Monday, 29 February 2016

เพชรเหลืองล้ำค่าของม็องตง - Fête du citron, France

เพชรเหลืองล้ำค่าของม็องตง (Menton, France)

       ค่านิยมของชาวตะวันตกตั้งแต่ศตวรรษที่19 มีว่า ระหว่างเดือนอันแสนหนาวในภาคอื่นๆของฝรั่งเศส กษัตริย์, เจ้านายชั้นสูง, และศิลปินทั้งหลาย ต่างเดินทางและย้ายสถานที่พักไปอยู่ตามเมืองชายฝั่งบนดินแดน Côte d’Azur [โก๊ต ดาซูล] เพราะอากาศที่นั่นหนาวน้อยกว่าและอบอุ่นขึ้นมากแล้วในเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งเป็นต้นฤดูใบไม้ผลิ. เป็นฤดูงามของดอกมีโมซาสีทอง(mimosa)ด้วย. เพราะฉะนั้นเมืองต่างๆแถบนี้ จึงมีวิลลาและโรงแรมหรูๆโผล่ขึ้นเป็นจำนวนมาก ที่เมืองม็องตง (Menton) ก็เช่นกัน. ม็องตงเป็นเมืองด่านสุดท้ายของฝรั่งเศส ติดพรมแดนอิตาลี.

         ในปี 1882 พระนางเจ้าวิคตอเรียได้เสด็จไปที่นั่น นับเป็นครั้งแรกที่พระนางเสด็จเยือนดินแดน Côte d’Azur [โก๊ต ดาซูล] (ชาวอังกฤษนิยมเรียกดินแดนแถบนี้ว่า the French Riviera) ปีนั้นทางการได้จัดขบวนพาเหรดต้อนรับพระนาง รวมทั้งการแสดงดอกไม้ไฟในยามราตรีที่อ่าว Garavan [การาว็อง] ของม็องตง.
 
การแสดงดอกไม้ไฟเพื่อเป็นเกียรติแด่พระนางเจ้าวิคตอเรียที่เมืองม็องตง ปี 1882.
พระนางเจ้าวิคตอเรียได้เสด็จไปเยี่ยมชมกิจการของบริษัทผลิตมะนาวที่ม็องตง
ชื่อบริษัทเป็นชื่ออิตาเลียนว่า Maison Bottini dei Limoni di Mentone
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 1882.
พระนางได้เสด็จไปดินแดนแถบนั้นอีกหลายครั้ง. รายงานข่าวของหนังสือพิมฑ์ The Guardian แห่งสหราชอาณาจักร เขียนไว้ว่า ทุกครั้งที่เสด็จไปที่นั่น พระพักตร์แจ่มใส มีประกายของความสุขปนความสนุกเหมือนเด็กสาวๆ. ในปีที่พระนางประชวรและสิ้นพระชนม์นั้น เล่ากันว่า พระนางได้เปรยๆว่า หากพระนางไปอยู่ที่เมือง Nice ได้ พระนางจะหายป่วยแน่นอนฯลฯ  พระนางเจ้าวิคตอเลียเสด็จไปประทับที่เมือง Cannes ปี 1887, ที่เมือง Grasse ในปี 1891, ที่เมือง Hyères ในปี 1892, ที่เมือง Nice เสด็จทุกปีระหว่างปี 1895-1899).
 โรงแรมนี้อยู่ที่ Cimiez [ซีมีเอะ] 2 กิโลเมตรทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมือง Nice [นี้ส]
 เมืองม็องตง มีอนุสาวรีย์ของพระนางเจ้าวิคตอเรียด้วย
ความสำเร็จและความพึงพอใจของพระนางวิคตอเลียบนดินแดน Côte d’Azur ของฝรั่งเศส มีส่วนทำให้เกิดการพัฒนาเมืองต่างๆในแถบนี้อย่างกว้างขวาง เพื่อรองรับกษัตริย์ ราชวงศ์และชนชั้นสูงจากประเทศต่างๆในยุโรป. หนังสือหลายเล่มที่พิมพ์ออกสู่ตลาด เผยให้เห็นภาพของพระนางเจ้าวิคตอเรีย ผู้รู้จักต่อรองและรับมือกับรัฐบุรุษจากชาติต่างๆหรือกับนักการเมือง. ตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมา กลายเป็นกระแสนิยมที่คนรวยส่วนใหญ่ พากันไปพักผ่อนในช่วงฤดูหนาวที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ของฝรั่งเศส.
      การที่พระนางเจ้าวิคตอเรียเสด็จไปที่ภาคใต้ของฝรั่งเศสบ่อยๆนั้น เป็นแรงบันดาลใจแก่ชาวเมืองและผู้ประกอบธุกิจโรงแรมทั้งหลาย ที่รวมกันเสนอต่อเทศบาลเมืองม็องตงในปี1895 ว่า ควรจะจัดขบวนพาเหรดเพื่อกระตุ้นเมืองให้ตื่นจากการหลับใหลในช่วงฤดูหนาว. การจัดขบวนพาเหรดจึงเริ่มขึ้นในปีถัดมาคือปี 1896.  ผลการจัดครั้งนั้น เป็นที่ชื่นชอบของชาวเมือง.นักท่องเที่ยวผู้เดินทางไปพักผ่อนที่นั่นในช่วงฤดูหนาวที่ม็องตง ก็พออกพอใจกันมาก. 
      ความอบอุ่นในเดือนกุมภาพันธ์ ตรงกับต้นฤดูใบไม้ผลิที่นั่นด้วย. เป็นฤดูงามของดอกมีโมซาสีทอง (mimosa) ที่ทอดไปบนเส้นทางมีโมซา (La Route du mimosa) เลียบชายฝั่งทะเลแถบนั้น. เทศกาลมะนาวจึงสอดคล้องกับความอบอุ่นของแสงสีทองจากดวงอาทิตย์ โหมเป็นความสุกสว่างของเดือนกุมภาพันธ์ที่ม็องตง. เทศกาลมะนาวนี้เรียกกันในภาษาฝรั่งเศสว่า la Fête du citron [ลา แฟ็ต ดู ซีธรง] (fête = งานเฉลิมฉลอง, du = ของ, citron = มะนาว, ลูกใหญ่สีเหลือง เปลือกหนากว่า lime มะนาวไทย). (แต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2016 นี้ที่ม็องตง แต่ละคนหนาวสั่นกัน เพราะความแปรปรวนของบรรยากาศโลกในปีหลังๆนี้
ตัวอย่างผลมะนาวจากเมืองม็องตง
เทศกาลมะนาวมีรูปแบบการจัดขบวนพาเหรดแบบคานิวัลด้วย. เมือง Nice [นี้ส] ที่อยู่ใกล้ๆ ก็จัดเทศกาลคานิวัลขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันนี้ เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้ไปเยือนชมเมืองม็องตงในคราวเดียวกันด้วย.
ดูรายละเอียดเกี่ยวกับความเป็นมาของเทศกาลมะนาวได้จากเอกสารข้อมูลของ INA ที่นี่ >>
     สิบกว่าปีมาแล้วที่งานเทศกาลมะนาวได้ชักนำผู้คนจากสี่มุมโลกมายังเมืองม็องตง มาชื่นชมการจัดขบวนพาเหรดที่ประกอบด้วยหุ่นขนาดยักษ์ ที่สร้างขึ้นด้วยผลส้มผลมะนาวทั้งหมด. ตั้งแต่ต้นศต.ที่ 20 ม็องตงได้จัดงานเทศกาลนี้มาอย่างต่อเนื่อง ชาวเมืองและฝ่ายทางการของเมืองมีบทบาทสำคัญในการสืบทอดขนบธรรมเนียมนี้.
      ในคืนวันที่สองของเทศกาล ขบวนพาเหรดมีอะไรพิเศษนิดหน่อย เป็นขบวน “corso” [กอรโซ] เป็นการร้องรำทำเพลงของชาวเมืองม็องตง ที่เรียกกันว่า Moccoletti [ม็อกโก๊ะเหล็ดติ] เป็นการเล่นของชาวเมืองม็องตง. ทุกคนถือเทียนเล่มเล็กๆไว้ในมือ พยายามรักษาเปลวไฟของเทียนของตัวเองมิให้ดับ ในขณะเดียวกันก็พยายามดับเปลวไฟของเทียนเล่มอื่นของคนอื่นๆ. ผู้ใดดับเปลวเทียนของใครได้ เขาจะจุดเปลวไฟให้คนนั้นใหม่ และคนนั้นจะจุมพิตเขาเป็นการขอบคุณ. การละเล่นแบบนี้เอื้อให้หนุ่มสาวได้พบปะกัน ที่นำไปสู่ความสัมพันธ์ฉันเพื่อนหรือคู่รักต่อไป. ขบวนพาเหรด corso แบบนี้เริ่มขึ้นในปี 1935.
      ในปี 1929 ม็องตงยังคงเป็นผู้ผลิตมะนาวอันดับหนึ่งของยุโรป. ปีนั้นผู้จัดการหัวใสของโรงแรมคนหนึ่ง เกิดคิดจัดนิทรรศการดอกไม้และผลไม้จำพวกส้มมะนาวภายในพื้นที่สวนของโรงแรมรีเวียรา (Hotel Riviera)  ปรากฏว่านิทรรศการสำเร็จลงอย่างดียิ่ง ที่ทำให้ปีต่อมา นิทรรศการแบบเดียวกันนี้ ย้ายลงไปแสดงบนถนนเลย. เริ่มมีการตกแต่งประดับประดารถขนต้นส้มต้นมะนาว และในที่สุดรวมสาวสวยชาวเมืองม็องตงขึ้นไปบนรถในขบวนพาเหรดทั้งหลายด้วย. เทศบาลเมืองม็องตงมองว่า กิจกรรมแบบนี้ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี จึงสนับสนุนการจัดเดินขบวนพาเหรดให้มีสีสันของท้องถิ่น. และในที่สุด ปี 1934 เป็นปีเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของเทศกาลมะนาว. กำหนดให้จัดขึ้นทุกปีในเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นมีนาคม. ปี 1935 ทำโปสเตอร์งานเทศกาลมะนาวออกมาเป็นครั้งแรก และจัดขบวนพาเหรด corso เป็นปีแรก. ปี 1936 กำหนดพื้นที่สวน Jardins Biovès [ฌารแด็ง บิโอ๊แวส] ให้เป็นที่แสดงนิทรรศการพันธุ์ส้มมะนาวบนพื้น. ด้วยการใช้ส้มมะนาวจัดเป็นรูปลักษณ์ต่างๆตามเนื้อหาที่กำหนดไว้แล้วสำหรับแต่ละปี. ปี 1936 นั้น François Ferrié [ฟร็องซัว แฟรรีเย่] ได้รับมอบหมายให้จัดตกแต่งประดับประดาพื้นที่ รวมทั้งรถในขบวนพาเหรดด้วยส้มและมะนาวในหัวข้อเรื่อง สวน”. การจัดเนรมิตศิลป์บนพื้นสวนแบบนี้ จะเพิ่มความอลังการและความแปลกใหม่มากขึ้นๆ ตามรสนิยมหรือค่านิยมของยุคสมัยตั้งแต่นั้นมา. ระหว่างปี 1940-1946 ไม่มีการจัดเทศกาล เพราะเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และเริ่มจัดอีกครั้งในปี 1949.

