Friday 18 January 2019

Virtues & Vices

ต้นตำรับจริยธรรมตะวันตก
โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์

ต้นตำรับจริยธรรมในศาสนาคริสต์ 
1.  บัญญัติสิบประการ (The Ten Commandments)
2.  ไซโคมาเกีย (Psychomachia) 
3.  คุณธรรมเจ็ดประการของคริสต์ศาสนา (The Seven Virtues)
4.  อธรรมหรือบาปหนักเจ็ดประการ (The Seven Deadly Sins)
5.  โอโนรีอุสแห่งเมืองโอเติง  (Honorius d’Autun)
6.  อูคส์แห่งเมืองแซ็งต์วิกตอร์  (Hugues de Saint-Victor)
7.  บราเธอร์ลอเรนส์กับบทรวมธรรมจริยาสำหรับกษัตริย์  (Lorens’ Somme le Roi)
8.  ดันเต้กับมหากาพย์ดีวีนา ก็อมเมเดีย  (Dante’s Divina Commedia)
9.  วิธีการนำเสนอจริยธรรมในคริสต์ศิลป์ (Vices and Vertues in Christian art)

***

       คริสต์ศาสนาเช่นศาสนาอื่นใด ย่อมมีระบบจริยธรรมเป็นแนวทางขัดเกลาจิตใจ เพื่อการอยู่รวมกันอย่างสงบสุขในหมู่ศาสนิกชน  คุณธรรมจึงเป็นสิ่งที่ทุกศาสนาเน้นและส่งเสริมให้มีการเผยแผ่ในรูปแบบต่างๆ ของทัศนศิลป์. ในระบบจริยธรรมของศาสนา  บทบัญญัติต่างๆที่มี คน เป็นศูนย์กลาง ล้วนเหมือนกันทั้งสิ้นในทุกศาสนา ต่างกันเพียงในข้อปลีกย่อย เช่นในการเน้นนัยของศีลข้อหนึ่งมากกว่าอีกข้อหนึ่ง หรือการเพิ่มศีลอีกข้อหนึ่ง  ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับบริบทของเวลาและสถานที่ ที่รวมถึงวิถีการครองชีวิตของชุมชนบนดินแดนแต่ละแห่ง ที่ยังมีบริบทด้านภูมิประเทศและภูมิอากาศที่ต่างก็เป็นตัวกำหนดด้วยเช่นกัน.
     การนำเสนอจริยธรรมให้เป็นทัศนศิลป์ในตะวันตก มีเอกสารหนังสือเป็นคู่มือที่เป็นฐานความรู้ของนายช่างฝีมือและของศิลปิน. ตั้งแต่ต้นคริสตกาลจนถึงสมัยใหม่ สามัญชนทั่วไปอ่านหนังสือไม่ออกและแน่นอนเขียนไม่ได้.  ศิลปะจึงเป็นวิธีหนึ่งที่องค์การศาสนาต้องใช้เป็นเครื่องมือเผยแผ่คำสอนและปลูกฝังจริยธรรม. สำหรับเราชาวพุทธเมื่อมีโอกาสไปเยือนไปยืนชมคริสต์ศิลป์ที่ยังคงเด่นงดงามประดับโบสถ์ใหญ่ๆในยุโรปและโดยเฉพาะโบสถ์กอติคในฝรั่งเศสเช่นน็อตเตรอดามที่กรุงปารีส เราขาดฐานความรู้ที่ศิลปินได้ใช้เป็นคู่มือ เราจึงต้องเรียนย้อนเส้นทางจากงานศิลป์กลับไปสู่ต้นตำรับตำราของคริสต์ศาสนา. บทความนี้เสนอข้อมูลต้นตำรับเกี่ยวกับระบบจริยธรรมคริสต์ศาสนา และนำตัวอย่างจากคริสต์ศิลป์มาประกอบความเข้าใจ. 

1. บัญญัติสิบประการ
      เมื่อโมเสสพาชาวยิวออกจากอีจิปต์มุ่งหน้าไปยังดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่พระเจ้าสัญญาว่าจะให้แก่ชาวอิสราเอล  ผู้คนที่เดินทางไปด้วยนั้นมีเป็นจำนวนมาก. การจะคุมให้ทั้งคณะเดินทางไปด้วยกันอย่างสันติและมีความเอื้ออาทรต่อกันนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย จำเป็นต้องมีกฎระเบียบ มีวินัยที่ทุกคนต้องยอมรับร่วมกัน  โดยเฉพาะในบริบทของการเดินทางอันยาวนาน ความลำบากยากแค้นในการเดินทาง ความหิวกระหายและความเหนื่อยอ่อน เป็นต้นเหตุให้เกิดความขัดแย้งกันได้ง่ายมาก.  โมเสสจึงขึ้นไปขอบัญญัติวินัยจากพระเจ้าบนเขาซีไน (Sinai)  เขาหายไปบนเขาตลอดเวลาสี่สิบวันสี่สิบคืน ในที่สุดลงมาพร้อมบัญญัติสิบประการที่พระเจ้ากำหนดให้ จารึกลงบนแผ่นหินสองแผ่น  เมื่อโมเสสลงมาจากภูเขา พบว่าชาวยิวกำลังกราบไหว้บูชารูปปั้นวัวทองคำที่พวกเขาหล่อขึ้นเป็นรูปเคารพ  โมเสสโกรธมากทิ้งแผ่นศิลา เข้าทำลายรูปปั้นวัว ไหม้จนเป็นจุณ. ชาวยิวได้คิดและสำนึกผิด  โมเสสวิงวอนให้พระเจ้าจารึกบัญญัติสิบประการลงบนแผ่นศิลาให้อีกครั้งหนึ่ง เขาต้องขึ้นไปบนเขาซีไนสวดมนต์ปฏิบัติธรรมอีกสี่สิบวันสี่สิบคืน.  ในที่สุดลงมาพร้อมแผ่นศิลาจำหลักบัญญัติสิบประการคู่ใหม่  โมเสสอ่านสั่งสอนให้ชาวยิวยึดถือและปฏิบัติตาม. บัญญัติสิบประการ (จากคำ Decalogue ที่แปลว่า คำพูดสิบคำหรือสิบวรรค) ปรากฏแทรกไว้ในคัมภีร์เก่าสองแห่ง  แห่งแรกในเรื่องราวของโมเสสดังอธิบายมา (ตอน Exodus 20: 2-17)  อีกแห่งหนึ่งในหนังสือเล่มที่ห้าของคัมภีร์เก่า(Deuteronomy 5: 6-12).[1]  คัมภีร์ไบเบิลฉบับภาษาอังกฤษที่ใช้กันแพร่หลายที่สุดคือ ฉบับ King James Version. เนื้อหาของบัญญัติสิบประการมีดังนี้ 
1. ข้าเป็นพระเจ้าของเจ้า  เป็นผู้พาเจ้าออกจากดินแดนอีจิปต์ ออกจากการถูกจองจำเป็นข้าทาส  เจ้าต้องไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากข้า. 
2. เจ้าต้องไม่ทำรูปเคารพแบบใด ไม่ว่ารูปใครจากสวรรค์ จากโลกบาดาลหรือจากทะเล เจ้าต้องไม่ก้มหัวให้ผู้นั้น ต้องไม่ไปรับใช้ผู้นั้น(idolatry)[2]  เพราะข้าเป็นพระเจ้าของเจ้า และข้าขี้อิจฉาด้วย ข้าได้เห็นความอยุติธรรมของในหมู่คนติดต่อกันสามสี่ชั่วคน ความอยุติธรรมของคนที่เกลียดข้า แต่ข้าได้เมตตาต่อผู้ที่รักข้าและปฏิบัติตามคำสั่งสอนของข้า.
3. เจ้าต้องไม่เอ่ยนามของพระเจ้า แอบอ้างหรือท้าทายพระเจ้าโดยขาดความเคารพ จักถูกพระเจ้าลงโทษ.
4. ขอให้เจ้าจำและยึดมั่นว่าวันอาทิตย์เป็นวันศักดิ์สิทธิ์ เป็นวันของพระเจ้า  เจ้าต้องทำงานหกวันและต้องไม่ทำงานในวันที่เจ็ด ลูกชายเจ้า ลูกสาวเจ้า คนใช้ชายหญิงของเจ้า สัตว์เลี้ยงของเจ้าหรือคนแปลกหน้าที่เข้ามาอยู่ใต้ชายคาของเจ้า  ทั้งหมดต้องไม่ทำงานในวันอาทิตย์  เพราะพระเจ้าได้สร้างสวรรค์ โลก ทะเลมหาสมุทร สรรพสิ่งและสรรพชีวิตในทั้งสามโลกนั้นในเวลาหกวัน และได้หยุดพักในวันที่เจ็ด  นั่นคือพระเจ้าได้ตั้งวันที่เจ็ดให้เป็นวันศักดิ์สิทธิ์ (the Sabbath day) ให้เป็นวันสรรเสริญพระเจ้า (เช่นให้ไปวัด ไปฟังมิซซา).
5. เจ้าต้องเคารพพ่อแม่ของเจ้า  ชีวิตเจ้าจะยืนนานบนแผ่นดินที่พระเจ้าประทานให้แก่เจ้า[3]
6. เจ้าต้องไม่ฆ่าคน[4]
7. เจ้าต้องไม่ประพฤติผิดในกาม  ต้องไม่เป็นชู้ [5]
8. เจ้าต้องไม่ขโมย [6]
9. เจ้าต้องไม่โกหก หรือเป็นพยานผิดๆต่อเพื่อนบ้านของเจ้า[7]
10.  เจ้าต้องไม่อยากได้ของสิ่งใดก็ตามที่เป็นของเพื่อนบ้านเจ้า, ภรรยาของเพื่อนบ้าน, คนใช้ชายหญิงของเขา, วัวหรือลาของเขาเป็นต้น.
      จะเห็นว่า สี่ข้อแรกเกี่ยวกับพระเจ้าโดยตรง ที่อาจเป็นผลมาจากความโลเลใจง่ายของชาวยิวที่หันไปนับถือรูปเคารพอื่นๆที่เป็นความหลงงมงายอย่างแท้จริง. ความอ่อนแอของจิตใจคนทำให้พระเจ้าเห็นความจำเป็นต้องควบคุม  จึงเกี่ยวกับการสักการบูชาพระเจ้าเท่านั้น ซึ่งโดยปริยายหมายความว่าพระเจ้าเป็นผู้รับผิดชอบทุกอย่างในชีวิตคน หากใครเชื่ออย่างหมดจิตหมดใจ ยำเกรงพระองค์อย่างแท้จริงแล้ว ย่อมสบายใจได้ว่าพระเจ้าไม่ทิ้งเขาแน่นอน. ส่วนหกข้อสุดท้ายเกี่ยวกับศีลธรรมว่าอะไรที่ไม่ควรทำ เพื่อการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสงบสุขในชุมชน.[8]  ในขณะเดียวกันก็มีนักวิจารณ์ที่มองว่า สามข้อแรกเป็นความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับคน. ข้อสี่ถึงข้อแปด เป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนในสังคม และสองข้อสุดท้ายเกี่ยวกับความคิดในส่วนลึกของแต่ละคน. 
       บัญญัติสิบประการนี้เป็นพื้นฐานสำคัญร่วมกันของศาสนาจูดาอิสซึม(Judaism) และของคริสต์ศาสนา  ในปัจจุบันหมอสอนศาสนาในวัดยิว(synagogue ซิเนอก๊อก) ยังคงอ่านบทบัญญัติสิบประการทุกปีตามวาระเทศกาลต่างๆ.  ชาวยิวลุกขึ้นยืนฟังบทบัญญัติสิบประการเพื่อเน้นความสำคัญและความหมายกับที่มาของกฎเหล่านี้.  คติความเชื่อของนิกายออร์เธอด็อคส์(Orthodox Church เช่นในรัสเซียและกรีซ) ยังคงยึดศีลธรรมจากบัญญัติสิบประการนี้ เช่นก่อนการสารภาพบาป พระจะอ่านบัญญัติสิบประการให้ฟังและถามผู้มาสารภาพบาปว่า เขาได้ทำผิดข้อใด.
       สำหรับคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ถือว่าบัญญัติสิบประการสำคัญยิ่งสำหรับสุขภาพและการพัฒนาของจิตวิญญาณ ทั้งยังเป็นรากฐานของความยุติธรรมในสังคม. การอบรมสั่งสอนของวัดยึดทั้งคัมภีร์เก่าและใหม่และบทสั่งสอนของบิดาศาสนาคนแรกๆ(เช่นของนักบุญเจโรม นักบุญออกุสตินเป็นต้น). นอกจากนี้คัมภีร์ใหม่กล่าวถึงพระเยซูผู้เห็นความสำคัญของบัญญัติสิบประการ และได้ปลดปล่อยชาวคริสต์จากการยึดถือข้อกำหนดกฎหมายของชาวยิวที่รวบรวมเพิ่มขึ้นทั้งหมด 613 ข้อ แต่ให้ทุกคนยึดบทบัญญัติสิบประการอย่างเคร่งครัด  ได้เน้นความสำคัญของบัญญัติสองข้อที่เหนือกว่าข้อใดและได้กำชับกำชาเหล่าสาวกออกเผยแผ่สั่งสอน นั่นคือ สอนให้รักพระเจ้าและสอนให้รักเพื่อนบ้าน. คำพูดของพระเยซูที่ว่า เจ้าจงรักเพื่อนบ้านเหมือนเจ้ารักตัวเอง  นี้ โดยปริยายเท่ากับกระตุ้นให้แต่ละคนพินิจพิจารณนาความเป็นตัวตนของตนเอง จิตสำนึก จิตใต้สำนึก ค่านิยมส่วนตัวของเขา ในขณะเดียวกันก็มองพินิจพิเคราะห์ไปถึงความเป็นตัวตนของ เพื่อนบ้าน นั่นคือของคนอื่นด้วย.    
     นิกายโปรเตสแตนต์ลดการยึดถือกฎบัญญัติในคัมภีร์ลงไปมากแต่ก็ยังคงจัดบัญญัติสิบประการ ให้เป็นจุดเริ่มต้นของจริยธรรมที่แต่ละคนจักพัฒนาขึ้นตามวิสัยทัศน์และการตีความบัญญัติแต่ละข้อให้เข้ากับแต่ละบริบทในสังคมที่เขาอยู่.  บัญญัติสิบประการจึงเป็นเหมือนคู่มือนำทางของศาสนิกชนแต่ละคน ไปสู่ ความเมตตาวิลาสล้ำ ของพระผู้เป็นเจ้า(Grace)  หากเขาไปไม่ถึงจุดสุดยอดนั้น เขาเองเป็นต้นเหตุของความล้มเหลวของเขา.   
      ยุคต่อมาปราชญ์ในคริสต์ศาสนาตีความบัญญัติสิบประการและพินิจพิจารณาข้อกำหนดในสังคมจากตัวอย่างของชาวฮีบรู ทำให้เกิดข้อกำหนดด้านศีลธรรมเพิ่มขึ้นและมีละเอียดปลีกย่อยออกไป ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในขณะหนึ่งณสถานที่หนึ่ง  เป็นแบบของคุณธรรมที่แต่ละบุคคลพึงนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตในความดีตามระบบจริยธรรมตะวันตก.

บนหินสามเหลี่ยมตำแหน่งหัวบัวของเสาในวิหารโรมันเนสก์และกอติคยุคกลาง มักจำหลักเหตุการณ์จากคัมภีร์เก่าและใหม่รวมทั้งเนื้อหาอื่นๆ เป็นข้อมูลศาสนาในแบบกระทัดรัดที่เข้าใจง่ายเช่นประติมากรรมบนหัวบัวเสานี้ โมเสถือตระบองคู่ชีพในมือขวา ยกขึ้นสูงทำท่าจะฟาดฟันด้วยความโกรธ มือซ้ายชูแผ่นหินสองหน้า(คือแผ่นจารึกบัญญัติสิบประการที่พระเจ้ามอบให้) เผชิญหน้ากับตัวมาร ที่เหยียบเหนือวัว หัวร่อเย้ยว่า ช้าไปแล้ว ชาวยิวเบนไปบูชาวัวทองแทนพระเจ้าแล้ว ถัดจากวัวเห็นชาวยิวอีกคนแบกแกะที่ฆ่ามาสังเวยพระเจ้าวัวทองสองภาพนี้จากวิหารแซ็งต์มัดเลอแดน Basilique Sainte-Marie-Madeleine de Vézelay (สร้างต้นศตวรรษที่12, France)
หน้าต่างกระจกพร้อมจิตรกรรม เสนอภาพของโมเสส(นุ่งชุดเขียวมีผ้าคลุมสีน้ำตาล)
สองมือยกแผ่นหินที่จารึกบัญญัติสิบประการที่พระเจ้าบอกให้เขาจารึกลงไว้
หน้าต่างกระจกสีนี้จากวิหาร Bath Abbey เมือง Bath ประเทศอังกฤษ

2. ไซโคมาเกีย (Psychomachia)
       ในราวศตวรรษที่สอง แตร์ตูลลียานุส (Tertullianus150-222)[9]  ได้พัฒนาเจาะจงรูปลักษณ์ของคุณธรรมว่า  คุณธรรมเป็นเหมือนสตรีนักรบหรือแม่ทัพที่ต่อสู้กับอธรรม ความชั่วร้ายประเภทต่างๆ  เขากล่าวว่าคริสต์ศาสนาไม่ได้นำสันติสุขมาสู่โลก แต่ทำให้เกิดสงครามไม่หยุดหย่อนภายในจิตใจคน ทั้งนี้เพราะในแต่ละคน มีจิตใฝ่สูงและจิตใฝ่ต่ำ เหมือนคนสองคนที่คอยจ้องประหัตประหารลบล้างกัน.  ศกนาฏกรรมที่แท้จริงของมนุษย์ จึงคือการที่มนุษย์ต้องสู้กับตัวเองตลอดเวลา. ความสำนึกนี้เองที่คริสต์ศาสนาปลุกและปั่นขึ้นภายในใจคน.
     ไม่นานต่อมาปรูเด็นตีอุส(Aurelius Prudentius Clemens, 348-415  กวีชาวโรมัน เป็นชาวคริสต์โรมันคนแรกๆ)  นำความคิดของแตร์ตูลลียานุสมาพรรณนาความดีความชั่วในกวีนิพนธ์ชื่อ ไซโคมาเกีย(Psychomachia หรือ Battle of the Soul แต่งขึ้นในราวปี 405) เล่าถึงสงครามระหว่างความดีกับความชั่วหรือระหว่างคุณธรรมกับบาป. หนังสือเล่มนี้ได้กลายเป็นหนังสืออ้างอิงเล่มสำคัญที่ใช้กันแพร่หลายและต่อเนื่องมาจนถึงศตวรรษที่ 14 เนื้อหาในส่วนที่เกี่ยวกับการต่อสู้นั้น สรุปสั้นๆได้ดังนี้
      กองทัพของเหล่าอธรรมมาประจันหน้ากับกองทัพของฝ่ายสัจธรรม  นายกองของแต่ละฝ่ายเป็นสตรีสาว ออกมาประลองกำลังกันกับคู่แข่งของตนในสนามรบ  เริ่มด้วยแม่ทัพที่ชื่อ ฟีเดซ (Fides หมายถึงความศรัทธา)[10] พุ่งตัวออกไปกลางสนาม  นางสวมเกราะ ถือโล่ เปิดบริเวณหน้าอกออกอย่างท้าทาย  ศัตรูผู้เป็นนายกองหญิงแก่ชื่อ เวตุซ-กุลตูรา-เดโอรุม (Vetus Cultura deorum หมายถึงความหลงงมงายในความเชื่อแบบอื่นๆ ที่ไม่นับถือพระเจ้า) การสู้รบของคนทั้งสองเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั้งคู่บาดเจ็บแต่ ฟีเดซ สามารถคว่ำตัวคู่ต่อสู้ เอาเท้าเหยียบบนหัวนางอย่างภาคภูมิใจ.
      คู่ที่สองคือนายกองสาว ปูดีชีเตีย(Pudicitia หมายถึงความไม่มักมากในกาม ความสำรวมนางสวมเกราะมันเป็นเงางาม นางถูกคู่ต่อสู้ที่ชื่อ ลีบีโด (Libido หมายถึง กามตัณหากระโดดเข้าถอง  นางลีบีโด เป็นหญิงหากิน มือถือคบเพลิงเป็นอาวุธ นางปูดีชีเตีย เหวี่ยงก้อนหินไปโดนคบเพลิงหลุดตกจากมือของคู่ต่อสู้ (นักการศาสนาตีความว่าก้อนหินนั้นมีความหมายแทนพระเยซูผู้สามารถชนะตัณหาและมารยา)แล้วนางชักดาบออกเชือดคอนางลีบีโด ผู้อาเจียนกระอักเลือดที่เข้มข้นปานโคลนตมและส่งกลิ่นเหม็นคลุ้ง  นางปูดีชีเตียกล่าวบริภาษศพอย่างรุนแรง ชำระล้างดาบที่เปื้อนเลือดในแม่น้ำจูรแดนอันศักดิ์สิทธิ์  นับเป็นครั้งแรกที่กามตัณหาถูกฆ่าล้าง.
      
เมื่อถึงคู่ที่สาม นายกองสาวปาเทียนเตีย(Patientiaหมายถึงความอดกลั้นยืนสำรวมคอยรับมือนางอีราฝ่ายศัตรู(Ira หมายถึงความโกรธหรือโทสะ). นางอีรากระโดดเข้าจู่โจมใช้ดาบฟาดฟันหมายจะตัดหัวคู่ต่อสู้ผู้ยืนรับ ท่าทางมั่นคงเด็ดเดี่ยว. นางปาเทียนเตีย สวมหมวกเหล็กที่แข็งแกร่งและทานกำลังดาบของนางอีราได้อย่างวิเศษ. ดาบของนางอีราปลิวว่อนหลุดจากมือ นางอีราโกรธจนคุมสติไม่อยู่ คว้าหอกที่อยู่ปลายเท้าเธอได้ ก็ทิ่มเข้าใส่หน้าอกตัวเองด้วยความแค้น. นางปาเทียนเตีย จึงมีชัยชนะเหนือคู่ต่อสู้โดยที่นางยังไม่ได้ชักดาบออกจากฝัก.
     ในขณะนั้นนาง ซูเปร์เบีย(Superbia หมายถึงความหยิ่งยะโส ความโอหังควบม้าไปท้าทายอยู่ตรงหน้ากองทัพศัตรู ผมของนางถูกเลิกสูงขึ้นตั้งราวกับหอสูงบนหัว เสื้อคลุมของนางก็กางป่องพองลม. นางกล่าวบริภาษด้วยความโอหังว่า เหล่านายทหารฝ่ายคุณธรรมนั้น ขี้ขลาดและเฉื่อยชา. นางพูดไม่ทันขาดคำ ทั้งนางและม้าตกหายลงไปในคูกับดักที่นางฟราอุซ (Fraus หมายถึงความคดโกงได้ขุดไว้ในสนามรบหมายจะจับฝ่ายคุณธรรม แต่ฝ่ายความชั่วเองกลับตกเป็นเหยื่อ.
    ตอนนี้เองที่นายกองสาวนาง เมนซ์อูมีลีซ(Mens humilis หมายถึงความถ่อมตน) ก้าวออกสู่สนาม มือรับดาบที่นางสเป๊ซ(Spes หมายถึงความหวังในพระเจ้า) ยื่นให้ แล้วตัดหัวนางซูเปร์เบีย จากนั้นนางกางแขนออกสองข้าง เผยให้เห็นเป็นปีกทองสุกปลั่ง พานางเหาะขึ้นสู่ท้องฟ้า.
      นาง ลูซูเรีย(Luxuria หมายถึงความหลงใหล ฝักใฝ่ในกามสุข) ผู้มีผมยาวสยายและส่งกลิ่นหอมยั่วยวนใจ ท่าทางนางอ่อนช้อยรัญจวนใจ ทอดตัวอยู่บนรถม้าที่สวยงามอลังการด้วยเพชรนิลจินดา. นางผู้นี้มียุทธวิธีที่แปลก เพราะแทนการใช้อาวุธ นางกลับโปรยปรายดอกไวโอเล็ตและกลีบกุหลาบไปทั่ว. เหล่าอิสตรีแห่งคุณงามความดี เห็นดังนั้นชักสับสน แต่นาง โซบรีเยตัซ (Sobrietas หมายถึงความพอเหมาะพอดี ความรู้จักประมาณตนผู้ถือธงมีรูปไม้กางเขนประดับ ก้าวออกไปประจัญหน้ากับขบวนของนางลูซูเรีย. ในบัดดลนั้นบรรดาม้าทั้งปวงเกิดอาการบ้าคลั่ง กระโดดและเตะไปมาจนตัวรถคว่ำลง. นางลูซูเรีย กลิ้งตกลงไปคละฝุ่นบนสนามรบ ขบวนของนางแตกกระจัดกระจาย. นาง เปตูลันเทีย(Petulantia หมายถึงความฮึกเหิม) ผู้มาในขบวนเดียวกับนางลูซูเรีย ก็ขว้างฉาบใหญ่ที่นางโหมอยู่ลงพื้นและรีบหนีเอาตัวรอด. นางอามอร์ (Amor หมายถึงความรักก็ละทิ้งคันธนูและผละหายไป. นางโซบรีเยตัซ เหวี่ยงก้อนหินไปยังคู่ต่อสู้ผู้อ่อนปวกเปียกอยู่บนพื้น จึงมีชัยชนะเหนือนางอย่างง่ายดาย.
    
ระหว่างที่มีการรบของคู่ดังกล่าว นาง อาวารีเทีย(Avaritia หมายถึงความตระหนึ่ถี่เหนียวผู้คล่องแคล่วทะมัดทะแมงอยู่เสมอ ฉวยโอกาสกวาดและโกยทองคำและเพชรนิลจินดาทั้งหลายที่ตกเกลื่อนหรือที่หลุดจากรถของนางลูซูเรีย  เพราะขณะหนี นางลูซูเรียได้กระชากเครื่องประดับทิ้งและเหวี่ยงไปข้างทาง  เท่านี้ยังไม่พอ นางอาวารีเทีย ยังกำใส่ห่อใส่ถุงอีกและซ่อนไว้ใต้รักแร้ข้างซ้าย. นาง ราทีโย(Ratioหมายถึงความมีเหตุผลเห็นดังนั้นจึงเข้าโจมตีนางอาวารีเทีย  แต่ลำพังนางราทีโย ก็ยังไม่อาจเอาชนะความเหนียวแน่นของนางอาวารีเทียได้ ต้องอาศัยนางโอเปราทีโย(Operatio หมายถึงความเมตตาปรานีมาช่วย จนในที่สุดก็ฆ่านางอาวารีเทียได้สำเร็จ. นางโอเปราทีโยจัดการแจกจ่ายทองและเพชรพลอยทั้งหลายแก่ผู้ยากจนโดยทั่วหน้ากัน.
     
การรบดูเหมือนจะสิ้นสุดลง นางก็อนกอร์เดีย(Concordia หมายถึงความปรองดองผู้สวมมงกุฎกิ่งมะกอก ออกคำสั่งให้นำธงชัยต่างๆกลับเข้าค่าย. แต่ขณะที่นางกำลังสั่งการอยู่นั้น มีเสียงอาวุธบินหวือจากกองทัพข้าศึกและมาโดนสีข้างของนาง เกิดการสู้รบกันอีกเพราะนาง ดีซกอร์เดีย (Discordia หรือ Haeresis หมายถึงความแตกแยก) ที่อยู่ฝ่ายข้าศึกไม่ยอมวางอาวุธ. ในที่สุดนางฟีเดซ(Fidesหมายถึงความศรัทธา)ต้องขว้างหอกเข้าปักกลางลิ้นของนางดีซกอร์เดียสิ้นชีวิตไป. เหล่าคุณธรรมมีชัยชนะอย่างเด็ดขาดและทำพิธีฉลองโบสถ์หลังหนึ่ง. (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โชติรส หน้า 140-164)
      ที่เล่ามาทั้งหมดข้างต้นนี้เป็นบทย่ออุปมาอุปมัยเกี่ยวกับสงครามระหว่างคุณธรรมกับอธรรมหรือระหว่างความดีกับความชั่ว ตามที่ปรูเด็นตีอุสได้นิพนธ์ไว้  คุณธรรมหนึ่งอาจเอาชนะอธรรมหลายชนิด เราอาจจับคู่คุณธรรม-อธรรมในภาษาชาวบ้านได้ว่า
1. ศรัทธาตรงข้ามกับความหลงงมงายซึ่งหมายถึงความเชื่อนอกรีตอื่นๆ  ศรัทธาเอาชนะความแตกแยกในหมู่ชนได้เช่นกัน   
2. ความไม่มักมากในกามหรือความรู้จักสำรวมตน จักสามารถเอาชนะกามตัณหาได้
3. ความอดกลั้น ย่อมเอาชนะโทสะจริตได้
4. ความถ่อมตนย่อมเหนือกว่าความหยิ่งยะโส ซึ่งมักตกหลุมพรางของความคดโกงแบบต่างๆ
5. การตั้งตนอยู่ในความพอเหมาะพอดีและพอเพียง ย่อมเอาชนะสิ่งยั่วยวนชนิดต่างๆ บีบความลุ่มหลงให้หมดไป กับลดความฮึกเหิมทะนงตัวผิดๆลง  
6. ความมีเหตุมีผลกับความเมตตาปรานี ย่อมเอาชนะความตระหนี่ถี่เหนียวได้
7. การมีความหวังในพระเจ้ากับการมีจิตสำนึกของความปรองดอง ย่อมช่วยสมานความแตกแยกแบบต่างๆได้
       เนื้อเรื่องในไซโคมาเกีย เป็นต้นแบบของการจัดคู่เป็นคุณธรรมเจ็ดประการและบาปเจ็ดประการ. อีกทั้งเป็นต้นแบบของสงครามจิตวิทยา ที่เล่าสืบทอดต่อมาจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะในยุคกลาง. นักเขียนรุ่นหลังๆตั้งแต่ต้นยุคกลางได้นำไปแทรกไว้ในงานประพันธ์ของพวกเขา. ปราชญ์ได้นำไปพิจารณาและพัฒนารายละเอียดปลีกย่อยออกไปอีก ทั้งยังได้เป็นแบบอย่างสำหรับการนำเสนอภาพลักษณ์ของคุณธรรมและอธรรมในคริสต์ศิลป์  ที่เราไปชมดูได้จากโบสถ์ใหญ่ๆในยุโรปและโดยเฉพาะในศิลปะการสร้างโบสถ์กอติคของฝรั่งเศสที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 11 และแพร่หลายไปทั่วยุโรปจนถึงศตวรรษที่ 15.
ตัวอย่างภาพวาดจากหนังสือไซโคมาเกีย (จากเว็ป gallica.bnf.fr) Bibliothèque nationale de France, Département des Manuscrits : Latin.
ภาพลักษณ์ของ Luxuria หรือความหลงใหลฝักใฝ่ในกามสุข 
Sobrietas (ความพอเพียงไม่มักมากเอาชนะกามตัณหาและกิเลสทั้งปวง
ภาพซีกซ้ายเล่าว่า Humilitas (หรือ Mens humilis) ความถ่อมตนตัดหัวนางซูเปร์เบียผู้โอหังในภาพซีกขวา สามคนยกมือทำท่าชื่นชมความถ่อมตน.

บนกำแพงสองข้างประตูทางเข้าด้านทิศเหนือของโบสถ์น็อตเตรอดามเมืองสตร๊าสบูร์ก cathédrale Notre-Dame de Strasbourg (France เริ่มสร้างตั้งแต่ปี 1015)  มีรูปปั้นสตรีข้างละสี่รูป มีมงกุฎแห่งคุณธรรมแบบใดแบบหนึ่งประดับบนหัวทั้งหมดถือทวนด้ามยาว(บางรูปชำรุด หักหรือหลุดออกไปแล้ว) ปลายทวนทิ่มลงบนตัวผู้หญิงที่สยบอยู่ใต้เท้า
เป็นการเล่าเนื้อหาของการต่อสู้ระหว่างคุณธรรมและอธรรมที่สิ้นสุดลงแล้วในแบบรวบรัด และคุณธรรมชนะอธรรม.

