(The film is based on the novel Perfume
by Patrick Süskind.
Director : Tom Tykwer, Cast : Ben Whishaw as J-B Grenouille,
Dustin Hoffman as Baldini, Rachel Hurd-Wood as Laure, etc.
Release : December 27, 2006 in USA)
Jean-Baptiste Grenouille [ฌ็อง บาติ๊ซตฺ เกฺรอ-นุย] เกิดกลางตลาดในกรุงปารีสยุคต้นศต.ที่18. แม่เป็นแม่ค้าขายปลา ไม่มีสามี คลอดลูกใต้โต๊ะขายปลาและทิ้งทารกลงในถังเศษปลา
ไม่คิดจะเลี้ยงดู คลอดแล้วลุกขึ้นจากใต้โต๊ะ.
ชายคนหนึ่งเห็นเธอหน้าตาซีดๆถามว่าเป็นอะไรหรือเปล่า เธอไม่พูดอะไร เดินจากไป แต่ทารกร้องขึ้น
ทำให้คนนั้นก้มลงไปเห็นทารกในกองขยะ. เขาร้องโวยวายขึ้น แจ้งตำรวจที่เดินมาและชี้ตัวแม่. แม่ถูกตัดสินประหารชีวิต ตำรวจจับได้ว่า
เธอได้ทิ้งทารกให้ตายในกองเศษปลาหลายคนแล้ว.
ทารกถูกนำไปที่วัดไปอยู่ในหมู่เด็กกำพร้าอีกยี่สิบกว่าคน.
วัดจ่ายเงินช่วยค่าเลี้ยงดูให้แก่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าของ
Madame Gaillard [มาดาม กาย-ยารฺ]. ต่อมาเมื่อวัดหยุดให้เงิน เด็กถูกขายไปเป็นลูกมืออยู่ในโรงฟอกหนังของนาย
Grimal [กรีมัล]
ตอนนั้นเขามีอายุแปดขวบ.
แม้จะถูกใช้งานหนักปางตาย แต่เมื่อมีเวลาว่างแม้ชั่วประเดี๋ยว
เขาเดินลัดเลาะไปตามตรอกซอกซอยในกรุงปารีส.
เขาเริ่มรู้ตัวว่าเขามีจมูกไวต่อกลิ่น ไวกว่าผู้อื่นใด. เขาได้รับรู้กลิ่นใหม่ๆของเมือง กลิ่นเขตต่างๆ
กลิ่นถนนหนทาง และกลิ่นคนบนท้องถนน.
ครั้งหนึ่งเขาได้กลิ่นหอมที่เขาไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน
ที่ลอยมาจากตัวเด็กสาวผมสีทองแดงที่เดินขายผลไม้อยู่บนถนน.
เขาเดินตามกลิ่นนั้นไปจนเห็นเธอ
เธอรู้สึกตัว ตกใจที่เห็นเกรอนุยมาหยุดดมกลิ่นเธอแบบประชิดติดตัวเธอ. เธอเดินหนีไป เกรอนุยแอบตามเธอไปถึงที่อยู่.
เธอตกใจร้องเสียงหลงที่เห็นเขาเข้าประชิดเธอ. เขาปิดหน้าเธอแน่น เพื่อหยุดเสียงร้องของเธอ
ด้วยความไม่รู้ตัวเขาได้บีบคอแม่สาวคนนั้นตายคามือ. เขาไม่รู้สึกตกใจที่เธอตาย
กลับก้มลงสูดกลิ่นจากตัวเธอตลอดทั้งร่างอย่างมีความสุข เป็นความพอใจครั้งแรกในชีวิตเขา
ก่อนจะผละจากร่างเด็กสาวคนนั้นไป. เขามิได้ทำอย่างอื่น
นอกจากสูดและดมกลิ่นตัวของเด็กสาวผมสีทองแดงนั้น. กลิ่นตัวจากเด็กสาวคนนั้นจะติดตามเขาไปตลอดเรื่อง.
คืนหนึ่งเขาต้องนำหนังแพะไปส่งให้ Baldini
[บัลดีนี] นักปรุงน้ำหอม
(ยุคนั้นนักปรุงน้ำหอมเป็นช่างทำถุงมือหนังด้วย
และคนนิยมอบหอมถุงมือหนังที่ใช้)
ได้ฉวยโอกาสปรุงน้ำหอมให้บัลดีนี เพื่อแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นคนมีจมูกไวแค่ไหน. เขาขอให้บัลดีนีรับเขาเป็นคนงาน. บัลดีนีตกลงซื้อตัวเขาจากกรีมัล.
ระหว่างที่ทำงานให้บัลดีนี เกรอนุยได้ปรุงน้ำหอมที่ตรึงใจชาวปารีสหลายตัว ชนิดที่ไม่มีน้ำหอมชนิดใดสู้ได้เลย. บัลดีนีร่ำรวยจากการค้าขายน้ำหอม.
บัลดีนีเคยบอกเขาว่าที่เมือง Grasse [กร๊าส]
โรงงานน้ำหอมที่นั่น มีวิธีการกลั่นหัวน้ำหอมและการเก็บน้ำหอมให้คงทนหอมนาน เมืองนี้อยู่ในภาคใต้ของประเทศฝรั่งเศส.
ข้อมูลนี้ทำให้เกรอนุยมีชีวิตจิตใจขึ้นใหม่หลังจากที่สุขภาพทรุดโทรมเพราะป่วย.
ในที่สุดเขาขออิสรภาพจากบัลดีนีเพื่อเดินทางไปเมืองกร๊าส. บัลดีนียอมปล่อยให้เขาเป็นอิสระโดยแลกกับสูตรปรุงน้ำหอมหลายสูตรที่เกรอนุยปรุงขึ้นได้แล้วและสูตรใหม่ๆที่เขาคิดขึ้นอีกหลายสูตร.
บัลดีนีนอนกอดสูตรปรุงน้ำหอม ฝันหวานและหลับไปโดยลืมดับไฟในเตาที่ระเบิดขึ้นและไหม้โรงงานของเขาและตัวเขาก็ตายในนั้น.
เกรอนุยออกเดินทางมุ่งใต้ ผ่านไปบนเส้นทางสู่เมือง
Orléans [ออรฺเลอ็อง] เขาพยายามออกห่างจากหมู่บ้าน
และไปหยุดบนยอดเขาในภาคกลาง (Plomb du Cantal, Massif Centrale d’Aubergne)
ยิ่งออกจากเมืองปารีสไกลออกไป ไกลจากกลิ่นเมือง กลิ่นคน
สูดอากาศบริสุทธิ์ ทำให้เกรอนุยรู้สึกผ่อนคลายลงไปมาก. เขาโห่ร้องและกระโดดโลดเต้นอย่างมีความสุขว่าได้หลุดออกจากบรรยากาศกลิ่นคนเป็นครั้งแรก. เขาตัดสินใจอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่ง
และอยู่ต่อมานานถึงเจ็ดปี.
เขาคิดไตร่ตรองเกี่ยวกับกลิ่นต่างๆที่เขารู้จักมาจนถึงเวลานั้น. ตั้งแต่กลิ่นคาวปลาในนาทีที่เขาเกิด,
กลิ่นในโรงเลี้ยงเด็กในหมู่เด็กกำพร้า, กลิ่นในโรงฟอกหนัง,
กลิ่นในโรงงานน้ำหอมเป็นต้น. เขาค้นพบว่า
ตัวเขาเองไม่มีกลิ่น ไม่มีกลิ่นตัวหรือกลิ่นใดๆเลย ทั้งๆที่คนทุกคนมีกลิ่นตัวของตัวเอง. เขาตระหนักด้วยความตระหนกสุดแสนว่า
ชีวิตของเขาจะไม่ทิ้งร่องรอยใดๆประทับไว้ในโลกของกลิ่นเลย. เขาคิดว่าจะไม่มีคนชอบเขา รักเขาเลย เพราะเขาไม่มีกลิ่น.
เขาตัดสินใจลงจากเขา ในสภาพรุ่งริ่งของคนป่า. ผู้คนต่างหวาดระแวงและกลัวเขา.
เกรอนุยบอกแก่ชาวเมืองว่า
ถูกโจรจับไปขังในถ้ำนานเจ็ดปี. ในเมืองนี้เขาได้พบมาร์กี๊ซคนหนึ่ง (Marquis de La Taillard-Espinasse) ผู้เอื้อเฟื้อให้ที่พักและอาหาร.
มาร์กี๊ซต้องการใช้เกรอนุยเป็นหลักฐานพิสูจน์ทฤษฎีของเขาว่า
โลกคายก๊าซที่เป็นพิษต่อร่างกาย คนที่สูดเข้าไปมากๆก็มีจิตฟั่นเฟือน (theory
of fluidum vitale) สภาพของเกรอนุยตรงกับที่เขาคิดไว้. เขาพาเกรอนุยไปในสมาคมนักวิทยาศาสตร์(ที่เป็นองค์กรเฉพาะ freemason องค์กรหนึ่ง)
ให้ทุกคนเห็นว่าผลจากก๊าซพิษเป็นเช่นใด. หลังจากนั้นเขานำตัวเกรอนุยมาอยู่ที่บ้านของเขา
เริ่มกระบวนการกำจัดก๊าซพิษที่เขาเชื่อว่ามีเต็มในตัวเกรอนุย ด้วยการใช้พัดลม
เก็บตัวเกรอนุยไว้ในห้องที่ลมโกรกเสมอตลอดเวลาห้าวัน หลังจากนั้นก็จัดเสื้อผ้าชุดใหม่พร้อมรองเท้าให้เขา
สอนกิริยาท่าทางของผู้ดีให้.
มาร์กี๊ซตั้งใจจะนำเขากลับไปที่สมาคมนักวิทยาศาสตร์เพื่อให้ทุกคนได้เห็นว่า
หลังจากกำจัดก๊าซพิษไปแล้ว ตัวตนของเกรอนุยเป็นเช่นใด สง่างามแบบสุภาพบุรุษ. แต่ยังไม่ทันได้พาตัวไปแสดง
เกรอนุยแสร้งทำเป็นลม บอกว่าเพราะกลิ่นน้ำหอมที่สกัดมาจากรากของต้นไวโอเล็ต.
มาร์กี๊ซส่งตัวเขาไปยังนักปรุงน้ำหอมที่มีชื่อที่สุด ซึ่งตรงกับความต้องการของเกรอนุย. ที่นั่นเกรอนุยได้ปรุงน้ำหอมกลิ่นคน,
กลิ่นที่แท้จริงของคน, กลิ่นปัสสาวะ, อุจจาระ, กลิ่นอาหารเน่าเหม็น,
ผสมกับกลิ่นน้ำมันสดๆ.
เขาลองใช้น้ำหอมกลิ่นคนที่ปรุงขึ้นนี้กับตัวเขา.
นั่นเป็นครั้งแรกในชีวิตที่เขามีกลิ่นเหมือนคนอื่นๆ. เพราะฉะนั้นเขาร่วมอยู่ในฝูงคนทุกคนได้.
เขาเกิดความต้องการสร้างสรรค์น้ำหอมสำหรับตัวเขาโดยเฉพาะเพื่อให้ทุกคนหลงรักเขา.
ในที่สุดมาร์กี๊ซพาตัวเกรอนุยไปแสดงตนต่อหน้านักวิทยาศาสตร์ของสมาคมฯเพื่อยืนยันทฤษฎีของเขา. ประชุมสภานักวิทยาศาสตร์ยอมรับทฤษฎีของเขา
สมดังที่มาร์กี๊ซต้องการ.
ที่เมืองกร๊าส
เกรอนุยไปทำงานในโรงงานน้ำหอมเล็กๆแห่งหนึ่ง(ของ Madame Arnulfi [มาดาม
อารฺนุลฟี])
ได้เรียนรู้วิธีการต่างๆของการกลั่นและโดยเฉพาะกระบวนการสกัดเย็นด้วยน้ำมันหรือไขสัตว์
(enfleurage).
เขาเริ่มปรุงน้ำหอมสำหรับตัวเขาเอง
และสังเกตปฏิกิริยาของคนรอบข้างเมื่อได้กลิ่นน้ำหอมจากตัวเขา. เขาลองสกัดน้ำหอมจากสิ่งอื่นๆนอกเหนือจากดอกไม้
เช่นจากสิ่งที่ไม่มีชีวิต ตามด้วยสิ่งมีชีวิตเช่นสัตว์
และเข้าใจว่าเขาต้องฆ่าสัตว์ก่อนจึงสามารถสกัดกลิ่นของสัตว์ได้.
