Sunday 19 March 2017

ร้อยเรื่องมยุรา Peacock Stories

ร้อยเรื่องมยุรา ร้อยใจชาวอักษรฯ น้อมรำลึกคุณอาจารย์ กราบเทิดไท้องค์ราชัน
      เมื่อนึกถึงนกยูง นึกถึงสีเหลื่อบเลื่อมงามวาววับ สีฟ้า สีน้ำเงิน สีฟ้าๆเขียวๆของเทอร์คอยซ์ ตัดกับสีน้ำตาลไปจนถึงสีทอง สีขาว สีเทา สีสดๆที่ตรึงสายตา และยิ่งเห็นยูงรำแพนด้วยแล้ว ยิ่งตรึงใจชวนให้ถวิลไปกับจำนวนดวงตาบนขนนกยูง. เช่นนี้เมื่อคนทั้งโลกนึกถึงนกยูง นึกถึงนกยูงตัวผู้เป็นสำคัญ ไม่เคยไปสนใจไยดีกับนกยูงตัวเมียเลย. น่าน้อยใจแทนจริงๆ. ข้าพเจ้าหรือก็มิอาจเปลี่ยนความคิด เบนค่านิยมที่สืบทอดกันมาจากวัฒนธรรมของชนชาติต่างๆได้. นกยูงที่เป็นหัวข้อนี้ จึงหมายถึงนกยูงตัวผู้เท่านั้น และคำนกยูงที่ใช้ในเนื้อหาทั้งเรื่องนี้ ก็เกี่ยวกับนกยูงตัวผู้เท่านั้น 
     ความจริงเรื่องสีขนนกทั้งหลาย  มีนกจำนวนมากที่มีขนสีสวยสุดใจจริงๆ เป็นนกขนาดเล็กกว่า ขนาดใหญ่ๆอย่างนกยูงที่สวยพอเทียบเคียงกันได้ ไม่มีมากนัก ตัวอย่างนกกระจอกเทศ นกขนาดใหญ่อื่นๆมีสีเดียว น้ำตาล ขาว อาจมีสีเข้มสีอ่อนในกลุ่มสีเดียวกัน แต่ไม่หลากสีตัดกัน หรือหากเป็นสีชมพูส้มๆเช่นนก flamingo ก็ไม่มีสีอื่นมาแทรกนอกจากความเข้มมากน้อยของสีเดียวกัน.
      เมื่อพิจารณารูปลักษณ์ของนกฟีนิกซ์ในตำนานของชนหลายชาติ ชัดเจนว่า คำพรรณนานกฟีนิกซ์ที่สืบทอดมา อาจได้จากความงามสง่าของนกยูงตัวผู้เป็นต้นแบบ เพียงแต่ไม่เน้นการรำแพน เพราะนกฟีนิกซ์จะรำแพน ทำก้อร่อก้อติกกับฟีนิกซ์ตัวเมียเหมือนนกยูงให้คนเห็นนั้น เป็นไปไม่ได้โดยหลักการ ในเมื่อยกให้เป็นนกสวรรค์อยู่บนยอดเขาสูงๆในหมู่เมฆ ย่อมมีวิถีชีวิตคู่ที่คนมองไม่เห็น. ข้าพเจ้าจึงอยากสรุปว่า นกยูงน่าจะเป็นนกที่สวยสง่าที่สุดบนโลกมนุษย์ และเป็นภาพสะท้อนของนกฟีนิกซ์ได้อย่างแนบเนียน.
       ข้อมูลวิทยาศาสตร์ระบุว่า นกยูงเป็นสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับตระกูลไก่ฟ้า (pheasant) และไก่ต๊อก (guineafowl). นกยูงผลัดขนทุกปีต้นฤดูใบไม้ผลิ และขนที่เกิดใหม่มีสีสวดสดใสกว่าขนเก่าๆที่ร่วงไป. นักธรรมชาติวิทยาผู้วิเคราะห์วิจัยเกี่ยวกับนกยูง (ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pavo cristatus พันธุ์ดั้งเดิมของอินเดีย cf. Linnaeus, 1758) ต่างสนใจอยากรู้เคล็ดลับของนกสายพันธุ์นี้ว่ามันธำรงเผ่าพันธุ์มาอย่างต่อเนื่องกว่าสี่พันปีแล้วได้อย่างไร  ฝ่าวิกฤติการณ์อันผกผันของภูมิอากาศและภูมิธรณีมาได้ดีกว่าสายพันธุ์สัตว์อื่นๆ และรอดพ้นจากการตกเป็นเหยื่อของศัตรูและจากเงื้อมมือคนที่คิดแต่เอาประโยชน์จากมัน.  นกยูงจึงยังคงเป็นนกประดับโลกสายพันธุ์เก่าแก่ที่สุดในโลก. คนคงจะได้ความรู้อย่างถึงแก่น หากสามารถแกะรอยไปถึงขั้นยีน(หมายถึงจนสุดขั้ว)ของการธำรงชีวิตของนกยูงได้สำเร็จ. 
      ค่านิยมจากวัฒนธรรมหลายชาติหลายภาษา รวมกันให้นกยูง เป็นสัญลักษณ์ของศักดิ์ศรี ความน่าเลื่อมใส ความขลัง ความตื่นรู้ ความประณีตของผู้นำ ผู้ปกป้อง ผู้ระวังภัย ผู้เห็นทะลุปรุโปร่งทั้งใกล้และไกล. ทั้งหมดก็คือคุณสมบัติที่ดีของคนนั่นเอง ดังกล่าวมาข้างต้น นกยูงมีถิ่นกำเนิดในอินเดีย และแพร่พันธุ์ไปในตะวันออก เข้าสู่ภาคพื้นเอเชียตะวันออกกลางและตะวันตกในสมัยของพระเจ้าอเล็กซานดรามหาราช. ค่านิยมเกี่ยวกับนกยูงปรากฏเล่าไว้ในนิทานหรือตำนานของชนหลายชาติ เช่น จีน ญี่ปุ่น นกยูงเป็นสัญลักษณ์ของเจ้าแม่กวนอิน (หรือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร จีนใช้คำว่า 觀世音- Guānshìyīn ที่เกาหลีและญี่ปุ่นนำไปใช้เช่นกัน สำหรับในภาษาจีนอาจย่อเหลือสองคำเป็น 觀音- Guānyīn และมาเป็นกวนอินในภาษาไทย ที่ควรใช้เสียง น หนูลงท้าย) ผู้เปี่ยมด้วยความเมตตาอย่างหาที่เปรียบมิได้. การโยงนกยูงไปถึงเจ้าแม่กวนอินนี้นั้น หากยึดตามคติความเชื่อของจีนธิเบตแล้ว นอกจากจะเป็นพระโพธิสัตว์ผู้ได้ยินเสียงจากทั่วสารทิศ อันเป็นเสียงร้องคร่ำครวญของผู้ตกทุกข์ได้ยาก  พระองค์เป็นผู้มีพันมือ(ดังปรากฏในศิลปะจีน ธิเบต ญี่ปุ่น เกาหลี ที่หมายถึงการยื่นมือให้ความช่วยเหลือให้แก่คนจำนวนมากได้ในขณะเดียวกัน) ยังเป็น สมันตมุข (คือมีใบหน้าจำนวนมาก เท่ากับมีดวงตาจำนวนมากด้วย) สามารถมองเห็นไปได้ในทุกทิศทางรอบโลก เช่นนี้ทำให้พระองค์มองเห็นความทุกข์ของทุกคนไม่ว่าอยู่มุมใดของโลก. ในบริบทนี้ที่ทำให้จิตรกรนิยมวาดภาพนกยูงไว้ข้างๆเจ้าแม่กวนอินด้วย (แต่ไม่เสมอไป) เพื่อสื่อจำนวนดวงตาของพระองค์. ง่ายกว่าการเสนอภาพดวงตาบนตัว ลักษณะพันมือก็เช่นกัน บางทีก็ลดเหลือแปดมือ ร้อยมือเช่นที่เห็นในญี่ปุ่นเป็นต้น ส่วนการแสดงคุณสมบัติของหูนั้น ไม่ทำไว้เพราะชื่อของพระองค์ในอักษรจีนนั้น 觀世音 คำที่หนึ่งแปลว่า มอง สังเกต เห็น. คำที่สองแปลว่า โลก โดยปริยายจึงเท่ากับเจาะจงความสามารถปรากฏตัวไปได้ทุกที่ทั่วโลก และคำที่สามแปลว่าเสียง. ชื่อจีนที่ใช้จึงเจาะจงคุณสมบัติสามประการ(เด่นๆ)ของพระโพธิสัตว์ผู้ตัดสินใจไม่เข้าสู่นิพพานเพื่อช่วยผู้ตกทุกข์ได้ยาก.
ภาพนกยูงเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในศิลปะศตวรรษที่18 ของญี่ปุ่น
ภาพนี้เป็นผลงงานของ Nagasawa Rosetsu (長沢芦雪, 1754–1799)
นกยูงกับดอกโบตั๋นทั้งคู่มีความงามที่ไม่จืดตา
     ในลัทธิของชนชาติ Yazidis / Yézidis ซึ่งเป็นศาสนิกขนกลุ่มน้อยที่ใช้ภาษา Kurde มีสมาชิกประมาณแสนคน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในแถบเมือง Mossoul ในอิรัค หรือแถบเมือง Alep ในซีเรีย ชนกลุ่มนี้ยังอยู่กระจัดกระจายในตุรกี อิหร่าน อาร์เมเนียและจอร์เจียด้วย. นกยูงมีบทบาทเป็นศูนย์กลางในขนบธรรมเนียมและค่านิยมของชนกลุ่มนี้. พวกเขาใช้คำ Malik Tawus (ที่แปลว่าเจ้านายนกยูง) หรือคำ Malak Tawus (ที่แปลว่าเทวดานกยูง) เรียกพระเจ้าของพวกเขา. นกยูงและงูเป็นแบบประดับผนังสุสานของหัวหน้าลัทธิศาสนานี้ (สุสานของพวกเขาถูกทำลายไปสิ้นในปี 1872).
 Malak Tawus, เทวดานกยูงของชาว Yazidis
      ตำนานของชาว Bohême / Bohemia เรื่องหนึ่งเล่าชะตากรรมแสนเศร้าของนกยูงที่กลายเป็นสิ่งล่อใจ สร้างความอิจฉาริษยาของเหล่าคนใจร้าย. เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อพระเจ้าเนรมิตนกยูง พวกบาปหนักเจ็ดกลุ่ม อิจฉาความงามของนกยูง. พระเจ้ารู้จึงบอกว่า เออว่ะ กูไม่ยุติธรรม ความจริงแล้ว ข้าได้สร้างพวกเจ้าดีเกินไปด้วยซ้ำ บาปหนักอย่างพวกเจ้าต้องดำเหมือนราตรีที่ครอบงำพวกเจ้าเหมือนผ้าผืนใหญ่”. และแล้วพระเจ้าได้วางดวงตาจำนวนมากบนขนนกยูง เป็นดวงตาของบาปต่างๆ ที่พระเจ้ากำกับไว้ เช่นตาสีทองของกิเลสตัณหา ตาสีเขียวของความอิจฉาริษยา.  ตั้งแต่นั้นมา นกยูงจึงถูกบีบคั้นด้วยบาปทั้งหลายที่พยายามแย่งตาของพวกมันคืนไป. นิทานเรื่องนี้น่าจะสอนให้รู้ว่า ตาที่มืดมัวด้วยความเกลียดชัง ด้วยทิฐิมานะ ย่อมเปลี่ยนสวรรค์ให้เป็นนรก.
      ชาวกรีกเริ่มรู้จักนกยูงอย่างแท้จริงในสมัยของพระเจ้าอเล็กซานดรามหาราช (คิดกันว่าน่าจะเป็น)ผู้นำนกยูงเข้ากรีซจากอินเดีย และสู่ประเทศอื่นๆในยุโรป. อริสโตเติลเรียกนกยูงว่า นกเปอเชีย.  นกยูงถูกจัดรวมเข้าในโลกทวยเทพกรีก.    
      นกยูงในเทพปกรณัมกรีก เล่ากันไว้ในเรื่อง Argus Panoptes. Argus [อ๊ารฺเกิ้สฺ] เป็นยักษ์กำยำแข็งแรงและมีตาร้อยตาเต็มตัวตามที่ Hera ต้องการให้เป็น เพื่อให้เขาเฝ้าดูแลลูกวัวตัวเมียสีขาวที่ชื่อ Io [อั๊ยโย]. Io เป็นเจ้าหญิงในโลกมนุษย์ที่ Zeus หลงรักและแปลงร่างเธอให้เป็นวัวเพื่ออำพรางความจริงจาก Hera. ยักษ์ Argus นั้นยามนอนมีตาไม่กี่ตาเท่านั้นที่หลับ ตาอื่นๆทั้งหมดตื่นมองระแวดระวังภัยรอบทิศทาง. ต่อมา Zeus ส่ง Hermes ไปฆ่า Argus. Hermes ร่ายคาถากล่อมจนตาทุกตาหลับลงจึงฆ่า Argus ได้สำเร็จ. Hera นำดวงตาทั้งหลายของ Argus มาประดับลงบนหางนกตัวโปรด เกิดเป็นอัตลักษณ์ของนกยูง. ดวงตาทั้งหลายของ Argus จึงเป็นสัญลักษณ์ของการมองไปทั่วทุกทิศทุกทาง เป็นตาที่มองกวาดพื้นที่ หารายละเอียดและข้อมูล รวมกันเป็นความสามารถในการเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง (the omnividence) จนเป็นความตระหนักรู้ในทุกสถานการณ์. (มีผู้นำชื่อ Argus ไปใช้เป็นชื่อหนังสือพิมพ์เน้นอุดมการณ์การทำงานของนักหนังสือพิมพ์อย่างชัดเจน). บางคนเทียบว่าดวงตาของ Argus คือดวงดาวบนท้องฟ้าและวงกลมของขนนกยูงรำแพน คือหลังคาโค้งของจักรวาล. ในเมื่อ Hera เป็นราชินีแห่งท้องฟ้าและดวงดาว จึงประทับบนรถเทียมด้วยนกยูง. (Jupiter ก็เช่นกันมีนกยูงเป็นสารถี).

"Junon découvre Io et Jupiter" - Pieter Lastman - 1618
ภาพนี้อธิบายตำนานที่เล่ามาข้างต้น Junon (จูนงเป็นชื่อโรมันของเฮราที่เป็นชื่อกรีก) สบรู้พฤติกรรมของ Jupiter ว่ามีชู้. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อน อยู่ด้านขวาของภาพ. ชายคนหนึ่งกำลังเอาผ้าคลุมร่างวัวเป็นการปิดบังความจริง. Jupiter คือผู้ชายคนนั่งเอามือไปลูบหัววัวสีขาว ยืนยันความรักความผูกพันกับวัว ทั้งยังมีเทพ Cupid อยู่ในฉากเป็นผู้รู้เห็นเป็นใจด้วย มือจับผ้าที่จะคลุมร่างวัวด้วยเช่นกัน  บนพื้น เห็นคันธนูอาวุธคู่มือของ Cupid เทพแห่งความรัก.  เมื่อ Junon เห็นวัวสีขาว ทำเป็นรักวัวและขอวัวไปเลี้ยง. ให้สังเกตว่า Junon นั่ง(บนพาหนะ) มีนกสองตัวสีดำๆกางปีกเหมือนเพิ่งพา Junon บินมาถึงตรงนั้น. นกทั้งสองยังไม่มีอะไรเด่น. เมื่อ Argus ถูกฆ่าตายเท่านั้น Junon จึงนำดวงตาของ Argus ประดับลงบนขนนก.
ด้านขวา เทพบดี Zeus หน้าตายิ้มแย้ม ยกมือไปทาง Io ที่ถูกแปลงร่างเป็นวัวเรียบร้อยแล้ว. ด้านซ้าย Hermes คนยืนพร้อมดาบในมือขวา  มือซ้ายฉวยเครายาวของ Argus ที่มีดวงตาเต็มตัว. ภาพนี้เล่าเหตุการณ์ว่าจะฆ่าเขาตายในที่สุด. ภาพลายเส้นภาพนี้ลอกแบบจากภาพประดับโถหรือคนโทขนาดใหญ่จากยุคกรีซโบราณ.
ปีทากอรัซ ปราชญ์และนักคณิตศาสตร์ชาวกรีก (Pythagorus ผู้มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่หกก่อนคริสตกาล) เคยเขียนไว้ว่า วิญญาณของมหากวีโฮเมอรฺ ได้เข้าไปสิงในนกยูงที่เขียนเช่นนี้เป็นการยกย่องโฮเมอร์ว่า (ผลงานของ)เขาเป็นความงามอมตะประดับโลก.

