Wednesday 27 September 2017

สำคัญที่หน้ากาก Masks masking

ไปจังหวัดอะคิตะ Akita ปีนี้ ตั้งใจไปชมพิพิธภัณฑ์สองสามแห่งในภาคเหนือของญี่ปุ่น  แห่งหนึ่งคือพิพิธภัณฑ์ Namahage Museum なまはげ [หนะม้าฮาเกะขั่ง]ที่เมือง Oga-shi 男鹿市 [โอ่ก๊าฉิ] บนคาบสมุทรทิศตะวันตกของจังหวัดอะคิตะ. ที่นั่นรวมข้อมูลเกี่ยวกับประเพณียักษ์ Namahage 生身剥 [หนะม้าฮาเกะ] ที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของจังหวัดอะคิตะ. ประเพณีนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมพื้นบ้านที่สำคัญของญี่ปุ่น เจาะจงไว้เป็นภาษาอังกฤษว่า Intangible Folk Cultural Property. จากเมืองอะคิตะ มีรถไฟไปถึงเมือง Oga เป็นรถไฟธรรมดาใช้เวลากว่าหนึ่งชั่วโมง (ค่ารถไฟเที่ยวเดียว 780 เยน).
 ในสถานีรถไฟเมืองอะคิตะ มีหน้ากากยักษ์ใหญ่สองอันประดับบนกำแพง
ทางไปชานชาลารถไฟสายคาบสมุทร สู่เมือง Oga
ตามหน้าต่าง ติดธงปลาคาร์ปเตรียมรับเทศกาลวันเด็ก
(こどもの日 Kodomo no Hi วันที่ ๕ พฤษภาคมของทุกปี)
รถไฟที่ไปเมือง Oga ติดโลโก้หน้ายักษ์ของเมืองด้วย
ลงจากรถไฟ สถานีเล็กๆ มีคนน้อยมาก มองจากหน้าสถานี ร้านอะไรทั้งหลายปิดเงียบหมด วันนั้นเป็นวันเสาร์ แปลกใจเพราะสุดสัปดาห์น่าจะเป็นเวลาคึกคักที่คนสัญจรท่องเที่ยวมาเยือนเมืองนี้.
ที่สถานี Oga  มีหุ่นหน้ายักษ์
ป้ายต้อนรับที่สถานี Oga มีแท่นให้ยื่นหน้าเข้าไปถ่ายรูป
มีวีดีโอเกี่ยวกับสถานที่น่าเที่ยวของเมือง
ชายฝั่งของแถบเมือง Oga มีหินรูปลักษณ์แปลกๆและกลายเป็นโลโก้ของเมือง Oga
หมาน้อยยืนจ้องหินที่เหมือนเสือหรือสิงโต เป็นหมาพันธุ์พิเศษของอะคิตะ
สุนัขสายพันธุ์ Akita 秋田犬[อะคิตะ อีหนึ]
ภาพของ Biser Yanev (Own work), 14 April 2017.
[CC BY-SA 4.0 (http://creativecommons.org/licenses/by-sa/4.0)], via Wikimedia Commons.