พื้นที่ของ Jardins Biovès กลางเมืองม็องตง เป็นพื้นที่กว้างตรงกลางและทอดยาวจากจุดกลางเมืองที่ Pont du Chemin de fer ไปจนสุดทางที่เป็นที่ตั้งของ Casino Barrière. ความยาวของพื้นที่สวนนี้คือ 800 เมตร มีต้นไม้ใหญ่สองข้างที่ให้ความร่มรื่น  เป็นพื้นที่จัดงานเฉลิมฉลองแบบต่างๆตามโอกาสและตามวาระ และใช้เป็นที่จัดนิทรรศแบบสวนหรือหุ่นจำลองขนาดยักษ์ ที่มีเนื้อหาตรงตามหัวข้อที่ทางเมืองกำหนดไว้แต่ละปี โดยทั้งหมดใช้ผลส้มและมะนาวเป็นองค์ประกอบหลัก. ผู้ทำจะจัดบนส่วนหนึ่งของพื้นที่สวนนี้ ที่ถูกแบ่งออกตามจำนวนของผู้สมัครและผู้ที่ได้รับเลือกให้จัดแสดงในแต่ละปี. บนถนนส่วนนี้เป็นที่ตั้งของที่ทำการสำคัญๆของเมือง โดยเฉพาะบนฝั่งขวาของภาพ. ภาพข้างล่างนี้แสดงให้เห็นการจัดแสดงบนพื้นที่ดังกล่าวในแต่ละปี ในเทศกาลมะนาวเดือนกุมถาพันธ์ถึงต้นมีนาคม.

        การจัดเป็นหุ่นเป็นรูปลักษณ์อะไรบ้างนั้น มิใช่ตามใจชอบของผู้ที่คิดทำ. แต่มีการเลือกหัวข้อที่จะนำเสนอเป็นเนื้อหาหลักหรือ theme เด่นๆของแต่ละปี. มีหลักฐานบันทึกหัวข้อของการจัดการแสดงและขบวนพาเหรดตั้งแต่ปี 1995 จนถึงปีนี้ (2016)  เนื่องจากยาวมาก จึงนำมาบอกเล่าเป็นตัวอย่างให้เห็นความหลากหลายของหัวข้อ ที่มีส่วนสะท้อนสังคมในแต่ละปี.  เช่นในปี 1995 เป็นหัวข้อเรื่อง “สวน” ,1962 เป็นหัวข้อเรื่อง “ความรัก”, 1967 เป็นหัวข้อเรื่อง “สัญลักษณ์ในจักรราศี”, 1970 เป็นหัวข้อเรื่อง “ดนตรี”, 1974 เป็นหัวข้อเรื่อง “มะนาวกับคนจีน”, 1979 เป็นหัวข้อเรื่อง “ละครสัตว์”, 1982 เป็นหัวข้อเรื่อง “Jules Verne” [จูล แวรนฺ] นักประพันธ์ชาวฝรั่งเศส ผู้แต่งเรื่องใต้ทะเลสองหมื่นโยชน์ (ซึ่งต่อมาในปี 2014 ได้มาเป็นเนื้อหาของปีนั้น) หรือ แปดสิบวันรอบโลก (ซึ่งต่อมาในปี 2013ได้เป็นเนื้อหาอีกครั้งเพราะ เมืองม็องตงเป็นจุดแวะลึกลับบนเส้นทางแปดสิบวันรอบโลกด้วย) หรือเรื่อง จากโลกถึงดวงจันทร์ ในปี 1865 ที่จินตนาการว่าคนเดินทางไปถึงดวงจันทร์ ซึ่งกลายเป็นจริงขึ้นมาในปี 1973 เมื่อก้าวเล็กๆของคนได้เหยียบบนดวงจันทร์ที่จักเป็นก้าวกระโดดไกลของมนุษยชาติ, 1984 เป็นหัวข้อเรื่อง “มะนาวไร้พรมแดน”, 1986 เป็นหัวข้อเรื่อง “นิทานและตำนาน”, 1988 เป็นหัวข้อเรื่อง “สิ่งมหัศจรรย์ของโลก”, 1991 เป็นหัวข้อเรื่อง “ปีโมสาร์ท”, 1993 ชื่อเทศกาลว่า La Fête du Citron ได้ขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการ และในปีนั้นจัดขบวนพาเหรด corso ในตอนกลางคืนเป็นครั้งแรก, 1999 เป็นหัวข้อเรื่อง “ลักกี้ลุคที่ม็องตง” (Lucky Luke) , 2005 เป็นหัวข้อเรื่อง “สุดเหวี่ยงกับสเปน”, 2011 เป็นหัวข้อเรื่อง “อารยธรรมที่ยิ่งใหญ่”, 2015 เป็นหัวข้อเรื่อง “ความเข็ญใจของมะนาวลูกหนึ่งบนแผ่นดินใหญ่จีน”  ในจินตนาการของ Jules Verne (อีก)จากนวนิยาย แปดสิบวันรอบโลก ของเขา.
เชิญชมตัวอย่างการจัดสวนด้วยส้มมะนาวของปีก่อนๆต่อไปข้างล่างนี้
 ภาพคนกำลังเตรียมตกแต่งพื้นที่ด้วยส้มและมะนาว ปีอะไรมิได้ระบุไว้
เทียบกับภาพอื่นๆต่อไปนี้ในปีหลังๆต่อมา
 ทัชมาฮาลเป็นแบบประดับแบบหนึ่งในปี 1988 ปีที่รวมสิ่งมหัศจรรย์ของโลกไปไว้ที่ม็องตง
 รูปแบบของพระพรหมสี่หน้า และช้างจากอินเดีย

ปิรามิดของชนเผ่ามายา (Maya)
รวมทั้งเทพเจ้าของชาวมายา
 สัตว์แปลกประหลาดขนาดใหญ่ๆจากนวนิยายเรื่องใต้ทะเลสองหมื่นโยชน์ ของ Jules Verne
 ภาพปลาวาฬจากเรื่องเดียวกันนี้
หรือสฟิงค์จากอีจิปต์
เทพีแห่งสันติภาพจากสหรัฐอเมริกา
  สุดเหวี่ยงกับดนตรี Tango จากละตินอเมริกัน
ดนตรีเร้าใจจากสเปนพร้อมแบบสถาปัตยกรรมของโบสถ์เมือง Sevilla

