Wednesday 16 December 2015

ทุกข์สุขเรื่องรองเท้า Shoes : Pleasure and Pain

ทุกข์สุขเรื่องรองเท้า

เท้าสำคัญยิ่งนัก เป็นจุดที่ร่างกายสัมผัสกับพื้นโลก ทุกชีวิตพัฒนาขึ้นจากจุดสัมผัสนั้น.  ส่วนรองเท้าเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ครบวงจรที่สุดของคน. คนเป็นผู้ออกแบบ เป็นผู้กำหนดการใช้ เป็นผู้เชื่อมประโยชน์ใช้สอยกับจินตนาการทางโลกย์ ปูทางไปสู่ความสัมพันธ์ กระชับอำนาจและยกระดับศักดิ์ศรีกับหน้าตาของผู้สวม. รองเท้าเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของคน เพื่อประกาศความเป็นตัวตนของเขา  เจาะจงอัตลักษณ์ที่แต่ละคนต้องการเปิดเผยต่อสังคมรอบตัวเขา.  รองเท้าจึงสะท้อนจิตสำนึกหรือโลกส่วนตัวของผู้สวม ในขณะเดียวกันก็เป็นดัชนีชี้ค่านิยมร่วมกันในสังคมแต่ละยุคสมัย.  
          รองเท้าเป็นเครื่องแต่งกายที่สำคัญมากจนอาจบอกได้ว่ามากที่สุดของคน. รองเท้าเป็นหนึ่งในเครื่องนุ่งห่มที่จำเป็นสำหรับคน ที่ได้กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการแต่งตัวและโดยเฉพาะในวงการแฟชั่นสมัยนี้.  เราเคยกับการมุ่งแต่ง “ตัว” ก่อนแต่ง “เท้า”, เคยกับการซื้อเสื้อผ้าก่อนคิดซื้อรองเท้าคู่ใหม่  แต่เมื่อความยาวของเสื้อผ้าที่เคยคลุมปิดเท้าอย่างมิดชิดตั้งแต่ยุคโบราณ เริ่มสั้นขึ้นๆ เผยช่วงขา น่องและเท้าออกสู่สายตาของทุกคน  ท่อนล่างของร่างกายจึงสำคัญพอๆกับท่อนบน เป็น “หน้าตา” ของคนนั้น.  นักออกแบบรองเท้าติดตามวิถีชีวิตวิถีสังคมอย่างใกล้ชิด  แบบรองเท้าทวีแยกตามประเภทการใช้งาน รองเท้าในบ้าน รองเท้านอกบ้าน รองเท้าเดิน รองเท้ากีฬาตามประเภทของกีฬา รองเท้าปีนเขา รองเท้าอาชีพ รองเท้าฟอร์ม รองเท้าในพิธีการหรือรองเท้าไปงานเฉลิมฉลองประเภทต่างๆ.  ผู้ตามแฟชั่น ติดตามแฟชั่นรองเท้าควบคู่ไปกับแฟชั่นเสื้อผ้า.  นักออกแบบรองเท้าเป็นที่กล่าวขวัญ ติดตามอย่างสม่ำเสมอ ที่แสดงให้เห็นว่า เรื่องรองเท้าเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามากที่สุดเรื่องหนึ่ง และจะเป็นเรื่อง in trend ตลอดไป.
      Helen Persson ภัณฑารักษ์นิทรรศการนี้ กล่าวว่า รองเท้าเป็นสิ่งที่ออกหน้าออกตา เป็นดัชนีที่แม่นยำที่สุดเกี่ยวกับผู้สวม  รองเท้าที่เป็นเหมือนประติมากรรมชิ้นงาม ชี้บอกเพศ สถานภาพในสังคม อัตตลักษณ์ รสนิยมต่างๆรวมถึงรสนิยมในเพศสัมพันธ์ของผู้สวม(น่าจะต้องเจาะจงว่าชาวตะวันตก). นิทรรศการมุ่งให้มุมมองสามด้านคือ
ก) ด้านการเปลี่ยนแปลง อิทธิพลจากตำนานหรือเทพนิทานเกี่ยวกับรองเท้า เช่นจากเรื่อง Cenderella หรือจากหนังทีวีชุด Sex and the City ในยุคปัจจุบัน เป็นต้น ที่มีส่วนกระตุ้นให้คนคิดวิเคราะห์เชิงจิตวิทยาในความสัมพันธ์ของคนกับรองเท้า
ข) ด้านสถานภาพ  เมื่อรองเท้าเปลี่ยนชีวิตผู้สวม เสริมหน้าตาและทอแสงเรืองรองของ “อำนาจ” แก่ผู้สวม ยกระดับชีวิตของผู้สวมขึ้นสูงเหนือผู้อื่น.
ค) ด้านความหลงใหล เมื่อรองเท้ากลายเป็นสิ่งที่นำความสุขมาให้ เป็นสิ่งสะสมหรือของหวงแหน
         นิทรรศการรองเท้าที่พิพิธภณฑ์ Victoria & Albert Museum ตั้งชื่อไว้ว่า Shoes: Pleasure & Pain ในความหมายของ “รองเท้า - สุขและทุกข์”.  เขาประกาศว่า รองเท้านำความสุขความพอใจพร้อมๆกับความทุกขทรมานแก่ผู้สวม เพื่อความงาม ต้องรู้จักทนเจ็บ. ผู้จัดนิทรรศการเปรียบความรู้สึกนี้ว่า เหมือนเดินบนใบมีดคม (knife-edge walk between pleasure and pain).  นิทรรศการเริ่มตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2015 ถึงวันที่  31 มกราคม 2016.
         การจัดนิทรรศการนี้ได้รวบรวมรองเท้าจำนวน 200 คู่ ทั้งรองเท้าหญิงและรองเท้าชาย จากสี่มุมของโลก เช่นอีจิปต์ แอฟริกา อินเดีย จีน ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักรเป็นต้น. รองเท้าเหล่านี้ทำหน้าที่เล่าประวัติศาสตร์สังคม  ลากเส้นทางวิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตและวิถีสังคม  ตั้งแต่โลกอีจิปต์โบราณเมื่อประมาณ 2000 ปีก่อนมาจนถึงยุคปัจจุบัน ทั้งยังจินตนาการต่อไปในสังคมอนาคตอีกด้วย  มีตัวอย่างให้ชมมากมาย จากรองเท้าแตะ รองเท้าหุ้มส้น รองเท้าบู๊ต ส้นรองเท้าแบบต่างๆ รองเท้าพื้นราบหรือส้นสูงเช่นที่สูง 20 เซนติเมตรของสตรีชาวเตอร์กที่สวมในฮัมมัม (Hamman) หรือที่สูงถึง 50 เซนติเมตรของเหล่าสตรีในราชสำนักยุโรปยุคกลาง, มาเป็นรองเท้าสไตล์ล้ำหน้าของยุคปัจจุบัน และรองเท้าสุดประหลาดตามจินตนาการของสังคมคนในอนาคตด้วย.  เชิญชมภาพตัวอย่างข้างล่างนี้ 
 รองเท้าสานของชาวอีจิปต์ ราว 30 ปีก่อนคริสตกาล

