Saturday, 6 February 2016

เมืองเล็กหอมฟุ้งชื่อกร๊าสในฝรั่งเศส - Grasse the scented town

เมืองเล็กหอมฟุ้งชื่อกร๊าสในฝรั่งเศส
Grasse [กร๊าสฺ] ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของน้ำหอม อยู่ในภาคใต้ของประเทศฝรั่งเศส ในเขต Provence-Alps-Côte d’Azur [โพฺรว้องซฺ-อัลฺปสฺ-โก้ตดาซูรฺ].  หลักฐานเก่าแก่ที่สุด มาจากจารึกในยุคหินใหม่ (Neolithic, ประมาณ 11,700 ปีก่อนตามข้อมูลของ Britannica และสิ้นสุดลงระหว่าง 4,500-2000 ก่อนคริสต์กาล) ว่ามีคนอาศัยอยู่บนดินแดนถิ่นเมือง Grasse นี้แล้ว ที่รู้อย่างชัดเจนคือชนชาว Ligures ชาวกรีกแล้วตามด้วยชาวโรมัน. ชนชาติต่างๆถูกขับไล่เมื่อมีผู้เข้ายึดครองที่มีกำลังมากกว่า  เมืองกร๊าสจึงผ่านมือของหลายชนชาติหลายแคว้นอิสระที่กระจายอยู่บนแผ่นดินฝรั่งเศสและอิตาลีในต้นยุคกลาง รวมทั้งชาวอาหรับที่เริ่มเข้าไปรุกรานดินแดนยุโรป. ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ชาวเมืองต่อต้านผู้บุกรุกกันอย่างสุดกำลัง ไม่ยอมจำนนต่อการปกครองแบบศักดินา.  การยื้อแย่งชิงเมืองยังคงมีต่อมา.
     ในปี 1171และปี 1179  เมือง Grasse ได้เซ็นสนธิสัญญาทางการเมืองและการค้ากับอาณาจักร Genoa และอาณาจักร Pisa บนคาบสมุทรอิตาลี เพื่อการส่งออกผ้า เครื่องหนัง ข้าวสาลี ชิ้นส่วนหนังดิบ ชิ้นส่วนหนังที่ฟอกแล้ว ไวน์ และปศุสัตว์.  ในยุคนั้นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเครื่องหนัง (la tannerie) ขึ้นหน้าขึ้นตาที่สุด เป็นหัวใจของธุรกิจการค้าของเมือง. อุตสาหกรรมเครื่องหนังเจริญรุ่งเรืองอย่างต่อเนื่องไปถึงศตวรรษที่ 17 เมื่อธุรกิจการค้าเบนไปสู่การผลิตเครื่องหอมมากขึ้นๆ.
      ความสำคัญทางเศรษฐกิจของเมือง Grasse ทำให้ผู้ครองดินแดนแถบ Provence สนใจยิ่ง  จนในที่สุดเขาผนวกเมือง Grasse เข้าเป็นส่วนหนึ่งในดินแดนของโพรว็องซ์ และเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชาวเมือง ได้ให้อภิสิทธิ์ต่างๆแก่ชาวเมือง. 
      ศตวรรษที่17 เป็นยุคเริ่มต้นของอุตสาหกรรมผลิตถุงมืออบน้ำหอม. คฤหาสน์จำนวนมากสร้างขึ้นในยุคนั้นสำหรับชนชั้นสูงในดินแดนโพรว็องซ์.  เมื่อมีการแบ่งประเทศฝรั่งเศสเป็น 83 จังหวัด (เรียก départment ในภาษาฝรั่งเศส) ตามรัฐธรรมนูญเดือนมกราคมปี1790 นั้น เมือง Grasse กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Département de Var (จังหวัดวาร์) และเป็นที่ตั้งของศาลาเทศบาลจังหวัดวาร์ระหว่างปี 1793-1795. 
      เมืองกร๊าสยึดหลักการว่า ให้ฉวยโอกาสดีๆที่ผ่านเข้ามา เพื่อทำให้กิจการค้าเจริญรุ่งเรืองอย่างไม่ติดขัด.  เคยมีเครื่องกีโยตินตั้งเป็นประจักษ์อยู่กลางเมือง ที่เคยใช้ตัดหัว “ศัตรูของประชาชน” มาแล้วสามสิบคน. ชาวเมือง Grasse เองจำนวนมากถูกจับขังคุกเพราะแสดงตนเป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิวัติฝรั่งเศส. 
        ศตวรรษที่ 19 การพัฒนาการทำน้ำหอมและเครื่องหอม ทำให้เมืองกร๊าสเจริญมั่งคั่งมาก  จน ขึ้นชื่อลือนามว่าเป็น “เมืองหลวงของน้ำหอม”.  เป็นยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เข้าไปพัฒนาเทคนิคการผลิตเครื่องหอมอย่างก้าวกระโดด. โรงงานขนาดใหญ่ๆก่อร่างสร้างตัวขึ้นในปริมณฑลของเมืองกร๊าส.  ชาวต่างชาติผู้ร่ำรวยไปสร้างวิลลาหรูหราที่นั่น.  เมือง Grasse จึงขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองคนรวย.  ตั้งแต่ปี 1860 อาณาเขตของเมือง Grasse ถูกย้ายไปสังกัด départment des Alpes-Maritimes (จังหวัดอัลปส์มารีติม).
        ในศตวรรษที่ 20 เมือง Grasse ยังมีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยว ส่วนอุตสาหกรรมเครื่องหอมทั้งหลายนั้นก็วิวัฒน์ไปตามยุคสมัยใหม่อย่างคล่องตัว.  