 ภาพจากปี 2011 สรรเสริญอารยธรรมยิ่งใหญ่ น่าจะสื่อแบบสถาปัตยกรรมกรีก
สุนัขจิ้งจอกตัวเมียผู้ให้นมเลี้ยงดูเด็กสองคนผู้จะสถาปนากรุงโรม (Romulus และ Remus)

นี่เป็นแบบประดับในปี 2015 จากประเทศจีน 
ตามหัวข้อ “ความเข็ญใจของมะนาวลูกหนึ่งบนแผ่นดินใหญ่จีน”
ตามจินตนาการของ Jules Verne ใน แปดสิบวันรอบโลก
ปี 2015 เช่นกันที่จีนนำเสนอภาพหน้ากากที่ใช้ในการแสดงอุปรากรจีนจากปักกิ่ง



และแบบอื่นๆอีก  รวมทั้งเจดีย์ห้าชั้นและหญิงจีนคนนี้


ส่วนหนึ่งของขบวนแห่ปี 2014.
เช่นเดียวกัน การจัดขบวนพาเหรดก็กลายเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยว. ขบวนรถยนต์ประดับประดาพร้อมหุ่นหรือองค์ประกอบอื่นๆ ทั้งหมดใช้ผลส้มและมะนาวเป็นหลัก. สมัยหลังๆ มีหญิงสาวสวยชาวเมืองม็องตงขึ้นบนรถ เต้นรำไปด้วยหรือยืนโปรยยิ้มให้ผู้คนสองข้างถนน.
      ยามกลางคืน ความรื่นเริง การเต้นรำทำเพลงยังคงดำเนินต่อไป และแน่นอนผู้คนจะได้ชมการแสดงดอกไม้ไฟที่อ่าวนอกฝั่งม็องตงในเวลา 22 นาฬิกา.
ดูคลิปวีดีโอที่ถ่ายเทศกาลมะนาวในปีก่อนๆ ได้ที่นี่ >>
https://www.youtube.com/watch?v=AHj787Y9k-Q  (พร้อมแสงสีในยามราตรี ปี 2014)
(ปี 2014 ในหัวข้อเรื่อง ใต้ทะเลสองหมื่นโยชน์)
      เทศกาลมะนาวที่เมือง Menton [ม็องตง] ในจังหวัด Alpes-Maritimes ภาคใต้ของฝรั่งเศส ปี 2016 นี้ เป็นปีที่ 83 เทศกาลเริ่มตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ เวลา 14 นาฬิกา ไปจนถึงวันพุธที่ 2 มีนาคม 2016. งานปีนี้จัดตามหัวข้อเรื่อง “Cinecittà” [ชีเน่ฉิดต๊ะ](แปลว่า เมืองภาพยนตร์) เป็นการเจาะจงให้เกียรติแก่ผลงานภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ของอิตาลีและสตูดิโอที่เลื่องชื่อลือนามของอิตาลี.  ทั้งส้มและมะนาวมีบทบาทสำคัญสำหรับผู้กำกับชื่อดังเช่น Visconti  [วิสโก่นติ] หรือ Fellini [เฟ่ลีหนิ], Sergio Leone [แซรจิโอ้ะ เลโอ้เหนะ] และคนอื่นๆอีกจำนวนมาก. เฉพาะเนื้อหาของคานิวัลที่จัดขึ้นปีนี้ ถ่ายทอดฉากเด่นที่สุดในหนังเรื่อง La Dolce Vita [ลา ด๊อลเชะ หวิตะ] (ที่มีนัยยะว่า ชีวิตนี้แสนหวาน)  ฉากเด่นที่สุดของภาพยนตร์ ถูกนำมาจัดทำเป็นรถแห่  มีหุ่นของพระเอกนางเอกในหนั จัดเป็นฉากตามในภาพยนตร์เลย พร้อมภาพลักษณ์ที่ทุกคนรู้จักของกรุงโรม นั่นคือน้ำพุลือชื่อ la Fontana di Trevi [ฟนต๊านะ ดิ เตรวี]  ดังภาพจริงจากกรุงโรมข้างล่างนี้. แต่ใช้ส้มกับมะนาว(จากสเปน) มาทำทั้งหมด. ดูภาพน้ำพุสุดงามที่นี่.
 Fontana di Trevi, Roma. ภาพจากเน็ต
ต้องเจาะจงอีกว่า ส้มมะนาวที่ใช้ในเทศกาลมะนาวนี้ นำเข้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะสเปน แต่ละปีนำเข้าเป็นจำนวนมาก บางปีถึง 300 ตัน. เพราะผลผลิตมะนาวทั้งหมดของม็องตงไม่พอสำหรับนำมาตกแต่งประดับประดาในงานเทศกาลมะนาว. อีกประการหนึ่งมะนาวม็องตงยังนับว่าเป็น “ของหายาก”  เพราะคุณภาพเลิศของมัน จึงเป็นการดีที่ผู้ไปงานมีโอกาสชิมและกินเป็นอาหารตามที่เชฟของถิ่นนี้ปรุงขึ้น แทนการนำไปประดับตกแต่งให้เสียของ.
      ปี 2016 นี้ผลส้มและมะนาวที่ใช้ในการประดับประดารถในขบวนพาเรดนั้น มาจากสเปนเช่นเคย ใช้ประมาณ 145 ตันทั้งส้มและมะนาวรวมกัน. มีรูปปั้นขนาดยักษ์เช่นคนแจวเรือกอนโดลา (gondola)จากเวนิส. รถยนต์ยี่ห้ออิตาเลียน, สิงสาราสัตว์ และผู้คนในชุดแปลกๆ ใช้ผ้าพริ้วๆสีเหลืองมะนาวของม็องตงคลุมบนชุดแฟนซี พร้อมเครื่องสวมหัวและหน้ากากปิดหน้าแบบงานคานิวัลเมืองเวนิส.  ดึงจินตนาการของนักท่องเที่ยวไปในแดนเทพนิยาย. พ่อแม่ที่พาลูกไปเที่ยวงาน บ้างก็ให้ลูกแต่งแฟนซีเป็นตัวพระเอกในนิทานที่เขาชอบ. ต่างตื่นตาตื่นใจและพอใจ. บางคนให้สัมภาษณ์ว่า เป็นความฝันที่อยากมาเมืองนี้นานแล้ว ปีนี้ได้โอกาสมา จึงเลือกมาเดือนกุมภาพันธ์เพื่อจะได้ชมงานเทศกาลมะนาวด้วย. ทุกปีมีผู้มาร่วมงานเทศกาลมะนาวราว 240 000 คน.    
โปสเตอร์ภาพยนตร์ข้างล่างนี้ เป็นตัวอย่างภาพยนตร์ดังๆและดีเด่นที่เป็นผลิตผลของโรงถ่ายทำภาพยนตร์ Cinecittà  นำมาติดไว้ในเทศกาลปีนี้ เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนไปชมภาพยนตร์เหล่านี้อีกครั้งระหว่างเทศกาลมะนาวปีนี้ โดยมีการฉายให้ดูฟรีวันละหนึ่งรอบ ที่ Cinéma Paradiso ในเมืองม็องตง.
Cinecittà คือเมืองถ่ายทำภาพยนตร์ขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป บนพื้นที่ราว 40 เฮกตาร์, มีเวที 22 แห่ง, มีเต้นท์ถาวรตั้งอยู่ในนั้น 2 แห่ง, มีห้องแต่งตัวและห้องทำงาน 300 ห้อง, มีพื้นที่สำหรับการแต่งหน้าดาราผู้แสดงทั้งหลาย 21 แห่ง, มีแท้งค์น้ำกลางแจ้งบนพื้นที่ 7000 ตารางเมตรเป็นต้น. ตั้งอยู่บนถนนสาย Via Tuscolona, 1055-00173 ในกรุงโรม อยู่ห่างจากใจกลางกรุงโรมเพียง 9 กิโลเมตร จึงสะดวกมากสำหรับทุกคนทุกแขนงที่เกี่ยวข้อง. พูดกันว่า ความฝันทุกอย่างเป็นความจริงใน Cinecittà.
        เทศกาลมะนาวที่ม็องตง ยังเปิดโอกาสให้ได้ติดตามการแสดงรูปแบบต่างๆที่จัดเสนอให้ในระหว่างนี้ เช่นมีการฉายภาพยนตร์ชีวิตของ Edith Piaf [เอ๊ดิต ฟิอั๊ฟ] เนื่องในวาระร้อยปีชาตะการของนักร้องหญิงผู้นี้ ที่เป็นที่รักและชื่นชมของชาวฝรั่งเศส. ระหว่างเทศกาลมะนาวที่ม็องตง มีการนำภาพยนตร์เรื่องนี้ไปฉายที่โรงละคร Théâtre Francis-Palmero ภายในอาคาร Palais de l’Europe ฉายวันละรอบเวลา ๒๐ นาฬิกา ๓๐ นาที ต้องเสียค่าผ่านประตู, ราคาตั๋วตั้งแต่ 20-30 ยูโรแล้วแต่ที่นั่งในชั้นประเภทใด. 
        ปีนี้ยังมีการแสดงอื่นๆที่ส่งไปร่วมงานเช่น Parade et spectacle Batucada de Lanzarote, Spectacle Tiare Tahiti, Parade Felliniana, Spectacle Stornellatori Romani, Spectacle Spark,  Ciao Venezia, Parade Fellini Satyricon – Guggenmusik Rigusler. สำหรับเราผู้ไม่ได้ติดตามกลุ่มนักแสดงทั้งหลายนี้ ก็อาจไปดูเพลินๆ ไม่เกาะติดเหมือนชาวยุโรปเขา.
      นอกจากการแสดงทั้งหลายดังกล่าว ยังมีการนำชมไร่มะนาวหรือไปชมสวนส้ม ไปตามไร่มะนาวหรือแหล่งผลิตแยมมะนาวของท้องถิ่นนี้ ที่รวมไปถึงเหล้าจากพันธุ์ส้ม น้ำหอมหรือเครื่องสำอางประทินผิวจากผลส้ม. ไปเยือนและพูดคุยกับผู้ผลิตส้มมะนาวรายย่อยจนถึงผู้ผลิตรายใหญ่เพื่อการส่งออก. ไปชมสวนส้มที่โรงแรม Grand Hotel de Venise ที่สร้างขึ้นในปลายศตวรรษที่ 19 เพื่อต้อนรับแขกผู้สูงศักดิ์ทั้งหลาย. ตั้งอยู่ที่เลขที่ 15 บนถนน rue Partouneaux. ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 โรงแรมนี้ได้แปลงพื้นที่(ส่วนหนึ่ง)ให้เป็นสวนปลูกส้มชนิดต่างๆ. หรือไปชมไร่มะนาว La Citronneraie le mas Flofaro (sic) (add. 69 Corniche André-Tardieu)  ที่ได้รับขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการว่าเป็น « Jardin Remarquable » (ในความหมายว่า สวนดีเด่น). สวนนี้เดิมปลูกโอลีฟและส้มสายพันธุ์ต่างๆ และกลายเป็นสวนรวมพืชพันธุ์เขตร้อน มีต้นกล้วยขึ้นเคียงข้างต้นมะนาวกับต้นมีโมซาเป็นต้น. แล้วแวะไปดื่มชากาแฟกับชิมต๊าร์ตมะนาวม็องตง (tarte au Citron de Menton)  จบวันด้วยมื้ออาหารที่มีสัมมะนาวเป็นดาราประกอบของเมนูท้องถิ่น. โอกาสอย่างนี้ น่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด เพื่อเข้าถึงเอกลักษณ์และจิตวิญญาณของม็องตง.
ติดตามดูรายละเอียดเกี่ยวกับมะนาวม็องตงว่าพิเศษอย่างไร ได้ที่นี่ >>

