Saturday 31 December 2016

ส่งความสุข ส่งความเหนียว Stick-to-it-ive

ต้นปีใหม่ ชาวญี่ปุ่นนิยมกินขนมเหนียวที่เรียกกันว่า Mochi (, ) [โหม่จิ๊]  (pounded sticky rice cake). ความจริงก็กินกันบ่อยมาก กินแบบ sans état d’âme คือกินโดยไม่คิดอะไรทั้งนั้น เพราะหิว เพราะถูก เพราะไม่มีให้เลือก ฯลฯ. แต่ช่วงปีใหม่ทุกคนอยากกิน ตั้งใจกินให้ได้ เพราะความหมายนัยสัญลักษณ์ของ ข้าวเหนียว”. ให้นึกถึงสำนวนไทย หนังเหนียว”  เป็นความเหนียวประเภทแทงไม่ตาย ยิงไม่เข้า อะไรทำนองนี้. ในที่สุดความหมายหลักที่ยึดกันมาในการกินขนมเหนียววันปีใหม่คือ การเป็นคนอดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆเพื่อมุ่งสู่ความหวังที่ต้องการ.
ขนมโหม่จิ๊ญี่ปุ่น ปกติเป็นสีขาวๆของแป้งข้าวเหนียว ไม่มีไส้ เป็นแป้งล้วนๆ อาจเอาไปย่างไฟอ่อนๆ หรือนึ่งร้อนๆแล้วกิน, หรือเมื่อนึ่งแล้ว เอาไปคลุกผงถั่วป่นก่อน. ต่อมามีการผสมธัญญพืชรวมทั้งผงป่นของใบชาเขียวลงไปในแป้งข้าวเหนียว นวดให้เข้าจนเป็นเนื้อเนียนเดียวกัน กลายเป็นสีเขียวมรกต นึ่งให้สุก ก็เป็นที่นิยมกันมากในหมู่คนญี่ปุ่น. นอกจากนี้ ก็มีการสอดไส้ถั่วแดงเข้าไป เพื่อให้มีรสหวานมากขึ้น. ขนมเหนียวที่แปลกอร่อยไม่เหมือนที่ใด คือขนมเหนียวจากจังหวัด Sendai [เซ่นได] เป็นขนมเหนียวสีขาวลูกกลมๆขนาดลูกเชอรี่หรือใหญ่กว่านิดหน่อย คลุกทั้งลูกในถั่วแระญี่ปุ่นที่ต้มและบดจนแหลก ไม่หวานนัก และมีรสชาติดีทีเดียว. เดี๋ยวนี้รูปแบบและรสชาติของขนมเหนียวญี่ปุ่นมีหลากหลายมาก แล้วแต่ใครจะเนรมิตขึ้นและโฆษณาจนติดตลาด. ดูเหมือนแต่ละจังหวัดพยายามออกแบบขนมเหนียวให้แปลกพิเศษออกไป ให้เหมือนเป็นสินค้า otop ของจังหวัด มีผู้นิยมมากบ้างน้อยบ้าง. แต่แบบดั้งเดิมที่ขึ้นเป็นแบบคลาซสิกตลดกาล คือโหม่จื๊สีขาวล้วนๆ ที่ยังคงนิยมกิน อย่างน้อยก็ในช่วงเทศกาลปีใหม่.
ขนมเหนียวแบบดั้งเดิม สีขาวล้วน ไม่มีไส้ นึ่งสุกแล้ว
 ขนมเหนียวหน้าตาอย่างนี้เรียก (Mitarashi) Dango [ดังโง]
(みたらし団子 หรือ 御手洗団子)
ขนมเหนียวสีขาว อาจย่างไฟก่อน หรือนึ่งสุก ลาดด้วยซอสซีอิ๊วหวาน
เสียบไม้ขายเป็นแท่งๆ ปกติมักมี 5 ลูก สะดวกกินทันทีแก้หิวได้ชะงัดนักแล
 ก้อนแป้งข้าวเหนียวตัดเป็นสี่เหลี่ยมแบบนี้ มักนำย่างไฟอ่อนๆ ก่อนกิน
ปกตินิยมใส่แป้งแบบนี้ลงในน้ำซุป หรือในชามก๋วยเตี๋ยว udon [อุด๊ง]
ส่วนตัวข้าพเจ้าชอบก้อนแป้งข้าวเหนียวแบบนี้ นำมาย่างไฟ แล้วห่อด้วยใบสาหร่ายทะเลที่ทาน้ำมันงาทั้งแผ่น ย่างไฟอ่อนๆ โรยเกลือลงบนแผ่นสาหร่าย เสร็จแล้ว ห่อกินกับขนมเหนียวสี่เหลี่ยมแบบนี้. อร่อยถูกปากข้าพเจ้ายิ่งกว่าแบบใด. เป็นวิธีการกินส่วนตัว ไม่ได้เอามาจากใคร.
 ขนมเหนียวย่างไฟในชามก๋วยเตี๋ยวอุด๊ง เรียกว่า Chikara udon [จิ๊การ่า อุด้ง]
 ขนมเหนียวสไตลจังหวัดเซ่นได คลุกถั่วแระบด เรียกว่า Zunda mochi [ซุ่นดะ โหม่จิ๊]
 ถั่วแระญี่ปุ่นสีเขียวอ่อนๆ ต้มสุกแล้ว บีบเอาแต่ถั่ว
เอามาตำพอให้แหลก ไม่ถึงกับละเอียด
จัดแบบนี้ ให้กินอย่างเรียบร้อยในร้าน
 ขนมเหนียวไส้ต่างๆ สีต่างๆในยุคใหม่
ภาพจาก pinterest.com ที่ระบุว่า saved from Alibaba B2B

