า มีม้าที่เพิ่งคลอดลูกม้าที่มีเลือดบริสุทธิ์ แต่ลูกม้าหายไปไหน. ทำไมไม่อยู่รวมในฝูงนั้น  เรียกนายคาราวานมาซักถามจึงได้ความว่า นายคาราวานยกให้แก่ช่างปั้นหม้อเมืองปุตจิตะกะ. ต่างพากันตำหนินายคาราวานว่าโง่เง่าอะไรเช่นนั้น มีม้าตัวเลิศในครอบครองโดยไม่รู้คุณค่าแต่เก็บม้าเลวๆไว้. ทั้งหมดพากันเดินทางไปเมืองปุตจิตะกะ. หลังจากที่แจ้งเรื่องราวให้เจ้าเมืองรู้  (พึงรู้ว่าในการซื้อขายม้าไม่มีคำว่าสุภาพบุรุษ ราคาของม้าไม่ได้ขึ้นกับคุณสมบัติดีเลวของม้า ผู้ซื้อจะพยายามกดราคาของม้าให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้. ม้ายิ่งดีแค่ไหนเขายิ่งจะต่อลดราคาให้ต่ำลงมากแค่นั้น. ขอให้นึกถึงพวกนายทหารอังกฤษที่คุมกองทัพชาวอินเดียเป็นตัวอย่าง.  มีเรื่องเล่าสู่กันฟังมาเสมอว่า พวกนี้ชอบไปและเล็มขอซื้อม้าพันธุ์ดีเลิศจากชาวบ้านในราคาไม่กี่สตางค์. ความเป็นผู้ดีอังกฤษถูกพับเก็บไว้ตอนซื้อม้า).  เมื่อไปถึงเมืองปุตจิตะกะ พวกเขาตรงไปที่บ้านช่างปั้นหม้อถามว่า แกใช้เจ้าม้าน้อยทำอะไร?”. มันแบกดินเหนียวให้กระผม ช่างปั้นหม้อตอบ. ให้ม้าแก่เราเสีย  เราจะให้ลาเจ้าตัวหนึ่ง. ไม่ได้หรอกครับกระผมต้องการม้าตัวนั้นมาก”.  เราจะให้เกวียนเจ้าเล่มหนึ่งพร้อมด้วยวัวลากเกวียนอีกสี่ตัว.  ช่างปั้นหม้อยืนยันตามเดิมว่าต้องการเก็บม้าสำหรับตัวเอง พวกขุนนางบอกให้ช่างปั้นหม้อเก็บไปคิดใหม่. พวกเขาจะกลับไปหาเขาอีกในวันรุ่งขึ้น (ในเรื่องการซื้อขาย จะทำใจร้อนนักไม่ได้). ม้าน้อยเห็นควรแก่เวลาที่จะยื่นมือเข้าแทรก จึงพูดกับช่างปั้นหม้อว่า ใยท่านไม่ยอมตกลง? เราไม่ได้เกิดมาเพื่อบรรทุกถุงดินเหนียวและกินหญ้าธรรมดาๆ แต่เพื่อเป็นพาหนะของพระราชา.  เราเกิดมาเพื่อกินรากพืชที่แช่ในน้ำผึ้งและบรรจุในภาชนะทอง. ขอให้ท่านฟังให้ดี สิ่งที่ท่านพึงทำในวันพรุ่งนี้ เมื่อเหล่าขุนวังกลับมาหาท่านอีก. ถ้าพวกขุนวังพูดคำว่า เจ้าม้าน้อย ให้ท่านย้อยพวกขุนวังว่า พวกท่านอับอายที่จะเอ่ยปากเรียกม้านี้ว่า ม้าพันธุ์บริสุทธิ์ หรือพวกท่านไม่รู้แจ้งแก่ใจว่านี่คือม้าพันธุ์เลิศ. และหากพวกขุนวังถามว่าจะยอมขายให้ในราคาเท่าไหร่ ท่านก็ตอบพวกเขาว่า ราคาเท่ากับจำนวนน้ำหนักของทองที่ม้าตัวนี้สามารถลากไปได้ด้วยขาขวา. วันรุ่งขึ้นเหตุการณ์เป็นไปตามที่เจ้าม้าน้อยบอกไว้. พวกขุนวังอดแปลกใจไม่ได้ที่ช่างปั้นหม้อรู้ว่า เจ้าม้าน้อยที่เขามีในครอบครองเป็นม้าพันธุ์เลิศ และเมื่อช่างปั้นหม้อบอกราคาที่เขาจะยอมขายให้. เหล่าขุนนางทั้งหลายก็หวั่นวิตกว่าคงต้องเสียทองเป็นจำนวนมากเพราะเจ้าม้าน้อยแข็งแรงกำยำสมเป็นม้าพันธุ์เลิศ. แต่เจ้าเมืองพาราณสีก็สั่งให้จ่ายไม่อั้นเหมือนกัน.  ในที่สุดช่างปั้นหม้อและภรรยากลายเป็นเศรษฐี.  แน่นอนเป็นค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อกับความเอ็นดูและความเอาใจใส่ของสองสามีภรรยา ที่มีต่อเจ้าม้าน้อยตั้งแต่แรก. มีการแห่พาเจ้าม้าน้อยมาที่เมืองพาราณสี อยู่ในคอกม้าหลวง แต่ขุนวังและข้าราชบริพารทุกคนยังคงหายใจไม่ทั่วท้อง เพราะเจ้าม้าน้อยไม่ยอมกินอะไรทั้งสิ้น. มันไม่สบายหรือเปล่า? หรือมันอดประท้วง?  เจ้าเมืองตกอกตกใจยิ่งนัก วิ่งไปยังคอกม้าหลวง โชคดีที่คนเลี้ยงม้าเดารู้จิตใจของม้า จึงกราบทูลว่า พระอาญาไม่พ้นเกล้าฯ  ม้าตัวนี้ไม่ได้รับการต้อนรับอย่างสมศักดิ์ศรีของม้าคู่บ้านคู่เมือง จึงปฏิเสธไม่ยอมกินแม้แต่ไรห์รสที่ดีที่สุด. ขอให้พระองค์ทรงสั่งให้ตกแต่งเส้นทางเดินสู่คอกหลวง ตลอดระยะสองลี้ครึ่ง พระองค์เสด็จไปต้อนรับเอง พร้อมด้วยทหารรักษาพระองค์สี่เหล่า อันมีหน่วยทหารราบ หน่วยทหารม้า หน่วยทหารรถศึกและหน่วยทหารช้าง. ให้พระราชโอรสองค์โต ถือฉัตรที่ทำด้วยทองเป็นซี่ๆร้อยซี่, บังแดดเหนือหัวของม้า, ให้พระราชธิดาองค์โต ถือพัดด้ามทองที่ประดับด้วยเพชรนิลจินดาโบกไล่แมลงวันให้ม้า, ให้พระมเหสีองค์แรกถือพาชนะทองที่ใส่รากพืชแช่น้ำผึ้ง เสนอให้ม้ากิน, ให้มหาอำมาตย์ถือจอบทองคอยเก็บมูลของม้า เมื่อพระราชาเมืองพาราณสีได้ฟังดังนั้นตรัสว่า ถ้าจะต้องทำตามนั้น ข้าก็ไม่ใช่กษัตริย์แล้ว ม้าต่างหากที่เป็นเจ้าชีวิตเรา.  คนเลี้ยงม้าทูลว่า ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  เกียรติยศทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นที่พระองค์จะต้องปฏิบัติตลอดไป. หลังจากเจ็ดวันม้าจะเชื่องพระเจ้าข้า.  