http://www.fete-du-citron.com/le-citron-de-menton-reconnu-au-plus-haut-niveau/

 โปสเตอร์เทศกาลมะนาวปีนี้
แลลอดต้นมะนาวของม็องตง
        ภูมิทัศน์ที่เป็นฉากหลังของเมืองม็องตง เห็นพื้นที่กว้างขวางที่เป็นไร่มะนาว. ต้นมะนาวในสวนอีเด็นแห่งม็องตงนี้ ผลิตผลมะนาว 10 ตันตลอดทั้งปี. เมื่อมองไปยังกิ่งไม้ มะนาวงามประดุจเพชรสีเหลือง. มะนาวของม็องตงลูกโตอิ่มอวบ ได้รับการยอมรับและขึ้นทะเบียนเป็นผลไม้เจาะจงสถานที่ปลูกอย่างเป็นทางการจากสหภาพยุโรปในปี 2015 (une indication géographique protégée) ถือเป็นสมบัติคู่เมืองม็องตง ที่ต้องปกป้องและอนุรักษ์. (มะนาวของอิตาลี, สเปนและปอร์ตุกัล ก็ได้รับการขึ้นทะเบียนเจาะจงที่เพาะปลูกเหมือนมะนาวจากม็องตงด้วย).
         มะนาวของเมืองม็องตง มีปริมาณน้ำตาลสูงเป็นห้าเท่าของปริมาณปกติของมะนาวทั่วไป  และมีรสชาติที่หาสิ่งใดมาเทียบไม่ได้. คุณอาจกัดกินมันได้เหมือนกินแอปเปิลเลย. เพื่อให้ได้คุณภาพแบบนี้ พื้นที่เพาะปลูกต้องตั้งหันไปทางทิศใต้ถึงทิศตะวันออกเฉียงใต้ และก็ต้องไม่อยู่ในพื้นที่สูงเกินไป เพื่อไม่ทำให้มะนาวต้องทนหนาวในอุณหภูมิต่ำกว่าศูนย์. François Mazet ชาวไร่มะนาว  (agrumiculteur) กล่าวย้ำกับผู้สื่อข่าวของ Télématin..
      ใต้ร่มเงาของหอระฆังวัดประจำเมืองม็องตง  มะนาวที่เก็บมาได้ จะถูกนำมาเคี่ยว เพื่อทำเป็นแยมมะนาว. แยมมะนาวเป็นของโปรดของทุกคน. ที่โรงงานผลิตแยมมะนาว ชื่อ Maison Herbin [เมซง แอรแบ็ง] ทำแยมมะนาวไม่ต่ำกว่า 50 ชนิด มีทั้งแยมมะนาวล้วนๆ หรือแยมมะนาวปรุงผสมกับพืชสมุนไพรหรือดอกไม้ เช่น แยมมะนาวผสมกับลาเวนเดอร์, มะนาวกับ rosemary, มะนาวกับ thyme, มะนาวกับขิง.
       หัวหน้าฝ่ายผลิต (Nicole Bineau, maître-confiturier ของ Maison Herbin) กล่าวว่า โดยทั่วไป มะนาว (les agrumes[เล ศะกรูม] นำไปทำอาหารหรือปรุงรสอาหารได้หลายแบบ และไปกันได้ดีกับเครื่องเทศชนิดต่างๆ ที่นำไปปรุงอาหารอร่อยๆได้หลายแบบ และยังไปได้ดีกับสมุนไพรกลิ่มหอมต่างๆ เช่น ยูคาลิปตัส, ไทม (thyme), หรือ โรสแมรี่ (rosemary) ที่ก็ขึ้นงามในถิ่นม็องตง.
      คำฝรั่งเศสที่ใช้ว่า les agrumes (มาจากคำอิตาเลียนว่า agrumi มาเป็นคำในภาษาฝรั่งเศสโบราณว่า « aigruns » ที่แปลว่า ผลไม้รสเปรี้ยว ) ในภาษาอังกฤษใช้ citrus fruits ในภาษาไทยเรียกรวมๆว่าส้ม. ส้ม จึงโยงไปถึงผลไม้ในกลุ่มเดียวกันนี้อีกหลายชนิด ที่มีการจัดเป็นกลุ่มใหญ่ๆสี่กลุ่ม คือ
๑) กลุ่มส้มเกลี้ยง (ส้มติดเปลือก) , 
๒) กลุ่มส้มเปลือกล่อน (ส้มแมนดาริน) , 
๓) กลุ่มส้มโอและเกรฟฟรุ้ต , และ
๔) กลุ่มมะนาว (พวกรสเปรี้ยว)  มะนาวของม็องตงอยู่ในกลุ่มนี้.
เรียนรู้เรื่องส้มได้จาก สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ที่มีข้อมูลความรู้แบบเจาะลึก ที่เหมาะกับคนสูงวัยอย่างเราด้วย ที่นี่ >>>   