น่าสังเกตว่า การขอพรแบบคนญี่ปุ่น ตามขนบเดิมๆที่สืบทอดกันมา (เดี๋ยวนี้อาจเปลี่ยนไปแล้ว) คือ การขอให้ตัวเองเอาชนะอุปสรรคต่างๆ  โดยปริยายเท่ากับว่าชาวญี่ปุ่นรู้แน่แก่ใจและยอมรับอย่างสิ้นสงสัยว่า ชีวิตมีอุปสรรคต่างๆมากมาย.  หนึ่งในเจ็ดเทพเจ้าแห่งโชคลาภตามขนบญี่ปุ่น ชื่อเทพ Daikokuten 大黒天 [ไดก๊กเต็ง] เป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภ การพาณิชย์และการค้าขาย. เทพเจ้าองค์นี้ถือค้อนเป็นอาวุธติดตัว. ค้อนเป็นสัญลักษณ์ สื่อความหมายของการทุบอุปสรรคต่างๆให้แหลกลงไป.
        เจ็ดเทพเจ้าแห่งโชคลาภประเภทต่างๆ ในภาษาญี่ปุ่นคือ [ฉิจิ๊-ฟึกือจิน] Shichifukujin 七福   โชคลาภอะไรบ้างนั้น น่าจะคิดกันเองได้ เพราะความปรารถนาของคน ไม่ว่าชาติใดภาษาใด เหมือนกันหมด บางอย่างมากกว่าบางอย่าง. ขอยกเว้นไม่กล่าวถึง.
ภาพทั้งสองนี้ มาจาก >> https://blog.gaijinpot.com/shichifukujin-meguri/
Daikokuten คือรูปปั้นที่สองจากขวา และในภาพสเก็ตช์ คือภาพแรกซ้ายแถวที่สอง. ในทั้งสองภาพ Daikokuten มือขวาถือค้อน มือซ้ายรวบปลายของถุงสมบัติถุงใหญ๋(เกือบเท่าร่างของเทพ) ที่พาดจากไหล่ลงไปเต็มหลัง. ดังนั้นเอกลักษณ์ของเทพ Daikokuten จึงคือ ค้อนและถุงสมบัติ. สร้างความฝันความหวังแก่ทุกผู้ทุกนาม ผู้ยังต้องวนเวียนอยู่ในโลกของโลกย์.
ส่วนตัว ข้าพเจ้าอยากโยงการกินขนมเหนียว กับเทพเจ้า Daikokuten [ไดก๊กเต็ง]  เพราะหากติดตามดูวิธีการทำขนมเหนียว ที่เรียกว่า Mochitsuki  餅月 [โหม่จิ๊ดซือกิ] (ดูในคลิปวีดีโดที่นำมาให้ชม) ก็จะเห็นชัดเจนว่า กว่าจะได้ขนมเหนียว แบบเหนียวจริงและเนื้อเนียนทุกอณูนั้น มันต้องทุบต้องนวดมากเพียงใด. ข้าพเจ้าคิดว่า หากคนมีความเหนียว บวกความยืดหยุ่นและมีคุณธรรมเป็นความนุ่มนวลในตัว คนนั้นน่าจะเหมือนได้ค้นพบขุมทรัพย์อันมีค่ามหาศาล.