3. คุณธรรมเจ็ดประการของคริสต์ศาสนา (The Seven Virtues)
       ไม่นานหลังจากนั้น คริสต์ศาสนาได้จัดเรียงลำดับคุณธรรมเจ็ดประการที่ใช้เป็นฐานของการอบรมสั่งสอนให้รัดกุมยิ่งขึ้น โดยรวมคุณธรรมสองแขนงเข้าด้วยกัน  แขนงที่หนึ่งเป็นคุณธรรมศาสนา (Theological virtues) สามประการ และแขนงที่สองเป็นคุณธรรมที่สืบทอดมาจากปรัชญากรีกโบราณ เรียกว่าคุณธรรมหลัก (cardinal virtues) มีสี่ประการ รวมกันเป็นคุณธรรมเจ็ดประการดังนี้
3.1. คุณธรรมศาสนา (Theological Virtues)
    คุณธรรมศาสนาหมายถึงคุณธรรมที่มีพระผู้เป็นเจ้าเป็นศูนย์กลางหรือเป้าหมาย เป็นคุณธรรมที่ผู้ประพฤติเพียรพยายามเพื่อเข้าถึงพระองค์ เพื่อสัมผัสความเมตตาวิลาสล้ำอันนำความปลาบปลื้มปิติหาที่เปรียบมิได้ และในที่สุดเพื่อรับการพิจารณาให้มีสิทธิ์เข้าไปในเมืองสวรรค์เสพสุขนิรันดร. บางคนเรียกว่าเป็น The Three Heavenly Graces  ในแง่ที่ว่า ศรัทธาหนึ่ง ความหวังหนึ่งและความรักอีกหนึ่ง เป็นสิ่งที่พระเจ้าบันดาลให้เกิดขึ้นในใจคน. คุณธรรมศาสนาสามประการนี้  เป็นคุณธรรมเฉพาะเจาะจงในคริสต์ศาสนา ดังที่อัครทูตปอลกล่าวไว้ในคัมภีร์ใหม่  มีสามประการดังนี้
1. ฟีเดส - Fides (หรือ Faith ในภาษาอังกฤษ) คือความศรัทธาหรือความเชื่อในพระเจ้าอย่างแน่วแน่โดยไม่มีข้อแม้ใดๆ เช่นกรณีผู้ที่ยอมตายสังเวยชีวิตโดยไม่ยอมเปลี่ยนความเชื่อหรือศรัทธาที่เขามีในพระผู้เป็นเจ้าแม้จะถูกบีบบังคับจนตาย (martyr)  นักบุญมหาปราชญ์ของคริสต์ศาสนาชื่อออกุซติน (saint Augustin) ได้ให้คำจำกัดความ ศรัทธา ว่าคือ “ คุณธรรมที่ทำให้เราเชื่อในสิ่งที่เรามองไม่เห็น ”  
2. สเปส - Spes (หรือ Hope ในภาษาอังกฤษคือความหวัง หมายถึงความหวังในแสงสว่าง ในการเข้าสู่พระเจ้า สู่สรรค์ สู่ชีวิตที่ไม่มีวันดับในพระองค์
3. การีตัส - Caritas (หรือ Charity ในภาษาอังกฤษคือความรักที่หมดจดและหมดจิตหมดใจต่อองค์พระเจ้า.  
        อัครทูตปอลเป็นคนแรกที่ให้คำนิยามเกี่ยวกับคุณธรรมศาสนาสามประการและกลายเป็นหลักสั่งสอนต่อๆกันมาว่า ศรัทธาเป็นรากฐานของจิตใจที่จะเติบโตพัฒนาและเสริมสร้างคุณธรรมอื่นๆ ทำให้จิตใจคนกลายเป็นโบสถ์แห่งคุณงามความดี. ความหวังในพระเจ้าเป็นเสมือนกำลังที่พยุงโบสถ์ในใจคนดังกล่าว และความรักในพระเจ้าเป็นเสมือนมงกุฎที่จะได้รับเป็นรางวัล กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า  คุณธรรมศาสนาสามประการสำคัญที่สุด เพราะเมื่อเรามีความเชื่อศรัทธาในพระเจ้า เราก็มีความหวังในพระองค์ และเพราะเรามีความหวังในพระองค์ เราจึงรักพระองค์ (จาก Pierre le ChantreVerbum abbreviativum  Patrol. Tome CCV. Col. 271)  ความรัก(Charity ความรักในความหมายของคริสต์ศาสนา ไม่ใช้คำว่า love(amor) ส่วนคำว่า charity นั้นไทยเรามักแปลว่าเป็นการทำบุญทำทาน ซึ่งจริงๆแล้วเป็นเพียงความหมายหนึ่งในความหมายที่กว้างออกไปอีกมาก คำนี้อัครทูตปอลได้ให้คำจำกัดความไว้อย่างไพเราะน่าคิดเป็นครั้งแรกว่า ยามเมื่อข้าพเจ้าสามารถพูดภาษาต่างๆของคนหรือของเทวดาได้ทั้งหมดแล้วไซร้ หากข้าพเจ้าไม่มีความรักนี้ ข้าพเจ้าก็ไม่ผิดอะไรกับฆ้องหรือฉาบที่ดีแต่ส่งเสียงก้องกังวาน(แต่ฟังไม่ได้ศัพท์และยามเมื่อข้าพเจ้าฉลาดปราชญ์เปรื่องจนสามารถเผยพระวัจนะ หรือทำนายพระจริยา หรือเข้าใจศาสตร์ล้ำลึกทุกชนิด และมีความรู้ทั้งมวล ยามเมื่อข้าพเจ้าฝึกฝนจนมีศรัทธาแก่กล้าถึงกับสามารถเคลื่อนย้ายภูเขาทั้งมวลได้แล้วไซร้ หากข้าพเจ้าไม่มีความรักนี้ ข้าพเจ้าก็ไม่ผิดอะไรกับผงอณูไร้ค่าอณูหนึ่ง  และยามเมื่อข้าพเจ้ามีใจบุญสุนทาน แจกทรัพย์สินทั้งหมดของข้าพเจ้าเพื่อให้เป็นอาหารแก่เหล่าคนยากไร้ ยามเมื่อข้าพเจ้ามีใจถึงกับมอบร่างกายของข้าพเจ้า ให้เป็นทานสังเวยพระเพลิง หากข้าพเจ้าไม่มีความรักนี้ ความดีงามเหล่านี้ก็ไม่ก่อประโยชน์อันใดแก่ข้าพเจ้าเลย  (จาก Corinthiens XIII 1-4)  
     ความรักที่อัครทูตปอลพูดถึงนี้ คือความรักในพระผู้เป็นเจ้าและในเพื่อนมนุษย์ให้เหมือนกับรักพระองค์. เป็นคุณธรรมที่อัครทูตปอลยกให้อยู่เหนือคุณธรรมศาสนาอื่นอีกสองชนิด เพราะศรัทธาหรือความหวัง เป็นคุณธรรมที่พระเจ้าบันดาลให้มีขึ้นในใจเรา เพื่อช่วยให้เราสามารถดำเนินชีวิต ดุจเดินทางจาริกแสวงบุญจากโลกมนุษย์สู่โลกสวรรค์ และเมื่อถึงจุดหมายปลายทางแล้ว คุณธรรมทั้งสองจักหลอมเข้ารวมอยู่ในความรักนั่นเอง. ความรักในพระเจ้านี้ จึงเป็นคุณธรรมสูงสุดจนเกือบกล่าวได้ว่าเป็นตัวคุณธรรม และนี่คือความหมายลึกซึ้งที่แฝงอยู่ในคำพูดของอัครทูตปอล[11]  
       คุณธรรมศาสนาที่มีพระเจ้าเป็นเป้าหมายนั้น ดูไม่ผิดจากบัญญัติสิบประการสามประการแรกที่ก็มีพระเจ้าเป็นศูนย์กลาง. ปราชญ์ศาสนาได้แปลงคำสั่งและตีนัยความหมายที่พระเจ้าสั่งให้เชื่อฟังและเคารพพระเจ้าคนเดียว ให้เป็นคุณธรรมที่สร้างความหวัง เป็นคำเชิญชวนที่นุ่มนวลกว่า.  ความศรัทธา ความหวังและความรัก เป็นสามสิ่งที่สามัญชนเข้าใจได้ทันที และไม่ขัดต่อความรู้สึกหรือความรับผิดชอบส่วนตัวของผู้ใด ส่วนบัญญัติข้ออื่นๆนั้น ก็วิวัฒน์ไปสู่ระบบบาปชนิดต่างๆ ที่มีหลากหลายมากขึ้นเมื่อชุมชนใหญ่ขึ้นๆ ดังจะกล่าวต่อไปข้างล่างนี้ในหัวข้อเกี่ยวกับบาปหนัก.
3.2. คุณธรรมหลัก (Cardinal Virtues)
       คุณธรรมหลักดั้งเดิมในคริสต์ศาสนามาจาก ปรัชญากรีกโบราณ ที่เหมาะกับชนทุกชั้นทุกชาติที่ใฝ่หาการดำรงชีวิตในศีลธรรมจรรยา. เปลโต (Plato, 428-348 ก่อนคริสตกาลได้ยืนยันตามนี้ในงานเรื่อง The Republic (สาธารณรัฐ)  ส่วนชีเชโร (Cicero, 106-43 ก่อนคริสตกาล เขาเป็นนักการเมืองและนักพูดที่ใช้ภาษาละติน) ได้เขียนไว้ว่าถ้าใครรักความยุติธรรม  ผลที่เกิดจากการใช้ชีวิตในความยุติธรรม คือคุณธรรม เพราะความยุติธรรม สอนให้รู้จักความพอเพียง ความไม่ประมาท ความเป็นธรรมและความกล้า. ไม่มีอะไรอื่นอีกแล้วที่จักเป็นประโยชน์ต่อคนมากไปกว่าคุณธรรมเหล่านี้. กล่าวโดยสรุปเหล่านักปราชญ์และบิดาผู้สอนศาสนา รวมทั้งในหมู่ปราชญ์ชาวยิว ต่างเห็นพ้องต้องกันและสรรเสริญคุณธรรมหลักทั้งสี่ประการ อันมีดังนี้
1. พรูเด็นเตีย (Prudentia ในภาษาละติน และมาเป็นคำ prudence ในภาษาอังกฤษ) ที่อาจแปลได้ว่า ความสุขุมรอบคอบ. เป็นคุณธรรมที่ทำให้รู้จักตัดสินปฏิกิริยาหรือพฤติกรรม ว่าณจุดหนึ่งบนกาลเวลาอะไรเหมาะหรือไม่เหมาะอย่างไร. หากเทียบคุณธรรมนี้เป็นความรักคือการรู้จักพิจารณาว่า อะไรที่มาช่วยความรักให้เข้มแข็งและอะไรที่มาขัดขวางความรัก หรือนำความรักให้หลงทาง. เปลโตระบุว่าเป็นคุณธรรมที่เหมาะสำหรับชนชั้นปกครอง เหมาะกับการใช้เหตุผล.   
2. จูสตีเตีย (Justitia ในภาษาละติน และ justice ในภาษาอังกฤษ) ที่แปลได้ว่าความยุติธรรม. ความยุติธรรม คือความพอดีระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับสิทธิและความต้องการของคนอื่น. หากเทียบคุณธรรมนี้กับความรัก เป็นความรักที่รับใช้สิ่งที่ตนรัก ดังนั้นจึงเป็นการกระทำที่ตรงไปตรงมา. เปลโตกล่าวว่า ความยุติธรรมไม่เกี่ยวกับระบบชนชั้นหรือการแบ่งแยกกลุ่มคน เป็นคุณธรรมที่ควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างคนสามคนหรือสามฝ่าย.
3. เท็มเปรันเตีย (Temperantia ในภาษาละตินและมาเป็นคำ temperance ในภาษาอังกฤษแปลได้ว่า การรู้จักควบคุมตนเอง รู้จักละเว้นและอยู่ในความพอดี. เปลโตกล่าวไว้ว่า นี่เป็นคุณธรรมสำหรับชนทุกชั้น. แรกเริ่มเดิมทีนั้นเกี่ยวกับชนชั้นผู้ผลิตเท่านั้น เช่นชาวนา นายช่างฝีมือ และผู้ที่ชอบกินเนื้อสัตว์(sic) เป็นการเตือนสติให้รู้จักกินแต่พออิ่ม. ต่อมากลายเป็นคุณธรรมที่จำเป็นสำหรับทุกคน เพราะหากไม่มีคุณธรรมนี้ ชีวิตจักยุ่งเหยิง และทำให้รักษาคุณธรรมอื่นๆไม่ได้.
4. ฟอร์ตีตูโด (Fortitudo ในภาษาละตินและมาเป็นคำ fortitude ในภาษาอังกฤษแปลได้ว่า พลังความกล้าหาญ ที่หมายถึงการรู้จักอดทน อดกลั้น ความสามารถในการเผชิญความกลัว ความไม่แน่นอนหรือกล้าเผชิญกับการถูกข่มขู่ ถูกคุกคามทั้งกายและใจ. หากเทียบคุณธรรมนี้เป็นความรัก คือความรักที่พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อสิ่งที่ตนรัก. เปลโตแนะว่าเหมาะกับชนชั้นนักรบ แต่ก็ดีสำหรับวิญญาณสำนึกของทุกคนที่พร้อมเผชิญกับชีวิตในแต่ละขั้นตอน.
     เมื่อรวมคุณธรรมศาสนาสามประการกับคุณธรรมหลักอีกสี่ประการ ได้คุณธรรมคริสต์ศาสนาเจ็ดประการหลัก ที่ฝังอยู่ในจิตสำนึกของชาวคริสต์ (ศรัทธา ความหวัง ความรัก ความรอบคอบ ความยุติธรรม ความพอดีและความกล้าหาญ). เมื่อมีคุณธรรมเจ็ดประการ ก็ย่อมมีการแจกแจงอธรรมหรือบาปเจ็ดประเภทที่ตรงข้ามกัน ตามขนบการจับคู่ความดีความชั่ว ที่ปรูเด็นตีอุสได้ริเริ่มไว้ เพื่อความเข้าใจถูกต้องและลึกซึ้ง ทั้งนี้เพราะการสอนคุณธรรมโดยปริยาย เข้าใจยากกว่าการบอกให้รู้ว่า ความประพฤติแบบไหนที่ศาสนาประณามว่าผิดจริยธรรม.

4. อธรรมหรือบาปหนักเจ็ดประการ (The Seven Deadly Sins)  
       การจัดประเภทบาปที่คริสต์ศาสนาประณามนั้น เริ่มตั้งแต่ต้นคริสตกาล เพื่อเตือนสติแก่ชาวคริสต์ว่า มนุษย์นั้นมีแนวโน้มที่จะตกลงในปลักของบาป. คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกแบ่งบาปออกเป็นสองประเภทคือ บาปที่ไม่รุนแรง พอจะให้อภัยกันได้ กับบาปรุนแรงขั้นชีวิต. ตามทฤษฎีเทวศาสตร์ บาปที่รุนแรงขั้นชีวิต เพราะบาปนั้นไปทำลายวิญญาณที่เคยมีความรักต่อพระเจ้าและที่ทำให้เขามีความหวังมีศรัทธาในพระองค์ผู้จะแผ่ พระเมตตาวิลาสล้ำ(Grace)ให้เขา. หากวิญญาณส่วนนี้ถูกทำลายลง เท่ากับว่าผู้นั้นจะถูกส่งลงนรกแบบไม่ได้ไปผุดไปเกิดตลอดกาล. ในกรณีที่กลับใจหันหลังให้บาปเลวร้ายที่ได้ทำมา ก็เกิดความจำเป็นต้องไปวิงวอนขอความเมตตาต่อพระเจ้า ต้องไปสารภาพบาป ทำทุกรกิริยาแสดงตนว่าสำนึกกลัวแล้วและเข้าพิธีเพื่อขอยอมตนยอมจำนนต่อกฎบัญญัติของศาสนาอีกครั้งหนึ่ง. บาปเลวร้ายเจ็ดประการนี้ เป็นบาปที่มีกันมาแต่เริ่มแรกที่มีมนุษย์แล้ว  บาปใดจะให้อภัยกันได้ บาปใดเป็นความชั่วร้ายสุดๆนั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การทำบาปนั้น มิได้มีการเจาะจงแบ่งประเภทก่อนกระทำบาป. บาปทั้งเจ็ดประเภทเป็นบาปหลักหรือบาปหนัก เพราะเป็นบาปที่ทำให้ทำบาปอื่นๆต่อเนื่องกันไปได้.   
     ในคัมภีร์เก่า กษัตริย์โซโลม็อน ได้ระบุเจาะจงว่า หกสิ่งที่พระเจ้าเกลียดและสิ่งที่เจ็ดเป็นสิ่งที่พระองค์ชิงชังที่สุดในหัวใจ  มีดังนี้ ๑) สีหน้าและแววตาที่หยิ่งผยอง  ๒) ลิ้นที่โกหกมดเท็จ  ๓) มือที่ทำให้เลือดบริสุทธิ์ต้องหลั่งไหล  ๔) จิตใจที่คิดแผนประทุษร้าย  ๕) เท้าที่รี่เข้ากลั่นแกล้งผู้อื่น  ๖) พยานที่กลับกลอกหลอกลวง  และ ๗) คนที่สร้างความแตกแยกในหมู่. 
     มีรายการบาปอีกรายการหนึ่ง(ที่ปรากฏระบุไว้ใน Galatians 5: 19-21 ที่รวมคำสอนของอัครทูตปอลแก่ชาวกาลาเทียนในเอเชียตะวันออกกลางในราวคริสต์ศตวรรษที่หนึ่ง) เป็นรายการยาวกว่าดังนี้
๑) การมีชู้ 
๒) การร่วมเพศระหว่างคนสองคนที่มิได้แต่งงานกัน 
๓) ความสกปรก 
๔) การมีตัณหาจัด 
๕) การเคารพรูปบูชาใด 
๖) การเล่นเล่ห์กล ร่ายเวทมนต์คาถาของพ่อมดหมอผี 
๗) ความเกลียดชัง 
๘) การวิวาท ความไม่ลงรอยกัน 
๙) ความริษยา 
๑๐) ความโกรธจัด 
๑๑) ความขัดแย้ง 
๑๒) การขัดขืนต่อต้านอำนาจการปกครอง 
๑๓) การให้ความเห็นที่ตรงข้ามกับความเห็นที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้ว หรือมิจฉาทิฐิ 
๑๔) ความริษยา 
๑๕) ฆาตรกรรม 
๑๖) ความเมามาย 
๑๗) ความสำมะเลเทเมา.  
ปอลย้ำว่า หากผู้ใดทำผิดในข้อเหล่านี้ จักไม่ได้ไปอยู่ในอาณาจักรของพระเจ้า  ทำให้ความประพฤติแบบต่างๆที่กล่าวมา ถูกตราหน้าว่า เป็นบาปร้ายแรงถึงชีวิต.
      ในศตวรรษที่ บาทหลวงปนตีกุส (Evagrius Ponticus) ได้จัด ความคิดที่ไม่ดี ไว้แปดชนิดดังนี้ ๑) ความตะกละ  ๒) การขายตัวและการร่วมเพศนอกคู่สมรส  ๓) ความตระหนี่  ๔) ความโอหังอวดดี  ๕) ความอิจฉาริษยา  ๖) ความโกรธ  ๗) การโอ้อวด ขี้คุย และ ๘) ความเบื่อหน่ายไร้แรงกายแรงใจ หรือความเกียจคร้าน. 
     บาป ความคิดหรือความประพฤติที่ผิดศีลธรรมทั้งหลายที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น อาจจัดเป็นสามกลุ่มใหญ่ดังนี้
)  กลุ่มของความอยาก กระหายทางเพศที่เกินขอบเขต ในกลุ่มนี้รวมความตะกละเข้าไปด้วย เพราะในด้านจิตวิทยา ความตะกละกับความกระหายกามนั้นเหมือนกัน
ข)  กลุ่มของความโกรธ
ค)  กลุ่มที่เกี่ยวกับจิตสำนึกและสติ เช่นความหลง การโอ้อวด ความเศร้า ความหยิ่ง การหมดกำลังใจ

      สันตะปาปาเกรกรีที่หนึ่ง (Gregory I, ราวปี 540-604) ได้ทบทวนรายการบาปของปนติกุสและปรับเรียบเรียงใหม่ เป็นบาปหนักเจ็ดชนิด ดังนี้
1) ลูซูเรีย-luxuria[12] (กามตัณหา)  คำนี้ในภาษาละตินเริ่มใช้ในราวปี 1119 เท่านั้น หมายถึงความกระหายอยากทางเพศมากเกินไป รวมทั้งการมีเพศสัมพันธ์ที่สับสนวุ่นวายหรือนอกลู่นอกทาง เช่น การมีเพศสัมพันธ์นอกสมรส การเป็นชู้ การมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน การมีเพศสัมพันธ์กับญาติพี่น้องร่วมสายโลหิตหรือการมีเพศสัมพันธ์กับสัตว์เป็นต้น.[13]  ในยุคกลางคริสต์ศาสนาถือว่ากามตัณหาเป็นบาปหนักที่สุด[14]  ภาพลักษณ์ที่สื่อความกระหายทางเพศเป็นภาพวาดของปีศาจทะเลครึ่งคนครึ่งนก(siren) หรือภาพผู้หญิงเปลือยอก มีงูกัดแทะอวัยวะเพศ. คริสต์ศาสนาจึงสรรเสริญการรักษาพรหมจรรย์ (castitas) ว่าเป็นการเซ่นสังเวยพระเจ้าแบบหนึ่ง. ดันเต้(Dante Alighieri, 1265-1321 กวีอิตาเลียน ผลงานที่สำคัญที่สุดของเขาคือ ดีวีนา ก็อมเมเดีย - Divina Commedia  ดูรายละเอียดต่อไปข้างล่างนี้) ได้กล่าวถึงกามตัณหาในกวีนิพนธ์ของเขาว่า ผู้ที่เคยทำบาปนี้ในชีวิต ถูกส่งลงไปนรกขุมที่สอง ที่นั่นเขาถูกลมสลาตันพัดหอบตัวหมุนติ้วไปไม่รู้สิ้นสุด แล้วถูกเหวี่ยงไปกระทบกำแพงนรกแล้วถูกหอบหมุน ถูกเหวี่ยงกลับไปกลับมาเช่นนี้ไม่หยุด ในฐานที่ไม่สามารถควบคุมกิเลสตัณหาของตนเอง เท่ากับได้สลัดตัวเองจากโลกของเหตุผล เพื่อความสุขทางกามารณ์.
2)  กู๊ลา- gula (ความตะกละ ตรงกับคำ gluttonyในอังกฤษ) หมายถึงการกลืนกินอย่างตะกละตะกลาม เห็นแก่กินมากเกินไปจนกลายเป็นความสูญเปล่าของอาหาร. เป็นบาปเพราะกินเกินความต้องการของร่างกาย. ความตะกละเป็นบาปอย่างหนึ่ง เป็นสัญลักษณ์ของสถานะในสังคมโดยเฉพาะในสังคมที่ขาดแคลนอาหาร. การมีอาหารดีๆกิน จึงอาจเป็นความหลงตัว เป็นการอวดตัวแบบหนึ่ง. แต่บนดินแดนที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ ความตะกละเกิดจากการไม่รู้จักควบคุมความอยากของตนเอง ดังนั้นบาปชนิดนี้จึงขึ้นอยู่กับขนบธรรมเนียมหรือค่านิยมของชุมชน.
       ในคริสต์ศาสนา ความตะกละเป็นบาปหนักชนิดหนึ่งที่ตรงข้ามกับการรู้จักควบคุมตนเอง  รู้จักละเว้นและอยู่ในความพอดีพอเพียง(Temperantia).  ในศตวรรษที่ 4 บาทหลวงปนตีกุสเป็นผู้จัดความตะกละให้เป็นหนึ่งในบาปหนักเจ็ดชนิด. ต่อมาในศตวรรษที่ 6 สันตะปาปาเกรกอรีที่1 ได้จัดความตะกละอยู่ในกลุ่มเดียวกับความกระหายอยากทางเพศ โดยให้เหตุผลว่า ท้อง(เรื่องกินอยู่ใกล้ท้องน้อย(ฐานของความใคร่). เขาเจาะจงว่าคนทำบาปชนิดนี้ได้ห้าทางคือ
) เวลาที่กิน คือการกินก่อนเวลาอาหาร 
คุณภาพของอาหาร คือการใฝ่หาอาหารอร่อยและคุณภาพดี 
สิ่งกระตุ้น คือการใฝ่หาน้ำซอสและเครื่องปรุงพิเศษเพื่อสนอง  ความสุขของเพดานปาก 
ปริมาณ คือการกินเกินความจำเป็นและ
ความปรารถนา คือการกินด้วยความกระหายอยาก นอกกรอบของเหตุผล
    นักเทวศาสตร์ยุคกลาง เน้นความตะกละกับบาปกำเนิด ความหยิ่งทะนงตัวและความไม่เชื่อฟัง  ดังที่เกิดกับอาดัมและอีฟจนในที่สุดถูกพระเจ้าลงโทษ. ผู้นำจิตวิญญาณศาสนายุคนั้นเช่น โทมัส อากีนัส (Thomas Aquinas, 1225-1274 บาทหลวงโดมินิกันชาวอิตาเลียนพิจารณาและเน้น กระบวนการของความตะกละอย่างละเอียดลออ ที่เริ่มตั้งแต่การใฝ่คิดถึงอาหารก่อนกิน, การกินก่อนเวลาอันควร, การกินอาหารที่หายากและราคาแพง, การกินมากเกินไป, การกินอย่างตะกละตะกลาม, การกินอย่างประณีตที่ให้ความสำคัญกับการกินแต่ละขั้นตอนอย่างพิถีพิถัน, การกินอย่างสัตว์, หรือแม้การกินอย่างเบื่อหน่าย. ทั้งหมดถือเป็นบาปความตะกละที่สอดคล้องกับคำจำกัดความของสันตะปาปาเกรกอรีที่1 ดังกล่าวมาข้างต้น และที่นำไปสู่การทำบาปชนิดอื่น.    ในปลายยุคกลาง เมื่อความเข้มงวดในการดำรงชีวิตในอารามนักบวชลดหย่อนผ่อนคลายลง มีการยกเลิกเทศกาลการถือศีลอด (Lent เทศกาลนี้เกิดขึ้นสี่สิบวันก่อนวันอีสเตอร์ เทศกาลนี้เริ่มตั้งแต่วันพุธที่เรียกว่า Ash Wednesday นับติดต่อกันไปสี่สิบวันและจบลงที่วันเสาร์อันศักดิ์ศิทธิ์-Holy Saturday).  ในระหว่างสี่สิบวันนี้ ชาวคริสต์ที่ดี อดอาหารหรือกินแต่น้อย ละเว้นการดื่มสุราและการมีเพศสัมพันธ์ รวมทั้งทำทุกรกิริยา เพื่อรำลึกถึงพระเยซูคริสต์ที่ได้ถือศีลอดในทะเลทราย. ดันเต้เล่าว่า ผู้ที่เคยทำบาปความตะกละ ถูกส่งลงไปในนรกขุมที่สาม นอนจมอยู่ในโคลนตมที่เหม็นเน่า ถูกสายฝนดำและเย็นยะเยือกกับน้ำค้างแข็งกระหน่ำมิรู้หยุด.            
      ปลายยุคกลาง ร้อยละห้าสิบของพื้นที่ดินภายในอาณาจักรฝรั่งเศส เป็นที่ดินของวัดและอารามในคริสต์ศาสนา. นิทานคำกลอนยุคกลางกล่าวถึง นักบวชผู้อ้วนท้วนสมบูรณ์  ที่ยืนยันให้รู้ว่า เหล่านักบวชกินและอยู่ดีเกินไป ทำให้คิดต่อไปได้ว่า พวกเขาไม่มีเวลาเหลือสำหรับการสวดมนต์ภาวนาหรือการปฏิบัติภารกิจของนักบวช.
      ในศตวรรษที่ 16 มาร์ตินลูเธอร์ (Martin Luther, 1483-1546 ชาวเยอรมัน ผู้ปฏิรูปคริสต์ศาสนาและวางรากฐานของนิกายโปรเตสแตนต์ได้กล่าวโจมตีเหล่านักเทววิทยาของท้อง  ที่ให้ยกเลิกการถือศีลอด  ทำให้ชาวคริสต์พอกพูนบาปต่างๆและหมดโอกาสพินิจพิจารณาตนเอง หมดโอกาสชำระล้างร่างกายและจิตวิญญาณให้บริสุทธิ์.  ฌ็อง กัลวิน (Jean Calvin, 1509-1564 ชาวฝรั่งเศส นักเขียนและนักปฏิรูปศาสนาผู้วางพื้นฐานใหม่ของเทววิทยาเป็นกระแส กัลป์วีนิซึม - calvinisme) ได้เขียนไว้ (ใน Traité des Scandales ว่าด้วยเรื่องอื้อฉาวแบบต่างๆที่สื่อนัยต่อต้านคริสต์ศาสนากล่าวถึงนักบวชที่มีท้องเป็นพระเจ้า และครัวเป็นศาสนา.  ในศต.ที่ 17 สันตะปาปาอินโนเซ็นต์ที่ 11 ยืนยันว่า การกินหรือการดื่มที่มีจุดหมายเพื่อสนองรสนิยมการกินส่วนตัวนั้น ถือเป็นบาป. การกินเพราะความอยากลิ้มรสอาหารแบบนั้นแบบนี้ เป็นบาป หรือการกินเพื่อใฝ่หาความสุขแม้อาหารจะสามัญอย่างใดก็ถือว่าทำผิดศีล. แต่ความพอใจที่เกิดขึ้นในขณะกินอาหารนั้น ไม่ถือว่าผิดเพราะเป็นความรู้สึกธรรมชาติที่เกิดขึ้นเมื่อสัมผัสรสอาหาร เพราะฉะนั้นเหล่านักบวชอาจกินเนื้อสัตว์แล้วรู้สึกอร่อยได้โดยไม่ผิด.   
3) อาวารีเตีย-avaritia (ความตระหนี่และความโลภเป็นสภาพจิตแบบหนึ่งที่ไม่ต้องการตัดตัวเองจากทรัพย์สินศฤงคารของตน ตรงข้ามกับความรักความเอื้อเฟื้อ(caritas) ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน บาปชนิดนี้อาจรวมถึงการเก็บสะสมเงินทองด้วยความหวงแหนและไม่คิดจะใช้เงินทองนั้นในอนาคต. ในกรณีสุดขั้ว คนตระหนี่ยอมอด ยอมอยู่แบบจนๆ เพื่อให้แน่ใจว่าตนเองมีทุกอย่างพร้อม.  เตโอฟราสโตส (Theophrastos, 372-287 BC. นักปราชญ์ชาวกรีกแยกแยะไว้ว่า คนตระหนี่ เป็นคนที่เก็บหอมรอมริบจนเกินไป ส่วนคนขี้เหนียว คือคนที่ไม่ยอมใช้จ่าย ไม่ยอมควักกระเป๋าตัวเองเลย. ในคติศาสนา คำอาวารีเตียที่หมายถึงความตระหนี่นั้น ยังรวมไปถึงพฤติกรรมความโลภหลายแบบ เช่นความไม่ซื่อสัตย์ การขาดความจงรักภักดี การทรยศหักหลัง การกบฎ และในส่วนที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ส่วนตัว เช่นการรับสินบน การคุ้ยหาและการกักตุนวัสดุหรือสิ่งของของคนอื่นไว้เพื่อตนเอง การขโมยและการโจรกรรม. พฤติกรรมทั้งหมด มักส่อถึงความรุนแรง การใช้เล่ห์เพทุบาย การใช้อำนาจในทางผิด อีกทั้งยังรวมถึงการซื้อขายตำแหน่งหรือผลประโยชน์ทางศาสนา (simony) เพื่อยกฐานะตนเอง ขึ้นบันไดยศฐาบันดาศักดิ์ หรือการไขว่คว้าหาสถานะและอำนาจในสังคมเป็นต้น.
       ความโลภเหมือนกามตัณหาและความตะกละ ในฐานะที่เป็นการกระทำที่เกินขอบเขต อยากได้ไม่มีสิ้นสุด เสพเท่าใดก็ไม่พอ. ส่วนความโลภกับความอิจฉาริษยาต่างกันในสองประเด็น คือ หนึ่ง- ความโลภเกี่ยวกับความกระหายอยากได้สิ่งที่เป็นวัตถุ ส่วนความอิจฉาริษยาเกี่ยวกับทุกอย่างที่นอกเหนือวัตถุ. สอง- คนขี้อิจฉาไม่เพียงแต่เคืองแค้นที่คนอื่นมีสิ่งที่เขาเองไม่มี และยังหวังร้ายให้คนนั้นสูญเสียสิ่งที่เขามีด้วย. 
      ดันเต้เล่าว่า คนบาปพวกนี้ถูกส่งไปอยู่ในนรกขุมที่สี่ ที่นั่นพวกเขาต้องเข็นหินก้อนใหญ่ เข็นไปๆไม่รู้สิ้นสุด ต่างด่าทอซึ่งกันและกันระงมไปทั่วทั้งนรก. 
4)  อาเซเดีย acedia คือสภาพจิตที่เบื่อหน่ายไร้แรงใจแรงกาย ละเลยไม่ใส่ใจทำในสิ่งที่ต้องทำ  เซื่องซึมเงื่องหงอย และเฉยเมยเฉื่อยชา ไร้ชีวิตชีวาจนเป็นความสิ้นหวัง  ตรงข้ามกับความขยันหมั่นเพียรในชีวิต (industria). ในคติของคริสต์ศาสนายุคแรกๆ ถือว่าสภาวะดังกล่าวเท่ากับการจงใจปฏิเสธสิ่งดีๆของพระเจ้า รวมถึงโลกที่พระเจ้าสร้างให้. ดันเต้เห็นว่า สภาพจิตดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะขาดความรักในพระเจ้าอย่างหมดจิตหมดใจ เป็นบาปชนิดเดียวที่เกิดขึ้นเพราะไม่มีความรักในพระเจ้า. นักวิจารณ์บางคนเห็นว่าเป็นบาปที่แย่ที่สุด. การสิ้นหวังอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย  ความเฉยเมยไม่แยแสใคร โดยปริยายเท่ากับการปฏิเสธที่จะช่วยเหลือคนที่ต้องการความช่วยเหลือ  จึงนำไปสู่บาปเล็กบาปน้อยอื่นๆ เช่น ความกระวนกระวายและความไม่มั่นคงหรือความโลเล.  
      ส่วนความเกียจคร้าน หมายถึง ความไม่ต้องการทำสิ่งที่โดยปกติคนทุกคนต้องทำเพื่อตนเองหรือเพื่อผู้อื่น เพื่อการกินดีอยู่ดี. คำนี้จึงมีนัยด้านลบจนถูกจัดให้เป็นบาป.  ต้องเข้าใจแยกแยะว่า ความเกียจคร้านไม่เหมือนกับการพักผ่อนเพื่อฟื้นฟูร่างกาย หรือการพักผ่อนทางกายเพื่อตรึกตรองใคร่ครวญและคิดพินิจพิเคราะห์ตนเอง. ชาวโรมันระบุว่า การไม่ทำงานเป็นสิทธิประโยชน์ของผู้มีความรู้สูงหรือบัณฑิต. ชนชั้นนี้เป็นเจ้าของที่ดินผืนใหญ่ การไม่ทำงานจำเป็นสำหรับชนกลุ่มนี้เพื่อให้พวกเขามีเวลาเข้าร่วมกิจกรรมหน้าที่ของพลเมือง ร่วมในวิถีชีวิตของชาวเมือง และในการผนวกประสานความคิดต่างทั้งมวลให้เป็นประโยชน์สูงสุด อภิสิทธ์นี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์สำหรับเหล่าบัณฑิต.    
       คำ acedia ใช้น้อยมากในปัจจุบัน. ในคติศาสนาเน้นความเกียจคร้านด้านจิตวิญญาณ เช่นการไม่ใฝ่ศึกษาใตร่ตรองเรื่องราวและคำสอนในคัมภีร์  ไม่มุ่งมั่นที่จะเข้าถึงภาวะจิตขั้นสูงเป็นต้น.  ความเกียจคร้านในระบบความคิดปัจจุบัน เป็นอาการของโรคแบบหนึ่ง ซึ่งอาจหมายถึงความไม่อยากทำอะไรกับการขาดความกระตือรือร้นที่จะทำอะไรทั้งสิ้น อาจมาจากการไม่มีสิ่งกระตุ้นให้เกิดความอยาก หรือการขาดจุดหมายในชีวิต. ในมุมมองนี้ คนขี้เกียจรู้ตัวเองว่าขี้เกียจ รู้ว่าเขาต้องทำอะไรแต่ก็ไม่ทำ เขารู้สึกว่าจะลงมือทำอะไรสักอย่าง มันหนักใจเหมือนแบกโลกทั้งใบไว้บนหลังของเขา เช่นนี้ทำให้มีแต่ความตั้งใจที่เหลือเพียงโครงการลอยๆ และมลายหายไปทันทีกับความเหนื่อยล้าที่เกิดจากการต่อสู้อยู่ภายในใจของเขา เขากลายเป็นคนขี้เกียจในที่สุด. ความเกียจคร้านแบบนี้มักถูกโยงไปถึงการอยู่ตัวคนเดียว ที่อาจเป็นต้นเหตุของความเกียจคร้าน ในขณะเดียวกันก็เป็นผลจากความเกียจคร้าน.  คนขี้เกียจเป็นนิสัย จึงเหมือนการวิ่งหนีความจริงในชีวิตประจำวัน เป็นการวิ่งหนีที่ย่ำอยู่กับที่.  
       ดันเต้เล่าว่า คนบาปถูกส่งไปอยู่ที่นรกขุมที่ห้า. พวกนี้ถูกกดจมในแม่น้ำ ต่างตะเกียกตะกาย ต่อสู้กัน กัดกันอย่างเหี้ยมโหด ส่วนพวกซึมเศร้าจมอยู่ในกองโคลนด้วยความเบื่อหน่ายตลอดกาล ไม่มีวันลุกออกมาได้.
       ความเกียจคร้านอาจเป็นอาวุธการเมืองได้แบบหนึ่ง ใช้ในการประท้วง ต่อต้านค่านิยมหรือปฏิเสธกระแสการเมือง ในเมื่อสังคมถือว่าคุณค่าของคนอยู่ที่การทำงาน  หากทุกคนหยุดทำงานหรือหยุดคิดว่าการทำงานเป็นศูนย์กลาง เป็นกลจักรของชีวิต จะเกิดผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมอย่างมหันต์.  มุมมองนี้จึงเท่ากับการสรรเสริญความเกียจคร้านไปโดยปริยาย.  ความคิดดังกล่าวปรากฏแทรกไว้ในงานประพันธ์ของนักเขียนยุโรปหลายคน ในทศววรษที่1940 และ 1950. กระแสนิยมฮิปปี้ ก็อยู่ในแนวโน้มนี้  คือต้องการประท้วงค่านิยมของสังคม ด้วยการปฏิเสธไม่ทำงาน ยืนยันสิทธิของความเกียจคร้านเป็นต้น.
5) อี้รา-ira(ความโกรธ)  เป็นความหงุดหงิด เป็นอารมณ์ เป็นกัมมภาวะ(passion) แบบหนึ่ง ที่เกิดจากการเจ็บตัวหรือเจ็บใจ. อารมณ์โกรธทรมานใจคนโกรธเอง ตรงข้ามกับความอดกลั้น อดทน (patientia).  ความโกรธเป็นอาวุธที่ใช้เพื่อยืนยันความเป็นตัวตนของตนเอง เพื่อรักษาความมั่นคงทางกายและทางใจ หรือเพื่อยืนกรานเจตจำนงส่วนตัว. ความโกรธเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผล  เป็นความอยากแก้แค้นที่มุ่งไปทำร้ายบุคคลหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง  จนเกือบจะเป็นความชิงชังแบบหนึ่ง. ปรัชญาคลาซสิกแยกความโกรธออกจากความเกลียด(odium). ความโกรธที่รุนแรงมิอาจควบคุมได้เหมือนความเกลียดชัง และอาจกระตุ้นให้เกิดการอาฆาตพยาบาท. ดันเต้อธิบายการแก้แค้น ว่าคือความรักความยุติธรรมที่กลายเป็นการแก้แค้นและการมุ่งร้าย และหากทำอะไรผู้ที่ทำให้โกรธไม่ได้  ความรู้สึกรุนแรงนั้นกลับรวมตัว มุ่งเข้าสู่ภายในใจมากกว่าพุ่งออกสู่ข้างนอก  ดังนั้น การฆ่าตัวตาย จึงถือว่าเป็นการแสดงออกขั้นสุดท้ายของความโกรธ  เป็นการบอกปัด ตัดขาดตนเองจากพระเจ้า (เหมือนแก้แค้นพระเจ้า).
      ในเทพตำนานกรีก ความโกรธเกิดจากเทพแห่งลม(Ouranos) กับเทวีแห่งแผ่นดิน (Gaïa). พร้อมๆกับความโกรธ เกิดมีความขยาดกลัว ความคล่องตัวและความแตกแยก. ดังรู้กันว่าในเทพตำนานกรีกนั้น เทพแต่ละองค์เป็นเสมือนภาวะจิตแบบหนึ่งในตัวคน และหากคนมีภาวะจิตแบบใดก็เหมือนกับตกอยู่ในอำนาจหรือมนต์สะกดของเทพนั้น.  เทพตำนานกรีกเป็นหนังสือสอนศีลธรรม ที่เผยให้คนเข้าใจธรรมชาตินิสัยของคนอย่างละเอียดลออทุกแง่มุม. เช่นนี้เทพตำนานกรีกจึงไม่ล้าสมัย เพราะธรรมชาติความยอกย้อนในจิตมนุษย์ เหมือนกันในทุกยุคทุกสมัย.  
     อริสโตเตเลส (Aristoteles, 384-322 ก่อนคริสตกาล) เขียนเกี่ยวกับความโกรธในหนังสือเรื่องเรโตริกา - Rhetorica (วาทะศิลป์แจกแจงตั้งแต่สิ่งที่กระตุ้นให้โกรธ  คนที่กำลังโกรธ และสาเหตุของความโกรธ.  สรุปสั้นๆได้ว่า พฤติกรรมทั้งหลายของคนนั้นมาจากสาเหตุต่างๆดังนี้ 
๑) ความบังเอิญ  ๒) ความจำยอม  ๓) ธรรมชาติ  ๔) ความเคยชิน  ๕) การคิดคำนวณ  ๖) ความโกรธ และ ๗) กิเลส. ความโกรธเฉกเช่นกิเลส เป็นอารมณ์รุนแรงอย่างหนึ่ง เหมือนกับความสงสาร ความขยาดกลัว ความเกลียด ความอิจฉาริษยา ความอยากเก่งเท่าหรือดีเท่าเป็นต้น. คนโกรธไม่กลัว คำพูดของคนโกรธจะยึดเป็นความจริงไม่ได้ เพราะมักเกินความเป็นจริง. 
      เซเนกา (Lucius Senaca, 4-65BC. ปราชญ์ชาวกรีก ในกระแสสโตอีซิซึม - stoicismคิดว่าความโกรธเป็นความบ้าคลั่งอย่างหนึ่ง เป็นอันตรายและให้ผลร้าย เป็นความรู้สึกทั่วไปของ ทั้งชาย หญิงและเด็ก. คนโกรธแทนการสู้กับความเจ็บปวดหรือกับความอยุติธรรม กลับผลักดันความโกรธออกไปไกล. ในแง่นี้จึงไม่ใช่ความรู้สึก ของผู้ดี เพราะเป็นความรู้สึกที่ไม่ได้ผ่านการคิดด้วยเหตุผล ความโกรธสลายเหตุผล และทำให้ทักษะการตัดสินสิ่งต่างๆคลอนแคลน. ความโกรธอาจนำไปสู่ความกลัว ความโลภและพาคนเตลิดออกไปไกล. ปรัชญากระแสสโตอีซิซึมสอนให้ควบคุมบังคับความรู้สึกและกิเลสของตน โดยยึดเหตุผลขึ้นต่อต้านความรุนแรงของอารมณ์และความรู้สึก. 
       สปีโนซา (Spinoza, 1632-1677 ปราชญ์ชาวเยอรมันในกระแส rationalism ที่ถือว่า การใช้เหตุผลเป็นพื้นฐานของความรู้กล่าวว่าความโกรธคือความพยายามก่อความเจ็บปวดหรือความเสียหายแก่สิ่งที่คนนั้นเกลียด  ต้องการลงโทษหรือทำร้ายผู้ที่ทำให้คนโกรธ ให้เขาเสียหายอย่างไม่ยุติธรรม. เช่นนี้ความโกรธจึงเป็นผลโดยตรงจากความเกลียดหรือจากความรู้สึกว่าถูกข่มขู่ ถูกดูหมิ่น จึงนำไปสู่ความอยากทำร้ายคนที่ทำร้ายตน. ความโกรธจึงอาจเป็นสาเหตุของความรุนแรง ของการทะเลาะวิวาท ที่นำไปสู่ความเกลียดและการแก้แค้นเป็นวงจรอุบาทว์ต่อไปไม่จบ.
สปีโนซายังกล่าวว่า ความโกรธตรงข้ามกับความกล้าที่จะยืนหยัดต่อสู้กับทุกสิ่งที่มาทำลายเรา. เขาถือว่าความกล้าเป็นคุณธรรมสำคัญ เสมอกับความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ (generosity) เขาคิดว่าคุณธรรมทั้งสองเป็น พลังของจิตวิญญาณ ในการอนุรักษ์ชีวิตจิตใจของตน ให้อยู่ใต้เหตุและผลให้มากที่สุดที่จะทำได้.
6) อินวี้เดีย-invidia (ความอิจฉาริษยา)  ในคติศาสนา ความอิจฉาริษยาเกิดจากความปรารถนาอยากเป็นเจ้าของสิ่งที่เกินความจำเป็น ตรงข้ามกับคุณธรรมของความเมตตากรุณา(humanitas).  ความอิจฉาริษยาจึงรวมความอยากได้ทรัพย์สินหรือสิ่งของคนอื่น. อากีนัส ได้แจกแจงขั้นตอนของความอิจฉาริษยาว่า ในแรกเริ่มคือความพยายามที่จะลบความดีเด่นของคนอื่นอย่างลับๆ (เช่นนินทาคนนั้น) หรืออย่างเปิดเผย (เช่นพูดใส่ร้ายป้ายสี). ผลจากการกระทำในขั้นแรกนี้ คนอิจฉาพอใจที่เห็นอีกฝ่ายตกต่ำลงหรือประสบปัญหา แต่หากเขาทำไม่สำเร็จ อีกฝ่ายยังคงดีเด่นเหมือนเดิมหรือดีขึ้นกว่าเดิม คนอิจฉาก็ยิ่งผิดหวัง และในที่สุดเกลียดคนนั้น.
      ความอิจฉาริษยาเหมือนสัณชาตญาณแบบหนึ่ง โดยทั่วไปเมื่อคนขี้อิจฉาได้สิ่งที่คนอื่นเป็นเจ้าของมาแล้ว สิ่งนั้นก็หมดความหมายไปสำหรับเขา. บางคนกล่าวว่า ความอิจฉาริษยาเป็นลักษณะเฉพาะของคน และเป็นกลไกที่ทำให้คนพัฒนาเติบโตขึ้น. บางคนบอกว่าเป็นสภาพจิตที่มีแนวโน้มสู่ความมุ่งร้าย การก้าวร้าวรุกรานเป็นต้น. 
      ความอิจฉาริษยาเป็นหนึ่งในบัญญัติสิบประการ ตรงกับข้อที่สิบที่ว่า เจ้าต้องไม่ปรารถนาสิ่งใดที่เป็นของเพื่อนบ้านเจ้า. อากีนัสกล่าวไว้ว่า  ความโลภเป็นบาปที่ทำร้ายพระเจ้า เหมือนบาปรุนแรงถึงชีวิตอื่นๆ  เพราะคือการที่มนุษย์ปฏิเสธสิ่งที่มีค่านิรันดรเพื่อสิ่งที่ชั่วคราว  
       ดันเต้ระบุว่าผู้ทำบาปชนิดนี้ ถูกบังคับให้นอนหน้าคว่ำบนพื้น ในฐานที่ได้สั่งสมความคิดเกี่ยวกับชีวิตบนโลกมากเกินไป. โทษสำหรับคนริษยา คือ ดวงตาถูกเย็บปิดด้วยเส้นลวด เพราะได้เห็นทรัพย์สมบัติหรือทุกอย่างของคนอื่นและที่ทำให้เขาตกลงในบาป. 
7) ซูเปร์เบีย-superbia (ความหยิ่งทะนงตัว และความโอ้อวด)  คือการอวดตัวว่ามีคุณสมบัติต่างๆที่ในความเป็นจริงไม่มี. เป็นการสร้างความเห็นที่ดีให้แก่ตนเอง คือการขาดความถ่อมตน เป็นการคุยเกินความจริงจนข่มคนอื่นไปด้วย. ความทะนงตัวแตกต่างจากความภูมิใจ ความภูมิใจไม่เทียบกับใครอื่นหรือทำให้คนอื่นรู้สึกต่ำต้อย.  ความหยิ่งผยองอาจเทียบได้กับด้านล่างของเหรียญที่มีความภูมิใจเป็นด้านบน.  ดูเหมือนว่าความรู้สึกทั้งสองนี้เกิดควบคู่กันมา. ความหยิ่งทะนงตน ตรงข้ามกับความถ่อมตน (humilitas).
       ในศาสนา การคิดว่าตนสำคัญกว่า มีคุณสมบัติมากกว่าคนอื่น ไม่เคยเป็นหนี้ใคร เป็นบาปหนักและบาปที่รุนแรงที่สุด ที่เป็นต้นเหตุของบาปอื่นๆ และเท่ากับการปิดรับพรจากสวรรค์.
ดันเต้กล่าวว่า เป็นความรักตนเองที่กลายเป็นความเกลียดและการดูหมิ่นดูแคลนหรือการมองข้ามเพื่อนรอบข้าง. นักวิจารณ์เห็นด้วยที่ว่า ความหยิ่งยะโสเป็นบาปหนักกว่าบาปใด และพาดิ่งตรงลงสู่นรก. กรณีที่รู้จักกันมากที่สุดคือลูซีเฟอร์ (Lucifer[15] หรือซาตาน ความอยากแข่งกับพระเจ้า เพราะความอิจฉาริษยา ทำให้ซาตานถูกกำจัดและตกลงจากสวรรค์ จึงแทรกตัวเข้าไปในจิตใจของคน เพื่อแกล้งและอวดตนต่อไปอีกว่า ตนย่อมเอาชนะใจคนได้มากกว่าพระเจ้า. ดันเต้ระบุว่าผู้ทำบาปนี้ ถูกบังคับให้เดินไปพร้อมแผ่นหินหนักที่ต้องแบกบนหลัง เพื่อให้เกิดความถ่อมตน.
      ในวัฒนธรรมหรือขนบธรรมเนียมอื่นๆ ความหยิ่งอาจกลายเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่ง เป็นอุดมการณ์แบบหนึ่ง เช่นในยุคโรแมนติค ความหยิ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของความหลงใหล. เมื่อมองจากมุมของศิลปะและวรรณกรรม ความหยิ่งทะนงตัว นำไปสู่งานสร้างสรรค์สวยงามและมีน้ำหนักได้ ทั้งยังอาจเป็นฐานสำคัญ ที่ทำให้คนรุกฮือขึ้น ประท้วงต่อต้านกระแสสังคมได้ เช่นเดียวกับความเกียจคร้านดังได้กล่าวมาข้างต้น 
       ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 14 บาปหนักเจ็ดชนิดนี้[16]เป็นเนื้อหาในศิลปะ และมีส่วนช่วยปลูกฝังจริยธรรมในจิตสำนึกของชาวคริสต์ จนกลายเป็นหลักศีลธรรมทั่วไปสำหรับชาวตะวันตก.

5. โอโนรีอุสแห่งเมืองโอเติง Honorius d’Autun
       ในศตวรรษที่12 โอโนรีอุซ แห่งเมืองโอเติง (Honorius d'Autun ผู้เขียนแจกแจงและวิเคราะห์ศิลปะยุคกลางที่น่าเชื่อถือยิ่งคนหนึ่งคิดว่าคุณธรรมเป็นเสมือนบันไดที่เชื่อมโลกกับสวรรค์ เขาตีความตอนจาค็อป[17] นอนหลับและฝันเห็นบันไดทอดลงจากท้องฟ้า มีเทวดาขึ้นๆลงๆและพระเจ้ามาประทานพรแก่เขาว่า จะมีลูกหลานสืบตระกูลไม่รู้จบสิ้นและเขาจะได้เป็นใหญ่ (เนื้อหาตอนนี้เรียกกันสั้นๆว่า บันไดของจาค็อป”) ว่า บันไดแต่ละขั้นคือคุณธรรมอย่างหนึ่ง   โอโนรีอุซได้เจาะจงคุณธรรมแต่ละชนิดบนบันไดแต่ละขั้น ทั้งหมด15 ขั้น 15 ชนิดดังนี้                                                                                                            
1. ความอดกลั้น (Patientia)  2. ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ (Benignitas)  3. การอุทิศตนเพื่อศาสนา (Pietas)  4. ความพอใจในความเรียบง่าย (Simplicatas)  5. ความถ่อมตน (Humilitas) 6. ความรังเกียจชีวิตในโลกียวิสัย (Contemptus mundi) 7. การดำรงชีวิตอย่างสมถะด้วยความเต็มใจ (Paupertas voluntaria)  8. ความสงบหรือความรักสันติ (Pax)  9. ความเมตตากรุณา (Bonitas)  10. ความอิ่มเอิบทางใจ (Spirituale Gaudium)  11. ความโอนอ่อนผ่อนปรน (Sufferentia)  12. ความศรัทธา (Fides)  13. ความหวังในพระเจ้า (Spes)  14. ความอดทนต่อความทุกข์ (Longanimitas)  15. ความเพียรพยายาม (Perseverentia).
ภาพบันไดของจาค็อปของ Soenke Rahn, 18 April 2015.
[CC BY-SA 4.0], from Wikimedia Commons.
ภาพฝันของจาค็อป Jacob’s dream ผลงานปี 1805 ของ William Blake 
อยู่ที่ British Museum. ภาพจาก Wikimedia Commons [Public domain].
    ความคิดของโอโนรีอุซมาเป็นฐานข้อมูลสำหรับการสร้างสรรค์ภาพของ บันไดแห่งคุณธรรม ที่นิยมกันมากในยุคกลาง เพราะโยงไปถึงความเพียรพยายาม ของการไต่เต้าสู่ความดี ว่าความดีแต่ละอย่าง เป็นสิ่งที่ช่วยให้แต่ละคน ยกระดับจิตวิญญาณให้สูงขึ้นๆ จนไปถึงพระผู้เป็นเจ้าในที่สุด. ภาพการขึ้นลงบันไดยังทำให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นว่า คนอาจตกบันไดบาดเจ็บได้เสมอหากขาดความแน่วแน่ของจิตใจ. 
     มีผู้ถ่ายทอดคติของบันไดแห่งคุณธรรมออกมาในรูปของจิตรกรรมน้อยประดับหนังสือสวดประจำตัวของแม่ชี ตามที่โอโนรีอุซแห่งเมืองโอเติงได้พรรณนาไว้ ดังตัวอย่างภาพข้างล่างนี้
ภาพสเก็ตช์จากจิตรกรรมน้อยในหนังสือ Encyclopedie d'Herrade de Landsberg เป็นแบบหนึ่งของ บันได15 ขั้นที่นำสู่พระเจ้า” ของ Hortus deliciarum, Hohenburg :  Mont Sainte-Odile ผลงานกลางศตวรรษที่12.  
ในภาพข้างบน มีบันไดลึกลับวางตั้งจากพื้นดินและสูงหายลับไปในท้องฟ้า เหนือบันไดเห็นมือของพระเจ้ายื่นมงกุฏให้. บนบันไดตั้งแต่ขั้นล่างขึ้นไป มีคนประเภทต่างๆทั้งพระ หมอสอนศาสนาและสามัญชน แต่ละคนพยายามไต่เต้าขึ้นบันไดทีละขั้น ในขณะที่บาปต่างๆบนพื้นคอยกู่เรียก คอยดึงพวกเขา ชักชวนให้กลับลงไป. ปีศาจที่อยู่ด้านซ้ายก็คอยยิงให้ผู้คนตกจากบันได. ผู้หญิงคนหนึ่งยิ้มยียวนคอยผลักดันให้คนเผลอ. บนพื้นมีเตียงสัญลักษณ์ของความขี้เกียจ อันเป็นบาปชนิดหนึ่ง ล่อใจให้อยากนอนอยากพัก หรือมีตะกร้าทองคำบรรจุอาหารชวนกินต่างๆวางล่ออยู่ หรือมีม้าและเครื่องเกราะที่เงางามวาววับจับตา สัญลักษณ์ของความมีอำนาจในโลกียวิสัย. (ทั้งหมดนี้มองไม่เห็นชัดเจนในภาพที่ตัดมานี้)  หลายคนทนความยั่วยวนไม่ไหวและตกร่วงลงจากบันไดขั้นที่ตนอุตส่าห์ปีนขึ้นไปแล้ว. หญิงคนหนึ่งคงเป็นแม่ชี ไม่สนใจดูหรือฟังคำเชิญชวนใดๆ ตั้งหน้าตั้งตาปีนขึ้นไปเรื่อยๆเพื่อให้ถึงมงกุฎที่รออยู่บนบันไดขั้นสูงสุด.  จิตรกรรมน้อยนี้นับเป็นผลงานที่สะเทือนอารมณ์คนดูโดยเฉพาะสำหรับเหล่าแม่ชี  จึงเป็นบทสอนวินัยเปรียบเทียบที่ดีที่สุดบทหนึ่ง.
ภาพวัดแบบกอติคที่เมืองบาธ(Bath ประเทศอังกฤษหอเล็กสูงสองข้างขนาบด้านหน้าของวัดที่ประกอบด้วยหน้าต่างสูงแบบอาร์คบานใหญ่. เหนือหน้าต่างขึ้นไปบนกำแพง (เคย)มีรูปปั้นเล็กๆของเหล่าเทวทูตประดับไว้เต็ม แต่ปัจจุบันเสื่อมชำรุดลงไปมากตรงกลางบนยอดหน้าบัน มีซุ้มที่ประดิษฐานรูปปั้นพระเยซูคริสต์ในท่านั่งเป็นประธานไม้กางเขนอยู่บนยอดของหน้าบัน. ที่น่าสนใจที่สุด เมื่อไปยืนพิจารณาดู เห็นว่าบนกำแพงหอสองข้าง จำหลักเป็นขั้นๆเหมือนบันไดเกือบตลอดความสูง ทั้งยังมีรูปจำหลักของเทวทูตองค์เล็กๆ กำลังไต่ขึ้นและลงบันไดนี่คือการถ่ายทอดเนื้อหาตอนบันไดของจาค็อปนั่นเองส่วนตัวข้าพเจ้าไม่เคยเห็นเนื้อหานี้ขึ้นจำหลักในตำแหน่งเกียรติยศบนหน้าบันวัดหรือโบสถ์ใดในยุโรป จึงเป็นกรณีพิเศษสุดของวัดเมือง Bath ที่รวมเอาเหตุการณ์เรื่องบันไดของจาค็อป กับ บันไดแห่งคุณธรรม เข้าด้วยกัน ให้ปรากฏตั้งแต่ด้านหน้าของวัด.
เหนือขึ้นไปบนขั้นสูงสุด หอคอยด้านซ้ายอัครสาวกปีเตอร์คอยอยู่ ในมือถือคัมภีร์และ(น่าจะมี) กุญแจเปิดประตูสวรรค์  ส่วนบนบันไดอีกข้างด้านขวา น่าจะเป็นอัครสาวกปอล. ทั้งสองเป็นเสาหลักของการเผยแผ่ศาสนาคริสต์.
เทวดาปีนขึ้นๆลงๆ ชวนให้คิดว่า การทำดีนั้น ไม่อาจหยุดอยู่กับที่ ต้องก้าวไปเรื่อยๆและหากวันไหนก้าวลง ก็ต้องก้าวขึ้นใหม่ต่อไปลูกหลานที่พระเจ้าสัญญาแก่จาค็อบว่าจะมีสืบเชื้อสายไปไม่มีที่สิ้นสุดนั้น แต่ละคนคือบันไดหนึ่งขั้นหรือไฉน
Philo Judaeus แห่งเมืองอเล็กซานเดรีย (มีชีวิตอยู่ในราว 20-50 ก่อนคริสตกาลได้วิเคราะห์ความหมายของบันไดไว้ในหนังสือเล่ม De somniis ของเขาว่า
ก. เทวดาที่ขึ้นๆลงๆจากร่างของจาค็อปที่นอนแผ่อยู่บนพื้นดินนั้น โยงถึงการกลับชาติมาเกิดใหม่ (reincarnation) หรือการเวียนว่ายตายเกิด.
ข. บันไดเปรียบได้กับจิตวิญญาณของคน. เทวดาหรือเทวทูตเป็นตัวแทนของเสี้ยวเล็กๆเสี้ยวหนึ่งของปัญญาที่กว้างไพศาลสุดจะหยั่งได้ทั้งมวลของพระเจ้า (ใช้คำกรีกว่า logos ที่เข้าอยู่ในภาษาตะวันตก ในระบบปรัชญา จิตวิทยา วาทะศิลป์และศาสนา มีความหมายตามบริบทที่ใช้ เช่น ความเห็น การคาดหวัง การแก้ต่าง คำพูด การอธิบาย เหตุผล การสาธยายเป็นต้น). เทวดาคือผู้มาช่วยฉุดวิญญาณของคนที่กำลังอ่อนแอให้ลุกขึ้นใหม่ หรือผู้ลงมาปลอบจิตวิญญาณคนด้วยความเห็นใจ เพราะร่วมรู้เท่าทันภาวะความทุกข์กับความรู้สึกของคน.
ค. บันไดที่ต้องขึ้นต้องลงนั้น เปรียบกับการต่อสู้ภายในใจคนระหว่างจิตใฝ่สูงและจิตใฝ่ต่ำ ระหว่างคุณธรรมกับอธรรม.
ง. เทวดาหรือเทวทูตทั้งหลายเปรียบโยงไปถึงชีวิตที่ไม่จีรังของคน ชีวิตที่เปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ไม่มีอะไรแน่นอนหรือถาวร.

6. อูคส์แห่งเมืองแซ็งต์วิกตอร์ Hugues de Saint-Victor
       ในยุคศตวรรษที่สิบสองเดียวกันนั้น  อูคส์แห่งเมืองแซ็งต์วิคตอร์ (Hugues de Saint-Victor หนึ่งในหมู่นักเขียนชื่อดังในศตวรรษที่12-13) ได้เปรียบเทียบคุณธรรมกับอธรรมอีกแบบหนึ่ง โดยใช้ภาพลักษณ์ของต้นไม้. เขาเจาะจงว่ามีต้นไม้สองต้น ต้นหนึ่งชื่อว่า ต้นไม้แห่งอาดัมคนเก่า  ต้นที่สองชื่อว่า ต้นไม้แห่งอาดัมคนใหม่ 
      อาดัมคนเก่า หมายถึง อาดัมที่พระเจ้าเนรมิตขึ้นและไม่เชื่อฟังพระเจ้า จนในที่สุดถูกขับออกจากสวรรค์. อาดัมคนเก่าเป็นผู้ปลูกต้นไม้ต้นแรก. ต้นไม้ต้นแรกนี้ จึงมีรากและลำต้นแตกออกจาก ความหยิ่งยะโส เหมือนที่อาดัมทะนงตน ตกเป็นเหยื่อของความยั่วยวน ไม่เชื่อฟังพระเจ้า. ต้นไม้ต้นแรกนี้แตกแขนงออกเป็นเจ็ดกิ่ง แต่ละกิ่งแทนบาปชนิดหนึ่ง เป็นกิ่งความอิจฉาริษยา กิ่งความโลภหรือความตระหนี่  กิ่งความโกรธ  กิ่งความเมินเฉยซึมเศร้า  กิ่งความตะกละ และกิ่งตัณหาราคะ. กิ่งทั้งเจ็ดนี้ยังแตกเป็นกิ่งย่อยๆออกไป เช่นจากกิ่งความเมินเฉยซึมเศร้า แตกเป็นกิ่งย่อยสองกิ่ง ชื่อกิ่งความหวาดกลัวและกิ่งความผิดหวังเป็นต้น.
      อาดัมคนใหม่ หมายถึงพระเยซูคริสต์ เป็นผู้ปลูกต้นไม้ต้นที่สอง. ต้นไม้ต้นนี้มีความถ่อมตน เป็นลำต้น มีกิ่งก้านใหญ่ๆเจ็ดกิ่งเช่นกัน มีชื่อเรียกตามคุณธรรมสำคัญเจ็ดประการในคริสต์ศาสนาอันมีความศรัทธา ความหวัง ความรัก ความรู้จักควบคุมกิเลสตัณหาในตน ความเป็นผู้มีกำลังและอำนาจ ความไม่ประมาทและความยุติธรรม. ทั้งเจ็ดประการนี้รวมกันเป็นคุณธรรมสำคัญและถือเป็นหัวใจของคริสต์ศาสนาดังได้อธิบายมาข้างต้น. สามประการแรก เป็นคุณธรรมศาสนา (Vertus theologales) และสี่ประการหลังเป็นคุณธรรมหลัก (Vertus cardinales).  กิ่งคุณธรรมทั้งเจ็ดนี้ ยังแตกแขนงเป็นกิ่งย่อยๆ เช่นกิ่งความศรัทธาแตกออกเป็นสองกิ่งย่อย ที่เป็นกิ่งการรักษาพรหมจรรย์และกิ่งความเชื่อฟัง. กิ่งความหวังแตกแขนงออกเป็นกิ่งย่อยของความอดกลั้นและความปิติ. กิ่งความรักแตกแขนงออกเป็นกิ่งความรองดอง กิ่งความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ กิ่งความรักสันติ กิ่งความเมตตาสงสารเป็นต้น. ตัวเราทุกคนมีสิทธิ์และมีโอกาสเลือกต้นไม้ต้นใดต้นหนึ่งและโอบอุ้มดูแลต้นไม้นั้น.

