Monday 18 September 2017

สดชื่นชุ่มฉ่ำกับดอกไม้ในสายฝน Japanese skunk cabbage

หมู่นี้ฝนตกทุกวัน ชื้นๆแฉะๆ ยิ่งต่างจังหวัด คงชุ่มฉ่ำทีเดียว ดินก็อิ่มน้ำจนท่วมหรือจะท่วม บรรยากาศทำให้นึกถึงวันที่ไปเดินชมดอกไม้ในหนองน้ำมุมหนึ่งในจังหวัดอะคิตะ Akita 秋田ประเทศญี่ปุ่น. เป็นช่วงปลายเดือนเมษายนปีนี้ ฝนตกทุกวัน ถ้าคอยให้ฝนหยุด คงไม่ได้เห็นอะไร  ฝนไม่เทลงรุนแรง ใช้ร่มช่วยก็เดินเล่นได้. วันนั้นไปจากเมือง ขะคึโนะดาเตะ Kakunodate ตั้งใจจะไปชมทุ่งดอกไม้ที่มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า dogtooth violet (ดอกไวโอเล็คที่เหมือนฟันหมาหรือไง มิอาจรู้ได้ ไม่เคยได้ยินชื่อนี้มาก่อน)  มองไม่ชัดในแผ่นกระดาษโฆษณา เขาบอกว่ามีรถเมล์พาไปถึงเลย (สนใจ ตามไปดูข้อมูลตอนจบ).
ติดสถานีรถไฟ มีศูนย์บริการข้อมูลท่องเที่ยว เข้าไปถามเจ้าหน้าที่ว่า ป้่นรถเมล์ที่พาไปชมดอกไม้สีชมพูๆนั้นอยู่ที่ไหน(ชี้ไปที่แผ่นโฆษณา) 
 ศูนย์บริการข้อมูลท่องเที่ยวและชุมทางรถเมล์โดยสารอยู่หลังสถานี
คำตอบคือวันนี้ฝนตก ดอกไม้จะหุบและคอตก ให้ไปดูทุ่งดอกไม้อีกทุ่งแทน แล้วบอกให้ไปคอยขึ้นรถเมล์ของหมู่บ้านหลังสถานที่ทำการนั้น ใช้เวลาเดินทางหนึ่งชั่วโมง แสดงว่าไกลพอสมควรเลยนะ ให้ลงที่ป้ายสถานีรถไฟซาชิมากิ Sashimaki 刺巻 แล้วเดินไปสักยี่สิบนาที. ไปก็ไป ไหนๆนั่งรถไฟชินกังเซ็งไปจากเมืองอะคิตะแล้ว. รถเมล์เล็กกว่ารถตู้บ้านเรา เป็นสายที่วนบริการผู้โดยสารหมู่บ้านต่างๆแถวนั้น นั่งได้ประมาณสิบกว่าคน ดีที่เป็นต้นทาง เพราะมีคนเกือบเต็ม ขึ้นๆลงๆไปตามทาง. เมื่อถึงสถานีซาชิมากิ คนขับจอดให้ลง. ดอกจันบนภาพข้างล่างนี้ คือป้ายรถเมล์.

ตรงตามที่เขาแนะมา ป้ายรถเมล์อยู่ตรงข้ามป้ายชื่อสถานีรถไฟ
นี่คือสถานีรถไฟที่เหมือนโรงเก็บของ เป็นสถานีที่เข้าไปอยู่ในสมุดประวัติศาสตร์แล้วมั้ง
แผนที่ที่เจ้าหน้าที่ให้มา บอกให้ข้ามถนนไปที่สถานีแล้วเดินย้อนลงไป มีอุโมงค์ลอดทางรถไฟ เดินออกไปสู่ทุ่งนา แล้วเดินไปบนถนนในทุ่งนานั้น ไปเรื่อยๆสักสิบห้ายี่สิบนาที.

