พาเดินอ้อมหุบเหวไปชมน้ำตกกัน
ที่เมือง Senboku 仙北市[เซ็มป๊กฉิ] (คำแรกแปลว่า อมตะ เทพ. คำที่สองแปลว่า
ทิศเหนือ, ในความหมายคลาซสิกแปลว่า สยบ ทำให้แพ้. คำที่สามแปลว่า เมือง ) เมืองนี้ซึ่งอยู่ในจังหวัด Akita มีหุบเหวที่น่าชม สีสันสวยงามผิดแผกกันไปในแต่ละฤดู
มีน้ำตกเล็กๆ (Mikaeri no taki 回顧 みかえりの滝 ในความหมายของผู้ที่ไปเห็นแล้ว คิดคำนึงถึง อยากกลับไปดูอีก
เขาตั้งชื่อแบบนี้ให้กับน้ำตกในญี่ปุ่นหลายแห่ง จึงมิใช่ชื่อเฉพาะ
แต่เหมือนสำนวนเสริมหน้าตาหรือสรรพคุณของสถานที่มากกว่า) ท่ามกลางมวลต้นไม้ใหญ่
เรียกชื่อหุบเขานั้นว่า Dakigaeri Valley 抱返り渓谷 คำแรกแปลว่า โอบกอด / คำที่สองแปลว่า
กลับ หวนกลับ / คำที่สามอักษร
hirakana เชื่อมโยงนัยระหว่างคำนามสองคำแรกกับสองคำหลัง /
คำที่สี่แปลว่า ลำธาร, แคว / คำที่ห้า แปลว่า หุบเขา. ในเพ็จภาษาอังกฤษ
มีคนแปลไว้ว่า Valley of embrace and return (เปิดให้คิดเป็นสำนวนไทยกันเอาเอง).
เขาตัดเส้นทาง ปราบพื้นที่ทำทางเดินเลียบไปตามไหล่เขาด้านขวามือคนเดิน
อ้อมไปเรื่อยๆ ส่วนด้านซ้ายมือของคนเดินเป็นเหวลึกลงไปเห็นสายน้ำไหล อีกเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ไปชม.
มีบริการรถประจำทางพาไปส่งถึงที่เลย
โดยเฉพาะในฤดูใบไม้ร่วงที่ผู้คนนิยมไปกันมากที่สุด. มีบริการรถประจำทางแบบ
shuttle bus เพื่อการนี้โดยเฉพาะเพื่อการนี้โดยเฉพาะ โดยรถบัสออกจากลานด้านหน้าขวามือของสถานี Kakunodate
角館 [ขะคึโนะดาเตะ]. ดังนั้น
ไม่ว่าไปพักที่เมืองใด หาทางไปที่สถานีรถไฟแห่งนี้ ก็สะดวกสุด. มีชั่วโมงละเที่ยว. เห็นทีมนักท่องเที่ยวที่ไปเป็นกลุ่มกันเองกลุ่มเล็ก (ขนาดกลุ่มสิบคน)
ก็ใช้บริการอย่างนี้ ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆด้วย (วันที่ข้าพเจ้าไปเป็นเช่นนั้น มีคนจีนซะโดยมาก แต่ไม่ใช่จีนจากแผ่นดินใหญ่. วันอื่นๆ ไม่รู้ด้วย
แต่เสียก็ไม่เกินสองสามร้อยเยน เป็นบริการสาธารณะของชุมชน)
เมื่อรถบัสไปถึงลานจอดรถกว้างใหญ่ล้อมรอบด้วยทิวเขา จากตรงนั้นคือจุดเริ่มต้นของเส้นทางเดินเขา ต้องเดินไปเองแล้ว ไม่มีรถใดเข้าไปได้ ทางไปถึงจุดน้ำตกที่คนมักถือเป็นจุดหมายของการไป
รวมระยะทางไปกลับสาม-สี่กิโลเมตร
เป็นเส้นทางที่ค่อนข้างง่ายและไม่มีการปีนขึ้นๆลงๆมากนัก
เหล่าสูงวัยอย่างเราๆยังพอไหวอยู่นะ หุบเขานี้สวยจริง
เพราะเป็นป่าทึบและป่าพรหมจรรย์. เดินไปกลับแล้ว ไปคุยกับเจ้าหน้าที่บริการการเดินรถเข้าออก
บอกเขาว่า สวยกว่าที่เขา Arashiyama 嵐山 ที่เลื่องลือกันนักหนาในจังหวัดเกียวโต
เขายิ้มกว้างพอใจมาก. มันสวยกว่าจริงๆ และเราอยู่ใกล้ต้นไม้ และใต้ต้นไม้ใบไม้ตลอดเวลา ที่ Arashiyama นั้น
ส่วนใหญ่เราได้แต่มองจากที่ไกลๆเท่านั้น.
