Friday, 18 November 2016

ห้องสมุดครึ่งวงกลมที่เมือง Akita Japan

ความตั้งใจแรกที่เลือกบินตรงจากกรุงเทพฯแวะเปลี่ยนเครื่องที่โตเกียวและต่อไปลงสนามบินจังหวัด Akita [อ๊ะขิตะ] 秋田県 (ที่ตั้งอยู่ตอนบนของเกาะฮอนชู Honshu [ห้นฉู่] )  คือไปชมห้องสมุดของมหาวิทยาลัยนานาชาติของจังหวัดนั้น ที่ใช้ชื่อว่า Akita International University (AIU) และห้องสมุดที่นั่นกำกับชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า The Nakajima Library.  เป็นที่รู้กันว่า จะเอาชื่อภาษาอังกฤษไปตามหาว่าอยู่ไหนนั้น ไม่เป็นผล ต้องจดชื่อ ก๊อปชื่อภาษาญี่ปุ่นจากเน็ตไว้เลย เพื่อถามคนขับ เจ้าหน้าที่ หรือชาวญี่ปุ่นคนใดที่พบบนเส้นทางเรา ขนาดจดอย่างนั้นแล้ว ก็ยังไม่ง่าย จริงๆแล้วต้องจดที่ตั้งทั้งหมด รวมรหัสไปรษณีย์ไปด้วย จะง่ายที่สุด (ในอังกฤษก็เช่นกัน ไม่ว่าจะไปไหน ยิ่งออกต่างจังหวัดด้วยแล้ว ต้องรู้รหัสไปรษณีย์ของที่นั่น แล้วคนขับรถก็จะพาเราไปถูกที่แน่นอน)
ที่ต้องเกริ่นเรื่องนี้ไว้ เพราะเห็นนักท่องเที่ยวไทยหลายคน พยายามออกเสียงตามที่เขาคิดว่าถูก แต่ไม่เป็นที่เข้าใจ แถมจดอะไรไปเป็นภาษาอังกฤษ ชาวพื้นเมืองญี่ปุ่นน้อยคนจะเข้าใจหรืออ่านภาษาอังกฤษได้คล่อง  เมื่อคนไทยออกเสียง ยิ่งเป็นชื่อต่างๆด้วยแล้ว เขาไม่เข้าใจว่ากำลังพูดถึงอะไร.  เอกสารนำเที่ยวที่คนไทยไปแปลไว้ให้ศูนย์ส่งเสริมการท่องเที่ยวญี่ปุ่นนั้น เขาถอดเสียงตามคำสะกดในภาษาอังกฤษ แต่ไม่สนใจเช้คว่า คนญี่ปุ่นออกเสียงจริงๆอย่างไร.  การถอดเสียงของคนไทย ( ที่ราชบัณฑิตยสภากำหนดลงไป ) ยังมีปัญหาอยู่เสมอ แก้คนกำหนดกฎไม่ได้  เราต้องหาวิธีของเราเองเพื่อสื่อสารและเอาตัวรอดเอง. เช่นชื่อจังหวัด Akita สัญชาตญาณภาษาแม่ของเรา จะทำให้เราออกเสียงเป็น อะ-กิ-ตะ และในเอกสารแปลเขาก็เขียนว่า อะคิตะ จริงๆแล้ว ต้องกำกับว่า เขาออกเสียงเป็น [อ๊ะ-ขิ-ตะ] ใช้วรรณยุกต์เข้าช่วย จะทำให้เราลงเน้นพยางค์ได้ถูกต้องใกล้เคียงที่สุด.

