http://chotiroskovith.blogspot.com/2017/11/gaze-sky-and-seize-time.html
-------------------------------
เมื่อพูดถึงเครื่องมือดาราศาสตร์
ทุกคนนึกถึง astrolabe
[อั๊ซเทรอะเลบ] และแบบอื่นๆที่ประดิษฐ์ขึ้นตามๆกันมาที่มีประสิทธิภาพและความถูกต้องมากขึ้นๆ ดั้งเดิมของการใช้ astrolabe
นั้นเชื่อว่าเริ่มจากกรีซในราวปี 225BC.
ปราชญ์กรีกในยุคนั้น เช่น Apollonius,
Hipparchus หรือ Ptolemy
และต่อมาในยุคจักรวรรดิโรมัน
ต่างมีเครื่องมือดาราศาสตร์ astrolabe ใช้กันแล้ว แต่ไม่ปรากฏชื่อผู้ประดิษฐ์. เชื่อได้ว่าปราชญ์กรีกทุกคนต่างมีความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือ astrolabe
หรือ quadrant, sextant,
armillary sphere เป็นต้น (ดูภาพเครื่องมือแบบต่างๆข้างล่างต่อไป).
นักวิจัยด้านโบราณคดีศึกษาค้นพบเครื่องมือคล้ายๆกันในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่หนึ่งถึงที่สามในออสเตรียและฝรั่งเศส
(cf. Vitruvius). การใช้เครื่องมือนี้ขยายวงกว้างออกไปอย่างมากในยุคของนักดาราศาสตร์
Claudius Ptolemy.
ปโตเลมี (Claudius Ptolemy, มีชีวิตอยู่ในต้นศตวรรษที่ 2AD) ได้รวบรวมข้อมูลและภาพวาดถ่ายทอดภาพลักษณ์ของจักรวาลหรือดวงดาวจากอารยธรรมโบราณ
ไว้ในหนังสือ Tetrabiblos (ราวศตวรรษที่ 2 CE). เขาได้เขียนหนังสือหนังสืออีกหลายเล่มเช่น Timaeus หรือเรื่อง Planisphaerium. งานเขียนของปโตเลมีเป็นหนังสืออ้างอิงของปัญญาชนยุคนั้นและยุคต่อๆมาอีกพันกว่าสองพันปี โดยเฉพาะเรื่องดาราศาสตร์
เขาเป็นผู้เชื่อมความรู้ทางดาราศาสตร์ของโลกโบราณกับโลกยุคกลาง ที่จักเป็นพื้นฐานของวิสัยทัศน์ทุกแบบในสังคมตะวันตก.
ทฤษฎีดาราศาสตร์ของ ปโตเลมี มิใช่เพียงเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติตามคติที่มี
"จุดเริ่มต้น" (ที่คือพระเจ้าผู้สร้างในทุกความเชื่อสมัยนั้น) แต่ยังเป็นพื้นฐานของสถาปัตยกรรม, ศิลปะ, เคมีและปรัชญาแนวคิดอื่นๆรวมทั้งการเยียวยารักษาที่พัฒนาตามมา. ทฤษฎีที่เป็นที่จดจำจากปโตเลมี คือทฤษฎีที่อธิบายจักรวาลว่า โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ดวงอาทิตย์
ดวงจันทร์และดวงดาวอื่นๆหมุนรอบโลกเป็นวงกลมและโลกไม่หมุน นิ่งอยู่กับที่ (เรียกว่าทฤษฎี geocentric). ยุคนั้นรู้จักเพียงดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์. ทฤษฏีนี้ฝังเป็นความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับโลกเรื่อยมาจนถึงกลางศตวรรษที่16 เมื่อ Nicolaus Copernicus ชาวโปแลนด์ค้นพบและตั้งทฤษฎีใหม่ในปี 1543 ว่าโลกและดาวเคราะห์ทั้งหลายหมุนรอบดวงอาทิตย์เป็นวงกลม
(heliocentric)
และดวงอาทิตย์นิ่งอยู่กับที่ ส่วนดวงจันทร์หมุนรอบโลกเป็นวงกลม. ปัจจุบันเรารู้แน่ชัดแล้วว่า
ทั้งสองทฤษฎีมีข้อผิด เช่นวงโคจรของดวงดาวทั้งหลายเป็นวงรีไมใช่วงกลม.
ดวงอาทิตย์ก็หมุนเคลื่อนที่ไปด้วย
ดวงดาวเหมือนโลกก็หมุนรอบตัวเองไปพร้อมกับหมุนรอบดวงอาทิตย์.
ภาพท้องฟ้าของปโตเลมี
พร้อมดวงดาวทั้งหลายที่รู้จักกันในยุคนั้น
(cf. The Almagest’s Universe in https://www.famousscientists.org/claudius-ptolemy/)
เครื่องมือดูดาวแบบต่างๆที่คนพัฒนาขึ้นจากอดีตอันไกลโพ้นที่ยังมีประโยชน์และใช้การได้ดีในระดับหนึ่ง. ภาพจากเพจ >>
theperversityofconservatismdeux.blogspot.com
เครื่องมือดาราศาสตร์ชนิดต่างๆ
(1850 Astronomical Telescopes
Engraving; NEW Giclee Art Print poster; Astrolabe Sextant Astronomy Science.)
เครื่องมือดาราศาสตร์ชนิดต่างๆ ที่พึฒนาขึ้นตามยุคสมัย
Astrolabe เป็นที่สนใจอย่างมากที่สุดในหมู่ปราชญ์อาหรับ
โดยเฉพาะตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 8
ซึ่งเป็นยุคเริ่มต้นของอิสลาม. จารึกของชาวอาหรับในคริสต์ศต.ที่ 9 ยืนยันชัดเจนว่า พวกเขามีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับเครื่องมือดาราศาสตร์
และเจาะจงว่าดาราศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ฝังรากลึกจนเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ในอารยธรรมอิสลาม (footnote8) เครื่องมือดาราศาสตร์ที่เก่าที่สุดที่ยังเหลือมาให้เห็น มาจากยุคศตวรรษที่10 AD.
ไม่นานต่อมา
ชาวอาหรับมีเครื่องมือดาราศาสตร์ใช้มากกว่า 40 แบบ. ทำไมจึงสำคัญขนาดนั้น? เพื่อกำหนดทิศทางของเมืองเม็กกะนั่นเอง
(the qibla) ที่โยงไปถึงการรวมจิตวิญญาณของชาวมุสลิมทั้งหมดในการทำวัตรสวดมนต์ห้าครั้งต่อวัน. มีข้อมูลระบุว่าเครื่องมือดาราศาสตร์ของชาวเปอเชียก็วิวัฒน์พัฒนาความซับซ้อนและรูปแบบที่แตกต่างไปจากประเทศมุสลิมอื่นๆในยุคเดียวกัน
(เช่นที่เห็นในอินเดียอิสลาม ก็ไม่ดีเท่า)
และเป็นศิลปวัตถุอย่างหนึ่งของชาวเปอเชีย.
