Sunday 11 December 2016

กุหลาบไร้หนามคือโบตั๋น - Opulently Peony


ชื่อ peony ในภาษาอังกฤษนั้น มาจากคำ paeonia ในภาษากรีกที่แปลว่า พืชที่ใช้รักษา ที่มาของชื่อบอกชัดเจนว่า ดั้งเดิมเป็นพืชสมุนไพรที่ใช้ในการเยียวยารักษา. ชาวจีนรู้จักใช้สรรพคุณของดอกโบตั๋นมานานหลายศตวรรษแล้ว เป็นยาระงับประสาทและบันเทาอาการโรคชักกระตุก ชักดิ้นชักงอ  นานมากก่อนที่คนจะสนใจรูปลักษณ์ตวามสวยงามของดอกไม้นี้.
ชื่อจีนของดอกโบตั๋น มีใช้สองคำ คำแรกคือคำ [เฉาเอี้ยว]  อักษรตัวแรกใช้เรียกโบตั๋น ตัวที่สองแปลว่า ยา. (ชื่อนี้จึงน่าจะเป็นต้นกำเนิดของการสร้างคำ paeonia ในภาษากรีก แล้วจึงเป็น peony ในภาษาอังกฤษ). อีกคำหนึ่งคือ [มู่ตัน]. คนไทยเรียกตามคำที่สองออกเสียงแบบไทยว่า โบตั๋น. คำนี้ในถาษาญี่ปุ่นออกเสียงคล้ายเสียงไทย คือ โบ๊ตั่น (ทำให้สงสัยว่า เรารับเสียงจากภาษาญี่ปุ่นมากกว่าเสียงภาษาจีนหรือเปล่า  เพราะในภาษาถิ่นจีนอื่นเช่นกวางตุ้ง อ่านว่า [เหาตัน] คำแรกก็ออกเสียง ม ม้า มากกว่า บอ ใบไม้)
จีนใช้สองคำนี้ต่างกัน ใช้คำแรก () เพื่อเรียก peony ที่มีลำต้นอ่อน (herbaceous) และใช้คำที่สอง () เพื่อเรียก peony พันธุ์ที่มีลำต้นเป็นไม้ (woody) เป็นต้นไม้จึงเป็น tree peony. แต่คนไทยใช้คำโบตั๋นโดยไม่แยกแยะ ใช้คำเดียวกันจนคุ้นเคย.

        Peony เป็นพันธุ์ไม้ดอกที่นิยมปลูกในสวนมากที่สุดพันธุ์หนึ่งในเขตอากาศอบอุ่น พันธุ์ลำต้นอ่อนนั้น ปลูกสำหรับตัดดอกไปขายและมักขายเป็นช่อใหญ่  ดั้งเดิมจากถิ่นเอเชีย ยุโรปและซีกตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือ. มีไม่ต่ำกว่าสามสิบสายพันธุ์ การจัดจำแนกสายพันธุ์ยังไม่ถึงขั้นสุดท้าย. พันธุ์ลำต้นอ่อน herbaceous (เช่นที่วิชนีปลูกนั้น) มีแพร่หลายไปมากกว่า ในทวีปอเมริกาและเขตอบอุ่นเขตอื่นของโลก  ส่วนพันธุ์ที่มีลำต้นแข็งเป็นต้นไม้ tree peony (woody species) ขึ้นในภาคกลางและภาพใต้ของจีน รวมทั้งธิเบตเป็นสำคัญ.  ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20  มี peony พันธุ์ผสมอีกมากมายในแต่ละท้องถิ่นทำให้ดอกไม้นี้ขึ้นเกือบทั่วไปตั้งแต่แมนจูเลีย เกาหลี ญี่ปุ่น รัสเซียแถบไซบีเรีย เป็นต้น.  

ในยุคจีนโบราณ มีดอกโบตั๋นแล้ว จารึกเก่าเกี่ยวกับโบตั๋นที่เหลือมา อยู่ในเรื่องเล่าชีวิตของขงจื่อ (551-479 BC.)  พึงรู้ว่าในตะวันออกหรือตะวันตก คนสนใจดอกไม้พืชพรรณประการแรกเพราะค้นพบคุณสมบัติในการเยียวยารักษา  นั่นคือคนมองโลกของพืชพรรณ นอกจากเป็นอาหารที่กินได้หรือกินไม่ได้  ใช้ไม้มาก่อสร้างแข็งแรงทนทานไหมเพียงใด ใช้ไม้มาเป็นฟืนดีไหม แล้วก็ดูว่ามันใช้เป็นยาแก้อะไรได้บ้าง. ตั้งแต่ยุคจีนโบราณมา ซินแสหมอยาชาวจีน เป็นผู้ที่ศึกษา สังเกตและในที่สุดมีความรู้เรื่องพืชพรรณและนำมาใช้เป็นยารักษาโรคภัยไข้เจ็บ. การศึกษามีการจดอย่างละเอียด อธิบายต้นไม้และส่วนประกอบของมันตั้งแต่รากไปถึงเมล็ด มีการวาดภาพประกอบทุกขั้นตอน นำไปตากแห้ง สกัดร้อน สกัดเย็น หรือเก็บเมล็ดมาเพาะ มาต้มมาตุ๋น ชงเป็นยา.  ในตะวันตกเหล่านักบวช และต่อมาแม่ชี ก็ทำแบบเดียวกัน คือเป็นผู้ปลูกพืชสมุนไพรเพื่อนำมาใช้เป็นยา. วัดอารามในยุโรปเป็นแหล่งเพาะปลูกและรวมพืชพันธุ์ที่สำคัญที่สุดของสังคมแต่ละยุค. ความรู้หมอยาแบบจีน(ผู้รู้แน่นและลึกซึ้งมากกว่าชาวยุโรป) ได้เป็นฐานความรู้ของเกาหลีก่อน แล้วข้ามน้ำข้ามทะเลไปญี่ปุ่น. ยาแผนโบราณญี่ปุ่น เข้าไปกับพระสงฆ์ญี่ปุ่นที่เดินทางไปสืบศาสนาในประเทศจีน เอาทั้งพุทธธรรม ชา เครื่องปั้นดินเผา พืชพรรณ ศิลปกรรมแบบต่างๆมาสู่ญี่ปุ่น (ญี่ปุ่นได้นำพันธุ์ไม้ดอกนี้เข้าไปในญี่ปุ่น เรียกชื่อว่า [โบ๊ตั่น] ตั้งแต่ก่อนศตวรรษที่ 10 AD.  ญี่ปุ่นพัฒนาพันธุ์ไม้ดอกนี้ และได้สร้างสายพันธุ์ใหม่ที่เป็นลูกผสมระหว่างพันธุ์ลำต้นอ่อน herbaceous กับพันธุ์ลำต้นแข็ง woody ได้เมื่อต้นศตวรรษที่ 20. สายพันธุ์ใหม่ของญี่ปุ่นนี้มีลำต้นอ่อน แต่มีใบเหมือนต้น tree prony และให้ดอกขนาดใหญ่กลีบซ้อนหลายชั้น ดอกทนทานและทนนาน ) (เช่นนี้ จึงเกือบพูดได้ว่า อารยธรรมสองแขนงในเอเชียที่เป็นต้นแบบ เป็นเบ้าของวัฒนธรรมทุกชาติในเอเชีย คืออารยธรรมอินเดียและอารยธรรมจีน)
       เพราะฉะนั้น ดอกไม้พันธุ์นี้ในจีนใช้เป็นยามาแล้วอย่างน้อยตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 ที่ 7 AD. และเริ่มโดดเด่นขึ้น ข้ามรั้วสวนพืชสมุนไพรของซินแสทั้งหลายในยุคราชวงศ์ถัง ออกไปในพระราชอุทยาน พราะเริ่มนำเข้าไปปลูกเป็นไม้ประดับ.  ทำให้มันกลายเป็นดอกไม้ประจำราชสำนักไปโดยปริยาย.  ความกระตือรืนร้นอยากเห็นดอกโบตั๋นบาน บานมากบานน้อย บานทุกต้นไหมฯลฯ  คล้ายๆกับกำลังลุ้นว่า บ้านเมืองจะเจริญรุ่งเรืองไหม.  ยุคนี้เช่นกันที่พบหลักฐานจารึกเกี่ยวกับการปลูกต้นไม้ในกระถางที่เก่าแก่ที่สุดในจีน (และให้ความรู้ต่อไปถึงวิวัฒนาการการปลูกไม้ประดับ และนำไปสู่การปลูกบ็องไซจนเป็นศิลปะแขนงหนึ่งในญี่ปุ่น. สนใจติดตามไปอ่านได้จากลิงค์ที่ให้ท้ายบทความนี้)
ยุคราชวงศ์ถัง Tang (618-907) เป็นยุคทองในประวัติศาสตร์จีน  อาณาเขตจีนแผ่ออกไปถึงดินแดนเอเชียตอนกลาง และดินแดนที่เป็นเกาหลีปัจจุบัน. เป็นยุคที่จีนค้นพบและประดิษฐ์ดินปืนขึ้นใช้.  เป็นยุคที่สร้างสรรค์ศิลปะการพิมพ์จากแผ่นไม้แกะสลัก จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการบันทึกภาพต่างๆ เคียงข้างการบันทึกด้วยการเขียน.  ศิลปะภาพพิมพ์จักแผ่ออกไปถึงเกาหลีและญี่ปุ่น.
การปลูกโบตั๋นเป็นไม้ประดับยิ่งขึ้นหน้าขึ้นตามากในศตวรรษที่ 10 ยุคราชวงศ์ซ่ง (Song, 960-1279) และโดยเฉพาะที่เมือง Luoyang ที่กลายเป็นศูนย์ดอกโบตั๋นที่ขึ้นชื่อลิอนามที่สุดบนแผ่นดินจีนจนถึงปัจจุบัน  ยังคงมีเทศกาลดอกโบตั๋นช่วงกลางเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคมทุกปีที่เมืองนั้น.
ในยุคราชวงศ์ซ่ง (Song, 960-1279)  จักรพรรดิตั้งข้าราชการจากส่วนกลางออกไปปกครองหัวเมือง ทำให้ราชสำนักมีเวลาดูแลกิจการในเมืองหลวงมากขึ้น. เป็นยุคสร้างเมือง มิใช่เพื่อการบริหารประเทศเท่านั้น แต่เพื่อให้เมืองเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ทั้งทางบกและทางน้ำ เชื่อมหัวเมืองชายฝั่งกับหัวเมืองในแผ่นดิน. การพัฒนานี้ทำให้เกิดสามัญชนที่ร่ำรวยขึ้น (แต่เดิมคนจะรวยได้ก็เพราะรับราชการ มีความดีความชอบ จึงได้รับยศ ที่ดินและทรัพย์สินเงินทอง). ในด้านวัฒนธรรม สืบทอดค่านิยมและขนบประเพณีต่อจากราชวงศ์ถัง สืบสานการบันทึกประวัติศาสตร์ พัฒนาศิลปะการเขียนภาพ ศิลปะการเขียนพู่กัน และการทำเครื่องปั้นดินเผาเนื้อแข็ง  ประดิษฐ์แท่นพิมพ์หนังสือ ประดิษฐ์เข็มทิศ เริ่มการแพทยวิถีฝังเข็ม  เริ่มประเพณีรัดเท้าสตรี.  การปกครองในยุคนี้ได้นำปรัชญาลัทธิขงจื่อมาปรับใช้ร่วมกับคำสอนของพุทธศาสนาและลัทธิเต๋า เพื่อให้เป็นแบบอย่างที่ทางการปกครองนำไปใช้กับประชาชนได้จริงและอย่างมีประสิทธิผลกับทุกปัญหาของสังคม โดยเฉพาะตามแนวคิดของ จูศี่ 朱喜 ที่อบรมสอนให้คนเชื่อฟังอย่างสงบ ผู้น้อยต้องฟังผู้ใหญ่ ลูกต้องเชื่อฟังพ่อแม่ ภรรยาเชื่อฟังสามี ทำตามหน้าที่ไปให้ถูกต้อง. เปาบุ้นจิ้นเกิดในยุคนี้.  แนวคิดนี้ฝังลึกในสังคมจีนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน.  อิทธิพลจากวัฒนธรรมจีนยังมีต่อวิถีชีวิตของชาวเกาหลีและชาวญี่ปุ่นอีกในปัจจุบัน (รวมถึงวิถีชีวิตเอเชียโดยรวมด้วย).
ในบริบทของพระราชวัง ภาพดอกโบตั๋นโดยปริยายจึงหมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองและความสูงส่ง. เป็นสัญลักษณ์ของฤดูใบไม้ผลิด้วยเช่นกัน และใช้เปรียบเทียบความงามของสตรี.  (ในราชสำนักจีนนั้น นิยมดอกโบตั๋นสีเหลืองและสีม่วงๆเป็นพิเศษ. ชาวยุโรปกลับมีภาพลักษณ์ของดอกโบตั๋นสีแดงก่ำติดในจิตสำนึกมากกว่าสีอื่น). ความที่ดอกโบตั๋น ดอกโต กลีบซ้อนๆ เวลาบานเต็มที่ แผ่กระจายออก ดูอิ่มอวบแน่นหนา มันอดทำให้นึกถึงหน้าอกของสตรีร่างอวบไม่ได้ แล้วผู้ชายหรือจะไม่นึกไปถึงหน้าอกผู้หญิงแบบนั้น?  มันเป็นสัญชาติญาณของผู้ชายด้วยแบบหนึ่งที่ชอบซุกหน้า ซบหน้าบนหน้าอกของสตรี หรือมิใช่?) 
       ในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมตะวันออกไกล ดอกโบตั๋นเป็นหนึ่งในดอกไม้เด่นที่คนใช้กันมากที่สุด ควบคู่ไปกับดอกบ๊วยหรือดอกพลัม (plum). ดอกโบตั๋นเคยเป็นดอกไม้ประจำชาติจีน  บางทีก็เรียกว่า 富貴 [ฝู่กุ้ยฮวา] (คำแรก แปลว่า ความร่ำรวย ความมั่งคั่ง. คำที่สอง แปลว่า มีค่า ควรแก่การคารวะ. คำที่สาม แปลว่า ดอกไม้).  อาจสรุปว่า เป็นดอกไม้ที่นำความมั่งคั่งและเกียรติยศ.  นอกจากนี้ยังมีการตั้งสมญานามว่า เป็น [ฮวาหวัง] ที่แปลว่า ราชาแห่งดอกไม้ทั้งมวล (ยืนยันว่า ไม่ได้เทียบเป็น ราชินีแห่งดอกไม้ ดั่งที่ชาวยุโรปมักเทียบกัน).  ในปี 1903 ราชวงศ์ชิง ได้ประกาศให้ดอกโบตั๋นเป็นดอกไม้ประจำชาติ. (ราชวงศ์ชิง Qing, 1644-1911 เป็นราชวงศ์สุดท้ายของจีน. เรื่องราวของสามก๊กอยู่ในยุคนี้. ปลายศตวรรษที่ 17 ราชสำนักจีนจ้างจิตรกรเยซูอิตชาวยุโรปที่เข้าไปเผยแผ่ศาสนาในจีน และมีโอกาสเข้าไปเป็นจิตรกรประจำองค์จักรพรรดิโดยเฉพาะในยุคของจักรพรรดิ Kangxi 康熙 [คังซี] 1662–1723 ผู้เป็นจักรพรรดิที่โดดเด่นที่สุดของราชวงศ์ชิง. Giuseppe Castiglione, 1688-1766 เป็นจิตรกรชาวอิตาเลียนคนหนึ่งได้รับใช้จักรพรรดิสามองค์ติดต่อกัน.)  ปัจจุบันรัฐบาลสาธารณรัฐจีนที่ไทเปใช้ดอกบ้วยบาน(ดอกพลัม) เป็นดอกไม้ประจำชาติ  แต่รัฐบาลจีนของสาธารณรัฐประชาชนจีนจนถึงเดี๋ยวนี้ยังไม่เลือกดอกไม้ใด (อาจลังเล ไม่อยากใช้ดอกโบตั๋น เพราะเคยเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้ในยุคราชาธิปไตยเรื่อยมา).
      ดอกโบตั๋น เป็นสัญลักษณ์ที่ยอดเยี่ยมเมื่อนำไปเทียบกับสตรี.  ลำต้นตั้งตรงได้โดยไม่ต้องมีสิ่งอื่นมาช่วยพยุงตัว แม้ในสายฝนดอกโบตั๋นก็ยังตั้งเด่นไม่โอนเอนคอตก จึงอาจมองได้ว่าเป็นศักยภาพในการอยู่อย่างเอกเทศแม้ในยามยาก.  ดอกโบตั๋นไม่มีหนาม สวยไม่แพ้ดอกกุหลาบหรือดอกไม้งามอื่นใด อาจมองว่ามันอ่อนโยนกว่า.  กลิ่นหอมอ่อนๆของดอกโบตั๋นเป็นที่ชื่นชอบของคน ไม่ถึงกับเร้าใจให้กระวนกระวาย แต่ทำให้จิตใจอ่อนโยนลง. เจาะจงกันมาว่าแมลงทั้งหลายไม่ชอบกลิ่นจากดอกโบตั๋นเลย. เทียบกันไปว่า สิงโตเจ้าแห่งสัตว์ไม่เคยแพ้สัตว์อื่นใด แต่มันแพ้พวกสัตว์กาฝากที่เข้าไปเกาะมัน ดูดเลือดและนำเชื้อโรคต่างๆให้มัน  มันไม่มีทางออกใดๆเลย นอกจากเข้าไปอยู่ใกล้หรืออยู่ในดงดอกโบตั๋น  เช่นนี้ทำให้มีภาพสิงโต(เสือด้วยกระมัง)ในหมู่ดอกโบตั๋น เพราะบรรดาสัตว์กาฝากตัวเล็กตัวน้อยถอยห่างจากดอกโบตั๋น (เขาว่ากันมาอย่างนั้นนะ) และทำให้เกิดสำนวนในทำนองว่า เบื้องหลังบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ แน่นอนมีจอมนางเป็นผู้ช่วย. 
       ในศิลปวัตถุหรือเนรมิตศิลป์ มักปรากฏภาพของดอกโบตั๋น ที่สื่อนัยความเจริญรุ่งเรือง ควบคู่กับนกฟีนิกส์ที่หมายถึงความมีอายุยืนนาน. ส่วนภาพมังกร แน่นอนคือพลังอำนาจ (เน้นองค์จักรพรรดิเป็นสำคัญ). (ข้อมูลจากฝรั่งเศสเจาะจงเพิ่มเข้าไปอีกว่า) หากดอกโบตั๋นอยู่ในแจกัน ตัวแจกันเพิ่มนัยของสันติสุขให้แก่ภาพรวมนั้น.  ถ้าภาพดอกโบตั๋น มีดอกแม็กโนเลียและดอกแอปเปิลแทรกเข้าไป เน้นความมั่งคั่งและฐานะสูงศักดิ์. และหากมีดอกบัว ดอกเบญจมาศและดอกบ๊วยพร้อมกับดอกโบตั๋น ยืนยันนัยความสงบสุขและโชคดีตลอดสี่ฤดูกาล. (ข้าพเจ้าคิดว่า ผู้มีอาชัพจัดดอกไม้ ช่อดอกไม้ หากรู้จักเอาความหมายของดอกไม้ไปประกอบ จัดประดับบ้านในโอกาสพิเศษต่างๆ หรือจัดสำนักงานให้สวยน่าอภิรมย์  เท่ากับดึงนัยความหมายดีๆเหมือนเอาพลัง Qi เข้าไปเสริมฮวงจุ้ยของที่บ้านหรือที่ทำงาน.  การอธิบายให้เป็นที่เข้าใจ อาจเพิ่มมิติลุ่มลึกเข้าไปให้ทุกคนตื่นตัวตามไปด้วย. รู้จักพูดจึงสำคัญ เรียกลูกค้าได้ไม่ยากเลย.)
      ในญี่ปุ่น เขามองดอกโบตั๋นแล้วโยงไปถึงความสุขในชีวิตคู่ ความอุดมสมบูรณ์และความผาสุกเบิกบานใจ.  ที่น่าสนใจ ดอกโบตั๋นกลับไปเน้นนัยความเป็นผู้ชายมากกว่าในค่านิยมของชาวญี่ปุ่น. ศิลปะภาพพิมพ์ ukiyo-e 浮世[อุกี๊โยเอ๊ะ] ของ Utagawa Kuniyoshi 歌川 (1798-1861) ใช้ดอกโบตั๋นในนัยของความเป็นผู้กล้าแบบซามูไร เฉกเช่นภาพสิงโต เสือ มังกร ปลาคาร์ป (nishikigoi 錦鯉 [นิชิกิ๊- โกอิ]) เป็นต้น.  ปัจจุบันดูเหมือนจะกลายเป็นการล้อเลียนผู้ชายที่สะเพร่า เลินเล่อ ไม่สนใจไยดีอะไรจริงๆจังๆ (เท็จจริงประการใด ไม่ยืนยัน หากไปถามหนุ่มสาวญี่ปุ่น เขาก็ไม่รู้ลึกซึ้งอะไรหรอก. การวางค่านิยมใด เดี๋ยวนี้ต้องประโคมแบบโฆษณากรอกหูกันอย่างจริงจัง แล้วคนทั่วไปจึงจะจำไว้ เพราะคนไม่คิดกัน. ในชีวิตปกติ สามัญชนชาวญี่ปุ่นต้องทำงานหนัก พวกเขาเครียดกันมาก ไม่มีเวลามาสนใจเรื่องหยุมหยิมแบบนี้ จนกว่าเขาจะแก่ มีเวลาว่างสบายๆ มีเงินพอใช้ไม่เดือดร้อนนัก จึงค่อยหันมาพิจารณาเรื่องวัฒนธรรมปลีกย่อยกันต่อไป. สิ่งเดียวที่ดูเหมือนรวมสปิริตชาวญี่ปุ่นได้อย่างยั่งยืนและถาวร คือการกีฬา. รัฐบาลญี่ปุ่นจึงส่งเสริมการกีฬาอย่างเต็มที่ เป็นหน้าที่ของชาติเลยทีเดียวที่ต้องเลี้ยงดูนักกีฬาทุกคนทุกประเภท เพราะนั่นคือการรวมเอกภาพของชาติไว้ด้วยวิธีที่ดีที่สุด. เป็นธรรมดาที่คนต่างชาติผู้ศึกษาเกี่ยวกับญี่ปุ่นและไปอยู่ญี่ปุ่นเพื่อการเรียนรู้อย่างแท้จริงนั้น จะสนใจทุกประเด็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย และในที่สุดรู้มากกว่าเจ้าของประเทศ. เป็นเช่นนี้เหมือนกันทุกชาติ)
       ชาวจีนเก็บรากของต้นไม้นี้ (Radix Paeoniae Lactiflorae) มาลอกเปลือกออก หั่นเป็นแว่นๆ (คิดว่าหากตากแห้ง ก็คงนำไปป่น) ชงเป็นยาดื่มแก้อาการชักดิ้นชักงอ และเป็นยาระงับประสาท ลดความเจ็บปวด ปรับสมดุลในตับ เสริมพลัง Yin (Yin Yang ) เช่นเม็ดเลือดแดงให้แข็งแรง เป็นต้น. ชาวเกาหลีและภญี่ปุ่นก็นำไปใช้แบบนี้เช่นกัน. ชาวจีนยังนำใบไปลวกแล้วเติมน้ำตาลกลายเป็นขนบแกล้มชาอย่างดี.  กลีบดอกเอาไปแช่ในน้ำเดือด เป็นชาสมุนไพรที่ชาวจีนดื่มกันมานานตั้งแต่ยุคกลาง หรือนำกลีบดอกสดๆผสมกับผักสลัดอื่นๆ บีบมะนาวลงไปคลุกให้เข้ากัน  ได้สลัดจานพิเศษ.  แต่เมล็ดดอกโบตั๋นเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในเชิงยารักษา. เชื่อกันมาว่า เวลาเก็บเมล็ดโบตั๋นเมื่อดอกเหี่ยวร่วงโรย ต้องระวังอย่าให้นกหัวขวานเห็น เพราะนกอาจเข้ามาทิ่มตาคนเก็บได้ (สงสัยว่า มันคิดว่าตาคนเป็นเมล็ดโบตั๋นหรือไง เพราะสีดำๆเหมือนตา)

ในปัจจุบันนิยมปลูกเป็นดอกไม้ตัดประดับบ้านหรืออาคารภายใน คนชอบที่ดอก peony มีขนาดใหญ่มาก จัดแจกันง่าย จัดประดับตกแต่งก็สะดวก มองดูเป็นกอบเป็นกำดีโดยไม่ต้องใช้ปริมาณมากนัก. ดอกใหญ่กลีบดอกซ้อนๆ ให้ภาพสามมิติชัดเจน จึงเป็นแบบศิลปะหรือลายประดับเสื้อผ้าอาภรณ์ได้อย่างสวยงามโดดเด่น และแน่นอนสำหรับชาวญี่ปุ่นโดยเฉพาะ ดอกโบตั๋นเป็นลายสำคัญในเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับประจำชาติ
 สวนโบตั๋นในญี่ปุ่น จัดซุ้มบังแดดให้
 Tree peony ในฤดูหนาว เลี้ยงดูแบบญี่ปุ่น

กิโมโนลายดอกโบตั๋น
แจกันเคลือบสีลายดอกโบตั๋นจากญี่ปุ่น
ภาพจาก Pinterest.com
 ภาพพิมพ์ สตรีสองนางในสวนดอกโบตั๋น
เหนือศีรษะ เห็นกิ่งดอกวิสทีเรีย ภาพจาก Tokugawa Art Collection
ภาพพิมพ์ ดอกโบตั๋นของ Utagawa Kuniyoshi
      ดังกล่าวมาข้างต้นว่า ในสมัยจักรพรรดิ Kangxi 康熙 [คังซี] 1662–1723 พระองค์ได้จ้างศิลปินบาทหลวงเยซูอิตไว้เป็นจิตรกรประจำราชสำนักหลายคน หนึ่งในนั้นคือ บราเธอร์ Giuseppe Castiglione [จิวเซ็ปเป้ กั๊ซติ้ก-ลีโหย่เหนะ], 1688-1766 เป็นจิตรกรชาวอิตาเลียน ผู้ได้รับใช้จักรพรรดิติดต่อกันสามพระองค์.  ผลงานของเขาทำให้เราเห็นภาพและจินตนาการราชสำนักจีนได้ชัดเจนยิ่งขึ้นอีกมาก.  ในส่วนที่เกี่ยวกับดอกโบตั๋น เขาก็ได้วาดไว้หลายภาพเช่นภาพข้างล่างนี้. ภาพของเขาน่าจะมีส่วนกระตุ้นความสนใจดอกโบตั๋นมากขึ้นอีก จนเกิดการเพาะเลี้ยงขึ้นในยุโรป และโดยเฉพาะในอังกฤษและฝรั่งเศส. ความจริงเริ่มมีการนำ  peony เข้าสู่ยุโรปในราวศตวรรษที่ 15 แล้วในฐานะพืชสมุนไพรและใช้สรรพคุณของมันตามแนวทางของยาแผนโบราณของจีน. หลังจากนั้นมีการพัฒนาสายพันธุ์อย่างต่อเนื่องบนแผ่นดินยุโรป. ในศตวรรษที่ 18 peony เบนไปเป็นพันธุ์ไม้ประดับ. สวนคิว Kew Gardens ที่กรุงลอนดอน เริ่มปลูกในปี 1789. อังกฤษและฝรั่งเศสเป็นสองประเทศสำคัญในการพัฒนาสายพันธุ์และเผยแผ่ออกไปอย่างกว้างขวางตั้งแต่นั้น. ปัจจุบันประเทศเนเธอแลนด์เป็นผู้ผลิตดอกไม้ตัด peony รายใหญ่ที่สุดในโลก ส่งออกขายไปทั่วโลก. เหมือนดอกทิวลิป peony กลายเป็นดอกไม้เศรษฐกิจสำคัญ. คุณสมบัตด้านยาสมุนไพร ดูเหมือนจะไม่มีคนสนใจกันแล้ว. อาจเป็นเพราะขายเป็นดอกไม้ได้กำไรดีกว่า ยุ่งยากน้อยกว่า และมีพืชสมุนไพรอื่นที่มีสรรพคุณเหมือนกันมาใช้แทนอีกหลายชนิดหลายประเภท รวมถึงการสังเคราะห์เป็นยาเม็ดสะดวกซื้อสะดวกกิน. 
 ภาพดอกโบตั๋น ฝีมือของ Giuseppe Castiglione
(ภาพจากอินเตอเน็ตในหัวข้อชื่อจิตรกร)
หนึ่งในภาพแรกๆของจิตรกร Giuseppe Castiglione ที่เมืองจีน ปี 1732
ให้ชื่อว่า Gathering of auspicious signs “รวมสิ่งมงคล
 ภาพจิตรกรรมม้วนคลี่ลงนี้ จิตรกรให้ชื่อว่า Followers in the Vase
ผู้ติดตามในแจกัน
ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Palace Museum กรุงปักกิ่ง
จิตรกรรมนี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความสนใจของจักรพรรดิ Kangxi
ในการเรียนรู้เรื่องดาราศาสตร์กับเหล่ามิชชั่นนารีเยซูอิตที่เข้าไปเผยแผ่ศาสนาในจีน.
ภาพนี้เป็นภาพสำเนาของ Philippe Behagle-Beauvais
(งานชิ้นดั้งเดิมทำขึ้นในระหว่างปี 1690-1705 เป็นพรมทอประดับผนัง).