ชื่อและที่ตั้งของห้องสมุดนี้ คือ 国際教養大学図書
010-1211 秋田県 秋田市 雄和椿川 字奥椿岱 193-2
เขาให้ภาษาอังกฤษเทียบไว้เป็น Akita-ken, Akita-shi, Yūwatsubakigawa, Okutsubakidai 193-2.
      วันที่ไปถึง ครึ้มฟ้าครึ้มฝน หนาว ไม่ใช่เวลาจะไปชมสวนหรือเดินท่อมๆชื่นชมภูมิประเทศ. เมื่อไปเช้คอินเข้าโรงแรมแล้ว จึงตัดสินใจ จับแท็กซี่ตรงไปที่มหาวิทยาลัยนั้นเลย.  คนขับบอกว่าไกลมากนะ  จากกลางเมืองต้องออกไปผ่านสนามบิน ไกลออกไปอีก. ข้าพเจ้ายืนยันว่าจะไป  ไหนๆไปถึงแล้ว มันก็ต้องไปต่อให้ถึงจุดหมาย  เพียงแต่กังวลว่า แล้วขากลับเข้าเมืองเราจะทำอย่างไร. เอาเถอะ แล้วค่อยคิดตอนนั้นแล้วกัน.
เส้นทางผ่านท้องทุ่งนากว้างไกล  นึกถึงชื่อจังหวัด 秋田 อักษรจีนตัวแรกแปลว่า ฤดูใบไม้ร่วง และตัวที่สองแปลว่า ทุ่งนา, ทุ่ง. ชัดเจนว่า เขาเลือกตั้งชื่อเมืองให้สอดคล้องตามสภาพภูมิประเทศจริงๆ  ยิ่งได้ไปสัมผัสฤดูใบไม้ร่วงที่นั่น ยิ่งสิ้นสงสัย. ดังภาพที่นำมาให้ชมต่อๆไป.
        เช่นนี้แต่ไหนแต่ไรมา ขนบการตั้งชื่อตำบลหรือเมือง มีพื้นฐานจากสภาพภูมิประเทศเป็นสำคัญ ตามด้วยเอกลักษณ์พิเศษของดินแดนนั้น หรือหากมีนัยประวัติศาสตร์ในอดีตที่ต้องการให้ชนรุ่นต่อๆมาตระหนักรู้ ก็จะเลือกชื่อเหตุการณ์ บุคคลสำคัญหรือจุดเด่นๆจากเหตุการณ์นั้นมาเป็นชื่อ.  การตั้งชื่อเป็นไปในครรลองนี้ทั้งในจีน เกาหลีและญี่ปุ่น  และก็เป็นวิธีสากลสำหรับการตั้งชื่อของทุกชนทุกเผ่าพันธุ์ในโลก เป็นระยะเวลาที่คนยอมรับว่าธรรมชาติยิ่งใหญ่และมีความหมายมากเป็นอันดับหนึ่ง.  ต่อมาเกิดขนบใช้ชื่อเฉพาะของบุคคลเป็นชื่อถนน ตำบล อำเภอเมืองขึ้นมาแทน เป็นการยกย่องให้เกียรติบุคคลนั้นๆ เป็นระยะเวลาที่คนกลายเป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่งแทน. สถานภาพส่วนตัวของเอกบุคคลกลายเป็นประเด็นเด่นในสังคมที่เริ่มเน้นย้ำตัวตนของคน.      
      มหาวิทยาลัยนานาชาติที่ Akita นี้เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่เทศบาลจังหวัดเป็นผู้สนับสนุนและร่วมมือกันสถาปนาขึ้นในเดือนเมษายนปี 2004 ด้วยจุดมุ่งหมายให้เป็นมหาวิทยาลัยศิลปศาสตร์ชั้นแนวหน้าของประเทศ. ที่นั่นเสนอหลักสูตรสี่ปีในระดับปริญญาตรีสาขาศิลปศาสตร์  สาขา Global Business และ Global Studies (แปลชื่อวิชากันเอง เพราะชื่อที่กำกับไว้นั้นเน้นการศึกษาเพื่อให้คนมีความสามารถครอบจักรวาล  อย่าเชื่อชื่อวิชากันนักนะ ระดับปริญญาตรีจะไปได้ถึงไหน มีขีดจำกัดอยู่นะ).  หลักสูตรปริญญาโทสาขาการสอนภาษาญี่ปุ่น การสอนภาษาอังกฤษ และ Global Communication Practices. เจาะจงด้วยความภาคภูมิใจว่า เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในญี่ปุ่นที่สอนระดับปริญญาตรีด้วยภาษาอังกฤษเท่านั้น (เท่ากับว่า เขาต้องการเน้นว่าการเรียนในระดับปริญญาตรีเป็นการฝึกทักษะในภาษาอังกฤษควบคู่ไปด้วยตามโปรแกรม English for Academic Purposes (EAP) Program หรืออีกนัยหนึ่งเท่ากับว่า ผู้สมัครไปเรียนไม่จำเป็นต้องมีพื้นความรู้ภาษาญี่ปุ่น แบบอยู่ไปๆก็เรียนภาษาญี่ปุ่นไปด้วยในวิถีชีวิตจริง – in situ แต่ต้องมีพื้นความรู้หรือทักษะในภาษาอังกฤษพอสมควรเพราะการเรียนการสอนและการสอบใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก) นอกจากนี้ก็มีการสอนภาษาต่างประเทศอื่นๆอีก ๖ ภาษารวมทั้งหลักสูตรการสอนภาษาญี่ปุ่นแก่คนต่างชาติ.  มีชมรมต่างๆ ๔๘ ชมรมและสโมสรที่เชื่อมต่อกับกิจกรรมของชาวเมืองที่มีเพียงประมาณสามแสนคนในเมือง Akita City ที่มหาวิทยาลัยนี้ตั้งอยู่  เช่นนี้ทำให้นักศึกษาต่างชาติมีโอกาสมากกว่าในเมืองใหญ่ๆ และได้รับเชิญให้เข้าร่วมกิจกรรมเกือบทุกประเภทของชุมชนในวิถีชีวิตและวิถีวัฒนธรรมปกติของชุมชนอย่างแท้จริง. มหาวิทยาลัยนี้มีหอพักสำหรับนักศึกษาทุกคนทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติ.  ตัวอย่างเช่นในปี 2013 มหาวิทยาลัยได้รับนักศึกษาต่างชาติไว้ถึง 181 คนจาก 28 ประเทศ.  ดูเหมือนว่ามีคนไทยไปเรียนที่นั่นด้วย.  เขายังยืนยันกันว่า ผู้สำเร็จการศึกษาจากที่นั่น ประสบความสำเร็จค่อนข้างดีในการหางานทำ.   
        อาณาบริเวณของมหาวิทยาลัยนั้นกว้างมาก รถวนไปมาอยู่นานจนพบห้องสมุดที่อยากเข้าไปชม.  พอดีเห็นรถเมล์เข้ามาในบริเวณ ใจชื้นขึ้นมาว่า มีทางกลับเข้าไปกลางเมือง. ใกล้ๆห้องสมุดเห็นป้ายรถเมล์ เข้าไปเช้คดูตารางเดินรถที่ป้ายนั้น  เนื่องจากเป็นวันอาทิตย์ มีรถบริการน้อย  ต้องจับเที่ยวสุดท้ายบ่ายสี่โมงให้ทัน. แต่เที่ยวนั้นพาไปที่ Aeon Mall ที่อยู่ชานเมือง เดี๋ยวนี้ทุกเมืองในญี่ปุ่นดูเหมือนมี Aeon Mall รวมร้านค้าหลายระดับความหรูมากน้อยทั้งหลายไว้ด้วยกัน เป็นที่บันเทิง ที่ซื้อของ ที่กิน ที่จ่ายตลาด. ทุกเส้นทางพาคนไป Aeon Mall. เราก็ต้องไปมั่ง พอไปถึง เห็นรถเมล์ขึ้นป้ายว่าไปสถานีรถไฟ Akita เลยขึ้นรถเมล์ต่อกลับไปโรงแรมเลย. โรงแรมอยู่ติดสถานีรถไฟ สะดวกกับการไปไหนมาไหน มีทุกอย่างที่สถานีรถไฟ เหมือนเป็น mall ไปด้วยเลย เป็นชุมทางรถไฟ รถเมล์ทั้งหลายก็อยู่ตรงนั้น. เดินทางสไตล์เรา เอาสะดวกเป็นสำคัญเพื่อทุ่นแรงและทุ่นเวลา.
       อารัมภบทเรื่องมหาวิทยาลัยแล้ว ตอนนี้ขอเข้าไปชมห้องสมุดที่อยากไปชม.  ห้องสมุดนี้เปิดทุกวัน เขาคุยไว้ว่า เป็นสถานที่ที่ไม่เคยหลับ  (น่าขำพอสมควร หนังสือหลับใหลบนหิ้งคอยคนไปแตะไปสัมผัสและไปอ่าน ส่วนคนนั้น เท่าที่เห็นวันนั้น ยังไม่เห็นใครนั่งหลับ สถานที่เปิดไฟสว่างแบบสลัวๆพอเพียงในแต่ละมุมตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง).  พอเข้าไป ก็ตรงไปพบเจ้าหน้าที่ห้องสมุด แนะนำตัวเองและขออนุญาตเข้าชมและถ่ายรูป ซึ่งเขาก็อนุญาตทันที แต่ขอให้ระวังอย่าทำเสียงดังรบกวนคนในห้องสมุด. บรรณารักษ์พูดภาษาอังกฤษได้ไม่ติดขัด และบอกว่ามีนักศึกษาไทยด้วยในมหาวิทยาลัยนี้. ข้าพเจ้าเดินไปรอบห้องสมุด ขึ้นๆลงๆ ไปตามชั้นหิ้งหนังสือ ถ่ายรูปไปด้วย. ส่วนมากเป็นหนังสือภาษาอังกฤษ แต่ก็มีภาษาอื่นๆด้วย มีส่วนที่เป็นภาษาญี่ปุ่น มีห้องฟังและดูซีดีหรือดีวีดี ห้องอ่านหนังสือพิมพ์ วารสารประเภทต่างๆ ห้องหนังสือเด็ก ห้องหนังสือเก่า ฯลฯ ที่แยกเป็นส่วนออกไปต่างหาก.
      จุดสนใจของข้าพเจ้านั้น มิใช่ไปสำรวจหนังสือ แต่ไปดูสถาปัตยกรรมของอาคารห้องสมุดอาคารนั้นอย่างเฉพาะเจาะจง ยังมีห้องสมุดเฉพาะสาขาอื่นๆในบริเวณมหาวิทยาลัย.
      ห้องสมุดที่ข้าพเจ้าเข้าไปนั้น เป็นอาคารครึ่งวงกลม โครงสร้างของร่มแต่ครึ่งวงกลมเท่านั้น ใช้ไม้ซีดาร์ () ทั้งหลัง เป็นไม้ที่ขึ้นงามในจังหวัดนี้ ดังที่เห็นแนวต้นซีดาร์ในบริเวณใกล้เคียง. สถาปนิกผู้ออกแบบคือ 仙田 Senda Mitsuru (เกิดปี 1941ที่เมืองโยโกฮามา ปัจจุบันอายุ 75 ปี) มีผลงานที่ได้รางวัลจากสถาบันสถาปัตยกรรมนานาชาติมาแล้ว อาทิจาก Murano Togo Prize, จาก JIA Award, จาก International Architecture Award ในปี 2010. กระทรวงการก่อสร้างได้จัดอันดับให้เป็นสถาปนิกแนวหน้า (1st class architect) ของญี่ปุ่น. การใช้โครงสร้างร่มมาเป็นแนวในการออกแบบนั้น นอกจากนำนัยของความสงบร่มเย็นแก่ผู้เข้าไปใช้ห้องสมุด  ยังเป็นการจรรโลงวัฒนธรรมอันดีงามตามขนบญี่ปุ่น. ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้ร่มเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในชีวิตจนกลายเป็นขนบงดงามแบบหนึ่ง. ให้นึกถึงร่มคันใหญ่สีแดงกลางพื้นที่โล่งกว้างหรือในสวนญี่ปุ่น สร้างบรรยากาศได้ทันทีและโยงความคิดคำนึงต่อไปถึงการพักผ่อน การดื่มชา การชมสวนเป็นต้น.
        ห้องสมุดครึ่งวงกลมนี้ ดูภายนอกเป็นอาคารสูงเท่าตึกสองชั้น. ในปี 2004 เมื่อมีการสถาปนามหาวิทยาลัยขึ้น ก็ได้สร้างห้องสมุดด้วยแล้ว  ต่อมาได้สร้างห้องสมุดนี้ขึ้นอีกแห่งหนึ่งในปี 2008 และได้เปลี่ยนชื่อเรียกว่าเป็น Nakajima Library 中嶋記念図書館  ( ถ้าดูตามชื่อในภาษาญี่ปุ่น ควรเป็น Nakajima Memorial Library)  เพื่อเป็นเกียรติแก่อดีตประธานมหาวิทยาลัย Nakajima Mineo 中嶋ผู้มีส่วนอย่างมากในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งนี้จนสำเร็จ. (อีกตัวอย่างหนึ่งของการยกชื่อคนเป็นชื่อสถานที่).
       ห้องสมุด 中嶋 [นาก๊ะจิมะ] นี้มีหนังสือราว 75,576 เล่ม เป็นหนังสือภาษาตะวันตก 48,398 เล่ม หนังสือภาษาญี่ปุ่น 27,178 เล่ม มีหนังสือพิมพ์และวารสารรวมกัน 175 ชนิด เป็นภาษาตะวันตก 106 ชนิดและเป็นภาษาญี่ปุ่น 69 ชนิด ส่วนซีดีและดีวีดีนั้น มีทั้งหมด 3,279 แผ่น และมี online database 13 หัวเรื่อง. หนังสือนั้นมิได้มีเฉพาะหนังสือเรียนหรือหนังสือประกอบการเรียนในวิชาต่างๆ แต่รวมหนังสือความรู้ด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ด้านภาษาศาสตร์และวรรณกรรมของญี่ปุ่นอย่างตรบวงจร. และตั้งแต่ปี 2013 ได้รับเลือกให้เป็นคลังสะสมหนังสือและสิ่งตีพิมพ์ของสหประชาชาติ (United Nations Depository Library).  อินเตอเน็ตและการสื่อสารระบบดิจิตัลได้มีส่วนกระตุ้นให้พัฒนาคลังหนังสือและบริการด้านหนังสือ  ห้องสมุดแห่งนี้จึงเป็นที่รวมของระบบ e-resources, e-journals, หรือ databases. ตั้งแต่ปี 2014 ห้องสมุดจึงมี academic e-books เป็นภาษาอังกฤษกว่า 250,000 หัวข้อไว้บริการ.  
      ห้องสมุดนี้เปิดทุกวัน ๒๔ ชั่วโมง ๓๖๕ วัน มิได้เปิดบริการเฉพาะนักศึกษาของมหาวิทยาลัย แต่เปิดให้ประชาชนทุกคนเข้าไปใช้ได้ ขอยืมหนังสือได้เมื่อทำบัตรเรียบร้อยแล้ว  เปิดบริการประชาชนตั้งแต่สิบนาฬิกาจนถึงยี่สิบนาฬิกาและถึงสิบแปดนาฬิกาในวันหยุดและนักขัตฤกษ์  ส่วนนักศึกษานั้นเปิดให้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ๓๖๕ วันต่อปี.
        Shinya KATO ผู้อำนวยการห้องสมุด Nakajima Library คนปัจจุบันกล่าวในปีนี้ (เมษายน 2016) ว่ากำลังสร้างเครือข่ายลูกที่เอื้อให้ผู้ใช้ห้องสมุดสามารถพิมพ์เอกสารหรือข้อมูล e-resources ใดๆจากทุกแห่งทุกมุมในห้องสมุด (โดยไม่ต้องขยับเขยื้อนออกไปจากเก้าอี้นั่งเลย) ด้วยความปรารถนาให้ทุกคนด้รู้ ด้เรียนและเข้าถึงข้อมูล สามารถค้นคว้าหาความรู้ในแขนงศิลปศาสตร์ได้อย่างจริงจังภายในห้องสมุดนี้.
       เมื่อเดินชมห้องสมุดจบลง  เห็นว่ามีหนังสือมากกว่าคนแน่นอนอยู่แล้ว  หรือจะเป็นเพราะเป็นวันอาทิตย์  ที่นั่งแต่ละที่อยู่ห่างกันไม่ต่ำกว่าด้านละหนึ่งเมตร แต่ละคนมีพื้นที่ส่วนตัวมากทีเดียว  มีที่ให้วางให้เก็บของ. วันนั้นไม่เห็น “ผู้ใหญ่”  มีแต่เด็กนักเรียนหรือนักศึกษาชั้นต้นๆมากกว่า  แอบชำเลืองดูว่าอ่านอะไรกัน เป็นหนังสือญี่ปุ่นทั้งนั้น  อาจกำลังทำการบ้าน. ในอาคารเงียบมาก ไม่มีเสียงคุยจุ๊กๆจิ๊กๆ  มันเงียบและสงบ  ไม่มีอะไรรบกวนสมาธิ  นอกจากเมื่อข้าพเจ้าเดินผ่านด้วยฝีเท้าที่แผ่วเบาที่สุด  ไม่มีใครสนใจมองตามข้าพเจ้า ว่าทำอะไร  อาจเหลือบมองดูแล้วก็ทำท่าไม่สนใจ เพราะข้าพเจ้ามิได้ถ่ายภาพคนอ่านคนใดเป็นพิเศษ.  เมื่อเทียบพื้นที่อันกว้างใหญ่ที่เหมือนโคลีเซียมหนังสือ กับที่นั่งที่พร้อมรับคนอ่าน ไม่สมมาตรกัน ที่นั่งมีน้อย หรือเพราะนักศึกษาไม่ไปนั่งในห้องสมุดกัน.
เชิญชมภาพห้องสมุดและบริเวณใกล้เคียงข้างล่างนี้
พื้นที่บริเวณรอบๆห้องสมุดครึ่งวงกลมหรือ Nakajima Library


