Sunday 31 January 2016

รักเล่น เล่นรัก - Pour un Flirt - Michel Delpech



รักเล่น เล่นรัก 
ตื่นขึ้นมาเปิดเว็ปของ Télématin ได้ยินเสียงเพลงนี้แว็บขึ้นมา ทำนองเพลงคุ้นเคยมาก เพราะเป็นเพลงที่ได้ยินในปี 1970 ปีที่เดินทางไปถึงฝรั่งเศสเพื่อเรียนต่อ.  เป็นเพลงที่ได้ยินอยู่เสมอ ทุกหนทุกแห่งในเมือง นอกเมือง ในหอพัก ตามร้านอาหาร ทั่วไปในฝรั่งเศส และตามรายงานข่าวเจาะจงด้วยว่า เป็นเพลงที่รู้จักกันแพร่หลายทั้งในอังกฤษ เยอรมนี ออสเตรีย สวิสเซอแลนด์เป็นต้น.  ในปีนั้น มีการแปลเพลงนี้เป็นภาษาอังกฤษและเยอรมัน. ภายในเวลาเพียงสี่เดือน แผ่นเสียงเพลงนี้ขายได้มากกว่าหนึ่งล้านสองแสนแผ่น. 
ฟังเพลง Pour un flirt (แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า << for a date >>) เช้าวันนี้ (25 Jan 2016) นึกถึงปีแรกที่เมือง Besançon [เบอซ็องซง] บรรยากาศของเมืองเก่า ป้อมปราการเก่าบนเนินเขาสูง  สภาพมหาวิทยาลัย  สภาพหอพักนักศึกษานานาชาติ  เพื่อนๆต่างชาติที่เรียนด้วยกัน ทำให้จิตใจกระปรี้กระเปร่า ร่างกายขยับนิดๆไปตามจังหวะดนตรีที่รื่นเริงใจ.  
Michel Delpech [มิเช็ล เด็ลแป๊ช] ประพันธ์เนื้อร้องและร้องเองในวีดีโอคลิปนี้ (พฤษภาคม 1971).  เนื้อเพลงพร้อมคำถอดความดังต่อไปนี้ ชัดเจน โจ่งแจ้ง ตรงไปตรงมา ไม่เสียเวลา  >>

Pour un flirt avec toi 
Je ferais n'importe quoi
  
Pour un flirt avec toi
Je serais prêt a tout
Pour un simple rendez-vous
Pour un flirt avec toi
เพื่อเล่นรักกับเธอสักครั้ง ผมจะทำทุกอย่าง เพื่อเล่นรักกับเธอสักครั้ง 
ผมพร้อมเผชิญทุกอย่าง เพื่อให้ได้นัดสักครั้ง เพื่อเล่นรักกับเธอสักครั้ง
Pour un petit tour, un petit jour
Entre tes bras
Pour un petit tour, au petit jour
Entre tes draps
เพื่อให้ได้เที่ยวเตร่กันสักรอบในอ้อมแขนเธอ วันหนึ่ง 
เพื่อให้ได้สนุกกันสักตั้งใต้ผ้าห่มเธอ เช้าหนึ่ง
Je pourrais tout quitter
Quitte à faire démodé 
Pour un flirt avec toi
Je pourrais me damner
Pour un seul baiser volé
Pour un flirt avec toi
ผมพร้อมจะทิ้งทุกอย่าง ยอมเป็นคนนอกกรอบ เพื่อเล่นรักกับเธอสักครั้ง
ผมยอมตกนรก เพื่อโขมยจูบสักครั้ง เพื่อเล่นรักกับเธอสักครั้ง
Pour un petit tour, un petit jour
Entre tes bras
Pour un petit tour, au petit jour
Entre tes draps
เพื่อให้ได้เที่ยวเตร่กันสักรอบในอ้อมแขนเธอ วันหนึ่ง 
เพื่อให้ได้สนุกกันสักตั้งใต้ผ้าห่มเธอ เช้าหนึ่ง 
Je ferais l'amoureux
Pour te câliner un peu
Pour un flirt avec toi
Je ferais des folies
Pour arriver dans ton lit
Pour un flirt avec toi
ผมจะแสร้งรักเธออย่างลุ่มหลง เพื่อโลมเล้าเธอ เพื่อเล่นรักกับเธอสักครั้ง
ผมจะทำท่าบ้าๆบ๊องๆ เพื่อขึ้นไปบนเตียงเธอ เพื่อเล่นรักกับเธอสักครั้ง
Pour un petit tour, un petit jour
Entre tes bras
Pour un petit tour, au petit jour
Entre tes draps
เพื่อให้ได้เที่ยวเตร่กันสักรอบในอ้อมแขนเธอ วันหนึ่ง 
เพื่อให้ได้สนุกกันสักตั้งใต้ผ้าห่มเธอ เช้าหนึ่ง 
เชิญคลิกไปฟังเพลงนี้ได้จากข้างล่างนี้  Michel Delpech ประพันธ์คำร้องเองและร้องเอง เมื่อครั้นเป็นเด็กหนุ่มวัยยี่สิบต้นๆ 