7. บราเธอร์ลอเรนส์กับบทรวมธรรมจริยาสำหรับกษัตริย์
       ในศตวรรษที่ 13 ที่ฝรั่งเศส เป็นยุคเริ่มต้นของการไปร่วมสงครามครูเสด พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 ได้เสด็จไปในสงครามและสิ้นพระชนม์ในแดนตูนีเซียพระองค์ได้สมญานามว่า กษัตริย์นักบุญเรียกกันในภาษาฝรั่งเศสว่า (พระเจ้า)แซ็งต์หลุยส์มีเล่าไว้ในหนังสือของ Jean de Joinville (ผู้เขียนชีวประวัติของพระเจ้าแซ็งต์หลุยส์) ว่า พระราชดำรัสสุดท้ายที่สั่งเสียไปถึงพระราชโอรสผู้จะขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์ คือให้สารภาพบาปบ่อยๆ เลือกพระผู้รับฟังบาปให้ดี ให้เป็นคนฉลาดมีปัญญาสุขุม ผู้จะสอนสิ่งที่ควรทำและสิ่งที่ควรละเว้น ขอให้เจ้าประพฤติตนให้ดี ที่ทำให้ทั้งพระผู้ฟังคำของเจ้าหรือมิตรสหายของเจ้า ไม่หวั่นกลัวที่จะท้วงติงเจ้าเมื่อเจ้าทำไม่ถูกไม่ดี  เมื่อพระเจ้าฟิลิปที่สาม (Philippe III le Hardi, 1245-1285) ขึ้นครองราชย์ต่อนั้น พระองค์มีอายุ 25 ปีบราเธอร์ลอเรนส์ (Lorens d’Orléans, พระนักบวชคติโดมินิกันได้รับเลือกให้เข้าไปทำหน้าที่เป็นพระผู้รับฟังคำสารภาพบาปของพระองค์ โดยหน้าที่จึงเป็นที่ปรึกษาในพระราชกิจต่างๆด้วย ต่อมายังเป็นผู้อบรมสั่งสอนด้านศีลธรรมแก่พระราชโอรสของพระองค์ ได้สร้างความผูกพันควบคู่กับศรัทธาอย่างเหนียวแน่นในองค์กษัตริย์และพระราชวงศ์ลอเรนส์จึงอยู่ในตำแหน่งสำคัญมากและเป็นที่เคารพเชื่อฟังในสังคมยุคนั้นเพื่อให้มีคู่มือในการประพฤติปฏิบัติตนในฐานะคริสต์ศาสนิกที่ดี เขาได้รวบรวมเรียบเรียง บทธรรมจริยาสำหรับกษัตริย์ (Somme Le Roi1279)  เป็นภาษาฝรั่งเศสให้พระเจ้าฟิลิปที่สาม.
      เล่มที่หอสมุดแห่งชาติของฝรั่งเศส(ที่เปิดให้เข้าไปอ่านได้นั้น) เริ่มต้นด้วยบัญญัติสิบประการ ตามด้วยบทความ12 บทเกี่ยวกับความศรัทธา ต่อด้วยบาปหนัก ประการ และตามด้วยการสอนอธิบายว่าการตายดีนั้นควรเป็นเช่นใด ให้กลัวบาปและขจัดบาปหนักให้หมดสิ้นไปจากใจ. เขาแจกแจงบาปทั้งหลายแต่ละแบบอย่างละเอียดไปถึงบาปปลีกย่อยที่สืบเนื่องกัน และให้พัฒนาคุณธรรมเจ็ดประการแทนเพื่อขจัดบาปทั้งหลายทั้งปวง นำจิตวิญญาณไปสัมผัสความปลื้มปิติสุดล้ำลึกเจ็ดชนิด เช่นนี้ผู้ปฏิบัติย่อมเดินไปบนเส้นทางสู่พระเจ้าและเสพความรักความเมตตาอันวิลาสล้ำจากพระองค์ไปชั่วนิรันดร.
      บราเธอร์ลอเรนส์ ได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับคุณธรรมและบาปของอูคส์แห่งเมืองแซ็งต์วิคตอร์ เขาอธิบายว่า มีต้นไม้แห่งความดีและต้นไม้แห่งความชั่ว.  ต้นแรกมีความรักเป็นราก  ส่วนต้นไม้ต้นที่สองมีความอยากได้หรือตัณหาเป็นราก. ความอยากได้นั้น ความจริงคือความเห็นแก่ตัวเองเป็นใหญ่นั่นเอง เช่นนี้ความชั่วร้ายประเภทต่างๆ จึงอุบัติขึ้นมาจากความรักตัวเอง ในทำนองเดียวกับที่คุณธรรมต่างๆพัฒนาขึ้นจากการลืมตัวเอง โดยหันไปเอาใจใส่คนอื่นหรือ รักเพื่อนบ้าน ตามที่พระเยซูได้สอนไว้.
ในสวนแห่งคุณธรรมนั้น ตรงกลางสวนมีต้นไม้แห่งชีวิต ที่พระบิดาเป็นผู้ปลูกและรดน้ำด้วยบ่อน้ำแห่งความเมตตาวิลาสล้ำในพระองค์ที่ทำให้ต้นไม้เจริญงอกงาม ใบดกงามเขียวชอุ่มและออกดอกออกผลไม่สิ้นสุดเป็นผลไม้แห่งอายุวัฒนะ. ต้นไม้นี้มีกิ่งเจ็ดกิ่งที่เป็นความปลื้มปิติสุดล้ำลึกเจ็ดชนิด.
ต้นไม้นั้นหมายถึงพระเยซูคริสต์. บราเธอร์ลอเรนส์เลือกที่จะเสนอว่า คุณธรรมเจ็ดประการ คือต้นไม้เจ็ดต้น ไม่ใช่เพียงเจ็ดกิ่งแบบที่อูคส์เขียนพรรณนาไว้ และทั้งเจ็ดต้นปลูกอยู่ในสวนสวยงาม ซึ่งคือสวนอีเดนในจิตใจคน มีธารน้ำใสสะอาดเจ็ดสาย ซึ่งคือธารน้ำใจเจ็ดอย่างของพระจิต ไหลออกมาจากโคนต้นไม้ทั้งเจ็ดต้น มีหญิงพรหมจารีย์เจ็ดคนมาตักน้ำในธารน้ำแต่ละสายใส่ลงในคนโทเจ็ดอัน ซึ่งคือกฎเจ็ดข้อในปาแตรโนสแตร (Pater noster) อันเป็นบทสวดของพระนักบวช. ธารแห่งพระจิตเจ็ดอย่างเป็นของกำนัลล้ำค่าที่นำความปลื้มปิติสุดล้ำลึกแก่ผู้อยู่ในธรรม.[18]

คุณธรรมเจ็ดอย่างเหมือนต้นไม้เจ็ดต้น และธารน้ำที่ไหลออกจากคุณธรรม
เปรียบกับธารน้ำใจเจ็ดอย่างของพระจิตภาพจาก gallica.bnf.fr
    บราเธอร์ลอเรนส์ได้ตั้งสัญลักษณ์ใหม่ให้บาปหรืออธรรม. เขาเห็นว่า ตัวมารเจ็ดหัว ที่ปรากฏเล่าไว้ในอาโปกาลิปส์นั้น เป็นภาพที่เหมาะสมที่สุด ที่เปรียบได้กับความหมายของบาปหนาเจ็ดประการที่เขาเจาะจงลงบนหัวแต่ละหัวของมารตัวนั้น. ความคิดของบราเธอร์ลอเรนส์มีอิทธิพลต่อศิลปะในยุคนั้นอย่างมากมายและใช้อธิบายภาพแปลกๆที่เป็นปริศนาและที่พบแทรกอยู่ในวรรณกรรมลายลักษณ์ยุคนั้นหนังสือเล่มนี้ มีการคัดลอกเผยแผ่ออกไปอย่างกว้างขวางในยุโรป อีกทั้งมีการแปลเป็นภาษาเยอรมัน อังกฤษเป็นต้นในศตวรรษที่สิบห้าและยุคใหม่ต่อมา แต่เปลี่ยนชื่อหนังสือแทนชื่อ Somme le Roi ฉบับดั้งเดิม ให้เป็นชื่อที่จูงใจสำหรับบุคคลทั่วไป ไม่เกี่ยวกับกษัตริย์โดยเฉพาะอีกต่อไป เป็นชื่อ Le Livre des vices et des vertus (หนังสือประมวลความชั่วและความดี ที่อังกฤษไปแปลว่า The Book of Vices and Virtues) หรืออีกชื่อหนึ่งว่า Le Miroir du monde (กระจกส่องโลก).
จิตรกรรมน้อยประดับหนังสือ เสนอภาพบาปหนาเจ็ดประการในวิสัยทัศน์ของบราเธอร์ลอเรนส์
ภาพจากต้นฉบับที่ลิงค์นี้ https://gallica.bnf.fr/ark:/12148/btv1b52506341n/f28.image
      ความคิดเรื่องมารเจ็ดหัวคือบาปหนักเจ็ดชนิดของบราเธอร์ลอเรนส์ ดลใจให้มีผู้นำเสนอภาพบาปหนักอีกแบบหนึ่ง ด้วยการผนวกภาพของหญิงคนชั่วหรือโสเภณี (ที่มีทุกยุคทุกสมัยคู่กับสังคมมนุษย์เสมอมา) เป็นตัวกระตุ้นบาปดังในภาพข้างล่างนี้ ภาพหญิงคนชั่วบนหลังมารเจ็ดหัว (ตัวที่อัครทูตจอห์นเล่าไว้ในอาโปกาลิปส์) แต่ละหัวแทนบาปหนักชนิดหนึ่ง. ผู้ที่นั่งบนตัวมาร ควบคุมตัวมารได้ จึงคือผู้ที่มีบาปทั้งหมดในตัว. นางกำลังเชิญชวนผู้คนให้ดื่มเหล้า เพราะคนเมาย่อมหลงใหลถูกจูงจมูกไปสู่ความเลวต่างๆได้ง่าย. ผู้คนทั้งหญิงและชาย ทั้งเจ้าแผ่นดิน บริวาร หรือแม้นักบวชเอง ก็พากันโห่ร้องต้อนรับนาง. ความงามสง่าของนางทำให้ทุกคนเคลิ้มด้วยความหวังในกามสุข. อัครทูตจอห์นเล่าต่อว่า เทวทูตต้องลงมาปราบนาง และชี้ทางสู่คุณงามความดีที่จะนำคนไปสู่ความสุขที่ยั่งยืนกว่าในความรักต่อพระเจ้า.
ภาพจิตรกรรมน้อย(ภาพซ้าย) อยู่ใน Encyclopedie d'Herrade de Landsberg (folio 258 Walter pl XLV)  ที่นำมาจากหนังสือ Hortus deliciarum แห่งเมือง Hohenbourg -Mont Sainte-Odile.  ศิลปะยุคกลางศตวรรษที่ 12  ชื่อภาพว่า Le Triomphe de la Prostituée de Babylone หรือ “ชัยชนะ(ชั่วคราว)ของหญิงงามเมืองแห่งบาบีโลน ภาพนี้ดูจะฝังในจิตสำนึกของชาวคริสต์หรือชาวยุโรปตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ยืนยันสิ่งที่ฝังแน่นในจิตใต้สำนึกของผู้ชายส่วนใหญ่ว่า ผู้หญิงเป็นต้นเหตุที่นำไปสู่ความประพฤติเลวทรามต่างๆผู้หญิงเป็นแพะรับบาปเสมอ.

 สองภาพนี้คือหญิงงามเมืองแห่งเมืองบาบีโลน(ผู้รักสวยรักงาม) ดังปรากฏในพรมทอผืนยาวเหยียด(ประมาณ140 เมตร กาลเวลาทำให้ขาดหายไปบางส่วน ปัจจุบันเหลือเพียงประมาณ100 เมตร) ที่รู้จักกันในนามว่า La Tapisserie de l’Apocalypse d’Angers อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ในปราสาทเมืองอ็องเจส์ (Château d’Angers, Angers, France) ทอขึ้นในระหว่างปี 1377-1382. เป็นพรมทอมือที่เก่าที่สุดที่เหลือมาให้โลกเห็นจนถึงปัจจุบันเนื้อหาพรมเล่าฉากเหตุการณ์ต่างๆในอโปกาลิปส์ ตามที่พรรณนาไว้ในคัมภีร์ฉบับสุดท้ายของนักบุญจอห์น ผู้แต่งเรียบเรียงในต้นศตวรรษที่1AD.
ดูคลิปวีดีโอ(ยาว 4:54 นาที) และชมความมหัศจรรย์ของฝีมือคนและพรมทอได้ตามลิงค์นี้ https://www.youtube.com/watch?v=_r-cMfwS570 (ภาษาฝรั่งเศส)
                      
8. ดันเต้กับมหากาพย์ดีวีนา ก็อมเมเดีย
      รายการบาปหนาเจ็ดชนิดที่สันตะปาปา Gregory I ได้กำหนดไว้ เป็นรายการที่นักเขียนเช่นดันเต้อ้างถึงในมหากาพย์ดีวีนา ก็อมเมเดีย (Divina Commedia แต่งในราวปี 1307/1312?-1321) มหากาพย์เล่มนี้ เป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญที่สุดสำหรับโลกตะวันตกตั้งแต่ยุคเรอแนสซ็องส์เป็นต้นมา. ดันเต้ตั้งชื่อไว้ว่า Commedia  ต่อมา บ็อกกั๊กชีโย (Boccaccio, 1313-1375นักเขียนอิตาเลียนผู้อ่านและวิจารณ์หนังสือเล่มนี้ เห็นสมควรให้เติมคำ divina เข้าไปข้างหน้าเพื่อเน้นความเลอเลิศของกวีนิพนธ์ของดันเต้ที่เป็นดั่งเทวดาร้อยเรียงขึ้น ซึ่งก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป จึงกลายเป็น ดีวีนา ก็อมเมเดีย หรือ มหากาพย์ไตรภูมิของดันเต้ [19]   ในที่นี้เราทำได้เพียงเสนอเนื้อหาย่อๆของวรรณกรรมชิ้นนี้ ด้วยจุดประสงค์เดียวคือให้ข้อมูลเกี่ยวกับบาปประเภทต่างๆ ความทุกข์ทรมานของคนบาปหลังความตายในนรก และรางวัลสำหรับคนดีในสวรรค์.
ดันเต้ถือหนังสือ La Divina Commedia ในมือ แบมือไปด้านซ้ายที่เป็นกำแพงประตูเมืองทางลงไปใต้พื้นสู่นรก เห็นขบวนคนที่กำลังเดินลงไป. ด้านขวา คือภาพเมืองฟลอเรนซ์ เห็นหลังคา หอคอยของสถานที่สำคัญๆของเมืองเช่นโดมครึ่งวงกลมของมหาวิหารเมืองฟลอเรนซ์. ภูเขาที่เห็นด้านหลังคือแดนชำระบาป (Purgatorio). ภาพเฟรสโก้นี้ ฝีมือของ Domenico di Michelino ปี 1465 จาก Wikimedia Commons [Public domain] ประดับบนกำแพงโดมที่ Santa Maria del Fiore มหาวิหารเมืองฟลอเรนซ์.

      มหากาพย์เรื่องนี้ เล่าการเดินทางผจญภัยด้วยสติปัญญาและจิตวิญญาณของกวีที่เป็นตัวแทนของมนุษยชาติ ถ่ายทอดผ่านการเดินทางข้ามโลกสามโลกหรือสามภูมิที่อยู่นอกเหนือโลกที่เราอยู่.  ตัวเอกในกวีนิพนธ์ชื่อดันเต้เหมือนกัน เป็นผู้เดินทางผ่านพิภพ (เขามีอายุ ๓๕ปี ครึ่งหนึ่งของชีวิตคนตามที่กำหนดในคัมภีร์) เขาเดินหลงอยู่ในป่ามืดแห่งบาป มี เหตุผล ในร่างของมหากวีเวอร์จิล (Virgile หรือ Publius Vergilius Maro ในภาษาอิตาเลียน มีชีวิตอยู่ในราวปี 70-19 ก่อนคริสตกาล)[20] มานำทางเขา.  มหากวีเวอร์จิลเป็นสัญลักษณ์แทนสติปัญญาอันชาญฉลาดและสุขุม. เมื่อเวอร์จิลตายเขาตกไปอยู่ในนรกชั้นที่หนึ่ง เพราะเขาเกิดก่อนคริสตกาลและไม่มีโอกาสได้เห็นพระเยซูและไม่ได้เข้าพิธีศีลจุ่ม เหมือนวิญญาณอีกหลายๆคนในนั้น ที่เคยเป็นคนดีแต่ต้องคร่ำครวญโหยหวนด้วยความปรารถนาอยากเห็นพระเยซูคริสต์.
      เวอร์จิลพาดันเต้ลงไปในนรกขุมต่างๆ  คนตายทุกคนต้องไปตามเส้นทางนี้ เป็นทางเดียวที่จะไปถึงสวรรค์ได้ นั่นคือต้องผ่านนรกทั้งเก้าชั้น (Inferno). ดันเต้อธิบายว่า ใต้พื้นเมืองเยรูซาเล็ม(ตำแหน่งA ในภาพวงแหวนสวรรค์พื้นที่ตั้งแต่ปากเหวลงไปจนถึงจุดใจกลางโลกคือที่ตั้งของนรก(ตำแหน่งBในภาพวงแหวนสวรรค์)  ภูมิประเทศเป็นหุบเหวลึกลงๆและแคบลงในรูปแบบของกรวยหงาย. ดันเต้อธิบายว่านรกประกอบด้วยวงแหวนเก้าชั้นซ้อนๆกันลงสู่จุดใจกลางโลกบนเส้นศูนย์สูตรที่แบ่งครึ่งโลก. ตรงจุดลึกที่สุดของโลกภาคพื้นดิน เป็นที่อยู่ของลูซีเฟอร์หรือซาตาน. ดันเต้และเวอร์จิลผ่านเข้าไปในวงแหวนนรกแต่ละชั้น ที่ที่คนบาปประเภทต่างๆถูกส่งลงไป. ในแต่ละขุมคนบาปถูกทรมานแบบต่างๆที่สะท้อนให้เห็นว่าเป็นผลจากการกระทำบาปในชีวิต. ดันเต้ได้ให้รายละเอียดของบาปชนิดต่างๆ  เขาได้แจกแจงแบ่งแยกบาปหนักบางประเภทปลีกย่อยลงไปอีก เช่น บาปของผู้กระทำความรุนแรงแบ่งออกเป็นสามชนิด (คือกระทำความรุนแรงต่อเพื่อนบ้าน ต่อตนเองเช่นฆ่าตัวตาย และต่อพระเจ้า). บาปของการหลอกลวงแบ่งย่อยลงไปถึงสิบชนิด และบาปของการทรยศแบ่งเป็นสี่ชนิดเป็นต้น. สภาพทั่วไปในนรกมืดทึม กลิ่นเหม็นคลุ้ง เสียงร้องกรี๊ดแหลมและแสบแก้วหูของคนบาปที่ถูกทรมาน. หลายครั้งที่ดันเต้เป็นลมสลบไปเพราะความรู้สึกโศกสลดรุนแรงจากการเห็นและการได้สนทนากับวิญญาณบาปทั้งหลายในนรก.
ภาพวงแหวนนรกเก้าชั้น นำภาพเขามาเติมตัวเลขประกอบคำอธิบาย
ภาพจากhttp://www.blog.edidablog.it
      แสดงแผนภูมิที่ตั้งและรายละเอียดของนรกชั้นต่างๆเป็นวงแหวนนรก ที่วิญญาณคนบาปถูกส่งลงไปในที่ที่สมน้ำสมเนื้อกับบาปที่เคยกระทำในชีวิต. ตำแหน่ง ในภาพนี้ คือที่ตั้งของเมืองเยรูซาเล็ม ตรงกับตำแหน่ง ในภาพวงแหวนสวรรค์ข้างต้น ใต้พื้นเมืองเยรูซาเล็ม เป็นปากเหวมหึมา ที่ลึกลงๆ. ณตำแหน่ง B ในภาพนี้ เป็นพื้นที่เชื่อมระหว่างปากทางลงนรกกับนรกชั้นต่างๆ(เรียกว่า Ante-Inferno หรือ Vestibulo เหมือนห้องโถงใหญ่ทางซ้ายมือเห็นถ้ำมืดสูงเป็นรูปสามเหลี่ยมคือประตูทางลงสู่นรก. เมื่อลงไปใต้พื้น ดันเต้พบกับวิญญาณของคนจำนวนมาก เป็นวิญญาณของพวกที่เฉยเมยไม่เข้าร่วมศาสนาใดองค์การใด ไม่เคยนับถือพระเจ้าและก็ไม่เคยต่อต้านซาตาน ตายแล้วถูกส่งไปรวมกันที่นั่น เร่ร่อนไปมาในนั้นตลอดไป ถูกฝูงแมลงวันรุมไต่ตอม ถูกฝูงผึ้งต่อย ถูกบดขยี้ลงอยู่กับพื้นที่มีหนอนยั้วเยี้ยแน่นเต็มไปทั่วที่คอยดูดเลือดและน้ำตาจากวิญญาณเหล่านั้น. ลึกลงจากบริเวณห้องโถงดังกล่าว (ณตำแหน่ง ในภาพมีแม่น้ำอาเก-รนเต(Acheronte). ริมฝั่งน้ำ วิญญาณจำนวนมากยืนรอคอยเรือข้ามฟาก. การนเต้(Caronte) ผู้พิทักษ์นรกคนแรกพายเรือมารับดันเต้และเวอร์จิลลงเรือข้ามไปยังฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำ ที่เป็นที่ตั้งของวงแหวนนรกที่ 1 เรียกว่านรกลิมโบ(Limbo) มีปราสาทใหญ่น่าเกรงขามตั้งอยู่ นรกขุมนี้เป็นที่รวมวิญญาณของผู้ที่เกิดก่อนคริสตกาล จึงไม่ได้ล้างบาปกำเนิดและไม่เคยรับศีลจุ่ม. เวอร์จิลเองก็อยู่ที่นั่น วิญญาณที่นั่นเคยเป็นผู้มีคุณงามความดี เคยทำงานใหญ่เพื่อมนุษยชาติมาแล้ว จึงได้ไปอยู่ที่นั่น วิญญาณทั้งหลายทุกข์ระทมโหยหา เพราะไม่มีโอกาสชื่นชมบารมีของพระเจ้า.
เมื่อลงไปถึงวงแหวนนรกชั้นที่ 2 ต้องพบกับมีนอส(Minos ผู้พิทักษ์นรกคนที่สอง) ผู้ชั่งบาปและกรรมชั่วที่เคยทำมา แล้วส่งลงไปในนรกขุมต่างๆ. ส่วนวิญญาณที่อยู่ในขุมที่สองนี้ เป็นผู้ทำบาปด้านกามตัณหาแบบต่างๆ. พวกนี้ถูกลมพายุหมุนหอบไป ถูกปั่นหมุนไปมาแล้วถูกเหวี่ยงไปกระทบกำแพงนรกแล้วถูกหอบ ถูกเหวี่ยงกลับไปกลับมาเช่นนี้ไม่หยุด ในฐานที่ไม่สามารถควบคุมกิเลสตัณหาของตนเอง.
วงแหวนนรกชั้นที่ 3 เป็นที่อยู่ของพวกตะกละ ที่นี่มีทั้งฝน หิมะและลูกเห็บตกกระหน่ำทั้งวันทั้งคืน ท่วมนองพื้นที่เป็นโคลนตมเหม็นคลุ้ง วิญญาณต้องวิ่งไปรอบๆเหวลึก เพื่อหนีเล็บแหลมคมของปีศาจสามหัวเซร์เบรุส (Cerberus) ผู้พิทักษ์นรกชั้นนี้ที่คอยกวดตะครุบวิญญาณไปกัดแทะ. 
วงแหวนนรกชั้นที่ 4  เป็นที่รวมวิญญาณบาปของพวกตระหนี่และพวกสุรุ่ยสุร่าย. ดันเต้เน้นเจาะจงกลุ่มสันตะปาปา นักบวชและคาร์ดินัลทั้งหลาย ที่บริหารจัดการทรัพย์สินขององค์การศาสนาอย่างผิดๆ เพราะความตระหนี่ หรือเพราะความสุรุ่ยสุร่าย. วิญญาณในนรกชั้นนี้ถูกแบ่งเป็นสองกลุ่ม แต่ละกลุ่มต้องเข็นก้อนหินขนาดมหึมา เข็นเข้าหากัน บดขยี้กันเองไม่หยุดหย่อน ต่างด่าทอกันและกัน เสียงแซดไปทั้งนรก.
นรกวงแหวนชั้นที่ 5  เป็นที่ตั้งของแม่น้ำสติ๊ค (Styx หรือ Stigeในภาษาอิตาเลียน) รวมวิญญาณบาปของความโกรธ พวกโมโหร้าย กับบาปของความเกียจคร้าน เฉยเมยและซึมเศร้า วิญญาณถูกกดจมในแม่น้ำสติ๊ค ต่างตะเกียกตะกาย ต่อสูกัน กัดกันอย่างเหี้ยมโหด ส่วนพวกเกียจคร้านจมอยู่ในกองโคลนเหม็นเน่า ลุกไม่ขึ้นและลุกไม่ได้ไปชั่วนาตาปี.
วงแหวนนรกชั้นที่ 6 เป็นที่รวมวิญญาณของผู้เคยคลุ้มคลั่งในลัทธินอกรีตอื่นๆ  ถูกเผาไหม้จนเป็นจุณ สิ้นซากทั้งร่างเกือบสิ้นวิญญาณไปด้วย แต่การทรมานยังไม่จบ เพราะขี้เถ้าของคนบาปกลับรวมตัวกันใหม่แล้วถูกเผาอีกจนเป็นจุณ แล้วรวมตัวขึ้นใหม่เป็นเช่นนี้ไปชั่วกาลนาน.
จากนรกขุมที่หก ไปยังวงแหวนนรกชั้นที่ 7  ดันเต้และเวอร์จิลต้องปีนไต่สันเขาลาดชันลงไปไกลกว่าจะถึงที่นั่นเป็นที่รวมวิญญาณของผู้เคยกระทำความรุนแรง เหล่าวิญญาณอยู่ในแม่น้ำเลือดที่เดือดพล่านตลอดเวลา. นรกขุมนี้มีสามหลุมใหญ่ หลุมแรกสำหรับผู้กระทำความรุนแรงต่อเพื่อนบ้านเช่นฆาตรกร โจรเป็นต้น วิญญาณถูกปีศาจเซ็นทอร์ (Centaur ครึ่งม้าครึ่งคน) ยิงด้วยธนูเจ็บปวด แล้วถูกนำไปต้มในหนองน้ำของเลือดที่เดือดพล่าน. หลุมที่สองเป็นป่าใหญ่มืดแปดด้าน มีต้นไม้ใบไม้สีดำ กิ่งหงิกๆงอๆแปลกๆและเป็นพิษ  สำหรับผู้เคยทำบาปรุนแรงต่อตนเองเช่นฆ่าตัวตาย ผลาญเงินทองมรดกของตนเป็นต้น ในนรกหลุมนี้มีฮาร์ปีส์ (harpies ร่างและอุ้งเท้าเป็นนก หัวเป็นผู้หญิง) และฝูงสุนัขตัวเมียสีดำสนิทเฝ้าดูแลอยู่. วิญญาณที่ถูกส่งไปที่นี่ถูกแปลงร่างให้เป็นกิ่งไม้หนึ่งกิ่งที่เจริญผลิใบขึ้นเป็นต้นไม้ในป่านรกขุมนั้น ทันทีที่มีใบอ่อนผลิออกมา เหล่าฮาร์ปีส์รุมกันเข้าทึ้งกินใบอย่างตะกรุมตะกราม สร้างความเจ็บปวดไม่สิ้นสุดแก่วิญญาณต้นไม้เหล่านั้น. วิญญาณใดที่หลุดจากต้นไม้ก็จะถูกฝูงสุนัขไล่กวดถูกกัดถูกฉีกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย. วิญญาณเหล่านี้จักไม่มีวันคืนกลับสู่ร่างเดิม แม้ในวันพิพากษาสุดท้าย ในฐานที่ได้ทำลายชีวิตตนเองและจะไปปรากฏเบื้องหน้าพระเจ้าในร่างล่อนจ้อนเหมือนหนอนและต้องลากศพของตัวเองไปแขวนไว้บนกิ่งหนามแหลมของผู้ต้องโทษ.  หลุมที่สาม เป็นทะเลทรายสุดสายตา สำหรับผู้กระทำรุนแรงต่อพระเจ้า ต่อธรรมชาติ(การมีรักร่วมเพศเดียวกัน-sodomites) และต่อศิลปะ รวมทั้งผู้ที่หยาบโลนดูถูกดูหมิ่นศาสนา ผู้ที่พูดเสียดสีพระเจ้า และผู้ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยแพง. บนพื้นทะเลทรายนั้นวิญญาณนอนบ้าง นั่งชันเข่า หรือเดินไปไม่รู้หยุด ทั้งหมดถูกห่าฝนที่ตกเป็นเปลวไฟที่ไม่เคยดับ เผ่าไหม้มิหยุดหย่อน.
จากวงแหวนนรกขุมที่เจ็ดต้องไต่ลงในหุบเหวลาดชันอีก ดันเต้และเวอร์จิลต้องขี่หลังปีศาจลงไปถึงวงแหวนนรกชั้นที่8 เป็นที่รวมวิญญาณของคนหลอกลวง คดโกง ทุจริต ขี้ขโมย ฉ้อราษฎร์บังหลวง ประจบสอพลอ โกหกพกลม แม่มดหมอผี ผู้ขายความยุติธรรม ก่อความวุ่นวายแตกแยกในสังคมฯลฯ. นรกขุมนี้แบ่งออกเป็นหลุม10 ชั้นลึกลงไปสู่ใจกลางโลก. วิญญาณทั้งหลายถูกรุมทำร้ายเฆี่ยนโบยทนทุกข์ทรมานแบบต่างๆไม่มีวันสิ้นสุด เช่นพวกประจบสอพลอถูกกดจมในหลุมอุจจาระ, พวกแม่มดหมอผีมีหัวหันกลับไปด้านหลังของตัวและถูกบังคับให้เดินถอยหลังชั่วฟ้าดินสลาย, พวกขโมยร่างเปล่าเปลือยถูกบังคับให้วิ่งไปในความมืดชั่วกาลนาน หนีฝูงงูที่เลื้อยตามไม่ลดละ, พวกที่ก่อความแตกแยก ถูกคว้านตับไตไส้พุงออก แผลเหวอะหวะ เมื่อแผลหาย จะถูกปีศาจตนหนึ่งคว้านท้องใหม่ เจ็บแล้วเจ็บเล่าไปชั่วกัลปาวสานเป็นต้น. ตรงฐานของนรกชั้นที่แปดนี้ เป็นบ่อใหญ่ที่อยู่ของพวกยักษ์.
ออกจากวงแหวนนรกขุมที่แปดจึงต้องเผชิญกับฝูงยักษ์ แต่ดันเต้และเวอร์จิล ก็เอาตัวรอดไปถึงวงแหวนนรกชั้นที่ 9 ที่เป็นนรกขุมสุดท้าย ที่รวมวิญญาณของพวกทรยศสี่ประเภทคือ ทรยศต่อญาติพี่น้องหนึ่ง, ต่อชาติหนึ่ง, ต่อเจ้าของบ้านผู้ให้ที่พักที่กินหรือต่อแขกผู้มาอยู่ใต้ชายคาบ้านตนหนึ่ง และต่อพระเจ้าอีกหนึ่ง. วิญญาณทั้งหมดถูกฝังจมในทะเลน้ำแข็งที่ใสเหมือนแก้วเจียระไน มิอาจกระดุกกระดิกตัว หนาวยะเยือกกระทั่งลมหายใจหรือน้ำตากลายเป็นน้ำแข็งทันทีและปิดทับบนหน้า. บ้างถูกกดฝังลงในน้ำแข็งจนถึงคอ บ้างถูกฝังด้วยการเอาหัวทิ่มลงไปจนถึงน่อง. ในนรกขุมที่เก้านี้ ณ จุดที่ลึกที่สุด เป็นที่อยู่ของลูซีเฟอร์(ซาตาน)(ตำแหน่ง D) เป็นจุดใจกลางโลกบนเส้นศูนย์สูตร ตามความรู้ในยุคนั้น แผ่นดินโลกสิ้นสุดลงณเส้นศูนย์สูตรนั้น โลกอีกครึ่งหนึ่งเป็นผืนน้ำอันไพศาล.