 แนวต้นซีดาร์ยังคงมีใบเขียว


ด้านทางเข้าห้องสมุด 
 ห้องโถงครึ่งวงกลม การจัดพื้นที่ภายในต่างระดับลดหลั่นกันในแบบอัฒจันทร์หรือแบบโคลีเซียม
 ผนังกำแพงด้านตัดตรงของอาคารครึ่งวงกลม เป็นประตูกระจกบานสูงใหญ่ตรงชั้นพื้น
และเป็นแนวหน้าต่างเหนือชั้นหนังสือบนชั้นสอง

 ให้สังเกตโครงสร้างของเพดาน เป็นไม้ตันท่อนเดียว ใช้เป็นเสา 
และตัดเป็นซึ่ๆประกอบกันตามแบบโครงสร้างของร่ม  พื้นที่ทำงานกับการติดตั้งแสงสว่างแต่ละที่นั่ง





 ปมบนเพดาน หรือปุ่มศูนย์รวมบนยอดเพดาน



โครงสร้างของร่มก็จริง แต่สถาปนิกจัดให้มีช่องแสงสว่างธรรมชาติจากข้างนอกเข้าไปได้สามระดับบนเพดานโค้ง และจากผนังกำแพงด้านตัดตรง ที่จัดเป็นประตูกระจกบานใหญ่เกือบตลอดความสูงของชั้นล่างและเป็นบานหน้าต่างเหนือชั้นหนังสือที่ชั้นสอง.  แสงสว่างธรรมชาติจากภายนอกจึงส่องผ่านเข้าทางกระจกด้านนี้และให้แสงสว่างเพียงพอในยามกลางวัน มิใช่สว่างจ้า หากมีหลอดไฟนีออนก็ซ่อนอยู่ในหลืบเหนือชั้นหนังสือ เป็นแสงสีนวลๆสบายตารับกับสีของไม้ซีดาร์ของอาคารทั้งหลัง เท่ากับประหยัดพลังงานไฟฟ้าลงไปได้  ส่วนแสงสำหรับอ่านหนังสือและทำงานก็ปิดเปิดได้ในแต่ละจุดที่จัดเป็นที่นั่ง.

      ไปเยือนห้องสมุดแล้ว อยากเป็นนักศึกษาอีกและเรียนที่นั่นเลย.  เอ หรือไปอาสาเฝ้าห้องสมุดให้เขาก็น่าจะดีนะ มันน่าอยู่จริงๆ.  และเมื่อมองดูรอบๆมหาวิทยาลัย  มันก็ว่างๆ โล่งๆ ต้นไม้ใหญ่ๆ เจ้าหน้าที่ห้องสมุดบอกว่า ที่นี่ไม่ค่อยมีคนภายนอกมาเพราะมันไกลจากตัวเมือง  ผู้ที่มาเพ่นพ่านบ่อยกว่าผู้ใด คือหมี เพราะมันชอบธรรมชาติของที่นั่น. เห็นในอาคารนักศึกษามีตุ๊กตาหมีตัวเบ้อเริ่มเลย. นอกจากนี้ สิ่งที่มีชื่อคือ หมาพันธุ์ Akita ที่เป็นสุนัขไล่หมีโดยเฉพาะด้วย (ไม่น่าจะล่าหมีไหว) และเพราะหากมีสีดำ หน้าตาดูเหมือนหมีมากด้วย แต่สีน้ำตาลหรือสีปนขาวก็มี.  ดูๆแล้วทำให้นึกถึงเจ้ามักส์กับนิลของเราที่เคยเลี้ยงในเกาหลี เป็นสุนัขล่าเนื้อเช่นกัน ตัวขนาดเดียวกัน คงเป็นพันธุ์เดียวกัน. 
จบบันทึกนี้ด้วยภาพสุนัขพันธุ์ Akita ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสุนัขไล่หมี เขาว่ามันเหมือนหมีมาก โดยเฉพาะสุนัขสีดำๆเทาๆ  ที่เอาตัวสีน้ำตาลขาวมาลงแทนเพราะหน้าตาเหมือนเจ้ามักส์กับนิลที่เราเคยเลี้ยงที่เกาหลี เป็นพันธุ์จินโดที่รัฐบาลเกาหลีอนุรักษ์เป็นมรดกพันธุ์สัตว์ของชาติ แต่มันเหมือนสายพันธุ์ Akita มากเลย

บันทึกการไปชมห้องสมุดของโชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๙.

1 comment:

  1. A wonderful place to study, a living art but functional as well. The two dogs are awesomely handsome.

    ReplyDelete