Sunday 20 November 2016

แก้วมณีหลากสี Jewel Case

เดินในหุบเหวแล้ว ก็ต้องไปลงเรือ ได้เลือกไปที่ทะเลสาบ Towada หรือ 十和田 [โตว้าดะโกะ]  ที่อยู่บนพื้นที่ที่ติดพรมแดนของจังหวัด Akita [อ๊ะขิตะ] และจังหวัด Aomori [อะโอ๊โมหริ]. ทะเลสาบนี้พิเศษตรงที่มันคือแอ่งลึกลงราว 327 เมตรในภูเขา เป็นสองหลุมที่เชื่อมต่อกัน. แอ่งดังกล่าวเกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟ กาลเวลาได้ทำให้แอ่งทั้งสองกลายเป็นทะเลสาบบนยอดเขาสูงกว่า 400 เมตร, เป็นทะเลสาบที่ลึกเป็นอันดับสามของญี่ปุ่น. ความใสของน้ำ ทำให้สามารถมองเห็นใต้น้ำ ลึกลงไปถึง 10-20 เมตร.  ในแต่ละฤดูกาล ผิวน้ำของทะเลสาบเป็นดั่งกระจกส่องสะท้อนความงามของมวลต้นไม้ หินผาและเกาะแก่งโดยรอบทะเลสาบ. ธรรมชาติช่างมีเคล็ดลับสุดยอด สร้างสรรค์ทะเลสาบนี้ให้เป็นความมหัศจรรย์อีกแห่งบนโลกที่ตรึงตาตรึงใจคนเรื่อยมาเป็นศตวรรษๆแล้ว. 
       เขามีเรือพาล่องชมทะเลสาบด้านใต้ ที่มีชุมชนเล็กๆตั้งถิ่นฐานอยู่. ชาวถิ่นส่วนใหญ่มีอาชีพประมง และหรือทำกิจการร้านอาหารและขายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อบริการนักท่องเที่ยว.  สองตำบลสำคัญที่มีการเดินเรือและการเดินรถประจำทางถึงกันอย่างเป็นทางการ คือ Yasumiya 休屋 [หย่าซือมิหยะ] (อักษรตัวแรกแปลว่า หยุดพัก / ตัวที่สองแปลว่า บ้านหรือห้อง)  ชื่อบอกให้รู้ว่าจะหาที่พักค้างแรมได้ในตำบลนี้. มีโรงแรมหลายแบบที่เป็นสถานอาบน้ำแร่น้ำพุร้อนด้วย. ที่ตำบล Nenoguchi 子ノ口 [เนะโนะกือจิ] พื้นที่และธุรกรรมขยายออกไปกว้างและลึกเข้าไปในแผ่นดินนอกเขตทะเลสาบ, เป็นเครือข่ายที่เกี่ยวโยงกับการท่องเที่ยว, การโรงแรมและการบริการทุกประเภท, ยังมีหมู่บ้านชาวประมง และพื้นที่สำหรับตั้งแคมป์ให้ด้วย. โดยรวมแล้ว ทางจังหวัดได้ทำทุกอย่างเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เป็นไปอย่างสะดวก ราบรื่นและเหมาะกับทุกกระเป๋าเงิน. เห็นได้ชัดเจนว่า มิได้มุ่งมั่นพัฒนาความฟู่ฟ่าหรูหรา แต่เน้นการอนุรักษ์ความงามของสถานที่อันวิเศษนั้น ให้คงอยู่ต่อไปให้ดีที่สุดและนานที่สุด.
      ข้าพเจ้าไปพักที่เมือง Hachinohe 八戸 [หะจิ๊โนะเฮวฺ] เพราะรู้ว่าจากหน้าสถานีรถไฟที่นั่นมีรถทัวร์ตรงไปถึงทะเลสาบ Towada เลย.  ช่วงที่ไป เส้นทางสงบ ไม่มีคนพลุกพล่าน รถก็น้อย. ออกจากกลางเมือง Hachinohe ไปเรื่อยๆ ลัดเลาะไปตามชุมชนตำบลอำเภอต่างๆ ผ่านไปหน้า Towada Art Center ที่สะดุดตามาก. เส้นทางเดินรถสายนี้ จาก Hachinohe ถึงปลายทางที่ทะเลสาบ Towada ใช้เวลาสองชั่วโมงกว่า. วันหนึ่งมีสามเที่ยวเท่านั้น ขากลับก็เช่นกัน หากไม่ได้ไปค้างแถวทะเลสาบ ก็ต้องจัดเวลาเดินเล่นให้ตรงกับตารางเดินรถ. ข้าพเจ้าได้รีบไปเข้าคิวที่ป้ายรถทัวร์ เป็นคนแรก ก่อนเวลารถออกครึ่งชั่วโมงกว่า ด้วยความงกจะขึ้นไปยึดที่นั่งแรกเยื้องคนขับ จะได้มองกวาดพื้นที่ตรงหน้าได้ชัดเจน และก็พอใจมากจนไม่ยอมสละที่ ลงไปแวะจุดใดบนเส้นทาง เพื่อกวาดสายตาสำรวจพื้นที่ตั้งแต่ต้นทาง กลางทางไปถึงปลายทาง. ไปกลับเส้นทางนั้นสองเที่ยว ติดใจมาก คิดว่าต้องกลับไปอีก และลงเดินบางช่วงบนเส้นทาง. วันนั้นตั้งใจไปนั่งเรือชมทะเลสาบก่อน จึงเก็บการเดินไว้ในโอกาสต่อไป. ตลอดเส้นทางได้เห็นใบไม้เปลี่ยนสีสวยงาม ชวนฝันจริงๆ โดยเฉพาะตลอด 14-20 กิโลเมตรสุดท้ายก่อนไปถึงสถานีรถเมล์ที่ Nenoguchi เป็นเส้นทางที่เลียบแม่น้ำ Oirase Stream (奧入瀨溪流)  ที่ไหลลดเลี้ยวไปมา(และไหลลงสู่ทะเลสาบในที่สุด), สร้างธารน้ำและน้ำตกไปตามสภาพพื้นต่างระดับของป่าและเขาที่มันไหลผ่าน. เป็นป่าพรหมจรรย์ ต้นไม้ใหญ่ๆหลากสายพันธุ์ที่ต่างแข่งอวดตัวไม่ยอมแพ้แก่กัน. แน่ใจว่าเส้นทางนี้สวยงามร่มรื่นทุกฤดู ได้ความระรื่นครึกครื้นใจมากเพราะเสียงน้ำไหล. เสียงค่อยแผ่วของน้ำอ่อนวัย หรือเสียงม้วนตัวและทิ้งตัวของกระแสน้ำวัยว้าวุ่นที่กำลังสนุกหยอกเย้าหรือแข่งกัน.  
นำภาพมาให้ชมเป็นตัวอย่างของความสวยงามของดินแดนแถบนี้ เพราะไม่มีอะไรอื่นนอกจากสภาพธรรมชาติล้วนๆ. เป็นโอกาสให้เราได้ ดั้นบถเดิน เพลินจิตเรา แบ่งทุกข์เบา เชาวนไว”.
เมื่อไปถึง Nenoguchi ตัดสินใจลงตรงนั้นเพราะเห็นเรือล่องทะเลสาบจอดอยู่ที่ท่าเรือ เดินไปซื้อตั๋ว. เจ้าหน้าที่บอกว่ายังมีเวลาอีกครึ่งชั่วโมงกว่าๆ ให้ข้าพเจ้าไปคอยภายในอาคารรถทัวร์เลย เพราะมีเครื่องทำความร้อน, อบอุ่นกว่าคอยในอาคารขายตั๋ว. ข้าพเจ้าขอบคุณ ได้ตั๋วแล้วก็เดินออกมา อากาศหนาว อุณหภูมิราว 4-5 องศา, หนาวพอสมควรทีเดียว เพราะเป็นที่โล่ง แดดอ่อนๆ สลับกับความครึ้มสลัวๆเมื่อเมฆผ่านมาบดบังแสงอาทิตย์.
เดินชมบริเวณท่าเรือ เห็นมีคนไม่กี่คน กวาดตามองไปรอบ 360 องศาของพื้นที่. เนินเขาสวยงามโดยรอบ ถ่ายรูปไว้จนพอ ข้าพเจ้าเดินไปที่ท่าเทียบเรือ ถ่ายรูปเรือและมุมนั้นมุมนี้ แล้วก็หยุดยืนอยู่กับที่, สูดอากาศบริสุทธิ์เข้าเต็มปอด และยืนนิ่งอยู่ตรงนั้น. มิได้กลายเป็นไอติมแท่งหรอกนะ. แต่เริ่มสวดมนต์ในใจ ทุกบทที่จำได้ แล้วก็ยืนเพ่งลมหายใจเข้าลมหายใจออก. ลมหายใจเริ่มสม่ำเสมอ ไม่นานร่างกายอบอุ่นจนร้อนเลย ได้พลังจากธรรมชาติรอบข้างเข้าไปในร่างกาย และเมื่อปรับลมปราณของเราให้สม่ำเสมออย่างถูกวิธี,  อากาศภายในร่างกายหมุนเวียนอย่างมีระบบคงที่มากขึ้นๆ, เซลล์ทุกตัวกระปรี้กระเปร่า เข้าร่วมไปกับวัฏจักรลมปราณ. ร่างกายกลายเป็นศูนย์พลังงาน และแผ่พลังงานนั้นออกไปทั่วทั้งร่าง. ข้าพเจ้ายืนเช่นนั้นอยู่ราวครึ่งชั่วโมง หายหนาวเลย. ไม่ใช่หนาวจนแข็งหรือชาหมดความรู้สึก, ไม่เหมือนกัน และก็เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งถึงอานุภาพของการฝึกลมปราณของเรา ควบคู่ไปกับการเพ่งสมาธิไม่ว็อกแว็กไปคิดเรื่องอื่นใด. ความคิดหยุดอยู่ที่อากาศสด สะอาด บริสุทธิ์ตรงหน้า. ข้าพเจ้ารู้สึกแข็งแรง สดชื่น มีกำลังวังชา สบายใจ. และนี่คือผลประโยชน์ชัดๆที่ได้จากการหมั่นฝึกสมาธิกับการควบคุมลมหายใจเข้าออก. 
      ใกล้เวลาเรือออก เจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งเดินขึ้นมาจากเรือ เป็นกัปตันนั่นเอง. ตอนนั้นมีกลุ่มคนจีนมาตั้งแถว ไกด์ชาวจีนถือธงไปยืนที่หัวคิว. ข้าพเจ้าขยับตัวแต่มิได้เดินไปที่แถวคิวนั้น ลงเรือคนสุดท้ายก็ได้. เห็นกัปตันเดินตรงมาที่ข้าพเจ้า กิริยาเรียบง่าย สุภาพ ใบหน้าสงบ. ไม่ต้องมีคำพูดใด ข้าพเจ้ายื่นตั๋วให้, โค้งให้, กัปตันเชิญให้ลงเรือเป็นคนแรก. นึกชื่นชมความละเอียดของจิตสำนึก และ the sense of fairness ของกัปตันเรือ. เขาคงเห็นข้าพเจ้ายืนตรงท่าเรือนั้นนานแล้วก่อนผู้ใด. นี่เป็นอีกหนึ่งความงามที่เพิ่มเข้าไปในธรรมชาติอันตระการตาของทะเลสาบยามนั้น. ณที่นั้น ทุกอย่างตรึงเวลาแห่งความสงบสุขที่ดูเหมือนเป็นของข้าพเจ้าคนเดียว ลงในความทรงจำตลอดไป.
     ข้าพเจ้าลงเรือไป ตรงไปนั่งที่เก้าอี้แถวแรกตรงหัวเรือ. ในเรือเป็นห้องปิด มีหน้าต่างให้มองเห็นทิวทัศน์ได้ทั้งสองข้างลำตัวเรือ. เป็นที่นั่งที่กลุ่มทัวร์จีนหมายจ้องนั่นแหละ. อย่างไรก็ดี เมื่อเรือออกเดิน ข้าพเจ้าก็ออกไปยืนตากลมที่ท้ายเรือ ความใส่ใจของกัปตันทำให้รู้สึกอบอุ่นพอที่จะไปยืนต้านลมที่พื้นที่เปิดท้ายเรือ. ยืนชมภูมิทัศน์และถ่ายรูปไว้. สภาพอากาศแบบ chiaroscuro สวยงามยิ่งนัก สายตาคนบันทึกบรรยากาศจริงได้หลายมิติ ทั้งภาพ เสียง กลิ่น สัมผัสกับความรู้สึก. กล้องถ่ายรูปที่ใช้มาหลายปี สู้ไม่ได้แน่นอน. ภาพที่ถ่ายมา แปลงสิ่งที่ได้เห็นเป็นภาพสี่เหลี่ยม เป็นข้อมูลเพียงพอกับความต้องการ. แต่ผัสสะทั้งหลาย ได้บันทึกสิ่งที่กล้องจับไม่ได้, นั่นจะอยู่ติดตัวข้าพเจ้าตลอดไป.  