ออกจากอุโมงค์ใต้ทางรถไฟ เห็นถนนลาดยาง เดินไปตามเส้นทางนี้เลย
 
 ป่าที่เห็น กำลังหายใจระทดระทวยในสายฝน เป็นป่าต้น alder ทั้งหมด
 มาถึงทางแยก ทางหนึ่งเข้าป่าไป ก็เลือกเดินบนเส้นทางสู่หมู่บ้าน
 ทุ่งดอกไม้จะอยู่แถวหมู่บ้านไกลๆที่เห็นข้างหน้าหรือเปล่านะ
 ทุ่งนาเหมือนคนหัวโกร๋น เหลือซากต้นข้าวที่ตัดไปแล้วเมื่อปีก่อน
มองกลับไปบนทางที่เดินมาแล้ว
เดินไปตามแผนที่ ไม่ต้องใช้จีพีเอส เพราะไม่มีอะไรให้สับสน คือทุ่งนาเท่านั้น ถนนที่คั่นพื้นที่นา ลาดยางอย่างดี เดินสบายๆ ไม่ต้องย่ำโคลมตมใด ภูเขาและป่าไม้แถบนั้นเป็นป่าไม้อัลเดอร์ (alder tree ญี่ปุ่นเป็นแหล่งป่าไม้สำคัญ มีต้นไม้หายากหลายพันธุ์ที่ญี่ปุ่นอนุรักษ์อย่างเคร่งครัด พวกเขาจึงต้องออกไปหาจากประเทศอื่นๆที่ยังไม่ฉลาดเท่า). ฝนตก ก็ตกไป ไม่เดือดร้อนเรานัก แม้จะเป็นคนเดียวในทุ่งกว้างนั้น. ในชีวิตข้าพเจ้าไม่เคยมีโอกาสเดินไปในท้องนาอย่างนี้ มีก็ที่ญี่ปุ่นเท่านั้นเมื่ออยากพเนจรไปไกลจากตัวเมือง. ฝนตกอากาศก็บริสุทธิ์ดีเช่นกัน สูดอากาศล้างปอดไปด้วย. เดินไปเรื่อยๆสิบกว่านาที ยังไม่เห็นมีดอกไม้อะไรสักดอกเลย ข้าพเจ้าคงเดินช้ากว่าคนญี่ปุ่น เวลาที่เขาบอกว่าสิบห้านาทีสำหรับคนญี่ปุ่น อาจเป็นครึ่งชั่วโมงสำหรับข้าพเจ้า  ยังได้อยู่ เพราะเส้นทางไม่ขึ้นๆลงๆเหมือนเดินเขา อย่างนี้กี่กิโลเมตรก็พอไหว ฝนตกก็สู้ไหว ไปคนเดียวก็ดีอย่างนี้ ไม่มีเวลาบีบบังคับใจ.
    ประเดี๋ยวหนึ่ง ได้ยินเสียงรถยนต์ตามหลังมา จึงหยุดให้รถผ่านไป แต่รถนั้นกลับหยุดตรงหน้า คนขับนั่งฝั่งขวา เปิดหน้าต่างฝั่งซ้ายลง เห็นหน้าชายวัยกลางคน ผิวคล้ำหน่อยๆ คนท้องถิ่นทำไร่ทำนาแถวนั้นมั้ง. เขาหยุด เลยต้องพูดสวัสดี ยื่นแผนที่ให้ดู ชี้บอกน้าคนนั้นว่า จะไปทุ่งดอกไม้นั้น. (ชื่ออะไรยังไม่รู้เลย รู้แต่ว่าดอกไม้สีขาวๆ จึงตั้งใจจะไปดูดอกไม้สีชมพูมากกว่า