เชิญเดินชมมุมต่างๆของเมืองกร๊าส. เมืองเล็กๆต่างจังหวัดในฝรั่งเศส มักเป็นเช่นนี้ เป็นที่ชื่นชอบของชาวยุโรปชาติอื่นๆ ที่มักไปฝรั่งเศสในหน้าร้อน ไปรับแสงแดด กินอาหารฝรั่งเศส. ตามต่างจังหวัด ไม่ต้องไปถึงภัตตาคารติดดาวของ Michelin [มิเชอแล็ง] ก็หาอาหารอร่อยๆทานได้เสมอ. นี่เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวยุโรปตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา. อาหารในแต่ละถิ่นมีเอกลักษณ์พิเศษของถิ่น ใช้ผลิตภัณฑ์พืชผลในท้องถิ่น.  อาคารบ้านเรือนบอกให้รู้ประวัติศาสตร์การเข้าไปของชนชาติต่างๆที่ทิ้งร่องรอยของพวกเขาไว้ โดยเฉพาะด้านสถาปัตยกรรม.


อาคารสีเหลืองๆที่เห็นในภาพคือที่ตั้งของ Musée International de la Parfumerie.
ส่วนประติมากรรมรูปดอกไม้แบบง่ายๆ ที่เตือนให้รู้ว่า
ตระกูลนี้ได้เข้าร่วมในการพัฒนาเทคนิคและธุรกิจการปรุงน้ำหอมของเมืองนี้.
ประติมากรรมตรงกลางภาพ คืออนุสาวรีย์ Jean-Honoré Fragonard [ฌ็อง โอโนเร่ ฟราโกนารฺ] จิตรกรฝรั่งเศส (1732-1806) ผู้เกิดที่เมืองนี้ ตระกูล Fragonard เป็นตระกูลนักปรุงน้ำหอมสำคัญของเมืองคนหนึ่ง
อาคารสีเหลืองที่เห็นในภาพข้างบน คือ Villa Musée Fragonard  
เดิมเป็นวิลลาของครอบครัว Fragonard และปรับปรุงมาเป็นพิพิธภัณฑ์
ที่ให้ความรู้และภาพชัดเจนเกี่ยวกับความเป็นอยู่และชีวิตสังคมในยุคนั้น 
รวมทั้งมีภาพจิตรกรรมของ J-H Fragonard ที่เป็นคอเล็กชั่นของตระกูลด้วย 
 เมืองกร๊าสตั้งบนเนินเขาสูง พื้นที่ของเมืองจึงต่างระดับกัน มีบันไดใหญ่เล็กขึ้นๆลง
เป็นเสน่ห์ของเมืองต่างจังหวัดในภาคใต้ของฝรั่งเศส
 การบริหารจัดการพื้นที่ แสดงค่านิยมทางสุนทรีย์ของเจ้าของสถานที่และของชาวเมืองโดยรวม
 สวนกลางเมือง
 
 ทัศนียภาพของเมือง มองจากที่สูง
ดาดฟ้าของอาคารที่ปรับปรุงใช้เป็นสวนปลูกพืชผักต่างๆได้
 บ้านเรือนส่วนใหญ่ในภาคใต้ของฝรั่งเศส เป็นสีอิฐสีส้มๆ หลังคาก็ปูด้วยกระเบื้องดินเผาสีอิฐ 
กระเบื้องแบบนี้เป็นประดิษฐ์ภัณฑ์ของฝรั่งเศสที่ขึ้นทะเบียนลิขสิทธิ์ไว้  
(toits couverts de tuiles en terre cuite) 
และนี่ก็เป็นอีกเอกลักษณ์หนึ่งของบ้านเรือนตามสถาปัตยกรรมศตวรรษก่อนๆ
บนดินแดนรอบทะเลเมดิเตอเรเนียน 

