Sunday, 16 October 2016

ตัวอย่างการใช้สำนวนเมื่อผลัดแผ่นดิน La succession

ปีที่แล้ว (26 สิงหาคม 2015) ได้เขียนอธิบายสำนวนประกาศเมื่อมีการผลัดแผ่นดิน เปลี่ยนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็น กฎมณเฑียรบาลของฝรั่งเศส และใช้ในทุกประเทศในยุโรป. ขนบนี้อังกฤษเป็นประเทศแรกที่ใช้ในศตวรรษที่ 12  ส่วนฝรั่งเศสใช้ครั้งแรกในศตวรรษที่ 15. วันนั้นโทรทัศน์ฝรั่งเศส (France 2) ได้ทำรายการรำลึกถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ 14. ข้าพเจ้าได้ติดตามฟัง และในที่สุดนำมาเล่าต่อ เขียนเป็นข้อมูลเล็กๆน้อยๆให้เพื่อนได้อ่านกัน. วันนี้เนื่องจากมีการถามที่มาที่ไปของการประกาศผลัดแผ่นดินสู่การเสด็จขึ้นเสวยราชย์ จึงไปขุดหาที่เขียนไว้ มานำลงบล็อกเป็นตัวอย่าง.
    พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จิตรกรรมผลงานของ Hyacinthe Rigaud, 1701. (ภาพจากกูเกิล)
แผนผังพื้นที่พระราชวังส่วนเก่าที่สุดที่เป็นจุดกลางของพื้นที่
ภายหลังมีการสร้างต่อเติมเป็นปีกยาวใหญ่ออกไปสองข้าง ตามแนวทิศเหนือและทิศใต้ 
ดอกจันบอกที่ตั้งของห้องพระบรรทม (ภาพจากกูเกิล)
       ทำไมนำมาเล่าในวันนั้นเพราะวันที่ 26 สิงหาคม 2015 เป็นวันครบรอบสามศตวรรษแห่งการสวรรคตของกษัตริย์ฝรั่งเศสพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (1638-1715) เมื่อพระชนมายุ 77 ชันษา. ทรงครองราชย์นานที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคนั้นคือนานถึง 72 ปี. พระวรกายทรุดโทรมสุดประมาณด้วยมะเร็งชนิดหนึ่ง (gangrene necrosis). ครึ่งร่างซีกซ้ายตั้งแต่ปลายเท้าถึงกระหม่อมตายด้าน ฟันหลุดร่วงหมด ร่างส่งกลิ่นเหม็นคลุ้ง. (แปลตรงตามคำบรรยายในภาษาฝรั่งเศสเอง). พระมเหสี Mme de Maintenon [มาดาม เดอ แม็งเตอนง] อยู่เฝ้าข้างพระองค์ และกลับคืนสู่กรุงปารีสสามวันก่อนพระเจ้าหลุยส์สิ้นพระชนม์ตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าหลุยส์ และตามกฎมณเฑียรบาลว่า กษัตริย์ต้องสิ้นพระชนม์ตามลำพัง. พระเจ้าหลุยส์ออกจากวัง (le château de Marly) กลับคืนสู่พระราชวังแวร์ซายส์ ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม ตามกฎมณเฑียรบาลเช่นกันที่ว่า พระมหากษัตริย์ต้องสิ้นพระชนม์ในห้องพระบรรทมของพระองค์ - la chambre du roi.  วันที่ 24 สิงหาคม ทรงรับศีลมหาสนิทครั้งสุดท้าย (l’extrême onction).
ห้องพระบรรทม (la chambre du roi) ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในพระราชวังแวร์ซายส์ ที่ตั้งพระแท่นบรรทม เป็นจุดศูนย์กลางที่พุ่งออกเป็นแนวเส้นตรง ทอดสู่ด้านทิศตะวันตกที่เป็นด้านพระราชอุทยาน เป็นแนวตรงไปยังสระน้ำพุใหญ่ๆเช่น Le bassin de Latone ต่อไปยัง Le Bassin d’Apollon และต่อเป็นแนวตรงไปตามสระน้ำยาวสุดสายตาถึงสุดอาณาเขตของพระราชวัง. แผนผังทั้งพระราชวังและพระราชอุทยานมีห้องพระบรรทมนี้เป็นจุดศูนย์กลาง ทุกอย่างแผ่ออกจากจุดนี้ กระจายออกเหมือนรังสีแสงอาทิตย์ เพราะพระเจ้าหลุยส์ทรงเลือกดวงอาทิตย์เป็นสัญลักษณ์ของพระองค์.
ภาพของ Jean-Marie Hullot — http://www.fotopedia.com/items/jmhullot-z2Umsz0Z8aY, CC BY 3.0. (ภาพจากวิกิคอมมอน).
 วันที่ 25 สิงหาคม ตามปฏิทินนักบุญ เป็นวันที่ศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกกำหนดให้เป็นวันของกษัตริย์นักบุญ Saint-Louis [แซ็งลุย] ที่ IX ของฝรั่งเศส. มีการนำวงดนตรีมาแสดงเฉลิมฉลองพระเกียรติใต้พระบัญชรห้องพระบรรทม (une aubade).  การจัดดนตรีถวายพระเกียรตินี้ เลือกอย่างเฉพาะเจาะจงให้เป็นวันกษัตริย์นักบุญพระเจ้าหลุยส์ที่ 9 เพื่อย้ำการสืบเชื้อสายตรง พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 เป็นกษัตริย์ที่ชาวยุโรปรู้จักและยกย่องอย่างสูงในประวัติศาสตร์ เป็นผู้นำกองทหารชาวคริสต์ไปทำสงครามครูเสดด้วย.

    ห้องพระบรรทมของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 อยู่ชั้นหนึ่งตรงกลางของอาคารพระราชวัง จากห้องพระบรรทมนี้ มองออกไปในทิศตะวันออก ปัจจุบันจะเห็นพระบรมรูปทรงม้าของพระเจ้าหลุยส์ที่14 (สร้างแล้วเสร็จในราวปี 1838 เท่านั้นตามพระราชดำริของพระเจ้ากลุยส์ที่ 18) ตั้งอยู่บนเส้นแนวทิศตะวันออก - ทิศตะวันตก เป็นแกนกลางหลักสำคัญที่สุดของพื้นที่. แกนกลางหลักของพระราชวังและพระราชอุทยานแวร์ซายส์ ทิศตะวันออกนั้นจากกลางห้องพระบรรทม ต่อไปยังพระบรมรูปทรงม้าของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ดังกล่าว ผ่านตรงกลางประตูทางเข้าพื้นที่พระราชวังและทอดเป็นเส้นตรงออกไปในภูมิประเทศ ซึ่งคือตรงไปในทิศทางของกรุงปารีส.  ส่วนทางทิศตะวันตก จากตรงแท่นพระบรรทมทอดตรงไปยังจุดใจกลางที่ตั้งของสระน้ำขนาดใหญ่ คือสระน้ำพุ le bassin de Latone [เลอ บัสแซ็ง เดอ ลาโตน] และที่สำคัญที่สุดตรงจุดใจกลางที่เป็นรูปปั้นเทพอพอลโล (le bassin d’Apollon [เลอ บัสแซ็ง ดะโปลง]) พุ่งตรงต่อไปในภูมิประเทศ โดยไม่มีอะไรขวางสายตาหรือขวางเส้นทางนี้เลยไปจนสิ้นสุดอาณาเขต. ผังทั้งหมดคือผลงานสุดยอดของสถาปัตยกรรมฝรั่งเศสของ Le Nôtre [เลอ โน้ตรฺ]. จากเส้นแกนหลักนี้มีเส้นทางเดินภายในที่แผ่ออกเหมือนรังสีดวงอาทิตย์ ทั้งหมดนี้มีจุดใจกลางตรงห้องพระบรรทมของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทุกอย่างเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระจ้าหลุยส์ผู้สถาปนาพระองค์เป็น Le Roi Soleil หรือสุริยะเจ้า.
ดูความยาวเหยียดของแนวแกนกลางของผังพระราชวังแวร์ซายส์
และปริมาณน้ำที่นำมาประดับพระราชอุทยานที่นั่น
(ภาพจากกูเกิล)
จากที่ตั้งแท่นพระบรรทมของพระเจ้าหลุยส์ที่14 มองตรงออกทางหน้าต่างประตู เห็นสระน้ำ Le bassin de Latone (1) และไกลออกไปในสระน้ำใหญ่ คือ Le bassin d’Apollon (2) แล้วต่อไปบนแนวตรงไปสุดสายตาสุดอาณาเขตพระราชวัง (ภาพจากกูเกิล)
ที่ตั้งห้องพระบรรมทม(ตรงดอกจัน)เมื่อมองออกไปในทิศตะวันออก เป็นแนวตรงผ่านรั้วประตู
ออกไปสู่เมืองแวร์ซายส์และต่อไปยังกรุงปารีส. (ภาพจากกูเกิล)
ผังการบริหารจัดการพื้นที่สองข้างแนวแกนกลาง (ภาพจากกูเกิล)

วันที่ 26 สิงหาคม 1715 ทรงให้พาพระเจ้าเหลนเธอ (อายุห้าขวบกว่า) ผู้จะเป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 เข้าเฝ้า (เท่ากับการประกาศการสิ้นสุดของการปกครองอย่างเป็นทางการของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แม้พระองค์จะยังไม่สิ้นชีวิตในวันนั้น) หลังจากนั้นมีหัวหน้ามหาดเล็กคนเดียวที่อยู่ในห้องพระบรรทม. ชาวประชาทั้งฝรั่งเศสและยุโรปต่างคอยข่าวการสิ้นพระชนม์ ซึ่งตรงกับเวลา แปดนาฬิกาสิบห้านาที วันที่ 1 กันยายน 1715.  มหาดเล็กกรมวัง (chamberlain) สวมหมวก มีขนนกประดับหมวกสีดำ ออกไปบนระเบียงของห้องพระบรรทมประกาศว่า Le roi est mort! (พระเจ้าอยู่หัวสิ้นพระชนม์แล้ว) เขากลับเข้าข้างใน เปลี่ยนหมวก เปลี่ยนขนนกเป็นสีขาว แล้วกลับออกไปบนระเบียงทันที ประกาศต่อประโยคที่สองว่า Vive le roi! (ขอให้พระเจ้าอยู่หัวจงเจริญ). 
 พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ผลงานของ Hyacinthe Rigaud (1659-1743).
ภาพนี้อยู่ที่พระราชวังแวร์ซายส์. (ภาพจากกูเกิล)
คำประกาศสองประโยคนี้ ฟังดูขัดกัน แต่เป็นพิธีการประกาศทางการ (protocol) ของราชสำนักฝรั่งเศส ในความหมายว่า กษัตริย์ผู้หนึ่งสิ้นพระชนม์ อีกผู้หนึ่งจะขึ้นแทนทันที บัลลังก์ไม่มีวันว่างลง. เป็นการกระชับความมั่นใจแก่ทวยราษฎร์ และสำคัญกว่านั้นคือ ป้องกันการชิงอำนาจหรือการชิงบัลลังก์. การพูดสองประโยคนี้ยังทำกันอยู่ในราชสำนักของยุโรป ในอังกฤษก็เช่นกัน ยุคนั้นภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาในราชสำนักในยุโรปทุกแห่ง จึงใช้เป็นภาษาฝรั่งเศสกันต่อมา. ฝรั่งเศสใช้ครั้งแรกในศตวรรษที่ 15 สมัยพระเจ้า Charles VII.
       ส่วนราชสำนักอังกฤษ ใช้สองประโยคนี้ก่อนฝรั่งเศส คือในปี 1272  เมื่อพระเจ้าเฮนรีที่สามสิ้นพระชนม์ พระราชโอรส (Edward I) มิได้อยู่ที่อังกฤษ กำลังไปทำศึกสงครามครูเสด. เพื่อป้องกันเหตุกบฎชิงราชย์ใดๆ สภากรมวังยึดหลักการมั่นคงว่า The throne shall never be empty; the country shall never be without a monarch. บัลลังก์ไม่มีวันว่าง เพราะฉะนั้นพระเจ้าเอ็ดเหวิดได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์ต่อทันที แม้ว่าพระองค์มิได้อยู่ในพระราชอาณาจักรก็ตาม.  เพราะกว่าข่าวไปถึงสนามรบ กว่าจะกลับมาถึงอังกฤษ ก็อีกนาน. มีพระราชพิธีราชาภิเษก (coronation) เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 1274.  
        สำนวนที่ใช้กันมา Le Roi est mort. Vive le Roi! ใช้กันในทุกราชสำนักในยุโรป ซึ่งในสมัยต่อมาแปลเป็นภาษาของแต่ละประเทศเช่นภาษาสเปนหรือภาษาอื่นๆ. สำนวนนี้จึงสื่อการเปลี่ยนผ่านในการครองราชย์อย่างทันทีทันการไร้ช่องห่างของเวลาอย่างสิ้นเชิง. ในอังกฤษ ก็ใช้ภาษาอังกฤษแทนในเวลาต่อมาว่า The king is dead. Long live the King!

