Saturday 17 March 2018

ตามฝันไป I dreamed a dream

Gondoletta boats in Luisenpark (Mannheim, Germany)

ภาพเรือลอยไปในสายน้ำ เปรียบกับชีวิตและหรือความฝันเสมอในจิตสำนึกของคน. กาพย์กลอนและเพลงเกี่ยวกับความฝันมีไม่น้อยในวัฒนธรรมของชนทุกชาติ.
   นึกถึง“การปะทะ” กับความฝันครั้งแรก ในชั่วโมงเรียนภาษาสเปนกับท่านอาจารย์เดโช อุตตรนที ที่ทำให้ได้รู้จักท่อนหนึ่งของบทประพันธ์ La vida es sueño (ชีวิตคือความฝัน) ของ Pedro Calderón de la Barca (1600-1681) บทที่ว่า
“¿Qué es la vida? Una ilusión,
una sombra, una ficción,
y el mayor bien es pequeño:
que toda la vida es sueño,
y los sueños, sueños son.”
ใจความว่า << ชีวิตคืออะไร คือความบ้าคลั่ง คือมายา คือเงา คือนิยายอะไรที่ยิ่งใหญ่ ที่แท้ก็เป็นเรื่องกระจิริด เพราะชีวิตทั้งชีวิตคือความฝัน และความฝันก็เป็นเพียงความฝัน >>  อีกตอนหนึ่งที่ยืนยันความคิดเดียวกันว่า ชีวิตคืออะไร ถ้าไม่ใช่ความบ้า เป็นภาพหลอน เป็นความสนุกสนานที่หลอกลวง เป็นความสงบที่ผิวเผิน เพราะชีวิตคือการฝันไป แม้ตัวความฝันเองก็เป็นความฝัน… 
ในทำนองของ Edgar Allan Poe (1809-1849) ที่ว่า 
<< All that we see or seem 
Is but a dream within a dream? >>
ชีวิตคืออะไร คำตอบสุดท้ายคงซึมซับเข้าไปถึงจิตวิญญาณาณของแต่ละคนเอง
Pedro Calderón de la Barca ทิ้งท้ายไว้ว่า
หลับหรือตื่น แต่ละคนต้องมุ่งไปบนทางแห่งคุณงามความดี.

ใกล้ตัวเรา เพลงหนึ่งที่ฝังใจจากละครเพลง Les Misérables คือ I dreamed a dream ที่เป็นหนึ่งในเพลงประกอบวรรณกรรมอมตะฝรั่งเศสของ Victor Hugo ที่ได้รับการยกย่องว่าวรรณกรรมโลก เป็นคัมภีร์การต่อสู้เพื่อจรรโลงจิตวิญญาณแห่งมวลมนุษยชาติ.  เนื้อหาของวรรณกรรม เล่าเรื่องราวของหลายชีวิต สานผ่านประสบการณ์หลากหลายของ Jean Valjean นักโทษที่ถูกปล่อยตัวโดยมีทัณฑ์บน (หลังจากถูกจับขังไปแล้ว 19 ปีเพียงเพราะขโมยขนมปังด้วยความหิว) ในสังคมฝรั่งเศสศตวรรษที่ 19 ที่เต็มไปด้วยนักฉวยโอกาส ความฝันที่แตกสลาย ความรัก ศรัทธา ความเสียสละ และอุดมการณ์สาธารณรัฐ ที่เกี่ยวโยงไปถึงการปฏิวัติ การต่อสู้ ต่อต้านเหล่าผู้ที่นิยมระบบราชาธิปไตย จนทำให้ฝ่ายสาธารณรัฐที่รวมประชาชนและนักศึกษามหาวิทยาลัย ต้องล้มตายเป็นจำนวนมาก (โดยเฉพาะระหว่างวันที่ 5 และ 6 เดือนมิถุนายนปี1832). เนื้อเรื่องถูกนำมาทำเป็นละครร้อง แสดงครั้งแรกที่ปารีสในปี 1980.  
    ไม่ได้มีโอกาสดูเวอชั่นดั้งเดิมที่เป็นภาษาฝรั่งเศส แต่ได้ติดตามละครเวอชั่นภาษาอังกฤษที่แสดงที่ลอนดอนตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 1985 อย่างต่อเนื่องมากว่ายี่สิบปีแล้ว. เวอชั่นภาษาอังกฤษของ Herbert Kretzmer เป็นละครเพลงที่แสดงยาวนานที่สุดในประวัติการแสดงของอังกฤษ และยังคงมีการแสดงต่อมาจนถึงทุกวันนี้ (จำต้องเปลี่ยนตัวนักร้องนักแสดงแล้ว เพราะอายุนักแสดงชุดแรกๆต้องบวกเข้าไปอีกยี่สิบปี). ละครเรื่องนี้เป็น ปรากฏการณ์ บนเวทีโลก มีการแปลและจัดแสดงบนเวทีเป็น 22ภาษา มีคนดูไม่ต่ำกว่า 70 ล้านคนใน 51 ประเทศทั่วโลก.
เมื่อพิจารณาเนื้อเพลง I dreamed a dream ดังนี้
{There was a time when men were kind
When their voices were soft
And their words inviting
There was a time when love was blind
And the world was a song
And the song was exciting
There was a time
Then it all went wrong…}
ท่อนนี้ Susan Boyle ไม่ได้ร้อง(ตัดออกเพราะคงต้องให้พอดีกับเวลากระมัง)
I dreamed a dream in time gone by
When hope was high
And life worth living
I dreamed that love would never die
I dreamed that God would be forgiving