 สองแบบข้างบนนี้ อาจชี้ให้เข้าใจว่าผู้หญิงสมัยก่อนรู้จักรักษาจุดศูนย์ถ่วง
หรือความสมดุลของร่างกาย เพราะเอียงนิดก็พลาดตกจากที่สูง
Two-teethed geta, About 1920, Japan, Lacquered wood, silk,,
rabbit fur, grass and metal,

แล้วส้นแบบนั้น ก็มาเป็นแบบนี้ ในยุคปัจจุบัน




 คู่นี้ของ Lady Gaga
 Sophia Webster. Chiara butterfly leather sandals.

      ดูภาพรองเท้าอื่นๆได้ที่มีในนิทรรศการนี้ได้ที่นี่  >>

         นิทรรศการนี้ ยังเปิดโอกาสให้เรียนรู้กระบวนการสร้างสรรค์รองเท้าทุกขั้นตอน ตั้งแต่ภาพสเก็ตช์บนแผ่นกระดาษ ไปเป็นรูปร่างเท้าบนท่อนไม้ เป็นตัวรองเท้า เป็นส้นรองเท้า จนถึงขั้นสุดท้าย เป็นรองเท้าเต็มทุกมิติ ตามด้วยคำพูด ความคิดหรือปรัชญาการเนรมิตรองเท้าแบบนั้นๆอย่างครบวงจร.  
       Kathryn Hughes ผู้จัดนิทรรศการนี้ ต้องการนำเสนอ เรื่อง รองเท้าในฐานะที่มันสะท้อนความต้องการทางเพศ  อำนาจ การเชื่อโชคลาง จนถึงความหลงใหลเกี่ยวกับรองเท้า. เนื้อหาดังกล่าวมิได้เกี่ยวกับผู้หญิงเท่านั้น  ผู้ชายก็มีส่วนด้วยอย่างมากในนิทรรศการนี้ นอกจากเป็นผู้ใช้รองเท้าแล้ว ยังเป็นผู้ทำรองเท้า เป็นผู้สร้าง, เผยแผ่และเสพความเชื่อเกี่ยวกับเท้าและรองเท้า. เรื่องรองเท้านี้มิได้เกี่ยวกับผู้ใช้รองเท้าเท่านั้น ยังครอบคลุมไปถึงผู้สะสมรองเท้า.  มีคนสะสมรองเท้าเหมือนคนอื่นๆที่สะสมตุ๊กตาหรือแสตมป์ นั่นคือมิใช่เพื่อใช้แต่เพื่อชื่นชมรองเท้าแบบต่างๆที่เขามี.
          จากอดีตถึงปัจจุบัน รองเท้ายิ่งทียิ่งไกลจากลักษณะที่เป็นจริงของเท้าคน  อาจเป็นเพราะการที่มันผนวกนัยยะสำคัญด้านวัฒนธรรม จึงกลายเป็นหัวข้อศึกษาที่กว้างไกลเกินกว่าที่เราเคยคาดคิดกันไว้.  การวิเคราะห์จากมุมมองของความสุขกับของความทุกข์ทรมาน จึงเปิดเป็นภาพมุมกว้างทั้งแปลกน่าทึ่งและวิปริตผิดปกติ ของความสัมพันธ์ระหว่างคนกับรองเท้า.  และนี่เป็นเป้าหมายที่พิพิธภัณฑ์ Victoria&Albert Museum ได้ตั้งขึ้น ให้เป็นหัวข้อใหม่สำหรับประชาชน.