เห็นเครื่องมือดาราศาสตร์หลายชนิดที่เหล่าปราชญ์ใช้ศึกษาวิเคราะห์วิจารณ์ด้วยกัน
ทั้งยังมีลูกโลกด้วย เห็นภาพในทำนองนี้บ่อยๆในจิตรกรรมน้อยจากยุคอ๊อตโตมัน. ภาพนี้เป็นส่วนหนึ่งของจิตรกรรมขนาดใหญ่(ยุคศต.6AD.ที่หอดูดาวเมืองอิสตันบูล).
ภาพนี้เจาะจงไว้ว่า
นักดาราศาสตร์ชาวอาหรับกำลังพิสูจน์ทฤษฎีของปโตเลมีว่าไม่ถูกต้องตามหลักที่พวกเขาค้นพบ
ภาพปราชญ์อาหรับกำลังส่องดูดาว
อาจมีปรากฏการณ์อะไรพิเศษในท้องฟ้า พวกเขามีกล้องส่องดูดาวแบบ telescope ใช้กันแล้ว(แบบแรกๆตั้งแต่ต้นยุคกลางเรื่อยมาจนถึงศตวรรษที่19)
ภาพแสตมป์ที่ระลึกเพื่อยกย่องนักดาราศาสตร์คนสำคัญของอิสลามชื่อ Nasireddin Tusi (1201-1274 ปราชญ์ชาวเปอเชียผู้เป็นทั้งสถาปนิก นักฟิสิกส์
นักเทววิทยาฯลฯ เขายังเป็นผู้ตั้งศาสตร์ของตรีโกณมิติด้วย ดูต่อได้ในวิกิพีเดีย)
ลำพังดูการกำกับเส้นรอบวงแบบต่างๆอย่างละเอียด
มันชัดเจนว่า เขาเข้าใจเครื่องมือและรู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์จริง ในสองมุมบนยังมีแบบเครื่องมือดาราศาสตร์ แบบครึ่งวงกลมและแบบหนึ่งส่วนสี่ของวงกลม.
ชาวยุโรปได้เรียนรู้การใช้เครื่องมือเหล่านี้จากชาวอาหรับ. หลังจากที่ได้สำเหนียกว่าอารยธรรมอาหรับนั้นได้ก้าวรุดหน้าไปมาก
และเพื่อเอาชนะการแผ่กระจายของอิสลาม คริสต์ศาสนาจำเป็นต้องเข้าถึงระบบสังคม
ค่านิยมและความรู้ต่างๆของชาวอาหรับ. เช่นนี้ความรู้จากโลกโบราณ(กรีซกับศาสนาอิสลามโดยเฉพาะ)จึงกระจายไปในอารามนักบวชต่างๆไปทั่วคริสตจักร
และเข้าสู่วงศึกษาวิเคราะห์ในมหาวิทยาลัย(ซึ่งเริ่มตั้งขึ้นแล้วตั้งแต่ศตวรรษที่
9) ก่อนมาเป็นภูมิหลังของปัญญาชนทุกคนในตะวันตก(อย่างน้อยถึงกลางศตวรรษที่
20) (footnote9)
ภาพซ้ายเป็นภาพของปโตเลมี. ในภาพขวา นางฟ้าขนาบอยู่ด้านหลังของปโตเลมี
เธอชี้ไปที่เครื่องมือวัดตำแหน่งดวงดาว แบบเสี้ยวหนึ่งในสี่ของวงกลม (quadrant). ตรงล่างซ้ายของภาพก็มีเครื่องมือดาราศาสตร์แบบสมบูรณ์กว่าอีกแบบหนึ่งที่ใช้ในสมัยก่อน
(armillary
sphere). นางฟ้าชื่อ Margarita Philosophica เป็นนางฟ้าดาราศาตร์ มาดลใจเขาให้คิดและเข้าถึงศาสตร์นี้. ปโตเลมี เป็นนักปราชญ์ จึงมีมงกุฎสวมบนศีรษะเหมือนเป็นรางวัลจากนางฟ้า
(ตามขนบการแจกแจงชี้บอกคุณสมบัติของบุคคลในสมัยก่อน
มงกุฎมิได้เจาะจงสถานะกษัตริย์). ในประวัติศาสตร์อีจิปต์โบราณ
มีกษัตริย์ราชวงศ์ปโตเลมีครองอีจิปต์ด้วย(ราว 300 ปีก่อนคริสตกาล). นักประวัติศาสตร์บางคนคิดว่า
นักดาราศาสตร์ ปโตเลมี อาจเป็นหนึ่งในเชื้อสายกษัตริย์ราชวงศ์นี้
แต่ไม่มีหลักฐานยืนยัน. ภาพพิมพ์ของ Gregor Reisch ที่พิมพ์ในปี 1508. (ส่วนภาพของ ปโตเลมี มาจากวิกิพีเดีย
เจาะจงว่าเป็น public domain).
เครื่องมือ Astrolabe ของชาวอาหรับติดตามการแผ่อิสลามไปยังทวีปแอฟริกา
แล้วเข้าสู่ประเทศสเปน (al-Andalus)
ไปตามโบสถ์วิหารศาสนาคริสต์ในสเปนตั้งแต่ศต.ที่11
AD.แล้วแต่ยังไม่แพร่หลาย
ชาวยุโรปยังไม่รู้จักใช้จนถึงศต.ที่13-14. การแปลหนังสือและจารึกอาหรับเป็นภาษาละตินทำให้ชาวยุโรปมีความรู้เรื่องเครื่องมือเหล่านี้มากขึ้น
ใช้และสังเคราะห์ข้อมูลความรู้ที่ได้ตามแนวความคิดวิเคราะห์ของชาวยุโรปเอง
ตัดส่วนที่เกี่ยวกับการสวดมนต์ของชาวอาหรับออกไป.
มาในศต.ที่15
และ16 ในยุคเรอแนสซ็องส์ astrolabe กลายเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่จำเป็นในการศึกษาดาราศาสตร์. ความรู้เรื่องดาราศาสตร์และความสามารถในการใช้เครื่องมือ
เป็นสัญลักษณ์ของผู้ดี ของผู้มีการศึกษาสูง.
ตัวอย่างหนึ่งคือ
Geoffrey Chaucer (ผู้ได้สมญาว่าเป็นบิดาแห่งวรรณกรรมอังกฤษ
มีชีวิตในศต.ที่ 14 งานที่มีชื่อเสียงของเขาเช่น The Canterbury Tales) เขาได้เรียบเรียงตำราเกี่ยวกับ
astrolabe ในปี 1391 ที่เป็นหลักฐานยืนยันความรู้ด้านดาราศาสตร์ของเขา. เขามุ่งมั่นให้ลูกชายเรียนและเข้าใจศาสตร์นี้ด้วย). โลกอิสลามยังคงพัฒนาเครื่องมือดาราศาสตร์ต่างๆต่อมาจนถึงศต.ที่ 19.
ส่วนในยุโรปนั้น
ตั้งแต่ศต.ที่ 15 เมือง Augsburg
และเมือง Nuremberg ในเยอรมนี เป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องมือดาราศาสตร์
และในศต.ที่ 16
เครื่องมือที่ดีที่สุดเป็นผลงานของเมือง
Louvain ในเบลเยี่ยม. ตำราคู่มืออ้างอิงที่แพร่หลายที่สุดในยุโรป คืองานเขียนของ Johannes Stöffler แห่งมหาวิทยาลัย Tübingen ผู้วางมาตรฐานการออกแบบและการประดิษฐ์
astrolabe ในหมู่ชาวยุโรป (cf. หนังสือ Elucidatio fabricae
ususque astrolbii. 1512).
