Saturday, 31 December 2016

ส่งความสุข ส่งความเหนียว Stick-to-it-ive

ต้นปีใหม่ ชาวญี่ปุ่นนิยมกินขนมเหนียวที่เรียกกันว่า Mochi (, ) [โหม่จิ๊]  (pounded sticky rice cake). ความจริงก็กินกันบ่อยมาก กินแบบ sans état d’âme คือกินโดยไม่คิดอะไรทั้งนั้น เพราะหิว เพราะถูก เพราะไม่มีให้เลือก ฯลฯ. แต่ช่วงปีใหม่ทุกคนอยากกิน ตั้งใจกินให้ได้ เพราะความหมายนัยสัญลักษณ์ของ ข้าวเหนียว”. ให้นึกถึงสำนวนไทย หนังเหนียว”  เป็นความเหนียวประเภทแทงไม่ตาย ยิงไม่เข้า อะไรทำนองนี้. ในที่สุดความหมายหลักที่ยึดกันมาในการกินขนมเหนียววันปีใหม่คือ การเป็นคนอดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆเพื่อมุ่งสู่ความหวังที่ต้องการ.
ขนมโหม่จิ๊ญี่ปุ่น ปกติเป็นสีขาวๆของแป้งข้าวเหนียว ไม่มีไส้ เป็นแป้งล้วนๆ อาจเอาไปย่างไฟอ่อนๆ หรือนึ่งร้อนๆแล้วกิน, หรือเมื่อนึ่งแล้ว เอาไปคลุกผงถั่วป่นก่อน. ต่อมามีการผสมธัญญพืชรวมทั้งผงป่นของใบชาเขียวลงไปในแป้งข้าวเหนียว นวดให้เข้าจนเป็นเนื้อเนียนเดียวกัน กลายเป็นสีเขียวมรกต นึ่งให้สุก ก็เป็นที่นิยมกันมากในหมู่คนญี่ปุ่น. นอกจากนี้ ก็มีการสอดไส้ถั่วแดงเข้าไป เพื่อให้มีรสหวานมากขึ้น. ขนมเหนียวที่แปลกอร่อยไม่เหมือนที่ใด คือขนมเหนียวจากจังหวัด Sendai [เซ่นได] เป็นขนมเหนียวสีขาวลูกกลมๆขนาดลูกเชอรี่หรือใหญ่กว่านิดหน่อย คลุกทั้งลูกในถั่วแระญี่ปุ่นที่ต้มและบดจนแหลก ไม่หวานนัก และมีรสชาติดีทีเดียว. เดี๋ยวนี้รูปแบบและรสชาติของขนมเหนียวญี่ปุ่นมีหลากหลายมาก แล้วแต่ใครจะเนรมิตขึ้นและโฆษณาจนติดตลาด. ดูเหมือนแต่ละจังหวัดพยายามออกแบบขนมเหนียวให้แปลกพิเศษออกไป ให้เหมือนเป็นสินค้า otop ของจังหวัด มีผู้นิยมมากบ้างน้อยบ้าง. แต่แบบดั้งเดิมที่ขึ้นเป็นแบบคลาซสิกตลดกาล คือโหม่จื๊สีขาวล้วนๆ ที่ยังคงนิยมกิน อย่างน้อยก็ในช่วงเทศกาลปีใหม่.
ขนมเหนียวแบบดั้งเดิม สีขาวล้วน ไม่มีไส้ นึ่งสุกแล้ว
 ขนมเหนียวหน้าตาอย่างนี้เรียก (Mitarashi) Dango [ดังโง]
(みたらし団子 หรือ 御手洗団子)
ขนมเหนียวสีขาว อาจย่างไฟก่อน หรือนึ่งสุก ลาดด้วยซอสซีอิ๊วหวาน
เสียบไม้ขายเป็นแท่งๆ ปกติมักมี 5 ลูก สะดวกกินทันทีแก้หิวได้ชะงัดนักแล
 ก้อนแป้งข้าวเหนียวตัดเป็นสี่เหลี่ยมแบบนี้ มักนำย่างไฟอ่อนๆ ก่อนกิน
ปกตินิยมใส่แป้งแบบนี้ลงในน้ำซุป หรือในชามก๋วยเตี๋ยว udon [อุด๊ง]
ส่วนตัวข้าพเจ้าชอบก้อนแป้งข้าวเหนียวแบบนี้ นำมาย่างไฟ แล้วห่อด้วยใบสาหร่ายทะเลที่ทาน้ำมันงาทั้งแผ่น ย่างไฟอ่อนๆ โรยเกลือลงบนแผ่นสาหร่าย เสร็จแล้ว ห่อกินกับขนมเหนียวสี่เหลี่ยมแบบนี้. อร่อยถูกปากข้าพเจ้ายิ่งกว่าแบบใด. เป็นวิธีการกินส่วนตัว ไม่ได้เอามาจากใคร.