ตำนานหนึ่งเล่าว่า นกยูงแสนสวย ที่มีเสียงไม่เพราะเสนาะหูเลย ฟังน่าประหวั่นพรั่นพรึงด้วยซ้ำ  จึงอิจฉาเสียงใสกังวานระรื่นหูดุจดนตรีจากสวรรค์ของนกไนติงเกล. นกยูงโอดครวญกับ Junon  ว่าไหนๆเทวีมอบตา Argus ประดับขนทั้งตัวให้อย่างสวยงามแล้ว เหตุไฉนจึงปล่อยให้เสียงมันเป็นเช่นนั้นเล่า. Junon ตอบว่าจงพอใจในสิ่งที่มี และหยุดบ่นเสียที. (ธรรมชาติสร้างทุกอย่างมาอย่างสมดุลและมีเหตุมีปัจจัยเสมอ. นกยูงร่างสวยย่อมเป็นที่หมายปอง เสียงของมันน่าจะเป็นอาวุธข่มขวัญศัตรู ทำให้มันรอดพ้นภัยต่างๆมาได้และธำรงเผ่าพันธุ์มาได้นานกว่าสี่พันปีแล้ว). ติดตามไปฟังเสียงนกยูงท้ายเรื่อง.
       ค่านิยมของกรีซเกี่ยวกับความงามสง่าเป็นผู้ดีของนกยูง สืบทอดมาสู่ชาวโรมันด้วย มีจารึกอธิบายรูปปั้นของจักรพรรดิโรมัน Justinian บนหลังม้าที่เมือง Constantinople สวมมงกุฎที่ประดับด้วยขนนกยูง. ดังภาพข้างล่างนี้

ภาพลอกเลียนขึ้นใหม่ในยุคปัจจุบันที่แสดงให้เห็นเสาคอลัมภ์พร้อมรูปปั้นทรงม้าของจักรพรรดิ Justinian, c.482-565. (สองภาพข้างบนเป็นภาพถ่ายจากหนังสือเรื่อง Justinien et la civilisation byzantine au VIe siècle, Paris, 1901 ของ Charles Diehl. ภาพถ่ายทั้งสองปรากฏรวมไว้ในCommons.wikimedia.org  (public domain). คอลัมภ์จัซติเนียน ประดิษฐานที่เมือง Constantinople สร้างขึ้นเป็นเกียรติประวัติของชัยชนะของจักรพรรดิในปี 543. เคยตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของจัตุรัส Augustaeum ระหว่างมหาวิหาร Hagia Sophia และ Great Palace  อยู่ที่นั่นจนถึงต้นศตวรรษที่ 16 และถูกจักรพรรดิอ๊อตโตมันทำลายลงในที่สุด. มีคำอธิบายไว้ว่า คอลัมภ์ทั้งต้นทำจากอิฐและมีแผ่นทองเหลืองปิดตลอดลำต้น มีฐานเป็นแท่นหินอ่อนเจ็ดขั้น ยอดคอลัมภ์มีรูปปั้นทรงม้าของจักรพรรดิ แต่งองค์ของผู้มีชัยสวมเกราะแบบโบราณที่ทำเลียนสรีระของกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ สวมหมวกเหล็กที่มีขนนกยูงประดับ มือซ้ายถือลูกโลกที่มีไม้กางเขน ยืนยันว่าจักรวรรดิโรมันเป็นผู้ปกป้องคริสต์ศาสน มือขวาชี้ไปทางทิศตะวันออก (ในความหมายว่าผู้พิชิตและปราบศัตรูจากเอเชียกลาง)
       ชาวโรมันดูจะชอบนกยูงเป็นพิเศษ นอกจากใช้นกยูงเป็นแบบประดับในศิลปะโมเสกและจิตรกรรมเฟรสโก้เพราะความงามของมันแล้ว ยังชอบกินเนื้อนกยูงและลิ้นนกยูง ที่ถือกันว่าเป็นอาหารสุดโอชาของชนชั้นสูง. นอกจากกินแบบเนื้ออบ ยังอาจทำเป็นเนื้อนกบดละเอียดแบบ paté. ความคลั่งไคล้นกยูง ทำให้ชาวโรมันทำฟาร์มเลี้ยงนกยูงด้วย. ความสนใจเสพนกยูงนี้สืบทอดต่อมาในยุโรปจนถึงศตวรรษที่สิบเจ็ดเป็นอย่างน้อย. ในฝรั่งเศสก็เช่นกัน เป็นอาหารสุดประณีตบนโต๊ะเสวย. นกยูงสำหรับสังคมฝรั่งเศสคือภาพลักษณ์ของความงามสง่าและศิลปะของการรู้จักกินดีอยู่ดี.  พ่อครัวบรรจงลอกหนังนกยูงออกมาก่อนแล้วจึงอบทั้งตัว(เหมือนไก่อบที่เราคุ้นเคย) แต่ที่วิจิตรบรรจงกว่าไก่อบที่เรากินกันในยุคนี้ คือเมื่ออบเสร็จเรียบร้อยแล้ว พ่อครัวเอาหนังนกยูงรวมทั้งขนของมันบรรจงตกแต่งตัวนกยูงที่อบสุกพร้อมกิน สร้างให้อาหารจานนั้นเก็บความงามและศักดิ์ศรีของนกยูงอย่างสุดฝีมือ. (ข้าพเจ้านึกถึงมุมมองปรัชญาในหมู่เชฟ ไหนๆจะต้องฆ่าชีวิตสัตว์อื่นเพื่อมาต่อชีวิตคน ก็ขอให้ชีวิตสัตว์ทั้งหลายที่อุทิศกายให้เรา ได้ตายอย่างสมศักดิ์ศรี ได้ตายในความประณีตบรรจง ด้วยการนำสิ่งที่ดีที่สุดที่มันมีในตัวมันออกมาเป็นอาหารสุดโอชะที่คนกินอย่างปลื้มปิติกับรสชาติ และนึกถึงสัตว์นั้นด้วยความรู้คุณ. ศิลปะการทำอาหารจึงเหมือนการยกวิทยฐานะของวัตถุดิบขึ้นบนบัลลังก์ศักดิ์ศรีของศิลปะ)
ดูตัวอย่างจากภาพข้างล่างนี้ ที่บันทึกความนิยมในการเสพนกยูงในสมัยก่อนๆไว้  
  จิตรกรรมของ Jan Breughel กับ Peter Paul Rubens, 1618. El Gusto.
(The sense of taste), อยู่ที่ Museo del Prado, Madrid, Spain.
รายละเอียดที่ตัดมาให้เห็นชัดเขนจากภาพใหญ่ข้างบน เห็นส่วนของนกยูงอันมีท่อนหัวจนถึงคอ ปิกสองข้าง และขนนกที่มีตานกยูงสวยงามชัดเจน ทั้งหมดประดับแบบปักลงในชามไม่ลึกมากที่บรรจุเนื้อนกยูงที่พร้อมรับประทาน. อีกถาดหรือชามที่มีขอบไม่สูงมากข้างขวา มีหัวและคอหงส์กับปีกสองข้างประดับก็เป็นอาหารทำจากหงส์ในแบบเดียวกับนกยูง. สัตว์ปีกทั้งสองเป็นอาหารราคาแพงและหายาก ชนชั้นสูงเท่านั้นที่มีโอกาสได้ลิ้มรส.  อาหารประเภทต่างๆ รสชาติต่างๆ บนจานหรือถาด กระจายออกไปเต็มโต๊ะยาว. สตรีนางหนึ่งกำลังกิน เธอนั่งอยู่ตรงหน้าถาดหอยนางรม กินอาหารทะเลก่อนอาหารเนื้ออื่นๆ. มี satyr (กึ่งคนกึ่งสัตว์ในเทพตำนานกรีก) คอยบริการรินไวน์ให้.
ภาพนี้เป็นส่วนหนึ่งของภาพใหญ่อีกภาพหนึ่งของจิตรกร Jan Breughel. เห็นชัดเจนที่เอาหัวและคอนกยูงปักไว้ด้านหนึ่ง เอาขนนกยูงปักตั้งไว้อีกด้านหนึ่ง. นกอีกตัวที่นำมาทำอาหารที่อยู่ติดสตรีในภาพคือนกไก่ฟ้า ก็ประดับแบบเดียวกัน. สตรีในภาพมือซ้ายถือแก้วไวน์ มือขวากำลังหยิบหอยนางรม. อาหารทะเลหอย กุ้ง ปูปลาถือเป็นอาหารเรียกน้ำย่อย จะกินก่อนอาหารสัตว์ปีกหรือเนื้อสัตว์ใหญ่ 