นักเดินเรือ อเมริโก เวสปุชชี (Amerigo Vespucci, 1451-1512)
ใช้ astrolabe เพื่อหากลุ่มดาว Crux [ครุ้กสฺ] ในท้องฟ้าซีกใต้.
ภาพพิมพ์แสดงการเดินเรือของ Americo
Vespucci (1454-1512)
สังเกตมือขวาของคนยืนที่หัวเรือ
ถืออุปกรณ์รูปหนึ่งส่วนสี่ของวงกลม
(เรียกว่า quadrant)
โคลัมบัสบนเรือที่มุ่งตะวันออก และในที่สุดไปขึ้นฝั่งทวีปอเมริกา
มือถือเครื่องมือดาราศาสตร์ quadrant
เช่นกัน
ในภาพพิมพ์นี้
เห็นการใช้เครื่องมือ(astrolabe)วัดทั้งความสูงและความลึก
ข้างๆคือตารางสูตรคูณ
พิมพ์ในปี 1650
ภาพนักบุญเจโรมผู้เป็นปราญ์คนสำคัญของคริสต์ศาสนา กำลังคิดพิจารณาพระคัมภีร์
รอบตัวเขา จิตรกรได้บรรจงแทรกเครื่องมือดาราศาสตร์ เครื่องมือวัดเวลาหลายชนิด astrolabe สองแบบ(บนโต๊ะและที่ห้อยตรงชั้นหนังสือ)และนาฬิกาทรายด้วย
เป็นไปตามค่านิยมในยุคนั้น เพราะอุปกรณ์เหล่านี้ เป็นสัญลักษณ์ของการเรียนรู้
ของความรู้ที่กว้างไกลและลึกซึ้ง. ตามขนบคริสตศิลป์
สิงโตเป็นส่วนหนึ่งในภาพของนักบุญเจโรมเสมอ เล่ากันว่าเพราะเขาได้ช่วยดึงหนามแหลมที่ปักอยู่ในอุ้งเท้าสิงโต
ตั้งแต่นั้นสิงโตจึงป้วนเปี้ยนรอบตัวนักบุญ. (ภาพจากเพจ “Surprised by Time” sic.)
ในสมัยก่อน นักดาราศาสตร์สนใจวัดตำแหน่งของดวงดาวและดาวเคราะห์ เพื่อคาดเดาปรากฏการณ์ของสุริยคราสและจันทรคราส ที่ส่งผลต่อชีวิตคนบนพื้นโลก เช่นนี้จึงอาจมองว่านี่เป็นเหตุผลเชิงโหราศาสตร์มากกว่า แต่ศัพท์สำนวนตลอดจนเทคนิครวมถึงการวัดตำแหน่งดวงดาวต่างๆนั้น ได้วางพื้นฐานสำหรับความรู้ทางดาราศาสตร์ที่พัฒนาต่อมาเป็นวิทยาศาสตร์อีกแขนงหนึ่งอย่างแท้จริง. คำ horoscope ที่แปลเป็นไทยว่า ดวงชะตา นั้น มาจากคำภาษาละตินว่า horoscopium ที่มาจากคำกรีกนัยว่า “พรมแดน หรือ ขอบเขต และเป้าหมาย (ในแง่ของ สิ่งที่ศึกษา สังเกต)”. การกำหนด “ดวงชะตา” ต้องใช้ความรู้เกี่ยวกับตำแหน่งของดาวเคราะห์ต่างๆ, เส้นทางโคจรของดวงอาทิตย์ณวันที่หนึ่ง เวลาหนึ่ง อย่างแม่นยำ โหรจึงสามารถแปลงข้อมูลเหล่านั้นให้เป็นคำแนะนำอย่างเฉพาะเจาะจงได้. นี่เป็นข้อสรุปที่รวบรัดที่สุดเกี่ยวกับการติดตามดูดวงดาวในอดีตกาลอันไกลโพ้นเมื่อสี่พันปีก่อน.
การวัดตำแหน่งดวงดาวบนท้องฟ้า นำไปสู่การสร้าง นาฬิกาดาราศาสตร์ (astronomical clock). ดูตัวอย่างรายละเอียดเกี่ยวกับนาฬิกาดาราศาสตร์ที่สำคัญที่สุดที่ยังคงเดินบอกเวลาอย่างต่อเนื่องมาหกร้อยกว่าปีแล้ว
คือนาฬิกาที่เมือง ปร๊ากสาธารณะเช้ค และที่เมืองสตร๊าซบูร์กประเทศฝรั่งเศส ในลิงค์ต่อไปนี้ จึงไม่นำมากล่าวซ้ำอีก.
(footnote10)
นาฬิกาดาราศาสตร์ที่กรุงปร๊ากสาธารณรัฐเช้คที่สร้างขึ้นในปี
1410 เคยหยุดไปเช่นเพราะเสียหายในระหว่างสงครามโลก มีการซ่อมแซมแก้ไข
และฟื้นฟูบูรณะรูปแบบของนาฬิกา และสิ่งประดับรอบๆหน้าปัดนาฬิกา
ให้คงสภาพเดิมจนถึงที่สุด นาฬิกานี้ยังคงเดินต่อมาด้วยดี
และชาวเมืองปร๊ากได้ฉลองอายุครบหกร้อยปีของนาฬิกาที่นั่นในปี 2010.
หอนาฬิกาที่โดดเด่นมากอีกหอหนึ่งในยุโรปที่ยังใช้การได้มาจนทุกวันนี้ คือหอ Zytglogge [ซี้ต-หล็อกเกอะ] ที่กรุง Bern
ประเทศสวิสเซอแลนด์ ปรากฏกล่าวถึงในจารึกโบราณต้นศตวรรรษที่13แล้ว เคยเป็นหอสอดส่องระวังภัย,
เคยเป็นคุกจองจำนักโทษสตรีที่มีเพศสัมพันธ์กับนักบวช, เคยเป็นศูนย์กลางของชุมชนในเมือง, เป็นหออนุสรณ์ความทรงจำของชาวเมือง, และที่สำคัญคือเป็นหอบอกเวลาของชาวเมืองมานานกว่าแปดร้อยปีแล้ว. หอ Zytglogge ผ่านร้อนผ่านหนาว ร่วมทุกข์ร่วมสุขมากับชาวเมือง. ส่วนนาฬิกาดาราศาสตร์สร้างเพิ่มเข้าไปในช่วงปี
1527-1530 หลังจากเกิดเหตุไฟไหม้ทำลายหอนี้ไปเสียสิ้นในปี1405
จนต้องบูรณะขึ้นใหม่ต่อเนื่องมา
และเสร็จสมบูรณ์ในปี1983. หอ Zytglogge
นี้เป็นหนึ่งในสามหอนาฬิกาในสวิสฯที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ. หอนี้โดยเฉพาะได้ขึ้นทะเบียนพร้อมๆกับส่วนเมืองกรุงเก่า Bern ทั้งเมือง เป็นมรดกโลกของยูเนสโก้ในปี1983.