อาคารสำคัญของเมืองที่ใช้เป็นศูนย์ประชุมใหญ่ (Palais des Congrès [ป๊าแล เด กงแกฺร])
ประติมากรรมตรงหน้าอาคารหอประชุมใหญ่ เป็นรูปดอกไม้ 
เตือนให้นึกถึงความสำคัญของดอกไม้ในวิถีชีวิตของชาวเมืองกร๊าส



 เมื่ออากาศดี ร้านอาหารต่างนำโต๊ะเก้าอี้ออกวางหน้าร้าน บนถนนคนเดิน
ร้านขายของก็นำสินค้าออกมาวางโชว์

 มุมนี้ของเมือง บอกให้รู้ว่า เมื่อก่อนเคยเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่โบสถ์หลังใหญ่ทีเดียว
เพราะบนพื้นมีการทำสวนวงกต – labyrinth ไว้ด้วยหินอ่อนสลับสีอย่างสวยงาม



 ถนนเล็กๆหรือตรอกซอกซอย  แต่ละห้องแต่ละบ้าน  มีหน้าร้านหรือหน้าบ้าน
เป็นพื้นที่ค้าขายเล็กๆน้อยๆ
ร้านขายของเก่าหรือของผลิตใหม่ที่เอาแบบจากของเก่า สำหรับผู้ที่ยังหลงใหลของโบราณ
ไม่ว่าจะเป็นแผ่นป้ายดีไซนแบบเก่า หรือตราเครื่องหมายการค้ายุคเก่าของเมือง
รวมทั้งแผ่นโฆษณาไวน์ของถิ่นต่างๆเป็นต้น
 และแน่นอนมีร้านขายไวน์ในทุกเมืองของฝรั่งเศส
ร้านขายสบู่และเครื่องหอมสำหรับบ้าน
และนี่เป็นร้านขายน้ำหอมและเครื่องสำอาง Maison Fragonard

เอกลักษณ์หนึ่งที่ขาดไม่ได้ในแถบนี้ คือภาพของดอกไม้สีเหลืองอร่ามที่ประกาศว่าฤดูใบไม้ผลิมาถึงแล้ว.  Mimosa เป็นดอกไม้เริ่มแรกของปี เริ่มต้นผลิดอกตูมๆแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคมจนถึงมีนาคม เพราะดินแดนภาคใต้ของฝรั่งเศสอบอุ่นกว่าภาคใด โดยปริยายจึงเป็นภาพลักษณ์ของดวงอาทิตย์ผู้มีชัยเหนือความหนาวเย็น. 
         ในภาษาดอกไม้ mimosa โยงไปถึงการแอบรักแอบชอบใคร โดยที่ไม่มีใครรู้ หรืออาจเป็นความรักที่แน่วแน่ รุนแรงไม่ยอมถอย. ดอกไม้นี้มีสีเหลืองเหมือนทองสุกปลั่ง เหมือนดวงอาทิตย์ด้วย  จึงอาจหมายถึงชีวิตที่รุ่งเรืองและมีชัย  ตามลักษณะเนื้อไม้ที่แข็งทนทานของ mimosa    
       Mimosa [มี้โมศะ] ชื่อสามัญในภาษาตะวันตก ชื่ออื่นๆในภาษาอังกฤษเช่น thorntree, wattle, silk tree.   เป็นพืชในวงศ์ Mimosaceae, สกุล Acacia. หลายชนิดจัดอยู่ในสกุลที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mimosa pudica.  คำ pudica เจาะจงบุคลิกขี้เขินขี้อายของมัน ที่พอถูกแตะ ก็หุบใบลงทันที.  มีดอกสีชมพูอ่อนๆ ม่วงอ่อนๆ จนถึงสีแดงเข้ม.  บางชนิดมองแว็บแรกอาจนึกว่าเป็นดอกจามจุรี แต่เป็นคนละสายพันธุ์กัน  ดอกจามจุรีดอกใหญ่กว่า.  สกุลนี้มีประมาณ 400 สายพันธุ์  วงศ์นี้มีทั้งที่เป็นหญ้า(พืชคลุมดิน เช่นไมยราบ) ไม้พุ่มและไม้ต้น.


