ตัวอย่างท้องฟ้าจำลองจากศตวรรษที่18 ที่ยังคงเดินมาจนทุกวันนี้
ด้วยระบบเฟือง. บทย่อยนี้เป็นหนึ่งตัวอย่างในบทความยาวชื่อ ติดตามดวงดาว ไปจับเวลาชีวิต แยกออกมาต่างหากเป็นพิเศษเพราะอยากให้เห็นรายละเอียด…
ระหว่างปี 1774-1781 ชาวดัตช์คนหนึ่งผู้มีอาชีพเป็นคนสางใยขนแกะ(wool
comber) ชื่อ Eise Eisinga [เอ๊เสอะ เอ๊ซิงข่า]
ได้สร้างระบบสุริยะจำลอง ติดตั้งบนเพดานห้องนั่งเล่นในบ้านเขาเองที่เมือง Franeker [ฟร้านเหนอะเขอะ] จังหวัด Friesland[ฟรี้ซลันดฺ]
ประเทศเนเธอแลนด์.
ภาพจาก Wikipedia : Eise Eisinga
ระบบสุริยะที่เขาจำลองไว้อย่างโก้เก๋และมีประสิทธิภาพบนเพดานที่ทาสีฟ้า
ทำให้สมจริงน่าประทับใจยิ่งนัก. เส้นทางโคจรของดาวพระเคราะห์ต่างๆ
แผ่เป็นเส้นรอบวงที่ขยายออกเต็มพื้นที่ของเพดานห้อง.
ภาพจาก traveladventures.org
ระบบเฟืองที่ใช้กับท้องฟ้าจำลองนี้
เป็นระบบเฟืองแบบในนาฬิกาลูกตุ้ม. ระบบยังคงเดินมาจนทุกวันนี้. ดาวพระเคราะห์ต่างๆโคจรของมันไปตามระบบสุริยะอย่างอัตโนมัติ ตามเวลาจริงในระบบสุริยะ(เป็นการโคจรแบบเรียลทายม์). ทุกสี่ปี มีการปรับเวลาเล็กน้อยเพื่อชดเชยวันที่เพิ่มเข้าวันที่ 29
กุมภาพันธ์ (leap year). ระบบกลไกที่นั่น ยังบันทึกวัน เดือน ปีและนาทีปัจจุบันให้เห็นชัดเจน. แผ่นกระดานที่บันทึกวันเวลาดังกล่าวต้องเปลี่ยนทุก 22
ปี (เพราะจารึกเต็มหมดพื้นที่ในยี่สิบสองปี).
เป็นท้องฟ้าจำลองที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่ยังคงเดินไปเรื่อยๆอย่างถูกต้องตรงเวลาของโลกที่ไม่เคยหยุด.
ผู้สร้างออกแบบ ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ รวมทั้งตะปูด้วยมือของเขาเอง
เพื่อให้ได้ตะปูขนาดที่พอเหมาะกับระบบเฟืองในทุกขั้นตอน ทั้งหมดใช้หนึ่งหมื่นตัว.
ภาพจาก RadioMuseum.com
ภาพจาก Camellia japonica 'Dr. Tinsley',
from Wikipedia.
ภาพจาก Camellia japonica 'Dr. Tinsley',
from Wikipedia.
ท้องฟ้าจำลองชุดนี้สร้างขึ้นในสัดส่วน
หนี่งมิลลิเมตรต่อหนึ่งล้านกิโลเมตร เขาใช้เวลาสร้าง 7
ปี.
นอกจากระบบสุริยะพื้นฐาน ยังมีการเจาะจงลักษณะและการผันเปลี่ยนของดวงจันทร์(ข้างขึ้นข้างแรมระยะต่างๆ)ตลอดช่วงเวลาการหมุนรอบตัวมันเองในขณะเดียวกับที่หมุนรอบโลกหรือดาวพระเคราะห์ดวงอื่นๆ.