แต่ฝนทำให้ต้องมาดูดอกไม้ขาวแทน) น้าไม่พูดอะไร เปิดประตูด้านคนขับ ลงจากรถ ยกของที่ตั้งอยู่บนที่นั่งข้างคนขับ เอาไปไว้หลังรถ เลยเห็นว่ารถเป็นรถกะบะเล็ก แล้วน้าก็เปิดประตูด้านซ้ายให้ ข้าพเจ้าก้าวขึ้นไปนั่งแบบอัตโนมัติ ปิดประตู รถออกเดิน. เข้าใจกันโดยไม่ต้องพูดเลย. ข้าพเจ้าขอบคุณน้า รีบบอกว่ามาจากเมืองไทย มาคนเดียว(อาจจะเรียกร้องความเห็นใจโดยไม่ตั้งใจ) แล้วถามว่าจะไปใกล้ๆแถวนั้นหรือ น้าบอกว่าต้องไปทำอะไรที่นั่น. ข้าพเจ้าถามว่าที่ตรงนี้มีแท็กซี่ไหม เวลากลับข้าพเจ้าอาจต้องใช้แท็กซี่ไปสถานีรถไฟ. น้าบอกว่า จะเรียกแท็กซี่ให้ได้.  ถามว่าทุ่งดอกไม้นี้ขึ้นตามธรรมชาติหรือ น้าบอกว่าใช่. ไปรถยังต้องไปอีกเจ็ดแปดนาทีเลย. พอถึงที่นั่น น้าถามว่าจะเรียกรถแท็กซี่เดี๋ยวนี้ไหม ข้าพเจ้าบอกว่าขอเดินชมดอกไม้ก่อน น้าบอกว่า จะกลับเมื่อไหร่ ก็บอกเขาได้ เขาอยู่ตรงนั้นแหละ. 
สิ่งก่อสร้างเฉพาะกิจแบบกล่องไม้ขีดไฟ(ที่ติดดอกจัน) เป็นพื้นที่ขายผลิตภัณฑ์ของชุมชน ผัก อาหารถิ่นนั้น น้ำดื่ม เบียร์เป็นต้น
แล้วน้าก็จัดการเอาของลงจากรถเข้าไปในอาคารชั่วคราวที่ทำขึ้นเพื่อบริการคนมาชมสวน มีที่ขายผลิตภัณฑ์การเกษตรและอื่นๆของชุมชนนั้น เลยรู้ตอนนั้นว่า น้าเป็นกรรมการหมู่บ้าน. ทุกปีสหกรณ์ชุมชนร่วมกันจัดงานเล็กๆขึ้นเพื่อให้คนมาชมทุ่งดอกไม้ ที่มีชื่อญี่ปุ่นว่าหมิซึบ๊ะโฉ่ Mizubasho 水芭蕉 (อักษรตัวแรกแปลว่า น้ำ + อักษรสองตัวหลังหมายถึงกล้วยญี่ปุ่น) นอกจากขายผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน ยังมีบริการอาหารง่ายๆ ราคาถูก มีโต๊ะเก้าอี้และน้ำชาฟรีร้อนๆใต้เต็นต์ใหญ่ในบริเวณ แถมด้วยการแสดงรำพื้นบ้านของเด็กผู้หญิงลูกหลานของชุมชนสองคน กับวงดนตรีของผู้ใหญ่ในชุมชนนั้น จะมีคนนั่งดูกี่คนไม่สำคัญเท่ากับการแสดงสปิริตจิตอาสาร่วมกัน.