      เชื่อกันมาในหมู่ชาวคริสต์รุ่นแรกๆว่า เนื้อนกยูงนั้นไม่เน่า จึงปลื้มปิติว่าเป็นสัตว์ชั้นสูงมีสกุลรุนชาติและเปรียบนกยูงว่าเหมือนร่างของพระเยซูที่ตายแล้ว ไม่เน่าเหม็นในหลุมศพ ฟื้นคืนชีพได้. (น่าจะพิสูจน์ได้แล้วในปัจจุบัน ข้าพเจ้าไม่พบรายงานใดที่เกี่ยวข้อง). นกยูงยังผลัดขนของมันทุกปีในฤดูใบไม้ผลิ ขนที่ขึ้นใหม่ในแต่ละปีจะยิ่งมีสีสันสดใสกว่าขนเก่าของมันด้วย จึงสอดคล้องกับขนบการเปรียบโยงในระบบสัญลักษณ์ของศาสนาคริสต์ได้เป็นอย่างดี  ผนึกเป็นนัยของการเกิดใหม่และความเป็นอมตวิสัย (ช่วงอีสเตอร์ ชาวคริสต์เคยนำขนนกยูงเข้าไปประดับตกแต่งวัด แต่ปัจจุบันคงไม่ทำแล้วเพราะหาขนนกยูงไม่ได้ง่ายๆ). ไม่ต่างไปจากนกฟีนิกซ์ในตำนานที่ทิ้งตัวในกองไฟให้ไฟเผาชำระล้างหรือลอกคราบเก่าๆออกแล้วทะยานขึ้นใหม่สดสวยและบริสุทธิ์หมดจดเต็มไปด้วยพลังชีวิตใหม่ๆ. เป็นปริศนาธรรมให้คนเช่นกัน หากเอาชนะใจตนเอง ชนะความยึดติดเก่าๆได้ ก็เหมือนเกิดใหม่สู่ความตระหนักรู้ จิตโปร่งใส บางเบาไร้กิเลสตัณหา.
จิตรกรรม Les Paons ผลงานของ Jan Breughel อีกเช่นกัน ตอนมารมายั่วล่อใจให้อีฟเด็ดผลไม้ต้องห้ามและเชิญชวนให้อาดัมกินด้วย. ภาพในสวนสวรรค์ ที่สรรพชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข นกยูงหยุดดูอยู่ใกล้ๆอีฟ เป็นพยานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น. มารในร่างงู มวนตัวอยู่บนกิ่งต้นไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่ว.  ศาสนาคริสต์มิได้เน้นว่านกยูงเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับงูซาตาน ดังในตำนานของชนชาติอื่น ที่ทำให้เห็นงูกับนกยูงคู่กันเสมอ และนกยูงจะฆ่างูและกนงูได้อย่างง่ายายด้วย.
จิตรกรรมภาพนี้ ชื่อ L’Air ผลงานของ Giuseppe Arcimboldo, 1582. ภาพแสดงธาตุลมหรืออากาศ (หนึ่งในภาพที่แสดงธาตุสี่อันมีดิน น้ำ ลม ไฟของจิตรกร) เป็นภาพที่เหนือความเป็นจริง (surrealistic) เป็นศิลปะที่ล้ำยุคสมัยศตวรรษที่ 16 นั้น. การใช้นกแทนธาตุลมนั้น ชัดเจนเพราะเป็นสัตว์ที่มีปีก ที่สามารถทะยานขึ้นเหนือพื้นดินสู่อากาศได้ จึงแทนสภาวะของลมที่เคลื่อนไหวไปมาในอากาศ.  จิตรกรรวมนกจำนวนมากหลายสิบประเภทเข้าประกอบกันเป็นท่อนบนด้านข้างของคน. มีนกยูงรำแพนเป็นฐาน เหมือนเป็นเสื้อคลุมบนบ่าลงไปถึงบริเวณหน้าอก. ยังมีนกอื่นอีกสองตัวในบริเวณนี้. นกห้าชนิดประกอบกันเป็นใบหน้า และนกอีกจำนวนมากเป็นส่วนหัวและผม. นกยูงในภาพนี้โดดเด่นที่สุดในบรรดานกทั้งหลาย ถือว่าเป็นนกที่มีสกุลรุนชาติ เป็นราชาแห่งนกทั้งมวล. ส่วนนกอื่นๆนั้นเข้าเป็นส่วนหนึ่งของนกที่เป็นเหยื่อสำหรับล่าในเกมส์ล่าสัตว์ที่นิยมกันมากในยุคนั้นในหมู่ชนชั้นสูง รวมถึงการจับเหยี่ยวมาเลี้ยงและสอนให้ล่านกแทนด้วย (เรียกว่า la fauconnerie หรือ falconry ที่เริ่มมานานแล้วตั้งแต่ต้นคริสต์กาลและนิยมแพร่หลายมากขึ้นๆในยุคกลาง ทั้งในหมู่ชาวโรมัน ชาวอาหรับ ชาวโกล จนมาถึงชาวยุโรป. ศิลปะการล่านกด้วยเหยี่ยวนี้ ขึ้นทะเบียนยูเนสโก้เป็นมรดกวัฒนธรรมอรูปะของมนุษยชาติตั้งแต่ปี 2010). นกเป็นอาหารสัตว์ปีก เป็นโปรตีนของสามัญชนด้วย. ภาพนี้นักวิจารณ์ศิลป์สรุปไว้ว่า น่าจะเป็นการนำเสนอภาพสัตว์ปีกทั้งหลายที่โยงต่อไปถึงเกมส์การล่าสัตว์ของชนชั้นสูงในยุคนั้น(และที่ยังต่อมาจนถึงยุคปัจจุบันด้วย) และการเลี้ยงเหยี่ยวเพื่อล่าสัตว์ดังอธิบายมา.
ในมุมมองของข้าพเจ้าเอง เห็นนกจำนวนมากมารวมกันเช่นนี้ อดคิดไม่ได้ว่า หากวันหนึ่งบรรดานกทั้งหลายบนโลกรวมหัวกันและส่งเสียงร้องพร้อมกันแล้ว คงเป็นกลียุคแน่ๆ. คลื่นเสียงที่เกิดขึ้นฉับพลัน อาจทำลายความสมดุลของธรรมชาติได้ทั้งในแนวตั้ง แนวนอนและแนวลึก และเราคงอดประหวั่นพรั่นพรึงมิได้ หากอยู่ในสภาพเมื่อนกทั้งหลายลุกฮือเข้าทำร้ายคน ดังที่นักเขียนฝรั่งเศส Daphné du Maurier จินตนาการไว้ในเรื่องนก (Les Oiseaux, 1952) และที่ Alfred Hitchcock นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เขย่าขวัญเรื่อง The Birds (1963). ปัจจุบันเราได้ยินได้เห็นปรากฎการณ์แปลกๆของนกหรือแมลงที่รวมกันเข้าทำร้ายทุ่งข้าวหรือไร่นา ไม่มีอะไรประกันว่าจะไม่เข้ารุกเร้าทำร้ายคนในอนาคตอะไรๆดูเหมือนจะเกิดขึ้นได้เสมอ. เป็นโอกาสแทรกเข้าตรงนี้ว่า จงอยู่อย่างไม่ประมาท เอวัง.
      นกเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ในความเชื่อหรือศรัทธา ในการกินอยู่ ภาพนกดลใจให้สร้างสรรค์เป็นกวีนิพนธ์หรือเพลง เป็นภาพวาด เป็นประติมากรรม เป็นสำนวนภาษาฯลฯ. ชาวอักษรฯหรือจะจำ เรื่อยๆมาเรียงๆ นกบินเฉียงไปทั้งหมู่…” ของเจ้าฟ้ากุ้งไม่ได้, หรือไม่เคยร้องเพลง วิหคเหิลม คงไม่มีเป็นต้น. ดูเหมือนว่า สำนวนไทยนำคุณสมบัติที่ดีของนกมาใช้มากกว่า  นอกจากสำนวนที่คิดได้ในนาทีนี้ เช่น พูดเสียงดังเหมือนนกกระจอกแตกรัง หรือ พูดเป็นนกแก้วนกขุนทอง. ในภาษาตะวันตก มีสำนวนนัยลบอยู่ไม่น้อย เช่นเปรียบผู้หญิงเหมือนขนนกล่องลอยไปตามลม ที่หมายถึงความรวนเร ไม่จริงใจ ไม่ใส่ใจอะไรทั้งสิ้น เธอเปลี่ยนน้ำเสียงง่ายดายเหมือนเปลี่ยนความคิด(หรือเปลี่ยนใจ) ฯลฯ (เช่นในเพลงโอเปร่าของ Verdi เรื่อง Rigoletto, Act III ที่ขึ้นต้นว่า La donna è mobile, Qual piuma al vento muta d’accento e di pensiero… )  เช่นเดียวกับในสำนวนฝรั่งเศสที่ว่า une femme volage (volage มาจากรากคำ voler ที่แปลว่า บิน) จึงหมายถึงผู้หญิงที่ไม่จริงใจ โลเล จนเป็นแบบชอบเล่นชู้เล่นรัก. (ยังมีคำอื่นที่ใช้ volage ประกอบเป็นคุณศัพท์ด้วยเช่น coeur, esprit, la jeunesse). การเปรียบเทียบนกกับคน อาจเป็นหัวข้อศึกษาสำหรับนิสิตต่อไปได้ หากสนใจ.
      ศาสนาคริสต์ในยุคแรกๆก็ได้นำค่านิยมเรื่องดวงตาของ Argus มาใช้และเปรียบกับพระผู้เป็นเจ้าว่าเป็นผู้เห็นไปทั่วทุกทิศ (the omnividence) และหยั่งรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง (the omniscience). ต่อมาราวปลายยุคกลาง ศรัทธาเริ่มเสื่อมเมื่อวิทยาการพัฒนาขึ้น การค้าขายเจริญพัฒนา คนยึดทรัพย์สินมากขึ้นเพราะบันดาลอะไรๆให้ได้ง่ายกว่า. คริสต์ศาสนากลับเบนไปเปรียบนกยูงว่าเป็นสัญลักษณ์ของความหยิ่งผยองและความหลง. ความคิดนี้ยังฝังแน่นมาจนทุกวันนี้ คนเลิกคิดถึงศักยภาพของการมีตาหลายตา แต่คุ้นเคยกับอุปนิสัยทะนงตนโอ้อวดในหมู่คน. สำนวนภาษาที่ยังใช้กัน เป็นหลักฐานยืนยันวิสัยทัศน์ใหม่ๆในสังคมตามกาลเวลา. ในภาษาฝรั่งเศส (รวมภาษาตะวันตกอื่นๆ) มีสำนวนในทำนองเดียวกันว่า fier comme un paon (ภาคภูมิใจเหมือนนกยูง) หรือ orgueilleux หรือ vaniteux comme un paon (หยิ่งผยอง ลำพอง ทะนงตน เหมือนนกยูง). ยังมีสำนวนว่า faire le paon (ทำตัวเป็นนกยูง) ในความหมายว่า โอ้อวดแบบยกตน(ข่มท่าน). ศาสนาคริสต์ประณามและจัดความหยิ่งผยองทะนงตนเป็นหนึ่งในบาปหนักเจ็ดชนิด (the seven deadly sins). 
     คนเลิกคิดถึงศักยภาพของการมีตาหลายตาที่เคยสื่อนัยการมองไกลมองลึกซึ้ง ปัจจุบันนี้การมีหลายตามุ่งไปในทางสอดรู้สอดเห็นในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง ในเรื่องส่วนตัว จนในที่สุดกลายเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคล ที่สร้างความเสียหายแก่ผู้อื่น (กรณี paparazzi). ชาวตะวันตกรุ่นใหม่ ไม่สนใจเรื่อง Hera ที่สั่งให้ Argus คอยติดตามพฤติกรรมของ Zeus เทพบดีสามีของเธอด้วยความหึงหวง. เรื่องของความหลง ความอิจฉาตาร้อนเป็นเรื่อง ในมุ้งไม่ดลใจ ไม่สร้างสรรค์ ไม่โรแมนติค ! (ว่างั้น). เพื่อนฝรั่งบางคนถึงกับบอกว่า ไม่ชอบนกยูงรำแพน ที่ทำก้อร้อก้อติกต่อหน้าตัวเมีย แบบ sans pudeur, sans discrétion. อาจเพราะวิสัยทัศน์แนวใหม่นี้เอง ที่ทำให้คนเลิกสนใจพูดถึงตานกยูง หรือเสนอภาพนกยูงรำแพนเต็มรูปแบบ เหลือเพียงการเน้นความยาวและสีสันของขนนกเท่านั้น.
       ถึงกระนั้นในมุมมองที่ลุ่มลึกของ รสายนเวท (หรือที่เรียกกันมาแต่โบราณว่า อัลเคมี alchemy) ปรากฎว่ามีหนังสือข้อมูล จารึกและภาพต่างๆจำนวนมากที่สื่อไปถึงการวิเคราะห์นกยูงไปไกลกว่าสิ่งที่ตาเห็นและหูได้ยิน (รูปลักษณ์ สีสัน เสียงนกยูง) และที่โยงต่อไปถึงการค้นหา ศิลานักปราชญ์” (philosopher’s stone ในความหมายของความรู้แก่นแท้เกี่ยวกับสรรพสิ่งที่ทำให้คนสามารถเปลี่ยนหรือเล่นแร่แปรธาตุได้ตามที่ปราชญ์โบราณค้นหาใฝ่รู้กัน) ซึ่งในยุคปัจจุบันน่าจะคือการเจาะเข้าถึงรหัสดีเอ็นเอของสรรพสิ่ง ที่จะเป็นกระดานกระโดดสู่ความรู้ด้านอื่นๆเกือบทุกด้านได้ในโลกของกายภาพ. ส่วนในโลกของจิตวิญญาณ พระอริยสงฆ์ทั้งหลายได้ตระหนักชัดเจนแล้วว่า พระธรรมทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้นั้นดีแล้ว ไม่มีอะไรยิ่งกว่า และคือแก่นแท้ที่เชื่อมโลกกายภาพกับโลกของจิตวิญญาณ). มุมมองเชิงอัลเคมีนั้น ข้าพเจ้ามิอาจนำมาแจกแจงหรือสรุปมาให้ได้ เนื่องจากไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้มากพอ.
ลานกว้างที่เห็นในภาพเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ในกรุงวาติกัน เป็นแนวกำแพงของอาคารหลังใหญ่และยาว เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ด้วย เรียกชื่อลานตรงนี้ว่า Cortile della Pigna (ลานผลต้นสน-pine cone คือคำ pigna ในภาษาอิตาเลียน) เห็นประติมากรรมผลต้นสนขนาดใหญ่ (สูงเกือบสี่เมตร) เป็นทองสัมฤทธิ์ตั้งเด่นตรงหน้าพื้นที่ที่เป็นแอ่งลึกครึ่งวงกลมมีหลังคาโค้งครึ่งวงกลม (ศัพท์สถาปัตยกรรมเรียกพื้นที่นอกอาคารแบบนี้ว่า exedra) สูงขึ้นเด่นเหนือหลังคาราบของอาคารทั้งหลัง. ประติมากรรมผลต้นสนนี้ เป็นแกนหลักของระบบน้ำพุระบบหนึ่ง น้ำไหลพุ่งออกจากยอดผลต้นสนและจากท่อที่กระจายรอบๆฐานของผลต้นสน. เรียกกันว่า Fontana della Pigna (น้ำพุผลต้นสน). น้ำพุนี้ดั้งเดิมตั้งอยู่ใกล้ Pantheon ติดกับวัด Iseum Campense  หรือ Temple of Isis เทพอีจิปต์ ที่เคยมีในกรุงโรมในศตวรรษที่1 BC. ชาวอีจิปต์โบราณโยงตานกยูงไปยังสุริยเทพ Amon-Ra ของพวกเขา ต่อมายังโยงไปถึงตาของเทพ Horus ด้วย (Eye of Horus) และผนึกค่านิยมเรื่องการฟื้นคืนชีวิตหรือการเกิดใหม่จากธรรมชาติของนกยูงที่ผลัดขนเปลี่ยนใหม่ทุกปี.
      ในยุคกลางประติมากรรมน้ำพุผลต้นสนนี้ ถูกย้ายไปอยู่ในสวนของมหาวิหารเซ็นต์ปีเตอร์ในกรุงโรม และย้ายไปตั้งที่ตรงนั้นในกรุงวาติกันเมื่อปี 1608. งานก่อสร้างพื้นที่ลานตรงนั้น ยาวทอดต่อไปติดกับ Cortile del Belvedere (สานสวนเบลเวเดเร) ทั้งหมดเป็นผลงานของ Pirro Ligorio. ระบบน้ำพุหยุดใช้การมานานแล้ว สองข้างผลต้นสน มีรูปปั้นนกยูงประดับ เป็นแบบลอกเลียนจากประติมากรรมนกยูงยุคโบราณที่ประดับสุสานของจักรพรรดิ Hadrian (117-138 AD). (สุสานของ Hadrian ปัจจุบันอยู่ที่ Castel Sant Angelo ส่วนนกยูงต้นแบบอยู่ในพิพิธถัณฑ์ Braccio Nuovo. ภาพนี้จาก http://brieonline.canalblog.com/archives/2015/08/23/32526795.html)
เมื่อพิจารณารายละเอียดของประติมากรรมน้ำพุผลต้นสน นกยูงสองข้างประติมากรรมผลต้นสน ฐานของผลต้นสนสวยงามด้วยประติมากรรมจำหลักนูนรอบทุกด้าน เหมือนประติมากรรมบนหัวบัว. ศิลปะเอเชียตะวันออกกลางโดยเฉพาะเปอเชีย นิยมเสนอภาพนกยูงสองข้างต้นไม้แห่งชีวิต เพื่อเน้นความหมายของจิตวิญญาณที่ไม่มีวันเสื่อม ไม่มีวันตาย กับสภาพจิตวิทยาของคนที่ต้องต่อสู้อยู่ภายในระหว่างชีวิตกับความตาย ระหว่างความดีกับความชั่ว ระหว่างความสุขกับความทุกข์, เป็นวงจรชีวิตที่ไม่สิ้นสุดเป็นต้น. วิสัยทัศน์ดังกล่าวหลอมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์คริสต์ศาสนาตั้งแต่เริ่มต้น. (มีผู้สนใจเทียบออกไปไกลตามมุมมองอันลึกลับของรสายนเวท ว่าผลต้นสนหรือ pinecone นั้นเป็นสัญลักษณ์ของ the pineal gland ซึ่งคือต่อมในสมองของสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง ทั้งยังเทียบต่อไปถึงตาที่สามของ chakra หรือตาที่สามของพระศิวะ เป็นตาของจิตวิญญาณ. ในที่นี้ เปิดให้คิดเอาเองว่า ทำไมเปรียบเช่นนั้น)
กระเบื้องโมเสกประดับด้วยนกยูงคู่หนึ่ง สองข้างต้นไม้ ที่อาจจะสรุปได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของต้นไม้แห่งชีวิต มีปลาว่ายไปในทิศทางเดียวกันในธารน้ำตอนบนและตอนล่าง. (น่าจะเป็นศิลปะโมเสกในตะวันออกกลาง บนดินแดนอิสลาม ไม่ทราบที่มา)