ภาพหอนาฬิกา Zytglogge ของ Mike Lehmann, Mike Switzerland
13:37, 2 July 2006 (UTC) (Own work) [GFDL
(http://www.gnu.org/copyleft/fdl.html), CC-BY-SA-3.0
(http://creativecommons.org/licenses/by-sa/3.0/) or CC BY-SA 2.5-2.0-1.0
(https://creativecommons.org/licenses/by-sa/2.5-2.0-1.0)], via Wikimedia
Commons.
เหนือหลังคา
ใต้ส่วนที่เป็นหลังคาลาดทรงแหลม เป็นที่ตั้งของระฆังชุบทองขนาดหนัก 1.4 ตัน หล่อขึ้นในปี1405
ผลงานของ Johann
Reber.
มีหุ่นกลของคนตีระฆังบอกชั่วโมง. หุ่นกลนี้ทำด้วยไม้ เคลือบสีทองเมื่อปี1770. (ระฆังสมัยก่อนในยุโรปในศตวรรษที่14-18 มักทำเป็นรูปหุ่นคน จากไม้และเคลือบสี มือถือฆ้อนตีบอกเวลา
เรียกว่า jacquemart).
Zytglogge tower in Bern, Switzerland. Musical mechanism, photo by
Sandstein on April 8, 2007.[Public domain], via Wikimedia Commons.
ข้างๆหน้าปัดดาราศาสตร์มีกลุ่มหุ่นกลเล็กๆที่ทำขึ้นในยุคหลัง. ไก่แจ้และสิงโตถือคทาอยู่ประกบสองข้างกรอบ ยังมีอัศวิน
คนเป่าปี่ เสือ.
สามสี่นาทีก่อนนาฬิกาตีบอกชั่วโมง
หุ่นกลเหล่านี้จะเริ่มเคลื่อนไหว
พวกสัตว์ทั้งหลายวิ่งไล่กวดกัน. แล้วไก่ขันและเหนือขึ้นไปตัวตลก(jester) ดึงระฆัง. ระฆังเล็กตรงนี้ตีบอกเวลาทุกสิบห้านาทีด้วย. ชายชราคนหนึ่ง(มีเครายาว สื่อความสูงวัย) นั่งบนเก้าอี้
มือซ้ายถือคทา มือขวาถือนาฬิกาทราย เป็นภาพลักษณ์ของเทพกรีก Chronos นั่นคือเทพแห่งเวลา. รูปปั้นสไตล์บาร็อคตัวนี้ นายช่างจากเมือง Nürnberg ในเยอรมนี ทำขึ้นในปี1930 (มีการซ่อมหรือเปลี่ยนรูปปั้นตัวนี้หลายครั้ง). ชาวเมือง Bern พอใจที่จะเรียกชื่อเทพแห่งกาลเวลานี้ว่า Hans von Thann ในทำนองว่าปู่ฮันฯ ที่ให้ความรู้สึกกันเองเหมือนคนคุ้นเคย.
พิจารณาดูรายละเอียดของนาฬิกาดาราศาสตร์ในภาพนี้
ชัดเจนว่าทำไมนาฬิกาจึงคือท้องฟ้าจำลอง. หน้าปัดนาฬิกานี้เพิ่มเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของหอ Zytglogge ในศตวรรษที่15 พร้อมรายละเอียดตามที่
Ueli Bellwald ได้เขียนไว้ในปี 1983 ในหนังสือ Der Zytglogge in Bern.
Gesellschaft für Schweizerische Kunstgeschichte. ISBN
3-85872-341-0. หน้า 19-20.
ภาพหน้าปัดนี้ของ Sandstein, on April 15, 2007.
[Public domain], via Wikimedia Commons.
ส่วนสี่ภาพข้างล่างนี้เป็นนาฬิกาดาราศาสตร์ที่มหาวิหาร Notre Dame de Strasbourg สร้างขึ้นระหว่างปี 1352-1354 ที่เมืองสตร๊าซบูร์ก (Strasbourg, France) (ภาพของผู้เขียน ไปถ่ายมาเองเมื่อวันที่ 5 เดือนกรกฎาคม 2014)
นาฬิกาดาราศาสตร์นี้หยุดเดินในศตวรรษที่16 เพราะเครื่องกลไกเสื่อมหรือขึ้นสนิม. ในศควรรษต่อๆมา
มีการซ่อมแซมเปลี่ยนเครื่องกลไกบางชิ้นสองสามครั้ง
รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีปัจจุบันเข้าไปช่วย.
ปัจจุบันนาฬิกานี้จึงมิได้เดินด้วยระบบกลไกดั้งเดิมที่สร้างขึ้นในกลางศตวรรษที่14.
ท้องฟ้าจำลองตามทฤษฎีดาราศาสตร์ของปโตเลมี
มีอยู่ในสมัยกรีกและโรมัน แต่เมื่อกรุงโรมล่มสลายลง
ความสนใจพัฒนาความรู้ด้านดาราศาสตร์ก็ซบเซาลงไปด้วย จนมาถึงคริสตกาลราวปี 1348 แพทย์ผู้เป็นช่างนาฬิกาชาวอิตาเลียนชื่อ Giovanni
Dondi
ได้ประดิษฐ์ ท้องฟ้าจำลอง (orrery)(footnote11) เป็นกลไกอัตโนมัติขึ้นเรือนแรก(ที่มีหลักฐานยืนยัน)
นาฬิกานี้บอกตำแหน่งของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร
ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ บนบนเส้นวงโคจรของดวงอาทิตย์ในหนึ่งปี (วงโคจร eclitic)
โดยมีโลกเป็นศูนย์กลางตามระบบสุริยะของปโตเลมี
ปัจจุบันนี้ไม่เหลือร่องรอยของนาฬิกาเครื่องนี้
เหลือแต่รายละเอียดที่เขาบันทึกไว้. ในศตวรรษที่16 มีการสร้างนาฬิกาดาราศาสตร์ขึ้นสองเครื่องตามระบบสุริยะของปโตเลมีเช่นกัน. กว่าจะมาถึงระบบสุริยะของ Copernicus ในยุคเรอแนสซ็องส์
คนจึงสร้างท้องฟ้าจำลองระบบใหม่ เครื่องแรกในปี 1704. เป็นผลงานของช่างประดิษฐ์นาฬิกาชาวอังกฤษชื่อ George
Graham และ Thomas Tompion. ต่อมา Jon Rowely ได้ใช้แบบของช่างทั้งสองประดิษฐ์ท้องฟ้าจำลองให้บุคคลสำคัญในยุคนั้นเช่น
เจ้าชาย Eugene of Savoy เป็นต้น.
ภาพท้องฟ้าจำลองสมัยก่อน
จากนิทรรศการหุ่นยนต์ที่กรุงลอนดอน
ให้สังเกตว่าดาวเคราะห์แต่ละดวงในภาพบนนี้ มีจำนวนดวงจันทร์ตรงตามความรู้ ณ ปัจจุบัน. ภาพของ osaMu เมื่อวันที่ 4 November 2010 [CC BY 2.0
(http://creativecommons.org/licenses/by/2.0)] via Wikimedia Commons.