ทำนองเพลงที่สนุกรื่นเริง เหมือนการขอความเห็นใจ มิได้ทำให้คนฟังรังเกียจ แต่อาจเห็นใจ เพราะความตรงไปตรงมา ที่ย่อมดีกว่าการหลอกลวงให้เชื่อว่ารัก.  ดนตรีแบบนี้ในยุคทศวรรษที่ 1970 นั้น นับว่าคึกคักเร้าใจ เปิดยุคใหม่ของดนตรีวัยว้าวุ่น ตรงกับยุคฮิปปี้.  เป็นยุคที่สนับสนุนการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ในทำนองของ “หยุดสงคราม มาร่วมรักกันดีกว่า”.  การเต้นตามจังหวะของนักร้องก็ยังอยู่ในพื้นที่จำกัดไม่กี่ก้าวจากจุดยืนของเขาบนเวที.  หากเทียบกับเพลงสมัยปัจจุบันในทศวรรษที่ 2000 เป็นต้นมา  ที่ใช้พื้นที่การเต้นรำทำเพลงกว้างกว่ามากมายนัก รวมทั้งมีตัวประกอบการขับร้องที่ก็เต้นไปด้วย.  ความคึกคะนองของดนตรีที่ดังอุโฆษไม่ผิดภูเขาไฟที่กำลังคำราม  แสงไฟที่แปลบปลาบประดุจสายฟ้าฟาดที่สาดส่องไปบนพื้นที่ทุกมุมในโรงละคร  ทั้งหมดนี้ เขย่า กระทบกระเทือนจิตใจคนดูยิ่งกว่าแผ่นดินไหวรุนแรง.  ยุคปัจจุบันนี้เป็นยุคที่เนื้อร้องมิได้สำคัญเท่ากับลีลาการแสดงในแต่ละขั้นตอน.  คนร้องเสียงดี เสียงตกหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นใหญ่.  จุดหมายสุดท้ายของการแสดงคือการปลุกเร้าคนทั้งมวลได้ฉับพลัน.  เมื่อเทียบกันแล้ว เพลง Pour un flirt นับว่าเรียบร้อยหงุมหงิมมาก อีกเนื้อหาของการขอร่วมรักก็สามัญเกินไปสำหรับคนยุคนี้.
        วิธีการร้องเพลงของ Michel Delpech เป็นแบบกึ่งพูดกึ่งร้องตามทำนองดนตรีที่ดังแผ่วๆเป็นพื้นหลัง  นักร้องและเนื้อร้องโดดเด่นกว่าดนตรี.  วิธีการเสนอเพลงแบบนี้ เป็นไปตามแนวของกวีและนักเขียน  Jacques Prévert (1900-1977) ที่มักเสนอบทประพันธ์กลอนเปล่าของเขาแบบนี้.  
         เนื้อหาของเพลง Pour un flirt เมื่อมานึกในวันนี้ บ่งบอกอุปนิสัยทีเล่นทีจริงจนอาจจะพูดได้ว่า “เจ้าชู้” ของหนุ่มสาวชาวฝรั่งเศส ที่ค่อนข้างจะปล่อยอารมณ์ความรู้สึกตามสิ่งที่มากระทบจิตและกายของพวกเขา ที่พวกเขาคิดวิเคราะห์เพื่อเข้าใจอารมณ์แต่ละละลอก.  ชาวฝรั่งเศสใช้ทุกผัสสะเพื่อเรียนชีวิต แทบจะพูดได้ว่าด้วยเลือดเนื้อและจิตวิญญาณ. ไม่ยอมกลบไม่ยอมปล่อยให้ผ่านไปเฉยๆ  ส่วนหนึ่งเพราะความทรนงในตนเองด้วย.  อาจเป็นเพราะภูมิหลังในระบบการศึกษา น้อยคนจะห้ามตัวเองมิให้อ่อนไหวตามสิ่งที่มากระทบ.  หากประสบการณ์แต่ละครั้งในวัยหนุ่มสาว มิได้ทำให้พวกเขาเล็กลงในเชิงจิตสำนึก ก็นับว่าโชคดี ทำให้พวกเขาพอใจกับความสำเร็จหรือความสุขที่ได้มา.  หากโชคร้าย พวกเขาก็พร้อมจะยอมรับความทุกข์ ยอมรับความพ่ายแพ้ หลังจากที่ได้ทุ่มทั้งกายและใจไปแล้ว.
         เยาวชนตะวันตกมักผ่านประสบการณ์และพัฒนาการทั้งทางกายและทางใจ ตามกำลังความคิด สติปัญญาและอารมณ์ความรู้สึก. เมื่อยามเคราะห์ ยามอกหัก หรือไม่สมหวังเพราะเหตุผลใดก็ตาม ก็เลิกรากันไป เดินผละออกไปโดยดี ยอมรับความเสียใจ ไม่มีความคิดเคียดแค้น หรืออยากทำร้ายใคร (แน่นอน ย่อมมีกรณียกเว้นในทุกสังคม).  ในสังคมไทยและเอเชีย ได้ยินแต่การฆ่าล้างแค้น หรือการทำร้ายห้ำหั่นกันทั้งทางตรงและทางอ้อมอยู่เป็นนิจศีล ในทำนองว่า “ถ้ากูไม่ได้(คนนั้นหรือสิ่งนั้น) ใครหน้าไหนก็ไม่มีวันได้”.  ทั้งๆที่เป็นประเทศพุทธศาสนา  แต่การปล่อยวางนั้น น้อยคนจะทำได้. เนื้อหาในหนังจีนจากยุคก่อนๆเรื่อยมาก็มีแต่การแก้แค้น และการแก้แค้นนั้นไม่มีวันจบสิ้น.  มันน่าเสียใจตรงนี้ เพราะเท่ากับไม่มีการพัฒนาจิตสำนึก ไม่มีการเรียนรู้จากความเสียหาย จากความผิดพลาดเก่าก่อน.
        ประสบการณ์อันปั่นป่วน ผันผวนและมีสีสันทุกแบบสร้างคน ยกระดับจิตสำนึกของตัวคน และทำให้คนก้าวต่อไป ไม่พลาดอีก. ในแง่นี้ พูดได้ว่าฝรั่งเข้าใจชีวิต เข้าใจ "การเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป" ชัดเจนกว่าคนไทยหลายคนทีเดียว.  กว่าที่ชาวยุโรปจะไปถึงจุดหยุดนิ่งอยู่กับที่ได้นั้น พวกเขาได้เดินทางมาไกลโขแล้ว เส้นทางนั้นมีความหมายยิ่ง. สัจธรรมของชีวิตได้จารึกลงในกายและใจ ที่ทำให้พวกเขามองดูชีวิต ด้วยสติและปัญญาที่แน่วแน่ ทั้งในโลกของตรรกะและในโลกของศีลธรรม  ทั้งยังทำให้เกิดความเมตตาเอื้อเฟื้อต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และมีความพร้อมที่จะให้อภัยต่อความผิดพลาดแบบต่างๆของคน. (ดังสำนวนที่ว่า To err is human, to forgive divine.)  หลายคนได้อาศัยประสบการณ์จากเส้นทางดังกล่าว เป็นกระดานกระโดดสู่การสร้างสรรค์ที่สวยงามในรูปแบบต่างๆ เช่นเพลง ดนตรี วรรณกรรม หรือจิตรกรรม.
ต่างคน ต่างชาติ ต่างศาสนา ต่างมีเส้นทางการค้นหา การเข้าใจชีวิตด้วยวิธีต่างๆ...
การค้นพบแต่ละครั้ง แต่ละมิติ ย่อมยกระดับคนขึ้นสูงไปเรื่อยๆ. 
แต่ละคนมีบันไดของตนเอง.