เจ้าเมืองพาราณสีจึงทรงสั่งให้ทุกคนปฏิบัติตาม เพราะว่าสิ่งที่ทำไปแล้วจะเปลี่ยนกลับก็ไม่ได้แล้ว จึงต้องสานสิ่งที่เหลือให้สำเร็จลุล่วงไปให้ได้. เพราะฉะนั้นตลอดเวลาเจ็ดวันที่ทั้งพระราชา พระราชินี เจ้าชาย เจ้าหญิงและมหาอำมาตย์ ต่างยอมลดตนปฏิบัติหน้าที่อันต่ำต้อย (เพื่อความรุ่งเรืองมั่นคงของราชอาณาจักร). หลังจากนั้นเจ้าเมืองก็พร้อมที่จะขึ้นทรงม้าต้นของพระองค์ เพื่อออกไปสูดอากาศในดินแดนกว้างใหญ่นอกพระราชอุทยาน. ม้าก็ยอมให้พระองค์ขึ้นแต่โดยดี พาวิ่งลู่ไปในสายลม แต่ไปหยุดอยู่ตรงหน้าพื้นที่แฉะน้ำท่วมนองอยู่. พระราชาตรัสขึ้นว่า ม้านี่กลัวน้ำ แต่คนเลี้ยงม้าซึ่งเกาะขนต้นคอของม้าพระที่นั่งอยู่ข้างๆ ไปกับพระราชาตามธรรมเนียมสมัยนั้นทูลว่า ไม่ใช่เพราะม้ากลัวหรอกพระเจ้าข้า  แต่เพราะมันเกรงว่าหางของมันจะทำให้น้ำกระเด็นถูกพระองค์พระเจ้าข้า  และก็จริงตามที่คนเลี้ยงม้าทูลไว้ เพราะเมื่อเขารวบหางม้าไว้และตึงไว้ในซองทองเพื่อไม่ให้หางกระจายออก ม้าก็ออกวิ่งฉิว. พระราชาทรงพอพระทัยกับการทรงม้าท่ามกลางป่าเขาลำเนาไพรนอกเขตพระราชฐานยิ่งนัก. ทรงลืมเสียสนิทที่พวกหัวเมืองทรงขู่พระองค์ว่าไม่ให้ออกจากพระราชวัง. พวกนี้เห็นเป็นโอกาสเหมาะจึงรวมกำลังกันมาสกัดหน้าตรงเส้นทางกลับสู่พระราชฐาน และขวางประตูเมืองทุกประตู. ทางเดียวที่เหลือที่คั่นระหว่างอุทยานนอกกับเมืองพาราณสี คือหนองน้ำใหญ่ที่ดาษดาไปด้วยดอกบัวชนิดต่างๆ แต่ม้าทรงของพระองค์วิ่งตัวเบาหวิวไปบนใบบัว กีบเท้าแทบจะไม่ต้องน้ำเลย  พาพระองค์กลับมาส่งถึงหน้าประตูวังด้วยความปลอดภัยทุกประการ.  พระราชาเรียกประชุมคณะมนตรี และทรงถามว่า ควรจะให้อะไรเป็นค่าตอบแทนผู้ที่ช่วยชีวิตของพระราชา. คณะมนตรีทูลตอบว่า พระองค์ควรจะทรงมอบราชสมบัติให้กึ่งหนึ่ง. พระราชาท้วงว่า แม้สมบัติกึ่งหนึ่งของพระองค์ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะผู้นั้นเป็นสัตว์ตัวหนึ่ง. อย่างไรก็ตามก็ทรงจัดให้มีการเฉลิมฉลองพระนครเจ็ดวันเจ็ดคืน. มีการมอบของขวัญแบบต่างๆให้ม้าทรง และมีการเนรมิตพระจันทร์เต็มดวงเพื่อให้มีแสงสว่างอันอ่อนโยนและสวยงาม สร้างความพึงพอใจแก่ม้าทรงตลอดเจ็ดคืน. นายคาราวานแปลกใจที่เห็นแสงสีสว่างไสว บรรยากาศที่หฤหรรษ์ทั้งเมืองพาราณสี จึงซักไซ้ชาวเมืองจนรู้เรื่องโดยตลอด. เขายังไม่อยากเชื่อนัก จึงตรงไปถามม้าทรงนั้น. ม้าทรงถามว่าเขาขายม้าทั้งฝูงได้เงินเท่าไหร่เพราะลำพังม้าตัวเดียวอย่างเขา ทำให้ช่างปั้นหม้อได้ทองไปเป็นเกวียน. นายคาราวานได้ยินล้มลงสลบอยู่ที่พื้น และเมื่อมีผู้สาดน้ำใส่หน้าจึงได้สติขึ้นมาอีกครั้ง เขารีบคลานเข้าไปที่เท้าของม้า ร้องขอขมาในความมีอคติของเขา.

      ตัวอย่างต่อไปนี้เป็นนิทานชาดกเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์-คนในหมู่สัตว์. นิทานเหล่านี้ ไม่มีจุดมุ่งหมายที่จะพิสูจน์ว่าคนดีกว่าสัตว์ (มีข้อยกเว้นเหมือนกันที่ยืนยันความจริงนี้) แต่เพื่อแสดงให้เห็นว่าสัตว์ดีน้อยกว่า (หรือเลวกว่า).  เราอาจต้องเป็นคนช่างฝันเสียก่อนจึงพอจะหลับหูหลับตาเชื่อว่า สัตว์ทั้งหมดนั้นแสนดีแสนน่ารัก ไม่ต้องถึงกับยกตัวอย่างพวกสัตว์กินเนื้อทั้งหลายที่เป็นฆาตกรโดยกำเนิด, พวกสัตว์ที่แทะหญ้าเป็นอาหารที่ดูสงบๆในทุ่ง ก็มีชื่อว่าโหดร้ายดุดันแม้ในยามที่มิได้ต่อสู้เพื่อป้องกันตัว. ความจริงแล้ว เป็นการยากที่เราจะรักและเห็นใจสัตว์. ผู้เล่านิทานชาติต่างๆ ลงมติเห็นพ้องต้องการว่า มนุษย์ไม่ควรมองดูสัตว์เป็นเพียงหุ่นยนต์ ปฏิกิริยาตอบโต้ของสัตว์ในสถานการณ์ต่างๆ แสดงให้เห็นถึงระดับภูมิปัญญาที่ไม่ใช่เป็นปฏิกิริยาของหุ่นยนต์. แต่ทำอย่างไรได้ล่ะในเมื่อเราไม่ลืมว่า โดยกำเนิดพวกสัตว์ไม่มีระบบการครองชีวิตแบบอื่น นอกจากตามกฎแห่งเจ้าป่า. นั่นคือกฎของผู้ที่มีกำลังมากกว่า
(หรือมีเล่ห์มากกว่า) ปกครองผู้มีกำลังน้อยกว่า.  ในยุคปัจจุบัน (เราๆรู้อยู่กับใจ) ยังมีคนที่ยึดกฎแห่งเจ้าป่าของพวกสัตว์มาใช้ในหมู่คน แต่ประวัติศาสตร์ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า จิตสำนึกของความเป็นคน ของความดีความชั่ว ของความถูกความผิด ได้ผลักดันประชาชาติต่างๆให้ต่อต้านพวกกษัตริย์หรือพวกเทพที่ใช้คนเยี่ยงสัตว์ และชี้ทางไปสู่ลัทธิอันศักดิ์สิทธิ์ของความเป็นคน. วิวัฒนาการของมนุษยชาติตั้งแต่แรกจนทุกวันนี้ชี้ให้เห็นอย่างดีที่สุดว่าไม่ว่าคนจะมีความเชื่อในศาสนาใดและมีอุดมการณ์ของสังคมแบบใดก็ตาม มนุษยชาติพัฒนาขึ้นมาได้ก็เพราะมันพยายามเบี่ยงตัวออกจากความเป็นสัตว์.