ท้องฟ้าจำลองสมัยนั้น เดินได้ หมุนไปรอบๆได้จริง
ด้วยระบบเฟือง(แบบนาฬิกาไขลาน). ท้องฟ้าจำลองแบบนี้ย่อส่วนอย่างคร่าวๆ
มิได้ถูกต้องตรงตามสัดส่วนที่แท้จริงของดาวพระเคราะห์แต่ละดวงและระยะทางที่ดาวแต่ละดวงอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ เพราะความลำบากในการสร้างให้อยู่ภายในกรอบที่จำกัด
ไม่ใหญ่เกะกะเกินไป. ส่วนความรู้ทางดาราศาสตร์เกี่ยวกับดวงดาวต่างๆและดวงอาทิตย์ดวงจันทร์นั้น
มนุษย์ยังต้องศึกษาสังเกตติดตามการหมุนของโลกและของดวงดาวอื่นๆอย่างต่อเนื่อง. การค้นพบใหม่ๆ
นำความรู้ใหม่ มุมมองใหม่เกี่ยวกับระบบสุริยะ ดูจะไม่มีวันสิ้นสุด.
ในปี 1764 Benjamin
Martin ได้สร้างท้องฟ้าจำลองแนวใหม่ที่ประกอบด้วยสามส่วนๆหนึ่งแสดงดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์
อีกส่วนหนึ่งเรียกว่า the tellurion ที่แสดงแกนเอียงของโลกในขณะที่หมุนรอบดวงอาทิตย์ และส่วนสุดท้ายที่เป็น the
Lunarium ที่แสดงการหมุนรอบตัวเองของดวงจันทร์ในขณะที่มันโคจรไปรอบโลก. เครื่องนี้จึงเป็นภาพระบบสุริยะที่ใกล้ความเป็นจริงมากขึ้นกว่าเดิม. แบบใหม่นี้ทำให้เห็นวงโคจรที่เบนเอียงของดวงดาว
เมื่อเทียบกับตำแหน่งของดวงอาทิตย์ด้วย.
ระหว่างปี 1665-1681 ที่ปารีส Christiaan Huygens (1629-1695) ผู้เป็นนักวิทยาศาสตร์
นักคณิตศาสตร์ นักดาราศาสตร์ฯลฯชาวดัตช์ เป็นเพื่อนผู้คุ้นเคยของ
Galileo Galilei (1564-1642) และติดตามหลักการฟิสิกส์ใหม่ๆของกาลิเลโอ
โดยเฉพาะเรื่องการแกว่งไปมาของลูกตุ้มที่สม่ำเสมอ(footnote12) ที่อาจนำมาใช้ในการสร้างนาฬิกาดาราศาสตร์
นาฬิกาลูกตุ้มฯลฯ. Huygens
ได้ประดิษฐ์ท้องฟ้าจำลองระบบสุริยะระบบใหม่ที่เดินอัตโนมัติตามวงโคจรของดวงอาทิตย์ในหนึ่งปีโดยไม่หยุด. บันทึกการทำงานของระบบท้องฟ้าจำลองของเขาได้รับการตีพิมพ์ในปี 1703.
Huygens ยังประดิษฐ์ นาฬิกาลูกตุ้ม-pendulum เรือนแรกขึ้นในปี 1656/58. ความสำเร็จนี้เป็นสปริงบอร์ดสู่การปฏิวัติความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างไม่มีอะไรหยุดยั้งได้นับแต่บัดนั้น. ศตวรรษที่18
ช่างกล
ช่างนาฬิกาค้นพบวิธีย่อระบบเฟืองในนาฬิกาให้มีขนาดเล็กลงๆ
ย่อส่วนระบบเฟืองจนเหลือขนาดเท่าฝ่ามือ
นำไปสู่การสร้างนาฬิกาแบบต่างๆจนถึงนาฬิกาข้อมือในที่สุด
ดังจะได้กล่าวต่อไปข้างล่างนี้.
Huygens
ยังได้แปลงระบบการแกว่งของลูกตุ้มให้เป็นสปริงที่ปรับสมดุลระบบเฟือง
ทำให้มีขนาดเล็กลงๆได้ จนกลายเป็นปัจจัยในการสร้างนาฬิกาพกและนาฬิกาข้อมือต่อมา.
เขาเป็นนักประดิษฐ์ที่โดดเด่นที่สุดแห่งยุค Joseph
Wright (จากเมือง Derby) ได้บรรจงแสดงลงเป็นจิตรกรรม สาธิตระบบการโคจรของดวงดาวในท้องฟ้าโดยมีตะเกียงทำหน้าที่ของดวงอาทิตย์. ชื่อภาพว่า “A Philosopher giving a Lecture on the
Orrery in which a lamp is put in place of the Sun” (1766) จิตรกรรมนี้เป็นตัวอย่างของความมุ่งมั่นและความใฝ่รู้ของปัญญาชนในยุคแสงสว่างนำโลก
หรือ the Age of Enlightenment.
อ่านรายละเอียดได้ที่นี่ >> https://www.khanacademy.org/humanities/ap-art-history/later-europe-and-americas/enlightenment-revolution/a/wright-of-derby-a-philosopher-lecturing-on-the-orrery
แต่สุดยอดของประดิษฐกรรมท้องฟ้าจำลองที่ยังคงเดินมาจนถึงทุกวันนี้อย่างอัตโนมัติที่สอดคล้องกับการโคจรจริงของดวงดาวในท้องฟ้า
คือ ท้องฟ้าจำลอง Eise Eisinga Planetarium ที่สร้างขึ้นในระหว่างปี 1774-1781 และเป็นท้องฟ้าจำลองที่ยังใช้งานได้เครื่องที่เก่าที่สุดของโลก.
ติดตามรายละเอียดสุดมหัศจรรย์ของ Eise Eisenga ได้จากที่นี่ >>
เมื่อลดขนาดท้องฟ้าจำลองให้เล็กลงจนใส่ในกล่องได้ แบบหิ้วพกพา เหมาะกับผู้สะสมและผู้คงแก่เรียนในยุโรปตั้งแต่ยุคกลางลงมา เป็นสมบัติของผู้ดีแบบหนึ่ง.
เชื่อกันมาว่า Peter Henlein (1485-1542) ชาวเยอรมันจากเมือง Nuremberg ได้ประดิษฐ์ระบบเฟืองให้มีขนาดย่อส่วนเล็กลงๆจนสำหรับแทรกลงในกรอบของนาฬิกาพกได้. หลายคนคิดว่าเขาเป็นคนแรกที่ได้สร้างนาฬิกาพกเรือนแรก(1510) ดังภาพข้างล่าง แต่ไม่มีหลักฐานจารึกใดยืนยันว่าเป็นคนแรกจริง. อย่างไรก็ดี การมีนาฬิกาพกออกมาในสังคม นำไปสู่การปฏิวัติการผลิตนาฬิกาอย่างแท้จริง.
ตัวอย่างนาฬิกาพกของ
Peter
Henlein ปี 1510 จากพิพิธภัณฑ์เมืองนูเร็มแบร์ก (Germanisches Nationalmuseum
Nuremberg). ภาพถ่ายนี้ของ Pirkheimer (Own work) เมื่อวันที่ 8 May 2011.[CC BY-SA 3.0
(https://creativecommons.org/licenses/by-sa/3.0)], via Wikimedia Commons.