      ส่วนต้น Mimosa [มื้โมศะ] ที่ขึ้นบนดินแดน Côte d’Azur [โก๊ดเตอะ ดาซูล] และกลายเป็นสัญลักษณ์ของดินแดนแถบนั้นในภาคใต้ของฝรั่งเศส ก็มีหลายชนิดทั้งที่เป็นไม้พุ่มและไม้ต้นที่อาจสูงถึงสิบเมตร (ที่ออสเตรเลียอันเป็นประเทศบ้านเกิดของ mimosa  สูงได้ถึง 30 เมตร).  สายพันธุ์นี้ออกดอกในระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม แล้วแต่ชนิดและอนุภูมิอากาศ.  มีชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า mimosa des quatre saisons (mimosa พันธุ์สี่ฤดู) ออกดอกทั้งปี แทบจะไม่มีใบเลย.  สายพันธุ์ที่งามที่สุดและเป็นที่ชื่นชอบกันมากคือชนิด Acacia deabalta มีสมญานามว่า “Le Gaulois” (ชาวโกล ที่เป็นชื่อบรรพบุรุษของชาวฝรั่งเศส) เป็นไม้พุ่มสูง 4-6 เมตร ที่ออกดอกงดงามพิศดารกว่าชนิดอื่นใด. 
         ดั้งเดิมมาจากทวีปออสเตรเลีย ที่เรียกกันสามัญว่า Australian acacia tree ดอกสีเหลือง. ดอกเล็กๆที่เห็นหนึ่งดอกนั้น ความจริงเป็นดอกแบบช่อกระจุกแน่น.  กัปตัน Cook ได้นำเข้าสู่ทวีปยุโรปและเริ่มปลูกกันแล้วในแถบ Côte d’Azur [โก๊ต ดาซูรฺ] ตั้งแต่ปี 1850.  เล่ากันว่าเป็นที่ตื่นตาตื่นใจกันมากเมื่อดอกไม้นี้ปรากฏให้เห็นบนเนินเขา La Croix des Gardes ที่เมือง Cannes [กาน] ในราวปี 1880.  ต้น mimosa เจริญงอกงามดีมาก และแพร่พันธุ์รวดเร็วตามธรรมชาติจนแผ่กระจายทั่วไปในภาคใต้ของฝรั่งเศส.  เป็นพันธุ์ไม้ที่ชอบดินเปรี้ยวเป็นกรด ดินแห้งปนหินที่น้ำไหลผ่านสะดวก ไม่ชอบดินอุ้มน้ำหรือที่ชื้นแฉะ. ประมาณกันว่าน่าจะมีถึง 1200 สายพันธุ์ ในจำนวนนี้ 800 สายพันธุ์ขึ้นทะเบียนแน่นอนแล้ว.  ดอก Mimosa มีส่วนอย่างมากในพัฒนาการของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางที่เมืองกร๊าส และลำพังดอกไม้เองก็กลายเป็นสินค้าส่งออกที่ขึ้นหน้าขึ้นตาของฝรั่งเศสอย่างหนึ่ง.
         ต้น Mimosa เป็นต้นยึดดินและทราย ทำให้เหมาะกับการปลูกเป็นแนวกั้นลม เป็นรั้วบ้าน. ดอกไม้ก็นำมาประดับตกแต่งบ้าน ทำให้ภายในบ้านหอมหวน.  ในแดน Côte d’Azur คนนำดอกมาสกัดเป็นน้ำมันระเหยมาเกือบสองศตวรรษแล้ว.   
        ชาวฝรั่งเศสค้นพบว่าดอก mimosa ประกอบด้วยโมเลกุลที่แตกต่างกันเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้ มีโมเลกุลบางชนิดเท่านั้นที่เป็นต้นกำเนิดของกลิ่นหอมของ mimosa (เช่นโมเลกุลตัวที่ประกอบด้วยกรด heptanoic acid).  กลิ่นดอก mimosa นี้คล้ายกับกลิ่นดอกไวโอเล็ตมาก (violet) แต่หอมประณีตกว่า, เบากว่าและมีกลิ่นเขียวๆปน.  อย่างไรก็ดี นักปรุงน้ำหอมมักใช้น้ำมันหอมจากดอกไวโอเล็ตไปแทนน้ำมันสกัดของดอก mimosa (อาจเพราะถูกว่า หรือหาง่ายกว่า ไม่รู้แน่ชัด).  สายพันธุ์ที่นำไปใช้ในการปรุงน้ำหอมนั้นส่วนใหญ่คือ Acacia farnesiena แต่ต่อมาหันไปนิยมใช้ต้น mimosa ที่ขึ้นเองในธรรมชาติแทน. น้ำหอมที่ใช้น้ำมันสกัดจากดอก mimosa ที่รู้จักกันแพร่หลาย เช่น น้ำหอมที่ชื่อ Amariage [อามาริอ๊าจฺ] ของบริษัท Parfums Givenchy [ปารฺเฟิง จีว็องชี่],  น้ำหอมที่ชื่อ Paris [ปารี] ของ Yves Saint Laurent [อีฟ แซ็ง โลร็อง], น้ำหอมที่ชื่อ Champs Elysées [ช็องเซลิเซ่] ของ Guerlain [แกรฺแล็ง], หรือน้ำหอมที่ชื่อ Moment Suprême [โมม็อง ซูแพรม] ของ Jean Patou [ฌ็อง ปาตู]. ยังมีน้ำหอมชื่ออื่นๆอีกของผู้ผลิตคนอื่นๆอีกที่ใช้น้ำมันหอมจากดอก mimosa เป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่ง.