Michel Delpech [มิเช็ล เด็ลแป๊ชฺ] เกิดเมื่อวันที่ 26 มกราคม 1946 และมรณะเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2016 นี้เอง. นักร้องชาวฝรั่งเศสทั้งรุ่นเก่าที่ยังมีชีวิตอยู่และรุ่นใหม่ที่กำลังรุ่ง ต่างรวมกันจัดการแสดงครั้งใหญ่เพื่อไว้อาลัยและรำลึกถึง Michel Delpech นักร้องที่ชาวฝรั่งเศสรักใคร่ชื่นชมมากที่สุดคนหนึ่ง ตามรายงานข่าวจากทีวีฝรั่งเศสว่า การแสดงดนตรีรวมเพลงของ Michel Delpech นั้น นำออกอากาศสู่สาธารณชนในวันที่ 23 มกราคม 2016. 
        จากปี 1965 จนถึงปี 2013  เนื้อหาในเพลงของเขา เพิ่มมิติที่ลุ่มลึกมากขึ้นๆ เบนไปสู่การบันทึกพฤติกรรมหรือเหตุการณ์ในสังคม. นักวิจารณ์หลายคนให้ความเห็นว่า เขาเป็นนักร้องของประชาชน ร้องลำนำชึวิตของสามัญชนด้วยความอ่อนโยน ด้วยใจที่ผูกพันกับความเป็นคนเช่นเพลง Chez Laurette (1965) (=ที่ร้านของลอแร้ต) ที่เขาแต่งด้วยความรำลึกถึงเจ้าของร้านอาหารที่เคยเปิดร้านต้อนรับกลุ่มของเขากับเพื่อนนักร้องหนุ่มๆที่ยังไม่มีใครรู้จัก.  เพลงนี้เป็นที่ชื่นชอบในสังคมทันที ที่จักเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จในวงการเพลงของ Michel Delpech. 
(ฟังเพลงนี้ได้ที่นี่ https://www.youtube.com/watch?v=G8AXNSIe9A8 )
          ในปลายทศวรรษที่ 1960 นั้น มีมหกรรมดนตรีร็อคบนเกาะเล็กๆชื่อ Wight ที่ตั้งอยู่นอกฝั่งทิศใต้ของเกาะอังกฤษ (ในช่องแคบอังกฤษที่คั่นอังกฤษกับฝรั่งเศส) มหกรรมดนตรีจัดขึ้นที่นั่นติดต่อกันสามปี รวมดารานักร้องชื่อดังของอังกฤษเช่น Bob Dylan, The Who, The Doors, Jimo Hendrix เป็นต้น.  Michel Delpech ได้แต่งและนำเพลง Wight is wight (1969) ไปร้องที่นั่น เนื้อหายกย่องกระบวนการฮิปปี้ที่กำลังขยายออกอย่างกว้างขวางในหมู่หนุ่มสาวผู้รักอิสระและต้องการสิทธิกับเสรีภาพในการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา จะออกนอกกรอบก็ควรทำได้ โดยไม่ต้องผ่านการคัดกรองจากขนบธรรมเนียมประเพณีเดิมๆ. แต่ชาวฝรั่งเศสกลับมองกลุ่มฮิปปี้นี้ว่าไม่ได้เรื่องหรือไร้สาระ. คำ wight [ไวทฺ] เป็นคำจากภาษาอังกฤษเก่าว่า wiht ที่แปลว่า สื่งที่มีชีวิต มีจิตใจและมีความรู้สึก  เป็นการเล่นคำว่า เกาะไวท์เป็นสิ่งมีชีวิตมีจิตใจมีความรู้สึก  แน่นอนโยงไปถึงอุดมการณ์ของกลุ่มฮิปปี้ที่ไปรวมตัวกันที่นั่นว่า นั่นมิใช่ไร้ความหมาย.  ภาพข้างล่างนี้เป็นปกแผ่นเสียงของเพลงนี้ในญี่ปุ่น (มีการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นทันทีเหมือนกัน รวมทั้งอัลบัมเพลงอื่นๆด้วย)
   (ฟังเพลงนี้ได้ที่นี่  https://www.youtube.com/watch?v=sJuFkpIYfUk )