      ธรรมเนียมที่น่านำมาคิดไตร่ตรองอีกอย่างหนึ่งคือ ณ วินาทีขึ้นปีใหม่ ระฆังวัดใหญ่ๆตามเมืองใหญ่ๆในญี่ปุ่น จะดังขึ้นก้องกังวานออกไปนานเท่าจำนวนการตี 108 ครั้ง (น่าจะระบุว่า พระสงฆ์โยกไม้อันมหึมาไปกระทบระฆังให้ดังสนั่น). การตีระฆังอย่างนี้ในวันเริ่มต้นปีใหม่ เพื่อเตือนสติทุกคนให้เคาะทิ้ง ทุบให้แตกและสลัดให้หลุดสิ่งไม่ดีต่างๆ ไม่ว่ากิเลสหรือเคราะห์ใดๆ ให้ออกไปจากใจ จากตัว.  เขารวบรวมไว้ว่าในคนมีกิเลส มีอกุศลจิตแบบต่างๆรวมทั้งเคราะห์กรรมรวมกันถึง 108 ชนิด. (ขออภัยที่มิอาจนำมาสาธายายณที่นี้ แต่ปัญญาชนน่าจะทำรายการได้เอง หาก รู้จักตัวตนของตัวเองและซื่อสัตย์จริงใจพอ)
      ความคิดในการกำจัดสิ่งที่เป็น ลบให้หมดไปจากใจคนตั้งแต่วันเริ่มปีใหม่ทันทีเลยนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าดีทีเดียว เพราะในที่สุดเมื่อขจัดสิ่งที่เป็นลบออก ก็มีแต่สิ่งดีๆที่เป็นบวก หรือมีความพร้อมซึมซับสิ่งดีๆได้เต็มที่. ขนบและค่านิยมไทย ที่มุ่ง การ ขอสิ่งดีๆเข้าสู่ตัว โดยมิได้คำนึงไปถึงสิ่งไม่บริสุทธิ์โปร่งใส ความหลงความอยากในสรรพวัตถุฯลฯที่มีในตัวนัก  จึงเหมือนไม่สนใจคิดกำจัดมันไป และโดยปริยายคือการอนุรักษ์หรือยึดมันไว้ต่อไปก่อน หรือมิใช่?
      ตัวเลข 108  ถือว่าเป็นมงคลในค่านิยมตามขนบพุทธ เพราะที่พระบาทของพระพุทธองค์มีสัญลักษณ์มหามงคล 108 ชนิด และศิลปินช่างไทยได้แกะจารึกลงอย่างงดงามที่ฝ่าเท้าของพระพุทธไสยาสน์วัดโพธิ์ ผู้สนใจอยากรู้รายละเอียดต่อ เชิญได้ที่นี่ >>