ข้อมูลจากฝ่ายฝรั่งเศสที่เจ้าหน้าที่เมืองม็องตงรวบรวมไว้ สรุปมาให้อ่านกันสั้นๆในมุมมองต่างกันดังนี้ >>
1. น้ำมะนาวเต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant ส่วนอนุมูลอิสระคืออะไร ตามไปอ่านได้ที่นี่ >> http://archive.wunjun.com/aragonworld54/7/143.html
พูดย่อๆได้ว่า ร่างกายที่มีอนุมูลอิสระมาก มีความเสี่ยงกับการเป็นโรคหลายชนิดเช่นมะเร็ง โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ). ผลไม้ที่ปลอกเปลือกแล้ว หรือผักหลายชนิดทิ้งไว้จะดำ เมื่อใส่น้ำมะนาวเข้าไปปน ช่วยให้ผลไม้และผักสดไม่กลายเป็นสีดำๆ. เติมน้ำมะนาวสักหยดลงหมักเนื้อและไก่ ทำให้เนื้อวัวเนื้อไก่นุ่มอร่อย. น้ำมะนาวยังใช้ล้างคราบสกปรกของเครื่องเงิน และกำจัดรอยสนิมบนผ้าได้ด้วย.  มะนาวยังมีคุณประโยชน์อีกมาก ติดตามไปอ่านได้ในเพ็จไทยที่ได้รวบรวมสรรพคุณของมะนาวไว้ ๒๕ ข้อ ที่นี่ >>
      ที่ม็องตง เมนูอาหารหลายอย่างใช้มะนาวเป็นเครื่องปรุงยืนพื้นเช่นแยม, เยลลี, ไซรัป, น้ำผึ้งผสมมะนาวเป็นต้น. L’Aiga afra [ลายโก๊ะ อ๊าฟรา] เป็นน้ำปรุงรสขมที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่สืบทอดมาแต่โบราณของถิ่นนี้. ได้มาจากการกลั่นใบส้มชนิดที่มีรสอมขมๆ ( bigardier). น้ำพิเศษนี้ใช้แทนหรือใช้เหมือนน้ำปรุงจากดอกส้ม เมื่อทำขนม.
2. มะกรูด (bergamot) เป็นองค์ประกอบสำคัญของน้ำหอมโอเดอโคโลญ (Eau de Cologne)
3. เล่ากันมาว่า ยุคหนึ่ง พวกนักบวชชาวกะตะลัน (catalan ในสเปน) เคยห้ามใช้ผลมะนาวสีเหลืองแบบมะนาวม็องตงที่ทรงกลมรีๆไม่กลมสวยเหมือนผลส้ม. เหตุผลคือเพราะเป็นผลไม้ของมาร ที่พยายามเลียนทำผลไม้ให้มีรูปกลมสวยดั่งผลส้มสีทองในสวรรค์ แต่ทำไม่สำเร็จ ได้ผลมะนาวเสียรูปเสียทรงแทน. กวีโรมัน Virgil กลับบอกว่า รสเปรี้ยวๆของมะนาวมีฤทธิ์ต้านแผนชั่วร้าย เมื่อผู้หญิงแอบใส่ยาพิษลงในน้ำดื่มหรือไวน์ (=มะนาวช่วยล้างพิษได้).  Casanova ชายเจ้าชู้บอกว่ามะนาวมีฤทธิ์เสริมความต้องการทางเพศ.
4. มีตำนานเล่าว่า ต้นมะนาวมาฝังรากเติบโตขึ้นที่เมืองม็องตงได้อย่างไร. เมื่ออาดัมกับอีฟถูกขับออกจากสวรรค์ อีฟได้แอบเอาผลไม้สีทองออกมาด้วยผลหนึ่ง. อาดัมขยาดกลัวว่าพระเจ้าจะพิโรธอีก บอกให้อีฟทิ้งผลไม้นั้นเสีย. เธอบอกอาดัมว่า จะทิ้งก็ได้ แต่ขอเลือกสถานที่ทิ้ง. ทั้งสองข้ามเทือกเขา หุบเขา ทุ่งราบ...  อีฟไม่เห็นที่ใดเหมาะสม ทันใดนั้นเธอเห็น Garavan  (ปัจจุบันเป็นชุมชนหนึ่งของม็องตง ติดพรมแดนอิตาลี) เห็นความงามของอ่าว อากาศก็สบาย พืชพรรณเขียวชอุ่ม  ภูมิทัศน์ที่เห็นดั่งเมืองสวรรค์ที่เธอจากมา. อีฟฝังมะนาวลงในดินที่นั่น และจากตรงนั้น เมืองม็องตงถือกำเนิดขึ้น.
5. เนื่องจากเป็นผลไม้หายากมากในยุคก่อนๆ เช่นในยุคเรอแนสซ็องส์ ราคาของมะนาวสูงลิบลิ่ว. ในสมัยโรมัน ราคามะนาวเป็นสิบสองเท่าของราคาเมล็อน(melon). มะนาวเริ่มปรากฏในจิตรกรรมยุคเรอแนสซ็องส์ ในฐานะของสิ่งประดับที่มีค่า และเป็นสัญลักษณ์ของความไม่รู้ตายและของความอุดมสมบูรณ์ เพราะมันผลิดอกออกผลทุกฤดูกาลหรือตลอดทั้งปี. สีและรูปลักษณ์ของมะนาวจึงดลใจจิตรกรหลายคน. มะนาวมักปรากฏในบริบทของจิตรกรรมเนื้อหาชีวิตนิ่ง “Still Life”. หนึ่งในจิตรกรรมภาพแรกๆที่มีมะนาวร่วมเป็นองค์ประกอบด้วย เช่น ภาพฤดูหนาว (L’Inverno, 1573) ของ Giuseppe Arcimboldo [ยิวเซ้ปเป้ อารชิมบอลโด่] (1527-1593 ชาวอิตาเลียน) เขาใช้รากต้นไม้ โคนต้นไม้ มาประกอบขึ้นเป็นศีรษะ,ใช้ใบไอวี (ivy) แทนผม, เห็ดเป็นปาก, ใช้ผืนเสื่อที่ถักจากฟางเป็นเสื้อ, มีช่อมะนาวประดับแถวคอตรงหน้าอก. องค์ประกอบที่นำมารวมกันเป็นรูปครึ่งบนของคนนี้ โดยรวมเป็นสิ่งที่สื่อความหมายของความแก่ชรา, ความอัปลักษณ์และความตาย อันเป็นนัยยะแฝงของฤดูหนาว. แต่กลับมีมะนาวส่องสว่างกลางฤดูหนาว
นักวิจารณ์ศิลป์สรุปว่า จิตรกรมีวืธีที่แยบยลในการสื่อนัยยะของความมีอายุยืนนานของราชวงศ์ฮับสบูร์ก(Habsbourg) และโยงไปถึงพระเจ้าแม็กซีมีเลียนที่สองกับพระเจ้าโรดอลฟ์ที่สอง ผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนจิตรกร. และนี่ยังเป็นการพาดพิงถึงการเมืองในยุคนั้น. ภาพของอารชิมบอลโด จึงมีความหมายหลายมิติ.
A still life with a roemer, a crab and a peeled lemon, 1643.
ที่ Art Gallery of South Australia.
ภาพจากวิกิพีเดีย จัดอยู่ใน public domain.
จิตรกรรมชีวิตนิ่งในฮอลแลนด์ยุคศต.ที่17 ยุคเดียวกัน ก็โดดเด่นมาก. ศิลปะของฮอลแลนด์หรือแฟลนเดิส (Flanders) มีส่วนยกระดับเนื้อหาของจิตรกรรมชีวิตนิ่งขึ้นสูงสุด. ภาพที่มีมะนาวปรากฏร่วมอยู่ด้วยเช่น จิตรกรรมของ Pieter Claesz [ปิ๊เถอะ กล้าซ] (1597-1661)  ในภาพชีวิตนิ่งนี้ มีมะนาวที่ปอกเปลือกไว้ครึ่งหนึ่ง เห็นเปลือกมะนาวขดเป็นวงเกลียว (เจาะจงให้รู้วิธีการปอกเปลือกผลไม้ของชาวตะวันตก). มะนาวเป็นผลไม้ ผู้ดี.
        จิตรกรรมชีวิตนิ่งในสเปนยุคเดียวกัน ก็มีเอกลักษณ์และนัยยะพิเศษเป็นแบบฉบับในวิถีชีวิตของชาวสเปน.  ภาพนี้ของจิตรกรสเปนชื่อ Francisco de Zurbarán [ฟรันซิสโก๊ะ เด ธูรบ่ารั่น ] (1598-1664)
Still-life with Lemons, Oranges and Rose,1633.
At Norton Simon Museum, Pasedena, California, United States.
มีนักวิจารณ์ศิลป์ได้เขียนแสดงความเห็นไว้ เกี่ยวกับภาพนี้ ที่ทำให้เราเข้าใจ ความมีค่าของส้มมะนาวในจิตสำนึกของชาวตะวันตก.
       สิ่งต่างๆเรียงกันเป็นหน้ากระดาน เหมือนจิตรกรตั้งใจให้เป็นเช่นนั้น แต่ดูแล้วก็ไม่ถึงกับผิดธรรมดา. พื้นหลังเป็นสีดำมืด. สรรพสิ่งนิ่งอยู่กับที่ เหมือนหนึ่งถูกดึงออกจากบริบทปกติในชีวิตประจำวัน. ในภาพนี้ ไม่มีพื้นที่เหลือให้ผู้เป็นเจ้าของสิ่งเหล่านี้ (Andreas Prater, จากวิกิพีเดีย) >> เท่ากับว่า ใครเป็นเจ้าของมิได้สำคัญ สิ่งทั้งหมดที่เห็นโดดเด่น มีคุณค่าเต็มในตัวเอง.   
        มะนาว, ส้ม, ถ้วยและกุหลาบดอกหนึ่ง บนพื้นที่สะอาดบริสุทธิ์ จัดวางไว้อย่างดียิ่ง จนทำให้รู้สึกว่า สรรพสิ่งเหล่านี้มิใช่เป็นเพียงวัตถุ แต่อยู่ตรงทางแยกระหว่างสิ่งที่เหนือสามัญมนุษย์ กับสิ่งที่เป็นนิรันดร์. ทั้งหมดแยกตัวออกจากบริบทของชีวิตสามัญของคน. (Norman Bryson, จากวิกิพีเดีย) >> บรรยากาศขรึมของภาพ ทำให้ใจหวั่นไหว เกิดความเกรงนิดๆว่า มีอะไรนอกเหนือจากลักษณะกายภาพของสิ่งที่เห็น เป็นอะไรที่กระตุ้นความสำรวมของผู้ดู. 
       Morten Lauridsen เขียนไว้ใน Wall Street Journal เจาะจงเลยว่า สรรพสิ่งที่เห็นในภาพ เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อคารวะจิตแด่พระแม่มารี. ดอกกุหลาบและถ้วยน้ำหมายถึงความรักและความบริสุทธิ์ไร้มลทินของพระแม่มารี. มะนาวเป็นผลไม้ในเทศกาลอีสเตอร์ ด้วยกันกับส้มและดอกส้มที่บาน คือชีวิตที่เกิดใหม่. ภาพนี้จึงเป็นภาพสะท้อนของโต๊ะบูชา.    
>> จิตรกรรมของ Zurbarán มีเนื้อหาของคริสต์ศาสนาแฝงอยู่ด้วยเสมอ. สรรพสิ่งในจิตรกรรมของเขา โยงความหมายไปถึง ตรีเอกานุภาพในศาสนาคริสต์ (the Holy Trinity) หรือเป็นการสรรเสริญเชิดชูพระแม่มารี. ในระบบสัญลักษณ์ของศาสนาคริสต์ ส้มและมะนาวเป็นสัญลักษณ์ของความไม่รู้ตายดังที่กล่าวไว้ เพราะผลิดอกออกผลในทุกฤดูกาลตลอดทั้งปี. ดอกกุหลาบในภาพนี้ที่เด็ดมาวางไว้ ก็โยงไปได้ถึงความไม่จีรังยั่งยืนของชีวิต. เนื้อหาภาพนี้จึงเด่นด้วยนัยของมรณานุสติ. จากการเป็นสัญลักษณ์ของความไม่รู้ตาย มะนาวจึงเป็นภาพลักษณ์ของวันเวลาที่ผ่านไปที่ไม่หวนคืนมา.
       ศตวรรษที่ 17 เป็นยุคทองของสเปน อยู่ในรัชสมัยของพระเจ้าฟิลิปที่สี่และตั้งแต่ปี 1633 เป็นต้นมา มะนาวเข้าเป็นองค์ประกอบหนึ่ง รวมอยู่ในเมนูอาหารการกินของชาวยุโรป. ในศตวรรษที่ 19 การเพาะปลูกมะนาวยิ่งเพิ่มปริมาณมากขึ้นๆ บนดินแดนรอบฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียน. ผู้คนบริโภคมะนาวในชีวิตประจำวัน และใช้เป็นยารักษาบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้หลายประเภท.