         แต่ไหนแต่ไรมาแล้วรองเท้าเป็นส่วนหนึ่งในโลกส่วนตัวของแต่ละคน  สาวๆจำนวนมากคงเคยฝันอยากลองสวมรองเท้าแก้วเจียระไนของซินเดอเล็ลลา.  เพื่อให้เป็นพยานวัตถุสานต่อความฝันของสาวๆและยืนยันความเป็นไปได้ของเทพนิทานเรื่องนี้ สวาร็อสกี (Svalovski) ได้เนรมิตรองเท้าแก้วเจียระไนขึ้น ดังภาพข้างล่างนี้ 

 

Cinderella’s shoe made from Swarovski,
designed in 2010 by Sandy Powell for Lily James

รองเท้าอาจกลายเป็นสมบัติล้ำค่า เป็นสิ่งประดับหิ้งหรือเข้ากรอบไว้เพื่อชื่นชม ดังตัวอย่างของรองเท้าฟุตบอลของ David Beckham [เด๊วิด แบ็คเขิ่ม] เพราะมันได้ผนวกความตื่นเต้นของการแข่งขัน ของความสำเร็จของนักกีฬาผู้เคยสวมมันในสนามแข่งขัน. จนอาจกลายเป็นสิ่งกระตุ้น สร้างแรงบันดาลใจในการผลักดันตนเองให้เป็นเหมือนนักกีฬาคนนั้น. 
คู่ของ David Backham เทียบกับรองเท้าคู่หนึ่งของ Queen Victoria ข้างล่างนี้
          ในยุคก่อนๆ เครื่องประดับรองเท้าเคยเป็นปัจจัยที่บ่งบอกฐานะความร่ำรวย  เช่นรองเท้าที่ปักด้วยดิ้นเงินดิ้นทอง, ทำหรือตกแต่งด้วยผ้าซาตินหรือผ้ากำมะหยี่, ความละเอียดประณีตของลายปัก, รายละเอียดภายในรองเท้า, วัสดุอื่นๆที่ใช้เป็นต้น ทั้งหมดเป็นดัชนีบอกความมั่งคั่งและ/หรืออำนาจ.  ราคารองเท้ามักเป็นไปตามค่านิยมหรือตามแฟชั่นของเจ้าขุนมูลนาย, สมาชิกในราชสำนัก, หรือดาราคนเด่นคนดังในสังคมแขนงต่างๆ.
รองเท้าปักทอง
Gold Tasselles shoes
ที่อาจดลใจให้ Vogue เนรมิตรองเท้า คู่ long toed shoes ข้างล่างนี้
ยังมีรองเท้าปักแบบต่างๆ 
 Extreme-heels-naomi-campbell-vivienne-westwood.




Chopines, c. 1600 
Men’s Rocking Horse Shoes made in 1988 by Vivienne Westwood. 
Photos: Lauren Hurley/PA Wire


Roger Vivier for Christian Dior shoes, 1958-1960
AlexanderMcQueen, spring summer 2010. Getty

         เกือกไม้ (clog) ของชาวโรมัน ที่สวมในสถานอาบน้ำหรือสปาโรมันในสมัยนั้น (Roman bath) ยกเท้าผู้สวมเหนือพื้นของสถานอาบน้ำ กันลื่นน้ำสบู่. เกือกไม้ได้แพร่หลายออกไปในเกือบทุกดินแดน  รูปแบบค่อยๆเล็กลง เรียวขึ้น เปลี่ยนจากไม้เป็นวัสดุอื่น และในที่สุดมาเป็นรองเท้าแตะข้างสระน้ำ. ในสมัยอ็อตโตมัน เกือกไม้ได้กลายเป็น Qabâqib ที่เป็นเกือกไม้มาตรฐานสูงสุดที่ใช้ในพิธีการของชาวเตอร์ก คนเรียกกันว่า slip-on stilts. เกือกไม้ที่นำมาแสดงในนิทรรศการนี้ (เสียใจ ไม่มีรูปให้ดู) ประดับด้วยมุก และเคยเป็นรองเท้าของสตรีผู้มั่งคั่งคนหนึ่งในระหว่างพิธีมงคลสมรส ที่มีบางตอนจัดในฮัมมัม. การสวมเกือกไม้ในพิธีสมรส(ในฮัมมัม) นี้ ได้ช่วยปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ที่แข็งทื่อของเจ้าสาวที่ดูไม่ผิดรูปปั้นเปลือยบนแท่นยืน ให้เป็นหุ่นที่มีชีวิตขึ้นมา. เพราะประเด็นที่สำคัญยิ่งในการสวมรองเท้าแบบใดก็ตาม คือ ท่ายืน ยืนยังไงเมื่อส้นรองเท้าสูงเท่านั้นหรือเท่านี้.
 
Wedding Paduka, Caroline Groves (b.1959) Parakeet shoes. 
Leather silk satin. Solid silver talons and heel tips. 
Photography by Dan Lowe.
 เกือกไม้ที่เราคุ้นเคยกันที่สุดคือของชาวดัช (The Netherlands) 

  ประดับดอกไม้เก๋ไก๋ จนถึงแบบปัจจุบัน รองเท้าพื้นไม้แบบต่างๆที่ยกส้นขึ้นสูง
         กลางศตวรรษที่ 17 มีแฟชั่นรองเท้าสวมภายใน(บ้าน)สำหรับสตรี ที่นำมาติดกับแผ่นแบนๆบางๆแผ่นหนึ่งแล้วเชื่อมกับใต้ส้นรองเท้าตรงหัวแม่เท้า.  เช่นนี้ ผู้สวมถูกยกขึ้นเหนือฝุ่นสกปรกบนพื้นถนน ทำให้ไม่ต้องคอยกังวลเมื่อย่างก้าว หรือคอยยกกระโปรงขึ้นสูงจากพื้นให้เป็นที่รำคาญแก่ทั้งผู้สวมและผู้คนที่ร่วมเดินไปบนถนนเดียวกัน. แถมยังมีเสียงที่รื่นหูกว่าเมื่อรองเท้าแบบนั้นกระทบกับพื้นในเวลาเดิน. หลังจากนั้นไม่นาน พื้นรองเท้าแบบ flat-footed slap กลายเป็นเครื่องหมายของ “กุลสตรี” ที่แท้จริง
Slap-sole shoe, England 1640s (Southern England)
รองเท้ายังเป็นพยานหรือหลักฐานยืนยันสถานภาพในสังคม เพราะได้ผนึกสัญลักษณ์บางอย่างไว้อย่างเฉพาะเจาะจง บอกที่มาของรองเท้าคู่นั้นๆ. ตัวอย่างที่รู้จักกันดี คือ รองเท้าที่มีพื้นล่างสีแดงสดของ Christian Louboutin [คริสติอ็อง ลูบูแต็ง]  ที่ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความหรูหราอย่างหนึ่ง.  พื้นรองเท้าสีแดงได้กลายเป็นโลโก้ถาวรของรองเท้าของ Christian Louboutin.  
Christian Louboutin เจาะจงเลยว่า พื้นรองเท้าแดงของเขา เป็นดั่งการจุด “เพลิงเสน่หา”
ภาพข้างบนนี้นำเสนอแง่คิดของ Christian Louboutin ที่ว่า
“รองเท้ามิใช่เป็นเพียงงานออกแบบอย่างหนึ่ง แต่เป็นส่วนหนึ่งของภาษาร่างกาย, ของวิธีการเดิน.
สิ่งที่เร้าใจคนอื่นได้ทันทีที่เห็น คือรองเท้า”. 