Then I was young and unafraid
And dreams were made and used and wasted
There was no ransom to be paid
No song unsung
No wine untasted

But the tigers come at night
With their voices soft as thunder
As they tear your hope apart
As they turn your dream to shame

He slept a summer by my side
He filled my days with endless wonder
He took my childhood in his stride
But he was gone when autumn came
And still I dream he'll come to me
That we will live the years together
But there are dreams that cannot be
And there are storms we cannot weather

I had a dream my life would be
So different from this hell I'm living
So different now from what it seemed
Now life has killed
The dream I dreamed
.

ฟังเพลงนี้กันอีกที จาก Susan Boyle ฟังเสียงเธอทีไร ให้สะเทือนใจยิ่ง >> https://www.youtube.com/watch?v=I31v0YE4n5c

Susan Magdalane Boyle (เกิดปี1961) เป็นชาวสก็อต เธอโด่งดังไปทั่วโลกในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ เมื่อเธอเข้าประกวดในรายการ Britain’s Got Talent เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2009 (ปีนั้นเธอมีอายุ 47 ปี) เพลงที่เธอใช้ในการประกวดคือเพลง I dreamed a dream. เธอเลือกเพลงที่ดีที่สุดทั้งเพื่อโชว์เสียงของเธอและเพื่อความฝันส่วนตัวของเธอ.
   นอกจากความหมายของเพลงที่กินใจ รำพันถึงความฝันของคนที่อยากอยู่ในโลกที่ผู้คนเอื้อเฟื้อ ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ในโลกของความรักอ่อนหวานกับเสียงเพลงระทึกใจ ในโลกของศรัทธาแต่ชีวิตจริงมิใช่เช่นนั้น คนรักที่เคยอยู่ด้วยอย่างหวานชื่น ก็พลันจากไปและไม่กลับคืนมา ชีวิตจริงได้ทำลายความฝันของเธอไปเสียสิ้น, Susan Boyle ยังได้พิสูจน์ว่าเธอสามารถพลิกความฝันให้เป็นความจริงขึ้นมาได้.
    ดูคลิปข้างบน ชัดเจนว่ากรรมการทั้งสามหัวเราะเมื่อเห็นเธอ ก่อนที่เธอจะร้องเพลง โดยเฉพาะเมื่อเธอบอกว่าเธออยากเป็นนักร้องอาชีพที่รุ่งโรจน์เหมือน Eliane Paige (นักร้องและนักแสดงคนดังของอังกฤษ) ทุกคนระเบิดหัวเราะอย่างกลั้นไม่อยู่. ยังไม่นับชาวอังกฤษจำนวนมาก(ที่ไม่ได้อยู่ในที่นั้น)ที่หัวเราะเยาะเธอสองสามวันก่อนการประกวดเมื่อเห็นสารรูปของเธอ : ผู้หญิงอ้วนๆท้วมๆ หน้าตาไม่สะสวย กิริยาไม่ละมุนละม่อม แต่งตัวเชยๆ เป็นหญิงบ้านนอกจากสก็อตแลนด์ ที่อาจร้องก๊าบๆเหมือนเสียงเป็ด กล้ามาขึ้นเวทีประกวดฯลฯ. เธอเป็นข่าวฮือฮาในปีนั้นก่อนและหลังการแสดงของเธอ ถ้าเป็นคนอื่น คงถอนตัวไปแล้ว.
   Susan Boyle ให้สัมภาษณ์ The Sunday Times ก่อนวันประกวดว่า เธอรู้ว่าคนอื่นคิดอย่างไรกับเธอ แต่นั่นไม่สำคัญตราบใดที่เธอร้องเพลงได้ นี่ไม่ใช่เวทีประกวดนางงาม. และเมื่อเธอร้องเพลงของเธอจบลง เสียงปรบมือดังสนั่นหวั่นไหว ทุกคนลุกขึ้นยืน (ยกเว้น Simon Cowell กรรมการผู้ที่ได้ชื่อว่า“หิน”ที่สุด) และกรรมการทุกคนให้เธอผ่านเข้ารอบไปอย่างเอกฉันท์. Amanda Holden (กรรมการสตรี) ประกาศว่า นี่เป็นเสียงนาฬิกาปลุกที่ดังที่สุด (“biggest wake-up call ever” เธอใช้คำ biggest  เราเข้าใจว่า นี่เป็นปรากฏการณ์ที่สะเทือนความรู้สึกและเขย่าจิตสำนึกอย่างรุนแรง) ในยุคนี้ที่คนหลงใหลยึดติดกับความน่าชมน่าใคร่ของรูปร่างและลีลาการแสดง. Susan Boyle มีแต่เสียง เธอเอาเสียงเป็นเดิมพัน เปลี่ยนความฝันให้เป็นความจริงได้สำเร็จ.
    เสียงของเธอเป็นชัยชนะเหนือวัฒนธรรมหนุ่มสาวของยุคปัจจุบันที่ไม่มีพื้นที่ให้ศิลปินวัยอื่น. Susan Boyle ปีนั้นอายุ 47 แล้วและอายุเธอก็เป็นที่ขบขันเยาะเย้ยของสังคมหนุ่มสาว. ปฏิกิริยาแบบนี้สะท้อนการคาดหวังของสังคมยุคใหม่ว่า นักแสดงหรือศิลปินสตรี ต้องสวยด้วยเก่งด้วย ในขณะที่ถ้าเป็นผู้ชาย ไม่มีการคาดหวังเช่นนั้นหรือน้อยกว่ามาก. นักวิจารณ์ดนตรี (R.M. Campbell) ยืนยันว่าการปั้นผู้หญิงที่ไม่สวยไม่มีเสน่ห์ ให้เป็นดาราอาชีพนั้น ยากมาก.
    Susan Boyle ให้สัมภาษณ์อีกว่า สังคมสมัยนี้ตัดสินคนอื่นเร็วเกินไป ตัดสินจากสารรูปภายนอก มันเป็นอย่างนี้แหละ เขาคิดกันแค่นี้ บางทีเรื่องนี้จะเป็นบทเรียนสอนใจและตั้งเป็นตัวอย่างให้กับคนอื่นๆ.
    ผลการเลือกบุคคลอัจฉริยะประจำปีนั้น Susan Boyle เป็นที่สอง. หลังจากนั้น เธอได้รับคำเชิญไปร้องเพลงในหลายประเทศ อีกทั้งมีทัวร์ร้องเพลงตามเมืองต่างๆในสหราชอาณาจักร มีการทำแผ่นเสียงเป็นอัลบั้มขายดิบขายดีอีกหลายชุด เสียงเธอก้องกังวานไปทั่วโลก. และเธอก็ได้ร้องเพลงคู่กับ Eliane Paige ไอดอลของเธอ. Eliane Paige ประกาศว่า เธอเป็นแบบอย่างสำหรับทุกคนผู้มีความฝัน.      
    Susan Boyle เป็นผู้ที่ทำความฝันของเธอให้เป็นความจริงไปแล้ว อย่างสง่างาม ด้วยความมุ่งมั่นและด้วยความเพียรฝึกฝนด้วยตัวของเธอเอง เธอได้ก้าวข้ามความท้วมไม่น่ารักน่าใคร่ สู่ความไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน. จริงๆแล้วคนอ้วนมีอะไรน่ารักซ่อนไว้ ยิ่งพิจารณาดูใบหน้าที่อารมณ์ดีของเธอ ท่าทางสบายๆตามธรรมชาติ ภาษาพูดก็เป็นสำเนียงภาษาถิ่น ไม่มีการเสแสร้งหรือปั้นแต่งไม่ว่าแบบใด ไม่มีร่องรอยของจริตวิตกใดๆ ยิ่งมองทะลุถึงจิตใจสงบงดงามของเธอ ดนตรีพาเธอพ้นสภาวะที่ไม่น่าอภิรมย์ของสังคม ไปอยู่ในแดนบริสุทธิ์ของศิลปะ.
    ปรากฏการณ์ Susan Boyle กับค่านิยมของสังคมหนุ่มสาวอังกฤษเมื่อเก้าปีก่อน ยังคงครอบงำสังคมไทยทุกวันนี้. มองดูดาราหนุ่มๆสาวๆ หน้าตา จริตกิริยา การแต่งตัว ทุกคนออกมาจาก “มาตรฐานอุตสาหกรรมไทย” (เหมือนอาหารรสแซ็บจี๊ดจ๊าดแบบไทย). ดูเหมือนว่า หนุ่มสาวไทยยุคใหม่ไม่ต้องการเป็นตัวของตัวเอง และไม่เข้าใจลึกซึ้งนักเกี่ยวกับสิทธิของการมีเสรีภาพ มีบุคลิกภาพของตนเอง พอใจเพียงให้ได้กระโจนเข้าในเบ้าหลอม ไม่น้อยหน้าใคร ได้ออกข่าวทัดเทียมคนอื่นๆ  เบ้ามาตรฐานอุตสาหกรรมแบบไทยๆเป็นความฝันอันสูงสุดของหนุ่มสาวยุคนี้
ส่วนที่ไม่ใช่หนุ่มสาว ก็พลอยต้องทำตัว แต่งหน้า เปลี่ยนนี่เสริมนั่น หาสิ่งปลอมๆทั้งหลายมาบดบัง สร้างมายาใหม่ๆ หลอกตัวเองและหลอกคนอื่น. 
ฤๅเพื่อสร้างความสะดวกในการบริหารสังคมและวัฒนธรรม
ฤๅเพื่อความมั่นคงของชาติ
    มันให้กังขาในใจคนแก่อย่างข้าพเจ้าผู้พยายามหาจุดยืน“ตัวตนของกู”ตามสัญชาตญาณ และกระชับพัฒนาบุคลิกภาพของตนเองเรื่อยมาตั้งแต่เกิด… หากวันนี้ข้าพเจ้าละ “ตัวกูของกู” ลงไปเรื่อยๆ มิใช่เพื่อตามกระแสสังคมใด แต่เป็นไปเพราะความตระหนักถึงชีวิตที่เป็นไตรลักษณ์.
    วันนี้นึกถึงความฝันของตัวเองในแต่ละวัยของชีวิต  พลอยนึกถึงความฝันของ Susan Boyle ติดใจประสบการณ์และความฝันของเธอ
ขอคารวะ Susan Boyle ณ ที่นี้.

บันทึกความทรงจำของโชติรส โกวิทวัฒนพงศ์
วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๑.  

No comments:

Post a Comment