     ภาพชีวิตนิ่งกับมะนาว ส้มและผลทับทิม ของ Jacob van Hulsdonck (1582-1647 จิตรกรชาวเฟลมมิช) เขามีฝีมือในการนำเสนอจิตรกรรมชีวิตนิ่งกับอาหาร ดอกไม้ ผลไม้ ที่เพียบด้วยรายละเอียดสมจริงทุกประการ. ภาพนี้ของเขาเป็นข้อมูลยืนยันความพิเศษของผลไม้ทั้งสามชนิดที่ชาวยุโรปเพิ่งรู้จักไม่นาน และส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเดินเรือสำรวจทะเลที่ตามด้วยการไปล่าอาณานิคม. ชาวตะวันตก ตะลึงในความงามและสีแดงใสของผลทับทิม และโยงไปทันทีถึงน้ำพระทัยอันไม่มีที่สิ้นสุด (เหมือนจำนวนเม็ดทับทิมในผลเดียวกัน) ของพระแม่มารี.
        ภาพนี้ผลงานของจิตรกร Vincent Van Gogh [วิ้นเซ็นต วัน ฮ็อก] (1853-1890) เสนอภาพปลาแมคเคอเรลกับมะนาวและมะเขือเทศ - Nature Morte aux maquereaux, citrons et tomates.1886.  ภาพจากวิกิพีเดีย
      ยุคใหม่ ภาพตะกร้าส้มมะนาวในบริบทหลากสีแสนผาสุกของจิตรกรฝรั่งเศส Henri Matisse [อ็องรี มาทิซ] (1869-1954) ภาพ Still life with oranges or Basket of oranges, 1912. ภาพจาก WikiArt.
 หรือในภาพนี้ที่เจาะจง “ชีวิตในสีเหลือง”

6. ประมาณพันปีก่อนคริสตกาล พันธุ์ส้มแผ่จากเอเชียไปทางตะวันตกสู่ดินแดนเมโสโปเตเมีย.  จากที่นั่นไปสู่ดินแดนรอบฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียน, อีจิปต์และกรีซ ระหว่างศตวรรษที่ 8-4 ก่อนคริสตกาล. นักพฤกษศาสตร์ชาวกรีก Theophrastus (c.371-c.287 BC) ผู้ร่วมยุคกับพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ได้พรรณนาต้นส้มพันธุ์หนึ่งอย่างละเอียด เป็นสายพันธุ์ Citrus medica. ในยุคโบราณนั้น เรียกกันว่า “pomme de Medès” (แอปเปิลจากแมดิส Medès เป็นชนเผ่าหนึ่งในอิหร่านยุคโบราณ อยู่ติดกับชนเผ่าเปอเชีย ที่ทำให้คนนำไปรวมเข้าในกลุ่มของชาวเปอเชียบ่อยๆในเอกสารโบราณ). จากจุดนี้ การค้นพบทางโบราณคดีที่เกี่ยวข้องลดน้อยลงไปมาก นอกจากภาพเฟรสโก้ที่ค้นพบที่เมืองปอมเปอี ที่มีผลไม้ที่ดูคล้ายมะนาว. จึงทำให้เชื่อได้ว่า มะนาวน่าจะขึ้นแล้วตั้งแต่ต้นคริสตกาล. ระหว่างศตวรรษที่ 10-12 เชื่อกันว่าชาวอาหรับมัวส์ (Moors), ชาวเมือง Genova จากคาบสมุทรอิตาลี และชาวโปรตุเกส เป็นผู้นำพันธุ์ส้ม, พันธุ์มะนาวและพันธุ์ส้มโอเข้าสู่ดินแดนเมดิเตอเรเนียน. การค้าทางทะเลที่เจริญรุ่งเรืองมากในศตวรรษที่ 15 ทำให้ส้มแผ่กระจายออกไปทั่วโลก. คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นำไปปลูกในหมู่เกาะคาริบเบียนในปี 1493  เช่นได้นำเมล็ดมะนาวไปปลูกที่เกาะ Haïti [อั้ยอิติ] (หนึ่งในหมู่เกาะคาริบเบียน ใช้ภาษาฝรั่งเศสและภาษา Créole เป็นภาษาทางการ). จากตรงนั้น มะนาวได้เข้าไปในมลรัฐฟลอริดาและเข้าสู่ทวีปอเมริกาใต้. ในศตวรรษที่ 16 พันธุ์ส้มปรากฏทั่วไปบนดินแดนในทวีปอเมริกาแล้ว. ส่วนในยุโรปนั้นผู้ไปสงครามครูเสด ได้นำมะนาวจากปาเลสไตนมาปลูก. ส่วนพันธุ์ส้มรสหวานมีในแถบเมดิเตอเรเนียนในศตวรรษที่ 15 และต้นส้มแมนดารินเริ่มมีในศตวรรษที่ 18. ทั้งสองสายพันธุ์ไปจากประเทศจีน. ความใกล้ชิดของดินแดนแถบเมดิเตอเรเนียนที่มีการเพาะปลูกพันธุ์ส้ม ช่วยให้มีการพัฒนาสายพันธุ์ส้มออกไปหลายชนิด. พันธุ์ส้มสีเลือด (blood orange) ชนิดใหม่ๆก็เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ. ส่วนพันธุ์ส้มโอเกิดขึ้นในปลายศตวรรษที่ 18 ในหมู่เกาะคาริบเบียน ที่เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างเกรฟฟรุ้ตกับส้ม.
ส้มสายพันธุ์ Clementine [เคล่เม็นไทน] หรือ [เกลม็องติน] (ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Citrus ×clementina) เป็นสายพันธุ์ที่พิเศษสุดจากส้มพันธุ์หวานแถบเมดิเตอเรเนียนในปลายศตวรรษที่ 19. เป็นส้มรสหวาน มีน้ำมาก เปรี้ยวน้อยกว่าส้มพันธุ์อื่นๆ. ทุกวันนี้ส้มชนิดนี้เป็นส้มดาวเด่นของดินแดนเมดิเตอเรเนียนตั้งแต่อัลจีเรียเรื่อยมา. กำเนิดของส้ม Clementine เริ่มขึ้นในไร่ส้มของสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่ Misserghin ในประเทศอัลจีเรีย. บาทหลวง Clément [เกลม็อง] (ชื่อจริงว่า Vincent Rodier, 1829-1904) ได้หว่านเมล็ดส้มพันธุ์แมนดารินในพื้นไร่. สองสามปีต่อมา มีต้นไม้ขึ้นจากเมล็ดที่หว่านไว้. เด็กกำพร้าได้เก็บผลไม้จากต้นเหล่านี้กิน ที่มีรสหวานๆและสุกเร็วกว่าส้มทั่วไป. ต่อมาในต้นศตวรรษที่ 20 มีการตั้งชื่อต้นส้มและผลส้มสายพันธุ์นั้นตามชื่อของบาทหลวงเพื่อเป็นเกียรติแก่ท่าน.

ดูรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติของสัมได้ที่นี่ >>

http://www.jardinsdefrance.org/lorigine-des-agrumes-leur-evolution-et-la-naissance-des-especes-cultivees/


7. ส้มเป็นผลไม้ที่สำคัญที่สุดในระดับโลก. เขตเพาะปลูกสำคัญที่สุดสามเขตในโลกคือ ประเทศบราซิลผู้ผลิตส้มเป็นอันดับหนึ่งของโลก, รอบๆแถบทะเลเมดิเตอเรเนียน (สเปน, อิตาลี, โมร็อกโก, อิสราเอ็ลเป็นต้น) และสหรัฐอเมริกา. การเพาะปลูกส้มมะนาวทั้งในประเทศบราซิลและในสหรัฐฯ เพื่อทำน้ำส้มเป็นหลัก. ประเทศบราซิลผลิตน้ำส้มเข้มข้นและแช่แข็ง(เพื่อส่งออก) เป็นอันดับหนึ่งของโลก. ส้มบางชนิดไม่ค่อยนิยมกันนัก เช่นส้มที่มีสีแดงเหมือนสีเลือดปน (blood orange ความจริงส้มชนิดนี้ ที่เคยกินในสเปนรสหวานอร่อยมาก) ส่วนความนิยมพันธุ์ส้มโอ (pomelo) เพิ่มขึ้นตามลำดับ. และแถบเมดิเตอเรเนียนนั้น เป็นเขตผลิตมะนาวเหลืองที่เรียกว่า citron [ซีธรง] (ดังภาพที่ให้ดูในตอนต้นของบทความนี้). อิตาลีเป็นผู้นำ (ผลผลิตจากแถบเมือง Genova / Genoa เป็นสำคัญ) ตามด้วยประเทศสเปน. ส่วนผลิตผลมะนาวในฝรั่งเศส พัฒนาก้าวหน้าต่อไปไม่หยุดยั้งบนดินแดนเมืองม็องตง. 
        การที่พันธุ์ส้มแพร่หลายจนเป็นผลไม้ที่ปลูกมากเป็นอันดับแรกในโลกนั้น เกิดจากการพัฒนาสองขั้นตอน คือ
๑) เกี่ยวกับเทคนิคการกลั่นที่ชาวอาหรับบนดินแดนภาคใต้ของสเปน (cf. Andalucía) พัฒนาขึ้น ตามด้วยเทคนิคการทำน้ำตาลจากผลส้ม. เกิดการทำแยมส้ม, การสกัดทำน้ำหอมปรุงดอกส้มเป็นต้น. ชาวยุโรปโดยเฉพาะฝรั่งเศสได้อานิสงส์จากความก้าวหน้านี้อย่างยิ่ง.
๒) เกี่ยวกับระบบการบริโภควิตามินซี ที่สหรัฐอเมริกาได้กำหนดขึ้นในปี 1920 ที่บังคับใช้ไปทั่วทั้งสหรัฐฯ และเริ่มต้นที่มลรัฐฟลอริดาก่อนที่อื่น. นั่นคือการกำหนดให้ประชาชนดื่มน้ำส้มทุกเช้า.

8. เป็นที่รู้กันดีว่ามะนาวมีคุณประโยชน์มากต่อสุขภาพของคน. เป็นยาล้างพิษชนิดหนึ่งด้วย. เล่ากันว่าจักรพรรดิเนโร กินมะนาวเป็นจำนวนมาก เพราะความกลัวถูกลอบวางยาพิษ. ในศตวรรษที่ 18 แพทย์ในกองราชนาวีของอังกฤษชื่อ James Lindt ได้ค้นพบว่ามะนาวเป็นยาแก้โรคขาดวิตามินซี ในยุคนั้นมีลูกเรือตายเพราะขาดวิตามินซีจำนวนมาก (ชีวิตบนเรือคงไม่มีอาหารที่อุดมวิตามินซีมากนัก).
       คนนิยมชมชอบส้มมะนาวว่าเป็นผลไม้ประดับฉากหรือสถานที่ที่สวยงามแบบหนึ่งเพราะรูปลักษณ์และสีสัน. เทศกาลมะนาวที่ม็องตงเป็นตัวอย่างสุดยอดของการใช้มะนาวเพื่อการนี้. กลิ่นหอมของส้มมะนาวก็เป็นที่โปรดปรานกันไม่น้อย. ตัวอย่างของน้ำหอมโอเดอโคโลญที่ใช้สารสกัดจากผิวมะกรูดเป็นองค์ประกอบสำคัญ ก็เป็นที่ชื่นชอบไม่สร่างซามาจนทุกวันนี้ เพราะทำให้ผู้ใช้หรือผู้ได้กลิ่นรู้สึกสดชื่นขึ้นทันทีทันใด.
      ส่วนสรรพคุณทางการแพทย์นั้น เป็นที่รู้จักกันดีว่า มะนาวเพียบด้วยวิตามินซี โปตัสเซียมและแคลเซียม. เพียงดื่มน้ำมะนาวเท่านั้น ก็จะช่วยกระตุ้นร่างกายให้ตื่นตัวคลายจากความอ่อน
เพลียและแก้หวัด. มะนาวเป็นผลไม้ที่มีแคลอรีต่ำเพียงประมาณ 32 kcal ต่อน้ำหนัก 100 กรัม. ผู้ที่มีไข้ มีอาการคลื่นเหียนอาเจียนและผู้มีอาการตกเลือด ควรดื่มน้ำมะนาวอย่างยิ่งเป็นการด่วน จะช่วยบันเทาอาการได้ (น้ำมะนาวหนึ่งลูกผสมในน้ำหวานครึ่งแก้วเป็นต้น). สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน การดื่มนเมะนาวยังช่วยลดปริมาณน้ำตาลในเลือดได้ด้วย. 
อีกเว็ปไซตไทยที่เกี่ยวกับสรรพคุณของมะนาว ที่นี่ >> http://health.kapook.com/view94112.html  

 

ตัวอย่างชื่อหนังสือบางเล่ม สำหรับผู้สนใจติดตามอ่านต่อ >>
Les Agrumes – Techniques agricoles Méditerranéennes, Raymond Loussert . Ed. Lavoisier.
Les Agrumes, J.C Praloran. Ed. Maisonneuve& Larose.
Le citron, histoire, petites histoires et recettes. Ed. du Chêne.
Musée gourmand : le peintre et le cuisinier, Marc Meneau et Annie Caen. Ed. du Chêne.
Dictionnaire érotique des fruits et légumes, Jean-Luc Hennig. Ed.Albin Michel.
Menton à la Belle Epoque, Charles Martini de Châteauneuf.
Menton et la Fête du Citron, Frank Ricordel. Serre Editeur / L’Ancre Solaire.

สรุปแล้วพอจะกล่าวได้ว่า A lemon a day keeps the doctor away
And, hopefully, cleanses your body from cancer!

โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ รายงาน. ลงบล็อก ณ วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๙.