ผู้หญิงหอบเสื้อผ้าของเธอ แต่รองเท้าหอบผู้หญิง(ไปทุกแห่ง)
สำหรับผม (Christian Loubutin) ไม่มีส้นสูงใดที่สูงพอ
ปรัชญาการออกแบบรองเท้าของเขา  ต้องการยกระดับรองเท้าขึ้นเป็นงานศิลป์ประเภทหนึ่ง มิได้คำนึงถึงความสบายยามสวมใส่ แต่คำนึงถึงความงาม ความเก๋ ลักษณะล่อแหลมและล่อใจ กระตุ้นความยินดีทางเพศ. ผู้ซื้อรองเท้าของเขามาสวม คือผู้ที่ยอมรับวิสัยทัศน์ หรือมีค่านิยมคล้อยตามผู้ผลิต. ปรัชญานั้นคงมิได้ต้องใจทุกคนหรือดลใจให้ทุกคนคล้อยตามเขา (นี่เป็นคนละประเด็น).  ผู้ที่เลือกใช้รองเท้าของเขา อาจต้องการยกระดับตนเอง ว่าเป็นผู้เข้าใจศิลปะและเห็นด้วยกับปรัชญารองเท้าของเขา หรือเพื่อประกาศตนว่าหัวก้าวหน้าและทนเจ็บเพื่อความโดดเด่นที่ไม่เหมือนใคร.
         อีกส่วนหนึ่งในนิทรรศการชี้ให้เห็นว่ารองเท้าส้นสูงๆ เพิ่มความโดดเด่นเหนือคนอื่นๆ ทำให้ผู้สวมเกิดความมั่นใจในตนเองมากขึ้น และกระชับจิตสำนึกเกี่ยวกับตัวเองที่อาจปูทางสู่การกุมนาจทางการเมืองได้.  ตัวอย่างจากจีนสมัยราชวงศ์ ( [ชิงฉาว] Qing dynasty, 1644-1912 ราชวงศ์จักรพรรดิสุดท้ายของจีน) สตรีสูงศักดิ์จากตระกูลแมนจู สวมรองเท้าปักอย่างประณีตสวยงาม ส้นรองเท้าสูง 6 นิ้ว ที่ยกให้พวกเธอสูงกว่าสามัญชนชาวฮั่นที่มีเท้าเล็กนิดเดียวเพราะถูกมัดมาแต่เด็ก. สภาพลักษณ์แบบนี้เองที่ทำให้สตรีชาวแมนจูเกิดความรู้สึกพึงพอใจและรู้สึกเหนือชั้นกว่าชาวจีนฮั่น เพราะพวกเธอโดดเด่นขึ้นและอยู่ในสายตาของผู้ชาย.
         ในกรีซโบราณ ก็มีสำนึกของการแข่งขัน ข่มราศีกันและกันในหมู่สตรี ทำให้สตรีชาวกรีกหันไปใช้รองเท้าที่ยกส้นขึ้นสูง เพื่อให้พวกเธอโดดเด่นท่ามกลางฝูงชน.  จนถึงทุกวันนี้ ผู้หญิงหลายคนยังคิดในทำนองเดียวกันนี้ว่า เธอรู้สึกเหมือนมีอำนาจเมื่อสวมรองเท้าส้นสูง บางคนบอกว่ารู้สึกว่าตัวเองน่ารักน่าใคร่มากขึ้นเมื่อสวมรองเท้าส้นสูง.  การมีอำนาจกับความน่ารักน่าใคร่ อาจแยกออกจากกันไม่ได้นัก และเมื่อมาโยงกับรองเท้า ก็ยิ่งยากจะอธิบายวิเคราะห์เจาะลึกหรือเจาะจงได้.  นิทรรศการนี้นำคนเข้าชม พินิจพิจารณารองเท้า จากต่างมุมต่างระดับ เกิดความตระหนักรู้ว่า มีรองเท้าที่สร้างความน่าเชื่อถือ กับรองเท้าที่ส่อนิสัยสำส่อนของผู้สวมเป็นต้น. 
       ในทศวรรษที่ 90s สตรีคนแรกๆที่สวมรองเท้าส้นสูงน่าหวาดเสียวนั้น เป็นดาวโป๊ ไม่มีเสื้อผ้าปกปิดร่างกายใดๆ สวมแต่รองเท้าส้นสูงปรี๊ด.  จากพฤติกรรมของพวกเธอ ส้นสูงจึงเริ่มจากการเป็นภาพลักษณ์ในเชิงลบ.  ต่อมารองเท้าแบบนั้นกลับกลายเป็นที่นิยมกันทั่วไป แถมได้กลายเป็นเครื่องมือหมายเลขหนึ่ง เป็นหลักฐานยืนยันความแตกต่างระหว่างเพศ ( สถิติชี้ให้เห็นว่า เมื่อผู้ชายแปลงเพศเป็นหญิง เขาเริ่มด้วยการสวมรองเท้าส้นสูง)  เมื่อการใช้รองเท้าส้นสูงแพร่หลายไปทั่ว อคติเกี่ยวกับรองเท้าส้นสูงที่โยงไปถึงดาวโป๊นั้นถูกลบเลือนไปเสียสิ้น. ในทศวรรษที่ 20s ความแตกต่างที่พวกเธอต้องการยืนยัน ทำให้ส้นรองเท้าของพวกเธอสูงขึ้นอีกหลายเซ็นติเมตรทีเดียว
       ข่าวรายงานว่า ความเคยชินในการสวมรองเท้าส้นสูงที่ค่อยๆเปลี่ยนอคติเกี่ยวกับรองเท้าส้นสูงให้เป็นสิ่งที่กระชับความมั่นใจในตัวเอง  มีกลุ่มสตรีที่รวมกันในนามว่า “jamais-sans-mes-talons” หรือ ไม่มีวันไม่สวมรองเท้าส้นสูง (ไม่ว่าจะไปไหน ทำอะไร ต้องสาวมรองเท้าส้นสูงไว้ ราวกับมันเป็นของขลังต้องติดตัวไปด้วยเสมอ)  ดังคำพูดของผู้หญิงคนหนึ่งที่กล่าวว่า เธอรู้สึกมั่นใจมากขึ้นเมื่อได้ยินเสียงรองเท้ากระทบพื้น เป็นเสียงที่รื่นหู และเธอยังชอบแววตาของผู้ที่มองดูรองเท้าเธอด้วย.  เมื่อได้ยินเสียงส้นรองเท้ากระทบพื้น ไม่ว่าจะเป็นเสียงรองเท้าชายหรือรองเท้าหญิง เสียงนั้นก็ระรื่นหู แต่หากเธอสวมรองเท้าไม่มีส้น หรือส้นราบ เธอรู้สึกว่ากำลังสวมรองเท้าอยู่บ้าน (chaussons).  ส่วนผู้หญิงคนไหนที่ไม่ยอมทนเจ็บเท้าเพื่อความงามและความเก๋  เธอก็อาจสวมรองเท้าแบบ sneakers  ที่ผลิตออกมาล้นตลาด เป็นแนวโน้มสวนกระแส สำหรับผู้ต้องการความสบายเท้าและไม่ยอมให้รองเท้ากัดอีกต่อไป. ดูรองเท้าสุดสามัญที่ก็เก๋ไม่น้อย สำหรับผู้ชอบอะไรธรรมชาติๆ เช่น espadrilles [เอสปาดรีลเหลอะ] ที่ทุกคนมีเงินซื้อได้.