พิพิธภัณฑ์อยู่ไกลจากสถานีมาก รู้จากเน็ตก่อนแล้วว่า จากสถานีต้องไปแท็กซี่ ไม่มีทางอื่น. นั่งไปเกือบสามสิบนาที รถลัดเลาะผ่านป่าเขาลำเนาไพรไปจริงๆ ถือว่าชมภูมิประเทศไปด้วย เกือบไม่มีรถสวนทางเลย ไปถึงที่นั่นมิเตอร์ขึ้น4,800¥.
บริเวณหน้าพิพิธภัณฑ์ มีประติมากรรมทรงกลม ใต้ต้น Cypress
ประดับด้วยชิ้นเซรามิคขนาดเล็กๆ ต่อกันเป็นลวดลายหลากสี
อาคารพิพิธภัณฑ์ Namahage
ยักษ์อีกตัวตรงประตูทางเข้า ข่มขู่กันจริง
ในห้องโถงส่วนหน้า มีมุมคอมพิวเตอร์ให้หาข้อมูลต่างๆ
ภาพแสดงเครื่องมือที่ใช้ในการเกษตรและการเก็บเกี่ยวฟางข้าวของถิ่นนั้น
แบบเรือของถิ่น ขูดและแกะจากไม้ซุงทั้งต้น
ห้องโถงใหญ่พร้อมจอหนัง ฉายสารคดีธรรมเนียมยักษ์มาเยือนบ้านชาวนาในถิ่นนั้น
หนังยาวสิบห้านาที เริ่มใหม่ทุกครึ่งชั่วโมง
รอบๆกำแพง ภาพวาดและแท่นข้อมูล
ยักษ์ในภาษาญี่ปุ่นว่า Oni [โอ่นิ]  ถือกันว่า คือเทพที่สถิตบนเขาสูง ปลอมแปลงตนเป็นยักษ์มาสำรวจความประพฤติของชาวบ้าน ปรากฏตัวในช่วงปลายปีก่อนขึ้นปีใหม่
ยักษ์มาข่มขวัญเด็กๆ ขู่กำชับให้เป็นเด็กดี เชื่อฟังพ่อแม่
มิฉะนั้นจะโดนฟาดฟัน
เจ้าบ้านต้องรีบเซ่นไหว้ อาหารและเครื่องดื่ม
รูปปั้นยักษ์ ตัวอย่างหน้ากากสี่แบบ
ยักษ์สวมเสื้อคลุมยาวทำจากฟางข้าว สนับแขนคลุมจากศอกถึงข้อมือ รองเท้าแตะ สนับเพลาปิดจากส้นเท้าถึงหัวเข่า หน้ากากแกะจากไม้(ส่วนใหญ่จากต้นไซเพรส มีน้ำหนักเบามาก) นอกนั้นยังใช้กิ่งไผ่ที่เหลาเป็นซี่เรียวๆเล็กๆเป็นต้น ถังน้ำไม้  มีดพร้า มีดยาว ไม้ด้ามยาวประดับด้วยกระดาษสีขาวตัดลวดลายหยักๆ(ที่เห็นติดตามศาลเจ้าในญี่ปุ่น)
รองเท้าแตะฟางข้าว ของยักษ์ Namahage
ธรรมเนียมเล่ากันมาว่า ก่อนวันสิ้นปี มียักษ์สามสี่ตนโผล่มาเยือนทุกบ้านในหมู่บ้าน ทุบประตูบ้านโครมๆ ท่าโมโหโกรธา กวาดตามองหาคนที่ประพฤตินอกลู่นอกทาง จับมาลงโทษ เช่นใครขี้เกียจหลังยาว ไม่ช่วยงานนางานบ้าน ลูกสะใภ้ของบ้านที่ไม่เคารพยำเกรง หรือไม่ปรนนิบัติพ่อแม่ เด็กเกเรที่ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ หากมีเด็กเกิดใหม่ในบ้านก็จะรี่เข้าไปอุ้มเด็กจากอกพ่อแม่ทำทีจะพรากไปจากครอบครัว เด็กร้องไห้จ้าด้วยความกลัว พ่อแม่ต้องดึงตัวลูกกลับมา บอกว่าจะเพียรสั่งสอนให้ลูกเป็นคนดี. ถ้าเจ้าของบ้านบอกว่าทุกคนขยันขันแข็งช่วยเหลือกันดี ยักษ์จะดึงสมุดบันทึกลับออกมาตรวจดูว่าเป็นเช่นนั้นจริงไหม ขู่กำชับอย่าได้ปิดบัง เหิมเกริมทำชั่วใดๆ เพราะยักษ์รู้เรื่องราวทุกคนของหมู่บ้าน ยักษ์มองเห็นจากภูเขาเข้าไปในทุกครัวเรือน. เจ้าของบ้านรีบนำอาหารและเหล้ามาบริการให้ยักษ์หายโกรธ ยักษ์อารมณ์ดีขึ้น ซักไซ้ไล่เลียงเกี่ยวกับการเกษตรว่าเจริญงอกงามให้ผลดีอยู่ไหมในปีที่กำลังจบลง แล้วให้ศีลให้พร ให้มีอาหารอุดมสมบูรณ์ มีปลาในน้ำและข้าวในนาสำหรับปีต่อไป. การมาเยือนของเทพเจ้าแห่งขุนเขาในร่างของยักษ์ ถือกันว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี. ธรรมเนียมที่เล่ามาปัจจุบันจัดเป็นงานฉลอง Namahage หรือなまはげ祭り
ชื่อ Namahage เข้าใจว่ามาจากคำ 生身剥 ที่แปลว่า ถลกหนัง เจาะจงด้วยว่า ชาวบ้านมีผิวสีคล้ำๆเนื่องจากนั่งจับกลุ่มใกล้เตาถ่านที่จุดให้ความร้อนในฤดูหนาว เช่นนี้จึงมีผิวหนังหนาและดำ โดยเฉพาะส้นเท้า แขน ขา ยักษ์จะมาถลกหนังเสียพวกนี้ออก. เข้าใจว่าต้องการโยงไปถึงนัยของการขจัดสิ่งไม่ดีไม่งามออกไปจากความประพฤติและอุปนิสัยใจคอ.
    ตั้งแต่ปี 1964 ธรรมเนียมยักษ์มาเข้าบ้านชาวนา(Sato no Namahage) ได้เข้ารวมกับการฉลอง Saitousai 柴灯 (เทศกาลจุดไฟร่ายรำรอบกองไฟกองใหญ่)ของชินโต จัดร่วมกันที่ศาลเจ้า Shinzan 真山神 ในเมือง Oga รวมเป็นเทศกาลชื่อ Namahage Sedo Festival(なまはげ柴)จัดขึ้นสามวันติดต่อกัน(ศุกร์ เสาร์และอาทิตย์) สัปดาห์ที่สองของเดือนกุมภาพันธ์ ให้เป็นเทศกาลฉลองปีใหม่ของชุมชนไปด้วยเลย จึงมิได้อยู่เฉพาะในบ้าน แต่ในสนามโล่งใหญ่(ติดเชิงเขา) มีอัฒจันทร์ให้คนนั่งดู. นอกจากการเต้นรำรอบกองไฟ ยังมีการแสดงรำพื้นเมือง (kagura dance 神楽 かぐらที่เชื่อว่าเป็นต้นแบบของศิลปะการแสดงละคร Noh) ตามด้วยการแสดง Namahage (กระบวนการข่มขู่ซักไซ้ไล่เลียงครอบครัวชาวนา และการพรากเด็กเกเรไปจากพ่อแม่ ดังที่เล่ามาข้างต้น) หลังจากนั้นกลุ่มยักษ์แสดงการรำตีกลอง (Daiko - กลองใหญ่) อย่างสนั่นหวั่นไหว. ดนตรีที่ใช้ในการแสดงของกลุ่มยักษ์นี้ Baku Ishii นักแสดงกับลูกชาย Kan Ishii ผู้ประพันธ์ เป็นผู้ริเริ่มขึ้นเพื่อเทศกาลนี้โดยเฉพาะ และกลายเป็นต้นแบบลีลาการแสดงของยักษ์มือกลอง (Namahage-Daiko). งานจบลงด้วยภาพอันประทับใจที่มีกลุ่มยักษ์ราวสิบห้าคน ถือคบเพลิง เดินลงจากภูเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะ มาร่วมวงในที่นั้น และเป็นผู้แจกขนมโมจิแก่ทุกคน. เทศกาล Namahage Sedo Festival เป็นหนึ่งในเทศกาลฤดูหนาวที่สำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น (โทฮกกึ)
ทีมยักษ์มือกลองได้ไปแสดงที่สถานีรถไฟอะคิตะเมื่อวันที่ ๑ มกราคมปี2010. ภาพนี้ของ kanegen (Flickr: Happy New Year 2010!) [CC BY 2.0 (http://creativecommons.org/licenses/by/2.0)], via Wikimedia Commons.
       เทือกเขาสำคัญสองเทือกในภาคเหนือญี่ปุ่น คือ Honzan 本山[ฮ่นซัง] และ Shinzan 真山[ชิงซัง] ถือกันมาแต่โบราณว่าเป็นที่สถิตของเทพเจ้า จึงคิดว่าเหล่ายักษ์ผู้ลงมาจากภูเขา คือเทพเจ้าแปลงตัวเป็นยักษ์ลงมากำราบปราบคนไม่ดีและอวยชัยให้ศีลให้พรแก่คนดี. อย่างไรก็ดี ต้นตอของธรรมเนียมยักษ์มาเยือนบ้านคนนั้น (Sato no Namahage) ไม่ชัดเจนและไม่มีหลักฐาน เพียงแต่เล่ากันมาว่า อาจเป็นยักษ์/เปรตผู้รับใช้ Han Wu Ti จักรพรรดิจีน(สิ้นพระชนม์ปีที่ 87 BC) มาทำลายล้างหมู่บ้าน. อีกหนึ่งตำนานเล่าว่า เป็นกลุ่มชาวต่างชาติที่เรือแตกมาขึ้นฝั่งบนเกาะญี่ปุ่น. ชาวบ้านอยากเชื่อว่าคือเทพเจ้าปลอมตัวลงมาจากเขา หรือคือนักพรตหน้าตาแปลกๆที่จำศีลภาวนาอยู่ในภูเขา.
ไม่ว่าจะมีที่มาอย่างไร ธรรมเนียมยักษ์มาเยือนบ้านชาวนา แพร่หลายไปในชุมชนกว่าแปดสิบแห่งบนคาบสมุทร Oga ดังที่แสดงไว้บนแผนที่ข้างล่างนี้
ขนบความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้าว่ามาเยือนครอบครัวนั้นมิได้หยุดอยู่ที่เมือง Oga เท่านั้น แต่แพร่หลายไปทั่วทั้งญี่ปุ่น เมื่อดูแผนผังชุมชนที่ยอมรับขนบนี้จะเห็นว่า ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ ภาคใต้ของเกาะฮอนชู และเกาะคิวชูดังแผนผังข้างล่างนี้
ประเพณี Namahage นี้ปรากฏบันทึกหรืออ้างถึงในหนังสือของนักวิจัยด้านคติชนวิทยาตั้งแต่ศตวรรษที่19 เช่นในเอกสารงานเขียนของ Masumi Sugae.
ภาพขยายใหญ่ ทำให้เห็นคนหนึ่งถือถาดขนมโมจิ ไปเสนอแก่ยักษ์
ในห้องโถงนิทรรศการอันกว้างใหญ่ รวมหน้ากากและเครื่องแต่งกายจากชุมชนต่างๆกว่า60 แห่งบนคาบสมุทร Oga (มีหน้ากากจากชาติอื่นบ้างสองสามชิ้นเช่นจากเกาะบาหลี). หน้ากากทั้งหลายแกะจากไม้ และวัสดุอื่นๆของท้องถิ่น. เครื่องแต่งกายชุดฟางข้าวนั้น ทำด้วยมือ ทำใหม่ทุกปีสำหรับเทศกาล Namahage.
    ผู้แสดงเป็นยักษ์ Namahage แต่ละปีนั้น เป็นหนุ่มโสด คนในชุมชน เป็นคนที่ชาวบ้านรู้จักมักคุ้น. เดี๋ยวนี้คนไม่เชื่อเรื่องเทพเจ้าปลอมตัวมาเป็นยักษ์ แต่การตั้งพิพิธภัณฑ์อนุรักษ์คติชนพื้นบ้านที่เคยมีมานั้น เป็นสิ่งที่ชาวบ้านให้ความร่วมมืออย่างดีเช่นเดียวกับการจัดแสดงการมาเยือนของ Namahage บนเวที เปิดให้สาธารณชนเข้าชมได้ใน Oga Shinzan Folklore Museum ที่ตั้งอยู่ติดกับพิพิธภัณฑ์นี้ (ดูภาพในตอนท้ายเรื่อง) การจัดฉากและการแสดงก็เป็นไปตามที่เล่ามา.
เด็กๆก็ยังไม่เข้าใจดีนัก พอยักษ์เข้ามาดุตะคอกว่า เคยดื้อดึงไม่เชื่อฟังพ่อแม่ใช่ไหม แล้วเข้าไปยึดตัวเด็กจากพ่อแม่ เด็กก็ร้องไห้จ้า พ่อแม่ก็ทำท่าอ้อนวอนดึงลูกคืน(แม้จะแอบหัวเราะในใจ). เด็กที่ผ่านประสบการณ์แบบนี้ คงจำไปจนตาย วัยนั้นกลัวจริงๆว่าจะถูกยักษ์พรากไปจากพ่อแม่. วิธีการกำราบให้เด็กอยู่ในโอวาทแบบนี้ ไม่น่าจะดี สร้างความกลัวที่ไม่เลือนไปจากความทรงจำของเด็ก ดีหรือที่จะให้ลูกเชื่อฟังเพราะความกลัว แทนการใช้เหตุผลสอน ดูหน้าเด็กแล้วน่าสงสารมาก ดังภาพข้างล่างนี้ที่เกิดขึ้นจริงในการแสดงแต่ละครั้ง
ภาพซ้ายจากเพจ scmp.com
ภาพขวาจากเพจ matome-naver.jp
เชิญชมภาพตัวอย่างหน้ากากและหุ่นยักษ์แบบต่างๆที่พิพิธภัณ์รวมมาไว้ แต่ละตัวเป็นแบบ Namahage ที่เคยใช้มาแล้วจากชุมชนต่างๆบนคาบสมุทร Oga.
 