เทือกเขา Massif de Tanneron

         ดินแดนแถบ Côte d’Azur เป็นดินแดนปลูกไม้ดอก ไม้พุ่ม ไม้ต้นหลากหลายชนิดที่คนนำมาสกัดทำเครื่องหอมต่างๆ  มีธุรกิจการค้าที่เกี่ยวกับดอกไม้และเครื่องหอม. เส้นทางที่เชื่อมเมืองเหล่านี้ ได้กลายเป็นเส้นทางพิเศษที่ตั้งชื่อเรียกว่า la Route du Mimosa [ลา รุตฺ ดู มี้โมศะ] เป็นเส้นทางรวมกว่า 130 กิโลเมตร. ผ่านเมืองแปดเมือง ดังที่เห็นในแผนที่ข้างล่างนี้.


จากเมือง Bormes-les-Mimosas [บอรฺเหมอะ-เล-มี้โมศะ] ที่อยู่ทางใต้สุด(บนแผนที่นี้)ที่เป็นเมืองหลวงของดอก Mimosa ไปยังเมือง Rayol-Canadel-sur-mer [ราย่อล-กานาเด็ล-ซูรฺ-แมรฺ],  Sainte-Maxime [แซ็งเตอะ มักซิม], Saint-Raphaël [แซ็ง ราฟาแอ็ล], Mandelieu-la-Napoule [ม็องเดอะลีเอ้อะ-ลา-นาปูลฺ], Tanneron [ตานเหนอะร่ง], Pégomas [เปโกมาส], และไปจบลงที่เมือง Grasse [กร๊าส]. ดังเห็นในแผนที่ข้างบนนี้  มีชุมชนสี่เมืองที่ตั้งติดชายฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียนเลย ที่เป็นสถานตากอากาศมุมสงบเปี่ยมสุขของชาวเมืองและของผู้ไปเยือน. อีกสี่เมืองก็มิได้ไกลจากทะเลนักเพราะตั้งบนเนินที่ราบสูงหรือบนเนินสูงที่แลเห็นทัศนียภาพไปไกล. เส้นทางดอก Mimosa นี้จึงเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่งดงามและหอมตลบ เป็นเสน่ห์สุดวิเศษของแดน Côte d’Azur ที่ไม่มีที่ใดเหมือนในฝรั่งเศส โดย
เฉพาะในยามที่ภาคอื่นๆของฝรั่งเศสยังคงอากาศหนาวเย็น ที่นั่นเป็นสวรรค์ แดดอุ่นๆและดอกไม้เริ่มผลิแล้ว.  ตามไปดูรายละเอียดเส้นทางของ Mimosa ได้ที่นี่ >>