เห็นชัดจากภาพข้างบนว่า สมัยนั้น นาฬิกาพกยังพกไม่สะดวก
ต้องใส่กับสร้อยคอเหมือนจี้ เนื่องจากยังมีความหนา(หรือสูง)เกือบสามนิ้วดังภาพ. กว่าจะได้นาฬิกาพกขนาดติด
กระเป๋าเสื้อหรือกางเกงได้นั้น ต้องคอยต่อไปอีกร้อยปี.
อีกภาพหนึ่งของนาฬิกาพก(taschenuhr)สมัยแรกที่
Peter Henlein ประดิษฐ์ขึ้น
ยังหนาอยู่. นาฬิกานี้อยู่ที่ Philadelphia
Memorial Hall, USA. ภาพนี้ของ Peter R. Suter Deutsch:
Bildbearbeitung Peter R. Suter (Uploaded by author) [Public domain], via
Wikimedia Commons.
นาฬิกาตั้งโต๊ะ
และนาฬิแบบตั้งพื้นขนาดใหญ่(ที่ประดับด้วยเครื่องกลไกอัตโนมัติที่เคลื่อนไหวไปพร้อมเสียงดนตรีเมื่อบอกชั่วโมง)
สิ่งประดิษฐ์ที่แพร่หลายในยุโรป. ตัวอย่างในภาพทั้งสองจากยุคศตวรรษที่18-19. ภาพจากนิทรรศการหุ่นยนต์กรุงลอนดอนปี2017.
หากเราเปิดดูเครื่องฟันเฟืองภายในนาฬิกาพก
จะเห็นดังภาพข้างล่างนี้
ภาพของ B. G. Seielstad, December 1931. [Public domain], via Wikimedia
Commons.
ดูเทียบกับภาพสเก็ตช์ของท้องฟ้าจำลอง
Antikythera mechanism (ที่พบว่าทำขึ้นเมื่อเกือบสองพันปีก่อน)
ที่ Michael T.Wright ได้สเก็ตช์ให้เห็นระบบกลไกดังภาพนี้
หรือเทียบกับ armillary sphere ท้องฟ้าจำลองของชาวอาหรับ ดังภาพข้างล่างนี้
คงชัดเจนแล้วว่า
นาฬิกาที่แท้จริงคือท้องฟ้าจำลองขนาดย่อส่วนนั่นเอง ระบบเฟืองต่างๆถ่ายทอดการเคลื่อนไหวของดวงดาวสำคัญๆในท้องฟ้าต่างๆ.
ภาพจาก hondinkee.com ของบริษัท Geo-Graham Tourbillon Orrery.
เป็นนาฬิกาข้อมือที่เป็นนาฬิกาดาราศาสตร์ด้วย
แสดงตำแหน่งของโลก ดวงจันทร์และดาวอังคาร ตามความเป็นจริงในระบบสุริยะที่มีดวงทิตย์เป็นศูนย์กลางพร้อมด้วยปฏิทินร้อยปี. Christophe Claret เป็นผู้ออกแบบและเนรมิตขึ้นเรือนแรกในปี
2013 เขาใช้พลอยมีค่าทรงกลมๆแทนดาวเคราะห์.
ต่อมาเขาเปลี่ยนใช้หินเทอคอยซ์(turquoise) เป็นลูกโลก
และใช้เศษชิ้นส่วนของอุกกาบาตที่มาจากดวงจันทร์(พบตกลงในแอฟริกาทางตะวันตกฉียงเหนือในปี
2005)
นำมาขัดและตัดขนาดแล้วใส่ลงเป็นดวงจันทร์ในนาฬิกาเรือนนี้
และนำชิ้นส่วนของอุกกาบาตชื่อ Tissint Meteolite จากดาวอังคารที่ตกลงในมอร็อคโคในปี 2011 นำมาขัดและตัดขนาดแล้วใส่เป็นดาวอังคารในนาฬิกาเรือนนี้เช่นกัน.
ส่วนดวงอาทิตย์นั้นใช้ทอง. อ่านเดือนได้จากตำแหน่งบนโลกและเห็นว่าดวงอาทิตย์ปรากฏในกลุ่มจักรราศีใดดังที่เห็นจากโลก. นาฬิกานี้หนากว่านาฬิกาทั่วไป
หน้าปัดด้านหลังมีปฏิทินร้อยปี ตามแผ่นดิสก์ที่หมุนครบรอบหนึ่งรอบในร้อยปี
ฯลฯ
ภาพด้านหลัง.
นาฬิกาเรือนนี้จึงเป็นท้องฟ้าจำลองชนิดข้อมือที่ไม่เหมือนท้องฟ้าจำลองใดที่เคยมีมาในโลก. ระบุราคาเรือนนี้ณผู้ผลิตที่ราว
330,000 ดอลลาร์
และแน่นอนมีไม่กี่เรือนเท่านั้น.
ในปี 1904 นักบินชาวฟรังโกบราซิเลียนชื่อ Alberto
Santos-Dumont [อัลแบรโต ซันโต๊ซ ดูมง] เป็นคนแรกที่พาเครื่องบินของเขาขึ้นเหาะเหิรเหนือท้องฟ้ากรุงปารีส
และเป็นคนแรกที่สวมนาฬิกาข้อมือเรือนแรกของโลกที่
Louis-François
Cartier [หลุย ฟร็องซัว ก๊ะ-รฺ-ติเย] (footnote13) เป็นผู้ประดิษฐ์ให้เขาอย่างเฉพาะเจาะจง.
Cartier ตั้งชื่อนาฬิกาว่า Santos ตามชื่อตัวของนักบินเพื่อนของเขา. ในบทความที่ลงหนังสือพิมพ์สมัยนั้นกล่าวว่า นาฬิกาเรือนนั้นเป็นสัญลักษณ์แห่งความปิติชื่นชมที่
Cartier มีต่อนักบิน Santos ที่เขายกย่องว่าเป็นสุภาพบุรุษชาติอาชาไนย ผู้เสี่ยงชีวิตทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า
ทดลองและยืนยันประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ที่พายานพาหนะขึ้นบินเหนือพื้นและนำเขากลับลงบนพื้นได้อย่างเรียบร้อย. เป็นยุคที่คนไม่กลัวอะไรทั้งสิ้น ยุคของความมุ่งมั่นที่ไม่มีอะไรมาขวางได้. นาฬิกาข้อมือที่ทำขึ้นและทำกันต่อๆมาเพราะความสะดวกในการดูเวลา
มีชื่อเรียกอย่างเฉพาะเจาะจง “The Santos”. รูปแบบนาฬิกาของ Cartier
กลายเป็นไอคอนถาวรของนาฬิกาข้อมือ. นักบินกลายเป็นวีรบุรุษของโลกและนาฬิกาข้อมือของ Cartier
กลายเป็นเครื่องมือและความฝันที่จับต้องได้ของคน.
ภาพจาก Medium.com
ไม่นานต่อมา
เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เหล่าทหารและนักบิน เป็นคนกลุ่มแรกที่สวมนาฬิกาข้อมือเมื่อไปในสงครามเพราะความสะดวกกว่านาฬิกาพก.
การผลิตนาฬิกาข้อมือจึงทบทวีคูณในทันที.