      หลังจากที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 สิ้นพระชนม์ อีกสองวันต่อมา มีการเคลื่อนหีบพระบรมศพของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ไปยังห้อง Salon de Mercure [ซาลง เดอ แมรฺกูรฺ]  ข้าราชสำนักหรือบุคคลชั้นสูงผู้ใดก็เข้าไปภายในพระราชวังแวร์ซายส์ได้ โดยมีข้อแม้ว่า ก่อนผ่านเข้าไปในวัง ต้องมีชุดที่เหมาะสม ผู้หญิงแต่งดำ ส่วนผู้ชายต้องสวมหมวกและมีดาบติดตัว.  ทั้งสองสิ่งนี้เป็นสองสัญลักษณ์ของการเป็น ผู้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีความซื่อตรงจงรักภักดี ในแบบของอัศวินยุคกลาง จึงเข้าไปแสดงคารวะต่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ใน Salon de Mercure ดังกล่าวได้.  พระบรมศพอยู่ที่นั่น 8 วัน.
พระบรมศพของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในท่านอนบนพระแท่นบรรทมใน Salon de Mercure. (ภาพจากกูเกิล) 
Salon de Mercure ห้องเมอคิวรี เรียกตามจิตรกรรมที่ประดับบนเพดานห้องนี้.
Mercury เทพผู้นำข่าวสาร สื่อนัยของผู้ประกาศเกียรติภูมิของพระมหากษัตริย์ให้กึกก้องไกลไปทุกทิศ. 
จิตรกรรมเกี่ยวกับเทพ Mercury บนเพดานห้องนี้. (ภาพจากกูเกิล)

หลังจากนั้น หีบพระบรมศพ ถูกเคลื่อนย้ายไปยังมหาวิหารแซ็งเดอนีส์ (la Basilique de Saint-Denis ที่ประดิษฐานพระบรมศพพระศพและศพ ของพระราชวงศ์ ขุนนางชั้นสูงและเจ้าอาวาสคนสำคัญๆของแผ่นดิน) และตั้งอยู่หน้ามหาวิหารต่อไปอีก 43 วัน เพื่อให้ชาวเมืองได้ไปถวายความเคารพเป็นครั้งสุดท้าย.  การเคลื่อนพระบรมศพดังกล่าวจากพระราชวังแวร์ซายส์ไปยังมหาวิหารแซ็งเดอนีส์  มิใช่ง่ายเลยในสมัยนั้น. เล่าว่ามีข้าราชบริพารผู้ติดตามไปในขบวนทั้งหมด 1000 คน. สุสานของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ถูกคณะปฏิวัติ (1789) ทำลายไม่เหลือให้เห็นเลย

ภาพขบวนเคลื่อนพระบรมศพของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ไปยังมหาวิหาร 
La Basilique de Saint-Denis ทางเหนือของกรุงปารีส. (ภาพจากกูเกิล)

มหาวิหาร la Basilique de Saint-Denis. (ภาพจากกูเกิล)
 ชมภาพตัวอย่างอนุสาวรีย์ศิลปะประดับสุสานภายในมหาวิหาร. (ภาพจากกูเกิล)
 
ดูผังที่ตั้งของหลุมศพหรืออนุสาวรีย์ของกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ตลอดจนบุคคลสำคัญๆ ได้ที่เพ็จนี้ 
http://www.tourisme93.com/basilique/plan-tombeaux-basilique.html  
ที่เล่ามานี้เพิ่มเติมจากเนื้อหาข่าวหัวข้อหนึ่งในรายการ Télématin ของสถานีโทรทัศน์ France 2 ประจำวันที่ 26 สิงหาคม 2015.

โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ รายงาน (อีกครั้ง) วันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๙.

Sunday, 9 October 2016

คนมองตน Human self perception



ภูมิทัศน์โลกในจิตสำนึกของคนตะวันตก
       ความรู้ที่ตกทอดมาจากโลกโบราณดังปรากฏในเอกสารเก่าๆทั้งที่เป็นลายลักษณ์และภาพลักษณ์ทุกประเภท (ที่เก็บอยู่ตามห้องสมุดสำคัญๆในโลกตะวันตก)  เป็นเสมือนตาน้ำลึกใต้ดินที่มนุษย์รุ่นหลังแต่ละรุ่นดูด ปั๊มหรือดึงขึ้นมาจากพื้นโลก  นำมาพัฒนาหรือสร้างสรรค์โลกของเขาตามจินตนาการและอัจฉริยะของตนภาษาโบราณเต็มไปด้วยรูปลักษณ์แปลกๆ  สัญลักษณ์เหล่านี้หมายถึงอะไร  ถ้าใครเข้าใจก็เหมือนพบกุญแจสู่ห้องสมบัติที่เขาจะเลือกกอบโกยไปใช้. 

ความรู้คืออะไร ในโลกโบราณ 

       ตั้งแต่โบราณคนมองดูโลกรอบข้าง แต่ละวันเพิ่มอาณาเขตที่ตนรู้จัก แต่ละวันมีความอยากรู้อยากเห็น เกิดคำถาม หาคำตอบให้กับตนเอง.  ความซับซ้อนของคำถามเพิ่มขึ้นกับประสบการณ์จนมาถึงจุดว่าทำอย่างไรจึงจะเข้าใจโลก, เข้าใจการเกิดการอยู่ของสรรพสิ่งปราชญ์โบราณคิดไปคิดมา ระหว่างที่ชีวิตถูกพัดโหมโยนเหวี่ยงไปมาไม่หยุดในอิทธิฤทธิ์ของดินน้ำลมไฟ และหลังจากที่เพียรคิดคลำทางจากปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆที่คนควบคุมไม่ได้  ในที่สุดไปหยุดอยู่ที่ประเด็นที่ต้องยอมรับก่อนว่า เหนือสรรพสิ่งที่คนเราเห็นหรือจินตนาการไปถึงได้  มีจุดเริ่มต้น(จุดที่โดยปริยายต้องอุบัติขึ้นเองมิฉะนั้นจุดนั้นก็ไม่ใช่จุดเริ่มต้น). จุดเริ่มต้นนี้ตกลงเรียกกันว่า พระเจ้า, ผู้เป็นหนึ่ง, หรือเรียกด้วยนามอื่นใดก็แล้วแต่. ต่อมาจึงเริ่มพยายามเข้าใจเส้นทางจากจุดเริ่มต้นที่เรียกเป็น "พระเจ้า" นี้ ถึงทุกสิ่งในจักรวาล.  ปราชญ์โบราณจึงสรุปไว้เป็นพื้นฐานของศาสตร์ทุกชนิด (เป็นกระแสใหญ่ที่สุด) ว่า พระเจ้าเป็นศูนย์กลาง, เป็นผู้บัญชาการ,  เป็นผู้ปูเส้นทางทุกเส้นทุกสายไปสู่การมีอยู่ของสรรพสิ่ง, ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่, อยู่บนโลกหรือนอกโลก.  (แต่ในโลกยุคโบราณ  ก็มีคนที่คิดผิดไปจากคนอื่น เช่นไม่เห็นด้วยกับความคิดที่ว่า ทุกอย่างออกมาจากพระเจ้าและจะกลับเข้าสู่พระองค์. เราจะไม่กล่าวถึงกระแสนี้ในที่นี้)
       จากจุดพื้นฐานที่โลกโบราณเรียกให้เป็นพระเจ้านั้น เกิดเป็นวรรณกรรมอธิบายกำเนิดกับความเป็นมาต่างๆของโลกมนุษย์  เป็นเทพตำนานอีจิปต์ เทพตำนานกรีกโรมัน เป็นคัมภีร์เก่าและใหม่ของคริสต์ศาสนา  คัมภีร์อัลกุระอ่านของอิสลาม  พระเวทของอินเดียหรือคัมภีร์อื่นของลัทธิความเชื่ออื่น. เนื่องจากเป็นผลงานในยุคโบราณ  ภาษาหรือรูปลักษณ์ในวรรณกรรมเหล่านั้น จึงสะท้อนโลกโบราณ. คัมภีร์เหล่านี้ปราชญ์รุ่นต่อๆมานำมาศึกษาวิเคราะห์และตีความตามยุคสมัยของพวกเขา ตามจินตนาการและอัจฉริยะของพวกเขา. ทำให้เกิดความเข้าใจแนวใหม่ ความเชื่อแบบใหม่ๆตลอดจนแนวโน้มใหม่ๆแปลกแยกออกไปจากยุคแรกๆ.
   