      ในระดับสากล การสอนเด็กหรือแม้ผู้ใหญ่ ให้ตั้งปณิธานแต่ละปี ตั้งเป้าหมายสำหรับตนเองว่า ปีใหม่จะเพียรตัดกิเลสอะไรออกไปบ้าง  น่าจะเป็นวิธีการพัฒนาตัวเองที่ดีวิธีหนึ่ง ควบคู่ไปกับการตั้งเป้าหมายใหม่ในปีใหม่ ว่าจะทำดีอะไรบ้าง.

      วิธีการนวดแป้งข้าวเหนียวเพื่อทำขนมเหนียวนั้น ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า Mochitsuki  餅月 [โหม่จิ๊ดซือกิ]. ถ้าดูตามอักษรจีนแล้ว ตัวแรกแปลว่า ขนมที่ทำจากแป้ง คือคำ เปี๊ยะ ในภาษาแต้จิ๋วนั่นเอง. ตัวที่สอง แปลว่าดวงจันทร์. ญี่ปุ่นใช้ในความหมายของการทำเพื่อให้ได้ขนมรูปทรงกลมเหมือนพระจันทร์.  ภาษาจีนใช้สองตัวนี้ แต่วางสลับที่กันเป็น 月餅 แปลว่า ขนม(ไหว้)พระจันทร์. 餅月 ในภาษาญี่ปุ่น จึงน่าจะเป็นอิทธิพลจากวิถีกินอยู่แบบจีน.
      การทำขนมเหนียวดูจะเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของจังหวัดนารา นารามีชื่อเรื่องขนมโหม่จิ๊ โดยเฉพาะเมื่อไปแถววัดหลวงพ่อโต (Todaiji ที่เมืองนารา) หากโชคดีจะได้เห็นคนทำ ที่มุมหนึ่งบนถนนสายที่สามกลางเมืองเก่า ข้าพเจ้าเคยพาเพื่อนไป และได้เห็นกับตา ได้ถ่ายคลิปวีดีโอสั้นๆที่เก็บมาอย่างถนอม เพราะกลับไปกี่ครั้ง ไม่ได้จังหวะเห็นอีก แต่เขาก็ทำกันอยู่ เพียงแต่ไม่เปิดให้คนเห็น). พบคลิปวีดีโอนี้ในยูทูป เขาประกาศว่า คนนี้น่าจะเป็นคนที่ มือไว ที่สุด (ในญี่ปุ่น) เพราะเดี๋ยวนี้ คนทำขนมเหนียวด้วยมืออย่างนี้ น้อยลงๆ. เขาผลิตเครื่องจักรทำแทนคนกันแล้ว คลิกไปดูคลิปนี้ได้ มีบทบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ ที่นี่ >>

      ขนบการกินอะไรเหนียวๆ ที่น่ารู้จากอีกประเทศหนึ่งคือเกาหลี. ชาวเกาหลีนำแป้งข้าวเหนียวมาประกอบอาหารจานสำคัญ เพื่อกินในวันขึ้นปีใหม่และช่วงปีใหม่. เขาเอาแป้งข้าวเหนียวไปนวดคลึงจนเป็นเนื้อเดียวกัน ปั้นเป็นเส้นยาวๆ เหมือนสายยางขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางหนึ่งนิ้ว แล้วหั่นเป็นแว่นๆ. กินแทนเส้นก๋วยเตี๋ยว. ในน้ำซุปชามใหญ่ ใส่ไข่(หรือไม่ก็ได้) ใส่เนื้อหมูและผักลงไป เป็นอาหารชามใหญ่ที่มีคุณค่าอาหารเพียงพอ เป็นหนึ่งมื้อได้เลย. เรียกว่า [ต็อคขุก] (떡국) หรือ rice cake soup. (คำว่า ต๊อค แปลว่า ก้อนแป้งข้าวเหนียว ขุก แปลว่า แกง)  
 แป้งข้าวเหนียวที่ตัดเป็นแว่นๆ แบบเกาหลี ที่ยังไม่ได้ปรุง
 ชาม ต๊อคขุก จากแป้งข้าวเหนี่ยวที่เป็นอาหารสำคัญในเทศกาลขึ้นปีใหม่
บางทีเขาก็ใส่เกี๊ยวลูกโตๆลงไปด้วย เป็น 만두 [ต๊อคหมั่นดุขุก] rice cake and dumpling soup. เกี๊ยวเกาหลีลูกโตมาก ขนาดใหญ่กว่าชิ้นเกี๊ยวซ่าเล็กน้อย สอดไส้หมูสับ แป้งห่อเกี๊ยวก็หนากว่า. ถ้าเป็นเกี๊ยวน้ำ เรียกว่า mandu guk 만두 [หมั่นดุขุก] หรือ Dumpling soup.
 เกี๊ยวน้ำแบบเกาหลี เกี๊ยวห่อแบบบางแผ่ออก
 เกี๊ยวเกาหลี ห่อแบบเป็นลูกกลมขนาดใหญ่ แป้งห่อหนากว่า
 แป้งข้าวเหนียวที่ทำเป็นเส้นกลมยาวๆขนาดเล็ก ตัดขนาดพอเหมาะ
นึ่งสุกแล้วคลุกกับซอสพริก รสหวานๆเค็มๆเผ็ดนิดหน่อย
เป็นอาหารสะดวกซื้อสะดวกกินแบบเกาหลีอย่างหนึ่ง
คนเกาหลีกินรสจัดกว่าคนญี่ปุ่น