  ซุ้มอาหารง่ายๆ เช่นราเม็ง โอเด็ง ขนมเหนียวปิ้ง น้ำ เบียร์ ไอสกรีม. 
ตรงหัวคิวนี่สิ น่าสนใจ ขายเนื้อวัวของจังหวัดอะคิตะ ปิ้งเป็นไม้ๆ ไม้ละสามชิ้นเล็กๆ ไม้ละ 350 เยน. 
ท้ายคิวขายปลาย่างโรยเกลือนิดหน่อย เสียบย่างไฟทั้งตัวเป็นไม้ๆตามที่เห็น เป็นปลาน้ำจืดจากแม่น้ำ แต่กินจากไม้ไม่มีจานใส่นั้น ใต้สายฝน ไม่ง่ายนะ  คนที่ติดดอกจันคือน้าคนใจดีที่รับข้าพเจ้าขึ้นรถมา. เห็นซุ้มอาหารแบบนี้ ไม่อดตายแน่แล้ว ไปเดินชมดอกไม้ก่อน.

 หนูน้อยเด็กของชุมชน กำลังแสดงการร่ายรำพื้นบ้านบนเวที
ข้อมูลพร้อมกล่องใส่ความคิดเห็น อย่างน้อยก็มีส่วนที่เป็นภาษาอังกฤษให้
แผนที่เส้นทางเดินในหนองน้ำนั้น
เมื่อกวาดตามองไปทั่ว เห็นคนญี่ปุ่นมากับรถทัวร์ มาแวะที่นี่เหมือนกัน. นับว่าไม่น้อยเลยสำหรับวันฝนตกครึมๆอย่างวันนั้น เข้าใจว่าคงมาแวะเพื่อต่อไปเข้าเมืองขะคึโนะดาเตะ.  
ข้าพเจ้าลงไปเดินในหนองน้ำดอกไม้หมิซึบ๊ะโฉ่ ชุมชนที่นั่นร่วมกันทำทางเดินเป็นไม้กระดาน เดินไปรอบๆหนองน้ำอันกว้างใหญ่นั้น. กางร่มเดินตามลงไปเลย



