บนเส้นทางนี้ ชุมชนเมือง Bormes-les-Mimosas [บอรฺเหมอะ-เล-มี้โมศะ] ยังคงมีหน้าตาของบ้านเรือนในยุคศตวรรษที่ 12  ขึ้นชื่อว่าเป็นหมู่บ้านที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศโดยเฉพาะในยามดอกไม้บานสะพรั่ง. ที่นั่นมีพืชพรรณหายากหลากสายพันธุ์ไม่ต่ำกว่า 700 ชนิด. ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม จะเห็นเป็นแนวยาวของทุ่ง bouton-d’or (buttercup ในภาษาอังกฤษ ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ranunculus) ที่เป็นเหมือนผ้าพันคอผืนยาวสีสวยระรวยกลิ่นที่พันโอบทั้งหมู่บ้านไว้  และยังเป็นเมืองหลวงของดอก Mimosa ในจังหวัด Var [วารฺ]  มี mimosa ไม่ต่ำกว่า 90 สายพันธุ์ (ไม่ไกลจากที่นั่น เป็นหมู่บ้านชายทะเล บนฝั่งหาดทรายขาวตัดกับสีน้ำเงินเข้มของน้ำทะเลที่ส่องประกายระยิบระยับราวแก้วผลึกในแสงแดดอุ่นๆ.  ชุมชนเมือง Mandelieu-la-Napoule [ม็องเดอะลีเอ้อะ-ลา-นาปูลฺ] ที่อยู่ในเขตจังหวัด Alpes-Maritimes เป็นอู่ทองของการเพาะปลูกต้น Mimosa ตั้งอยู่ปลายเนินเทือกเขาสูง (le Massif de Tanneron) ที่ปกป้องผืนป่าไม้ต้น Mimosaที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป. ชุมชนนี้เองเป็นผู้ริเริ่มจัดเทศกาลดอก Mimosa ตั้งแต่ปี 1931 ต่อมาชุมชนอื่นก็ทำตามหรือร่วมมือกันจัด.  ที่ชุมชนเมือง Tanneron [ตานเหนอะรง] กระท่อมชาวนา 22 แห่งตั้งบนเทือกเขาชื่อเดียวกันนี้ ประกอบด้วยพื้นป่าต้น Mimosa ทั้งขึ้นเองและที่นำไปเพาะปลูก รวมเป็นพื้นที่ป่าสีเหลืองที่จุดประกายสว่างไสวให้ทั้งผืนป่าพร้อมกลิ่นระรวยยั่วยวนใจที่สะกดผู้คนให้เคลิบเคลิ้ม.  ส่วนที่ชุมชนเมือง Pégomas ต้น Mimosa ขึ้นตามไหล่เขา  พบ Mimosa 11 สายพันธุ์ที่แตกต่างกันในสวนที่นั่น.  ปลายทางไปสุดที่เมืองกร๊าส เมืองหลวงของน้ำหอมของโลก.  กร๊าสยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น Ville d’art et d’histoire (เมืองแห่งศิลปะและประวัติศาสตร์) ของประเทศฝรั่งเศส.
       ทุกปีในเทศกาลฉลองการผลิบานของดอก Mimosa (Fête de Mimosa) ชุมชนทั้งแปดนี้จัดกิจกรรมฉลองที่ดึงดูดชาวฝรั่งเศสจากจังหวัดอื่นๆ  อยู่ในช่วงเดือนมกราคมและเดือนมีนาคม โดยมีเดือนกุมภาพันธ์เป็นเดือนที่คึกคักที่สุดเพราะดอกไม้กำลังบานแข่งกันตลอดเส้นทางสายดอก Mimosa ที่กล่าวมาข้างต้น.  ระหว่างเทศกาลนี้ มีการจัดสัญจรไปบนเส้นทาง ลัดเลาะไปในป่าต้น mimosa ดังกล่าว  แวะชมภูมิทัศน์ตามจุดต่างๆ, ไปชมวิธีการเก็บเกี่ยวดอก Mimosa, ไปชมโรงอภิบาลต้นไม้ (ที่เรียกอย่างเจาะจงในกรณีนี้ว่า  la forcerie) ศึกษากระบวนการเลี้ยงดูกิ่งดอก Mimosa ที่ตัดมาให้บานออกทันใช้ในงานฉลองพิเศษวันนั้นวันนี้เป็นต้น,  มีการจัดขบวนพาเรด, การประกวดรถหรือหุ่นประดับด้วยดอกไม้,  การจัดประกวด Miss Mimosa, การไปเยือนโรงผลิตน้ำหอม  ศึกษากระบวนการผลิตน้ำมันหอมระเหย,  ศึกษาพืชพรรณที่นำมาใช้ในการปรุงและสร้างสรรค์น้ำหอมหรือเครื่องหอมแบบต่างๆเป็นต้น.  ยังมีการจัดทัวร์หลายวันที่รวมอาหารและที่พัก เช่นสี่วันสามคืน สำหรับผู้มาจากแดนไกลและต้องการเข้าถึงจิตวิญญาณของท้องถิ่นแดนดอกไม้และน้ำหอม.
          การจัดเทศกาลดอกไม้นี้ มีส่วนกระตุ้นอาชีพของคนในท้องถิ่น โดยเฉพาะนักเพาะปลูกต้น mimosa (mimosiste). บางคนได้เบนมาเป็นผู้นำนักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ออกชมดินแดนแถบนี้และเผยแผ่ความรู้เกี่ยวกับดอกไม้และผลประโยชน์ที่ได้จากดอกไม้  รวมทั้งการจัดการสาธิตการทำขนมหรือเครื่องดื่มจากดอก Mimosa ตามด้วยการรับประทานอาหารพื้นเมืองในฟาร์มหรือในไร่ของแต่ละท้องที่.  ดอก mimosa หรือสารสกัดจากดอกไม้นำไปปรุงอาหาร ทำขนมแบบต่างๆก็ได้ด้วย หรือปรุงเป็นเครื่องดื่ม เช่นผสมกับน้ำส้ม(หรือน้ำจากผล citrus อื่น) และแชมเปญหรือ sparkling wine ในสัดส่วนเท่ากัน จะได้เครื่องดื่มที่ชวนชื่นอย่างยิ่ง(ว่างั้น ยังไม่มีโอกาสชิม). 
โปสเตอร์เชิญชวนไปเทศกาลดอก mimosa ปี 2016 ที่เมือง Mandelieu-la-Napoule 
ปี 2016 นี้อยู่ระหว่างวันที่ 17-24 กุมภาพันธ์
 การเก็บดอก Mimosa บ้างต้องแบกขึ้นหลัง