วันนั้นฝ่ายอุตุนิยมญี่ปุ่นบอกว่า ครึ่งเช้าครึ้มๆ หลังเที่ยงฝนจะเริ่มตก
และก็เป็นไปตามนั้น. กว่าข้าพเจ้าจะเดินทางไปจาก
Akita ด้วยรถไฟความเร็วสูงราวสามสิบสี่สิบนาทีไปที่ Kakunodate แล้วจับรถ shuttle bus ไปถึงจุดทางเข้าเขตอุทยาน หลังจากนั้นก็ค่อยๆเดินไปถึงน้ำตก เอ้อระเหย
ชมใบไม้ หินผาหรือธารน้ำไปอย่างไม่รีบร้อน ตามกำลังปอดของข้าพเจ้าเอง ค่อยๆเดินไปแบบเดินสมาธิด้วยนะ พอได้เห็นน้ำตกและชมภูมิประเทศหุบเหว น้ำสีฟ้าใสจนพอใจ ฝนเริ่มลงเม็ด ได้เวลาเดินกลับมาคอย shuttle
bus ที่จะพากลับไปหน้าสถานีรถไฟ
Kakunodate. ขากลับนั้น
ฝนตกหนักพอสมควรทีเดียว ต้องเก็บกล้อง อีกประการหนึ่งแบ็ตเตอรีกล้องก็หมดทั้งสองก้อนเลย. อากาศสลัวๆแบบนี้
ถ่ายรูปกินถ่านไฟมากกว่าถ่ายยามท้องฟ้าสว่างสดใส. ต้องเดินช้าลงอีก
เพราะทางเขาชื้นแฉะ บางตอนเป็นก้อนหิน บางตอนเป็นพื้นดิน
ลื่นได้ในทุกสภาพดินแน่นอน. ไม่ใช่เพราะฝนตก ต้องรีบเร่งฝีเท้า
ผิดถนัด ต้องยิ่งเดินช้าลง ระมัดระวังมากขึ้น.
เห็นไหมว่าสะดวกมาก
หากเราใจเย็นๆไปตามกำหนดเวลาของตารางรถเมล์ ไม่เสียเงินอะไรเลย พกความพอใจความสุขใจกลับมาเต็มที่
แม้ฝนจะตกหนักขึ้นๆก็ตาม
อากาศบริสุทธิ์อย่างนั้น พลังจากขุนเขาและธารน้ำ เสริมสร้างพละกำลังแก่เราทันที จึงควรหาโอกาสไปในธรรมชาติแบบนี้บ่อยๆ… เอวัง
เชิญชมภาพบางส่วนที่ถ่ายมาตอนเดินไป
ไม่ได้ถ่ายตอนเดินกลับ.
แผนที่คร่าวๆบอกเส้นทางเดิน
ลานจอดรถ
มีศาลาให้นั่งพักด้วย
ช่วงที่ไปนั้น คนยังน้อยอยู่ เพราะอากาศไม่ดี
แต่นักท่องเที่ยวจากต่างถิ่น
ไปแล้วก็ต้องไปต่อ อากาศจะเป็นอย่างไร ถ้าไม่โหดนัก ก็ต้องด้นดั้นไปต่อ
เห็นสะพานสีแดงไกลๆ
ต้นทางเข้าหุบเขา
มีศาลเจ้าเล็กๆ
ให้สังเกตว่าต้นไม้สูงเพียงใด
ศาลเจ้าเล็กนิดเดียวจริงๆ อยู่ตรงกลางของวงล้อมต้นซีดาร์ใหญ่ๆ
ด้านหลังของศาลเจ้า.
มีต้นซีดาร์หลายต้น
เขาเลือกตั้งด้านหลังของศาลเจ้าไว้ตรงตำแหน่งที่มีต้นไม้ขึ้นเรียงเหมือนเกราะกำบัง
ในขณะเดียวกันก็บอกเขตศักดิ์สิทธิ์ของศาลเจ้า.
เป็นฮวงจุ้ยหรือจุดยุทธวิธีสำคัญของการตั้งทิศทางศาลเจ้า.
น้ำใสสีฟ้ามรกตที่ไหลลงมาจากภูเขา
(มาตามทางของน้ำตกที่กำลังจะไปดู)
ต้นทางของสะพานแขวน เวลาคนเดิน มันสั่นและแกว่งจริง
หนุ่มสาวชาวจีนเดินแบบวิ่งกรี๊ดกร๊าดกันเล่น
ชื่อสะพานกำกับไว้ว่า Kami-no-Iwahashi 神の岩橋
(คำแรกแปลว่า เทพ. ตัวที่สองแปลว่า ของ, คำที่สามแปลว่า หิน, หินผา. คำที่สี่แปลว่า สะพาน.)