      ในนิทานที่เรานำมาเสนอต่อไปนี้ สัตว์มีบทบาทในฐานะคู่เปรียบเทียบเท่านั้น ไม่มีความสำคัญพอที่จะเป็นชาติหนึ่งของพระโพธิสัตว์ เช่นนิทานเรื่องพราหมณ์นักพรตกับแกะตัวผู้.  ในภาพวาดหรือภาพจำหลักเกี่ยวกับพวกพราหมณ์ เราสังเกตได้ชัดว่า พราหมณ์มีมวยผมม้วนเป็นก้อนกลมใหญ่อยู่ตรงท้ายทอย.  ผู้ที่แต่งนิทานชาดกของพุทธศาสนา แม้จะนิยมยกย่องพวกพราหมณ์หรือพวกฤาษีนักพรตที่ออกไปอยู่ในป่าบำเพ็ญทุกข์กริยาต่างๆนาๆ แต่บางครั้งก็อดล้อเลียนพวกเขาไม่ได้เหมือนกัน ดังเช่นในเรื่องแกะกับนักพรต (นิทานชาดกเรื่องที่ ๓๒๔).  เป็นที่รู้กันว่าพวกฤาษีกินอยู่ไม่เป็นที่ พร้อมที่จะนั่งหรือนอนได้ในทุกแห่งทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นกลางหาวหรือในถ้ำ พวกเขาจึงต้องการเครื่องนุ่งห่มที่กันความชื้นได้ดี. เครื่องนุ่งห่มที่ทำจากด้ายดิบหรือผ้าฝ้าย หรือแม้จากผ้าขนสัตว์ก็มักใช้กันความชื้นไม่ได้ผลนัก  มีเครื่องหนังเท่านั้นที่กันฝนและความชื้นได้ดีกว่าอย่างอื่น. แต่หนังจากสัตว์ที่ตายแล้วถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์. พวกฤาษีจะหาทางออกได้อย่างไรล่ะเพื่อให้มีเครื่องหนังไว้ห่ม ทานความเย็นและความชื้นได้. ความจำเป็นย่อมชนะอคติ แม้อคติที่เลวร้ายที่สุด. นั่นคือมีกฎระบุไว้เป็นทางออกของพวกฤาษีว่า ยกเว้นหนังจากกวางสีดำเท่านั้นที่ถือว่าเป็นหนังบริสุทธิ์.  พวกฤาษีจึงสามารถนุ่งห่มด้วยเครื่องหนังกวางป้องกันตัวจากโรคไขข้ออักเสบไปได้.  
      พระเอกในนิทานเรื่องนี้ของเรา ฉลาดไปยิ่งกว่านั้นอีก เพราะเขาใช้หนังเย็บเป็นเสื้อทรงพอดีตัว ไม่สนใจหรือรังเกียจกลิ่นสาบหนัง. ฤาษีนุ่งห่มแบบนี้แล้วก็เดินทางเข้าไปในเมือง. ในยามนั้นผู้คนนิยมดูการชนแกะในวันหยุดหรือวันเทศกาลต่างๆ (ทั้งในอินเดียและในอัฟกานิสถาน).  การชนแกะเป็นไปตามกระบวนการดังนี้  จับแกะมาเผชิญหน้ากันสองตัว  ทั้งสองจะวิ่งเข้าไปชนหัวกันจนกว่าตัวใดตัวหนึ่งจะล้มหรือมึนงงหรือหัวสมองไหลออกมา  อีกตัวก็เป็นผู้ชนะ. แกะที่เก่ง แข็งแรงและว่องไวนั้น เพราะเจ้าของฝึกไว้อย่างดีเพื่อการชนแกะโดยเฉพาะ. ฝ่ายฤาษีของเราผู้นุ่งชุดหนังที่ส่งกลิ่นสาบของสัตว์ เดินเข้าไปในเมือง เผอิญไปเจอกับแกะชนกลางถนน เมื่อได้กลิ่นสาบตัวของฤาษี แกะก็คิดว่า เป็นหน้าที่ของมัน ต้องวิ่งเข้าชนตามที่ถูกฝึกมา จึงวิ่งถอยหลังไปตั้งหลัก ส่ายหัวไปมา พร้อมที่จะรี่เข้าใส่ฤาษี. ถ้าเป็นคนปรกติทั่วไป ก็คงจะวิ่งหนีเอาตัวรอดไป.  แต่พ่อฤาษีคนนี้ทะนงตัวในความเป็นนักพรตและอยากเชื่อว่าเจ้าแกะตัวนั้นวิ่งออกไปตั้งหลัก เตรียมเดินกลับมาแสดงคารวะต่อความเป็นนักพรตของเขา. มิไยที่พ่อค้าแผงลอยที่อยู่บริเวณนั้นคนหนึ่ง (ซึ่งก็คือพระโพธิสัตว์นั่นเอง) จะร้องเตือนให้เขาถอยไปเสีย. ฤาษีก็ไม่ฟังทั้งนั้น จึงถูกแกะที่ได้รับการฝึกมาอย่างดี ชนคว่ำหกคะเมนตีลังกาหน้าคะมำตรงนั้นเอง.