ปกติชาวไร่ที่เพาะปลูก mimosa นั้น จะตัดกิ่งเมื่อดอกตูมจิ๋วๆที่โผล่ออกมานั้นยังคงมีสีเขียวๆ และปิดสนิทแนบแน่นเหมือนตุ่มๆหนึ่ง.  การตัดกิ่งในแต่ละต้น อาจต้องตัดหลายครั้งแล้วแต่ว่ากิ่งไหนมีดอกตูมๆขึ้นมาแล้วหรือไม่. ผู้ชำนาญต้นไม้นี้เป็นผู้รู้ที่ติดตามอ่านขั้นตอนของการเจริญเติบโตและเป็นผู้ตัดสินใจว่ากิ่งใดตัดได้แล้ว. กิ่งต่างๆที่ตัดไปนั้น รวบรวมไปไว้ในห้องพิเศษที่สร้างขึ้นเพื่ออภิบาลกิ่งดอก mimosa โดยเฉพาะที่ปรับอุณหภูมิไว้คงที่ที่ 24 °C  เรียกว่าห้อง la forcerie (จากคำกริยา forcer แปลว่า บังคับ) ในที่นี้หมายถึงการควบคุมการบานของดอกไม้.  กิ่งที่ตัดมาจะแช่หรืออบไว้ในความชื้นสูง มีปลายกิ่งแช่อยู่ในน้ำที่ผสมสารอาหารที่จำเป็นสำหรับต้นไม้.  กิ่งที่ตัดมาจะอยู่ในห้องอภิบาลดังกล่าวตั้งแต่ 12 ถึง 48 ชั่วโมง.  กิ่งทั้งหลายจะมีพฤติกรรมเป็นไปตามที่คนตั้งไว้ว่าให้ดอกมันบานเมื่อใด. หลังจากนั้นจะมีการจัดห่อเป็นช่อๆตามน้ำหนักคงที่ทุกช่อ ในฝรั่งเศสแต่ละช่อมีน้ำหนักที่ 150 กรัมและขายช่อละ 2 ยูโร. ประเทศฮอลแลนด์สั่งซื้อจากฝรั่งเศสและขอให้จัดช่อละหนัก 200 กรัม ส่วนประเทศเยอรมนีผู้สั่งซื้อรายใหญ่ ขอให้ฝรั่งเศสจัดส่งช่อดอก mimosa ช่อละหนัก 500 กรัมเลย.  ดอก mimosa บานคงทนและงามได้นานถึง 10 วัน.
         แต่ละปี ฝรั่งเศสตัดกิ่งดอก mimosa ได้ประมาณ 18 ล้านกิ่ง. 11 ล้านเป็นผลผลิตจากจังหวัด Alpes-Maritimes และ 6 ล้านจากชุมชนเมือง Mandelieu-la Napoule กับชุมชน Pégomas.  กรรมวิธีในการปลูกและการอภิบาลพืชพรรณไม้นี้ ทำให้ผู้ผลิตดอก Mimosa สามารถควบคุมการบานของดอกไม้สำหรับส่งออกขายหรือสำหรับใช้ในวันเวลาที่ต้องการ.  นอกจากนี้ยังมีการเพาะปลูกต้น Mimosa ภายในโรงอภิบาลพืชโดยเฉพาะอีกด้วย เช่นดอกไม้ที่จะใช้ประดับรถหรือหุ่นในเทศกาล Mimosa ประจำปี หรือในเทศกาล Carnaval de Nice (การ์นาวัลเมืองนีส) และในงาน Fête du Citron de Menton (เทศกาลมะนาวเมืองม็องตง) ใช้ต้น mimosa ที่เพาะปลูกภายในโรงอภิบาลต้นไม้เกือบทั้งหมด. ส่วนดอกไม้สดๆที่ตัดจากธรรมชาติหรือในป่าในสวนต้น mimosa นั้น นำไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหอมมากกว่า.