 ใบน่าจะกินเป็นผักสลัดได้นะ น่ากินจริงๆ






มองขึ้นไปบนไหล่ทางที่จอดรถ มีคนขับรถมาที่นี่ไม่น้อยในวันฝนตกอย่างนี้
อาคารทรงกล่องๆสีอิฐเหมือนตู้คอนเทนเนอร์ คือบริเวณร้านขายอาหาร. เห็นเต๊นต์ขาวสองหลังใหญ่ที่จัดให้คนนั่งกินอาหารและดื่มน้ำชา ชมการแสดงของชาวบ้านชุมชนนี้ไปด้วย. มีห้องน้ำบริการสามหลัง สุขาชายหนึ่ง สุขาหญิงสอง มีมุมให้ล้างมือครบ. ในบริบทของท้องนาและหนองน้ำที่อยู่ in the middle of nowhere เช่นนี้ ต้องนับว่าสุดยอดจริงๆ. เรื่องความสะดวกและความสะอาดของห้องน้ำ ข้าพเจ้าเชื่อว่าไม่มีที่ใดประเทศใดเทียบญี่ปุ่นได้.
ดอกไม้หมิซึบ๊ะโฉ่ของญี่ปุ่น เจาะจงชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lysichiton camtschatcence อยู่ในวงศ์ Araceae. ข้าพเจ้าเช้คดูภายหลังรู้ว่าในเมืองไทย ดอกไม้วงศ์เดียวกันนี้มีชื่อไทยว่าเดหลี เจาะจงชื่อวิทยาศาสตร์ไว้ว่า Spathiphyllum wallisei  เป็นดอกหน้าวัวไทย. ส่วนสายพันธุ์ตะวันตก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Symplocarpus foetidus และรู้จักกันในชื่อสามัญว่า skunk cabbage เจาะจงใช้คำว่า skunk ชื่อตัวเหม็น(ตัวเสนียด) อธิบายไว้ว่าเพราะมันมีกลิ่นเหม็นเหมือนเนื้อที่เริ่มเน่า จึงดึงดูพวกแมลงวันให้เข้าตอมและทำหน้าที่ผสมเกสรให้มัน. ดอกเดหลีของญี่ปุ่นและของไทย ไม่ปรากฏพูดถึงกลิ่น แต่เน้นว่ามีสรรพคุณวิเศษมาก. เว็บเพจไทย(blogging.com : ฟ้าใสวันใหม่) ระบุว่า “เดหลี เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งในจำนวน 31 ชนิดที่องค์การนาซ่าค้นพบว่า เป็นต้นไม้ที่สามารถฟอกอากาศได้อย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะคุณสมบัติในการขจัดมลภาวะจากสารเคมีพิษที่อยู่ในอากาศ เดหลีดูดสารพิษจำพวกแอลกอฮอล์ อาซีโตน ไตรคลอไร เอทธิรีน เบนซิน และฟอร์มัลดิไฮด์ได้ดี เดหลีใช้วิธีคายน้ำดูดก๊าซพิษที่อยู่รอบๆลงสู่ดิน  จุลินทรีย์ที่อยู่รอบๆรากจะเป็นตัวเปลี่ยนให้สารพิษเหล่านั้นกลายเป็นอาหารของพืช. ใบเดหลียังส่งกลิ่นที่ล่อแมลงวันทองที่เป็นศัตรูของผลไม้ เพื่อกำจัดต่อไป”
สายพันธุ์ตะวันตกแม้จะเหม็นแต่ชนชาวอินเดียนแดงเคยใช้มันเป็นยารักษาอาการปวดศีรษะ อาการไอ และในทศวรรษที่1800  มีบันทึกเจาะจงว่าพืชพันธุ์นี้ขายเป็นสมุนไพรแก้ปวด. ในญี่ปุ่น มีการนำดอกเดหลีมาทำไวน์แบบ sparkling wine หรือสาเกดอกไม้ (ว่ากันว่า)รสวิเศษนักสำหรับคอเหล้า ดังตัวอย่างที่เขาโฆษณาในเน็ต