 
ภาพนี้เมื่อเรือใกล้จะเทียบฝั่ง Yasumiya เห็นรูปปั้นสองสาว乙女の像 (Otome-no-Zou) ใต้ร่มไม้ (ตรงดอกจัน) ซึ่งเดินไปชมได้จากท่าเรือที่ Yasumiya. พื้นที่รอบชายฝั่งแบบนี้ เห็นแล้วอยากไปตั้งเต๊นต์อยู่แถวนั้นเลย
 สองภาพนี้ได้มาจากเน็ตที่ http://www.aptinet.jp/Detail_display_00000348.html
 รูปปั้นสองสาวนี้ เป็นประติมากรรมทองสัมฤทธิ์สูง 2.1 เมตร 
เป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของกวีและศิลปินชื่อ 高村光太郎 (Takamura Kotaro)
ถึงท่าเรือ Yasumiya แล้ว
บนฝั่งของตำบล Yasumiya มีถนนให้เดินเล่น เลียบอ่าวไปได้ไกลทีเดียว



อาคารแดงๆที่เห็นอยู่ด้านขวาเมื่อขึ้นจากเรือ เป็นศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยว 
เจ้าหน้าที่อัธยาสัยดี และใช้ภาษาอังกฤษได้ดีพอสมควรทีเดียว.
สามภาพข้างล่างนี้ถ่ายจากเส้นทางเลียบแม่น้ำ Oirase 


ขอจบสรุปเส้นทางไปทะเลสาบแต่เพียงเท่านี้.

 

อีกแห่งหนึ่งที่กลับไปเยือนอีก คือแนวต้นไซเพรส (Common Bald Cypress ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Taxodium distichum L.Rich) ในสวนพฤกษศาสตร์เมือง Mito 水戸[หมิโต้ หรือ หมิโต๊ะ]. พวกมันอายุมากขึ้นเมื่อเทียบกับครั้งแรกที่ไปเยือนหลายปีก่อน. เห็นเจ้าหน้าที่กำลังตัดกิ่งมันออกไปให้เหลือน้อยๆ เพื่อช่วยให้ต้นไม้ผ่านฤดูหนาวไปได้. ภาพรวมยังประทับใจเหมือนเดิม.





ข้าพเจ้ายังกลับไปเยือนและชมสวนอันกว้างใหญ่หน้าพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ประจำจังหวัด Ibaraki ที่ตั้งอยู่ที่เมือง Mito. ต้นแปะก๊วยที่นั่นยังอยู่ดีมีสุข ยืนต้นต่อมาเรื่อยๆอย่างคนมีสุขภาพดี. ดังภาพตัวอย่างที่นำมาให้ชม. สวนที่นั่น ยังคงเป็นพื้นที่ที่ชาวเมืองพาลูกหลาน หรือครูพาเด็กนักเรียนเล็กๆมาทำกิจกรรมหรือออกกำลังกาย. ทางการให้ความสำคัญกับการมีพื้นที่สีเขียวกว้างใหญ่ เพราะเป็นพื้นที่การศึกษาของลูกหลานชาวเมือง และเป็นพื้นที่พักผ่อนของทุกผู้ทุกนาม. การพัฒนาเมืองใด คือการพัฒนาสวนด้วย. เด็กเล็กๆคุ้นเคยกับการไปสวน, เล่นอยู่ในธรรมชาติ, ใต้ร่มไม้ใหญ่ๆ. นี่คือการปลูกฝังความรักธรรมชาติที่นำไปสู่การอนุรักษ์สภาพแวดล้อมในจิตสำนึกตั้งแต่เกิด. เด็กญี่ปุ่นโชคดีในเรื่องนี้มาก เพราะมีพื้นที่ให้พวกเขามาก.

 อาคารพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ประจำจังหวัดอิบารากิ Prefectural Museum of History






ความจริงแล้ว ต้นแปะก๊วยมีปลูกทั่วไปในญี่ปุ่น. มันเติบโตดีมากที่นั่น. เมืองต่างๆมักมีถนนแปะก๊วย อาจเป็นถนนที่ทอดเข้าสู่มหาวิทยาลัย หรืออาคารสำนักงาน หรือสองฝั่งถนนในเมืองหรือนอกเมือง. เป็นต้นไม้ทีให้ผลด้วย(มีต้นไม้เพศชายและเพศหญิง). ผลแปะก๊วยเป็นอาหารและยา มีคุณค่าทางโภชนาการสูง. ต้นไม้นี้ เป็นพันธุ์ไม้พันธุ์เดียวที่เหลือมาจากโลกยุคก่อนประวัติศาสตร์ และมีศักยภาพในการธำรงชีวิตสูงมาก ดังตัวอย่างต้นแปะก๊วยของเมืองฮิโรชิมา.

 

ถนนแปะก๊วยที่พิเศษเหนือถนนสายอื่นคือ ถนนแปะก๊วยที่กรุงโตเกียว เป็นเส้นทางส่วนหนึ่งในอาณาบริเวณของศาลเจ้าชั้นนอกที่อยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองหลวง 神宮外苑銀杏並木 ถนนสายนั้นเรียกกันสามัญว่า the Gingko Avenue of Jingugaien.  เขาปลูกต้นแปะก๊วยเป็นแนวยาวตลอดสองฝั่งถนนสาย Aomori Nichomeปลูกสองแถวคู่ขนานกันไปบนแต่ละฝั่งถนน (รวมเป็นต้นแปะก๊วยสี่แถว) ทั้งหมด 146 ต้น. ต้นแปะก๊วยทั้งหมดปลูกมานานเป็นร้อยปีแล้ว. ลำต้นแข็ง เปลือกต้นไม้ดูมั่นคงแข็งแรงและมีสุขภาพดีมาก, พวกมันจะอยู่ต่อไปอีกร้อยปีเป็นอย่างน้อย. จุดเด่นของต้นแปะก๊วยบนถนนสายนี้และสายนี้เท่านั้น คือ ผู้ปลูกเจาะจงให้ตัดกิ่งก้านและใบให้เป็นรูปทรงปิรามิด. แรกๆเมื่อมันยังอายุน้อย ก็คงพอจะเป็นทรงสามเหลี่ยมปิรามิดได้อยู่ แต่เมื่อต้นโตขึ้นๆ กิ่งก้านขยายออกไปสองข้างและสูงขึ้นเรื่อยๆ.  สำหรับข้าพเจ้า พวกมันมีรูปทรงสัญฐานของเจดีย์ไทยมากกว่า ซึ่งก็ดูแปลกและดูดีไม่น้อย. คนสวนต้องทำงานหนักเพราะความสูงของมัน และคงต้องตัดต้องเล็มกันเป็นประจำให้ได้สัดส่วนอยู่เสมอ (ที่อื่นๆ เขาก็ปล่อยให้มันเติบโตตามธรรมชาติ หากต้องการร่มไม้กว้างๆ หรือตัดกิ่งก้านลง เมื่อต้องการเน้นให้ต้นขยายในแนวสูง ให้ยืนตรง มั่นคงและตระหง่าน)

     ปีนี้เมื่อไปเดินถนนสายนั้น วันนั้นเป็นวันเสาร์ ถนนว่างๆผิดคาด. ใบไม้ยังไม่เปลี่ยนสีเต็มที่ เขาบอกว่าปกติสีสันเหลืองทอง งามสุดในช่วงต้นเดือนธันวาคม. ต้นแปะก๊วยยิ่งอายุมาก ใบเปลี่ยนสีช้า ร่วงช้า. สีเหลืองทองของต้นแปะก๊วย ทำให้ทุกอย่างสว่างสดใส กระตุ้นอารมณ์ไปในทางที่ดี. น่าเสียดายอยู่นิดหนึ่ง ตรงที่ถนนสายนี้อยู่ในตัวเมือง. อาคารต่างๆเต็มสองข้าง สถาปัตยกรรมตึกรามบ้านช่อง ดูงามน้อยกว่ารูปลักษณ์ของต้นไม้. อย่างไรก็ดี ถนนสายนี้ของโตเกียวโดดเด่นไม่เหมือนถนนใดในโลก.