         การปรุงน้ำหอมนั้น ใช้ดอกไม้จำนวนมหาศาล หลากหลายชนิด รวมทั้งสารสังเคราะห์ที่คิดขึ้นที่ให้กลิ่นที่นักปรุงน้ำหอมต้องการ.  นักปรุงน้ำหอมเหมือนพ่อครัวที่ประกอบอาหารจานเยี่ยม(ประเภทติดดาว Michelin หลายดวง) จากวัสดุพื้นฐานที่เขานำมาวางเรียงตรงหน้า และที่เขารู้จักคุณภาพและคุณสมบัติทั้งภายนอกและภายในของมันเป็นอย่างดี แล้วเลือกดึงเอาคุณค่าเฉพาะเจาะจงของแต่ละวัสดุมาใช้.  หรือเขาเป็นเหมือนนักประพันธ์เพลงที่เลือกเอากลิ่นหนึ่งมาผสมปรุงกับกลิ่นอื่นๆ จากออร์แกนน้ำมันหอมระเหยที่อยู่ตรงหน้าเขา ปรุงออกมาเป็นซิมโฟนีกลิ่นที่ติดตรึงใจทุกคน.
        กว่าจะมีฝีมือหรือ “มีจมูก” ขั้นเทพเพียงนั้น เขาต้องมีความรู้และสะสมประสบการณ์กลิ่นมาเป็นพันๆถึงหมื่นกลิ่นแล้ว.  วิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่า (อย่างไรนั้น ไม่มีใครเล่าไว้) จมูกคนสามารถรับรู้และแยกแยะกลิ่นได้ถึงหนึ่งหมื่นกลิ่น  ปัญหาอยู่ที่ยังไม่มีภาษามนุษย์ภาษาใดที่มีคำศัพท์ใช้เพื่อพรรณนากลิ่นต่างๆได้ทั้งหมดและที่เจาะจงความแตกต่างด้วยภาษาได้ชัดเจนไม่คลุมเคลือ  เช่นนี้จึงเท่ากับเราไม่สามารถพิสูจน์กลิ่นได้เพราะเราอธิบายมันไม่ได้นี่เอง. 
        ต่อไปอาจต้องใช้ตัวเลขมาอธิบายแทน แต่ก็นั่นแหละ คงพะรุงพะรังไม่น้อยเพราะมีอย่างน้อยหมื่นกลิ่นที่คนแกะออกมาได้.  อาจไม่ง่ายเท่าการทำ DNA sequencing. เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า ภาษาคน ภาษาตัวอักษร เป็นบ่อเกิดของความสับสน ความไม่เข้าใจกันบ่อยๆ  ความคิดของคนแม้จะไม่พูดออกมาก็เถอะ ต้องอิงกับภาษาที่เรียนรู้มา จึงสับสนได้ง่าย. อย่างไรก็ดี ผู้เขียนยังหวังว่า ทุกท่านจะอ่านเรื่องนี้ได้รู้เรื่องบ้างไม่มากก็น้อย.

ดังกล่าวไว้ในตอนต้นแล้วว่า เมืองกร๊าสเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์น้ำหอมแห่งเดียวของโลก
จึงขอเชิญติดตามไปดูในบล็อกต่อไป...  

ตัวอย่างข้อมูลเกี่ยวกับความหอมและเครื่องหอมทั้งหลาย 
จากพิพิธภัณฑ์น้ำหอมนานาชาติที่เมืองกร๊าส – Grasse ในฝรั่งเศส.

เลือกอ่านและดูภาพตามความสนใจได้ค่ะ
 


โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ รายงาน ณ วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙...
เป็นวันสิ้นปีตามปฏิทินจีน เลยถือโอกาสสวัสดีปีใหม่ 新正如意 
ขอให้ทุกท่านมีชีวิตที่หอมอบอวลด้วยความรัก ความงามและความดีตลอดไปเทอญ...


5 comments:

  1. ภาพดอกไม้และทิวทัศน์สวยจริงๆค่ะ ขอบคุณโชอีกตามเคยสำหรับความรู้ใหม่ๆเป็นประจำ มิโมซานั้นแป๋วเคยเห็นอยู่ในอเมริกาบ่อยแม้แต่ทางภาคตะวันออกของประเทศซึ่งหนาวจัดในหน้าหนาว เคยเชื่อมาเสมอว่านั่นคือต้นจามจุรีและเคยชี้ให้เพื่อนฝรั่งดูด้วยความตื่นเต้นว่านี่คือต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยของเรา ไม่คาดว่าจะมาเจอที่นี่ ตอนนี้ต้องไปบอกเขาแล้วว่าเราให้ข้อมูลที่ผิดไป

    ReplyDelete
  2. ขอบคุณมากค่ะโช อ่านแล้วอยากไปทางใต้อีก ตามรอยดอกไม้ ดูมีจุดหมายในการเที่ยวมากขึ้น

    ReplyDelete
    Replies
    1. ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม ภาคใต้ฝรั่งเศสอบอุ่น ไม่หนาวมาก และไม่ร้อน หากไปดูลาเวนเดอร์นั้น เป็นกลางฤดูร้อน ไม่ไหวสำหรับเรา
      เพราะฉะนั้น ไปตามเส้นทาง la Route du Mimosa ได้ก็จะดีมาก พักที่ Mandelieu-la-Napoule หรือที่ปลายทางเมือง Grasse.

      Delete
  3. ขอบคุณมากค่ะโช อ่านแล้วอยากไปทางใต้อีก ตามรอยดอกไม้ ดูมีจุดหมายในการเที่ยวมากขึ้น

    ReplyDelete
  4. ได้ความรู้เยอะมาก ขอบคุณมากค่ะ

    ReplyDelete