โรงเรียนตั้งแต่ชั้นประถมมีกิจกรรมพาเด็กๆออกไปที่นั่น ไปชมสวน
ไปดูสาธิตเรื่องแอปเปิล ให้เด็กเก็บแอปเปิลมาทำน้ำแอปเปิลเองได้เลย เรียกว่าเป็นการเรียนรู้โดยตรง.
ส่วนใหญ่เด็กๆก็ไปเก็บแอปเปิลสำหรับตัวเอง
นำกลับบ้านไปคนละลูกสองลูก. ข้าพเจ้าก็ไปกับเขามั่ง
แต่ไม่คิดจะไปซื้อหรือไปกินแอปเปิลที่สวนนั้น ไปสำรวจดูกิจกรรมเท่านั้น. เดินถ่ายรูปแอปเปิลมาจำนวนหนึ่ง และเมื่อไปเห็นแอปเปิลต้นที่มีลูกใหญ่มาก
ก็ถ่ายไว้ ถ่ายเสร็จดูเท่านั้น มันยังไม่สะใจนัก เลยไปแตะลูกแอปเปิลลูกที่ถ่ายไว้ ลูบผิวมันดู
เนียนๆ แต่ไม่ลื่นมือ มันต้องสัมผัสให้รู้จริง ผิวสวย สะอาด ลองเอานิ้วดีดๆเบาๆที่ผลไม้
เสียงเพราะกรอบๆ อ้าว! แอปเปิลหลุดติดมือมา
ในที่สุดต้องประคองแอปเปิลใหญ่ลูกนั้น กลับไปที่ร้าน เขาถามว่า
ไปเด็ดมาจากต้นไหน ลูกเดียวนั้นน่ะ จะให้ไปชี้ว่าต้นไหนนั้น มองออกไปที่สวนแล้ว
บอกว่าแถวนั้นแหละ ไม่รู้หรอก ขออภัย.
เขาบอกว่าไม่เป็นไร ปกติดูเหมือนว่า
เขาไม่ให้เด็ดตามใจชอบในสวน มีเป็นเขตๆที่ให้ไปเด็ดได้ เพราะเขารู้ว่าเขตใดของสวน ผลไม้เจริญไปถึงขั้นไหนอย่างไร เขาคงรู้เวลาพร้อมเด็ดพร้อมกินอย่างชัดเจนทั่วทั้งไร่
เขตไหนเมื่อไหร่. เจ้าหน้าที่นำขึ้นชั่ง. แอปเปิลนั้นราคา 189 เยน
น้ำหนักเกินครึ่งกิโลกรัม (กิโลกรัมละ 300
เยน) ไม่ได้คิดว่ามันแพงหรือถูก
แต่คิดเพียงว่า ต้องประคองแอปเปิลนั้นไปทั้งวัน และข้าพเจ้าตั้งใจจะไปชมสวนและถ่ายรูปในเมืองต่อ.
วันนั้นนอกจากกล้องถ่ายรูปจึงมีผลแอปเปิลหนักกว่าครึ่งกิโลที่ต้องถือไว้ตลอดเวลา. กลับถึงโรงแรมก็ต้องกินมันเป็นอาหารเย็นเพื่อจะได้ไม่ต้องหอบมันต่อไป. ก็อร่อยดี หวานอ่อนๆ
กรอบ หอมอ่อนๆตามธรรมชาติ มีเนื้อผลไม้พอประมาณ
ระดับน้ำในผลไม้กำลังดี. เดี๋ยวนี้ไม่รู้ทำไมแอปเปิลจำนวนมาก
กินแล้วเหมือนกินแตงโม คือมีแต่น้ำ จับ texture ของผลไม้แทบไม่ได้เลย ไม่ติดใจแอปเปิลแบบนั้น. ผลที่ได้มาดีกว่าที่เคยกินมา. เช้คในรูปถ่ายวันนั้น เขาติดชื่อไว้ที่ต้นว่า “ที่หนึ่งในโลก”
นับว่าเหตุปัจจัยทำให้ได้ชิมแอปเปิลต้นที่เป็นที่หนึ่งในโลกจากญี่ปุ่น
หรือที่หนึ่งในโลกของญี่ปุ่น
ไม่ติดใจคิดต่อ.
เดือนพฤศจิกายนที่นั่นเป็นเดือนเก็บแอปเปิล
ถ้าจะชมดอกแอปเปิลซึ่งสวยไม่แพ้ดอกซากุระ หอมกว่าด้วย ต้องไปต้นพฤษภาคม พื้นที่ทั้งภูเขาแถบนั้นจะขาวโพลนด้วยดอกสีขาวอมชมพู
คงหอมตรลบไปทั้งเมือง (พูดตามภาพโปสเตอร์ที่เขาติดไว้) เพราะฉะนั้น จังหวัด Aomori
และโดยเฉพาะที่เมือง Hirosaki ปลายเมษายนต้นพฤษภาคม เป็นช่วงชมดอกไม้งาม เป็นจุดเลื่องชื่อลือนามที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น
เริ่มด้วยดอกซากุระตามด้วยดอกแอปเปิล. ถ้าดูภาพต้นซากุระในยามที่ใบเปลี่ยนเป็นสีส้มๆแดงๆเหลืองๆที่นำมาให้ชมในบล็อกแล้ว
ประเมินได้ไม่ยากว่า
ยามดอกซากุระบานจะขนาดไหนในเมืองนั้น และเมื่อมองดูไร่แอปเปิลจากสวนแอปเปิลที่นั่น
ก็จะจินตนาการภาพอันแจ่มจรัสตระการตา ที่สนองความสุขทั้งทางตาและทางจมูก…
เชิญชมภาพสวนแอปเปิล เรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า りんご公園 [ลิงโกะ โกเอ็ง]
สองภาพนี้ถ่ายจากบนรถเมล์ ดังบอกไว้แล้วว่า ทั้งเมืองปลูกต้นซากุระเป็นส่วนใหญ่ เส้นทางของรถผ่านไปหน้าปราสาทของ Hiroseki ด้วย. ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายนถึง ๓๐ พฤศจิกายน มีรถเมล์สายตรงแบบ shuttle bus จากหน้าสถานีรถไฟ Hirosaki (bus stop no.6) ตรงไปถึงประตูทางเข้าสวนแอปเปิลเลย ค่ารถ 200 yen ในช่วงอื่นๆของปี ก็มีรถประจำทางเดินบนเส้นทางนั้น บริการชุมชนตลอดเส้นทาง แต่มิได้เข้าไปถึงหน้าประตูทางเข้าสวนแอปเปิล ต้องเดินจากทางแยกปากซอย (stop Tokiwazaka) เข้าไปอีกราว 5-7 นาที
ป้ายสุดท้ายที่ตรงทางเข้าสวน พื้นที่ตรงนั้นก็เป็นเขตปลูกแอปเปิลด้วยเช่นกัน เรียกว่าเด็ดกินได้ทันทีที่ก้าวลงจากรถเมล์ แต่เขาไม่ทำกัน อาจจะเด็ดไปได้ แล้วไปจ่ายเงินให้ถูกต้องในร้าน เดือนพฤศจิกายน เห็นเจ้าหน้าที่พากลุ่มคนและครอบครัวพร้อมตะกร้า ไปเด็ดแอปเปิลจากบริเวณแถวนั้นเลย สองฝั่งบริเวณป้ายรถเมล์และลานจอดรถ
ทางเข้าสวน มีแผนผังใหญ่บอกทิศทางที่ตั้งหน่วยต่างๆ เพราะมีฟาร์มจัดทำเพื่อการเรียนรู้ มีพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับเครื่องมือเครื่องใช้และกระบวนการปลูกแอปเปิล มีโรงอาหาร ร้านรวมสำหรับการจำหน่าย ฯลฯ
บนพื้นถนน
ไม่ไกลจากซุ้มทางเข้า ฝาปิดปากท่อระบายน้ำ มีเอกลักษณ์พิเศษ น่าสนใจเมื่อเห็นสัญลักษณ์สวัสดิกะกลางรูปแอปเปิล
เป็นสวัสดิกะที่หมุนเวียนซ้าย แผ่รังสีออกไปรอบ.
ในหมู่ชาวฮินดู ชาวจีน เกาหลี ญี่ปุ่นนั้น สื่อสันติภาพและการต่อเนื่อง เป็นภาพลักษณ์ของดวงอาทิตย์ด้วย
และใช้ประทับในเอกสารพระสูตร ในหนังสือพุทธศาสนา รวมทั้งบอกตำแหน่งที่ตั้งของวัด. ใช้ทั้งสวัสดิกะที่เวียนซ้ายและเวียนขวา
บางทีใช้คู่กันไปดังปรากฏในเนรมิตศิลป์ของจีนมาแต่โบราณ. เกี่ยวอะไรกับตำแหน่งที่ตั้งของสวนแอปเปิลด้วยไหมนั้น
ไม่มีคำตอบให้ แต่แน่ใจได้ว่า ที่นั่นไม่เน้นนัยความหมายด้านลบแน่นอน
ดังที่พูดกันว่า หากเวียนขวาสื่อความหมายด้านบวก หากเวียนซ้ายสื่อความหมายด้านลบ. คติดังกล่าว
ไม่น่าจะใช้กับตะวันออกได้
วัดทั้งหลายใช้สวัสดิกะเวียนซ้ายมากกว่า.