บนดินแดนอิสลาม นกยูงเป็นนกสัญลักษณ์ของจักรวาล ยิ่งเมื่อยูงรำแพน ยิ่งเห็นชัดเจน. บางทีก็หมายถึงพระจันทร์เต็มดวง หรือ จุดสูงสุดบนวงโค้งท้องฟ้า(zenith). แต่สถานะของนกยูงยังกำกวมเป็นสองนัยที่ตรงข้ามกันอยู่เสมอ. Ibn’Abbâs (618-687) ปราชญ์คนแรกที่ถ่ายทอดและถอดความหมายคำพูดของพระมะหะหมัด กล่าวว่า นกยูงเป็นนกตัวโปรดของ Iblis (Satan มารนี้เกิดจากไฟ พระเจ้าให้อยู่ในหมู่เทวดาบนสวรรค์ แต่ต่อมาถูกไล่ออก). นิทานโบราณเรื่องหนึ่งเล่าว่านกยูงเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับมารโดยไม่ตั้งใจ เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อพระเจ้าสร้างอาดัมขึ้น, Iblis ปฏิเสธไม่ยอมรับอาดัมและไม่ยอมโค้งคำนับอาดัม พระเจ้าจึงไล่ออกจากสวรรค์อีเด็น. มาร Iblis ประกาศว่าจะพยายามทุกทางที่จะล่อหลอกลูกๆหลานๆของมนุษย์อาดัม เพื่อเปลี่ยนใจพวกเขาจากพระเจ้า. พระเจ้ารับคำท้าของมารและจะลงโทษส่งไปอยู่นรกผู้ที่ไปฟังวาจาสามหาวของมารแทนการยึดมั่นในคำพูดของพระเจ้า. ตั้งแต่นั้นมารจึงคอยผจญคนเพื่อให้แผนของเขาบรรลุผล. มารคอยโอกาสที่จะเข้าไปในสวนสวรรค์อีเด็น. มารเห็นนกยูงเดินออกมา มารรู้ว่านกยูงเป็นสัตว์กินงู มารจึงแปลงตัวเป็นงูและพูดเยินยอนกยูงๆฟังเคลิ้มๆพออกพอใจในคำชม และกลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดของมารไปในที่สุด ด้วยการไม่กินงูมารนั้น ทั้งยังปล่อยให้งูเข้าไปในสวนสวรรค์ มารจึงเข้าประชิดหลอกล่ออีฟและอีฟหว่านล้อมอาดัม ในที่สุดทั้งสองผิดคำสั่งพระเจ้ากินผลไม้ต้องห้าม จึงถูกไล่ออกจากสวรรค์.  เหล่าเทวดาจับอาดัมโยนไปบนเกาะลังกา, อีฟถูกโยนไปที่เมือง Djeddah ในอาเรเบีย, ส่วนนกยูงถูกโยนลงไปที่เมือง Kaboul และงูไปอยู่แถวเมือง Isfahan. ตั้งแต่นั้นมา นกยูงจึงเศร้าเสียใจเสมอ. ความผิดพลาดของนกยูงที่หลวมตัวกลายเป็นผู้ช่วยมารนั้น มีอะไรที่พิเศษตามคติอิสลาม เพราะคนยังมีค่านิยมสูงเกี่ยวกับนกยูง และแม้ว่านกยูงไม่มีสถานะสูงส่งและชีวิตอมตะของนก Burâq (ฟีนิกซ์) ในขนบอิสลาม  นกยูงยังครองความเป็นหนึ่ง เป็นราชินีนกทั้งมวลในโลกมนุษย์. ที่น่าสังเกตคือศิลปินเพิ่มความงามของนกฟินิกซ์ด้วยการเติมขนยาวๆสีสวยๆเหมือนหางนกยูงให้ด้วย(โดยไม่มีตา) โดยเฉพาะในเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระมะหะหมัดผู้ขี่บนหลังนกขึ้นสู่ท้องฟ้า นกนั้นมีหางยาวย้อยสวยเหมือนนกยูง (ในศิลปะจีนธิเบตก็เช่นกัน นกฟีนิกซ์มีหางยาวหลากสี).
       นิทานอื่นๆบนดินแดนอิสลามเช่น พระเจ้าสร้างนกยูงขึ้นแล้ววางมันไว้บนต้นไม้ หลังจากนั้นก็สวดมนต์ด้วยการนับลูกประคำนานถึงเจ็ดหมื่นปี สวดเสร็จแล้วพระเจ้านำกระจกส่องหน้าให้นกยูงดูว่าหน้าตาตัวเองเป็นเช่นใด นกยูงปิติยินดีกับภาพของมัน ได้ก้มตัวคำนับพระเจ้าห้าครั้งด้วยความรู้คุณ. และนี่คือที่มาของการสวดห้าเวลาในหมู่ชาวมุสลิม. (สมัยนี้การตีความการสวดห้าครั้งในแต่ละวัน ไม่เกี่ยวกับนกยูงแล้ว).  อีกเรื่องหนึ่งเล่าว่า มาร (ซาตานหรือ Iblis ในเทวศาสตร์อิสลาม) มาล่อใจนกยูงว่า หากนกยูงช่วยให้เข้าไปในสวนสวรรค์ได้ มารจะบอกคาถาพิเศษสามอย่าง คือคาถาที่ทำให้นกยูงไม่เจ็บไม่ป่วย ไม่แก่และไม่ตาย. นกยูงหรือจะไม่ทำทุกอย่างเพื่อบรรลุความหวังสูงสุดของสรรพชีวิต ยิ่งเป็นชีวิตที่รูปสวยรวยทรัพย์ ก็ยิ่งต้องการยืดชีวิตออกไปไม่สิ้นสุด. แต่พระเจ้าผู้รู้ผู้เห็นเท่าทันทุกอย่างต้องลงโทษผู้ทำผิดกฎ. เมื่อการณ์เป็นเช่นนี้ นกยูงที่เคยเป็นนกที่สวยที่สุดในสวนสวรรค์ที่เคยมีเสียงร้องไพเราะเสนาะหู จึงถูกไล่ออกจากสวรรค์ ออกไปพร้อมๆกับงูและซาตาน. นกยูงยังสูญเสียเสียงอันไพเราะของมันด้วย กลายเป็นเสียงกรีดร้องเหมือนธนูคมกริบที่แหวกอากาศไปด้วยความเร็ว เมื่อเทียบกับความงามของรูปลักษณ์ เสียงนกยูงฟังน่าประหวั่นพรั่นพรึงมาก. ฟังเสียงนกยูงได้ในคลิปสุดท้ายตอนจบของเรื่องนี้.
      นิทานเกี่ยวกับนกยูงคล้ายๆกันในทุกประเทศบนดินแดนอิสลาม มีเพิ่มเรื่องหนึ่งจากตุรกีที่สอนใจ เมื่อสุนัขจิ้งจอกตกลงในบ่อสีย้อมผ้า มโนด้วยความหลงว่ารูปร่างมันมีสีสดสวยเหมือนนกยูงแล้ว จนสุนัขจิ้งจอกตัวอื่นๆอดรนทนไม่ได้ เย้ยออกไปว่าหากเหมือนนกยูง ก็ขอให้บินให้ดูสิ. สุนัขจิ้งจอกจึงรู้สำนึก.
      แม้นกยูงจะเป็นที่ชื่นชอบกันทั่วไป แต่ศิลปวัตถุที่มีรูปภาพของนกยูงเป็นองค์ประกอบกลับมีไม่มากนัก. ในยุคจักรวรรดิอ็อตโตมัน ศิลปะกระเบื้องเซรามิคของพวกเติร์กมีชื่อเสียงมากและมีรูปลักษณ์ธรรมชาติทุกแบบ ลวดลายต้นไม้ ดอกไม้ ใบไม้หรือแบบอาราเบซก์ก็มีจำนวนมาก กลับไม่ค่อยมีรูปนกยูงให้เห็นมากนัก ไม่มีภาพนกยูงรำแพน.
ตัวอย่างจานเซรามิค (Iznik dish) ศตวรรษที่ 16 เป็นแบบอย่างของเซรามิคสมัยอ๊อคโตมัน ลวดลายพืชพรรณหลายประเภท มีนกยูงตัวเดียวตรงกลางที่ดูเด่นน้อยกว่าลวดลายพืชพรรณ. ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Le Louvre กรุงปารีส.  ในฐานะที่นกยูงเป็นสัญลักษณ์ของราชนิกูล แต่กลับไม่โดดเด่นในศิลปะ นอกจากที่เปอเชียเท่านั้น.
อีกตัวอย่างหนึ่งของโมเสกที่เป็นภาพนกยูงรำแพน จากวัด Theodorias ที่ Qasr Libya. ภาพนี้ของ Marco Prins (ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขุดพบโบราณสถานที่ Qasr Libya ได้จากเว็ปนี้ >>
http://www.livius.org/articles/place/theodorias-qasr-libya/ )
 ของใช้ในวิถีชีวิตของชาวอาหรับ เชิงเทียนรูปนกยูง

    เปอเชียสนใจนกยูงมากกว่าชาติใดในแดนอิสลาม นกยูงดูจะกลายเป็นสัญลักษณ์อภิสิทธิ์สำหรับพระเจ้าชาห์เท่านั้น และเกี่ยวข้องกับบัลลังก์ที่ประทับของกษัตริย์เปอเชียเรื่อยมาจนถึงพระเจ้าชาห์องค์สุดท้าย คือ Mohammad Reza Shah Pahlavi ผู้ครองบัลลังก์อิหร่านระหว่างปี 1941-1979.  
     นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าเมื่อ Nader Shah ยกทัพไปรุกรานอินเดียในปี 1739 นั้นได้นำบัลลังก์ที่ประดับเพชรนิลจินดาจากอินเดียกลับไปอิหร่านสิบบัลลังก์ หนึ่งในนั้นคือ บัลลังก์มยุราของจักรพรรดิโมกุล. มีผู้เล่าต่อไปอีกว่า Nader Shah ชอบบัลลังก์มยุรามากจนสั่งให้สร้างอีกหนึ่งองค์ ให้เหมือนบัลลังก์มยุราของอินเดียทุกประการ สั่งให้ใช้เครื่องเพชรพลอยจากคลังหลวง. อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันไม่มีร่องรอยของบัลลังก์เหล่านี้เหลือเลย นักประวัติศาสตร์ลงความเห็นตรงกันว่า ทั้งหมดถูกทำลายไปเมื่อ Nader Shah สิ้นพระชนม์ในปี 1747. (History of Persia, vol. II, p.37)
       ในอิหร่าน มีบัลลังก์สามบัลลังก์ เรียกชื่อว่า บัลลังก์สุริยะ (The Sun Throne ที่รู้จักกันว่าบัลลังก์มยุราของอิหร่าน), บัลลังก์หินอ่อน (The Marble Throne) และบัลลังก์นาเดรี (The Naderi Throne). สองบัลลังก์แรก ส่วนที่เป็นที่นั่งยกขึ้นสูง คนนั่งนั่งคุกเข่าหรือนั่งขัดสมาธิ. บัลลังก์ที่สามเป็นแบบเก้าอี้ คือนั่งห้อยเท้าลงข้างหน้าได้ บัลลังก์ที่นั่งแบบนี้มีใช้ในอิหร่านโบราณตั้งแต่ราวศตวรรษที่ห้าก่อนคริสตกาลแล้ว และบัลลังก์ในราชวงศ์ Safavid (17th century) ยังเป็นเช่นนี้.
บัลลังก์สุริยะ (The Sun Throne) เห็นสัญลักษณ์ดวงอาทิตย์บนยอดของพนักหลัง
ในรัชสมัยของ Fath Ali Shah (ครองราชย์ระหว่างปี 1797-1834) พระองค์ได้สั่งให้สร้างบัลลังก์ใหญ่ขึ้นหนึ่งองค์ มีเจ้าเมือง Isfahan เป็นผู้ควบคุมบริหารการสร้าง ใช้ทองและพลอยเม็ดๆจากท้องพระคลัง บนยอดสูงของพนักหลังของบัลลังก์ประดับพลอยเป็นรูปดวงอาทิตย์ จึงเรียกบัลลังก์ว่า บัลลังก์สุริยะ. รูปลักษณะของพนักหลังจำลองวงกลมของหางยูงรำแพน. ต่อมาพระเจ้าชาห์อภิเษกสมรสกับ Tavous Khanoum Tajodoleh  ชื่อตัว Tavous ในภาษาเปอเชียแปลว่า นกยูง พระนางจึงมีชื่อเล่นว่า Lady Peacock พระเจ้าชาห์ทรงโปรดพระมเหสีมาก จึงเปลี่ยนชื่อบัลลังก์เป็นชื่อพระมเหสี เป็นบัลลังก์มยุรา (ประหนึ่งว่า พระนางคือผู้รองรับค้ำจุนพระองค์ หรือผู้คิดต่างอาจมองได้ว่า พระนางอยู่ใต้บังคับของพระสวามีอย่างสิ้นเชิง). บัลลังก์มยุราอิหร่านนี้ ทำให้หลายคนสับสนว่า คือบัลลังก์เดียวกับบัลลังก์มยุราของจักรพรรดิโมกุล. ความจริงเป็นคนละบัลลังก์กันแต่ชื่อพ้องกันเท่านั้น. ต่อมาในสมัยของ Nasser al-Din Shah ได้บูรณะบัลลังก์นี้ และเพิ่มบทกวีจารึกลงบนบัลลังก์ด้วย. บัลลังก์นี้เก็บไว้ที่พระราชวัง Golestan Palace จนถึงวันที่ 6 กันยายน 1980 เมื่อมีการย้ายบัลลังก์นี้ไปตั้งใต้หลังคาโค้งของธนาคารชาติแห่งสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน (the Central Bank of the Islamic Republic of Iran) และเปิดให้ประชาชนเข้าชมบัลลังก์และเครื่องเพชรนิลจินดา(ที่ยังเหลือ)ของจักรพรรดิอิหร่าน.
 ภาพ Nasser al-Din Shah ประทับบนขั้นบันไดของบัลลังก์มยุรา (สบายกว่านั่งพับขา)
 ภาพบัลลังก์สุริยะ ภายในพระราชวัง Golestan Palace
      พระเจ้าชาห์องค์เดียวกันได้สั่งให้สร้างบัลลังก์หินอ่อนขึ้นอีกหนึ่งบัลลังก์ในปี 1806  เป็นบัลลังก์ที่สองของอิหร่าน ขนาดใหญ่เหมือนเตียงนอนขนาด 5-6 ฟุตที่ยกขึ้นสูงเหนือพื้น.  บัลลังก์นี้สร้างแล้วเสร็จในรัชสมัยของ Nasser al-Din Shah (ขึ้นครองราชย์ในปี 1848–1896). หลังจากนั้น ก็ใช้บัลลังก์นี้ในพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์ราชวงศ์ Qajar ทุกพระองค์ และกษัตริย์ผู้ใช้บัลลังก์นี้องค์สุดท้ายคือ Mohammad Reza Shah Pahlavi ในปี 1925. บัลลังก์ประกอบด้วยแผ่นหินอ่อนสีเหลืองๆจากแคว้น Yazd ทั้งหมด 65 แผ่น. Mirza Baba Naqash Bashi จิตรกรประจำราชสำนักเป็นผู้ออกแบบ. Mohammad Ebrahim หัวหน้าช่างก่อสร้างเป็นผู้ควบคุมดูแลการสร้างร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากหลายแขนง ซึ่งรวมถึงการจัดพื้นที่นอกชานตรงนั้นให้ดูงามสมดุลและสอดคล้องกับความภูมิฐานของบัลลังก์ด้วย. ถือกันว่าเป็นตัวอย่างสุดยอดของสถาปัตยกรรมและงานช่างฝีมือของอิหร่าน. บัลลังก์นี้เป็นสมบัติล้ำค่าของอิหร่าน ตั้งอยู่กลางพื้นนอกชานในพระราชวัง Golestan Palace. น่าสนใจว่าชื่อพระราชวังนี้ แปลตามตัวคือ พระราชวังดอกไม้. เป็นตัวอย่างสุดยอดของศิลปะ การช่างและสถาปัตยกรรมของเปอเชียยุค Qajar ที่ปกครองอิหร่านในระหว่างปี 1785-1925 เป็นผู้ตั้งเมืองหลวงที่ Tehran. พระราชวังนี้ได้ขึ้นทะเบียนยูเนสโก้เป็นมรดกโลกในปี 2013 ในฐานะที่เป็นแบบอย่างอันทรงคุณค่าที่งามสมดุลและที่รวมเอกลักษณ์ดีเด่นของเปอเชียกับรูปแบบจากสถาปัตยกรรมยุโรปตะวันตกที่วิวัฒน์ขึ้นในอิหร่าน ได้อย่างสมดุลกลมกลืนเป็นเอกภาพ.
 บัลลังก์ที่สอง เป็นบัลลังก์หินอ่อน (The Marble Throne)
ภาพของ Lucca Galuzzi ปี 2016.
พระราชวัง Golestan Palace กรุง Tehran มรดกโลกตั้งแต่ปี 2013.
ที่วังเดียวกัน ยังมีบัลลังก์หินอ่อนอีกหนึ่งบัลลังก์ (เรียกว่า Karim Khani Nook, สร้างขึ้นก่อนในราวปี 1759) ขนาดเล็กกว่าบัลลังก์ที่สองข้างบน และเป็นแบบเรียบง่ายกว่า ดังภาพข้างล่างนี้ เป็นมุมสงบน่าอภิรมย์มากใต้หลังคาทรงกลม. มีแผ่นหินอ่อนที่จำหลักภาพเหมือนของ Nasser al-Din Shah ผู้โปรดปรานประทับที่นั่นมากกว่าที่ใดในพระราชว้ง.
 บัลลังก์ Karim Khani Nook, 1759
ส่วนบัลลังก์ที่สามมีชื่อว่า บัลลังก์นาเดรี(The Naderi Throne) คนอาจแกะแยกและถอดเป็นชิ้นเป็นส่วนได้สิบสองส่วน เพราะสร้างขึ้นเพื่อให้นำติดตามกษัตริย์ไปทุกแห่งหนที่พระองค์ไปประทับพักร้อน. ตัวบัลลังก์เป็นไม้หุ้มทองและฝังเพชรพลอยต่างๆ. ความเป็นมาของบัลลังก์นี้ไม่ชัดเจน ไม่มีใครรู้รายละเอียด ชื่อก็ทำให้สับสน. บนบัลลังก์นาเดรี มีบทกวีจารึกไว้ที่เจาะจงชื่อ Fath Ali Shah. จากสมุดบันทึกของนักเดินทางที่มีโอกาสเข้าไปในราชสำนักของ Fath Ali Shah ยุคนั้น ได้เอ่ยถึงบัลลังก์คล้ายๆกันนี้ ต่อมาอาจมีการบูรณะซ่อมแซมบัลลังก์นี้ในสมัยของ Nasser al-Din Shah. แต่คนก็ยังสงสัยว่า ทำไมจึงเรียก บัลลังก์นาเดรี ถ้าไม่ใช่เป็นบัลลังก์ที่ Nader Shah นำมาจากอินเดีย? คำตอบที่สรุปกันมาคือ คำสามัญนาม nader ในภาษาเปอเชีย แปลว่า ของหายาก เป็นหนึ่งเดียวไม่มีสอง ชื่อบัลลังก์จึงน่าจะบอกคุณสมบัตินี้ มากกว่าโยงไปถพระเจ้า Nader Shah ผู้ไปยึดบัลลังก์มยุราของโมกุลมาจากอินเดีย.
       บัลลังก์นาเดรีสูงราว 225 เซนติเมตร มีพลอยประดับทั้งหมด 26,733 เม็ด มีพลอย spinels ขนาดใหญ่เป็นพิเศษ 4 เม็ดๆใหญ่ที่สุดราว 65 การัต, มีมรกตขนาดใหญ่อีก 4 เม็ดๆใหญ่ที่สุดราว 225 การัต, ทับทิมเม็ดโตที่สุดบนบัลลังก์หนัก 35 การัต. รูปประดับเช่นเป็ด มังกร ใบไม้ กิ่งไม้และแน่นอนมีนกยูงด้วย. ลักษณะของพนักพิงหลังแผ่ออกเกือบเป็นวงกลมเลียนลักษณะของหางยูงรำแพน ประดับด้วยอัญมณีขนาดใหญ่ให้เหมือนดวงตาบนขนนกยูง. แนวขอบของบัลลังก์ก็โค้งสวยตามแบบลำคอถึงลำตัวของนกยูง. ด้านหน้าตรงที่วางเท้า เคยมีสิงโตหน้าตาเชื่องๆหมอบอยู่สองตัว. ในภาพข้างล่างนี้ไม่เห็นสิงโต.
บัลลังก์นาเดรี (The Naderi Throne) นี้นำมาใช้ครั้งล่าสุดในปี 1967  ในพิธีราชาภิเษกของชาห์ Mohammad Reza Shah Pahlavi (26 ตุลาคม 1967). ภาพที่เห็นข้างบนนี้ คือบัลลังก์นาเดรี. พระเจ้าชาห์นั่งบนบัลลังก์นี้ในระหว่างพิธีอภิเษกสมรสกับพระราชินี Farah Diba (ภาพจาก flickr.com) ได้สวมมงกุฎแต่งตั้ง Farah Diba เป็นจักรพรรดินี (ภาพจากปกวารสาร Paris Match) ฉบับที่ 970 วันที่ 11 พฤศจิกายน 1967. ในภาพข้างล่างนี้ เห็นด้านหลังของ Farah Diba คุกเข่าตรงหน้า Shah ผู้สวมมงกุฎให้.
มีเอกสานยืนยันว่า จนถึงรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ Mohammad Reza ไม่เคยมีพิธีสวมมงกุฎแต่งตั้งพระมเหสีของกษัตริย์อิหร่านมาก่อน.  พระราชินี Farah Diba เป็นพระราชินีพระองค์แรก เช่นนี้จึงทำให้เกิดการเนรมิตมงกุฎของพระราชินีอิหร่าน. พระเจ้าชาห์ได้มอบให้ผู้ผลิตอัญมณีชาวฝรั่งเศส Van Cleef & Arpel เป็นผู้ออกแบบและทำขึ้น.
ชมมงกุฎของทั้งสองพระองค์
(ติดตามอ่านต้นแบบของบัลลังก์มยุราได้ในตอนท้ายเรื่องของนกยูงในอินเดีย).