    ตอนต้นศตวรรษที่ 6-8 ที่อีจิปต์มีหนังสือ La Tabula Smaragdina (แปลตามตัวว่า "โต๊ะมรกต")  ที่เชื่อว่า Hermès Trismégiste (ชาวกรีกใช้ชื่อเทพแฮร์แมซ เทพแห่งข่าวสารของกรีก ไปเรียกเทพท็อต-Thot ของอีจิปต์โดยมีสร้อยชื่อต่อท้ายในความหมายว่า "ยิ่งใหญ่กว่าสามเท่า" )  เป็นผู้เขียนเก็บความรู้ทุกชนิด ทั้งที่เป็นความรู้ในธรรมชาติกับที่นอกเหนือธรรมชาติ (ถือว่าเป็นบิดาแห่งอัลเคมีและศาสตร์ลึกลับทั้งปวง). ต่อมาปราชญ์ชาวอาหรับแปลเป็นภาษาอาหรับและในศตวรรษที่ 14 สังคมคริสต์ตะวันตกก็มีความรู้เกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้จากฉบับภาษาอาหรับ. ตั้งแต่นั้นในยุโรปการศึกษาตำนานโบราณ จึงโยงไปถึงการทำความเข้าใจเกี่ยวกับอัลเคม(alchemy ดูรายละเอียดท้ายบท)  กับศาสตร์ว่าด้วยความลึกลับในจักรวาล (mysticism/ hermeticism).  การเรียนรู้เกี่ยวกับโลกโบราณในสังคมคริสต์ยุคกลาง จึงทำให้เกิดมีหนังสือหลายแนวหลากความคิดที่ผิดออกไปจากเนื้อหาเดิมของคัมภีร์. หนังสือเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของภูมิปัญญาตะวันตก ที่มีอิทธิพลต่อธรรมชาติวิสัย, ค่านิยม, จิตสำนึก, จินตนาการหรือเป็นแรงจูงใจสู่การสร้างสรรค์แบบใหม่ๆของศิลปินทุกแขนงตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน.  
        เมื่อประมาณสี่ร้อยปีก่อนคริสตกาล อริสโตเตแลซ (Aristoteles ~384-~322 BC.ปราชญ์ชาวกรีก ลูกศิษย์ของเปลโต- Plato เพื่อนและครูของอเล็กซานดรามหาราช) เป็นผู้แยกแยะว่า คนมีสองโลก : โลกภายในกับโลกภายนอก หรือโลกของจิตวิญญาณกับโลกของวัตถุ. เหมือนในจักรวาล มีท้องฟ้าส่วนหนึ่งที่คงที่ไม่เปลี่ยนแปลงกับอีกส่วนหนึ่งที่ผันแปรตลอดเวลา. ความคิดนี้มีผลกระทบต่อทุกสิ่งทุกอย่าง  โดยเฉพาะเมื่อปโตเลมี( Claudius Ptolemaeus, 90-168 AD. นักดาราศาสตร์ นักคณิตศาสตร์กับนักภูมิศาสตร์ชาวกรีก)  รับเอาความคิดดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในการศึกษาค้นคว้าของเขา. เขาเป็นผู้แยกดาราศาสตร์ออกจากโหราศาสตร์. เขาตั้งทฤษฎีการหมุนเวียนของโลกและดวงดาวในจักรวาลว่า โลกเป็นศูนย์กลางมีดวงอาทิตย์และดวงดาวหมุนไปรอบโลก (Ptolemy's geocentric system).  
ภาพซ้ายเป็นภาพของปโตเลมี ในภาพขวา นางฟ้าขนาบอยู่ด้านหลังของปโตเลมี เธอชี้ไปที่เครื่องมือวัดตำแหน่งดวงดาว แบบเสี้ยวพระจันทร์ (astrolabe). ตรงล่างซ้ายของภาพก็มีเครื่องมือดาราศาสตร์แบบสมบูรณ์กว่าอีกแบบหนึ่งที่ใช้ในสมัยก่อน. นางฟ้าชื่อ Margarita Philosophica เป็นนางฟ้าดาราศาตร์ มาดลใจเขาให้คิดและเข้าถึงศาสตร์นี้. ปโตเลมี เป็นนักปราชญ์ จีงมีมกุฎสวมบนศีรษะเหมือนเป็นรางวัลจากนางฟ้า (ตามขนบการแจกแจงชี้คุณสมบัติของบุคคลในสมัยก่อน). ในประวัติศาสตร์อีจิปต์โบราณ มีกษัตริย์ราชวงศ์ปโตเลมีครองอีจิปต์ด้วย(ราว 300 ปีก่อนคริสตกาล). นักประวัติศาสตร์บางคนคิดว่า นักดาราศาสตร์ ปโตเลมี อาจเป็นหนึ่งในเชื้อสายกษัตริย์ราชวงศ์นี้ แต่ไม่มีหลักฐานยืนยัน. ภาพพิมพ์ของ Gregor Reisch ที่พิมพ์ในปี 1508. (ส่วนภาพของปโตเลมี มาจากวิกิพีเดีย หมวด public domain).
        ทฤษฎีของปโตเลมี จึงส่งเสริมความเชื่อในพระเจ้า ยืนยันและเน้นการเป็นจุดเริ่มต้นไปโดยปริยาย. ผลงานทางดาราศาสตร์ของเขา เป็นตำราฉบับแรกและเกือบฉบับเดียวที่เชื่อมความรู้ทางดาราศาสตร์ของโลกโบราณกับโลกยุคกลาง  ที่จักเป็นพื้นฐานของวิสัยทัศน์ทุกแบบในสังคมตะวันตกต่อมาอีกพันกว่าสองพันปี. ทฤษฎีดาราศาสตร์ของปโตเลมี  มิใช่เพียงเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติตามคติที่มี "จุดเริ่มต้น" (ที่อาจโยงต่อไปถึงโหราศาสตร์เพื่อทำนายชีวิต) แต่ยังเป็นพื้นฐานของสถาปัตยกรรม, ศิลปะ, เคมีและปรัชญาแนวคิดอื่นๆรวมทั้งการเยียวยารักษาที่พัฒนาตามมา.  ชาวอาหรับเป็นผู้แปลงานของอริสโตเตแลซและผลงานของปโตเลมี (ด้วยวิจารณญาณและประสบการณ์ที่ปราชญ์ชาวอาหรับได้พัฒนาควบคู่กันมา) ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 9.  ในปลายศตวรรษที่ 11-12 เท่านั้นที่สังคมคริสต์ตะวันตก เริ่มแปลหนังสือศาสตร์วิชาจากกรีซโบราณจากฉบับภาษาอาหรับมาเป็นภาษาละติน. ความรู้จากโลกโบราณจึงกระจายไปในอารามนักบวชต่างๆไปทั่วคริสตจักร และเข้าสู่วงศึกษาวิเคราะห์ในมหาวิทยาลัย ซึ่งเริ่มตั้งขึ้นแล้วตั้งแต่ศตวรรษที่ 9  ก่อนมาเป็นภูมิหลังของปัญญาชนทุกคนในตะวันตก (อย่างน้อยถึงกลางศตวรรษที่ 20).  

ความรู้ตั้งแต่ปลายสมัยกลางถึงสมัยใหม่ 
       อิทธิพลการศึกษาโลกโบราณ ไม่ว่าจะเป็นเทพตำนานศึกษา ดาราศาสตร์ อัลเคมีหรือศาสตร์ลึกลับ ตลอดจนการแกะอักษรจารึกโบราณ จนถึงวรรณกรรมคลาซสิกทั้งหลาย  ยังมิได้เสื่อมสลายลงแต่อย่างไร. ความคิดของปราชญ์รุ่นต่างๆ รวมกันเป็นสมบัติล้ำค่าของปัญญาชนยุโรป ที่ปูทางสู่ศาสตร์ใหม่ๆ มีแนวโน้มใหม่ๆ เกิดแรงสร้างสรรค์ตามค่านิยมใหม่เป็นต้น. ความรู้โบราณที่เราคิดว่าล้าสมัยนั้น จริงๆแล้ว จึงยังเป็นบ่อเงินบ่อทองของผู้รู้จักขุดไปใช้เป็นประโยชน์  (กรณีของ Davinci Code ที่ออกมาเป็นนวนิยายและภาพยนต์ ก็เป็นตัวอย่างที่วิเศษสุดในยุคปัจจุบัน).
ภาพซ้าย เป็นแผนที่ของจักรวาล ตามความคิดของปโตเลมี เป็นระบบที่มีโลกเป็นศูนย์กลาง  มีดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และดาวพระเคราะห์อื่นๆหมุนรอบโลก (geocentricsystem)
ภาพขวา  แผนที่ขักรวาลของโคแปรนิคผู้ยืนยันว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล และโลกหมุนรอบตัวเองในขณะเดียวกันก็หมุนรอบดวงอาทิตย์ (เมื่อปี1543). แน่นอนเขาถูกทางการศาสนาประณามอย่างรุนแรงในปี1614.  ทฤษฎีของโคแปร์นิคนำไปสู่การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา  โดยเฉพาะเมื่อ Kepler ชาวเยอรมันกับ Galileo ชาวอิตาเลียนได้ศึกษาและกระชับความรู้ทางดาราศาสตร์ตามแนวของโคแปรนิค (Footnote 1)


      ในศตวรรษที่16 ปาราเซลซุส Paracelsus(1493-1541) แพทย์และนักอัลเคมีชาวสวิสฯ ตั้งทฤษฎีแพทย์แนวใหม่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่ตอบโต้และตอบสนองกันระหว่างส่วนต่างๆในร่างกายคน ที่เขาเรียกว่าเป็น ระบบไมโครคอสซึม(microcosm) กับทุกอย่างนอกตัวคน รวมดินน้ำลมไฟและดวงดาวต่างๆในท้องฟ้า. ปาราเซลซุสเรียกโลกภายนอกคนนี้ ว่าเป็น ระบบแมคโคฺรคอสซึม(macrocosm). เขาคิดว่าการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับธรรมชาติจากประสบการณ์โดยตรง จากการพิสูจน์ทดลองให้เห็นจริงนั้น ต้องควบคู่ไปกับ การเข้าถึงโลกลึกลับเบื้องหลังโลกผิวหน้าด้วย.  คนหรือสรรพสิ่งที่เป็นจักรวาลฉบับเล็กนั้น  มีสามภาคคือรูปลักษณ์หนึ่ง วิญญาณหนึ่งและสติปัญญาอีกหนึ่ง. ในจักรวาล(ใหญ่)ที่ครอบคนอยู่ ก็มีวิญญาณคือวิญญาณของโลก มีความคิดหรือสติปัญญาของพระเจ้า. สติปัญญาอยู่ในแดนสูง คืออยู่ในที่สถิตของพระเจ้า แต่อาจประทับรอยเป็นตราลงบนสรรพสิ่งในโลกระดับต่ำๆข้างล่างได้ โดยอาศัยดวงดาวที่มีพฤติกรรมและอิทธิพลแบบต่างๆต่อคน. คนในฐานะที่เป็นจักรวาลฉบับเล็ก(microcosm) จึงสามารถติดต่อกับจักรวาลใหญ่(macrocosm)ได้.   ความฝันหรือจินตนาการของคน เป็นกระบวนการสื่อสารระหว่างจักรวาลสองระบบดังกล่าว. ปาราเซลซุส เรียกจินตนาการ(imagination)ของคนว่า เป็น ดาวภายใน  อำนาจจินตนาการของคนเป็นภาพลักษณ์ของอำนาจกับพฤติกรรมต่างๆของดวงดาว.  จินตนาการของคนเหมือนพลังแสงอาทิตย์และ  เป็นสิ่งสร้างสรรค์. ปาราเซลซุส เปรียบว่าเหมือนแม่เหล็กที่ดูดสารหรือข้อมูลจากข้างนอกเข้าสู่ภายในร่างของคน (และผลักดันในคนคิดหรือทำสิ่งนั้นสิ่งนี้).  จินตนาการจึงคือช่างประติมากรหรือช่างเหล็ก (ตามคติอัลเคมีนี้) และจินตนาการจำเป็นเพราะคนเป็นสิ่งที่เขาคิด  ถ้าเขาคิดถึงไฟ เขาคือไฟ. ปาราเซลซุส มีส่วนกระตุ้นและผลักดันภูมิปัญญาคนไปสู่การศึกษาวิเคราะห์จิตใต้สำนึกและพัฒนาเป็นทฤษฎีใหม่ๆ หรือดลใจให้แต่งให้เขียนวรรณกรรมแนวใหม่  หรือแต่งแต้มเป็นเนื้อหาใหม่ในจิตรกรรมเป็นต้น
ภาพจาก Opus mago-cabalisticum ของ Welling (Frankfurt 1719) นักเขียนผู้นี้ให้ความเห็นว่า เมื่อพระเจ้าแบ่งมวลสารอลวนอลเวงในจักรวาลออกเป็นสองส่วน ทำให้เกิดแสงสว่างกับความมืด, ไฟกับน้ำก่อนอื่นใด และเมื่อพระเจ้าสร้างคนเป็นสิ่งสุดท้ายนั้น ได้บรรจงใส่จักรวาลทั้งหมดทั้งสิ้นลงไปในตัวคน  ทำให้คนเป็นทั้งจุดเริ่มต้นและจุดสุดท้าย  เช่นนี้เองที่ทำให้คนมีเศษของ ความเป็นพระเจ้าหรือเทพในตัวด้วย.
ภาพจากหนังสือ Utriusque Cosmi (แปลว่า History of two cosmos 1617-21) ของ Robert Fludd. แสดงอิทธิพลของดวงดาว 12 ดวงในจักรราศี ต่อส่วนต่างๆในร่างกายมนุษย์.
  ภาพนี้ก็เป็นอีกภาพหนึ่งที่สื่อเนื้อหาเดียวกันจากหนังสือ Astrology หน้า 21
ธรรมชาติในจิตสำนึกของคน

