เหตุการณ์ในบั้นปลายชีวิตของพระเยซูเป็นเนื้อหาของศิลปะมาไม่ต่ำกว่าสองพันปีแล้ว ปรากฏแสดงไว้ในศิลปะตะวันตกทุกรูปแบบ
เช่นในจิตรกรรม, ประติมากรรม, ศิลปะการทำกระจกสี, เนรมิตศิลป์ต่างๆ รวมทั้งการจัดขบวนแห่ในสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ (the Holy Week)[2] ที่ยังปฏิบัติกันมาจนทุกวันนี้. การแสดงละครคริสต์นาฏกรรมก็เป็นศิลปะอีกประเภทหนึ่งที่เคยมีมานานแล้วเช่นกัน และมิได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในศตวรรษที่สิบเจ็ดที่หมู่บ้าน
Oberammergau [โอบ๊ะอำมาเกา].
เนื้อหาที่ปรากฏในศิลปะก็คงที่ เริ่มตั้งแต่ตอนพระเยซูเข้าเมืองเยรูซาเล็ม, ออกสั่งสอนและช่วยเหลือเยียวยาคนเจ็บคนป่วย,
ถูกจับ, ถูกทรมาน, ถูกพิพากษา, ถูกตรึงบนไม้กางเขนและการฟื้นคืนชีวิต. ในพิธีมิสซาที่มีทุกวันตลอดสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ตามวัดคริสต์ต่างๆ
พระนักบวชผู้ประกอบพิธีอ่านเรื่องราวเหตุการณ์ตอนต่างๆเหล่านี้ให้ฟังจากคัมภีร์
และแทรกบทสอน บทอธิบายขยายความของผู้พูด พร้อมทั้งเชิญชวนคริสต์ศาสนิกชนให้คิดตรึกตรองตามไปด้วย
เพื่อกระชับจิตศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า.
การบนบานต่อพระเจ้าหรือการปาวารนาตัวว่าจะทดแทนบุญคุณหากทุกสิ่งเป็นไปตามที่ตนขอ
(ในศาสนาอื่นใดก็เช่นกัน)
มิใช่เป็นเรื่องแปลกที่เพิ่งทำกันในยุคศตวรรษที่สิบเจ็ดนั้น. สิ่งที่ทำให้การแสดงของชาวบ้าน Oberammergau เด่นและพิเศษเหนือการแสดงณที่อื่นใดแบบใด คือความต่อเนื่องของการปฏิบัติตามคำปฏิญญาที่ได้ให้ไว้ต่อพระเจ้า
ไม่ว่าจะในยามยากเพียงใด, ในยามที่หมู่บ้านตกอยู่ใต้อาณัติของพวกทหาร,
หรือในยามที่มีการประท้วงต่อต้านศาสนาก็ตาม แม้จะขลุกขลักเลื่อนวันเวลาไปบ้าง หรือหยุดชะงักไปชั่วคราวเพราะความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นระหว่างสงครามโลกเป็นต้น ชาวบ้านนี้ก็ได้พยายามจัดการแสดงให้ได้อย่างต่อเนื่องสืบมาจนถึงทุกวันนี้
นับได้ 376 ปี. ความตั้งใจที่จะธำรงรักษาและสืบทอดคำปฏิญญาอย่างไม่ลดละนี่เอง
ที่ทำให้การแสดงคริสต์นาฏกรรมของ Oberammergau เป็นที่กล่าวขวัญกันอย่างแพร่หลายมาตั้งแต่ศตวรรษที่สิบเจ็ดและรู้ไปทั่วโลก จนในที่สุดเมื่อกล่าวถึงหมู่บ้าน Oberammergau ทุกคนนึกถึงการแสดงคริสต์นาฏกรรมอย่างแยกกันไม่ออก.
บทความนี้ต้องการนำการแสดงคริสต์นาฏกรรมมาตีแผ่เพื่อให้เราเข้าใจกระบวนการของชุมชนเล็กๆชุมชนหนึ่งในเยอรมนี
ที่ได้ยกระดับความรู้สำนึกในบุญคุณ ขึ้นเป็นขนบประเพณีของชาวบ้าน และทำให้การแสดงของพวกเขา
กลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีความสำคัญระดับ ประเทศไปจนถึงระดับโลก. ในมุมมองของผู้ชมต่างศาสนา(เช่นเราชาวพุทธ)
การแสดงคริสต์นาฏกรรมของหมู่บ้านนี้ นับเป็นความสำเร็จน่าชมเชยทั้งในแง่สังคม แง่ศิลปะการแสดง และแง่ของความศรัทธาต่อศาสนา.
ทำไมจึงมีการจัดแสดงคริสต์นาฏกรรมขึ้นที่หมู่บ้าน
Oberammergau
การจัดแสดงคริสต์นาฏกรรมที่หมู่บ้าน Oberammergau มีต้นเหตุความเป็นมาตั้งแต่ต้นศต.ที่17. ยุโรปในยุคนั้น เกิดสงครามสามสิบปี (1618-1648 )[3] ที่ส่งผลกระทบต่อทุกหัวระแหง.
ในเบื้องต้นเป็นข้อพิพาททางศาสนาระหว่างกลุ่มคนที่นับถือนิกายโปรเตสแตนต์กับกลุ่มที่นับถือนิกายโรมันคาทอลิก.
ข้อพิพาทนี้สืบเนื่องมานานกว่าหนึ่งศตวรรษตั้งแต่เกิดการปฏิรูปศาสนาขึ้นในปี 1537. ทั้งสองนิกายยังคงไม่ลงรอยกัน
ประเทศอื่นๆก็เข้าร่วมฝ่ายโปรเตสแตนต์บ้าง ฝ่ายคาทอลิกบ้าง
จึงกลายเป็นสงครามที่แผ่วงกว้างครอบคลุมยุโรปเกือบทั้งทวีป.
สงครามที่ยืดเยื้อยาวนานเช่นนี้ย่อมทำให้เกิดข้าวยากหมากแพง ตามด้วยโรคระบาดที่แพร่สะบัดออกไปทั่วยุโรปอย่างรวดเร็วราวไฟป่า. ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในปี 1631. สงครามที่ Breitenfeld [ไบร๊เถิ่นเฟล][4] ฝ่ายโปรเตสแตนต์มีชัยชนะเป็นครั้งแรก หลังจากที่ถูกฝ่ายคาทอลิกประหัตประหารเรื่อยมา
และได้เข้ายึดเมือง Würzburg [วุซบูรก] และเมือง München [มูนเฉิ่น].
บาวาเรียทั้งแคว้นถูกพวกทหารเข้ารุกราน. ความอัตคัดขัดสนทำให้กองทหารมิได้รับการเลี้ยงดูหรือมิได้รับเงินค่าจ้าง จึงกลายเป็นทหารโจรเข้าแย่งชิงทรัย์สินของประชาชนและกระทำชำเราต่อสตรีชาวเมืองในทุกแห่งที่พวกทหารไปถึง. ทหารโจรเหล่านั้นกลายเป็นตัวพาหะแพร่เชื้อโรคที่ระบาดคร่าชีวิตคนไปเป็นจำนวนมาก. เฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ของเยอรมนี (แคว้น Sachsen และแคว้น Bayern) ผู้คนเสียชีวิตไปมากกว่าหนึ่งล้านคน. ชาวบ้าน Oberammergau ได้พยายามต่อสู้ปกป้องตนให้พ้นภัยโรคร้ายไปได้ในชั่วระยะเวลาหนึ่ง
เพราะสถานที่ตั้งเอื้ออำนวยต่อการปิดหมู่บ้านตัดขาดออกจากถิ่นอื่นๆ
เนื่องจากมีภูเขาล้อมรอบโดยตลอด และการสัญจรผ่านเข้าออกหมู่บ้านนี้ทำได้เฉพาะในเดือนที่อากาศร้อนเท่านั้น.
นอกจากนี้ชาวบ้านได้กำหนดกฎเกณฑ์ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอย่างเคร่งครัด
โดยเฉพาะการห้ามคนแปลกถิ่นเข้าหมู่บ้านและห้ามคนในหมู่บ้านออกไป.
เช่นนี้ทำให้หมู่บ้านนี้เป็นเขตปลอดโรคระบาด. จนเมื่อชาวบ้านคนหนึ่งชื่อ Kaspar Schisler [กัซปาร
ฉิซแลร] ผู้ได้จากไปทำงานที่เมือง Eschenlohe [เอซเช็นโลเฮอ] ที่อยู่ไม่ห่างจากหมู่บ้าน Oberammergau หมู่บ้านนั้นกำลังถูกโรคระบาดคุกคาม. เขาได้แอบแฝงตัวพ้นสายตาของพวกทหารยามกลับเข้าหมู่บ้านในยามราตรีเพื่อพบกับครอบครัวตนที่มิได้ย้ายตามไป
โดยหารู้ไม่ว่า เขากลายเป็นผู้นำโรคระบาดมาสู่ภรรยาและลูกๆ ตัวเขาเองก็ตายเพราะโรค.
ภายในเวลาเพียงไม่กี่เดือนชาวบ้าน Oberammergau เสียชีวิตไปทั้งหมด 84 คน.
ในยุคนั้น
คนยังไม่เข้าใจสาเหตุความเป็นมาของโรคและเชื้อโรคโดยเฉพาะเรื่องกาฬโรค. ความไม่รู้ทำให้เล่าลือไปต่างๆนานา(อย่างมีสีสัน)
เป็นจินตนาการของคนที่ใฝ่หาคำอธิบายเหตุการณ์เขย่าขวัญประเภทต่างๆ.
หลายคนสรุปว่าทั้งหมดนี้เป็นการลงโทษจากพระเจ้า
สมควรที่ชาวบ้านจะร่วมมือกันทำทุกรกิริยาและแสดงจิตศรัทธาอันแก่กล้าในพระเจ้า อาจทำให้พระเจ้าคลายพระพิโรธลง. ดังนั้น ในเดือนกรกฎาคม ปี 1633 สภาชุมชนของหมู่บ้าน Oberammergau ประกาศเรียกให้ชาวบ้านมารวมกันที่วัด และร่วมกันทำปฏิญญาสาบานต่อหน้าไม้กางเขนที่วัดประจำหมู่บ้านว่า
หากพระเจ้าช่วยให้พวกเขาพ้นภัยจากโรคระบาด
ทุกสิบปี
พวกเขาจะร่วมกันแสดงฉากชีวิตตอนสุดท้ายของพระเยซูผู้ถูกตรึงทนทุกข์ทรมานจนสิ้นใจบนไม้กางเขน
[5] โรคร้ายยุติลง ชาวบ้านจัดการแสดงคริสต์นาฏกรรมครั้งแรกในปีถัดมา
(1634) และหลังจากนั้นทุกสิบปี [6]
แม่น้ำ Ammer หมู่บ้าน Oberammergau หอระฆังสูงเด่นของวัดประจำหมู่บ้าน (St.Peter und Paul). ข้อมูลและเครดิตภาพ
แนะนำหมู่บ้านและชาวบ้าน Oberammergau
Oberammergau [โอบ๊ะอำมาเกา]
ชื่อเมืองมาจากการรวมคำ ober [โอ๊บ่า] ที่แปลว่า “เหนือ” เข้ากับคำ ammergau [อำมาเกา] ที่มาจากชื่อแม่น้ำ
Ammer [อำหมะ] (แปลว่า น้ำ) และ gau [เกา] (แปลว่า
ถิ่น, ย่าน) รวมกันหมายถึงหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ต้นน้ำ Ammer) หมู่บ้านนี้ตั้งอยู่เหนือระดับน้ำทะเลราว
762 เมตร.
มองไปทิศทางใดเห็นเนินเขาเทือกเขาโดยตลอด จึงอยู่ในอ้อมอกของเทือกเขาแอลป์.
ภูเขาที่เด่นที่สุดมีสองลูกคือ Laber [ล้าเบร] สูง 1683 เมตรอยู่ทางทิศตะวันออก
จากหมู่บ้านสามารถขึ้นกระเช้าสวรรค์ไปถึงยอดเขาได้.
ที่นั่นเห็นทิวทัศน์ของทั้งเมืองและภูเขาที่ล้อมรอบ.
ในฤดูหนาวผู้คนนิยมไปเล่นสกีกันที่นั่น. ภูเขา Kofel [โก๊เฟล] สูง 1365.5 เมตร. จากหมู่บ้านเราสามารถมองเห็นไม้กางเขนปักบนยอดเขาทางทิศใต้ได้ชัดเจน.
ลักษณะยอดเขาลูกนี้กลายเป็นเอกลักษณ์เด่นเหมือน “ลายเซ็น” บนฟ้าที่ชี้บอกตำแหน่งหมู่บ้าน
Oberammergau[7]
อาคารหลังนี้ตั้งอยู่ในหมู่บ้าน
เห็นยอดเขา Kofel สูงเด่นอยู่ด้านหลัง. มีจิตรกรรมเฟรสโก้ประดับบนกำแพงด้านนอกของอาคารเต็มทั้งพื้นที่
(lüftmalerei)
ภาพบนกำแพงด้านขวาสุดเห็นยอดเขา
Kofel หอระฆังของวัดประจำหมู่บ้านและหลังคาบ้าน. กลุ่มชาวบ้านรวมกันปรึกษาหารือ
คนหนึ่งมือชี้ไปทางซ้าย.
ทางซ้ายสุดของเฟรสโก้ ห้าคนชูมือแสดงความเห็นด้วย. มีคำจารึกว่า Anno Domini 1633 (หมายถึงปีคริสต์ศักราชที่
1633) ถัดมาเป็นภาพพระเยซูบนไม้กางเขนที่หลายคนช่วยกันยกขึ้นตั้ง.
สื่อความหมายของการจัดแสดงคริสต์นาฏกรรม.
เฟรสโก้นี้จึงเหมือนบทสรุปความเป็นมาของการจัดการแสดงคริสต์นาฏกรรมของหมู่บ้าน
Oberammergau.
ชื่อหมู่บ้านนี้ปรากฏในจารึกโบราณปี 1150. นักโบราณคดีพบหลักฐานว่าชาวเคลต์
(Celts) เคยตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นั่น. ในยุคโรมัน
เมืองนี้ก็อยู่บนเส้นทางการค้าที่ทอดเชื่อมเมืองVerona [เวโร้นา] ในอิตาลีกับเมือง Augsburg [เอ๊าสบูรก] ในเยอรมนี และโดยเฉพาะเมื่อมีการสถาปนาอารามนักบวชขึ้นที่เมือง
Ettal [เอ๊ดทัล] [8] และกำหนดเส้นทางค้าขาย
Venice-Augsburg ในปี 1330 จึงเป็นจุดก้าวกระโดดของหมู่บ้าน Oberammergau ที่กลายเป็นทางพักและทางผ่านของพ่อค้าทั้งหลาย. เมือง Ettal
ที่เป็นศูนย์จาริกแสวงบุญในยุคกลางศูนย์หนึ่งและเป็นศูนย์ขายไม้แกะสลักที่ทำเป็นรูปไม้กางเขนและรูปอื่นๆที่มีคนซื้อกันมากในยุคนั้น
อยู่ห่างจากหมู่บ้านนี้เพียง 3.2 กิโลเมตรเท่านั้น. ทำให้ชาวบ้าน Oberammergau ส่งงานไม้แกะสลักไปขายที่ Ettal. งานไม้แกะสลักของหมู่บ้านจึงเป็นงานทำเงินสำคัญของชาวบ้านนี้ ทดแทนการเพาะปลูกที่ไม่ได้ผลเพราะสภาพภูมิประเทศไม่อำนวย. ในปี 1333 หมู่บ้านได้รับเอกสิทธิ์ในการเป็นนำส่งสินค้าบนเส้นทางที่เรียกว่า Rottstrasse [ร็อตสตร๊าซสะ]
ระหว่างเมือง Partenkirchen และ Oberammergau
ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น
และยังเท่ากับว่าหมู่บ้านนี้ถูกยกขึ้นเป็นเอกเทศในตลาดโลก
ได้ช่วยให้งานไม้แกะสลักของหมู่บ้านแพร่ออกไปทุกทิศ.
ชาวบ้านก็มีโอกาสรับรู้แนวโน้มใหม่ๆของลูกค้าต่างแดนด้วย. ที่ตั้งอันวิเศษนี้ทำให้เป็นที่หมายปองของชนกลุ่มต่างๆตลอดมา.
Oberammergau จึงตกอยู่ในมือของเจ้าผู้ครองที่เปลี่ยนไปหลายต่อหลายคนตลอดหลายศตวรรษ.
ช่วงที่โดดเด่นที่สุดของหมู่บ้าน คือเมื่อถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนในปกครองของดยุ๊คแห่งบาวาเรีย
(Bavaria ในภาษาอังกฤษ และ Freistaat Bayern [ฟรายซต๊าต บายยัน] ที่หมายถึงบายอันแคว้นอิสระในภาษาเยอรมัน)
รายได้จากการบริการด้านคมนาคมและที่พักอาศัยให้กับผู้สัญจรผ่านเข้าออกหมู่บ้านนี้
ทำให้ชาวบ้านพอมีอันจะกินอย่างสุขสบายพอตัว
ยกเว้นในช่วงฤดูหนาวเท่านั้นเมื่อหิมะตกปกคลุมทำให้การเดินทางไม่สะดวก ชาวบ้านออกไปไหนไม่ได้ไกล ฤดูหนาวจึงเป็นช่วงคนว่างงาน ไม่มีรายได้
แต่ชาวบ้านก็สร้างงานประเภทใหม่ขึ้นทำระหว่างฤดูหนาว นั่นคือการแกะสลักไม้.
การแกะสลักไม้ที่นั่นปรากฏระบุไว้ในจารึกยุคกลางตั้งแต่ปีค.ศ. 1111 ว่าบาทหลวงจากเมือง Rottenbuch [ร็อตเถิ่นบุ้ค] ได้นำงานฝีมือเป็นไม้แกะสลักรูปลักษณ์ของสิ่งของเครื่องใช้ในบ้าน
จากหมู่บ้าน
Ammergau (หมู่บ้านลุ่มแม่น้ำ Ammer) ติดตัวไปยังดินแดน Berchtesgaden [แบรฉทิก๊าเดิ่น]. ยังมีบันทึกนักท่องเที่ยวชาวฟลอเรนซ์ชื่อ Francesco Vettori (1508) ที่ระบุว่า
ชาวบ้านส่วนใหญ่
แกะสลักไม้กางเขน ฝีมืองามประณีต เพื่อนำไปขายในถิ่นอื่นๆ.
ในปี 1563 ช่างแกะสลักของหมู่บ้าน
ได้รับตราตั้งจากเจ้าอาวาสแห่งเมือง Ettal ตราตั้งนี้จึงเป็นเหมือนรหัสหรือโลโก้เฉพาะสำหรับงานฝีมือของหมู่บ้านนี้
ทั้งได้ออกบัญญัติระบุว่า ลูกหลานแท้ๆของนายช่างไม้แกะสลักเท่านั้น
ที่มีสิทธิ์เรียนและค้าขายงานไม้แกะสลัก.
ต่อมาในปี 1681 มีบัญญัติออกใหม่อนุญาตให้ชาวบ้าน
Oberammergau มีสิทธิ์เรียนและสอนการแกะสลักไม้
ซึ่งเท่ากับยอมรับฝีมือความชำนาญของชาวบ้าน Oberammergau.
พ่อค้าแบกเร่ ขายงานประดิษฐ์จากไม้แกะสลักของชาวบ้าน
มีไม้กางเขนและตุ๊กตาของเล่นแบบต่างๆ
ภาพนี้เป็นส่วนหนึ่งของภาพเฟรสโก้ที่ประดับกำแพงด้านนอกของบ้านใหญ่หลังหนึ่ง.
ภาพพ่อค้าแบกเร่ขายผลิตภัณฑ์งานไม้แกะสลัก
เป็นเนื้อหาหนึ่งของงานไม้แกะสลักด้วย
รูปปั้นไม้นี้ขนาดใหญ่เท่าคนจริงเลยทีเดียว
ตั้งประดับอยู่หน้าร้านขายผลิตภัณฑ์งานไม้แกะสลักในหมู่บ้าน
สิ่งประดิษฐ์ที่เป็นไม้แกะสลักในตอนแรกเป็นรูปลักษณ์ของสิ่งของเครื่องใช้ในบ้านก่อนอื่นใด
แล้วจึงเพิ่มรูปลักษณ์แบบอื่นๆเข้าไปตามค่านิยมของชาวบ้าน. โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 1760 ช่างแกะเริ่มประดิษฐ์รูปลักษณ์ทั้งหลายที่ประกอบฉากการเกิดของพระเยซูในคอกวัว
(Weihnachtskrippe หรือ Christmas Crib).
นอกจากโจเซฟ พระแม่มารี พระเยซูองค์น้อย
ยังมีชาวบ้าน สัตว์เลี้ยงและสามกษัตริย์ผู้เดินทางไปคารวะชื่นชม และเทวทูตแบบต่างๆเช่นเทวทูตนักดนตรีเป็นต้น.
ก่อนหน้านั้นสิ่งประดับชุดกำเนิดพระเยซูสำหรับเทศกาลคริสต์มาส มักทำจากกระดาษและผ้าเป็นสำคัญ.
ชุดไม้แกะเนื้อหานี้ พัฒนาต่อมาเรื่อยๆ แทรกเหตุการณ์อื่นๆเข้าไปข้างเคียง พร้อมรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆที่เพิ่มเข้าไปในฉาก
แล้วแต่ว่าฉากประดับนี้จะไปตั้งบนพื้นที่กว้างใหญ่เพียงใด. ถ้าไปประดับที่วัด จะเป็นมุมหนึ่งในวัด
บนพื้นที่ใหญ่ ตั้งวางกันบนพื้นเลย.
รูปลักษณ์สิ่งประดิษฐ์จึงต้องขยายขนาดตามไปด้วยเพื่อให้สมมาตรกับพื้นที่. เล่ากันว่างานเนรมิตชุดกำเนิดพระเยซูสำหรับประดับวัดประจำหมู่บ้าน
งามประณีตและวิจิตรพิสดารมาก จนพระเจ้า Ludwig II ต้องเสด็จไปชมที่หมู่บ้าน Oberammergau ในปี 1872
และทรงพอพระทัยมาก.
งานแกะชุดใหญ่นี้ต่อมา ถูกย้ายไปตั้งประดิษฐานในพิพิธภัณฑ์ของหมู่บ้าน
เพื่อให้ผู้คนที่ผ่านไปมาในหมู่บ้านได้เห็นและชื่นชมกันอย่างทั่วถึง.
นี่เป็นส่วนหนึ่งของงานไม้แกะสลักที่เนรมิตเป็นฉากกำเนิดพระเยซู
ที่ละเอียดประณีต ประกอบด้วยเหตุการณ์ต่างๆที่นำไปสู่ตอนกำเนิดพระเยซู. ทุกชิ้นแกะขึ้นจากไม้ทั้งสิ้น เรียกกันว่า Weihnachtskrippe หรือ Christmas Crib. เป็นชุดที่มีชื่อเสียงมากที่สุดและที่ใช้เวลาประดิษฐ์ทั้งหมดกว่าร้อยปี. พระเจ้า Ludwig II เสด็จไปชมและทรงพอพระทัยมาก. งานสร้างสรรค์ชิ้นนี้ปัจจุบัน
ประดิษฐานอยู่ที่ชั้นล่างของพิพิธภัณฑ์ Oberammergau Museum.
การแกะสลักไม้ได้กลายเป็นศิลปะที่ขึ้นหน้าขึ้นตาของหมู่บ้าน
Oberammergau
เป็นที่กล่าวขวัญนอกดินแดนภาคใต้ของเยอรมนีออกไปสู่นานาประเทศ. เริ่มจากการเป็นธุรกรรมภายในครอบครัว เป็นธุรกิจขนาดย่อม ส่งขายแก่พ่อค้าในหมู่บ้าน
หรือแก่ช่างแกะสลักด้วยกัน คนขายจะ “แบกเร่ขาย” ไปในถิ่นต่างๆ
ด้วยการแบกผลผลิตรวมกันบนแคร่ไม้ที่จัดทำเหมือนเครื่องหลังแบบเป้ (เรียกว่า
kraxe [ครั้กเสอะ]). ไม่นานต่อมา
เมื่อการค้าปลีกขยายตัวออกไป มีการก่อตั้งศูนย์รวมและเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ขึ้นหลายแห่ง
สร้างเป็นเครือข่ายการตลาดแบบใหม่ขึ้น แยกฝ่ายผลิตและฝ่ายขายปลีกออกจากกัน เกิดอาชีพพ่อค้าผู้นำผลผลิตออกไปเร่ขายในถิ่นอื่นๆทั่วทั้งยุโรป[9] แบบไปถึงหน้าบ้านเลยทีเดียว. ตั้งแต่ศตวรรษที่18 งานไม้แกะสลักของหมู่บ้านนี้ มีขายออกไปทั่วโลกแล้ว
ทั้งรูปไม้กางเขน
(ชาวคริสต์มีไม้กางเขนประจำบ้านไม่น้อยกว่าสามสี่อันต่อครัวเรือน), รูปนักบุญ,
รูปประดับในฉากกำเนิดพระเยซู,
รูปเครื่องใช้ไม้สอยในครัวเรือน, และของสะสมหรือของเล่นแบบต่างๆ. งานไม้แกะสลักในปัจจุบันได้วิวัฒน์พัฒนาหัวข้อขึ้นตามค่านิยมของแต่ละยุคสมัย เช่น ชายหนุ่มเล่นดนตรี, ผู้หญิงกำลังวิดน้ำหรือ เด็กๆในอิริยาบถต่างๆ,
มีทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย, เล่นกัน, อ่านหนังสือ, เล่นดนตรี, ร้องเพลง,
นอนหลับ, ไปโรงเรียนเป็นต้น และยังมีรูปสัตว์ประเภทต่างๆ หรือรูปลักษณ์อื่นๆอีกมาก[10] ชาวเยอรมันยังนิยมซื้อรูปไม้จำหลักเป็นของขวัญวันเกิดแก่เด็กและลูกหลาน.