นกยูงหรือมยุราเป็นนกมงคลชนิดหนึ่งในอินเดีย. เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ปี 1963 อินเดียประกาศใช้นกยูงเป็นนกประจำชาติ ด้วยความเห็นชอบของสถาบันอนุรักษ์สัตว์ป่าและองค์กรรัฐบาลอินเดียทั้งหมด ที่ได้รวมความเห็นจากสื่อมวลชนทั้งหมดด้วย. การเลือกนกประจำชาตินี้ เป็นผลที่สืบเนื่องกับการประชุมนานาชาติเกี่ยวกับการอนุรักษ์นกที่จัดขึ้นที่กรุงโตเกียวในเดือนพฤษภาคมปี 1960 (International Council for Bird Preservation). นกยูงเกี่ยวพันใกล้ชิดกับวัฒนธรรมศาสนา ตำนานความเชื่อโบราณและขนบจารีตประเพณีต่างๆที่ฝังรากหยั่งลึกมานานในอินเดีย. เราคงเคยเห็น (จากจิตรกรรม ภาพวาดหรือแม้ในภาพยนต์อังกฤษหรือฮอลลีวู้ด) ภาพเจ้านายอินเดียมีขนนกยูงประดับผ้าโพกศีรษะ หรือเห็นพัดขนนกยูงที่ชาวอินเดียใช้พัดโบกเจ้านายหรือเจ้าชายทั้งหลาย. นกยูงเป็นสัญลักษณ์ของราชนิกูลสมัยจักรวรรดิโมกุล (Babur เป็นผู้สถาปนาราชวงศ์โมกุล ที่จะปกครองอินเดียต่อไประหว่างปี 1526-1857).
      ตำนานอินเดียเรื่องหนึ่งเจาะจงว่า มยุราเกิดขึ้นจากขนนกของพญาครุฑ(พาหนะของพระวิษณุ) เราคุ้นเคยกับการต่อสู้ระหว่างครุฑกับนาค ส่วนนกยูงปรากฏคู่กับงู ให้นัยของวงจรเวลา วงจรชีวิต. เรื่องนกยูงนั้น ยังมีตำนานอื่นเล่าว่า ดั้งเดิมนกยูงตัวผู้มีขนนกสีน้ำตาลด้านๆไม่สดใส จึงไม่ต่างกับนกยูงตัวเมีย  แต่หางตัวผู้ยาวกว่าหางตัวเมีย ความยาวของหางจึงเป็นสิ่งชี้บอกเพศของนกยูง วันหนึ่งยูงตัวผู้เห็นพระอินทร์วิ่งผ่านไปอย่างรวดเร็วราวกับกำลังหนีอะไร จึงถามพระอินทร์ว่าวิ่งหนีใคร ผิดวิสัยมหาเทพอินทรา พระอินทร์เลือกที่จะไม่ต่อกรกับใครถ้าไม่จำเป็น นกยูงเข้าใจเจตนารมณ์ของพระอินทร์ จึงยกหางขึ้นแผ่ออกเป็นวงกลมกว้าง บังองค์พระอินทร์ไว้ ทศกัณฑ์(ในชาติหนึ่ง)ผู้กวดไล่ตามพระอินทร์ (อาฬวก หรือ Râvana ในภาษาอังกฤษ ไม่แน่ใจ?) ผ่านนกยูงไปโดยไม่สังเกต พระอินทร์ซาบซึ้งใจจึงดลบันดาลให้ขนนกยูงงดงามหลากสีสันไปถึงปลายขน. เล่ากันมาด้วยว่า นกยูงได้กลายเป็นผู้ถือสารของพระอินทร์ตั้งแต่นั้นมา บางทีก็เห็นพระอินทร์นั่งบนบัลลังก์นกยูง. (ไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมกว่านี้)
      อีกตำนานหนึ่งเล่าคล้ายๆกันว่าเดิมขนนกยูงสีน้ำตาลๆตุ่นๆ ไม่สวยสดงดงามเลย เดินหาอาหารกินไปตามประสานก. วันหนึ่งเจอฝูงงูพิษ นกยูงไม่เสียเวลาปล่อยให้พวกงูแผ่พังพานทำร้ายตน มันเขมือบงูทั้งหลายลงท้องไปทั้งตัว แน่นอนรวมต่อมน้ำพิษของงูด้วย. หลังจากนั้นก็ค่อยๆย่อยศัตรูที่กลายเป็นอาหารของมัน. เมื่อต้องย่อยสลายสารพิษ นกยูงเริ่มสั่น สั่นเหมือนเจ้าเข้าไปทั้งตัวอย่างรุนแรง จนเมื่อสารพิษหมดฤทธิ์แล้ว ขนนกยูงสีด้านๆนั้นทอประกายหลากสีประหนึ่งสีรุ้ง. นอกจากขนนกทั้งตัวที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง นกยูงยังมีร่างกำยำขึ้นกว่าเดิม เป็นนกยูงที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน. 
     หากมองนกยูงให้เป็นปริศนาธรรมตามลัทธิฮินดูหรือตามพุทธศาสนา นิทานนกยูงกับงูนี้ สอนให้ตระหนักรู้ทุกสิ่งตามความเป็นจริง นกยูงรู้ว่างูที่เห็นเป็นงูพิษ ถ้ารีรอชักช้า ก็จะตกเป็นเหยื่องู ทางเดียวคือสู้ไม่ถอย. ไม่ผิดกับชีวิตคนผู้มีโลภ รัก โกรธ หลง เป็นศัตรูมายั่วยวนท้าทายให้จิตหวั่นไหว มีขันธ์ห้าที่เป็นตัวกำหนดทิศทางชีวิตและการกระทำในแต่ละขณะ. หากไม่เข้าไปพิจารณาธรรมชาติเนื้อแท้ของสิ่งที่มากระทบ ก็ตกเป็นเหยื่อ ไม่มีวันหลุดออกมาได้ วิญญาณถูกกัดกร่อน หมดความสงบสุข. หากตัดสินใจเผชิญหน้ากับมันตรงๆ ศึกษาให้รู้จักศัตรูและห้ำหั่นมันไปทีละเปลาะๆ สู้กับมันเหมือนนกยูงที่ย่อยสลายพิษงู เมื่อทำได้สำเร็จ เมื่อคนหลุดจากกองขันธ์ห้า จิตสงบ โปร่งใส งดงามและอิ่มเอิบ. ภาพนกยูงเหยียบเหนืองูจึงเตือนและสอนให้สู้กับจิตใฝ่ต่ำทั้งหลายทั้งปวง. เพื่อบรรลุความงามมหัศจรรย์ไร้ที่ติเหมือนนกยูง ก็ต้อง อยู่และสู้อย่างยูง.
      นกยูงมีสถานะที่พิเศษมากในอินเดีย คนเคยเชื่อกันว่า หากเห็นยูงรำแพน ฝนจะตก. ชาวอินเดียมักมีขนนกยูงติดบ้านหรือประดับบ้าน ด้วยความเชื่อว่ามันนำโชคลาภเข้าบ้าน  ขับไล่แมลงวันและแมลงอื่นออกไปจากบ้าน. ชาวอินเดียยังโยงมยุราไปถึงพระลักษมีเทวี (พระมเหสีของพระวิษณุ) ผู้เป็นภาพลักษณ์ของความงาม เป็นตัวแทนของความเมตตาปราณี ความอดทน ความเห็นอกเห็นใจพร้อมประสาทพรให้.  พระกฤษณะมีขนนกยูงประดับบนมงกุฎ เป็นต้น.  
พระกฤษณะและพระลักษมีเทวี มีขนนกยูงประดับบนพระเศียร
ในเทพตำนานของฮินดู มีนกยูงรวมอยู่ด้วยเสมอ เป็นพาหนะเฉพาะของเทพหลายองค์ เช่นพระสุรัสวดี, พระขันทกุมาร. การแทรกนกยูงเข้ารวมกับเทพใด เพื่อบอกให้รู้ทางอ้อมว่า เทพองค์นั้นๆมีคุณสมบัติพิเศษอะไร ที่นอกจากความงามและสีสันที่ชัดเจนว่าเหนือกว่านกใดแล้ว (และตำนานจากหลายวัฒนธรรมต่างยืนยันว่านกยูงมีอายุยืนมากด้วย) มีดวงตาที่มองได้กว้างไกลกว่า เข้าใจได้ลึกซึ้งกว่า และมีความระมัดระวังตื่นรู้เหมือนมีตาจำนวนมากเท่าตาบนตัวนกยูง. ตามที่ปรากฏในมหากาพย์มหาภารตะ พระสุรัสวดีมีนกยูงเป็นพาหนะ พระนางเป็นเทวีแห่งพระเวททั้งปวงเพราะอุบัติขึ้นพร้อมๆกับคัมภีร์พระเวท  จึงเป็นเทวีแห่งศาสตร์วิชาและศิลปวิทยาทุกแขนง. พระสุรัสวดีได้มาเป็นสัญลักษณ์ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภาพเทวีสุรัสวดี ฝีมือของ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต จาก palungjit.com
      นกยูงเป็นพาหนะของ สกันทะ(หรือพระขันทกุมาร) เทพเจ้าแห่งสงคราม ราชโอรสองค์หนึ่งของพระศิวะ. (สำนวน "ขุนกล้าขี่นกยูง ใน โองการแช่งน้ำ หมายถึง พระขันทกุมาร). สกันทะมีหกหน้าสิบสองกร. สง่าดังพระสุริยะ ผิวพรรณงามดั่งพระจันทร์. เรื่องราวของสกันทะหรือพระขันทกุมารผู้เป็นเทพเจ้าแห่งสงครามนั้น เล่ากันมาว่า
     อสูรตาระกากษัตริย์แคว้นตรีปุระ บำเพ็ญฌานบารมีแก่กล้ายาวนานกว่าร้อยปีสวรรค์ จนร้อนไปถึงพรหมโลก จักรวาลก็สั่นสะเทือนโกลาหล. พระพรหมทนความร้อนไม่ได้ จึงเสด็จลงมาประทานพรให้กษัตริย์อสูร ผู้ขอให้ตนมีชีวิตอมตะ แข็งแกร่งไม่มีผู้ใดในไตรภพเทียบได้ และไม่มีอะไรหรือใครจะสังหารได้ นอกจากโอรสของพระศิวะเท่านั้น. อสูรตาระกาขอเช่นนั้นไว้เพราะรู้ว่าพระศิวะกับพระแม่อุมาไม่มีโอรส. เมื่อได้พรอมตวิสัยแล้ว กษัตริย์อสูรตาระกา ก็เริ่มอาละวาดไปทั่วจักรวาล ถึงกับเข้ายึดวิมานและทรัพย์สินของพระอินทร์ไปจนหมด หรือเปลี่ยนกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เช่นบังคับให้พระอาทิตย์ดับแสงไร้ความร้อน ให้พระจันทร์ลอยค้างอยู่บนท้องฟ้า บังคับลมให้เปลี่ยนทิศทาง. สร้างความเดือดร้อนโกลาหนไปทั่วทั้งโลกสวรรค์และโลกมนุษย์. ทวยเทพทั้งหลายรวมทั้งพระวิษณุพากันไปขอความช่วยเหลือจากพระศิวะเทพ ร่วมกันเปล่งวาจาสรรเสริญพระบารมี จนพระศิวะต้องปรากฎองค์. ได้เห็นความเศร้าหมองของเหล่าทวยเทพ และทราบเรื่องอสูรตาระกา. เทพเทวาทั้งหลายในสวรรค์ได้รอการประสูติของราชโอรสของพระศิวะเทพมาแล้วพันปี จึงมาเข้าเฝ้าขอพึ่งพระองค์. เมื่อเป็นเช่นนี้ พระศิวะเทพได้แบ่งน้ำเชื้อของพระองค์ให้หยดหนึ่ง น้ำเชื้อนั้นมีความร้อนสูงมาก ได้ร่วงลงสู่ดิน พระอัคนีรีบแปลงกายเป็นนกเขากลืนน้ำเชื้อนั้น แต่ทนความร้อนแรงของน้ำเชื้อพระศิวะเทพไม่ได้ จึงคายลงในแม่น้ำ. พระศิวะแนะให้เอาน้ำเชื้อนั้นไปใส่ในครรภ์ของผู้หญิงแทน หญิงคนนั้นต้องอาบน้ำในเช้าตรู่วันแรกเดือนมาฆะ. วันนั้นปรากฏมีภริยาหกคนของพระฤาษีได้ไปอาบและแช่น้ำ น้ำเชื้อของพระศิวะเทพซึมตามรูขุมขนของนางทั้งหก (เหลือภรรยาอีกหนึ่งคนที่ไม่ได้ไปอาบน้ำวันนั้น) เกิดเป็นตัวอ่อน นางทั้งหกถูกพระฤาษีขับไล่ออกจากอาศรม. ตัวอ่อนในครรภ์ของนางทั้งหก ทำให้พวกนางร้อนรนทนไม่ไหว ต้องทำลายน้ำเชื้อนั้นด้วยการเหวี่ยงลงในแม่น้ำคงคา.  แม่น้ำคงคาเองก็เหวี่ยงตัวอ่อนไปตกในพงหญ้าริมฝั่ง. ตัวอ่อนเหมือนได้ชุบตัวจากแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ จึงปรากฏร่างเป็นทารกน้อยในพงหญ้านั้น. ครานั้นพระพรหมรู้ด้วยญาณว่า พระโอรสของศิวะเทพถือกำเนิดขึ้นแล้ว เร่งให้พระฤาษีวิศวามิตรไปประกอบพิธีให้กับราชโอรสน้อย. เมื่อพระฤาษีไปถึง ทารกพูดขึ้นทันทีว่า ขอให้พระฤาษีจงประกอบพิธีทางศาสนาเพื่อชำระร่างกายให้บริสุทธิ์ตามกฎแห่งพระเวทเถิด. 
      ฝ่ายพระอัคนีผู้เคยอมน้ำเชื้อไว้ รีบมายังพงหญ้าริมฝั่งแม่น้ำคงคาและมอบคทาศักดิ์สิทธิ์แก่พระกุมาร. ทันทีที่รับคทา พระกุมารเหาะขึ้นไปเหนือเขาลูกหนึ่งและฟาดคทาลงบนเขาลูกนั้น เพื่อพิสูจน์ศักยภาพทั้งของคทาและของพระองค์. ภูเขาแหลกลงและแยกออก ปรากฏเหล่าปีศาจจำนวนสิบโกฏิโผล่ขึ้นมาซึ่งพระกุมารก็สังหารจนสิ้น.
      ฝ่ายนางกฤตติกา (ชื่อกลุ่มดาวหกดวงจากหญิงหกคนที่เคยรองรับน้ำเชื้อพระศิวะเทพ) ได้ไปสรงสนานที่แม่น้ำคงคาและเห็นพระกุมารในกอหญ้า บังเกิดความรักใคร่เอ็นดูจึงพาพระกุมารไปยังดินแดนของนาง. พระกุมารเห็นความรักของนางทั้งหกผู้โอบอุ้มเลี้ยงดูเป็นแม่นม จึงบันดาลแยกร่างเป็นหกองค์ (บางตำราบอกว่า แยกพระพักตร์เป็นหก สำหรับหกนาง เพื่อมิให้เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจกัน และได้ดูดนมจากนางทั้งหก จึงมีรูปพระขันทกุมารหกพักตร์) พระกุมารกลายเป็นลูกรักของนางกฤตติกา.
 