 สองภาพนี้จากวิกิพีเดียในหัวข้อ Espadrilles
Espadrilles นี้เองที่ตรึงตาคนได้ เพราะสาวๆสวมกันในฤดูร้อน อาจเริ่มตั้งแต่พฤษภาคมเลย นึกถึงความขาวผ่องของน่องที่ถูกปิดในกางเกงหนาๆและรองเท้าบู๊ตมาตลอดสามสี่เดือนในฤดูหนาว พอถอดรองเท้าหนังพวกนั้นออก สวมเสื้อผ้าหลวมๆ สีขาวหรือสีอ่อนๆในยามอากาศดีและร้อน มันพลิกรูปลักษณ์ของผู้หญิงที่เคยตาไปมาก เหมือนตัวหนอนชมพูๆลอกคราบยังไงยังงั้น  ภาพแรกๆของปีที่คนสวมเสื้อผ้าบางเบาและน้อยชิ้น ชวนมองชวนฝัน. ความจริงความน่ารักน่าถนอมของผู้หญิง มิได้อยู่ที่ราคารองเท้า แต่อยู่ที่วิธีการสวมใส่.
 Victory’s espadrilles with original laces. 1945,
offered by Tin Tin Collectables.
        ผู้หญิงจำนวนมากที่ยอมทนเจ็บเพื่อสวมรองเท้าส้นสูงๆเพื่อเน้นความเป็นผู้หญิงของเธอ. ตลอดยุคสมัยที่ผ่านมา สังคมได้พยายามควบคุมเท้าของผู้หญิง ที่รวมถึงการเคลื่อนไหวของพวกเธอด้วย ดังพยานหลักฐานจากหญิงจีนผู้มีเท้าที่ถูกมัดถูกดัดให้เล็กที่สุดที่จะเล็กได้ เพื่อควบคุมมิให้เธอหนีไปไหนด้วย.   สิ่งที่น่าสนใจคือ การเข้าใจว่าทำไมในสังคม รองเท้ากระตุ้นความต้องการทางเพศในผู้ชาย  และทำไมผู้หญิงจึงถูกจูงจมูกไปสนองความต้องการของผู้ชาย. เบื้องหลังความอยากปรนเปรอผู้ชาย พวกเธอก็มีความพึงพอใจด้วยเช่นกัน จึงยอมรับวิถีรองเท้าวิถีเพศ และยอมทนเจ็บ ทนถูกรองเท้ากัด และยังยอมใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อการนี้. ถึงกระนั้นความสุขกับความทุกข์ก็ไม่เคยชดเชยกันได้อย่างเท่าเทียมกัน.  ทุกวันนี้ เหล่าสตรีมีเสรีภาพมาก  เธออาจแปลงภาพลักษณ์หนึ่งของเธอไปเป็นอีกลักษณะหนึ่งได้อย่างเสรีตามความพร้อมส่วนตัวของเธอเอง โดยไม่ถูกบังคับและโดยไม่ต้องอาศัยส้นรองเท้าเลยก็ได้.  ในปัจจุบันสตรีได้พบจุดยืนมั่นคง ของเธอแล้ว.  ชัดเจนว่า ผู้หญิงถูกป่าวร้องใส่หูเสมอมาว่าเป็นเพศอ่อนแอ มีสถานะที่ด้อยกว่า ทำให้พวกเธอใช้เพศเพื่อให้ได้สิ่งที่พวกเธอต้องการ. สำหรับกลุ่มนักสู้เพื่อสิทธิสตรีนั้น ต้องการวางแบบของสตรีที่มีหนทางเลือกทางอื่นๆ.
        ตัวอย่างของสตรีที่อยู่ในอำนาจ พิสูจน์ให้เห็นว่า มันไม่ใช่เพราะเรื่องส้นสูงนัก แต่รองเท้าส้นสูงอาจมีส่วนช่วยให้คนเห็นความเป็นผู้หญิงของเธอมากขึ้นและควบคู่ไปกับความสามารถของเธอ. หากส้นสูงได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจสตรี เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่โยงสัญลักษณ์นั้นไปยังเรื่องเพศ ไม่ว่าในสภาพการณ์ใดเมื่อเธอสวมส้นสูง เพราะอำนาจกับเพศไปด้วยกันได้ดี ในกรณีนี้ ความฝันเฟื่องของเลขาสาว ไม่ช่วยยกสถานภาพของสตรี (ในแง่ที่ว่า เลขานุการ ไม่มีอำนาจต่อรอง)  