 ขนมเหนียวย่างไฟในชามก๋วยเตี๋ยวอุด๊ง เรียกว่า Chikara udon [จิ๊การ่า อุด้ง]
 ขนมเหนียวสไตลจังหวัดเซ่นได คลุกถั่วแระบด เรียกว่า Zunda mochi [ซุ่นดะ โหม่จิ๊]
 ถั่วแระญี่ปุ่นสีเขียวอ่อนๆ ต้มสุกแล้ว บีบเอาแต่ถั่ว
เอามาตำพอให้แหลก ไม่ถึงกับละเอียด
จัดแบบนี้ ให้กินอย่างเรียบร้อยในร้าน
 ขนมเหนียวไส้ต่างๆ สีต่างๆในยุคใหม่
ภาพจาก pinterest.com ที่ระบุว่า saved from Alibaba B2B

น่าสังเกตว่า การขอพรแบบคนญี่ปุ่น ตามขนบเดิมๆที่สืบทอดกันมา (เดี๋ยวนี้อาจเปลี่ยนไปแล้ว) คือ การขอให้ตัวเองเอาชนะอุปสรรคต่างๆ  โดยปริยายเท่ากับว่าชาวญี่ปุ่นรู้แน่แก่ใจและยอมรับอย่างสิ้นสงสัยว่า ชีวิตมีอุปสรรคต่างๆมากมาย.  หนึ่งในเจ็ดเทพเจ้าแห่งโชคลาภตามขนบญี่ปุ่น ชื่อเทพ Daikokuten 大黒天 [ไดก๊กเต็ง] เป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภ การพาณิชย์และการค้าขาย. เทพเจ้าองค์นี้ถือค้อนเป็นอาวุธติดตัว. ค้อนเป็นสัญลักษณ์ สื่อความหมายของการทุบอุปสรรคต่างๆให้แหลกลงไป.
        เจ็ดเทพเจ้าแห่งโชคลาภประเภทต่างๆ ในภาษาญี่ปุ่นคือ [ฉิจิ๊-ฟึกือจิน] Shichifukujin 七福   โชคลาภอะไรบ้างนั้น น่าจะคิดกันเองได้ เพราะความปรารถนาของคน ไม่ว่าชาติใดภาษาใด เหมือนกันหมด บางอย่างมากกว่าบางอย่าง. ขอยกเว้นไม่กล่าวถึง.
ภาพทั้งสองนี้ มาจาก >> https://blog.gaijinpot.com/shichifukujin-meguri/
Daikokuten คือรูปปั้นที่สองจากขวา และในภาพสเก็ตช์ คือภาพแรกซ้ายแถวที่สอง. ในทั้งสองภาพ Daikokuten มือขวาถือค้อน มือซ้ายรวบปลายของถุงสมบัติถุงใหญ๋(เกือบเท่าร่างของเทพ) ที่พาดจากไหล่ลงไปเต็มหลัง. ดังนั้นเอกลักษณ์ของเทพ Daikokuten จึงคือ ค้อนและถุงสมบัติ. สร้างความฝันความหวังแก่ทุกผู้ทุกนาม ผู้ยังต้องวนเวียนอยู่ในโลกของโลกย์.
ส่วนตัว ข้าพเจ้าอยากโยงการกินขนมเหนียว กับเทพเจ้า Daikokuten [ไดก๊กเต็ง]  เพราะหากติดตามดูวิธีการทำขนมเหนียว ที่เรียกว่า Mochitsuki  餅月 [โหม่จิ๊ดซือกิ] (ดูในคลิปวีดีโดที่นำมาให้ชม) ก็จะเห็นชัดเจนว่า กว่าจะได้ขนมเหนียว แบบเหนียวจริงและเนื้อเนียนทุกอณูนั้น มันต้องทุบต้องนวดมากเพียงใด. ข้าพเจ้าคิดว่า หากคนมีความเหนียว บวกความยืดหยุ่นและมีคุณธรรมเป็นความนุ่มนวลในตัว คนนั้นน่าจะเหมือนได้ค้นพบขุมทรัพย์อันมีค่ามหาศาล.