จริงๆแล้วอาหารจากแป้งข้าวเหนียว คนไทยกินมานานแล้วและน่าจะรับมาจากจีนเช่นกัน. เรากินโดยมิได้นึกถึงความนัยที่แฝงอยู่ในอาหาร. เรากินขนม อี๊ ที่ปั้นเป็นเม็ดกลมๆขนาดเล็กๆ (อี๊ ภาษาแต้จิ๋ว แปลว่า กลม). บางทีทำเป็นเม็ดอี๊สีต่างๆให้สวยงามขึ้นอีก ตามจริตและความประณีตแบบไทย. เราเรียกว่าขนมบัวลอย และคนไทยก็ผลิตขนมบัวลอยเผือกแสนอร่อย ชนะต้นตำรับขนมอี๊ของชาวจีน. ส่วนข้าวเหนียวเราก็ทานแทนข้าวเลย ไม่ต้องแปรรูปเป็นอย่างอื่น. ชาวจีนที่ยังมีพ่อแม่รุ่นเก่าอยู่ อาจให้กินขนมอี๊ในวันประกอบพีธีหมั้น เพื่อเน้นนัยของความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่น(และน่าจะกลมกลิ้งไปด้วยกันได้สวย) ของหนุ่มสาวที่จะตั้งครอบครัวมีความสุขความเจริญต่อไปในอนาคต.  
       สรุปแล้ว ขนมเหนียว ต๊อคขุก ขนมอี๊ หรือขนมบัวลอย ทั้งหมดมาจากเบ้าวัฒนธรรมเดียวกัน. ยังมีขนมที่แปรรูปมาจากแป้งข้าวเหนียวแบบอื่นๆอีกที่จะไม่กล่าวถึงในที่นี้ คนสมัยใหม่มีหัวคิดในการสร้างสรรค์และปรุงแต่งอาหารแบบใหม่ๆ หน้าตาใหม่ๆ. เสรีภาพในด้านการประดิษฐ์อาหารและสร้างวิธีกินที่ตรึงตาด้วยรูปแบบและตรึงใจด้วยรสชาติ (ที่ดูเหมือนจะเป็นเสรีภาพประเภทเดียวที่เต็มร้อยจริงๆ) จึงเปิดกว้างออกไปมาก เป็นประเด็นที่ชาวโลกติดตามกันได้ไม่เบื่อน่าอัศจรรย์ใจ!

บันทึกความทรงจำเรื่องรสชาติ ของ โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์.
ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๙.

2 comments:

  1. ได้อ่านเรื่องดีก็เป็นความสุขอย่างหนึ่งนะคะ ขอบคุณพี่โชติรสมากค่ะ
    ขอให้พี่โชติรสได้รับความพึงพอใจและความสุขใจในความแน่วแน่และความมุ่งมั่นค่ะ
    Bonne année et bonne santé ค่ะ

    ReplyDelete
    Replies
    1. ขอบคุณค่ะ ให้มีความสุขสมใจหวังนะคะ

      Delete