       นิทานหลายเรื่องเกี่ยวกับความโง่เขลาเบาปัญญาของพวกลิง ไม่ว่าพระโพธิสัตว์จะถือกำเนิดอยู่ในคราบมนุษย์ประเภทไหนหรือชั้นวรรณะใดก็ตาม นอกจากจะเป็นพยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์แล้ว ยังมีบทบาทเข้าไปเกี่ยวกับบุคคลในเรื่องหรืออย่างน้อยก็เป็นผู้ชี้ทางแห่งคุณธรรมหรือบทเรียนที่ทุกผู้ทุกนามพึงสำเหนียกในใจ. เช่นยามที่พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดเป็นราชปุโรหิตของเจ้าเมืองพาราณสี ได้เห็นเหตุการณ์น่าขันในชีวิตลิง ก็ฉวยโอกาสใช้สอนเจ้าเมืองพาราณสี. เรื่องความโง่ของลิงที่เล่าไว้ในนิทานชาดกเรื่องที่ ๔๖ มีว่า คนสวนของเจ้าเมืองพาราณสีรู้ว่าจะมีเทศกาลฉลองสมโภชเมืองติดต่อกันหลายวัน ก็นึกอยากมีโอกาสหยุดไปเที่ยวงานฉลองกับชาวบ้านทั้งหลายด้วย แต่สวนในอินเดียนั้น ต้องมีผู้ดูแลเอาใจใส่รดน้ำต้นไม้อย่างสม่ำเสมอขาดไม่ได้เลย  เพราะความร้อนจากแสงแดดโดยเฉพาะพวกดอกไม้ล้มลุก จะบานภายใต้ร่มไม้รุ่นใหญ่และคนสวนต้องรดน้ำทุกวัน เพราะฉะนั้นเขาจำเป็นต้องหาคนมาทำงานแทนในช่วงที่เขาคิดหยุดไปเที่ยวงานฉลอง แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ไม่อยากเสียเงินจ้างใคร. คิดไปคิดมาเห็นว่าควรฝึกฝูงลิงที่มาอาศัยอยู่ในสวนหลวงนั้น ให้ทำงานแทนเขาได้โดยไม่ต้องเสียค่าจ้าง. คนสวนบอกสอนพวกลิงว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการรักษาต้นไม้ให้มีร่มเงาเสมอ ซึ่งพวกลิงเองจะเป็นผู้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่จากร่มไม้ทั้งหลายในสวนหลวงเป็นค่าตอบแทน. เช่นนี้เขาไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินค่าแรงให้ลิง ในเมื่อลิงไม่รู้จักใช้เงิน. พวกลิงตกลงอย่างง่ายดาย  คนสวนสบายใจยิ่งนักมอบเครื่องมือ กระป๋องฉีดน้ำ อุปกรณ์เครื่องมือเกี่ยวกับการทำสวนให้ลิงไปทั้งหมด พร้อมกับกำชับกำชาให้ดูแลพวกต้นไม้อ่อนที่เพาะไว้เป็นพิเศษ แล้วเขาก็ผละไปเที่ยวหาความสำราญ. เมื่อคนสวนจากไป พวกลิงก็ไม่รีรอ เริ่มทำงานด้วยความซื่อตรงต่อคำสัญญา เผอิญพญาลิงเป็นผู้มีนิสัยค่อยข้างเจ้าระเบียบและมัธยัสถ์. คุณสมบัติที่ดีดังกล่าวของมนุษย์ หากเป็นของลิงกลับกลายเป็นข้อเสียไปได้. น่าคิดนะ?  พญาลิงต้องการช่วยลูกน้องไม่ให้ต้องเหนื่อยแรงกันเกินไป และก็ช่วยคนสวนประหยัดน้ำ จึงสั่งให้พวกลิงทั้งหลายถอนต้นไม้อ่อนๆทั้งหลายขึ้นดูว่า ต้นใดมีรากงอกเจริญเติบโตไปได้แค่ไหนแล้ว เพื่อจะได้ให้จำนวนน้ำที่พอเหมาะพอดีกับความต้องการของแต่ละต้น. ฝูงลิงต่างพากันชื่นชมความคิดอันฉลาดเฉียบแหลมของหัวหน้ายิ่งนักและทำตามสั่งทุกประการ. ผลเป็นอย่างไรนั้น เราท่านคงจะนึกจินตนาการได้ไม่ยาก. เมื่อพระโพธิสัตว์ผู้ถือกำเนิดเป็นคหบดีคนหนึ่งในเมืองพาราณสี ผ่านไปเห็นเข้าก็เอ็ดตะโรดุพวกลิงว่าทำอะไรโง่ๆอย่างนั้น. พวกลิงตอบว่า พวกเขาทำตามคำสั่งของผู้ที่มีอาวุโสสูงกว่า. พระโพธิสัตว์ได้แต่พึงพำว่า ถ้ากษัตริย์ผู้ที่ฉลาดที่สุดในฝูงนี้ ยังมีความคิดโง่ขนาดนี้ล่ะก็ พวกลูกน้องจะโง่ขนาดไหน!
      ในนิทานเรื่องที่ ๑๗๔ พระโพธิสัตว์เข้าไปมีบทบาทมากขึ้น. ยามนั้นพระองค์ถือกำเนิดในตระกูลพราหมณ์ครอบครัวหนึ่ง. มีภาพจำหลักของเรื่องนี้ เป็นภาพพระโพธิสัตว์ในฐานะของนักศึกษาผู้ปวารณาตัวรับใช้พราหมณ์ ควบคู่ไปกับการศึกษาพระเวท. เขากำลังหาบตุ่มน้ำสองตุ่มที่ห้อยสองข้างคานหาม. ในสมัยนั้นการตระเตรียมหาน้ำและฟืนมาให้พราหมณ์ใช้ ถือเป็นหน้าที่ที่ลูกศิษย์ต้องทำ เป็นการทดแทนบุญคุณครู. บังเอิญระหว่างทาง พบลิงตัวหนึ่งที่กำลังหิวกระหายน้ำ. พระโพธิสัตว์ผู้มีใจเมตตาจึงหยุดวางคานหามตุ่มน้ำทั้งสองลง แล้วรินน้ำใส่มือของลิงให้กินแก้กระหาย. เจ้าลิงเมื่อดื่มน้ำแล้ว ปีนขึ้นไปบนต้นไม้ ทำท่าล้อเลียนต่างๆ แถมยังเยี่ยวรดลงบนหัวของผู้มีคุณ. (สุภาษิตอินเดียบทหนึ่งกล่าวว่า ใครเคยได้ยินหรือเคยเห็นที่ไหนว่า ลิงมีกิริยามารยาทงาม?). พระโพธิสัตว์ไม่ว่ากล่าวหรือคิดทำประการใด แบกคานหามตุ่มน้ำเดินต่อไป แล้วไปอาบน้ำชำระร่างกายให้บริสุทธิ์. จิตใจมั่นคงอยู่ในอโหสิกรรม.  ถ้าเป็นพราหมณ์คนอื่นๆ อย่าคิดว่าเจ้าลิงจะรอดมือพราหมณ์ไปได้ ดังเช่นที่มีเล่าไว้ว่า พวกลิงชอบคอยดักเล่นงานพราหมณ์อยู่เสมอ เช่นคอยโอกาสที่พราหมณ์กลับจากการอาบน้ำสรงสนานและแต่งกายขาวสะอาดตา ผ่านใต้ซุ้มประตูเมือง พวกลิงพร้อมใจระบายท้องรดหัวพราหมณ์คนนั้น. ถ้าเผอิญพราหมณ์เงยหน้าอ้าปากด้วยความแปลกใจ มูลลิงก็ลงในปากด้วย. ลิงล้อเล่นไม่เลือกหน้า เผอิญไปโดนพราหมณ์ประจำราชสำนักเข้า แน่นอนพราหมณ์ตั้งตาคอยโอกาสแก้เผ็ดลิงให้ได้. วันหนึ่งโชคช่วยชี้ทางให้  นางข้าหลวงคนหนึ่งได้บรรจงเกลี่ยข้าวเปลือกออกผึ่งแดดบนลานกว้างมุมหนึ่งภายในวัง เผอิญแกะตัวหนึ่งผ่านเข้าไปเล็มกินข้าวเปลือก นางข้าหลวงฉวยได้ท่อนไม้ที่กำลังติดไฟเป็นเชื้อเพลิงหุงต้มในครัว ก็เหวี่ยงไปที่แกะเพื่อขับไล่มันไปให้พ้นกองข้าว.  ท่อนไม้ไปโดนขนแกะก็ลุกเป็นไฟขึ้น เจ้าแกะตกใจวิ่งพล่านเข้าไปในคอกช้าง ทำให้ไฟพลอยลุกและไหม้คอกช้างไปด้วย ช้างหลายตัวถูกไฟเผาบาดเจ็บสาหัส. วันรุ่งขึ้นเจ้าเมืองพาราณสีทรงถามพราหมณ์ประจำราชสำนักว่า มีวิธีช่วยรักษาเยียวยาแผลไฟไหม้ในหมู่ช้างหลวงไหม? พราหมณ์รีบทูลตอบว่า วิธีเดียวที่ได้ผลเสมอคือ เอาไขมันลิงมาชโลมลูบแผลไฟไหม้ให้ช้าง. เจ้าเมืองพาราณสีไม่รีรอ สั่งให้นายธนูออกล่าลิงเพื่อเอาไขมันมาทาช่วยชีวิตช้าง. เช่นนี้ลิงจำนวนมากถูกฆ่าตาย อาจจะเป็นลิงไร้เดียงสาที่ไม่เคยทำอะไรพราหมณ์เลยก็ได้. ลิงที่เคยแกล้งพราหมณ์ก็อาจไม่ถูกจับหรือถูกฆ่า. มันเป็นการแก้แค้นลิงที่คุ้มกันล่ะหรือ?  ถ้าเราเชื่อตามนิทานอินเดีย จะเข้าใจว่า เมื่อพราหมณ์โกรธหรือเคียดแค้นใครล่ะก็ เขาไม่ลืมและจะแก้แค้นให้ได้ ในขณะที่พระโพธิสัตว์ให้อภัย ไม่จองเวรจองกรรมกันต่อไป.
         
          หากอ่านนิทานทั้งหมดที่ตกทอดมาจากอินเดีย  เราอาจจับได้ว่านักเล่านิทานอินเดีย มีอคติต่อสัตว์ประเภทต่างๆ เช่น พวกเขารังเกียจหมาจิ้งจอกหรือไม่ไว้ใจงูเลย.  แต่เมื่อเกี่ยวกับช้างซึ่งเป็นที่ชื่นชอบโปรดปรานของทุกคน พวกเขายืนยันว่าช้างเป็นสัตว์ที่มีสติปัญญาเฉียบแหลม. พวกเขาสามารถอ่านจับความสุขุมของช้างได้.  เมื่อมองตาของช้าง ความว่านอนสอนง่ายของช้างยิ่งทำให้พวกเขามั่นใจว่า  ช้างเป็นสัตว์ที่ใจดีตามธรรมชาตินิสัยดั้งเดิมของมัน. แม้มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับอันตรายจากช้าง เช่นในฤดูผสมพันธุ์ของมัน หรือที่เล่าไว้ในนิทานชาดกเรื่องที่ ๑๖๑ ว่าช้างพลายตัวน้อยถูกทอดทิ้งกำพร้าพ่อและแม่.  ฤาษีนำมาเลี้ยงดูด้วยความรักใคร่ประหนึ่งลูก.  วันหนึ่งลมร้อนจากทิศใต้ทำให้พ่อพลายน้อยกระสับกระส่ายตกใจกลัว เกิดบ้าคลั่งขึ้นมา ทำลายกระท่อมของผู้เลี้ยงดูตนและยังเหยียบตัวฤาษีตายคาฝ่าเท้า.  หลังจากนั้นช้างตัวอื่นๆต้องถูกล่ามโซ่ไว้ และกันไม่ให้คนเข้าไปใกล้เพราะจะเป็นอันตรายได้. ควาญช้างทั้งหลายเมื่อจะให้น้ำดื่มแก่ช้าง ก็มักจะฉีดส่งน้ำพุ่งไปให้จากที่ไกลๆ ซึ่งช้างก็ใช้งวงรับน้ำไว้ได้ด้วยความชำนิชำนาญ.  บ่อยๆอีกเหมือนกันที่มีช้างตกมันแยกพลัดจากโขลงไปตามลำพังแล้วเที่ยวรังควาญไปทั่ว.  ถึงกระนั้นนักเล่านิทานยังอยากเชื่อว่าโดยนิสัยที่แท้จริงแล้วช้างไม่ชอบใช้กำลังในทางผิดๆ แต่มนุษย์ต่างหากที่พร่ำฝึกสอนให้ช้างทำหน้าที่ของผู้ประหารชีวิต เช่นบอกให้ช้างเหยียบขยี้หัวนักโทษประหารที่นอนคอยบนพื้น. มีผู้เล่าว่าครั้งหนึ่งเมื่อช้างได้ยินคำเทศนาสั่งสอนแบบพุทธ  มันก็ปฏิเสธที่จะทำหน้าที่นั้นต่อไป. ช้างมีอารมณ์อ่อนไหวง่ายตามธรรมชาติ ทำให้ช้างเป็นเหยื่อของทั้งคนดีและคนเลว.
       นิทานชาดกเรื่องที่ ๒๗ เล่าไว้ว่า ครั้งหนึ่งช้างทรงของเจ้าเมืองพาราณสี เกิดมีใจเป็นมิตรกับสุนัขตัวหนึ่งที่วิ่งเข้าออกคอกช้างอยู่เสมอจนกลายเป็นผู้คุ้นเคยของบรรดาช้างหลวง. เผอิญควาญช้างได้โอกาสขายสุนัขตัวนี้แก่ชาวนาคนหนึ่ง. ชาวนาพาสุนัขกลับไปยังหมู่บ้านเขา ตั้งแต่บัดนั้นช้างทรงโศกเศร้ายิ่งนักที่เพื่อนรักจากไป ไม่ยอมกิน ไม่ยอมดื่มน้ำอะไรทั้งนั้น ท่าทางเหมือนจะสิ้นใจ. เรื่องรู้ไปถึงเจ้าเมืองพาราณสี ทรงสั่งให้พระโพธิสัตว์ซึ่งถือกำเนิดในยามนั้นเป็นราชปุโรหิต ไปทำการสอบสวนเรื่องราว. ไม่ช้า พระโพธิสัตว์ก็ค้นพบสาเหตุที่แท้จริงว่า ช้างทรงไม่ได้เจ็บป่วยเป็นโรคอะไร แต่เพราะจิตใจเศร้าหมองเนื่องจากพลัดพรากจากเพื่อนรัก ถามไถ่ควาญช้างไปมา ก็ไม่อาจรู้ได้ว่า ชาวนาที่ซื้อสุนัขไปนั้นอยู่แห่งหนตำบลใด.  เจ้าเมืองพาราณสีสั่งให้ทหารวังตีกลองออกประกาศไปทั่วราชอาณาจักรว่าผู้ใดที่ซื้อสุนัขตัวโปรดของพญาช้างทรง ให้รีบนำสุนัขมาคืนโดยเร็วที่สุด มิฉะนั้นจะได้รับโทษหนัก. ชาวนาที่ซื้อสุนัขไปรู้เรื่องเข้ารีบตัดเชือกปล่อยสุนัขที่ตนซื้อทันที. เจ้าสุนัขน้อยกระโดดตัวลอย วิ่งรี่กลับมาและทิ้งตัวในอ้อมวงของงวงช้างสหายสุดที่รัก. ช้างทรงเองถึงกับน้ำตาไหลรินด้วยความปีติยินดี.
