Tuesday 3 April 2018

นามนั้นสำคัญอย่างไร

อวกาศยานของจีนที่ชื่อ Tiangong-1 ( ที่แปลง่ายๆได้ว่า วังฟ้าหมายเลขหนึ่ง) ที่จีนส่งออกไปเมื่อวันที่ 29 กันยายนปี 2011 เป็นยานอวกาศไร้คน และมันก็โคจรรอบโลกมานาน 6 ปี 185 วัน ได้ตกลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2018 ยานนี้ถูกส่งออกไป,ตามประกาศของจีน, ว่าเพื่อตรวจสอบสมรรถภาพของการควบคุมยานอวกาศทั้งในขณะโคจรในอวกาศและเมื่อมันกลับคืนเข้าสู่บรรยากาศโลก ตามวาระสมควรแก่ชีวิตมันที่จีนตั้งไว้. ตั้งแต่ปี 2016 มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า ทางการจีนติดต่อกับยานวังฟ้าไม่ได้แล้ว แต่จีนใช้เวลานานปกปิดความจริงว่า หมดปัญญาควบคุมยานอวกาศลำนั้นแล้ว และมันกำลังมุ่งลงโหม่งโลกโดยที่จีนยับยั้งมันไม่ได้และไม่อาจบังคับให้มันลงสู่โลกณบริเวณที่ต้องการโดยไม่ทำลายโลก.
    ในที่สุด ยานอวกาศวังฟ้า-1 ได้กลับเข้าสู่บรรยากาศโลก เหนือมหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อเวลา 17:16 PT (หรือตามเวลาแปซิฟิก) เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๑ ดิ่งลงในมหาสมุทรทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะตาฮิติ (รายงานทางการของ The Joint Space Operations Center at Vandenberg Air Force Base, California). นักอวกาศ Jonathan McDowell เขียนลงในทวิตเตอร์ส่วนตัวว่าโอกาสที่ยานวังฟ้า-1 จะตกลงในมหาสมุทรแปซิฟิกนั้นมีมาก เพราะมหาสมุทรนี้มหึมาจริงๆ และยังสุดลึกล้ำเหลือพรรณนา.
   จุดที่ยานวังฟ้า-1 แตะลงในมหาสมุทรแปซิฟิกด้วยตัวมันเองนั้น พลาดเป้าพื้นที่ space graveyard หรือ Spacecraft Cemetery ที่ข้าพเจ้าแปลง่ายๆตรงตัวว่า“สุสานยานอวกาศ” ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ ที่เป็นที่พักสุดท้ายของยานอวกาศจำนวนมากที่เกือบทั้งหมด ถูกควบคุมให้ดิ่งลงที่สุสานดังกล่าว. ในจำนวนศพยานอวกาศที่เข้าไปฝังในสุสานนี้ มียานอวกาศจำนวนมากที่เป็นสัญชาติรัสเซีย รวมถึงสถานียานอวกาศ MIR space station.
    ข้าพเจ้าเพิ่งเขียนเรื่องสวนสุสานจบลง พลาดโอกาสรวมสุสานใต้ทะเลสองหมื่นโยชน์เข้าไปด้วย. แต่มิได้อารมณ์เสีย นั่งหัวร่อคนเดียว. เลยต้องขอให้อินเตอเน็ตเจาะลึกลงใต้ทะเลไปเมียงมอง สุสานยานอวกาศ ว่าเป็นเช่นไร และทำไมไปรวมกันอยู่ณจุดนั้นบนโลกอันเป็นที่รักของเรา.

    ได้ความมาว่า เป็นพื้นที่ใต้ท้องมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ ราว 3,900 กิโลเมตรทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมือง Wellington ประเทศนิวซีแลนด์. พื้นที่สุสานนี้ตรงกับพื้นที่ที่ตั้งชื่อไว้ว่า Point Nemo oceanic pole of inaccessibility นั่นคือหลุมลึกในมหาสมุทรที่ไม่มีทางเข้าถึงได้ และห่างไกลจากแผ่นดินที่สุด เพื่อมิให้การฝังศพยานอวกาศ(ดูเหมือนรวมซากเรือเดินสมุทรด้วย) ไปกระทบหรือทำอันตรายใดๆแก่มนุษย์และชีวิตสัตว์ในทะเล. แผ่นดินที่ใกล้ที่สุดอยู่ห่างจากสุสานนั้นออกไปราว 2,415 กิโลเมตร. ตั้งแต่ปี1971จนถึงปี 2016 มีศพยานอวกาศแล้ว 263 ศพ.