       ชีวิตคนอยู่ในกรอบแบบหนึ่งแบบใดตลอดเวลา และธรรมชาติเป็นกรอบใหญ่ที่สุดของเราบนโลกนี้ธรรมชาติจึงเป็นแหล่งกำเนิดของจินตนาการ  ทุกคนมีสิทธิ์ฝันเท่าเทียมกัน แต่ฝันไม่เหมือนกัน.  ภาพในมโนทัศน์ของแต่ละคน ย่อมมีรูปลักษณ์ต่างๆแปลกแยกกันออกไปตามระดับการศึกษากับประสบการณ์ รสนิยม จิตใต้สำนึก ความรู้สึกและอารมณ์สะเทือนส่วนตัว แต่ก็มีความต้องการพื้นฐานที่เหมือนกันในการธำรงชีวิต. โลกภายในที่ไม่เหมือนกันนั้น ถ้าผู้ใดแสดงออกให้เราเห็น ก็นับเป็นโอกาสดีที่เราจะได้รับรู้มโนทัศน์ของคนอื่น  เหมือนกับให้เรามีตาของคนนั้นเพิ่มอีกหนึ่งคู่. นับว่าโชคดีมากสำหรับเราชาวตะวันออก ที่มีโอกาสได้เห็นจิตรกรรมตะวันตกเนื้อหานี้ไม่น้อยเลย ที่เป็นเอกสารที่ช่วยให้เราเข้าใจสังคมตะวันตก นอกเหนือจากจิตสำนึกและจิตใฝ่ผูกพันของศิลปิน. ข้อมูลจากจิตกรรมดังกล่าว เป็นผลของชีวิตและสังคมแบบตะวันตก. จินตนาการของคนในที่สุด มิได้อิสระอย่างที่เราเชื่อกันนัก แต่อยู่ในกรอบของวัฒนธรรม ของค่านิยมในสังคมแต่ละยุคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้.   
         แต่ศิลปะก็มีหลายโฉมหน้าเหมือนคนมีนิสัยผิดแผกแตกต่างกัน. อุปนิสัยแบบหนึ่งนำลักษณะหนึ่งเข้าสู่ศิลปะเหมือนประทับรอยนิ้วรอยเท้าส่วนตัวในศิลปะ. ทำไมจึงพูดกันว่า ศิลปะคือเหตุผลของการมีชีวิต (The reason to be / La raison d'être)  หมายความว่าอะไร. มันเกี่ยวกับการดำรงชีวิตและการรักษาดุลยภาพในชีวิตของเราอย่างไร.  ศิลปะเป็นเส้นแบ่งระหว่างชีวิตภายในกับชีวิตภายนอก แยกชีวิตที่เรารู้สึกโดยตรง จากประสาทสัมผัสทั้งห้าของเรา ซึ่งเรารับรู้เพียงผลกระทบเป็นระลอกๆเท่านั้น.  ศิลปะเชื่อมระลอกคลื่นความรู้สึกที่เกิดจากประสาทสัมผัสกับโลกภายนอกตามความเป็นจริง (เช่น การเสนอภาพสิ่งสลักหักพังเหมือนบอกว่า  คนชอบที่จะคิด(ล่วงหน้า)ถึงจุดจบของสถานที่ของสรรพสิ่ง เป็นจินตนาการล่วงหน้าถึงการสลายตัว). เราเป็นเราเองส่วนหนึ่งที่มีอุปนิสัยเฉพาะของเรา ขณะเดียวกันเราก็เป็นผลผลิต เป็นเสียงก้องของทุกสิ่งที่มากระทบเราที่ไม่ใช่ตัวเราแท้ๆ  เป็นผลผลิตจากโลกที่เราถูกจัดเข้าไปอยู่และต้องอยู่โดยที่โลกนี้ก็เป็น สิ่งแปลกที่และ สิ่งนอก ตัวเรา. ทุกสิ่งในประการหลังนี้เรียกว่า "le non-moi" [เลอ นงมัว](ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของเรา, อนัตตา ) หรือเป็นโลกนอก. การอยู่ในสภาพเหยียบเรือสองแคมระหว่างโลกตัวตนเรากับโลกที่ไม่ใช่ตัวตนเราเป็นสิ่งที่ข่มขวัญไม่ใช่เล่น และเราก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับทั้งสองโลกนั้นให้ได้เพื่อความอยู่รอด.  
       นอกจากโลกสองโลกดังกล่าวข้างบน  ภายในโลกตัวตนเราเอง ก็ยังมีโลกสองแบบสองลักษณะในตัวคน  แบบหนึ่งเป็นสติปัญญา อีกแบบหนึ่งเป็นร่างกายเนื้อหนังมังสา หรืออาจเรียกเป็น วิญญาณกับสังขาร (ในคติศาสนาไม่ว่าคริสต์หรือพุทธ). สองโลกสองลักษณะนี้เหมือนมีม่านหนาทึบขวางกั้นอยู่ตลอดเวลา. ทำอย่างไรจึงจะสามารถเจาะให้สองโลกนี้เชื่อมต่อถึงกัน ปรับตัวเข้าหากันได้อย่างสมดุลที่สุดยังไม่มีใครให้คำตอบได้.  นักปราชญ์และหมอสอนศาสนาได้พยายามกันมา ต่างมีวิธีมีเครื่องมือของพวกเขา.  ฝ่ายปราชญ์ใช้ประสบการณ์โดยตรงจากประสาทสัมผัสทั้งห้า เป็นเครื่องมือวิเคราะห์และสังเคราะห์.  ฝ่ายศาสนาใช้ความรักกับศรัทธาในพระเจ้า. แต่ศิลปะดูเหมือนจะมีประสิทธิภาพมากกว่าวิธีการอื่นๆ  เพราะศิลปะเท่านั้นที่สามารถผนวกทั้งโลกภายในและภายนอก เชื่อมความจริงจากสองสถานะศิลปะไม่เพียงแต่เชื่อม อัตตะกับจักรวาล ด้วยการสร้างสรรค์ภาพพจน์ที่แสดงให้เข้าใจถึงความจริงจากโลกสองแบบที่เราแบกอยู่ภายใน ยังโยงใยศิลปินคนนั้นกับคนอื่นๆ  เพราะศิลปะของเขาที่ทำให้เขาสื่อสารกับคนอื่นได้  ที่ทำให้คนอื่นแตะความรู้สึกของเขาได้ เพราะมันก็คือความรู้สึกส่วนหนึ่งของทุกคนด้วย และนี่คือปาฏิหาริย์ของงานศิลป์.
       ศิลปะจึงเป็นสัญลักษณ์แบบหนึ่งที่ถ่ายทอดสภาพจิตใจภายในของศิลปินในขณะเดียวกันก็เป็นสมการของศิลปินและแม้ว่างานศิลป์มีความจริงด้านวัตถุอยู่ด้วยในตัวมันที่เห็นได้จับต้องได้ มีรูปร่างหรือมีกรอบเป็นต้น แต่เหนือสิ่งนี้คือธรรมชาตินิสัยหรือธาตุแท้ของศิลปินที่ศิลปินแสดงออก สารภาพออกมา  ด้วยวิธีการที่เขาเลือกหรือเจาะจงในการถ่ายทอดความจริงนี้.  หรือในทางกลับกัน ศิลปินอาจทำงานด้วยความตั้งใจสื่อสิ่งหนึ่งต่อผู้อื่น, เขาหารูปแบบจากจักรวาลหรือสภาพแวดล้อมธรรมชาติ มาเป็นภาษา เป็นเครื่องมือนำเสนอเนื้อหาที่เขาต้องการ.  นี่เองที่ศิลปินไม่อาจเจาะโลกภายนอกได้หากไม่อาศัยทางผ่านจากโลกภายใน และเขาก็ไม่อาจแสดงโลกภายในของเขาได้หากไม่ขอยืมรูปลักษณ์จากโลกภายนอก. เช่นนี้ ศิลปะจึงเป็นทางเชื่อมของโลกสองแบบที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน.

         ครึ่งหลังศตวรรษที่ 16 ในประเทศเนเทอร์แลนด์ตอนใต้  มีจิตรกรรมนิรนามผู้หนึ่งได้แสดงภาพทิวทัศน์เหมือนร่างคนทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เป็นมุมมองที่แปลกผิดจิตรกรร่วมสมัย. ในแง่จิตวิทยา อาจตีความได้ว่า การมองเห็นธรรมชาติเป็นภาพคนหรือส่วนต่างๆของร่างกายคน เป็นจิตใต้สำนึกแบบหนึ่งที่ใฝ่หาตัวเองในโลกกว้าง  เหมือนอยากให้ตัวเองสามารถแผ่ขยายคลุมพื้นที่อย่างไม่มีอะไรมาจำกัดได้  รวมทั้งการมีธรรมชาติทุกอย่างบนโลกรวมอยู่ในตัวเขา.  วิทยาการสมัยใหม่ให้ความรู้แน่นอนเจาะจงถึงองค์ประกอบพื้นฐานของชีวิต  ว่าประกอบด้วยธาตุปฐมภูมิที่สำคัญๆเก้าธาตุ  ธาตุเหล่านี้ก็เป็นส่วนประกอบของดินบนผิวนอกของโลกเช่นกัน  ในอัตราส่วนเฉลี่ยดังนี้  ก๊าซออกซิเจน 45.0%, ซิลิคอน 27.0%,  อลูมีเนียม 8.0%,  เหล็ก 5.8%, คัลเซียม 5.1%,  แม็กนีเซียม2.8%,  โซเดียม 2.3 %,  โปตัสเซียม1.7%, ไฮโดรเจน1.5%.  รวมกันเป็น  99%  ของดินบนผิวโลก. (footnote 2). เมื่อสองพันสามพันปีก่อน คงไม่มีใครรู้ข้อมูลที่เจาะจงถึงขนาดนี้  แต่จะด้วยการคิดพิจารณาหรืออะไรก็แล้วแต่ ในวัฒนธรรมหลายกระแสต่างบอกว่า  คนคือดิน เกิดจากดินและจะกลับเข้าสู่ดิน. ความผูกพันระหว่างคนกับดินจึงยังคงอยู่ในทุกเซลล์ของคนเราโดยที่เราไม่รู้ตัว. ระบบภายในร่างกายเราจึงมีอะไรเหมือนระบบธรรมชาติข้างนอก  มีทั้งของแข็ง(กระดูก) ของเหลว(น้ำและเลือด)กับอากาศ(ออกซิเจน). ธรรมชาติแบบไหนที่จิตรกรหรือปราชญ์คนหนึ่งเห็นในร่างของผู้ชายและแบบไหนในร่างของผู้หญิง  จุดนี้เองที่อาจพูดได้ว่าเป็นผลลัพธ์จากวัฒนธรรม. 
   