 
 
 

 
 
 
 
 


Namahage กับสุนัขอะคิตะ
ทั้งสองเป็นมรดกสำคัญของจังหวัดอะคิตะ เมื่อมีพิพิธภัณฑ์ Namahage ก็ต้องมีพิพิธภัณฑ์สุนัขอะคิตะด้วย เขามีสมาคมอนุรักษ์สายพันธุ์สุนัขอะคิตะที่ตั้งมานานกว่าห้าสิบปีแล้ว และสถาปนาพิพิธภัณฑ์สุนัขอะคิตะในวาระที่ครบห้าสิบปีของสมาคม  มีรายละเอียดเกี่ยวสุนัขสายพันธุ์นี้ รวมเรื่องราวน่ารักๆของสุนัขอะคิตะในชีวิตของคน. พิพิธภัณฑ์ The Akita Dog Museum ตั้งอยู่ที่ Sannomaru 13-1, Odate City, Akita Prefecture.
ก่อนออกจากพิพิธภัณฑ์ ผ่านไปมุมหนึ่ง มีเจ้าหน้าที่คนเดียวในพิพิธภัณฑ์ คงมองตามทุกอิริยาบถของข้าพเจ้าที่ก็เป็นคนเดียวในนั้นเหมือนกัน  มีชาวญี่ปุ่นอีกสองคนแวะเข้าไป อยู่ไม่ถึงสิบนาทีก็หายตัวไปแล้ว ไม่มีเด็กไม่มีใครจะพูดหรือเล่นด้วย เห็นข้าพเจ้ายังน่าเกลียดไม่พอ เอาหน้ากากมาให้สวมดู แล้วขอกล้องข้าพเจ้าไปเพื่อถ่ายรูปให้  อาจอยากให้ข้าพเจ้าสวมเสื้อคลุมฟางด้วย และทำท่าข่มขู่ให้เหมือนยักษ์ Namahage  แต่คงคำนวญแล้วว่า ตัวอย่างเสื้อฟางที่มีตรงนั้น สั้นไปแน่นอนสำหรับข้าพเจ้า จึงมิได้คะยั้นคะยอ.

เฮ้ย! เจ้าว่านอนสอนง่ายหรือเปล่า บอกมาตามตรง!
หนูกินง่ายนอนง่าย เชื่อฟังสัญชาตญาณของตนเองเสมอค่ะ

 เสาไฟฟ้าตรงหน้าพิพิธภัณฑ์ ก็ยังมีรูปยักษ์ถือตะเกียง
ออกมานอกอาคารพิพิธภัณฑ์ เป็นอาคารชั้นเดียว
ใกล้ๆกันมีศาลเจ้า แผนผังบอกที่ตั้งของศาลเจ้า Shinzan
อาคารที่เห็นนี้อยู่ติดพิพิธภัณฑ์ เป็นที่จัดแสดงประเพณียักษ์มาเยือนบ้านชาวนา วันละหลายรอบโดยเฉพาะวันขึ้นปีใหม่ ๑ และ ๒ มกราคม (Oga Shinzan Folklore Museum) อาคารนี้ชุมชนที่นั่นช่วยกันก่อสร้างตั้งแต่ปี 1907 เป็นตัวอย่างสถาปัตยกรรมบ้านนาของญี่ปุ่นถิ่นนั้น (เรียกแบบบ้านนี้ว่า Magariya 曲り家) (วันนั้นไม่มีโอกาสเข้าไปชม ปิดซะนี่).
 รอบๆถิ่นนั้น ตามเส้นทางที่มาก็เช่นกัน เป็นป่าไม้ต้น cypress งามอุดมสมบูรณ์
 