    ส่วนตัวที่ติดใจอ่านเรื่องนี้ คือการตั้งชื่อหลุมลึกในมหาสมุทรแปซิฟิกว่า Nemo โยงไปถึงชื่อกัปตันเนโมในนวนิยายของ Jules Verne เรื่อง ใต้ทะเลสองหมื่นโยชน์. นอกจากนี้ก็น่าคิดด้วยว่า nemo ในภาษาละติน แปลว่า no one. นัยทั้งสองดูสอดคล้องกันดีกับหลุมที่ตั้งสุสานยานอวกาศ ที่ในแง่หนึ่งไม่มีใครรู้เห็น. นอกจากนี้ องค์การ NASA และองค์การสำรวจอวกาศหรือท้องทะเลลึก เลือกใช้ชื่อ Jules Verne และชื่อในนวนิยายที่ Jules Verne แต่งขึ้น มาเรียกยานอวกาศหรือยานสำรวจต่างๆในยุคปัจจุบัน. เช่นชื่อ Jules Verne ใช้เรียกยานขนถ่าย (อุปกรณ์) อัตโนมัติ - Automated Transfer Vehicle (ATV). สหรัฐอเมริกามียาน ATV มาแล้วห้าลำๆที่หนึ่งชื่อ Jules Verne (1828-1905 เป็นนักประพันธ์ชาวฝรั่งเศส), ตามด้วยลำอื่นๆที่ใช้ชื่อตามลำดับดังนี้ Johannes Kepler (1571-1630 นักดาราศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ชาวเยอรมัน), Eduardo Amaldi (1908-1989 นักฟิสิกส์ชาวอิตาเลียน), Albert Einstein (1879-1955 นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน), Georges Lemaître (1894-1966 นักดาราศาสตร์และอาจารย์สอนฟิสิกส์ชาวเบลเยี่ยม).
     ในฐานะที่เรียนจบอักษรศาสตร์ ข้าพเจ้าอดตื้นตันไม่ได้ว่า ในหมู่นักวิทยาศาสตร์ทั้งหมดและทั้งหลายในโลกนี้ Jules Verne ผู้เป็นนักประพันธ์ มีศักดิ์ศรีเสมอคนเก่งคนดังทุกคน. ยิ่งเน้นให้เห็นความสำคัญของจินตนาการและของความฝัน. เขาแต่งหนังสือผจญภัยไว้จำนวนมาก เป็นผู้นำในวรรณกรรมผจญภัยสานฝันไปกับประดิษฐ์กรรมใหม่ๆทางวิทยาศาตร์ในยุคเขา. ตัวอย่างนวนิยายที่รู้จักกันแพร่หลายเช่น A Journey to the Centre of the Earth (เดินทางสู่ใจกลางโลก), Around the World in Eighty Days (แปดสิบวันรอบโลก), The Mysterious Island (เกาะลึกลับ), Twenty Thousand Leagues Under the Sea (ใต้ทะเลสองหมื่นโยชน์), From the Earth to the Moon (จากโลกถึงดวงจันทร์), Five Weeks in a Balloon (ห้าสัปดาห์ในบัลลูน). นวนิยายของเขารวมกันเป็นสารานุกรมเดินทางและการผจญภัยที่สุดมหัศจรรย์ เป็น Voyages extraordinaires ที่รวมนวนิยาย 62 เรื่องและเรื่องสั้นอีก 18 เรื่องของ Jules Verne (ยังมีงานเขียนอื่นๆที่ไม่ได้รวมอยู่ในกลุ่มนวนิยายผจญภัยนี้). ในศตวรรษที่ 20 มีการแปลนวนิยายของเขามากกว่า 140 ภาษา จึงเป็นนักเขียนที่มีผู้แปลมากที่สุดในโลก(สถิติล่าสุด). หลายเรื่องถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนต์. งานเขียนของเขาก้าวออกไปไกลกว่าวงวรรณกรรมและวงการภาพยนต์ สู่วงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. เขาดลใจนักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์ และนักสำรวจรุ่นต่อๆมา. ตัวอย่างเช่น จนถึงปัจจุบันความหวังทำลายสถิติการเดินทางรอบโลก (ไม่ว่าทางบก ทางอากาศหรือทางน้ำ) ยังคงฝังลึกในจิตวิญญาณของนักผจญภัย.