      ความหมายแฝงของดอกโบตั๋นในหมู่ชาวตะวันตก ก็มีเช่นกัน มีการแจกแจงสีด้วยว่า สีใดหมายถึงอะไร. (ขอหยุดแค่นี้).  ชาวยุโรปมองดอกโบตั๋นว่าเป็นดอกกุหลาบที่ไร้หนาม. มีสำนวนฝรั่งเศสว่า หน้าแดงเป็นดอกโบตั๋น (Rougir comme une pivoine. ดอกโบตั๋นไม่เป็นสีแดงเสมอไป และสำนวนนี้มีความหมายแง่ลบมากกว่า ในแง่ของความรู้สึกสับสน เพราะทำอะไรผิด หรือมีอะไรซ่อนเร้นในใจ ทำอะไรเปิ่นๆไปแล้วอายเป็นต้น). เดี๋ยวนี้ (โดยเฉพาะชาวตะวันตก) คนซื้อดอกไม้ ปลูกดอกไม้ เพราะคุณสมบัติของดอกไม้นั้น ในเชิงความเหมาะสมกับสภาพอากาศ สภาพดิน รูปลักษณ์ กลิ่น สี ของดอกไม้มากกว่าประเด็นอื่น.   
      ดอกโบตั๋นเป็นแรงบันดาลใจอย่างยิ่งแก่จิตรกรชาวฝรั่งเศส Edouard Manet (1832-1883) ดังตัวอย่างดอกโบตั๋นในภาพ Le vase aux pivoines sur piédouche, 1864 (au Musée d’Orsay). และในภาพ Branches de pivoines blanches et secateurs. มีผู้ให้ความเห็นว่า รูปลักษณ์และการจัดจังหวะของกลีบดอก เหมือนจะทำให้นึกถึงความซับซ้อนของอารมณ์รักใคร่. ในบทกวีเรื่อง Pétales de Pivoine (กลีบดอกโบตั๋น) Apollinaire  ก็โยงดอกโบตั๋นสามดอกที่ได้จากปารีส เหมือนได้เห็นสตรีงามสามนางในชุดซาตินสีแดงก่ำ (Mais trois pétales de pivoine  Sont venus comme de belles dames En robe de satin grenat). 
 Edouard Manet : Le vase de pivoines sur piédouche, 1864.
« แจกันดอกโบตัน » อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Musée d’Orsay.
 Edouard Manet : Branches de pivoines blanches et secateurs.
« ช่อดอกโบตั๋นสีขาวกับกรรไกร »
 Peonies by William Merritt-Chase, 1897.
ภาพจาก wikiart.org
นิทรรศการดอก peony ของสมาคมแคนาดา
The Canadian Peony Society
 ส่วนตัว ชอบดอกโบตั๋นแบบนี้ขนาดนี้
งามเรียบ สงบแจ่มใส เพียงพอให้พอใจ
      
ขอจบบทสรุปเกี่ยวกับโบตั๋นเพียงเท่านี้  ในศิลปะตะวันออกไกล ดอกไม้ที่มีความสำคัญระดับชาติทั้งในแง่ความงามธรรมชาติของมัน ในแง่โภชนาการ ในแง่สมุนไพรบำบัด และในแง่ปรัชญากับวรรณกรรม คือดอกบ๊วยหรือดอกพลัม   โอกาสหน้าจะนำเสนอต่อไป.

บันทึกเรื่องดอกโบตั๋น เพื่อความเบิกบานใจส่วนตัว
ณวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๙ ของโชติรส โกวิทวัฒนพงศ์.



การปลูกโบตั๋นในพระราชอุทยานจีน ได้นำไปสู่การปลูกต้นไม้ในกระถางด้วย ที่ญี่ปุ่นนำไปเลี้ยงต่อจนกลายเป็นศิลปะบ็องไซของญี่ปุ่น. ติดตามลิงค์ต่อไปสู่สามมิติของบ็องไซ (bonsai) ดังนี้ >>
A. กำเนิดและวิวัฒนาการของศิลปะบ็องไซในญี่ปุ่น  พิพิธภัณฑ์บ็องไซที่โอ๊มิยะ เชิญเข้าไปดูได้ที่นี่ >>

B. บ็องไซคืออะไร ทำไมบ็องไซ ประเภทและรูปลักษณะของต้นบ็องไซ เชิญเข้าไปดูได้ที่นี่ >>  

C. บ็องไซในปรัชญาและสุนทรีย์ของญี่ปุ่น เชิญเข้าไปดูได้ที่นี่ >>
   

1 comment: