Monday 21 November 2016

งามใบซากุระ Sakura Leaves

ผละจากธรรมชาติพรหมจรรย์เข้าสู่สังคมคน...โชคอนันต์ที่มีคนที่มองการณ์ไกล, มีปราชญ์ที่ยืนยันบทบาทของธรรมชาติในจิตสำนึกของคน, มีนักพฤกษศาสตร์ที่เจนจบในเรื่องต้นไม้พืชพรรณ, มีสถาปนิกที่จินตนาการสวนสวรรค์ในแวดล้อมชีวิตจริงของคน. เราเป็นหนึ้บุณคุณคนเหล่านี้และคนอีกจำนวนมากที่มีส่วนร่วมในการเนรมิตและสร้างสวรรค์ชุมชนต่างๆให้น่าอยู่. ได้นำธรรมชาติบางส่วนเข้ามาปลอบโลมใจคนภายในรั้วในกำแพงเมือง เพื่อมิให้ใยที่ผูกพันกับ Mother Nature ถูกตัดขาดลงไป. ไม่ว่าในตะวันตกหรือตะวันออก ชนชั้นเจ้าขุนมูลนาย, คณะนักบวชไม่ว่าคณะใดศาสนาใด, คหบดีผู้ร่ำรวย ต่างเป็นผู้ให้สร้างสวน อุทยาน, ควบคู่ไปกับการสร้างปราสาทหรือวัง วิลลา ศาสนสถาน. แม้ว่าจุดประสงค์แรกสุดมักเพื่อความสุขสำราญส่วนตัว. แต่นิสัยคน มีอะไรก็อยากอวด จึงเปิดโอกาสให้คนอื่นๆพลอยได้เห็นได้ชื่นชมไปด้วยไม่มากก็น้อย. หลายศตวรรษผ่านไป พระราชวัง คฤหาสน์ วิลลา อารามต่างๆ เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ และพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ จนกลายเป็นจุดหมายสำคัญของการเดินทาง (และกลายเป็นวิถีพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน).
       ปราสาทเกือบทั้งหมดของญี่ปุ่นเป็นเช่นนั้น ต่างแข่งกันดึงดูดใจนักท่องเที่ยว. ปราสาทที่เมือง Hirosaki 弘前 [หิโร่ซากิ-โจ่] ในจังหวัด Aomori 青森[อะโอ๊โมริ เก็ง] ก็เช่นกัน เพราะที่นั่นเกือบทั้งเมืองปลูกต้นซากุระไว้มาก แต่ละต้นอายุเกินร้อย. สังเกตวิธีการเลี้ยงดูต้นซากุระของทั้งเมือง, เขาไม่ต้องการให้ต้นสูงชะลูดเกินไป แต่ให้แผ่เป็นร่มไม้ออกกว้าง โดยเฉพาะที่นั่นมีต้นซากุระที่กิ่งห้อยย้อยลง ในแบบของต้นหลิวที่มีกิ่งลู่ลมพริ้วไปมาอย่างสวยงาม อ่อนโยนและชวนฝัน. การที่เขาใช้คำอังกฤษว่า เป็น weeping sakura โดยไปอิงกับภาพลักษณ์ของคนโดยเฉพาะผู้หญิงเมื่อยามร้องไห้ มักก้มหน้าก้มตาลง. คำนี้ไม่ค่อยถูกใจข้าพเจ้านัก เพราะลักษณะการก้มตัวลง มิได้หมายถึงการจำยอมหรือจำนน แสดงความอ่อนแอเสมอไป แต่อาจแฝงความถ่อมตน, หรือเหมือนการมองสำรวจลึกลงในใจ,  เหมือนการเจาะลึกที่นำไปสู่การขยายพื้นที่ไปในแนวกว้าง, หรืออย่างน้อยที่สุด เป็นการแสดงความอ่อนโยนของการรับฟัง.  
      ในเน็ตเขาอธิบายไว้ว่า ปราสาทนี้ตระกูล Tsugaru [ซือการึ] สร้างขึ้นในปี 1611 เป็นสถาปัตยกรรมตัวอย่างที่สมบูรณ์ในแง่ของผังพื้นที่ ที่มีคูสองชั้น มีกำแพงเมือง มีป้อม. พื้นที่กว้างขวาง เป็นใจกลางของเมืองเลย. ปัจจุบันเป็นสวนสาธารณะเปิดให้ประชาชนทุกคนเข้าออกได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องเสียค่าผ่านประตู, ยกเว้นเมื่อต้องการเข้าไปชมในปราสาทเท่านั้น. โดยทั่วไปปราสาทไม่ดึงดูดใจเรานัก.  ปราสาทญี่ปุ่นขนาดใหญ่หรือเล็ก มันเหมือนๆกัน สิ่งที่จะได้เห็นคือพื้นห้องกว้าง, พื้นปูเสื่อตะต๊ามิ, ประตูกันห้องที่บานไม้เลื่อนไปมา ประดับด้วยจิตรกรรม มักเป็นภาพฤดูกาล, ภาพสัตว์เช่นมังกร นก เสือ เพื่อเน้นนัยของพละกำลังหรืออำนาจของผู้เป็นเจ้าของเป็นต้น. สิ่งที่ดีงดูดนักท่องเที่ยวไปที่นั่น คือจำนวนต้นซากุระที่ปลูกโดยรอบบนพื้นที่นั้น. ยามเมื่อดอกซากุระบานในช่วงกลางถึงปลายเดือนเมษายน ดอกซากุระปกคลุมทุกพื้นที่ เป็นจุดชมซากุระที่สุดยอดที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น หาเมืองมาเทียบเคียงยาก (ขอบอกว่า สำหรับปีหน้า 2017 นั้น ได้ลองเช้คเข้าไปดู โรงแรมเต็มแล้ว). อย่างไรก็ดี ไปแวะดูใบซากุระมา พอใจมาก. (สนใจอยากรู้ประวัติเกี่ยวกับการสร้างปราสาทเชิญได้ในเพ็จของวิกีพีเดียที่นี่ค่ะ 

นำภาพตัวอย่างมาให้ชมกัน  ฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ ครึ้มฟ้าครึ้มฝน หรือฝนตกเกือบทุกวัน. ดีไปอย่างเพราะไม่มีแสงแดดจ้าทำลายสายตาคนสูงวัยอย่างเรา.  อาจจะถ่ายรูปยากหน่อย หากต้องถือร่มด้วย แต่ถ่ายไป ก็ถนัดขึ้นเองเช่นหนีบร่มไว้ข้างคอ อะไรเทือกนั้น.  ใบไม้สีสด ยืนหยัด ไม่ลดละ และท้าทาย ทะลุทะลวงบรรยากาศครึมๆ  มีมนต์ขลังยิ่งกว่ายามแดดจ้า. อากาศก็เย็นสบาย เกือบไม่มีผู้คนโดยเฉพาะเมื่อฝนตก และนั่นเป็นโอกาสทองที่จะได้ใกล้ขิดกับต้นไม้, ปู่เจ้าของที่, แวะไปลูบไล้ใบไม้, พลิกดูใบ, ไปแตะลำต้น, นิ้วค่อยๆจิ้มไปตามรอยปริของเปลือก แล้วก็ขอพลังจากต้นไม้เลย ปิติยิ่งนักแล.
จากหน้าสถานีรถไฟ East Exit มีรสเมล์เรียกกันเลยว่า loop bus เสียครั้งละร้อยเยน ไปจอดใกล้ทางเข้าของปราสาทเลย. ตั้งแต่จุดลงรถตรงนั้น ก็ต้องเริ่มถ่ายรูปกันแล้ว ดังในแปดภาพแรกข้างล่างนี้ ใครจะอดใจได้ ดูแนวต้นซากุระสิ
ลงจากรถเมล์ เห็นฝั่งด้านหนึ่งของคูเมืองที่ล้อมพื้นที่ 
 
ต้นใบสีเหลืองน้ำตาลอ่อน ยังเป็นต้นซากุระอยู่ เป็นแบบกิ่งย้อยลง

ถนนติดคูอีกด้านหนึ่ง สีใบไม้ออกส้มเหลืองๆ แนวต้นซากุระอีกเช่นกัน 
ไม่แน่ใจว่าจะเป็นเช่นนี้รอบๆปราสาททุกด้าน เดินผ่านสามด้านเท่านั้น

จากภาพนี้ไป อยู่ภายในกำแพงปราสาท  ต้นซากุระเป็นส่วนมาก


 สะพานข้ามคูปราสาทชั้นใน แนวต้นซากุระเช่นกัน
ภาพล่างนี้เป็นต้นเมเปิล สีสันแตกต่างกัน แบบสุกดิบต่างอายุกัน

  ซากุระกับสน
 หลังคาปราสาทเหนือแนวต้นเมเปิล เมเปิลสีเข้มกว่า ใบทึบกว่า จึงเหมือนข่มเพื่อนสายพันธุ์อื่น
 น่าดูไม่น้อยเหมือนกัน เมื่อใบเหลืองๆหรอมแหรมของซากุระมีใบแดงหนาทึบของเมเปิลรองพื้น
 และนี่ก็เป็นต้นเมเปิลที่กำลังเล่นไล่สีกัน
 ส่วนต้นสน ก็ศอกกลับไม่ยอมกัน
 ใบเหลืองๆหากอยู่ติดๆกันไป เป็นม่านโปร่งๆได้เลย ดังในภาพต่อไปข้างล่างนี้
 
 
 
 
 

 ภาพข้างต้นคือใบสีเหลืองๆและสีส้มแดงๆของต้นซากุระ
ใบซากุระสีออกแดงส้มภาพนี้ เห็นชัดเจนว่า ใบไม้ยังมีชีวิตชีวามาก 
พลิกดูด้านล่างของใบ สีด้านกว่าด้านบน ยิ่งเมื่อต้องน้ำฝน เป็นเงาระยับ
ส่วนใบที่ออกสีในโทนเหลืองนั้น คือใบที่พร้อมจะร่วงหล่นในไม่กี่วันข้างหน้า

อย่างไรก็ดี สวนใดป่าใด หากไม่มีต้นเมเปิล ก็ดูจะขาดๆ  ความที่ต้นเมเปิลมีใบดก มองดูแน่นหนา 
สีใบไม้จึงโดดเด่นเป็นกลุ่มเป็นก้อนเหมือนกองทหารแนวหน้าหรือทหารกองหนุน.

 
เมเปิลสีเหลืองแบบนี้ก็สวยมากเช่นกัน




ใต้ใบไม้สีแดง เหนือโขดหินจำลอง ให้สังเกตว่ามีรูปปั้นเด็ก
สวนหย่อมเล็กนี้ สำหรับวัยรุ่นวัยเรียนโดยเฉพาะ ดังรูปปั้นเด็กอ่านหนังสือเหนือโขดหิน
รูปปั้นแบบนี้ จะเห็นไปทั่วหลายเมืองหลายแห่งทีเดียวเช่นแถวโรงเรียน ในสวน. 
ศิลปินคงได้ทำไว้หลายรูป  เป็นเด็กแบกท่อนไม้  เดินก้มหน้าอ่านหนังสือในมือ 
เหมือนจะเตือนเยาวชนให้รักการอ่านการเรียนรู้  ไม่ว่าจะเป็นลูกใคร ต้องทำงานอะไรในครอบครัว
 เดินข้ามคูชั้นในออกมา
ตรงทางออก มีพื้นที่จัดเป็นร้านขายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น รวมไว้ภายในร้านใหญ่ร้านเดียว ตั้งอย่างสงบ ไม่มีการร้องเชิญชวน ใครใคร่เข้า เข้า, ใครใคร่ซื้อ ซื้อ. ทุกอย่างจัดเรียบร้อย สะอาดตา. ร้านตั้งติดต้น Sequoia อายุหลายร้อยปี (ซ้ายของภาพ) สูงตระหง่าน กล้องจับไว้ไม่หมด.