ให้ดูภาพบางมุมของสวนแอปเปิล เดี๋ยวนี้เขาเน้นการปลูกต้นแอปเปิลแบบเตี้ยๆ (เก็บผลสะดวก) ให้แผ่กิ่งหลายกิ่งจากลำต้นใหญ่เพื่อให้ได้ดอกได้ผลมากขึ้น ไม่ต้องการให้มีใบดกมากเกินไป ให้แสงสว่างส่องไปถึงทุกกิ่งได้อย่างทั่วถึง เมื่อกิ่งมีลูกดกมากย่อมลู่ลงเพราะหนัก จึงต้องมีไม้มาช่วยค้ำช่วยพยุงไว้. แอปเปิลจริงหรือภาพแอปเปิลมีให้เห็นเสมอ อธิบาย ชี้ทางเป็นต้น.
รูปปั้นเด็กสาวสองแกละ เก็บแอปเปิลมาเต็มตะกร้า หนักนะ
แอปเปิลทองสัมฤธิ์และแอปเปิลเรซิน
เนินเขาสูงพอสมควร ที่จัดให้เป็นจุดชมวิวรอบๆบริเวณอันกว้างใหญ่นั้น เดินขึ้นลงสะดวก
ได้ภาพรวมจากบนนั้นมาให้ดูกัน ต้นไม้สีเขียวๆเต็มไปหมดนั้น คือต้นแอปเปิล. พฤศจิกายน(ที่ไป)ที่นั่นหนาวแล้ว แต่ต้นแอปเปิลยังเขียวสดชื่นแข็งแรงอยู่เลย นับว่ามันทนทานอากาศหนาวมากทีเดียว เมื่อเทียบกับต้นซากุระและต้นไม้อื่นๆในเมืองนี้ที่เปลี่ยนสี สลัดใบ พร้อมพักผ่อน ปิดโรงงานสังเคราะห์แสงกันสักสองสามเดือน.
เห็นมุมหนึ่ง
มีสุสาน(ตรงติดดาวสีแดง) คงเป็นของเจ้าของและผู้ก่อตั้งไร่นี้
มองลงไปที่ตั้งของศูนย์ธุรกรรมของสวน ที่เป็นที่ซื้อขายแอปเปิล
และขายสรรพสินค้นที่เกี่ยวกับแอปเปิลทุกชนิดทั้งกินได้และกินไม่ได้
ยังมีพิพิธภัณฑ์ด้วย
มองไปที่ทางเข้าสวน ที่เป็นพื้นที่จอดรถด้วย
มองผ่านราวระเบียงบนทางเดินบนเนินเขาชมวิว
ในหมู่ต้นไม้ใบเขียวทั้งไร่ที่เห็นวันนั้น มีต้นใบเหลืองทั้งต้นเพียงไม่กี่ต้น
จึงต้องตามไปดู
บนเส้นทาง เห็นต้นแอปเปิลสายพันธุ์ที่เจาะจงว่าเป็น Malus x American Beauty พันธุ์ลูกเล็ก ออกเป็นกลุ่มแน่น สีแดงสดๆเลย ใบยังสีเขียวอยู่ ผลเล็กๆ เท่าที่รู้มาในอเมริกาและแคนาดา ดอกของสายพันธุ์นี้ สีชมพูเข้มมาก น่าทึ่งจริงๆ (ตามไปหาดูเพิ่มเติมได้เองในเน็ต). ส่วนต้นที่ใบเหลืองทั้งต้นคือต้นข้างล่างนี้
กำกับชื่อไว้ว่า Malus Sargentii Rehder เข้าไปดูใกล้ๆแล้วก็อัศจรรย์ใจมาก เพราะผลจิ๋วนิดเดียวขนาดเล็กกว่ามะยมสามัญของบ้านเรา ดูแว็บแรกนึกถึง groseille(fr.) หรือ red currant (eng.) สายพันธุ์นี้ดูเหมือนเติบโตให้ผลที่โตกว่าต้นนี้ ผลที่ต้นนี้เติบโตเต็มที่แล้ว. ในถิ่นอื่นๆในโลก ผลที่แม้จะเรียกว่าผลแคระ โตกว่าผลที่เห็นวันนั้นจากต้นนั้น และสำคัญรสชาติดีมาก ไม่เปรี้ยวเลย. ในอเมริกาหรือแคนาดา เขาอาจจัดอยู่ในกลุ่มแอปเปิลแคระ(crab apple) แต่เอกลักษณ์เด่นของแอปเปิลพวกนี้ คือมีรสเปรี้ยวมาก ไม่น่าจะเป็นผลไม้ที่คนชอบกินสดจากต้น คงนำไปทำเป็นน้ำส้มสายชู หรือผลิตภัณฑ์อื่น.
อดไม่ได้ ต้องเด็ดออกมาดูและกินให้รู้แน่แก่ใจ เป็นแอปเปิลจริงๆแฮะ รสแอปเปิล กลิ่นแอปเปิล ไม่เปรี้ยวเลย อร๊อยอร่อย ต้องเด็ดกินต่ออีกสองสามลูกเพื่อยืนยันความประทับใจ แล้วรีบเดินต่อไป ขืนอยู่ที่นั่นอาจหมดต้น ชิมจากต้นนั้นแล้วก็ต้องบอกว่า แอปเปิลอื่นใดหมดความหมายไปเลย.
และนี่คือผลแอปเปิลลูกใหญ่ที่ได้ไปแตะ แล้วมันก็หลุดติดมือมา จนต้องไปจ่ายเงินซื้อลูกนั้น กำกับไว้ว่า Sekaiichi ที่แปลว่า ที่หนึ่งในโลก
ศูนย์กลางธุรกรรมของสวน มีร้านขายสรรพสิ่งที่เกี่ยวกับแอปเปิล ทั้งที่กินได้และไม่ได้ แน่นอนรวมน้ำแอปเปิล ไวน์แอปเปิล ขนมนมนมเนยที่ใช้แอปเปิลที่นั่นทำ. ของกิน น่าซื้อมาชิมให้รู้รส ของจากไร่ย่อมมีคุณภาพดี. แต่ไม่ได้ซื้ออะไร เพราะไม่ใช่เวลากิน แล้วจะซื้อติดตัวเก็บไปกินภายหลังก็ไม่สะดวก ในเมื่อเราเดิน เดิน และเดินมากในแต่ละวัน ตกลงได้ผลแอปเปิลที่หลุดติดมือมาลูกเดียว.
อีกมุมหนึ่งต่อจากร้านขายของนี้ เป็นทางเดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์
สองข้างทางเดินมีจิตรกรรมแอปเปิลประดับยี่สิบสามสิบภาพ
เขาทำราวให้จับ เป็นทางลาดน้อยๆ เตรียมให้คนนั่งรถเข็นไปแวะชม
เดินลึกเข้าไป เป็นห้องนิทรรศการ มี booth คอมพิวเตอร์ให้หาข้อมูล
มีแผนภูมิ เอกสาร หุ่นจำลองของสรรพวัตถุที่เกี่ยวกับแอปเปิล
ประวัติการเดินทางของแอปเปิลในทวีปต่างๆ จนมาถึงญี่ปุ่น
แผนภูมิประเทศผู้ผลิตแอปเปิลในอันดับต้นๆ
ประวัติการพัฒนาการปลูกแอปเปิล การพัฒนาพันธุ์ในญี่ปุ่น
และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
ข้อมูลสายพันธุ์แอปเปิลในญี่ปุ่น
อีกมุมหนึ่ง เป็นมุมหนังสือหรือมุมเล่นของเด็กๆ
ประกาศนียบัตรประกาศเกียรติคุณจากรัฐบาล
เหรียญเกียรติยศ ประดับด้วยดอกแอปเปิล
ภาพดอกแอปเปิลจริงๆ สีขาว ชมพู สีแดงเข้มก็มี นึกภาพไร่ยามดอกแอปเปิลบานจะงามเช่นใด ภาพดอกแอปเปิลนี้จากอินเตอเน็ตและอาจไม่ใช่สายพันธุ์ที่มีในญี่ปุ่นก็ได้. เข้าใจว่าแอปเปิลสายพันธุ์ที่มีที่สวนนั้น มีดอกออกสีขาวๆ ชมพูจางๆมากกว่าสีใด.