       นับเป็นเรื่องที่ประทับใจพอใช้ แต่ไม่มีค่ามากนักในแง่ที่ว่า สิ่งที่วัฒนธรรมพื้นบ้านของอินเดียต้องการเน้นคือ บทบาทของพญาช้างคู่บ้านคู่เมืองนั้น (ยิ่งกว่าบทบาทของม้าทรงคู่บ้านคู่เมือง) เป็นเสมือนฉัตรที่คุ้มแดดคุ้มฝนให้แก่ข้าแผ่นดิน เป็นสมบัติอันล้ำค่าของประเทศ เป็นสิ่งประกันชัยชนะของประเทศเหนือประเทศเพื่อนบ้าน.  
       นิทานชาดกเรื่อง ๑๕๖ ที่เราจะเล่าต่อไปนี้ แสดงให้เราเข้าใจดีกว่าเรื่องที่เล่ามาข้างต้น. ยามนั้นฃพระเจ้าพรหมทัตครองเมืองพาราณสี ใกล้ๆเมืองนี้มีหมู่บ้านช่างไม้ซึ่งเป็นที่ชุมนุมอาชีพช่างไม้กว่าห้าร้อยคน.  ช่างไม้เหล่านี้มีธรรมเนียมล่องแม่น้ำคงคาด้วยการทวนน้ำขึ้นไปถึงฝั่งหนึ่งที่มีป่าไม้หนาทึบ.  ที่นั่นพวกเขาจะช่วยกันโค่นต้นไม้ ตัดไม้ทำซุงบ้าง ทำเป็นไม้ซีกบ้าง ไม้แผ่นกระดานบ้าง นั่นคือทำไม้ทุกรูปแบบที่พร้อมนำไปใช้ในการสร้างบ้านชั้นเดียวหรือสองชั้นได้เลย. ไม้แต่ละชิ้นแต่ละท่อนที่ทำขึ้น มีตัวเลขกำกับไว้อย่างพิถีพิถัน เสร็จแล้วก็พากันล่องตามน้ำคงคาไปขายในเมืองพาราณสี. ด้วยวิธีนี้ช่างไม้สามารถเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของตนและครอบครัว.  ครั้งหนึ่งเมื่อพวกเขากำลังสาละวนอยู่กับการตัดไม้ เห็นช้างตัวหนึ่งเดินกระโผลกกระเผลกเข้าไปหา เพราะเท้าข้างหนึ่งถูกเสี้ยนไม้แหลมคมของต้นแคฝรั่งตำลึกเข้าไปถึงเนื้อ ทำให้เป็นหนองและบวมเป่งขึ้น ยังความเจ็บปวดแก่ช้างยิ่งนัก. มันจึงมาขอความช่วยเหลือจากพวกเขา.  พวกช่างไม้ก็ยินดีช่วยทันที เพราะอาชีพตัดไม้และทำไม้ทำให้พวกเขาเคยชินกับการเจ็บตัวแบบเดียวกัน จึงช่วยกันดึงเสี้ยนไม้ที่ตำเท้าช้างออก บีบหนองออก ล้างแผลให้ด้วยน้ำร้อน.  เช่นนี้ไม่กี่วันแผลก็หาย ช้างก็เดินเหินได้ตามปรกติ. เมื่อช้างหายเจ็บนึกตอบแทนบุญคุณของพวกช่างไม้ทั้งหลาย จึงเข้าช่วยทำงาน ทั้งแบกทั้งลาก ทั้งหอบต้นไม้ ท่อนซุงทุกชนิดโดยใช้งวงกับกำลังอันมหาศาลของมัน. เช่นนี้กาลเวลาล่วงเลยไป เมื่อช้างนึกสำเหนียกแก่ใจว่า กำลังวังชาของมันชักร่อยหรอลงไปทุกที   เพราะมันอายุมากขึ้น มันหายตัวไปในเช้าวันหนึ่ง และกลับมาพร้อมกับช้างลูกชายของมันผู้จะทำหน้าที่แทนมันต่อไป. เผอิญลูกช้างตัวนี้เป็นช้างลักษณะดียิ่ง เข้าตำราของช้างเผือกที่เหมาะจะเป็นสมบัติของพระราชา แต่ในเมื่อพ่อช้างต้องการให้มันทำงานที่นั่น ลูกช้างก็เชื่อพ่อ ทำงานให้พวกช่างไม้. เมื่อเสร็จงานแต่ละวัน มันไปเล่นน้ำสนุกสนาน และเล่นกับพวกเด็กๆ.
      พึงรู้ว่าช้างตระกูลดีและม้าเลือดบริสุทธิ์ (ฉกเช่นสุภาพบุรุษ) จะไม่ขับถ่ายลงในแม่น้ำ. ลูกช้างตัวนี้ก็เหมือนกัน ทุกครั้งมันเดินขึ้นฝั่งเพื่อจัดการธุระของมันอย่างเรียบร้อย. ครั้งหนึ่งฝนตกหนักทำให้ระดับน้ำในคงคาสูงขึ้นเอ่อท่วมฝั่ง ได้ชะเอามูลช้างก้อนหนึ่งไหลไปกับกระแสน้ำ และไปติดอยู่ในร่องต้นกกใกล้ธารน้ำที่บรรดาช้างหลวงของพระเจ้าพรหมทัตมาเล่นกันเป็นประจำ. วันรุ่งขึ้นเมื่อควาญช้างพาฝูงช้างหลวงมาที่ธารน้ำนั้น บรรดาช้างหลวงได้กลิ่นมูลช้างและโดยสัญชาตญาณ พวกมันรู้ว่านี่คือมูลช้างที่สูงศักดิ์ ที่คู่ควรกับราชบัลลังก์.   ไม่มีช้างหลวงตัวไหนกล้าลงไปในธารน้ำนั้น และครู่ต่อมาควาญช้างเห็นพวกมันมีหางชี้ตั้งแข็งแล้วพากันวิ่งเตลิดไป. ควาญช้างไม่เข้าใจว่าทำไม. ผู้เชี่ยวชาญต่างบอกว่าเพราะมีอะไรผิดปรกติในธารน้ำนั้น. มีการสั่งทำความสะอาดธารน้ำเพื่อให้รู้ต้นสายปลายเหตุ. ในที่สุดก็รู้ว่าเพราะมีก้อนมูลช้างติดอยู่ในร่องต้นกกในบริเวณนั้น.  เจ้าหน้าที่เก็บมูลก้อนนั้นขึ้นมา บดขยี้จนเป็นผงแล้วผสมในโถน้ำ กลายเป็นน้ำหอมที่ควาญใช้ฉีดให้กับบรรดาช้างหลวง ซึ่งต่างพออกพอใจในกลิ่นและยอมลงอาบน้ำในธารน้ำต่อไปตามเดิม.  แน่นอนเรื่องแบบนี้ต้องกราบทูลให้พระเจ้าพรหมทัตทรงทราบ.  พระองค์สั่งให้เตรียมกองมหาดเล็ก ลงเรือทวนแม่น้ำคงคาขึ้นไปจนถึงถิ่นที่ทำมาหากินของเหล่าช่างไม้ในป่า. พวกช่างไม้และครอบครัวรวมทั้งลูกช้างตัวนั้นต่างพากันมาเฝ้าพระองค์. กราบทูลว่าหากพระองค์ทรงต้องการไม้พวกตนพร้อมนำไปถวายถึงในวัง ไม่จำเป็นที่พระองค์ต้องเสด็จไปถึงที่นั่น. พระเจ้าพรหมทัตบอกว่าสิ่งที่ต้องการคือลูกช้างของพวกเขา. พวกช่างไม้ก็พร้อมใจถวายลูกช้างให้ทันที แต่ลูกช้างไม่ยอมขยับเขยื้อนจากที่ จนเมื่อพระเจ้าพรหมทัตทรงมอบค่าตอบแทนแก่นายช่างทั้งหลายที่ได้เลี้ยงดูลูกช้างมา, มอบเสื้อผ้าอาภรณ์ต่างๆอีกหลายอย่างให้แก่พวกเขาและครอบครัว รวมทั้งเด็กๆสหายเก่าของมัน.  หลังจากที่เห็นว่าเพื่อนของมันทุกคนไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่จะมีกินมีใช้ตลอดไป ลูกช้างจึงยอมจากไปเพื่อปฏิบัติหน้าที่ที่สูงศักดิ์ที่คอยมันอยู่.  พระเจ้าพรหมทัตทรงจัดขบวนแห่ลูกช้างอย่างสมเกียรติ สร้างคอกช้างพิเศษสำหรับเป็นที่อยู่ของลูกช้าง ผู้กลายเป็นช้างทรงตัวโปรด เป็นพระสหายสนิทของพระเจ้าพรหมทัต และได้รับสถาปนาเป็นช้างคู่บ้านคู่เมือง ได้รับพระราชทานสมบัติกึ่งหนึ่ง  พระเจ้าพรหมทัตเองก็ได้ชื่อว่าเป็นกษัตริย์เหนือกว่ากษัตริย์อื่นใดในชมพูทวีป.
