Friday, 7 October 2016

วัวที่เป็นมากกว่าวัว ของ Rembrandt



ตรึงวัวเหมือนตรึงใจ ภาพหนึ่งของ Rembrandt
ผู้ที่ได้อ่านประสบการณ์ของข้าพเจ้าที่เมืองโปแลนด์ในบล็อกแล้ว อาจรู้สึกหวาดผวาตามไปด้วย ยุคนั้นน่าจะเป็นยุคที่สังคมโปแลนด์ตกต่ำที่สุด. น่าเห็นใจชาวประชาโปลิช ที่หลุดจากระบบสังคมนิยมที่ดูเหมือนไม่มีเสรีภาพใดๆ แต่พวกเขามีกินมีบ้านมีงานมีเงินเดือน ทุกคนเท่ากันเสมอภาคกัน(ตามหลักการ) รัฐเลี้ยงดูทุกคน ไม่มีปัญหาเรื่องใด นอกจาก สิทธิมนุษยชนพื้นฐานของการมีเสรีภาพทางความคิด.  ทุกคนต้องยอมรับกติกา ว่าสังคมเป็นใหญ่กว่าเอกบุคคล แล้วทุกอย่างก็ไปได้ด้วยดี คือน้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ (ตามคำขวัญที่คุ้นหูรุ่นเรา). เมื่อล้มระบอบสังคมนิยม กลายเป็นระบอบ ตัวใครตัวมัน ใครมือยาวสาวได้สาวเอา. คนจำนวนมากกลับยากจนอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะไม่มีงานทำ ไม่มีเงินเดือน ความยากจนทำให้ต้องลักเล็กขโมยน้อยประเทศในยุโรปตะวันออกต่างประสบกันตามเวรตามกรรมของ ปลาใหญ่กินปลาเล็ก”.  จบอารัมภบท.
      คิดถึงสภาพห้องในโรงแรมที่ไปพักที่เมือง Kraków. ในห้องมีภาพโปสเตอร์ก็อปปี้จิตรกรรมฝีมือของ Rembradt [ เร็มบร็อนทฺ ] ยอดศิลปินชาวดัตช์.  ทำให้คิดว่าชาวยุโรปในทุกประเทศทั้งตะวันตกและตะวันออก มีรสนิยมหรือวิสัยทัศน์เรื่องศิลป์ไปในแนวทางเดียวกัน. โรงแรมนั้นเป็นโรงแรมเล็กๆ  ทำไมเลือกเอาภาพของ Rembrandt ภาพข้างล่างนี้อย่างเฉพาะเจาะจงนะ?
 Slaughtered Ox by Rembrandt, 1655, at Le Louvre.
ในห้องโรงแรมที่ค่อนข้างมืด นอกจากเตียงนอน โต๊ะเขียนหนังสือ เก้าอี้ไม้หนึ่งตัว ตู้เสื้อผ้าไม้หนึ่งตู้ ห้องน้ำเล็กๆที่มีส้วม อ่างล้างหน้าและฝักบัวให้อาบน้ำ แล้วก็ภาพนี้บนผนัง. ข้าพเจ้ามองภาพนี้ห้าคืนหกวัน ยิ่งยามเย็นเมื่อกลับเข้าห้อง เห็นแล้วก็ผวา. ประสบการณ์ที่ผ่านมาตั้งแต่วันแรกในโปแลนด์ เห็นภาพนี้แล้ว คิดเทียบทันทีว่า ตัวเราเองเกือบเหมือนวัวตัวนี้ที่ถูกตัดหัว ถูกตรึง ถูกแล่และถูกเฉือน. จริงสินะ ทำไมจิตรกร Rembrandt เลือกเสนอภาพวัว ในสภาพถูกตรึง ?