ที่นั่นยังติดข่าวที่พวกเขาภูมิใจกันมาก คือการเนรมิตแอปเปิลพายชิ้นใหญ่ที่สุดในโลก ดังภาพจากหนังสือพิมพ์นี้เมื่อปี 2015 เส้นผ่าศูนย์กลางของพายยักษ์นี้คือสองเมตร.
ชาวญี่ปุ่นยึดมั่นถือมั่นกันมากกับการเป็นหรือการทำอะไรเป็นคนแรกเสมอ ภูมิใจแม้เพียงการเป็นผู้สั่งเข้าไวน์จากฝรั่งเศสชาติแรก พูดเหมือนยืนยันว่า เป็นชนชาติแรกที่ได้ดื่มไวน์ใหม่ของปีนั้นในโลก. แล้วไอ้ไวน์ใหม่เช่น Beaujolais Nouveau ที่ชาวญี่ปุ่นคุยนักคุยหนา มันอร่อยที่ไหนกั๊น มีรสนิยมแบบไหนกั๊น(มันไม่เข้าท่านัก) เหมือนแอปเปิลห่ามๆ เหมือนเด็กสาวแรกรุ่นกระโดกกระเดก ไม่เหมือนสตรีเรียบร้อยนุ่มนวลทั้งเมื่อเห็นและเมื่อสัมผัส ที่เทียบได้กับไวน์สูงวัย ที่ถูกเก็บมาอย่างถนอมสามสิบสี่ปี บ่มจนวันเวลาได้ทำให้โครงสร้างชีวะเคมีภายในน้ำองุ่น(เกือบ)กลายเป็นน้ำผึ้งก็ไม่ปาน (คำเปรียบเท่านั้นนะ ไม่หวานเหมือนน้ำผึ้งหรอก แต่ texture ที่เคล้ากันเนียนเป็นเนื้อเดียวนั้นคือความมหัศจรรย์ของไวน์สูงวัย นาทีนี้นึกถึง texture และ consistancy ของอำพันที่มองดูสว่างโปร่งทั้งๆที่มีความเข้มข้นในตัวสูง). เรื่องแค่แอปเปิลพาย ก็ภูมิใจกันมากมาย. น่าแปลกที่เขาปลูกฝังค่านิยมกันมาแบบนี้. พวกเขาไม่ลืมที่จะเน้นการเป็นคนแรกในเรื่องนั้นเรื่องนี้เสมอ.
ดูตัวอย่างจิตรกรรมชัดๆกัน จะเห็นว่า รับค่านิยมตะวันตกมาสร้างสรรค์ด้วย เช่นรู้ว่า นครนิวยอร์คมีสมญานามว่า the Apple City (อ่านรายละเอียดต่อไปได้เองในวิกิพีเดีย) หรือรู้นัยของแอปเปิลในคริสต์ศาสนาหรือจูดาอิศซึม หรือรู้จักรูปแบบสถาปัตยกรรมเด่นๆของตะวันตกเป็นต้น. เมื่อเดินดูไปทุกภาพ ทำให้คิดว่า เป็นผลงานของคนๆเดียวกัน อาจเป็นนิทรรศการของศิลปินคนหนึ่ง ไม่ปรากฏนามไว้เป็นภาษาอังกฤษ ชื่อที่เห็นคือ 作山畯治 ติดราคากำกับใต้ภาพด้วย ส่วนใหญ่คือแปดหมื่นเยน
กำกับชื่อภาพไว้ว่า Apple Crystal Ball
กำกับชื่อภาพไว้ว่า Apple Mosk
กำกับชื่อภาพไว้ว่า Apple Church
กำกับชื่อภาพไว้ว่า Apple Rose Window
กำกับชื่อภาพไว้ว่า Mahattan from Apple
กำกับภาพไว้ว่า Sky 0f Mahattan
ทีมเด็กๆ หิ้วถุงแอปเปิลที่ไปเก็บกันเอง คนละลูกสองลูก เบิกบานใจ
พูดสวัสดีป้าโชด้วยนะ
ที่สถานีรถไฟ Hirosaki เมื่อแรกเห็นคิดว่าเป็นควันหลงของวัน Halloween
ดูอีกที เขารักษาเอกลักษณ์ของเมืองไว้อย่างไม่ลดละ แทนฟักทอง (pumpkin)
เขาใช้ผลแอปเปิล ทำหน้าตาให้น่ากลัวตามขนบ halloween อเมริกัน
นอกสถานี ด้านหน้า มีรูปปั้นสัมฤทธิ์ หนุ่มสาวคู่หนึ่ง แต่ละคนมีแอปเปิลในมือ เชิดชูผลิตภัณฑ์ของถิ่นมาตุภูมิ แม้การคิดสร้างรูปปั้นชายหญิงกับแอปเปิล โยงไปโดยปริยายถึงคัมภีร์เก่าเรื่องอาดัมกับอีฟ ศิลปินตัดนัยของการยั่วยวนออกหมด สวมเสื้อผ้าเรียบร้อย หันหลังให้กันไปคนละทิศทาง เหมือนเชิญชวนและประกาศคุณภาพของแอปเปิลออกไปกว้างไกล.