        ผู้ชายคนหนึ่งหรือหลายคนกลับคิดว่า ส้นสูงมากของผู้หญิง ข่มเขา ทำให้เขาอาย เขาชอบพูดคุยกับผู้หญิงที่ไม่สวมส้นสูง..และนี่ไม่ใช่เพราะคนพูดเป็นคนเตี้ยแต่อย่างใดเพราะเขาสูง 1.85 m. และมีผู้หญิงน้อยคนที่จะสูงกว่าเขา.  ส้นสูงวางสิ่งกีดขวาง แถมยังส่งคลื่นของความไม่เป็นมิตร แบบท้าทายให้ประชันอำนาจกัน  ผู้ชายบางคนจะหนีผู้หญิงแบบนี้.  รองเท้าส้นเตี้ยหรือรองเท้าพื้นราบแบบรองเท้าผ้าใบ ทำให้พวกเธอดูธรรมชาติมากกว่า และนี่เป็นคุณสมบัติที่ผู้ชายหลายคนชอบในตัวผู้หญิง.  ส่วนผู้ชายอีกคนหนึ่ง บอกว่าชอบส้นสูง แต่มันต้องสวยด้วย หากน่าเกลียด เขาก็ไม่ชอบและหันไปสนใจรองเท้าผ้าใบที่ใช้ในการกีฬา  สำหรับชุดราตรี ส้นสูงนั้นสำคัญที่ทำให้คนเห็นผู้สวมเป็นผู้หญิงมากขึ้น. อย่างไรก็ดี ผู้หญิงอาจไม่ใช้ส้นสูงหรือไม่มีชุดราตรีวิเศษพิเศษใดเลย ก็ยังสามารถคงความเป็นผู้หญิงได้  เพราะมีผู้หญิงที่สวมส้นสูงแล้วไม่เข้ากับบุคลิกของเธอ เพราะฉะนั้นไม่ต้องคร่ำครวญเลย ถ้าคุณไม่ชอบส้นสูง ก็ไม่ต้องสนใจมันเลย.
        สังคมตะวันตกปัจจุบันให้ผู้หญิงมีโอกาสเลือกและไม่มีการบังคับใดๆ.  ไชโยกับความหลากหลายของการแต่งกาย.  ผู้หญิงชอบที่จะเลือกแบบของเธอเอง แม้ว่าสังคมยังต้องการให้มีภาพลักษณ์เกี่ยวกับเพศในวิธีการแต่งกายของพวเธอ.  แต่ผู้หญิงเองก็ยอมเป็นเครื่องมือเพื่อแลกกับผลตอบแทนบางอย่าง หรือมิใช่ ?.  แบบเสื้อทั้งหลายที่ออกมา ก็ยังเพื่อให้ผู้หญิงดู sexy. เครื่องแต่งกายของเราสะท้อนความไม่เสมอภาคระหว่างเพศมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เพื่อพัฒนาความเสมอภาค จึงควรย้อนไปพิจารณาเครื่องแต่งกายผู้ชายมากกว่าการสร้างภาพลักษณ์ของเพศให้แก่เครื่องแต่งกายสตรี.  การปฏิวัติฝรั่งเศสได้พลิกผันภาพลักษณ์ของเพศชายไปมาก เพราะเครื่องแต่งกายชายในสังคมชั้นสูง เกี่ยวโยงกับสมัยสมบูรณายาสิทธิราช และเกี่ยวกับผู้ชายที่ไม่ทำงาน. ในตอนนั้นชายชาวตะวันตกสวมรองเท้าที่มีส้นด้วย  หลังจากนั้น เสื้อผ้าผู้ชายจะผนีกเอกลักษณ์ของการงาน ของความเสมอภาคระหว่างชนชั้น จนอาจเบนไปเป็นเครื่องแบบมากขึ้นด้วย (กรณีจีนเป็นตัวอย่างสุดยอด).  จนถึงทุกวันนี้  ผู้ชายกุมอำนาจทางการเมือง ทางเศรษฐกิจและทางวัฒนธรรม. ผู้เรียกร้องสิทธิสตรีทุกวันนี้ ต้องหันมาตั้งคำถามเกี่ยวกับเพศชายและเกี่ยวกับแบบของความเป็นชายมากกว่า.    
       การแอบลอกเลียนแบบรองเท้า เริ่มชัดเจนขึ้นตั้งแต่ทศวรรษที่ 1890 เมื่อรองเท้าบู๊ตที่สูงขึ้นถึงเข่าหรือเหนือเข่าที่เหล่าสตรีในซ่องโสเภณีสวมกันนั้น ได้กลายมาเป็นรองเท้าของผู้หญิงทุกคน พวกเธอสวมไปเดินช็อปปิ้งที่ Selfridges(ตามข่าวที่ฟังมา). เรื่อยมาในทศวรรษที่ 1920s บรรดาสตรีศรีภรรยาไร้ข้อครหาของเหล่ายักษ์ใหญ่นักอุตสาหกรรมชาวยุโรป หันมาใช้รองเท้าที่มีส้นสูงและที่ทำให้คนเดินถนนคนอื่นๆหน้าแดงเพราะรู้สึกอายแทนที่คุณเธอกล้าเปิดเผยหรือประกาศเชิญชวนเรื่องเพศได้ถึงเพียงนั้น.  แบบรองเท้าในยุคนั้น จึงเป็นสิ่งคั่นพรมแดนระหว่างชนชั้น.  กว่าจะก้าวข้ามพรมแดนดังกล่าวนี้ได้ ก็เป็นยุคต้นศตวรรษที่ 21 นี้เอง. ศตวรรษปัจจุบัน ผู้คนหันมายึดและเน้นคุณสมบัติของสรรพสิ่งที่สามารถกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ  เช่น รองเท้าหนังมัน รองเท้าที่มีกระดุมติดแน่นหนา  รองเท้าที่เปิดให้เห็นนิ้วเท้า  ส่วนโค้งของเท้าที่เปล่าเปลือย หรือส้นที่สูงมาก  ลักษณะเหล่านี้เข้าไปปรากฏบนเวทีแฟชั่นโชว์มากขึ้นๆ. และแล้ววันเวลาของการกระตุ้นเพศด้วยรองเท้าก็ จะผ่านไป.  เราจะถึงยุคของรองเท้าที่หลายคนคิดว่า คงน่าเกลียดสุด.  และจะเป็นยุครองเท้าส้นราบแบน รองเท้าที่เน้นประโยชน์ใช้สอย และรองเท้าสำหรับทุกโอกาส (โดยเฉพาะของเด็กตั้งแต่แปดขวบขึ้นไป)  