 ภาพจาก Wikimedia.org
      ฝ่ายพระแม่อุมาเทวี(หรือปารวตี พระมเหสีของพระศิวะเทพ) เกิดมีน้ำนมไหลออกจากเต้านมสองข้าง ทำให้พระนางเข้าใจว่าพระโอรสถือกำเนิดแล้ว ไต่ถามเรื่องน้ำเชื้อของพระศิวะและให้ออกตามหาพระกุมารโดยด่วน. พระศิวะได้ไต่ถามทวยเทพทั้งหมด และตามไปจนรู้เรื่องกลุ่มดาวนางกฤตติกา จึงส่งพระวิศวกรรมนำเทพบริวารทั้งหลายไปรับพระราชโอรสกลับมายังเขาไกรลาส. การต้อนรับเป็นไปอย่างเอิกเกริก มีการนำหม้อน้ำหลายร้อยใบบรรจุแม่น้ำคงคามาชำระล้างพระกุมาร. เหล่าทวยเทพทั้งมวลได้มอบของขวัญถวายพระขันทกุมารเป็นจำนวนมาก. ในที่สุดพระขันทกุมารได้ไปปราบอสูรตาระกาสำเร็จ ได้สังหารผ่าตัวยักษ์ออกเป็นสองส่วน เกิดนกยูงโผล่ขึ้นจากลำตัวยักษ์ส่วนหนึ่ง กลายเป็นพาหนะของพระขันทกุมารชื่อว่า ปรวาณี  และไก่แจ้โผล่ขึ้นจากลำตัวอีกส่วนหนึ่ง. อสูรตาระกาถูกปราบสูญสิ้นจากแผ่นดิน ความสงบสุขกลับคืนสู่สรวงสวรรค์และจักรวาล. (ทำไมนกยูงกับไก่แจ้ ? ข้าพเจ้าคิดว่า สัตว์ทั้งสองเป็นสัตว์ปีก การมีปีกอาจเก็บนัยของความสามารถในการบินพ้นจากพื้นดิน ที่อาจโยงไปถึงความหวังและความฝันของสัตว์เดินดิน เช่นนี้ไก่แจ้ที่มีชีวิตสามัญในหมู่คน เป็นอาหารของคน กับนกยูงที่มีความงามและศักดิ์ศรีเหนือกว่าไก่แจ้ และเป็นสัตว์ตัวโปรดของเทพเจ้าหลายองค์ และเคยใช้ชีวิตในสรวงสวรรค์มาแล้ว ทั้งสองอาจโยงไปถึงสองลักษณะของอสูร ที่โดยกำเนิดเป็นใหญ่ได้เพียงบนพื้นโลก แต่ด้วยความพยายามในการบำเพ็ญฌาน สามารถยกระดับตัวเองขึ้นเป็นผู้อมตะในหมู่ทวยเทพ. หากความหวังของอสูรหยุดอยู่เพียงการมีอมตวิสัย อสูรก็คงมีชีวิตไปชั่วนิรันดร์ แต่ความหลงของอสูรกลับเพิ่มพูนไปถึงการทำลายระบบจักรวาลของทวยเทพ จึงกลายเป็นเหตุของจุดดับของอสูรในที่สุด. ไม่ว่าในลัทธิใด อารยธรรมใด ความหลงมีผลเหมือนกันและจบลงที่ความฉิบหายหรือความตาย.)
      ากตำนานเทพฮินดูดังกล่าว พระขันทกุมารจึงปรากฏในบริบทของนกยูงเสมอ ดังภาพตัวอย่างข้างล่างนี้  
ให้สังเกตว่า นกยูงรำแพนเต็มที่และยืนเหยียบบนลำตัวของงู.  
ภูเขาทรงครึ่งวงกลมที่เห็นในพื้นหลังด้านขวา คือเขาไกรลาส. มือซ้ายของพระขันทกุมารถือธนู.
นกยูงยืนอยู่แทบเท้าของพระขันทกุมาร มีงูอยู่ที่ข้างซ้ายตอนล่างของภาพ
ราศีและพลังอำนาจของพระขันทกุมารปรากฏเป็นรังสีแผ่ออกเป็นวงกลมอยู่เบื้องหลัง.
มือขวาของพระขันทกุมารถือคทา
ภาพจาก thiruppugazh.org
     หลังจากที่ตีอาณาจักรเปอเชียได้สำเร็จ พระเจ้าอเล็กซานดราต้องการขยายอาณาเขตเข้าไปถึงอินเดียด้วย. กรีซเข้ารุกรานอินเดียในราวปี 326 BC. และเข้าไปปกครองแคว้นคันธาระ (Gandhara) ในอินเดียจนถึงราวปี 320 BC (อำนาจของกรีซสิ้นสุดลงเมื่อพระเจ้าอเล็กซานดราสิ้นพระชนม์ในปี 321 BC). เกิดความจำเป็นในการสร้างความสามัคคีและผนึกเอกภาพในอินเดียเพื่อรับมือกับการรุกรานของต่างชาติ. พระเจ้าจันทรคุปต์ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นมหาราชา ตั้งราชวงศ์เมารยะ (Maurya ใช้นกยูงเป็นเครื่องหมายของราชวงศ์, 340BC-180BC) รวมแว่นแคว้นในดินแดนชมพูทวีปให้เป็นปึกแผ่น และรวบอำนาจไว้ในมือของกษัตริย์โดยมีศูนย์บัญชาการอยู่ที่เมืองหลวง สามารถยึดแคว้นคันธาระกลับคืนมาจากกรีซ. ในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช (273-236BC) ได้ส่งสมณทูตไปเผยแผ่พุทธศาสนาในแว่นแคว้นต่างๆ. แต่เมื่อราชวงศ์นี้ล่มสลาย แว่นแคว้นทั้งหลายต่างแตกแยกตั้งตนเป็นอิสระ. อินเดียยังมีราชวงศ์กุษาณะ, ราชวงศ์คุปตะ, และราชวงศ์โมกุลเป็นราชวงศ์สุดท้ายของอินเดียที่เป็นยุครุ่งเรืองของอินเดียอิสลาม ก่อนจะตกไปเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และได้รับเอกราชคืนในปี 1947.
      นกยูงรวมทุกสีสันและสีสดเข้าด้วยกันได้อย่างสมดุลสมบูรณ์ที่สุด เป็นความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งเหมือนประเทศอินเดียที่รวมความแปลกพิศวงงงงวย สิ่งที่คาดไม่ถึงทั้งในทางบวกและลบ. อินเดียเพียบไปด้วยความมหัศจรรย์ทุกรูปแบบที่ไม่มีชาติใดเสมอเหมือน เฉกเช่นนกยูงที่ทำให้ตื่นตาตื่นใจทุกครั้งที่ได้เห็น. กฎหมายอินเดียว่าด้วยการคุ้มครองสัตว์ป่า (Indian Wildlife Protection Act, 1972) คุ้มครองและอนุรักษ์นกยูงในอินเดียอย่างเข้มงวดกวดขัน. ขนที่เป็นพู่ตั้งเด่นบนหัวนกยูงดั่งพู่วาววับบนมงกุฎมหาราชา หรือหางที่ยาวทอดย้วยไปบนพื้นเหมือนเสื้อคลุมงามวิจิตรของมหาราชา  อีกตาจำนวนมากที่เสมือนเฝ้ามองกวาดสังเกตการณ์โลก ทั้งเสียงร้องของนกยูงกรีดฝ่าท้องฟ้าราวกับเสียงประกาศรวมสรรพสัตว์บนโลก. ธรรมชาติได้เจาะจงชะตาชีวิตของนกยูงไว้แล้ว ให้มันเป็นตัวแทนของความสวย ความสง่างาม ความภาคภูมิใจ (บางทีก็รวมความมีอายุยืนด้วย) จนเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและเกียรติยศ.
บัลลังก์มยุรา
บัลลังก์มยุราอันลือชื่อของอินเดีย เป็นบัลลังก์ที่ประทับของจักรพรรดิโมกุล ประดับด้วยเพชรนิลจินดาอันล้ำค่า. จักรพรรดิชาห์จาฮัน (Shah Jahan) ทรงให้สร้างขึ้นในต้นศตวรรษที่ 17. ในยุคนั้นบัลลังก์นี้ตั้งอยู่ในท้องพระโรง Diwan-i-Khas (Hall of Private Audiences) ในป้อมแดงที่กรุงเดลี (Red Fort of Delhi). ยุคของพระองค์เป็นยุคทองของจักรวรรดิโมกุลที่มีอาณาจักรแผ่ไพศาลเกือบทั้งอนุทวีปอินเดีย. ราชสำนักของพระองค์และตัวพระองค์เองเป็นภาพสะท้อนของสวรรค์บนโลก และเป็นหัวใจของทั้งจักรวรรดิ. จักรพรรดิเป็นผู้ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้า จึงเป็นประธานในศาลในฐานะผู้พิพากษาด้วย. เช่นนี้จำเป็นต้องมีที่นั่งที่ที่เหมาะสมกับตำแหน่งในฐานะผู้แทนของพระเจ้า ต้องมีบัลลังก์ที่เน้นความสำคัญของการเป็นกษัตริย์ที่ยุติธรรม. บัลลังก์มยุราเป็นบัลลังก์หุ้มทองประดับด้วยเพชรนิลจินดา ตรงหน้ามีขั้นสำหรับก้าวขึ้นไปนั่ง. บัลลังก์ถูกยกระดับขึ้นสูงจากพื้น ทำให้เห็นผู้นั่งบนนั้น เหมือนลอยอยู่เหนือพื้นโลก มีโดมทรงกลมเหมือนสวรรค์ชั้นฟ้า,
ภาพบัลลังก์มยุราที่ Red Fort, Delhi. ภาพปี 1850.
ภาพจาก Wikipedia.org (public domain)
ให้สังเกตว่า มีนกยูงสองตัวบนยอดหลังคาทรงกลม
สองข้างภาพพานดอกไม้ (ดูรายละเอียดในภาพต่อไปข้างล่างนี้) 
จักรพรรดิ Shah Jahan บนบัลลังก์อีกบัลลังก์หนึ่งที่ไม่ใช่บัลลังก์มยุรา
ภาพนี้วาดขึ้นในราวปี 1635. มือขวาถือดอกไม้หอม.
การจัดท่าจักรพรรดิแบบนี้พบในภาพวาดของจักรพรรดิอ็อตโตมันด้วย
ประหนึ่งจะเน้นนัยว่า อำนาจอาจคู่กันไปกับความอ่อนโยนได้.
ภาพจาก Commons.wikimedia.org (public domain)
จิตรกรรมแสดงภาพของจักรพรรดิ Akbar II (1759-1837, ครองราชย์ระหว่างปี 1806-1837) ออกประทับว่าราชการในพระราชวัง Diwan-i Khas of the Palace กรุงเดลี. เหล่าเจ้าชายและราชนิกูลประทับยืนใกล้บัลลังก์  ต่ำลงมาสองข้างเป็นขุนนาง. ภาพจาก Wikipedia.org (public domain). ภาพนี้วาดขึ้นในราวปี 1830 ปัจจุบันอยู่ที่ Victoria and Albert Museum, London.
 ภาพนี้เช่นกันคือ Akabar II กับพระราชนิกูล
บัลลังก์นกยูงภาพนี้ชัดเจนมากดังรายละเอียดในภาพต่อไปข้างล่างนี้
นกยูงสองข้างพานพุ่มดอกไม้ที่เนรมิตจากเพชรพลอยล้ำค่า  ปากนกยุงคาบสร้อยไข่มุกด้วย มงกุฎของจักรพรรดิ ก็ทำให้นึกถึงขนนกยูงที่ตั้งเป็นแผงสวยบนหัว. จักรพรรดิ Akbar II นั่งบนบังลังก์มยุรา ในฉลองพระองค์งามหรู แต่พระองค์กลับมีพระพักตร์และสายพระเนตรไม่แจ่มใสนัก  อาจหนักพระทัยเกี่ยวกับการสืบทอดอำนาจ.
 นกยูงอีกหนึ่งตัวตรงมุมของหลังคาโค้ง มีสองข้างเหมือนกัน คาบสร้อยไข่มุกด้วย
ภาพเหล่านี้ยืนยันว่าเคยมีบัลลังก์มยุราในอินเดียยุคนั้น. ความอลังการล้ำค่าของมัน จึงเลื่องลือไปไกล และเป็นที่หมายปองของจักรพรรดิเปอเชีย. เมื่อได้โอกาส จึงยึดเอาไปสู่เปอเชีย และคงเป็นสมบัติที่ต่างแย่งชิงกันเป็นเจ้าของ จนในทีสุดหายสาบสูญไปอย่างน่าเสียดาย. 
บัลลังก์มยุราของอินเดียตามภาพเหล่านี้ มีรูปปั้นนกยูงทั้งตัวประดับด้วยเพชรนิลจินดา แต่ตัวบัลลังก์เองเป็นแบบตั่งยกสูงขึ้นมีหลังคาทรงรีหรือครึ่งวงกลม. บัลลังก์มยุราอิหร่านที่สร้างขึ้นนั้น ใช้ลักษณะของนกยูงมาประกอบกันเป็นบัลลังก์ เช่นพนักหลังเป็นทรงยูงรำแพนประดับอัญมณีมีค่าขนาดใหญ่ให้เหมือนดวงตาบนตัวนกยูง พนักที่เท้าแขนสองข้างก็เป็นแนวโค้งของลำคอถึงลำตัวของนกยูงเป็นต้น.    
      บัลลังก์มยุรานี้ใช้เวลาสร้างเจ็ดปี ใช้ทองคำแท่งเป็นจำนวนมาก หินมีค่าชนิดต่างๆและไข่มุก. เป็นผลงานชิ้นงามเลิศจากฝีมือนายช่างยุคโมกุล  ไม่มีสมบัติชิ้นใดหรือบัลลังก์อื่นใดในอดีตที่อาจเทียบเคียงได้เลย และแม้ในเวลาต่อมา อินเดียก็ไม่มีสมบัติชิ้นใดที่งามเท่าความประณีตอลังการของบัลลังก์มยุรานั้น. มีผู้คำนวณว่าราคาของมันเป็นสองเท่าของราคาการก่อสร้างทัชมาฮาล. ดั้งเดิมเรียกกันเพียงว่า บัลลังก์พลอย หรือ บัลลังก์ประดับ ต่อมานักประวัติศาสตร์เลือกใช้คำ บัลลังก์มยุรา เพราะมีนกยูงประดับบนหลังคาทรงโดมของบัลลังก์นี้. จักรพรรดิเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มีนาคมปี 1635 อันเป็นปีที่เจ็ดของการขึ้นเสวยราชย์. การเจาะจงเลือกวันที่ ต้องการให้เป็นวันมหาโชคลาภของจักรพรรดิและจักรวรรดิ เพราะเป็นวันที่ตรงกับวันสิ้นสุดของการถือศีลอดรามาดอน(อย่าลืมว่าราชวงศ์โมกุลอินเดีย นับถืออิสลาม) และยังตรงกับเทศกาลเฉลิมฉลองฤดูใบไม้ผลิด้วย. ตอนนั้นจักรพรรดิและราชสำนักกลับจากแคชเมียร์  เจาะจงให้จักรพรรดิเสด็จเข้าเมืองเดลีวันที่สามของเทศกาลและขึ้นนั่งประทับบนบัลลังก์ ก็จะเป็นมหาฤกษ์มหาชัย.Muhammed Qudsi กวีคนโปรดของจักรพรรดิ ได้รับเลือกให้แต่งบทประพันธ์ 20 บาท ที่จารึกลงบนบัลลังก์นั้นด้วยมรกตและเคลือบน้ำยาชักเงา. บทประพันธ์นั้นสรรเสริญฝีมือช่างผู้ชำนาญ ความงามอร่ามตาของทองและเพชรนิลจินดา เจาะจงวันที่และโดยเฉพาะประโยคที่ว่า นี่คือบัลลังก์ของกษัตริย์ผู้ยุติธรรม.
       ราชวงศ์โมกุลที่ครองอินเดียในระหว่างปี 1526-1857 (มีช่วงขาดตอนไปราวสิบห้าปี) เสื่อมลงๆ กษัตริย์เปอเชียก็คอยจ้องโอกาสเข้าไปรุกรานอินเดียอยู่เสมอ. เช่นนี้เอง บัลลังก์มยุราของ Shah Jahan ถูกกษัตริย์เปอเชีย Nader Shah ยึดไปในปี 1739. บัลลังก์นี้ต่อมาหายสาบสูญไปอย่างไม่มีร่องรอย. ภายหลัง อินเดียได้สร้างบัลลังก์ใหม่ ที่เหมือนบัลลังก์เก่าที่ถูกยึดไปและก็อยู่คู่ชาติมาจนถึงปี 1857 ในปราสาท Red Fort กรุงเดลี. เมื่อเกิดกบฎ (Indian Rebellion) บัลลังก์ที่สร้างใหม่ก็หายไปเช่นกัน สันนิษฐานกันว่า น่าจะหายไปในระหว่างที่อังกฤษเข้าโจมตีและทำลายป้อมแดง เพื่อสยบอินเดียให้เป็นเมืองขึ้น (ใครเล่าจะไม่อยากได้).
ป้อมแดง The Red Fort ที่กรุงเดลี เป็นที่ประทับของจักรพรรดิโมกุลและพระราชนิกูลตลอดระยะเวลาเกือบสองร้อยปี. เป็นศูนย์กลางของการบริหารประเทศและศูนย์พระราชพิธีต่างๆ. Shah Jahan ทรงให้สร้างในปี 1639 เรียกชื่อว่าป้อมแดงตามสีแดงของหินทรายที่ใช้สร้างป้อม. ปี 1747 Nader Shah แห่งเปอเชียได้ยกทัพเข้ามารุกรานอินเดียและปล้นเอาสมบัติมีค่าต่างๆไปเป็นจำนวนมากรวมทั้งบัลลังก์มยุราของโมกุล. ต่อมาในปี 1857 ก็ถูกกองกำลังอังกฤษเข้าทำลายอีก. ในปี 2007 ป้อมแดงได้รับการขึ้นทะเบียนยูเนสโก้เป็นมรดกโลก.  
ให้สังเกตศาลาหลังคาทรงกลมบนกำแพงป้อม เป็นแบบสถาปัตยกรรมเดียวกับบัลลังก์มยุรา. สัปคับแบบอินเดียพร้อมหลังคาบนหลังช้างทรงของจักรพรรดิโมกุลก็ไม่ต่างกันมากนัก ต่างกันที่การประดับตกแต่งและวัสดุที่ใช้ก่อสร้างเท่านั้น. ภาพนี้ A. Savin กำกับลิขสิทธิ์ดังนี้ «© A.Savin, Wikimedia Commons» ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 20 March 2016. เจ้าของอนุญาตให้ใช้
ภาพจาก WikimediaCommons · WikiPhotoSpace.
Nader Shah กษัตริย์เปอเชียที่เข้ารุกรานอินเดีย ขึ้นนั่งบนบัลลังก์มยุราอีกแบบหนึ่ง ต้องเหยียบบนม้านั่งตัวเล็กเพื่อขึ้นไปนั่งบนบัลลังก์ ในฐานะผู้พิชิตอินเดีย มีกลุ่มนักดนตรีทางซ้ายที่ดีดสีตีเป่าให้ความบันเทิง เหล่านางสนมในวังนั่งอยู่ทางขวา และมหาดเล็กผู้รับใช้ยืนอยู่หน้าและหลังชาห์. คนหนึ่งคอยพัดวีให้  อีกคนกำลังถวายอะไร อีกคนหนึ่งดูเหมือนถือแซ่ คนอื่นๆคอยสนองพระราชโองการ. เห็นนกยูงสองตัวบนหลังคา ภาพในราวปี 1850. จาก Museum of Art, San Diego, USA.
และนี่เป็นบัลลังก์หินอ่อนที่ยังเหลือให้เห็นที่ Red Fort กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย.
บัลลังก์นี้ยิ่งดูเหมือนสัปคับบนหลังช้าง พร้อมหลังคาตรึ่งวงกลม
(อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับบัลลังก์มยุราได้ที่นี่ >> https://en.wikipedia.org/wiki/Peacock_Throne )
ภาพทั้งหลายดังกล่าว ยืนยันอัจฉริยภาพและความเป็นเลิศในฝีมืองานช่าง งานแกะสลัก งานฝังมุกฯลฯ รวมกับงานสถาปัตยกรรมของปราสาทพระราชวังและแน่นอนสุสานเลืองนามอีกหลายแห่งที่ยังไปชมดูได้ที่อินเดีย ยากจะหาที่ใดในโลกเสมอเหมือน ทำให้ประเทศกลายเป็นขุมสมบัติ เป็นแหล่งอารยธรรมที่ชาวอังกฤษต้องเข้าไปจับจองเป็นอาณานิคมในเวลาต่อมา เพราะพวกเขามองเห็นคุณค่ามหาศาลของอินเดียนั่นเอง.  
      บัลลังก์มยุราของอินเดียได้ดลใจให้พระเจ้า Ludwig II กษัตริย์บาวาเรีย(เยอรมนี) ทรงให้สร้างบัลลังก์มยุรา (ดูภาพข้างล่างนี้) ประดับในตำหนักมัวร์ (Moorish Kiosk) ภายในพระราชอุทยาน Linderhof ในราวปี 1877. 
ตำหนักมัวร์หลังนี้ สร้างขึ้นและนำไปจากกรุงเวียนนาเพื่อไปร่วมการแสดงนิทรรศการนานาชาติที่กรุงปารีสปี 1867 (Exposition Universelle de 1867). พระเจ้า Ludwig II of Bavaria ทรงประสงค์จะซื้ออาคารนี้ แต่แพ้ประมูล. ต่อมาองค์การทางเดินรถไฟที่ประมูลได้ไปเกิดล้มละลาย พระองค์จึงซื้อมาได้ในที่สุด. ทรงนำไปตั้งในบริเวณอุทยานปราสาท Linderhof ใกล้เมือง Ettal ในเยอรมนี. ภายในมีหน้าต่างกระจกหลากสีหลายบาน เมื่อแสงส่องผ่านเข้าไปในอาคาร ทำให้ภายในสว่างด้วยแสงสีๆ ดูสวยงามและลึกลับขึ้นอีก เหมือนตะเกียงอลาดินขนาดยักษ์. โดยเฉพาะบริเวณที่ตั้งของบัลลังก์นกยูง ที่พระองค์ทรงให้สร้างขึ้นตามแบบดีไซนในปี 1877.
 ภายในตำหนักมัวร์ สร้างและประดับตามแบบสถาปัตยกรรมอาหรับ
รวมทั้งสร้างหอโดมสูงให้เป็นภาพลักษณ์ของสวรรค์
แบบดีไซน์ของบัลลังก์นกยูงที่พระเจ้า Ludwig II ทรงให้สร้างขึ้นในปี 1877. แต่ในที่สุดมิได้ทำตามแบบนี้ทุกประการ. ภาพข้างล่างนี้เป็นภาพของบัลลังก์นกยูงที่เห็นในปัจจุบันที่ปราสาท Linderhof. ตำหนักมัวร์ไม่เปิดให้เข้าไปชมภายใน ไม่มีพื้นที่ให้คนจำนวนมาก เป็นตำหนักขนาดพอเพียงใช้ส่วนตัวมากกว่า และเพราะของมีค่าที่อยู่ภายในด้วย คนจึงได้แต่มองผ่านประตูทางเข้าเท่านั้น.  ภาพจาก Getty Images.
 สระน้ำพุตามแบบศิลปะอาหรับ อยู่ตรงกลางของพื้นที่ภายใน
ประดับด้วยลูกโลกที่มีพระจันทร์เสี้ยวตั้งสูงเด่น
ตัวบัลลังก์อยู่ภายในซุ้มติดผนังกำแพงด้านหลัง  ประดับด้วยนกยูงรำแพนขนาดใหญ๋สามตัว หน้าต่างในบริเวณนี้เป็นหน้าต่างกระจกสี เมื่อแสงส่องผ่านเข้าไป จึงทำให้ภายในสว่างเป็นประกายระยิบระยับหลากสี (From Pictures of the day: 27 July 2016. The Telegraph.)