ใต้หลังคาเหนือทางเดินที่เป็นชานชาลาที่จอดรถเมล์สายต่างๆของเมือง
มีหลอดไฟในผลแอปเปิลทั้งสีแดงสีเขียวประดับเป็นแนวยาว
เทียบขนาดผลแอปเปล “ที่หนึ่งในโลก” ที่หลุดติดมือมา กับขนาดของกาต้มน้ำไฟฟ้าของโรงแรม. แอปเปิลผิวธรรมชาติ ไม่เงาหรือมัน ไม่เหมือนที่เขาวางขายในตลาดในเมืองไทย เขาฉีดโปรยน้ำมันเคลือบผิวแอปเปิล เพื่อให้มันดูเงางามน่ากิน ยั่วยวนคนซื้อยิ่งกว่าซาตานล่ออีฟ. การไปซื้อแอปเปิลที่สวนในญี่ปุ่น จึงกัดกินได้เลย มีฝนเท่านั้นที่โปรยปรายต้องแอปเปิล และเมื่อดูภูมิประเทศและวิถีชีวิตของดินแดนแถบนั้น ใต้ท้องฟ้าในทุ่งราบ ไม่มีอุตสาหกรรมหนักใดๆในจังหวัด ไม่มีอาคารสูงใดๆที่อาจเป็นต้นเหตุให้เกิดฝนกรดได้. นับว่าชาวญี่ปุ่นฉลาด รู้รักษ์ทรัพยากรให้เป็นเช่นนั้นติดต่อกันมาเป็นศตวรรษๆ เป็นแหล่งทำมาหาเลี้ยงชีพที่ถาวร อาจสรุปได้ว่า เขาอยู่อย่างพอเพียง และเขาก็มีอันจะกินอย่างสบายๆ.
เรื่องแอปเปิลเป็นหัวข้อศึกษาวิจัยได้เรื่องหนึ่ง
ทั้งในเชิงผลไม้เศรษฐกิจและผลไม้วัฒนธรรมที่มีรากหยั่งลึกลงในหลายกระแสความเชื่อของโลก
แอปเปิลเป็นต้นไม้หนึ่งในต้นไม้แรกๆบนโลกและอยู่คู่กับคนมาตลอดวิวัฒนาการของวงจรชีวิตคนจากยุคโบราณจนถึงยุคปัจจุบัน.
การศึกษาวิจัยยังรวมถึงการศึกษาเชิงชีวเคมีของผลไม้ หรือการพัฒนาสายพันธุ์
ในปัจจุบันคาดกันว่ามีราวเจ็ดพันถึงหมื่นชนิดแล้ว. คนยังไม่พอใจ. เทคนิคใหม่ๆได้สนองความอยากมีผลแอปเปิลกินตลอดปี
กระตุ้นให้มีการผลิตที่ผิดธรรมชาติมากขึ้นๆ รสชาติผลไม้ก็เปลี่ยนไปแน่นอน มีความโลภของคนเท่านั้นที่ไม่เคยเปลี่ยน ธรรมชาติถูกบังคับ ถูกเบนไปสนองความไม่รู้จักอยู่อย่างพอเพียงของคน…
อยากให้ผลแอปเปิลเป็นมากกว่าสินค้าทำเงินเพื่อสั่งสมโภคทรัพย์ อยากให้มันเป็นสิ่งดลใจให้ก้าวกระโดดไปสู่ศาสตร์อื่นๆเพื่อความรู้อื่นต่อไป ไปนั่งชมต้นแอปเปิลและคิดใคร่ครวญถึงบทบาทของ theory
of gravity ตามอย่าง Sir Isaac Newton กันเถิด…
บันทึกเดินทางของโชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๙.