ปีที่แล้ว (26 สิงหาคม 2015)
ได้เขียนอธิบายสำนวนประกาศเมื่อมีการผลัดแผ่นดิน
เปลี่ยนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็น กฎมณเฑียรบาลของฝรั่งเศส
และใช้ในทุกประเทศในยุโรป.
ขนบนี้อังกฤษเป็นประเทศแรกที่ใช้ในศตวรรษที่
12 ส่วนฝรั่งเศสใช้ครั้งแรกในศตวรรษที่ 15. วันนั้นโทรทัศน์ฝรั่งเศส (France 2) ได้ทำรายการรำลึกถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ 14. ข้าพเจ้าได้ติดตามฟัง
และในที่สุดนำมาเล่าต่อ เขียนเป็นข้อมูลเล็กๆน้อยๆให้เพื่อนๆได้อ่านกัน. วันนี้เนื่องจากมีการถามที่มาที่ไปของการประกาศผลัดแผ่นดินสู่การเสด็จขึ้นเสวยราชย์ จึงไปขุดหาที่เขียนไว้ มานำลงบล็อกเป็นตัวอย่าง.
พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จิตรกรรมผลงานของ Hyacinthe Rigaud, 1701. (ภาพจากกูเกิล)
แผนผังพื้นที่พระราชวังส่วนเก่าที่สุดที่เป็นจุดกลางของพื้นที่
ภายหลังมีการสร้างต่อเติมเป็นปีกยาวใหญ่ออกไปสองข้าง
ตามแนวทิศเหนือและทิศใต้
ดอกจันบอกที่ตั้งของห้องพระบรรทม (ภาพจากกูเกิล)
ทำไมนำมาเล่าในวันนั้นเพราะวันที่ 26 สิงหาคม
2015 เป็นวันครบรอบสามศตวรรษแห่งการสวรรคตของกษัตริย์ฝรั่งเศสพระเจ้าหลุยส์ที่
14 (1638-1715) เมื่อพระชนมายุ 77 ชันษา. ทรงครองราชย์นานที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคนั้นคือนานถึง
72 ปี. พระวรกายทรุดโทรมสุดประมาณด้วยมะเร็งชนิดหนึ่ง
(gangrene
necrosis). ครึ่งร่างซีกซ้ายตั้งแต่ปลายเท้าถึงกระหม่อมตายด้าน
ฟันหลุดร่วงหมด ร่างส่งกลิ่นเหม็นคลุ้ง. (แปลตรงตามคำบรรยายในภาษาฝรั่งเศสเอง). พระมเหสี Mme de Maintenon [มาดาม
เดอ แม็งเตอนง] อยู่เฝ้าข้างพระองค์ และกลับคืนสู่กรุงปารีสสามวันก่อนพระเจ้าหลุยส์สิ้นพระชนม์ตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าหลุยส์ และตามกฎมณเฑียรบาลว่า
กษัตริย์ต้องสิ้นพระชนม์ตามลำพัง. พระเจ้าหลุยส์ออกจากวัง
(le château de
Marly) กลับคืนสู่พระราชวังแวร์ซายส์ ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม ตามกฎมณเฑียรบาลเช่นกันที่ว่า พระมหากษัตริย์ต้องสิ้นพระชนม์ในห้องพระบรรทมของพระองค์
- la chambre du roi. วันที่ 24 สิงหาคม
ทรงรับศีลมหาสนิทครั้งสุดท้าย (l’extrême onction).
ห้องพระบรรทม (la chambre du roi) ของพระเจ้าหลุยส์ที่
14 ในพระราชวังแวร์ซายส์
ที่ตั้งพระแท่นบรรทม เป็นจุดศูนย์กลางที่พุ่งออกเป็นแนวเส้นตรง ทอดสู่ด้านทิศตะวันตกที่เป็นด้านพระราชอุทยาน
เป็นแนวตรงไปยังสระน้ำพุใหญ่ๆเช่น Le bassin de Latone ต่อไปยัง Le Bassin d’Apollon
และต่อเป็นแนวตรงไปตามสระน้ำยาวสุดสายตาถึงสุดอาณาเขตของพระราชวัง. แผนผังทั้งพระราชวังและพระราชอุทยานมีห้องพระบรรทมนี้เป็นจุดศูนย์กลาง
ทุกอย่างแผ่ออกจากจุดนี้ กระจายออกเหมือนรังสีแสงอาทิตย์
เพราะพระเจ้าหลุยส์ทรงเลือกดวงอาทิตย์เป็นสัญลักษณ์ของพระองค์.