ดันเต้และเวอร์จิลผ่านลงไปจนถึงจุดที่อยู่ของซาตานและเผชิญหน้ากับซาตาน (ดูรายละเอียดในภาพวงแหวนนรก) และหนีออกจากนรก (ตำแหน่งC ในภาพวงแหวนสวรรค์) ด้วยการไต่ไปบนหลังตลอดร่างของซาตาน ผ่านจุดใจกลางโลก ผ่านครึ่งโลกที่เป็นน่านน้ำไปขึ้นฝั่งบนเกาะกลางมหาสมุทร เป็นฝั่งเชิงเนินเขาสูงแห่งแดนปูร์กาโตรีโย (Purgatorio ที่ชำระล้างคนบาปให้กลับบริสุทธิ์ ณตำแหน่งD ในภาพวงแหวนสวรรค์) เป็นดินแดนที่วิญญาณคนตายผู้เคยทำบาปชนิดต่างๆไปคอยที่นั่น เมื่อดันเต้ไปถึงเป็นเช้าวันอีสเตอร์และได้เห็นกลุ่มดาวสี่ดวงบนท้องฟ้า. แดนชำระฯนี้เป็นภูเขาสูงแบ่งเป็นเจ็ดชั้นเจ็ดระดับ วนขึ้นในแบบของกรวยคว่ำ. วิญญาณแต่ละคนถูกส่งไปอยู่ในชั้นที่เหมาะกับบาปที่เคยทำ (ดูรายละเอียดในภาพแดนชำระบาป) และหลังจากรู้สำนึกผิด ก็ยังต้องวนเวียนอยู่ในนั้นอีกร้อยๆพันๆปี กว่าจะมีโอกาสรับการชำระล้างตัวให้บริสุทธิ์ แล้วจึงอาจปีนภูเขาแห่งแดนชำระฯ วนขึ้นไปจนถึงชั้นที่เจ็ดและออกไปสู่แดนสวรรค์บนดิน (Paradiso Terrestre ณตำแหน่งE ในภาพวงแหวนสวรรค์).  ดันเต้ได้ยินเสียงร้องเพลงสรรเสริญคุณธรรมที่ตรงข้ามกับบาปที่วิญญาณในแต่ละระดับได้เคยทำไว้. วิญญาณที่รู้สำนึกแล้ว พร่ำสรรเสริญคุณธรรมที่พวกเขาไม่เคยทำในชีวิต เหมือนตอกย้ำความเสียใจและสำนึกผิด.
ภาพแสดงรายละเอียดระดับชั้นบนภูเขาแห่งแดนชำระล้างบาปหรือปูร์กาโตรีโอ (Purgatorio)  ซึ่งเป็นเกาะลอยอยู่กลางผืนน้ำอันไพศาล  ตรงกับตำแหน่ง D ในภาพวงแหวนนรก ตรงฐานเห็นประตูทางเข้า วิญญาณบาปถูกส่งไปในระดับต่างๆ ยังต้องถูกทรมานต่ออีกนานกว่าจะรู้จักสำนึกผิดอย่างแท้จริงจึงจะได้รับการชำระล้างจนบริสุทธิ์.
จากระดับต่ำที่สุด สำหรับบาปของความหยิ่งยะโส(Superbia)
ระดับ 2 สำหรับบาปของความอิจฉาริษยา(Invidia)
ระดับ 3 สำหรับบาปของความโกรธ(Ira)
ระดับ 4 สำหรับบาปของความเกียจคร้าน(Acedia)
ระดับ5 สำหรับบาปของความตระหนี่และความสุรุ่ยสุร่าย(Avaritia&Prodigia)
ระดับ 6 สำหรับบาปของความตะกละ(Gula)
และระดับ7 ที่สูงที่สุด สำหรับบาปของกามตัณหา(Luxuria).
พ้นระดับที่เจ็ดถึงแดนสวรรค์บนดิน (Paradiso Terrestre) ตรงกับตำแหน่ง E ในภาพวงแหวนสวรรค์ ดันเต้พบเบียทริซที่นี่ (ภาพจาก www2.bc.edu) วิญญาณในแดนชำระฯ และเทวทูตผู้เฝ้าดูแลในนั้น ต่างร้องเพลงสรรเสริญคุณธรรมต่างๆที่วิญญาณเหล่านั้นไม่เคยได้ทำ และที่นั่นพวกเขาเริ่มสำนึกผิดแล้ว. 

ณจุดนั้นที่ระดับต่ำสุดของแดนชำระ ความฉลาดสุขุมของคนหมดความหมายลง เวอร์จิลจึงทำหน้าที่ต่อไม่ได้ เขาเลือนลับหายไป. สติปัญญาจึงยังไม่เพียงพอที่จะช่วยดันเต้ไปสู่สวรรค์ หรือนำเขาไปชื่นชมราศีพระเจ้าได้ ต้องเป็นความศรัทธาเท่านั้นตอนนั้นเองที่เบียทริซ(Beatrice)[21] มาปรากฏตัว. นางเป็นสัญลักษณ์ของศรัทธาที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้า. ความศรัทธาเท่านั้นที่จะช่วยให้มนุษย์ไปถึงพระเจ้าได้. เบียทริซเข้ามาเป็นผู้นำทางให้ดันเต้ และพาเขาหลุดจากแดนชำระฯไปสู่แสงสว่างในสวรรค์ชั้นฟ้า (Paradiso).
วงแหวนสวรรค์
แผนผังของไตรภูมิในทัศนคติของดันเต้ บนพื้นฐานความรู้ด้านภูมิศาสตร์และดาราศาสตร์ของยุคศตวรรษที่ 14 ที่ดวงดาวต่างๆ รวมทั้งดวงอาทิตย์และดวงจันทร์หมุนรอบโลก. กวีนิพนธ์ของดันเต้จึงให้ทั้งแผนที่ของจิตวิญญาณระดับต่างๆและเข็มทิศแห่งจริยธรรมที่ผู้อ่านต้องเลือกเองว่าจะเดินไปบนเส้นทางใด
ภาพจาก http://www.evidenzaliena.wordpress.com  นำมากำกับให้เห็นชัดเจนและเข้าใจง่ายขึ้น.
      สวรรค์แบ่งออกเป็นเก้าชั้น (ตำแหน่ง 1-9 ในภาพวงแหวนสวรรค์) เป็นท้องฟ้าเก้าระดับที่สูงใหญ่กว้างออกไปเรื่อยๆ และเรียงกันเป็นชั้นๆเหมือนวงแหวนท้องฟ้า. ตรงข้ามกับนรก สวรรค์คือแสงสว่าง กลิ่นหอมกรุ่นของดอกไม้อบอวลไปทั่ว เสียงดนตรีและเสียงเพลงเสนาะหูเพลิดเพลินใจ. วิญญาณคนดีผู้ได้รับพร (the blessed) ที่อยู่ในสวรรค์ ปรากฏให้ดันเต้เห็นเป็นแสงสว่าง และความกระจ่างพร่างพรายตาของแสง นั่นคือการแสดงออกของความปลื้มปิติของดวงวิญญาณ.
วงแหวนท้องฟ้าแต่ละวง เป็นที่ตั้งของดวงดาวสำคัญดวงหนึ่ง เรียงกันตามลำดับดังนี้คือ 1. ดวงจันทร์ สวรรค์ชั้นที่หนึ่งนี้ มีโซนท้องฟ้าเป็นไฟ (ที่เทียบได้กับความร้อนแรงของวิญญาณสำนึกของคนที่กำลังมุ่งสู่พระเจ้า) 2. ดาวพุธ 3. ดาววีนัส(ดาวศุกร์) 4. ดวงอาทิตย์(ยุคนั้นเชื่อว่าดวงอาทิตย์เป็นดาวดวงหนึ่งที่หมุนรอบโลก) 5. ดาวอังคาร 6. ดาวพฤหัส 7. ดาวเสาร์ 8. ในวงแหวนท้องฟ้าที่แปดเป็นที่ตั้งของดวงดาวอื่นๆที่นิ่งอยู่ณตำแหน่งหนึ่งเต็มท้องฟ้า(Cielo Stellato) 9.พรีโม โม้บิเล (Primo Mobile) เป็นวงแหวนท้องฟ้าชั้นที่สะอาดโปร่งใสไร้อณูหรือเมฆหมอกใด ใสบริสุทธิ์เหมือนแก้วผลึกเนื้อดี เป็นวงแหวนท้องฟ้าที่เคลื่อนไหวด้วยพลังความรักของพระเจ้า และโดยปริยายเท่ากับสวรรค์ชั้นนี้ควบคุมการหมุนของสวรรค์ชั้นล่างๆลงไป. เวลา เริ่มต้นในสวรรค์ชั้นนี้.
       เมื่อดันเต้และเบียทริซไปถึงสวรรค์ชั้นที่เก้า ดันเต้เห็นจุดสว่างไสวที่มีวงแหวนแสงสว่างเก้าวงล้อมรอบ จุดสว่างนั้นคือพระเจ้าและวงแหวนแสงเก้าวงที่ใกล้พระเจ้านั้น คือพลังจากพระองค์. ในแต่ละวงแหวนแสงนั้นเป็นที่สถิตของเหล่าทวยเทพ.[22] การแบ่งวงแหวนท้องฟ้านี้เป็นไปตามทฤษฎีดาราศาสตร์ของปโตเลมี (Ptolemaios ในภาษากรีก มีชีวิตในราวปี 90-168 ก่อนคริสตกาล เป็นนักดาราศาสตร์ นักคณิตศาสตร์และนักภูมิศาสตร์)[23]
     ในท้องฟ้าแต่ละชั้น เป็นที่รวมของผู้ไม่เคยทำบาปและทำแต่กรรมดี ผู้ที่ยึดหลักคุณธรรมตั้งแต่สองสามคุณธรรมในคุณธรรมหลักหรือคุณธรรมศาสนา. ผู้ที่สั่งสมคุณธรรมไว้มากเพียงใดหรือได้ครบทั้งเจ็ดประการ ย่อมขึ้นไปอยู่ในสวรรค์ชั้นสูงๆขึ้นไป[24]  เมื่อไปถึงสวรรค์ชั้นที่แปด เหล่าอัครสาวก(ปีเตอร์ เจมส์ และจอห์น) ได้ตั้งคำถามดันเต้เพื่อทดสอบความเข้าใจของเขา. ดันเต้ตอบได้น่าพอใจ. เมื่อผ่านจากท้องฟ้าชั้นที่เก้า ดันเต้ได้เห็นวงแหวนสวรรค์ ที่อยู่ของเหล่าเทวทูตทั้งหลายที่ล้อมรอบสวรรค์ ถึงบริเวณสวรรค์เอ็มปีเรโอ (Empireo ณตำแหน่ง10ในภาพ 3) เป็นดินแดนแห่งความสงบและแสงสว่าง. ดันเต้สุดปลาบปลื้มและตื้นตันที่ได้เห็นแสงสว่างอันบรรเจิดที่มองดูคล้ายดอกกุหลาบสีขาวดอกมหึมา(Rosa dei Beati) และที่อาจเทียบได้กับหน้าตางกระจกสีวงกลมเหมือนดอกกุหลาบบานดอกใหญ่ (rose windows) ที่ประดับโบสถ์กอติคด้านทิศเหนือและทิศใต้ของโบสถ์น็อตเตรอดามกรุงปารีส. บนสวรรค์ชั้นเอ็มปีเรโอนี้ ดันเต้ได้เห็นวิญญาณทั้งหลายที่ได้รับพรจากพระเจ้า ในร่างของคน (จนถึงสวรรค์ชั้นนั้น วิญญาณคนดีทั้งหลายปรากฏเป็นแสงสว่าง ส่วนในนรกและแดนชำระฯนั้น ดันเต้ได้เห็นแค่เงาดำๆ). ตรงกลางของดอกกุหลาบสวรรค์นี้ เป็นที่ประทับของพระแม่มารีและมีวิญญาณของเหล่าคนดีทั้งหญิงและชาย ทั้งจากคัมภีร์เก่าและใหม่ รวมทั้งอัครทูตจอห์นและนักบุญต่างๆ นั่งห้อมล้อมลดหลั่นเป็นชั้นๆ เหมือนกลีบดอกกุหลาบที่บานแทรกซ้อนกันอย่างสวยงาม. ที่นั่นเบียทริซผละจากดันเต้ไปนั่งณตำแหน่งหนึ่งในดอกกุหลาบสวรรค์นั้น และนักบุญแบร์นาร์ดเดอแกลร์โวส์ (Bernard de Clairvaux, 1091-1153 นักบวชชาวฝรั่งเศส บุคคลสำคัญที่สุดคนหนึ่งในคริสตจักรยุคนั้น)[25] มาปรากฏตัวเพื่อนำทางดันเต้สู่อาณาจักรของพระเจ้า. นักบุญแบร์นาร์ดสวดวิงวอนขอให้พระแม่มารีช่วยดันเต้ให้ได้ เห็น พระคริสต์ และให้พลังสติปัญญาแก่ดันเต้ สำหรับไปเขียนเล่าการเดินทางผ่านไตรภูมิของเขาเมื่อกลับคืนไปสู่โลก. ในที่สุดดันเต้ได้เห็นแสงสว่างของพระเจ้า-ใจกลางของจักรวาล (ตำแหน่ง11ในภาพ 3) ได้เห็นและ รู้แจ้ง ในความเป็นตรีเอกานุภาพของพระองค์ผู้มี  ความรักที่ขับเคลื่อนดวงอาทิตย์และดวงดาวได้ทั้งหมด  (Paradiso: Canto XXXIII)   
      บนเส้นทางผ่านไตรภูมิของดันเต้ แต่ละชั้นแต่ละขุม ดันเต้และเวอร์จิลพบบุคคลคนดัง คนเลวทั้งในสังคมก่อนคริสตกาล เช่นในกรีซโบราณ และบุคคลในสังคมโรมันและสังคมอิตาเลียน ตั้งแต่คริสตกาลถึงยุคร่วมสมัยกับดันเต้. ดันเต้ได้โอกาสซักถามและสนทนากับวิญญาณในแต่ละภูมิที่เขาได้ผ่านเข้าไป เช่นกับวิญญาณบรรพบุรุษต้นตระกูลของดันเต้. เล่าถึงการพบปะ การถูกซักถามจากวิญญาณของอัครสาวก นักบุญนักบวช. เขาได้ถ่ายทอดความคิดและพฤติกรรมของบุคคลต่างๆในอดีตใน ดีวีนา ก็อมเมเดีย เช่นนี้เท่ากับว่าดันเต้ตีแผ่เปิดเผยความจริงที่เขารู้ ความไม่ดีไม่ถูกต้อง คำอธิบายจากวิญญาณว่า ทำไมจึงได้ทำบาปนั้นๆ หรือสรรเสริญความดีงามของวิญญาณในสวรรค์ รวมทั้งจดจำคำเตือนจากวิญญาณในภูมิทั้งสามสู่ชาวโลก. เขากล้าพูด กล้าวิจารณ์โดยไม่ไว้หน้าใคร. ดันเต้ได้พรรณนาสภาพของนรก แดนชำระฯและสวรรค์แต่ละชั้นอย่างละเอียดลออ. ให้ภาพของนรกและความทุกข์ทรมานแสนสาหัสที่วิญญาณคนบาป ต้องทนไปชั่วฟ้าดินสลาย. ชาวอิตาเลียนติดตามอ่านกวีนิพนธ์ของดันเต้ มีการวิพากษณ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง มีทั้งสะใจ สมน้ำหน้าที่บุคคลหลายคนในวงการศาสนาและการเมืองที่ถูกประณามอย่างตรงไปตรงมาในกวีนิพนธ์ของดันเต้ แต่ก็มีหลายคนที่โกรธเคืองดันเต้.  
      การที่ดันเต้ใช้คำว่า ก็อมเมเดีย (Commedia ที่แปลว่า สุขนาฏกรรม) แม้ว่าสองในสามของเนื้อหา เกี่ยวกับความโศกสลด ความทุกข์ทรมานของคนบาปจำนวนมากในนรก แต่กวีนิพนธ์จบลงในสุขคติ ในการได้ เห็นบารมีอันงามเลิศพิสุทธิ์ของพระเจ้า. นักวิจารณ์กล่าวว่า วิธีการประพันธ์ของดันเต้ เป็นตัวอย่างสุดยอดของการใช้วัจนลีลาอันหลากหลาย เป็นตัวอย่างของกาพย์กลอน ของบทละครเร้าอารมณ์ ของบทพรรณนาเชิงเปรียบ(ด้านสังคมและการเมืองที่กำลังคุกกรุ่นในยุคนั้น) หรือของบรรยากาศที่เต็มไปด้วยมนต์ขลัง(เมื่อเกี่ยวกับบุคคลในประวัติศาสตร์หรือในคัมภีร์) เป็นต้น. ทั้งหมดรวมกันในเอกภาพที่สมดุลและมีน้ำหนัก ที่ชี้ให้เข้าใจว่า ดันเต้มีแรงบันดาลใจที่ไม่ถดถอยตั้งแต่ต้นจนจบ. นักวิจารณ์สรุปว่าวรรณกรรมชิ้นนี้เป็นอาหารแห่งชีวิต เป็นความอลังการของ  โบสถ์กอติคหลังสุดท้ายของโลก

      หนังสือต้นตำรับคุณธรรมเล่มสำคัญๆ(1-8) ที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากได้ฝังจิตสำนึกเกี่ยวกับความดีความชั่วแก่ชาวยุโรปมาหลายสิบศตวรรษ ยังเป็นแม่บทของการนำเสนอภาพของความดีความชั่วตั้งแต่ต้นยุคกลางเป็นต้นมา ทั้งในด้านจิตรกรรมและประติมากรรม.

9. วิธีการนำเสนอจริยธรรมในคริสต์ศิลป์
       คุณธรรมและจริยธรรม เป็นสิ่งที่ศาสนายกย่องเหนือศาสตร์วิชา เหนือพิธีกรรมทุกรูปแบบ. คุณธรรมเป็นจุดสำคัญที่สุด ที่คริสต์ศาสนาต้องการให้ชาวคริสต์เห็น(และจับต้องได้)อย่างชัดเจน. ในศิลปะการสร้างโบสถ์และโดยเฉพาะโบสถ์โรมันเนสก์และกอติค ดังที่ เอมีล มาล์ (Emile Mâle, 1862-1954 นักประวัติศาสตร์ศิลป์แห่งบัณฑิตยสภาฝรั่งเศส)[26]  ได้สรุปและรวมเอกลักษณ์ของศิลปะการสร้างโบสถ์ในยุคกลางไว้ว่า  โบสถ์เป็นกระจกส่องธรรมชาติ  โบสถ์เป็นกระจกส่องศาสตร์วิชา  โบสถ์เป็นกระจกส่องจริยธรรม และโบสถ์เป็นกระจกส่องประวัติศาสตร์   (อ่านรายละเอียดได้ในหนังสือของ โชติรส)
       เราอ่านจริยธรรมจากศิลปะการสร้างโบสถ์ได้อย่างไร  ปรากฏอยู่ส่วนใดบ้างของโบสถ์และมีวิธีนำเสนอคุณธรรมหรือบาปเป็นคู่ๆ ด้วยทัศนศิลป์สองมิติได้อย่างไร
       ด้านหน้าโบสถ์ใหญ่ๆในฝรั่งเศสและโดยเฉพาะโบสถ์กอติคจำนวนมาก ล้วนน่าทึ่งทั้งสิ้นนั้น มีประติมากรรมเต็มทุกกระเบียดนิ้วทั้งด้านทิศเหนือ ทิศใต้และโดยเฉพาะด้านหน้าทิศตะวันตกของโบสถ์ที่ถือเป็นหน้าบ้านของโบสถ์ ทั้งที่เป็นรูปปั้นใหญ่ๆที่นักประวัติศาสตร์ศิลป์เจาะจงได้อย่างชัดเจน(เกือบทั้งหมด)ว่า คือบุคคลใดในคัมภีร์เก่าและใหม่หรือในตำนานพื้นบ้าน. รูปปั้นไม่เหมือนกันแต่ละรูปปั้น โยงไปถึงเรื่องราวเรื่องหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง. ทั้งหมดรวมกันเป็นประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ. รูปปั้นเหล่านั้นเหมือนยืนยันว่า เรื่องราวทั้งหลายในคัมภีร์นั้นเกิดขึ้นจริง มีตัวตนของบุคคลเหล่านั้นจริง. รูปปั้นนักบุญเตือนให้นึกถึงการเผยแผ่คำสอนที่นักบุญผู้นั้นได้ไปในดินแดนต่างๆ และยังบอกให้รู้ว่านักบุญผู้นั้นตายอย่างไร หรือถูกฆ่าสังเวยความเชื่ออย่างไร. หน้าบันจำหลักเหนือประตูทางเข้า ที่มีตั้งแต่สามถึงห้าประตูก็เช่นกัน เล่าถึงเรื่องราวในสวรรค์ บางแห่งเรื่องราวของนักบุญที่ได้ดลใจชาวบ้านถิ่นนั้น ให้สร้างโบสถ์หลังนั้นอุทิศแก่นักบุญผู้นั้น เป็นต้น.  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน้าบันของประตูกลางของโบสถ์ ที่เป็นประตูใหญ่ที่สุด จำหลักเป็นฉากในสวรรค์ ในวันพิพากษาสุดท้าย เน้นความหมายและความสำคัญของพระคริสต์ในฐานะที่เป็นผู้พิพากษาสูงสุดและให้ความหวังแก่ชาวคริสต์ บอกให้รู้ว่า คนดีจะได้รางวัล ได้เข้าไปอยู่ในสวรรค์ และคนชั่วจะถูกลากตัวลงไปในนรก. 
       ใต้รูปปั้นใหญ่ๆที่เป็นฐานของกำแพง มีประติมากรรมจำหลักนูนประดับเต็มทุกพื้นที่กำแพง.  ประติมากรรมส่วนนี้เอง ที่เป็นเวทีของจริยธรรม เช่น ที่โบสถ์น็อตเตรอดามกรุงปารีส, เมืองอาเมียงส์เป็นต้น. จริยธรรมมิได้ขึ้นไปประดับบนหน้าบัน หรืออยู่เคียงข้างเหล่านักบุญหรือเทวทูต  แต่อยู่ในระดับสายตาเพื่อให้ชาวคริสต์ได้เห็นอย่างชัดเจน ได้แตะต้องลูบไล้เวลาเดินผ่านเข้าออกโบสถ์ฝีเท้าคนที่เดินผ่านติดต่อกันมาหลายศตวรรษ ยังทำให้ฝุ่นปลิวกระจายไปติดบนศิลาจำหลักนูนเหล่านั้น. ตำแหน่งของประติมากรรมจำหลักชุดจริยธรรมบนฐานกำแพงด้านหน้าของโบสถ์ทั้งหลายนั้น ให้ความหมายแจ่มชัดที่สุดแล้วว่า จริยธรรมศาสนานั้นพวกเขาต้องหมั่นสั่งสมเป็นสมบัติติดตัวให้ได้. จริยธรรมเหมือนฐานกำแพงที่มั่นคงและพร้อมจะพาตัวคนนั้น ทะยานขึ้นสูงสู่ท้องฟ้า สู่อาณาจักรของพระเจ้า.
ด้านหน้าทิศตะวันตกของโบสถ์น็อตเตรอดามเมืองอาเมียงส์และประตูใหญ่ตรงกลาง 
(la cathédrale d’Amiens, France)
ประตูใหญ่ตรงกลาง เป็นประตูที่สำคัญที่สุดของโบสถ์. หน้าบันเหนือประตู แสดงฉากพิพากษาสุดท้ายในสวรรค์. ตรงกลางเสารูปปั้นพระคริสต์ยืนยกมือในท่าประทานพร. ใต้รูปปั้นของพระคริสต์มีรูปปั้นขนาดเล็กลงของกษัตริย์เดวิดบรรพบุรุษของพระเยซู เน้นการสืบเชื้อสายกษัตริย์ จากกษัตริย์บนโลกสู่กษัตริย์ในสวรรค์ จึงเชื่อมโยงคัมภีร์เก่ากับคัมภีร์ใหม่. สองข้างบนกำแพงมีกลุ่มรูปปั้นนักบุญยืนเรียงราย. ใต้ลงไปบนฐานกำแพงมีประติมากรรมจำหลักเป็นวงดอกจิกเรียงซ้อนกันสองแถว บนฐานกำแพงสองข้างประตูทั้งซ้ายและขวา. ตรงนั้นเป็นเวทีนำเสนอของจริยธรรมศาสนา. จริยธรรมที่กำกับหมายเลข(ที่จะอธิบายข้างล่างนี้) 1-6 อยู่ฐานกำแพงด้านซ้ายของภาพ(ด้านขวามือของพระคริสต์) และหมายเลข 7-12 อยู่บนฐานกำแพงด้านขวาของภาพ(ด้านซ้ายมือของพระคริสต์). นอกจากนี้ยังมีรูปปั้นจำหลักเล็กๆเรียงในแนวตั้ง สองข้างกรอบประตู. ด้านซ้ายของภาพเป็นแถวของสตรีผู้ประพฤติดีประพฤติชอบ (ดูต่อไปข้างล่างนี้) และด้านขวาของภาพเป็นแถวของสตรีที่ประพฤติออกนอกลู่นอกทางของศาสนา (ดูต่อไปข้างล่างนี้)

     การถ่ายทอดจริยธรรม ยึดตามหนังสือไซโคมาเกียของปรูเด็นตีอุซที่กล่าวมาในตอนต้น อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมแปลกออกไปบ้างเมื่อเป็นจิตรกรรมหรือประติมากรรม เพราะการพรรณนาด้วยคำพูดเกือบไม่มีขอบเขตจำกัด ให้วิจิตรพิสดารละเอียดอย่างไร ก็ทำได้ง่ายกว่าการถ่ายทอดลงบนกระดาษวาดเขียนหรือลงบนหินสองถึงสามมิติ. ตั้งแต่ศตวรรษที่ 5 จึงไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดหรือมีงานศิลป์แบบใดที่สามารถเก็บรักษาคำพรรณนาของความดีและความชั่วไว้ได้ครบ.
จิตรกรบางคนใช้ภาพของอัศวินหรือขุนนางนักรบที่ไปสงครามครูเสด แทนภาพนักรบสตรีของปรูเด็นตีอุซ เพื่อให้เหมาะกับยุคของศักดินา เหมาะกับเหตุการณ์ของแต่ละยุคด้วย (แต่แบบนี้ไม่เหลือมาให้เห็นในปัจจุบัน). ประติมากรรมในศิลปะโรมันเนสก์ของโบสถ์หรือวิหาร คุณธรรมถือหอกเหยียบอยู่บนความชั่วหรือบาป. ใต้รูปปั้นหรือประติมากรรมจำหลัก มีชื่อของคุณธรรมหรือของบาปชนิดนั้น (แต่ถูกลบเลือนไปกับกาลเวลา). บางแห่งมีครบทุกคู่รณรงค์ บางแห่งคุณธรรมและบาปถูกตัดออกเพราะเนื้อที่ไม่พอ. โดยทั่วไปมีหกคู่ รายละเอียดปลีกย่อยในคำพรรณนาต่างๆถูกตัดออกไป เหลือเพียงองค์ประกอบที่อาจโยงไปถึงคุณธรรมหรือบาปแต่ละชนิดอย่างรวบรัดคุณธรรมชนะบาปด้วยวิธีเดียวกันเสมอ คือเหยียบอยู่เหนือบาป. ชุดจริยธรรมที่ปรากฏจำหลักไว้ ที่ดีเด่นและที่ตกทอดมาให้เห็นจนถึงปัจจุบันนั้น ไม่มีกิริยาท่าทางของการต่อสู้ตามเนื้อหาในหนังสือของปรูเด็นตีอุซ แต่ใช้ท่าทางอันสงบและรูปลักษณ์ที่มั่นคงสมดุลเพื่อสื่อชัยชนะ. เป็นภาพสตรีนั่งอยู่กับที่อย่างรักษาศักดิ์ศรี ไม่ใส่เครื่องแต่งกายแบบนักรบ มือก็ไม่ถืออาวุธ แต่ถือโล่ บนโล่มีสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายของคุณธรรมแบบหนึ่ง (จะเข้าใจว่าคุณธรรมใด จึงต้องเข้าใจระบบสัญลักษณ์หรือค่านิยมที่คริสต์ศาสนาได้กำหนดขึ้นมาก่อน). เราอาจพูดได้ว่า การสู้รบยุติลงแล้ว.
ภาพแบบนี้อาจไม่ประทับใจหรือดึงดูดความสนใจมากเท่าฉากรบพุ่ง แต่ก็มีเสน่ห์ไปอีกแบบหนึ่ง.  ส่วนภาพที่แสดงอธรรมหรือบาป อยู่ในท่าหกคะเมนตีลังกา เป็นภาพที่แสดงความอลหม่านไม่สมดุล. ภาพของอธรรมจัดอยู่ข้างใต้ภาพของคุณธรรมเสมอ. วิธีการนำเสนอที่แตกต่างตรงข้ามกันเช่นนี้ ชี้ให้เห็นอัจฉริยภาพของศิลปิน ที่เข้าใจธรรมชาติของคนอย่างลึกซึ้งว่า คุณธรรมเท่านั้นที่สามารถผนึกจิตวิญญาณของคนและทำให้เขารู้สึกมั่นคงในชีวิต เพราะออกจากคุณธรรมเมื่อใด คนก็ต้องเผชิญกับความสับสนอลหม่านเมื่อนั้น. ในศิลปะโรมันเนสก์ ศิลปินนึกแต่เพียงว่า « ชีวิตของชาวคริสต์คือการต่อสู้ »  ในศิลปะกอติค ศิลปินนึกต่อไปอีกว่า « ชีวิตของชาวคริสต์ที่เพียรสะสมคุณธรรมไว้ในดวงใจ คือความสงบสุขในตัวแล้ว เพราะเท่ากับว่าเขากำลังอยู่ในอ้อมอกอันอบอุ่นไร้กังวลของพระเจ้า ».
กำแพงด้านซ้ายตรงทางเข้า ขีดสีแดงแบ่งรูปปั้นของศาสดาพยากรณ์ในคัมภีร์เก่า (The prophets) และอัครสาวกในคัมภีร์ใหม่ (The apostles) บนกำแพงในดอกจิกใต้รูปปั้นของศาสดาพยากรณ์ จำหลักเหตุการณ์สำคัญของศาสดาพยากรณ์แต่ละคน ส่วนในดอกจิกใต้รูปปั้นของอัครสาวก คือแบบอย่างของคุณธรรมและอธรรม โดยมีคุณธรรมหกอย่างอยู่แถวบน ตรงข้ามกับอธรรมหกชนิดในแถวล่างบนกำแพงด้านขวาของประตูใหญ่ มีอีกหกคู่.
 
       มาพิจารณาดูประติมากรรมจำหลักนูนชุดจริยธรรมที่โบสถ์เมืองอาเมียงส์ ที่เหลือให้เห็น เกือบสมบูรณ์ แห่งเดียวในฝรั่งเศสและในโลก. เป็นศิลปะกอติคยุคศตวรรษที่ 13  ภาพคุณธรรมสิบสองประการ จัดเรียงเหนือภาพบาปสิบสองชนิดเป็นคู่ๆดังนี้
1. ความศรัทธาคู่กับความหลงงมงาย 
2. ความหวังคู่กับความสิ้นหวัง 
3. ความรักคู่กับความตระหนี่ถี่เหนียว
4. การรักษาพรหมจรรย์คู่กับความลุ่มหลงในกามสุข
5. ความไม่ประมาทคู่กับความบ้าคลั่ง
6. ความถ่อมตนคู่กับความหยิ่งยะโส
7. กำลังหรืออำนาจคู่กับความขลาดกลัว 
8. ความอดกลั้นคู่กับความโกรธ 
9. ความอ่อนโยนคู่กับความกระด้าง
10. ความปรองดองคู่กับความแตกแยก
11. ความเชื่อฟังคู่กับความเป็นปริปักษ์
12. ความเพียรพยายามคู่กับความเหลาะแหละ
คำอธิบายข้างล่างนี้ช่วยให้เราชาวพุทธเข้าใจรายละเอียดของการนำเสนอคุณธรรมและบาปได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และเป็นพื้นฐานนำไปสู่ความเข้าใจคริสต์ศิลป์แบบอื่นๆด้วย.
1. ความศรัทธา เป็นอันดับหนึ่งเป็นตำแหน่งเกียรติยศ บนโล่ที่เธอถือนั้นมีรูปไม้กางเขนในถ้วยเหล้า. ไม้กางเขนหมายถึงการสละชีวิตของพระเยซูเพื่อไถ่บาปให้มนุษยชาติ  ส่วนถ้วยเหล้านั้นต้องการสื่อความสำคัญของถ้วยที่บรรจุเลือดของแกะที่ชาวคริสต์สมัยแรกๆฆ่าบนแท่นบูชาเพื่อสังเวยพระเจ้า. ต่อมาถ้วยเหล้ากลายเป็นสัญลักษณ์เตือนให้ระลึกว่า พระเยซูได้สละเลือดเพื่อมนุษย์เหมือนแกะที่ถูกสังเวย. ความศรัทธาในความหมายของคริสต์ศาสนา จึงหมายถึงความเชื่อและศรัทธาในการเสียสละชีวิตของพระเยซู. ภาพถ้วยเหล้ายังต้องการสื่อความหมายต่อไปถึงความเชื่อและศรัทธาในพิธีรับศีลมหาสนิทหรือยูการิซเตีย(Eucharistia) อันโยงไปถึงการตายของพระเยซู และถือเป็นพิธีอัญเชิญพระองค์มาปรากฏในขนมปังและเหล้าที่พระจะเชิญชวนให้ชาวคริสต์กินและดื่ม เพื่อเข้าถึงพระองค์ เพื่อให้มีกำลังในการดำรงชีวิตบนเส้นทางที่นำไปสู่พระองค์. ในวงดอกจิกข้างล่างเราเห็นคนกำลังบูชาอะไรตัวหนึ่ง (ดูใกล้ๆเห็นขนปุกปุย) หมายถึง การหลงงมงาย ในลัทธิความเชื่ออื่น. คริสต์ศาสนาเปรียบว่าเหมือนไปเคารพนบนอบสัตว์ตัวหนึ่ง.
2. ความหวัง เป็นภาพของผู้หญิงที่มองขึ้นสู่เบื้องบน มือยกขึ้นไปในทิศทางที่มีมงกุฎ. มงกุฎเป็นสัญลักษณ์ของความรุ่งโรจน์ในอนาคตที่รอคอยนางอยู่.  ใกล้ๆนางมีโล่ที่มีภาพธงไม้กางเขน. นักโบราณคดีบางคนตีความว่า โล่ดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะ ตีความไกลออกไปได้ว่า เป็นสัญลักษณ์ของการกลับฟื้นคืนชีวิต อันเป็นสัญลักษณ์ของพระเยซูคริสต์ขณะก้าวออกจากโลงศพ.  ไม้กางเขนเครื่องมืออันน่ารังเกียจต่ำต้อยที่ตรึงพระเยซู กลับกลายมาเป็นเครื่องประดับที่วิเศษสุดเพราะ(ตามคติศาสนาเป็นสิ่งที่พิสูจน์ความเป็นพระเจ้าของพระเยซูผู้เอาชนะความตาย. ภาพของความหวังจึงมีรากฐานมาจากความมั่นใจอย่างแท้จริงของชาวคริสต์ ว่าตนจะฟื้นคืนชีวิต มีเลือดเนื้อและวิญญาณเป็นสิ่งตอบแทนจากพระผู้เป็นเจ้า. ส่วนภาพของ ความสิ้นหวัง เป็นคนที่ไม่มีทางออกอะไรแล้วในชีวิต สูญสิ้นความมั่นคง ท่าทางเหมือนจะล้มลงเป็นคนที่หมดศรัทธาและความหวังในพระเจ้าแล้ว จึงฆ่าตัวตาย. (ในยุคกลางความโกรธสุดขีด ทำให้คนโกรธแทงตัวตาย ในยุคปัจจุบัน คนโกรธทำร้ายคนอื่น).
3. 
ความรัก แสดงด้วยการให้ทาน (ผู้หญิงถอดเสื้อตัวนอกของเธอให้แก่คนจน) ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการแสดงความรัก. บนโล่ของเธอมีภาพแกะตัวเมียอยู่ตรงกลาง. ในสมัยกลาง แกะตัวเมียเป็นสัญลักษณ์ที่กินใจของความลืมตัวตน เพราะแกะให้เนื้อหนังมังสาของมันเป็นอาหารแก่ผู้ที่แข็งแรงกว่า ให้น้ำนมเป็นอาหารแก่ผู้ที่อ่อนแอกว่า ขนของแกะห่อหุ้มผู้เปล่าเปลือยและให้ความอบอุ่นแก่ผู้ที่เหน็บหนาว. ความรักถูกจัดให้คู่กับความตระหนี่(หรือความโลภ).  บาปนี้เสนอเป็นภาพผู้หญิงกำลังเก็บสมบัติเข้าในหีบเหล็กที่เธอจะปิดอย่างแน่นหนาและมิดชิด (บางแห่งผู้หญิงยกมือขึ้นปิดหน้าอกเพราะได้แอบซ่อนถุงเงินถุงทองไว้ภายในเสื้อ).  
4. การรักษาพรหมจรรย์  เป็นภาพสตรีสาวถือกิ่งต้นปาล์มคล้ายใบตาล บนโล่มีสัตว์ตัวหนึ่งอยู่ในเปลวไฟที่กำลังลุกโพลง. สัตว์ตัวนี้คือตัวแซลาแมนเดอร์(ดูคล้ายกิ้งก่าตัวใหญ่). เล่ากันว่าสัตว์ชนิดนี้ทนไฟนัก แถมยังสามารถดับไฟได้ด้วย. ในศตวรรษที่13 นักธรรมชาติวิทยาคิดกันว่า เป็นสัตว์ที่ไม่มีเพศ จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของ  การรักษาพรหมจรรย์. ใบปาล์มเป็นสัญลักษณ์ของการเสียสละ. นักบุญที่ยอมพลีชีวิตสังเวยความเชื่อของตน มีใบปาล์มนี้ในมือด้วยทุกคนในศิลปะยุคกลาง. การครองตัวให้เป็นผู้บริสุทธิ์และตัดความต้องการทางเพศออก เป็นการฝืนกฎธรรมชาติ คนต้องมีความแน่วแน่และความตั้งใจสูงมาก จึงเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่งในคริสต์ศาสนาและเป็นคุณธรรมที่ยุคกลางยกย่องสรรเสริญเป็นพิเศษส่วนภาพที่อยู่ตรงกันข้างล่างคือภาพของ ความหลงใหลในกามสุข เห็นผู้ชายกำลังจูบผู้หญิง.
5. ความไม่ประมาท สตรีนางหนึ่งถือโล่ที่มีภาพงูอยู่ตรงกลาง  ตรงตามคำสอนของพระเยซูที่ว่า  ขอให้พวกเจ้าจงอย่าประมาท จงรอบคอบเหมือนงู   ที่เปรียบกับงู เพราะงูคลานไปช้าๆไม่เคยผลีผลาม.  ความบ้าคลั่ง ที่คู่กับความไม่ประมาทนั้น เป็นภาพของผู้ชายถือตระบอง เท้าเดินไปข้างหน้าแต่ศีรษะหันกลับไปดูข้างหลัง. มือถือก้อนอะไรก้อนหนึ่งเข้าปาก มีก้อนหินเหนือหัว.  อธิบายกันว่า คือภาพคนบ้าที่กำลังหนีพวกเด็กๆที่เอาก้อนหินปาขับไล่เขา. ในยุคกลางมีปรากฏพรรณนาเกี่ยวกับคนบ้าว่าถือตระบอง ยุคหลังๆเปลี่ยนเป็นถือไม้ท่อนหนึ่ง ปลายบนของไม้มีรูปหัวคนสวมหมวก มีกริ่งลูกเล็กๆติดกับจุกหมวก เดินไปไหนก็มีเสียงกริ๊งๆ เป็นการเตือนให้คนรู้ว่าคนบ้ามาแล้ว จงหลีกไปห่างๆ. นอกจากนี้คนบ้ามักเดินกัดกินก้อนเนยแข็งไปด้วย.
6. ความถ่อมตน เป็นภาพนกตัวหนึ่งบนโล่  ภาพแบบนี้ดูจะเป็นแบบเดียวของความถ่อมตน ไม่ว่าจะในประติมากรรมหรือจิตรกรรม. นกนั้นคือนกเขาสีขาว ตรงตามคำสอนของพระเยซู ที่สั่งเหล่าสาวก ให้พอใจในชีวิตความเป็นอยู่แบบธรรมดาสามัญเหมือนนกเขา. นกเขาจึงเป็นสัญลักษณ์ของความถ่อมตน อันเป็นคุณธรรมที่ตรงข้ามกับความหยิ่งยะโส ซึ่งมักเป็นภาพนักรบบนหลังม้า ที่ถูกเหวี่ยงตกจากหลังม้า พร้อมกับอานอันสวยงามที่เขาเคยโอ้อวดด้วยความภาคภูมิใจ. ทั้งอานทั้งคนหล่นลงสู่คูหรือเหว.
7. กำลังหรืออำนาจ  เป็นภาพนักรบสวมเสื้อเหล็กถักและหมวกเหล็กแบบอัศวิน มือขวาถือดาบในท่าเตรียมพร้อม. นักรบนี้เป็นผู้หญิงเพราะเราเห็นเสื้อชุดยาวกรอมเท้า. ภาพนี้ดูไม่น่าเกรงขามเพราะนางนั่งอยู่ในท่าสงบแต่มั่นใจ. นางไม่ได้ท้าทายใคร แต่กำลังคอยอย่างคนที่รู้การณ์ล่วงหน้า สายตาตรงแน่วแน่ พร้อมที่จะเผชิญกับเหตุการณ์ทุกประเภท. กลางโล่มีภาพสิงโต (บางทีเป็นภาพของวัวกระทิงผู้รู้ได้ให้คำวิจารณ์ว่า เป็นภาพของอำนาจที่แสดงความเป็นผู้ดีอย่างแท้จริง เพราะตรงกับคำจำกัดความที่ว่า  อำนาจของจิตที่พิจารณาตัดสินและทำทุกอย่างด้วยเหตุผล.  ในยุคกลางซึ่งเป็นยุคของอัศวิน ยุคระบบศักดินา ภาพของนักรบชาวคริสต์ ผู้รู้จักควบคุมกำลังและอำนาจของตนเมื่อรับใช้ศาสนา จึงเป็นอุดมคติที่สูงส่งที่สุดในแง่ของคุณธรรม.  อัครทูตปอลเคยกล่าวไว้ว่า ชาวคริสต์ที่แข็งแกร่งผู้มีอำนาจจริงๆ คือผู้ที่เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมสำคัญๆ เหมือนนักรบที่มีอาวุธและเครื่องป้องกันตัวต่างๆครบครัน. เขาสอนว่า “ สูเจ้าจงฝึกฝนร่างกายและจิตใจให้แข็งแกร่งในพระผู้เป็นเจ้า จงสวมเครื่องแบบนักรบของพระผู้เป็นเจ้า เพื่อทานกำลังศัตรู  จงใส่เกราะของความยุติธรรมและถือโล่ของความศรัทธา  สวมหมวกเหล็กของความหวัง และถือพระจิตหรือคำพูดของพระเจ้า เป็นดาบในมือ” (จาก Ephes VI : 10-18)
คำสอนของอัครทูตปอลเป็นที่ยอมรับนับถือว่า คือกำลังและอำนาจที่แท้จริงในตัวคนและคงจะเป็นที่มาของการถ่ายทอดเป็นภาพสตรีสวมเกราะนักรบ.  สิงโตที่จำหลักไว้บนโล่ก็เป็นสิ่งยืนยันความหมายนี้ได้อย่างดี เพราะแต่ไหนแต่ไรมา สิงโตเป็นสัญลักษณ์ของกำลัง ของความเป็นผู้อยู่เหนือคนอื่นหรือสัตว์อื่น ของความกล้าหาญนั่นเอง.  ความขี้ขลาด เป็นภาพชายคนหนึ่งที่หวาดกลัว ทิ้งดาบลงแล้ววิ่งหนีเมื่อเห็นกระต่ายป่า มีนกฮูกตัวหนึ่งเกาะอยู่บนต้นไม้. บอกให้รู้ว่าเป็นเวลากลางคืนและมันอาจจะร้อง ทำให้เขาหวาดกลัว. ภาพนี้คงได้ข้อคิดมาจากตอนหนึ่งในหนังสือบทรวมธรรมจริยาสำหรับกษัตริย์ของบราเธอร์ลอเรนซ์  ซึ่งกล่าวถึงคนขี้ขลาดว่า เหมือนคนที่ไม่กล้าเดินเข้าไปในทางเล็กๆบนเส้นทางที่พึงไป เพราะเห็นตัวทากกำลังเดินชูหัว ที่ทำให้เขาหวาดหวั่น ราวกับได้เห็นวัวกระทิงที่มีเขาแหลมคม.
8. ความอดกลั้น หรือความอดทน ไม่มีภาพลักษณ์พิเศษนอกจากภาพของวัวบนโล่. วัวเป็นสัญลักษณ์ของความอดทน เพราะมันถูกใช้งานตั้งแต่เช้าจนเย็นค่ำ ทำงานให้คนทุกวันจนหมดแรงและตายไปโดยไม่เคยได้ผลตอบแทนอะไร เนื้อหนังมังสายังเป็นอาหารหรือเป็นประโยชน์อื่นๆต่อไปอีก.  ส่วน ความโกรธ หรือโทสะเป็นภาพผู้ชายคนหนึ่งกำลังเอาดาบข่มขู่พระสอนศาสนาคนหนึ่ง. เข้าใจกันว่า คนนี้คงไม่มีความอดทนพอที่จะฟังคำตำหนิของพระ จึงทำท่าโมโหและข่มขู่พระ.  ภาพของความโกรธแบบอื่นๆ เป็นไปตามแบบของปรูเด็นตีอุซ นั่นคือคนโกรธยั้งสติไม่อยู่ ฉวยได้ดาบก็ทิ่มแทงอกตัวเองด้วยความแค้น (ตรงข้ามกับคนในสมัยนี้ที่มุ่งไปทำร้ายคนอื่น).
9. ความอ่อนโยน ใช้แกะเป็นสัญลักษณ์. คนในสมัยกลางยกย่องแกะมาก (พระเยซูคริสต์ก็เปรียบพระองค์เองเป็นแกะที่ถูกสังเวย) เพราะว่าธรรมชาติของแกะตัวเมียนั้น ยอมให้คนจับโดยไม่ดิ้นหรือต่อสู้ และมันให้สิ่งที่มีค่าที่สุดของมันแก่คน คือขนแกะและน้ำนมของมัน (ภาพแกะจึงใช้เป็นสัญลักษณ์ของความรักในพระเจ้าและความอ่อนโยน). ส่วนในวงข้างใต้ ผู้หญิงจากตระกูลผู้ดี แต่งตัวงดงาม นั่งบนเก้าอี้ที่สลักลวดลาย แต่นางกำลังเตะชายคนหนึ่ง เราเห็นเท้าข้างหนึ่งอยู่ที่หน้าอกผู้ชายที่นั่งคุกเข่าตรงหน้าเธอและยื่นถ้วยส่งให้นาง. ผู้หญิงที่ใช้เท้าเตะคนใช้ ที่นำน้ำมาให้ดื่ม แสดงให้เห็น ความหยาบกระด้างของจิตใจ เธอ.
10. ความปรองดอง หรือบางทีก็เรียกว่า ความรักสันติ เป็นภาพที่เข้าใจง่าย บนโล่จำหลักกิ่งต้นมะกอกฝรั่ง(โอลีฟ). ในบทกวีของปรูเด็นตีอุซเล่าไว้ในตอนต้นว่า นางที่เป็นสัญลักษณ์ของ ความปรองดอง (คือนางก็อนกอร์เดีย) สวมมงกุฎที่ทำจากกิ่งและใบของต้นมะกอก. ส่วน ความแตกแยก หรือความไม่ปรองดองกัน เป็นฉากภายในบ้าน สามีและภรรยากำลังกระชากผมซึ่งกันและกัน มีโถน้ำและแท่งกรอด้ายตกจากมือ(บางทีสองคนในภาพ เป็นผู้หญิงสองคนที่กำลังตบตีกัน นับเป็นฉากที่มีชีวิตชีวาสมจริงสมจังและเป็นฉากที่เห็นๆกันในทุกยุคทุกสมัย).
11. ความเชื่อฟัง มีภาพอูฐคุกเข่าอยู่ตรงกลางโล่ (หินสึกหลอไปมาก) ทำให้เดาความหมายนัยได้ง่าย เพราะอูฐที่คุกเข่าลงรับภาระแบกหามทุกอย่างขึ้นบนหลังมันทั้งคนและของ เป็นสัญลักษณ์ของการยอมตน. ส่วนภาพข้างล่างที่คู่กันนั้น ชายคนหนึ่งกำลังยกมือทำร้ายเจ้าอาวาส (คนที่สวมหมวก).  ในสมัยก่อนถือกันว่าเจ้าอาวาสเป็นผู้นำทางจิตใจของชาวบ้าน เพราะเป็นผู้ที่หวังดีต่อพวกเขาและมีสิทธิ์ลงโทษผู้ประพฤติผิดศีลธรรม. คนที่โกรธเพราะถูกทักท้วงตักเตือน กลับโต้แย้งและคิดทำร้ายเจ้าอาวาส จึงเหมือนกับการตั้งตนเป็นปริปักษ์ต่อเหตุผลและต่อกฎหมาย. ในสมัยนั้น ความไม่เชื่อฟัง หมายถึงไม่เชื่อคำสอนศาสนาเป็นสำคัญ.
12. ความเพียรพยายาม เป็นคุณธรรมที่ปิดท้ายในชุดจริยธรรมของโบสถ์กอติค. การอยู่ท้ายสุดนั้นไม่ได้หมายความว่า เป็นคุณธรรมที่สำคัญน้อยที่สุด แต่เป็นคุณธรรมที่ชาวคริสต์พึงรักษาไว้จนถึงที่สุดของชีวิต. ความเพียรพยายาม มีภาพมงกุฎบนโล่ ตรงตามที่อัครทูตจอห์นกล่าวไว้ในอาโปกาลิปส์ว่า จงมีความตั้งมั่นในใจจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต แล้วเจ้าจะได้มงกุฎแห่งชีวิตนิรันดรเป็นสิ่งตอบแทน.  นอกจากภาพมงกุฎ บางทียังมีภาพหัวสิงโตอยู่ในมุมหนึ่งและมีหางสิงโตอยู่อีกมุมหนึ่งของโล่ เพื่อถ่ายทอดความหมายของ ตั้งแต่ต้นจนจบ.  ส่วน ความเหลาะแหละ เป็นภาพของนักบวชกำลังหนีออกจากสำนักสงฆ์ เมื่อก้าวออกมาแล้ว หันหน้ากลับไปดูสำนักที่ตนเคยเข้าไปศึกษาธรรม ดูเป็นครั้งสุดท้าย, เสื้อผ้ากองบนพื้นใกล้ประตูทางออก แสดงว่าหมดความพยายามที่จะครองตนเป็นนักบวช ถอดเครื่องแบบพระออก แล้วหนี.
กำแพงด้านขวาตรงประตูใหญ่ของมหาวิหารนอตเตรอดามกรุงปารีส สตรีสัญลักษณ์ของคุณธรรม นั่งอยู่ใต้ประตูอาร์คสวยงาม ส่วนอธรรมนั้น จำหลักอยู่ภายในวงกลม ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ปี 2010
     ด้านหน้าของมหาวิหารนอตเตรอดามกรุงปารีส ก็มีประติมากรรมจำหลักนูนใต้รูปปั้นของเหล่าอัครสาวก ดังตัวอย่างในภาพนี้ที่มิได้นำการเรียงจับคู่คุณธรรมอธรรมจากมหาวิหารที่ปารีสนั้น เพราะเนื้อหินสึกกร่อนลงไปมากภาพนี้ที่นำมาให้ดู ภายหลังจากการขัดถูกำแพงและรูปปั้นทั้งหลายรอบนอกของมหาวิหารด้วยการใช้เทคนิคของแสงเลเซอร์เข้าช่วย การบูรณะขัดเกลาวัดวิหารทั้งหลายใช้เวลานานหลายปี และทำกันในแต่ละประเทศ(เท่าที่จะทำได้ เพราะค่าใช้จ่ายนั้นสูงมาก).
      ดังได้กล่าวแล้วว่าการจัดเรียงชุดจริยธรรมในโบสถ์กอติคยุคนั้น ไม่เหมือนกับแบบที่พรรณนาไว้ในหนังสือยุคต้นคริสตกาลเลยทีเดียว. อย่างไรก็ตาม วรรณกรรมยุคก่อนๆนั้น มีส่วนช่วยในการจัดวางรูปและการสร้างสัญลักษณ์ เพื่อให้ได้ภาพที่เข้าใจง่ายทันที. สำหรับคนในยุคนั้น ไม่ว่าแบบของศิลปินกอติค มีเค้าเดิมมาจากบทนิพนธ์ของกวีหรือของนักเขียนผู้ใดก็ตาม เขาแน่ใจว่าศิลปินผู้นั้นเป็นชาวคริสต์ที่แท้จริงคนหนึ่ง เพราะเขารู้สึกลึกซึ้งถึงชีวิตจิตใจภายในคน และรู้จักจัดที่แสดงแบบคุณธรรมแต่ละอย่างให้เข้าใจง่ายและอยู่ในตำแหน่งที่คนเห็นได้ชัดเจน.
      ประวัติชีวิตของนักบวชและนักบุญในยุคกลางยืนยันให้รู้ว่า การจัดคุณธรรม-อธรรม(บาป) ตามแบบนี้ ตรงตามค่านิยมแห่งยุค. เมื่อคนยุคกลางไปโบสถ์ ตั้งแต่หน้าประตูโบสถ์ พวกเขาเห็นภาพของจริยธรรมจำหลักเรียงรายกันไปเป็นแถว เหมือนจะต้อนรับเขา ในขณะเดียวกันก็เตือนให้เขานึกสำรวจตนเองว่า มีคุณธรรมเหล่านั้นหรือไม่. บางคนอาจรู้สึกเหมือนได้ยินเสียงของคุณธรรมเหล่านั้นพูดเตือนสติเขาในทำนองนี้เช่น ชีวิตเจ้าผ่านไปแต่ละวัน เจ้ารู้สึกแก่ตัวลงทุกทีๆ ความตายจับจ้องเจ้าอยู่ จงมองดูพวกเราสิ พวกเราไม่มีวันแก่ ไม่มีวันตาย ความบริสุทธิ์ของพวกเราทำให้พวกเราเป็นหนุ่มเป็นสาวชั่วกาลนาน จงรับพวกเราเข้าไปอยู่ในใจของเจ้า ถ้าเจ้าไม่อยากแก่ไม่อยากตาย.  ภาพชุดธรรมจริยาที่ยังเหลือให้เราได้ชมในโบสถ์ใหญ่ๆ ยังคงมีอำนาจเร้นลับแฝงอยู่ และก่อให้เกิดความประทับใจแก่ผู้ที่รู้จักมองด้วยใจที่ไร้อคติ. 
      การใช้ภาพผู้หญิงเป็นผู้สื่อคุณธรรมต่างๆ เป็นไปตามที่แตร์ตูลียานุซกับปรูเด็นติอุซเล่าไว้. เช่นเดียวกับภาพลักษณ์ของโบสถ์คริสต์ในยุคกลาง เป็นภาพของผู้หญิงสวมมงกุฎงามสง่า มือหนึ่งถือธงในรูปไม้กางเขน อีกมือหนึ่งบางทีถือถ้วยเหล้าที่เคยใช้รองรับเลือดของพระเยซูตอนถูกตรึงและต่อมากลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของพระเจ้า ที่อัศวินผู้กล้าหาญของพระเจ้าอารเธอร์ (King Arthur and the Knights of the Round Table - พระเจ้าอารเธอร์กับอัศวินโต๊ะกลม) ออกตามหาเพื่อนำกลับมาให้ชาวคริสต์ได้บูชา เป็นที่มาของเรื่องราวที่เกี่ยวโยงกับสงครามครูเสดด้วย ที่รู้จักกันดีว่าเป็นรากฐานเดิมของวรรณกรรมตะวันตกเรื่องหนึ่ง (la Quête du Graal หรือThe Quest of the Holy Grail) ที่แฝงข้อคิดไว้มากมาย ไม่เพียงแต่เกี่ยวกับคริสต์ศาสนาเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดกระโดดที่สำคัญยิ่งจุดหนึ่ง ในวิวัฒนาการของศิลปวิทยาตะวันตก. ต่อมาถ้วยเหล้าก็เป็นสัญลักษณ์ของพิธีศีลจุ่มและพิธียูการิซเตีย.  

ประติมากรรมจำหลักประดับบนด้านหน้าตะวันตกของโบสถ์น็อตเตรอดามกรุงปารีส (ศต. 12) รูปปั้นทั้งสองถ่ายทอดเนื้อหาการต่อสู้ระหว่างคริสต์ศาสนากับศาสนาเดิมของชาวยิว.
สัญลักษณ์ของโบสถ์คริสต์ก็ใช้ภาพสตรียืนอย่างสง่า นางสวมมงกุฎแห่งชัยชนะ มือหนึ่งถือธงชัย มีไม้กากบาทตอนบนของด้าม อีกมือหนึ่งถือถ้วยตะเกียง ที่สื่อความหมายของแสงสว่างจากพระเจ้าผู้นำทางชาวคริสต์.
ภาพสตรีสัญลักษณ์ของวัดยิว (Synagogue ซีเนอก๊อก ที่ใช้เรียกศาสนสถานของชาวยิว). ภาพนางซีเนอก๊อกมีหมวกสวมปิดหน้าปิดตา (บางแห่ง เป็นผ้ามัดปิดตาแทนหมวก). มือข้างหนึ่งถือแผ่นจารึกคำสอนของยิว อีกข้างหนึ่งถือด้ามธงที่หักลงแล้ว เป็นผู้นำต่อไปไม่ได้แล้ว. มงกุฎหลุดลงอยู่ที่เท้าบอกเล่าด้วยประติมากรรมว่า นางเดินไปในความมืด ปฏิเสธสวรรค์หรือความสุขที่พระเจ้ามอบให้.

      นอกจากการตั้งคู่กันให้เห็นความแตกต่างดังกล่าวแล้ว  ยังมีการนำเสนอภาพสตรีสาวพรหมจารีย์ ผู้อยู่ในศีลธรรมจรรยา มือถือ ตะเกียงที่ตั้งขึ้น ที่หมายถึงแสงสว่างจากพระเจ้าผู้นำทางของนาง เรียกกันในภาษาศิลปะว่า สตรีผู้ประพฤติดีประพฤติชอบ (les vierges sages หรือ the wise virgins) กับอีกคนหนึ่งที่ถือ ตะเกียงคว่ำลง เพราะนางเดินไปในความมืด เป็นสตรีผู้ลุ่มหลงคลั่งไคล้ไม่ใฝ่ธรรมะ (les vierges folles หรือ the mad virgins). ใต้ภาพสัญลักษณ์ดังกล่าว บางทีก็มีภาพจำหลักของต้นไม้ประกอบคู่กันด้วย. ต้นไม้ที่อยู่ใต้สตรีคนดีมีศีลธรรม เติบโตมีกิ่งใบงามและผลดก ส่วนต้นไม้ที่คู่กับสตรีผู้ลุ่มหลงเห็นกิ่งแห้งลีบ ใบไม้ร่วงหล่นหมดแล้ว กำลังถูกดึงถูกโค่นวิธีการนำเสนอแบบนี้ คือการถ่ายทอดต้นไม้แห่งความดีและความชั่วในอุดมการณ์ของบราเธอร์ลอเรนซ์ดังกล่าวมาในตอนต้น.
ภาพนี้จากโบสถ์น็อตเตรอดามเมืองอาเมียงส์ ศิลปะสมัยศตวรรษที่13 เราเห็นศิลาจำหลักเป็นภาพต้นไม้ที่สื่อนัยของคุณธรรมกับบาป ต้นไม้ที่อยู่ใต้สตรีคนดีผู้ถือตะเกียงตั้งขึ้น เติบโตมีกิ่งใบงามและผลดก  
ต้นไม้ที่คู่กับสตรีผู้ลุ่มหลงผู้ถือตะเกียงคว่ำลง เห็นกิ่งแห้งลีบ 
ใบไม้ร่วงหล่นหมดแล้ว และกำลังถูกดึงถูกโค่น.

สองภาพข้างบน ก็เป็นอีกแบบหนึ่งของการนำเสนอเป็นคู่สองข้างประตูทิศใต้ 
สตรีที่มีความประพฤติดีกับผู้ออกนอกลู่นอกทาง 
ที่วัดเก่าจากยุคกลางชื่อ Sebalduskirche เมือง Nürnberg ประเทศเยอรมนี.
สองข้างทางเข้าตรงประตูใหญ่โบสถ์น็อตเตรอดามเมืองสต๊ราซบูร์ก (Notre Dame de Strasbourg) ด้านทิศตะวันตก มีประติมากรรมชุดสตรีผู้ประพฤติดีกับผู้ออกนอกลู่นอกทางจัดสองฝั่งเผชิญหน้ากัน นับเป็นตำแหน่งเกียรติยศ เพราะเป็นประตูสำคัญที่สุดของโบสถ์ บนหน้าบันเป็นกลุ่มประติมากรรมวันพิพากษาสุดท้ายผู้ประพฤติดีย่อมอยู่ในสายตาของพระเจ้าเสมอ.
ภาพนี้เป็นภาพขยายจากกำแพงด้านซ้าย รูปปั้นเจ้าชายกับแอปเปิลทองและสตรีผู้ลุ่มหลง
บนกำแพงด้านซ้ายเริ่มด้วยรูปปั้นของเจ้าชายผู้หลงใหลในทรัพย์สินศฤงคาร มือชูลูกแอปเปิลทองอวดชาวบ้าน (อาจโยงความหมายย้อนหลังไปถึงแอปเปิลทองในตำนานกรีกโบราณ ยุคก่อนคริสตกาลถัดไปเป็นสตรีใบหน้ายิ้มอย่างพึงพอใจในสถานะของเธอ(ถ้วยตะเกียงชำรุดหลุดหายไปแล้วกระมัง) อีกสองคนถัดไป หน้านิ่วคิ้วขมวด มือขวาถือม้วนกระดาษคำสอนนอกรีต มือซ้ายถือถ้วยคว่ำลง ปฏิเสธแสงสว่างจากพระเจ้า.
ส่วนบนกำแพงด้านขวา (ดูในรูปใหญ่เหนือขึ้นไป) รูปปั้นแรกที่ใกล้ประตู เป็นนักบวชเหมือนผู้สอนให้สตรีสาวที่ยืนถัดไปสามคน ให้ยึดมั่นในคำสอนของพระเจ้า สตรีทั้งสามถือถ้วยตะเกียงหงายขึ้น ใช้ชีวิตในแสงพระธรรม.
ใต้รูปปั้นทั้งแปดบริเวณนี้ ภายในพื้นที่สี่เหลี่ยมจัตุรัสสองรูปที่ตั้งฉากกันและกัน มีประติมากรรมจำหลักชุดชีวิตและการงานในแต่ละเดือนประกบด้วยสัญลักษณ์ประจำของแต่ละเดือน. ในภาพนี้ไม่ชัดเจนนักสำหรับทุกเดือนเนื่องจากมีรูปปั้นทั้งหมดในบริเวณนี้แปดรูป จึงไม่ครบสิบสองเดือน แต่ย้ายไปจำหลักต่อไปสองข้าง ซ้ายและขวานอกพื้นที่นี้. ที่ชัดเจนที่สุดคือสี่เหลี่ยมสองรูปตั้งหักมุมเก้าสิบองศา ใต้รูปปั้นของเจ้าชายผู้ถือแอปเปิลทองในสี่เหลี่ยมด้านนอก เห็นคนนั่งหน้าโต๊ะอาหาร (สื่อการฉลองขึ้นปีใหม่และในสี่เหลี่ยมด้านใน เป็นรูปคนกำลังเทน้ำ (ราศี Aquarius). สองภาพนี้จึงเป็นบอกระยะเวลาระหว่างวันที่ 21 มกราคมถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ถัดไปเป็นภาพสัญลักษณ์ของเดือนกุมภา-มีนา ฯลฯ