เห็นรถจอดอยู่สองสามคัน ไม่เห็นคน คงเป็นรถเจ้าหน้าที่ที่มีทั้งหมดสามคนวันนั้น เพราะนอกจากพิพิธภัณฑ์ ไม่มีอะไรอื่น นอกจากศาลเจ้า Shinzan. เมื่อดูนิทรรศการจนเป็นที่พอใจแล้ว เดินหามุมทานอาหาร ปรากฏว่าไม่มีอะไรขายเลยสักอย่าง แม้ราเม็งสักชามหรือ cup noodle ก็ยังไม่มี ดีที่ยังมีน้ำให้กดซื้อจากตู้. พิพิธภัณฑ์อยู่กลางป่าแบบนี้ กลับไม่มีบริการเรื่องอาหารเลยแม้แต่น้อย ผิดความคาดหมายจริงๆ. เจ้าหน้าที่เห็นใจว่าคงหิวมากเพราะมันบ่ายสองแล้ว เขาเรียกแท็กซี่ให้ ลุงคนขับตีรถเปล่าจากไหนไม่รู้ไปรับแล้วพาไปส่งที่สถานีรถไฟ ราคา 4,800 เยนเท่าขาไป. แถวสถานี Oga ก็ยังเงียบๆ ร้านต่างๆปิด. เจ้าหน้าที่ได้บอกคนขับรถว่าลูกค้าคนไทยคนนี้หิวข้าว จ่ายเงินให้แล้ว ลุงถามว่าไปร้านอาหารไหม จะพาไป มีหนึ่งร้านที่ลุงแน่ใจว่าเปิดทั้งวัน ข้าพเจ้าตกลง. หิวอย่างนั้น เจออะไรก็ต้องกิน. ลุงปิดมิเตอร์แล้วขับพาไปส่งที่หน้าร้านอาหาร ที่อยู่บนถนนถัดไป บอกว่ากินเสร็จแล้ว เดินกลับไปสถานีได้. ลุงไม่คิดเงินเพิ่มที่พาไปส่ง. ยกมือไหว้ขอบคุณน้ำใจลุง.
ที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ Namahage หรือ なまはげ館
Aza-Mizukuisawa, Shinzan, Kitaura, Oga, Akita, JAPAN
010-0686 男鹿市北浦真山字水喰沢
TEL 0185-22-5050
ข้อมูลที่น่าสนใจจากพิพิธภัณฑ์ คือการโยงธรรมเนียม Namahage ไปถึงประเพณียักษ์เดินพาเรด Kurentovanje [ขุเร็นโต๊ะวาเนีย] ของสาธารณรัฐสโลเวเนีย. ดูข้อมูลจากในพิพิธภัณฑ์ไม่กระจ่างนัก จึงต้องตามไปดูในเพจของสโลเวเนียโดยตรง สรุปมาเป็นความรู้ดังนี้ >>
Kurentovanje หรือประเพณีพาเรดของยักษ์ เป็นขนบธรรมเนียมสำคัญที่สุดในสาธารณรัฐสโลเวเนียที่สืบทอดมานานกว่าร้อยปี จากดินแดนแถบเมือง Dravsko,  Ptujsko polje และ Haloze. เทศกาลนี้จัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ทุกปีติดต่อกันสิบวัน เป็นเทศกาลพาเรดเหมือนมาร์ดิกราในปัจจุบัน. เมือง Ptuj[ปึตุย] ที่เป็นเมืองเก่าที่สุดของสโลเวเนีย เป็นเมืองเจ้าภาพจัดงานดังกล่าวติดต่อกันมาห้าสิบกว่าปีแล้ว. ความหมายของประเพณีนี้คือ การขับไล่ฤดูหนาวและต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ ต้อนรับชีวิตใหม่ๆที่จะตามมา.
    ชื่อประเพณี Kurentovanje มาจากคำ Kurent[ขุเร็น]ที่เป็นยักษ์ เป็นตัวเอกของเทศกาล. ยักษ์ทำหน้าที่ขับไล่ปีศาจฤดูหนาว. เชื่อกันมาแต่โบราณว่า ยักษ์นี้มีอานุภาพมาก จักขับไล่อากาศหนาวออกไปจากแผ่นดิน. คติชนเรื่องนี้สืบสาวหาต้นกำเนิดไม่ได้ชัดเจน อาจมาจากธรรมเนียมพื้นบ้านของชุมชนชาวสลาฟ ชาวเคลต์หรือชาวอิลลีเรียน(Illyrian) ปรากฏว่ามีขนบธรรมเนียมคล้ายๆกันนี้ทั่วไปในยุโรปตะวันออกเช่นที่โครเอเชีย ฮังการี เซอร์เบีย บัลแกเรียเป็นต้น.
ภาพของ ETO จากเพจ
http://www.slovenia.si/culture/tradition/kurents/
Photo: Aleš Fevžer จากเพจ
http://www.slovenia.si/culture/tradition/kurents/
      เครื่องแต่งกายของยักษ์ Kurent เป็นแบบง่ายๆ เสื้อคลุมหนังแกะยาวลงถึงหน้าแข้ง มักใช้หนังแกะสีอ่อนๆ(แต่ก็มีที่มีบางคนเลือกใช้หนังสีดำ)และก็มีคนใช้หนังกระต่ายแทนด้วย หมวกก็เป็นหนัง(แกะ)เช่นกัน. มีกระพรวนติดกับโซ่ เอามารัดรอบเอวเหมือนเข็มขัด ถุงเท้าไหมพรมสีแดงหรือสีเขียว อาจมีสนับเพลาด้วย สวมรองเท้าบู๊ตสีดำ. ที่สำคัญคือหน้ากากยักษ์ Kurent ที่เป็นศิลปะพื้นบ้านของสโลเวเนีย (รายงานหนึ่งระบุว่าปัจจุบันเหลือนายช่างผู้ทำหน้ากากเพียงสองคนเท่านั้น). หน้ากากยักษ์ Kurent มีสองแบบ แบบหนึ่งเป็นแบบของเมือง Markovci ใช้ขนนกมาประดับเต็มหน้ากาก, อีกแบบหนึ่งเป็นแบบของเมือง Haloze ใช้เขาวัวมาประดับ. ทั้งสองแบบทำด้วยหนัง เจาะเป็นตาสองรู และรูปากอีกหนึ่งรู รอบๆรูแต่งแต้มด้วยสีแดง. ฟันทำจากถั่วสีขาว หูทำจากปีกนก หนวดจากซังข้าวโพดหรือซี่ไม้ที่เหลาเป็นเส้นเรียวเล็กๆ ส่วนจมูกนั้นเป็นปล้องยาวยื่นออกไป เย็บติดกับหน้ากาก ติดลิ้นที่เป็นผ้ายาวๆสีแดง(จึงเหมือนแลบลิ้นยาวๆให้ดูน่ากลัว). ยักษ์ถือไม้ท่อนเรียวยาวๆ ตอนบนประดับด้วยขนเม่นแหลมคมจริงๆ ไม้ด้ามยาวนี้ คืออาวุธ(ježevka)ของยักษ์ที่ใช้ปราบมาร. สมัยปัจจุบัน นำผ้าเช็ดห้าหลากสีมาติดประดับไม้คู่มือนี้แทน ผ้าเช็ดหน้าทั้งหลาย(มากบ้างน้อยบ้าง)ได้มาจากสาวๆที่ติดใจยักษ์ตนนั้น. ถ้าใครถูกบังคับให้ถอดหน้ากากออกด้วยเหตุผลใดก็ตาม ถือเป็นการเสื่อมเสียเกียรติที่สุด. ในขบวนยักษ์ Kurent มีคนหนึ่งที่แต่งเป็นตัวมารร้าย สวมเสื้อคลุมผ้าสีแดง ร่วมไปในขบวนยักษ์ ทำหน้าที่ช่วยให้การเดินขบวนเป็นไปได้ด้วยดี บางทีก็เป็นตัวข่มขวัญเด็กๆให้ร้องกรี๊ดกร๊าดสนุกสนานไปตามถนน. ในที่สุดเครื่องแบบยักษ์และคนที่แสดงเป็นยักษ์ Kurent กลายเป็นโลโก้สัญลักษณ์ของเมือง Ptuj หรือของสโลเวเนียทั้งประเทศไปแล้ว.
     ขบวน Kurent เดินไปตามถนนสายหลักของเมือง เดินแบบส่ายไปมา กระโดดไปทางซ้ายบ้างขวาบ้าง เดินย้ายไปเต้นไป ทำให้กระพรวนดังสนั่นตลอดเวลา ใช้เสียงขับไล่ภูตผีปีศาจฤดูหนาว และเคลียพื้นที่และบรรยากาศของเมือง เตรียมรับฤดูใบไม้ผลิ. ในสมัยก่อนชายหนุ่มที่ยังไม่แต่งงานเท่านั้นจึงสมัครเป็น Kurent ได้และมีสิทธิ์สวมเครื่องแบบของ Kurent แต่ในปัจจุบันใครก็สวมเครื่องแบบยักษ์ได้ ไม่ว่าเด็กหรือผู้หญิง. แน่นอน คนยุคปัจจุบันไม่เชื่อแล้วว่า Kurent มีอำนาจพิเศษใดๆเลย แต่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการอนุรักษ์ประเพณี ให้รูปลักษณ์ที่ยังจับต้องสัมผัสได้ เป็นสะพานสู่ความเข้าใจคนยุคนั้น ความคิด ความหวังและจิตวิญญาณของเขา เป็นแง่คิดและมรดกของมนุษยชาติต่อไป.
       ในที่สุดประเพณีพาเรด Kurentovanje เรียกกันในนามสามัญว่าเป็นเทศกาลคาร์นิวัลของสโลเวเนีย. ความนิยมประเพณีนี้ทำให้เมือง Ptuj ได้รับเข้าเป็นเมืองแห่งคาร์นิวัลของสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ (the European Federation of Carnival Cities หรือชื่อย่อว่า EFCC-FECC) ในปี1991. แต่ละปีมีขบวนพาเรดจากออสเตรีย โครเอเชียและบัลแกเรียมาร่วมด้วยเสมอ. ขบวนพาเรดขยายความยาวออกไปเรื่อยๆเพราะมีผู้เข้าร่วมมากขึ้นๆ รวมทั้งมีการเชิญขบวนต่างชาติไปร่วมเดินด้วย. ขบวนพาเรดปัจจุบัน จึงมิได้มีแต่ขบวนยักษ์ Kurent แต่มีขบวนประชาชนในชุดประจำถิ่น หรือขบวนที่แต่งกายแปลกแหวกแนวที่สุดตามจินตนาการของคนยุคใหม่  มีกลุ่มนักดนตรีไปในขบวนด้วย. รวมแล้วเป็นวันแห่งความสนุกสนานรื่นเริงสำหรับทุกผู้ทุกวัย หลังจากที่ต้องเก็บตัวอยู่ในบ้านตลอดฤดูหนาว เทศกาลนี้จึงนำความสดชื่นสู่ชาวประชา เตรียมตัวรับสิ่งใหม่ๆในปีใหม่. แต่เดิมปฏิทินยุโรปเริ่มต้นปีใหม่ในฤดูใบไม้ผลิคือมีนาคม ซึ่งสอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศที่อบอุ่นขึ้นเรื่อยๆ. เทศกาล Kurentovanje  เป็นที่สนใจของชาวต่างชาติและดึงดูดนักท่องเที่ยวไปเยือนและเข้าร่วมประเพณีนี้ปีละไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนห้าหมื่นคน.   
ในปี2012 เมืองมาร์ดิบอร์-Maribor(เมืองใหญ่เป็นอันดับสองของสาธารณรัฐสโลเวเนีย)ได้รับเลือกให้เป็นเมืองหลวงทางวัฒนธรรมของยุโรป. การเลือกเมืองหลวงทางวัฒนธรรมนี้ สหภาพยุโรปเป็นผู้เลือกและเลือกเมืองต่างๆในยุโรปมาแล้วกว่าสี่สิบปีสี่สิบเมือง. เมืองที่ได้รับเลือกครองตำแหน่งหนึ่งปี ได้รับความสนับสนุนจากสหภาพยุโรปในด้านการจัดนิทรรศการ การโปรโหมตความเข้าใจ การแลกเปลี่ยนความรู้และวัฒนธรรมในทุกแขนงและทุกระดับ เท่ากับให้โอกาสเมืองที่ได้รับเลือกเป็นศูนย์รวมศูนย์แสดงเอกลักษณ์และสิ่งดีๆของเมืองนั้นของประเทศนั้น ขยายเป็นเครือข่ายออกไปสู่การติดต่อระหว่างประเทศยุโรปด้วยกันในทุกแขนง.
     เมื่อเมืองมาร์ดิบอร์ได้เป็นเมืองหลวงทางวัฒนธรรมในยุโรปแล้ว ได้ผนวกประเพณีพาเรดยักษ์ Kurentovanje ของเมือง Ptuj เข้าเป็นโปรแกรมเชิดหน้าชูตาประจำปี2012 ด้วยความตั้งใจให้ประเพณีพาเรดยักษ์รวมขบวนพาเรดในลักษณะเดียวกันจากหลายเชื้อชาติหลายเผ่าพันธุ์บนโลก ให้เป็นเทศกาลคาร์นิวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของยุโรป เป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมพื้นบ้านที่นับวันจะเลือนหายไปหรือเปลี่ยนแปลงกลายโฉมหน้าไปในยุคสมัยปัจจุบันนี้. ด้วยจุดมุ่งหมายดังกล่าวนี้เอง ที่ทีม Namahage จากญี่ปุ่นได้รับเชิญไปร่วมขบวนพาเรด นำขนบญี่ปุ่นไปเผยแก่สายตาชาวยุโรป.
ภาพของ Tomo Jeseničnik จากเพจเดียวกับภาพบน
หน้ากากชวนคิด
   หน้ากากเป็นหนึ่งในวัตถุโบราณสำคัญของชนชาติหลากหลายเผ่าพันธุ์บนโลก. แต่ละแบบของแต่ละวัฒนธรรม ทำขึ้นเพื่อจุดหมายหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง. การใช้หน้ากากยักษ์แบบน่าเกลียดน่ากลัว ก็แพร่หลาย. คนโบราณคิดซื่อๆว่า ยิ่งน่าเกลียดน่ากลัว ยิ่งมีอำนาจสยบความเลวหรือมารร้ายทั้งหลายที่แน่ใจกันว่าอัปลักษณ์ แบบใช้เกลือจิ้มเกลือ. คติพุทธสะดวกกว่า แต่(อาจ)ยากกว่า คือการสำรวมใจแผ่เมตตาแก่สรรพสัตว์ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตาย... แล้วทุกอย่างจะดีขึ้นเอง.
   การละครตั้งแต่โบราณกาลผู้แสดงสวมหน้ากากของตัวละคร ในมุมมองของความสะดวก คนหนึ่งจึงอาจแสดงหลายบทต่างกัน เพียงเปลี่ยนหน้ากากเท่านั้น เช่นในอุปรากรจีน(งิ้ว) มีหน้ากากเฉพาะสำหรับแต่ละบทบาท จีนมีหน้ากากสำหรับทุกบทบาทหลักๆในวรรณกรรมจีนคลาซสิก. ญี่ปุ่นกับเกาหลีก็มีเช่นกัน แต่ไม่มากเท่า. ส่วนของไทยก็มีหน้ากากครบชุดสำหรับเรื่องรามายณะ และหน้ากากอื่นๆเช่นสำหรับนางผีเสื้อสมุทร สำหรับเงาะ สำหรับชาละวัน. (หลังๆมา พระราม พระลักษณ์ ใช้หน้าคนแสดงเอง นอกจากยิ้มพรายนิดๆ ใบหน้าผู้แสดงค่อนข้างนิ่งและขรึมเหมือนหน้ากาก).
   ในตะวันตก คำ persona (พหูพจน์ คือ personae หรือ personas) มาจากคำละติน (Etruscan) “phersu”ที่หมายถึงหน้ากากละคร ใช้เรียกคนแสดงแต่ละคน แต่ละบทบาท(จะสวมหน้ากากด้วยหรือไม่ก็ได้). คำ persona มาเป็นคำ person ที่เราใช้กันในความหมายของ“คน บุคคล” คิดดูแล้ว ก็ยังมีนัยของหน้ากากแฝงอยู่ในส่วนลึก.
   การใช้หน้ากากเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนเสมอมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จากหน้ากากแบบสวมปิดเต็มหน้า แบบปิดครึ่งหน้าและในที่สุดมาเป็นแว่นตา ที่นอกจากช่วยการมองและปกป้องตาจากลมจากแสงหรือจากฝุ่นแล้ว ยังเป็นหน้ากากแบบหนึ่ง. จากหน้ากากที่เจาะจงบทบาทบนเวที มาเป็นการใช้เพื่อปลอมแปลงตนเป็นคนอื่น เพื่อปิดบังอัตลักษณ์ของตนเองหรือเพื่อเจตนาแอบแฝงอื่นๆ. แว่นตาก็มีจุดหมายไม่ผิดกันนัก ใช้อำพรางความกลัว ความประหม่า ขจัดความอาย ซ่อนความรู้สึก โดยไม่ลืมว่าแว่นตาเปลี่ยนบุคลิกคน อำพรางข้อบกพร่องบนใบหน้า. ยิ่งแว่นใหญ่ กระจกสีเข้มๆมืดๆหรือเป็นแบบสะท้อนแสงมองไม่เห็นตาผู้สวมเลย ยิ่งมองดูลึกลับ และในที่สุดทุกคนชอบใจ เพราะแว่นตาเพิ่มความโก้เก๋ ทำให้ใบหน้าโดดเด่น.
    ทุกคนคุ้นเคยกับหน้ากากสารพัดแบบสารพัดประเภท เคยชินกับพระเอกผู้ร้ายสวมหน้ากากในจอใหญ่จอเล็ก ตั้งแต่ Superman, Zorro, Batman, Spiderman เป็นต้น แล้วก็เออออไปกับพระเอกผู้ร้ายในร่างหุ่นยนต์. คนทำหน้า ดึงหน้า แต่งหน้า ปั้นหน้า ตีสีหน้า ทำหน้าชื่น หน้าตาย หน้าเฉยหรือหน้าซื่อ หน้าเป๋อเหลอกับคนอื่นๆในบริบทต่างๆทุกเวลาทุกสถานที่. คนอยู่กับหน้ากากแบบใดแบบหนึ่งตลอดเวลาในสังคม โดยปริยายจึงเหมือนสวมหน้ากากเสมอตามมารยาท ตามบทบาท ตามหน้าที่ ตามตำแหน่งฯลฯ. คนจึงเคยชินกับการมองหน้ากากของกันและกันและทำอะไรตามๆกันอย่างอัตโนมัติไม่ผิดหุ่นยนต์... เหลือพื้นที่ให้คนเป็นตัวตนจริงๆของเขาไหมนะ? เอ..แล้วตัวตนจริงๆของคนเป็นอย่างไร? หลายคนอาจหาคำตอบไม่ได้ คนคือสิ่งที่สังคมรอบข้างปั้นมาเท่านั้นหรือ? หน้ากากกลายเป็นหน้าจริงหน้าเดียวที่คนมีไปแล้วหรือเปล่านะ?

บันทึกเดินทางของ โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ เมื่อไปเยือนพิพิธภัณฑ์ยักษ์
วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๖๐.


ปัจฉิมลิขิต >> ตลอดเวลาหลายเดือนหลังการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาทีละข้างในปีนี้  ข้าพเจ้าไม่ได้สวมแว่นตานักแล้ว เพราะยังต้องทิ้งระยะเวลาก่อนไปวัดสายตาประกอบแว่นให้เข้ากับตาคู่ใหม่. เมื่อไม่สวมแว่น หลังจากสวมมานานกว่าสี่สิบปีของชีวิต มีความรู้สึกล่อนจ้อนพิกลอยู่ แว่นเป็นส่วนหนึ่งของหน้าข้าพเจ้าไปแล้ว เป็นหน้ากากของข้าพเจ้า.

นึกถึงเกอิชาญี่ปุ่นที่แต่งหน้าหนาหลายชั้นและเข้มมาก การแต่งหน้าปิดบังหน้าที่แท้จริง ไม่ผิดการสวมหน้ากาก เมื่อล้างเครื่องสำอางออก กลายเป็นคนละคนเลย. ใครที่เคยชินกับการแต่งหน้า คงเข้าใจดีว่าเมื่อไม่แต่งหน้า ให้ความรู้สึกล่อนจ้อนเปล่าเปลือยจริงๆ. การแต่งหน้า ยังต่อไปจนถึงในโลง.

      สาวเกาหลีรุ่นชรา เคยเล่ามาตรการส่วนตัวว่า เขาต้องแต่งหน้า เพราะไม่ต้องการให้ใครอื่นเห็นหน้าที่แท้จริงของเธอ. เครื่องสำอางจึงเป็นเครื่องมือสร้างหน้ากากแบบหนึ่ง. คนที่จะเห็นใบหน้าแท้ๆของเธอ สัมผัสเนื้อหนังมังสาเธอได้ คือสามีคนเดียว เป็นอภิสิทธิ์ที่เธอสงวนไว้ให้เขาโดยเฉพาะ. สาวเกาหลีรุ่นปัจจุบันมีปัญหาอื่นแทน เพราะหน้าตาเหมือนคนอื่นๆอีกจำนวนมากบนท้องถนน ที่สืบเนื่องมาจากการทำศัลยกรรมปลาสติกกันอย่างแพร่หลาย หมอคงมีแบบให้เลือกน้อย. ในที่สุดจึงเหมือนออกจากเบ้าเดียวกัน, เป็นมนุษย์ซีรีส์ยุคใหม่.  

      ยุคโควิด 19 เห็นแฟชั่นทำหน้ากาก ประดับตกแต่งสวยงามมาก กลายเป็นงานเย็บปักถักร้อยขั้นเทพ. ผู้หญิงมีวิธีบันเทิง เสริมแต่งความงามได้ในทุกที่ทุกสถานการณ์.

No comments:

Post a Comment