พืชสายพันธุ์นี้ มีคุณสมบัติพิเศษคือสามารถคายความร้อน(thermogenesis) หมายความว่ามันปรับอุณหภูมิภายในของมันได้ เพื่อความอยู่รอดในสภาพอากาศที่ต่างกันมากระหว่างกลางวันและกลางคืนในเขตหนาว. ผิดจากพืชพรรณอื่นๆที่แห้งเหี่ยวและตายลง เมื่อสิ้นฤดูร้อนต้นเดหลีค่อยๆสลายตัวละลายลงในหนองน้ำที่มันอยู่ กลับคืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินโคลนตรงนั้น ส่วนเมล็ดที่ได้รับการผสมพันธุ์แล้วหล่นและจมลงสู่พื้นดินแม่ และเติบโตเป็นต้นใหม่ในฤดูถัดไป.
ข้าพเจ้ากลับขึ้นไปบนลานที่ขายของ บ่ายสองครึ่งแล้ว ยังไม่ได้กินอะไร เลยเข้าไปอุดหนุนซื้อขนมของชาวบ้าน แล้วมากินโอเด็งหนึ่งชามเล็ก ที่ประกอบด้วยลูกชิ้นปลาทรงยาวๆหนึ่งชิ้น เสียบด้วยไม้ต้มสุกแล้วแช่ในน้ำซุปร้อนๆ มากับบุกชิ้นใหญ่(บุกคือมันชนิดหนึ่ง-Konjac) และหัวไชเท้าต้มสุกชิ้นใหญ่(ไดก่ง Daikon大) ตามด้วยเนื้อปิ้งหนึ่งไม้. เนื้ออร่อยนุ่มไม่ติดมันมาก เนื้อญี่ปุ่นขึ้นชื่อว่าไร้เทียมทานอยู่แล้ว กินหมดไปหนึ่งไม้ ต้องไปซื้ออีกไม้มากินต่อ ลุงคนขายปลื้มมาก บอกว่าเป็นเนื้อถิ่นนี้เองแหละ เรานั่งกินไปดูการแสดงของเด็กผู้หญิงสองคน ฟังดนตรีพื้นบ้าน คนเริ่มน้อยลงแล้ว เพราะกลุ่มที่มาเป็นคณะเขามีเวลาให้เดินที่นั่นสามสิบนาที ก็ต้องเดินทางต่อไปเที่ยวที่อื่น. จริงๆแล้วงานพื้นบ้านแบบนี้ คนที่ไปเป็นกลุ่ม ไม่มีเวลาได้สัมผัสอะไรจริงจังหรือเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อุดหนุนชุมชนนัก การไปตั้งขายที่นั่นมิใช่เพื่อทำเงิน แต่เพื่อบริการมากกว่า. วันนั้นกว่าจะไปถึงเมืองโหม่ริโอกะ Morioka ได้กินอาหารมื้อเต็มๆพร้อมข้าวก็ห้าโมงเย็นแล้ว.
ข้าพเจ้ายืนดูแผ่นป้ายที่ระบุวิสัยทัศน์ของชุมชนนี้ ที่หวังให้คนที่ไปเยือนได้เก็บเกี่ยวความทรงจำดีๆกลับไปด้วย ก่อนจะขึ้นรถแท็กซี่ที่น้าคนใจดีโทรเรียกให้
ข้าพเจ้าได้เก็บความทรงจำดีๆจากการไปเดินชมหนองน้ำดอกหมิซึบ๊ะโฉ่. ในชีวิตเกือบเจ็ดสิบปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้าไม่เคยมีโชคลาภทางทรัพย์สินเงินทองโดยไม่ต้องทำงาน แต่ข้าพเจ้าได้รับความเอื้อเฟื้อช่วยเหลือจากคนแปลกหน้าที่ได้พบเห็นบนเส้นทางชีวิตของข้าพเจ้าบ่อยๆเสมอ เรื่องเล็กเรื่องน้อยทั้งหลายที่ผนึกเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับบรรยากาศของสถานที่แต่ละแห่งที่ข้าพเจ้าเดินทางไปสัมผัส ข้าพเจ้าถือว่านี่เป็นโชคดี เป็นยาวิเศษที่มาต่อกำลัง เป็นความงามที่มาผลักดันให้เดินทางต่อไป  โลกนี้ยังมีอะไรสวยๆงามๆแบบต่างๆทั้งภูมิประเทศ พืชพรรณ สัตว์และคน ที่ทำให้อยากอยู่ อยู่เพื่อทำลายอคติใดๆ อยู่เพื่อยืนยันสรรเสริญสิ่งที่ดีที่งามต่อไป อยู่เพื่อสะสมความดีทั้งต่อตัวเองและต่อผู้อื่น
      ข้าพเจ้าขอให้รถแท็กซี่ไปส่งสถานีรถไฟที่ใกล้ที่สุด ที่จะมีรถไฟต่อไปถึงเมืองโหม่ริโอกะ เพื่อค้างคืนที่นั่น  คนขับพาไปที่สถานีถะซาว่า Tazawa คุยกับคนขับจึงรู้ว่า เมื่อน้าเรียกรถนั้น เขาคอยอยู่ที่สถานีถะซาว่า เขาตีรถเปล่าไปรับข้าพเจ้าที่ทุ่งดอกไม้หมิซึบ๊ะโฉ่ แล้วพากลับไปที่สถานีแห่งนั้น เป็นสถานีใหญ่ จากสถานีนี้มีรถไปเที่ยวรอบทะเลสาบ ถะซาว่าโกะTazawa-ko田沢湖 เมืองนี้จึงน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเที่ยวแถบนี้ที่ดีที่สุด. เมื่อไปถึงสถานี มิเตอร์ขึ้นที่ 2350 เยน ข้าพเจ้าให้น้าคนขับไป 2500 เยน ยกมือไหว้ ขอบคุณและบอกว่าเป็นเซอวิสนิดหน่อยที่เขาอุตส่าห์ไปรับและพามาส่งที่นี่ สะดวกมาก เพราะมีรถไฟชินกันเซ็งไปถึงเมืองโหม่ริโอกะเลย น้ายิ้มขอบคุณ ไม่ใช่เพราะจำนวนเงินเพียง 150 เยนที่แถมให้หรอก แต่เพราะภูมิใจที่ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเรียบร้อยและเราชื่นชมเขา. โอกาสหน้าไปประจำที่เมืองนี้แล้วออกชมธรรมชาติแถบนั้น.
บนพื้นชานชาลา มีภาพวาดพร้อมรูปปั้นมีชื่อที่เป็นสัญลักษณ์ของทะเลสาบถะซาว่าโกะ
สถานีนี้ดีมาก มีบันไดเลื่อนขึ้นลงทุกชานชาลา สะดวกกับเราชราชน
 
โปสเตอร์โฆษณาการท่องเที่ยวข้างบนนี้ บอกให้รู้ว่า นี่เป็นแดนของทะเลสาบ(ตัววาดซ้ายสุดสีฟ้าๆ) แดนของน้ำพุร้อน(ตัวตรงกลาง สีแดงส้มๆ) และแดนของภูเขาเขียวกับไม้ดอกหลายชนิด(ตัวขวาสุด) สรุปแล้วเป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่น่าสนใจ. ระหว่างคอยรถชินกังเซ็ง ได้มีโอกาสถ่ายภาพหัวขบวนชินกังเซ็งสายอะคิตะ ที่เชื่อมภาคเหนือกับกรุงโตเกียวและหรือภาคกลางของเกาะฮอนชู สายนี้เปิดเดินรถมาครบยี่สิบปีปี2017 ตามสถานีรายทางที่สายนี้ผ่าน มีนิทรรศการแสดงวิวัฒนาการของการเดินรถไฟความเร็วสูง หัวรถไฟแบบต่างๆของชินกังเซ็งเป็นต้น.
 หัวรถไฟสีสดใส ต่างสีอาจบอกรุ่นที่ออกมา
 บังเอิญมาจอดข้างกัน เหมือนหัวแฝด

เจ้าหน้าที่ยืนที่ประตู คอยดูความเรียบร้อย ได้เข้าไปคุยด้วยเกี่ยวกับโลโก้ของชินกังเซ็งสายเหนือนี้ แสดงความยินดีว่า คนออกแบบโลโก้นี้เก่ง มันสวยประทับใจข้าพเจ้ามาก.
นกฟีนิกส์หางยาวหลากสีทอดไปในอากาศอย่างอ่อนช้อย เป็นท่าเหินบินที่งามสง่าและ effortless. ตรงลำตัวระหว่างปีก เป็นแผนที่ญี่ปุ่นสีขาว ที่แทรกเข้าไปได้อย่างเหมาะเจาะบนตัวนก. ภาคเหนือของเกาะฮอนชูหรือที่เรียกว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือ โทฮกกึ (Tokuku東北) เป็นสีเหลืองทอง เจาะจงพื้นที่เดินรถหลักๆของชินกังเซ็งสายนี้ (ปัจจุบันยังเชื่อมต่อไปถึงเกาะฮ็อกไกโดด้วย). การใช้นกฟินิกส์เป็นผู้นำล่องเส้นทางรถไฟของชาติ ให้นัยความหมายที่รวมทั้งความเร็ว พื้นที่บริการ ความปลอดภัย ความสง่างามและความยั่งยืนยงของเส้นทางหรือของการบริการ (นกฟีนิกส์เป็นนกสวรรค์ที่ไม่รู้ตาย). ข้าพเจ้ามองดูเจ้าหน้าที่สตรีที่ทำงานกับรถไฟชินกังเซ็ง ยอมรับว่า พวกเธอได้รับการคัดเลือก ได้รับการฝึกจนเป็นภาพลักษณ์ของความอ่อนโยน ความใจเย็น การมีอารมณ์คงที่สม่ำเสมอและความเรียบร้อยสะอาดตาญี่ปุ่นอบรมคนญี่ปุ่นด้วยกันให้มีประสิทธิภาพที่สุด  สร้างภาพลักษณ์ที่ประทับใจแก่ทุกผู้ทุกนามโดยเฉพาะแก่ชาวตะวันตก. ขอคารวะ.
ไปถึงเมืองโหม่ริโอกะ เดินออกจากสถานีรถไฟ บนทางเดินภายในสถานีเอง ก็มีอะไรให้สังเกตที่น่ารักไม่น้อย มีส่วนที่เกี่ยวกับศิลปวัตถุสำคัญของเมือง แต่ที่โดดเด่นมากคือข้อมูลเกี่ยวกับอาหารการกินของชาวเมืองนี้ ดังตัวอย่างภาพข้างล่างนี้  ดูเหมือนจะทำเป็นแผ่นยางสติ๊กเกอร์ แปะติดลงบนพื้นทางเดินเลย ไม่เลวจริงๆ
เนื้อหาในโปสเตอร์ ใช้ถ้วยซุปหรือชามก๋วยเตี๋ยวไม้ แบบญี่ปุ่น 
ร่วมฉลองเส้นทางชินกังเซ็งโทฮกกึ แต่ละชามไม่เหมือนกัน อาหารอะไรบ้าง ตามไปชิมเลยที่ร้าน


เหมือนจะแนะนำเมนูอาหารให้ผู้ไปเยือน ลงจากรถไฟ ก็เห็นบนทางเดิน 
สะกิดให้นึกทันทีว่า อยากกินอะไร เรื่องกินเรื่องใหญ่

บันทึกเดินทางของโชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๖๐.

นำภาพดอกไม้นี้สายพันธุ์ยุโรปอเมริกา เช่นภาพนี้จากสวนพฤกษศาสตร์กรุงแบร์ลิน เจาะจงชื่อวิทยาศาสตร์ไว้ว่า Lysichiton americanum สีเหลืองสดใสทีเดียว เขาเอาไปทำไวน์ดอกไม้ไหม ไม่มีข้อมูล. สายพันธุ์เดียวกับญี่ปุ่น คนละสายพันธุ์กับดอกเดหลีไทย
ข้อมูลสมทบ
1. อ่านข้อมูลละเอียดเรื่องดอกเดหลีได้จากจากเว็ปเพจของ

2. ชุมชนซาชิมากิ (Sashimaki 刺巻) อยู่ในเมืองเซ็มโบ๊ะกึ (Senboku 仙北市) มีสถานที่สวยงามตามธรรมชาติหลายแห่งที่น่าไปเที่ยวโดยเฉพาะรอบๆทะเลสาบถะซาวาโกะ (Tasawa-ko 田沢) ที่ใดบ้างนั้น เช้คเข้าไปได้ในเพจนี้ >> http://www.city.semboku.akita.jp/en/index.html