         เพลง Que Marianne était jolie (1973) (=มารีอานช่างสวยจริงๆ) ที่พรรณนาผู้หญิงคนหนึ่งที่ทั้งสวยและแข็งแกร่ง  แต่ลึกลงไป ผู้หญิงที่ชื่อมารีอานในเพลงนี้ คือภาพลักษณ์ของสาธารณรัฐฝรั่งเศส (ผลพลอยได้จากยุคการปฏิวัติฝรั่งเศส)  ในเพลงเจาะจงว่า มารีอานมีลูกชายห้าคนที่เธอได้สูญเสียไปแล้วสี่คน  แฝงนัยยะโยงไปวิจารณ์สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่หนึ่งถึงที่สี่ ที่ล้มเหลว. ส่วนลูกชายคนที่ห้านั้น(สาธารณรัฐที่ห้า) เปลี่ยนแปลงไปเกินกว่าที่มารีอานผู้แม่จะจำลูกตัวเองได้.  ดูเหมือนว่า Michel Delpech จะผิดหวังในนโยบายของ George Pompidou ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีในยุคของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ห้าตั้งแต่ปี 1962-1968 และเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 1969 ถึงปี 1974 เมื่อเขาถึงแก่อนิจกรรม. Pompidou เป็นนักการเมืองที่อยู่ในรัฐบาลฝรั่งเศสนานที่สุดในประวัติศาสตร์ (12 ปี).
 (ฟังเพลงได้ที่นี่  https://www.youtube.com/watch?v=SxJpnEjIIH4 )
          เพลงชื่อ Les Divorcés (1973) ของเขา (แปลได้ว่า “คนที่แยกทางกันเดิน”) ได้เปิดประเด็นเรื่องสิทธิสตรีในสังคมฝรั่งเศสขึ้น และมีส่วนกระตุ้นให้รัฐบาลฝรั่งเศสพินิจพิจารณากฎหมายว่าด้วยการหย่าร้าง ว่ามิใช่เป็นเรื่องเลวร้ายเสมอไป ว่าชายหญิงอาจหย่าร้างกันได้ฉันมิตรและตกลงแยกทางกันเดินอย่างสงบด้วยความยินยอมทั้งสองฝ่าย. เพราะแม้ทุกอย่างจะสลายลงในชีวิตคู่ระหว่างคนสองคน แต่ชีวิตต้องดำเนินต่อไป เพื่อชีวิตที่ยังทอดไกลออกไปข้างหน้า.ในฝรั่งเศส มีการตรากฎหมายใหม่เกี่ยวกับการอนุมัติให้คู่สามีภรรยาหย่าร้างกันได้ในปี 1975. 
ฟังเพลงนี้ได้ที่นี้ >> https://www.youtube.com/watch?v=en1UmpRAREE
แต่สังคมก็รู้ว่า ในชีวิตจริงของ Michel Delpech  การหย่าร้างจากภรรยาคนแรก (Chantal Simon) ของเขานั้น ยากลำบากและสร้างปัญหาในชีวิตเขามากเพียงใด เพราะเธอเองเป็นคนทิ้งเขาไป เขายอมรับและหวังว่าการหย่าร้างจะทำให้ภรรยาของเขามีโอกาสดีๆใหม่ๆ มีความสุขมากกว่าการทนอยู่กับเขา.
         ปรากฏว่าภรรยาเขาฆ่าตัวตายไม่นานต่อมาหลังจากนั้น.  เช่นนี้แม้ว่าอาชีพนักร้องของเขากำลังพุ่งขึ้นสูง เขากลับโศกสลด เกิดตวามกังขาในชีวิต จนเครียดหนัก และหันไปยึดแอลกอฮอลและยาเสพติดเพื่อผ่อนคลายความเครียด ไปรักษาบำบัดด้วยการฉีดยาให้หลับ ไปปรึกษาจิตแพทย์ ไปหาหมอดูหลายศาสนา  รวมทั้งการไปเข้าฌาณกับกลุ่มฮินดู กลุ่มจีน เข้าจำศีลในหมู่นักบวชเป็นต้น  ในปี 1993 เขาได้เขียนอัตชีวประวัติ เล่าถึงชีวิตช่วงมืดมนของเขาดังกล่าวว่า เหมือน “ การสร้างบ้านบนทราย ” เขาเล่าว่าเป็นช่วงเวลาที่ชีวิตเขาจมปลักลงในบ่วงกิเลสและตัณหา “ ผมอยู่อย่างไร้จิตสำนึกถึงศีลธรรม ไร้จริยธรรม ไร้กฎเกณฑ์ ผมเป็นกษัตริย์ที่มีอำนาจเต็มเหนือชีวิตของผม ไม่ต้องอธิบายไม่ต้องรายงานผู้ใด ผมมีทุกอย่าง... ชีวิตที่หยิ่งผยองและกลวงความหมาย ... ต่อมาผมได้อ่านหนังสือเรื่อง Chemins de la sagesse (=บนเส้นทางสู่ปัญญาอันพิสุทธิ์ ) ของ Arnaud Desjardins [อารฺโน เดฌารฺแด็ง] (1925-2011) (มีชื่อเสียงในฐานะที่เป็นหนึ่งในชาวฝรั่งเศสคนแรกๆ ผู้แนะนำและเผยแผ่ปรัชญาของลัทธิศาสนาต่างๆในโลกตะวันออก มาสู่ฝรั่งเศส) เรื่องนี้ได้พลิกผันชีวิตผม  ผมต้องใช้เวลาเกือบเจ็ดปี เพื่อปีนป่ายขึ้นจากเหวนรกที่ผมได้ตกลงไป”.  ในปี 1983 Michel Delpech ผู้จมปลักในกองทุกข์ หมดอาลัยตายอยากในชีวิต ตื่นตัวขึ้นอีกครั้ง และได้พบผู้หญิงคนหนึ่งผู้มาช่วยให้เขากลับออกมาสู่ความสว่างอีกครั้งหนึ่ง พร้อมความหวังในชีวิตข้างหน้า. ผู้หญิงคนนั้น (Geneviève Charlotte M. Garnier-Fabre) คือภรรยาคนที่สองของเขา. ในปี 1986 เขาได้จาริกแสวงบุญไปที่เมืองเยรูซาเล็ม  ความเครียดความทุกข์ในใจยุติลงณที่นั่น เมื่อเขาได้ไปยืนสงบอยู่เบื้องหน้าสุสานของพระคริสต์ น้ำตาหลั่งไหลด้วยความตื้นตัน.  เขารู้สึกว่า เขาไปถึงจุดหมายปลายทางของชีวิตแล้ว ณที่นั้น เขาสามารถวางกระเป๋าเดินทางลงและเริ่มชีวิตใหม่.  ในที่สุดเขาประกาศตนเป็นคริสต์ศาสนิกชน. 
 ภาพถ่ายกับ Geneviève ภรรยาคนที่สองในปี 2011
         ในปี 1975 เพลง Quand j’étais chanteur (=เมื่อผมเป็นนักร้อง) ที่น่าจะเป็นเพลงที่รู้จักกันมากที่สุดของ Michel Delpech. ในเพลงนี้ นักร้องเสนอภาพตนเองในวัย 73 และมองย้อนหลังชีวิตกับความสำเร็จที่ผ่านไปในอดีต. แต่เขามิได้อยู่จนถึงอายุ 73 เพราะเสียชีวิตไปแล้วปีนี้เมื่ออายุ 69 ปี. ภาพข้างล่างนี้เป็นภาพที่ถ่ายในปี 2012 
ฟังเพลงนี้ได้ที่นี่ >>>
         เพลงทำนองร็อคตามยุคสมัยนั้นปนลูกทุ่งฝรั่งเศสชื่อ  Le Loir et Cher (1977) (=ถิ่นลัวร์และแชร์) เล่าถึงครอบครัวพ่อแม่และการได้ไปเยือนถิ่นกำเนิดที่นั่นที่แฝงทั้งความอ่อนโยนและการเหน็บแนมไว้  และในที่สุดอาจหมายถึงชนบททุกถิ่นทุกแดนดินในฝรั่งเศส ก็เป็นอีกเพลงที่คนชื่นชอบกันมาก. 
 (ฟังเพลงนี้ได้ที่นี่ https://www.youtube.com/watch?v=5NWl-ds3Hyg )
        ตลอดชีวิตนักร้อง นักประพันธ์เพลงของเขา Michel Delpech ได้รับเกียรติ รับรางวัลต่างๆ เป็นที่ยอมรับของทุกคน และแม้เมื่อยามที่เขาตกอยู่ในช่วงที่เลวร้ายที่สุด เพลงของเขาก็ยังเป็นที่ชื่นชอบอยู่เสมอ ดังนั้นเมื่อเขากลับคืนสู่วงการอีกครั้งหนึ่ง ชีวิตนักร้องจึงดำเนินต่อไปโดยไม่สะดุดอีกเลย.  ความรักความอ่อนโยนต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เป็นคุณสมบัติอีกหนึ่งที่ทำให้เขาเป็นที่เคารพยกย่องจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต และเพลงของเขาก็จะยังคงอยู่ต่อไปเช่นกัน.
         มีผู้ถาม Michel Delpech ว่า เขาแต่งเพลงอย่างไร คำพูดง่ายๆ ที่เข้าถึงคนทุกรุ่นทุกวัย ? Michel Delpech ตอบว่า “ เพลงแรกๆสมัยวัยรุ่นนั้น คำพูดออกมาเองง่ายๆ แล้วก็ยากขึ้นๆตามลำดับ. บางครั้งต้องกลับไปขุดคุ้ยจากความทรงจำเก่าๆ ที่เคยประสบมาในชีวิตจริง.  บางครั้ง ต้องตั้งใจคิด ตั้งใจเขียน แก้แล้วแก้อีก เพื่อให้ได้ประโยคที่ง่ายๆแต่ตรงจุด ประโยคที่จะไม่ทำให้สงสัย ไม่ทำให้เกิดคำถามขึ้น และจี้ตรงสู่นัยยะที่ต้องการ.  แต่ความพยายามในการแต่งเพลงดังกล่าวมานี้ ต้องไม่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่า ผู้แต่งคร่ำเคร่งกับมันมาก ทั้งๆที่ในความเป็นจริง การแต่งเพลงนั้นต้องใช้ความตั้งใจกับความเพียรสูงมาก. และในที่สุด ต้องให้คนฟังรู้สึกว่า เพลงนี้เขียนขึ้น(เหมือนไหลออกจากจิตวิญญาณ)ในเวลาเพียงไม่กี่นาที”.  
« Les premières chansons naissent assez facilement, mais après cela devient plus difficile. Il faut aller piocher dans les souvenirs, dans le vécu. C’est parfois du travail pour arriver à trouver la phrase juste et simple, celle qui va poser le moins de problèmes, de questions, en allant directement au but. Il ne faut jamais que le travail apparaisse, même si la chanson a demandé beaucoup d’efforts. Il faut au bout du compte qu’elle donne l’impression qu’elle a été écrite en quelques minutes. »  นี่เป็นแง่คิดที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้รักการเขียน เขียนอย่างไรจึงให้คนอ่านรู้สึกว่า มันง่ายและเร็วแบบ effortless จริงๆ.
         ในปี 2013 แพทย์พบว่า เขาเป็นมะเร็งในลำคอและที่ลิ้น เขาเข้ารับการรักษา. ได้ยกเลิกการแสดงหลายครั้งเพราะปัญหาสุขภาพ.  แต่ในปี 2014 เขาได้ออกร้องเพลง และเจาะจงร้องเพลง La fin du chemin (=สุดทาง) ด้วยความสงบ  วางจิตวิญญาณในมือของพระเจ้าอย่างมั่นใจและสบายใจในที่สุด. เนื้อเพลงมีดังนี้
Voici la fin de mon chemin
Sur terre
Je suis à toi
Accueille moi
Mon père
นี่คือสุดทางของผมบนโลกนี้.  พ่อ ผมอยู่นี่แล้ว อ้าแขนรับผมนะ
Voici mon âme
Séchez vos larmes
Mes frères
Je m’en vais là
Où brille la
Lumière
นี่คือดวงวิญญาณของผม.  ซับน้ำตาเสียเถิด พี่น้องเอ่ย.  ที่ที่ผมจะไปนั้น คือแดนสว่างแจ่มจรัส.
Chère Sarah
Ouvre tes bras
J’arrive
Tu penses à moi
Prépare moi la rive
ซาราห์ที่รัก อ้าแขนออกกว้าง ผมใกล้ถึงแล้ว. อย่าลืมผมนะและเตรียมฝั่งน้ำให้ผมด้วย. 
Sarah ชื่อฮีบรูในคัมภีร์เก่าเป็นภรรยาของอับราฮัม ผู้ที่ศาสนายกให้เป็นบรรพบุรุษคนสำคัญของมนุษยชาติ รองลงมาจากอาดัมกับอีฟ (ต้องรู้ว่า มีผู้สืบเชื้อสายอีกมากระหว่างอาดัมกับอับราฮัม)   ในคริสต์ศิลป์ อับราฮัมปรากฏเสมอในบริบทของวันพิพากษาสุดท้าย เขาเป็นผู้โอบอุ้มดวงวิญญาณคนดีที่ผ่านการพิพากษาแล้ว มีสำนวนใช้ว่า “หน้าตักอับราฮัม” . ส่วนชื่อซาราห์มีความหมายในฮีบรูว่า “แม่ของทุกชนชาติ”  เพื่อคู่กับอับราฮัมผู้เป็น “พ่อของทุกชนชาติ”  นี่จึงน่าจะเป็นนัยความหมายของเพลงว่า ขอให้แม่ซาราห์โอบอุ้มตัวเขาไว้  ในอ้อมอกแม่อาจอบอุ่นใจกว่าบนหน้าตักอับราฮัม.  ฝั่งน้ำที่กล่าวถึง อาจโยงไปถึงการเดินทางข้ามภพข้ามแม่น้ำ Styx ที่ขวางคั่นโลกกับภพภูมิอื่น ย้ำว่าให้การเดินทางไปนั้นมีจุดหมายปลายทาง มีท่าเทียบคอยรับอยู่.
Voici la fin de mon chemin
Sur terre
Je viens vers toi
Accueille moi
Mon père
นี่คือสุดทางของผมบนโลกนี้.  พ่อ ผมอยู่นี่แล้ว อ้าแขนรับผมนะ.
Adieu la vie
Mais je bénis
Ma chance
La vérité
L’éternité commence
ลาก่อนชีวิต. หัวใจนี้ซาบซึ้งและรู้คุณยิ่งสำหรับโชคและโอกาสต่างๆที่ผมมีในชีวิต. 
ชีวิตต่อแต่นี้ คือความจริงแท้ คือชีวิตนิรันดร์ที่จะเริ่มขึ้น  
Commence
Commence
เริ่มซะทีนะ! เริ่มซะทีสิ!
La vérité
L’éternité commence
ความจริงแท้ ชีวิตนิรันดร์ที่เริ่มขึ้น.