    ภาพทิวทัศน์ทั้งสองภาพที่นำมาให้ชมเป็นตัวอย่างข้างล่างนี้  ไม่ปรากฏนามจิตรกร อยู่ในยุคครึ่งหลังศตวรรษที่16  ตั้งชื่อกันไว้ว่า  Paysage anthropomorphe (ทิวทัศน์ที่เป็นคน) จากพิพิธภัณฑ์ Musées royaux des Beaux-Arts de Belgique ที่เมืองบรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยม.  (สองภาพนี้จิตรกรไม่ได้ตั้งใจให้ต่อกัน  เราเพียงแต่มาวางเทียบเคียงกันให้เห็นถนัดๆเท่านั้น)

ภาพทิวทัศน์ผู้ชาย สื่อการเพาะปลูกกับการเก็บเกี่ยวเป็นสำคัญ  จึงหมายถึงการสืบเนื่องของสองฤดู  หรือการสืบสานกิจการงานในท้องนา. กิจกรรมที่เห็นในภาพไม่ได้เป็นกิจกรรมที่ทำในเวลาเดียวกัน  การเพาะปลูกเริ่มตั้งแต่ฤดูร้อน ธรรมชาติเขียวชะอุ่มทอดต่อไปบนตัว(บ่า) เป็นท้องนาสีทองในฤดูใบไม้ร่วง อันเป็นฤดูเก็บเกี่ยว. มีข้าวสาลีกับองุ่นเป็นผลิตผลสำคัญ ซึ่งคือขนมปังกับไวน์. ทั้งสองเป็นอาหารหลักของชาวยุโรป และเป็นอาหารสัญลักษณ์ของคริสต์ศาสนาด้วยเช่นกัน. อาหารอื่นที่โยงไปถึงได้ในภาพนี้เช่นปลา นม เนยและเนื้อจากสัตว์เลี้ยง. การเพาะปลูกถือว่ามีศักดิ์ศรีเหนือกว่างานชนิดอื่นตามที่ระบุไว้ในคัมภีร์เก่า. พระเจ้าเจาะจงไว้ว่า อาดัมต้องลงมือทำไร่ไถนา หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินเพื่อยังชีพ. ในมุมมองของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ การลงมือทำไร่ไถนา คือการเรียนรู้ธรรมชาติ การค้นหาเคล็ดลับในการครองชีวิต เพราะคนต้องสู้รบกับธรรมชาติ เพื่อสกัดสิ่งที่ดีที่สุดออกมา.  จิตรกรถ่ายทอดมโนสำนึกดังกล่าว ด้วยภาพเมฆดำก้อนใหญ่ที่ปกคลุมกลางท้องฟ้า เมฆที่บอกว่าพายุกำลังมา. ในมุมมองของคริสต์ศาสนา (ต้องโยงไปถึงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นพื้นฐานของสังคมตะวันตก) ชีวิตชาวนาชาวไร่ เป็นการปฏิบัติธรรม เป็นการสั่งสมคุณธรรมอย่างหนึ่งที่โบสถ์คริสต์จารึกและเชิดชูไว้ เป็นเนื้อหาสำคัญเนื้อหาหนึ่งในคริสต์ศิลป์. พระเยซูเองก็เคยเปรียบตนเองเป็นคนถางหญ้าไถนา (ซึ่งคือการกรุยทางสู่สวรรค์ให้คน ตามด้วยการมาไถ่บาปให้มนุษย์) และก็เคยเปรียบพระองค์เองว่าเป็นต้นองุ่น(กับผลองุ่น). เลือดที่หลั่งไหลเมื่อถูกตรึงบนไม้กางเขนเหมือนน้ำองุ่นที่คนคั้นและนำไปทำเหล้าไวน์รสเลิศ. ไวน์จึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในพิธีกรรมของคริสต์ศาสนา. ในที่สุด ภาพการเก็บเกี่ยวและภาพองุ่นจึงกลายเป็นภาพลักษณ์ถาวรของความอุดมสมบูรณ์ในโลกทัศน์ตะวันตกและเป็นแบบประดับที่แพร่หลายที่สุดตามสถานที่อาคารทั้งเก่าและใหม่ โดยเฉพาะสถาบันการเงินต่างๆ.

ภาพทิวทัศน์ผู้หญิง มีน้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญมีรายละเอียดยิบเกี่ยวกับกิจกรรมการประมง. นอกจากนี้ตรงบริเวณหน้าอกก็เป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ ตรงหัวปลายสุดก็มีอีกกลุ่มหนึ่ง.  ผู้หญิงคือแผ่นดิน ที่เพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์. ประเด็นสำคัญกว่านี้ในทัศนคติตะวันตกคือ ผู้หญิงเปรียบเสมือนน้ำในแง่ที่เธอคือผู้ให้กำเนิดชีวิต เป็นผู้ให้นมเลี้ยงดูลูกเหมือนน้ำที่เป็นแหล่งกำเนิดของสิ่งมีชีวิตและเป็นแหล่งอาหารของสรรพสัตว์. ผู้หญิงเป็นภาพลักษณ์ของน้ำในแง่ที่เป็นภาพลักษณ์ของกาลเวลาเหมือนวัฏจักรน้ำที่หมุนไปไม่สิ้นสุด และสอดคล้องกับการที่ผู้หญิงเป็นผู้อุ้มท้อง เป็นผู้ให้กำเนิดชีวิตและเป็นผู้ธำรงเผ่าพันธุ์คติตะวันตกยังเปรียบผู้หญิงเป็นเรือผจญคลื่นน้ำและลม พาผู้โดยสารไปถึงฝั่ง ถึงที่ปลอดภัย (ในวัฒนธรรมของชนหลายชาติ เรือเป็นคำเพศหญิงเสมอ.  ในคัมภีร์ ถ้าเผอิญเรือจะล่มหรืออับปาง  นั่นเพราะบนเรือมีผู้โดยสารที่ไม่ดี ไปทำบาปอะไรไว้แล้วจะหนีเป็นต้น  จึงมีการโยนคนบาปหนาลงทะเลไป แล้วเรือและผู้คนอื่นจะปลอดภัย. ไม่มีใครคิดว่าเพราะเรือไม่ดีแบบเครื่องจักรมีปัญหา). พึงรู้ด้วยว่า ในคติคริสต์ศาสนา โบสถ์คือนาวา คือเรือที่จะพาคนไปสู่สวรรค์. 
       เมื่อเปรียบเทียบภาพผู้ชายและผู้หญิงข้างบน  อาคารบ้านเรือนในภาพผู้หญิงเป็นแบบภูมิฐานกว่า ตรงขมับของผู้หญิงมีบ้านใหญ่สวย มีเด็กเล่นกัน. ในตาขวาของเธอก็มีภาพเด็กๆ.  บริเวณเดียวกันในภาพผู้ชาย เป็นบ้านธรรมดาในชนบท มีการกินเลี้ยง. ที่ตามีภาพคนยิงปืน นกสองตัวบินอยู่.
        สรุปแล้วคือจิตรกรมีโอกาสเลือกแต่งแต้มสิ่งที่เขาเห็นหรือสิ่งที่เขาอยากเห็น แต่มโมทัศน์ของเขาพัฒนามาจากวัฒนธรรมในสังคมที่เขาอยู่ด้วย.  อัจฉริยะเฉพาะตัวของศิลปิน อยู่ที่การเลือกสรรกับการประกอบปัจจัยหลากหลาย และด้วยเทคนิคของจิตรกรรม แสดงออกมาเป็นศิลปะของเขาเอง และทำให้เราเข้าใจว่า สำหรับจิตรกร ชีวิตผู้หญิงและผู้ชายมีความหมายอะไรต่อโลกและโลกให้อะไรต่อชีวิตคนทั้งสอง. ภาพจึงสื่อความผูกพันกับค่านิยมที่สังคมตะวันตกปลูกฝังไว้  ถ่ายทอดคติเก่าด้วยมุมมองแนวใหม่ว่า  คนจะเก็บเกี่ยวผลจากน้ำพักน้ำแรงของตนเท่านั้น และจะมีลูกหลานสืบต่อไปไม่รู้สิ้น.  นี่คือคำตัดสินของพระเจ้า เมื่ออาดัมกับอีฟถูกขับออกจากสวรรค์. ขอให้ดูภาพประติมากรรมจำหลักนูนที่ วิหารซันเปโตรนิโยเมืองโบโลนญา (San Petronio,  Bologna) ฝีมือของ Jacopo della Quercia (ระหว่างปี 1425-1438)  จะเข้าใจ ว่าในที่สุดมีเนื้อหาเดียวกับภาพทิวทัศน์สองภาพที่เราพูดถึงนั่นเอง ด้วยวิธีการนำเสนอต่างกัน.
อาดัมกำลังใช้จอบขุดดินเพื่อเพาะปลูก ส่วนอีฟมีลูกๆคลอเคลีย เธอถือกรอด้ายใหญ่ในมือทั้งสอง สื่อการทำงานเพื่อประดิษฐ์เสื้อผ้าปกปิดร่างเปล่าเปลือยและกันลมกันแดด หรือเป็นการเล่าอย่างกว้างๆว่าเธอเองก็ต้องทำงานในความเป็นอยู่แต่ละวัน นอกจากการมีลูกและเลี้ยงลูก. 
       ยังมีภาพจิตรกรรมแบบเดียวกันอีกภาพหนึ่งฝีมือของ Joos Momper (1564-1635) เขาตั้งชื่อภาพไว้ว่า "ฤดูหนาว.  เราเห็นบ้านหลังหนึ่งโดดเดี่ยวตรงขมับ. ภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน  มีน้ำตกลงแรงและเร็ว ซึ่งอาจดูว่าแข็งเป็นน้ำแข็งไปแล้วก็ได้. ทิวทัศน์ดูเป็นหน้าตาของคนแก่. ยิ่งเป็นภาพขาวดำด้วย ยิ่งเน้นบุคลิกของคนในภาพ. ดูแล้วอาจคิดเข้าใจความอ้างว้างภายในใจของจิตรกร ที่เล็งเห็นความจริงของชีวิต ที่ต้องห่อเหี่ยวและสิ้นสุดลงวันหนึ่ง  เหมือนฤดูหนาวที่ธรรมชาติหยุดนิ่ง หลับไหลไร้ชีวิต.  
 Winter by Joos Momper (1564-1635)
ภาพทัศน์โลกภายในจิตสำนึกคนกับภูมิทัศน์ของโลกรอบข้างจึงมีศิลปะเป็นตัวเชื่อม หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ ศิลปะเชื่อม ตัวตนของจิตรกร กับ จักรวาลที่มีอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเขา นอกจากนี้ยังพูดได้ว่า ศิลปะให้โอกาสจิตรกรได้สื่อสารกับคนร่วมโลกคนอื่นๆ ให้คนอื่นรับรู้โลกของเขา ความรู้สึกของเขา และเพราะคนมีศักยภาพด้านสติปัญญากับเทคนิคสูงมาก  ศักยภาพนี้จึงชักนำให้คนรู้จักลอกเลียนแบบจากธรรมชาติ ในขณะเดียวกันก็รู้จักบูรณะพัฒนาและเสริมสร้างธรรมชาติให้สมบูรณ์ ที่จักเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อคนมากขึ้นๆด้วย.
        จิตรกรอิตาเลียนชื่ออารชิมบอลโด(Giuseppe Arcimboldo,  1527-1593) ก็อยู่ในศตวรรษเดียวกันนี้  ผลงานของเขาเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่ง ที่ไม่เหมือนกระแสศิลปะที่มีมาก่อน. โปรดพิจารณาตัวอย่างภาพชุด "ดิน-น้ำ-ลม-ไฟ" ของเขาข้างล่างนี้  