พูดถึงส้มหรือพันธุ์ส้มมะนาว จะไม่พูดถึงตำนานกรีกโบราณที่เล่าสืบกันมา ก็จะไม่ครบวงจร.  ตำนานคือตำนาน ฟังเป็นนิทานก่อนนอนก็ได้ และอาจพาจินตนาการของเราล่องลอยไปสัมผัสความลึกลับอัศจรรย์ใหม่ๆ.  ตำนานที่จะเล่านี้ ไม่ใช่เรื่องเล็กเลย เพราะได้ดลใจให้ศิลปินสร้างสรรค์งานที่สวยงามสุดยอดหลายชิ้น ทั้งประติมากรรมและจิตรกรรม.
          ตำนานเกี่ยวกับสวนของเหล่า Hespérides (Hesperides [แฮสแป๊หริดี้ส] ในเทพปกรณัมกรีก เป็นชื่อเรียกนางไม้แห่งสนธยาและแสงอาทิตย์อัสดง จึงเป็นนางไม้ประจำทิศตะวันตก เชื่อกันว่า พวกเธอดูแล, ปกป้องและอนุบาลสวนแสนสุข ณ มุมหนึ่งไกลไปในทิศตะวันตกของโลก ใกล้เทือกเขาแอ๊ตลาส Atlas mountains ในแอฟริกาเหนือ. การเจาะจงตำแหน่งที่ตั้งนี้ เป็นเพียงการคาดคะเนหรือสันนิษฐานเท่านั้น. ต่อมาในสมัยโรมัน ชื่อนี้ใช้เพื่อโยงถึงสวนว่า “เป็นสวนบรมสุข” และโยงถึงเหล่านางไม้ที่อยู่ที่นั่น. 
          มีสวนสวยแห่งหนึ่ง ณสุดขอบโลก ที่นั่นต้นไม้มีผลไม้เป็นสีทอง ที่พระแม่ธรณี Gaea มอบให้แด่เทพี Hera เป็นของกำนัลในวันสมรสของ Hera กับ Zeus. เหล่านางฟ้า Hesperides ดูแลปกป้องสวนนี้.  มีมังกร Ladon [เล้เดิ่น] เป็นผู้ช่วย (มังกรพันหัว ที่แยกออกจากร่างมังกรสี่เท้า เป็นร่างของงูครึ่งตัวพันตัวพันหัว).  Hera ผู้เป็นภรรยาหลวงของ Zeus จงเกลียดจงชัง Heracles [เฮ้รากลี้ส] เพราะ Heracles เป็นลูกของเทพบดี Zeus กับหญิงสามัญชนชาวโลก-Alcmene. Heracles ในฐานะของมนุษย์ (หรือครึ่งมนุษย์) จึงไม่มีชีวิตนิรันดร์เฉกเทพเจ้าองค์ต่างๆ แม้จะได้ชื่อว่า เป็นจอมพลังที่สุดในมวลมนุษย์ (Heracles เทียบได้กับเฮอคิวลิส-Hercules ในเทพตำนานโรมัน).  Hera โกรธแค้นที่ Zeus นอกใจเธอ (และนี่ไม่ใช่ครั้งเดียว Zeus มีภรรยาอีกหลายคน) จึงแกล้งหาเรื่องให้ Heracles เจ็บตัวบ่อยๆ เพราะ Hera ไม่อาจทำร้าย Zeus ได้เพราะ Zeus ยิ่งใหญ่กว่าเธอมาก.
         Hera ใช้กลโกงทำให้ Heracles  ตกอยู่ในสภาพเคลิบเคลิ้มขาดสติ ล่อให้คิดว่า Megara ภรรยาคนแรกและลูกๆของเขา คือครอบครัวของกษัตริย์ Eurytheus คู่แข่ง. ทำให้ Heracles ฆ่าภรรยาและลูกๆของเขาเอง. เมื่อ Heracles ตื่นและกลับมีสติ และรู้ว่าได้ทำความเหี้ยมโหดอย่างไรต่อภรรยาและลูกของเขาเอง ก็อยากฆ่าตัวตาย. ในที่สุด Heracles ยินยอมลงโทษตัวเองเพื่อแก้บาป ด้วยการไปรับใช้กษัตริย์ Eurystheus สิบปี ให้กษัตริย์สั่งให้ทำอะไรก็ได้ เล่ากันมาว่ามีสิบสองข้อ.  กษัตริย์คนนี้ก็ไม่ลดละเหมือนกัน สั่งให้ทำแต่ละอย่าง แสนเข็ญทั้งนั้น เกินกำลังมนุษย์เดินดินจะทำได้. แต่ Heracles มีเทพองค์อื่นๆคอยช่วยอยู่ด้วยความสงสาร จึงผ่านบทพิสูจน์แต่ละข้อได้แม้จะปางตายก็ตาม.
 The Garden of Hesperides, Edward Burne-Jones, ca. 1870-1872
คำสั่งข้อที่สิบเอ็ด คือการไปเก็บผลแอปเปิลทองจากเกาะ Hesperides ซึ่งหมายถึงการไปสู้กับ Ladon มังกรพันหัว. การต่อสู้กับมังกรพันหัวนี้เป็นหัวข้อยอดนิยมหัวข้อหนึ่งในศิลปะตะวันตก ทั้งในประติมากรรมและจิตรกรรม.  ตามพิพิธภัณฑ์ใหญ่ๆในยุโรป มีรูปปั้น Heracles จอมพลังเสมอในบริบทของปฏิบัติการสิบสองข้อดังกล่าวมา.
The Garden of the Hesperides (Sir Frederic Leighton, 1892)
 Hercules and the Hesperides (Rubert Bunny, 1864 - 1947)
 ผลไม้สีทองกับ Hesperides เหล่านางฟ้าผู้ดูแลสวน จิตรกรรมขอ Ricciardo Meacci
ภาพบนนี้ ผลงานของ Percy Jackson ที่ประดับหนังสือเทพตำนานกรีก
จาก riodan.wikia.com  เห็นชัดว่า มังกรปกป้องต้นแอปเปิลทองขนาดไหน

นอกจากต้องต่อสู้กับงูมังกร Heracles ยังต้องรับมือกับนางไม้ Hesperides ทั้งหลาย (นางไม้เหล่านี้ เป็นลูกสาวของ Atlas ผู้ทรงพลังและอำนาจ เพราะเป็นเทพผู้แบกท้องฟ้าและโลกไว้บนบ่า (มีรูปปั้นสุดงามของ Atlas ในท่าแบกโลกในศิลปะโรมัน ที่นิยมทำเลียนและผลิตออกมาหลายรูปเช่นกัน). กว่าจะได้ผลแอปเปิลมาก็ต้องมีเลห์กลและเคล็ดต่างๆ (สุดจะนำมาเล่าณที่นี่ได้).  ในที่สุด Heracles ฆ่างูมังกรได้สำเร็จ. เหล่ามังกรกลายเป็นกลุ่มดวงดาวบนท้องฟ้า.  เขานำผลแอปเปิลทองไปมอบให้กษัตริย์ Eurystheus แต่ปัญหายังไม่จบลง เนื่องจากแอปเปิลทองเป็นสมบัติของเทพบดี Zeus และ Hera จึงมาอยู่ในมือมนุษย์เดินดินไม่ได้.  เทพี Athena ต้องเข้ามาช่วยนำไปคืนไว้ที่สวน Hesperides.  เรื่องราวเกี่ยวกับ Hesperides นั้นเป็นเรื่องเล่ามาเลือนๆลางๆ และสับสนอยู่มาก จากตำราหรือหนังสือต่างๆที่กล่าวถึง.  อย่างไรก็ตาม เรายึดประเด็นเรื่องผลไม้วิเศษจากที่นั่น(ก็น่าจะพอ) ว่าเป็นสัญลักษณ์ของความไม่รู้ตาย ของความอุดมสมบูรณ์ และเป็นภาพลักษณ์หนึ่งที่นิยมกันแพร่หลายในศิลปะตะวันตก.  ผลแอปเปิลทองในตำนานความจริงคือผลส้มนั่นเอง. อย่าลืมว่า คำ ส้ม ที่ใช้ในนี้ เป็นคำรวมเรียกพันธุ์ส้มหลายชนิดที่รวมถึงมะนาว ส้มโอ มะกรูดฯลฯ (ดังที่ได้อธิบายไว้ในเรื่อง เพชรเหลืองล้ำค่าของม็องตง )
         คำว่า orange ที่ใช้กันมากในสังคมตะวันตก มีนัยยะลึกซึ้งกว่าการเป็นผลไม้หายากในแถบประเทศหนาวหรืออบอุ่น  เช่นเป็นชื่อของราชวงศ์สำคัญราชวงศ์หนึ่งในยุโรป  ตระกูล Orange และตระกูล Orange-Nassau  ซึ่งสืบเชื้อสายต่อมาในราชวงศ์กษัตริย์แห่งเนเธอร์แลนด์ เป็นต้น และมีต้นส้มเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของราชวงศ์.  ต้นส้มจึงมีความหมายในหลายมิติ ที่สืบโยงไปถึงการแผ่อาณานิคม, การสำรวจพืชพรรณไปในตะวันออก.  บันทึกเกี่ยวกับส้มที่เก่าที่สุดที่พบในตะวันตกคือในบันทึกของ Theophrastus (ผู้นำการศึกษาเกี่ยวกับพืชพรรณคนแรกในโลกตะวันตก) ราวปี 310 ก่อนคริสตกาล  และกลายมาเป็นไม้ผลที่ปลูกมากที่สุดในโลกจากสถิติปี 1987.  ชื่อนี้ยังใช้ต่อมาในยุคปัจจุบันในการปฏิวัติการเมืองในยูเครนที่เรียกว่า the Orange Revolution เป็นต้น.

อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับตำนานสวน Hesperides และเกี่ยวกับ Heracles ได้ในเพ็จต่อไปนี้ >>