ภาพถ่ายเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2014
ฟังเพลงสุดท้ายของเขาชื่อ La fin du chemin ได้ที่นี่ >> https://www.youtube.com/watch?v=2PDEcOM7ado  (รวมภาพสมัยต่างๆ)
     เดือนมีนาคม ปี 2015 Michel Delpech ได้พิมพ์หนังสือเล่มใหม่ออกมาชื่อ Vivre! (=ใช้ชีวิต) เล่าถึงโรคมะเร็งของเขา ประสบการณ์การต่อสู้กับโรค และผลกระทบต่อจิตวิญญาณของเขา. หนังสืออีกเล่มหนึ่งชื่อ J’ai osé Dieu (=ผมกล้าเลือกพระเจ้า) ออกมาในปีเดียวกัน  เล่าประสบการณ์บนเส้นทางของจิตวิญญาณเพื่อไต่เต้าสู่พระเจ้า หรือความศรัทธาในศาสนาของเขา (ที่เขาพูดเองว่า ไม่อยากเจาะจงว่าเป็นลัทธิคาทอลิก หรือ โปรแตสแนต์ หรือออธอดอกส์).  ความศรัทธาที่ได้เชื่อมความรักความเข้าใจอย่างลึกซึ้งระหว่างเขากับภรรยามาเกือบสามสิบปี.  สำนวนที่ใช้เป็นชื่อหนังสือนี้ สื่อความกล้าหาญ ความท้าทายในการเชื่อในพระเจ้า ทั้งๆที่นักร้องเองก็คิดว่า แล้วถ้าพระเจ้าไม่มีตัวตนล่ะ ถ้าไม่เชื่อเขาจะได้อะไร และถ้าเขายอมเชื่ออย่างหมดจิตหมดใจล่ะ เขาจะได้อะไรไหม ? และในที่สุดเขาเลือกที่จะเชื่อ. ฟังสัมภาษณ์ของเขาเรื่องศรัทธานี้เมื่อวันที่ 14 กันยายน ปี 2014 หนึ่งปีหลังจากที่ได้ผ่านการรักษามะเร็งแล้ว >> http://www.lejourduseigneur.com/Web-TV/Thematiques/Vie-spirituelle/Temoignages/Michel-Delpech-J-ai-ose-Dieu )

       เดือนมิถุนายน ปีเดียวกัน Michel Drucker [มิเช็ล ดรุ้กแกรฺ] เพื่อนสนิทของ Michel Delpech ได้ออกประกาศต่อสังคมว่า นักร้องได้ขอให้เขาประกาศให้รู้ทั่วกันว่า เขายังต้องรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลและเขาจะไม่อยู่ในเดือนกันยายนแล้ว. หลังจากที่ Michel Delpech ถึงแก่กรรมแล้ว Michel Drucker  นักจัดรายการเพลงชื่อดังของฝรั่งเศส ได้เป็นผู้จัดรายการรวบรวมนักร้องทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ มาร้องเพลงต่างๆของ Michel Delpech เพื่อเป็นการไว้อาลัยและแสดงความรำลึกถึงนักร้องผู้จากไป ในวันที่ 23 มกราคม 2016.
 




 
        เส้นทางชีวิตที่พุ่งขึ้น ตกลง แล้วไปหยุด ณ จุดที่ควรอยู่อย่างมั่นคงในใจของชาวฝรั่งเศส  ทั้งหมดนี้บอกให้รู้ว่า คนๆนี้เป็นเช่นใด. 
        ขอคารวะ  Michel Delpech.  

โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ รายงานไว้ ณ วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๙. 