3. เมืองขะคึโนะดาเตะ Kakunodate มีชื่อว่าเป็นที่ชมซากุระที่สวยที่สุดหนึ่งในสามแห่งของภาคเหนือ เดินใต้ต้นซากุระกว่าสี่ร้อยต้นเลียบฝั่งแม่น้ำฮิโนขินัยคะหว้า Hinokinai 桧木内เป็นเส้นทางยาวสองกิโลเมตร ดังภาพข้างล่างนี้ที่ทำให้ต้องตามไปดู เขาคุยว่าแต่ละปีมีคนไปที่นั่นราวล้านคน
แต่ปลายเมษายนปี2017นี้ ที่นั่นยังไม่มีดอกเลย จึงจำต้องเดินใต้กิ่งโหลนๆโกร๋นๆไป ใช้จินตนาการสร้างดอกไม้ให้ลู่ลงพริ้วไปกับสายลม เป็นทางยาวเหมือนอุโมงค์.
นี่คือภาพจริงวันเวลาจริงปีนี้ปลายเมษา
 ความจริงชาวเมืองเตรียมทุกอย่างพร้อมแล้ว เต๊นต์ขายอาหารเครื่องดื่มหรือของขบเคี้ยว
ร้านค้าบนถนนที่เลียบแม่น้ำ ติดป้ายเทศกาลชมดอกซากุระกันแล้ว
ต้นซากุระริมฝั่งแม่น้ำนี้เป็นสายพันธุ์โซเมอี โยชิโหน่ somei yoshino 吉野山の山桜 สีขาวปนสีชมพูอ่อนๆ. นอกจากเดินชมใต้ต้นริมฝั่งแม่น้ำ ในเมืองขะคึโนะดาเตะ ยังมีเขตเมืองเก่าเรียกกันว่าเขตซามูไร เป็นเขตที่อยู่ของซามูไรขุนนางชั้นสูงในสมัยเอโด Edo Period (1603-1868) วิลลาแต่ละแห่งประชันกันในเรื่องการปลูกสวน ปลูกต้นไม้สวยๆ อันมีต้นเมเปิล ต้นกิงโก้(Ginkgo) ต้นซีดาร์(Cedar) และต้นซากุระพันธุ์กิ่งลู่ลงเป็นระย้าที่เหล่าขุนนางนำจากจังหวัดเกียวโตไปปลูกที่นั่น. จนบัดนี้ ต้นไม้เหล่านี้มีอายุหลายร้อยปี ทำให้เขตซามูไรนี้ สวยงามยิ่งนัก ทั้งในยามซากุระบานและในยามใบไม้เปลี่ยนสีก่อนย่างเข้าฤดูหนาว และนี่เองเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวเป็นแสนเป็นล้านคนทุกปี.
ปลายเดือนเมษายนปี2017 ในเขตซามูไร ต้นซากุระออกดอกตูมแล้ว
ต้นซากุระสายพันธุ์ somei yoshino 吉野山の山桜 ดอกสีขาวปนสีชมพูอ่อนๆ ขึ้นเต็มภูเขาโยชิโหน่ ในจังหวัดนารา และได้รับการจัดอันดับว่าเป็นจุดสุดยอดสำหรับการชมซากุระในญี่ปุ่น ดูคลิปเทศกาลบวงสรวงป่าเขาที่นั่นในยามต้นฤดูใบไม้ผลิและบรรยากาศในยามฤดูใบไม้ร่วง >> https://www.youtube.com/watch?v=qtq1dX0zWNQ
พื้นที่บริเวณภูเขาโยชิโหน่และปริมณฑลรอบข้างรวมกันเป็น Yoshino-Kumano Kokuritsu Kōen 吉野熊野国立公園 เริ่มตั้งเป็นเขตอุทยานแห่งชาติในญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 1936 และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโกในปี 2004.
4. พื้นที่ชมดอก dogtooth violet อยู่ตะวันตกของจังหวัดอะคิตะ รายละเอียดในเพจนี้ >>
นี่คือโปสเตอร์โฆษณา ที่ทำให้อยากไป
ข้อมูลในภาษาญี่ปุ่น ระบุว่า  かたくり群生の郷開園 西木町 小山田字八津・鎌  เจาะจงว่า จากสถานีขะคึโนะดาเตะ Kakunodate จับรถไฟท้องถิ่นไปลงที่สถานียัตสึ Yatsu-八津駅 เดินต่อไปห้านาทีก็ถึงสวน. ดอกไม้นี้เป็นพืชคลุมดิน ที่นั่นเป็นป่าต้นเกาลัด (Saimyoji chestnuts) พื้นป่าทั้งหมดปกคลุมด้วยไวโอเล็ตชื่อแปลกนี้ เป็นสีชมพูอมม่วง  ที่นั่นดอกบานตั้งแต่กลางเดือนเมษายน.
ดอกไม้ที่มีชื่ออิงคำไวโอเล็ตนี้ ในความเป็นจริง ไม่เกี่ยวกับดอกไวโอเล็ตเลย แต่อยู่ตระกูลดอกลิลลี ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Erythronium dens-conis ขึ้นทั่วไปในยุโรป แถบรัสเซียตะวันออกและในญี่ปุ่น.
 จากอินเตอเน็ต เห็นมีดอกสีเหลืองด้วย


No comments:

Post a Comment