ในบริบทของ พุทธศาสนา มีชาดกเกี่ยวกับนกยูงที่สำคัญคือ มหาโมรชาดก หรือเรื่องราวของพญายูงทอง ที่มีบทสวดโมรปริตร (หรือคาถายูงทองที่พระโพธิสัตว์พญายูงทองสวดทุกเช้าเย็นที่ช่วยให้แคล้วคลาดจากอันตรายทั้งปวง). ชาดกเรื่องนี้อ่านแล้วประทับใจ น่าเลื่อมใสมาก. นายพรานผู้ตั้งใจไปจับพญายูงทองไปถวายเจ้าเมืองพาราณสี กว่าจะจับได้ ได้คอยสังเกตพฤติกรรมในแต่ละวันของพญายูงทองอยู่นานถึงเจ็ดปี. ครั้จับได้ เกิดละอายใจเพราะพญายูงทองมีจริยวัตรงดงาม จิตมั่นคงสม่ำเสมอ เป็นพญานกผู้มีศีล สวดมนตร์ทุกเช้ายามอาทิตย์อุทัยและทุกเย็นยามอาทิตย์อัสดง. นายพรานไม่คิดทำร้ายและอยากปล่อยไป แต่ไม่ก่อนที่จะไต่ถามการปฏิธรรมและความคิดเห็นของพญายูงทองเกี่ยวกับนรกสวรรค์ ความดีความชั่ว. บทสนทนาธรรมระหว่างนายพรานกับพญายูงทอง ทำให้รู้ว่านายพรานยึดถือคำสอนผิดๆและเข้าใจผิดมาตลอด. พญายูงทองวิสัชนาจนในที่สุดพรานบรรลุปัจเจกโพธิญาณเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า, ส่วนพญายูงทองก็หลุดพ้นจากบ่วง. ชาดกเรื่องนี้เจาะจงสอนให้รู้ว่า ผู้ทำดีมีศีลธรรมย่อมรอดพ้นจากอันตรายได้ทุกเมื่อ.
ติดตามรายละเอียดทั้งเรื่องได้ในเว็ปนี้ >>
หรือฟังเรื่องเล่าสั้นๆที่อ้างอิงถึงพระป่าสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้จากคลิปนี้ >>
และฟังบทสวดพระคาถาโมรปริตรได้ในคลิปนี้ >>
ข้าพเจ้าชอบใจความในบทสวดโมรปริตร ที่มีผู้นำไปร้องตามทำนองเพลงสวดธิเบต ฟังไพเราะราบรื่นร่มเย็นและสบายหูสบายใจ. เนื้อความดังกล่าวสรุปปณิธานของชาวพุทธที่ดี (เนื่องจากบันทึกจากการฟัง เพราะหาไม่พบเนื้อความที่ตรงกับบทสวดทำนองธิเบตในคลิปนี้อย่างเฉพาะเจาะจง จึงอาจมีการผิดพลาดในคำที่ได้ยิน. ขอบคุณ เพื่อนวารี ที่ได้ช่วยถอดคำพูดของบทสวดนี้. หากผู้ใดฟังและได้คำสมบูรณ์ถูกต้องกว่า กรุณาบอกมาด้วย จะได้แบ่งปันให้รู้กันต่อๆไป) คลิปบทสวดทำนองธิเบต ฟังได้จากที่นี่ >>
ส่วนเนื้อหาคำร้องเท่าที่ฟังได้คือ >>  
ขอนอบน้อมพระรัตตรัย ปวงข้าไซร้ขอเป็นที่พึ่ง  จึ่งขอบุญญาโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรมหาการุณา จึ่งบารมีบันดาลความสมบูรณ์สุข ไร้อวิชชา  กำลังบุญผู้มีธรรมพาโลกพลันสว่าง ด้วยแสงธรรมนำโลกา ขอนอบน้อมองค์พระผู้เลิศปัญญา ทรงนำพาให้รู้เท่าทันบุญบาป กิเลสทุกข์ทั้งปวง ความโลภ ความโง่เขลา หลงโกรธ จงมลายจางหาย เป็นความบริสุทธิ์ดั่งเช่นดอกบัวของพระโพธิสัตว์  ทรงนำทางสัตว์โลกหลายโง่งมใด  ซึ่งล้วนเป็นมหาการุณา  ธรรมอันใด ธรรมทรงดำรง ขอพระองค์ทรงบรรลุธรรม นำพระนิพพานสู่แดนพระพุทธภูมิ   
บทสวดเวอชั่นสั้นที่สุดที่เราอาจจดจำได้ไม่ยากคือ
นะมัตถุ พุทธานัง
นะมัตถุ โพธิยา
นะโม วิมุตตานัง
นะโม วิมุตติยา
(แปลไทยตามคำบาลีว่า ความนอบน้อมของข้าพเจ้า จงมีแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย. จงมีแด่พระโพธิญาณ, จงมีแด่ท่านผู้พ้นแล้วทั้งหลาย, จงมีแด่วิมุตติธรรม)
พญายูงทองทำให้ข้าพเจ้านึกถึงต้นหางนกยูงและเพลงพระราชนิพนธ์อันดับที่ 36 ยูงทอง ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงประพันธ์ทำนองและพระราชทานให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ..2506 คำร้องของ จำนง  ราชกิจ
ข้าพเจ้าปลื้มปิติในพระราชวิจารณญาณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จักเป็นตัวแทนของพระโพธิสัตว์ยูงทองผู้ใช้ศีลธรรมสยบอธรรม ธรรมจักร นบบูชาเทิดไว้เป็นดวงธรรมนำทางให้อบอุ่นใจไปทุกกาล”.
สำหรับเราชาวอักษรฯผู้มากฝีปาก อาจพูดหว่านล้อมเปลี่ยนใจคนได้หรือพลิกสถานการณ์ให้กลายเป็นดี. อีกประการหนึ่งชาวอักษรฯสั่งสมคุณงามความดีเสมอมา จักไม่ตกในบ่วงของความหลงใดจนถอนตัวไม่ขึ้น และจักโผบินพ้นภัยในทุกที่และทุกเวลาได้อย่างสง่างามดั่งพญายูงทอง.