Thursday 14 January 2016

มองเมฆ I wander lonely as a cloud

I wander lonely as a cloud
มองเมฆ เข้าใจเมฆ
ชื่อเมฆมาจากไหนนะ ?  Richard Hamblyn เจ้าของคลิปวีดีโอนี้ ทำขึ้นเพื่อช่วยความเข้าใจเรื่องเมฆแก่คนทั่วๆไป.  เขาเป็นสมาชิกหมายเลข 0813 ของสมาคม The Cloud Appreciation Society แห่งกรุงลอนดอน. เขาได้สร้างวีดีโอบทเรียนนี้ให้แก่ TED Ed เกี่ยวกับวิธีการตั้งชื่อเมฆ. วีดีโอนี้จึงเล่าเรื่องราวของเภสัชกรชาวลอนดอนคนหนึ่ง ผู้เป็นคนรักเมฆมากๆด้วย เขาชื่อว่า Luke Howard. ในปี1802 Luke Howard ได้เสนอวิธีการจัดแยกประเภทเมฆด้วยการใช้ภาษาละตินตั้งชื่อเมฆในแบบเดียวกับที่นักวิทญาศาสตร์ใช้ภาษาละตินตั้งชื่อและแบ่งแยกพืชพันธุ์และสัตว์. เขาเป็นผู้ประพันธ์หนังสือชื่อ Fantastic Biography of Luke Howard. เขาจึงเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุดเกี่ยวกับปู่ของปู่ของผู้ที่รักการดูเมฆ. 
      การศึกษาเมฆ มักถูกมองว่าเป็นศาสตร์ของคนชอบฝันกลางวัน (daydreamer’s science).  แต่ศาสตร์นี้ได้อุบัติขึ้นจริง จากชายหนุ่มช่างคิดคนหนึ่ง ผู้ชอบจ้องมองท้องฟ้าจากทางหน้าต่างในห้องเรียน . Richard Hamblyn  เล่าเรื่องของ Luke Howard  ผู้เป็นคนจัดแยกกลุ่มเมฆแบบต่างๆ และเขาคนนี้แหละที่ได้พลิกความเข้าใจของมนุษยชาติเกี่ยวกับเมฆที่ดูลึกลับผันแปรตลอดเวลา.
การตั้งชื่อเมฆ
ในเย็นวันหนาวเหน็บเดือนธันวาคม ปี 1802 ชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อ Luke Howard [ลุก เฮาเหวิด] ออกไปยืนเคอะเขินอยู่หน้าสภานักวิทยาศาสตร์แห่งลอนดอน ผู้เชิญเขาไปบรรยายเรื่องเมฆ.  คำบรรยายวันนั้นจะเปลี่ยนชีวิตเขา ทั้งยังจะเปลี่ยนความเข้าใจของมนุษยชาติเกี่ยวกับท้องฟ้า.   Luke Howard  เป็นเภสัชกรตามอาชีพ แต่เป็นนักอุตุนิยมวิทยาเรื่องเมฆ ด้วยใจรัก (nephology).  เขาสนใจเมฆมาตั้งแต่เด็ก เมฆเข้าครอบงำจิตใจเขาตลอดเวลา.  ตอนที่เป็นเด็กนักเรียน เขานั่งมองท้องฟ้าจากหน้าต่างห้องเรียน  จ้องไปที่เมฆที่ลอยผ่านไปในท้องฟ้า.  เขานั่งมองอยู่อย่างนั้นนานเป็นชั่วโมงๆ.  เขาก็เหมือนคนอื่นๆในยุคนั้น ที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจว่า เมฆเกิดขึ้นได้อย่างไร? ทำไมเมฆลอยตัวสูงๆได้ ?  แต่เขาสนุกกับการสังเกตความผันแปรเปลี่ยนรูปของเมฆที่ดูไม่รู้จบ.  เขายอมรับเองว่า เขาไม่สนใจบทเรียนที่ครูกำลังสอนอยู่นัก แต่โชคมหันต์สำหรับอนาคตของอุตุนิยมวิทยา  เขาเรียนภาษาละตินได้ดี และมีทักษะเกี่ยวกับภาษาละตินดีทีเดียว. 
    เมื่อเทียบกับธรรมชาติวิทยาแขนงอื่นๆ  อุตุนิยมวิทยาหรือการศึกษาเกี่ยวกับสภาพอากาศนั้น เป็นแขนงวิชาที่พัฒนาล่าช้ากว่าแขนงอื่นๆ  เหตุผลหลักก็เพราะว่าอากาศเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ล่องลอย ไม่คงที่. เราไม่อาจจะดึงส่วนหนึ่งของรุ้งกินน้ำ หรือหยิบส่วนของเมฆมาชิ้นหนึ่ง เพื่อศึกษาวิเคราะห์อย่างใกล้ชิดตามความสะดวกของเรา.  เราอาจรองน้ำฝนเข้าในภาชนะที่เหมือนถ้วยตวงขนาดใหญ่ แต่ในที่สุด น้ำฝนที่ได้มา ก็เป็นเพียงน้ำถังหนึ่งเท่านั้น. 
        การจะเข้าใจเมฆนั้น ต้องเข้าถึงเมฆด้วยวิธีอื่น  และตรงนี้เองที่ความคิดของ Luke ได้แทรกเข้าไป   เปิดวิธีการมองเพื่อเข้าใจเมฆแก่เรา.  ความรอบรู้ในเรื่องเมฆของเขา มาจากการสังเกตเมฆตลอดเวลานาน ปีแล้วปีเล่า.  เขารู้ว่า เมฆมีรูปแบบที่เป็นเฉพาะของมันและแตกต่างกันหลายแบบ  แต่ก็มีรูปแบบพื้นฐานสองสามแบบที่เหมือนๆกัน.  ในความเป็นจริงคือ เมฆทั้งหมดที่เราเห็น อาจจัดเข้าเป็นกลุ่มสำคัญๆสามแบบที่ Howard ได้ตั้งชื่อให้ดังนี้
Cirrus [ซิเริซ] คำภาษาละตินที่แปลว่า ใย หรือผม (กลุ่มเมฆสีขาวโปร่งคล้ายใยไหม ลอยอยู่ในระดับสูงมากCumulus [คิ้วมิวเลิซ] คำภาษาละตินที่แปลว่า กองสูง กอง. (เมฆที่มีรูปร่างเป็นก้อนซ้อนๆกันขึ้นไปสูงๆStratus [ซฺตร๊าเทิซ] คำภาษาละตินที่แปลว่า ชั้นๆ หรือแผ่นๆ.  (เมฆที่เป็นแผ่นยาวทอดไปบนเส้นขอบฟ้า)
การตั้งชื่อเมฆยังไม่ใช่เรื่องฉลาดสุดยอดของ Luke.  เขาสังเกตจนรู้แน่แก่ใจว่า เมฆเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  มันอาจรวมตัวเข้าด้วยกัน  อาจลอยตัวขึ้นสูง อาจตกลงหรือแผ่กระจายออกไปในบรรยากาศ และเมฆไม่คงรูปลักษณ์ใดนานไปกว่าสองสามนาที.  Luke Howard ตระหนักถึงสภาวะนี้. การตั้งชื่อเมฆ ที่เป็นสิ่งที่ผันแปรอยู่เสมอนั้น ชื่อจึงต้องสื่อความเปลี่ยนแปลง ความไม่ถาวรคงที่คงรูปของเมฆไว้ให้ได้ด้วย.  ดังนั้น เขาจึงเพิ่มชื่อเมฆจากเดิมสามชื่อขึ้นเป็นเจ็ดชื่อ เพื่อใช้เจาะจงรูปแบบของเมฆที่อยู่ระหว่างสองแบบ หรือเป็นเมฆที่รวมตัวเข้าผสมกับเมฆอีกรูปแบบหนึ่ง ดังที่เกิดขึ้นบ่อยๆในหมู่เมฆ.  เขาเสนอให้รู้จักเมฆแบบ Cirrocumulus, Stratocumulus, Cirrostratus หรือ Cumulo-cirro-stratus (หรือที่เรียกว่า Nimbus ที่เป็นเมฆอุ้มฝน)  
      การประสมชื่อของเมฆสองแบบ จนถึงสามแบบ  เท่ากับเจาะจงการเปลี่ยนแปลงของเมฆจากแบบหนึ่งไปเป็นอีกแบบหนึ่ง. เช่นเมฆ Cirrus ที่อยู่สูง และลดระดับลง แล้วแผ่กระจายตัวออกกว้างอันเป็นลักษณะของเมฆ Stratus ก็จะเรียกว่า Cirrostratus (คำแรกบอกว่ามันเป็นเมฆแบบไหนก่อน แล้วจึงเปลี่ยนเป็นเมฆแบบที่สอง).  ในขณะที่เมฆก้อนๆ ลอยตัวสูงขึ้นแล้วแผ่กระจายออกนั้น ให้ชื่อว่า Stratocumulus. ในที่สุด Howard ได้จัดเมฆออกเป็นเจ็ดแบบ  แต่หลังจากนั้นก็มีการขยายแบบเมฆออกไปเป็นสิบแบบ คือ Altocumulus และ Altostratus (คำละติน alto แปลว่า สูง นั่นคือเมฆที่อยู่ในระดับสูงเกือบถึง 20,000 feet แต่ไม่เกินระดับนี้ เมฆในระดับสูงสุดยังคงเป็น Cumulus และ Stratus ที่อยู่เหนือ 20,000 feet ขึ้นไป)  และยังมีเมฆ Cumulonimbus ที่เรียกกันสามัญว่า cloud nine หรือ เมฆหมายเลขเก้า ที่อยู่สูงที่สุด จนกลายเป็นสำนวนพูดว่า  being on cloud nine (อยู่บนเมฆหมายเลขเก้า) หมายถึง อยู่เหนือโลก โดยปริยาย อยู่เหนือกว่าผู้ใดนั่นเอง (being on top of the world).