ภาพจากเน็ตของ shutterstock (ในลิงค์นี้
บนเส้นทางเดินเข้าหุบเขานี้
ตรงนี้เป็นอาคารสุขาแห่งเดียว
นับว่าเพียงพอสำหรับจำนวนคนน้อยๆวันนั้น
ต้องแวะกันทั้งขาไปและขากลับ
หุบเขาด้านหลังก็งามไม่แพ้บริเวณใด
แต่ยิ่งใกล้บริเวณน้ำตก
แน่นอนพื้นที่แฉะมากขึ้น บางแห่งต้องลอดเข้าอุโมงค์สั้นๆ
ปากช่องของน้ำตก ทะลักออกจากภูเขาลงมา
จบภาพชุดจากการเดินชมหุบเขา Dakigaeri
Valley ในวันนั้น แบ็ตหมด
แถมภาพให้เทียบกันระหว่าง สภาพหุบเหวและป่าพรหมจรรย์ที่ดูมาข้างต้น
กับสภาพเมืองเล็กๆของ Kakunodate ที่เคยเป็นที่พำนักของเหล่าซามูไรกว่า ๘๐ ครอบครัว
จนอาจเรียกว่าเป็นเมืองซามูไร และเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของสถาปัตยกรรมและวิถีชีวิตของซามูไรผู้มั่งคั่งในสมัย
Edo
มีบ้านซามูไรดังกล่าวในเมืองนี้ที่เปิดให้ประชาชนเข้าขมได้ฟรี
และอีกหลายแห่งที่เปิดให้เข้าชมด้วยการซื้อตั๋วเข้าเป็นพิเศษ. บ้านซามูไรเหล่านี้แต่ละหลังมีบริเวณกว้าง มีต้นไม้ใหญ่ๆอายุมากเป็นร้อยสองร้อยปี
สวนญี่ปุ่น บางบ้านมีทางเดินต่อลงไปถึงริมแม่น้ำ
Hinokinai River 桧木内川 ตลอดฝั่งแม่น้ำนี้เองที่ปลูกต้นซากุระที่เลียบชายฝั่งแม่น้ำไปราวสองกิโลเมตรราวสี่ร้อยต้น. ในฤดูซากุระบาน
เมืองนี้เป็นหนึ่งจุดสุดยอดสำหรับชมซากุระ เช่นนี้จะไม่กลับไปหรือ เฉพาะที่เห็นคร่าวๆในเย็นวันหนึ่งก็สุดจะประทับใจแล้ว
ยิ่งเมืองเล็กๆอย่างนั้น อยากอยู่นานเลย.
วันนั้นฝนตกพรำๆทั้งวัน
เลยนั่งรถชมเมืองคร่าวๆพอให้ได้รู้ว่าเมืองเป็นเช่นใด
เพราะในใจต้องกลับไปเดินเมืองนี้ให้ทะลุปรุโปร่งกว่านี้แน่นอน
ร้านกาแฟในบ้านแบบญี่ปุ่น
ถ้ากาแฟไม่ถูกใจอย่างน้อยภาพต้นเมเปิลที่หน้าบ้านก็สวยดื่มด่ำใจพอ
บนถนนที่สองฝั่งเป็นบ้านซามูไรที่มีมาแต่สมัย
Edo
ให้สังเกตว่าต้นไม้สูงกว่าระดับรั้วเกือบสิบเท่า
บอกได้เลยว่า เป็นต้นไม้ผู้ดีเก่าจริงๆ
ส่วนต้นแปะก๊วยหรือ
Gingko ต้นนี้โผล่เหนือรั้ว
ลำต้นหนา ล่ำ สูงทะมึนเหนือศีรษะ
สังเกตทุกชีวิตที่ผ่านไปรุ่นแล้วรุ่นเล่า…
และผลไม้ต้นข้างบ้านหลังนี้รึก็น่ากิน ต้นพลับเต็มเลย เข้าไปจับลูกมันดู ผิวสะอาด เนื้อแน่น
คงกัดกรอบแบบโปรดของเรา. ถ่ายรูปไว้เฉยๆ ไม่คิดจะเด็ดหรอก.
ต้นพลับในญี่ปุ่นที่เป็นประเทศอบอุ่นกว่าเกาหลี
ผลไม้สุกพร้อมเด็ดไปกินได้แล้ว ใบยังเขียวเต็มต้นอยู่เลย.
ต้นนี้ก็อายุมากแล้วเช่นกัน ดูยังแข็งแรง ตัวตรง จะอยู่ต่อไปได้อีกนาน
เจ้าของไม่ต้องซื้อพลับกินมาหลายชั่วคน.
ในเกาหลี
เพราะอากาศหนาวมาก ใบไม้ร่วงหมดก่อน เหลือแต่ผลพลับสีส้มทองๆแบบนี้เต็มต้น
ยิ่งอัศจรรย์สายตา… ภาพความอุดมสมบูรณ์ที่ธรรมชาติเอื้อเฟื้อแก่สัตว์โลก.
บันทึกเดินทางของโชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๙.
สวยมากๆค่ะโช ขอบคุณที่แบ่งปันความงดงามและความสดชื่นแก่จิตใจ. ดูภาพและอ่านคำบรรยายแล้ว เหมือนกับได้ฟอกปอดด้วยค่ะ
ReplyDeleteสวยจริงค่ะ รูปก็สวย อ่านก็เพลิน ได้เที่ยวทางตาสนุกไปอีกแบบ ขอบคุณจริงๆุค่ะ
ReplyDelete