      ธรรมเนียมที่น่านำมาคิดไตร่ตรองอีกอย่างหนึ่งคือ ณ วินาทีขึ้นปีใหม่ ระฆังวัดใหญ่ๆตามเมืองใหญ่ๆในญี่ปุ่น จะดังขึ้นก้องกังวานออกไปนานเท่าจำนวนการตี 108 ครั้ง (น่าจะระบุว่า พระสงฆ์โยกไม้อันมหึมาไปกระทบระฆังให้ดังสนั่น). การตีระฆังอย่างนี้ในวันเริ่มต้นปีใหม่ เพื่อเตือนสติทุกคนให้เคาะทิ้ง ทุบให้แตกและสลัดให้หลุดสิ่งไม่ดีต่างๆ ไม่ว่ากิเลสหรือเคราะห์ใดๆ ให้ออกไปจากใจ จากตัว.  เขารวบรวมไว้ว่าในคนมีกิเลส มีอกุศลจิตแบบต่างๆรวมทั้งเคราะห์กรรมรวมกันถึง 108 ชนิด. (ขออภัยที่มิอาจนำมาสาธายายณที่นี้ แต่ปัญญาชนน่าจะทำรายการได้เอง หาก รู้จักตัวตนของตัวเองและซื่อสัตย์จริงใจพอ)
      ความคิดในการกำจัดสิ่งที่เป็น ลบให้หมดไปจากใจคนตั้งแต่วันเริ่มปีใหม่ทันทีเลยนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าดีทีเดียว เพราะในที่สุดเมื่อขจัดสิ่งที่เป็นลบออก ก็มีแต่สิ่งดีๆที่เป็นบวก หรือมีความพร้อมซึมซับสิ่งดีๆได้เต็มที่. ขนบและค่านิยมไทย ที่มุ่ง การ ขอสิ่งดีๆเข้าสู่ตัว โดยมิได้คำนึงไปถึงสิ่งไม่บริสุทธิ์โปร่งใส ความหลงความอยากในสรรพวัตถุฯลฯที่มีในตัวนัก  จึงเหมือนไม่สนใจคิดกำจัดมันไป และโดยปริยายคือการอนุรักษ์หรือยึดมันไว้ต่อไปก่อน หรือมิใช่?
      ตัวเลข 108  ถือว่าเป็นมงคลในค่านิยมตามขนบพุทธ เพราะที่พระบาทของพระพุทธองค์มีสัญลักษณ์มหามงคล 108 ชนิด และศิลปินช่างไทยได้แกะจารึกลงอย่างงดงามที่ฝ่าเท้าของพระพุทธไสยาสน์วัดโพธิ์ ผู้สนใจอยากรู้รายละเอียดต่อ เชิญได้ที่นี่ >>

      ในระดับสากล การสอนเด็กหรือแม้ผู้ใหญ่ ให้ตั้งปณิธานแต่ละปี ตั้งเป้าหมายสำหรับตนเองว่า ปีใหม่จะเพียรตัดกิเลสอะไรออกไปบ้าง  น่าจะเป็นวิธีการพัฒนาตัวเองที่ดีวิธีหนึ่ง ควบคู่ไปกับการตั้งเป้าหมายใหม่ในปีใหม่ ว่าจะทำดีอะไรบ้าง.

      วิธีการนวดแป้งข้าวเหนียวเพื่อทำขนมเหนียวนั้น ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า Mochitsuki  餅月 [โหม่จิ๊ดซือกิ]. ถ้าดูตามอักษรจีนแล้ว ตัวแรกแปลว่า ขนมที่ทำจากแป้ง คือคำ เปี๊ยะ ในภาษาแต้จิ๋วนั่นเอง. ตัวที่สอง แปลว่าดวงจันทร์. ญี่ปุ่นใช้ในความหมายของการทำเพื่อให้ได้ขนมรูปทรงกลมเหมือนพระจันทร์.  ภาษาจีนใช้สองตัวนี้ แต่วางสลับที่กันเป็น 月餅 แปลว่า ขนม(ไหว้)พระจันทร์. 餅月 ในภาษาญี่ปุ่น จึงน่าจะเป็นอิทธิพลจากวิถีกินอยู่แบบจีน.
      การทำขนมเหนียวดูจะเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของจังหวัดนารา นารามีชื่อเรื่องขนมโหม่จิ๊ โดยเฉพาะเมื่อไปแถววัดหลวงพ่อโต (Todaiji ที่เมืองนารา) หากโชคดีจะได้เห็นคนทำ ที่มุมหนึ่งบนถนนสายที่สามกลางเมืองเก่า ข้าพเจ้าเคยพาเพื่อนไป และได้เห็นกับตา ได้ถ่ายคลิปวีดีโอสั้นๆที่เก็บมาอย่างถนอม เพราะกลับไปกี่ครั้ง ไม่ได้จังหวะเห็นอีก แต่เขาก็ทำกันอยู่ เพียงแต่ไม่เปิดให้คนเห็น). พบคลิปวีดีโอนี้ในยูทูป เขาประกาศว่า คนนี้น่าจะเป็นคนที่ มือไว ที่สุด (ในญี่ปุ่น) เพราะเดี๋ยวนี้ คนทำขนมเหนียวด้วยมืออย่างนี้ น้อยลงๆ. เขาผลิตเครื่องจักรทำแทนคนกันแล้ว คลิกไปดูคลิปนี้ได้ มีบทบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ ที่นี่ >>

      ขนบการกินอะไรเหนียวๆ ที่น่ารู้จากอีกประเทศหนึ่งคือเกาหลี. ชาวเกาหลีนำแป้งข้าวเหนียวมาประกอบอาหารจานสำคัญ เพื่อกินในวันขึ้นปีใหม่และช่วงปีใหม่. เขาเอาแป้งข้าวเหนียวไปนวดคลึงจนเป็นเนื้อเดียวกัน ปั้นเป็นเส้นยาวๆ เหมือนสายยางขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางหนึ่งนิ้ว แล้วหั่นเป็นแว่นๆ. กินแทนเส้นก๋วยเตี๋ยว. ในน้ำซุปชามใหญ่ ใส่ไข่(หรือไม่ก็ได้) ใส่เนื้อหมูและผักลงไป เป็นอาหารชามใหญ่ที่มีคุณค่าอาหารเพียงพอ เป็นหนึ่งมื้อได้เลย. เรียกว่า [ต็อคขุก] (떡국) หรือ rice cake soup. (คำว่า ต๊อค แปลว่า ก้อนแป้งข้าวเหนียว ขุก แปลว่า แกง)  
 แป้งข้าวเหนียวที่ตัดเป็นแว่นๆ แบบเกาหลี ที่ยังไม่ได้ปรุง
 ชาม ต๊อคขุก จากแป้งข้าวเหนี่ยวที่เป็นอาหารสำคัญในเทศกาลขึ้นปีใหม่
บางทีเขาก็ใส่เกี๊ยวลูกโตๆลงไปด้วย เป็น 만두 [ต๊อคหมั่นดุขุก] rice cake and dumpling soup. เกี๊ยวเกาหลีลูกโตมาก ขนาดใหญ่กว่าชิ้นเกี๊ยวซ่าเล็กน้อย สอดไส้หมูสับ แป้งห่อเกี๊ยวก็หนากว่า. ถ้าเป็นเกี๊ยวน้ำ เรียกว่า mandu guk 만두 [หมั่นดุขุก] หรือ Dumpling soup.
 เกี๊ยวน้ำแบบเกาหลี เกี๊ยวห่อแบบบางแผ่ออก
 เกี๊ยวเกาหลี ห่อแบบเป็นลูกกลมขนาดใหญ่ แป้งห่อหนากว่า
 แป้งข้าวเหนียวที่ทำเป็นเส้นกลมยาวๆขนาดเล็ก ตัดขนาดพอเหมาะ
นึ่งสุกแล้วคลุกกับซอสพริก รสหวานๆเค็มๆเผ็ดนิดหน่อย
เป็นอาหารสะดวกซื้อสะดวกกินแบบเกาหลีอย่างหนึ่ง
คนเกาหลีกินรสจัดกว่าคนญี่ปุ่น

จริงๆแล้วอาหารจากแป้งข้าวเหนียว คนไทยกินมานานแล้วและน่าจะรับมาจากจีนเช่นกัน. เรากินโดยมิได้นึกถึงความนัยที่แฝงอยู่ในอาหาร. เรากินขนม อี๊ ที่ปั้นเป็นเม็ดกลมๆขนาดเล็กๆ (อี๊ ภาษาแต้จิ๋ว แปลว่า กลม). บางทีทำเป็นเม็ดอี๊สีต่างๆให้สวยงามขึ้นอีก ตามจริตและความประณีตแบบไทย. เราเรียกว่าขนมบัวลอย และคนไทยก็ผลิตขนมบัวลอยเผือกแสนอร่อย ชนะต้นตำรับขนมอี๊ของชาวจีน. ส่วนข้าวเหนียวเราก็ทานแทนข้าวเลย ไม่ต้องแปรรูปเป็นอย่างอื่น. ชาวจีนที่ยังมีพ่อแม่รุ่นเก่าอยู่ อาจให้กินขนมอี๊ในวันประกอบพีธีหมั้น เพื่อเน้นนัยของความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่น(และน่าจะกลมกลิ้งไปด้วยกันได้สวย) ของหนุ่มสาวที่จะตั้งครอบครัวมีความสุขความเจริญต่อไปในอนาคต.  