       ระหว่างนั้น พระโพธิสัตว์มาถือกำเนิดในครรภ์ของเอกอัครมเหสีของพระเจ้าพรหมทัต  พอใกล้กำหนดคลอด พระเจ้าพรหมทัตสิ้นพระชนม์ลง. ทางสำนักพระราชวังต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ต้องปิดข่าวการสิ้นพระชนม์ไม่ให้ช้างทรงรู้ เพราะอาจทำให้มันตรอมใจตายได้.  ช้างทรงจึงไม่รู้เรื่องนี้ แต่ข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าพรหมทัตรู้ไปถึงหูพระเจ้าโกศาละ. พระเจ้าโกศาละเห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะมาตีเอาเมืองพาราณสี และผนึกเข้าในอาณาจักรของพระองค์ จึงยกทัพมาล้อมเมืองพาราณสี. ชาวเมืองพากันปิดประตูเมืองและส่งสารขอให้ฝ่ายศัตรูระงับการโจมตีชั่วคราว  เพราะภายในเจ็ดวันพระมเหสีจะทรงคลอดพระกุมารแล้ว ถ้าเป็นพระโอรส ชาวเมืองพร้อมที่จะสู้ ถ้าเป็นพระธิดาก็จะยอมแต่โดยดี. พระเจ้าโกศาละตกลง (ศักดิ์ศรีของกษัตริย์ จิตสำนึกที่ละเอียดประณีต). เจ็ดวันต่อมา พระมเหสีทรงคลอดพระโอรส นั่นคือมีรัชทายาทครองแผ่นดินต่อไป. ชาวเมืองต่างยินดียิ่งนัก พร้อมใจกันจับอาวุธเพื่อขับไล่ข้าศึก. แต่ความที่ขาดขุนพลแม่ทัพกษัตริย์ของตน ทำให้รบแพ้ฝ่ายศัตรู เหลือทางสุดท้ายที่จะช่วยแผ่นดินให้พ้นภัย คือไปขอให้พญาช้างทรงช่วย.  พระมเหสีจึงทรงห่อองค์พระกุมารอุ้มไว้แนบพระองค์ แล้วทรงลงจากวังที่ประทับ ไปในขบวนแห่อย่างเป็นทางการ ห้อมล้อมด้วยเหล่าปุโรหิต เสด็จไปถึงคอกช้างทรง. พระนางวางพระกุมารลงตรงหน้าพญาช้าง และตรัสว่า ท่านเอ๋ย พระเจ้าแผ่นดิน สหายของท่านสิ้นพระชนม์แล้ว เราไม่ได้เรียนให้ท่านรู้ เพราะเกรงว่าท่านจะตรอมใจตายด้วยความอาลัยอาวรณ์. แต่นี่คือโอรสของพระองค์ บัดนี้พระเจ้าโกศาละยกทัพมาล้อมหมายจะชิงเมืองเรา กำลังกองทัพเหนือกว่าพวกเรา ขอให้ท่านเหยียบขยี้พระกุมารให้ตายไปเสีย ถ้าท่านไม่อาจรักษาบัลลังก์ให้พระกุมารน้อยได้.  พญาช้างได้ฟังดังนั้น ใช้งวงคว้าตัวพระกุมารขึ้นวางบนหัวของมันสักครู่หนึ่ง น้ำตาไหลรินแล้วจึงคืนให้แก่พระมเหสี แล้วประกาศจับตัวพระเจ้าโกศาละมาเป็นเชลยให้ได้.  เหล่าปุโลหิตรีบจัดแต่งพญาช้างเตรียมออกศึก และเปิดประตูเมืองประตูหนึ่งให้. ขบวนศึกของพญาช้างทรงเพียงขบวนเดียวก็ทำให้กองทัพของข้าศึกหนีกระเจิดกระเจิงไปหมด. พญาช้างทรงแหวกเข้าไปในค่ายศัตรู ตรงเข้าไปคว้าตัวพระเจ้าโกศาละ แต่พญาช้างไม่อยากให้ถึงตาย และปล่อยพระเจ้าโกศาละไป โดยมีเงื่อนไขว่าจะไม่กลับมารังความเมืองพาราณสีอีกเลย. เพราะได้พญาช้างทรงช่วย พระโพธิสัตว์จึงได้ขึ้นครองแผ่นดินเมื่อพระชนม์ได้เจ็ดขวบ ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยความเป็นธรรมและแผ่อาณาจักรออกไปตลอดชมพูทวีป.