ภาพของ Jean-Marie Hullot — http://www.fotopedia.com/items/jmhullot-z2Umsz0Z8aY,
CC BY 3.0. (ภาพจากวิกิคอมมอน).
วันที่
25 สิงหาคม ตามปฏิทินนักบุญ เป็นวันที่ศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกกำหนดให้เป็นวันของกษัตริย์นักบุญ
Saint-Louis [แซ็งลุย] ที่ IX ของฝรั่งเศส.
มีการนำวงดนตรีมาแสดงเฉลิมฉลองพระเกียรติใต้พระบัญชรห้องพระบรรทม (une aubade). การจัดดนตรีถวายพระเกียรตินี้
เลือกอย่างเฉพาะเจาะจงให้เป็นวันกษัตริย์นักบุญพระเจ้าหลุยส์ที่ 9 เพื่อย้ำการสืบเชื้อสายตรง พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 เป็นกษัตริย์ที่ชาวยุโรปรู้จักและยกย่องอย่างสูงในประวัติศาสตร์
เป็นผู้นำกองทหารชาวคริสต์ไปทำสงครามครูเสดด้วย.
ห้องพระบรรทมของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 อยู่ชั้นหนึ่งตรงกลางของอาคารพระราชวัง จากห้องพระบรรทมนี้ มองออกไปในทิศตะวันออก
ปัจจุบันจะเห็นพระบรมรูปทรงม้าของพระเจ้าหลุยส์ที่14 (สร้างแล้วเสร็จในราวปี 1838 เท่านั้นตามพระราชดำริของพระเจ้ากลุยส์ที่ 18) ตั้งอยู่บนเส้นแนวทิศตะวันออก
- ทิศตะวันตก เป็นแกนกลางหลักสำคัญที่สุดของพื้นที่. แกนกลางหลักของพระราชวังและพระราชอุทยานแวร์ซายส์
ทิศตะวันออกนั้นจากกลางห้องพระบรรทม ต่อไปยังพระบรมรูปทรงม้าของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ดังกล่าว ผ่านตรงกลางประตูทางเข้าพื้นที่พระราชวังและทอดเป็นเส้นตรงออกไปในภูมิประเทศ
ซึ่งคือตรงไปในทิศทางของกรุงปารีส. ส่วนทางทิศตะวันตก จากตรงแท่นพระบรรทมทอดตรงไปยังจุดใจกลางที่ตั้งของสระน้ำขนาดใหญ่
คือสระน้ำพุ le
bassin de Latone [เลอ
บัสแซ็ง เดอ ลาโตน] และที่สำคัญที่สุดตรงจุดใจกลางที่เป็นรูปปั้นเทพอพอลโล
(le bassin d’Apollon
[เลอ บัสแซ็ง ดะโปลง]) พุ่งตรงต่อไปในภูมิประเทศ
โดยไม่มีอะไรขวางสายตาหรือขวางเส้นทางนี้เลยไปจนสิ้นสุดอาณาเขต. ผังทั้งหมดคือผลงานสุดยอดของสถาปัตยกรรมฝรั่งเศสของ
Le Nôtre [เลอ โน้ตรฺ].
จากเส้นแกนหลักนี้มีเส้นทางเดินภายในที่แผ่ออกเหมือนรังสีดวงอาทิตย์
ทั้งหมดนี้มีจุดใจกลางตรงห้องพระบรรทมของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทุกอย่างเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระจ้าหลุยส์ผู้สถาปนาพระองค์เป็น
Le Roi Soleil หรือสุริยะเจ้า.
ดูความยาวเหยียดของแนวแกนกลางของผังพระราชวังแวร์ซายส์
และปริมาณน้ำที่นำมาประดับพระราชอุทยานที่นั่น
(ภาพจากกูเกิล)
จากที่ตั้งแท่นพระบรรทมของพระเจ้าหลุยส์ที่14 มองตรงออกทางหน้าต่างประตู เห็นสระน้ำ Le bassin de
Latone (1) และไกลออกไปในสระน้ำใหญ่
คือ Le
bassin d’Apollon (2) แล้วต่อไปบนแนวตรงไปสุดสายตาสุดอาณาเขตพระราชวัง (ภาพจากกูเกิล)
ที่ตั้งห้องพระบรรมทม(ตรงดอกจัน)เมื่อมองออกไปในทิศตะวันออก
เป็นแนวตรงผ่านรั้วประตู
ออกไปสู่เมืองแวร์ซายส์และต่อไปยังกรุงปารีส. (ภาพจากกูเกิล)
ผังการบริหารจัดการพื้นที่สองข้างแนวแกนกลาง
(ภาพจากกูเกิล)
วันที่
26 สิงหาคม 1715 ทรงให้พาพระเจ้าเหลนเธอ (อายุห้าขวบกว่า) ผู้จะเป็นพระเจ้าหลุยส์ที่
15 เข้าเฝ้า (เท่ากับการประกาศการสิ้นสุดของการปกครองอย่างเป็นทางการของพระเจ้าหลุยส์ที่
14 แม้พระองค์จะยังไม่สิ้นชีวิตในวันนั้น) หลังจากนั้นมีหัวหน้ามหาดเล็กคนเดียวที่อยู่ในห้องพระบรรทม. ชาวประชาทั้งฝรั่งเศสและยุโรปต่างคอยข่าวการสิ้นพระชนม์ ซึ่งตรงกับเวลา แปดนาฬิกาสิบห้านาที วันที่ 1 กันยายน 1715. มหาดเล็กกรมวัง (chamberlain) สวมหมวก มีขนนกประดับหมวกสีดำ ออกไปบนระเบียงของห้องพระบรรทมประกาศว่า
Le roi
est mort! (พระเจ้าอยู่หัวสิ้นพระชนม์แล้ว) เขากลับเข้าข้างใน เปลี่ยนหมวก เปลี่ยนขนนกเป็นสีขาว แล้วกลับออกไปบนระเบียงทันที ประกาศต่อประโยคที่สองว่า Vive le roi! (ขอให้พระเจ้าอยู่หัวจงเจริญ).
พระเจ้าหลุยส์ที่
15 ผลงานของ Hyacinthe Rigaud (1659-1743).
ภาพนี้อยู่ที่พระราชวังแวร์ซายส์. (ภาพจากกูเกิล)
คำประกาศสองประโยคนี้
ฟังดูขัดกัน แต่เป็นพิธีการประกาศทางการ (protocol) ของราชสำนักฝรั่งเศส
ในความหมายว่า กษัตริย์ผู้หนึ่งสิ้นพระชนม์ อีกผู้หนึ่งจะขึ้นแทนทันที
บัลลังก์ไม่มีวันว่างลง.
เป็นการกระชับความมั่นใจแก่ทวยราษฎร์
และสำคัญกว่านั้นคือ
ป้องกันการชิงอำนาจหรือการชิงบัลลังก์. การพูดสองประโยคนี้ยังทำกันอยู่ในราชสำนักของยุโรป
ในอังกฤษก็เช่นกัน ยุคนั้นภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาในราชสำนักในยุโรปทุกแห่ง จึงใช้เป็นภาษาฝรั่งเศสกันต่อมา. ฝรั่งเศสใช้ครั้งแรกในศตวรรษที่ 15 สมัยพระเจ้า Charles VII.
ส่วนราชสำนักอังกฤษ ใช้สองประโยคนี้ก่อนฝรั่งเศส คือในปี 1272 เมื่อพระเจ้าเฮนรีที่สามสิ้นพระชนม์ พระราชโอรส (Edward I) มิได้อยู่ที่อังกฤษ กำลังไปทำศึกสงครามครูเสด. เพื่อป้องกันเหตุกบฎชิงราชย์ใดๆ สภากรมวังยึดหลักการมั่นคงว่า “The throne
shall never be empty; the country shall never be without a monarch.” บัลลังก์ไม่มีวันว่าง เพราะฉะนั้นพระเจ้าเอ็ดเหวิดได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์ต่อทันที
แม้ว่าพระองค์มิได้อยู่ในพระราชอาณาจักรก็ตาม. เพราะกว่าข่าวไปถึงสนามรบ กว่าจะกลับมาถึงอังกฤษ
ก็อีกนาน. มีพระราชพิธีราชาภิเษก (coronation) เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 1274.
สำนวนที่ใช้กันมา
Le Roi est mort.
Vive le Roi! ใช้กันในทุกราชสำนักในยุโรป
ซึ่งในสมัยต่อมาแปลเป็นภาษาของแต่ละประเทศเช่นภาษาสเปนหรือภาษาอื่นๆ. สำนวนนี้จึงสื่อการเปลี่ยนผ่านในการครองราชย์อย่างทันทีทันการไร้ช่องห่างของเวลาอย่างสิ้นเชิง. ในอังกฤษ ก็ใช้ภาษาอังกฤษแทนในเวลาต่อมาว่า The king is dead. Long live
the King!
หลังจากที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 สิ้นพระชนม์ อีกสองวันต่อมา มีการเคลื่อนหีบพระบรมศพของพระเจ้าหลุยส์ที่
14 ไปยังห้อง Salon de Mercure [ซาลง
เดอ แมรฺกูรฺ] ข้าราชสำนักหรือบุคคลชั้นสูงผู้ใดก็เข้าไปภายในพระราชวังแวร์ซายส์ได้ โดยมีข้อแม้ว่า ก่อนผ่านเข้าไปในวัง
ต้องมีชุดที่เหมาะสม
ผู้หญิงแต่งดำ ส่วนผู้ชายต้องสวมหมวกและมีดาบติดตัว. ทั้งสองสิ่งนี้เป็นสองสัญลักษณ์ของการเป็น
“ผู้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี
มีความซื่อตรงจงรักภักดี ในแบบของอัศวินยุคกลาง” จึงเข้าไปแสดงคารวะต่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ใน Salon de Mercure ดังกล่าวได้. พระบรมศพอยู่ที่นั่น 8 วัน.
พระบรมศพของพระเจ้าหลุยส์ที่
14 ในท่านอนบนพระแท่นบรรทมใน Salon de Mercure. (ภาพจากกูเกิล)
Salon de Mercure ห้องเมอคิวรี
เรียกตามจิตรกรรมที่ประดับบนเพดานห้องนี้.
Mercury เทพผู้นำข่าวสาร สื่อนัยของผู้ประกาศเกียรติภูมิของพระมหากษัตริย์ให้กึกก้องไกลไปทุกทิศ.
จิตรกรรมเกี่ยวกับเทพ Mercury บนเพดานห้องนี้. (ภาพจากกูเกิล)
จิตรกรรมเกี่ยวกับเทพ Mercury บนเพดานห้องนี้. (ภาพจากกูเกิล)
หลังจากนั้น หีบพระบรมศพ ถูกเคลื่อนย้ายไปยังมหาวิหารแซ็งเดอนีส์ (la Basilique de Saint-Denis ที่ประดิษฐานพระบรมศพพระศพและศพ ของพระราชวงศ์ ขุนนางชั้นสูงและเจ้าอาวาสคนสำคัญๆของแผ่นดิน) และตั้งอยู่หน้ามหาวิหารต่อไปอีก 43 วัน เพื่อให้ชาวเมืองได้ไปถวายความเคารพเป็นครั้งสุดท้าย. การเคลื่อนพระบรมศพดังกล่าวจากพระราชวังแวร์ซายส์ไปยังมหาวิหารแซ็งเดอนีส์ มิใช่ง่ายเลยในสมัยนั้น. เล่าว่ามีข้าราชบริพารผู้ติดตามไปในขบวนทั้งหมด 1000 คน. สุสานของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ถูกคณะปฏิวัติ (1789) ทำลายไม่เหลือให้เห็นเลย.
ภาพขบวนเคลื่อนพระบรมศพของพระเจ้าหลุยส์ที่
14 ไปยังมหาวิหาร
La Basilique de Saint-Denis ทางเหนือของกรุงปารีส. (ภาพจากกูเกิล)
มหาวิหาร la Basilique de
Saint-Denis. (ภาพจากกูเกิล)
ชมภาพตัวอย่างอนุสาวรีย์ศิลปะประดับสุสานภายในมหาวิหาร. (ภาพจากกูเกิล)
ดูผังที่ตั้งของหลุมศพหรืออนุสาวรีย์ของกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ตลอดจนบุคคลสำคัญๆ ได้ที่เพ็จนี้
http://www.tourisme93.com/basilique/plan-tombeaux-basilique.html ที่เล่ามานี้เพิ่มเติมจากเนื้อหาข่าวหัวข้อหนึ่งในรายการ Télématin ของสถานีโทรทัศน์ France 2 ประจำวันที่ 26 สิงหาคม 2015.
โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ รายงาน (อีกครั้ง) วันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๙.
ได้ความรู้ที่ทำให้เข้าใจช่วงเปลี่ยนผ่านพระมหากษัตริย์จองฝรั่งดีมากๆค่ะโช ขอบคุณมากค่ะ
ReplyDeleteการเปลี่ยนผ่านแผ่นดิน สำนวนที่ใช้ในเรื่องนี้ ควรจะเป็น << การผลัดแผ่นดิน >> แทน
ReplyDeleteขออภัยที่ตามเข้าไปแก้ ยากลำบากมาก เพราะไม่ได้เป็นนายของระบบ บางทีที่เขาตั้งไว้มันไม่เหมาะกับเรา
จึงไม่ได้ตามเข้าไปแก้ชื่อเรื่อง เพราะแก้แล้วก็กลับเหมือนเดิม
ขอให้เข้าใจก็แล้วกัน และใช้ให้ถูกกว่าผู้เขียนนะคะ