    เมื่อมองดูภาพชุดจริยธรรมที่อธิบายมาตั้งแต่ต้น ชาวคริสต์อาจนึกถามตนเองว่า พวกเขาจะสามารถสะสมคุณธรรมเหล่านี้ได้หรือในชีวิตประจำวันของพวกเขา. พวกเขามิต้องไปบวชถือศีลอยู่ในอาราม เป็นนักบวชหรือแม่ชีหรือ ต้องสละชีวิตในสังคมเพื่อบรรลุจริยธรรมดังกล่าวหรือมิใช่. โบสถ์ยังมีคำตอบให้ คริสต์ศาสนาไม่ได้คิดหวังให้ชาวโลกทุกคนเข้าบวชในศาสนาหมด จึงมีการเจาะจงว่า คุณงามความดีนั้นสามัญชนก็อาจสั่งสมได้ในกิจกรรมการงานประจำวัน (เรียกกันว่าเป็น la Vie Active หรือ the active life) ทางหนึ่ง และจากการอุทิศชีวิตที่มุ่งการภาวนาตรึกตรองเท่านั้น (เป็น la Vie Contemplative หรือ the contemplative life). นั่นคือ คริสต์ศาสนาถือว่าชีวิตทั้งสองแบบ มีศักดิ์และสิทธิ์เสมอกันในสายตาของพระผู้เป็นเจ้า. ในคริสต์ศิลป์ มักใช้ภาพนักบุญมาร์ธาแทนชีวิตในการงาน กับนักบุญมัดเดอแลนแทนชีวิตในความเพียรภาวนา. ทั้งนี้เพราะมีเล่าไว้ในคัมภีร์ว่า เมื่อพระเยซูไปเยี่ยมบ้านของลาซาร์ มาร์ธาและมัดเดอแลน น้องสาวทั้งสองของลาซาร์ ออกมาต้อนรับพระองค์. มาร์ธากุลีกุจอจัดสำรับอาหารมาบริการ และคอยรับใช้ให้ความสะดวกทุกอย่าง ในขณะที่มัดเดอแลนไปนั่งอยู่แทบเท้าพระเยซู หูใฝ่ฟังคำพูดคำสอนทุกอย่างด้วยความรักและเทิดทูนภาพแสดงชีวิตของนักบุญมัดเดอแลน เป็นเนื้อหาที่นิยมแพร่หลายมากกว่าในคริสต์ศิลป์. แต่ที่โบสถ์น็อตเตรอดามเมืองชารเตรอส์ (Notre Dame de Chartres) มีประติมากรรมจำหลักนูน ที่ให้รายละเอียดกิจการงานอันหลากหลายของสตรีผู้มีคุณธรรม ผู้ก้มหน้าก้มตาทำงานทุกชนิดในบ้าน ซักผ้า ทอผ้า ทำอาหารเป็นต้น. ส่วนสตรีผู้ปฏิบัติธรรมนั้น เสนอในแบบผู้หญิงที่กำลังอ่านหนังสือ ตรึกตรองคำสอนของศาสนา เป็นแบบนี้แบบเดียวเรื่อยมา.
ภาพสตรีในกิจการงานประจำวัน (ที่เรียกในคริสต์ศิลป์ว่าภาพชุด Active Life). กิจการสำคัญของดินแดนที่ตั้งของโบสถ์น็อตเตรอดามเมืองชาร์เตรอส์(Cathédrale Notre-Dame de Chatres) ในฝรั่งเศสยุคนั้น อยู่ที่การเลี้ยงแกะ และการนำขนแกะมาทอเป็นผ้าวูล. ภาพสตรีที่นำมาเป็นตัวอย่าง กำลังจัดการกับขนแกะที่กร้อนมาแล้ว มาดึง มาสาง ยืดแล้วเกรียวให้เป็นเส้นสำหรับทอเป็นผ้าวูลต่อไป. กิริยาท่าทางน่ารักและสมจริง.
ภาพชีวิตที่ใฝ่คิดใฝ่ตรึกตรองตามคำสอนของศาสนา(ที่เรียกในคริสต์ศิลป์ว่าภาพชุด Contemplative Life)แสดงภาพสตรีหยิบหนังสือคัมภีร์ เปิดแง้มๆ แล้วเปิดออกกว้างอ่านจริงๆ แล้วปิดหนังสือ คิดตรึกตรองสิ่งที่ได้อ่านมา. ประติมากรรมเล็กๆชุดนี้ยังคงสมบูรณ์สวยงาม ประดับบนเพดานซุ้มประตูทางเข้าทิศใต้ของโบสถ์ที่เมืองชาร์เตรอส์ (โบสถ์กอติคศตวรรษที่ 12-13).
     การเสนอวิถีชีวิตสองแบบนี้ มิใช่ต้องการแบ่งแยกตัดออกจากกัน แต่เป็นทางนำให้เห็นว่าทั้งสองวิถีนั้นรวมกันได้โดยไม่ขัดแย้งกันและเสริมกันและกัน (เหมือนในการเรียนที่มีทั้งภาคทฤษฎีกับภาคปฏิบัติ หรือเหมือนเหรียญที่มีสองด้านเป็นต้น)

     ที่นำมาเป็นตัวอย่างจนถึงจุดนี้นั้น เป็นการจรรโลงคุณธรรมที่เสนอควบคู่กับอธรรมหรือความประพฤติที่ไม่สมควรต่างๆไม่ใช่ทุกวัดหรือทุกโบสถ์มีพื้นที่สำหรับการเสนอในแนวเดียวกันนี้อย่างละเอียดลอออย่างไรก็ตาม มีพื้นที่สำหรับแสดงคุณธรรมสองสามแบบ อาจรวมกันจิตรกรรมหน้าต่างกระจกสีบานเดียวกันเพียงบานเดียว เช่นนี้จึงง่ายกว่าและไม่ต้องลงทุนมาก. ศาสนศิลป์ในประเทศอังกฤษ ไม่โดดเด่น วัดวิหารที่เคยมี เปลี่ยนไปเป็นอาคารเพื่อประโยชน์ใช้สอยอื่น เช่นที่ตั้งของบริษัทหรือองค์กร ดยเฉพาะตั้งแต่ที่พระเจ้าเฮนรีที่เป็นแปดประกาศตัวไม่ขึ้นกับสันตะปาปาที่กรุงโรมในทศวรรษที่ 1530 และตั้งนิกายแองกลีกันขึ้นโดยที่พระองค์ดำรงตำแหน่งของ Supreme Head of the Church of England. เหตุการณ์นี้มีส่วนทำให้ชาวอังกฤษค่อนข้าง หลักลอย ในเรื่องของศาสนาศาสนศิลป์ที่มีเหลือในอังกฤษนั้นสืบทอดมาจากยุคก่อนศตวรรษที่ 16.
ตัวอย่างภาพนี้ จากจิตรกรรมบนหน้าต่างกระจกสีที่วิหารเมือง Ripon (วัดคริสต์นี้ตั้งมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 7) หน้าต่างทำขึ้นหลายศตวรรษต่อมา ภาพลักษณ์สดสวย แทรกลวดลายประดับยุคใหม่ แต่ยังคงรักษาค่านิยมจากยุคกลางด้วยการเจาะจงคุณธรรมศาสนาสามประการแรกที่มีพระเจ้าเป็นศูนย์กลางของคุณธรรม. จากซ้ายไปขวา คือศรัทธา (Faith หรือ Fides ในภาษาละติน ภาพกลางคือความรักในพระเจ้า (Charity หรือ Caritas)  ภาพขวาสุดคือ ความหวังในพระเจ้า (Hope หรือ Spes).

ภายในวัด Christchurch Cathedral (สถาปนาขึ้นในปี 1546) เมืองออกซฟอร์ดประเทศอังกฤษ บริเวณสำหรับนักบวชและคณะนักร้องเพลงสวดเพื่อสรรเสริญพระเจ้ายามประกอบพิธีทางศาสนา. ให้สังเกตช่องทางเดินตรงกลางที่เป็นพื้นหินอ่อนสีขาวสลับดำ มีสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดเรียงขึ้นเป็นแนวบนทางเดิน. มีช่องสี่เหลี่ยมออกสีส้มๆ สลับกับช่องสีขาวๆช่องสีขาวเหล่านี้ เรียงจากต้นทาง ตรงสู่แท่นบูชา จารึกภาพของคุณธรรมสำคัญๆไว้ เป็นลายสีขาวกลืนเป็นเนื้อเดียวกับพื้นทางเดินหินอ่อน ดังภาพที่ไปถ่ายมาต่อไปนี้
      ภาพนี้เจ้าของต้องการให้ระบุว่า ของ"Photo by DAVID ILIFF. License: CC-BY-SA 3.0"
ถ่ายเมื่อวันที่10 มีนาคม ปี 2015 จาก Wikipedia.org
พละกำลัง Fortitudo  
ความยุติธรรม Justitia
ความพอเพียง Temperantia  
ความไม่ประมาท Prudentia
ความเห็นอกเห็นใจ Misericordia   
ความถ่อมตน Humilitas
ศรัทธาในพระเจ้า Fides   
ความหวังในพระเจ้า Spes
ความรักในพระเจ้า Caritas
เท่าที่เห็น มีคุณธรรมหกประการที่เรียงขึ้นจากต้นทาง (เริ่มด้วย Fortitudo และจบลงที่ Humilitas) และในบริเวณแท่นบูชา มีคุณธรรมศาสนาอีกสามประการที่อยู่ติดแท่นบูชา(ขึ้นไปไม่ได้) อันมี Fides, Spes และ Caritas ดังอธิบายในตอนต้นการจัดอันดับของนั่น เป็นไปตามความเห็นชอบของวิสัยทัศน์อังกฤษ ที่มักไม่เหมือนกับวิสัยทัศน์ฝรั่งเศสนัก.

      คุณธรรมที่แสดงไว้เดี่ยวๆตามวัดก็มีเช่นกัน ดังภาพความฝักใฝ่ในกามสุขที่ดูเหมือนจะเป็นที่นิยมกันเป็นพิเศษในศิลปะฝรั่งเศส เช่น จำหลักไว้บนหัวบัวของเสาหนึ่งที่วิหาร Basiliqe Sainte-Marie-Madeleine de Vézelay (ในฝรั่งเศสดังภาพข้างล่างนี้
จากด้านซ้าย คนหนึ่งเป่าอะไรอยู่ อาจมองว่าเป็นดนตรีที่ยั่วยุกามารมณ์
มารหันหน้าไปฟังขณะที่มือลูบไล้ทรวงอกของหญิงเปลือย.
จิตรกรรมศตวรรษที่15 บทอุปมาอุปมัยของ Chastity (การถือพรหมจรรย์ผลงานของ Hans Memling ผู้ถ่ายทอดแรงดลใจจากหนังสือเล่ม Psychomachia ของ Preudentius ที่กล่าวถึงในข้อ ต้นบทความนี้สิงโตเป็นสัญลักษณ์สื่อความรุนแรงและการรุกรานรบเร้า พระแม่มารีไม่หวั่นไหว นั่งสงบบนเนินหินภาพจากวิกิมีเดียคอมม็อน [Public domain].
ประตูทองสัมฤทธิ์ด้านทิศใต้ ที่หอรับศีลล้างบาป Battistero di San Giovanni เมืองฟลอเรนซ์ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นผลงานสุดยอดของ Andrea Pisano ที่เริ่มขึ้นในปี1330 และแล้วเสร็จในปี1336
ดั้งเดิมเป็นประตูทิศตะวันออก ต่อมาในปี 1452 ถูกย้ายมาเป็ยประตูด้านทิศใต้ดังที่เห็นในปัจจุบันทั้งประตูแบ่งพื้นที่ 28 ช่องสี่เหลี่ยม จารึกเหตุการณ์ในชีวิตของนักบุญจอห์นแบ็พไทสต์ยกเว้นแปดช่องตอนล่างที่จารึกคุณธรรมไว้แปดชนิด (การอ่านเริ่มตั้งแต่ตรงดอกจันสีแดงไปทางขวา แล้วต่อแถวล่างจากซ้ายไปทางขวาอันมี ความหวัง (Spes), ศรัทธา (Fides), ความรัก (Charitas), ความถ่อมตน (Humilitas), กำลังความมั่นคง (Fortitudo), ความพอเพียง (Temperantia), ความยุติธรรม (Justitia) และความไม่ประมาท (Prudentia).
หากเข้าพิจารณาใกล้ๆ จะเห็นว่าการถ่ายทอดนามธรรมทั้งหลายน่ารักมาก เป็นภาพของสตรีนั่งในท่าสงบและมั่นคง พร้อมองค์ประกอบที่เจาะจงให้เข้าใจนามธรรมนั้น เช่น
ด้านซ้าย ความยุติธรรมนั่งตัวตรง มือขวาถือดาบ มือซ้ายถือคันชั่ง บางแห่งมีผ้าปิดตาสตรีผู้พิพากษาด้วย เพื่อยืนยันว่า ไม่ว่าใครเมื่อผิดต้องถูกลงโทษ ปิดตาไม่รับรู้ว่าคนทำผิดเป็นใคร รู้จักมักคุ้นกันไหม เป็นญาติหรือเปล่าเป็นต้นส่วนด้านขวา ความไม่ประมาท จับงูอยู่ในมือและมองตามการเคลื่อนไหวของงู อย่างรู้เท่าทันงู.
พละกำลังที่สื่อความมั่นคง นั่งอย่างสงบ แต่เตรียมพร้อมสู้ อาวุธในมือ
ความรักในพระเจ้าอย่างหมดจิตหมดใจ มือขวาควักหัวใจที่ดูเหมือนยังสดๆร้อนๆจากทรวงอกยื่นให้ ส่วนมือซ้ายประคองกรวยเป็นเขาสัตว์ บรรจุอาหารเช่นผลไม้พร้อมที่จะแจกจ่ายแก่ทุกคนด้วยความเอื้อเฟื้อต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน. (เขาสัตว์บรรจุอาหารผลไม้แบบนี้ หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ ในศิลปะตะวันตก)
ด้านนอกบนกำแพงหินอ่อนหลากสีของมหาวิหาร Santa Maria di Fiori เริ่มสร้างในปี 1296 มีประติมากรรมจำหลักในกรอบสี่เหลี่ยมบ้างหกเหลี่ยมบ้าง ล้วนมีเนื้อหาน่าสนใจมาก หากมีเวลาค่อยๆดูไป. คนสมัยก่อนจำหลักบันทึกทุกอย่างไว้อย่างเรียบร้อยน่าทึ่ง ทั้งวิชาความรู้ การก่อสร้าง การแพทย์ ดาราศาสตร์ ฯลฯบนกำแพงชั้นสองที่ลากเส้นสีแดง(ที่ขีดเพิ่มเองไว้นั้น เป็นภาพลักษณ์ของคุณธรรมในสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ทั้งหมดเจ็ดภาพ(ตามพื้นที่ที่มี) ย่อแบบคุณธรรมตามที่เห็นบนประตูสัมฤทธิ์ที่กล่าวมาข้างต้น.
จิตรกรรมเฟรสโก (จากปี 1366-67) บนกำแพงทิศตะวันตกในวัดสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็กที่เรียกกันว่า Spanish Chapel (Cappellone degli Spagnoli) ภายในมหาวิหาร Santa Maria Novella เมืองฟลอเรนซ์ (อิตาลี). เฟรสโกทั้งหมดที่วิหารซันตามาเรียโนเวลล่ะ เป็นหัวข้อศึกษาวิเคราะห์วิจัยอย่างเจาะลึก นำมาให้เห็นเป็นแบบอย่างพร้อมคำอธิบายสั้นๆเท่านั้น.
ภาพนี้เจาะจงชื่อว่า Triumpf of St Thomas Aquinas และ Allegory of the Sciences ผลงานของ Andrea Bonaiuto (ระหว่างปี 1365-68). จิตรกรรมนี้ยืนยันชัยชนะของทฤษฎีเทววิทยาของนักบุญโทมัส อากีนัส ว่าอยู่เหนือปรัชญาอื่นใดจากลัทธิความเชื่อใดจึงตั้งเป็นชื่อเช่นนั้น. นักบุญโทมัส อากีนัส เป็นนักบวชเบเนดิคตินชาวอิตาเลียน ปราชญ์ของศาสนา มีอิทธิพลต่อความคิด ปรัชญา ศาสนาและความก้าวหน้าด้านวิทยาการและศาสตร์วิชาในสังคมนักบวชและปัญญาชนยุคนั้นอย่างกว้างขวาง.
โทมัส อากีนัส เป็นนักปรัชญาที่มองสิ่งต่างๆตามความเป็นจริงเขาอิงปรัชญาของอริสโตเติลในข้อที่ว่า ความรู้ทั้งหลายเริ่มจากผัสสะ จากการสัมผัสโลกตามความเป็นจริง  ส่วนปัญญา เกิดจากกระบวนการคิด การหาเหตุปัจจัย การวิเคราะห์และสังเคราะห์จากสิ่งที่ทำให้คิด จนในที่สุดจับแก่นแท้ของสรรพสิ่งสรรพชีวิตเบื้องหลังรูปลักษณ์ของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง เกิดปัญญาญาณหยั่งรู้เขาแยกการรับรู้ (perception) ของคน ออกเป็นสองประเภท จากภายนอกและจากภายในการรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสภายนอกคือจากการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การแตะต้องและการลิ้มรส. คนสั่งสมประสบการณ์จากทุกผัสสะเมื่อเผชิญโลกของวัตถุ(และโลกในสังคม)ส่วนประสบการณ์ภายใน เกิดจากการมีสามัญสำนึกหนึ่ง (เป็นทักษะที่พัฒนาขึ้นจากการสังเคราะห์ประสบการณ์ภายนอกดังกล่าว)เกิดจากการมีจินตนาการ (หรือความฝันหนึ่ง, เกิดจากการรู้จักประเมินหรือคาดการณ์หนึ่ง และเกิดจากความทรงจำอีกหนึ่ง. เขาวิเคราะห์ทบทวนไปถึงหลักการของปรัชญาและจุดยืนของเทวศาสตร์ ที่เขาสรุปว่า แต่ละแขนงต้องรักษาอัตลักษณ์ให้เต็มที่ นั่นคือกระบวนการของเหตุผลก็ต้องเป็นไปตามนั้น ส่วนเทวศาสตร์ก็ยืดมั่นกับศรัทธาที่มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่การเข้าถึงพระเจ้าและการรักพระองค์ พร้อมกับการตระหนักถึงความวิลาสล้ำอันยิ่งใหญ่มิอาจกำหนดได้ของพระองค์นักบุญโทมัสยืนยันว่า ปรัชญากับศรัทธาไม่มีอะไรขัดแย้งกันแต่สอดคล้องกลมกลืนไปด้วยกันได้ในที่สุด เพราะปัญญา(อันเกิดจากกระบวนการคิดหาเหตุผล) สร้างเหตุผลยืนยันการตั้งอยู่ของศรัทธาและของพระเจ้า.
      การประกอบเป็นเฟรสโกนี้ มีบุคคลจำนวนมากที่ทำหน้าที่เป็นบทเปรียบเทียบที่รวบรัด โยงไปถึงนามธรรมหรือวิทยาการแบบต่างๆนักบุญโทมัสห่มสีดำ มีรัศมีเรือนแก้วเป็นวงกลมอยู่ด้านหลังศีรษะ นั่งบนบัลลังก์หรูศิลปะกอติคยุคสุดท้าย มือจับแท่นที่มีหนังสือเล่มใหญ่เปิดกว้างให้คนดู. นักบุญโทมัสเป็นประธานและโดยปริยายเป็นผู้มี สติปัญญาครอบจักรวาลเหนือทุกคนในสภาดังข้อความที่จารึกลงบนหน้าหนังสือ (cf. Book of Wisdom (7:7-8) ในประมวลเทววิทยา Suma Theologia ของโทมัส อากีนัส ประจำสำนักคณะเบเนดิคตินเป็นภาษาละติน ที่แปลเอาความได้ว่า ข้าพเจ้าได้รับสิ่งที่ข้าพเจ้าปรารถนา ข้าพเจ้าวิงวอนขอจากพระผู้เป็นเจ้า วิญญาณปัญญาจึงมาสู่ตัวข้าพเจ้า ข้าพเจ้าซาบซึ้ง ยิ่งกว่าอาณาจักรใดๆหรือบัลลังก์ใดๆ.
นางฟ้าเจ็ดนางลอยอยู่ในท้องฟ้าเหนือบัลลังก์ของนักบุญ. พวกเธอเป็นตัวแทนของคุณธรรมศาสนาสามประการ (Faith, Charity, Hope) และคุณธรรมหลักอีกสี่ประการ (Justice, Fortitude, Temperance และ Prudence. คุณธรรม Charity หรือ Caritas ในภาษาละติน คือความรักในพระเจ้า เป็นคุณธรรมสูงสุด สวมชุดสีแดงโดดเด่นอยู่เหนือศีรษะนักบุญโทมัส. มือหนึ่งถือหัวใจและอีกมือหนึ่งถือมงกุฎ สอดคล้องกับที่อธิบายมาข้างต้น. สองข้างมีคุณธรรมข้างละสามนาง (ดูการจัดแบ่งคุณธรรมในตอนต้นของบทความนี้).
แถวคนนั่ง สองข้างนักบุญโทมัส ด้านซ้ายและด้านขวาด้านละห้าคน เป็นบุคคลในคัมภีร์เก่าและอัครสาวก. ทุกคนมีรัศมีเรืองรองรอบศีรษะอันเป็นสัญลักษณ์ของนักบุญ (ด้านซ้ายมี Job, David, Paul, Mark และ John  ด้านขวามี Solomon, Isaiah, Moses, Luke และ Matthew).
ที่น่าสนใจ ให้สังเกตว่า บนพื้นแทบเท้าของนักบุญ มีสามคนนั่งตัวงอ จับเจ่าหรือครุ่นคิด. นักประวัติศาสตร์ศิลป์เจาะจงว่าคือ Nestorius, Averroès และ Arius (ชื่ออาจแตกต่างกันในงานวิจัยต่างๆประเด็นสำคัญที่ต้องเน้นคือ ทั้งสามเป็นตัวแทนของความเชื่อในลัทธิอื่น เป็นคนนอกรีต. ตำแหน่งที่จัดให้อยู่แทบเท้าของนักบุญโทมัส เน้นชัยชนะของศาสนาคริสต์เหนือลัทธิความเชื่ออื่นๆที่ในที่สุดต้องสยบต่อทฤษฎีเทวศาสตร์ของนักบุญโทมัส. ต่ำลงไป มีแถวสตรีสิบสี่คน นั่งในซุ้มประตูอาร์คกอติค. เจ็ดคนด้านซ้าย เป็นสตรีตัวแทนของศาสตร์ศักดิ์สิทธิ์เจ็ดชนิด (The Seven Sacred Sciences : Civil Law, Canonical Law, Philosophy, Holy Scripture, Theology, Contemplation และ Preaching). ใต้เท้าของสตรีเหล่านี้ เจ็ดคนนั่งอยู่ แต่ละคนมีตัวตนจริงในโลกยุคนั้นและเป็นผู้แต่งทฤษฎีหรือผู้บังคับใช้กฎหมายหรือศาสตร์แต่ละประเภท (จากซ้ายไปขวา จักรพรรดิ Justinian, สันตะปาปา Clement V, Aristotle, นักบุญ Jerome, พระนักบวชชาวซีเรีย John of Damascus, ผู้พิพากษา Dionysius the Areopagite และ นักบุญ Augustine).
เจ็ดคนด้านขวา เป็นสตรีตัวแทนของศิลปวิทยาเจ็ดแขนง (the Seven Disciplines of the Liberal Arts นั่นคือ Quadrivium และ Trivium). ใต้เท้าของสตรีเหล่านี้ เจ็ดคนนั่งอยู่ แต่ละคนมีตัวตนจริงและเป็นผู้เลิศที่สุดในแขนงวิชาแต่ละแขนง ผู้ที่คนรู้จักและยอมรับกันในยุโรปยุคนั้นPythagoras ตัวแทนของ Arithmetic, Euclid ตัวแทนของ Geometry, Ptolemy ตัวแทนของ Astronomy, Tubal Cain ตัวแทนของ Music, Pietro Ispana ตัวแทนของ Dialectics, Cicero ตัวแทนของ Rhetoric, Priscian ตัวแทนของ Grammar).
ตามข้อมูลที่ติดอธิบายไว้ที่นั่น ชื่อบุคคลเหล่านี้นั้น อาจไม่ตรงกันในเอกสารหรืองานวิจัยของนักประวัติศาสตร์ศิลป์ทุกคน.
รุปสั้นๆได้ว่า คุณธรรมอยู่เหนือทุกอย่างและทุกคน.

     เมื่อพิจารณาระบบจริยธรรมตะวันตกจากตำราหลักของคริสต์ศาสนา จะเห็นว่าคุณธรรมและบาปที่แปลกแยกปลีกย่อยออกไปนั้น ในที่สุดก็มาจากการวิเคราะห์เจาะลึกบัญญัติสิบประการให้ละเอียดลออและเจาะจงมากยิ่งขึ้น ตามบริบทสังคมที่พัฒนาเป็นชุมชนที่ใหญ่ขึ้นๆ ที่กระจายออกไปในดินแดนกว้างไกลจากตะวันออกกลางสู่ทุกภูมิภาคในยุโรป. องค์การศาสนาจึงต้องชำระกฎบัญญัติและจัดหรือขยายบทบัญญัติสิบประการ ให้เป็นคุณธรรมเจ็ดประการที่รวมคุณธรรมศาสนาและคุณธรรมหลัก  สรรเสริญคุณธรรมปลีกย่อยอื่นๆ เพื่อยกระดับความประพฤติในการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างปรองดองกัน. ในที่สุดเป็นอุดมการณ์ที่ยืนหยัดคงที่และเป็นฐานอันมั่นคง.
   การสอนคุณธรรมเพราะเป็นนามธรรม อาจไม่กระจ่างหรือเห็นชัดเท่าการแจกแจงความประพฤติที่นอกลู่นอกทาง ที่ศาสนาต้องการให้หลีกเลี่ยง. บาปส่วนใหญ่เป็นการกระทำจึงมีผลและส่งผลกระทบต่อคนอื่นที่เห็นได้ชัดเจนหรือมีพยานหลักฐานเป็นต้น. ในทำนองเดียวกัน การนำเสนอคุณธรรมเป็นทัศนศิลป์ เป็นเรื่องลำบากกว่า ต้องแปลงนามธรรมให้เป็นการกระทำ ที่สื่อนัยไปถึงความดีแบบหนึ่ง หรือใช้สัญลักษณ์มาแทน ซึ่งเท่ากับต้องเข้าใจระบบสัญลักษณ์ของศาสนาด้วย.  ส่วนการนำเสนอการกระทำที่เป็นบาป คนเข้าใจได้ง่ายกว่า.
เช่นเดียวดัน การนำเสนอของสื่อมวลชนปัจจุบัน นิยมนำเสนอภาพเหตุการณ์ ที่เห็นชัดและกระตุ้นอารมณ์ทันที เช่นภาพการฆ่าการตายสยดสยองแบบต่างๆตามหน้าหนังสือพิมพ์ เป็นสารสู่มวลชน.

*********

งานนี้ ปรับปรุงเพิ่มเติมจากบทความ
 ระบบจริยธรรมตะวันตก ตัวอย่างจากคริสต์ศิลป์ยุคกลางในยุโรป หน้า 1-66
ในหนังสือ ยุโรปในมุมมองวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ 2556.
ศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์
วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๑.   
------------------------------------------
บรรณานุกรมข้อมูล
1. Bechmann, Roland. Les Racines des cathédrales. L’architecture gothique, expression des conditions du milieu. Paris, Payot. 1981.
2. Choisy, Auguste. Histoire del’architecture. Tome I:Antiquité. Tome II : Moyen Âge et Renaissance. Paris, Baranger. 1926-1929.
3. Crampon, Maurice. La cathédrale d’Amiens. Amiens, C.R.D.P. 1983.
4. Duby, Georges. Le Temps des cathédrales. L’art et la société 980-1420. Paris, Gallimard. 1976.
5. Gimpel, Jean. Les Bâtisseurs de cathédrales. Paris, Le Seuil. 1980.
6. Le Goff, Jacques. La Civilisation de l’Occident médiéval. Paris, Arthaud. 1984.
7. Mâle, Emile. L’Art religieux du XIIIe siècle en France. Paris, Armand Colin. 1986.
8. Ruskin, John. La Bible d’Amiens. Traduction, notes et préface par Marcel Proust. Paris, Mercure de France. 1947.
9. Wirth, Jean. L’Image médiévale. Naissanec et développements (VIe-Xve siècle). Paris, Méridiens Klincksieck. 1989.
10. โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์  เข้าในโบสถ์ฝรั่ง - ศาสนศิลป์ยุคกลางในยุโรป  กรุงเทพมหานคร - สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์  พ.ศ. 2538.
11. ข้อมูลเกี่ยวกับวรรณกรรม La Divina Commedia  โปรดดูในอินเตอเน็ตที่       


[1] หนังสือห้าเล่มแรกของคัมภีร์เก่า รวมกันเรียกว่า Pentateuch  เป็นแกนหลักดั้งเดิมของวรรณกรรมไบเบิล. ประกอบด้วย  ๑) Genesis เล่มแรกที่ว่าด้วยการสร้างโลก ๒) Exodus  เล่มที่สองเล่าถึงชาวอิสราเอลที่ตกเป็นข้าทาสบริวารในอีจิปต์ ต่อด้วยการอพยพออกจากอีจิปต์ และจบลงที่โมเสสผู้ได้รับกฎบัญญัติจากพระเจ้าบนเทือกเขาซีไน และการที่ชาวอิสราเอลหลงเคารพรูปปั้นวัวทอง. ๓)  Leviticus เล่มที่สามที่ว่าด้วยกฎบัญญัติของศาสนาสำหรับชาวอิสราเอล.  ๔) Numbers เล่มที่สี่เล่าถึงชาวอิสราเอลที่เดินทางออกจากเทือกเขาซีไน เรื่อยไปจนถึงการแบ่งดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่พระเจ้าได้สัญญาไว้.  ๕) Deuteronomy เล่มที่ห้าว่าด้วยเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นและข้อกำหนดสำหรับความประพฤติ. เนื้อหารวมมาจากหนังสือสามเล่มแรกข้างต้นและนำมากล่าวซ้ำอีกครั้งหนึ่งในเล่มที่ห้านี้ และเพิ่มเรื่องราวการตายของโมเสสก่อนเข้าสู่ดินแดนศักดิ์สิทธิ์.  Pentateuch ตรงกับคำในฮีบรู ทอราห์ (Torah) แปลว่า กฎหมาย. ทอราห์เป็นประมวลกฎหมายทั้งหมดของชาวยิว.  ทั้งห้าเล่มนี้ เป็นพื้นฐานหรือแกนนำของศาสนานิกายจูดาอิสซึมและศาสนาคริสต์(ต่างกันเพียงเล็กน้อยในข้อปลีกย่อยโดยที่คริสต์ศาสนาต่อมาเพิ่มคัมภีร์ใหม่เข้าไป. Pentateuch จึงกลายเป็นคัมภีร์เก่าของคริสต์ศาสนา. เช่นนี้ ทอราห์จึงตรงกับเนื้อหาในคัมภีร์เก่าของคริสต์ศาสนา (สำหรับชาวยิวไม่มีคัมภีร์ใหม่แบบชาวคริสต์  คัมภีร์ทอราห์ของชาวยิวจึงไม่เกี่ยวกับพระเยซู และเนื้อหาจบลงเมื่อโมเสสพาชาวอิสราเอลถึงดินแดนศักดิ์สิทธิ์อันคือเมืองเยรูซาเล็ม และโมเสสเองสิ้นชีวิตก่อนเข้าไปในดินแดนศักดิ์สิทธิ์)

[2]  ในคริสต์ศตวรรษแรกๆ ชาวคริสต์หลายคนนำภาพของพระคริสต์และนักบุญที่พวกเขาเคารพนับถือมาประดับในบ้าน หลายคนคิดว่าไม่สมควร อย่างไรก็ดีองค์การศาสนามิเคยตัดสินเด็ดขาดลงไปว่า การทำเช่นนั้น จัดเป็นการนับถือรูปเคารพแบบหนึ่งไหม. ความขัดแย้งรุนแรงขึ้นในศตวรรษที่แปดและโดยเฉพาะในยุคหลัง เมื่อฝ่ายโปรเตสแตนต์ทำลายรูปปั้น ภาพวาด จิตรกรรมกระจกสีและงานศิลป์ชิ้นเอกจำนวนมาก ที่มีภาพลักษณ์ของพระเจ้าหรือบุคคลใดก็ตาม.  บางคนยอมรับภาพลักษณ์ของพระเยซูในร่างคน แต่ไม่ยอมให้สร้างภาพของพระเจ้าหรือของพระเยซูในสวรรค์. ส่วนฝ่ายออร์เธอด็อคส์ ห้ามการเสนอภาพของพระเจ้าหรือพระบิดา แต่ยอมให้มีการแสดงภาพของพระเยซู ในฐานะที่เป็นภาคหนึ่งของพระเจ้า(ในร่างคน) และสนับสนุนให้ใช้ไอคอนประดับในวัดและที่พักส่วนตัวสำหรับการเคารพบูชา. ไอคอนนั้นเป็นภาพสองมิติ ที่สื่อมิติของจิตวิญญาณมากกว่าการเสนอภาพเหมือนจริง และยังคงห้ามการทำรูปปั้นสามมิติ. ทางฝ่ายโรมันคาทอลิก กลับสนใจให้ศิลปินเสนอภาพลักษณ์ของพระเจ้าที่ดูธรรมชาติสมจริงมากกว่าเป็นแบบไอคอน และอ้างว่า เพราะรูปปั้นหรือภาพวาดของพระเจ้า มิได้เป็นสิ่งสักการบูชาของชาวคริสต์ จึงอยู่ในกรอบของงานศิลป์มากกว่าในกรอบของศาสนา.
    
[3] พระเจ้าสั่งให้เคารพบิดามารดา เพราะบิดามารดาเป็นใยที่ผูกและพันระหว่างชนรุ่นต่างๆ. บัญญัติข้อนี้ มิได้มีระบุไว้ในศีลธรรมของพุทธศาสนา อาจเป็นเพราะสังคมของประเทศต่างๆในเอเชียที่อยู่ใต้อิทธิพลของลัทธิเต๋า ขงจื้อหรือพุทธศาสนา  บิดามารดาเป็นผู้ที่มีอำนาจเต็มเหนือบุตรธิดามาแต่โบราณอยู่แล้ว เป็นเรื่องที่ชัดเจนแน่นอนที่ไม่มีผู้ใดขัดแย้งเลย แม้จะมีแนวโน้มเช่นนั้นในสมัยปัจจุบัน มิใช่เพราะบิดามารดาหมดความสำคัญ แต่เพราะบิดามารดามีโลกทัศน์ที่กว้างไกลขึ้น และเปิดใจรับความแตกต่างจากบุตรหลานมากขึ้น. น่าคิดว่าทำไมศีลธรรมข้อที่ว่าด้วยการห้ามดื่มสุราเมรัยในคติพุทธนั้น กลับไม่ปรากฏเป็นหนึ่งในบัญญัติสิบประการ.