       เราคงจะพอเข้าใจแล้วว่า บางทีเพียงแค่การปรากฏตัวของพญาช้างทรง ช้างคู่บ้านคู่เมือง ก็สามารถช่วยแผ่นดินให้พ้นภัย. ช้างคู่บ้านคู่เมืองอยู่ในฐานะของผู้ครองแผ่นดิน ถ้าเผอิญช้างนี้อยู่ในฐานะของผู้รุกรานล่ะ เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร?  มีนิทานชาดกเรื่องที่ ๑๘๒ เล่าไว้ว่า ยามนั้น พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดเป็นบุตรของนายควาญช้าง ทำงานรับใช้เจ้าเมืองคนหนึ่งผู้ขึ้นตรงต่อพระเจ้าพาราณสี. เมื่อบิดาถึงแก่กรรม เขาจึงรับหน้าที่เป็นควาญช้างต่อไป. แน่นอนตามธรรมดาของเมืองขึ้นทั้งหลาย เมื่อสบโอกาสเหมาะ ก็ประกาศแข็งตนไม่ยอมอ่อนน้อมอีกต่อไป เจ้าเมืองขึ้นคนนี้ก็เช่นเดียวกัน. เมื่อมีโอกาส เขายกทัพมาล้อมเมืองพาราณสี แล้วส่งสารยื่นคำขาดต่อเจ้าเมืองพาราณสีว่า ให้ยอมมอบบัลลังก์แก่เขาเสีย ถ้าไม่อยากทำสงครามให้เลือดตกยางออก. แน่นอนเจ้าเมืองพาราณสีหรือจะยอมง่ายๆ ทรงสั่งให้ปิดประตูเมืองเตรียมทำศึก. ฝ่ายเจ้าเมืองขึ้นผู้กลายเป็นคนรุกราน ขึ้นขี่พญาช้างทรงของเขา เตรียมเข้ายึดเมืองพาราณสี มีพระโพธิสัตว์-ควาญช้าง นั่งอยู่หลังช้างทรงไปด้วย (ตัวเจ้าเมืองหรือกษัตริย์นั่งบนคอช้าง). ทหารฝ่ายเมืองพาราณสีต่างยิงธนู เหวี่ยงก้อนอิฐหรือหิน และอาวุธแบบอื่นๆ เพื่อกันไม่ให้ข้าศึกเข้าประชิดกำแพงเมือง. โดนหนักๆเข้าพญาช้างทรงชักกลัว ไม่อยากรุดหน้าขึ้นไป คิดถอยหลังด้วยซ้ำ. ตอนนั้นแหละที่พระโพธิสัตว์-ควาญช้างพูดขึ้นว่า สหายเอ่ย วีรบุรุษสงครามเยี่ยงเจ้า ไม่มีเสียล่ะที่จะถอย มีแต่จะรุก มันน่าขายหน้าแค่ไหน ถ้าเจ้าถอย.  แน่นอน! สำหรับพญาช้างทรง คำพูดแค่นี้เพียงพอที่จะทำให้มันฮึกเหิมขึ้นมา (เพราะความรักเกียรติและศักดิ์ศรีของการเป็นพญาช้างคู่แผ่นดิน). มันรี่เข้าถอนเสาประตู พังประตูเมือง เข้าไปยึดเมืองได้ในที่สุด แล้วมอบเมืองให้แก่เจ้านายของมัน.
       เราจะเห็นว่านิทานที่เกี่ยวกับช้างส่วนใหญ่ แสดงคตินิยมในแง่บวกมากกว่าแง่ลบ และมักเกี่ยวกับช้างตระกูลดี พวกช้างเผือกที่คู่ควรกับผู้มีบุญญาธิการ. ในเวชสันดรชาดกเองก็มีเรื่องของช้างตู่บ้านคู่เมืองเข้าไปปนด้วย. เราคงจำได้ว่า พระเวสสันดรเองถูกขับไล่ออกจากวัง เพราะพระองค์ได้มอบช้างคู่บ้านคู่เมืองให้เมืองอื่นไป ทำให้ประชาชนไม่พอใจและกลัวเหตุเภทภัยจะเกิดขึ้นในอาณาจักร เพราะดังที่กล่าวมาแล้ว ช้างคู่บ้านคู่เมืองเป็นยิ่งกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเมือง ที่ทำให้เมืองนั้นอุดมสมบูรณ์ ฝนตกสม่ำเสมอ พืชพันธุ์เจริญเติบโต ประชาชนกินดีอยู่ดี.
       ในยุคปัจจุบันที่มีการรณรงค์คุ้มครองสัตว์ป่า เราหวังว่า ตัวอย่างจากสัตวชาดกที่นำมาเล่านี้ จักทำให้เรานึกอยากรู้จักธรรมชาติของสัตว์มากขึ้น เข้าใจชีวิตและความเป็นอยู่ของมัน เอ็นดูมันและถ้าบางชนิดเรารักมันไม่ลง (เพราะความน่าเกลียดหรือน่ากลัว) อย่างน้อยเราก็ไม่ทำลายมัน เพราะทุกสิ่งที่มีอยู่ในโลกร่วมกับเรา คนนั่นแหละที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากทุกสิ่งในธรรมชาติ และคนก็มักลืมบุญคุณของธรรมชาติ. ไม่ใช่เรื่องน่าขันหรือเรื่องงมงายเลย ที่คนในสมัยก่อนเคารพบูชาดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ผาสูงชัน ถ้ำใต้ดิน ต้นไม้ที่มีอายุร้อยปีฯลฯ เป็นความรู้สึกจริงใจและรู้คุณค่าของธรรมชาติของคนสมัยนั้น. ชีวิตสัตว์ทั้งหลายก็สอนให้คนพัฒนาตนเองในรูปแบบต่างๆ. ในสมัยกลาง สัตว์มีบทบาทในการเผยแผ่ศาสนา เพราะคนรู้จักใกล้ชิดสัตว์และสังเกตเห็นความเป็นอยู่ของมัน จึงมีการเปรียบเทียบการครองชีวิตของคนกับสัตว์ จนในที่สุดสัตว์หลายชนิดกลายเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาไปด้วย.

บทความนี้ได้เขียนแนะมุมมองหนึ่งในการเข้าใจคุณธรรมพุทธศาสนา สำหรับนักศึกษาเกาหลี
โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ ผู้เขียน ลงในวารสารของสมาคมไทยคดีศึกษา แห่งสาธารณรัฐเกาหลี..
ประจำปี ๒๕๓๕.


















4 comments:

  1. โชเล่าเก่งเหลือเกิน อ่านเพลินมากๆ นิทานชาดกเหล่านี้แต่งขึ้นในสมัยพระพุทธกาล หรือว่าหลังพระพุทธกาลคะ

    ReplyDelete
  2. คิดว่าคงรวบรวมในภายหลังค่ะ เหล่าสาวกได้ฟังและจดจำกันมา ไม่มีผู้ใดยืนยันชื่อผู้รวบรวม น่าจะช่วยๆกันนะคะ version เก่าที่สุดอยู่ในราวศตวรรษที่สี่ก่อนคริสตกาล และเวอชั่นที่แกะรอยได้อย่างชัดเจนอยู่ในคริสต์ศตวรรษที่ 6 ที่ใช้เป็นคริสต์ศศักราช เพราะส่วนใหญ่เป็นผลงานการศึกษาค้นคว้าของชาวต่างประเทศ เป็นกลุ่มนักวิจัย Orientalists ชาวตะวันตกศึกษาตะวันออกมากกว่าชาวอินเดียเอง และก็มีชาวจีนด้วย แต่ไม่ค่อยมีคนแกะรอยตามไปอ่านข้อมูลจีนด้วยเหตุผลต่างๆ มีภาษาจีนเป็นอุปสรรคเป็นต้น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ดูเหมือนจะไม่สนใจสัตวชาดกนัก อย่างดีก็ทศชาติมั้ง เพราะฉะนั้นจึงไม่อาจให้ข้อมูลที่น่าจะเข้าข่ายเป็นโบราณคดีศึกษา ในที่นี่ เขียนเล่าเชิงศีลธรรมมากกว่าค่ะ
    ดีใจที่อ่านแล้วสนุก มันยาวมาก ได้ตัดออกไปแล้ว พอคนเปิดเห็นเป็นตัวอักษรพรืดไป (สามสิบหน้า A4) ก็อาจปิดเลย
    ขอบคุณที่เขียนมาให้กำลังใจค่ะ

    ReplyDelete
  3. ขอบคุณมากค่ะ ได้ฟังเทศน์มหาชาติจนจบทศชาติ ชอบค่ะ ไม่ยาวเกินไป

    ReplyDelete
  4. โชรวบรวมนิทานชาดกไว้มาก แต่ละเรื่องให้คติสอนใจดีมากค่ะ

    ReplyDelete