ยังมีนิทรรศการปรากฏการณ์ทางดาราศาตร์อื่นๆให้ชมและให้เรียนรู้ด้วย.
ภาพจาก flickr.com
มีลูกตุ้ม(แบบลูกตุ้มนาฬิกา) ดิ่งลงจากจุดใจกลางที่ตั้งของดวงอาทิตย์
บนเพดาน เครื่องบอกเวลาให้รายละเอียดต่างๆกัน
พื้นที่แสดงนิทรรศการ ภาพจาก nationalemuseumweek.nl
มีบันทึกส่วนตัวของเขาเปิดเผยให้รู้ว่า
ทำไมเขาจึงสร้างท้องฟ้าจำลองนั้นขึ้น. ยุคนั้นคนเชื่อกันว่า
ดาวเคราะห์ต่างๆหลายดวง กำลังโคจรเข้าหากัน
จะเข้าชนและปะทะกันในไม่ช้าและยังผลให้โลกแตกสลายลงไปด้วย.
เขาหวังว่าระบบสุริยะที่เขาสร้าง จักแสดงให้เห็นว่า
ในแง่วิทยาศาสตร์แล้ว มันไม่เป็นเช่นนั้น. ดาวต่างๆมีโอกาสโคจรมาอยู่ในแนวตรงกันได้ โดยต่างก็อยู่ในวงโคจรของมันเอง
ไม่ใช่ย้ายเส้นทางโคจรไปทับเส้นทางของดาวดวงอื่น.
แม้เขาไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ตามอาชีพหรือตามการศึกษา
แต่เป็นคนศึกษาหาความรู้เอง ด้วยความหมั่นเพียร ความตั้งใจเรียนรู้ และสอนตัวเองจนเป็นนักคณิตศาสตร์(ที่จำเป็นสำหรับการคำนวณหาตำแหน่งของดวงดาว) และในที่สุดสามารถสร้างท้องฟ้าจำลองได้ด้วยตัวของเขาเองทั้งสิ้น.
ระบบเฟืองของท้องฟ้าจำลองชุดนี้
ยังคงใช้การได้อย่างยอดเยี่ยม. นักวิทยาศาสตร์และนักดาราศาสตร์ในยุคปัจจุบันจากหลายชาติ ต่างยอมรับว่า
ท้องฟ้าจำลองของเขาถูกต้องตรงตามหลักการ ตรงกับความรู้ที่ตกผลึกแล้วของยุคนี้.
น่าทึ่งที่เขาค้นพบและจัดระบบกลไกเวลาให้อยู่ในสเกลที่ครอบคลุมตัวแปรทั้งหลายทั้งปวง
ทั้งด้านเวลาและการเคลื่อนไหวของดาวเคราะห์แต่ละดวงได้ รวมกันสร้างเป็นระบบท้องฟ้าจำลองที่ลงตัวสมบูรณ์ที่สุด ในศตวรรษที่18.
ภาพจาก volkskrant.nl สมุดบันทึกของ
Eise Eisingen ที่มีทั้งภาพวาด
ภาพสเก็ตช์ เรียงกันไปแต่ละขั้นตอนสู่การสร้างท้องฟ้าจำลองที่เขาตั้งใจ.
ประเทศเนเธอแลนด์ยกย่องเขา
สรรเสริญว่าเขาเป็นบุคคลตัวอย่าง เป็นตัวแทนของสปิริตที่ใฝ่รู้และมุ่งเจาะลึกหาความรู้แล้วเอามาใช้ให้คุ้มค่าสูงสุด.