เมื่อการทำนาฬิกาก้าวหน้าไปจนสามารถทำเป็นจำนวนมาก
การมีนาฬิกาของตัวเองจึงไม่ใช่อภิสิทธิ์ของคนหมู่น้อยแล้ว
แต่นาฬิกาก็ยังบ่งบอกฐานะและสถานภาพของผู้เป็นเจ้าของและเป็นพยานของความสนใจในวิทยาการแนวหน้าใหม่ๆ.
ต่อมา คนค้นพบปฎิกิริยาของแร่หินควอสซ์(หรือ SiO2
= silicon dioxide) เมื่อโดนประจุไฟฟ้าว่า มันแกว่ง(=oscillator) และมันสะท้อนเสียงได้(=amplifier) เท่ากับเป็น resonator ให้คลื่นความถี่สูงถึง 30,000
รอบต่อวินาที. การนาฬิกาช้างที่เมือง Dubai สร้างตามแบบเดิมที่พบในจารึกชาวมุสลิม เดินแกว่งภายในควอตซ์จึงอาจเข้าไปแทนที่การแกว่งของลูกตุ้มนาฬิกาได้. และคนก็เข้าควบคุมการแกว่งของควอสซ์ด้วยการตัดผลึกควอตซ์ให้เหมาะสม
เพื่อให้ได้ความถี่คลื่นที่ต้องการได้
เนื่องจากความถี่ของการแกว่งของควอตซ์ขึ้นอยู่กับรูปร่างและขนาดของมันกับตำแหน่งของมัน(ในอุปกรณ์ที่ต้องการเอาควอตซ์ไปใช้).
สำหรับนาฬิกาควอตซ์เกือบทุกเรือน
เขาจัดความถี่คลื่นที่สอดคล้องกับการเต้นของชีพจร คือหนึ่งรอบต่อหนึ่งวินาที (pulse-per-second) เทียบเป็นความถี่ของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ 32,768 Hz เป็นความถี่คลื่นที่สูงพอเพื่อนำไปใช้ขับเคลื่อนนาฬิกาและต่ำพอที่ไม่ทำให้เกิดเสียงรบกวนดังจากนาฬิกาตลอดเวลา.
การรักษาความแม่นยำของนาฬิกา
ง่ายที่สุดคือการสวมติดตัว(ติดข้อมือ) เท่ากับให้นาฬิกาควอตซ์อยู่ในอุณหภูมิที่คงที่(ของคนปกติ).
ในปี 1927 Warren
Marrison และ J.W. Horton แห่งบริษัท Bell Telephone Laboratories ได้ผลิตนาฬิกาควอตซ์เรือนแรก. ณจุดนี้ นาฬิกาควอตซ์เป็นนาฬิกาที่เที่ยงตรงแม่นยำที่สุด. ควอตซ์จึงถูกนำไปใช้มากที่สุดโดยเฉพาะในเรื่องการทำนาฬิกาเรือนใหญ่
นาฬิกากันน้ำและนาฬิกาข้อมือ ทั้งยังใช้ในระบบคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีอื่นๆ เข้าควบคุมความแม่นยำของเวลา.
โลกมีนาฬิกาปรมาณู(atomic clock)แล้วตั้งแต่ราวปี 1970 มาตรฐานเวลาก็ได้เปลี่ยนไปแล้วตั้งแต่บัดนั้น. ที่เรียกว่านาฬิกาปรมาณูหรือนาฬิกาอะตอม
อาจเป็นเพราะใช้อะตอมหนึ่งอะตอมของธาตุโลหะที่ชื่อซีเซียม-Caesium (สัญลักษณ์คือ Cs) มาวัดเวลา.
ความละเอียดของการวัดออกมาว่า
สามารถจับความถี่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เกิดจากการแกว่ง 9.192.631.770 รอบของอะตอมซีเซียมหนึ่งอะตอมในหนึ่งวินาที. ความละเอียดดังกล่าวเมื่อนำไปใช้ในการทำนาฬิกา ทำให้นาฬิกาอะตอมนี้
มีความแม่นยำสูงสุด ความคลาดเคลื่อนที่อาจเกิดขึ้น
เท่ากับหนึ่งวินาทีภายในสองสามพันปี. (คนทำไมถึงกระเหี้ยนกระหือรือกับเวลาไม่กี่วินาทีกันนักนะ
เมื่อในชึวิตประจำวัน แต่ละคนปล่อยเวลาให้ผ่านๆไปโดยเปล่าประโยชน์เป็นชั่วโมงๆ). เดี๋ยวนี้เวลาเป็นของ“หา”ง่าย
พบง่าย เห็นง่าย บนจอเล็กจอน้อยของโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์
นาฬิกาหรือเครื่องมือสื่อสารสารพัดชนิด. คนมีปฏิทินและนาฬิกาทำหน้าที่วัดและควบคุมเวลา มัน“สร้าง”เวลาให้เราทุกวี่ทุกวัน. เวลาได้ครอบงำชีวิตคนทุกลมหายใจเข้าออกแล้ว…ไปจนถึงเตียงนอนสุดท้ายในห้องไอซียู.
ท้องฟ้าสมัยนี้ไม่เหมือนท้องฟ้าสมัยก่อนเสียแล้ว
การสร้างท้องฟ้าจำลองยุคใหม่ในทศวรรษที่1920 คือการเอา“เทคนิค”เข้าไปแทนที่“ธรรมชาติ”
คือการส่งอุปกรณ์ เครื่องกลไก(ที่เย็นชาเป็นเหล็กเป็นโลหะประกอบ)ทั้งหลายเข้าไปประจำที่ในท้องฟ้า
เข้าไปแทนความระทึกใจและความตื่นเต้นตามวิสัยมนุษย์เบื้องหน้าความมหัศจรรย์และความลึกล้ำของท้องฟ้า. เมื่อก่อนคนเคยมีชีวิตอิงดาว
ใช้ชีวิตสอดคล้องกับอิทธิพลของดวงดาว เดี๋ยวนี้คนอยู่กับนาฬิกาและพลังงานไฟฟ้า.
แต่เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น(จากทฤษฎีสัมพัทธภาพ E=mc2 ของไอนสไตน, จากการค้นพบกฎ Hubble’s Law ที่ระบุว่าการที่แกลแล็กซี่อื่นๆโคจรไกลออกไปจากโลกเรื่อยๆ
ทำให้แน่ใจว่าระบบสุริยะไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาลตามที่เชื่อกันมา, และทฤษฎีหลุมดำหรือ Big Bang) ทำให้คนมีความรู้ร้อยเท่าพันทวีเกี่ยวกับจักรวาลอย่างที่คนสมัยก่อนไม่เคยรู้เลย. กล้องส่องทางไกลที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นๆ
ทำให้สายตาคนหมดเครดิตไปเสียสิ้น... สายตาคนที่เคยมองท้องฟ้าว่าเป็นความบริสุทธิ์
เป็นสวรรค์ ถูกลบล้างด้วยภาพจากกล้องดูดาวสมัยใหม่ที่แสดงให้เห็นความไม่เนียน
จุดด่างดำบนใบหน้าของดวงดาว ท้องฟ้าที่สายตาคนเคยจ้องมองด้วยความหลงใหลและยำเกรง ไม่ใช่สาวพรหมจรรย์อีกต่อไปแล้ว. ความรู้และอุปกรณ์สมัยปัจจุบัน
ถอนรากถอนโคนจนสิ้นซากความผูกพันที่คนเคยมีกับท้องฟ้า. สิ่งที่เคยเป็นอมตะ
กลายเป็นสิ่งที่ผลิตได้. อัจฉริยภาพของคน
ผลิตปรากฏการณ์ธรรมชาติ(บางประเภท)ได้เช่นคลื่นลม คลื่นน้ำ ฝนเทียม หิมะเทียม.