[4] การฆ่าคนในบริบทยุคนั้น หมายถึงการฆ่าคนที่ผิดกฎหมาย. ในคัมภีร์ของชาวฮีบรู เจาะจงฆาตกรรมที่ผิดกฎหมายไว้หลายประเภท แต่อนุโลมกรณีฆ่าคนในบริบทของสงคราม การถูกลงโทษโดยประหารชีวิต หรือการฆ่าที่เกิดขึ้นจากการป้องกันตัว. ในคัมภีร์ใหม่เห็นพ้องด้วยว่า การฆ่าคนเป็นความผิดและเป็นความเลวร้ายแรงด้านศีลธรรม.  ในพุทธศาสนา การฆ่าสัตว์ตัดชีวิตรวมไปถึงการฆ่าสัตว์ แมลง หนอนและทุกชีวิตทุกรูปแบบ ในฐานะที่ทุกชีวิตเป็น บรรจุภัณฑ์ ของพลังงานธรรมชาติ.

[5] การมีชู้ เป็นบาป เพราะเท่ากับทำลายสายใในครอบครัว.  เมื่อเทียบกับศีลที่ว่าด้วยการไม่ประพฤติผิดในกาม  ศีลธรรมพุทธและหลักปรัชญาของลัทธิเต๋า  เจาะจงไว้ว่า การร่วมเพศระหว่างคนสองคนที่มิได้เป็นสามีภรรยากันถือว่า ผิด และแม้เป็นคู่สามีภรรยากันแล้ว หากลุ่มหลงอยู่กับกามารมณ์มากเกินไป ก็ถือว่าเป็นความประพฤติที่ไม่สมควร. ศีลข้อนี้ยังรวมไปถึงพฤติกรรมทางเพศอื่นๆ เช่นการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง  การร่วมเพศก่อนการสมรส  การมีชู้  การขายตัวหรือการร่วมเพศกับผู้หญิงหากิน  การร่วมเพศเดียวกัน เป็นต้น ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นพฤติกรรมทางเพศที่ผิดศีลธรรม . ในส่วนที่เกี่ยวกับพระสงฆ์หรือแม่ชี ทั้งสองต้องละเว้นการมีเพศสัมพันธ์ทั้งสิ้นทั้งปวงและทุกรูปแบบ.

[6] นักวิจารณ์กล่าวว่า ดั้งเดิมของกฎบัญญัติข้อนี้ เน้นการขโมยลักพาคน เช่นลักพาไปขาย ไปเป็นทาสรับใช้.  ส่วนในพุทธศาสนา เน้นการขโมยทุกสิ่งที่ไม่ใช่ของตัวเองหรือมิได้มีใครให้มา ไม่ว่าสิ่งนั้นเป็นของที่มีเจ้าของแล้วหรือไม่ มีชีวิตหรือไม่.

[7] การโกหกหรือให้ความเท็จ ทำลายความสงบของชุมชน. ศีลข้อนี้ในพุทธศาสนา คือห้ามพูดโกหก เน้นว่า อะไรก็ตามที่คนหนึ่งไม่ได้ยิน ไม่ได้เห็น หรือไม่ได้แตะต้อง หรืออะไรก็ตามที่ตนเองมิเคยรับรู้ด้วยหัวใจหรือประสาทสัมผัสของตนเองแล้ว หากเขาพูดถึงสิ่งนั้นแก่คนอื่น สิ่งที่พูดเป็นมุสาวาท.

[8]  บัญญัติสิบประการเป็นกฎบัญญัติพื้นฐานที่สำคัญที่สุดและดูเหมือนว่าใช้ได้กับมนุษยชาติทั้งมวลไม่ว่าในศาสนาใด โดยเฉพาะหกข้อสุดท้ายที่เกี่ยวกับคนโดยตรง เป็นสิ่งที่ทุกศาสนาเห็นร่วมกัน. มีห้าข้อที่ตรงกับศีลห้าของเต๋าและของพุทธศาสนาด้วยเช่นกัน. ในบริบทประวัติศาสตร์ การอพยพและการดำรงชีพของชาวยิวนั้น มีการบัญญัติข้อกำหนดขึ้นอีกมากมาย ที่สืบเนื่องกับเหตุการณ์ในแต่ละวาระที่เกิดขึ้น เช่น ยามเกิดโรคระบาด มีกฎใหม่ออกมาให้ประพฤติตนเช่นใดเพื่อความอยู่รอดของชุมชน หรือกฎหมายว่าด้วยการกินอาหาร. อาหารอะไรที่ถือว่าเป็นอาหารที่ สะอาด บริสุทธิ์ อาหารอะไรที่ถือว่า ไม่สะอาด.  การถือศีลอด หรือข้อกำหนดสำหรับผู้หญิงยามมีประจำเดือน และอื่นๆอีกมากมายรวมกันทั้งสิ้น 613 ข้อ แต่ทั้งหมดอาจถือได้ว่า เป็นกฎหมายเฉพาะกิจหรือข้อปลีกย่อย. ที่สำคัญและที่เป็นพื้นฐานเสมอมา คือบัญญัติสิบประการที่พระเจ้าเป็นผู้พูดและจารึกลงบนแผ่นศิลาให้แก่โมเสสบนเขาซีไนสำหรับมามอบแก่ชาวอิสราเอล.

[9] แตร์ตูลลียานุส (Tertullianus150-222เป็นนักเขียนชาวคริสต์คนแรก ที่ใช้ภาษาละติน เขาเป็นผู้วางรากฐานเทวศาสตร์ตะวันตก. เขาเป็นนักเขียนละตินคนแรกที่ใช้คำ trinitas หรือ trinity ในความหมายของ ตรีเอกานุภาพ ที่หมายถึงพระบิดา พระบุตรและพระจิต.

[10]  เราให้ศัพท์ดั้งเดิมของคุณธรรมทั้งหลายในบทความนี้ในภาษาละติน ตามที่ปรากฏในหนังสือโบราณทั้งหลายที่กล่าวอ้างถึง.  ศัพท์ละตินมีประโยชน์ เพราะทำให้เราสามารถสืบสาวลงมาถึงคำในภาษาตะวันตกปัจจุบัน และการเปลี่ยนแปลงหรือการกลายความหมาย(หากมี)ที่เกิดขึ้นกับศัพท์แต่ละตัว. ในคริสต์ศาสนาคำละตินเหล่านี้เป็นคำอ้างอิงที่ชัดเจนแน่นอนกว่าคำในภาษาอังกฤษ เพราะการกลายความหมายที่บางครั้งเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ด้วย. ในทำนองเดียวกับที่เรายึดคำบาลีสันสกฤตหรือเขมร (และคำจีน) ที่มาของคำไทยเมื่อพินิจพิเคราะห์ความหมายของคำไทยที่เราสงสัย.

[11] หากเราพิจารณาประติมากรรมที่ศิลปินยุคศตวรรษที่13 จำหลักไว้ จะเห็นว่า ไม่มีภาพประติมากรรมหรือแม้จิตรกรรมใด สามารถสื่อความหมายและให้ความรู้สึกกินใจลึกซึ้งเท่าบทพรรณนาความรักของอัครทูตปอล

[12] คำแปลคำละตินต่างๆนั้นเป็นเพียงความหมายคร่าวๆ เพราะในแต่ละคำมีนัยความที่ขยายความออกไปได้หลายนัยแล้วแต่บริบท. ในที่นี้ได้ให้ไว้เพียงสั้นๆ. อีกประการหนึ่งนามธรรมคำหนึ่งอาจรวมนามธรรมอื่นๆที่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันได้ เพื่อความไม่เยิ่นเย้อ. ความประพฤติหนึ่ง อาจตีความไปได้หลายแง่หลายมุมขึ้นอยู่กับบริบทและสถานการณ์ เช่น ลูซูเรีย - Luxuria ที่ให้ไว้สั้นๆว่า กามตัณหานั้น ยังหมายถึงการขาดความยับยั้งชั่งใจ การควบคุมตนเองไม่ได้. ส่วนการแปลจากคำละตินเป็นภาษาอังกฤษนั้น ก็ไม่สามารถรวมนัยความหมายทุกนัยไว้ ซึ่งเท่ากับการลดความหมายลงเหลือเพียงหนึ่งเดียว. อีกประการหนึ่งคำอังกฤษไกลไปจากรากศัพท์ของละติน ไม่ได้อยู่ในกลุ่มภาษาอินโดยุโรเปียน แต่คำในภาษายุโรปตะวันตก ยังเก็บร่องรอยของคำละตินเดิมไว้จนถึงปัจจุบัน จึงเป็นข้อมูลด้านนิรุกติศาสตร์ด้วย เช่น คำละติน luxuria ในภาษาฝรั่งเศสใช้ luxure ในภาษาอิตาเลียนใช้  lussuria และในภาษาสเปนใช้ lujuria  ในภาษาอังกฤษใช้ lust ในภาษาเยอรมันใช้ Fleischeslust (lust of the flesh)จะเห็นว่าคำอังกฤษและคำเยอรมันมีความหมายแคบกว่าคำละติน.
   
[13] นักเทวศาสตร์ชาวฝรั่งเศสในโลกยุคใหม่ ชื่อ โทมาส์ กูสเซ่ (Thomas Gousset, 1792-1866 อารช์บิชอปเมืองแร็งส์-Reims ในฝรั่งเศส) ได้แจกแจงชนิดของบาปนี้ไว้ในปี 1848 ว่า บาปกามตัณหา รวมกรณีต่างๆดังต่อไปนี้คือ  ๑) การที่คนสองคนยินยอมพร้อมใจมีเพศสัมพันธ์โดยมิได้แต่งงานกัน  โดยที่ทั้งสองฝ่ายมีสถานะของ คนโสด” ในสังคม (อาจเป็นเพราะได้ให้คำมั่นสัญญากับศาสนาไว้ก่อน หรือได้สัญญากับใครมาก่อนว่าจะรักษาความเป็นโสดตลอดไปถือว่าทั้งสองทำบาป. 
) การที่หญิงสาวยินยอมมอบตัวให้ใคร ยอมเสียพรหมจรรย์. 
การลักตัวบุคคลหนึ่งไปกระทำชำเรา โดยที่คนนั้นมิได้ตกลงปลงใจด้วย.
การมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลในสายเลือดเดียวกัน หรือที่เกี่ยวดองเป็นญาติใกล้ชิดกัน(incest). 
การข่มขืนบุคคลที่มอบตัวให้ศาสนา ถือเป็นการดูหมิ่นศาสนา (sacrilege).
) การเป็นชู้ หนึ่ง-ระหว่างชายโสดกับหญิงที่แต่งงานแล้ว  สอง-ระหว่างหญิงโสดกับชายที่แต่งงานแล้ว และสาม-ระหว่างชายและหญิงที่แต่งงานแล้วทั้งสองฝ่าย (adultery).  
เพศสัมพันธ์ระหว่างคนในเพศเดียวกัน และการร่วมรักที่ใช้ส่วนอื่นของร่างกายระหว่างคนต่างเพศ (sodomie). 
) การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนและสัตว์  ถือว่าเป็นบาปที่แย่ที่สุด. 
) การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง (masturbation).
๑๐) บาปทางกามตัณหานี้ เปรียบกับการกลายเป็นคนตาบอด ตาบอดทางจิตวิญญาณ เป็นความเร่าร้อนรัดรึงกับนาทีปัจจุบันและสิ้นหวังในอนาคต.

[14] ในโลกโบราณก่อนคริสตกาลนั้น มิได้ถือว่ากามารมณ์เป็นบาปอย่างหนึ่ง. ในเทพตำนานกรีกเกี่ยวกับ Dionysus เทพแห่งไวน์ ที่มีชื่อในทางเสพสุขจากทุกสิ่งบนโลกโดยไม่สนใจว่าจะมีผลกระทบอะไรไหม. ในพิธีบวงสรวงเทพองค์นี้ จึงมีการดื่ม การระเริงรักอย่างอิสรเสรีในความเคลิบเคลิ้มของผู้ไปร่วมฉลอง (เรียกงานฉลองแบบนี้ว่า orgiastic festivals), อันมีเทพแพน(Pan เป็นวิญญาณแห่งป่าและเขา), เทพซีเลนุส(Silenus) เทพแห่งความมึนเมา บิดาของเหล่านางฟ้า(nymphs), และแมนัดส์(Maenads หรือ Mênê-แมแน เหล่าผู้หญิงผู้ติดตามDionysus ด้วยความหลงใหล และเต้นระบำเริงร่าอย่างคลุ้มคลั่งมักรวมอยู่ในกลุ่มของเทพองค์นี้เสมอ.  ในขนบโรมัน ก็มีงานฉลองแบบเดียวกันนี้ เรียกว่า Roman celebration of Bacchanalia ซึ่งตรงกับช่วงที่ไวน์หมักตัว.
  
[15] บาทหลวงและนักเทวศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ เปตรุ๊ส บินสเฟลดีอุส (Petrus Binsfeldius มีชีวิตอยู่ในราวปี 1540-1598) ได้รวบรวมรายชื่อปีศาจและเจาะจงว่าปีศาจแต่ละตน เป็นตัวแทนของบาปชนิดหนึ่ง ดังนี้ Lucifer เป็นตัวแทนของความหยิ่งยะโส, Mammon เป็นตัวแทนของความตระหนี่และความโลภ Asmodeis เป็นตัวแทนของกามตัณหา, Leviathan เป็นตัวแทนของความอิจฉาริษยา, Beelzebub เป็นตัวแทนของความตะกละ, Satan/Amon เป็นตัวแทนของความโกรธ และBelphegor เป็นตัวแทนของความเกียจคร้าน.  นักเทววิทยาคนอื่น อาจกำหนดปีศาจคู่บาปสามชนิดสุดท้าย แตกต่างกันบ้าง.

[16] เพื่อให้เป็นที่จดจำได้ง่ายขึ้น  มีการจัดเรียงใหม่ให้ตรงกับคำย่อสะดวกว่า ซาลีเกีย - SALIGIA ที่มาจากอักษรตัวแรกของบาปหนักแต่ละประเภทในภาษาละติน อันมี Superbia-ซูเปร์เบีย(ความหยิ่งยะโส), Avaria-อาวาเรีย (ความตระหนี่, ความโลภ) , Luxuria-ลูซูเรีย (ตัณหาราคะ), Invidia-อินวีเดีย (ความริษยา), Gula- กู๊ลา(ความตะกละ), Ira-อีรา(ความโกรธและ Acedia-อาเชเดีย(ความเบื่อหน่ายทั้งกายและใจจนเป็นความเกียจคร้าน).

[17] Jacob ลูกชายของอีซัค-Isaac กับนางรีเบ็คกา-Rebecca. เรื่องราวของจาค็อปปรากฏเล่าไว้ในคัมภีร์เก่า ใน Genesis ตอน 28. จาค็อปต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นอิสราเอล เป็นบรรพบุรุษของชาวอิสราเอล.

[18] ธารน้ำใจเจ็ดอย่างของพระจิต (les sept dons de l’Esprit Saint) หมายถึงคุณสมบัติวิเศษที่คนต้องหมั่นพัฒนาอยู่เสมอ นั่นคือ (la sagesse) ความฉลาดสุขุมที่นำให้เข้าถึงพระเจ้าและสัมผัสจิตวิญญาณของพระองค์(ได้บ้าง), (l’intelligence) สติปัญญาช่วยให้คนเข้าใจคำสอนได้อย่างถ่องแท้และลึกซึ้ง, (la science) วิทยาการและศาสตร์วิชาต่างๆที่ทำให้เห็นระบบระเบียบในธรรมชาติในประวัติมนุษยชาติ และเข้าใจในที่สุดถึงความไม่แน่นอนของชีวิต(la force) พลังจิตที่มั่นคงที่นำทางฟันฝ่าอุปสรรคที่เข้ามาทดสอบความแน่วแน่ในการปฏิบัติหน้าที่และกระชับความกล้าหาญในจิตวิญญาณ นำทางให้เอาชนะจิตใฝ่ต่ำได้, (le conseil) การรู้จักแยกแยะสิ่งที่ถูกที่ควร รู้จักพูดรู้จักเงียบในแต่ละสถานการณ์ของชีวิต. คุณสมบัตินี้ทำให้คนเห็นทะลุปรุโปร่งทั้งจิตใจของตนเองและของคนอื่น(la piété) ความศรัทธาที่ทำให้รู้สึกว่า พระเจ้าคือพระบิดา รู้สึกว่าพระองค์อยู่ใกล้ๆ รู้สึกถึงความเมตตาอ่อนโยนของพระองค์ ที่ทำให้เกิดความไว้วางใจอย่างหมดจิตหมดใจดั่งเช่นเด็กน้อยในอ้อมกอดของมารดา และที่นำเราให้แผ่ความรู้สึกดีๆแบบเดียวกันสู่คนอื่นๆด้วยและสุดท้าย(la crainte) ความยำเกรงในพระเจ้าที่ไม่ใช่ความกลัวหัวหด แต่เป็นการตระหนักรู้ถึงความยิ่งใหญ่ไพศาลของพระองค์ เช่นนี้หลอมใจคนให้รู้จักถ่อมตนและในที่สุดเกิดความปิติ ความอัศจรรย์ใจแบบต่างๆ)

[19] มหากาพย์ไตรภูมิของดันเต้ มิได้เป็นเพียงการผจญภัยของจิตวิญญาณของคนๆหนึ่ง  เพราะกวีเป็นตัวแทนของมนุษยชาติทั้งหมด เบื้องหน้าระบบระเบียบของโลกทุกชั้นทุกภูมิ  ชี้ให้เห็นตำแหน่งของคนในระบบดังกล่าว.

[20]  ทำไมดันเต้เลือกเวอร์จิลเป็นผู้นำทางในนรกภูมินั้น เพราะเวอร์จิลเป็นกวีในโลกโบราณที่ดันเต้ยกย่องมากกว่ากวีผู้ใด. เวอร์จิลได้ประพันธ์มหากาพย์เรื่อง Aeneid [อีนีด] จากตำนานการสถาปนาของกรุงโรม. เนื้อหาในเล่มที่หกของวรรณกรรมนั้น เล่าถึงการเดินทางผ่านลงไปใต้พิภพ เวอร์จิลจึงเป็นผู้นำทางให้ดันเต้ได้ เพราะรู้เส้นทางในนรกแล้ว  เท่ากับว่าดันเต้ได้แรงบันดาลใจและอิทธพลจากวรรณกรรมของเวอร์จิล มาช่วยในการประพันธ์กาพย์ไตรภูมิของเขาเองสิบสองศตวรรษต่อมา.
    
[21] ดันเต้ได้เจาะจงเขียนอุทิศกวีนิพนธ์ตอนสวรรค์(Paradiso) ให้แก่เบียทริซ ปอร์ตีนารี (Beatrice Portinari, 1265-1290) สตรีชาวอิตาเลียนที่ดันเต้ได้เห็นเมื่อเขาอายุเก้าขวบ และนางได้ดลใจดันเต้ จนกลายเป็นความรักอันยั่งยืนในใจ.  ดันเต้ได้เห็นนางอีกครั้งหนึ่งเมื่อเขาอายุสิบแปด เขายังมองนางเหมือนเทพธิดาผู้ดลใจให้เขาประพันธ์บทกวี.  เขาได้แต่งบทกวีให้นางสองเรื่อง.  เบียทริซแต่งงานในปี 1288 (กับคนอื่นเพราะจริงๆแล้วดันเต้รู้จักเบียทริซเพียงผิวเผินในงานสังคมเท่านั้น) และเสียชีวิตในปี 1290.  ดันเต้พิจารณาความรักในใจที่มีต่อนางว่า เป็นแหล่งพลังที่ทำให้เขาหลุดจากการปักตรึงตนเองกับความเป็นตัวตนของเขาเอง เพื่อมุ่งสู่มิติที่สูงกว่า ไปในโลกที่ตามองไม่เห็น. ในมาหากาพย์ไตรภูมิ ดันเต้แต่งให้เบียทริซเป็นผู้มานำทางเขาสู่ทางหลุดพ้น และเข้าถึงอาณาจักรของพระเจ้า  ให้เบียทริซเป็นสัญลักษณ์ของความศรัทธา คุณธรรมที่จะพาชาวคริสต์สู่พระเจ้าได้.  ในเรื่อง เบียทริซ เป็นผู้อธิบายเองว่า นางเห็นจากสวรรค์ว่า ชีวิตของดันเต้ในโลก เบนออกจากเส้นทางตรงที่ควรไป จึงให้เวอร์จิลไปพาดันเต้เดินทางผ่านพิภพ เพื่อให้การเดินทางและการได้เห็นสภาพความทุกข์ทรมานของวิญญาณบาปในนรกและแดนชำระฯ และการได้เห็นสวรรค์ ว่าเป็นความปลื้มปิติบรมสุขอย่างไร จะพาจิตสำนึกของดันเต้กลับสู่ความถูกต้อง และเมื่อตายแล้วจะได้ขึ้นสวรรค์ในที่สุด.  ดันเต้จึงเกิดความตั้งใจและวิงวอนให้วิญญาณของกวีในอดีตที่เขาพบในสองภูมิแรก  และยังวิงวอนขอให้พระเจ้าช่วยให้เขามีพลังทางสติปัญญาและความทรงจำเพียงพอ ที่จะแต่งและเล่าการเดินทางผ่านไตรภูมิของเขา ให้ชาวโลกได้รับรู้.

[22] เทวทูตหรือที่เรารู้จักคุ้นเคยที่ใช้คำภาษาอังกฤษว่า angels นั้น ความจริงเป็นคำเรียกรวมๆและกว้างๆในคติศาสนามีการจัดแบ่งที่สถิตของเทวทูตรอบๆพระผู้เป็นเจ้าตามความใกล้ไกล โดยมีพระผู้เป็นเจ้าเป็นศูนย์กลาง. เทวทูตแต่ละกลุ่มมีชื่อเรียกเฉพาะเจาะจงที่มิอาจให้คำแปลเทียบได้ในภาษาไทย  จึงให้ชื่อเรียกกลุ่มเทวทูตแต่ละกลุ่มเป็นภาษาอังกฤษ  แต่ละกลุ่มมีหน้าที่เฉพาะเจาะจงที่ได้รับมอบหมายจากพระเจ้า   ศิลปินบางคนเสนอรวมตำแหน่งที่สถิตของเหล่าทวยเทพซ้อนเหนือและตรงกับวงแหวนดวงดาวทั้งเก้าชั้น. ในที่นี้เราจึงจัดเรียงที่สถิตของเทวทูตตามวงแหวนดาวในท้องฟ้า จากวงแหวนที่หนึ่งไปยังวงแหวนที่เก้า โดยที่วงแหวนที่เก้าเป็นกลุ่มเทวทูตที่อยู่ใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากที่สุด  ตามด้วยหน้าที่ของเหล่าเทวทูตแต่ละกลุ่มดังนี้  
1. ตรงกับวงแหวนดวงจันทร์ เป็นที่สถิตของเหล่าเทวทูต Angels ผู้ทำหน้าที่เฉพาะกิจ ตามที่พระเจ้าจะบัญชา.
2. ตรงกับวงแหวนดาวพุธ เป็นที่สถิตของเหล่าเทวทูต Archangels ทำหน้าที่นำข่าวหรือความตั้งใจของพระเจ้าไปเปิดเผยให้คนรู้และเข้าใจ.
3. ตรงกับวงแหวนดาววีนัส(ดาวศุกร์) เป็นที่สถิตของเหล่าเทวทูต Principalities ผู้สอนให้คนรู้จักเคารพนับถือผู้ที่อยู่เหนือกว่าเรา ผู้ที่ควรนับถือ.
4. ตรงกับวงแหวนดวงอาทิตย์ เป็นที่สถิตของเหล่าเทวทูต Powers ผู้ที่ขับไล่อำนาจของลมและความชั่วร้าย.
5. ตรงกับวงแหวนดาวอังคาร เป็นที่สถิตของเหล่าเทวทูต Virtues ผู้บันดาลปาฏิหาริย์ต่างๆตามบัญชาของพระเจ้า.
6. ตรงกับวงแหวนดาวพฤหัส เป็นที่สถิตของเหล่าเทวทูต Dominations ผู้สอนให้รู้จักปกครองผู้ที่อยู่ใต้อำนาจเรา ให้เป็นนายที่ดีเป็นต้น.
7. ตรงกับวงแหวนดาวเสาร์ เป็นที่สถิตของเหล่าเทวทูต Thrones ผู้ทำหน้าที่ตัดสินและพิพากษาในนามของพระเจ้า.
8. ตรงกับวงแหวนของดวงดาวที่นิ่งอยู่กับที่ เป็นที่สถิตของเหล่าเทวทูต Cherubim ผู้คุ้มครอง ติดตามดูแลเอาใจใส่ เฝ้าและดูแลสวรรค์ต่อมาได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของอัครสาวก ผู้แต่งคัมภีร์สี่คน ตามที่จอห์นเล่าไว้ในอโปกาลิปส์.
9. ตรงกับวงแหวนชั้น Primo Mobile ที่เคลื่อนไหว เป็นที่สถิตของเหล่าเทวทูต Seraphim  ผู้อยู่ติดบัลลังก์ของพระผู้เป็นเจ้า. เป็นเทวทูตนักดนตรีและนักร้อง ร้องเพลงสรรเสริญด้วยเสียงดังก้องกังวานไปทั่วจักรวาล. ภาพลักษณ์ของเทวทูตกลุ่มนี้ดูจะเป็นที่คุ้นเคยมากที่สุด ปรากฎวาดไว้ในจิตรกรรมเสมอ คือเทวทูตที่อยู่รอบๆพระเจ้า มีใบหน้าเด็ก ติดปีกสามคู่.

[23]  ทฤษฎีของปโตเลมี เป็นข้ออ้างอิงติดต่อกันมาสิบห้าศตวรรษ จนเมื่อ โคแปร์นิก(Nikolaj Kopernik, 1473-1543) พิสูจน์ให้เห็นว่า โลกมิได้นิ่งอยู่กับที่ แต่หมุนไปรอบดวงอาทิตย์ เหมือนดาวพระเคราะห์ดวงอื่นๆที่ก็หมุนรอบดวงอาทิตย์ด้วย. การค้นพบของโคแปร์นิกส่งผลกระทบมหันต์ต่อระบบความรู้ความเข้าใจของปัญญาชนชาวยุโรป ผู้ตื่นตัวและเริ่มศึกษาค้นหาความจริงด้วยวิทยาศาสตร์และประสบการณ์.  นับเป็นจุดหักเหที่นำโลกออกจากยุคกลางสู่ยุคเรอแนสซ็องส์.

[24] รางวัลของคนที่เคยทำความดีงามในชีวิตและได้ขึ้นไปอยู่สวรรค์นั้น คือการได้อยู่ในสวรรค์ที่สว่างไสว หอมอบอวลด้วยกลิ่นดอกไม้ และมีเสียงดนตรีและเสียงเพลงกังวานเสนาะหู.  นอกจากสภาพอันน่าอภิรมย์ดังกล่าว ไม่มีรายละเอียดมากนัก ผู้ใดไปสวรรค์บ้าง. ดันเต้จัดไว้ดังนี้คือ
สวรรค์ชั้นที่หนึ่ง (ดวงจันทร์) สำหรับผู้ที่เคยสาบานตนต่อพระเจ้า แต่ภายหลังได้ผิดคำสาบานเหมือน
ดวงจันทร์ที่มิได้คงที่ถาวรเพราะมีข้างขึ้นแล้วข้างแรม. 
สวรรค์ชั้นที่สอง (ดาวพุธ) สำหรับคนดีแต่ยังมีความทะเยอทะยานในลาภยศสรรเสริญมากกว่ามุ่งสู่พระเจ้า  
สวรรค์ชั้นที่สาม (ดาวศุกร์หรือดาววีนัส) สำหรับคนดีที่มีความรัก แต่เป็นความรักที่ยังคงมุ่งในสิ่งอื่นแทนความรักในพระเจ้า 
สวรรค์ชั้นที่สี่ (ดวงอาทิตย์) สำหรับผู้ที่ไม่ประมาท ความฉลาดทำให้นำไปสู่คุณธรรมอื่นๆ.
สวรรค์ชั้นที่ห้า (ดาวอังคาร) สำหรับชายนักสู้ผู้มีกำลังอำนาจและตายเพื่อกู้ศาสนา.
สวรรค์ชั้นที่หก (ดาวพฤหัส) สำหรับบุคคลที่รักษาความยุติธรรม. 
สวรรค์ชั้นที่เจ็ด (ดาวเสาร์) สำหรับผู้ที่อยู่ในความพอดีพอเพียง นักบวชที่อดทนถือศีลภาวนา.
สวรรค์ชั้นที่แปด (ดาวที่อยู่นิ่ง) สำหรับผู้มีคุณธรรมศาสนา (มีศรัทธา ความหวังและความรักในพระเจ้า) จึงเป็นตัวแทนของชัยชนะของศาสนา เป็นบุคคลสมบูรณ์แบบ สะอาดจากบาปชนิดต่างๆ.
และสวรรค์ชั้นที่เก้า (Primo Mobile) สำหรับเหล่าเทวทูต ผู้ไม่เคยมีบาปใดๆมาทำให้ด่างพร้อย.
เหนือสวรรค์ทั้งเก้าคือสวรรค์ชั้นเอ็มปีเรโอ(Empireo) ที่สถิตของ แก่นแท้ของพระเจ้า.
  
[25]  แบร์นาร์ดเดอแกลโวส์ เป็นบุคคลสำคัญที่สุดในคริสตจักรยุคนั้น ผู้ก่อตั้งอารามนักบวชที่แกลโวส์ ในปี 1115 กระชับกฎการครองตนของนักบวชตามคติซี้โตส์ (Cîteaux) อย่างเคร่งครัด. มีส่วนทำให้คริสตจักรกลับเข้มแข็งและขยายออกไปอย่างกว้างขวางในยุโรป.  ความตรงและความขยันขันแข็งในการปฏิบัติภารกิจของนักบวช ทำให้เป็นที่ปรึกษาของสันตะปาปา ได้รับการยกย่องอย่างสูงในคริสตจักร. เป็นผู้อภิปรายเชิญชวนชาวคริสต์ให้ไปทำสงครามครูเสดครั้งที่สอง.  การที่ดันเต้สร้างให้นักบุญแบร์นาร์ด มาเป็นผู้นำทางไปสู่อาณาจักรของพระเจ้านั้น  มีเหตุผลสนับสนุนอย่างแท้จริง ในฐานะที่นักบุญแบร์นาร์ดได้ชื่อว่า เป็นผู้ที่เคารพบูชาและสรรเสริญพระแม่มารีสูงสุดอย่างมิมีผู้ใดเทียบเท่า และมีส่วนสร้างกระแสความศรัทธาและการเคารพบูชาพระแม่มารีให้แพร่หลายไปมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของคริสต์ศาสนา. ดังนั้นหากนักบุญแบร์นาร์ดเป็นผู้ขอร้องให้พระแม่มารีช่วยดันเต้ ให้เข้าถึงอาณาจักรของพระเจ้า พระแม่มารีย่อมไม่ปฏิเสธ.

[26] หนังสือเล่มสำคัญเกี่ยวกับคริสต์ศิลป์ยุคกลาง ที่เป็นหนังสืออ้างอิงของนักประวัติศาสตร์ศิลป์ รวมทั้งของเอมีลมาล์ คือหนังสือชื่อ Speculum เป็นภาษาละตินที่แปลว่า กระจก  ของ แว็งซ็องเดอโบแวส์ (Vincent de Beauvais ผู้มีชีวิตอยู่ในกลางศตวรรษที่13 เป็นบาทหลวงโดมินิกันชาวฝรั่งเศส) ที่รวมความรู้เกี่ยวกับศตวรรษที่13 และเอมีลมาล์ (Emile Mâle, 1862-1954 ชาวฝรั่งเศส เป็นนักประวัติศาสตร์ศิลป์แห่งบัณฑิตยสภาฝรั่งเศส ผู้เชี่ยวชาญในศิลปะยุคกลางนำมาขยายความ ตีความและวิเคราะห์ศิลปะยุคกลางอย่างละเอียดลออ พร้อมตัวอย่างจากโบสถ์ต่างๆในฝรั่งเศสอย่างชัดเจนในหนังสือชื่อ L’art religieux du XIIIe siècle en France  หนังสือเขาเป็นหนังสืออ้างอิงสำคัญของผู้ศึกษาวิจัยยุคกลางในยุโรป.