ในปัจจุบันมีนายช่างฝีมือที่เปิดบ้านให้คนเข้าไปชมการแกะสลักประจำวันที่เขาทำอยู่และสามารถซื้อผลงานของเขาได้เลยที่บ้าน. ศิลปะการแกะสลักไม้ยังคงทำกันเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าจำนวนศิลปินนักแกะสลักไม้ในหมู่บ้านได้ลดลงไปมาก
เหลือประมาณห้าสิบคน
แต่เมื่อเทียบจำนวนประชากรในหมู่บ้านที่มีราวห้าพันกว่าคน ก็ยังนับว่าสำคัญอยู่. ในหมู่บ้าน(บนถนน Ludwig Lang Strasse) มีสถาบันรัฐเพื่อการเรียนการสอน. จรรโลงและถ่ายทอดความรู้และพัฒนาฝีมือแก่อนุชนรุ่นต่อๆมา
(เช่นที่ Pilatushaus โปรดดูต่อข้างล่างนี้). กิจกรรมที่ทำในระหว่างฤดูหนาว ได้กลายเป็นงานประจำ, เป็นอาชีพ,
หรือเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์เนรมิตศิลป์แขนงนี้ต่อมาจนทุกวันนี้ และในที่สุดงานไม้แกะสลักเป็นเอกลักษณ์เฉพาะอย่างหนึ่งของวัฒนธรรมพื้นบ้านของเยอรมนี.
ไม้เป็นวัสดุชนิดเดียวในงานแกะสลักของศิลปินชาวบ้าน Oberammergau.
ใช้แต่ไม้สน(spruce) บางทีก็ใช้ไม้จากต้น Lime tree (ต้นไลม์หรือในภาษาเยอรมันเรียกว่า
ต้นลินเด้น - linden). ไม้สองชนิดนี้มีลวดลายเนื้อไม้ที่แตกต่างจากเนื้อไม้อื่น
ทำให้งานแกะสลักของถิ่นนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะ ผิดจากงานแกะสลักไม้ถิ่นอื่นๆ ที่ใช้ไม้โอ๊คหรือไม้อื่นเป็นวัสดุ.
ในแถบอื่นๆของประเทศ
นายช่างใช้วัสดุแบบอื่นเข้าช่วยเช่นลวด โลหะ ปลาสติก และเครื่องกลไกสมัยใหม่
ประกอบกัน ทำฐานโชว์เป็นกล่องสี่เหลี่ยมหรือทรงกลม
กลายเป็นกล่องดนตรีตามรสนิยมที่พัฒนาไปตามยุคสมัย. เมื่อไปประเทศเยอรมนีจะได้เห็นร้านค้าที่ขาย “ของเล่น” แบบนี้โดยเฉพาะ. เป็นของเล่นหรือของสะสมราคาแพงทีเดียว.
เป็นราคาของฝีมือบวกวิญญาณสำนึกอันละเอียดอ่อนของศิลปินผู้ทำ. ผลิตผลงานที่เห็นกันตามร้านที่
Oberammergau
ย่อมมีคุณภาพและฝีมือแตกต่างกัน
รวมทั้งที่มีผลผลิตแบบอุตสาหกรรมจากเอเชียที่ปะปนสอดแทรกในหมู่งานฝีมือแท้ๆของนายช่างชาวเมือง
Oberammergau
.
ร้านขายผลิตภัณฑ์งานไม้แกะที่มีป้ายบอกด้วยว่ามีสิ่งประดับสำหรับการจัดทำฉากกำเนิดพระเยซูในเทศกาลคริสต์มาส.
ของที่ห้อยๆอยู่นอกร้านเป็นงานชิ้นเล็กชิ้นน้อยแบบต่างๆ. ให้สังเกตภาพเฟรสโก้บนกำแพงหน้าบ้านชั้นสองด้วย.
หน้าต่างแบบเรียบ มีจิตรกรรมประดับรอบ
ทำให้มองดูเหมือยกรอบหน้าต่างที่สวยงามวิจิตร.
นี่ก็เป็นอีกร้านหนึ่งที่ขายงานไม้แกะ. วัดที่เห็นด้านหลังคือวัดโปรเตสแตนต์ในหมู่บ้าน
ตัวอย่างงานไม้ แกะเป็นฉากพระเจ้าสร้างโลก.
นี่เป็นภาพบนสวรรค์
อาดัมกับอีฟอยู่ในสวนสวรรค์ท่ามกลางธรรมชาติ
และฝูงสิงสาราสัตว์ที่พระเจ้าเนรมิตขึ้น.
ผลงานชิ้นประณีตงดงามนี้อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ของหมู่บ้าน
(Oberammergau
Museum)
ตัวอย่างไม้แกะสลัก
ภาพที่เห็นเป็นเพดานในภัตตาคารแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ใกล้ๆโรงละคร
เป็นอาคารเรือนไม้ที่จำหลักอย่างงดงามทั้งภายในและภายนอก
สิ่งแรกที่เตะตาผู้คนที่ผ่านเข้าไปในเมือง
ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองนี้นานมากน้อยเพียงใด
คือจิตรกรรมเฟรสโก้ที่ประดับกำแพงอาคารบ้านเรือนในหมู่บ้านนี้.
เป็นสิ่งดึงดูดสายตาและเป็นภาพลักษณ์หนึ่งของหมู่บ้าน Oberammergau
แต่การประดับอาคารด้านนอกด้วยจิตรกรรมเฟรสโก้แบบนี้ มิใช่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของหมู่บ้านนี้ เพราะเราจะเห็นได้ทั่วไปในแคว้นบาวาเรียและบางส่วนในแคว้นตีรอล
(Tyrol) ของออสเตรีย. แต่ที่พิเศษคือมีภาพเกี่ยวเนื่องกับคริสต์นาฏกรรมจำนวนมากกว่า.
มีภาพชีวิตชาวบ้านและภาพจากเทพนิยายพื้นบ้านด้วยเช่นกัน.
เฟรสโก้แบบนี้เรียกกันในภาษาเยอรมันว่า lüftmalerei [ลูฟทฺมาเลอราย]
(ที่แปลได้ว่า จิตรกรรมในอากาศ).
เทคนิคการเนรมิตเฟรสโก้แบบนี้เข้าใจว่ามาจากการประดับด้านหน้าอาคารในศิลปะบาร็อคในประเทศอิตาลีและภาคใต้ของเยอรมนี[11] และเริ่มนิยมกันในแถบหุบเขาแอลป์ในศตวรรษที่สิบแปดเท่านั้น.
ในตอนนั้นพ่อค้าและนายช่างฝีมือผู้ร่ำรวยต้องการเสริมหน้าตาด้วยการประดับเฟรสโก้ด้านนอกของอาคารที่พักหรือร้านค้า
ให้ทุกคนได้เห็น. ตัวอย่างเฟรสโก้ที่สวยงามเป็นพิเศษในหมู่บ้านนี้คือเฟรสโก้ที่ประดับ
Pilatushaus (โปรดดูภาพและอ่านรายละเอียดในบทความข้างล่างนี้) โดยเฉพาะด้านที่ติดสวน
เสนอภาพพระเยซูกำลังถูกปิลาตตัดสินความ.
เฟรสโก้ภาพนี้ แสดงชีวิตของชาวบ้านในกิจกรรมต่างๆ
ให้สังเกตโดยเฉพาะด้านขวาของภาพ เห็นคนหนึ่งกำลังแกะสลักไม้ และสุดภาพมีคนหนึ่งกำลังก้าวออกไปทางประตู
ข้างหลังเขามีแคร่ไม้ที่บรรทุกสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นงานไม้แกะสลัก. เขาแบกขึ้นหลัง
กำลังจะออกไปเร่ขายตามบ้านในถิ่นต่างๆ.
สุดทางถนน König-Ludwig-Strasse
ในหมู่บ้านนี้
มีเนินสูงที่เป็นที่ตั้งของประติมากรรมชุด Kreuzigungsgruppe เป็นชื่อเรียกกลุ่มประติมากรรมหินอ่อนจำหลักเหตุการณ์พระเยซูถูกตรึงบนไม้กางเขน
มีอัครทูตจอห์นและพระแม่มารีขนาบอยู่สองข้างไม้กางเขน. ความสูงทั้งหมดคือ 12.192 เมตร.
เป็นอนุสาวรีย์หินอ่อนที่พระเจ้า Ludwig II ทรงประทานให้แก่ชาวบ้าน Oberammergau
หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จมาชมการแสดงคริสต์นาฏกรรมรอบพิเศษที่หมู่บ้านนี้ในปี 1871. การแสดงรอบพิเศษนี้เพื่อพระองค์โดยเฉพาะ มิได้เป็นการแสดงปกติเพื่อชาวบ้านและสาธารณชน.
มีผู้ติดตามพระองค์ผู้เข้าชมการแสดงด้วยอีกสี่คนเท่านั้น. พิธีเปิดอนุสาวรีย์นี้ทำที่หมู่บ้านในวันที่ 15 เดือนตุลาคมปี 1875 เพื่อฉลองวันคล้ายวันประสูติครบห้าสิบชันษาของพระมารดาของพระเจ้าลุดวิกที่สอง.
ในการแห่อนุสาวรีย์ขนาดใหญ่นี้ขึ้นไปบนเนินเขา มิใช่เป็นเรื่องง่ายเลย.
พระองค์ได้ส่งรถม้าพิเศษที่ทรงเจาะจงให้สร้างขึ้นเพื่อนำอนุสาวรีย์ชิ้นนี้มายังหมู่บ้าน
และนำขึ้นไปประดิษฐานบนเนินเขา.
เกิดอุบัติเหตุรถม้าคว่ำและทับนายช่างจำหลักหินคนสำคัญกับนายช่างตัดหินเสียชีวิต.
มีผู้สังเกตว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากที่พระองค์เสด็จมาที่หมู่บ้าน
และทรงสั่งให้ถ่ายภาพฉากการแสดงคริสต์นาฏกรรมไว้ [12]
กลุ่มประติมากรรมหินอ่อนจำหลักเป็นเหตุการณ์การตรึงไม้กางเขน
มีรูปปั้นของพระแม่มารีและอัครสาวกจอห์นขนาบสองข้าง. กลุ่มประติมากรรมนี้เป็นสิ่งที่พระเจ้า Ludwig II พระราชทานแด่ชาวบ้าน Oberammergau หลังจากที่ได้เสด็จไปชมการแสดงในปี
1871.
ผู้ถ่ายภาพนี้ใช้นามว่า Paleontour เมื่อวันที่
1 มีนาคม 2009 เวลา 15:01 ปรากฏใน Wikimedia Commons.
ในหมู่บ้านมีพิพิธภัณฑ์ (Oberammergau Museum) ที่ Guido Lang [กีโด ลัง] (1865-1921) เป็นผู้ให้สร้าง.
เขาเป็นผู้แทนจำหน่ายและเผยแพร่ผลงานแกะสลักของหมู่บ้านนี้. ได้จ้างสถาปนิกจากเมืองมิวนิกชื่อ Franz Zell [ฟรันซ เซล] มาออกแบบและควบคุม.
พิพิธภัณฑ์นี้เปิดตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี
1910 และปี 2010 ครบรอบร้อยปีของการสถาปนาพิพิธภัณฑ์. อาคารพิพิธภัณฑ์จึงเป็นอาคารที่เก่าแก่ที่สุด
สำคัญที่สุดและสวยที่สุดในประวัติวัฒนธรรมของแคว้านบาวาเรีย. การแกะสลักไม้ในหมู่บ้านก็ทำกันมากว่าห้าร้อยปี. ที่นี่จึงรวมผลงานไม้แกะสลักตั้งแต่ศตวรรษที่สิบเจ็ดเป็นต้นมา มีผลงานฝีมือชั้นครูแสดงไว้เป็นจำนวนมาก. ผู้ไปชมจะได้เห็นงานฝีมือชั้นเยี่ยมเป็นรูปไม้กางเขนบ้าง
รูปพระเยซู พระแม่มารี นักบุญ ของเล่นเป็นไม้ทาสี เป็นกล่องเครื่องเย็บปักถักร้อย
หรือเป็นสิ่งทับกระดาษที่แกะจากต้นไม้เมเปิลหรือจากต้นไม้ที่ให้ผลอื่นๆ รวมทั้งรูปลักษณ์ใหม่ๆ
เป็นประติมากรรมไม้จำหลักสมัยใหม่. ทั้งหมดเป็นพยานหลักฐานของฝีมือและวิญญาณสร้างสรรค์ของชาวบ้าน
Oberammergau.
ดังกล่าวไว้ข้างต้นประดิษฐกรรมชุดกำเนิดพระเยซูที่งามวิจิตรประณีตของหมู่บ้านนี้
อยู่ในห้องที่จัดเป็นพิเศษ ชั้นล่างของพิพิธภัณฑ์. พิพิธภัณฑ์นี้ยังเป็นเอกสารด้านสังคมของหมู่บ้าน,
ชีวิตในหมู่บ้าน, ชีวิตประจำวันของชาวบ้าน, ระบบการค้าขายเป็นต้น. แน่นอนว่า พิพิธภัณฑ์นี้มีนิทรรศการประวัติการจัดแสดงคริสต์นาฏกรรม,
การพัฒนาบทละครพร้อมดนตรีประกอบ,
การเปลี่ยนแปลงในการจัดฉาก, ในเครื่องแต่งกายของตัวละครในแต่ละยุค เป็นต้น.
ยังมีสำเนาบทละครฉบับปี 1662
ที่เป็นฉบับที่เก่าแก่ที่สุดที่เหลือตกทอดมา. ในแต่ละโอกาสยังมีการจัดนิทรรศการผลงานด้านศิลปะของศิลปินปัจจุบันอีกด้วย.
สถานที่อีกแห่งที่ต้องกล่าวถึง
มีชื่อเรียกว่า Pilatushaus [ปีลาตุซเฮาซ] และโดยเฉพาะเฟรสโก้ฝีมือของ
Franz
Seraph Zwink [ฟรันซฺ เซอราฟ ฉวิงคฺ] (1748-1792) ที่เนรมิตประดับกำแพงของอาคารตั้งแต่ปี 1784. อาคารนี้เป็นศูนย์การเรียนการสอนศิลปะการแกะสลักไม้ของหมู่บ้าน
ที่เป็นสถาบันที่ได้รับการรับรองจากรัฐ.
ปีกหนึ่งของอาคารชั้นล่างเป็นห้องแกะสลักที่เปิดให้คนเข้าไปชมการทำงานของศิลปิน
มีการเนรมิตงานฝีมือด้านอื่นด้วยเช่นจิตรกรรมประดับไม้เป็นต้น. ผู้เข้าชมจะได้เห็นฝีมือและเทคนิคของพวกเขาอย่างใกล้ชิดกับตาตนเอง.
ประตูทางเข้า Pilatushaus ที่เป็นทั้งพิพิธภัณฑ์งานไม้แกะสลัก
และเป็นสถาบันสอนและฝึกนายช่างไม้แกะสลัก
ในหมู่บ้าน Oberammergau.
ในอาคารมีนิทรรศการศิลปะจิตรกรรมหลังกระจก
(Paintings
behind Glass) [13] ที่รวมวัตถุสะสมจากศิลปะด้านนี้ไว้ได้มากกว่าหนึ่งพันชิ้น. โดยเฉพาะเมื่อ Johann Krötz
[โจฮัน
เคริส] (1858-1919) บริษัทกลั่นเบียร์ที่เมือง Murnau [มูรเนา] ได้นำสมบัติสะสมที่เป็นงานจิตรกรรมหลังกระจก
มามอบให้แก่ศูนย์ Pilatushaus ในปี 1955. งานเนรมิตศิลป์เหล่านี้ทำขึ้นในหมู่บ้าน Oberammergau และในหมู่บ้านรอบๆทะเลสาบ Staffel [สตัฟเฟิล].
ที่น่าสนใจคือผลงานเหล่านี้เป็นที่สนใจของศิลปินเช่น Wassily Kandinsky [วาสิลี กันดิ๊นสกี] และ Franz Marc [ฟรั้นซ มารก] ผู้ได้นำตัวอย่างงานเนรมิตศิลป์จากที่นั่นจำนวนเก้าชิ้น
ไปพิมพ์ลงใน The Blue Rider [เธอะ บลู
ไรเดอ] ปี 1912.
ตัวอย่างจิตรกรรมบนหลังกระจก
(verre
eglomisé)ชุดนี้ แสดงภาพชีวิตคนในแต่ละฤดูกาล.
ภาพมุมบนซ้ายเป็นฤดูใบไม้ผลิ หนุ่มสาวออกเดินเล่นในสวน. มีสาวใช้เด็ดดอกไม้มาให้. ภาพมุมบนขวา เป็นฤดูร้อน
ชายคนหนึ่งยกเหยือกน้ำขึ้นดื่ม หญิงสองคนเอนตัวลงนอนพัก มีเคียววางที่หญ้า
สื่อว่าพวกเขาทำงานมาในอากาศร้อนๆ จึงพักบ้าง.
ภาพมุมล่างซ้าย เป็นฤดูใบไม้ร่วง ผู้ชายคนหนึ่งปีนขึ้นไปเก็บเกี่ยวพวงผลไม้
ผู้หญิงถือตะกร้ารอรับผลไม้อยู่ข้างล่าง
ผู้ชายอีกคนหนึ่งกำลังก้มทำอะไรอยู่
และผู้หญิงอีกคนหนึ่งหิ้วตะกร้าเดินออกไป.
ภาพมุมล่างขวา เป็นฤดูหนาว สามคนนุ่งห่มมิดชิด อยู่ข้างกองไฟที่กำลังลุกโชน
มืออังไฟเพื่อความอบอุ่น. ภาพถ่ายจากพิพิธภัณฑ์รวมจิตรกรรมบนหลังกระจกใน
Pilatushaus.
เมื่อกล่าวถึงหมู่บ้าน
ย่อมต้องรวมวัดประจำของหมู่บ้านด้วย เพราะวัดเคยเป็นสัญลักษณ์ของหมู่บ้าน.
หอระฆังของวัดในชนบทที่อาจมองเห็นได้ไกลๆจากหน้าต่างรถไฟที่วิ่งข้ามเมือง ชี้บอกว่าที่นั่นมีหมู่บ้าน, เป็นจุดรวมจิตสำนึกของชุมชนหนึ่ง. วัดประจำหมู่บ้าน ก็เช่นกัน
สร้างขึ้นในระหว่างปี 1736-1742 เป็นตัวอย่างที่งดงามตัวอย่างหนึ่งของศิลปะยุคร็อกโกโก[14] ภายในวัดทาสีขาวประดับสีทอง
ประกอบด้วยประติมากรรมไม้จำหลักฝีมือของชาวบ้านเอง รวมทั้งองค์ประกอบต่างๆเช่น แท่นบูชา
รูปปั้นทุกรูปหรือส่วนที่คิดว่าเป็นหินอ่อนนั้น แท้จริงเป็นงานไม้ทั้งสิ้น เพดานที่ประดับด้วยจิตรกรรมเฟรสโก้ก็เป็น
ฝีมือของศิลปินลูกบ้าน Oberammergau เอง. ทั้งหมดรวมกันสร้างบรรยากาศที่สงบและสว่างโปร่งใส. ในวัดมีไม้กางเขนบนแท่นบูชาด้านทิศใต้ เบื้องหน้าไม้กางเขนนี่เอง ที่ชาวบ้านไปรวมกันในปี
1633 สวดวิงวอนและบนบานต่อพระเจ้าในยามจนมุม
(ดังได้กล่าวมาข้างบน). วัดนี้ชาวบ้านสร้างอุทิศแด่พระแม่มารีและนักบุญปีเตอร์กับนักบุญปอล
จึงมาเป็นชื่อเรียกวัด (St.Peter und Paul). วัดนี้เป็นวัดโรมันคาทอลิก.
วัดคาทอลิกหรือที่เรียกกันว่าวัดประจำหมู่บ้าน (St.Peter und Paul) ภายในตกแต่งตามศิลปะร็อคโกโก.
ให้สังเกตแท่นบูชาทางขวามือที่เห็นพระเยซูบนไม้กางเขน. เบื้องหน้าแท่นบูชานี้เอง
ที่ชาวบ้านมารวมกัน ทำปฏิญญาต่อพระผู้เป็นเจ้าในปี 1633 ว่าจะจัดการแสดงคริสต์นาฏกรรมหากหมู่บ้านพ้นจากภัยโรคระบาด.
จารึกของวัดที่บันทึกการเกิด
การรับศีลจุ่ม การแต่งงาน และการตายของบุคคลในหมู่บ้าน. มีรายชื่อของผู้ที่เสียชีวิตในโรคระบาดปี
1633. จึงเป็นเอกสารยืนยันและเป็นพยานโดยตรงของหมู่บ้านเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่นำไปสู่การจัดการแสดงคริสต์นาฏกรรมทุกสิบปี
ตั้งแต่ปี 1634 เป็นต้นมา. เอกสารนี้อยู่ที่วัดประจำหมู่บ้าน.
ในหมู่บ้านมีวัดโปรเตสแตนต์ (ชื่อในภาษาเยอรมันที่นั่นคือ Die
Evangelisch-Lutherische Kreuzkirchengemeinde) เป็นวัดแบบเรียบง่ายกว่า เพราะดั้งเดิมเป็นบ้านชาวนา
อยู่ไม่ไกลจากโรงละคร
ผู้นับถือนิกายโปรเตสแตนต์(ตามแนวของมาร์ตินลูเธอร์) ก็ร่วมการแสดงและเล่นดนตรีในคริสต์นาฏกรรมปี
2010 ด้วยเช่นกัน.
วัดโปรเตสแตนต์ในหมู่บ้าน (Die Evangelisch-Lutherische Kreuzkirchengemeinde).
ภายในวัดเป็นแบบเรียบๆ (เกือบ)ไม่มีสิ่งประดับตกแต่งเลย ตามอุดมการณ์ของลัทธิโปรเตสแตนต์เป็นที่สงบจิตสงบใจที่ดีแห่งหนึ่ง.
ดูเหมือนว่าชาวคาทอลิกกับโปรเตสแตนต์ในหมู่บ้านนี้อยู่เคียงข้างกันไปในความตั้งใจมุ่งมั่นเดียวกันที่จะจรรโลงการปฏิบัติตามคำที่ชาวบ้านในยุคศตวรรษที่สิบเจ็ดได้บนบานไว้
และรวมกันในจิตศรัทธาต่อศาสนาเดียวกัน แม้ในหลักการปลีกย่อยจะแตกต่างกัน. หมู่บ้านนี้นับเป็นตัวอย่างของชุมชมที่สามัคคีกลมเกลียวกันทั้งในยามทุกข์และในยามสงบ. การจัดแสดงคริสต์นาฏกรรมเป็นพยานหลักฐานที่ดีที่สุด.
เนื้อหาของการแสดงและบทละครที่ใช้
การนำเหตุการณ์ในช่วงชีวิตสุดท้ายของพระเยซูมาถ่ายทอดในรูปบทละครนั้น
ต้องมีบทแสดงและบทเจรจาสำหรับผู้แสดงแต่ละคน.
บทละครของคริสต์นาฏกรรมในยุคก่อนๆที่เคยจัดทำกันในยุโรป ไม่เหลือตกทอดมาให้เห็นเป็นตัวอย่างเลยจนถึงฉบับในศตวรรษที่สิบห้าสิบหก.