วันนั้นได้แวะเข้าไปในสวนพฤกษศาสตร์ ที่อยู่ภายในปริมณฑลของพื้นที่ปราสาท มีคนไปสวนมากกว่าไปปราสาท แม้ว่าเข้าสวนต้องเสียเงินค่าเข้า, อาจเป็นวันนั้นหรือช่วงนั้น มีนิทรรศการดอกเบญจมาศ.
เสียดายมีภาพเฉพาะตรงทางเข้า เพราะพอจะเริ่มถ่ายรูป แบ็ตหมดลง. สงสัยอยู่ว่า แบ็ตคงเสื่อม ทำไมหมดเร็วจัง อาจเพราะใช้งานมาหลายปีแล้ว. ในที่สุดพอเข้าเมือง Sendai เมืองขนาดใหญ่และสำคัญมากเมืองหนึ่ง (ที่ตั้งมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับสามของญี่ปุ่น โดยมีมหาวิทยาลัยโตเกียวเป็นอันดับแรก มหาวิทยาลัยเกียวโตเป็นอันดับสอง และมหาวิทยาลัย 東北大 Tōhokudai ที่ Sendai เป็นอันดับสาม โด่งดังไปทั่วโลกในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการวิจัย. เรื่องสถาบันไม่โดนใจผู้สูงวัยแล้ว แต่ลิ้นวัวย่าง delicatessen อย่างหนึ่งของเมืองนี้ พลาดไม่ได้แน่นอน) เลยไปซื้อก้อนใหม่เป็นก้อนที่สามมาสำรองไว้ แต่หลังจากจังหวัด Akita และ Aomori แล้ว, ไม่มีอะไรดึงดูดสายตาให้ต้องเก็บภาพไว้.  เข้าเมืองใหญ่ขึ้น ความปลื้มลดน้อยลง, ให้รู้สึกหนาวๆไม่สบายตัว ทั้งๆที่อุณหภูมิอยู่ที่เลขสองหลัก แต่หนาวกว่ายืนตากลมกลางแจ้งแถวทะเลสาบณอุณหภูมิ 4-5 องศาเซนติเกรด.
ชมภาพที่เก็บมาจากสวนพฤกษศาสตร์เมือง Hirosaki ต่อไป. เบญจมาศเป็นดอกไม้หลักในฤดูหนาวตามค่านิยมตะวันออก.

 จัดมุมเด็กให้ด้วย ทั้งหมดใช้ใบ, ใช้ดอกไม้นำมาประดับติดโครงรูปสัตว์  
 เขาใช้กระถางต้นเบญจมาศออกมาจัดสวน ไม่ปลูกลงดิน.

 นิทรรศการกระบวนยาตราของเจ้านายนักรบเชื้อชาติซามูไร
 ซุ้มแสดงวิถีชีวิตปกติภายในบ้านสมัยก่อน 
เต๊นต์ใหญ่กว่าด้านซ้าย เห็นที่นั่งยาวสีแดงแบบนี้ที่ไหน คือมีบริการน้ำชาพร้อมขนม 
ต้องเสียเงินค่ารับประทาน ห้าหกร้อยเยน



 เดากันได้เลยว่า เป็นหลานปู่คนแรก ผู้พ่อในชุดแปลกตา ทำจากดอกและใบเบญจมาศพันธุ์จิ๋ว   
มีหุ่นม้าอยู่ข้างๆ อาจจะเน้นว่า ทารกของบ้านเป็นลูกชาย ต่อไปก็สืบตระกูลซามูไร

 เหมือนกับออกโรง รับแขกผู้มาเยือน คุณผู้หญิงในชุดดอกเบญจมาศสวยทีเดียว 
เข้าใจว่า เขานำโครงหุ่นเหล่านี้มาประดับด้วยดอกไม้ประจำฤดู สร้างบรรยากาศตามเนื้อหาที่กำหนดขึ้นในแต่ละวาระ เสนอแทรกให้เกิดการเสพคุ้นในขนบธรรมเนียมสมัยก่อนให้คงอยู่ในสำนึกของชนรุ่นปัจจุบัน. เป็นข้อคิดให้คนไทยๆที่เห็นประเพณีว่าเป็นเรื่องล้าสมัย เรื่องชนชั้น บนฐานของอีโก้อันจำกัดส่วนตัว โดยมิได้สำนึกถึงบทบาทของศิลปะ ความละเอียดประณีตที่ช่วยสร้างคน สร้างสังคม.  
แผนผังการเดินรถบัสสาย loop bus ที่พาจากหน้าสถานีรถไฟ Hirosaki ตรงไปศูนย์กลางของเมืองที่คือกลุ่มปราสาทและอุทยานดังกล่าว, ในราคาถูกเพียงร้อยเยนต่อเที่ยว. หากจะนั่งแท็กซึ่ไป ก็คงไม่เกินพันเยน, เดินไปก็ยังได้ แต่เก็บแรงเดินในสวนดีกว่า เพราะทั้งบริเวณกว้างมาก ถ้าจะเดินให้ครบทุกซอกทุกมุม.
บันทึกเดินทางของโชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๙.

1 comment:

  1. คุ้มค่ามากๆ สำหรับการเดินทางที่มีแต่ความสุขสดชื่นและรื่นรมย์ของโช แถมยังเผื่อแผ่ความสุขให้กับเพื่อนๆที่ติดตามจากเนื้อหาและภาพถ่าย. ขอบคุณค่ะโช

    ReplyDelete