ข้าพเจ้าออกจะปิติไม่น้อยเมื่ออ่านเรื่องของเขา. เขาเป็นตัวอย่างที่วิเศษสุดว่า ความรู้นั้น หากใครตั้งใจใฝ่เรียนอย่างแท้จริง
ก็เข้าถึงศาสตร์ทุกอย่างได้. ไม่ว่าจะมีอาชีพอะไร ทำมาหากินอะไร
ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคมาขวางการอยากรู้อยากเรียน ไม่มีอะไรมาบีบความคิดหรือจินตนาการของคนได้. เขาได้แสดงให้โลกเห็นว่า เขาเป็นผู้รู้เกี่ยวกับระบบสุริยะด้วยการเรียนการสอนตัวเอง
จนเป็นผู้ชำนาญด้านเทคนิคกลไกด้วยสองมือของเขาเองแท้ๆ.
เมื่อเทียบกับท้องฟ้าจำลองที่มีอยู่ในโลก
ทั้งหมดสร้างขึ้นด้วยเครื่องจักรกลทั้งสิ้น. นวัตกรรมการทำท้องฟ้าจำลองด้วยการใช้เครื่องฉายหนังให้ดูนั้น
เริ่มขึ้นในปี 1924 และกลายเป็นแบบมาตรฐานของท้องฟ้าจำลองในทุกวันนี้.
ยิ่งตื่นตาตื่นใจขึ้นอีก เมื่อการฉายภาพท้องฟ้าด้วยระบบสามมิติบนจอภาพยนต์
Imax …
ภาพ Canalside
house with "Planetarium" on the gable.
ภาพของ I,
Bouwe Brouwer, 12 July 2007. [GFDL (http://www.gnu.org/copyleft/fdl.html),
CC-BY-SA-3.0 (http://creativecommons.org/licenses/by-sa/3.0/) or CC BY-SA
2.5-2.0-1.0 (https://creativecommons.org/licenses/by-sa/2.5-2.0-1.0)], via
Wikimedia Commons.
บ้านของ Eise Eisinga ห้องที่ประดับด้วยระบบสุริยะจำลอง
รวมอาคารทั้งหลัง ปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ (Koninklijk Eise Eisinga Planetarium) เปิดให้ประชาชนเข้าชม. ทุกอย่างที่นั่น เป็นเช่นนั้น เป็นของดั้งเดิมทั้งสิ้น
รวมทุกอย่างในชีวิตของเขาเช่น หนังสือ เอกสารต่างๆ ภาพวาด การคิดค้น
การวิเคราะห์ข้อมูลของเขา. ทั้งหมดได้รับการเก็บอนุรักษ์อย่างดี
และเปิดให้ประชาชนเข้าศึกษาหรือดูรายละเอียดได้. เอกสารทั้งหลายยืนยันชัดเจนว่าเขาสร้างท้องฟ้าจำลอง
ตรงตามที่เขาบันทึกไว้ในเอกสารและตรงกับภาพวาดกับการออกแบบของเขาเอง. ท้องฟ้าจำลองของเขา
ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกของชาติตั้งแต่ปี 1990 และรัฐบาลเนเธอแลนด์ได้สมัครขึ้นทะเบียนท้องฟ้าจำลองนั้นให้เป็นมรดกโลกของยูเนสโก้ในเดือนธันวาคมปี
2011.
เครื่องกลไกที่ Eise Eisinga สร้างขึ้น ดูจะอยู่ค้ำฟ้า สะท้อนความเคลื่อนไหวในจักรวาลให้คนได้ชมติดต่อมาสองร้อยสามสิบกว่าปีแล้ว
ร่างกายของผู้สร้างสลายไปแล้ว แต่จิตวิญญาณของ“ความเป็นผู้สร้าง”ด้วยความรักโลก
รักท้องฟ้าและหรือความหลงใหลใฝ่รู้ในศาสตร์ในวิทยาการ
ยังยืนหยัดเอื้อเฟื้อและดลใจคนตลอดมา.
บันทึกความสนใจของ โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์
เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๐.
กลับไปยังเรื่อง ติดตามดวงดาว ไปจับเวลาชีวิต ตอนหนึ่งและตอนสอง>>
No comments:
Post a Comment