        ใบแปะก๊วยถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของกรุงโตเกียว (ตราสัญลักษณ์ประจำตระกูลหลายตระกูล, มหาวิทยาลัยหรือสถาบันหลายแห่ง, ใช้ใบแปะก๊วยด้วย. ใบแปะก๊วยเป็นแบบประดับแบบหนึ่งในเนรมิตศิลป์ตะวันตกเช่นกัน). มีผู้ทำสถิติไว้ว่า เฉพาะที่กรุงโตเกียวมีต้นแปะก๊วยราว 65,000 ต้น. นับเป็น 16% ของจำนวนต้นไม้ที่ใช้ในพื้นที่สาธารณะของเมืองหลวง.  นอกจากถนนสายแปะก๊วยทรงเจดีย์นี้แล้ว, ถนนใหญ่ที่เป็นถนนสายเกียรติยศที่ทอดสู่มหาวิทยาลัยโตเกียว ก็ปลูกต้นแปะก๊วยไว้สองข้าง. เล่ากันว่า เมื่อลูกเกิด พ่อแม่จะไปเก็บใบแปะก๊วยหนึ่งใบจากต้นแปะก๊วยบนถนนสายเกียรติยศสายนั้น ด้วยความหวังว่าเด็กคนนั้นจะเติบโตเฉลียวฉลาด มีสติปัญญาเป็นเลิศและเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยโตเกียว. นี่คือความฝันของพ่อแม่ญี่ปุ่นทุกคน. การได้ศึกษาที่นั่น ประกันความสำเร็จตลอดชีวิต. หนุ่มสาวจำนวนมากหมายมั่นจะสอบเข้าเรียนที่นั่นให้ได้ และเมื่อสอบเข้าไม่ได้ ก็ฆ่าตัวตายไปหลายราย  เอวัง

ในนี้นำตัวอย่างภาพต้นแปะก๊วยทรงเจดีย์จากถนน Aomori Nichome มาให้ชมกัน

หัวถนน Aomori 2 chome กับตึกอาคารสูงๆดุ้นๆในแถบนั้น


ถ่ายจากหัวถนนไป



 ต้นแปะก๊วยสองแถวคู่ขนานกันไป บนเส้นทางเท้าที่ขยายออกกว้างกว่าปกติมาก 
จัดให้เป็นทางรถจักรยาน รถเข็นผู้สูงวัย รถเข็นทารกหรือเด็กเป็นต้น. 
 มองในระดับสายตา ลำต้นของแนวต้นไม้
 แล้วเงยหน้าขึ้นไป...สาธุ




ชอบต้นไม้
บันทึกเดินทางของโชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๙.


3 comments:

  1. พรรณงาม เง่าธรรมสาร20 November 2016 at 16:05

    ขอบคุณค่ะสำหรับภาพสวยๆ และคำบรรยายที่ชวนสกิดความคิดเสมอๆ
    สวน ต้นไม้และป่าของญี่ป่นให้พลังทางจิตวิญญาณอย่างสูง

    ReplyDelete
  2. นอกจากได้ชมใบไม้สีสวย รูปทรงต้นไม้สวยๆแล้วยังเห็นพื้นที่ว่างให้ผู้คนได้ใช้ประโยชน์กับร่มไม้ทั้งในเมืองใหญ่และในป่าเขา
    ขอบคุณพี่โชติรสมากค่ะ

    ReplyDelete
  3. ชอบมากค่ะ มุมมองของคุณผ่านเลนส์จนเป็นรูป สวยมากค่ะ
    ถึงจะไม่สวยเท่าของจริง แต่ก็สุขตา สบายใจ ฟินสุดๆ ขอบคุณมากค่ะ

    ReplyDelete