บทละครที่เก่าแก่ที่สุดที่นักประวัติศาสตร์สามารถแกะรอย
เจาะจงได้อย่างมั่นใจ คือ บทที่ใช้ในปี 1662 ที่ประกอบด้วย
4902 บรรทัด. เป็นบทที่เขียนขึ้นโดยอิงเนื้อหาจากบทละครของเมือง Augsburg [เอ๊าสบูรก] ฉบับปลายศตวรรษที่ 15 และจากบทละครของเมือง Nürnberg [นูรึนแบรก] ฉบับศตวรรษที่ 16. กล่าวสั้นๆคือ
บทละครที่ใช้ๆกัน มักได้อาศัยแนวทางการสร้างคำพูด คำเจรจาจากฉบับของเมืองอื่นๆ ที่ก็รับมาจากที่อื่นอีกเช่นกัน
จึงยากที่จะเจาะจงว่าฉบับใดเป็นฉบับแรก.
คณะผู้จัดการแสดงได้ทบทวน
เปลี่ยนแปลงบทละครเก่าๆที่ใช้ๆกัน. ในปี 1750 บาทหลวง Ferdinand Rosner [แฟรดินัน ร้อซแนร] นักบวชคติเบเนดิคตินจากอารามเมือง
Ettal [เอ๊ดทัล] ได้เขียนบทละครขึ้นใหม่ทั้งหมด
เรียกกันว่าเป็นฉบับ Passio Nova [ปัซซีโย
โนวา] (แปลว่าฉบับใหม่). ฉบับนี้ประกอบด้วยคำกลอน
8547 บรรทัด ใช้ภาษาทางการ สละสลวยตามขนบของการละครร็อคโกโก. ฉบับนี้เน้นบทบาทของซาตานในฐานะที่เป็นผู้ดลใจและผู้ผลักดันเหตุการณ์ให้เดินหน้าไปสู่จุดสุดยอดของเนื้อเรื่อง
(climax). เนื้อหาดังกล่าว ทำให้มีการวิพากษณ์วิจารณ์ว่าเกินขอบเขตของเรื่องที่เล่าไว้ในคัมภีร์ใหม่.
ในปี 1770 รัฐบาลบาวาเรียได้สั่งให้ยุติการแสดง
แต่ชาวบ้าน Oberammergau รวมกันประท้วงอย่างไม่ลดละ จนในที่สุดคำสั่งห้ามถูกยกเลิกไป
และการแสดงดำเนินต่อไปในปี 1780 และปี 1790. คณะผู้จัดได้ตัดจำนวนบทกลอนลดลงไปเหลือ 4809 บรรทัดและมิได้เน้นบทบาทของพญามาร หรือเล่าแจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับนรก
เพียงแต่พาดพิงไปถึงนิดๆหน่อยๆ และเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกสั่งห้ามอีก บาทหลวง Othmar Weis [อ็อทมาร
ไวซ] พระนักบวชจากอารามที่ Ettal ได้แต่งบทละครขึ้นใหม่ในปี 1811. ฉบับใหม่นี้ไม่มีบทบาทของพญามารรวมอยู่ด้วยเลย
และยึดเนื้อหาในคัมภีร์ใหม่เท่านั้น เจาะจงว่าจุดมุ่งหมายเดียวในการจัดแสดงคือการแสดงโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในชีวิตช่วงสุดท้ายของพระเยซูและการตายของพระองค์เท่านั้น.
Weis เน้นความหมายของการสำนึกผิดและการชดใช้บาป ได้ตัดเนื้อหาที่เป็นแบบเปรียบเปรย
ที่มาจากตำนานอื่นๆและที่เน้นความขลังหรือปาฏิหาริย์ออกไปหมด ทั้งยังแทรกเนื้อหาจากเทววิทยายุคใหม่ เปลี่ยนคำพูดเป็นบทร้อยแก้ว เป็นถ้อยคำยาวๆ เน้นเนื้อหาด้านคุณธรรม
และเสนอให้เห็นความขัดแย้งในสังคม. Weis ยังได้เก็บลักษณะบางอย่างในบทละครฉบับของ Rosner ไว้. นั่นคือการจัดฉากนิ่งที่ผู้แสดงนิ่งอยู่กับที่บนเวทีในตำแหน่งและในบทบาทตามบริบทของเหตุการณ์ในคัมภีร์เก่า
( ฉากนิ่งจึงเหมือนภาพจิตรกร) และเมื่อตามกาลเวลามาสู่คัมภีร์ใหม่ ผู้ชมก็จะเข้าใจการเปรียบโยงเนื้อหาในคัมภีร์เก่าและใหม่พร้อมๆกันไป.
ฉากการแสดงภาพนิ่งมีทั้งหมดสิบสามฉาก.
การแสดงปีนั้น (1811) มีดนตรีประกอบที่เป็นผลงานของ
Rochus
Dedler ลูกบ้าน Oberammergau ผู้เป็นครูประจำหมู่บ้าน.
ปี 1815 มีการแสดงรอบพิเศษเพื่อฉลองการสิ้นสุดของสงครามกับนโปเลียน.
ในตอนนั้น ได้มีการชำระบทละครของ Weis และดนตรีของ Dedler อย่างละเอียดลออ. การชำระเนื้อหาบทละครครั้งนี้
ได้เปิดโอกาสให้มีการแทรกและเพิ่มจำนวนบุคคลบนเวทีละครด้วย เช่นในตอนที่เล่าถึงพระเยซูขี่ลาเข้าเมืองเยรูซาเล็ม
และมีประชาชนมารวมกันต้อนรับพระองค์ มือถือใบปาล์มโบกไปมาตามทางที่พระองค์ผ่าน.
ฉากนี้เป็นโอกาสให้ชาวบ้านจำนวนมากตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงผู้สูงอายุ (รวมทั้งสัตว์ในหมู่บ้าน)
ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแสดง ซึ่งเท่ากับการปลูกฝังวิญญาณสำนึกแก่เด็กๆและกระชับศรัทธาของผู้ใหญ่ด้วยจิตแน่วแน่ที่จะดำเนินการแสดงต่อไปตราบนานเท่านาน.
นอกจากฉบับของ Weis ยังมีฉบับของ Alois Daisenberger [อลัว
ไดเซ็นแบรเกอ] นักบวชคนหนึ่งของหมู่บ้าน
แต่งขึ้นสำหรับการแสดงในปี 1850.
เขายึดเนื้อหาจากคัมภีร์ใหม่ฉบับของอัครทูตจอห์นเป็นหลัก. แต่ในที่สุด รัฐบาลสั่งให้ชำระเนื้อหาให้ดี มีการนำทั้งฉบับของ Weis และของ Daisenberger มาประสมประสานกัน. ได้บทละครฉบับใหม่เรียกว่าฉบับ Weis- Daisenberger ที่จะใช้แสดงกันต่อมาจนถึงปี
2000 (มีเปลี่ยนแปลงบ้างระหว่างทศวรรษในส่วนที่เกี่ยวกับเครื่องแต่งตัวของผู้แสดง ดนตรีและการจัดฉาก). ฉบับนี้เน้นการใช้ภาษาที่กะทัดรัด
กระชับมโนสำนึกในศาสนาให้คุกกรุ่นและสร้างความอบอุ่นใจแก่ผู้ดู. สัญลักษณ์ในบทละครก็เป็นแบบสามัญเข้าใจง่าย นับเป็นฉบับ “ชาวบ้าน” ที่นิยมกันทั่วไป
และกลายเป็นสิ่งขับเคลื่อนวิญญาณสำนึกในศาสนาที่ดีที่สุด.
อย่างไรก็ตาม ฉบับ Weis- Daisenberger ก็ทำให้เกิดข้อโต้แย้งขึ้นมาว่า เนื้อหาเสนอให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างความดีกับความชั่ว
โดยมีชาวคริสต์เป็นฝ่ายความดีและชาวยิวเป็นฝ่ายความชั่ว แม้ว่าตามข้อเท็จจริงในคัมภีร์ ครอบครัวของพระเยซู
อัครสาวกและสาวกทั้งหลายเป็นชาวยิวเหมือนกัน.
ในการแสดงคริสต์นาฏกรรมของหมู่บ้าน Oberammergau ตั้งแต่ปี 1634 เป็นต้นมานั้น แน่นอนที่ชาวบ้านมิได้มีเจตนาแอบแฝงของการรังเกียจชนเผ่ายิว
เพราะการรังเกียจเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นในสังคมโลกนั้นโดดเด่นขึ้นในปลายศตวรรษที่ 19 เท่านั้น.
เนื้อหาบทละครจึงเป็นไปตามค่านิยมและจิตสำนึกของสังคมในยุคของผู้ประพันธ์.
อย่างไรก็ดี แม้ว่าทุกคนรังเกียจอคติแบบนี้ ชาวยิวยังคงถูกประณามบ่อยๆว่า “เป็นผู้ฆ่าพระคริสต์” .
ประเด็นยากอีกประเด็นหนึ่ง คือการสาปแช่งว่า
เราและลูกหลานเราต้องตายเลือดไหลนอง (ดังปรากฏครั้งแล้วครั้งเล่าในคัมภีร์ฉบับ
Matthew
27:25). การกล่าวซ้ำแล้วซ้ำอีก เพียงเพื่อกระตุ้นทีท่าที่มีต่อชาวยิวในเรื่องว่าต้องตาย และเมื่อฮิตเลอร์ไปชมการแสดงที่หมู่บ้านในปี 1930 พร้อมด้วย Joseph Goebbels หัวหน้าฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อ
ก็ยิ่งไม่ช่วยลดอคตินี้ลงเลย ทั้งๆที่ในปีนั้นคติชาตินิยมก็ยังมิได้เริ่มขึ้น
(คติชาตินิยมโผล่ขึ้นเต็มตัวในช่วงปี
1933-1945 ). ความขัดแย้งในความคิดเห็นทวียิ่งขึ้นเมื่อฮิตเลอร์ผู้กลายเป็นบุคคลหมายเลขหนึ่งของเยอรมนีได้ไปชมการแสดงที่หมู่บ้านอีกครั้งหนึ่งในปี
1934 ที่จัดเป็นพิเศษครบรอบสามร้อยปีที่ชาวบ้านได้ทำปฏิญญาต่อพระเจ้าไว้ตั้งแต่ปี
1633 และที่ได้จัดการแสดงครั้งแรกในปี
1634 ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น. ฮิตเลอร์ได้ให้ความเห็นคล้อยตามเนื้อหาของบทละครว่าสมควรให้เป็นไปตามนั้น. ห้าปีต่อมาฮิตเลอร์ได้เขียนเกี่ยวกับการแสดงคริสต์นาฏกรรมว่า
“จำเป็นต้องให้การแสดงคริสต์นาฏกรรมดำเนินอย่างต่อเนื่องที่หมู่บ้าน
Oberammergau
ไม่มีที่ใดหรือการแสดงใดที่สามารถถ่ายทอดการทรยศหักหลังของพวกยิวในยุคโรมันได้ดีเท่ากับการแสดงที่นั่น. ผู้ชมจะได้ตระหนักว่า Pontius Pilate (ผู้พิพากษาโทษพระเยซู) เป็นชาวโรมันที่เหนือกว่าทั้งในแง่เชื้อชาติและในแง่สติปัญญา เขาเด่นตระหง่านเหมือนหินผาที่สะอาดเกลี้ยงเกลาเหนือความโสโครกของชาวยิว” คำวิจารณ์ของฮิตเลอร์ มิได้ช่วยเผยแพร่การจัดการแสดงคริสต์นาฏกรรมเลย
แต่กลับตอกย้ำอคติให้รุนแรงขึ้นอีก. อคตินี้มิได้อยู่ในวิญญาณสำนึกของชาวบ้าน Oberammergau เลยแม้แต่น้อย.
การแสดงในปี 1940 ได้ถูกยกเลิกไปเพราะสงครามโลกครั้งที่สอง และได้กลับมาจัดการแสดงใหม่ในปี 1950. แน่นอนที่พฤติกรรมที่พวกนาซีมีต่อชาวยิวและการสังหารล้างเผ่าพันธุ์ของฮิตเลอร์
ทำให้ข้อขัดแย้งระหว่างชาวคริสต์ชาวยิวทวีความรุนแรงขึ้นอีก. ในปี 1965 สันตะปาปาจอห์นที่ยี่สิบสามได้ยกปัญหาบทละครคริสต์นาฏกรรมขึ้นในที่ประชุมสภาคณะสงฆ์ที่วาติกันครั้งที่สอง
และขอให้มีการตรวจสอบประเด็นนี้อย่างถี่ถ้วน.
หลังจากนั้นสภาคณะสงฆ์ได้ออกพระราชกฤษฎีกาว่า
ชาวคริสต์ควรมีทีท่าใหม่ในแง่บวกต่อชาวยิว และชาวยิวไม่ว่ารุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่ ไม่ใช่ผู้รับผิดชอบต่อการตายของพระเยซู.
เนื้อหาของบทละครถูกปรับเปลี่ยนแก้ไขในระหว่างปี 1969 ถึงปี 1989 เช่นการแสดงในปี 1970 ได้ตัดบทที่เกี่ยวกับการถากถางเยาะเย้ยชาวยิวออก
เพื่อลดคำวิพากษ์วิจารณ์ลง.
ถึงกระนั้นก็ยังมีการประท้วงรุนแรงจากกลุ่มชาวยิวอเมริกันและจากชาวคริสต์บางกลุ่มด้วย. บาทหลวงชาวยิวผู้หนึ่งเขียนวิจารณ์ว่า การแสดงคริสต์นาฏกรรมที่นั่นเป็น “ฝันร้าย”ที่รุกรานสิทธิความเป็นยิว. ภายในหมู่บ้าน Oberammergau เอง คณะกรรมการผู้จัดการแสดงได้ปรึกษาหารือว่า
ควรจะหยุดใช้บทละครฉบับของ Daisenberger และกลับไปใช้ฉบับปี 1750 ของ Rosner ดีกว่าไหม เพราะในฉบับนี้ ผู้แต่งกล่าวโทษพญามารมากกว่าชาวยิว.
คณะกรรมการได้เรี่ยไรเงินเพื่อทดลองแสดงตามคตินี้ในปี 1977.
นักวิจารณ์ทั้งหลายต่างชื่นชมการตัดสินใจนี้ แต่ชาวบ้านไม่เห็นด้วย เพราะมีความผูกพันกับฉบับของ
Daisenberger. โดยปริยายชาวบ้าน Oberammergau ต้องเป็นผู้ตัดสินขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับการแสดงและเนื้อหามากกว่าผู้ใดจากนอกหมู่บ้านมิใช่หรือ ? ในปี 1978 ผู้สนับสนุนการใช้ฉบับ Daisenberger เป็นบทละคร ได้รับเลือกเป็นประธานสภาชุมชน และตัดสินให้ใช้ฉบับ Daisenberger ต่อไปในการแสดงปี 1980 แต่ให้ปรับเปลี่ยนเนื้อหาบางตอนที่อาจสื่อการรังเกียจชนเผ่ายิวเสีย.
การเปลี่ยนเนื้อหาค่อยเป็นค่อยไป
ทำให้คณะกรรมการชาวยิวอเมริกันร่วมมือกับสภาต่อต้านการใส่ร้ายป้ายสี และสภาปัญญาชนชาวคาทอลิก
เข้าต่อรองกับชาวบ้าน Oberammergau
เพื่อกรองเนื้อหาของบทละครอีก.
ข้อขัดแย้งและการประท้วงจากกลุ่มต่างๆดังกล่าว
รวมทั้งจากชาวคาทอลิกและชาวโปรเตสแตนต์ มีผลในแง่บวกมากขึ้นๆ
ที่นำไปสู่การชำระเนื้อหาบทละครทั้งหมดสำหรับการแสดงปี 2000 ทั้งผู้กำกับการแสดง Christian Stückl และ Otto Huber ผู้กำกับคนที่สอง
(ผู้เป็นหัวหน้าตัวแทนหมู่บ้านในการเจรจากับกลุ่มต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น)
ได้ร่วมกันเขียนบทละครฉบับใหม่ทั้งหมด โดยเก็บเนื้อหาประมาณร้อยละหกสิบจากฉบับ Daisenberger แล้วนำมาเขียนใหม่. ไม่มีตอนสาปแช่ง เน้นให้รู้ว่าพระเยซูและเหล่าสาวกทั้งหลายเป็นชาวยิว.
ในฉากอาหารมื้อสุดท้าย ให้ตั้งเชิงเทียนแปดแฉก (ที่เรียงกันเป็นแนวเดียว เชิงเทียนแบบนี้ชาวยิวใช้ในพิธีเทศกาล Hanukkah) ให้เห็นอย่างชัดเจน
และเหล่าสาวกอัครทูตห่มผ้าคลุมไหล่ตามธรรมเนียมของชาวยิวเมื่อสวดมนต์ภาวนา. พระเยซูประทานพรในภาษาฮีบรู. ฉากพระเยซูถูกฟ้องและถูกนำตัวขึ้นศาลนั้น
ได้แทรกให้เห็นว่า ในกลุ่มของโจทก์ผู้ฟ้องร้องเองหลายคน ได้ประท้วงให้มีการพิพากษาที่ยุติธรรม. ฉบับปี 2000 ตัดคำสาปแช่งออกด้วย. มติคณะกรรมการของหมู่บ้านได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า “คริสต์นาฏกรรมมิได้มีเจตจำนงในการหาตัวผู้ใดผู้หนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
หรือเจาะจงกล่าวหาว่าใครผิด ใครเป็นผู้รับผิดชอบในการตายของพระเซู” เน้นให้แต่ละบทบาทมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากขึ้น.
เนื้อหาก็ไม่จำกัดอยู่กับการแสดงความทุกข์ทรมานของพระเยซูเท่านั้น
แต่เสนอภาพของพระองค์ ในฐานะของนักสู้เพื่อธำรงความเชื่อของพระองค์ โดยไม่ลืมที่จะเตือนสติชาวคริสต์ว่าพระเยซู
พระแม่มารี นางมารีมัดเดอแลน อัครสาวกทุกคน หรือชุมชนชาวคริสต์ในยุคแรกๆ
เป็นชาวยิวเหมือนกันทั้งหมดทั้งปวง.
ในการตระเตรียมการแสดงปี 2010 นั้น ผู้กำกับทั้งสองของปี 2000
ยังคงทำหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหา เพื่อมิให้มีอคติรังเกียจชนชาวยิวหลงเหลือในบทละคร พร้อมกับเน้นการสื่อ สารแห่งความรัก
แก่ผู้ชมในยุคต้นสหสวรรษที่ยี่สิบเอ็ดนี้. ศาสตราจารย์ดอกเตอร์ Ludwig Mödl [ลุดวิก เมอเดิล] นักประวัติศาสตร์ศาสนาแห่งมหาวิทยาลัยนครมิวนิก
ได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาด้านเทววิทยาเพื่อช่วยตรวจทานบทละครฉบับใหม่อย่างละเอียดถี่ถ้วนโดยเฉพาะในเรื่องการเสนอและสร้างภาพชาวยิวในการแสดงคริสต์นาฏกรรม. นอกจากนี้ยังมีคณะที่ปรึกษาซึ่งประกอบด้วยชาวคริสต์และชาวยิวที่ได้มารวมกันเพื่อช่วยให้การจัดทำบทละครเป็นไปตามเป้าหมาย.
การแสดงคริสต์นาฏกรรมจึงมิได้ราบรื่นตั้งแต่เริ่มต้น ทั้งๆที่ตามหลักการเป็นเรื่องเฉพาะส่วนตัวของชาวบ้านหมู่หนึ่ง
ที่ต้องการแสดงความกตัญญูรำลึกถึงพระเยซูคริสต์.
แต่คริสต์นาฏกรรมที่ Oberammergau
กลับกลายเป็นเรื่องระดับชาติและระดับนานาชาติไปแล้ว. สิ่งหนึ่งที่ยืนเป็นหลักอยู่เบื้องหลังความขึ้นลงของสังคมในแต่ละยุค
คือความทุ่มเทอย่างหมดจิตหมดใจของชาวบ้านนี้.
ไม่ว่าจะถูกห้าม ถูกกล่าวหา ถูกรุกรานจากสงคราม
พวกเขายังคงรวมกัน เป็นพลังใจที่ไม่ลดละ ต้านความแปรปรวนของอุดมการณ์หลายกระแส
พวกเขาพร้อมจะเริ่มใหม่ทุกครั้งเพื่อให้การแสดงนั้นคงอยู่และสืบต่อไป. การแสดงคริสต์นาฏกรรมที่นั่น มีชีวิตต่อมาได้เพราะผู้แสดงแต่ละคนนำชีวิตและจิตสำนึกส่วนตัว เข้าไปต่อเติมให้ . ผู้แสดง นักดนตรี ผู้กำกับ ผู้จัดฉาก
และทุกคนในหมู่บ้านไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
รวมทั้งผู้ไปชมจากทุกมุมโลก ทำให้หมู่บ้าน Oberammergau กลายเป็นศูนย์รวมจิตสำนึก ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันศูนย์หนึ่งในประวัติศาสตร์สังคมยุคใหม่ของยุโรป.
ในบทนำของหนังสือแนะนำหมู่บ้านและการแสดงที่แจกแก่ผู้ชมปี 2010 Otto Huber ผู้กำกับคนที่สองและที่ปรึกษาด้านการแสดงของคริสต์นาฏกรรม เขียนเน้นไว้ว่าประเด็นสำคัญที่สุดในการจัดการแสดงคริสต์นาฏกรรมปี 2010 คือปลูกความหวังและปลุกพลังในการดำเนินชีวิต วิธีหนึ่งก็คือการเชื่อในพระเจ้าอย่างแท้จริงและปฏิบัติตามด้วยการรักพระเจ้า
และการรักเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
เพราะพระเจ้าอยู่ในแต่ละคน และความรักที่มีต่อพระเจ้า คือความรักความเอื้อเฟื้อและเมตตากรุณาที่แต่ละคนแสดงต่อบุคคลที่อยู่รอบข้าง นี่เป็นจุดยืนใหม่ที่พระเยซูได้สอนไว้ ผู้อ่านต้องไม่ลืมบริบทสังคมในยุคนั้นว่าไม่สงบเพียงใด
เยรูซาเล็มเป็นสังคมที่อยู่ใต้การปกครองของชาวโรมัน
เป็นสังคมที่เต็มไปด้วยข้อขัดแย้ง สังคมที่ใช้การกดขี่ข่มเหงเป็นวิธีปราบความแตกต่าง สังคมที่ชาวประชาใฝ่หาเสรีภาพ ใฝ่หาอิสรภาพพ้นจากอำนาจของเจ้าผู้ครองต่างแดน อิสรภาพจากการถูกบังคับให้เสียภาษีและการยอมตนเป็นทาสรับใช้ เป็นสังคมที่รอคอยการมาของผู้ที่จะมาปลดเปลื้องทุกข์
ผู้ที่จะนำสันติสุขและความยุติธรรมมาให้. คริสต์นาฏกรรมปี
2010 ต้องการย้ำให้รู้ว่า พระเยซูคนนี้แหละ ผู้เทศนาอย่างนี้แหละที่ชาวบ้านต้องการสื่อ.
พวกเขาหวังว่า การแสดงจะดลใจให้ผู้ชมเกิดความหวังและมีพลังในการดำเนินชีวิต.
โรงละคร
การปฏิรูปคริสต์ศาสนาคติโรมันคาทอลิกในต้นยุคเนอแนสซ็องส์
เอื้ออำนวยให้จัดการแสดงคริสต์นาฏกรรมที่สื่อความศรัทธาแก่กล้าในศาสนาง ที่น่าสังเกตคือระหว่างปี
1600-1650
มีการสร้างโรงละครเพื่อแสดงคริสต์นาฏกรรมโดยเฉพาะในแคว้นบาวาเรียและบนดินแดนใกล้เคียง(ที่เป็นประเทศออสเตรียปัจจุบัน)
สี่สิบแห่งและอีกสองร้อยห้าสิบแห่งในระหว่างปี 1650-1900 แต่ไม่มีการแสดง ณ ที่ใดที่จะมีความหมายมากเท่ากับที่จัดในหมู่บ้าน Oberammergau ดังได้อธิบายมาข้างต้น .
ที่ตั้งโรงละครในปัจจุบันเป็นที่ตั้งเดียวกันมาตั้งแต่ปี
1830 โรงละครแห่งนี้มิได้เป็นโรงละครโรงแรกของหมู่บ้าน. โรงแรกนั้นเป็นอาคารเรือนไม้ทั้งหลังแบบเรียบง่าย สร้างขึ้นเหนือพื้นที่ที่เป็นหลุมฝังศพของชาวบ้านที่เสียชีวิตด้วยโรคระบาด.
โรงแรกนี้เป็นที่จัดแสดงติดต่อกันมาถึงปี 1820 ระหว่างศตวรรษที่ 17, 18 มีการจัดฉาก การตกแต่งต่อเติม การเพิ่มกลไกที่นั่ง และวัสดุจำเป็นต่างๆ
ถูกนำเข้าไปเพิ่มและปรับปรุงเรื่อยมาตามวิวัฒนาการด้านเทคนิค โดยเฉพาะในปี 1815 เมื่อ Nikolaux Umloch [นิโกเลา
อุมล็อค] บาทหลวงประจำหมู่บ้านเป็นผู้ออกแบบเวทีการแสดง
ได้มีการโยกย้ายอะไรต่ออะไรภายในโรงละครครั้งใหญ่.
การแสดงในปี 1830 ได้ไปจัดบนทุ่งหญ้าผืนกว้างใหญ่ด้านทิศเหนือของหมู่บ้าน. ทุ่งหญ้านั้นจึงมีนามเรียกกันต่อมาว่าเป็น “ทุ่งหญ้าคริสต์นาฏกรรม” ทุ่งหญ้านี้เองที่เป็นที่ตั้งของโรงละครที่เห็นในปัจจุบัน. ในปี 1880 มีการขุดพื้นที่ตรงหน้าเวทีลงไปข้างล่าง เพื่อสร้างให้เป็นที่ตั้งของวงดนตรี
เท่ากับว่า ผู้ชมจะไม่เห็นนักดนตรีบนเวทีอีกต่อไป[15] ในปี 1890 มีการสร้างหลังคาคลุมเหนือพื้นที่นั่งชมบางส่วน และในปี 1900 พื้นที่นั่งทั้งหมดมีหลังคาปกคลุมโดยมีโครงเหล็กสูงโค้งหกเสายึดหลังคาไว้ทั้งหมด ปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนั้น. ในปี 1930 มีการออกแบบสร้างเวทีใหม่
ให้เป็นเวทีเปิดโล่งไม่มีหลังคา โดยมี Georg Johann Lang [จอรจ โจฮัน ลัง] ผู้กำกับการแสดงปี
1930 กับ Raimund Lang [ไรม็อน ลัง] (ผู้ต่อมากำกับการแสดงคริสต์นาฏกรรมปี 1950 ) เป็นผู้รับผิดชอบในการก่อสร้างครั้งนั้น. ในปี 1950 อาคารโรงละครขยายยืดตัวไปตามยาว เพื่อรองรับจำนวนผู้ชมที่เพิ่มขึ้นทุกๆครั้ง.
ที่นั่งที่เคยเป็นม้านั่งยาวๆเรียงเป็นแถว
ก็เปลี่ยนมาเป็นเก้าอี้นั่งมีพนักและที่พักแขน
เช่นนี้ทำให้โรงละครมีที่นั่งทั้งหมด 5,200 ที่นั่ง
โรงละครคงเป็นอย่างนี้จนถึงการแสดงปี 1990.
หน้าโรงละคร
มีสระน้ำพร้อมประติมากรรม พระเยซูบนหลังลา(ตอนเข้าเมืองเยรูซาเล็ม) มือขวายกขึ้นในท่าประทานพร มือซ้ายถือใบปาล์ม
(สัญลักษณ์ของผู้ยอมตายเพื่อจรรโลงความเชื่อแห่งตน) รูปปั้นพระเยซูดังกล่าวอยู่บนฐานที่เป็นหินก้อนใหญ่
มีรอยกรีดเป็นช่องในเนื้อหินเพื่อให้สายน้ำไหลลงในสระ.
ลักษณะของปากทางน้ำแบบนี้โยงถึงบาดแผลบนตัวของพระเยซูอย่างชัดเจน
ย้ำเตือนชาวคริสต์ว่า พระเยซูยอมหลั่งเลือดเพื่อช่วยชาวยิวไว้ ,
ทางเข้าโรงละคร ภายในห้องโถงใหญ่จัดเป็นที่แสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการแสดงคริสต์นาฏกรรม
ด้านข้างของโรงละครมีประตูเรียงรายเป็นประตูกำกับด้วยอักษร A, B, C, D เป็นต้น
เจาะจงประตูทางเข้าสู่ที่นั่งในแถวต่างๆ.
การเข้าออกโรงละครเข้าทางด้านข้างสองข้างลำตัวยาวของโรงละคร
เจาะจงประตูทางเข้าสู่ที่นั่งในแถวต่างๆ.
การเข้าออกโรงละครเข้าทางด้านข้างสองข้างลำตัวยาวของโรงละคร
ด้านหลังของโรงละคร เห็นหลังคาบนรางเลื่อน
ที่ทำเตรียมไว้สำหรับกรณีฝนตกหนัก
หลังคาจะถูกเลื่อนเข้าไปปิดเหนือเวทีละครได้พอดี.
สองภาพนี้ของผู้เขียนเอง
ถ่ายภายในโรงละครก่อนการแสดง(เมื่อการแสดงเริ่มขึ้น ห้ามถ่ายภาพใดๆ). พื้นที่บริเวณที่นั่งทั้งหมดมีหลังคาปิดคลุม
เมื่อเทียบกับโรงละครแห่งชาติในเมืองหลวงต่างๆของยุโรป
ที่นี่นับเป็นโรงละครแบบเรียบง่ายที่สุด
สมถะ พอเพียง.
ที่ตั้งวงดนตรี อยู่ระดับต่ำลงไป ข้างหน้าเวที
การปรับปรุงบูรณะโรงละครครั้งใหญ่ ยังมีอีกภายหลังการแสดงปี
1990.
ชาวบ้านตกลงเป็นเอกฉันท์ว่า ทั้งภายในโรงละครและด้านหน้าภายนอกอาคารต้องเปลี่ยนใหม่หมด. ภายในควรสะดวกสบายเพียงพอและเวทีก็ต้องนำเครื่องกลไกสมัยใหม่เข้าช่วย.
ดังนั้นในปี 1997 ชาวบ้านมารวมกันออกเสียงเลือกโครงการพัฒนาโรงละครที่มีผู้เสนอสามแบบ. เมื่อออกเสียงกันแล้วก็ได้จัดการทำตามแบบที่ตกลงกัน
จนแล้วเสร็จภายในสองปี. ได้โรงละครใหม่ที่สวยงาม
ที่นั่งใหม่
มีระบบทำความร้อนฝังอยู่ใต้พื้น
บริเวณพื้นที่หลังเวทีตลอดจนเครื่องมือเครื่องกลไกที่ใช้ได้ เปลี่ยนให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น. ห้องเก็บเสื้อผ้า ห้องแต่งตัว ก็ขยายออกกว้าง เพิ่มห้องสุขาและความสะดวกในการใช้ ห้องโถงที่เข้าสู่โรงละคร
ได้รับการปรับปรุงใหม่เพื่อให้ผู้ชมที่ต้องนั่งรถเข็นเข้าออกได้สะดวก เพิ่มพื้นที่นิทรรศการ การปรับปรุงยังรวมถึงการติดตั้งระบบกันไฟ การป้องกันส่วนประกอบที่เป็นเหล็กกล้าและที่เป็นเครื่องไม้ ทั้งยังปรับเปลี่ยนโฉมหน้าของอาคารทั้งหลัง. โรงละครปรับใหม่นี้มีที่นั่งสำหรับผู้ชม 4,700 ที่ ทั้งหมดมีหลังคาปกคลุมทั้งสบายและปลอดภัย[16] ระบบเสียงภายในก็ยอดเยี่ยม
ที่ทำให้ผู้ชมทุกคนไม่ว่านั่งณตำแหน่งใด จะได้ยินคำพูดบนเวทีโดยที่ผู้แสดงไม่ต้องใช้ไมโครโฟนหรือต้องติดตั้งเครื่องขยายเสียงใดๆ
และตำแหน่งที่นั่งก็ทำให้สามารถมองเห็นเวทีที่ยกระดับขึ้นได้ชัดเจน.
อาคารโรงละครที่เห็นในปี 2010 นั้น เป็นผลจากการปรับปรุงครั้งใหญ่ในปี 2000.
ด้านหน้าเป็นบริเวณจัดนิทรรศการที่รวมสรรพสิ่งที่เคยใช้ในการแสดง ภาพถ่ายของบุคคลรุ่นก่อน ผู้เคยแสดงในบทต่างๆ เสื้อผ้าที่ใช้ในการแสดงแต่ละยุค พร้อมข้อมูลและเอกสารภาพประกอบมากมาย.
ภาพ Rochus Dedler
(1779-1822) ครูสอนที่หมู่บ้าน
ได้ประพันธ์ดนตรีเพื่อใช้ประกอบการแสดงคริสต์นาฏกรรมระหว่างปี 1811 และ 1820 แม้วันเวลาจะผ่านไป
การแสดงเปลี่ยนไป บทดนตรีใหม่เพิ่มเข้ามา
แต่ดนตรีของเขายังคงถูกนำมาใช้ประสมประสานกับดนตรีที่ประพันธ์ขึ้นใหม่ จากนิทรรศการที่จัดแสดงณโรงละครที่
Oberammergau
เมื่อเข้าไปในโรงละคร
ห้องโถงกว้างใหญ่จัดนิทรรศการเกี่ยวกับการแสดงคริสต์นาฏกรรม มีรูปภาพของผู้แสดงและการแสดงในสมัยก่อนๆ
รวมทั้งข้อมูลเอกสารและเทปบันทึกเสียงดนตรีให้ฟังเป็นตัวอย่าง เหนือขึ้นไป(ชั้นบน) เป็นที่จัดแสดงอุปกรณ์
เครื่องแต่งกายที่ใช้ในการแสดงในปีที่ผ่านๆมา พร้อมรายละเอียดข้อมูลอย่างชัดเจนที่สุด เป็นข้อมูลที่บริบูรณ์ที่สุด.
เด็กเล็กๆของหมู่บ้านผู้ร่วมในหมู่นักแสดงในฉากต้อนรับพระเยซูเข้าเมืองเยรูซาเล็ม.
พวกเขาถือใบปาล์มโบกต้อนรับ. ภาพจากโรงละคร
เป็นการแสดงในรุ่นก่อนๆ.
ผู้แสดงในรุ่นก่อนๆเช่นกันถ่ายรูปไว้ในการซ้อมใหญ่.
ภาพจากนิทรรศการชั้นล่างในโรงละครที่ Oberammergau.
กำแพงขั้นปิดระหว่างบริเวณห้องโถงที่เป็นที่จัดนิทรรศการกับบริเวณโรงละครที่เป็นพื้นที่นั่ง ยกระดับไล่เลี่ยจากสูงลงสู่ที่ต่ำภายในอาคารทรงยาว แล้วจึงเป็นเวที
ที่ตั้งยกระดับขึ้น. ในปี 2010 นี้มีนวตกรรมใหม่ที่เพิ่มเข้าไปคือ หลังคาใหญ่เหมือนโดมครึ่งวงกลมที่สามารถขับเคลื่อนให้เข้าปิดพื้นที่เวทีได้ทั้งหมด เนื่องจากการแสดงในตอนกลางคืนนั้น
อากาศเย็นถึงหนาวโดยเฉพาะในเดือนกันยายนและตุลาคม
(โรงละครจัดผ้าห่มแจกให้คลุมกันหนาวด้วย). เวทีที่โล่งเปิดสู่ท้องฟ้านั้น
เห็นทัศนียภาพของเนินเขาสวยงามก็จริง แต่นั่นหมายความว่า ผู้แสดงต้องพร้อมที่จะแสดงในอากาศทุกแบบ
ไม่ว่าฝนตก แดดออกหรือมีลมพายุ.
เคยปรากฏว่าผู้แสดงในบทนำหลายคนล้มป่วยพร้อมกัน. การแสดงคริสต์นาฏกรรมแม้ในตอนดึก
หากฝนไม่ตกก็ไม่ปิดหลังคา.
ดังที่ระบุและประกาศให้ผู้ซื้อตั๋วทุกคนรับรู้ว่า จะไม่มีการยกเลิกการแสดงรอบใดๆทั้งสิ้น
ไม่ว่าอากาศจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นผู้ถือตั๋วสบายใจได้ว่า ได้ชมการแสดงแน่ๆ.
บนเวทีมีอาคารตรงกลางแบบเรียบง่ายตามแบบสถาปัตยกรรมโรมัน
ขนาบด้วยทางเดินแบบอารเขตสองข้าง
แล้วมีอาคารพร้อมเสาค้ำแบบโรมันทั้งสองข้างเช่นกัน ดังภาพจากเว็ปไซต์เกี่ยวการแสดงคริสต์นาฏกรรมโดยเฉพาะของหมู่บ้านนี้.
ทั้งสองภาพข้างล่างนี้ เป็นภาพของ Nancy ถ่ายเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม
2000
ปรากฏใน Wikimedia Commons. ทั้งสองภาพแสดงให้เห็นเวทีคริสต์นาฏกรรม สถาปัตยกรรมเวทีเป็นแบบเรียบแบบโรมัน อาคารตรงกลางเวทีมีหลังคา
และลึกเข้าไปข้างใน มีหลืบแบบต่างๆ เป็นที่แสดงฉากภาพนิ่ง และละครด้วย ในภาพขวา
ให้สังเกตแถวนักร้องที่แยกออกสองข้างเวทีเมื่อต้องการเปิดให้เห็นพื้นที่อาคารตรงกลาง
ให้เห็นฉากภาพนิ่งในนั้น.
อาคารตรงกลางเวที
มีบริเวณลึกเข้าไปข้างใน
เป็นบริเวณแสดงของฉากภาพนิ่ง (ที่เจาะจงเรียกในฝรั่งเศสว่า tableaux vivants [ตาโบลฺ วีว็อง] เป็นฉากเล่าเหตุการณ์ที่ผู้แสดงหยุดนิ่งกับที่ในตำแหน่งหนึ่งตำแหน่งใดอย่างเจาะจง
เหมือนเป็นภาพจิตรกรรม และที่ปรากฏเป็นระยะๆตามเนื้อหาของบทละคร. เมื่อไม่มีฉากภาพนิ่ง
แถวนักร้องที่กระจายแยกออกไปยืนสองข้างของเวที จะเดินเข้าประชิดกันเป็นแถวเดียว
ปิดบังบริเวณภายใน ที่จะมีการเปลี่ยนฉากโดยไม่ต้องมีการปิดม่านและผู้ชมเองก็แทบไม่ทันสังเกต
เพราะด้านหน้าการแสดงยังคงดำเนินต่อไป)
และฉากเคลื่อนไหวในบางตอนของบทละครด้วยเช่นเดียวกับอาคารสองข้างเวทีที่มีเสาค้ำสองเสา. การแสดงคริสต์นาฏกรรมแต่ละครั้ง
มีการเปลี่ยนบริเวณ การปรับเปลี่ยนพื้นที่ภายในอาคารกลางราวสี่สิบครั้ง จึงต้องมีระบบกลไกเทคนิคที่มีสรรถภาพ รวมทั้งการมีเวทีที่เคลื่อนหมุนกลับเข้าไปได้
และมีเวทีที่ยกขึ้นเลื่อนลงได้ภายในอาคารตรงกลางนี้. เวทีการแสดงของหมู่บ้านนี้ไม่มีม่าน
ทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนเวที จึงอยู่ในสายตาของผู้ชม. การประสานงานกับการขับเคลื่อนเวทีหลายแบบหลายลักษณะภายในอาคาร
ได้อาศัยความชำนาญสุดยอดของผู้ทำหน้าที่ด้านนี้
เพราะต้องให้เงียบที่สุดและไม่ให้ผู้ชมเห็นเลย เพราะในระหว่างการสับเปลี่ยนฉากบน การแสดงยังดำเนินต่อไป.
ในปีที่ไม่มีการแสดงคริสต์นาฏกรรม
มีการจัดทัวร์เพื่อเข้าชมเทคนิคและการจัดฉากละครโดยมีเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์โดยตรงด้านนี้เป็นผู้อธิบาย และมีโอกาสเข้าไปชมบริเวณด้านหลังของโรงละคร ที่เป็นห้องต่างๆสำหรับเก็บเครื่องแต่งกาย. เครื่องแต่งกายเหล่านี้เป็นสมบัติล้ำค่า ด้านงานฝีมือ
เพราะศิลปะการออกแบบและลายปักอันละเอียดสวยงามที่ประดับเครื่องแต่งกายบางแบบ, ห้องเก็บอุปกรณ์ต่างๆ,
เฟอนิเจอร์และสิ่งของเครื่องใช้ในการแสดง, บางชิ้นมีอายุกว่าสองร้อยปี
เช่นม้านั่งที่มีในฉากอาหารมื้อสุดท้ายเป็นต้น.
การเข้าชมเวทีกับเจ้าหน้าที่แบบนี้ จะเพิ่มความกระจ่างและความเข้าใจเกี่ยวกับการแสดงอย่างมากทีเดียว
ซึ่งจะยิ่งกระตุ้นความชื่นชมยินดีของผู้เข้าชมว่า
ชาวบ้านหมู่นี้มีวิญญาณสำนึกที่เป็นพลังแรงเพียงใด. การจัดแสดงนั้นมิใช่เรื่องง่ายเลย เช่นเดียวกับผู้แสดง และนักดนตรี เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายมีการซ้อมเข้มอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาเจ็ดเดือนเป็นอย่างน้อยก่อนการแสดงจริง การซ้อมแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่าสิบชั่วโมง.
เครื่องแต่งกายของหัวหน้านักบวชชาวยิว (ของ Caiaphas และAnnas)
เครื่องแต่งกายของคหบดีชาวยิวพร้อมเครื่องสวมศีรษะ
จากนิทรรศการเครื่องแต่งกายชั้นสองของโรงละคร
เครื่องแต่งกายของข้าหลวงปิลาต
รวมทั้งอ่างน้ำเตี้ยๆและเหยือกน้ำ ที่เขาขอให้ทหารนำมาตรงหน้า
เพื่อล้างมือในทำนอง “ล้างมือจากเรื่องนี้ จากความรับผิดชอบ(ในการตายของพระเยซู)”
เพื่อล้างมือในทำนอง “ล้างมือจากเรื่องนี้ จากความรับผิดชอบ(ในการตายของพระเยซู)”
จากนิทรรศการเครื่องแต่งกายชั้นสองของโรงละครที่ Oberammergau.
เครื่องแต่งกายของเทวทูต
ที่จัดแสดงในนิทรรศการชั้นสองของโรงละคร
เครื่องแต่งกายของเทวทูตที่จัดแสดงไว้ณชั้นล่างของพิพิธภัณฑ์
Oberammergau
Museum.
ในศตวรรษก่อนๆ การแสดงจัดสัปดาห์ละรอบ
แต่ละรอบแบ่งออกเป็นสองภาคๆเช้าและภาคบ่าย. การแสดงมีติดต่อกันตลอดฤดูร้อน ราวสามเดือนตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม
และหากว่ารอบใดมีผู้ชมมากเกินกว่าจำนวนที่นั่งในโรงละคร
ก็จะมีรอบพิเศษให้ในวันรุ่งขึ้น. ในปี 1871 การแสดงเริ่มต้นช้าในวันที่
๒๔ เดือนมิถุนายน จึงเพิ่มการแสดงสัปดาห์ละสองรอบ ไปจนจบปลายเดือนกันยายน.
การแสดงในปี 2010 เป็นการแสดงครั้งที่ 41ของหมู่บ้าน เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 เดือนพฤษภาคมถึงวันที่ 3 ตุลาคม ทั้งหมด 102 รอบ แสดงในวันอาทิตย์
อังคาร พฤหัส ศุกร์และเสาร์. ในแต่ละรอบแบ่งออกเป็นสองภาค
ภาคแรกตั้งแต่บ่ายสองครึ่งถึงห้าโมงเย็น และภาคหลังตั้งแต่สองทุ่มถึงสี่ทุ่มครึ่ง. ก่อนหน้านั้น การแสดงจัดในช่วงเช้าและช่วงบ่าย
เพิ่งมาเปลี่ยนในปี 2010 นี้เอง ตามคำเสนอแนะของผู้กำกับการแสดงและตามเสียงข้างมากจากชาวบ้านที่มาลงคะแนนในการทำประชามติ.
ดนตรี องค์ประกอบสำคัญของการแสดงคริสต์นาฏกรรม
ก่อนปี 1811 ไม่มีดนตรีประกอบการแสดง, เริ่มมีดนตรีตั้งแต่ที่ Rochus Dedler [รอชุซ เด็ดแลร] (1779-1822) ได้ประพันธ์บทดนตรีเพื่อการแสดงปี 1811, 1815 และปี 1820. บทประพันธ์ทั้งสามไม่เหมือนกันทีเดียว. ตั้งแต่นั้นมา การแสดงคริสต์นาฏกรรมที่หมู่บ้านนี้
จึงเป็นทั้งบทละครพูดและมีเพลงร้องขับประสานเสียง รวมทั้งมีฉากภาพนิ่ง. ดนตรีมีความสำคัญและมีศักดิ์มีสิทธิ์เท่าบทละคร
เพราะเป็นสิ่งเชื่อมบทละครพูด และฉากภาพนิ่งให้ดำเนินขับเคลื่อนไปอย่างสมบูรณ์. ดนตรีจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการแสดง ที่ทำสืบต่อมาตลอดหนึ่งร้อยแปดสิบปี และคงเป็นไปไม่ได้ในปัจุบันหรือในอนาคตที่จะตัดดนตรีออกจากการแสดง.
Dedler เกิดในหมู่บ้าน Oberammergau เป็นบุตรชายของผู้ดูแลโรงแรมเล็กๆในหมู่บ้าน. เขาเริ่มเรียนดนตรีที่อารามนักบวชคติออกัสตินในเมือง
Rottenbuch
ไม่ไกลจากหมู่บ้าน
และไปเรียนต่อที่เมืองมิวนิก. ในยุคนั้นเมืองมิวนิกขึ้นชื่อว่า เชี่ยวชาญในด้านการเรียนการสอนดนตรี. เขาเองมีเสียงทุ้มต่ำที่วิเศษสุด (เสียง bass) เป็นที่ยอมรับนับถือ ว่าเป็นผู้มีอัฉริยะด้านการดนตรี. เขากลับมาอยู่ที่หมู่บ้านจนถึงแก่กรรม
และพอใจกับการเป็นครู เป็นผู้นำกลุ่มนักร้องประสานเสียงและเป็นผู้เล่นออแกนของหมู่บ้านตลอดชีวิต.
ใครๆก็รู้จักเขาในฐานะนักประพันธ์ดนตรีศักดิ์สิทธิ์ ที่ใช้ในพิธีกรรมต่างๆในวัดคริสต์ ไม่เพียงแต่ลูกบ้านเดียวกันแต่รวมถึงหมู่บ้านและเมืองในถิ่นไกลออกไป. ในเวลาเพียงยี่สิบปีที่เขามีชีวิตในหมู่บ้าน
เขาได้ประพันธ์ดนตรีไว้มากกว่าร้อยบท และบทเพลงประกอบดนตรีสำหรับพิธีมิซซาและและพิธีส่งวิญญาณไปสวรรค์
รวมทั้งหมดอีกราวยี่สิบบท. บทเพลงเหล่านี้ยังคงใช้ร้องกันต่อมาในวัดของหมู่บ้านจนถึงทุกวันนี้.
แน่นอนที่บทประพันธ์ดนตรีประกอบการแสดงคริสต์นาฏกรรมของเขา
เป็นที่ชื่นชม จดจำและตรึงใจชาวบ้านมากที่สุด.
ก่อนที่จะมีบทประพันธ์ดนตรีเฉพาะคริสต์นาฏกรรมของ
Dedler นั้น
ดนตรีที่ประกอบการแสดงใช้บทร้องเกรกอเรียน (Gregorian chants) และบทร้องเดี่ยว. Dedler ได้รับอิทธิพลจากบทร้องเหล่านี้ที่ใช้มาก่อนหรือไม่นั้น
ไม่มีหลักฐานใดๆยืนยัน. ดังกล่าวข้างต้นแล้วว่าบทประพันธ์ของเขาสำหรับการแสดงสามปีนั้นไม่เหมือนกัน เราต้องไม่ลืมว่าการแสดงปี 1811, 1815 และปี1820 นั้น ยังคงแสดงกันในโรงละครที่ตั้งเหนือสุสานผู้เสียชีวิตไปในโรคระบาด. ดนตรี. ขนาดของคณะนักร้องและวงดนตรี,
ถูกพื้นที่บังคับและจำกัดไว้มาก. Dedler เองเป็นผู้กำกับการแสดง
เขาเองเป็นผู้เล่าเรื่องในบทนำแต่ละฉากในคัมภีร์เก่าที่มีทั้งหมดยี่สิบสี่ฉาก. เขาท่องจำบทอันยืดยาวได้ทั้งหมด
นอกจากนี้ยังเป็นผู้ร้องส่วนที่เป็นเสียงต่ำเองด้วย. ทั้งหมดนี้เป็นบทบาทหน้าที่อันยิ่งใหญ่สำหรับคนๆเดียว.
การทำงานอย่างทุ่มเททั้งกายและใจแบบนี้ทำให้สุขภาพเขาแย่ลงๆ
ในที่สุดล้มป่วยและสองปีต่อมาก็ถึงแก่กรรม.
ดนตรีที่เขาประพันธ์ไว้ในปี 1820 สำหรับนักดนตรีสมัครเล่นในการแสดงคริสต์นาฏกรรม ให้ท่วงทำนองตามขนบเพลงสวดของชาวคริสต์ มีทั้งบทร้องประสานเสียงและบทร้องเดี่ยวทั้งสี่ระดับเสียง
(อันมีระดับเสียง soprano, alt, tenor และ basso ดังที่คณะผู้จัดเจาะจงไว้). ในบทร้องที่เล่าเหตุการณ์ และสำหรับการร้องหมู่
ดนตรีทำหน้าที่เหมือนตัวประสานและถ่ายทอดวิญญาณสำนึกเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมที่กำลังดำเนินอยู่บนเวที
ระหว่างภาพนิ่งที่เป็นเหตุการณ์ในคัมภีร์เก่า
กับเหตุการณ์คริสต์นาฏกรรมที่เป็นเนื้อหาของคัมภีร์ใหม่.
การย้ายการแสดงไปอยู่บนสนามหญ้าด้านทิศเหนือของหมู่บ้านในปี
1830 นั้น หมายถึง
พื้นที่แสดงกว้างใหญ่ขึ้นมากและเพื่อผู้ชมจำนวนมากขึ้นด้วย. ดนตรีที่ประกอบการแสดงก็ต้องสมดุลกัน. เมื่อเป็นเช่นนี้
ดนตรีต้นฉบับของ Dedler ที่ใช้มาจึงต้องปรับปรุงหรือประพันธ์ขึ้นใหม่. เมื่อบทละครเปลี่ยนอีกบ่อยๆในศตวรรษที่สิบเก้า ดนตรีก็ต้องปรับตามให้เข้ากับบทละครด้วย.
ข้อขัดแย้งในเนื้อหาของบทละครดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นในศตวรรษที่ยี่สิบ
ทำให้ต้องประพันธ์บทดนตรีประกอบการแสดงเกือบทุกครั้ง. ในการแสดงปี 1950 ศาสตราจารย์ Eugen Papst [ออยเค็น ปั๊ปสท] [17]ผู้เป็นนักดนตรีลูกบ้าน Oberammergau เช่นกัน.
เขามีส่วนช่วยยกระดับผลงานประพันธ์ของ Dedler ให้ปรากฏอีกครั้งหนึ่ง. ดนตรีฉบับปรับปรุงใหม่นี้ ได้อนุรักษ์สิ่งดีๆของ Dedler ไว้. ฉบับนี้ใช้เรื่อยมาอีกสี่สิบปี
นับเป็นช่วงสงบเพราะไม่มีปัญหาด้านดนตรีในการแสดงแต่ละครั้ง. ในปี 1977 ชาวบ้าน Oberammergau บางคนอยากให้หันกลับไปใช้บทละครของ Rosner. ทั้งหมดนี้ปูทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดในการแสดงปี
2000
ทั้งในด้านบทละครและในด้านดนตรี.
ผู้ประพันธ์บทละครใหม่ฉบับที่เรียกกันว่า “Passio Nova”
จากนิทรรศการบนชั้นสองของโรงละคร.
แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงบทละคร
ทำให้ต้องพิจารณาบทดนตรีที่ใช้ว่าสอดคล้องกันไหม
บทประพันธ์ของ Dedler
ยังคงเป็นจุดใจกลางของการแสดงปี 2000. แต่เมื่อมีการสร้างฉากภาพนิ่งจากคัมภีร์เก่า
เพิ่มขึ้นหรือเปลี่ยนใหม่ ก็ต้องมีบทละคร
มีดนตรีเพิ่มหรือเปลี่ยนตามไปด้วย. ผู้กำกับการแสดงด้านดนตรี
Markus
Zwink [มารกุซ
สวิ้งค] เป็นผู้รับภาระด้านนี้ (เขาเป็นวาทยากรด้วย) ต้องประพันธ์ดนตรีใหม่เองด้วย
โดยยึดลีลาดนตรีของ Dedler และยังได้นำบทประพันธ์อื่นๆบางส่วนที่
Dedler ทำไว้ มาดัดแปลงให้สมบูรณ์เข้ากันได้หมด. ในการแสดงปี 2010 เขาก็ประพันธ์และปรับปรุงดนตรีขึ้นใหม่ให้สมบูรณ์ที่สุด. ถึงกระนั้นทั้งชาวบ้าน Oberammergau และเขาเองยังคงยกย่อง Rochus Dedler ว่าเป็นผู้ให้กำเนิดการแสดงคริสต์นาฏกรรมประกอบดนตรี. ชื่อของ Dedler ยังคงปรากฏจารึกในเอกสารประกอบการแสดงเรื่อยมา.
นักดนตรีและคณะนักร้อง
การแสดงแต่ละครั้ง ใช้คณะนักร้องประมาณ 50 คนและคณะนักดนตรีประมาณ 50 คน เลือกมาจากคณะนักร้อง Ammergauer Motettenchor ที่มีมากกว่า ๑๐๐ คน
และจากนักดนตรีกว่า ๑๐๐ คนเช่นกัน.
การเลือกนักร้องเดี่ยวนั้น เลือกไว้สามสี่คนสำหรับระดับเสียงแต่ละระดับ ให้สามารถเข้าแสดงได้ทุกเมื่อ. มีปรากฏเสมอว่า นักร้องส่วนใหญ่ที่เคยร่วมในการแสดงปี
2000 ได้รับเลือกให้กลับมาร่วมวงอีกในปี 2010 เพราะฉะนั้นเมื่อถึงเวลาต้องซ้อม นักร้องส่วนใหญ่รู้จักคำร้องและดนตรีแล้ว. พวกเขาต้องจดจำคำร้องและดนตรีให้ได้ขึ้นใจ.
การเป็นหนึ่งในคณะนักร้องนั้นถือว่าเป็นเรื่องเสริมหน้าตามาก เพราะคณะนักร้องอยู่บนเวทีต่อหน้าต่อตาผู้ชมตลอดเวลา. และในองก์ที่หนึ่งเมื่อพระเยซูขี่ลาเข้าเมืองเยรูซาเล็ม
คณะนักร้องได้เข้าร่วมแสดงบทของชาวเมืองเยรูซาเล็มด้วย (ฉากนี้มีผู้แสดงบนเวทีกว่าพันคน).
สำหรับการแสดงปี 2010 มีผู้ร่วมแสดงทั้งหมด 2400 คน ในจำนวนนี้ 630 คนเป็นเด็ก.
มีนักร้องในการแสดงแต่ละรอบ 48 คนและนักดนตรี 55 คนบวกกับนักร้องเดี่ยว. ให้นึกเทียบดูว่า Oberammergau ปัจจุบันมีประชากรราว 5,300 คน.
นักดนตรีและนักร้อง
ถ่ายรูปหมู่ไว้เป็นที่ระลึก
เป็นการแสดงของปีใดในอดีตนั้น มิได้ระบุไว้ใต้ภาพ
ภาพจากนิทรรศการชั้นล่างในโรงละครที่ Oberammergau.
การเลือกนักร้องจากผู้สมัครทั้งหมดเพื่อประกอบเป็นคณะนักร้องประสานเสียงในการแสดงปี
2010 นั้น เริ่มขึ้นในฤดูใบไม้ผลิปี 2009. ผู้ได้รับเลือกต้องร่วมซ้อมสองครั้งในแต่ละสัปดาห์
ตั้งแต่ต้นฤดูใบไม้ร่วงเรื่อยมาจนถึงกำหนดการแสดง. การเลือกนักร้องเดี่ยว (soloists) เริ่มขึ้นในปี 2008 แล้ว. ผู้คนสนใจสมัครเป็นนักร้องเดี่ยวมาก อันเป็นผลจากนโยบายของ Markus Zwink ผู้กำกับการดนตรีและวาทยกรประจำปี 2010 (เขาดำรงตำแหน่งนี้มาแล้วในการแสดงปี 1990 และปี 2000). เขาต้องการสนับสนุนผลักดันหนุ่มสาวที่มีเสียงดีและรักดนตรี ให้มีโอกาสเพิ่มพูนประสบการณ์และความสามารถ
เพื่อจะได้เป็นนักร้องที่ดีต่อไปในอนาคต. นักร้องหนุ่มสาวเหล่านี้
ต้องซ้อมร้องซ้อมเสียงอย่างน้อยสิบชั่วโมงกับครูดนตรีอาชีพแขนงนี้โดยเฉพาะที่เชิญมาจากเมืองมิวนิก
หลังจากนั้นพวกเขายังต้องไปร้องโชว์ให้คณะกรรมการมืออาชีพเลือกตัวอีกด้วย.
วิธีการขับเคลื่อนเนื้อหาอย่างต่อเนื่องบนเวที
การแสดงประกอบด้วย 11 องก์ เป็นภาคที่หนึ่ง 5 องก์และภาคที่สอง 6 องก์
แต่ละองก์ เริ่ม
ด้วยอารัมภบท
ตามด้วยฉากภาพนิ่ง[18] ที่มีคณะนักร้องประสานเสียงเป็นผู้ขับเนื้อหาของฉากภาพนิ่ง. ถ้าเป็นบทของตัวละครตัวเดียวในฉากนั้น
นักร้องเดี่ยวจะทำหน้าที่ถ่ายทอดคำพูดของตัวละคร.
ถ้าเกี่ยวกับตัวละครหลายตัวพร้อมกันในฉากนั้น ทั้งคณะหรือส่วนหนึ่งของคณะเป็นผู้ขับร้องคำพูดหรือความคิดของตัวละครทั้งกลุ่มเป็นต้น. จบฉากภาพนิ่ง
คณะนักร้องเดินเข้าเวทีไปสองข้าง
ผู้แสดงเข้าเวทีจากทางเข้าออกสองข้างอาคารตรงกลางเวที. เริ่มการแสดง
เป็นตัวละครต่างๆพร้อมบทเจรจา เมื่อการแสดงจบลงคือจบองก์นั้น.
พิเศษเฉพาะในสามสี่องก์ ที่เมื่อจบการแสดงบนเวที
ตามด้วยบทร้องของคณะนักร้องประสานเสียง. ในกรณีพิเศษเหล่านี้ คณะนักร้องมิได้เข้าเวทีไปเมื่อจบฉากภาพนิ่ง
แต่ไปยืนอยู่หน้าอาคารสองข้างบนเวที
และจะร้องบทส่งท้ายขององก์นั้น ด้วยการหันมากล่าวย้ำกับผู้ชมโดยตรงว่าให้จดจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น. เช่นในองก์ที่ห้า เมื่อการแสดงจบลง
คณะนักร้องประสานเสียงหันมาย้ำกับผู้ชมว่า อย่าลืมเหตุการณ์บนเขา Gethsemani [เก็ธเสอะมานิ] ว่าพระเยซูในร่างของคนผู้รู้เจ็บรู้ปวดต้องต่อสู้กับความกลัว, ความท้อแท้เพราะรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับพระองค์.
หรือในองก์ที่แปด
หลังจากละครจบลง,
ผู้เล่าออกมาพร่ำพรรณนาถึงการที่พระเยซูถูกทหารโรมันเฆี่ยนโบย
ตามและสลับด้วยบทร้องว่าทำไมพระเยซูยอมทน, เพื่อใคร. หรือในองก์ที่สิบ
มีอารัมภบทแทรกเพิ่มเข้าตรงกลางระหว่างบทละครสองตอนสั้นๆ
พรรณนาความทุกข์ทรมานของพระเยซูขณะแบกไม้กางเขนเดินหกล้มหกลุกไปยังเขา Golgotha [กอลก็อตถะ] และจบลงด้วยบทร้องสั้นๆ ย้ำกับผู้ชมว่าให้ดูและจดจำความรักของพระเยซู
ว่ามีมากเช่นใดที่ได้ยอมตนถึงเพียงนั้น. และในองก์สุดท้ายที่เริ่มด้วยบทละครเมื่อเทวทูตประกาศการฟื้นชีวิตของพระเยซู. คณะนักร้องทั้งหมด ร้องเพลงสรรเสริญ ปลาบปลื้มอย่างที่สุด
(Hallelujah!)
เราสรุปกระบวนการดำเนินเนื้อเรื่องได้ดังนี้
1. อารัมภบท
(prologue)
เป็นบทสรุปของเหตุการณ์รวมในแต่ละองก์. เนื้อหามาจากคัมภีร์ใหม่
อาจกล่าวโยงไปถึงเหตุการณ์คล้ายกันในคัมภีร์เก่าด้วยเพียงสั้นๆ. ใช้คนหนึ่งคนพูดเป็นร้อยแก้ว ถ่ายทอดเนื้อหาในอารัมภบท. เล่าเรื่องด้วยบุรุษที่สาม ในการแสดงปี 2010 ผู้รับหน้าที่นี้ คือ Otto Hubert รองผู้กำกับการแสดง และ Dominikus Zwink [โดมินีกุซ ฉวิงค]
2. ผู้เล่า
(narrator)
เป็นคนหนึ่งคนที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดเนื้อหาของละครที่จะแสดงในแต่ละองก์.
เป็นบทร้อยแก้ว ผู้รับหน้าที่นี้ คือสองคนที่ทำหน้าที่ในอารัมภบท. ในบางองก์
คณะนักร้องประสานเสียงทั้งคณะ(หรือครึ่งหนึ่ง) ทำหน้าที่เล่าเรื่อง(narration) ด้วยการขับร้องทำนองเสนาะเช่นในองก์ที่ห้าก่อนขึ้นฉากที่สอง.
3. ละคร
เป็นการแสดงและการเจรจาโดยตรงระหว่างตัวละครบนเวที. เป็นเหตุการณ์ในชีวิตของพระเยซู (ดังเขียนเล่าไว้ในคัมภีร์ใหม่). การแสดงบางทีใช้พื้นที่ทั้งเวทีเลยรวมทั้งหลังคาของอาคารสถาปัตยกรรมบนเวที
เช่นหมู่ทหารที่ขึ้นไปบนหลังคาเพื่อชะโงกดูเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นให้ถนัดตาเป็นต้น. เพราะฉะนั้นอาคารบนเวทีจึงเป็นสิ่งก่อสร้างที่ถาวรมั่นคง. ละครยังรวมถึงการนำสัตว์เช่นแกะ ม้า ลา นกขึ้นไปร่วมในขบวนนักแสดงด้วย
เช่นพระเยซูขี่บนหลังลาจริงๆ.
ทหารโรมันขี่บนหลังม้าเป็นต้น.
เด็กเล็ก, หนุ่มสาวหรือผู้สูงอายุ ก็คือชาวบ้านในหมู่บ้านเอง.
4. ฉากภาพนิ่ง[19] ถ่ายทอดเหตุการณ์ในคัมภีร์เก่า
ที่เหมือนนิมิตทำนายเหตุการณ์ที่จะเกิดในบริบทคล้ายๆกันในคัมภีร์ใหม่. การจัดเป็นภาพนิ่งแทนการแสดงสด เพื่อเน้นว่า
เหตุการณ์นั้นเป็นอดีตที่สิ้นสุดลงแล้ว (ในกรณีนี้คือเรื่องราวในคัมภีร์เก่า). ส่วนละครเป็นเรื่องของปัจจุบันเป็นเรื่องราวในคัมภีร์ใหม่.
เหมือนในเทคนิคการถ่ายทำภาพยนตร์ที่มีเนื้อหากลับไปกลับมาระหว่างเหตุการณ์ในอดีตกับเหตุการณ์ปัจจุบัน.
ผู้กำกับบางคนเลือกใช้ฟิลม์ขาวดำถ่ายทอดเหตุการณ์ในอดีตเป็นต้น.
5. ฉากภาพนิ่งจัดอยู่ภายในกรอบของอาคารตรงกลางเวที.
ผู้แสดงนิ่งอยู่ในท่าที่สื่อให้เข้าใจว่าเป็นใครทำอะไรเป็นต้น.
ฉากภาพนิ่งมีภูมิทัศน์ประกอบด้วยและเป็นฉากภาพที่มีสีสันเหมือนจิตรกรรมบนผืนผ้าใบ.
เนื้อหาของแต่ละฉาก
มีคณะนักร้องประสานเสียงเป็นผู้ถ่ายทอด ด้วยการเล่าการเจรจาที่ใช้ทำนองเสนาะตามแนวของดนตรีศาสนาในยุโรป.
เมื่อเป็นคำพูดของตัวละครตัวเดียวในฉากภาพนิ่ง ก็ใช้นักร้องเดี่ยวเป็นผู้ถ่ายทอดคำพูด. ถ้าเป็นของตัวละครทั้งหมู่
คณะนักร้องจะร้องพร้อมกัน.
เนื้อร้องทั้งหมดใช้บุรุษที่หนึ่งและสอง. และบางทีก็จบลงด้วยการย้ำกับผู้ชมโดยตรง
แบบเชิญชวนให้คิดตาม ให้เชื่อและมีศรัทธาเป็นต้น.
เพราะฉะนั้นคณะนักร้องประสานเสียงจึงทำหน้าที่เชื่อมเหตุการณ์ในอดีตกับละครและเชื่อมการแสดงกับผู้ชมทั้งหมดอย่างตรงไปตรงมา.
ในบางองก์คณะนักร้องไม่เข้าไปหลังเวที แต่ยืนบนขั้นบันไดครึ่งวงกลมที่อยู่ด้านหน้าของอาคารที่มีเสาค้ำสองข้างบนเวที
เหมือนเป็นสักขีพยานของเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น และเมื่อการแสดงจบลง ทั้งคณะร้องบทส่งท้ายสั้นๆขององก์นั้น
ย้ำประเด็นสำคัญและผลที่เกิดจากเหตุการณ์ที่เพิ่งจบลง
หรือย้ำเตือนผู้ชมให้จดจำเหตุการณ์เป็นข้อเตือนใจ.
6. การจัดฉากภาพนิ่งแทรกเข้าไปในละคร
สอดคล้องกับขนบของการเปรียบโยงระหว่างคัมภีร์เก่าและใหม่
ที่ศิลปะหลายประเภทนำไปเป็นแนวทางสร้างสรรค์ในคริสต์ศิลป์ตั้งแต่ยุคกลาง
ดังปรากฏตัวอย่างในการทำศิลปะกระจกสี (ตัวอย่างจากมหาวิหาร
Notre-Dame de Chatres, ในฝรั่งเศส). ในประติมากรรมไม้จำหลักประดับหมู่ที่นั่งนักบวช
ทั้งผนังพิงและแผ่นรองนั่งที่ยกขึ้นลงได้ (stalls)
หมู่ที่นั่งนักบวชนี้จะอยู่ภายในบริเวณหัวโบสถ์ต่ำลงจากที่ประดิษฐานของแท่นบูชา. มักทำติดต่อกันเป็นแถวที่นั่งสามระดับ อยู่สองข้างของพื้นที่บริเวณใจกลาง(chancel)ของโบสถ์ใหญ่ๆ. ที่นั่งเหล่านี้มักมีการจำหลักภาพเหตุการณ์ประดับผนังพิงของที่นั่งแต่ละที่. แถวล่างจำหลักเหตุการณ์ในคัมภีร์เก่า
คู่ขนานกับแถวบนที่จำหลักเหตุการณ์ในคัมภีร์ใหม่.
หากเป็นวัดที่ไม่ใหญ่นัก อาจมีเพียงเหตุการณ์ในคัมภีร์ใหม่เท่านั้น. ถ้าเป็นวัดเล็กๆ
ที่พิงหรือที่นั่งก็เป็นเพียงแผ่นไม้เรียบๆเท่านั้น.
การเปรียบโยงไปมาระหว่างคัมภีร์เก่าและใหม่ในขนบของคริสต์ศาสนา
เพื่อสื่อความต่อเนื่องของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ก่อนและหลังพระเยซู. เน้นว่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในคัมภีร์เก่า
กรุยทาง, ทำนายทายทักว่าอะไรจะเกิดขึ้นในชีวิตของพระเยซูในคัมภีร์ใหม่.
หรือคัมภีร์เก่าเป็นฐานอันมั่นคงของคัมภีร์ใหม่,
หรือคัมภีร์ใหม่เป็นภาพสะท้อนของเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นแล้วในคัมภีร์เก่า. ในที่สุดยืนยัน “ความไม่สิ้นสุดของกาลเวลา” ตั้งแต่พระเจ้าสร้างโลกจนถึงทุกวันนี้. เพิ่มมิติของความลึกลับในวิวัฒนาการของมนุษยชาติ
ว่าทุกสิ่งที่เป็นอดีต ปัจจุบันและอนาคตของเรานั้น พระเจ้าได้ลิขิตมาก่อนแล้วหรือ
? การจัดแสดงแบบนี้ ดูเหมือนจะสามารถกระชับเนื้อหาและสารจากศาสนาในจิตสำนึกของคนดูได้ดีกว่า การแสดงคริสต์นาฏกรรมนี้ได้รักษาเอกลักษณ์เฉพาะของการถ่ายทอด
การอ่าน การตีความและการทำความเข้าใจกับเนื้อหาในคัมภีร์ได้ครบถ้วนตามแนวที่สี่มหาปราชญ์ของคริสต์ศาสนาได้วางไว้ตั้งแต่ต้นยุคกลาง
[20]
7. การแสดงใช้ชาวบ้าน Oberammergau ทั้งหมด ทั้งเด็กเล็กๆและผู้ใหญ่ รวมทั้งสัตว์ที่เลี้ยงในหมู่บ้านด้วย. เวทีกว้างเพียงพอสำหรับฉากใหญ่ๆ
ดังได้ยกตัวอย่างมาแล้ว เช่นฉากฝูงคนที่แห่ตามพระเยซูผู้ขี่ลาเข้าเมืองเยรูซาเล็ม ที่มีผู้แสดงบนเวทีกว่าหนึ่งพันคน.
หรือฉากตรึงพระเยซูบนไม้กางเขน. ไม้กางเขนขนาดใหญ่พร้อมพระเยซูบนนั้น, หรือไม้กางเขนที่ตรึงนักโทษอีกสองคน
ถูกดึงยกขึ้นตั้งกลางเวทีต่อหน้าต่อตาผู้ชม. ทั้งหมด นับว่าเป็นการจัดฉาก จัดการแสดงที่มีประสิทธิผลสมจริงอย่างสมบูรณ์.
โดยทั่วไปชีวิตของพระเยซูเป็นที่คุ้นเคยกันมากกว่า แต่เนื้อหาจากคัมภีร์เก่า [21] เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ขาดเสียมิได้ เพราะหากไม่มีคัมภีร์เก่าก็ไม่มีคัมภีร์ใหม่. เนื้อหาของคัมภีร์เก่ายาวและละเอียดมาก, มากกว่าสองในสามของเนื้อหาคัมภีร์คริสต์ศาสนาทั้งหมด. การแสดงคริสต์นาฏกรรมที่นี้ในปี 2010 ได้เลือกมาจัดเป็นฉากภาพนิ่งทั้งหมด 13 ฉาก เปรียบกับเหตุการณ์ในชีวิตของพระเยซูในคัมภีร์ใหม่ตามกระบวนการขับเคลื่อนบทละครดังนี้
1) ในบทนำการแสดง
มีฉากเหตุการณ์อาดัมกับอีฟถูกขับออกจากสวรรค์.
อาดัมกับอีฟต้องลำบาก มีลูกหลาน แต่พระเจ้าก็ตั้งใจจะช่วยมนุษย์
จะส่งพระบุตรไปเกิดในโลกมนุษย์เพื่อช่วยไถ่บาปให้มนุษย์ เช่นนี้ได้โยงมาเป็นเหตุการณ์พระเยซูเข้าเมืองเยรูซาเล็ม
เพื่อเผยแพร่คำสอนของพระเจ้าในองก์ที่หนึ่ง
2) ในองก์ที่สอง
เหตุการณ์ที่โมเสสพาชาวอิสราเอ็ลข้ามทะเลแดงได้อย่างปลอดภัย
โยงถึงพระเยซูผู้สั่งสอนชาวยิวว่าพระเจ้าจะช่วยพวกเขา
ขอให้มีความเชื่อและศรัทธาในพระเจ้า ก็จะปลอดภัย.
3) ในองก์ที่สาม
เหตุการณ์ที่โมเสสขึ้นไปบนเขาซีไนและนำบัญญัติสิบประการลงมาให้ชาวยิว
แต่พบว่าชาวยิวได้หันไปบูชารูปปั้นวัวทองคำแทน.
เปรียบโยงถึงพระเยซูเมื่อลงจากเขามะกอก
ถูกจูดาทรยศ ทำให้ทหารโรมันจับตัวพระเยซูไปได้.
4) ในองก์ที่สี่ เหตุการณ์การรับประทานอาหารในคืนสุดท้ายในทุกครัวเรือนของชาวอิสราเอล
ก่อนพากันอพยพออกจากอีจิปต์
มาเป็นเหตุการณ์อาหารมื้อสุดท้ายของพระเยซูในหมู่เหล่าอัครสาวก
และพระเยซูสถาปนาพิธีศีลมหาสนิท.
5) ในองก์ที่ห้า เหตุการณ์ตอนจ๊อบ (Job) ผู้เป็นคนดีคนซื่อตรง แต่จู่ๆต้องสูญเสียทุกอย่าง
ทั้งชื่อเสียงและเงินทอง จ็อบก้มหน้าก้มตารับกรรมด้วยความขมขื่น เทียบกับตอนพระเยซูขึ้นไปอยู่บนเขามะกอก พร่ำรำพันเยี่ยงมนุษย์ผู้รู้ว่าความตายกำลังรออยู่เบื้องหน้า พระเยซูท้อแท้หมดกำลังใจ เทวทูตได้มาปลอบและสั่งไม่ให้สิ้นศรัทธา.
6) ในองก์ที่ห้าเช่นกัน เหตุการณ์ตอนโมเสสเห็นพระเจ้ามาปรากฏสุกสว่าง
อยู่กลางพุ่มไม้ที่กำลังลุกไหม้ เขาคุกเข่ารับคำสั่งจากพระเจ้า
เหมือนบนเขามะกอก พระเยซูคุกเข่ามองสู่เบื้องบน
ยอมตนเป็นผู้รับใช้พระบิดา ยอมรับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นตามพระประสงค์ของพระบิดา.
7) ในองก์ที่หก
เหตุการณ์ที่ดาเนียล(ศาสดาพยากรณ์-prophet) ถูกลงโทษและถูกจับโยนลงในซ่องสิงโต ให้เป็นอาหารของสิงโตเพราะดาเนียลยืนยันไม่ยอมละทิ้งความเชื่อที่มีต่อพระเจ้าของเขา เทียบกับที่พระเยซูยอมให้จับ ถูกเฆี่ยนโบย
ถากถางเยาะเย้ยจากพวกชาวยิวนอกรีต.
8) ในองก์ที่หกเช่นกัน ฉากภาพนิ่งอีกฉากหนึ่ง เป็นเหตุการณ์ในชีวิตของจ๊อบอีก
ที่ถูกเยาะเย้ยถากถาง ถูกภรรยาดูหมิ่นขนาดเทสิ่งโสโครกรดตัวเขา เขาอดทนไม่ปริปากบ่นใดๆเลยตลอดเวลาเจ็ดวันและแม้จะสงสัยพระเจ้า
แต่ในที่สุดก็ประกาศยอมตนต่อคำสั่งและความยุติธรรมในแบบของพระเจ้า
เหมือนพระเยซูที่ปล่อยให้คนอื่นเยาะเย้ยอย่างสงบ.
9) ในองก์ที่เจ็ด
เรื่องของเคน
(Cain) ผู้ฆ่าอาเบิล(Abel) ด้วยความอิจฉาริษยาที่พระเจ้าทรงโปรดอาเบิลมากกว่า (ทั้งคู่เป็นลูกของอาดัมกับอีฟ) เคนทนทุกข์ทรมานสำนึกผิดและเสียใจในสิ่งที่ได้ทำไป
เหมือนจูดาผู้ชี้ตัวพระเยซูให้ทหารโรมันจับตัวไป
แล้วเสียใจคลุ้มคลั่งจนในที่สุดแขวนคอตาย.
10) ในองก์ที่แปด โมเสสถูกแฟโรห์อีจิปต์ขับไล่ออกจากวัง
ปลดจากตำแหน่ง ให้ไปอยู่ในหมู่ข้าทาสชาวอิสราเอล
เหมือนที่พระเยซูถูกจับตัวไปอยู่ต่อหน้าปิลาต ถูกหัวหน้าพระชาวยิวกล่าวหาใส่ร้ายว่าเป็นผู้ก่อกบฎ
นำฝูงคนปฏิวัติต้านอำนาจของโรมัน พระเยซูนิ่งเฉย
พูดเพียงว่าอาณาจักรของพระองค์ไม่ได้อยู่บนโลกนี้.
11) ในองก์ที่เก้า
เรื่องราวของโจเซฟในคัมภีร์เก่าผู้นำอาหารมาให้ชาวอิสราเอลในอีจิปต์
เพราะเกิดข้าวยากหมากแพง ผู้คนไม่มีอันจะกิน
เหมือนพระเยซูผู้มีมงกุฎหนามบนศีรษะ ตายเพื่อให้ชาวยิวเห็นทางสู่พระเจ้า.
12) ในองก์ที่สิบ ตอนอับราฮัมให้อีซัคหอบฟืนขึ้นไปบนเขาโมเรียห์
เพื่อจะฆ่าสังเวยอีซัคตามคำสั่งของพระเจ้า เหมือนพระบุตรแบกไม้กางเขนที่จะตรึงตนเองเดินขึ้นเขา
เพื่อไถ่บาปให้มนุษยชาติ.
13) ในองก์ที่สิบเช่นกัน ตอนโมเสสหล่อรูปงูมังกรตั้งไว้บนเสาสูง
และช่วยชีวิตผู้ที่เชื่อในพระเจ้าให้พ้นจากพิษงู
เหมือนพระเยซูตายบนไม้กางเขน เลือดหลั่งไหลช่วยส่องทางแก่ผู้ที่เชื่อในพระบิดาสู่อาณาจักรของพระองค์.
ฉากภาพนิ่งทั้งหมด
จึงนำไปสู่ฉากละครในแต่ละองก์
ผู้กำกับและคณะผู้แสดง[22]
ผู้กำกับการแสดงในคริสต์นาฏกรรมปี 2010 คือ Christian Stückl [คริซเตียน สตูกเคิล] เคยดำรงตำแหน่งนี้เมื่อยี่สิบปีก่อนในการแสดงปี
1990 ตอนนั้นเขาเพิ่งมีอายุ 27 ปี จึงเป็นผู้กำกับที่อายุน้อยที่สุด. เขาเป็นลูกบ้าน Oberammergau เติบโตมาในแวดล้อมของการแสดงคริสต์นาฏกรรม,
ได้เห็นได้ยินผู้ชมที่พักอยู่ในครอบครัวเขาพูดถึงการแสดงมาตั้งแต่เด็ก
และในฐานะเด็กของหมู่บ้านก็ป้วนเปี้ยนอยู่แถวโรงละคร, ดูเขาซ้อมกัน,
ถามโน่นถามนี้ด้วยความสนใจเรื่อยมา.
ในตอนแรกเขาเข้าศึกษาและฝึกฝนเพื่อจะเป็นช่างไม้แกะสลัก
แต่ก็ได้ตั้งกลุ่มนักแสดงสมัครเล่นของหมู่บ้านด้วย. ในปี 1987 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยผู้กำกับประจำคณะ Münchener Kammerspiele
[มูนเฉิ่นเนอ คำแมรสปีเล]. ในปีเดียวกันนี้เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้กำกับของการแสดงคริสต์นาฏกรรม
ในฐานะที่เป็นคนหนุ่มที่มีความคิดแนวใหม่ๆ.
การกำกับการแสดงปี 1990 จึงมิได้ราบรื่นนัก
ซึ่งเป็นธรรมดาของการเปลี่ยนแปลง
แต่ผลสุดท้ายก็ดำเนินไปด้วยดี. ในการแสดงปี 2000 เขาและ
Otto
Huber [อ็อตโต ฮูแบร] จึงสามารถเปลี่ยนแปลงปรับปรุงและเพิ่มเติมบทละครครั้งใหญ่ตามที่เขาเห็นดี
รวมถึงการย้ายเวลาแสดงไปอยู่ในภาคบ่ายและภาคค่ำ. ตั้งแต่รับเป็นผู้กำกับการแสดงปี
1990 Stückl ต้องการเป็นผู้คัดเลือกผู้แสดงเอง.
จนถึงตอนนั้นสภาชุมชนเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้. เขาเริ่มตระเตรียมนักแสดง ปูทาง ส่งเสริมและผลักดันนักแสดงรุ่นหนุ่มสาวให้ได้บทสำคัญๆ ถึงกับพาพวกเขาไปยังอิสราเอลเพื่อให้นักแสดงรุ่นใหม่
ได้เพิ่มประสบการณ์บางอย่างบางลักษณะเกี่ยวกับฉากและภูมิหลังของเนื้อเรื่อง. ในที่สุดเขาเองเป็นผู้เลือกผู้เแสดงบทสำคัญๆในการแสดงปี
2010. เขาให้ความเห็นว่า
หากจะให้การแสดงคริสต์นาฏกรรมยืนยงต่อไป การแสดงจำเป็นต้องวิวัฒน์ไปตามกาลสมัย เพื่อดึงดูดอนุชนรุ่นใหม่ๆ. การแสดงต้องสามารถกระตุ้นจิตสำนึกเกี่ยวกับความหมายของการตายและการฟื้นคืนชีวิตของพระเยซูให้ได้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา.
ในแง่นี้เท่ากับว่าผู้กำกับเองก็ต้องหาความสมดุลให้ได้ระหว่างการคารวะขนบที่สืบทอดมา
กับการปรับเปลี่ยนการละครให้สนองรับสภาพสังคมในปัจจุบัน. น่ารู้อีกว่า ทั้งปู่และพ่อของเขาเข้าร่วมการแสดงในปี1990 เมื่อเขาได้รับเลือกให้เป็นผู้กำกับเป็นครั้งแรก
ปู่ของเขาเข้าร่วมในการแสดงในบทสำคัญต่างๆตั้งแต่ปี 1930 เรื่อยมาจนถึงปี 2000 ที่เขารับบทของหัวหน้าพระชาวยิว
ตอนนั้นปู่มีอายุ76 ปีแล้ว. ส่วนบิดาของเขาก็เคยแสดงเป็นจูดา
เป็นหัวหน้าพระชาวยิวในปี 1980, 1984, 1990 เป็นต้น.
ตระกูล Stückl
และตระกูล
Zwink
เป็นสองตระกูลที่รวมอยู่ในหมู่ชาวบ้านที่ลงนามในปฏิญญาต่อหน้าไม้กางเขนในปี 1633 ว่าจะจัดการแสดงคริสต์นาฏกรรมเพื่อแก้บนและตอบแทนพระผู้เป็นเจ้าทุกสิบปี.
ตระกูล Zwinks เป็นตระกูลดังและเด่นที่สุดตระกูลหนึ่งของหมู่บ้าน สามารถสืบสาวย้อนหลังไปได้ถึงปี
1446 เป็นอย่างน้อย. คนหนึ่งในตระกูลนี้คือ Frank Seraph Zwink (1748-1792) จิตรกรร็อกโกโก้ผู้ได้จารึกฝีมือจิตรกรรมเฟรสโก้บนผนังด้านนอกของบ้านหลายหลังในหมู่บ้าน. ในด้านการแสดง ลูกหลานตระกูลนี้เคยรับบทเป็นพระเยซู,
พระแม่มารีและจูดาในปี 1980 และในปี 2010 Markus Zwink เป็นผู้กำกับด้านดนตรีและวาทยากร.
Dominikus
Zwink
รับหน้าที่ของผู้เล่าเรื่องในอารัมภบท.
Otto Huber รองผู้กำกับการแสดงได้ทำหน้าที่แก้ไขปรับปรุงบทละครสำหรับการแสดงปี
1990 และปี 2000. เขาเกิดในหมู่บ้านนี้
จบจากโรงเรียนในสังกัดของอารามวัด Ettal และเป็นครูเสมอมา.
เขาอุทิศตนเพื่อส่งเสริมศิลปะการละคร และได้จัดแสดงละครของหมู่บ้านในละแวกนี้อย่างต่อเนื่อง. นอกจากตำแหน่งรองผู้กำกับการแสดงแล้ว
เขาเองทำหน้าที่เป็นผู้เล่าเรื่องในอารัมภบท (prologue) และผู้เล่าเรื่องในฉากภาพนิ่งด้วย (narrator). ปู่ของเขา (Huber Rutz) เคยรับบทของหัวหน้าพระชาวยิวในการแสดงสามครั้ง
และบทของปีเตอร์ในการแสดงปี 1950. ปัจจุบัน Otto Huber และภรรยามีบ้านพักให้เช่าในหมู่บ้าน.
ยังมีตระกูลสำคัญที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการแสดงติดต่อกันมาทั้งตระกูลที่ชาวบ้านทุกคนรู้จัก
คือตระกูล Preisinger
เช่น Anton Presinger Snr.
นักแสดงที่เป็นที่ยกย่องชื่นชมมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์นักแสดงของหมู่บ้าน. ตั้งแต่อายุได้สิบขวบ เขาแสดงเป็นเทวทูต ต่อมาเป็นลาซารุสในปี
1934, เป็นพระเยซูในปี
1950 และปี
1960. เป็นผู้กำกับการแสดงปี 1970,
และรับบทบาทย่อยๆต่อมาอีก(เพราะอายุมากขึ้นๆ) ในการแสดงปี 1980 และ 1984. ลูกชายเคยแสดงเป็นปิลาตในปี 1980 และหลานชาย Anton Presinger Jr. ผู้ทำหน้าที่บริหารกิจการโรงแรม
Alte Post
Hotel ในหมู่บ้าน,
ก็เคยแสดงเป็นจูดาในปี 2000.
ผู้แสดงทั้งหมดเกือบ 2400 คนที่รวมคนแสดงในบทบาทสำคัญๆทั้งหมด ๒๑ บทบาท (ที่มีบทเจรจาบนเวที สั้นและยาวรวมกันทั้งสิ้น ๑๒๐ บท) แต่ละบทบาทมีนักแสดงสองคนที่ฝึกซ้อมด้วย
กันมาที่พร้อมจะแสดงได้ทุกเมื่อ.
ผู้แสดงอื่นๆเช่นทหารโรมัน,
คนเฝ้าวัดและชาวประชา, นักดนตรี, คณะนักร้องประสานเสียงที่มีทั้งชายและหญิงและนักร้องเดี่ยว
รวมกันประมาณหนึ่งร้อยคน (ใช้ประมาณห้าสิบคนในการแสดงแต่ละครั้ง), ช่างเทคนิคต่างๆเป็นต้น,
ผู้ช่วยในทุกด้านทุกแขนง ทั้ง หมดเลือกจากคนในหมู่บ้าน, จากทุกอาชีพ, ทุกสถานะ,
เป็นผู้ที่เกิดในหมู่บ้านหรือผู้ที่ย้ายภูมิลำเนามาอยู่ในหมู่บ้านนี้ไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีแล้ว
ตามรายละเอียดต่อไปนี้
ผู้มีสิทธิ์สมัครเข้าร่วมการแสดง
ต้องอยู่ในเงื่อนไขดังนี้
๑. ผู้เกิดที่หมู่บ้าน
Oberammergau ไม่จำกัดว่าเป็นชาวคาทอลิกหรือชาวโปรเตสแตนต์
และแม้ไม่นับถือศาสนาหนึ่งศาสนาใดก็มีสิทธิ์.
๒.
ผู้มีภูมิลำเนาอยู่ที่หมู่บ้านนี้ ติดต่อกันนานเกินยี่สิบปีแล้ว
ไม่จำกัดเชื้อชาติและศาสนา เช่นในการแสดงปี 2000 มีชาวมุสลิมในหมู่บ้านเข้าร่วมแสดงด้วย.
๓. เด็กนักเรียนของหมู่บ้าน
ไม่ว่าจะมาจากไหน บิดามารดามีสัญชาติอะไรหรือเกิดที่ไหน.
๔. สมาชิกในครอบครัวของทหารประจำการขององค์การ
NATO
(North Atlantic Treaty Organization) ที่มีศูนย์ฝึกอบรมอยู่ใกล้ๆหมู่บ้าน.
๕. สตรีที่เข้าข่ายตามข้อ
๑ ถึงข้อ ๔ มีสิทธิ์สมัคร. ตั้งแต่ปี 1990 สภาชุมชน(ตามคำเสนอแนะของผู้กำกับปีนั้นคือ Stückl
& Otto Huber ) ได้ลงมติยกเลิกเงื่อนไขเกี่ยวกับผู้สมัครสตรีที่เคยกำหนดไว้ว่า
ต้องเป็นโสดและมีอายุไม่เกิน ๓๕ ปี.
การคัดเลือกผู้แสดง
หนึ่งถึงสองปีก่อนปีที่มีการแสดง ชาวบ้านOberammergau ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ผู้หญิงหรือผู้ชาย ผู้ต้องการมีส่วนในการแสดง ไม่ว่าเป็นบทอะไร ต้องกรอกใบสมัครไปยื่นต่อสภาชุมชนอย่างเป็นทางการ. สำหรับการแสดงปี 2010 นั้นมีผู้ใหญ่ลงสมัคร 1800 คนและเด็กๆอีก
600 กว่าคน. บางคน(เช่นผู้ชาย)
เจาะจงด้วยว่าต้องการเป็นทหารโรมัน
เพราะพวกเขาจะโกนหนวดโกนเคราหรือตัดผมได้ตามปกติ
เพราะในบทสำคัญๆทั้งหมด ๒๑ บทนั้น (ที่มีบทเจรจาบนเวที เช่นพระเยซู สาวก พระ ฯลฯ) ผู้ชายที่ได้รับเลือกต้องเริ่มไว้ผม,
ไว้หนวดและไว้เคราตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิของปี 2009 ไปจนจบการแสดงในเดือนตุลาคมปี 2010. ผู้กำกับการแสดง Christian Stückl เป็นผู้เสนอแนะว่าใครบ้างควรรับบทไหนในทั้งหมด 21 บท และเขาเจาะจงว่าแต่ละบทต้องเตรียมผู้แสดงอย่างน้อยสองคนที่จะเข้าแสดงแทนกันได้ในทุกเมื่อ มีศักดิ์ศรีและความสำคัญเท่าเทียมกัน หาได้เป็นตัวสำรองของใครไม่.
ในเย็นวันที่
7
เมษายน 2009 คณะกรรมการผู้จัดการแสดงมีประชุมลับกันเพื่อพิจารณาตัดสินว่า การคัดเลือกผู้แสดงควรเป็นไปตามคำเสนอแนะของผู้กำกับการแสดงไหม? หลังจากการถกเถียงตลอดเวลาสี่ชั่วโมง มติตกลงให้เป็นไปตามคำเสนอแนะของผู้กำกับ. วันที่ 8 เมษายน เวลาเก้านาฬิกาสามสิบนาที
ชาวบ้านมารวมกันที่วัดคาทอลิกประจำหมู่บ้าน. เริ่มด้วยพิธีสวดสั้นๆที่มีทั้งการร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า
การอ่านพระคัมภีร์และการสวด. จบแล้ววงดุริยางค์ของหมู่บ้านนำทั้งคณะและฝูงชนเดินไปตามถนน
ไปหยุดอยู่ที่วัดโปรเตสแตนต์เพื่อสวดอีกครั้งหนึ่ง[23] แล้วทั้งหมดเคลื่อนขบวนต่อไปที่โรงละคร.
บนเวทีมีวงดนตรีและคณะนักร้องประสานเสียงนั่งอย่างพร้อมเพรียง. วงดุริยางค์ของหมู่บ้านเข้าไปประจำที่เช่นกัน. ชาวบ้านมานั่งรวมกันอยู่ในโรงละครด้วย และคณะเจ้าหน้าที่สถานีโทรทัศน์บาวาเรีย ผู้ติดตามมาถ่ายทอดสดการทำปฏิญญาต่อพระผู้เป็นเจ้าเพื่อสืบทอดความตั้งใจที่เคยให้ไว้ตั้งแต่ปี
1633. พิธีศาสนาเริ่มขึ้น โดยมีรองเจ้าคณะนักบวชฝ่ายคาทอลิกของถิ่นนี้,
พระของวัดประจำหมู่บ้าน,
และเจ้าคณะนักบวชฝ่ายโปรเตสแตนต์ของถิ่นนี้และนักบวชของวัดโปรเตสแตนต์ของหมู่บ้านเป็นผู้ประกอบพิธีร่วมกัน. มีการบรรเลงดนตรีบางตอน, การขับร้องประสานเสียงด้วย, ถึงเวลาเด็กชายวัยสิบขวบชื่อ Christoph Stöger [คริซต๊อฟ
สเตอเแกร] (เด็กคนนี้ทำหน้าที่ประจำอยู่หน้าแท่นบูชาของวัดประจำหมู่บ้าน)
เป็นผู้ทำปฏิญญาแทนหมู่บ้านทั้งหมด ว่าจะสืบสานการแสดงคริสต์นาฏกรรมต่อไปเพื่อรำลึกถึงพระเมตตาของพระผู้เป็นเจ้าที่ได้ช่วยชีวิตชาวบ้าน
Oberammergau ให้พ้นจากโรคระบาดในปี 1633 ไว้ได้. ชาวบ้านทั้งหมดที่อยู่ในโรงละครเปล่งเสียงยืนยันพร้อมกันตามนั้น. ผู้กำกับการแสดงพาฝูงเด็กๆขึ้นไปบนเวทีและร้องเพลงต้อนรับ
แสดงความยินดีปราโมทย์.
เพลงนำที่เด็กๆร้องนี้ จะเป็นเพลงนำของฉากพระเยซูเข้าเมืองเยรูซาเล็มในองก์ที่หนึ่ง
(ในการแสดงจริงคณะนักร้องประสานเสียงเป็นผู้ขับร้องเท่านั้น). แต่ในวันประกอบพิธีนี้ เด็กๆ, วงดนตรี,
คณะนักร้องประสานเสียงและชาวบ้านที่อยู่ในโรงละคร ขับร้องพร้อมกัน.
หลังอาหารเที่ยง
ถึงเวลาประกาศรายชื่อผู้สมัครว่าใครได้รับเลือกให้แสดงบทอะไร โดยเฉพาะบทเด่นๆยี่สิบเอ็ดบท.
ด้านหน้าบริเวณโรงละครจึงมีคนหลายร้อยคนรวมกันอยู่เพื่อคอยฟังผล. วิธีการประกาศ ก็ใช้วิธีเขียนชื่อลงบนแผ่นกระดานดำสองแผ่นใหญ่ที่ตั้งอยู่นอกโรงละคร. ผู้เขียนค่อยบรรจงเขียนทีละชื่อๆ ยิ่งทำให้ผู้คนกระสับกระส่าย เพราะต้องอดทนคอยดูตามคนเขียนไปทีละชื่อๆ ว่าใครรับบทไหนเป็นต้น. ผู้แสดงที่ได้รับเลือกทั้งหมด เผยให้เห็นจุดยืนของผู้กำกับ
Christian
Stückl ว่าต้องการส่งเสริมหนุ่มๆสาวๆให้เข้ามีบทบาทในการแสดงมากขึ้นๆ เพื่อเตรียมพวกเขาสำหรับการแสดงครั้งต่อๆไปในอนาคตด้วย.
ผู้กำกับการแสดงยังต้องการให้โอกาสนักแสดงแต่ละคนเป็นผู้ถ่ายทอดจิตวิญญาณของตัวละครด้วยตัวเขาเอง.
ให้คิดเองว่าจะพูดบทนั้นๆอย่างไร (คำพูดนั้น กำหนดไว้แล้ว ไม่แต่งขึ้นเอง) แสดงท่าทางเช่นไรเป็นต้น. ฝึกกันไปเช่นนี้ทีละเล็กทีละน้อย เมื่อถึงเวลาแสดงจริงในเดือนพฤษภาคมปี 2010
พวกเขาแต่ละคนเหมือน “ได้เติบโตในเลือดเนื้อและวิญญาณของตัวละครตัวนั้นอย่างแท้จริง” การซ้อมเริ่มตั้งแต่วันที่
28 พฤศจิกายน 2009 สัปดาห์ละสามสี่ครั้ง บนเวทีไม่ว่าฝนตก แดดออก มีพายุหรือหิมะก็มิได้ว่างเว้น.
ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้แสดงแต่ทำหน้าที่ช่วยด้านอื่นๆ เช่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดฉาก, ฝ่ายบูรณาการ.
ฝ่ายผลิตสิ่งของเครื่องใช้, เช่นงานฝีมือ. เครื่องแต่งกายใหม่ทั้งหมดสองพันชุด เป็นผลงานจากอุตสาหกรรมภายในครอบครัว ด้วยช่างฝีมือจากมิวนิก. เสื้อผ้าทำจากผ้าฝ้าย,
ผ้าปักทอลายด้วยไหมทอง, ผ้าไหม, ผ้าแพรหรือผ้าต่วน, ผ้าดิ้นเงินดิ้นทองเป็นต้น โดยมี Stefan Hageneier [สตีเฟน ฮาเกอไนแอร]
นักออกแบบลูกบ้าน Oberammergau เป็นผู้ออกแบบฉาก จัดเวทีพร้อมอุปกรณ์เครื่องใช้ เครื่องประดับ
เครื่องแต่งกายในบริบทแต่ละฉากอีกยี่สิบแปดชุด โดยเน้นความถูกต้อง ตรงกับประวัติศาสตร์แห่งยุค.
การแสดงพัฒนาจากความเรียบง่ายเป็นความอลังการของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของผู้แสดง
เพื่อสร้างความตื่นตะลึงและความประทับใจแก่ผู้ชม. โดยปริยาย เน้นความมั่งคั่งของผู้สวมใส่.
นั่นคือเหล่าพระนักบวชนอกรีตชาวยิวหรือข้าหลวงโรมัน เมื่อเทียบกับความเรียบง่ายของเครื่องนุ่งห่มของชาวยิวพื้นบ้าน
รวมทั้งของพระเยซูและของเหล่าสาวกด้วย โดยเฉพาะในการแสดงปี 1990, 2000 และ 2010 ยืนยันอย่างชัดเจนถึงจุดยืนของคณะผู้กำกับว่า
ต้องการให้การแสดงเป็นไปตามกรอบของยุคสมัยใหม่
ของศิลปะการละครยุคปัจจุบันที่ฉากและเครื่องแต่งกายสำคัญมากพอๆกับการแสดง
เพราะเป็นสิ่งตรึงสายตาผู้ชมได้ตั้งแต่นาทีแรก.
ศิลปะการละครพัฒนาไปพร้อมๆกับวิวัฒนาการของแฟชั่น ดังการแสดงโอเปร่าตะวันตก นักออกแบบแฟชั่นชั้นสูงเป็นผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายของผู้แสดง.
เครื่องแต่งกายจึงเป็นส่วนหนึ่งที่มิอาจแยกออกจากศิลปะการละคร
ที่ตรึงภาพกับอากัปกิริยาของตัวละครแต่ละตัวในจินตนาการของผู้ชมตลอดไป.
ทุกคนที่มีส่วนในการจัดการแสดงคริสต์นาฏกรรมนี้
มิได้เป็นผู้ที่มีจิตศรัทธาต่อคริสต์ศาสนาเท่าเทียมกันทุกคน เพราะฉะนั้นมิติทางศาสนามิได้เป็นฐานสำคัญฐานเดียว
แต่การแสดงกลายเป็นขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมเฉพาะของหมู่บ้าน
ที่พวกเขาในฐานะสมาชิกของชุมชนในหมู่บ้าน อยากมีส่วนร่วมด้วย ดนตรีและการขับร้องเป็นส่วนหนึ่งของค่านิยมพื้นฐานที่มิเคยถดถอยลดน้อยลงเลยในประวัติศาสตร์ของประเทศเยอรมนีโดยเฉพาะตั้งแต่ศตวรรษที่สิบห้าเป็นต้นมา
และดังกล่าวมาแล้ว
ดนตรีเป็นองค์ประกอบที่ขาดเสียมิได้ในการแสดงนี้.
ผู้แสดงทั้งหมดเป็นนักแสดงสมัครเล่น
และไม่มีใครมีรายได้จากการแสดงดังเช่นนักแสดงอาชีพที่มีรายได้เป็นกอบเป็นกำหรือมีรายได้ประจำ. มาถึงวันนี้เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่า
ผู้แสดงต้องสละเวลาจำนวนมากมาย ผละจากการงานในชีวิตจริง, ในอาชีพของเขาแต่ละคน เพื่อมาซ้อมมาแสดง
,ทั้งหมดติดต่อกันเป็นเวลานานเกือบปี
แต่ละคนย่อมสูญเสียรายได้ประจำที่เขาทำอยู่ ที่เขาต้องละไว้ชั่วคราวจนกว่าการแสดงจะสิ้นสุดลง,
หรือแม้เป็นพ่อค้าเขาก็ต้องหยุดทำการค้าไปนาน. คณะกรรมการจึงอนุมัติเงินชดใช้แทนรายได้ประจำที่น้อยลงหรือเสียไป.
เงินชดเชยนี้ก็น้อยเกินกว่า
ที่จะเรียกเป็นเงินค่าจ้างหรือค่าตอบแทน.
เป็นที่ประจักษ์แน่ชัดว่า ไม่มีผู้แสดงคนใดที่ร่ำรวยขึ้นหรือตั้งตัวได้เพราะได้แสดงในคริสต์นาฏกรรม.
ผู้ชม
เมื่อการแสดงคริสต์นาฏกรรมเป็นที่กล่าวขวัญเลื่องลือออกไปไกลทุกมุมโลก
จำนวนผู้ชมที่เดินทางไปชมการแสดงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ. สถิติผู้เข้าชมการแสดง เช่นในปี 1830 มีผู้ชมทั้งสิ้นประมาณ 13,000 คน. ในปี 1840 จำนวนผู้ชมเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่า คือประมาณ 35,000 คน. ในปี 1880 ที่ Thomas Cook & H. Gaze เริ่มขายทัวร์เป็นแพ็คเก็จนำชาวอังกฤษข้ามฝั่งมาชมการแสดง. เปิดศักราชของการนำเที่ยวเป็นหมู่เป็นคณะขึ้น. ปีนั้นจำนวนผู้ชมเพิ่มจากหลักหมื่นเป็นหลักแสนและตั้งแต่นั้นมาก็อยู่ในหลักแสนขึ้นไปเช่นในปี
1900 มี 174,000 คน และในปี 1950 มีถึง 480,000 คน. สถิติล่าสุดของการแสดงปี 2010 มีผู้ชมทั้งหมด 520,000 คน. การเดินทางสะดวกมากขึ้นตามความเจริญก้าวหน้าของประเทศเยอรมนี. การบริการด้านคมนาคมจากจุดต่างๆในเยอรมนี ได้มีการวางแผนอย่างละเอียดพร้อมเพรียง
ที่เอื้ออำนวยให้นักท่องเที่ยวสามารถไปถึงหมู่บ้านได้อย่างสะดวก
และเข้าชมการแสดงแล้วกลับได้อย่างปลอดภัย
เพราะมีรถรับส่งไปยังจุดต่างๆเพื่อจับรถไฟ หรือรถทัวร์ต่อไปได้. องค์การรถไฟ, รถขนส่งในเยอรมนี ก็จัดตารางใหม่เพิ่มขบวนรถไฟ,
รถประจำทางและรถขนส่งเพื่อรองรับผู้มาชม. ทั้งนี้ไม่รวมรถทัวร์ของบริษัทต่างๆที่จัดทัวร์พาลูกค้ามาชมการแสดงแล้วพากลับไปส่งอีกมากมายหลายบริษัท.
ในช่วงระยะที่มีการแสดงคริสต์นาฏกรรม ยังเป็นโอกาสดีสำหรับชาวต่างถิ่น(จากเยอรมนี)
หรือต่างแดน(จากประเทศอื่น)
ผู้ประสงค์จะไปชมสถานที่สำคัญๆอื่นๆในปริมณฑลของแคว้นบาวาเรีย เพราะมีเครือข่ายเตรียมรองรับอย่างพร้อมเพรียง.
ในหมู่ผู้ชม[24] มีผู้สูงอายุจำนวนมากกว่ากลุ่มอายุอื่น. หลายคนต้องนั่งรถเข็นไป. ผู้สูงวัยทั้งหลายอาจมีความปรารถนาลุ่มลึกในใจว่าอยากไปชมการแสดงนี้ก่อนสิ้นบุญ. ส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรป, ชาวอเมริกัน,และบางชาติจากเอเชียเช่นฟิลิปปิน,
ญี่ปุ่น. ดังกล่าวไว้ว่า Thomas Cook จากกรุงลอนดอนเป็นคนแรกที่คิดจัดทัวร์พาชาวอังกฤษข้ามทะเลมาชมการแสดง
(1880) หลังจากนั้นก็มีบริษัทต่างๆจากสหรัฐอเมริกา และจากทุกประเทศในยุโรป
ที่จัดทัวร์พาไปที่ Oberammergau พร้อมตั๋วสำหรับเข้าชมแล้วพากลับ.
ในสมัยใหม่ทัวร์ที่จัดไปชมการแสดง
ขยายเส้นทางพาไปเที่ยวยุโรปก่อนและรวมการไปชมการแสดงเข้าไปด้วย. เช่นนี้ทำให้ผู้ที่ไม่พร้อมจะท่องเที่ยวที่อื่นๆ
ต้องเสียค่าดูค่าเดินทางเพิ่มขึ้นอีก.
วิธีที่ง่ายที่สุดและดูเหมือนว่าถูกที่สุดสำหรับผู้ที่ต้องการไปชมการแสดงจริงๆ
คือการจองตั๋วเองโดยตรงกับคณะกรรมการหมู่บ้าน Oberammergau ซึ่งสามารถติดต่อเข้าถึงได้จากเว็ปไซต์ของการแสดง (http://www.passionplay-oberammergau.com/) มีราคาตั๋วแบบต่างๆที่เราเลือกได้, ที่พักในราคาที่เราต้องการจ่าย,
ราคาถูกกว่ากันมาก และหากจองล่วงหน้าสักสองปี
ก็มีโอกาสได้พักตามบ้านของชาวบ้าน(ที่จัดเป็นแบบ Bed & Breakfast) หรือโรงแรมที่ตั้งอยู่ภายในหมู่บ้านเลย.
เป็นโอกาสดีที่จะได้ทำความรู้จักใกล้ชิดกับหมู่บ้านและชาวบ้าน.
ส่วนจะเดินทางต่อหรือไม่, ไปที่ใด,
ก่อนหรือหลังการแสดง ก็แล้วแต่ใจปรารถนา.
ผู้ซื้อตั๋วจะได้รับแจกหนังสือแนะนำหมู่บ้านและความรู้เกี่ยวกับการจัดแสดง.
หนังสือบทละครทั้งเรื่องที่มีคำพูดในละครทุกคำ, ทุกวรรค. ทั้งหมดแปลเป็นภาษาอังกฤษสำหรับชาวต่างภาษาทั้งหลายควบคู่กับภาษาเยอรมัน.
ที่น่าประทับใจคือ ผู้ชมเหมือนถูกตรึงกับที่ ตั้งอกตั้งใจดูการแสดง.
ชาวอังกฤษและชาวอเมริกันโดยเฉพาะได้รับคำแนะนำจากหัวหน้าทัวร์ว่า
ให้พกไฟฉายขนาดเล็กติดตัวเข้าไปในโรงละคร
และใช้ส่องอ่านบทละครควบคู่ไปกับการชมการแสดง. เพราะมีบทสนทนา, บทโต้ตอบ, บทรำพึงรำพันต่างๆ
ที่ใช้ภาษาเยอรมันทั้งหมด. เช่นนี้พวกเขาก็เข้าใจและเข้าถึงการแสดงได้เต็มที่.
ในที่สุดการแสดงได้ตรึงผู้ชมไว้นานอย่างต่อเนื่องตลอดห้าชั่วโมงกว่า ตั้งแต่บ่ายสองโมงครึ่งถึงห้าโมงเย็นและตั้งแต่สองทุ่มถึงสี่ทุ่มครึ่ง.
ข้าพเจ้าไม่เห็นมีใครหลับสักคนเดียวในบริเวณโดยรอบที่ข้าพเจ้านั่ง, ต่างอ่านและดูอย่างตั้งใจ. เป็นภาพที่น่าประทับใจ ที่อาจนับได้ว่าเป็นการทำสมาธิหรือการปฏิบัติธรรมแบบหนึ่ง.
ในมุมมองนี้การแสดงคริสต์นาฏกรรมเป็นความสำเร็จสุดยอดของหมู่บ้านนี้.
การบริหารจัดการเงินรายได้จากการแสดง
หนึ่งปีก่อนปีการแสดง สภาชุมชนจะมอบอำนาจให้แก่กลุ่มบุคคลที่ได้เลือกเป็นผู้กำกับการแสดง,
รองผู้กำกับฯ, ผู้กำกับการดนตรี, บาทหลวงคาทอลิกและพระนักบวชโปรเตสแตนต์,
บุคคลกลุ่มนี้รวมกันเป็นคณะกรรมการคริสต์นาฏกรรม.
คณะกรรมการนี้เองที่จะบริหารและตัดสินทุกปัญหาทุกอย่างที่เกี่ยวกับคริสต์นาฏกรรม
โดยมีการเรียกประชุมชาวบ้านมาลงคะแนนเสียงในการทำประชามติ เพื่อตัดสินปัญหาใดปัญหาหนึ่งที่เกิดข้อขัดแย้งขึ้นมา.
ภาระหน้าที่นี้รวมถึงการสั่งจ่ายเงินเพื่อกิจกรรมหนึ่งกิจกรรมใดที่เกี่ยวข้อง
เช่นค่าใช้จ่ายในการทำนุบำรุงปรับเปลี่ยนโรงละคร,
การจัดโครงสร้างเสริมเช่นการคมนาคมระหว่างหมู่บ้าน Oberammergau กับเมืองในปริมณฑลแคว้นบาวาเรีย, พื้นที่สำหรับจอดรถจำนวนมาก, ห้องสุขา,
ท่อระบายน้ำและท่อน้ำเสียเป็นต้น เพื่อรองรับคนจำนวนมากที่จะมารวมกันในหมู่บ้านเล็กๆนั้น. น่าทึ่งที่ทุกอย่างทุกเรื่องนั้น
ชาวบ้านมีส่วนร่วมรับรู้และออกความเห็นเสมอ
เพราะการแสดงคริสต์นาฏกรรมถือว่าเป็น “สมบัติ” ของชุมชน
ดังที่ปรากฏจารึกไว้อย่างชัดเจนในบัญญัติของสภาชุมชนผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการธำรง “สมบัติ”นี้ไว้.
เรื่องน่ารู้อีกเรื่องหนึ่งคือ
รายได้จากการจัดแสดง ได้กลับคืนสู่ชุมชน
Oberammergau
เสมอมา ในรูปแบบต่างๆ เช่น การสร้าง Ammergauer Haus [อำมาเกาเวอเฮาซ] ที่ประกอบด้วยโรงละครกลางแจ้ง, หอดนตรี, ภัตตาคารและศูนย์บริการนักท่องเที่ยว. อีกแห่งหนึ่งคือศูนย์มัณฑนาการ Wellenberg [เวลเล็นแบรก] ที่น่าจะเป็นศูนย์มัณฑนาการที่สวยงามที่สุดในหุบเขาแอล์ปส์. มีหมู่สระน้ำแบบต่างๆ ทั้งภายในอาคาร ( 3 สระ) และสระกลางแจ้ง(3 สระ)
พร้อมทางน้ำแบบลื่นไหลสองทางและสระผจญภัยสำหรับหนุ่มสาวยุคปัจจุบัน, ยังมีห้องอบไอน้ำ
(sauna), ห้องอบตัวด้วยแสงแดด (solarium) , บริเวณสำหรับนอนผึ่งแดด, และภัตตาคารกับบาร์เครื่องดื่ม. ในหมู่บ้านนี้ยังมีคลินิกสุขภาพพร้อมระบบน้ำพุร้อนธรรมชาติ
เพื่อรักษาโรคไขข้อเสื่อมและศูนย์กายภาพบำบัด.
หากผู้ใดสนใจอยากรู้รายละเอียดเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินรายได้ทั้งหมดจากการแสดงครั้งต่างๆ
ก็มีเอกสารรายละเอียดพร้อมที่จะไปเปิดดูได้เลยที่ศูนย์ Wellenberg.
เป็นที่ประจักษ์แก่ทุกคนว่า รายได้จากการแสดงได้กลับคืนสู่ชุมชนชาวบ้านนี้ทั้งหมด. ดังมีสำนวนที่พูดกันในหมู่บ้านว่า "Die Passion zahlt" (หมายถึงว่ารายได้จากการแสดงจะเป็นค่าใช้จ่ายของสิ่งที่ชุมชนต้องการ), เสริมสร้างคุณภาพชีวิตแก่ชาวบ้านและเป็นตัวอย่างของการบริหารชุมชนที่พิเศษไม่เหมือนหมู่บ้านใดในเยอรมนี.
หมู่บ้านนี้มีปณิธานแน่วแน่ในการส่งเสริมการศึกษาของเด็กๆ เงินจำนวนมากนำไปใช้เพื่อส่งเสริมการศึกษาโดยเฉพาะด้านดนตรีและการละคร สนับสนุนให้เด็กๆเข้าร่วมในการแสดง. ผู้ที่รักดนตรีและการละคร
จะมีโอกาสศึกษาต่อด้านนี้
เพื่อให้พวกเขาพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องตามวัยตามการศึกษาและการฝึกฝน เพราะเด็กๆของหมู่บ้านนี้เป็นผู้กำอนาคตของการจัดแสดงคริสต์นาฏกรรม. เป็นความจริงทีเดียวที่เด็กๆของหมู่บ้านนี้ เติบโตขึ้นในบริบทของการแสดงคริสต์นาฏกรรม.
การแสดงที่จัดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเด็ก ตัวอย่างเช่น Stephen Burkhart [สตีเฟน
เบอรคารต] ผู้แสดงเป็นหัวหน้าพระชาวยิว
( Caiaphas [เคอเฟส]) ในการแสดงปี 2000 เคยเข้าปรากฏในการแสดงปี 1970 ในตอนนั้นเขามีอายุเพียงสองขวบครึ่ง. Christian Stückl ผู้กำกับการแสดงปี 1990 และปี 2000 บอกเล่าว่าโดยส่วนตัวการแสดงคริสต์นาฏกรรม
มีความสำคัญต่อเขามากตั้งแต่เมื่อเขาอายุเจ็ดขวบ. เด็กๆหมู่บ้านนี้มีการเล่นผิดเด็กที่อื่นใดในโลก
เพราะพวกเขาพูดบ่อยๆในยามว่างในปีที่มีการแสดงว่า “ไปเล่นคริสต์นาฏกรรมกัน” แทนการไปเล่นซ่อนหา,
เล่นตั้งเต ฯลฯ
ชาวคริสต์หลายคนในปัจจุบันยังเห็นว่าการแสดงคริสต์นาฏกรรมเป็นสิ่งดี ที่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของหมู่บ้านนี้ ที่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมดีเด่นประจำชาติ ที่เป็นความสนใจในระดับนานาประเทศ. คริสต์จักรเองก็คอยติดตามดูการวิวัฒน์พัฒนาของการแสดงอย่างต่อเนื่อง
และหมู่บ้านนี้ยังคงรักษาความเป็นเอกเทศและเอกสิทธิ์ของชาวบ้านนี้ไว้ได้อย่างครบถ้วน.
ข้อคิดคำนึง
ทำไมภาพการตายของพระเยซูบนไม้กางเขนจึงเป็นภาพรวมจิตสำนึกแล
เป็นหัวใจของคริสต์ศาสนา เมื่อพิจารณาถึงยุคสมัยของพระเยซู แต่ละชีวิตเหมือนลอยอยู่ในธารน้ำเชี่ยว
ถูกเหวี่ยงไปมามิได้หยุดยั้ง.
พระเยซูเป็นความหวังของชาวยิว เป็นพระเจ้าที่พวกเขารอคอยที่จะมาช่วยกู้ชนชาติอิสราเอล. แต่แทนการต่อสู้กับพวกโรมัน
พระเยซูกลับสอนให้รักศัตรู[25] ขัดกับสัณชาติญาณของคนอย่างชัดเจน.
นักประวัติศาสตร์ศาสนาวิเคราะห์ว่า นี่เป็นคำสอนที่ไม่มีในศาสนาใด ในบริบทของยุคนั้น คงไม่มีทางอื่นใดแล้วที่จะช่วยให้ชาวยิวพ้นทุกข์
นอกจากสอนให้พวกเขารักทุกคนแม้แต่ศัตรู
ซึ่งเป็นทางเดียวที่จะยุติความโกรธเกลียดชิงชัง, ความคับแค้นในใจคนให้หมดไป,
แล้วสร้างความหวังใหม่ด้วยการมองไปในอนาคตนอกเหนือชีวิตอันจำกัดของตนในปัจจุบัน. พระเยซูเบนให้ชาวยิวคิดว่า ความตายเป็นเพียงจุดจบของความทุกข์ทรมาน มิใช่จุดจบของชีวิต
หรือของความหวังในความสุข แต่เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่ที่ไม่มีวันดับในความสุขนิรันดร์. ความตายคือการเน่าเปื่อยของร่างกายเท่านั้น
แต่วิญญาณยังอยู่ตลอดไปและจะเกิดใหม่สดใสสดสวยชั่วนิรันดร์ได้. คริสต์ศาสนาปลูกฝังการยอมรับความตาย
และเปลี่ยนทีท่าหรือความกลัวตายของคนให้เป็นความหวังในชีวิตใหม่ที่ดีกว่า และใช้ภาพการถูกตรึงไม้กางเขน ที่เป็นความตายอย่างช้าๆทีละเล็กทีละน้อยอย่างทุกข์ทรมานของพระคริสต์
เป็นเครื่องมือตรึงความเชื่อและศรัทธาของผู้ที่ได้เห็น เพราะเป็นภาพที่สะเทือนอารมณ์ความรู้สึกและเขย่าจิตสำนึกของคนอย่างรุนแรง.
วัดหรือสุสานของชาวคริสต์
มีรูปพระเยซูบนไม้กางเขนให้เห็นเสมอ เหมือนเป็นหลัก เป็นสิ่งปลอบใจของผู้ตายว่า
แม้พระเยซูคริสต์เองก็ตายเยี่ยงมนุษย์เดินดินคนหนึ่ง อย่ากลัวตายเลย. ในที่สุดภาพความตายได้กลายเป็นจุดเด่นของคริสต์ศาสนาและเป็นสิ่งปลดเปลื้องความทุกข์ของคน
และข้าพเจ้าอยากเข้าใจว่า การเกิดใหม่หรือการฟื้นคืนชีวิต ก็คือการมีวิญญาณสำนึกใหม่ มีระดับจิตสำนึกที่สูงขึ้น เข้าถึงความหมายอันแท้จริงของชีวิตและของความตาย เป็นสภาพจิตที่แจ่มกระจ่างโปร่งใสใน “ความรู้จริง”
ที่คริสต์ศาสนาได้ถ่ายทอดผ่านเรื่องราวของการกลับฟื้นคืนชีวิตของพระเยซูผู้เอาชนะความตายและเอาชนะความทุกข์.
การแสดงคริสต์นาฏกรรมสามารถใช้กระบวนการด้านศิลปะเพื่อบรรลุเป้าหมายของการจัดการแสดง และเพื่อจรรโลงสารที่คริสต์ศาสนาต้องการเผยแพร่
ในขณะเดียวกันเพื่อประโยชน์สุขทั้งใจและกายของชาวบ้านทั้งหมด. หมู่บ้าน Oberammergau เป็นตัวอย่างของพลังความผูกพันของชุมชนเล็กๆชุมชนหนึ่ง
ที่รวมกันในยามทุกข์และในยามสุข
เป็นชุมชนที่รู้จักประนีประนอม ขัดเกลากระแสความคิดความขัดแย้งต่างๆของสังคมใหญ่ๆรอบข้าง
และมารวมกันในอุดมการณ์เดียวกัน ทั้งเป็นตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่งว่าจิตสำนึกร่วมกันทางศาสนาและศิลปะเป็นกุญแจที่มีสมรรถภาพในกระบวนการขับเคลื่อนพัฒนาชุมชน ท่ามกลางธรรมชาติแวดล้อมอันงดงามที่ชาวบ้านอนุรักษ์มาได้อย่างต่อเนื่องตลอดหลายร้อยปีที่ผ่านมา.
อีกสี่ปี ก็จะมีการแสดงอีกครั้งในปี 2020 นำมาลงในบล็อก เผื่อผู้ใดสนใจหรือมีโอกาสไปดูเป็นประสบการณ์ชีวิต
...
โชติรส
โกวิทวัฒนพงศ์ รายงาน จากการไปชมละครที่นั่น เมื่อเดือนกันยายนในปี 2010.
[1] คริสต์นาฏกรรมในที่นี้หมายถึง Passion
Play หรือ Passionsspiele
[ปาซีอนฉพีเล] ในภาษาเยอรมัน
ที่มาจากคำละตินว่า passio แปลว่า ทุกข์ทรมาน.
ในบริบทของคริสต์ศาสนาเขียนด้วยอักษร P ตัวใหญ่
มีความหมายรวมถึงการทรมาน การตรึงบนไม้กางเขนและการตายของพระเยซู. ในภาษาอังกฤษบางทีก็ใช้คำ the Play สั้นๆเมื่อหมายถึงการแสดงคริสต์นาฏกรรม ความหมายของคำ passion ที่ใช้กันทั่วไปในปัจจุบันหมายถึงอารมณ์รุนแรงที่ควบคุมไว้ได้ยาก หรือตัณหาในความใคร่
หรือความกระตือรือร้นอย่างแรงที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง. คำละติน passio ก็เป็นฐานของคำ patient-ผู้ป่วยในภาษาอังกฤษหรือฝรั่งเศส
ที่เก็บนัยของความทุกข์ทรมานจากคำละตินเดิมไว้. ส่วนชื่อหมู่บ้าน Oberammergau อ่านเร็วๆได้ว่า
[โอ๊แบอำหมะเกา]
[2] Holy Week หรือสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ในปฏิทินคริสต์ศาสนา
คือสัปดาห์สุดท้ายก่อนวันอีสเตอร์ (Easter) ซึ่งตรงกับปลายฤดูหนาวและต้นฤดูใบไม้ผลิ. พิธีรำลึกถึงพระเยซูตั้งแต่วัน
Palm
Sunday
(รำลึกถึงวันที่พระเยซูเข้าเมืองเยรูซาเล็ม), Maundy Thursday (รำลึกถึงเหตุการณ์หลายเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนที่พระเยซูจะถูกจับ
เช่นการไปที่เขามะกอกเก็ธเสอะมานี,
การรับประทานอาหารมื้อสุดท้าย, การสถาปนาพิธีศีลมหาสนิท) , Good Friday (รำลึกถึงการที่พระเยซูถูกจับ ถูกตัดสินโทษ ถูกตรึงบนไม้กางเขน
และการตายของพระองค์), Holy Saturday (รำลึกถึงพระเยซูผู้ตายแน่นิ่งในสุสาน)
และจบลงด้วยวัน Easter หรือ Holy Sunday ซึ่งถือเป็นวันที่พระเยซูฟื้นคืนชีพ เป็นวันเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิที่ทุกอย่างเกิดใหม่สดสวย. การจัดพิธีรำลึกเหตุการณ์ต่างๆทำกันในวัด
ตามโรงเรียนมักจัดกิจกรรมในวัน Palm Sunday และหรือวันอีสเตอร์ให้เด็กๆได้ร่วมสนุกกัน.
หลายประเทศจัดขบวนแห่ไปในเมือง.
แห่รูปปั้นของพระเยซูและพระแม่มารีที่ชาวเมืองเคารพบูชาไปตามถนนในเมือง.
ประชาชนรุมกันเข้าไปแตะต้องรูปปั้น,วางดอกไม้.
ผู้ร่วมขบวนแห่เช่นในสเปนโดยเฉพาะ, ห่มขาวปิดหน้าปิดตาตั้งแต่หัวจรดเท้า,
เปิดโหว่เฉพาะตรงดวงตา, เป็นการแต่งตัวของผู้รู้สำนึกบาป.
การเดินเข้าขบวนเหมือนการสารภาพบาป การทรมานตนเอง หรือการประจานตนเอง (สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ของสเปนเรียกว่า
Semana
Santa) ที่เรามักได้เห็นการถ่ายทอดเป็นข่าวในโทรทัศน์.
[3] สงครามสามสิบปี (1618-1648) เป็นสงครามที่สลับซับซ้อนมาก
ที่เริ่มขึ้นในดินแดนที่เป็นเยอรมนีปัจจุบัน และแผ่กระจายออกไปทั่วทั้งยุโรป. มิได้มีสาเหตุใดสาเหตุเดียว แต่วิวัฒน์จากสาเหตุทางศาสนาจนในที่สุดรวมไปถึงการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นระหว่างราชวงศ์ฮับสบูร์กกับราชวงศ์บูรบง, การมือง, การล่าอาณานิคม, เศรษฐกิจและสังคม. ผลกระทบจากสงครามสามสิบปีนี้ เป็นกลไกสร้างและหล่อหลอมรัฐใหม่แคว้นใหม่จนเป็นประเทศใหม่ๆที่เกิดขึ้นในยุโรป.
[5] คำสาบาญตน
ที่จัดทำขึ้นที่วัดประจำหมู่บ้านโดยคณะสงฆ์ของหมู่บ้านที่ประกอบด้วยสภาชุมชน
รวมกันรู้จักกันในนามว่า “Six and Twelve Parish Councillors”
[6] เมื่อดูตัวเลขปี 1634 อาจทำให้สงสัยว่า หากการแสดงมีทุกสิบปี ทำไมมีการแสดงในปี 1871แล้วต่อมาเป็นปีที่จบลงด้วยเลขศูนย์ เช่น
ปี 1990,
2000, 2010 เรื่องมีอยู่ว่าในปี
1680 คณะผู้จัดเกิดเห็นตรงกันว่า การแสดงแต่ละครั้ง น่าจะให้ตรงกับปีแรกของแต่ละทศวรรษ.
เพื่อให้เป็นไปตามนี้ จึงมีการเลื่อนการแสดงขึ้นไปล่วงหน้าสี่ปี ตั้งแต่ปี 1680 ซึ่งเป็นการแสดงครั้งที่หก แล้วต่อไปเป็น 1690, 1700 เรื่อยลงมาถึงปัจจุบัน. ส่วนปีที่มีเลขอื่นๆนั้น
เพราะมีเหตุให้งดและเลื่อนถัดไปปีหนึ่งเช่นสงคราม (1871) หรือมีการจัดแสดงรอบพิเศษฉลองการสิ้นสุดของสงครามนโปเลียน (1815) หรือเพื่อฉลองครบรอบสามร้อยปีของการแสดง (1934) เป็นต้น.
[7] ในสมัยก่อน เทศกาลต่างๆมักจัดกันบนเนินลาดของภูเขาลูกนี้ เช่นงานฉลองวันครบรอบวันประสูติของพระเจ้า Ludwig II [ลุดวิก] ที่สอง
ขบวนชาวบ้านถือไต้ที่จุดสว่างเดินเป็นแถวยาวไปบนเนินลาดของเขาลูกนี้เขา.
[8]
Ettal
เป็นเมืองเล็กๆอยู่ห่างจาก Oberammergau ราว 3.2 กิโลเมตร.
จักรพรรดิ
Ludwig IV แห่งบาวาเรีย เป็นผู้สถาปนาอารามนักบวชคติเบเนดิคตินขึ้นที่นั่นในปี 1330. ต่อมาในปี 1370 มีการก่อสร้างวัดใหม่เพิ่มเข้าไปและอุทิศแด่พระแม่มารี. สถาปัตยกรรมที่นั่นเดิมเป็นแบบกอติค
แต่หลังจากการบูรณะปฏิสังขรณ์ติดต่อกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่สิบแปด
กลายเป็นวัดแบบบาร็อค. อารามนักบวชนี้ยังเป็นที่ผลิตเหล้าและเบียร์ที่เหล่านักบวชทำกันเองที่นั่นตั้งแต่ยุคกลาง
และได้กลายเป็นสินค้านำรายได้มาทำนุบำรุงศาสนาและอาราม.
ที่ตั้งของอารามและของเมืองนี้สวยงามน่าทึ่งเพราะอยู่ในหุบเขาแอลป์.
อารามที่ Ettal นี้เป็นศูนย์การเรียนการสอนสำหรับชุมชนในแถบบาวาเรียนี้. เด็กๆในหมู่บ้าน Oberammergau เมื่อจบจากโรงเรียนในหมู่บ้านก็ไปเรียนต่อณสำนักเรียนที่
Ettal และประสบความสำเร็จในชีวิตในแขนงต่างๆ. บ้างกลับไปเป็นครูสอนหนังสือที่หมู่บ้าน.
ปัจจุบันยังมีสถาบันการเรียนการสอนที่นั่นอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง. ความสำคัญของเมือง
Ettal
เพิ่มขึ้นตามลำดับจนได้เป็นเมืองศูนย์กลางศูนย์หนึ่ง. ชาวบ้าน Oberammergau ได้ฝึกงานแกะสลักจากที่นี่
เพราะงานไม้แกะสลักเริ่มขึ้นจากที่นี่ เพื่อประดับตกแต่งอารามวัด.
เมื่อชาวบ้านทำงานไม้ชิ้นใดได้สำเร็จ ก็มักส่งไปรวมกันที่นั่นเพื่อขายแก่เมืองอื่นๆ.
เมือง Ettal จึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับหมู่บ้าน Oberammergau ในแบบของวัดแม่วัดลูก.
[9] ภาพพ่อค้าผู้แบกผลงานไม้แกะสลักรูปลักษณ์ต่างๆ ก็ได้กลายเป็นเนื้อหาหนึ่งของสิ่งแกะสลักของชาวบ้านนี้ด้วยเช่นกัน. แสดงจิตสำนึกว่าพวกเขามิได้ลืมบทบาทของพ่อค้า “แบกเร่”
เหล่านี้ผู้มีส่วนสำคัญในการเผยแพร่ศิลปะของชาวบ้าน Oberammergau .
[10] ประมาณหนึ่งเดือนก่อนคริสต์มาสในเยอรมนี
ตามเมืองต่างๆจะเปิดตลาดคริสต์มาสเพื่อให้ประชาชนไปเดินหาซื้อของประดับบ้านในเทศกาลแห่งครอบครัว,
ไปซื้อของขวัญที่จะมอบให้แก่กัน.
ตามขนบที่มีส่วนใหญ่เป็นสิ่งผลิตจากงานฝีมือ
ที่ทำกันมาในช่วงฤดูหนาวหรือในยามว่าง. ตลาดคริส์มาสในเยอรมนี สืบทอดมาจากค่านิยมการประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้และการใช้เวลาว่างในช่วงฤดูหนาว
ที่ทุกคนเก็บตัวไม่ไปไหนไกลหรือเตร็ดเตร่จนกลางดึก. เป็นตลาดกลางแจ้งในจัตุรัสใหญ่ของแต่ละเมือง. ตลาดเริ่มในตอนหัวค่ำ
หลากสีสันจากแสงไฟและจากสรรพสิ่งที่ผู้ทำนำไปตั้งขาย. เดินตลาดพิเศษเฉพาะเทศกาลแบบนี้น่าสนุกทีเดียว. ผู้คนที่ไปตลาด ยิ้มแย้มแจ่มใสที่ได้เห็นของเล่นแบบต่างๆ เหมือนได้กลับเป็นเด็กอีกครั้งหนึ่ง,
มีสปิริตสูง,
สร้างบรรยากาศที่อบอุ่นขึ้นได้ในความหนาวเย็นของอากาศเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม.
[11] การเรียกเฟรสโก้แบบนี้ในภาษาเยอรมันว่า lüftmalerei นั้น ชาวบ้าน Oberammergau
ดูจะพอใจกับคำอธิบายว่า
มาจากชื่อบ้านหลังหนึ่งว่า Zum Lüftl ของ Franz
Joseph Zwink (1748-1792) ผู้เป็นจิตรกรชั้นครู.
เขาได้ตกแต่งประดับอาคารในหมู่บ้านหลายแห่ง รวมทั้ง Pilatushaus. การเนรมิตเฟรสโก้แบบนี้
เริ่มตั้งแต่การทาสีน้ำผสมสารเกลือแร่บางชนิด ลงบนกำแพงที่เพิ่งฉาบปูนปลาสเตอร์สดๆเปียกๆอยู่.
สีแจะแห้งติดแน่นบนกำแพงปูนนั้นเลยและจะไม่ละลายน้ำอีก. เทคนิคนี้เป็นกรรมวิธีหนึ่งของการสร้างภาพลวงตา (trompe d’oeil ใช้ทับศัพท์คำในภาษาฝรั่งเศส อ่านว่า [ธรฺมป เดอย] )
ที่ทำให้ภาพวาดสองมิติดูเหมือนภาพสามมิติที่ใกล้เคียงความเป็นจริงมากกว่า จึงลวงตาคนดู.
[12] ฝ่ายจัดการแสดงได้บอกแก่ผู้เข้าชมด้วยจดหมายและด้วยวาจาก่อนการแสดงทุกครั้งและทุกรอบว่า ห้ามมิให้ถ่ายภาพใดๆทั้งสิ้นระหว่างการแสดง.
อาจเพื่อกระชับจิตสำนึกของผู้ดูว่า นี่ไม่ใช่การแสดงเพื่อความบันเทิง
เป็นการแสดงเพื่อจุดมุ่งหมายของการแก้บน.
จึงขอให้ผู้ชมเคารพเจตจำนงดังกล่าว.
ไม่มีการขู่ใดๆว่า
ผู้ขัดขืนอาจประสบเคราะห์. วันที่ข้าพเจ้าไปชมนั้น ไม่ปรากฏมีผู้ใดฝ่าฝืน. กรณีของพระเจ้าลุดวิกที่สองที่ทรงสั่งให้ถ่ายรูปจึงเป็นสิ่งเตือนใจอย่างหนึ่ง.
การแสดงนี้ไม่มีการอัดเพื่อทำเป็นแผ่นซีดีออกจำหน่าย
ไม่ว่าจะเป็นการแสดงรุ่นไหนปีไหน.
ภาพที่เราดูได้จากพิพิธภัณฑ์การแสดงคริสต์นาฏกรรม
เป็นภาพของคณะผู้จัดทำเท่านั้น, เข้าใจว่าถ่ายในขณะที่มีการซ้อมใหญ่.
[13] นอกจากด้านไม้แกะสลักแล้ว
ยังมีผลงานกระจกเคลือบสี ที่เรียกว่า verre
églomisé หรือ world behind Glass
(ดังที่พิพิธภัณฑ์ระบุเจาะจงไว้เป็นภาษาฝรั่งเศส) เป็นจิตรกรรมบนด้านหลังของกระจก.
กรรมวิธีนั้นเริ่มด้วยการแกะภาพลงบนด้านหลังของแผ่นกระจก แล้วใส่สีลงภาพ ตามจินตนาการ
บนด้านหน้าของกระจก.
กรรมวิธีนี้เริ่มขึ้นในศตวรรษที่สิบแปดที่ Murnau และ Oberammergau ที่ได้กลายเป็นเนรมิตศิลป์อีกแบบหนึ่ง
ที่วิวัฒน์พัฒนาต่อๆกันมาบนดินแดนนั้น. พิพิธภัณฑ์ใน Pilatushaus ได้สะสมผลงานด้านนี้ไว้จำนวนมาก.
[15] ปี 1880 เดียวกันนี้เอง Thomas Cook & H. Gaze บริษัทท่องเที่ยวที่กรุงลอนดอน เริ่มต้นจัดทัวร์ขายเป็นแพ็คเก็จครั้งแรก นำชาวอังกฤษข้ามช่องแคบอังกฤษมาชมการแสดง1880. ปีนั้นมีการแสดง ๔๐ รอบรวมผู้ชมทั้งสิ้น 100,000 คน จึงเป็นครั้งแรกที่จำนวนผู้ชมเพิ่มทวีขึ้นจากเดิมจำนวนพันและหมื่นเป็นจำนวนแสนและจะเป็นเช่นนั้นตั้งแต่นั้นมา.
[16] โรงละครในปี 2010 มีที่นั่งทั้งหมด
4,720 ที่.
การปรับปรุงโรงละครครั้งนี้
เป็นโอกาสให้ชาวบ้านต้องหันมาพิจารณาว่า ควรอนุมัติใช้โรงละครในการแสดงอื่นๆไหมในปีที่ไม่มีการแสดงคริสต์นาฏกรรม.
เพราะน่าเสียดายที่จะถูกปิดเงียบไปเลยตลอดเก้าปี. ผลของการทำประชาวิจารณ์และประชามติ
คืออนุมัติให้ใช้ได้ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา.
นับเป็นก้าวสำคัญก้าวหนึ่งที่เบนออกจากขนบที่ทำติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 1634 เพราะฉะนั้นตั้งแต่เริ่มสหสวรรษที่ยี่สิบเอ็ดมา มีการแสดงอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับคริสต์นาฏกรรม
เช่น ละครโอเปราเรื่อง Elektra ของ Richard Strauus, Carmen ของ Bizet, Aida และ Nabucco ของ Verdi, Magic Flute ของ Mozart, St.Matthew Passion ของ Bach เป็นต้น.
หากผ่านไปที่หมู่บ้านนี้ระหว่างฤดูร้อนในปีที่ไม่มีการแสดงคริสต์นาฏกรรม
ก็มีโอกาสชมการแสดงอื่นๆ.
[17]
Eugen Papst เป็นเพื่อนและผู้ร่วมงานคนหนึ่งของ
Richard Strauss (1864-949) นักดนตรีเอกคนหนึ่งของโลกเป็นชาวเยอรมัน.
[18] ยกเว้นองก์ที่หนึ่ง
เพราะมีบทนำตามด้วยฉากภาพนิ่งแล้ว
และองก์ที่ 11 ซึ่งเป็นองก์สุดท้าย เป็นองก์ที่สั้นที่สุด.
[19] การจัดฉากภาพนิ่งเริ่มมีขึ้นในปี 1720 แล้ว และเป็นรูปธรรมมากขึ้นในการแสดงปี 1730 เมื่อผู้กำกับปีนั้นผู้เป็นบาทหลวงจากอารามคติออกุซตินที่ Rottenbuch ชื่อAnselm Manhardt เจาะจงให้ฉากภาพนิ่งสื่อนัยของการเปรียบเทียบ
ที่เขาเรียกอย่างเฉพาะเจาะจงด้วยสำนวนภาษาฝรั่งเศสว่า Tableaux Vivants [ตาโบลฺ วีว็อง]
[20] สี่มหาปราชญ์ในคริสต์ศาสนามีนักบุญ Augustine,
Jerome, Ambrose และนักบุญ Gregory ทั้งหมดมีชีวิตอยู่ในต้นคริสตกาล.
ได้รับสมญาว่าเป็น Fathers of the church นักบุญทั้งสี่เป็นนักเขียนละตินคนแรกๆของคริสต์ศาสนา.
มหาปราชญ์ทั้งสี่มักปรากฏในคริสต์ศิลป์ประเภทต่างๆ ในฐานะเป็นผู้จรรโลงเผยแผ่คำสอนต่อจากอัครสาวกสี่คนผู้แต่งคัมภีร์ใหม่
อันมีนักบุญ Mark, Luk, Matthew และ John. อัครสาวกทั้งสี่นี้จะปรากฏสี่ทิศสี่มุมที่ล้อมรอบพระเยซูในคริสต์ศิลป์เสมอ
สื่อนัยว่าคัมภีร์ของอัครสาวกทั้งสี่กระจายไปทุกทิศและเผยแผ่ไปทุกแห่งหน. ส่วนสี่มหาปราชญ์มิได้แต่งคัมภีร์
แต่แปลคัมภีร์มาเป็นภาษาละตินที่เข้าใจง่าย
และมีงานเขียนด้านเทววิทยา ปรัชญาศาสนา เป็นต้น.
งานของสี่มหาปราชญ์มีอิทธิพลต่อวิวัฒนาการคริสต์ศาสนาตั้งแต่นั้นมา
และปูทางการคิดตรึกตรอง วิเคราะห์ด้วยเหตุผล
จนกลายเป็นภูมิหลังที่ขาดเสียมิได้ในหมู่ปัญญาชนยุโรป.
[21] คำ Bible มาจากคำ biblos ในภาษากรีก ที่แปลว่า “หนังสือ” คริสต์ธรรมคัมภีร์รวมหนังสือหลายสิบเล่มเข้าด้วยกันเป็นประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่หลากหลาย,
ละเอียดซับซ้อนยิ่งนัก. นับเป็นสุดยอดของวรรณกรรมตะวันตกที่เป็นพื้นฐาน,
เป็นจุดก้าวกระโดดไปสู่วัฒนธรรมทุกอย่างทุกประเภท. เนื้อหาเริ่มตั้งแต่กำเนิดของมนุษยชาติ และจบลงกับคัมภีร์ของอัครสาวกจอห์น.
นักประวัติศาสตร์ได้กำหนดวันเวลาของเรื่องราวสมัยอับราฮัม(บรรพบุรุษของพระเยซู)
ว่าอยู่ในช่วง 1800 ปีก่อนคริสตกาล จนถึงราวปีค.ศ. 100 เมื่ออัครทูตจอห์นสิ้นชีวิต
และกำหนดว่าพระเยซูเกิดในราวปี 5 BC และสิ้นชีพในราวปี 30 AD.
[23] เช่นเดียวกับในเมืองอื่นใด มีวัดคาทอลิกและวัดโปรเตสแตนต์
ในเมืองเดียวกัน ในกรณีของหมู่บ้านนี้ ทั้งสองแห่งมีความหมายเท่าเทียมกัน
ร่วมมือกัน.
[24]
ในหมู่ผู้ไปชมมีบุคคลดังบุคคลเด่นทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ
นอกจากฮิตเลอร์ผู้ไปชมการแสดงสองครั้งดังกล่าวมาข้างต้น มีนักเขียนเช่น Thomas Mann, Hans Christian Anderson,
Simone de Beauvoir, Jean-Paul Satre, Rabindranath Tagore, หรือนักแต่งเพลง Franz List, Richard Wagner, Anton
Bruckner หรือวิศวกร Gustav Eiffel, Henry Ford, สมาชิกในราชวงศ์จากรัสเซีย, จากสเปน. ปี 1871 พระเจ้า Ludwig II แห่งบาวาเรียพร้อมกับ Richard Wagner เสด็จไปชมการแสดง. ยังมีนายกรัฐมนตรีอังกฤษ
Ramsay
Macdonald ในปี 1930,
หรือประธานาธิบดี Dwight D.Eisenhower ในปี 1950, จากสำนักวาติกันเช่นสันตะปาปา
Pius XI ในปี 1910 และสันตะปาปา Benedict XVI ก็เคยไปชมการแสดงสองครั้งในปี
1980 ก่อนที่จะขึ้นเป็นสันตะปาปา ในฐานะที่เป็นเจ้าอาวาสในเขตการปกครองเมืองมิวนิกและเมืองฟรายซิง
(Freising) .
ในตอนนั้นท่านยังเป็นผู้ประกอบพิธีสวดเปิดงานการแสดงที่โรงละครด้วย. ต่อมาในเดือนสิงหาคมปี 2000 ในฐานะที่เป็นการ์ดินัล (Curia Cardinal Joseph Ratzinger)
ผู้รับผิดชอบเรื่องลัทธิความเชื่อและศรัทธาประจำกรุงวาติกัน
และในเดือนสิงหาคมปี 2010 สมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ ทรงเสด็จไปชมการแสดง.
[25] ดังที่พระเยซูสอนว่า “ข้าเข้าใจความทุกข์
ความเหนื่อยล้าและความเศร้าสลดใจของพวกเจ้า
แต่ความหวังกำลังมา.
จะมีคนช่วยพวกเจ้า. อย่าได้วิตกกังวลกับการหาอาหารกิน การหาน้ำดื่ม
การหาเสื้อผ้ามาปกปิดร่างกาย. ชีวิตเป็นอะไรที่มากกว่าอาหาร น้ำดื่มหรือเสื้อผ้า.
จงเบนความสนใจทั้งหมดไปยังอาณาจักรและความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า.
พวกเจ้าใฝ่หาสมบัติพัสถานที่จะถูกกัดแทะสึกกร่อนไปกับมอดแมลงหรือขึ้นสนิมไปกับกาลเวลา.
ข้าจะบอกพวกเจ้าว่า
จงไปเก็บรวบรวมสมบัติของพวกเจ้าในสวรรค์
เพราะที่นั่น ไม่ว่าสมบัติเจ้าอยู่ที่ไหน ก็มีหัวใจเจ้าอยู่ด้วย” หรือ “หากใครตบหน้าเจ้าข้างหนึ่ง
ให้หันหน้าอีกข้างหนึ่งให้เขาตบด้วย” หรือ “ความรักของพระเจ้ามีให้แก่คนดีและคนเลวเสมอกัน
เหมือนฝนที่ตกลงบนหลังคนดีก็ตกลงบนหลังคนเลวในเวลาเดียวกัน เพราะฉะนั้นจึงควรที่เราจะรักทุกคน รักศัตรู
เอื้อเฟื้อต่อคนที่เกลียดเราและสวดให้พรแก่คนที่สบประมาทเรา ที่ทำร้ายเรา. จงปล่อยความโกรธไปเสียอย่าให้มันทำร้ายใจเราเอง. ทุกคนก็จะอยู่ด้วยกันได้อย่างสงบสุข. พระเจ้าจะช่วยคนจน คนหิวกระหาย คนใจบริสุทธิ์
คนรักสันติ
เพราะพวกเขาเหล่านี้คือลูกของพระเจ้า.
สงครามจะเกิด คนจะทรยศหักหลังกัน
ชิงชังกัน ฆ่ากัน.
อย่างมากก็เพียงร่างกายเท่านั้น.
ไม่มีใครฆ่าทำร้ายจิตวิญญาณได้.
อย่าหวั่นกลัวผู้มีอำนาจ เขามีอำนาจเหนือร่างกายเท่านั้น.
จงขยาดพระเจ้าผู้มีอำนาจสลายทั้งร่างและวิญญาณให้มลายลงสิ้น. ถ้าพวกเจ้ามีศรัทธาแก่กล้า
ไม่มีอะไรที่พวกเจ้าทำไม่ได้ ” (บทละครฉบับปี
2010, หน้า 13-15)
No comments:
Post a Comment