       สรุปแล้ว ขนมเหนียว ต๊อคขุก ขนมอี๊ หรือขนมบัวลอย ทั้งหมดมาจากเบ้าวัฒนธรรมเดียวกัน. ยังมีขนมที่แปรรูปมาจากแป้งข้าวเหนียวแบบอื่นๆอีกที่จะไม่กล่าวถึงในที่นี้ คนสมัยใหม่มีหัวคิดในการสร้างสรรค์และปรุงแต่งอาหารแบบใหม่ๆ หน้าตาใหม่ๆ. เสรีภาพในด้านการประดิษฐ์อาหารและสร้างวิธีกินที่ตรึงตาด้วยรูปแบบและตรึงใจด้วยรสชาติ (ที่ดูเหมือนจะเป็นเสรีภาพประเภทเดียวที่เต็มร้อยจริงๆ) จึงเปิดกว้างออกไปมาก เป็นประเด็นที่ชาวโลกติดตามกันได้ไม่เบื่อน่าอัศจรรย์ใจ!

บันทึกความทรงจำเรื่องรสชาติ ของ โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์.
ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๙.

Friday, 23 December 2016

ภาษาดอกไม้ Flower Message

สารรักจากดอกไม้พืชพรรณ   
ในปี 1870  Baron Reinsberg-Düringsfeid ได้รวบรวมทำปฏิทินดอกไม้ขึ้นมาอย่างละเอียดหลังจากได้ศึกษาค้นคว้าอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน. เขาโยงความอุดมสมบูรณ์ของดอกไม้พืชพรรณบนพื้นโลกของเรา กับวันเดือนปีในชีวิตของคน.  ธรรมเนียมหรือค่านิยมแบบนี้ สืบสาวย้อนหลังไปได้ถึงยุคจักรวรรดิโรมัน. ในยุคคริสตกาล ชาวคริสต์เคยเลือกสรรดอกไม้เพื่อใช้บูชานักบุญประจำวันตลอดทั้งปี.  จากยุคนั้นมา เรื่องดอกไม้ในฐานะสิ่งบูชาพระเจ้าหรือนักบุญ ดูจะหมดคนสนใจ.  ไม่พบข้อมูลเกี่ยวกับดอกไม้ประจำวันทุกวันในหนึ่งปี แต่ยังมีการเก็บรักษารายชื่อนักบุญประจำแต่ละวันตลอดทั้งปีอยู่. บ้านเมืองและชนชาติทั้งหลาย ต่างวิวัฒน์พัฒนาตามการเปลี่ยนแปลงทั้งทางการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจและสังคม.  ดอกไม้เบนมาเป็นพืชเศรษฐกิจมากขึ้นๆ นอกจากสรรพคุณด้านการเยียวยารักษาแล้ว ปัจจุบันดอกไม้เป็นสิ่งประดับอาคารบ้านเรือนเพื่อสร้างบรรยากาศให้น่าอภิรมย์  เป็นสิ่งกระตุ้นจินตนาการ และผลักดันคนให้ปลูกต้นไม้มากขึ้นๆ  ให้การปลูกต้นไม้เป็นวิธีการอนุรักษ์ธรรมชาติไปด้วย. แต่ประเด็นที่นำหน้าในโลกเศรษฐกิจยุคปัจจุบัน  คนตีราคาดอกไม้ตามคุณสมบัติของการเป็นสารปรุงแต่งกลิ่นมากน้อยในอุตสาหกรรมน้ำหอมที่เป็นอุตสาหกรรมทำเงินอันดับต้นๆในวงการธุรกิจการค้าปัจจุบัน.   
       ราชสมาคมพืชสวน (The Royal Horticultural Society) แห่งประเทศอังกฤษทำสถิติไว้ว่า หนึ่งในร้อยของพืชพรรณทั้งหลายที่ปลูกในสวนอังกฤษปัจจุบัน เป็นพันธุ์ไม้พื้นเมือง  นอกนั้นเป็นพันธุ์ที่นำเข้าไปในอังกฤษ. ดังนั้น 99 เปอเซ็นต์ของจำนวนพืชพรรณที่ปลูกในสวนอังกฤษปัจจุบัน เป็นผลงานของนักสำรวจและพรานพืชพรรณทั้งหมด. ความจริงนี้ทำให้เราเข้าใจอย่างสิ้นสงสัยว่า พืชพรรณต่างๆได้เปลี่ยนสีสันและโฉมหน้าของสวนตะวันตก ของวัฒนธรรมและวิถีการครองชีวิตอย่างไร และนำความมั่งคั่งมาสู่ประเทศเพียงใด. ธุรกิจพืชพรรณเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สำคัญที่สุดของประเทศอังกฤษ. ส่วนสวนพฤกษชาติทั้งหลายในอังกฤษ สวน Kew และโดยเฉพาะราชสมาคมพืชสวนของอังกฤษยังคงเป็นศูนย์กลางเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพืชพรรณและในที่สุดปลูกฝังความรักพืชพรรณในหมู่ชาวอังกฤษเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้  รวมทั้งเป็นสถาบันตัวอย่างสำหรับประเทศอื่นๆอีกด้วย.
       ประวัติการพัฒนาพฤกษศาสตร์ในยุโรปและการเดินทางของพืชพรรณจากแดนไกลสู่ยุโรป. พืชพรรณกลายเป็นหลักฐาน เป็นเอกสารประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับวิวัฒนาการด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยีของประเทศในยุโรปโดยเฉพาะของอังกฤษ  เพราะเป็นกุญแจของอำนาจและความมั่งคั่งของประเทศอังกฤษตั้งแต่ศตวรรษที่สิบแปดเป็นต้นมา  ทั้งยังเป็นพยานแห่งความรักความสนใจพืชพรรณของชาวอังกฤษที่มิได้ลดน้อยลงไปเลยตลอดห้าหกร้อยปีที่ผ่านมา  จนทำให้อังกฤษเป็นผู้นำสำคัญที่สุดในด้านพฤกษศาสตร์และธรรมชาติวิทยา อีกทั้งเป็นผู้นำการรณรงค์เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติที่ไม่มีประเทศใดเทียบเคียงได้.
       ความรู้ที่สั่งสมมาตั้งแต่ยุคโบราณ  สร้างพื้นฐานอันมั่นคงให้พฤกษศาสตร์  เดี๋ยวนี้ทุกชาติตระหนักแล้วว่าความรู้เกี่ยวกับพืชพรรณเป็นกุญแจสำคัญที่สุดของความอยู่รอดของมนุษยชาติ  พฤกษศาสตร์ต้องเป็นแกนนำการพัฒนาสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ   วิทยาการทุกแขนงและเทคโนโลยีทุกรูปแบบจำต้องพัฒนาจากมุมมองของนิเวศวิทยา ของพืชพรรณ สัตว์และคนร่วมกัน.
        ภาพพืชพรรณเป็นเหมือนฉากหลังของทุกชีวิตในอังกฤษ  เป็นแบบประดับของเกือบทุกอย่างในบ้าน ตั้งแต่กระดาษปิดฝาผนัง ลายบนกระจกหน้าต่างหรือประตู ม่าน ผ้าคลุมหรือผ้าปูเตียง ผ้าบุเก้าอี้หรือเครื่องเรือน พรมและสิ่งทอประดับผนัง แบบเตียง เครื่องเรือนไปจนถึงลายประดับถ้วยโถโอชาม และในที่สุดลวดลายและสีสันของเสื้อผ้า.  มิใช่เรื่องบังเอิญที่ William Morris (1834-1896 ชาวลอนดอน. หนึ่งในผู้นำกระแส The Craft and Art movement, 1880-1910) ใช้ภาพเฟิร์น ดอกไม้ กิ่งไม้ และสัตว์ เป็นแบบของงานสร้างสรรค์ทุกอย่างของเขา  หรือการที่เขารณรงค์เพื่อยกระดับนายช่างฝีมือว่าเทียบเท่าช่างศิลป์อื่นๆ หรือการที่เขากระตุ้นให้ชาวอังกฤษเห็นความน่าเกลียดของสังคมที่เอาเปรียบคนงาน ที่ฉกฉวยความงามที่ชีวิตมีให้ทุกคนจากพวกเขา. Morris มิได้เป็นเพียงศิลปิน แต่เป็นนักเขียนด้วยและในที่สุดเป็นผู้นำกระแสสังคมนิยมในอังกฤษ ประท้วงสังคมอุตสาหกรรมที่ผิดธรรมชาติ ที่อยุติธรรมต่อชนชั้นคนงาน.
        มิใช่เรื่องบังเอิญเช่นกันที่ Charles Rennie Mackintosh (1868-1928 ชาวสก็อต) สร้างสรรค์สถาปัตยกรรมที่ใช้แบบประดับจากธรรมชาติ เลียนแนวเส้นโค้งอันอ่อนช้อยของไม้ดอกและความงามของทัศนียภาพอันสวยงามน่าทึ่งของสก็อตแลนด์ที่เขาเคยวาดเคยสเก็ตช์มานับครั้งไม่ถ้วนตั้งแต่วัยเด็ก. เขาเป็นผู้นำคนสำคัญของกระบวนการสร้างสรรค์ศิลปะแนวใหม่หรือ อารนูโว”(Art Nouveau) ในสก็อตแลนด์ ที่ยังผลให้มีการสถาปนากระแส Sezessionstill (หรือ The Secession) ขึ้นในออสเตรียในราวปี1900. Glasgow School of Art เป็นหนึ่งในผลงานสถาปัตยกรรมของ Mackintosh.
       มิใช่เรื่องบังเอิญอีกเช่นกันที่ Arthur Lasenby Liberty (1843-1917)  เปิดร้านขายเครื่องตกแต่งบ้าน พรม ผ้าและศิลปวัตถุจากญี่ปุ่นและจากตะวันออก และในที่สุดผลิตผ้าพิมพ์แบบตะวันออกสำหรับใช้ตัดเสื้อผ้าและสำหรับใช้บุเครื่องเรือนหรือตกแต่งบ้าน.  ต่อมาสั่งเข้าผ้าทอสำเร็จจากชวา อินเดีย อินโดจีนและเปอเชียมาพิมพ์ลายในอังกฤษ เรียก “Liberty Art Fabrics” และสร้างสรรค์แฟชั่นผ้าฝ้ายพิมพ์ดอกไม้ใบไม้ตามกระแสของศิลปะแนวใหม่  เริ่มด้วยผ้าฝ้าย ต่อมามีผ้าไหม ผ้ากำมะหยี่ ผ้าวูลและผ้าใยสังเคราะห์. ในศตวรรษที่19 แบบเสื้อผ้าในสไตลของลิเบอตี้ต้องการสื่อความรักความฝัน การใช้ชีวิตในธรรมชาติ วิญญาณอิสระ ชีวิตที่พ้นกรอบรัดหรือหลุดออกจากความฉาบฉวยของสังคมในเมืองใหญ่  แบบเสื้อและผ้าของลิเบอตี้ไม่ใช่แบบที่ชาวเมืองใส่ไปงานสังคมชั้นสูง  เป็นแบบเรียบง่าย เสื้อเชิ้ตหรือเสื้อฮาวาย กระโปรงรูดรอบตัวเป็นต้น.  (ผ้าลิเบอตี้ในยุคปัจจุบันยังคงเป็นลวดลายดอกไม้ แต่ก็มีลายและแบบทันสมัยตามกระแสนิยมยุคใหม่และสีสันแห่งยุค)  แนวการสร้างสรรค์ของลิเบอตี้เคยสื่อค่านิยมของชาวอังกฤษ ที่สะท้อนรับกับความฝันอยากมีบ้านและสวนของตนเองนอกเมือง.  สวรรค์ของชาวอังกฤษ จึงไม่ใช่สถานที่หรูหรา ไม่ใช่วิมานที่มีปราสาทหอคอยหลังคาทอแสงเป็นประกายระยิบระยับ หรือการได้เสพอาหารทิพย์  เป็นเจ้าของเครื่องทองและเพชรนิลจินดาฯลฯ ดั่งค่านิยมเกี่ยวกับสวรรค์และชีวิตหลังความตายของคนไทยส่วนใหญ่  แต่ เป็นสนามหญ้าเขียวชอุ่มผืนใหญ่ มีดอกไม้ประดับสองข้างทางเดิน  มีโต๊ะน้ำชาพร้อมที่นั่งอันสบายสำหรับนั่งๆนอนๆพักผ่อนในความอบอุ่นของแสงแดด 
      ชาวอังกฤษโดยเฉพาะยังคงนิยมภาพดอกไม้ในแต่ละเดือน ที่พวกเขานำไปประดับถ้วยโถโอชามที่ใช้ มีชื่อเดือนประกอบอยู่ด้วยเป็นส่วนใหญ่ (ปัจจุบัน มักไม่มีชื่อเดือนกำกับแล้ว มีแต่ภาพดอกไม้และทุ่งดอกไม้).  ปลายศตวรรษที่ 19  เมื่อเกิดกระแสศิลปะแนวใหม่ในยุโรป ที่เรียกว่า Art Nouveau [อารฺ นูโว] ที่ได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติ มีศิลปินเนรมิตปฏิทินดอกไม้สวยงามแบบต่างๆไว้มากที่ยังพอหาดูได้ในปัจจุบัน. เช่นผลงานของ Eugène Grasset (1845-1917 ชาวฝรั่งเศสดั้งเดิมเป็นชาวสวิสฯ เป็นจิตรกรและนักวาดเขียน หนึ่งในผู้ริเริ่มกระแสศิลปะแนวใหม่. ในผลงานของเขา มักเห็นภาพผู้หญิงสวยงามที่มองดูเหมือนวีรสตรีในนวนิยาย บ้างบอบบางน่าถนอม บ้างเข้มแข็งองอาจ แต่ละนางอยู่กับดอกไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง ในภูมิทัศน์แบบหนึ่ง.  เขาเป็นผู้ริเริ่มทำโปสเตอร์ด้วยศิลปะแนวใหม่นี้ เป็นที่ติดอกติดใจกันไปทั่วยุโรป
 Eugène Samuel Grasset, 
poster for an exhibition of French decorative art
at the Grafton Galleries, 1893.
ภาพจากวิกิพีเดีย กำกับไว้ว่า Public domain.
ในอังกฤษหนังสือรวมภาพดอกไม้ทั้งหลายที่ดูสมจริงแล้ว ยังผนวกตำนานหรือนิทานเกี่ยวกับดอกไม้แต่ละชนิดเข้าไปด้วย รวมกันเป็นวรรณกรรมดอกไม้  เป็นหนังสือที่ผู้ใหญ่อ่านได้ เด็กก็อ่านสนุก. หนังสือดอกไม้อย่างนี้นิยมกันมาก และมีซิลปินต่อยอดไปถึงเรื่องเทพธิดาประจำดอกไม้แต่ละดอกด้วย เรียกว่า  Flower fairies. ยังมีการผลิตนางฟ้า(พร้อมปีกงามสองปีก) ประจำดอกไม้เป็นหุ่นเล็กๆข้างดอกไม้แต่ละชนิด  กลายเป็นของประดับสวนแบบหนึ่ง นำไปประดับข้างต้นไม้ดอกนั้นๆ หรือไปปักท่ามกลางกอดอกไม้เป็นต้น  อาจเป็นวิธีเร้าความอ่อนโยนและความสนใจในดอกไม้ ตามค่านิยมอังกฤษแบบหนึ่ง. ภาพนางฟ้าข้างดอกไม้แต่ะชนิด ที่เห็นได้จำนวนมากในอินเตอเน็ต ล้วนสวยงามเป็นข้อมูลให้ความรู้ที่ดีมากสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ เช่นผลงานของ Cicely Mary Barker (1895-1973 ชาวอังกฤษ เชิญเข้าไปชื่นชมได้ที่  
มีการจัดดอกไม้ตามลำดับตัวอักษรภาษาอังกฤษ  ดังตัวอย่างภาพข้างล่างนี้ 
 
 ภาพจาก https://www.flowerfairy.com/
นอกจากนี้ชาวอังกฤษยังผลิตหนังสือรูปดอกไม้แต่ละเดือน เป็นภาพโครงลายเส้น รูปร่างลักษณะของดอกไม้ พิมพ์เป็นขาวดำ ขายให้เด็กๆไปเติมสีดอกไม้กันเอง เท่ากับกระตุ้นให้คิดถึงรูปลักษณ์และสีสัน ทำความรู้จักกับดอกไม้ชนิดต่างๆไปด้วย. นี่ก็เป็นวิธีการสอนเรื่องดอกไม้ เรื่องธรรมชาติ และความรักธรรมชาติ เป็นวิธีที่ดูเหมือนได้ผลที่สุดในหมู่ชาวอังกฤษ.
        ในที่นี้ ได้รวมดอกไม้ที่ถือกันว่าเป็น << ดอกไม้มงคล >> สื่อนัยดีๆทั้งหลายตามค่านิยมในโลกตะวันตก. แต่ละชนิดแต่ละพันธุ์เป็นภาษาดอกไม้ เคยเป็นและยังคงเป็นสัญลักษณ์สื่อสารความหวังในใจคนได้อยู่ แม้ในปัจจุบัน. ดอกไม้เหล่านี้ เหมือนตัวแทนของความหวังหรือความฝันของคนที่ไม่เคยเปลี่ยน คือความปรารถนาความสุข ความสำเร็จ ความรัก ความอ่อนโยน มิตรภาพ โชคลาภ ศรัทธา มุทิตาจิต พลังจิต พลังสร้างสรรค์ ความกล้าหาญ เป็นต้น.
     ความหมายของดอกไม้ที่กำกับไว้เป็นภาษาอังกฤษ (ไม่มีพื้นที่พอสำหรับเขียนเป็นภาษาไทย) เป็นเพียงบางส่วนของความหมายทั้งหมดที่ดอกไม้นั้นๆดลใจคนเรื่อยมา แต่ละคนอาจมีนัยส่วนตัวบวกเข้าไปในดอกไม้ตามโอกาสและวาระที่คนนั้นต้องการใช้เพื่อสื่อสารกับคนหนึ่งคนใดอย่างเฉพาะเจาะจง.
    ภาษาดอกไม้เป็นภาษาสละสลวย เป็นภาษาเงียบละมุนละไมจากใจถึงใจ
เป็นภาษาที่ไม่มีพรมแดน
     ดอกไม้เป็นครูจากธรรมชาติ สอนให้รู้จักความสวย ความสุนทรีย์ ความเปราะบางของชีวิต
     ดอกไม้กระตุ้นให้สั่งสมคุณงามความดี ให้เหมือนกลิ่นหอมดอกไม้ ที่ติดตรึงใจไปนานไม่รู้เลือน 
     ขอให้ดอกไม้เหล่านี้ดลใจและนำความสุขใจแก่ท่านทุกวันตลอดปีและตลอดไป

โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ รายงาน ณ วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๙.