เขาหวนคิดถึงกลิ่นเด็กสาวคนแรกที่เขาได้ดมและสูดจากร่างของเธอทันทีที่เธอสิ้นใจ.
เขาเริ่มหากลิ่นที่คล้ายๆกับกลิ่นของเด็กสาวคนนั้น.
เขาแน่ใจแล้วว่ากลิ่นที่หอมที่สุดคือกลิ่นจากกายของเด็กสาวๆ. เขาพบเด็กสาวผมแดงคนใหม่ที่เมืองกร๊าส
จึงเริ่มวางแผนจับตัวเด็กสาวๆมาฆ่าและสกัดกลิ่นของพวกเธอ
เพื่อนำมาปรุงเป็นน้ำหอมที่วิเศษสุดไร้เทียมทานเพื่อตัวเขาเอง
เพื่อจะเป็นที่รักที่ชอบที่สนใจของคนอื่นๆ. เขาเชื่อว่าเพราะเขาไม่มีกลิ่นเลย
ทำให้คนไม่รักเขา ไม่เข้าใกล้เขา.
ในนวนิยายเรื่องนี้เจาะจงไว้เป็นทฤษฎีว่า ความรักระหว่างคนเกิดจากปฏิกิริยาตอบโต้ต่อกลิ่นตัวของคน.
กลิ่นตัวเป็นสิ่งกระตุ้นความรักความต้องการทางเพศต่อกันและกัน. ในเมื่อเกรอนุยเป็นคนไม่มีกลิ่นใดๆเลย เขาจึงไม่ดึงดูดใคร
ไม่มีใครสนใจไยดีเขา. เขาคิดจะปรุงน้ำหอมเพื่อใช้เอง
เพื่อให้คนรักคนหลงเขา.
ในที่สุดเขาฆ่าเด็กสาวคนแล้วคนเล่าทั้งหมด
25 คน.
เอาน้ำมันหรือไขมันทาตัวเธอทั้งตัว
แล้วขูดน้ำมันที่ซึมซับกลิ่นตัวของเด็กสาวแต่ละคนไว้ มากลั่นเป็นน้ำหอม
สะสมเป็นหัวน้ำหอมไว้ในหลอด แต่ละหลอดเป็นกลิ่นของเด็กสาวหนึ่งคน. เขาเหลือหลอดเปล่าอีกหนึ่งหลอด
ก็จะครบสูตรที่เขาคิดจะปรุงเป็นน้ำหอมของเขา. กลิ่นหอมจากเด็กสาวคนสุดท้ายชื่อ Laure [ลอรฺ] ผู้มีผมสีแดงและสวยกว่าเด็กสาวคนใดที่เขาเคยเห็นหรือเคยฆ่า. เขาแน่ใจว่ากลิ่นจาก Laure จะเป็นกลิ่นโน้ตผสมตัวสุดท้ายของน้ำปรุงสุดยอดสุดวิเศษที่เขาคิดทำ.
ภาพนี้จากเน็ต
การจัดภาพนี้สวยเป็นพิเศษ ประกบภาพจิตรกรรมของ John
William Waterhouse (1849-1917) ที่ตั้งชื่อไว้ว่า The
Soul of the Rose or My Sweet Rose กับภาพของ Laure
ด้านขวาที่เป็นนักแสดง
ในฉากหนึ่งของภาพยนตร์. ชื่อจิตรกรรมและการจัดตัวละคร Laure ทั้งท่าทางและเสื้อผ้าที่สวม
เน้นชัดเจนถึงความหอมสุดวิเศษของดอกกุหลาบ ราชินีของมวลดอกไม้. สตรีในภาพจิตรกรรมกำลังสูดอย่างชื่นใจ
สะท้อนโยงไปยังความต้องการของเกรอนุยผู้ตามล่ากลิ่นหอมของเด็กสาว Laure. นับว่าผู้กำกับรู้จักเลือกและจัดฉากเทียบกันได้อย่างสวยงามยิ่ง.
เขาถูกจับได้ในข้อหาฆาตรกรรม
ถูกตัดสินประหารชีวิต. ก่อนถูกประหาร
เขาเทน้ำหอมวิเศษที่เขาปรุงมาจากเด็กสาวทั้งหลายที่เขาฆ่า เทลงบนผ้าเช็ดหน้า แล้วยกขึ้นโบกสบัดไปมาในอากาศ. ความหอมทำให้ทุกคนเคลิบเคลิ้ม
แม้แต่พระนักบวชที่มาร่วมพิธีก็เคลิบเคลิ้ม
ประกาศว่า เขาคือเทวดามาโปรด.
ทุกคนในที่นั้น ทั้งผู้พิพากษาและพ่อของเด็กสาว Laure เอง ลืมเรื่องฆาตรกรรมไปเลย. ในที่สุดเขาถูกปล่อยตัวเป็นอิสระ.
ตัวเกรอนุยเองกลับซึมเศร้าและอยากตาย เพราะเขารู้ว่าไม่มีกลิ่นหอมใด
ไม่มีกลิ่นใหม่กลิ่นใด
ที่จะเสมอด้วยกลิ่นน้ำหอมที่เขาปรุงขึ้นมาจากกลิ่นตัวของเด็กสาวๆที่เขาฆ่า. เขากลับไปปารีส ไปยังตลาดปลาที่เขาเกิด
แล้วชะโลมตัวด้วยน้ำหอมสุดวิเศษขวดนั้น.
ฝูงคนเข้ารุมล้อมเพื่อเสพกลิ่นหอมจากตัวเขา จนเขาสิ้นใจตายในฝูงคนนั่นเอง.
ฉากสุดท้ายนี้สรุปจินตนาการฝันเฟื่องของเกรอนุยว่า
คนไม่สนใจเขาเพราะเขาเป็นคนไม่มีกลิ่นตัวใดๆ
แต่เมื่อเขาสร้างน้ำหอมที่มีสารฮอร์โมน pheromone ที่รวมความหอมสุดวิเศษของเด็กสาวๆมานั้น
ทำให้เขาเป็นที่รุมล้อม เป็นที่ต้องการ ทำให้เขาหลุดออกจาก
“ความทุพพลภาพที่ไม่มีกลิ่นตัว” หลุดจากกรอบปกติของชีวิตที่ไร้ความรักไปสู่แดนโรแมนติกได้.
การตายในหมู่คนที่รุมล้อมเขา จึงเป็นสัญลักษณ์ของการบรรลุความสุขที่เขาใฝ่หา และยืนยันความคิดที่ว่า
กลิ่นเป็นสะพานสู่ความทุกข์ความสุขของคน. กลิ่นเป็นสิ่งเชื่อมคน.
หนังเรื่องนี้มีส่วนนำทางข้าพเจ้าไปแกะรอยกลิ่นในมิติต่างๆ
...
1. กลิ่นต่างๆที่อยู่รอบตัวเรา
และกลิ่นของตัวเราเอง
กลิ่นหอม กลิ่นที่ทนได้
กลิ่นที่ทนไม่ได้และกลิ่นเหม็น กลิ่นทั้งหมดสร้างเป็นจักรวาลกลิ่นที่เราอยู่. ถ้ามีกลิ่นที่เราทนไม่ได้มากกว่า เราก็ประณามว่า เป็นมลภาวะทางกลิ่น
ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นในเมืองที่มีประชากรอยู่หนาแน่น. บ้านที่เลี้ยงหมาเลี้ยงแมว
หรือสัตว์อื่นใด ก็มีกลิ่นของสัตว์นั้นติดเป็นกลิ่นบ้านนั้น. เมืองนาราในญี่ปุ่นเลี้ยงกวางอยู่กลางเมืองมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว
ก็ทำให้เมืองนี้มีกลิ่นกวางตั้งแต่ก้าวแรกที่ลงจากรถไฟเลย. แต่ละเมืองจึงมีกลิ่นไม่เหมือนกัน
เพราะสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน. ประชากรที่หนาแน่นในเมือง มีปัญหาต้องผจญมากขึ้นอีก.
พลเมืองที่ขาดจิตสำนึกได้สร้างปัญหาขยะที่กลายเป็นแหล่งกลิ่นเน่าเหม็นจนเป็นแหล่งเชื้อโรค. ในกรุงเทพฯ
คงไม่มีใครชอบกลิ่นเน่าเหม็นตามลำคลอง ที่เป็นที่ทิ้งขยะของคนจำนวนมาก. คนรุ่นต่อไป
จะได้อยู่ในกรุงเทพฯที่ปลอดมลภาวะกลิ่นไหมนะ ? รุ่นเรานี้ หมดหวังแล้ว.
ในที่สุดไม่มีที่ใดบนโลกนี้
ที่ไม่มีกลิ่น. กลิ่นเป็นส่วนหนึ่งของบรรยากาศโลก.
หากคนสามารถถอดชุดอวกาศออกเมื่อไปบนดาวพระเคราะห์ดวงอื่นๆ
ก็คงจะได้รับรู้กลิ่นของดาวพระเคราะห์ดวงนั้น และหากมีอะไรคล้ายกับโลก
ศักยภาพการแกะกลิ่นของคนก็อาจจะระบุได้ชัดเจนว่า ดาวพระเคราะห์นั้น มีธาตุ
มีเกลือแร่ มีสิ่งมีชีวิตแบบไหน. หาพื้นที่สักแห่งที่ปลอดกลิ่นทุกชนิด ไม่มีบนโลก นอกจากห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ที่สร้างขึ้นอย่างเฉพาะเจาะจง
และแม้ทำอย่างนั้นแล้ว ก็ยังเหลือกลิ่นจากวัสดุก่อสร้างอีก.
นี่เป็นปัญหาขึ้นมาแล้วในญี่ปุ่นสิบกว่าปีก่อน เมื่อคนค้นพบว่า
วัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ที่ใช้สร้างบ้านสร้างอาคาร ไม่นานวัสดุก่อสร้าง เหล่านั้น
(เช่นอิฐสังเคราะห์) กระจายกลิ่นออกมาอบอยู่ภายในบ้านในห้องนั้น และทำให้คนอยู่เกิดอาการวิงเวียนมากขึ้นๆ(ที่กลายเป็นโรค
เป็นความเครียดและเป็นความเจ็บป่วยชนิดใหม่) โดยไม่มีสาเหตุชัดเจน.
ญี่ปุ่นทุ่มเทเพื่อให้ได้วัสดุจากธรรมชาติโดยเฉพาะไม้ และนี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ญี่ปุ่นออกไปกว้านซื้อไม้จากชาติต่างๆ
รวมทั้งจากบ้านเราที่ป่าไม้หายไปเกือบหมด. แต่ภายในประเทศญี่ปุ่นเอง
เขาไม่โค่นต้นไม้กันง่ายๆ เขาอนุรักษ์ป่าไม้เขาสุดชีวิต
กฎหมายเข้มงวดกวดขันและบังตับใช้อย่างจริงจัง.
ชุดที่นักอวกาศสวมใส่ไปในอวกาศ กันนั้น
เป็นเกราะสุดท้ายของตวามพยายามของคนที่จะป้องกันอณูอากาศจากต่างดาวมิให้เข้าถึงคนได้.
ผู้ที่อยู่ภายในอยู่กับกลิ่นตัวของเขาเท่านั้น.
ในนั้นน่าจะเป็นที่ที่กักดักกลิ่นของคนนั้นได้เข้มข้นที่สุด. ทฤษฎีที่ปรากฏแทรกเป็นประเด็นหนึ่งในหนังเรื่องนี้
ที่ว่าโลกคายก๊าซที่เป็นพิษต่อร่างกาย
คนที่สูดเข้าไปมากๆก็มีจิตฟั่นเฟือน (theory
of fluidum vitale) จึงอยู่ในแนวคิดนี้. ขอเพิ่มเพียงว่า
มิใช่เพียงกายภาพของโลก (สภาพทางภูมิธรณีทุกแบบ) ที่คายแกซที่ไม่ดีทั้งหลายออกมา
ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้ว วิถีชีวิตของประชากรโลกต่างหากที่คายแกซพิษยิ่งกว่าหลายร้อยเท่า.
มลภาวะในอากาศเกิดควบคู่กับการมีกลิ่นไม่ดีชนิดต่างๆเช่นกลิ่นแกซ กลิ่นควัน
กลิ่นเน่าเปื่อย กลิ่นหมักหมม.