ภาพดิน (Terra ราวปี 1570) รวมภาพสัตว์บกทั้งเล็กและใหญ่  มีสิงโตเป็นบ่า  แกะขาวเป็นหน้าอก ลำตัววัวเป็นลำคอ  ใบหูช้างเป็นหู  กระต่ายเป็นจมูก  หัวเสือเป็นคาง หัวแมวเป็นริมฝีปากบน  มีปลายงวงช้างเป็นริมฝีปากล่าง  ตัวจิ้งจกที่โผล่ออกเหมือนลิ้นในปากคน  ปากที่อ้าค้างไว้ของสุนัขจิ้งจอกที่เกาะติดหัวช้างเป็นตา แถมยังมีหนูตัวเล็กในปากนั้นด้วยแทนลูกนัยน์ตา  สังเกตส่วนที่เป็นหัว  มีกวางหลายพันธุ์ที่มีเขาประดับ เป็นกวางที่เห็นตามเขาสูงๆในมณฑลตีรอล(Tyrol)ประเทศออสเตรียเป็นต้น  หัวกวางจัดได้พอเหมาะ ทำให้เขากวางมองดูเหมือนมงกุฎบนศีรษะ  ยังมีสัตว์อื่นๆอีกทั้งเสือ หมาป่า หมู แพะ ม้า ลา ลิงเป็นต้น. สัตว์บกทั้งหลายรวมกันเป็นบทอุปมาของดิน.
ภาพน้ำ (Aqua 1566) รวมสัตว์น้ำมากมายหลายสิบชนิดเกินกว่าที่จะแจกแจงให้ครบ ทั้งปู เต่า หอยขนาดใหญ่ ปลาหมึก กุ้ง กบและหอยเล็กหอยน้อยอื่นๆอีกหลายชนิด. ปูกับเต่ามีกระดองอยู่ตรงหน้าอกเหมือนเกราะป้องกันคน. ปลาหมึกกับหอยโข่งเป็นส่วนไหล่.  มีปลาตัวยาวคล้ายปลาไหลพันรอบเป็นคอ. ปากปลาฉลามพร้อมฟันเป็นปากและหัวปลาสองตัวเป็นจมูกและตา. มีหอยอีกชนิดหนึ่งหงายขึ้นเป็นรูปทรงของใบหูแถมมีเม็ดไข่มุกเม็ดหนึ่งห้อยเป็นตุ้มหู.  ปลาหลายชนิดรวมทั้งแมวน้ำ สิงโตทะเลกับกุ้งและกั้ง เสริมเข้ากันและกันเป็นหัว. มีกิ่งหินปะการังประดับ  มองเป็นมงกุฎได้.  สร้อยไข่มุกบอกแนวคอ. ปลาตัวแบนเป็นแก้ม. ในภาพนี้มีสิ่งมีค่าเช่นสร้อยไข่มุก ตุ้มหูไข่มุกและปะการังที่ประดับบนหัว  มิใช่สิ่งที่สามัญชนยุคนั้นมีโอกาสเห็น.  ทำให้เป็นที่เข้าใจว่าจิตรกรต้องการโยงไปถึงจักรพรรดิแม็กซีมีเลียนผู้ครองราชบัลลังก์ในตอนนั้น และทรงเป็นผู้อุปถัมภ์อารชิมบอลโดตลอดมา
ภาพลม (Aer ไม่มีวันที่กำกับ) รวมสัตว์ปีกทั้งหลาย โดยเฉพาะที่หัวรวมหัวนกไว้มากมาย จนทำให้ดูเป็นหมวกครอบบนศีรษะ.  มีนกยูงรำแพนเป็นตัวและปากเหยี่ยวตรงหน้าอก.  ห่านขาวกับหางไก่ดูเป็นหู. ลำคอไก่งวงที่กำลังพอง(แบบกำลังกู่ร้อง)เป็นจมูก. หัวไก่กับหัวนกไก่ฟ้าเป็นปาก. มีหางนกไก่ฟ้ากับปากนกอีกตัวที่หลบอยู่ใต้ไก่ เป็นเหมือนเคราทรงแหลมยาว.  หัวเป็ดที่ปากอ้าแทนวงตาและภายในปากของเป็ดมีตานกเป็นลูกตาคน.  มีนกฮูกตรงหลังคอและในหมู่นกบนหัว.  นักวิจารณ์ศิลป์เจาะจงว่ายูงกับเหยี่ยวเป็นสัญลักษณ์ของราชตระกูลฮับสบูรก์.  นกฮูกสัญลักษณ์ของความฉลาดมีปัญญา(ตามค่านิยมกรีกเดิม) ยังอาจโยงไปถึงองค์จักรพรรดิได้ เพราะทรงส่งเสริมศิลปะวิทยาทั้งหลาย
ภาพไฟ (Ignis 1566) รวมรูปลักษณ์ของไฟตั้งแต่เทียนไข ตะเกียงน้ำมันจนถึงปืนใหญ่.  ส่วนที่เป็นแก้มลงมาถึงคอเป็นก้อนหินที่ใช้จุดไฟ. มีตะเกียงน้ำมันเป็นคางกับคอ.  ไส้ตะเกียงกับมัดไม้แท่งเล็กใช้จุดไฟเป็นปาก.  เทียนชนวนแบนๆเป็นตา กับเทียนเล่มใหญ่เข้าไปเสริมที่คอ.  ไฟแช็กเป็นจมูก. ไฟแช็กอีกแบบหนึ่งเป็นใบหู (ที่เห็นเหมือนคีมหนีบนั้น ใช้ขลิบและตัดไส้ตะเกียงที่เผาไหม้จนดำแล้วทิ้ง).  ตรงไหล่เป็นปากกระบอกปืนใหญ่ มีแท่งไม้ต่งปากกระบอกที่ใช้ดันกระสุนปืนให้เข้าที่เข้าทางภายในกระบอก.  ตรงหน้าอกยังมีปากกระบอกปืนอีกสามแบบ. สายชนวนที่พันกันเป็นกลุ่มก้อนเป็นหน้าผาก.  มีเศษแผ่นไม้กับกิ่งไม้แห้งๆสั้นๆ(เป็นเชื้อเพลิง)รวมกันเป็นหัว.  เมื่อกดไฟแช็กที่จมูกและหู ไฟจะลุกพลึบขึ้นบนหัวดังในภาพ. ไฟที่กำลังลุกดูเหมือนมงกุฎทองสุกสว่าง.  ภาพนี้มีสัญลักษณ์ที่โยงไปถึงตระกลูฮับสบูร์กอย่างชัดเจนที่สุดสร้อยทองประดับมรกต(หรือหินมีค่า)ลวดลายแบบนี้คือ เครื่องอิสริยาภรณ์ที่เรียกว่า ตัวซงดอร์ (Toison d'or) เป็นเครื่องประดับที่ท่านดยุ๊คฟิลิปแห่งบูรกอญ (Philippe de Bourgogneแห่งฝรั่งเศส) ทรงสั่งให้ทำขึ้นในปี 1429 เพื่อสวมในวันอภิเษกสมรส ต่อมาตกไปเป็นของราชวงศ์ฮับสบูร์ก.  ภาพเหยี่ยวสองหัวเป็นสัญลักษณ์ของจักรวรรดิที่ควบอำนาจเหนืออิตาลีและเยอรมนี ซึ่งในยุคของจิตรกรอารชิมบอลโด อำนาจดังกล่าว อยู่ในมือของตระกูลฮับสบูร์ก.  ภาพปืนในที่สุดจึงสื่อไปถึงอำนาจทหารของตระกูลฮับสบูร์ก เมื่อทำสงครามสู้กับพวกเตอร์ก. 