         แม้ว่าความหรูความเก๋จะหายไปในตลาดรองเท้าบ้าง แต่ก็มิได้หมายความว่านักผลิตรองเท้าหมดความกระตือรือร้นแล้ว. มีนักออกแบบหัวก้าวหน้าที่สำรวจและทดลองทำรองเท้ารูปลักษณ์ประหลาดๆ เช่นตัวรองเท้าที่อาจดึงให้ยืดออก หรือดันให้กระชับเท้าเป็นต้น.  หลังๆนี้นักออกแบบ Zaha Hadid ได้ใช้ความรู้เรื่องโครงสร้างสถาปัตยกรรมของระบบคานที่ซับซ้อน มาใช้เนรมิตรองเท้า Novo shoe ที่สามารถทำให้ผู้สวมรองเท้าที่สูงถึง ๖ นิ้วเดินได้อย่างสะดวกสบายเกินความคาดหมายเลยทีเดียว. (สนใจดูได้ที่นี่ http://www.novoshoes.com.au/heels)
       Helen Persson ภัณฑารักษ์ กล่าวว่า นิทรรศการนี้เป็นวิธีกรองความหลงใหลรองเท้าที่เป็นเรื่องเอกบุคคล และขยายเนื้อหาให้กว้างออกไป.  แต่เธอก็ตระหนักถึงอิทธิพลที่เกิดจากภาพยนต์ทีวีชุด Sex and the City. ภาพยนต์ชุดนี้ฉายอย่างต่อเนื่องระหว่างปี 1998-2004 มี Sarah Jessica Parker นำแสดง. ในเรื่องเธอแสดงเป็น Carrie Bradshaw นักหนังสือพิมพ์ชาวนิวยอร์ค ผู้หลงใหลและหมกมุ่นเป็นพิเศษเกี่ยวกับรองเท้า บอกว่าฝันร้ายที่สุดที่เกิดกับเธอคือ เมื่อเธอถูกคนร้ายเอาปืนจ่อแล้วกวาดรองเท้าของเธอไป  และนาทีที่เธอมีความสุขที่สุดคือเมื่อเธอเดินสะดุดรองเท้าคู่หนึ่งในตู้เก็บสินค้าของ Vogue เป็นรองเท้าแตะสายเดี่ยวของ Manolo Blanhnik Mary Janes ที่เธอเคยคิดว่ารองเท้าแบบนั้นมีในตำนานเท่านั้น เมื่อได้เห็นว่ามันมีจริง เธอจึงปลาบปลื้มมาก.  
         นิทรรศการนี้จบลงด้วยการเสนอให้เข้าใจว่าทำไมผู้หญิงบางคนและผู้ชายบางคน ซื้อรองเท้ามาเก็บไว้เป็นจำนวนมากและอาจไม่สวมมันเลย  และก็ไม่ใช่เพื่อนำออกขายเอากำไรในอนาคต เพราะรู้กันชัดเจนว่า การประมูลซื้อรองเท้านั้น ไม่มีทางได้ ไม่เหมือนการประมูลซื้อเสื้อผ้าแบรนด์เนมเช่นชุดสูทของ Channel หรือชุดยี่ห้อ Schiaparelli.  ความสุขของนักสะสมรองเท้าดูเหมือนจะอยู่ที่การได้เห็นรองเท้าสวยงาม เก๋ไก๋ หรืออยู่ที่การได้สัมผัสลูบไล้รองเท้าสวยงามเหล่านั้น จะสวมมันหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ.
         จากคำบอกเล่า มีนักสะสมรองเท้าที่วางเรียงรองเท้าของเธอทั้งหมดบนหิ้งหนังสือภายในห้องนอนของเธอและบอกว่า สิ่งแรกที่เห็นเมื่อเธอลืมตาตื่นในตอนเช้าคือรองเท้า และนั่นทำให้เธอมีความสุขมาก.  หรือเรื่องของ Jeff นักสะสมรองเท้าอีกผู้หนึ่ง เขามีรองเท้า sneaker (รองเท้ากีฬาพื้นยาง หรือรองเท้าผ้าใบพื้นยาง)  มากกว่าพันคู่แล้ว และออกจะหงุดหงิดนิดๆที่รู้ว่าความหวังที่จะรักษาคอเล็กชั่นของเขาให้เป็นหนึ่งเหนือคนอื่นๆนั้น ยิ่งทียิ่งยาก เพราะเดี๋ยวนี้มีคนจำนวนมากที่กว้านซื้อรองเท้าที่ออกมาในจำนวนจำกัด (limited edition) เพื่อไปขายเอากำไรต่อ. นอกจากนี้ยังมีการปลอมแปลงรองเท้าที่คนซื้อไปเก็บโดยไม่รู้ว่า นั่นไม่ใช่คู่จริงจากนักออกแบบโดยตรง. 