สภาวะรอบข้างก็ส่งผลต่อการระเหยของกลิ่นว่าไปได้ใกล้ไกลเพียงใด หรือส่งผลต่อความคงทนนานของกลิ่น
เช่นความชื้นสัมพัทธ์ อุณหภูมิ แสงสว่าง แสงอัลตราไวโอเล็ต
ลมหรือความปั่นป่วนทั้งบนดิน ใต้ดินและเหนือพื้นดิน.
สภาพแวดล้อมเหล่านี้ทำให้กลิ่นหนึ่งเดินทางไปได้ไกลมากหรือน้อย เช่นอากาศที่บริสุทธิ์กว่าหรือชื้นกว่า
มักนำกลิ่นกระจายออกไปไกล. ดูเหมือนว่ามลภาวะในอากาศมีบทบาทสำคัญต่อการรับกลิ่น มากเกินกว่าที่เราเคยคาดคิดมาก่อน.
อากาศที่มีมลภาวะสูง
ทำให้โมเลกุลกลิ่นหอมสลายลงและหยุดการระเหย, หยุดการกระจายตัว.
ผู้วิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้สรุปว่า เมื่ออากาศบริสุทธิ์ กลิ่นหอมดอกไม้กระจายไปได้ไกลมาก
ถึงหนึ่งกิโลเมตรก็มี
ส่วนในอากาศที่ไม่บริสุทธิ์ ในโอโซน ในกรด ในสภาวะที่มีสารอ็อกซิแดนต์เจิอปนมาก
(oxidant = สารที่เพิ่มอ็อกซิเจน) หรือมีสารก่อมลพิษ(pollutants)
อิ่นๆ สารพวกนี้เข้าทำลายหรือเปลี่ยนโมเลกุลกลิ่นหอมของดอกไม้ ด้วยการลดศักยภาพการกระจายกลิ่นลงไปได้กว่า
50%
กลิ่นหอมจางหายไปอย่างรวดเร็วโดยที่เพิ่งกระจายส่งกลิ่นไปได้ไม่ถึง
200 เมตร. หรือ 90% ของสารหอมถูกทำลายไปในมลภาวะอย่างน่าเสียดาย.
เมื่อเทียบกับสังคมก่อนยุคอุตสาหกรรมหนัก
เช่นอุตสาหกรรมรถยนต์, กลิ่นจากโรงกลั่นน้ำมัน, อุตสาหกรรมเคมีอนินทรีย์ (ที่ให้กรดฟอสฟอริก), อุตสาหกรรมเคมีอินทรีย์, โรงงานผลิตยา,
โรงงานผลิตยาฆ่าแมลง, โรงงานกำจัดน้ำเสีย, อุตสาหกรรมกระดาษ, ขยะชนิดต่างๆ
(ขยะจากครัวเรือน, เศษอาหารประเภทปลา, เนื้อสัตว์,
ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่เช่นฟาร์มหมู วัว หรือสัตว์ปีก,
แอ่งน้ำนิ่งเช่นข้างท้องนา, โคลนตม, ขยะอุตสาหกรรม, แหล่งกำจัดและหรือแปรรูปปฏิกูลสัตว์, อุตสาหกรรมเหล็กกล้า, เกษตรอุตสาหกรรม (เช่น
ยีสต์, โรงผลิตโซดาไบคาร์บอเนต, โรงงานทำน้ำตาล, ทำอาหารสัตว์, ทำเนยแข็ง, โรงงานซักผ้า
ฯลฯ
ตัวอย่างเหล่านี้ล้วนเป็นธุกรรมที่สร้างกลิ่นรุนแรงที่รบกวนความสงบสุขของชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตโรงงานเหล่านี้
ดังปรากฏตัวอย่างจำนวนมากที่ชาวบ้านออกมาประท้วงเรื่องมลภาวะที่มาจากโรงงานทั้งหลายได้ก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ
ได้ทำลายแหล่งน้ำที่เคยมีกินมีใช้ ฯลฯ (รายชื่อธุรกรรมของคนที่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมและต่อการธำรงชีวิตนั้น
มียาวเหยียดเกือบไม่มีที่สิ้นสุด รู้อย่างนี้แล้ว
เรายังเหลือความหวังอะไรอีกหรือในสังคมที่เราอยู่).
การที่กลิ่นเสื่อมสลายลงไปอย่างรวดเร็วในมลภาวะ อาจโยงไปได้ถึงจำนวนประชากรผึ้งที่ลดลง
รวมทั้งจำนวนสัตว์ผู้ทำหน้าที่ขนถ่ายละอองเกสร (เช่นนก
ค้างคาวพันธุ์ที่กินน้ำหวานจากดอกไม้) ที่ลดลงไปมากในหมู่ประเทศที่ประกอบอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม.
สถิติการแพร่พันธุ์ของสัตว์บางจำพวกเช่นจิ้งจก, งู, สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ,
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมบางชนิด ต่างมีลูกน้อยลงๆ
เพราะสัตว์เพศผู้และเพศเมียไม่มีโอกาสพบกันเพราะกลิ่นหายไป ตามกันไม่ได้.
หรือสัตว์บางชนิดก็หาของกินลำบากเพราะไม่มีกลิ่นมาช่วยนำทางไปยังแหล่งอาหารเป็นต้น.
ในโลกของพืชพรรณ พืชพรรณมีวิธีป้องกันตัวมิให้ถูกกลืนกิน
ด้วยการส่งกลิ่นบางอย่างที่ทำให้สัตว์ที่ชอบมากินมัน(ยกเว้นคน) หนีถอยห่างไป.
หากมลภาวะทำให้สารระเหยจากพืชผัก(ex. Pheromone
, phytohormones) เจือจางลง พืชพรรณก็ถูกกลืนกินจากสัตว์ไปเสียสิ้น คนก็จะไม่มีผักกิน. เหยื่อที่ต้องการหนีผู้ที่คอยจับมันกิน
หากมันไม่อาจแกะรอยกลิ่นของศัตรูมัน มันก็ตายแน่. ในทางกลับกัน
สัตว์ที่จับสัตว์อื่นเป็นอาหาร ก็จับเหยื่อได้ยากกว่าในดินแดนที่มีมลภาวะสูง
เพราะได้ทำลายกลิ่นของเหยื่อไปเสียหมด. หรือปลาในแหล่งน้ำที่มีกรดสูงเกินไป
เกิดพฤติกรรมแปลกไปจากธรรมชาติเดิมของมัน และทำให้มันไม่หนีศัตรูที่คอยจ้องจับมันกิน
จึงสูญพันธุ์ลงไปเรื่อยๆ. มีกรณีศึกษาแบบนี้หลายกรณีในหมู่สัตว์ในทวีปออสเตรเลีย
รวมทั้งสัตว์ที่มักย้ายที่ในยามค่ำคืนโดยอาศัยกลิ่นเป็นผู้นำทาง ก็ดูเหมือนหมดวิธีเดินทางเพราะมลภาวะทางแสง (ที่เกิดจากการที่ต้นไม้ล้มตายไปเรื่อยๆ
สัตว์ขาดร่มไม้มาบัง หรือเพราะไฟฟ้าในเมืองในยามราตรีที่สว่างไสวเหมือนกลางวัน) ทำให้มันสับสนหลงทาง
ในที่สุดตายลง. (นี่เป็นเรื่องย่อๆของผลจากมลภาวะที่ทำลายความสมดุลของโลก).
กลิ่นที่อยู่ติดตัวเรามาจากไหนบ้าง
มีส่วนมาจากอาหารการกิน(และยา) ของเราที่มักวนเวียนอยู่กับผลผลิตทางเกษตรของท้องถิ่นที่เราอยู่ตั้งแต่เกิด.
ชนชาตที่กินกระเทียมมาก ย่อมมีกลิ่นกระเทียมติดตัวด้วย. ชนชาติที่กินของหมักดองเช่นกิมจี่
ก็มีกลิ่นเฉพาะอีกแบบหนึ่ง. นอกจากอาหารการกิน การใช้เครื่องสำอาง
เครื่องประทินผิวและน้ำหอม ก็เท่ากับสร้างกลิ่นตัวให้เป็นไปตามคุณภาพของเครื่องสำอางหรือน้ำหอมที่เราใช้.
น้ำหอมยี่ห้ออะไร เครื่องสำอางแบบไหน หรือแม้แต่สบู่หรือแชมพู ใครใช้เป็นประจำ ก็เท่ากับสร้างกลิ่นนั้นๆให้กับตัวเอง.
น้ำหอมและเครื่องสำอางที่ใช้จึงเป็นเหมือนเกราะของเรา
เป็น aura
ของแต่ละคน. นี่พูดในวงกว้างๆเท่านั้น
เพราะความหอมของเครื่องสำอางทั้งหลายรวมทั้งน้ำหอม ทำปฏิกิริยากับผิวของแต่ละคน
กับเหงื่อของแต่ละคนไม่เหมือนกันหรือเท่ากัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ว่าหอมนั้น
ในสภาพเหงื่อไหลไคลย้อย มันยังจะหอมอยู่อีกไหม หรือกลายเป็นกลิ่นที่ไม่ดีไป. แต่ละคนต้องสังเกตเอง.
คนหรือสัตว์ยังมีกลิ่นตัวที่เป็นกลิ่นอัตลักษณ์ของสายพันธุ์ ผิวพันธุ์หรือชาติพันธุ์ กลิ่นเสือไม่น่าจะเหมือนกลิ่นกวางกลื่นแพะฉันใด กลิ่นคนก็เช่นกัน กลิ่นคนอาหรับ, กลิ่นแขก, กลิ่นคนผิวดำ
กลิ่นคนเอเชียก็ไม่เหมือนกัน.
กลิ่นเหล่านี้น่าจะติดตัวมาแต่กำเนิด เหมือนมรดกชาติพันธุ์ที่รับทอดมาจากพ่อแม่
จากบรรพบุรุษ. เป็น DNA กลิ่นที่ตายตัวที่หาทางกำจัดหรือปรับเปลี่ยนลำบาก.
กลิ่นของแม่มีความสำคัญมากต่อทารกแรกเกิดและกลิ่นทารกก็สำคัญสำหรับผู้เป็นแม่.
ไม่ว่าคนหรือสัตว์ แม่ลูกจำกลิ่นของกันและกันได้
และทำให้ตามหากันได้อย่างไม่ผิดพลาด. จนถึงปัจจุบัน
ยังไม่มีใครนำเรื่องกลิ่นมาสร้างเป็นประเด็นในหนังมนุษย์ต่างดาว. เช่นมนุษย์ดาวอังคารมีกลิ่นอย่างไร
เขาปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมกลิ่นบนโลกได้ไหมอย่างไรเป็นต้น. ถึงตอนนี้ยังไม่มีใครจินตนาการไปถึง
เพราะนักอวกาศที่ไปถึงดาวอังคาร ไม่มีโอกาศสูดกลิ่นดาวอังคารเลย.
2. การทำความเข้าใจเกี่ยวกับกลิ่นและระบบประสาทรับรู้กลิ่นของคน
เป็นสิ่งที่ยากมากเมื่อเทียบกับระบบประสาทสัมผัสอื่นๆ. กลิ่นไม่มีตัวตนให้จับมาทดลองหรือพิสูจน์
ไม่มีสีให้เห็นชัดเจน มีชีวิตสั้นมาก เช่นนี้แล้วเราจะได้อะไรเป็น hard
evidence จากการศึกษาวิเคราะห์กลิ่นไหม
?
ประสาทรับรู้กลิ่นและประสาทรับเสียง เป็นระบบอวัยวะที่ใกล้สมองมากที่สุด. ประสาทรับกลิ่นเป็นประสาทแรกที่พัฒนาขึ้นตั้งแต่ที่ชีวิตเริ่มขึ้นในสภาพของตัวอ่อนภายในครรภ์.
แนะให้เข้าใจว่า ตั้งแต่แรกเริ่มของชีวิตบนโลก ประสาทรับกลิ่นมีความสำคัญมากเพียงใด.
ปกติวันหนึ่งๆคนหายใจประมาณ 23000
ครั้ง สูดเอาอากาศเข้าเป็นปริมาตรประมาณ12
ลูกบาศก์เมตรต่อวัน.
เช่นนี้ทำให้คนสามารถจับกลิ่นต่างๆในอากาศได้เป็นจำนวนมาก. สิ่งมีชีวิตสามารถแยกแยะกลิ่นต่างๆได้ตามธรรมชาติ
นั่นคือแยกกลิ่นหนึ่งจากกลิ่นอื่น. สถิติจากนักวิจัย เมื่อ 21 มีนาคม
2014 ระบุในวารสารวิทยาศาสตร์ว่า
คนอาจรับและแยกแยะกลิ่นต่างๆได้ถึงล้านล้านชนิด
เกินกว่าจำนวนที่เชื่อกันมาจนถึงปีนั้นว่า
คนแยกแยะกลิ่นต่างๆกันได้หนึ่งหมื่นกลิ่น. และเจาะจงไว้ด้วยว่า 80% ของกลิ่นที่รับรู้นั้น เป็นกลิ่นที่ “ไม่สู้ดี” หรือ กลิ่น
“เตือนภัย” ซึ่งสอดคล้องกับสัญชาตญาณของการธำรงชีวิต
กลิ่นทำหน้าที่กระตุ้นเตือนภัย เป็นหน้าที่หลักตลอดวิวัฒนาการของคน. อีก
20%
ของกลิ่นโยงไปถึงสภาวะทางอารมณ์ในเชิงบวก
sur http://www.journaldelascience.fr/ [archive],
22 mars 2014 และที่ « Humans Can Discriminate More than 1
Trillion Olfactory Stimuli » [archive], sur http://www.sciencemag.org/ [archive], 21 mars 2014)
ศักยภาพของการรับรู้กลิ่นของคนที่ระบุมานี้ สูงมากเท่าใดก็พูดได้ แต่เมื่อต้องเจาะจงระบุว่าเป็นกลิ่นอะไร ความสามารถของคนลดน้อยลงไปทันที เพราะคนไม่สามารถ “ให้คำจำกัดความ”
กลิ่นต่างๆได้ชัดเจน,ถูกต้องและเด็ดขาด. ปัญหาจึงมิได้อยู่ที่ความสามารถในการรับรู้กลิ่น
แต่อยู่ที่ความไม่สามารถในการเจาะจงกลิ่นด้วยภาษาคนภาษาใดที่ชัดเจนและไม่สับสน.
ภาษาของเรา
ไม่อาจพรรณนาหรือเข้าถึงธาตุแท้ของโลกของกลิ่น. การทดลองครั้งแล้วครั้งเล่า ได้ผลออกมาว่า ในจำนวนกลิ่น 100 ชนิดที่คน “สัมผัส”ได้ เขาสามารถระบุเจาะจงว่าเป็นกลิ่นอะไรได้เพียง
30-40 กลิ่นเท่านั้น.
(เหมือนการแกะรหัสดีเอ็นเอที่ต้องใช้ตัวเลขมาช่วย ผู้เขียนลองคิดเล่นๆว่า ฤาต้องใช้ตัวเลขหนึ่งถึงล้านเป็นรหัสแทนแต่ละกลิ่น
และเมื่อมีการผสมคลุกเคล้ากลิ่นเช่น ตัวที่หนึ่งหมื่นกับตัวที่เก้าแสนเก้าหมื่น
หน้าตารหัสจะเป็นเช่นนี้ 10000+990000 ก็ไม่ใช่อีก เพราะการผสมหรือปรุงกลิ่นนั้น ไม่ใช่การเรียงกลิ่นซ้อนๆกันเป็นชั้นๆหรือขนานกันไปฯลฯ.
มันคือกลิ่นใหม่ เป็นชีวิตใหม่ของกลิ่นหนึ่งเลย. แค่นี้ก็เห็นความพะรุงพะรังแล้ว
ยังไม่ไกลไปถึงการผสมคลุกเคล้ามากกว่าสองตัวขึ้นไป) (ข้าพเจ้าคิดง่ายๆซื่อๆว่า)
จนกว่าจะมีเครื่องมือความถี่สูงและละเอียดเพียงพอที่จะถ่ายทอดสภาพของกลิ่นที่เป็นอากาศธาตุมาเป็นคลื่นความถี่(คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแทน)
และจากคลื่นความถี่แปลงมาเป็นภาพให้เราเห็นอัตลักษณ์ชัดเจนของแต่ละกลิ่น
หากเติมสีลงไปอีก ภาพก็สวยเลย. แต่นี่ก็ยังมีปัญหาอยู่ด้วยว่า เครื่องสมองกลนั้นจะต้องแยกแยะความถี่ของกลิ่นแต่ละกลิ่น
แต่ละโมเลกุลที่ประกอบอยู่ในกลิ่น ซึ่งน่าจะมีความเข้มข้นต่างกันแน่นอนอยู่แล้ว เพราะองค์ประกอบของโมเลกุลกลิ่นมีทั้งที่เป็นสารออร์กานิก
(แอลกอฮอลเป็นอาทิ), เป็นกรด, เป็นสารชีวภาพ, เป็นคาร์บอน, หรือเป็นสารประกอบอโรมาติก.
นอกจากนี้โมเลกุลกลิ่นก็มีความยาวต่างกัน ขึ้นอยู่กับจำนวนคาร์บอนในตัวมัน,
โมเลกุลกลิ่นแต่ละตัวมีวิธีการเรียงตัวของมันในอากาศต่างกันด้วย และเวลากับประสิทธิภาพของการกระจายกลิ่นของโมเลกุลแต่ละตัวก็ไม่เหมือนกันอีก.
(นักวิทยาศาสตร์มีเรื่องต้องคิดอีกมากเลย!). แต่เครื่องมือแบบนี้คงไม่เกินกำลังสมองของนักประดิษฐ์อัจฉริยะ
ที่ยังไม่ทำกัน หรือทำแล้วมิได้นำใช้กับกลิ่น(เท่าที่รู้มา)
อาจเพื่อให้คนได้พัฒนาทักษะกลิ่นด้วยศักยภาพชีวเคมีในตัวของเราเอง. นี่อาจเป็นการอนุรักษ์อัตลักษณ์ “ความเป็นคน”
วิธีหนึ่งกระมัง ?
กลิ่นหอมบางกลิ่นจางหายไปเร็วมาก
บางกลิ่นหอมทนนานกว่า.
ระบบประสาทรับกลิ่นของคนก็อาจเป็นผลจากความคุ้นเคย (เช่นในวงการแพทย์
พูดถึง “การทำความคุ้นเคยกับกลิ่น” ) นั่นคือ คนเรารับกลิ่นหนึ่งแล้ว
หากปล่อยกลิ่นนั้นไป ดมอีกที อาจไม่ได้กลิ่นอะไรแล้ว
เพราะสารระเหยนั้นหยุดส่งกลิ่นหลังจากระยะเวลาหนึ่ง.
การระเหยของกลื่นมิได้เป็นไปอย่างต่อเนื่องเสมอไป เช่นเมื่อเปิดจุกขวดน้ำหอม กลิ่นโชยออกมาในตอนแรก
แต่อาจไม่โชยต่ออย่างนั้นอย่างสม่ำเสมอและเข้มข้นคงที่ตลอดเวลา. สารระเหยบางชนิด ส่งกลิ่นออกไปในหนึ่งวินาทีแรก แล้วก็หยุดเลย.
เพราะทุกคน, เกือบทุกอย่าง,
ทุกสถานที่มีกลิ่นเฉพาะของมัน กลิ่นจึงอาจเป็นเครื่องมือสะกดรอยอาญาชกรรมได้ (criminology)
ในกระบวนการตามจับตัวคนร้ายด้วยการสะกดตามรอยกลิ่น(ทำอย่างน้องหมาและให้น้องหมาช่วย)
ด้วยการเก็บและแยกแยะกลิ่นทั้งหลายในที่เกิดเหตุ ที่รวมกลิ่นเสื้อผ้า กลิ่นน้ำหอม
กลิ่นบุหรี่ กลิ่นอาหารเป็นต้น.
นวนิยายสืบสวนสอบสวนได้ใช้เรื่องกลิ่นสร้างและคลายปมอาชญากรรมหลายเรื่อง. (เท่าที่จำได้ณนาทีนี้ นึกถึง Inspecter Colombo ผู้มีตาไวเป็นเหยี่ยว, มีจมูกดี และชอบพูดถึง(กลิ่น)อาหาร. เขามีวิธีการพูดที่มักทำให้คนฟังคิดว่าเพ้อเจ้อผิดกาละเทศะ,
นึกถึงวิธีการจับผิดผู้ร้าย และการแกะรอยอาชญากรรม).
3. เมื่อการวิเคราะห์กลิ่นเป็นไปด้วยความยากลำบาก
นักวิจัยจึงเบนไปศึกษา อิทธิพลของกลิ่นต่อจิตวิทยาและต่อทุกข์สุขของคน
สมองวิเคราะห์ แยกแยะและบอกให้เรารู้ว่า
มีกลิ่นอะไรบ้างในอากาศที่เราหายใจเข้าไปในวินาทีที่เพิ่งผ่านไป (วิเคราะห์อย่างไรนั้น See my tentative explanation ข้อ 5).
ประสาทรับรู้กลิ่นบอกให้เรารู้ว่าสภาพแวดล้อมที่เราเข้าไปนั้นเป็นอย่างไร ช่วยให้เรามองเห็นโลกรอบข้างเราได้ถูกต้องโดยที่เราไม่รู้ตัวหรือรู้คุณต่อจมูกเรา.
เมื่อเราสามารถรับรู้กลิ่นได้
กลิ่นที่ได้นั้นช่วยเราได้อย่างน้อยสามประการคือ
๑) กลิ่นทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครอง
เช่นทำให้คนรู้ว่าอาหารนั้นสดหรือเริ่มเหม็นแล้ว
หรือเตือนให้รู้ว่าตรงนั้นมีกลิ่นไหม้ กลิ่นแก๊ซ. กลิ่นจึงเตือนภัย. ณจุดต้นกำเนิดของมนุษยชาติ ประสาทรับกลิ่น
มีความสำคัญมาก เป็นทักษะที่ช่วยการอยู่รอดของคนยุคแรกๆบนโลก. กลิ่นเป็นสิ่งชี้บอกอันตราย
หรือบอกว่ามีอะไรที่ไม่เหมือนเรา ไม่ใช่เราใกล้เข้ามาเป็นต้น.
๒) กลิ่นมีบทบาทสำคัญและเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับประสาทรับรู้รส มันช่วยแยกแยะอาหารประเภทต่างๆ และเจาะจงว่าอาหารที่อยู่ในปากนั้นคืออะไร โดยเฉพาะสำหรับผู้พิการทางสายตา.
กลิ่นมีส่วนช่วยให้เจริญอาหารด้วย. มีตัวอย่างของคนไข้ที่หลังจากเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ จมูกไม่รับรู้กลิ่นใดๆอีกเลย
(การไม่สามารถรับรู้กลิ่น เรียกว่า anosma) คนไข้บอกว่า ทำให้เขาไม่อยากอาหาร
กินอะไรไม่อร่อยเพราะไม่ได้กลิ่นอาหาร.
๓) กลิ่นให้ความสุขความพอใจ เช่นกลิ่นดอกกุหลาบทำให้อ่อนโยน, กลิ่นหอมอ่อนๆจากผลไม้พันธุ์ส้มทำให้รู้สึกสดชื่นขึ้นทันที
เช่นน้ำหอมประเภทโคโลญ (L’Eau
de Cologne) หรือกลิ่นเขียวๆ (กลิ่นแบบฉบับที่เรียกกันว่ากลิ่นเขียวๆนั้น
คือกลิ่นของหญ้าที่เพิ่งตัดใหม่ๆ) ทำให้คนผ่อนคลายได้ทันทีเป็นต้น. กลิ่นจึงสามารถประทับใจ ช่วยผ่อนคลาย กระตุ้นอารมณ์สะเทือนหรืออารมณ์สุนทรีย์ได้.
ผลจากการศึกษาวิจัยด้านนี้ เปิดโอกาสให้แก่การแพทย์ทางเลือกด้วย.
ธุรกิจสปา ก็ได้อาศัยความรู้จากสมุนไพรทั้งหลายมาพัฒนาการบริการในรูปแบบต่างๆ.
สมรรถภาพของประสาทรับกลิ่นขึ้นอยู่กับระยะทางใกล้ไกลจากต้นตอของกลิ่น,
และเชื่อมเป็นเส้นตรงกับความเข้มข้นของสารที่ส่งกลิ่น. สารบางชนิดมีขีดจำกัดในการกระจายกลิ่น. การรับรู้กลิ่นยังมีปัจจัยของความทรงจำ
มาเป็นตัวกำหนดหรือตัวช่วยอย่างมากด้วย. แล้วความทรงจำเกี่ยวกับกลิ่น
มันอยู่ที่ใดเล่าในตัวเรา? นี่ยังเป็นปัญหาที่ไม่มีใครตอบได้อย่างชัดเจนในปัจจุบัน
(แต่ก็คิดกันว่าน่าจะอยู่ในศูนย์สมองส่วนที่ทำหน้าที่วิเคราะห์กลิ่น
(ดูข้อ 5). นักวิจัยกำลังค้นคิดหาคำตอบอยู่อย่างไม่ลดละ.
นักวิจัยทั้งหลายต่างรู้ว่า คนปรับตัวเข้ากับกลิ่นได้ทุกชนิด(ไม่ช้าก็เร็ว)ไม่ว่ากลิ่นนั้นจะมีคุณสมบัติอย่างไร. การรู้จักจำแนก อธิบายคุณสมบัติของกลิ่นหนึ่งนั้น
ขึ้นอยู่กับสัญชาตญาณของแต่ละคน,
ขึ้นอยู่กับประสบการณ์, ขึ้นอยู่กับศักยภาพในการดักจับกลิ่นของเขาว่าละเอียดประณีตเพียงใด,
ขึ้นอยู่กับระดับความรู้เกี่ยวกับสารที่ส่งกลิ่นนั้น, ระดับวัฒนธรรมและวิธีการบอกกล่าวสิ่งที่เขาสัมผัสได้ด้วยจมูก. ดังนั้นศักยภาพของกลิ่นสัมผัสจึงเหมือนตั้งอยู่ตรงกลางของสี่แยกที่ความรู้สี่แขนงไปบรรจบกัน
อันมีสรีระวิทยา, จิตวิทยา, ประเพณีและวัฒนธรรมที่เป็นภูมิหลังของคนนั้น
รวมถึงสมรรถภาพการใช้ภาษาในการถ่ายทอดสิ่งที่เขาสัมผัสได้. กลิ่นดีหรือกลิ่นไม่ดีจึงขึ้นอยู่กับระบบสังคม
ค่านิยม ประเพณีและวัฒนธรรมและขึ้นอยู่กับประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคน (ที่อาจเหมือนหรือต่างจากคนอื่นได้
เช่นปลาเหม็นเน่า(น่าจะ)เป็นกลิ่นไม่ดีสำหรับทุกคน).
กลิ่นหนึ่งอาจทำให้เราอาเจียนได้
มันอาจทำให้ช็อค มันอาจกระตุกความทรงจำขึ้นใหม่อย่างฉับพลัน
เพราะการรับรู้กลิ่นโยงไปเกี่ยวข้องกับประสาทส่วนที่เก็บความทรงจำ
ความรู้สึกและอารมณ์ต่างๆในสมองซีกขวาเรา. เพราะฉะนั้น กลิ่นที่ได้รับ
ทำให้รู้สึกทันทีถึงความพอใจหรือความไม่พอใจในอดีตที่เคยได้กลิ่นนี้มาก่อน. เมื่อจมูกเรารับกลิ่นหนึ่ง สมองจดจำไว้ทันที
และกลับมาทำให้เรารู้สึกอีกครั้ง เมื่อได้กลิ่นแบบเดียวกันนั้นอีก.
เช่นนี้เราจึงบอกไม่ได้ว่ากลิ่นหนึ่งดีหรือไม่ดี มันขึ้นอยู่กับประสบการณ์การรับกลิ่นนั้นของแต่ละคน
ที่ย่อมไม่เหมือนกันหรือไม่เข้มเท่ากันและในบริบทต่างๆกัน. เช่นนี้แต่ละคนเลือกใช้
เลือกชอบน้ำหอมไม่เหมือนกัน และเราตัดสินจากยี่ห้อที่เขาเลือกไม่ได้ว่า
คนนั้นมีรสนิยมดีหรือไม่.
ประสาทรับรู้กลิ่นมีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ของเรากับคนอื่นๆ. ในมุมมองนี้ มันมีบทบาทมากว่าประสาทอื่นๆอีกสี่ประเภท.
กลิ่นแต่ละชนิดที่เราพบโดยเฉพาะในเหตุการณ์สำคัญในชีวิตส่วนตัวของเรานั้น
จะเชื่อมโยงและเกาะติดกันไปอย่างแยกกันไม่ออกกับเหตุการณ์นั้นและความรู้สึกที่มีในวันนั้น
(ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกดีหรือไม่ดี) ที่จักฝังแน่นในตัว ในความทรงจำของผัสสะไปตลอดชีวิต.
และเมื่อเหตุปัจจัยมาบรรจบกันอีกไม่ว่ากี่ปีผ่านไปแล้ว
กลิ่นหนึ่งที่ได้ทำให้สมองโยงกลับไปถึงเหตุการณ์ในอดีตที่มีกลิ่นนั้นอบอวลอยู่ด้วย
จึงปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึกเก่าๆได้อย่างฉับพลันในเวลาเพียงหนึ่งในเสี้ยววินาที (ข้อมูลที่อ่านมา เจาะจงไว้ว่า หนึ่งในพันของเสี้ยววินาที แต่เพราะผู้เขียนมิอาจสัมผัสความเร็วนั้นได้ด้วยสติและความรู้สึกจริงๆ
จึงได้ลดลงไว้แค่หนึ่งในเสี้ยววินาที !!!
). เมื่อความทรงจำเป็นไปตามกระบวนการนี้ในสมอง
โดยปริยายเราจึงมิอาจกำจัดความทรงจำใดๆไปได้
ไม่ว่าดีหรือเลว และเราก็ไม่สามารถเลือกจำแต่สิ่งดีๆได้
เพราะฉะนั้นการบอกว่าให้เลือกจำแต่สิ่งดีๆหรือให้ลืมความทรงจำที่นำความทุกข์มาให้นั้น
จึงเป็นไปไม่ได้ มีทางเดียวที่ทำได้ ตามหลักพุทธศาสนา
นั่นคือการตระหนักรู้ว่า “ทุกสิ่งเกิดขึ้น
ตั้งอยู่และดับไป”. ให้มองสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตหรือในความทรงจำ โดย มิให้มันมาทำลายความสงบนิ่งในจิตวิญญาณของเราอีก.
ดีหรือไม่ดี ก็มองมันเฉยๆ แล้วมันก็ผ่านไป. (เอวัง!) (ประโยคนี้โผล่ขึ้นมาในสมอง
จากมหากาพย์ภารตะฉบับแปลที่เคยอ่านว่า >>
indifferent to pain and to joy ... (กฤษณะสอนอรชุน
ให้กำลังใจว่า หน้าที่ของเขาคือการสถาปนาสันติภาพบนแผ่นดิน).
พระอริยสงฆ์ทั้งหลายก็สอนเรามาเสมอว่า ให้เจริญสติ เจริญธรรม และทำตัวให้เป็นประโยชน์
(จนกว่าจะถึงเวลาจากไป).
Marcel
Proust นักเขียนฝรั่งเศส (1871-1922)
เมื่อต้นศตวรรษที่ 20 ได้เขียนวิเคราะห์เรื่องความทรงจำของผัสสะทั้งหลายอย่างละเอียดทั้งเรื่องเสียง
เรื่องกลิ่นและเรื่องรส ที่เขาเรียกว่า เป็น mémoire
involontaire [เมมัว แอ็งโวลงแตรฺ] ในวรรณกรรมของเขาที่ชื่อ A la Recherche du Temps Perdu (มีผู้แปลเป็นฉบับภาษาอังกฤษว่า Remembrance of Things Past บางคนแปลเป็น In Search of Lost Time)
และวางกระแสแนวคิดใหม่ตลอดจนแนวการเขียนแนวใหม่ในวงวรรณกรรมฝรั่งเศสและในวรรณกรรมโลก. สรุปได้ว่า กลิ่นมีอำนาจกระตุ้นความทรงจำ ปลุกเร้าอารมณ์เก่าๆได้อย่างฉับพลัน. และอาจพูดต่อไปได้ถึงน้ำหอม ว่าเป็นงานสร้างสรรค์ของคนที่เปราะบางที่สุดและที่ล่องลอยหายไปได้เร็วที่สุดด้วย ถึงกระนั้น น้ำหอมทิ้งร่องรอยถาวรมิลบเลือนไปได้จากความทรงจำของคน.
เราคิดกันมานานว่า
ประสาทนิวโรนที่ทำหน้าที่รับรู้กลิ่นนั้น
มีหน้าที่จำกัดอยู่กับจมูกและส่วนหนึ่งของสมองเท่านั้น แต่ยิ่งวันวิทยาการสมัยใหม่ค้นพบว่า กระเพาะอาหารและแม้แต่ไต
ก็ไม่พ้นอิทธิพลของกลิ่น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้นพบว่า เซลล์มะเร็งในร่างกายก็ตกอยู่ใต้อิทธิพลของกลิ่นด้วย เช่นกัน. นั่นคือประสาทรับรู้กลิ่นของคน
เกี่ยวพันใกล้ชิดกับการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง.
การค้นพบดังกล่าวสร้างยุทธศาสตร์ใหม่ๆในการเยียวยารักษาโรคภัยไข้เจ็บของคน.
การวิจัยในปีหลังๆมานี้
ระบุและยืนยันชัดเจนว่า เกือบร้อยละ 80 ของผู้ป่วยด้วยโรคความจำเสื่อม (Hauzeimer) สูญเสียสมรรถภาพการรับรู้กลิ่นด้วย.
ในหมู่ผู้สูงวัย
ความบกพร่องในการรับรู้กลิ่น เปลี่ยนอุปนิสัยการกินอาหาร เปลี่ยนความชอบไม่ชอบ
ความอยากหรือไม่ในอาหารเป็นต้น. เพราะฉะนั้น ทำให้คิดกันว่า
หากแก้ไขสมรรถภาพการรับรู้กลิ่นในผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุได้ ก็อาจช่วยให้พวกเขากิน
อยากกินและรู้จักชื่นชอบอาหารได้ดีขึ้น.
การวิจัยด้านนี้ยังเท่ากับไปเน้นความสำคัญของกลิ่นต่อสภาพจิตใจของคน สถิติยังบอกว่าหนึ่งในสามของผู้มีความบกพร่องในการรับรู้กลิ่น
มักตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า.
4.
จมูกรับรู้กลิ่นได้อย่างไร ? สมองต้องมีส่วนร่วมอย่างไร ?
ในสภาวะปกติของร่างกาย
คนหายใจอากาศเข้าไปทางจมูก. ในอากาศมีกลิ่นเจือปนเสมอ
แม้อากาศที่เราคิดว่าบริสุทธิ์ ก็มีกลิ่นเจือปน เช่นอากาศชายทะเล
ก็มีกลิ่นทะเลเจือปน. โมเลกุลกลิ่นๆหนึ่งเป็นอากาศธาตุ คือเบา บอบบาง
ระเหยไวและละลายได้ในน้ำ. อากาศเป็นตัวนำ ตัวส่งและตัวกระจายกลิ่น. จมูกของเราทำหน้าที่สำคัญมาก เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูง ละเอียด ประณีตและด้วยความรวดเร็วว่องไวสุดประมาณ.
เมื่อจมูกเราได้กลิ่นๆหนึ่งเช่นกลิ่นลาเวนเดอร์
เราคิดว่าเป็นกลิ่นเดียว ในความเป็นจริงกลิ่นที่มาถึงจมูกเรานั้น
ประกอบด้วยโมเลกุลกลิ่นเป็นจำนวนมากไม่ต่ำกว่าร้อยโมเลกุล. โมเลกุลทั้งหมดนี้เข้าไปถึงภายในส่วนลึกของโพรงจมูกไปปะทะกับเซลล์ประสาทรับกลิ่น (olfactory nerf ) ที่มีเป็นจำนวนมาก
(บ้างว่าถึงสิบล้านเซลล์). เซลล์พวกนี้คืออะไร?
พวกมันคือเซลล์ประสาท
(neuron, neurone ลักษณะเป็นเส้นๆ
แตกเป็นกิ่งก้านเหมือนแยกเป็นแขนขาในโพรงจมูก. เซลล์ประสาทรับกลิ่นเหล่านี้
ต่างจากเซลล์ประสาทอื่นๆ เพราะว่าพวกนี้ตายและเกิดใหม่อย่างสม่ำเสมอ. เซลล์ประสาทในจมูกคน มีความเชี่ยวชาญพิเศษในการแกะรอยของ pheromones
(สารฮอร์โมนจำพวกหนึ่งที่มีฤทธิ์กระตุ้นการโต้ตอบของร่างกายหรือกระตุ้นพฤติกรรม).
เซลล์ประสาทนิวโรนในจมูก มีอัตลักษณ์พิเศษ
เพราะเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวของสมองที่ปรากฏในอากาศ นอกตัวเรา เซลล์ประสาทเหล่านี้รวมกันอยู่ที่กระเปาะรับกลิ่น
(olfactive bulb) สองข้างใต้หัวตา. กระเปาะรับกลิ่นประกอบด้วยเมือกบุเยื่อจมูก (olfactory mucous) และมีขนหนาแผ่กระจายเป็นเครือข่ายภายใน.
ขนเหล่านี้เกิดจากเซลล์โปรตีนชนิดต่างๆ. เมื่อกลิ่นหนึ่งผ่านเข้าไปกระทบขนเหล่านี้ ขนเหล่านี้จะสั่นสะเทือน เกิดปฏิกิริยาไฟฟ้าเคมีเป็นคลื่นในฉับพลันนั้น
คลื่นเหล่านี้ไหลเป็นละลอกๆไปตามแขนยาวๆของเซลล์ประสาทที่ถูกกระตุกกระตุ้น ไปยังส่วนของสมองตรงขมับติดกับก้านสมอง. เท่ากับว่า เซลล์ประสาทที่รับกลิ่นตรงจมูก
กำลังส่งข้อมูลที่ได้ต่อไปยังสมองส่วนวิเคราะห์กลิ่นในทันทีนั้นเลย.
สมองส่วนที่ทำหน้าที่วิเคราะห์กลิ่น
ก็เป็นกระเปาะที่ประกอบด้วยเซลล์รับกลิ่น (neurons) พันๆเซลล์ เซลล์พวกนี้เป็นโปรตีน
เหมือนเซลล์ประสาทภายในโพรงจมูก. เซลล์ประสาทนำโครงสร้างของโมเลกุลกลิ่นทั้งร้อยกว่าโมเลกุล
ไปเชื่อมหรือต่อติดกับศูนย์ข้อมูลหรือ “ศูนย์บูรณาการ” (integration
centres) ซึ่งมีอยู่ราวพันศูนย์ในสมองส่วนนั้น.
เซลล์ประสาทวิเคราะห์
แยกแยะและเจาะจงโมเลกุลกลิ่นด้วยการส่งไปเทียบกับข้อมูลกลิ่นที่เก็บอยู่ในศูนย์ต่างๆดังกล่าว. เพราะฉะนั้นหนึ่งกลิ่นที่เข้าไปถึงสมองส่วนนั้น
ไปกระตุ้นการทำงานของศูนย์ฯเครือข่ายหลายศูนย์พร้อมกัน.
เท่ากับว่าภายในสมองมีการเชื่อมโยงระหว่างศูนย์ฯในแต่ละครั้งหลายศูนย์พร้อมกัน. สมองต้องรีบจัดข้อมูลที่ได้จากโครงสร้างโมเลกุลกลิ่นนั้นและเจาะจงให้รู้ว่า
กลิ่นนั้นคือกลิ่นอะไรโดยเลือกจากความรู้ที่สมองสั่งสมมากว่า
400 กลิ่นตั้งแต่ที่คนนั้นเกิด. ความสามารถและประสิทธิภาพในการแกะรหัสโปรตีนของโมเลกุลกลิ่นนั้น
เป็นความมหัศจรรย์อย่างแท้จริง (สมองคนเป็นระบบ IT
ที่มิมีอะไรเสมอเหมือน). เช่นนี้ ทำให้เราพอจะเข้าใจได้ว่า
การรับรู้กลิ่นใดกลิ่นหนึ่งนั้น มีความลึกลับซับซ้อนเพียงใด.
ผลจากการวิเคราะห์แกะกลิ่น เทียบได้กับการวิเคราะห์แยกแยะโน้ตดนตรีกว่า
400 ตัวบนออแกน แม่นยำ
ไม่มีพลาดและฟันธงเจะเจาะจงลงไปว่า กลิ่นนั้น(ที่มีโมเลกุลเป็นร้อยนั้น)
คือกลิ่นลาเวนเดอร์. คนนั้นเหมือน “รู้แจ้ง”ในบัดดล. ทั้งหมดนี้ประสาทรับกลิ่นในโพรงจมูกและสมองต้องร่วมกันทำงาน
และทำงานในเวลาไม่ถึงหนึ่งในเสี้ยววินาที.
ถ้าสมองหมดสภาพ ไม่ร่วมมือกับประสาทรับกลิ่น
แม้เราจะสูดน้ำหอมเข้มข้นอย่างไร เราก็ไม่ได้กลิ่น. (เท่ากับยืนยันอีกว่า
เมื่อสมองตาย ประสิทธิภาพของจมูกก็ตายไปด้วย).
ในที่สุด ศูนย์ฯเหล่านี้ในสมองส่วนนี้ เหมือนกระเป๋าเดินทางที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับกลิ่นต่างๆที่คนหนึ่งมีตั้งแต่เกิด. มันคือกระเป๋าเก็บกลิ่น ประมาณกันว่าแต่ละคนมีประสบการณ์กลิ่นต่างๆราว 400 กลิ่น ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่. ประสบการณ์เรื่องกลิ่นถูกเก็บอย่างแน่นหนาภายในระบบประสาทรับรู้กลิ่นของเรา
และไม่ลดลงไปกับกาลเวลา
ยกเว้นกรณีที่มีโรคแทรกซ้อนที่ไปกระทบระบบประสาทรับรู้กลิ่นในโพรงจมูกหรือในสมองส่วนที่เกี่ยวข้องดังกล่าวมานี้. โดยปริยายการได้กลิ่น ส่วนหนึ่งจึงคือการหวนกลับไปได้กลิ่นเดิมที่เคยมีประสบการณ์มาแล้วในอดีต. จุดนี้เองจึงพูดกันว่าการรับรู้กลิ่นเกี่ยวกับความทรงจำ. ยิ่งกลิ่นมีความเข้มข้นมาก ก็ยิ่งง่ายต่อสมองในการเทียบเคียงและเจาะจงออกมาว่าเป็นกลิ่นอะไรได้บ้าง.
ส่วนกลิ่นใหม่ๆนั้น สมองก็เก็บกักไว้ในศูนย์ต่อไปโดยที่เรายังไม่ตระหนักอย่างชัดเจนว่าอะไร
จนกว่าจะได้กลิ่นอีกเป็นครั้งที่สอง(เป็นอย่างน้อย)
กลิ่นใหม่นั้นจึงเหมือนมีตัวตนขึ้นมาอย่างแท้จริงในระบบผัสสะของเรา (cf. Marcel Proust >> toute connaissance se fait en deux
temps).
กระเปาะรับหรือดักจับกลิ่นของคนนั้นมีประสิทธิภาพน้อยกว่าของสัตว์. ในหมู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
คนมีศักยภาพในการรับรู้กลิ่นน้อยกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด. เซลล์ประสาทรับกลิ่นก็มีจำนวนน้อยกว่า จมูกคนจึงไวหรือละเอียดน้อยกว่า. นอกจากนี้การมีเซลล์โปรตีนที่ตอบรับหรือรับมือกลิ่นนั้น
ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยทางยีนและปัจจัยอื่นๆอีก. ระบบรับรู้กลิ่นโดยตัวมันเองมีประโยยชน์สารพัด
ที่อาจขับเคลื่อนให้เกิดสิ่งใหม่ๆได้ด้วย. ในทำนองเดียวกัน
การเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของโมเลกุลกลิ่นโมเลกุลหนึ่ง แม้เพียงเล็กน้อย ก็อาจก่อให้เกิดความแตกต่างสำคัญในกลิ่นนั้น.
คุณมี “จมูก” ไหม? (Avez-vous du nez?) ทุกคนมีจมูกหากไม่ทุพพลภาพ แต่จมูกในที่นี้
มิได้หมายถึงตัวจมูกที่เป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย
แต่หมายถึง สมรรถภาพการรับรู้กลิ่นของคนนั้น.
ในตะวันตก เขาใช้คำนี้ nose
ในภาษาอังกฤษ หรือ nez ในภาษาฝรั่งเศส.
การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า การที่คนหนึ่งมีจมูกดีหรือไม่นั้น
ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่าที่เราคิด. กระทบอย่างไรและทำไมจึงเป็นเช่นนั้น. นักวิจัยยังติดตามแกะรอยต่อไปจากคนป่วยประเภทต่างๆ
เป็นกรณีศึกษาที่ต้องจดบันทึกเพื่อประเมินและเพื่อการวิเคราะห์ของแพทย์.
เมื่อจมูกจับกลิ่นหอมหนึ่ง
มีกลิ่นเริ่มต้นเป็นอย่างไร
(top note) มีกลิ่นยืนพื้น (base note) เป็นกลิ่นแบบไหน
มีกลิ่นอะไรที่โชยตามกลิ่นแรกที่ได้ในตอนต้นและในช่วงกลาง (middle note) แล้วมีกลิ่นอะไรจบท้ายก่อนที่จะจางไป
(end note). เพื่อช่วยการอธิบายเจาะจงกลิ่น
จึงมีการจำแนกแยกแยะกลิ่นเป็นชนิดต่างๆเจ็ดชนิด(หรือมากกว่า).
บ้างยึดต้นกำเนิดของกลิ่นเป็นหลักเช่นกลิ่นดอกไม้ กลิ่นผลไม้ เครื่องเทศ สมุนไพร
สัตว์ หนัง ไม้ มอส. บ้างเจาะจงคุณสมบัติของกลิ่นว่า
ร้อน อบอุ่น ชื้น แห้ง. บ้างโยงไปเทียบกับรสชาติว่า หวาน มัน. บ้างจัดจำแนกชนิดกลิ่นที่ประทับผัสสะของคน
เช่น กลิ่นฉุนๆเผ็ดๆ, กลิ่นเคมี, กลิ่นที่ทำให้คลื่นไส้. บ้างจัดตามลักษณะและบุคลิกของกลิ่น เช่นกลิ่นเฟีร์น, กลิ่นยาสูบ, กลิ่นหนังเป็นต้น.
แต่การรับรู้กลิ่น แปรไปตามจำนวนคนและตามสังคม.
ทำให้เข้าใจว่างานวิจัยทั้งหลายที่ได้พยายามแยกประเภทกลิ่นนั้น ยังเป็นที่ถกเถียงกันมาก.
ผลงานวิจัยฉบับหนึ่งในปี 2013 ได้รวบรวมจำนวนการผสมผสานกลิ่นที่มีทั้งหมด(ณปีนั้น)
144 วิธี ให้เหลือเพียง 10 กลิ่นพื้นฐาน และจัดไว้ดังนี้ « Parfumé »กลิ่นหอม,
« boisé » กลิ่นไม้ กลิ่นป่า, « résineux »กลิ่นยางไม้,
« fruité, autre que citron »
กลิ่นผลไม้(ที่ไม่ใช่กลิ่นมะนาว, « écœurant »กลิ่นฉุนทำให้คลื่นไส้,
« chimique »
กลิ่นเคมี, « mentholé, menthe poivrée » กลิ่นมินต์ปนกลิ่นพริกไทย,
« sucré » กลิ่นหอมหวาน, « pop-corn » กลิ่นข้าวโพดคั่ว,
« citronné »กลิ่นมะนาวหรือส้ม et « âcre » กลิ่นเผ็ด/ฉุน. (เขาจัดกันอย่างไรก็ช่าง เราได้คำต่างๆมาใส่ในกระเป๋าศัพท์พร้อมใช้
เพื่อความพอใจของเราก็คงจะพอ)
เหมือนการดมกลิ่นไวน์ ยิ่งกลิ่นน้ำหอมมีหางยาว
ทนนาน น้ำหอมนั้นยิ่งมีคุณภาพดี เพราะกระจายกลิ่นได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มต้น
ตอนกลางและตอนจบ. แต่ละโมเลกุลกลิ่นที่กระจายออกตลอดระยะเวลาที่จมูกเราได้กลิ่นนั้น
เรียกว่า โน้ต(กลิ่น) เทียบกับโน้ตดนตรี
เพราะเสียงและกลิ่นมีคุณสมบัติหลายอย่างตรงกันคือไม่มีสี ลอยไปในอากาศ ไม่มีตัวตน จับต้องไม่ได้.
การมีจมูกดีนั้น เป็นสิ่งที่ต้องฝึก
ต้องเรียน.
นักปรุงน้ำหอมสามารถแยกแยะกลิ่นได้หลายร้อยกลิ่นหากได้ฝึกฝนอย่างจริงจัง. ที่เมือง
Lyon [ลียง] ในฝรั่งเศส ศาสตราจารย์ Jérome Gilebiowski (นักเคมีแห่งมหาวิทยาลัย
Nice Sophia Antipolis) ได้ทดลองกับชาวฝรั่งเศสรวมทั้งสิ้น 4000
คน เพื่อวัดศักยภาพการรับกลิ่นของพวกเขา.
และสรุปว่า คนทุกคนเกิดมามีศักยภาพการรับกลิ่นเสมอกัน. ชาวฝรั่งเศสหนึ่งใน 10 คนเริ่มมีข้อบกพร่องในการรับกลิ่นตั้งแต่อายุ 55 ปี
นั่นคือเป็นสัดส่วนหนึ่งในห้า. ตัวเลขนี้ผันแปรไปตามปัจจัยอื่นๆด้วย เพราะว่าร้อยละ
25 ในหมู่ผู้ชาย มีข้อบกพร่องในการรับกลิ่นตั้งแต่อายุ 55 แต่ในหมู่ผู้หญิงสถิติระบุว่า มีเพียงร้อยละ 15. ฤาสมรรถภาพการรับกลิ่นของคนลดลงตามวัย ตามเพศ ?
ผู้หญิงจมูกดีกว่าผู้ชายหรือ ? (คงมีการยืนยันไว้บ้างในงานวิจัยของเขา
ผู้เขียนไม่อาจแกะรอยตามไปอ่านผลงานวิจัยของเขาทั้งฉบับ. I might need another lifetime!)
การเรียนรู้กลิ่นนั้นยากและใช้เวลามาก ทั้งยังขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคนในโลกของกลิ่น. ประสบการณ์กลิ่นเดียวกัน ในบริบทต่างกัน
ก็อาจทำให้การแปลข้อมูลจากกลิ่นเดียวกันนั้น ต่างกันไปได้. กลิ่นเข้าเป็นส่วนหนึ่งในโลกของอารมณ์ความรู้สึก ประเด็นนี้สำคัญกว่ามาก.
สรุปแล้ว กลิ่นยังคงเป็นปริศนา
มีคำถามที่ต้องการความกระจ่างอีกมากที่นักวิจัยยังตั้งหน้าตั้งตาศึกษาต่อไป.
(cf. Didier Trotier : Neurobiologie de
l'olfaction et de la prise alimentaire. และ Professeur Jérome Golebiowski [เจโรม
โกเลบีโอสกี้] ผู้ศึกษาวิจัยการเชื่อมโยงระหว่างจมูกกับสมอง
และด็อกเตอร์ Claires de March [แกลรฺ
เดอมารชฺ] ด็อกเตอร์ด้านเคมีวิทยา
นักวิจัยทั้งสองศึกษาเรื่องกลิ่นมานานปี จาก Université Nice
Sophia Antipolis [อูนิแวร์สิเต้
นีซโซเฟีย อ็องตี้โปลีซ].จากบทสัมภาษณ์ในรายการ
Télématin วันที่ 4
พฤศจิกายน
2015)
5. บทบาทของกลิ่นในปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน.
บทบาทแรกสุดของน้ำหอมหรือเครื่องหอม คือ ทำให้เทพเจ้าอิ่มอกอิ่มใจ
เพื่อที่เทพเจ้าทั้งหลายจะคิดถึงคนให้, ใจดีกับพวกเขา,
ให้อะไรตามที่พวกเขาขอเป็นต้น. น้ำหอมอยู่กับคนมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์
ตามการพัฒนาการของการดำรงอยู่ของคนในทุกอารยธรรม
และตั้งแต่ยุคทองแดง(เพราะมีหลักฐานยืนยัน) การใช้น้ำหอมเพื่อจุดประสงค์ดังกล่าว เหมือนกันทุกแห่งบนโลก
ทั้งๆที่ชุมชนทั้งหลายไม่มีโอกาสติดต่อหรือพบเห็นกันเลย.
จุดประสงค์แรกนี่เอง
ที่ทำให้เกิดการเผาไม้หอมเพื่อให้เกิดควันที่ลอยขึ้นนำคำสวด คำวิงวอนของพวกเขา ลอยไปสู่สวรรค์
(พวกเขารู้ด้วยสัณชาตญาณว่า เทพเจ้าต้องอยู่เหนือคนขึ้นไป ไม่ได้อยู่ติดดิน). เครื่องหอมจึงเป็นสิ่งที่มีเพื่อให้แก่พระเจ้าหรือเทพเจ้าเท่านั้น.
เป็นเหมือนอาหารที่คนมอบให้. แม้ว่าตะวันออกจะเป็นแหล่งกำเนิดของเครื่องหอม แต่การเซ่นไหว้ด้วยเครื่องหอมมีเหมือนกันในทุกทิศทั่วโลก.
ตัวอย่างในลัทธิความเชื่อของ Gilgamesh ระบุว่า อัตลักษณ์ของพระเจ้าคือการมีกลิ่นหอม
และการมีกลิ่นหอม ทำให้คิดว่าเนื้อหนังมังสาไม่เน่าเปื่อย
ร่างกายมิได้เสื่อมสลายลง จึงเท่ากับการเป็นผู้ไม่รู้ตาย. เครื่องหอมจึงเป็นเครื่องมือไปสู่การไม่รู้ตาย.
ในที่สุดคนก็ต้องการความไม่รู้เน่าเปื่อย ความไม่รู้ตายด้วย. คนจึงต้องการเครื่องหอมเพื่อตัวเองในอันดับต่อมา. เพื่อยกระดับตนเองขึ้นสู่การเป็นเทพ ด้วยการมีกลิ่นหอมเสมอ. อเล็กซานดรามหาราชก็หวังเช่นนั้น
อยากเป็นคนไม่รู้ตาย จึงออกชิงดินแดนที่ผลิตเครื่องหอม.
ในคัมภีร์เก่า ก็ดูเหมือนว่า
กลิ่นหอมนี่แหละที่เป็นต้นเหตุของการทำบาปครั้งแรกของมนุษย์ ซาตาน(ในร่างของงู)
ได้พยายามทุกวิถีทาง ทั้งทางตาสัมผัส ทางกายสัมผัสและด้วยคำพูดหวานๆ เพื่อชักจูงอีฟให้ทำสิ่งที่พระเจ้าห้ามไว้ แต่อีฟไม่ตกหลุมใดๆเลย. ซาตานได้ความคิดใหม่
เขาจุ่มผลไม้ต้องห้ามลงในสารระเหยที่มีกลิ่นหอม. อีฟตกหลุมทันที ด้วยการกัดกินผลไม้ต้องห้ามที่ส่งกลิ่นหอมล่อใจเกินจะทนต่อไปได้.
นั่นจึงเป็นการอุกอาจฝ่าฝืนคำสั่งของพระเจ้าและในที่สุดต้องถูกขับออกจากสวรรค์.
เป็นความตกอับของมนุษยชาติทั้งมวลไปด้วย. ก่อนที่จะกินผลไม้ต้องห้ามนั้น
ชีวิตของอาดัมกับอีฟอยู่ในสวนสวรรค์, นอนบนกลีบดอกไม้, ตื่นในสายลมโชยอ่อนๆ.
ทุกอย่างในสวนสวรรค์ส่งกลิ่นหอมระรวยตลอดเวลา เพราะฉะนั้น สวนสวรรค์อีเด็นจึงเป็นสวนที่มีกลิ่นหอมจรุงใจ
เป็นความกลมเกลียวที่สมบูรณ์ระหว่างจักรวาลกับความเป็นมนุษย์.
ต่อมา กลิ่นถูกนำมาใช้ในการแพทย์
เช่นเมื่อกลิ่นตัวคนเปลี่ยนไปจากปกติ อาจเป็นสิ่งชี้ว่าร่างกายมีโรคหรือติดเชื้ออะไร.
ในศต.ที่ 19 มีการสอน “ศาสตร์ของการจับและวิเคราะห์กลิ่น” (science du
flair) ในคณะแพทย์ศาสตร์
เช่นหมอดมกลิ่นคนไข้ แล้ววินิจฉัยโรคจากกลิ่นว่า อวัยวะภายในร่างกายเป็นอะไรไป
ที่นำไปสู่ต้นเหตุของโรค. นอกจากนี้ กลิ่นยังกระตุ้นให้เกิดความต้องการทางเพศ.
ในเวลาอันรวดเร็ว เครื่องหอมได้สร้างพื้นที่ให้กับจินตนาการเรื่องความรักใคร่
ได้กลายเป็นภาษา เป็นอาวุธของการยั่วยวนให้หลงใหล.
นักปรุงน้ำหอมได้กระตุ้นความฝันหวานแบบนี้ต่อไปอย่างลุ่มลึก. หลังจากที่เคยเป็นสิ่งสุดยอดของพระเจ้าแล้ว เครื่องหอมได้กลายเป็นสิ่งสุดยอดของผู้มีอำนาจ ของเหล่าราชนิกูลทั้งในตะวันออกและตะวันตก.
เครื่องหอมติดตามชีวิตที่หรูหรา ฟุ่มเฟือย ตื่นตาตื่นใจ ชีวิตที่อิสระเสรีโดยเฉพาะทางเพศสัมพันธ์ในศตวรรษที่18.
เครื่องหอมกับความหอม
ได้แทรกเข้าไปในวรรณกรรม เป็นเครื่องมือสื่อสาร
เป็นภาษารักในอารยธรรมของชนหลายชาติเช่นกัน. เรื่องนี้ชัดเจนในคัมภีร์เก่า เช่น บท
Cantiques des Cantiques ของกษัตริย์ซาโลม็อนเป็นบทเพลงรัก ทั้งหอมทั้งหวานทีเดียว. ในกามสูตร
ในพันหนึ่งทิวา ประเด็นของเครื่องหอมและน้ำหอมนั้น เป็นประเด็นถาวรที่ทอเป็นพรมรองรับความรักความเสน่หา.
กลางทศวรรษที่ 1980 ในยุโรป
เป็นยุคอุดมสมบูรณ์ เศรษฐกิจดี เป็นยุคของการโอ้อวดทุกสิ่งบนร่างกาย
ให้เห็นสรรพสิ่งบนกายชัดเจน เพื่อให้คนอื่นตื่นตาตื่นใจและชื่นชมกับรูปร่างและความร่ำรวยของตน.
แฟชั่นยุคนั้นก็ฟู่ฟ่า ร่างกายของสตรีถูกนำออกมาตีแผ่ เผยให้เห็นเด่นชัด,
เน้นคุณสมบัติ, สัดส่วนของรูปร่าง. (นักวิจัยบางคนวิเคราะห์ว่า
แนวโน้มดังกล่าว เป็นรุกรานทางเพศ). เป็นยุคสมัยของเจนฟอนดา
ที่เริ่มออกรายการอาหารที่มีประโยชน์ที่ไม่ทำให้อ้วน
กระตุ้นให้ออกกำลังกายในห้องยิม เพื่อพัฒนาสัดส่วนและความกระปรี้กระเปร่า. ในสังคม
คนเสนอภาพผู้หญิงที่เป็น “ผู้ยั่วยวน” เน้นคุณสมบัติทั้งหลายของความเป็นผู้หญิง
เพื่อยั่วยวนชายให้หลงใหล เพื่อสยบผู้ชายอย่างแท้จริง.
(ในแง่หนึ่ง
การปรนเปรอเครื่องหอมแก่ทวยเทพหรือพระเจ้า ก็เป็นการยั่วยวนแบบหนึ่ง หรือมิใช่
?) ความเป็นผู้หญิงยังต้องมีประกายเรืองรองของความลึกล้ำทางปัญญาด้วย.
พวกเธอต้องการยกระดับขึ้นเสมอผู้ชาย ต้องการยืนยันความเป็นตัวของตัวเอง.
แน่นอนในสายตาของผู้ชาย ผู้หญิงยุคนั้นเป็นแบบ “ผู้หญิงและยาพิษ”
พร้อมกันในตัวเธอ. การยั่วยวนเป็นดาบสองคม อาจนำความรักความหวานชื่นมาให้
และก็อาจนำความทุกข์จนถึงความตายมาสู่ เพราะความรักความหลงทำให้คนฆ่ากันได้.
น่าสนใจที่ในปี 1985 Dior ได้ผลิตน้ำหอมชื่อ Poison (แปลว่า ยาพิษ) ที่ท้าทายผู้ใช้และผู้หลงใหลมัน. Dior ยังคงผลิตน้ำหอมในชุดนี้อย่างต่อเนื่อง อาจเป็นเพราะความต้องการยั่วยวน
(ที่คนมักคิดว่าเป็นพฤติกรรมของผู้หญิงเท่านั้น) ไม่มีวันสิ้นสุด จากปีแรกที่ผลิตออกมา
(1985) จนถึงปีนี้ (2016).
อย่างไรก็ดี ยังไม่มีผู้ใดประนามว่า
น้ำหอมเป็นสิ่งเลวร้าย ที่นำไปสู่ความเสื่อมในศีลธรรมและจริยธรรม
ทั้งๆที่ทุกคนยอมรับกันว่า น้ำหอมมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นความต้องการทางเพศ.
ปรัชญาไม่เคยยอมรับว่ากลิ่นสัมผัสนั้น
อาจนำไปสู่การสร้างสรรค์อะไรที่เป็นศิลปะได้ เช่นเปลโตเคยบอกให้ระมัดระวังตัว
อย่าได้ไว้ใจกลิ่นหอมใดๆ. หรือในศต.ที่ 18 คนคิดกันว่า การรับรู้กลิ่นคือการสูญเสียอิสรภาพแบบหนึ่ง เพราะเราไม่อาจลบกลิ่นออก (เช่นกลิ่นประจำตัวของคนหนึ่ง)
หรือหลีกเลี่ยงมันได้มากนัก (เช่นกลิ่นของคนที่อยู่ด้วย). การรับรู้กลิ่นจึงเป็นประสาทสัมผัสที่ครอบงำเรา.
เราอาจหลีกเลี่ยงการถูกเนื้อต้องตัวคนที่เราไม่ชอบ, เราอาจปิดตาไม่มอง,
หรืออุดหูไม่ฟัง, แต่ยากที่เราจะหลีกเลี่ยงกลิ่นที่อยู่รอบข้างเรา. เราอาจยอมรับคนๆหนึ่งที่แต่งตัวไม่ดีแต่ยังสะอาด แต่เราไม่ยอมทนกลิ่นเหม็นๆของผู้ใด.
การใช้น้ำหอมจึงเป็นมารยาทสังคมแบบหนึ่ง และนำไปสู่การจัดพื้นที่ห่างระหว่างบุคคลในยามที่ต้องอยู่ใกล้กันในโอกาสต่างๆ. การใช้พัดก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการขับไล่กลิ่นไม่ดีที่เข้ามาใกล้ตัวเป็นต้น.
การรับรู้กลิ่นจึงเป็นเรื่องที่น่าหวาดหวั่น
ในขณะเดียวกันก็ดึงดูดคน เพราะเป็นประสาทที่เชื่อมกับสัณชาตญาณจึงไปกระตุ้นธรรมชาติความเป็นสัตว์ในตัวเรา
(ที่สืบทอดมาจากวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต และแม้ว่าวันเวลาจะผ่านไปหลายร้อยหลายพันล้านปี
ในคนยังมีธรรมชาติของสัตว์แอบแฝงอยู่ในส่วนลึกโดยที่เราไม่รู้ตัว). หัวข้อนี้ปรากฏเป็นเนื้อหาหนึ่งในวรรณกรรมวิทยาศาสตร์
ในนวนิยายต่างๆ. มีเรื่องเกี่ยวกับกลิ่นรวมอยู่ด้วยเสมอ. Casanova [ก๊ะศะนอหวะ] (1725-1789, ชาวอิตาเลียนผู้ขึ้นชื่อลือนามว่าเป็นเสือผู้หญิง) เล่าว่า
บรรดาผู้หญิงที่เขานอนด้วยนั้น หากเธอคนไหนมีกลิ่นตัวรุนแรงมาก
เธอคนนั้นก็ยิ่งฮึกเหิมยอมตนให้เขาทุกอย่างด้วยความคึกคะนอง. หรือเรื่องที่เล่ากันในวังว่า พระเจ้า Henri IV ชอบกลิ่นตัวรุนแรงของ Gabrielle d’Estrée และสั่งให้เธออย่าอาบน้ำวันที่พระองค์จะไปหาเธอ.
Alfred Binet (1857-1911, นักจิตวิทยาชาวฝรั่งเศส
ได้ชื่อว่าเป็นคนแรกที่คิดสร้างระบบทดสอบภูมิปัญญาของคน.
ทฤษฎีของเขามีอิทธิพลต่อวิวัฒนาการด้านจิตวิเคราะห์อย่างมากและวางพื้นฐานของระบบการตรวจวัด
IQ ในปัจจุบัน) ได้วิเคราะห์พฤติกรรมของชนชั้นสูงในศตวรรษที่ 19 ว่า กลิ่นตัวของหญิงชาวบ้าน หรือชนชั้นต่ำ
หรือสาวใช้ในวังของเจ้านายทั้งหลาย เป็นเหตุจูงใจสำคัญที่ทำให้บรรดาเจ้านายชายร่วมสังวาสกับพวกเธอ.
นายแพทย์ Gallopin แห่งสถาบันการแพทย์ของปารีสกล่าวว่า
การนำเรื่องกลิ่นมาสำรวจพฤติกรรมทางเพศและทางจริยธรรมนั้น
เป็นเรื่องผิดและบิดเบือนความจริง. อย่างไรก็ดี เขาเตือนให้ผู้หญิงระมัดระวังการใช้น้ำหอม
โดยเฉพาะน้ำหอมสังเคราะห์ ว่ามันรุนแรง จนอาจทำให้ผู้หญิงเป็นหมันได้ ! ตัวอย่างที่ยกมากล่าวนี้ ยังถกวาทะกันไม่รู้จบ และชี้ให้เห็นว่า
คนยังไม่ไว้ใจเรื่องกลิ่นนัก เพราะคนไม่สามารถควบคุมการรับรู้กลิ่น
ไม่สามารถเข้าไปสั่งหรือควบคุมประสาทสัมผัสทางจมูกได้.
ในความเป็นจริง ในสังคมมนุษย์
กลิ่นหรือน้ำหอมไม่มีบทบาทเข้นข้นถึงเพียงนั้น
เป็นจินตนาการฝันเฟื่องที่เกินความเป็นจริงมากนัก. หากกลิ่นมีอิทธิพลลับๆต่อการตื่นตัวทางเพศ
ความตื่นตัวนี้ถูกกลบด้วยวัฒนธรรม ด้วยค่านิยม ด้วยมารยาทในสังคม. นับว่าโชคดีมาก
มิฉะนั้นสังคมคนคงยุ่งวุ่นวายกว่านี้มาก. นักวิทยาศาสตร์เคยระบุว่า pheromone
ของคนไม่เหมือนกับของสัตว์ ว่ามันไม่ส่งผลกระทบโดยตรงกับพฤติกรรมเพศสัมพันธ์ในคน
ว่ามันไม่กระตุ้นปฏิกิริยาในตัวคน ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความต้องการทางเพศในคน.
ถึงกระนั้นกลิ่นก็ยังคงเป็นตัวการที่กระตุ้นให้เกิดความใคร่
แม้ว่ามันจะไม่ได้เป็นผู้สั่งให้ร่วมเพศ. งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์เพื่อดูปฏิกิริยาของผู้หญิงที่มีต่อกลิ่นผู้ชาย
พิสูจน์ให้เห็นเป็นประจักษ์ว่า ผู้หญิง(ชาวยุโรป)โดยปกติมักเดินไปนั่งในที่ๆได้ฉีดกลิ่นฮอร์โมนเพศชายไว้.
นี่เป็นความจริงที่ทำให้คนหวั่นไหว.
เท่ากับยืนยันอยู่ดีว่า กลิ่นยังคงเป็นประเด็นสำคัญในการดึงดูดเพศตรงข้าม. ในทางกลับกัน
หากใครมีกลิ่นผิดปกติที่ไม่สบอารมณ์คนต่างเพศ
ก็เท่ากับการผลักไสคนต่างเพศออกไป.
ความดึงดูดทางเพศ
มิได้เกิดจากการใช้น้ำหอมเท่านั้น
มันเป็นเรื่องของการมาพบกันระหว่างกลิ่นกับคน เป็นปฏิกิริยาอัลเคมีบนผิวหนังของคน,
ชายหรือหญิง. Jean
Giono, 1895-1970, นักประพันธ์ เคยเขียนไว้ว่า
le parfum c’est l’odeur plus l’homme แปลได้ว่า น้ำหอมคือกลิ่นบวกกับบุคลิกภาพของคนใช้. กลิ่นหอมจึงไม่ใช่เรื่องของกลิ่นเท่านั้น.
มีน้ำหอมที่คนใช้ได้ดีและน้ำหอมที่บางคนใช้ไม่ได้.
ผิวหนังของเราเป็นอัตลักษณ์ของเรา
เป็นพาหะที่นำเราติดต่อกับโลกภายนอกร่างกาย. ผิวหนังคนอุ่นๆตามอุณหภูมิของคน เมื่อฉีดน้ำหอมลงที่ผิวหลัง น้ำหอมอุ่นขึ้น ไปกระตุ้นให้น้ำหอมนั้นกระจายกลิ่นออก.
หลายคนคิดว่า มีน้ำหอมชนิดที่กระตุ้นความรู้สึก
ที่ให้กลิ่นยั่วยวนชนิดรั้งไม่อยู่. ในความจริงในคืนที่คุณมีความสุขกับคนรักมากที่สุด
คนรักใช้น้ำหอมอะไรนั้น น้ำหอมนั่นแหละสำหรับคุณจะผนึกความสุขที่เคยมีกับคนรักไว้
แม้ว่าน้ำหอมที่เธอใช้ในคืนนั้น มิใช่น้ำหอมที่อยู่ในตระกูลยั่วยวนที่สุดในหมู่น้ำหอมก็ตาม.
แต่มันก็จริงที่ในบรรดาน้ำหอมทั้งหลาย ที่ปรุงจากวัตถุดิบพื้นฐานกลุ่มต่างๆ น้ำหอมที่ปรุงผสมมาจากกลุ่มกลิ่นสัตว์(ที่ช่วยตรึงความหอมให้คงทนนานกว่า)
เช่นกลิ่น ambergris-สารหลั่งจากปลาวาฬ,
กลิ่นชะมดเช็ด, จากพืช patchouli และ amber ให้กลิ่นหอมรัญจวนใจยิ่งและโดดเด่นมาก นอกจากนี้น้ำหอมรุ่นแรกๆจากตะวันออก โยงไปถึงความกระสันสวาทในบริบทของตะวันออกกลางอย่างเฉพาะเจาะจงเป็นต้น. ตัวอย่างน้ำหอมที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อจุดมุ่งหมายของเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะคือ
Power Power ของ Oriflamme
ที่ออกสู่ตลาดตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970.
จากตัวอย่างต่างๆที่ยกมาข้างต้น
เรายังคงสรุปได้ว่า ในปฏิสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งใกล้ชิดระหว่างคนสองคน กลิ่นเป็นอาวุธชนิดหนึ่ง
และแน่นอนต้องเจาะจงด้วยว่า น้ำหอมเป็นอาวุธชนิดหนึ่งที่ไร้เทียมทาน. ในที่สุด เครื่องหอมเป็นอาวุธธุรกิจแบบหนึ่ง.
คงมีอีกหลายประเด็นที่คนค่อยๆเรียนรู้จากประสบการณ์แบบต่างๆ.
แต่ละประสบการณ์ในชีวิต มีกลิ่นเฉพาะในแต่ละเหตุการณ์ ในสภาพแวดล้อมแต่ละแบบ.
cf.* Le plaisir du parfum , entretien avec Elisabeth de Feydeau sur France
Culture, diffusé au 26 août 2013.
** Elisabeth de
Feydeau, Les parfums, histoire, anthologie,
dictionnaire. Chez Robert Laffont Bouquins, 2011.
โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ รายงาน ณ วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์
๒๕๕๙...
No comments:
Post a Comment