    ในปี 1954 สหรัฐอเมริกาตั้งชื่อเรือดำน้ำนิวเคลียร์ลำแรกของโลกว่า USS Nautilus [โน้ติลุซ] (รหัส SSN-571) ตามชื่อเรือดำน้ำของกัปตันเนโมในนวนิยายเรื่อง ใต้ทะเลสองหมื่นโยชน์ (1870).  (คิดกันว่า) Jules Verne เลือกใช้ชื่อ Nautilus ในนวนิยายของเขาตามชื่อเรือดำน้ำที่วิศวกรชาวอเมริกัน Robert Fulton ออกแบบขึ้น (1800) เพื่อสร้างเรือดำน้ำให้ได้ตามความประสงค์ของนโปเลียน โบนาปาร์ต. ไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรือดำน้ำลำแรกนี้. ชื่อเสียงของ Robert Foulton ถูกโยงไปกับการออกแบบเรือกลไฟที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไอน้ำ (ตั้งแต่ปี 1807) มากกว่าเรื่องใด เขาเป็นผู้ต่อยอดประดิษฐกรรมเครื่องกลจักรไอน้ำที่วิศวกรชาวสก็อต James Watt ได้เริ่มขึ้นในทศวรรษที่ 1760 และในที่สุดนำสังคมสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในเวลาต่อมา.
ภาพวาดหอยพันธุ์ Paper Nautilus หรือหอยงวงช้างที่เราเรียกกัน. ภาพจากบทที่ว่าด้วย “หอย” ในหนังสือ Natural History: Mollusca (1854), p. 22 ผลงานวาดของ Philip Henry Gosse (1854) จาก Wikimedia Commons : Public domain.
หอยวงศ์นี้ (Nautilaceae) มีชีวิตมาล้านๆปีโดยแทบไม่มีการเปลี่ยนหรือวิวัฒน์พัฒนาเลย จึงเหมือนซากหินหรือฟอซิลที่ยังมีชีวิต“living fossils. มีหนวดจำนวนมากที่ยืดหดเข้าไปภายในเปลือกหอยได้อย่างสะดวก หนวดนี่แหละที่เข้ายึดตรึงเหยื่อไว้อย่างแนบแน่น. หอยนี้ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของความกดอากาศเช่นเมื่อถูกนำขึ้นจากใต้ทะเลลึกสู่ผิวน้ำ มันยังมีชีวิตต่อได้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับมัน ในขณะที่ปลาหรือหอยพันธุ์อื่นๆตายเกือบหมด(เกือบทันที)เพราะหอยนี้ปิดขังตัวภายในพื้นที่ของมันได้หากมีอะไรกระทบมัน เหมือนเข้าไปเก็บตัวในห้องแอร์ที่ปิดรอบด้านจึงไม่สะทกสะท้านต่อสภาวะภายนอกคุณสมบัตินี้อาจมีส่วนให้ Jules Verne นำมาตั้งชื่อเรือดำน้ำ.

    นามนั้นสำคัญไฉน กุหลาบก็หอมอย่างกุหลาบ ไม่ว่าจะใช้ชื่ออื่นใดเรียกดอกไม้นี้. เช้คสเปียร์ตั้งคำถามไว้ แต่ในความเป็นจริงของสังคมคน นามนั้นสำคัญที่สุด เพราะการมีชื่อ คือการมีตัวตน มีสถานะในสังคมและมีหน้าที่กับความรับผิดชอบต่อสังคม. การตั้งชื่อกลายเป็น obsession อย่างหนึ่งไปแล้ว คนตั้งชื่อตุ๊กตา คิดสารพัดชื่อให้กับสิ่งของและสิ่งมีชีวิตต่างสายพันธุ์ที่เป็นเพื่อนทางใจของคน เหมือนใส่ชีวิตกับวิญญาณให้สิ่งของ และใส่ศักดิ์กับสิทธิ์ให้เพื่อนต่างสายพันธุ์.
   กลับมาที่การใช้ชื่อ Jules Verne กับชื่อนักวิทยาศาสตร์อีกหลายคน ไปเรียกยานอวกาศและยานสำรวจอื่นๆ เป็นการให้เกียรติบุคคลเหล่านี้ เป็นการสานฝัน พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ เป็นการแสดงความรู้คุณ เป็นการต่อชีวิต เป็นการสรรเสริญอัจฉริยะ เป็นการปลูกฝังคุณธรรมดีๆให้แก่ชนรุ่นหลังๆที่จะเดินตามรอยบุคคลเหล่านั้น

   นี่เองที่ติดใจ แม้อะไรๆจะก้าวรุดหน้าไปเพียงใด มีอดีตจึงมีวันนี้ และร่วมกันสร้างวันพรุ่งนี้. ด้วยจิตสำนึกนี้ ข้าพเจ้าจึงชอบการใช้ชื่อปราชญ์ นักคิด นักเขียนหรือคนเก่งมาเป็นชื่อเรียกนวัตกรรมใหม่ๆที่มุ่งไปในศตวรรษหน้า แทนการเลือกชื่อเทพจากตำนานกรีกโรมันเช่นอพอลโล.  
    ข้าพเจ้าไม่ไยดีกับยานอวกาศจีน แต่ความล้มเหลวของจีนได้นำให้ต้องเขียนบันทึกเป็นความทรงจำไว้ในวันนี้.
โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์
๔ เมษายน ๒๕๖๑.

No comments:

Post a Comment