   
    แรกดูภาพทั้งสี่ภาพ  เราอาจคิดว่าการประกอบภาพไม่มีระเบียบ แต่ถ้าดูให้ดีจะเห็นว่าจิตรกรรู้จักลักษณะธรรมชาติของสัตว์อย่างดีและเจาะจงวางในที่ที่เหมาะที่สุด ที่สมบูรณ์กลมกลืนกันไปได้  ทั้งๆที่ขนาดของสัตว์ไม่สมจริง (มิฉะนั้นจะไม่สามารถแสดงภาพของกุ้งกับปลาฉลามไว้บนภาพเดียวกันได้เป็นต้น).  เมื่อพิจารณาภาพจิตรกรรมทั้งหมดของอารชิมบอลโด นักประวัติศาสตร์ศิลป์สรุปว่า
อารชิมบอลโด ชอบใส่ภาพลักษณ์บางอย่างที่สื่อไปถึงองค์จักรพรรดิเสมอ  เป็นการเทิดทูนพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นผู้อยู่เหนือสรรพสิ่ง สรรพสัตว์ในโลก รวมทั้งเหนือข้าแผ่นดินของพระองค์ผู้สามารถอยู่อย่างสันติสุขได้ในสมัยของพระองค์ (อารชิมบอลโด เป็นจิตรกรประจำราชสำนักฮับสบูร์ก รับใช้จักรพรรดิสองพระองค์ คือแมกซิมิเลียน กับ รูดอร์ฟที่สอง (footnote 3) เป็นระยะเวลาทั้งหมด 11 ปี ก่อนจะลากลับไปเมืองมิลาโนบ้านเกิดในอิตาลีในปี 1587.  อารชิมบอลโด เป็นที่ยกย่องในราชสำนัก ในฐานะจิตรกร  นายช่าง และนักปราชญ์เพราะความรอบรู้ของเขา) (footnote 4).
      ภาพดินน้ำลมของ อารชิมบอลโด ยังอาจกระตุ้นให้เรานึกเปรียบเทียบธรรมชาตินิสัยของคนกับธรรมชาติสัตว์.  ความจริงแล้วการเปรียบเทียบระหว่างคนกับสัตว์ อยู่ในจิต(ใต้)สำนึกคนตลอดเวลาดยเฉพาะในสมัยก่อนๆ เมื่อป่าคอนกรีตยังไม่มากเท่าสมัยนี้. ร่องรอยความใกล้ชิดระหว่างนกับสัตว์ยังคงอยู่ในภาษา.  ทุกภาษามีสำนวนเปรียบเทียบคนกับสัตว์ ทั้งในแง่บวกและในแง่ลบ.  บางทีก็ให้ภาพพจน์สัตว์ที่ผิดความเป็นจริง ซึ่งการศึกษาค้นคว้าในยุคใหม่ช่วยเปลี่ยนโลกทัศน์ของเราเกี่ยวกับสัตว์ให้ถูกต้องมากขึ้น. เดี๋ยวนี้เรารู้แล้วว่าสัตว์ไม่โง่หรอก  สำนวน"โง่เป็นวัวเป็นควาย" หรือ"โง่เง่าเต่าตุ่น" จึงควรหยุดใช้ได้แล้ว. ส่วนภาพไฟก็ทำให้นึกถึงสำนวนได้อีกมากเช่นกันในทุกภาษา.  อารยธรรมของคนพัฒนาขึ้นมาได้เพราะคนค้นพบไฟนั่นเอง และคนก็ต้องเรียนรู้วิธีการต่างๆเพื่อรู้จักใช้และควบคุมไฟในทุกรูปแบบ (ทั้งไฟแช็ก ไฟฟ้า ไฟป่า ไฟเสน่หา ไฟพยาบาท ไฟสุมขอน ไฟจุกตูดหรือไฟจี้ก้นเป็นต้น).  ดวงอาทิตย์คือไฟของคนยุคแรกๆของโลก และเพราะคนเห็นความสำคัญของดวงอาทิตย์ในฐานะของผู้ให้ความร้อนและแสงสว่าง  จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่สุดที่คนบูชาดวงอาทิตย์.  ไฟเป็นปัจจัยสำคัญของชีวิต ของปฏิกิริยาเคมีทุกชนิด.  ภาพลักษณ์เกี่ยวกับไฟปรากฏในศิลปะเสมอมา.  ในคติคริสต์ศาสนา  ภาพเปลวไฟเป็นสัญลักษณ์ของพระจิตอย่างหนึ่ง และนักบวชก็หวังพึ่งพระจิตให้เผาไหม้ไฟตัณหาราคะภายในให้หมดสิ้นไป.  ในแง่นี้ที่ทำให้เราเข้าใจพวกพระนักบวชในสมัยก่อนๆว่า ต้องหลบไปอยู่ในทะเลทรายคนเดียว เพราะที่นั่นเท่านั้นที่นักบุญทั้งหลายเข้าถึงแก่นแท้ของศาสนาในที่สุด เมื่อ "ไฟแห่งอัตตา" ถูกเผาไหม้หมดไป จนเกิดความรู้สึกชุ่มชื่นเหมือนได้ดื่มน้ำใสบริสุทธิ์ อันคือธารพระจิต.  สำนวนตะวันตกว่า "ต้องไปทะเลทรายเพราะหิวน้ำ"  และไม่ใช่ หิวน้ำเพราะอยู่ในทะเลทราย.  ชาวตะวันตกหลายคน (ไม่ว่าเขาจะเชื่อในพระคริสต์หรือไม่) อยากมีประสบการณ์ในทะเลทรายและจะพยายามไปให้ได้อย่างน้อยก็ครั้งหนึ่งในชีวิต.  สำนวนนี้ย่อบทบาทของดินน้ำลมไฟ ที่เจาะลึกลงไปหลายระดับความหมายว่า
Air moves us
Fire transforms us
Water shapes us
Earth heals us

     
    สรุปได้สั้นๆว่า ธรรมชาติรอบข้างมีอิทธิพลต่อเรา และเป็นภาพสะท้อนให้เราเห็นและเข้าใจระบบร่างกายและจิตสำนึกภายในตัวเราเองมากขึ้น.  ศิลปะเป็นวิธีหนึ่งและอาจเป็นวิธีเดียวที่เป็นสื่อของเรา  ทำให้เราสามารถแสดงออกได้ชัดเจนมากที่สุด.  ในทัศนคติตะวันตก ความสำคัญของศิลปะกับการเข้าใจศิลปะ ไม่ใช่ความหลงลมๆแล้งๆชั่วประเดี๋ยวประด๋าว  แต่ทำให้เราเกิดความรู้สึกอบอุ่นว่ายังมีคนอื่นร่วมโลกที่คิด เข้าใจและรู้สึกเหมือนเรา. ความรู้สึกดังกล่าวให้กำลังใจเราในการดำรงชีวิตและยังอาจหันเหเราไปสู่การสร้างสรรค์แบบใดแบบหนึ่งได้.
บันทึกตวามอยากรู้ของโชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ นำลงบล็อกเมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๙.

ข้อมูลเพิ่มเติม
1. อัลเคมี (alchemy)  คือวิชาเคมีแบบที่ศึกษากันในยุโรปยุคกลางจุดหมายสำคัญของอัลเคมี คือการแปลงโลหะธรรมดาประเภทต่างๆ ให้เป็นทอง.  เรารู้จักกันว่าเป็น การเล่นแร่แปรธาตุ.  เทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ไม่มีความเชื่อหรือศรัทธาในลัทธิศาสนาใดมากำกับการวิเคราะห์วิจัย ได้พิสูจน์ให้รู้ว่า การแปลงโลหะเช่นทองเหลืองเป็นทองนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้โดยอาศัยพลังงานสูงกับความเร็วสูง ที่หลอมอะตอมเป็นไออ็อน(ions). แต่เพราะค่าใช้จ่ายในการสร้างสภาวะแวดล้อมเพื่อการแปรธาตุดังกล่าว  รวมทั้งเครื่องมือที่จำเป็นนั้น ราคาสูงเกินไป ไม่คุ้มค่ากัน. (ผลงานทดลองของสมาคมศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับไออ็อนที่เมือง Darmstadt ในเยอรมนี, cf. Alchimie &  Mystique, p. 32). การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ทำให้เราต้องกลับไปพิจารณาหนังสือเก่าๆที่เกี่ยวกับโลกโบราณ เพราะสิ่งที่คนสมัยใหม่รู้ได้ด้วยเทคนิค คนสมัยก่อนรู้ได้ด้วยภูมิปัญญา ด้วยการคิด และความเชื่อเป็นสำคัญ. สติปัญญาคนจึงเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่มีศักยภาพเกือบไม่สิ้นสุด.  
      ความหมายของ การเล่นแร่แปรธาตุ ทำให้คนมองอัลเคมี ว่าเป็นศาสตร์ลึกลับที่เต็มไปด้วยเวทมนต์คาถา.  ในความเป็นจริง นักอัลเคมี ถือตนว่าเป็นนักปราชญ์ และสิ่งที่เขาทำคือศิลปะ หรือศิลปะของปรัชญา.  จุดยืนนี้ ทำให้เครือข่ายของอัลเคมีขยายวงกว้างออกไปนอกเหนือการพยายามทำทองจากแร่ธรรมดาๆ. คำ mysticism หรือ hermeticism ที่มีความหมายของ ลึกลับ ก็เช่นเดียวกัน.
ความจริงไม่เกี่ยวกับเวทมนต์คาถา แต่โยงไปถึงเพื่อสร้างให้คนเชื่อและหลง ตกเป็นเหยื่อให้คนอื่นหลอกหาผลประโยชน์.  ในวงกว้างอัลเคมี เป็นศาสตร์แห่งการตีความ หาเคล็ดลับ หากุญแจสู่ความหมายที่อยู่หลังภาพสัญลักษณ์ (เช่นจากตัวอักษรอีจิปต์โบราณ hieroglyphs), จากตำนานเทพนิยาย, จากรูปลักษณ์โบราณต่างๆ.  นอกจากนี้ศาสตร์ของอัลเคมี เกี่ยวข้องคู่ขนานไปกับดาราศาสตร์. บางคนยังโยงไปถึงโหราศาสตร์ด้วย.  ในคำว่า ศาสตร์ลึกลับ  จึงควรเข้าใจว่า เป็นความเชื่อและประสบการณ์ที่ได้จากการเข้าถึงสิ่งที่ประสาทสัมผัสปกติของคนเข้าไม่ถึง เพราะความหมกมุ่นวุ่นวายภายในใจของคน เพราะจิตไม่สงบ ไม่มีสมาธิ.  การฝึกสมาธิเป็นวิถีหนึ่งที่ช่วยลับความคมของประสาทสัมผัสของคนเมื่อคนบรรลุสภาพจิตขั้นสูง จนบรรลุความสงบของจิตใจ ที่นิ่งเหมือนน้ำทะเลยามเช้าไร้คลื่น.   เมื่อสมองเป็นระเบียบ ไม่มีมวลความคิดหรืออารมณ์พุ่งเข้ากระหน่ำ ประสาทสัมผัสจะรับสารได้จากสรรพสิ่งรอบข้าง  รวมทั้งจากโลกที่ตามองไม่เห็นในโลกที่จิตเป็นภาชนะรองรับข้อมูล  ในความคิดแบบตะวันตก ประสบการณ์ที่ได้เมื่ออยู่ในสภาพจิตขั้นสูงนั้น เป็น การเข้าถึง ที่อยู่เหนือสติปัญญา  จิตสำนึกและประสาทปกติ. เหตุนี้เองที่ภาษาที่ใช้อธิบายศาสตร์ลึกลับ (hermeticism) จึงเข้าใจยากในหมู่ชาวตะวันตกด้วยกันเอง. ผู้เข้าใจอย่างถ่องแท้ คือผู้ที่เคยมีประสบการณ์แบบเดียวกัน. คำนี้จึงเป็นที่มาของคำ "hermetic" ที่ใช้ในความหมายว่าอะไรที่ปิดแน่นสนิทที่ลมเข้าออกไม่ได้เลย. มองอีกแง่หนึ่ง ความไม่เข้าใจของคนทั่วไปอยู่ที่ความเคยชินกับชีวิตบนโลก. ภาษาปกติของคน เป็นผลิตผลของชีวิตในสังคมบนโลก จึงย่อมไม่อาจอธิบายแจกแจงสิ่งที่อยู่พ้นระบบโลกของรูปลักษณ์  สิ่งที่อยู่พ้นจากระบบกาละ-เทศะ. ผู้ที่ฝึกญาณมาจยแก่กล้าและเข้าถึงฌาญขั้นสูง อาจพอเทียบได้กับสภาวะเมื่ออยู่ในบรรยากาศชั้นสูงๆเหนือเมฆหมอก ที่ทำให้มองเห็นทุกอย่างแจ่มกระจ่าง. การประดิษฐ์สัญลักษณ์ hieroglyphs ของชาวอิจิปต์โบราณหรือของชาวเม็กซิโกโบราณนั้น จึงจำเป็นเพราะสัญลักษณ์หนึ่งอาจเป็นคำหรือประโยค สื่อความหมายหนึ่งหรือเรื่องราวเรื่องหนึ่ง ในภาพยนต์เรื่อง Stargate การแกะภาษา hieroglyphs ได้สำเร็จ จึงเป็นกุญแจไปสู่โลกอีกโลกหนึ่ง ที่ออกจากภาวะของโลกที่เราอยู่ในปัจจุบัน.  เทพ Hermès-Trismégiste หรือ Zoroaster หรือ Pythagoras หรือ Plato จึงอาจมองได้ว่า เป็นผู้ประดิษฐ์สัญลักษณ์แบบ hieroglyph ด้วย.  ในศตวรรษที่ 16 องค์การคริสต์ศาสนา เห็นความสำคัญของการศึกษาสัญลักษณ์พวกนี้ เพื่อหากุญแจไปสู่ศาสตร์ความรู้โบราณ  มีการแปลหนังสือของ Horapollo ปราชญ์อีจิปต์ผู้พบกุญแจสู่ความหมายของสัญลักษณ์ 200 สัญลักษณ์.  หนังสือเล่มนี้จึงเป็นเหมือนแม่บทของจินตนาการอันแปลกประหลาดที่สุดของศิลปินต่างๆในยุโรป เช่น Bellini, Giorgione, Titien, Jerome Bosch. ผลงานสร้างสรรค์ของศิลปินเหล่านี้ ก็เป็นแหล่งจินตนาการของชนรุ่นใหม่ต่อๆมาอีก  ภาพลักษณ์ของมนุษย์ต่างดาวในยุคเรา ไม่ได้เป็นภาพใหม่ หรือความคิดใหม่ แต่เป็นงานสังเคราะห์จากภาพเก่าๆในยุคโบราณมาทั้งนั้น.

2.  ตัวอย่างผลงานอื่นๆของอาร์ชิมบอลโด : Flora & Vertumnus
ภาพซ้ายคือ ฟลอรา - Flora  ส่วนภาพขวาคือภาพแวร์ตุมนุส - Vertumnus  ทั้งสองภาพเนรมิตรขึ้นในปีเดียวกัน (1591).  เช่นเคยจิตรกร อาร์ชิมบอลโด นำสิ่งต่างๆในธรรมชาติมาประกอบกันเป็นภาพคน. ในภาพซ้ายรวมดอกไม้หลายสิบชนิด โดยมีดอกลิลลีสีเหลืองเด่นอยู่ตรงหน้าอก. Flora ในภาษาละตินเป็นชื่อเรียก เทพธิดาแห่งดอกไม้ในเทพปกรณัมโรมัน. มีนัยความหมายของพลังพืชพรรณที่ผลิดอกบานสะพรั่ง โดยปริยายจึงหมายถึงการมาของฤดูใบไม้ผลิ. เช่นนี้ Flora จึงเป็นเนื้อหายอดนิยมเนื้อหาหนึ่งในศิลปะโดยเฉพาะจิตรกรรมและประติมากรรม ส่วน Vertumnus ในเทพปกรณัมโรมันเป็นเทพเจ้าแห่งฤดูกาล ของการเปลี่ยนผ่าน ของการเจริญเติบโต ของสวนและของไม้ผล จึงมีนัยของผู้ที่สามารถแปลงร่างตามใจปรารถนา. อาร์ชิมบอลโด รวมดอกไม้ผลไม้ชนิดต่างๆประกอบเป็นภาพผู้ชาย โยงอย่างชัดเจนไปถึงการเก็บเกี่ยวในฤดูใบไม้ร่วง. ในศิลปะมักปรากฏคู่กับ Pomona ผู้เป็นนางไม้ (nymph) ประจำสวนผลไม้.  
       ความถูกต้องของรูปลักษณ์และความประพฤติของทั้งสัตว์และพืชพรรณในผลงงานทั้งหลายของอาร์ชิมบอลโด เป็นที่พิศวงชื่นชมของคนร่วมยุค ทั้งในราชสำนักและในหมู่ชนชั้นสูง โดยเฉพาะตระกูลฮับสบูร์กที่ปกครองออสเตรียจนถึงต้นศตวรรษที่ 20 และเป็นผู้อุปถัมภ์ส่งเสริมเขา.  ผลงานส่วนใหญ่ของเขาจึงอยู่ในราชสำนักหรือตามปราสาทของราชวงศ์ฮับสบูร์ก.ปัจจุบันถูกย้ายไปรวมกันที่พิพิธภัณฑ์ Kunsthistorisches Museum, กรุงเวียนนา.  
      เมื่อเขาถึงแก่กรรม ผู้คนลืมเขาไปเสียหมดสิ้นตลอดช่วงศตวรรษที่ 17 และ 18  จนกระทั่งถึงปลายศตวรรษที่ 19 และ 20  จึงมีผู้หันกลับมาศึกษาผลงานของเขา. จิตรกรในกระแสเซอเรียลิซึม (Surrealism กระแสความนิยมการแสดงออกที่ไม่ยึดความเป็นจริงเป็นจุดสำคัญของภาพลักษณ์  แต่เน้นให้จิตรกรรมสื่อสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ใต้จิตสำนึก) พากันยกย่องว่า เขาเป็นผู้นำของศิลปะกระแสเซอเรียลิซึมคนหนึ่ง. ปัจจุบันมีผู้นำแนวการสร้างภาพลักษณ์ตามแบบ อาร์ชิมบอลโด ไปใช้ ผลิคภาพด้วยผัก ผลไม้ และวัสดุอื่นๆ จัดวางให้เป็นเหมือนคน. ทำให้เรายิ่งชื่นชมอัจฉริยะของ อาร์ชิมบอลโด ผู้เนรมิตศิลปะเฉพาะตัวของเขาที่ได้โดนใจคนรุ่นต่อๆมา สี่ร้อยกว่าปีก่อนมาแล้ว. จินตนาการของคนเป็น อกาลิโก จริงๆ.
       Philip Haas ได้ใช้ใยแก้ว (fiberglass) สร้างหุ่นสี่ตัว ตามแบบของภาพสี่ฤดูของ อาร์ชิมบอลโด ประดับสวนพฤกษศาสตร์ที่ Bronx ชานเมืองนิวยอร์ค (ที่ New York Botanical Garden) ตลอดหน้าร้อนตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี 2013.  นำมาให้ชมเทียบกันดังข้างล่างนี้
 จิตรกรรมภาพสี่ฤดูของ Arcimbolfo จากซ้ายไปขวาและจากบนลงล่าง
คือ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว
เทียบกับหุ่นสี่ฤดูผลงานของ Philip Hass (ปี 2013)
New York Botanical Garden, Bronx.

ภาพสงวนลิขสิทธิ์ เจ้าของภาพถ่าย Ian Nicjolson ภาพนี้ไม่ได้ระบุสถานที่ไว้
ดูเหมือนว่ามีการประกวดการสร้างสรรค์จามสไตลของ อาร์ชิมบอลโด ด้วย เช่นภาพนี้ที่เห็นในเน็ต กำกับไว้ว่า เป็นภาพชนะเลิศ ดูเหมือนว่าเป็นคนประดับตกแต่งด้วยผัก.
 
      แนวทางคล้ายๆกัน เช่นการสร้างภาพ Steve Jobs ด้วยเครื่องมือสื่อสาร กระดาษข้อมูลเหมือนมีธนบัตรด้วย.  ภาพจากเน็ตและกำกับไว้เพียงว่า SteveJobjunk.
บรรณานุกรมหนังสืออ้างอิง
1. Alexander Roob.  Alchimie et Mystique . Paris, Edition, Taschen, 1997.
2.  Léonardo de Vinci.  L’ expérience scientifique au seizième siècle.  Centre National de la Recherche Scientifique et Presses Universitaires de France.  Paris, 1952. 
3.   Solange de Mailly Nesle  Astrology: History, Symbols and Signs.  Paris, Editions Fernand Nathan, 1981.
4.  The Ingenious Machine of Nature – Four Centuries of Art and Anatomy.  National Gallery of Canada.  Ottawa, 1996.
5. Wermer Kriegeskorte.  Arcimboldo.  Germany, Edition : Taschen, 1993.

Footnotes เชิงอรรถ
1)  ทฤษฎีการหมุนเวียนของโลกรอบตัวเองและที่ดวงดาวรวมทั้งโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ (heliocentric system ที่ตรงข้ามกับ geocentricsystem)  ความจริงชาวซูเมเรียนและต่อมาชาวบาบีโลเนียนต่างเชื่อโดยสัญชาตญาณและจากการสังเกตว่าโลกเหมือนท้องเรือที่คว่ำลงและมีน้ำทะเลล้อมรอบ(นั่นคือโลกต้องกลม). แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาตร์ยืนยันความเข้าใจดังกล่าว แต่ความคิดนี้ก็ได้ตกทอดไปถึงชาวกรีก. ในศตวรรษที่สามก่อนคริสตกาล อริสตาร์โคซ (Aristarkhos แห่งเมือง Samos, 310-230BC.) เป็นคนแรกที่คิดว่าโลกหมุนรอบตัวเองและหมุนรอบดวงอาทิตย์. เขายังเป็นผู้คิดวิธีหาระยะทางเป็นสัดส่วนสัมพัทธ์ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์และโลกกับดวงจันทร์ (แน่นอนเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นคนวิกลจริต). การเข้าใจระบบการหมุนเวียนของโลกดังกล่าวในกรีซ จึงเกิดขึ้น 2000 ปีก่อนที่โคแปร์นิค (Nicolaj Kopernik,1473-1543 ชาวโปแลนด์) วางทฤษฎีเกี่ยวกับการโคจรของดวงดาว ซึ่งนำไปสู่การปฏิวัติทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ (cf. Kepler, Galileo). แม้ว่าความคิดแบบนี้มีมานานแล้ว แต่เพราะค้านกับความเชื่อหรือคำสอนที่ศาสนาวางไว้ จึงทำให้ถูกบีบรัด ถูกเก็บปกปิดมิดชิด หรือลืมหายไปกับกาลเวลา. โคแปร์นิคพิมพ์งานค้นคว้าของเขาสองสามวันก่อนสิ้นใจ ถึงกระนั้นสันตะปาปาปอลที่หกยังประกาศประณามเขาในปี1616 แม้ว่าโคแปร์นิคได้ตายไปแล้วก็ตาม. ความเข้มงวดของคริสต์ศาสนาที่กำจัดทุกอย่างที่ผิดแปลกไปจากคำสอนในคัมภีร์ ทำให้โลกตะวันตกยึดเพียงทฤษฎีของปโตเลมีเท่านั้น. ต่อมา ปาราเซลซุส ปฏิเสธไม่ยอมรับทฤษฎีแพทย์ที่ยึดถือกันมาในโลกตะวันตกจนถึงยุคนั้น ได้เผาตำรับตำราแพทย์ของกาเลนุซ - Galenus, ~131-201 แพทย์กรีก, และของอาวีแซน-Avicenna, 980-1037, แพทย์ปราชญ์อาหรับ.  จุดยืนของ ปาราเซลซุส นำไปสู่การพัฒนาเคมีแบบใหม่ๆต่อมา. เขาจึงเป็นผู้นำและผู้เริ่มแนวการรักษาโรคแบบ homoepathy (กล่าวย่อๆคือการกินยาเพื่อสร้างภาวะป่วยของโรคหนึ่งภายในร่างกายของคนปกติ ให้เป็นวิธีคุ้มกันคนจากโรคนั้น).
2) จากหนังสือ  Science Desk Reference, The New York Public Library. A Stonesong Press Book,  Macmillan, USA.  p 376-9.
3) จากหนังสือ  Science Desk Reference, The New York Public Library. A Stonesong Press Book,  Macmillan, USA.  p 376-9.
4) ภาพจิตรกรรมที่นำมาลงทั้งหมดในที่นี้ อยู่ในช่วงศตวรรษที่ 15-17. เป็นยุคหัวเลี้ยวหัวต่อในยุโรป ระหว่างค่านิยมแบบเก่าของยุคกลางที่มีศาสนาเป็นผู้ควบคุม สติปัญญาและมีระบบศักดินาควบคุมความประพฤติ กับกระแสใหม่ของมานุษยนิยม (humanism) เป็นยุคของเรอแนสซ็องส์ ที่คนเป็นจุดศูนย์กลางของความรู้ เป็นผู้มีปัญญา รู้คิดและเริ่มยืนยันความคิดของตน. ดูข้อมูลศตวรรษที่ 16 จากหนังสือข้อ 2 และ 4 ในบรรณานุกรมข้างบนนี้.