ทุกยุคสมัยที่ผ่านมา นกยูงยังคงเป็นสิ่งดลใจคนเสมอ ธรรมชาติ รูปร่างและลักษณะของนกยูงถูกนำมาเป็นแบบสร้างสรรค์ในหลายแขนง ดังตัวอย่างที่นำมาให้ดูต่อไปข้างล่างนี้ 
ใครเลยจะไม่เพ่งมองขนนกยูงเหมือนต้องมนต์สะกด
 
ธงของศรีลังกาในสมัยก่อน Sri Lanka (Sinhala Rajakiva Dhajya) เป็นรูปนกยูงคาบงู

ธงประจำพรรคการเมืองสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (Flag of National League for Democracy) ที่ Aung San Suu Kyi เป็นประธานพรรค. จะด้วยความคิดลุ่มลึกใดที่พรรคการเมืองนี้เลือกใช้รูปลักษณ์ดังกล่าวบนธงประจำพรรคตั้งแต่ปี 1988  ข้าพเจ้ามิอาจรู้ได้  ข้าพเจ้ามองว่า บนพื้นสีแดงสดสัญลักษณ์ของความมุ่งมั่นและความเข้มแข็ง นกยูงบินพุ่งสู่ดวงดาว เหมือนมุ่งสู่ความฝันในการสถาปนาประชาธิปไตยในเมียนมาร์. ดวงดาวสีขาวบริสุทธิ์เป็นความหวังที่สะอาดหมดจดเพื่อประชาชาติร่วมกัน. นกยูงสีทองที่ทำให้นึกถึงพญายูงทองผู้ทรงศีลในมหาโมรชาดกผู้ใช้สันติวิธีสยบนายพราน. ข้าพเจ้าอดไม่ได้ที่จะนึกโยงไปถึงชีวิตและการต่อสู้ทางการเมืองของบุคคลนาม Aung San Suu Kyi ว่าเธอเป็นยูงทองตัวกนึ่ง เป็นยูงทองที่มีจิตวิญญาณไม่รู้ตายของฟีนิกซ์ที่ทะยานสู่เบื้องสูงอย่างไม่ลดละเสมอ.
  เก้าอี้หวายทรงนกยูง พอจะใช้แทนบัลลังก์มยุราได้บ้างสำหรับบางคน. ภาพจาก Pinterest.com
เก้าอี้นกยูงสองที่นั่ง จาก Pinterest.com
เก้าอี้นกยูงสมัยใหม่ จากเดิมที่ใช้หวาย มาเป็นวัสดุสังเคราะห์แบบอื่นแทน
เก้าอี้รูปสวยชวนมอง ชวนนั่งดู แต่กินพื้นที่ และปลายแหลมเป็นจุดเสี่ยง
จาก larevuedudesigne.com
ตะเกียงตั้งโต๊ะ เป็นเครื่องเรือนอีกแบบหนึ่งจากรูปลักษณ์ของนกยูง
ภาพซ้ายเป็นแบบแรกๆ เน้นตานกยูง ภาพขวาแบบสมัยใหม่กว่า
ภาพขวากำกับไว้ว่า Birds of a Feather Stained Glass Table Lamp 
จาก Pinterest.com
 ภาพวาดโปรเจ็กทำหน้าต่างกระจกสีรูปนกยูงของ Waldraft นกยูงข้างสระน้ำพุ
เป็นภาพลักษณ์ที่คุ้นเคยที่สื่อวงจรชีวิตที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญในความเชื่อสมัยก่อน
ภาพจาก www.galeriesaintgeorges.com
นกยูงเป็นแบบให้วงการแฟชั่นเสื้อผ้ามากกว่าวงการอื่นใด ได้ดลใจนักออกแบบเสื้อทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่ La Belle Epoque (1890-1914) สมัยของชนชั้นสูงหรือผู้มีอันจะกินโดยเฉพาะ ผู้อยู่อย่างไร้กังวล สนใจศิลปะ งานสังคมสโมสร แต่งตัวสวยงามอวดประชันกันฯลฯ ทั้งหมดเป็นบทนำของความหายนะที่จะตามมากับสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง. ก่อนจะถึงเวลานั้น ผู้คนวนเวียนอยู่ในความหรูหรา แฟชั่นสตรีที่เคยมีกระโปรงแบบสุ่มกว้างใหญ่เป็นวงกลม ค่อยๆหุบลงกระชับตัว เน้นทรวดทรงมากขึ้น มีแบบทรงกระสอบเรียบตรง และเริ่มแฟชั่นกระโปรงหางยาวแบบนกยูง เรียกกันในภาษาฝรั่งเศสว่า Robe avec traîne (gown with its train) ที่พัฒนาสวยงามฟู่ฟ่ามากยิ่งขึ้นต่อมาจนศตวรรษที่ 21 นี้.  มีทั้งแบบสั้นแบบยาว แบบหน้าสั้นหางยาวถึงพื้นเป็นต้น และก็ตัดกันทุกสี สีพื้นเป็นส่วนใหญ่ สีขาวมักใช้เป็นชุดวิวาห์เป็นต้น. 
 กระโปรงที่เคยกว้างใหญ่เป็นวงกลมและที่ต้องสวมสุ่มไว้ใต้กระโปรงในศตวรรษที่ 17, 18
ที่ค่อยๆลดความกว้างด้านหน้าลงไปเรื่อยๆ และเพิ่มหางกระโปรงเข้าด้านหลัง
ซ้ายสุดภาพแฟชั่นปี 1903. ภาพกลาง ชุดสวมไปงานเต้นรำในปี 1904.
ภาพขวาคือ Jenny Jerome สวมชุดผลงานออกแบบของ John Singer, 1903.
ภาพซ้ายชุดสตรีจากปี 1902 ภาพจาก Demodecouture.com
ภาพขวาเป็นส่วนหนึ่งในจิตรกรรมชื่อ The Love Letter
ของ Auguste Toulmouche ปี 1883 (จาก artrenewal.org)
ภาพขึ้นใน commons.wikimedia.org (public domain)
แฟชั่นปัจจุบัน กระโปรงหางยาวเป็นส่วนสำคัญของชุดวิวาห์และชุดหรูๆทั้งหลาย
เพื่อให้การย่างก้าวช้าและสง่างามดั่งนกยูง
ภาพซ้ายจาก robedemarieemariage.com
ภาพขวาจาก aliexpress.com
 แฟชั่นปัจจุบัน กระโปรงมีหางยาวยังไม่เคยตกยุค แม้ด้านหน้าจะตัดให้สั้นขึ้น
ภาพซ้ายจาก robedesoireemariage.com
ภาพขวาจาก yaminuit.fr
และนี่ชุดนกยูง ปักลูกปัดและเลื่อมต่างๆออกโทนสีฟ้าเขียว
ผลงานออกแบบของ Mak Tumang

 ภาพของนักแสดงหญิงชาวออสเตรียชื่อ Hedy Lamarr สวมชุดนกยูง
ในวาระเปิดตัวภาพยนต์เรื่อง Samson and Dalilah (1949) 
ะนั่งต้องมีคนช่วยคลี่และแผ่หางกระโปรง จะยืนจะดินก็ต้องมีคนช่วยจับและจัดหางให้สวย

นักร้องเสียงโซปราโนชาวฝรั่งเศส Geneviève Vix (1879-1939) สวมมงกุฎประดับด้วยขนนกยูงอย่างสวยงาม ในบทของ Salomé อุปรากรของ Richard Strauss (จากบทละครภาษาฝรั่งเศส Salomé ของ Oscar Wilde). 
ให้สังเกตแววตาเธอดั่งตานกยูง. เสียดายไม่มีภาพเสื้อชุดที่เธอสวม.

สุดยอดนกยูงน้องใหม่ปี 2510 ในขบวนพาเหรดวันฟุตบอลประเพณี เมื่อ 50 ปีก่อน. ในภาพบนนี้ จากซ้ายไปขวา หนู-ภาวิไล, แอ๊ว-อัจฉรา และนุช-นีรนุช ทั้งสามมีขนนกยูงยาวปักสูงเหนือศีรษะ มอถือช่อนกยูงขนซี่ยาวๆ(นจริงชุดนกยูงแบบนิสิต แบบง่ายๆ บ่งบอกนัยสำคัญได้เช่นกัน. รุ่นพี่ๆออกแบบให้. เวลาเดินไปในยามพาเหรดจริงนั้น กางแขนชูช่อขนนกไปทางซ้ายทางขวา อวดความงามเต็มที่. ทั้งสามโดดเด่นเป็นอักษรจรัส เป็นดาวสุกสว่างที่เราภูมิใจเสมอมา.
 ภาพเพื่อนแอ๊ว-อัจฉรา ดาวจุฬาปี 2510 ผู้นำขบวนพาเหรด (ขออภัยภาพไม่ชัด)
เพื่อนหนู-ภาวิไล สุดยอดนกยูงเมื่อห้าสิบปีก่อน ร่างงามขาเพรียว
ผู้คงความงามสง่า แผ่รัศมีราศีเธอไปทั่วหล้า จนถึงทุกวันนี้


ตั้งแต่เดือนตุลาคมปี ๒๕๕๙ คนไทยสวมชุดดำ หรือขาวดำ หรือขาว  แบบเรียบๆง่ายๆ แต่สร้างมนต์ขลัง ความภูมิฐานและความสงบสันติแก่ประเทศชาติของเราในสายตาชาวโลก.
ในยามสูงวัย หากเราหมดโอกาสสวมชุดกระโปรงหางยาวเป็นนกยูง 
ความสง่างามเยี่ยงยูงไม่ได้หายไปไหน และมันก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นเพราะมีเสื้อผ้าชี้นำ.
ดังที่ได้สรุปไว้ว่า 
อักษรศาสตร์งามดั่งมยุราบนพื้นโลก ควบกับจิตวิญญาณอมตะของฟีนิกซ์นกสวรรค์ 
จบร้อยเรื่องมยุราลงตรงนี้ เป็นจุดพักรวมกำลังวังชา เพื่อทะยานขึ้นสูงต่อไป

โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ รายงานเรื่องมยุรามาอย่างย่อๆ..
เพื่อความบันเทิงของชาวอักษรฯ และผู้ใฝ่รู้ท่านอื่นๆ.. 
และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้..
ในพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีผู้ทรงก่อตั้งและปูฐานการศึกษาของชาติไทย.
นำลงบล็อกในวาระครบอบร้อยปีแห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
ณ วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๐,
เป็นวาระร้อยรอบปีอักษรศาสตร์ด้วย 
และครบรอบห้าสิบปีของอักษรศาสตร์รุ่น ๓๕ น้องใหม่ปี ๒๕๑๐ 
ที่ข้าพเจ้าเป็นสมาชิกผู้หนึ่ง
เปิดไปดูบทความอื่นในชุด ๕๐ ปีอักษรศาสตร์รุ่น ๓๕ น้องใหม่ปี ๒๕๑๐ นี้ได้ตามลิงค์ข้างล่างนี้ 
๑. มองคณะ ที่เรียน ที่สอน ของ ประยงศรี พัฒนกิจจำรูญ
๒. เพื่อนคนสำคัญ สุมาลี กับ วารี
๓. โลกอักษรของฉัน My Arts world
http://chotiroskovith.blogspot.com/2017/04/my-arts-world.html

แถมคลิปวีดีโอ การแสดงระบำนกยูง 楊麗萍空靈唯美孔雀舞 ของศิลปินชาวจีนชื่อ Yang Li Ping  เชิญติดตามชมได้ที่ลิงค์นี้ >>
และอีกตอนหนึ่งของศิลปินคนเดียวกัน ที่ลิงค์นี้ >>
https://www.youtube.com/watch?v=yoXNG2n3GiY

หางยาวเฟื้อยของชุดนกยูงที่ศิลปินจีนสวมใส่ ดูพะรุงพะรังไม่น้อย เพราะมิใช่ส่วนหนึ่งของร่างคน จึงควบคุมไม่ได้นัก และทำให้ลีลาท่ารำดู แข็งๆไปหน่อย เมื่อเทียบกับลีลาธรรมชาติที่ absolutely effortless ของนกยูงสุดจะพรรณนา  เชิญชมตัวอย่างได้ที่นี่ >>

ในคลิปนกยูงอินเดีย เห็นลีลาและความแตกต่างระหว่างนกยูงตัวผู้ ตัวเมีย. ชัดเจนว่า ขนนกยูงที่แผ่เป็นซี่ยาวๆนั้น เริ่มตั้งแต่ใต้ลำคอเกือบกึ่งกลางตัวนก และมิได้อยู่ที่ก้นของมันเลย(ดังหางสัตว์อื่นๆ) มันกุดๆอยู่ใต้ขนนกซี่ยาวๆจำนวนมากที่คลุมและทอดยาวลงไประพื้น จนดูเป็นหางนกยูง. ขนซี่ยาวๆเหล่านี้รวมเป็นกระจุกอยู่บริเวณไหล่นกลงไปถึงประมาณกลางตัวนก กำลังจากภายในตัวนกจึงอยู่ตรงส่วนนี้ ที่ทำให้นกยูงขยับยกขนของมันขึ้นในระดับต่างๆได้อย่างอ่อนช้อยเหมือนไม่ต้องใช้แรงใดๆเลย หรือค่อยๆหุบและทอดลงช้าๆ.
เมื่อเทียบกัน ชุดสตรีที่มีหางกระโปรงยาวระพื้นอยู่ด้านหลัง แม้จะใช้ผ้าบางเบาเพียงใด ก็ยังเป็นน้ำหนักถ่วงบริเวณเอวและตอนต้นของสะโพก ยิ่งเป็นผ้าเนื้อหนามีน้ำหนัก ต้องมีกำลังแขนยกชิ้นส่วนที่เป็นหางกระโปรงขึ้น เช่นเมื่อจะลุกจะนั่งให้ดูงามสง่า. ต้องฝึกนานทีเดียว ต้องก้าวเดินช้าๆและระวังไม่เหยียบหางกระโปรงหกล้มเสียท่า. ยอมรับว่า ส่วนเกินที่ผิดธรรมชาติเมื่อต่อเข้าบนร่างคนเพื่อให้เหมือนนกยูงนั้น เป็นเพียงความงามชั่วคราวจาการสร้างภาพล่อตาล่อใจ เหมือนละครฉากหนึ่ง...เอวัง.

No comments:

Post a Comment