       มีผู้วิเคราะห์วิจารณ์ภาพนี้ของ Rembrandt หลายคนทีเดียว แต่ละคนมองภาพด้วยภูมิหลังทั้งของคนมองและภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และสังคม.  Rembrandt (1606-1669) อยู่ในยุคศตวรรษที่ 17  ยุคนั้นบนดินแดนที่เป็นประเทศเนเธอแลนด์และโดยเฉพาะที่เมืองอัมสเตอดัมปัจจุบัน ชาวเมืองสั่งเข้าวัวจำนวนมากจากเดนมาร์ค ที่มีชื่อว่าเป็นฝูงวัวที่เจริญสมบูรณ์ ส่งตรงมาถึงอัมสเอดัม แล้วฆ่าวัวทั้งหลายในอัมสเตอดัม.  อาชีพฆ่าวัว แล่เนื้อเพื่อขายนั้น จึงเป็นอาชีพสำคัญและร้านขายหรือโรงฆ่าชำแหละวัว ก็มีให้เห็นอยู่ทั่วไป. ในยุโรป เมื่อมีการฆ่าสัตว์ใดเช่นวัว ก็ตรึงตัวสัตว์ กางแผ่ออก เหมือนการตากแห้งในสภาพภูมิอากาศของถิ่นนั้นช่วยให้เนื้อสัตว์เย็นลงๆ ง่ายแก่การแล่เป็นชิ้นเป็นส่วน. สมัยนั้น การตากในอากาศ ตากด้วยแดดและด้วยความหนาวเย็น. บางทีทาเกลือด้วยเพื่อให้เก็บได้นานๆ ไว้กินได้นานๆโดยเฉพาะตลอดฤดูหนาว.  ภาพชีวิตในบ้านหรือในวังสมัยนั้น มักเห็นขาหมู ไส้กรอก ห้อยไว้  ส่วนเนื้อหากมีทั้งตัว ก็ตรึงกางแผ่ดังในภาพวาดของ Rembrandt. จิตรกรจึงอาจบันทึกภาพวัวตามที่เห็นในสังคมยุคนั้น.  อีกประการหนึ่ง จิตรกรสร้างสรรค์ภาพตามความต้องการของตลาดหรือของผู้สั่งภาพด้วย. นี่จึงอาจเป็นภาพที่มีผู้มาว่าจ้างจิตรกรก็เป็นได้.
    
      มีนักวิจารณ์ศิลป์ที่เจาะลึกลงในอีกมิติหนึ่ง เป็นการมองของปัญญาชนในยุคนั้น ตามความคุ้นเคย หรือตามขนบการคิดเปรียบโยงไปถึงความรู้อื่นๆร่วมสมัย ซึ่งในยุคนั้น วรรณกรรมที่เป็นฐานความรู้ของชาวยุโรปคือคัมภีร์ไบเบิล ที่เป็นแหล่งข้อมูลที่ไม่มีที่สิ้นสุดของการสร้างสรรค์ศิลปะหลากหลายแขนงของชาวตะวันตก.  ภาพนี้ก็เป็นอีกภาพหนึ่งที่มีที่มาจากคัมภีร์เช่นกัน. ปรากฏเล่าถึงการฆ่าวัวตัวอ้วนๆเพื่อเลี้ยงฉลองการกลับมาของลูกชายคนเล็ก ในเรื่องที่เป็นบทสอนเปรียบเทียบ รู้จักกันว่า Parable of the prodigal son หรือในภาษาฝรั่งเศสว่า la parabole du fils prodigue ในคัมภีร์ของนักบุญลุค Luc. 15 : 11-32. คำ prodigal หรือ prodigue แปลว่า ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย, สุรุ่ยสุร่าย.
      เมื่อพิจารณาจากแนวการวาดภาพ จากเนื้อหาของภาพ จากผลงานตลอดชีวิตของ Rembrandt, นักวิจารณ์ศิลป์สรุปว่า Rembrandt มักดึงรายละเอียดเกร็ดเล็กเกร็ดย่อยจากเรื่องหนึ่ง นำมาเป็นเนื้อหาเต็มศักดิ์ศรีบนผนผ้าใบ โดยที่อาจไม่มีองค์ประกอบอื่นใดที่สื่อไปถึงเนื้อเรื่องที่เขาได้แรงดลใจมาเลยก็ได้และก็มีมากที่เป็นเช่นนี้. ในกรณีภาพวัวที่ถูกฆ่าชำแหละก็เช่นกัน ไม่มีองค์ประกอบอื่นใดที่ให้ความหมายสื่อไปถึงต้นตอของเรื่อง. การดึงเอาประเด็นเล็กประเด็นหนึ่งมาวาดนั้น เป็นไปตามครรลองการสร้างสรรค์ศิลปะในตะวันตก สิ่งที่นำมาเสนอเป็นเพียงกุญแจหรือตัวกระตุ้นให้มองเจาะลึกไปถึงเนื้อเรื่องที่ใหญ่กว่า ใหญ่ออกไปเป็นเครือข่ายของความรู้ที่เป็นพื้นหลังของปัญญาชน. เทียบได้กับการค้นหาในกูเกิลแม็ป เช่นภาพบ้านหลังหนึ่ง แล้วซูมออกไป (zoom out) ให้เห็นบ้านบนถนนสายที่ตั้งนั้น ออกไปถึงบ้านบนตำบลนั้น ในเมืองนั้น ประเทศนั้น ทวีปนั้น เป็นต้น. การอ่านภาพอย่างปัญญาชน จึงโยงจากจุดเล็กไปยังเครือข่ายทั้งหลายทั้งปวง จนไปสุดจักรวาลเลย. จิตรกรรมแบบนี้เหมือนรูปปั้นที่สร้างขึ้นแทนจักรพรรดิโรมันเช่นซีซาร์ (Julius Caesar) หน้าที่ของรูปปั้นมิได้เพียงบอกว่านี่คือซีซาร์ แต่เมื่อผู้ดูรู้ชื่อที่เจาะจงแล้ว เปิดเป็นอาเรนาชีวิตทั้งหลายในทุกขั้นตอน ทุกบทบาทของซีซาร์ต่อสังคมยุคนั้นและยุคต่อๆมาเป็นต้น. ภาพวัวของ Rembrandt จึงอาจอ่านต่อไปเป็นเครือข่ายความหมายนัยอื่นๆได้ และนัยตามคัมภีร์เก่าของ Luc/Luke ที่เป็นเนื้อหายอดนิยมของศิลปินทุกสาขาด้วย.
      เนื้อเรื่อง ลูกผู้สุรุ่ยสุร่ายสั้นๆคือ ลูกชายคนเล็กเอ่ยปากขอมรดกส่วนที่เขาจะได้จากพ่อเมื่อพ่อตาย. พ่อฟังแล้งนิ่ง ไม่ว่าอะไรสักคำ พี่ชายฟังคำของน้องก็นิ่งเงียบ. เขาเป็นลูกคนโต ทำงานหนักให้ครอบครัวเสมอมา ในขณะที่น้องชอบเตร็ดเตร่เที่ยวไปเที่ยวมา. พ่อไม่พูดอะไร  ในที่สุดลูกคนเล็กได้ทรัพย์สินมรดกตามที่เขาควรจะได้ตามขนบและกฎหมายสังคม แล้วก็ออกเดินทางท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ ใช้เงินจนหมดตัว ตกระกำลำบาก สำนึกผิดในความประพฤติของตน ซมซานกลับมาหาพ่อ. พอรู้ว่าลูกกลับบ้าน พ่อลงจากบ้านออกไปต้อนรับ โอบกอดด้วยความดีใจ สั่งให้ฆ่าลูกวัวตัวอ้วนเลี้ยงดู ให้ทุกคนได้กินได้ดื่มเพื่อฉลองที่ลูกคนเล็กกลับบ้าน. ลูกคนโตอดน้อยใจไม่ได้ ว่าเขาทำงานทุกอย่างรับใช้พ่อ เชื่อฟังพ่อเสมอมา พ่อไม่เคยจัดงานเลี้ยงให้เขาเลย แต่น้องผู้เกกมะเหรกเกเร ผลาญเงินพ่อกลับมา กลับได้รับการต้อนรับ. พ่อตอบว่าพ่อไม่ได้ลืมเจ้า เจ้ามีชีวิตอยู่ข้างพ่อตลอดเวลา แต่น้องผู้ตายจากไป กลับมามีชีวิตใหม่ เขาหลงทางหายสาบสูญไป  เราพบตัวนำกลับคืนมา เป็นสิ่งที่เราควรยินดีและฉลองอย่างเต็มที่.  