การจัดแบบเมฆของ Howard นี้ เป็นที่กล่าวขวัญกันไปทั่วทันที.   J.W. von Goethe กวีและนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน ได้เขียนโคลงหลายบท สรรเสริญเมฆของ Howard เช่นในตอนจบของโคลงนี้ ที่เป็นที่จดจำกันว่า
As clouds ascend, are folded, scatter, fall,
Let the world think of thee who taught it all.
เหมือนเมฆที่ลอยขึ้นสูง ห่อตัว ทอดตัวออก และตกลง  ขอให้ชาวโลกรำลึกถึงคุณว่าเป็นผู้สอนทั้งหมดนี้แก่เรา
ส่วน Percy Shelly ก็ได้เขียนบทกวีที่ได้รวมเมฆ 7 แบบของ Luke Howard ไว้ในโคลงที่ชื่อว่า  The Cloud. (ดูบทโคลงท้ายเรื่องข้างล่างนี้).  แต่คนที่สร้างความประทับใจมากที่สุด และที่เป็นปฏิกิริยาตอบสนองการตั้งชื่อเมฆของ Howard น่าจะเป็นจิตรกรชาวอังกฤษ John Constable (1776-1837)  เขาเดินทางออกไปที่ Hamstead Heath (ชานกรุงลอนดอน) ไปอยู่และสังเกตมวลเมฆตามอย่างของ Luke Howard ตลอดช่วงฤดูร้อนสองฤดูติดต่อกัน และวาดภาพของเมฆในที่โล่งกว้าง. (ดูตัวอย่างภาพท้ายเรื่องนี้)  
       เมื่อเรารู้จักชื่อเมฆ และจัดเข้ากลุ่มเมฆแบบใดแบบหนึ่งได้แล้ว เราก็เข้าใจเมฆง่ายขึ้น ว่าจริงๆแล้วเมฆเป็นเครื่องหมายที่ตามองเห็น ที่บอกเล่ากระบวนการหมุนเวียนของบรรยากาศโลกที่ตามองไม่เห็น และหากไม่มีความรู้เรื่องเมฆที่ Howard ได้มอบแก่เรา  เราก็คงไม่เข้าใจการมีอยู่ของบรรยากาศโลก  เมฆจึงเหมือนบันทึกประจำวันของบรรยากาศบนท้องฟ้า  และทำให้เราเข้าใจกระบวนการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงของอากาศ (weather) และภูมิอากาศ (climate). 
        สิ่งที่เจาะทะลุปริศนาเรื่องเมฆ น่าจะเป็นการค้นพบที่ว่า เมฆก็อยู่ใต้กฎฟิสิกส์เฉกเช่นสรรพสิ่งทั้งมวลบนโลก.  เช่นเมฆมิได้ลอยในอากาศ (ตามที่เราคิดและเชื่อกัน) เพราะในความเป็นจริง เมฆค่อยๆลดต่ำลงสู่พื้นโลกอย่างช้าๆ ตามอิทธิพลของแรงดึงดูดของโลก.  แต่เมฆบางกลุ่มอาจลอยตัวขึ้นสูง ทั้งนี้เพราะเมื่อผิวโลกร้อนจัด ผิวโลกก็คลายความร้อนออก เกิดเป็นมวลอากาศร้อนลอยตัวขึ้นสูงจากพื้นโลก พาเมฆในบริเวณนั้นๆลอยตัวขึ้นไปด้วย  แต่เมฆส่วนใหญ่เลื่อนต่ำลงๆอย่างช้าๆ.
        เมฆเป็นเทพอุปถัมภ์ของคนช่างฝัน(หรือคนไม่มีอะไรทำ) ดังที่ปราชญ์ชาวกรีก Aristophanes เขียนไว้เมื่อ 420 ปีก่อนคริสตกาล.  ถึงกระนั้น เมฆศึกษา (nephology ที่เป็นแขนงหนึ่งในอุตุนิยมวิทยา - meteorology)  มักถูกมองว่าเป็นศาสตร์วิชาของคนชอบฝันกลางวัน (daydreamer’s science).  แต่ศาสตร์นี้ได้อุบัติขึ้นจริง จากชายหนุ่มช่างคิดคนหนึ่ง ผู้หลงใหลจ้องมองท้องฟ้าจากหน้าต่าง.. 

ดูคลิปวีดีโอเป็นภาษาอังกฤษได้ที่นี่ >>>

Percy Shelley (1792-1822) แต่งโคลงชื่อ The Cloud  ในราวปลายปี 1819 หรือต้นปี 1820.
The Cloud
    I bring fresh showers for the thirsting flowers,
         From the seas and the streams;
    I bear light shade for the leaves when laid
         In their noonday dreams.
    From my wings are shaken the dews that waken
         The sweet buds every one,
    When rocked to rest on their mother's breast,
         As she dances about the sun.
    I wield the flail of the lashing hail,
         And whiten the green plains under,
    And then again I dissolve it in rain,
         And laugh as I pass in thunder.

    I sift the snow on the mountains below,
         And their great pines groan aghast;
    And all the night 'tis my pillow white,
         While I sleep in the arms of the blast.
    Sublime on the towers of my skiey bowers,
         Lightning my pilot sits;
    In a cavern under is fettered the thunder,
         It struggles and howls at fits;
    Over earth and ocean, with gentle motion,
         This pilot is guiding me,
    Lured by the love of the genii that move
         In the depths of the purple sea;
    Over the rills, and the crags, and the hills,
         Over the lakes and the plains,
    Wherever he dream, under mountain or stream,
         The Spirit he loves remains;
    And I all the while bask in Heaven's blue smile,
         Whilst he is dissolving in rains.