เดี๋ยวนี้คนสร้างดาวเทียม (satellite)
ต่อไปในอนาคตคนอาจสร้างดวงอาทิตย์“เทียม”ขึ้นใช้เฉพาะกิจ.
นี่เป็นยุคสมัยที่เพียบด้วยนวตกรรมใหม่ๆ
และคงไม่มีอะไรที่มีอิทธิพลต่อคนอย่างใกล้ชิดสนิทแน่นไปกว่าการมีมนุษย์“โคลน”
มนุษย์เทียมหรือหุ่นยนต์.
เส้นทางที่เริ่มจากการติดตามดวงดาวในท้องฟ้าไปสู่กลไกของนาฬิกานี่เอง
เป็นจุดกำเนิดของหุ่นกลต่างๆที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในศตวรรษที่18
ดังจะได้กล่าวถึงในบท ชีวิตไขลาน ต่อไป…
แถมคลิปน่าทึ่งเรื่องนี้ นาฬิกาท้องฟ้าจำลอง(2014) จาก Van Cleef & Arpels ที่ตั้งชื่อไว้ว่า Midnight Planétarium timepiece. ระบบสุริยะพร้อมดาวเคราะห์หกดวงหมุนรอบดวงอาทิตย์ >>
https://www.youtube.com/watch?v=sw5S2-T-Ogk
แถมคลิปน่าทึ่งเรื่องนี้ นาฬิกาท้องฟ้าจำลอง(2014) จาก Van Cleef & Arpels ที่ตั้งชื่อไว้ว่า Midnight Planétarium timepiece. ระบบสุริยะพร้อมดาวเคราะห์หกดวงหมุนรอบดวงอาทิตย์ >>
https://www.youtube.com/watch?v=sw5S2-T-Ogk
บันทึกความสนใจของ โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์
เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๐.
เชิงอรรถ Footnotes
8. ประวัติเกี่ยวกับเครื่องมือดูดาว astrolabes
>>
9. ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่
9 ปราชญ์อาหรับเป็นผู้แปลงานของ อริสโตเตแลซ
และผลงานของ ปโตเลมี ด้วยวิจารณญาณและประสบการณ์เกี่ยวกับดาราศาสตร์(และศาสตร์อื่นๆเช่นการแพทย์
เคมี คณิตศาสตร์ เรขาคณิต) ที่พวกเขาได้พัฒนาควบคู่กันมาจากการเข้าถึงความรู้เกี่ยวกับโลกโบราณผ่านงานของปราชญ์ชาวกรีก. ในปลายศตวรรษที่11-12 เท่านั้น
ที่สังคมคริสต์ตะวันตกเริ่มแปลความรู้และศาสตร์วิชาจากกรีซโบราณ โดยแปลจากฉบับภาษาอาหรับมาเป็นภาษาละติน เท่ากับรับทอดความรู้ทั้งจากกรีซโบราณและจากการศึกษาวิเคราะห์เจาะลึกของปราชญ์ชาวอาหรับ. ชาวอาหรับมิได้เพียงแปลหนังสือตำราความรู้ต่างๆของกรีซเป็นภาษาอาหรับ
แต่พวกเขาศึกษาสิ่งที่อ่านและต่อยอดความรู้จากกรีซด้วยประสบการณ์และโลกทัศน์ของชาวอาหรับเองด้วย.
พูดได้ว่ายุโรปเป็นหนี้ปราชญ์ชาวอาหรับยิ่งกว่าจากชาติพันธุ์ใด. ภาพจิตรกรรมน้อยของชาวอาหรับแสดงให้เห็นว่าพวกเขาคุ้นเคยกับเครื่องมือดาราศาสตร์และพัฒนาความรู้ทางดาราศาสตร์ไปไกลกว่าชาวยุโรปตะวันตกมากนัก.
10. ดูนาฬิกาดาราศาสตร์อื่นๆที่มีในยุโรปได้ที่นี่
>>
นาฬิกาดาราศาสตร์ยุคปัจจุบันใช้พลังไฟฟ้าแทนแล้ว
ติดตามไปดูได้จากที่นี่
>>
11. คำ orrery
ที่แปลว่าท้องฟ้าจำลองนั้น มาจากชื่อของ Charles
Boyle ผู้สั่งทำชุดท้องฟ้าจำลอง-planetarium
ในปี1704 ต่อมาเขาได้ขึ้นเป็น Earl of Orrery คนที่สี่. คนจึงใช้ชื่อสถานที่ Orrery เรียกอุปกรณ์ท้องฟ้าจำลองด้วย. นี่จึงยืนยันค่านิยมในยุคนั้น ว่าดาราศาสตร์กับเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง
เป็นสมบัติของผู้ดีมีสกุล เป็นหน้าตาของผู้เป็นเจ้าของ.
12. Galileo Galilei เคยเห็นตะเกียงที่ห้อยแกว่งไปมาในมหาวิหารเมือง Pisa
(ในราวปี 1588) เห็นการแกว่งไปมาตามหลักฟิสิกส์ที่เขาคิดว่าทำให้คงที่สม่ำเสมอได้. เขาเริ่มสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจังในราวปี
1602 ที่ดลใจให้เขาคิดนำไปใช้ในการทำนาฬิกาลูกตุ้มเพื่อขับเคลื่อนระบบเฟือง. ตอนนั้นนัยน์ตาเขาเกือบบอดแล้ว โครงการทดลองทำนาฬิกาลูกตุ้ม
จึงน่าจะเป็นลูกชายของกาลิเลโอที่ทดลองต่อ. แต่ในที่สุดหยุดชะงักไปจนถึงปี 1659 เมื่อ Vincenzo Viviani ลูกศิษย์ของกาลิเลโอนำมาศึกษาวิเคราะห์
และถ่ายทอดความคิดของกาลิเลโอเป็นภาพข้างล่างนี้
ภาพวาดของ Vincenzo Viviani ปี 1659 [Public domain], via Wikimedia Commons.
อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับกาลิเลโอกับลูกตุ้มนาฬิกาได้ที่นี่
>> http://galileo.rice.edu/sci/instruments/pendulum.html
13. Louis-François Cartier [หลุย ฟร็องซัว ก๊ะ-รฺ-ติเย] เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท Société Cartier ในปี 1847. บริษัทนี้ออกแบบ
ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าเครื่องเพชรพลอยและนาฬิกาหรูๆ
มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปารีส.
------------------------------------------
อ่านตอน ๑ ของบท ติดตามดวงดาว ไปจับเวลาชีวิต ได้อีก ที่นี่ >>
http://chotiroskovith.blogspot.com/2017/11/gaze-sky-and-seize-time.html
http://chotiroskovith.blogspot.com/2017/11/gaze-sky-and-seize-time.html
------------------------------------------
สนใจอยากรู้เรื่องอื่นๆ
เชิญเข้าไปเลือกอ่านได้ที่นี่ >>
No comments:
Post a Comment