      เรื่องนี้สอนอะไรหรือ? เมื่อลูกอยากจากไป อยากได้สมบัติ อยากได้เงินก่อนเวลาอันควร พ่อมิได้ค้านหรือท้วงติง กลับนิ่งฟัง แน่นอนพ่อเสียใจช้ำใจอยู่ภายใน แต่ปล่อยลูกไปตามความต้องการของเขา. พ่อในเรื่องนี้สะท้อนภาพลักษณ์ของพระเจ้าผู้เนรมิตสวรรค์ ให้ชีวิตที่ไร้กังวลใดๆแก่อาดัมกับอีฟ. พระเจ้ากำชับให้อาดัมกับอีฟเชื่อฟัง แต่คนไม่ชอบการถูกสั่งให้เชื่อว่านี่ดีนั่นไม่ดี เมื่อขัดคำสั่ง พระเจ้าก็ต้องปล่อยออกไปเผชิญโลกภายนอกสวรรค์ เพื่อให้เรียนรู้ชีวิตด้วยเลือดเนื้อและหยาดเหงื่อของตัวเอง เพื่อให้ตระหนักและรู้จักแยกแยะความดีความชั่วด้วยตัวเอง. ดังในเรื่องนี้ พ่อสร้างครอบครัวอบอุ่นให้ลูก มีกินมีใช้ แต่ลูกเบื่อและอยากออกไปท่องโลกอย่างอิสระเสรี พ่อก็ปล่อยให้ไป. ด้วยความรักลูก ไม่อยากขัดแม้จะคาดการณ์ได้ว่าลูกไปลำบาก. สำหรับพ่อ เหมือนลูกตายจากไป เป็นตายร้ายดี พ่อไปช่วยไม่ได้แล้ว เมื่อลูกซมซานกลับมา รู้ว่าตกระกำลำบากมาแน่นอน พ่ออ้าแขนออกรับด้วยความดีใจเหมือนเห็นลูกฟื้นคืนชีวิตใหม่ ตื้นตันสุดประมาณจึงสั่งให้เฉลิมฉลอง. ลูกชายคนโตเสียใจน้อยใจเพราะไม่ยอมรับ ไม่ให้อภัย. การกลับคืนสู่เหย้าของลูกชายคนเล็ก จึงหมายถึงการกลับเนื้อกลับตัว กลับใจ ยอมรับว่าประพฤติผิด เหมือนการสารภาพบาป ยอมตนแล้วในที่สุด. เนื้อเรื่องเช่นนี้จึงตรึงใจชาวคริสต์ ให้ตระหนักว่าพระเจ้าย่อมให้อภัยลูกๆ  พระเจ้าย่อมเห็นแจ้งไปถึงธรรมชาตินิสัยของคน ยอมรับความอ่อนแอและให้ความยุติธรรมแก่ผู้รู้ผิด  พ่อในเรื่องนี้จึงสะท้อนให้เข้าใจว่าพระเจ้าเป็นเช่นนั้น เหนือกว่าการให้อภัย เหนือกว่าความยุติธรรม คือความรักอันไพศาลของพระองค์.

      ภาพวัวถูกตรึง ยังอาจจัดเข้าในเนื้อหาของ Still Life หรือที่เราเรียกว่า จิตรกรรมชีวิตนิ่งที่เริ่มขึ้นบนดินแดนยุโรปตอนบน ในเนเธอแลนด์เช่นกัน. เป็น still life นัย vanitas ที่สื่อความลุ่มหลงในสิ่งที่ดี สวย น่ากิน หรือทรัพย์สินเงินทอง เกียรติและอำนาจ. เนื้อหาแบบนี้จึงตรงตามสำนวนละตินที่ว่า Memento Mori ที่แปลว่า จำไว้นะ วันหนึ่งเจ้าก็ต้องตาย  เป็นสารเตือนมรณานุสติ. ดังที่พระอาจารย์ทั้งหลายเตือนเสมอมาว่า ชีวิตนี้สั้นนัก อย่าอวด อย่าผยอง อย่าหลงใหลฟุ้งเฟ้อในความสุขอยู่นักเลย ทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่และก็จะจบลง.  ภาพอาหาร ผลไม้ ดอกไม้ หัวกะโหลก ภาพสัตว์ชนิดต่างๆที่ล่ามาได้ (games) หรือสัตว์เลี้ยงเช่นแกะ แพะ วัว เป็นเนื้อหาของจิตรกรรมประเภทนี้ทั้งสิ้น. ภาพวัวทั้งตัวของ Rembrandt จึงสื่อการมีอาหารกินอุดมสมบูรณ์.

      เนื้อเป็นของมีค่าราคาแพง ไม่ว่าในวัฒนธรรมใด. ข้าพเจ้าอดคิดไม่ได้ว่า ชาวโปลิชในช่วงที่ตกอยู่ใต้อำนาจของนาซี หรือในช่วงการปกครองระบอบสังคมนิยม อาจมีอาหารกินอิ่มท้อง แต่น่าจะเป็นอาหารผักอาหารแป้งมากกว่าอื่น คงไม่มีอาหารเนื้อให้กินมากนัก เพราะรัฐบาลมิอาจหามาแจกจ่ายให้ทุกคนอย่างเสมอหน้าและเท่าเทียมกัน.  ข้าพเจ้าสังเกตว่าน่าจะเป็นเช่นนี้เหมือนกันในประเทศยุโรปตะวันออกอื่นๆอาทิ บัลเกเรียและโรเมเนีย เพราะจนถึงปัจจุบัน อาหารโปรตีนสำคัญคือหมูหรือไก่  อาหารเนื้อราคาแพงและไม่อร่อย (ไม่มีมาตรฐานสูงเท่าเนื้อในญี่ปุ่นหรือเกาหลี). ทำให้ข้าพเจ้าคิดว่า การเลือกภาพวัวทั้งตัวมาติดในห้อง อาจแฝงความอยากกินเนื้อที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของคนก็ได้. เหมือนในภาพยนต์เรื่องหนึ่งของ Charlie Chaplin ที่ความหิวโหย ทำให้มองเห็นคนเป็นไก่งวง เป็นอาหาร. มีเรื่องเล่ากันมาเช่นกันว่าในยามยาก การนึกถึงอาหาร ทำให้เหมือนได้ลิ้มรสอาหาร ได้กลิ่นอาหารนั้น. เป็นต้นว่า กินขนมปังพลางมองดูภาพเนื้อ อาจช่วยตอบสนองความอยากเนื้อได้บ้าง.

        ภาพวัวที่ถูกตรึงดังภาพของ Rembrandt ภาพนี้ ยังอาจโยงไปถึงพระคริสต์บนไม้กางเชนได้ด้วย ตามขนบการอ่านเอาเนื้อหาและการตีความในระบบสัญลักษณ์ของศาสนาคริสต์ที่ปลูกฝังกันมาตั้งแต่ต้นคริสตกาล. วัวเป็นสัญลักษณ์ของพระคริสต์ด้วย. วัวผู้ไถนา หวังให้แผ่นดินเป็นที่เพาะปลูกพืชพรรณธัญญาหารของคน  มันทำงานให้คนจนตัวตาย เหมือนพระคริสต์ที่หว่านไถจิตวิญญาณของชาวคริสต์ หว่านเมล็ดพืชแห่งศรัทธา ความเชื่อฟัง คุณงามความดี เพื่อเป็นทางไปสู่สวรรค์. วัวถูกตรึงจึงเตือนให้สำนึกถึงพระคริสต์ผู้ตายไถ่บาปให้คนบนไม้กางเขน. นอกจากนี้เรายังอาจโยงต่อไปถึงนักบุญ Luc หรือ Luke ผู้บันทึกคำสอนเรื่องลูกผู้สุรุ่ยสุร่าย ในคัมภีร์ฉบับ Luc. 15 : 11-32  นักบุญลุคมีสัญลักษณ์เป็นวัวติดปีกที่รู้จักกันดี. จึงสอดคล้องกับการเป็นผู้เล่าเรื่องนี้ไว้ในคัมภีร์ของเขา.  นักบุญลุคเป็นหนึ่งในสี่นักบุญผู้แต่งคัมภีร์เล่าเหตุการณ์ในชีวิตของพระเยซู (Evangelists).  ถือกันว่านักบุญทั้งสี่เป็นเสมือนผู้ค้ำจุนศาสนา ผู้นำคำสอนออกไปเผยแผ่ทั่วสี่ทิศ เหมือนแม่น้ำสี่สายหลักที่ไหลหล่อเลี้ยงโลกตามที่ระบุในคัมภีร์เก่าอันมีแม่น้ำ Pishon, Gihon,Tigris, Euphrates (cf.Gn 2, 10-12).
     ในคริสต์ศิลป์นักบุญผู้แต่งคัมภีร์สี่คนนี้ บางครั้งมักปรากฏแสดงไว้เป็นรูปสัตว์ติดปีกสองปีก(ยกเว้นหนึ่งเดียวที่หน้าตาเป็นคนติดปีก จึงเป็นเทพ). การมีปีกเพื่อสื่อ ความเป็นเทพ ความเป็นผู้วิเศษ ความโปร่งเบาหรือความรวดเร็วที่โลดแล่นไปได้ทุกพื้นที่”. นักบุญสี่คนคือ Matthew เป็นคนมีปีกหรือเทวดา, Mark เป็นสิงโตติดปีก, Luke เป็นวัวติดปีก และ John เป็นเหยี่ยวติดปีก. (ความหมายนัยเปรียบของนักบุญสี่คนนี้ยังมีอีก แต่ขอรวบรัดพูดถึงเพียงเท่านี้)  ดังตัวอย่างภาพที่นำมาลงข้างล่างนี้
 สี่นักบุญผู้แต่งคัมภีร์ Evangelists จากซ้ายไปขวาคือ
Matthew, Mark, พระคริสต์อยู่ตรงกลาง ต่อไปคือ Luke และ John
ให้สังเกตว่านักบุญทั้งสี่มีปีก และถือแผ่นกระดาษสี่เหลี่ยมหรือหนังสือเพื่อสื่อว่าเป็นผู้แต่ง
จากจารึกศตวรรษที่ 8 ชื่อว่า Evangéliaire de Saint Pierre de Flavigny. ภาพจากเน็ต.
จิตรกรรมน้อยประดับหน้าในหนังสือสวด ผลงานของ
Maître de Gijsbrecht de Brederode, 1460.
หนังสือสวดอยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่เมือง Utrecht ประเทศเนเธอแลนด์
ให้สังเกตว่า แทนแผ่นสี่เหลี่ยมแบบหนังสือ ในนี้เป็นกระดาษม้วนที่คลี่ออก
นี่ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่สื่อ สารหรือคัมภีร์
  ประติมากรรมจำหลักนูนที่ประดับหน้าบันของโบสถ์ Saint Trophimes
ที่เมือง Arles ประเทศฝรั่งเศส
ภาพจากบล็อก la-mouette-mouic.over-blog.com
 แบบสมัยใหม่ ใช้รูปลักษณ์ของคน มีสัตว์ประกอบ
ภาพนี้ความหมายของ การเขียน การจารึกชัดเจน ทุกคนมีปากกาขนนกในมือ
การเขียนของนักบุญแต่ละคนนั้น ได้รับแรงบันดาลใจจากพระเจ้า (หรือพระจิต)
ที่แสดงห้เห็นด้วยนกกางปีกมีขีดเป็นลำแสงแผ่ลงเหนือนักบุญ Marc และ Luc 
ภาพนักบุญ Jean มีลำแสงสามลำแผ่ลงจากเบื้องบนเหนือใบจารึกที่นักบุญเขียนไปบ้างแล้ว
ส่วนนักบุญ Matthieu มีเทวดากระซิบบอกอยู่บนไหล่
 
      จะเห็นว่า ภาพนี้ของ Rembrandt อ่านได้หลายมิติดังที่กล่าวมา มิติใดน่าเชื่อถือที่สุด ตรงที่สุด ไมใช่ประเด็น. แต่ละคนอ่านภาพตามภูมิหลังของตน อยู่ที่ว่าพูดให้คนอื่นเห็นจริงหรือคล้อยตามได้มากน้อยเพียงใด. ในสภาพการณ์ที่ไม่น่าอภิรมย์ที่ข้าพเจ้าประสบในโปแลนด์ ภาพนี้จึงมีอานุภาพสูงมากและจี้ให้เกิดอารมณ์สะเทือนรุนแรงที่ไม่เคยลืมเลือนจากความทรงจำ จึงบันทึกไว้เป็นแง่คิด.

บันทึกรายละเอียดหนึ่งของประสบการณ์ที่โปแลนด์เมื่อเกือบสามสิบปีก่อน ของโชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ 
ณ วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๙. 

1 comment: