Wednesday 4 January 2017

ตีราคาชีวิตคน Pricing a life

ภาคแรกของบทความนี้ สรุปมาจากสารคดีการสอบสวนพิเศษของนักข่าวอิสระ Linda Bendali ที่นำออกเผยแพร่ในโทรทัศน์ฝรั่งเศส Canal+ เดือนมิถุนายน 2016.  Marion Claus เป็นผู้ผลิตสำหรับ ZED ด้วยความร่วมมือของโทรทัศน์ช่อง Canal+, ช่อง Planète+ และกองสืบสวนอาชญากรรม (Crime Investigation).  

      ปี 2014 และปี 2015 ที่ผ่านมา มีอุบัติเหตุเครื่องบินตกสองครั้งที่เขย่าขวัญไปทั่วโลก กรณีของสายการบินมาเลเซียที่หายไปในอากาศอย่างไม่มีร่องรอย และกรณีของ German Wings ที่นักบินมือที่สองจงใจนำเครื่องบินดิ่งลงปะทะเทือกเขาแอลป์เหนือฝรั่งเศสแหลกไปทั้งลำ. เป็นสองกรณีที่ประวัติศาสตรการบินต้องจารึกไว้.  บริษัทประกันภัยได้ชดใช้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตแต่ละรายแตกต่างกันมาก. บ้างได้รับสองล้านยูโร บ้างได้รับสองแสนยูโร.
      นักข่าวลินดาได้ไปสอบสวนสภาพการณ์กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตในอุบัติเหตุทางอากาศหลายราย เพื่อสะกดแกะรอยตั้งแต่รายย่อยๆไปถึงรายใหญ่ๆ. เธอเริ่มด้วยกรณีเครื่องบิน Air Mooréa เที่ยวบินที่ 1121 ที่ตกเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมปี 2007  มีผู้โดยสารตาย 19 คน นักบินอีกหนึ่งคน. ปริษัทประกันได้คิดคำนวณค่าชีวิตคนตายและชดใช้ค่าสินไหมไป จำนวนเงินที่บริษัทเก็บเป็นความลับ เพราะความแตกต่างในการจ่ายค่าสินไหมให้แต่ละรายผิดกันอย่างไม่น่าเชื่อ. แน่นอนที่บริษัทประกันภัยมีอุบายต่างๆเพื่อลดค่าเสียหายให้เหลือน้อยที่สุดที่ทำได้. กระบวนการจ่ายเงินสินไหม ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ชีวิตคนรวยมีค่ากว่าชีวิตคนจน เช่นชาวอเมริกันมีค่าสามล้านดอลลาร์ ชาวแอฟริกันมีค่าห้าหมื่นดอลลาร์. ในกรณีของสายการบินลาว Lao Airlines ผู้โดยสารชาวอเมริกันมีค่าเกือบ 25 เท่าของชีวิตคนลาว. ทำให้รู้เพิ่มอีกว่า รายได้ของผู้โดยสารและสถานภาพในสังคมของผู้โดยสารแต่ละคน เป็นตัวกำหนดค่าชดเชยของบริษัทประกันภัย.
      ในกรณีของ Air Mooréa ดังกล่าว แปดปีมาแล้วที่ครอบครัวผู้เสียชีวิต 20 ครอบครัวรวมกันฟ้องบริษัทประกัน AXA (AXA Corporate Solutions) เพื่อขอเรียกค่าชดใข้เพิ่ม เนื่องจากจำนวนเงินที่ AXA ได้จ่ายให้นั้นน้อยนิดเหลือเกิน.  นักข่าวได้พยายามติดต่อทนายและประธานสมาคมครอบครัวผู้เสียชีวิตทั้งหมด รวมทั้งสมาชิกของครอบครัว แต่ไม่มีใครให้ข้อมูลใดๆ เพราะพวกเขาได้เซ็นสัญญาไม่พูดถึงจำนวนเงินที่ AXA ได้ให้พวกเขา หากพวกเขาผิดสัญญา ก็ต้องคืนเงินที่ได้แก่ AXA.  เช่นนี้นักข่าวจึงไม่ได้ข้อมูลจากผู้เสียหายที่ยังคงต่อสู้ทางศาลต่อมา.  ลินดาพยายามติดต่อเจ้าหน้าที่บริษัท AXA โดยตรงแต่ก็ไม่ได้ผส ทุกคนบอกปัดไปต่างๆนานาว่าเป็นเรื่องลับเฉพาะ. อย่างไรก็ตาม ลินดาได้เอกสารที่เป็นรายงานการชดใช้ค่าเสียหายของทนายของบริษัท AXA. เอกสารนี้มีรายชื่อผู้เสียชีวิตและค่าชดใช้ที่บริษัทได้ให้แก่ครอบครัวของแต่ละคน. นับเป็นก้าวสำคัญของลินดาที่สามารถเจาะเข้าไปถึงเอกสารดังกล่าว. ลินดาได้เห็นตัวเลขชัดเจนที่ยืนยันว่า มีความแตกต่างถึงสิบเท่าระหว่างผู้ที่ได้ค่าชดใช้สูงสุดสองล้านกว่ายูโรกับผู้ที่ได้ต่ำสุดเพียงสองแสนยูโร.  เมื่อพินิจพิจารณาหาบรรทัดฐาน ว่าบริษัทประกันใช้มาตรการอะไรในการกำหนดค่าชดใช้ให้แต่ละครอบครัว. ทำไมถึงต่างกันมากถึงเพียงนั้น?  นี่คือความเสมอภาคหรือ?  ผู้โดยสารที่นั่งไปในเครื่องบินลำเดียวกันแท้ๆ  มีงานมีอาชีพอะไร รวยหรือจน ตายไปแล้วยังถูกนำมาตัดสินราคาชีวิตของพวกเขาหรือ? 
      ลินดาพยายามเข้าถึงรองประธานของบริษัท AXA ผู้ดูแลฝ่ายอุบัติภัยทางอากาศ ก็ถูกส่งไปพบคนอื่นและในที่สุดก็ไม่มีโอกาสพูดหรือซักถามอะไรกับใคร ได้คำตอบเพียงว่า ทุกคนต้องปฏิบัติตามนโยบายของบริษัท และไม่มีสืทธิ์พูดอะไรทั้งสิ้นโดยเฉพาะกับนักข่าวของโทรทัศน์หรือสื่อมวลชน.  คำตอบจากทุกบริษัทเหมือนกันหมด ไม่ว่าเป็นบริษัทประกันภัยยักษ์ใหญ่ ก็ไม่มีใครพร้อมให้ข้อมูล. ลินดาไม่ละตวามพยายาม เธอค้นหาตัวผู้ที่สามารถตอบข้อซักถามของเธอ. ในที่สุดได้คนๆหนึ่งที่เคยเป็นประธานกรรมการของบริษัท AXA เคยบริหารจัดการเรื่องการชดใช้ค่าเสียหายแบบต่างๆภายในบริษัท AXA มานาน12 ปี และปัจจุบันได้ลาออกจากบริษัทแล้ว เขาจึงพอจะพูดกับลินดาได้. เขาอธิบายคร่าวๆให้รู้ว่า แน่นอน
) รายได้ของผู้โดยสารตามสถานภาพของสังคมนั้น เป็นตัวกำหนดจำนวนเงินที่บริษัทจ่ายให้แก่ญาติผู้เสียชีวิต. ตำแหน่งหน้าที่การงานของเขา, เป็นพนักงานบริษัทใด, เงินเดือนเท่าไร, หลักฐานความมั่นคงของบริษัท. ส่วนเด็กที่ยังไม่มีเงินเดือน คนที่ไม่มีงานทำ พวกนี้ก็มีราคาต่ำ นั่นคือบริษัทจ่ายค่าชดใช้ถูกกว่ามาก.
) เที่ยวบินและสายการบิน เป็นสายการบินราคาต่ำ (low-cost) หรือสายการแห่งชาติ, เป็นสายการบินระยะสั้นหรือสายการบินเส้นทางไกล, เป็นสายการบินภายในประเทศ หรือสายการบินระหว่างประเทศ.
) จุดหมายปลายทางที่บินไป ไปที่ไหน ประเทศใด, เป็นการบินไปพักร้อน, เป็นช่วงเทศกาลหรือบินไปทำธุรกิจ.
) การเลือกซื้อตั๋วโดยสาร  บินชั้นประหยัด ชั้นธุรกิจหรือชั้นVIP. ผู้โดยสารชั้นประหยัดถูกมองว่ามีค่าน้อยกว่า.
ตัวอย่างเครื่องบิน German Wings ที่นักบินมือที่สองจงใจนำเครื่องบินดิ่งลงปะทะเทือกเขาแอลป์เหนือฝรั่งเศส มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 150 คน เป็นสามัญชนผู้มีรายได้ไม่มาก, นักเรียน 7 คน, ทารก 1 คน, ผู้หญิง, คนทั่วไป. เมื่อพิจารณา คุณสมบัติของผู้โดยสารแล้ว เป็นความโล่งใจจนถึงความยินดีของบริษัทประกันภัยเลยทีเดียว. ตัวอย่างนี้เมื่อนำไปเทียบกับสายการบิน Air France ที่บินไปๆมาๆระหว่างปารีสและนิวยอร์ค ค่าเสียหายที่บริษัทประกันต้องจ่ายทะลุหลักล้านยูโรต่อคน
ชีวิตแต่ละคนมีราคาไม่เท่ากัน จงยอมรับเถิด

      การกำหนดจำนวนเงินชดใช้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตนั้น หลักการพื้นฐานทั่วไป เริ่มด้วยการคำนวณการสูญเสียทางการเงินของครอบครัวผู้เสียชีวิต (le préjudice économique) นั่นคือ หากผู้ตายเป็นหัวหน้าครอบครัว มีรายได้เท่าใด รายได้นี้สิ้นสุดลงเพราะเสียชีวิตแล้ว หมายความว่าครอบครัวสูญเสียเงินรายได้ไปด้วย เงินเดือนของผู้ตาย จึงเป็นประเด็นที่เอามาพิจารณาประเด็นแรก (ถ้าเป็นคนไม่มีรายได้ ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อบริษัท) และประเด็นที่สองคือ อายุของผู้ตาย ที่บริษัทจะคำนวณว่า หากมีชีวิตต่อไป ผู้ตายจะอยู่ได้อีกกี่ปี จะทำงานหาเงินได้อีกกี่มากน้อย. เช่นพนักงานบริษัทที่มีอายุ 25 ปี รายได้ดี คาดหมายได้ว่าจะมีชีวิตที่รุ่งโรจน์ บริษัทตีราคาผู้ตายแบบนี้สูง การตายของเขาจึงมีราคาแพงกว่าชราชนหลังเกษียญ.
      หลักการดังกล่าวในความเป็นจริงแล้ว ก็ยังถูกบริษัทประกันห้ำหั่นและลดจำนวนเงินให้เหลือน้อยที่สุดที่พวกเขาทำได้ด้วยอุบายต่างๆ. เช่นใช้นโยบายที่เรียกว่า Autoconsommation  บริษัทประกันภัยเจาะลึกเข้าไปในวิถีชีวิตปกติของผู้ตายว่า ผู้นั้นใช้จ่ายอย่างไร เท่าไร เช่นเรื่องเครื่องแต่งกาย, เรื่องการรักษาสุขภาพ หยูกยาและค่าหมอ, เรื่องชีวิตยามว่าง กิจกรรม การท่องเที่ยว, จนถึงเรื่องอาหารการกิน แต่ละมื้อแต่ละวันและในโอกาสพิเศษต่างๆ.  ตัวเลขสุดท้ายจากการคำนวณวิถีชีวิตดังกล่าว เป็นกุญแจสำคัญตัวหนึ่ง. บริษัทนำไปประกอบการพิจารณารายได้ของครอบครัวผู้ตาย ว่าจำนวนเงินใช้จ่ายนี้เป็นกี่เปอเซ็นของงบประมาณของแต่ละครอบครัว หักลบออกไป เพราะผู้ตายสิ้นชีวิตลง จะไม่มีค่าใช้จ่ายพวกนี้อีกแล้ว. เช่นผู้ตายเคยใช้จ่ายในวิถีชีวิตปกติของเขาเป็นร้อยละ 40 ของงบประมาณของครอบครัว  นำไปหักลบออกจากรายได้ทั้งหมดของเขาแล้ว เท่ากับผู้ตายมีงบสำหรับครอบครัวร้อยละ 60  ผลที่ได้นี้เทียบเป็นเงินเท่าใดที่สมาชิกครอบครัวสูญเสียไป.  บริษัทไม่นำรายได้ของผู้ตายทั้งก้อนที่ถูกค้องตรงตามความจริงมาพิจารณา แต่นำมาพิจารณาเพียง 60 เปอเซ็นต์ของรายได้ของเขาเท่านั้น. เช่นนี้โดยปริยายเท่ากับไปลดรายได้ประจำของผู้ตาย  คำนวณอย่างนี้เอง บริษัทสามารถลดค่ชชดใช้ลงไปอีกมาก.
     เพศ ของผู้ตายก็ทำให้การตีราคาชีวิตต่างกัน เพศชายแพงกว่าเพศหญิง. อุบายการคำนวณของบริษัทประกันภัยนั้น สามัญชนที่ไหนจะเข้าใจอย่างถ่องแท้ จึงต้องจ้างทนายผู้รู้เรื่องดีไปสู้กับบริษัทประกัน.  กล่าวโดยรวม ในจำนวนอุบัติภัยทั้งหลายที่เกิดขึ้น มีเพียง 10 % ของครอบครัวผู้เสียชีวิตเท่านั้น ที่จ้างทนายดำเนินคดีเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมให้สูงที่สุดที่จะขอได้. นี่ก็เป็นอีกผลประโยชน์หนึ่งของบริษัทประกัน.
      นอกจากรายได้ เพศและอายุของผู้ตาย ยังมีประเด็นของสัญชาติที่เป็นเกณฑ์ในการกำหนดราคาของชีวิตผู้ตาย. ผู้สื่อข่าวลินดาได้ข้อมูลจากบริษัทประกันที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในสหราชอาณาจักรคือบริษัท Willis. ลินดามีโอกาสดูเอกสารรายชื่อและราคาสินไหมที่บริษัทจ่ายให้แก่ครอบครัวผู้ตายในอุบัติภัยทางอากาศแต่ละกรณีในปีเดียวกันคือปี 2013.  ตัวอย่างกรณีของสายการบินเกาหลี Asiana Airlines ที่ตกลงที่สนามบินซานฟรานซิสโกเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2013 มีชาวอเมริกัน 3 คนตายในอุบัติเหตุครั้งนั้น และกรณีเครื่องบินตกที่สนามบิน Birmingham, รัฐ Alabama ในสหรัฐฯ ที่มีชาวอเมริกันเสียชีวิต 2 คน. ในสองกรณีนี้ บริษัทประกันจ่ายค่าชดเชยให้ครอบครัวอเมริกันห้ารายรวมเป็นเงินกว่า 50 ล้านดอลลาร์. ในขณะที่ผู้ตายในกรณีสายการบิน Lao Airlines ที่มีคนลาวตาย 49 คนและชนชาติเล็กๆอื่นๆอีก 50 คน(ในจำนวนนี้มีคนไทย 5 คน) ถูกตีราคาชีวิตต่ำกว่าราคาชีวิตคนอเมริกันประมาณ 25 เท่า. ถ้าเชื่อตามเอกสาร มันชัดเจนว่า สัญชาติของผู้ตายเป็นตัวกำหนดค่าชดใช้ของบริษัทประกัน.  ถึงกระนั้นเมื่อถูกถามตรงๆซึ่งๆหน้า ประธานฝ่ายระชาสัพันธ์ของ Willis ก็บอกว่าบริษัทไม่มีสิทธิ์ไปสอบถามสัญชาติของผู้โดยสาร  แต่บริษัทประกันอีกแห่งหนึ่งได้ให้ข้อมูลแก่ผู้สื่อข่าวทางโทรศัพท์ว่า ประเด็นสัญชาตินั้นถูกนำมาใช้จริง เป็นความลับสกปรกๆของบริษัทประกันทั้งหลาย. สรุปได้คร่าวๆว่า คนตายสัญชาติอเมริกัน มีราคาเท่ากับ 3 ล้านดอลลาร์, คนแอฟริกันเท่ากับ  5 หมื่นดอลลาร์, ชาวยุโรปก็ประมาณ 1.5 ล้านดอลลาร์, คนญี่ปุ่นแพงมาก, คนจีนถูกกว่า. ตัวเลขเหล่านี้ปรากฏชัดเจนในเอกสารหลังการฟ้องร้องทางศาลสิ้นสุดลงแล้ว. ทั้งหมดนี้ดูเหมือนมีเหตุมีผลทีเดียว.
      สายการบินอเมริกันที่บินไปมาภายในสหรัฐฯ มีผู้โดยสารประจำ 100 คน หากเกิดอุบัติเหตุเครื่องบินตก บริษัทประกันต้องจ่าย 3 ล้านดอลลาร์ต่อคน คูณด้วย 100 เท่ากับ 300 ล้านดอลลาร์.  ถ้าสายการบินที่บินไปมาระหว่าง Côte d’Ivoire กับ Nigeria บริษัทจะเสียค่าชดใช้รวมทุกอย่างเบ็ดเสร็จระหว่าง 3-4 ล้านดอลลาร์เท่านั้น. นี่เป็นความจริงที่หฤโหด ในขณะเดียวกันก็สมเหตุสมผล(ตามหลักการ) สอดคล้องกับระดับค่าครองชีพของแต่ละประเทศ.
      อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงในอุบัติเหตุที่มีคนเสียชีวิต คือประเด็นของความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นของผู้ตายกับครอบครัวของเขา (le prejudice d’affection) หมายถึงความโศกสลดของญาติที่สูญเสียบุคคลผู้เป็นที่รักของเขา. ในประเด็นนี้บริษัทประกันภัยได้กำหนดเป็นตัวเลขเฉลี่ยไว้เช่น หญิงที่เสียสามีไปในอุบัติภัย จะได้ค่าชดเชยสองหมื่นยูโร, ลูกที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะหากสูญเสียพ่อหรือแม่ไป ก็ได้สองหมื่นยูโร, หากลูกบรรลุนิติภาวะแล้ว จะได้เพียงหมื่นห้าพันยูโร, ถ้าเป็นพี่ชายหรือน้องชาย ก็ได้เงินเพียงเก้าพันสองร้อยยูโร. ความสัมพันธ์ใกล้ชิดมากน้อยหรือการเกี่ยวดองเป็นเครือญาติใกล้ชิดมากน้อย ก็เป็นสิ่งกำหนดราคาของผู้ตาย ประเด็นนี้กฎหมายในหลายประเทศยอมรับแล้ว.
     มาตรการดังกล่าว อาจไม่ครอบคลุมเพียงพอ. คนหนึ่งในวงชีวิตจากไปในอุบัติเหตุ โดยที่ไม่มีใครคาดคิด เตรียมเนื้อเตรียมใจล่วงหน้านั้น มีผลกระทบต่อสภาพจิตของผู้อยู่อย่างมาก ต้องใช้เวลาเยียวยานานมาก อาจถึงสิบปีก็ได้. ศาลจึงเห็นว่าประเด็นนี้มีเหตุผลเพียงพอให้เรียกร้องค่าสินไหมได้.  แต่การประเมินความรู้สึกในใจญาติผู้ตาย กับการตีราคาความรู้สึกนั้น ทำได้เพียงผิวเผินเท่านั้น บริษัทผู้ตีราคาผู้ตาย กับ ค่าของผู้ตายสำหรับญาติหรือครอบครัว ไม่มีวันอยู่บนระดับเดียวกัน. อย่างไรก็ดี ทุกครั้งที่ศาลยอมรับเอาประเด็นใดขึ้นมาพิจารณาเพื่อให้ความยุติธรรมมากที่สุดกับฝ่ายผู้สูญเสีย ก็เท่ากับเป็นการเดินหน้าไปอีกก้าวหนึ่ง.
      นอกจากประเด็นของความผูกพันลึกซึ้งระหว่างผู้ตายกับญาติผู้ตายแล้ว ยังมีทนายฝรั่งเศสที่พยายามตั้งกระทู้ใหม่ ที่เขาจำกัดความไว้ว่า เป็น ประเด็นของความกระวนกระวายกลัดกลุ้มปวดร้าวที่เริ่มขึ้นตั้งแต่นาทีที่ได้ข่าวร้าย  ความหวังว่าบุคคลนั้นอาจมีชีวิตรอดมาได้ ความหมกมุ่นที่กลายเป็นความคุ้มคลั่งในการติดตามหาตัวหรือหาศพผู้ตาย ไปจนถึงนาทีสุดท้ายที่เป็นความสิ้นหวัง. อนุกรมอารมณ์เป็นยิ่งกว่าคุกกักขังจิตสำนึกและจิตวิญญาณของญาติผู้ตายนั้น เป็นความทุกข์แสนสาหัส. ในทำนองเดียวกัน อารมณ์ความรู้สึกของผู้ตกเป็นเหยื่อในวิกฤตการณ์ที่ไม่มีทางออกนั้น เป็นความตระหนก ความกลัว ความห่วงหาสมาชิกของครอบครัว ความหวังเลือนลางในปาฏิหาริย์ ทั้งหมดเป็นความอลหม่านปวดร้าวที่สาหัสสากรรจ์. ทนายฝรั่งเศสพยายามยกกระทู้นี้ขึ้นให้ศาลพิจารณา เพื่อบังคับให้บริษัทประกันคำนึงถึงประเด็นนี้ด้วย และอนุมัติสิทธิ์แก่ญาติผู้ตายให้เรียกร้องค่าเสียหายด้วยประเด็นนี้เช่นกัน. เพราะแม้ว่าเกิดปาฏิหาริย์มีผู้รอดตายมาได้ คนนั้นก็ไม่มีวันลืมประสบการณ์ทั้งในมิติทางกายภาพและในมิติชองจิตวิญญาณไปจนตาย. ทนายฝรั่งเศสต้องการใช้กระทู้นี้ รณรงค์ให้การเดินทางทางอากาศปลอดภัยมากขึ้น เพราะหากบริษัทประกันต้องจ่ายค่าความทุกข์ทุรนทุรายทั้งกายและใจของผู้เสียชีวิตและของญาติผู้ตาย บริษัทก็ไปรุกเร้าควบคุมความปลอดภัยของเครื่องบินและการบินอย่างละเอียดถี่ถ้วน. ผลที่ตามมาย่อมดีทั้งต่อผู้โดยสารและบริษัทประกัน. อย่างไรก็ดี จนถึงปัจจุบันนี้ การตั้งกระทู้เรื่องความทรมานด้านจิตใจนี้ ศาลยังมิได้รับเป็นประเด็นเพื่อเรียกร้องค่าชดใช้ที่สูงขึ้น  เพราะแม้ความรู้สึกในใจคนมีจริง ความเข้มมากน้อยของความรู้สึกนั้น ยังมิอาจวัดเป็นตัวเลขที่ชัดเจน และที่ใช้ได้กับทุกคนทุกกรณี.
      นอกจากประเด็นที่กล่าวมา ยังมีอีกหนึ่งประเด็นที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกับการประกันอุบัติเหตุโดยตรง แต่มีส่วนอย่างมากในการเร่งและกระตุ้นบริษัทประกันทั้งหลายให้ดำเนินการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ครอบครัวผู้ตายอย่างรวดเร็ว. เรียกประเด็นนี้ว่า la médiatisation หรือการกระจายข่าวออกไปในวงกว้าง.  ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือกรณีของ Concorde[กงก๊อรฺดฺ] เที่ยวบินที่ 4590 ที่ตกลงที่สนามบิน Roissy เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ปี 2000  หลังจากที่ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าไม่นาน  เครื่องบินถลาลงโหม่งพื้น ตรงที่ตั้งของโรงแรม Hôtelissimo Les Relais Bleus Hotel ตำบล Gonesse ใกล้สนามบิน. ในเครื่องบินลำนั้น มีผู้โดยสาร 100 คน ประกอบด้วยกัปตัน, รองกัปตันกับวิศวกร และพนักงานบนเครื่องที่เป็นชาวฝรั่งเศส 8 คนและชาวเยอรมัน 1 คน กับพนักงานโรงแรม 4 คนบนพื้นที่เครื่องบินตก (ที่เป็นชาวโปแลนด์ 2 คน, ชาว Mauritius 1 คนและชาวอัลจีเรีย 1 คน) ทั้งหมดเสียชีวิตทันที. เที่ยวบินนี้บริษัทเดินเรือ Peter Deilmann Cruises เหมาพานักท่องเที่ยวเยอรมัน 96 ชีวิตไปนิวยอร์ค เพื่อไปลงเรือสำราญ MS Deutschland ที่นั่น แล้วล่องเรือไปที่ Manta ประเทศ Ecuador.
      อุบัติเหตุครั้งนั้นเป็นครั้งเดียวในประวัติการบินของ Concorde ที่ให้บริการมาแล้ว 27 ปี. จนถึงวันนั้น เครื่องบิน Concorde SST เป็นเครื่องบินที่ถือกันว่าปลอดภัยที่สุด. เป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จทางเทคโนโลยีที่เป็นความร่วมมือระหว่างฝรั่งเศสกับสหราชอาณาจักร. เป็นเครื่องบินพาณิชย์ซุปเปอโซนิคเทอโบเจ็ตที่นำออกบินครั้งแรกในปี 1969 และเปิดบริการเที่ยวบินปกติตั้งแต่ปี 1976. ความเร็วสูงสุดของ Concorde คือสองเท่าของความเร็วเสียง หรือ 2180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง. เป็นความภาคภูมิใจของชาติ เป็นหน้าตาของฝรั่งเศส. ทั้งๆที่การบริหารเที่ยวบินด้วยเครื่อง Concorde นี้ขาดทุนมากกว่ากำไร แต่ Air France ก็ยังคงให้มีเที่ยวบิน Concorde อยู่อีกเพื่อธำรงความภูมิใจของชาติไว้ จนถึงวันที่ 24 ตุลาคมปี 2003 07 จึงปิดการบินด้วย Concorde อย่างสิ้นเชิง.  ด้านสหราชอาณาจักร สายการบิน British Airways  มีเครื่อง Concorde ใช้ 20 ลำ อ้างว่าได้กำไรประมาณ 30 ล้านปอนด์ต่อปี. เหตุการณ์ถล่มตึก World Trade Centers ที่กรุงนิวยอร์คมีส่วนทำให้ทั้งฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรต้องยุติการใช้ Concorde เป็นเครื่องบินพาณิชย์ เพราะไม่มีลูกค้าเพียงพอที่อยากบินไปสหรัฐฯอีก โดยเฉพาะกรุงนิวยอร์คที่เป็นจุดหมายปลายทางหลักของ Concorde ที่เชื่อมกรุงปารีส, กรุงลอนดอนกับนิวยอร์คในเวลาเพียงสองชั่วโมงนิดหน่อยเท่านั้น.
      อุบัติเหตุของ Concorde ดังที่กล่าวย่อๆไว้ข้างบนนี้ เป็นข่าวดังไปทั่วโลก ในเวลาเพียงสิบเดือน บริษัทประกันได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ครอบครัวผู้โดยสารคนละหนึ่งล้านยูโร ทั้งๆที่เกือบทั้งหมดเป็นผู้สูงวัย เกษียณอายุกันแล้ว. อย่าลืมว่าตามหลักการ คนอายุน้อยมีค่ามากกว่าคนสูงวัย ในกรณีนี้อายุกลับไม่ใช่ประเด็นที่ช่วยบริษัทประกันภัยได้  สัญชาติและจุดมุ่งหมายการเดินทางเพื่อความสุขสำราญราคาแพงของกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันนี้ มีน้ำหนักต่อรองมาก. การชดใช้ดังกล่าวเป็นจำนวนเงินสูงที่สุดในประวัติของการคมนาคมทางอากาศ. กรณีเครื่องบินตกอื่นๆนั้นใช้เวลานานมาก เป็นวิธีการถ่วงเวลาของบริษัทประกันเพื่อให้ครอบครัวหมดอาลัย ค่อยๆปล่อยวางกับการเรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าชดใช้จากบริษัทประกันภัย. กรณีของสายการบิน Lao Airlines ที่ตกลงในลุ่มแม่น้ำโขงนั้น มีรายชื่อผู้โดยสารไทย 5 คน ฝรั่งเศส 7 คน  ชาวออสเตรเลีย 5 คน ลาว 17 คน  รวมทั้งหมดเสียชีวิต 40 คน.. สองปีผ่านไป ครอบครัวชาวฝรั่งเศส 7 คนที่ตายไปในอุบัติเหตุ ยังไม่เคยได้อะไร ไม่เคยมีใครติดต่อมาเลย. บริษัทประกันคงหวังไว้ว่า ทุกคนจะค่อยๆลืมไปในที่สุด. ความที่ลาวอยู่ไกลจากฝรั่งเศส ไม่มีญาติผู้เสียชีวิตคิดจะบินไปตามเรื่อง. สายการบินลาวก็เป็นสายการบินเล็กๆเท่านั้น เป็นสายการบินภายในประเทศ ไม่มีข่าว ไม่มีรายงานจากองค์การบินทั้งของลาวและของนานาชาติ. สิ่งเดียวที่ผู้สื่อข่าวลินดาเห็นเกี่ยวกับอุบัติเหตุเครื่องบินลาวนี้ คือในเฟสบุ๊คที่เขียนเป็นภาษาลาวเท่านั้น. ครอบครัวของผู้เสียชีวิตชาวฝรั่งเศสทั้งเจ็ดครอบครัว ได้รวมกันจ้างทนายให้ไปฟ้องสายการบิน Lao Airlines.
      การไม่มีข่าวใดๆจึงดีต่อบริษัทประกัน และฝ่ายผู้เสียหายต้องมีความอดทนติดตามต่อไปอย่างไม่ลดละ. นี่ยุติธรรมหรือ?  ที่น่าสังเวชใจยิ่งขึ้นตามที่ผู้สื่อข่าวลินดาประชดไว้ในรายงานของเธอว่า เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่เครื่องบินตกแหลกสลายไม่เป็นท่า  ฝ่ายบริหารของสายการบินลาวกลับยิ้มแย้มแจ่มใส ถ่ายรูปทางการ พร้อมโชว์เช้คจำนวนเงิน 22 ล้านดอลลาร์ที่บริษัทประกันจ่ายให้แก่สายการบินลาวเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2013. กลุ่มผู้บริหารสายการบินลาวปลาบปลื้มใจราวกับถูกล็อตเตอลีรางวัลที่หนึ่ง เพราะเงินจำนวนนี้เกือบเท่ากับราคาเครื่องบินที่สายการบินซื้อมา. ไม่มีใครหรือสื่อใดลงข่าวเกี่ยวกับชะตากรรมของผู้เสียชีวิต หรือสนใจติดตามหาครอบครัวของผู้เสียชีวิต.
     เช่นเดียวกันกับกรณีสายการบินมาเลเชียที่หายไปเหนือมหาสมุทรอินเดียโดยไม่ทิ้งร่องรอยใดๆเมื่อเดือนมีนาคมปี 2014.  เพียงสองสัปดาห์หลังจากอุบัติเหตุเครื่องบินล่องหนไป บริษัทประกันภัยได้จ่ายค่าเสียหายให้ 110 ล้านดอลลาร์ ส่วนผู้โดยสาร 239 คนที่ต้องสรุปว่าเสียชีวิตนั้น ไม่มีญาติของผู้ตายคนใดที่ได้รับค่าชดเชยใดๆจนทุกวันนี้.
      เมื่อดูตัวเลขที่บริษัทประกันชดใช้แก่สายการบินต่างๆ เช่นในปี 2014  ที่เกิดอุบัติเหตุทางอากาศเลวร้ายถึง 5 ครั้ง บริษัทประกันภัยทั้งหลายก็ไม่เคยขาดทุน เพราะพวกเขาได้คำนวณค่าความเสี่ยงต่างๆไว้ล่วงหน้าและบวกค่าเสียหายใดๆอย่างถี่ถ้วนแล้ว และคำนวณออกมาเป็นจำนวนเงิน เป็นเบี้ยประกันที่ผู้เอาประกัน(the insured)ต้องจ่ายตามกำหนดเวลาที่ตกลงกันเป็นรายเดือนรายปีไปเรื่อยๆ.
     เพื่อความเข้าใจให้ลึกลงกว่านี้ ผู้สื่อข่าวลินดาเสนอให้เข้าไปดูเทียบกับอุบัติเหตุบนท้องถนนบ้าง. การประเมินความเสี่ยงในชีวิตประจำวันของผู้เอาประกัน เป็นฐานหลักของผู้มีอาชีพรับประกัน เช่นสำนวนโฆษณาของ AXA ว่า เรื่องกังวลเล็กๆน้อยๆจุกๆจิกๆ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต  AXA เข้าใจเรื่องนี้ดี. ผู้ที่ทำหน้าที่คำนวณเรื่องนี้เป็นนักคณิตศาสตร์ (ที่เรียกว่า actuary) ผู้ชำนาญการหาสถิติเกี่ยวกับการประกันภัย. เป็นอาชีพที่คนไม่รู้จักนัก แต่งานที่เขาทำนั้น เป็นฐานหลักของระบบการประกันทั้งหมด. ผู้สื่อข่าวลงทุนไปเข้าเรียนที่สถาบันสถิติแห่งชาติอันทรงเกียรติของปารีส (สถาบัน l’ENSAE [เล็นเซ่] หรือ Ecole Nationale de la Statistiqueormale) วันที่เธอไปขอเข้าฟังเล็กเชอร์ที่นั่นนั้น อาจารย์ผู้สอนพูดถึงเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนนพอดี. นักศึกษาที่นั่นอยู่ในวัยยี่สิบกว่า แต่ละคนเป็นนักคำนวณระดับสูงกันแล้ว. ผู้สื่อข่าวลินดาได้ไปนั่งแถวหน้า อาจารย์ผู้สอนกล่าวถึงตัวแปรต่างๆที่ทำให้คนๆหนึ่งมีแนวโน้มจะประสบอุบัติเหตุในปีถัดไป. (เหมือนคาดภัยล่วงหน้าในชีวิตแต่ละคน). และอุบัติเหตุนั้นตีเป็นมูลค่าความเสียหายเท่าไร. ผู้เชียวชาญในการนี้จะแปรทุกความเสี่ยงในชีวิตประจำวัน ออกเป็นตัวเลขอย่างชัดเจน. จากตัวเลขพันๆตัวในข้อมูลสถิติต่างๆ เพื่อคำนวณเป็นจำนวนเงินที่ผู้เอาประกันต้องจ่ายนั่นอง.
       บริษัทผู้ขายประกันจะตั้งคำถามต่างๆแก่ผู้เอาประกันเช่น อายุ, ที่อยู่ในโซนเมืองหรือนอกเมือง, ได้ใบขับขี่เมื่อใด, รถยี่ห้อใด, เริ่มทำประกันเมื่อใด, จ่ายเบี้ยประกันต่อเดือนเท่าไร เป็นต้น. การคำนวณเป็นตัวเลขจากคำตอบในแบบสอบถามทั้งหมด จะเป็นตัวบ่งบอกจำนวนเงินเบี้ยประกันที่คนซื้อประกันต้องจ่าย. แน่นอน แต่ละคนจ่ายไม่เท่ากัน เพราะแต่ละคนมีความเสี่ยงในอุบัติเหตุต่างกัน. สถิติ(อีกเข่นกัน)ที่บอกว่า นักคำนวณกลุ่มนี้ (Actuary) มีเงินเดือนสูงมาก เป็นที่ต้องการของธุรกรรมทุกแขนง มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 7,000 ยูโรต่อเดือน(ในฝรั่งเศส). ผู้ที่ไปเข้าฟังวันนั้นบอกลินดาว่า การวิเคราะห์คำนวณความเสี่ยงประเภทต่างๆจากเหตุการณ์อันหลากหลายในชีวิตคนนั้น เป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง จึงอยากทำงานด้านนี้.
      การโฆษณาที่โยงไปถึงเรื่องเคลมเบี้ยประกันเดินทางหรืออุบัติเหตุ ได้สร้างความเชื่อผิดๆ จนถึงกับเจตนาฆ่าตัวตายด้วยความหวังว่าการตายของเขาจะช่วยให้ครอบครัวได้เงินสินไหมไปดำรงชีพ  หากเชื่อตามการสืบสวนของผู้สื่อข่าวลินดา ที่ได้สรุปวิธีการตีราคาผู้ประสบอุบัติเหตุของบริษัทประกันภัยดังกล่าวมาข้างต้นนี้แล้ว จะเห็นว่าน้อยมาก. ความอยากได้เบี้ยประกันได้เป็นเนื้อหาของดราม่าทั้งบนเวทีละคร ในจอเล็กและจอภาพยนต์อเมริกันหลายเรื่องมาแล้ว.     
     การคำนวณค่าของชีวิตคนมิได้จำกัดอบู่ในวงการประกันภัยเท่านั้น รัฐบาลแต่ละประเทศก็ทำเช่นกัน. ตัวอย่างที่ผู้สื่อข่าวลินดานำมาเสนอต่อ คือการคิดคำนวณของรัฐบาลฝรั่งเศสเกี่ยวกับอุบัติเหตุบนท้องถนน. สิบห้าปีมาแล้วที่รัฐบาลฝรั่งเศสได้ขอให้สถาบัน CNRS (Centre national de la recherché scientifique) ทำวิจัยเรื่องราคาของชีวิตคน. กระบวนการวิเคราะห์วิจัยแตกต่างไปจากแนวของนักสถิติในเครือประกันภัย. นักเศรษฐศาสตร์ Olivier Chanel ผู้อำนวยการของสถาบัน CNRS ได้จัดรวมแบบสอบถามอย่างละเอียดยิบห้าสิบกว่าคำถามเกี่ยวกับวิถีการดำรงชีวิต, ความชอบไม่ชอบต่างๆ, ความเชื่อในลัทธิศาสนาฯลฯ สถาบันรวบรวมคำตอบจากชาวฝรั่งเศสร้อยๆคนมาแล้วในแต่ละปี ตลอดระยะเวลา ๑๕ ปีที่ผ่านมา. แบบสอบถามมีส่วนที่เกี่ยวกับการเข้าไปอยู่ในเมืองตัวอย่างสองเมือง เมืองแรกเป็นเมืองสงบมีอุบัติเหตุน้อย อีกเมืองหนึ่งเป็นเมืองที่มีสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงเป็นสองเท่า. คำถามคือ ผู้ตอบยินยอมเสียเงินเพิ่มเดือนละเท่าใดเพื่อไปอาศัยอยู่ในเมืองแรกที่สงบกว่า. ผู้ทำวิจัยนำผลการสำรวจมาวิพากษ์วิจักษ์ ถอดคำตอบเป็นตัวเลข จนเป็นตัวเลขราคาชีวิตที่ประเมินจากการตอบของแต่ละคน. ตัวเลขที่ออกมา เป็นข้อมูลสำหรับรัฐในการกำหนดราคาชีวิตคนของประเทศ. นอกจากข้อมูลที่เกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของแต่ละคน ยังมีประเด็นทางการเมืองเป็นตัวแปรด้วย. ชาวฝรั่งเศสยินยอมจ่ายเพื่อความปลอดภัย โดยเฉพาะหากรู้ว่ารัฐจะเข้าช่วยด้วยการจัดสวัสดิการเสริมให้. ผลสรุปจากแบบสอบถามนี้ ชาวฝรั่งเศสตีราคาชีวิตอยู่ในวงเงิน 1-4 ล้านยูโรต่อคน. ผู้สื่อข่าวลินดาก็ได้เข้าไปร่วมแบบทดสอบนี้ และผลจากการวิเคราะห์ของสถาบันฯ ระบุว่าเธอตีราคาชีวิตคนสูงถึง 75 ล้านยูโร. ยิ่งทำให้เธอสงสัยว่า ทำไมค่าของชีวิตที่เธอคิดจึงต่างกับค่าของชีวิตของผู้เข้าทดสอบคนอื่นๆมากถึงเพียงนั้น. ผู้อำนวยการตอบเธอว่า ส่วนของสมองที่บริหารอารมณ์และความรู้สึกเข้าไปตัดวงจรส่วนของสมองที่ทำหน้าที่ตัดสินใจ. เพราะเมื่ออารมณ์ความรู้สึกเข้าครอบงำ ทำให้สมองตัดสินใจอะไรที่เกินสัดส่วนไปมาก. ผู้สื่อข่าวลินดาสารภาพว่า อาจเพราะเธอเคยสูญเสียคนใกล้ชิดไปในอุบัติเหตุ. ตามหลักการ รัฐไม่อาจเอาประเด็นอารมณ์ความรู้สึกของคนเข้าเป็นตัวแปรในการพิจารณาราคาของชีวิตคนได้. ในที่สุดตัวเลขที่สถาบัน CNRS เสนอให้แก่รัฐ คือ สามล้านยูโร. ตัวเลขนี้ได้กลายเป็นกฎหรือบรรทัดฐานของประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 2013 ในเรื่องการช่วยชีวิตคนฝรั่งเศสหนึ่งคน ว่าต้องอยู่ภายในวงเงินนี้เท่านั้น. ผู้ที่กำหนดตัวเลขนี้คือ Emile Guinet [เอมีล กีเน] ข้าราชการชั้นสูง ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องค่าของชีวิตคน. เขาเป็นที่รู้จักกันในระดับโลกเลยทีเดียว.
      รัฐมีความจำเป็นอะไรหรือที่ต้องกำหนดราคาชีวิตคน?  มันออกจะโหดร้ายและทำร้ายจิตใจกันมาก.  การตีราคาคนเป็นมูลค่า เหมือนการกำหนดราคาผงซักฟอก ทุกคนรับได้หรือ? Emile Guinet บอกว่านั่นเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ใช้กันทั่วโลก วิธีนี้ไม่ผิดไปจากการทำวิจัยการตลาด มีกฎเกณฑ์เป็นที่ยอมรับและใช้ได้กับทุกกรณีอย่างเสมอหน้ากัน ไม่มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง เป็นวิถีประชาธิปไตยที่สุดแล้ว เมื่อเทียบกับวิธีการของบริษัทประกันภัยดังได้กล่าวมาตั้งแต่ต้นบทความนี้. ดังนั้นทุกวันนี้ ประเทศฝรั่งเศส ยึดตัวเลขสามล้านยูโร เป็นตัวกำหนดนโยบายในการบริหารจัดการเพื่อความปลอดภัยของพลเมืองบนท้องถนน. เช่นการพิจารณาอนุมัติการก่อสร้างใดเพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุ ควบคู่กับสถิติผู้ตายกี่คนในหนึ่งปีหรือในห้าปีตรงพื้นที่ที่จะปรับปรุงเป็นต้น ตัวเลขสามล้านยูโรจักเป็นตัวกำหนดและตัดสินว่า รัฐจะลงทุนเท่าใดเพื่อลดอุบัติเหตุในแต่ละกรณี. แน่นอนเมื่อประหยัดได้ก็ประหยัด เช่นหากต้องเลือกติดตั้งไฟจราจรตรงทางแยกที่มีผู้เสียชีวิตหนึ่งรายตรงนั้นในห้าปี ราคาการจัดทำระบบไฟจราจรที่เป็นล้านยูโร กับการปักเสาเตือนให้ลดความเร็วเหลือ 70 กม. ต่อชั่วโมงที่เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการติดตั้งไฟจราจร ๑๒ เท่า รัฐย่อมเลือกจัดการประการหลัง.         
ค่าของชีวิต
       หลังจากติดตามสารคดีชุดนี้ ได้หลุดเข้าไปในอาณาจักรที่เยือกเย็นและเย็นชาของตัวเลข. ผู้ตายแต่ละคน คือตัวเลขที่นำมาบวกลบคูณหารกัน จนเหลือเป็นตัวเลขสุดท้าย. คนยึดอาชีพนี้เป็นคนอย่างไรนะ? เขาน่าจะเหมือนหุ่นยนต์ประจำหน้าเครื่องคำนวณ ปฏิบัติตามโปรแกรมที่เจ้านายป้อนข้อมูลให้. เขาเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากหุ่นยนต์ที่ไม่มีอารมณ์ความรู้สึก มีแต่ data ที่เขามีหน้าที่ต้องแปรเปลี่ยนให้เป็นตัวเลข. มาถึงจุดนี้ ข้าพเจ้าสงสารคนที่มีอาชีพในธุรกิจประกันภัย. เขาอาจกำลังสูญเสียความเป็นคนที่มีเลือดเนื้อจิตใจลงไปทุกวันๆ.
      อันที่จริง สังคมมนุษย์ได้ตีราคาคนมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ราคาคนคือมูลค่าของทรัพย์สินเงินทองที่เขามี หรือของศักยภาพที่เอื้อต่อการสร้างทรัพย์สินเงินทอง เช่นมีสุขภาพดีพอทำงานหาเงินได้ ทำไร่ไถนาได้ไหม มีฝีมือด้านใดด้านหนึ่งไหมที่สามารถแปลงให้เกิดพลังสร้างสรรค์วัตถุทำเงินต่อไป เช่นฝีมือด้านเย็บปักถักร้อย ฝีมือปั้น ฝีมือปรุงอาหาร ความชำนาญพิเศษด้านใดด้านหนึ่ง. เรามองมูลค่าของชีวิตคนมากกว่าค่าของชีวิตคน. คนจำนวนมากตัดสินคนที่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย รถยนต์ที่เขาใช้  นาฬิกายี่ห้ออะไร ไปเที่ยวที่ไหน กินอาหารร้านไหน มือถือรุ่นไหนฯลฯ. หลายคนมีแนวโน้มหรือพร้อมจะไว้ใจคนที่หน้าตาดี แต่งตัวดีเป็นต้น เช่นนี้เองที่ทำให้ผลิตภัณฑ์เสริมแต่งรูปร่างหน้าตาให้ ดูดี จึงขายดิบขายดี แม้ว่าราคาจะแพงมากเท่าใดก็ตาม. เราเป็นคนลดค่าของเราเอง ด้วยการไปพัฒนาความฉาบฉวย.
      ข้าพเจ้าบอกกับตัวเองว่า ข้าพเจ้าผู้สูงวัย ไม่มีครอบครัว ไม่มีลูก ไม่มีงาน ไม่มีรายได้ใดๆ หากประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต บริษัทประกันจะตีราคาข้าพเจ้ากี่บาท พอเป็นค่าทำฌาปนกิจไหม?  ข้าพเจ้ายังมีค่าอะไรไหม?  ช่างเป็นความจริงที่หฤโหด สลดหดหู่ใจที่ต้องรับรู้และเตรียมรับมือ. ข้าพเจ้านึกเห็นกองกระดูกของข้าพเจ้าหลังตาย ปลิวว่อนหายไปในกองเพลิง หรือจมลงก้นแม่น้ำเจ้าพระยา กลายเป็นดินเป็นทรายไปในอีกล้านปีข้างหน้า. Soit! Let it be!
    ในบริบทชีวิตส่วนตัว ครอบครัวมีวิถีชีวิตตามขนบธรรมเนียมพุทธแบบหลวมๆ (ไม่ถึงกับไปวัดทำบุญฟังเทศน์ทุกสัปดาห์หรือทุกเดือน) และยึดขนบธรรมเนียมจีนในการบูชาบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว.  ข้าพเจ้าเองยังได้รู้เห็นขนบธรรมเนียมคาทอลิกจากการศึกษาที่โรงเรียนเซ็นโยเซฟคอนแวนต์ และยิ่งคุ้นเคยกับคัมภีร์ไบเบิล ตำนานนักบุญและคริสต์ศิลป์มากขึ้นอีกตลอดระยะเวลาอันยาวนานในยุโรป ที่ได้ดลใจให้ข้าพเจ้าเขียนหนังสือเรื่อง << เข้าใจโบสถ์ฝรั่ง ศาสนาศิลป์ยุคกลางในยุโรป >> (สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์). ข้าพเจ้ายังสนใจสถาปัตยกรรมอาหรับที่สะท้อนอุดมการณ์ของอิสลาม. เช่นนี้จึงพอกล่าวได้ว่า ชีวิตจิตใจวนเวียนอยู่ในคำสอนของแนวโน้มเหล่านี้ ที่มีหลักศลธรรมพื้นฐานไม่ต่างไปจากศีลห้าของพุทธศาสนานัก(แม้จะมีรายละเอียดต่างกันและมีวิธี บังคับใช้ต่างกัน). ทั้งหมดรวมกันเป็นพื้นฐานหลวมๆในความเป็นคนของข้าพเจ้า ยิ่งมีอาชีพเป็นครูมาตลอดชีวิต จึงออกจะหลงตัวว่า เป็นคนดีมีค่าพอสมควร.
      แต่การตระหนักถึงค่าของชีวิตที่แท้จริงนั้น มิใช่อยู่ที่การเพ่งดูและสำรวจความดีความไม่ดีของตนเองเท่านั้น แต่ต้องมองลึกมองกว้างมองครอบจักรวาลไปถึงสรรพชีวิตด้วย  ต้องมองชีวิตในทุกรูปแบบ หลายชีวิตที่สังคมไม่อาจตีราคาเป็นตัวเลขเป็นเงิน หรือไม่มีสำนึกในค่าของมันเลย.  
     สิบกว่าปีก่อน ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าไปเดินชมอุทยานแห่งหนึ่งในเยอรมนี (Schwetzingen Schlossgarten) เดินทั้งวันในอุทยานอันกว้างขวางนั้น อยู่ๆฝนตกห่าใหญ่ อุณหภูมิลดลงทันใด จนรู้สึกหนาว ข้าพเจ้าไม่มีร่มติดตัวไปด้วย วิ่งไปยืนใต้ต้นไม้ต้นใหญ่ต้นหนึ่ง ยืนถูมือไปมาเพราะหนาว เหลือบดูต้นไม้ต้นนั้น ลำต้นเกลี้ยงๆสีเขียวอ่อนๆ (เป็นต้น beech) เห็นรอยบุ๋มลงเป็นวงเล็กๆตรงลำต้นเหนือศีรษะข้าพเจ้า เดาได้ว่ากิ่งตรงนั้นถูกตัดออกไป จึงเป็นรอยบุ๋มลง ทำให้เปลือกหุ้มตรงนั้นบางกว่าลำต้นตั้งตรงส่วนอื่นๆ อดไม่ได้เอามือวางลงไปในบุ๋มนั้น พูดพึมพำว่า ขอแตะหน่อยนะ บริเวณนั้นอุ่นๆ และไม่เพียงแต่อุ่น มีการเคลื่อนไหวอยู่ภายใน ข้าพเจ้าสะดุ้งสุดตัวเหมือนไปแตะที่ข้อมือคนแล้วรู้สึกถึงการเต้นของหัวใจ. ข้าพเจ้าแหงนมองต้นไม้นั้น รู้สึกเป็นครั้งแรกในชีวิตว่า นั่นคือสิ่งมีชีวิต ชัดเจนไม่มีข้อสงสัย. เราพูดติดปากว่าต้นไม้มีชีวิต เห็นกิ่งก้านสาขา,ใบไม้ดอกไม้ แต่การได้สัมผัส ชีพจรต้นไม้อย่างนั้น เป็นสิ่งที่คิดไม่ถึงจริงๆ.
      วันนั้นข้าพเจ้าได้สัมผัสเลือดเนื้อและสัญชาติญาณของต้นไม้ รู้สึกถึงชีวิตที่อยู่ภายในลำต้นนั้น การสูบฉีดภายในท่อน้ำเลี้ยงไม่ผิดไปจากการทำงานภายในเส้นโลหิตของคน. ข้าพเจ้าชะงัก เอามือออก แล้ววางมือลงไปใหม่ คราวนี้พูดว่า ขออุ่นมือหน่อยนะ และยืนนิ่ง จับชีพจรของต้นไม้นั้นต่อด้วยความรู้สึกมหัศจรรย์และปิติ. ข้าพเจ้าไม่มีวันลืมประสบการณ์วันนั้น วันที่ข้าพเจ้าได้สัมผัสชีวิตชีวิตที่กำลังต่อสู้เพื่อปกปักรักษาตัวเอง. ข้าพเจ้าเชื่อว่า อากาศที่หนาวลงฉับพลัน ทำให้ระบบการหมุนเวียนน้ำในลำต้นตื่นตัว รากรีบส่งน้ำขึ้นมาตามลำต้น ส่งไปยังกิ่งก้านและใบทั้งต้น เพื่อช่วยลดความหนาวของทั้งต้น เป็นปฏิกิริยาตอบโต้กับธรรมชาติภายนอกเพื่ออนุรักษ์ตัวเองไว้. เพราะหากไม่มีการหมุนเวียนของน้ำภายในลำต้น ปลายกิ่งเล็กๆและใบไม้อาจแข็งตัวได้และหลุดร่วงลง (ข้าพเจ้านึกไปถึงฤดูหนาวในเกาหลี ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป เมื่ออุณหภูมิลดลงไปเรื่อยๆ ยิ่งติดลบมากเท่าใด น้ำในท่อน้ำก็แข็งตัวเร็วขึ้นเท่านั้น ทำให้ไม่มีน้ำใช้ เมื่อนั้นแม้เปิดก๊อกทิ้งไว้ทั้งวันทั้งคืน น้ำก็ไม่ไหลออกมา เพราะมันแข็งอยู่ภายในท่อหมดแล้ว พอเข้าหน้าหนาว เขาจึงต้องเปิดน้ำก๊อกให้ไหลตลอดเวลา เสียน้ำไปมาก หรือจะทำทางให้มันไหลไปรวมไว้ในสระหรือในโอ่งน้ำ แต่หากน้ำนิ่งอยู่ในสระในโอ่ง มันก็แข็งตัวเช่นกัน). สำหรับข้าพเจ้าประสบการณ์วันนั้น เปลี่ยนวิธีการมองธรรมชาติ เปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับต้นไม้ไปโดยสิ้นเชิง และที่สำคัญที่สุด ได้เปลี่ยนจิตสำนึกเกี่ยวกับชีวิต.
       ข้าพเจ้าย้อนไปนึกถึงอารยธรรมของชนเผ่าดรูอิด (Druids) และชนชาวเคลต์ (Celts) ที่เคารพสักการะต้นไม้. ข้าพเจ้าเข้าใจแล้วว่านั่นมิใช่เรื่องงมงาย พวกเขามีความรู้เกี่ยวกับต้นไม้อย่างละเอียด แทบจะพูดได้ว่าเข้าถึงจิตวิญญาณของต้นไม้ พวกเขามีปฏิทินต้นไม้ อักษรในภาษาของพวกเขาก็มาจากชื่อต้นไม้ (i.e. Ogham). ต้นไม้จำนวนมากมีชีวิตยืนนานมากกว่าคน ต้นไม้เหล่านั้นได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของโลก ดินฟ้าอากาศ การหมุนเวียนของดวงดาวที่โคจรมาอยู่บนเส้นตรงเดียวกัน.  ปรากฏการณ์ต่างๆได้ประทับไว้ในแกนไม้ของมัน. ช่างน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก. คนได้เริ่มแกะรอยหาความรู้และความลับของการเปลี่ยนแปลงของโลกจากต้นไม้สูงวัยทั้งหลายที่ยังเหลืออยู่บนโลก. พวกมันเป็นความมหัศจรรย์ของชีวิต เป็นพยานของมนุษยชาติและเป็นมรดกล้ำค่าของโลก. เดี๋ยวนี้ เมื่อข้าพเจ้านึกถึงชีวิต คิดถึงค่าของชีวิต ข้าพเจ้าคิดถึงต้นไม้ใหญ่ๆที่มีชีวิตยืนยาวเป็นร้อยถึงหลายร้อยปี. ช่างเป็นชีวิตที่มหัศจรรย์จริงๆ.

      ข้าพเจ้ามีโอกาสติดตามฟังการบรรยายของท่านอาจารย์ดร. ประมวล เพ็งจันทร์ ที่เล่าประสบการณ์การเดินสู่อิสรภาพ เดินเพื่อค้นหาตนเอง พิจารณาชีวิตตามความเป็นจริง ยอมรับทุกสิ่งที่พบ ที่เกิดขึ้นด้วยจิตที่ผ่องใสเบิกบาน ไร้อคติใดๆ ทั้งยังถือว่าประสบการณ์อดข้าว อดน้ำ อ่อนละโหยโรยแรงของกายที่กำลังจะแตกดับหลายครั้งที่ท่านเผชิญบนเส้นทางเดินทั้งภายในประเทศไทย อินเดีย เนปาล ถึงเขาไกรลาส เป็นบุญวาสนายิ่งที่ทำให้ท่านได้เรียนรู้คุณค่า ได้สัมผัสความมหัศจรรย์แบบต่างๆของทุกชีวิต ในสังคมและในธรรมชาติ. เส้นทางเดินทั้งหมดของท่าน ยังลำบากสาหัสน้อยกว่าเส้นทางภายในจิตสำนึกและจิตวิญญาณของท่าน เมื่อต้องกระเทาะวิเคราะห์ทุกอารมณ์ความรู้สึก เข้าไปในหลืบความคิดทั้งสิ้นทั้งปวงที่ปราชญ์อย่างท่านสั่งสมมาตลอดชีวิตทั้งในสมณเพศและในฆราวาสกับในฐานะอาจารย์สอนวิชาปรัชญาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ท่านผ่านเส้นทางภายใน ออกจากเขาวงกตของขันธ์ทั้งหลาย สู่ความบริสุทธิ์โปร่งเบาของเด็กน้อยเมื่อท่านไปยืนอยู่บนจุดสูงสุดของเขาไกรลาสและมองดูโลกที่อยู่เบื้องล่างด้วยความปิติยินดียิ่ง. ท่านใช้ประสบการณ์ที่ได้มาด้วยชีวิต เลือดเนื้อและวิญญาณ ให้เป็นสื่อการเรียนการสอน เพื่อกระตุ้นสมณะภาวะให้เกิดแก่ทั้งฆราวาสและภิกษุสามเณร. การบรรยายของท่านทุกเรื่องได้เจาะทะลุจิตวิญญาณของข้าพเจ้า. อยากเข้าไปกราบท่าน เหมือนได้พบ ครูที่เมตตาเปิดหนังสือมีค่าเล่มที่ท่านหวงแหนให้ข้าพเจ้าได้สัมผัสด้วยตากับหัวใจ. การได้ฟังท่านเป็นการค้นพบตัวตนของข้าพเจ้าด้วย ข้าพเจ้ารู้สึกในบัดดลว่า ฃ้าพเจ้าพร้อมจะเรียนธรรม เรียนชีวิตตามรอยท่าน. หูได้ยินคำพูดของท่านแว่วมาว่า  เมื่อศิษย์พร้อม ครูก็ปรากฏ .
      ข้าพเจ้ายกตัวอย่างเรื่องที่ดูเหมือนเล็กน้อย แต่มีความหมายสำหรับข้าพเจ้ามาเขียนไว้ณที่นี้ เขียนจากความทรงจำและความประทับใจที่ได้ฟังคำบรรยายของท่าน. เช่นตอนที่ท่านมองดูไส้เดือนบนพื้นดินในป่า ไส้เดือนดิ้นไปมา มีมดฝูงใหญ่เข้ารุมทึ้งกินเป็นอาหาร. แว็บหนึ่งที่ความเป็นคนดีไม่เคยเบียดเบียนใคร ทำให้ท่านคิดช่วยชีวิตไส้เดือน แต่แว็บต่อมาท่านเกิดความรู้สึกว่า ไส้เดือนคงรู้เวลาตาย รู้สังขารตนเองแล้ว จึงโผล่ขึ้นบนดินมอบกายเป็นอาหารให้แก่ชีวิตอื่นต่อไป. ท่านยืนมองภาพนั้นด้วยความตื้นตัน รู้สำนึกในความเอื้อเฟื้อของธรรมชาติที่มีต่อสรรพชีวิต หาได้รู้สึกเวทนาสังเวชใจไม่. ท่านได้หลุดออกจากกรอบของชีวิตคนที่มักเกี่ยวข้องวนเวียนอยู่ในการแก่งแย่ง ต่อสู้ ป้องกันและขจัดคู่แข่งไปได้อย่างสงบและเจาะลึกไปถึงความงามของแต่ละชีวิตในแต่ละบริบทของมัน.
      อีกตัวอย่างหนึ่งจากภูเขาไกรลาส เมื่อท่านได้เห็นญาติโยมของผู้ตายทำพิธีสวดศพส่งวิญญาณ แล้วแล่เนื้อหนังมังสาของผู้ตาย โยนให้เป็นอาหารของนกแร้งหรือของสัตว์อื่นไป ในทำนองเดียวกับที่ชาวอินเดียแดงนำศพผู้ตายไปผูกไว้กับต้นไม้ ให้เป็นอาหารของชีวิตอื่น. พิธีที่ท่านเคยนึกประณามว่าโหดเหี้ยมทารุณนั้น เมื่อท่านได้เห็นพิธีนั้นตรงหน้า ได้เห็นความสงบสำรวมในกิริยาท่าทีของครอบครัวผู้ตาย ไม่มีอคติใดในใจ ท่านกลับสัมผัสเหตุการณ์ด้วยจิตสำนึกที่อ่อนโยนและคารวะขนบธรรมเนียมของชนชาวภูเขาสูง ขนบธรรมเนียมของชุมชนที่สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศและการธำรงชีวิตที่ทุกอย่างต้องเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันเพื่อให้ห่วงโซ่ชีวิตไม่ขาดตอน. ทั้งคน สัตว์ พืช ต่างเป็นห่วงที่เกี่ยวกันไปในวงจรชีวิต ที่จะตัดออกหรือให้มันเสียเปล่าไม่ได้. และนั่นเป็นความงามของชีวิตที่ท่านได้สัมผัสและถ่ายทอดให้เป็นอุทาหรณ์ ว่าค่าของชีวิตอยู่ที่การเป็นผู้รับและผู้ให้. เราต้องมองดูด้วยใจเปิดกว้างบริสุทธิ์ ไม่เอาความคิดความเห็นเราเข้าไปตัดสินวิถีชีวิตของคนอื่น.

      ข้าพเจ้ารู้จักหลายคนที่อุทิศตน ทรัพย์และเวลาเพื่อเลี้ยงดูให้อาหารสุนัขและแมวจรจัด ทั้งที่ผอมโซและที่เป็นโรคในเขตที่พวกเขาอยู่. สัตว์สี่เท้าเหล่านี้ไม่มีค่าใดๆเลยในสายตาของคนส่วนใหญ่ คนส่วนใหญ่เบนสายตาไม่อยากมอง เพราะมันสะกิดจิตสำนึกเกินไป. สังคมหรือรัฐไม่มีวิธีช่วยเหลือใดๆได้หรือ? คนใจบุญที่ช่วยพวกสัตว์สี่ขาเหล่านี้ทำไปเพื่ออะไร พวกเขาไม่ได้อะไรเลยนอกจากความอิ่มใจที่ได้ทำเพื่อชีวิตเล็กๆที่ไม่มีทางไปไม่มีทางรอด. พวกเขาเป็นแม่พระ ความเมตตากรุณาต่อชีวิตสัตว์อื่น ไม่ผิดไปจากความมุ่งมั่นช่วยเหลือผู้ยากจน คนเจ็บคนป่วยคนใกล้ตายในอินเดีย ที่ Mother Teresa ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ เพียงเพื่อให้คนเหล่านั้นตายดีเยี่ยงคนมิใช่เยี่ยงหมาข้างถนน  ท่านต้องการคืนศักดิ์ศรีของความเป็นคนให้แก่เขาแม้เพียงในระยะเวลาสั้นๆก่อนสิ้นใจ. การทำงานที่อุทิศตนของคณะแม่ชี Mother Teresa ได้ตอกย้ำให้สังคมเห็นค่าของความเป็นคน ค่าของชีวิตแต่ละชีวิต ให้สังคมได้สัมผัสความงามของคุณธรรมและกระชับจิตสำนึกของความเคารพมนุษย์ด้วยกัน ด้วยการช่วยเหลือเอื้อเฟื้อคนขอทาน คนยากไร้ คนป่วยคนเจ็บที่ถูกทอดทิ้ง ให้คนเหล่านี้ได้สัมผัสศักดิ์ศรีของความเป็นคน แม้เพียงครั้งเดียวครั้งแรกและครั้งสุดท้ายในชีวิตของพวกเขาก็ตาม.  
      ค่าของชีวิตสำหรับทหารคนหนึ่งที่ฝ่าอันตรายไปอุ้มทารกออกมาจากพื้นที่เสี่ยงภัย พอพ้นออกมาในที่ปลอดภัย เขาร้องไห้กอดทารกไว้ในอก ชีวิตนั้นมีค่าเท่าชีวิตเขาเอง. เราได้เห็นภาพเช่นนี้หลายครั้ง ที่กระเทือนจิตสำนึกที่สุด เมื่อคนๆหนึ่งเสี่ยงชีวิตตนเองไปช่วยชีวิตของอีกคนหนึ่งที่เขาไม่รู้จัก เขาอาจทำตามหน้าที่(เพราะเป็นอาชีพที่เขาเลือก) แต่ด้วยจิตวิญญาณที่รู้ค่าของชีวิตที่เขาเข้าไปช่วย เขาไม่เสียเวลาสงสัยหรือตั้งคำถามว่าชีวิตนั้นมีค่าควรแก่การสละชีวิตของเขาเองไหม.

      ตัวอย่างเหล่านี้ แย้งกับความรู้สึกเยือกเย็นเสียวสันหลังเมื่อเข้าไปรู้จักกลไกของธุรกิจประกันภัยและมาตรการของรัฐ. ความสิ้นหวังที่มากับกระแสวัตถุนิยมสุดโต่งของยุคนี้. โชคอนันต์ที่ไม่ว่าจะมีกฎเข้มงวดจนถึงไร้ศีลธรรมเพียงใดในยุคใด ไม่ว่าสังคมจะตกอยู่ในสภาพเลวร้ายเพียงใดดังที่จารึกไว้ในประวัติศาสตร์โลก ยังมีคนที่ต่อสู้เพื่อยกระดับค่าของชีวิตเหนือการตีราคาเป็นเงินเป็นตัวเลข มีคนที่เห็นค่าของความรู้สึกค่าของจิตสำนึก ยังมีคนที่เปี่ยมด้วยน้ำใจที่พร้อมจะยื่นมือเข้าช่วยผู้โชคร้ายกว่าเขา. คุณสมบัติดีๆเหล่านี้สว่างเจิดจ้าดั่งผลึกปริซึมสีรุ้งเรืองรองบนท้องฟ้า. คนพัฒนาคุณธรรมขึ้นในใจได้อย่างไรในสังคมที่ตีตราชีวิตคนเป็นมูลค่า? ตรงนี้เองที่ศาสนาเข้ามาถ่วงดุลอำนาจของกระแสวัตถุนิยม.

     ในบริบทของข้าพเจ้า ของคนไทย มรดกพุทธธรรมที่บรรพบุรุษได้สืบทอดต่อมาและที่ได้กลายเป็นยีน (gene) ในโครโมโซมของคนไทยชาวพุทธบนแผ่นดินสยาม ฝังรากหยั่งลึกมานานกว่ากระแสวัตถุนิยมและทำให้เราตระหนักว่า ชีวิตมีค่ามากกว่าตัวเลขหรือราคาที่สังคมตั้งไว้.  พระอริยสงฆ์ทั้งหลายต่างยืนยันว่า การเกิดเป็นคนเป็นสิ่งประเสริฐสุด เพราะคนมีสมองที่พัฒนาเหนือกว่าสรรพชีวิตอื่นหลายพันหลายหมื่นเท่า คนจึงเรียนได้ ฝึกได้และเลือกทางชีวิตของตนเองได้และมิได้ใช้ชีวิตตามสัญชาตญาณเท่านั้น. ชีวิตคนจึงมีค่าสูงมาก. พระอริยสงฆ์ทั้งหลายได้วางแนวทางไปสู่การเข้าใจแก่นพุทธศาสนา(อริยสัจสี่) รวมทั้งได้พาพุทธศาสนิกปฏิบัติธรรม ด้วยการทำสมาธิ ฝึกสติจนเกิดปัญญารู้แจ้งตามความเป็นจริงของชีวิตและของโลก. ผู้ปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว ย่อมบรรลุความสุขที่แท้จริง เป็นความสุขที่ประณีตและอิสระ ไม่ขึ้นต่อวัตถุภายนอก เมื่อเป็นเช่นนี้กระแสวัตถุนิยมก็มิอาจลดค่าของชีวิตเราได้. ยิ่งกว่านั้น แนวทางการปฏิบัติของพุทธศาสนิกเช่นนี้ ยังเป็นการสั่งสมบุญบารมีที่จักเป็นเหตุปัจจัยพาให้พุทธศาสนิกมีความสุขในภพภูมิสูงๆขึ้นไปชีวิตหน้าอีกด้วย. พระท่านจึงเน้นว่าการได้เกิดมาเป็นพุทธศาสนิก ได้มีโอกาสเข้าถึงพุทธธรรมนั้น << เป็นบุญสูงสุด เพราะสมเด็จพระบรมศาสดาทรงไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน>> (cf. สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังขฆปริณายก ในหนังสือ แสงส่องใจ). เมื่อเทียบกับปรัชญาหรือลัทธิศาสนาอื่น ที่อาจสรุปสั้นๆได้ว่า ทุกศาสนาหยุดลงที่ความตายของชีวิตปัจจุบัน ผู้ตายเข้าสู่โลกของพระเจ้าหรือลงนรกไปตามกรรมดีกรรมชั่วที่ได้ทำมาในชีวิตนี้ บนโลกนี้ อย่างเฉพาะเจาะจงเท่านั้น. สั้นๆคือทุกอย่างจบลงตรงชีวิตนี้. ส่วนพุทธธรรมเป็นสัจธรรมที่ไม่มีเงื่อนไขของกาลเวลา(อกาลิโก) พิสูจน์ได้ตลอดเวลาและมีผลส่งต่อไปในชีวิตหน้า เป็นสัจธรรมที่ปฏิบัติได้จริง และเมื่อปฏิบัติแล้ว ก็รู้ได้ด้วยตัวเอง(ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิติ  มีผู้เทียบว่า เหมือนฟังคนอื่นอธิบายถึงอาหารจานหนึ่งโดยไม่มีโอกาสลิ้มรสอาหารนั้น มันก็ไม่ได้ความรู้ที่แท้จริงหรือไม่อาจรู้ชัดเจนสิ้นสงสัยเหมือนการได้ชิมรสอาหารนั้นเลย. พระธรรมเป็นเช่นนั้น แต่ละคนสามารถเข้าไปลิ้มรสได้เองโดยตรง). ดูเหมือนว่าไม่มีศาสนาใดที่เปิดโอกาสให้ศาสนิกยกระดับตนเองขึ้นเทียบศาสดาได้ ในขณะที่ พุทธะ อยู่ในใจทุกคน และทุกคนก็สามารถบรรลุพระอรหันต์ได้.
       ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก โรคร้ายที่รุกเร้าบั่นทอนสุขภาพของคนยุคนี้มากที่สุด มิใช่โรคมะเร็งหรือโรคเอดส์ แต่เป็นโรคเครียดที่มากับความเจริญด้านเทคโนโลยี. ตัวอย่างในสหรัฐฯ โรคนี้รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และการเยียวยารักษาก็ไม่เป็นผล จนเมื่อมีการริเริ่มเอาการบำบัดจิตแบบการเจริญสติวิถีพุทธเข้าไปช่วย (Mindfulness-based Cognitive Therapy) ทำให้ผู้ป่วยดีขึ้นๆ โรคภัยต่างๆที่เคยคุกคามเขาก็อ่อนตัวลงจนหายขาดได้. วงการแพทย์จึงตื่นตัวและสนใจศึกษาวิเคราะห์พุทธศาสนากันอย่างจริงจัง เข้าจับประเด็นของจิตใจ (mind) ที่นำไปสู่การฝึกสติสัมปชัญญะ (mindful awareness) ตามทำนองสโลแกนสั้นๆว่า < change your mind, change your brain>.  ปัจจุบันมหาวิทยาลัยตะวันตก ผนวกวิชาพุทธศาสตร์ศึกษาเข้าไปในหลักสูตรแพทย์ จิตวิทยา ปรัชญา ศาสนาเป็นต้น. แม้ในมหาวิทยาลัยคริสตัง การเรียนให้เข้าใจแก่นพระพุทธศาสนาและหลักปฏิบัติธรรม แนวพุทธก็เป็นวิชาบังคับ. วิธีการพัฒนาสติและสมาธิ ถูกนำเข้าไปใช้ในโรงเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลเลยทีเดียว. (cf. บทสัมภาษณ์พระศากยวงศ์วิสุทธิ์เกี่ยวกับประสบการณ์การเรียนการสอนของท่านในสหราชอาณาจักรและในสหรัฐอเมริกา. มติชนฉบับวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๖๐). มาถึงจุดนี้ หากข้าพเจ้ายังไม่สนใจการเจริญสติ ก็คงไม่ผิดไปจากไก่พบพลอย หรือมีเพชรในมือแต่ไม่รู้ค่า มัวไปเก็บลูกหินหลากสี.
      <<ชีวิตนี้สั้นนัก แต่มีค่ายิ่งนัก>> ข้าพเจ้าจักมุ่งการเสริมคุณค่าแก่ชีวิตที่เหลือของข้าพเจ้า คุณค่าที่เวลามิอาจทำลาย คุณค่าที่จักติดตัวข้าพเจ้าต่อไปเรื่อยๆไม่มีวันสิ้นสุด แทนการติดอยู่ในกับดักของราคาร่างกายที่สังคมกำหนดขึ้นในชีวิตนี้.
บันทึกข้อคิดคำนึงของ โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ ณ วันที่ ๓ มกราคม ๒๕๖๐.
เนื่องในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ปัจฉิมลิขิต >> อาจารย์ดร. ประมวล เพ็งจันทร์ ผู้ใช้กายกระเทาะจิต และจิตบรรลุธรรม นำประสบการณ์เป็นสื่อการเรียนการสอน ชนิดถึงอณูเซลล์ของสรรพชีวิต.
สำหรับผู้ที่ไม่เคยรู้จักอาจารย์ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ คลิปนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และมีคลิปอื่นๆเปิดต่อไปได้
https://www.youtube.com/watch?v=QkullC1zA6k 
โชติรสขอกราบคารวะท่าน สำหรับข้าพเจ้า ท่านเป็นสุดยอดคนไทยคนหนึ่งและตัวอย่างสุดยอดของปราชญ์ด้วย.

No comments:

Post a Comment