    The sanguine Sunrise, with his meteor eyes,
         And his burning plumes outspread,
    Leaps on the back of my sailing rack,
         When the morning star shines dead;
    As on the jag of a mountain crag,
         Which an earthquake rocks and swings,
    An eagle alit one moment may sit
         In the light of its golden wings.
    And when Sunset may breathe, from the lit sea beneath,
         Its ardours of rest and of love,
    And the crimson pall of eve may fall
         From the depth of Heaven above,
    With wings folded I rest, on mine aëry nest,
         As still as a brooding dove.

    That orbèd maiden with white fire laden,
         Whom mortals call the Moon,
    Glides glimmering o'er my fleece-like floor,
         By the midnight breezes strewn;
    And wherever the beat of her unseen feet,
         Which only the angels hear,
    May have broken the woof of my tent's thin roof,
         The stars peep behind her and peer;
    And I laugh to see them whirl and flee,
         Like a swarm of golden bees,
    When I widen the rent in my wind-built tent,
         Till calm the rivers, lakes, and seas,
    Like strips of the sky fallen through me on high,
         Are each paved with the moon and these.

    I bind the Sun's throne with a burning zone,
         And the Moon's with a girdle of pearl;
    The volcanoes are dim, and the stars reel and swim,
         When the whirlwinds my banner unfurl.
    From cape to cape, with a bridge-like shape,
         Over a torrent sea,
    Sunbeam-proof, I hang like a roof,
         The mountains its columns be.
    The triumphal arch through which I march
         With hurricane, fire, and snow,
    When the Powers of the air are chained to my chair,
         Is the million-coloured bow;
    The sphere-fire above its soft colours wove,
         While the moist Earth was laughing below.

    I am the daughter of Earth and Water,
         And the nursling of the Sky;
    I pass through the pores of the ocean and shores;
         I change, but I cannot die.
    For after the rain when with never a stain
         The pavilion of Heaven is bare,
    And the winds and sunbeams with their convex gleams
         Build up the blue dome of air,
    I silently laugh at my own cenotaph,
         And out of the caverns of rain,
    Like a child from the womb, like a ghost from the tomb,
         I arise and unbuild it again.

    สำหรับผู้ที่สนใจอ่านบทวิเคราะห์เรื่อง The Cloud ของ Percy Shelley ก็อ่านลองเข้าไปอ่านได้ที่นี่  

    เรื่องเมฆๆ ทำให้นึกถึงกลอนเปล่าบทนี้ของ Charles Baudelaire [ชารฺเหลอะ โบ๊ดแลรฺ] กวีฝรั่งเศส จาก Petits Poèmes en prose, 1 (1869)  ดังนี้
   - Qui aimes-tu le mieux, homme enigmatique, dis? ton père, ta mère, ta soeur ou ton frère?
- Je n'ai ni père, ni mère, ni soeur, ni frère.
- Tes amis?
-Vous vous servez là d'une parole dont le sens m'est resté jusqu'à ce jour inconnu.
- Ta patrie?
- J'ignore sous quelle latitude elle est située.
- La beauté?
- Je l'aimerais volontiers, déesse et immortelle.
- L'or?
- Je le hais comme vous haïssez Dieu.
- Eh! qu'aimes-tu donc, extraordinaire étranger?
- J'aime les nuages... les nuages qui passent... là-bas... là-bas... les merveilleux nuages!
     ใจความคือ >>>    
เจ้าชอบใครมากกว่า  เจ้าคนปริศนา   บอกมาซิ  พ่อเจ้า แม่เจ้า น้องสาวเจ้า น้องชายเจ้า ?
ข้าไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ ไม่มีน้องสาวหรือน้องชาย
เพื่อนเจ้าล่ะ
เพื่อนหรือ หมายถึงอะไร เป็นคำที่ข้าไม่เคยรู้จัก จนถึงวันนี้
บ้านเกิดเจ้าล่ะ
ข้าไม่รู้ว่ามันตั้งอยู่บนเส้นละติจูดไหน
ความงามล่ะ
ข้าจักรักความงามด้วยความเต็มใจ เหมือนเทพธิดา ผู้อมตะ
ทองล่ะ
ข้าเกลียดมันเหมือนท่านเกลียดพระเจ้า
เอ !  แล้วเจ้ารักอะไรบ้างล่ะ เจ้าคนนอกผู้ประหลาดเหลือ
ข้าชอบเมฆ เมฆที่เคลื่อนผ่านไป ...นั่นไง... นั่นไง... เมฆสวยมหัศจรรย์เหล่านั้น...
-------------------------------
 John Constable (1776-1837)  ได้เดินทางออกไปที่ Hamstead Heath (ชานกรุงลอนดอน) ไปอยู่และสังเกตมวลเมฆตามอย่างของ Luke Howard. เขาตั้งใจแน่วแน่ว่าจะเป็นจิตรกรภูมิทัศน์ให้ได้  ประสบการณ์เรื่องเมฆ  ทำให้เขาแบ่งพื้นที่จำนวนมากเพื่อแสดงเมฆรูปแบบต่างๆตรงตามความเป็นจริงบนผืนผ้าใบของเขา  เมฆกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จิตรกรคนอื่นๆไม่เคยให้ความสำคัญเท่า.  ผลงานจิตรกรรมของ Constable โดดเด่น และดลใจแนวการแต่งแต้มสีและจัดวางภูมิทัศน์แก่จิตรกรร่วมสมัยชาวฝรั่งเศสเช่น Géricault และ Delacroix รวมทั้งโรงเรียนสอนศิลป์ Barbizon ของฝรั่งเศส และจิตรกรอิมเพรสชั่นนิสต์ในปลายศตวรรษที่ 19 อีกด้วย.  Constable ได้ส่งภาพ The Hay Wain (รถบรรทุกฟาง)  เข้าประกวดในนิทรรศการวิจิตรศิลป์ประจำปี  Paris Salon 1824 และได้รับรางวัลเหรียญทองด้วย )  
ภาพ The Hay Wain รถบรรทุกฟาง ของ John Constable ที่ได้รับรางวัลเหรียญทอง
จากการนำไปออกแสดงในนิทรรศการวิจิตรศิลป์  Paris Salon, ปี 1814.
ภาพ Salisbury Cathedral from the Bishop’s grounds ของ John Constable 1825.
Salisbury meadows 
View from Hamstead Heath looking towards Harrow.
โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ 
สมาชิกผู้หนึ่งของชมรมคนรักมวลเมฆแห่งสหราชอาณาจักร 
รายงาน ณ วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๕๙.

  ฟัอ่านโคลงบทนี้ และฟังเป็นเพลง ได้จากที่นี่   
>> https://www.youtube.com/watch?v=NjqT5GVS7Uo  
(ร้องเป็นเพลง stanza สุดท้าย + stanza ที่หนึ่ง + stanza สุดท้าย)
>> https://www.youtube.com/watch?v=0fsRyQQjeVg (recital เสียงผู้หญิง)
>> https://www.youtube.com/watch?v=X8fylsg3DiY   (Atmospheric interpretation of Shelley's The Cloud.)