    นิทรรศการนี้ยังมีตัวอย่างรองเท้าที่ซุกซ่อนมาตามคำเล่าลือเกี่ยวกับคลังรองเท้าของ Imelda Marcos อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งของประเทศฟิลิปปิน และที่น่าแปลกใจคือความรักความหวงของ Imelda Marcos ที่มีต่อรองเท้าคู่สีเนื้อสูงปานกลางของเธอ.
    อีกเรื่องแปลกๆของ Lionel Bussey ผู้สะสมรองเท้าผู้หญิงมาตั้งแต่ปี 1914 จนเมื่อเขาถึงแก่กรรมในปี 1969. เขามีรองเท้าทั้งหมด 600 คู่.  Bussey เป็นผู้มีตาแหลม เข้าใจแฟชั่น และรู้จักเลือกเก็บรองเท้าที่มีเอกลักษณ์พิเศษ แปลกหรือต่างจากรองเท้าทั่วไป.  มีผู้เล่าว่า ทุกเย็น เขาลองสวมรองเท้าที่เขามี หรือนั่งลูบไล้รองเท้าของเขาด้วยความรักใคร่  นิ้วเคล้าเคลียไปตามรูปรองเท้าทุกๆส่วนทั้งในและนอก ตั้งแต่ปลายเท้า เอวรองเท้า คอรองเท้าหรือก้านส้นเท้า.  เราเข้าใจได้ไม่ยากว่าความผูกพันที่เขามีกับรองเท้าของเขานั้น อยู่ในมิติใดบ้าง.  มีการระบุด้วยว่ารองเท้าในคลังสะสมของเขาจำนวนมากเป็นรองเท้าผู้หญิง ขนาดต่างๆ และในจำนวนเหล่านี้ มีหลายคู่ที่ยังห่ออย่างเรียบร้อยในกล่อง เจ้าของยังไม่ได้แกะออกดูเลยหลังจากที่ได้ซื้อมา. แน่นอน เขาไม่เคยตะขิดตะขวางใจแต่อย่างไรเกี่ยวกับรองเท้าสะสมของเขา  ดูเหมือนจะตั้งเป้าไว้ด้วยว่า  วันหนึ่งคลังสะสมที่เขารักและหวงแหน จะได้เข้าไปเก็บโชว์ในพิพิธภัณฑ์แห่งใดแห่งหนึ่ง.  ไม่น่าสงสัยว่าในยุคที่เขามีชีวิตอยู่นั้น ผู้ชายเช่น Bussey อาจมีรสนิยมสะสมสิ่งใดก็ได้ตามที่เขาชอบ แม้ว่าของสะสมของเขาจะเป็นรองเท้าสตรีก็ตาม มันไม่แปลกอะไรเลย ไม่มีใครคิดว่านั่นเป็นเรื่องจิตผิดปกติ.   เรื่องราวของเขายังเตือนให้เราตระหนักว่า บางทีสิ่งที่เราเรียกว่ารองเท้า อาจมิได้เป็นเพียงรองเท้า  รองเท้าที่ใช้สวมในชีวิตของสามัญชน มิได้เป็นแค่รองเท้าที่สวย สีนั้นสีนี้ แต่เป็นสิ่งสร้างความสุขให้คนได้ ในราคาที่ไม่แพงนักและช่วยสานฝันของคนที่มักจบลงด้วยดีดั่งในเทพนิทาน.

นิทรรศการรองเท้าที่ลอนดอนครั้งนี้ มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับรองเท้าคู่เล็กจิ๋วของสตรีชาวจีนพร้อมรายละเอียดที่น่าสนใจและโดยเฉพาะในฐานะที่รองเท้าแบบนั้นเป็นสิ่งกระตุ้นความกระสันสวาท  เราจึงจะนำเรื่องราวของรองเท้าคู่จิ๋วในรูปลักษณ์ของดอกบัว มาเล่าแยกไว้จากรายงานทั่วไปที่เขียนมาข้างต้นนี้ ท่านอาจติดตามไปอ่านได้ตามลิงค์ต่อไปนี้



โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ ฟังเขาเล่ามาในข่าว แล้วนำมาปะติดปะต่อให้ได้เรื่อง
ใครสนใจ เชิญติดตามไปดูได้ที่พิพิธภัณฑ์ Victoria & Albert Museum  
จนถึงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๙.

No comments:

Post a Comment