Monday, 15 February 2016

พิพิธภัณฑ์น้ำหอมที่เมือง Grasse - Musée International de la Parfumerie



พิพิธภัณฑ์น้ำหอมนานาชาติ หรือ  Le Musée Internationale de la Perfumerie (มีชื่อย่อว่า MIP) ตั้งขึ้นในปี 1989 ที่เมืองกร๊าส (Grasse) ที่เป็นอู่ทองของเครื่องหอมชั้นนำที่ฝรั่งเศสเป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ขึ้น. เอกสารที่นั่นระบุว่าเป็นพิพิธภัณฑ์น้ำหอมและเครื่องหอมแห่งเดียวในโลก. เป็นองค์กรสาธารณะที่ขึ้นทะเบียนเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ (Musée de France).
         พิพิธภัณฑ์นี้สร้างเพื่ออนุรักษ์และจรรโลงประเพณีดั้งเดิมเกี่ยวกับเครื่องหอม ที่ฝรั่งเศสได้พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน.  ทั้งยังเป็นที่เก็บหลักฐานเกี่ยวกับเครื่องหอม ตั้งแต่ยุคโบราณเป็นต้นมา  ที่เป็นพยานของวิวัฒนาการเทคนิคในระดับชาติและนานาชาติ.  เนื้อหาโดยปริยายจึงโยงไปถึงอุดมการณ์ความงามและความสุนทรีย์, โยงไปถึงประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมในขนบธรรมเนียมการใช้เครื่องหอม, ในมุมมองและในทุกมิติของมานุษยวิทยา  รวมทั้งเป็นศูนย์ข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุดิบที่เป็น “สารหอม” ทุกชนิด, มีนิทรรศการเกี่ยวกับการสกัด, การผลิต, อุตสาหกรรมเครื่องหอม, พัฒนาการด้านการค้า, การออกแบบบรรจุภัณฑ์. ตลอดจนวิธีการใช้เครื่องหอมฯลฯ. 
       พิพิธภัณฑ์นี้เป็นพยานหลักฐาน ยืนยันความเป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริงเกี่ยวกับเครื่องหอมต่างๆ ที่กลายเป็นอีกอัตลักษณ์หนึ่งของประเทศฝรั่งเศสในสายตาของชาวโลก. ฝรั่งเศสได้เป็นแบบอย่าง เป็นฐานที่ปูทางให้นักปรุงน้ำหอมชาติอื่นๆได้ก้าวตามไปบนเส้นทางอันหอมหวนนี้. 

         ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์จะได้ข้อมูลที่ทอดเป็นเครือข่ายกว้างไกล จากคอเล็กชั่นสรรพสิ่งที่คนได้สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อเครื่องหอม ที่เป็นศิลปวัตถุ, เป็นประดับศิลป์, เป็นผ้า, หลักฐานทางโบราณคดีชิ้นเดี่ยวๆ  หรือพยานหลักฐานเชิงอุตสาหกรรม  รวมทั้งวิวัฒนาการของบริษัทน้ำหอมใหญ่ๆที่สถาปนาขึ้นที่เมืองกร๊าส.
         การจัดนิทรรศการเป็นไปตามลำดับเหตุการณ์ก่อนหลังในประวัติศาสตร์ จากยุคโบราณสู่ยุคกลาง ถึงยุตสมัยใหม่และจบลงในยุคปัจจุบัน. นิทรรศการถาวรที่นั่นแบ่งออกเป็นห้าส่วน แต่ละส่วนเกี่ยวกับยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์ โดยเน้นนำเสนอเนื้อหาที่คนในยุคปัจจุบันสนใจ อันมีความงาม ความหรูหรากับความเป็นคลาซสิก,  เวทมนตร์คาถากับความตื่นตัวในพลังแนวใหม่ที่ไม่เกี่ยวกับขนบนิยมจากความเชื่อทางศาสนา,  รวมถึงสภาพชีวิตที่ขาดสุขอนามัยที่ดีเป็นต้น.
         ในทุกวัฒนธรรม น้ำหอมได้กระตุ้นให้มีการสร้างสรรค์ศิลปวัตถุสวยๆงามๆทั้งประณีตและมีค่า  ที่ทำจากวัตถุหายากแบบต่างๆเช่น อลาบาสเตอร์, กระเบื้องเคลือบลงรัก, เซรามิค, แก้ว, ศิลปะโลหะวิจิตร.  นอกจากประวัติของน้ำหอม เครื่องหอมยังรวมถึงสบู่, เครื่องแต่งหน้า, แป้งและเครื่องสำอางชนิดต่างๆ ที่คนในแต่ละยุคใช้กันมาตลอดสี่พันปีในอดีต.  มีตัวอย่างหลักฐานประกอบในแต่ละสถานการณ์ แต่ละเทคนิค แต่ละสมัยอุตสาหกรรม.
         พิพิธภัณฑ์นี้เป็นผลงานในศตวรรษที่ 20 ก็จริง แต่แกนนำของพิพิธภัณฑ์ ได้พินิจพิเคราะห์ย้อนกลับไปในอดีต ที่ปูทางมาสู่ยุคปัจจุบันและมองต่อไปในอนาคต  เพราะทุกอย่างที่เกี่ยวข้องเป็นไปตามกระบวนการโลกาภิวัต การตลาดและการสื่อสารที่แน่นอนได้ขยายออกไปสู่ตลาดใหม่ๆในทุกมุมโลก.
         วิถีชีวิตของชนชาวเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก (Oceania ที่รวมออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ นิวกินีและเกาะเล็กเกาะน้อยอีกจำนวนมาก)  บางแห่งยังคงถูตัวด้วยพืชสมุนไพรธรรมชาติที่คนเลือกมาใช้เพราะกลิ่นถูกใจ ทำให้สดชื่น.  เรารู้กันว่า ในทวีปเอเชีย คนใช้ดอกไม้เซ่นไหว้บูชา  เพราะมีต้นไม้ดอกหลากหลายพันธุ์แทบนับไม่ถ้วนและดอกไม้ก็ผลิบานทั้งปี. ในชีวิตประจำวัน ชาวเอเชียมีดอกไม้ในแวดล้อมวงชีวิตเสมอ ไม่ว่าในชีวิตส่วนตัวในครอบครัว หรือในบริบทของศาสนาตามวัดวาอารามทั้งหลาย.  เชื่อกันมาเสมอว่า กลิ่นดอกไม้มีอำนาจ เพิ่มเสน่ห์และช่วยให้ทุกอย่างบริสุทธิ์ขึ้น.  ในแดนอาหรับเช่นสาธารณรัฐเอมีเรต  วิถีสังคมต้องอ่านและวิเคราะห์ ผ่านวิธีการดูแลร่างกายด้วยเครื่องหอมต่างๆของชนชาวอาหรับ.  กลิ่นหอมเป็นสัญลักษณ์บอกบุคลิกของผู้ใช้น้ำหอมนั้นในประเทศจีน  ในยุโรปก็มีวิสัยทัศน์แบบเดียวกัน. ในมุมมองกว้างๆ เครื่องหอมเป็นปรากฏการณ์สำคัญแบบหนึ่งของสังคม ตั้งแต่ยุคโบราณในวัฒนธรรมทุกกระแส ไม่ว่าระบบสังคมจะเป็นเช่นใด  อยู่ใต้ระบบการปกครองแบบไหน หรือมีศาสนาอะไรเป็นศาสนาประจำชาติ.
          สี่พันปีมาแล้วที่เครื่องหอมได้ดลใจให้เนรมิตศิลปวัตถุ จากวัตถุมีค่าต่างๆ หรือจากวัตถุดิบธรรมดาแต่ทำอย่างมีศิลป์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งจากการลอกเลียนรูปลักษณ์ธรรมชาติและจากแบบที่สังเคราะห์ขึ้นตามจินตนาการของช่าง.  เช่นนี้จึงทำให้มีผู้สนใจสะสมเครื่องหอม. ความสนใจแบบนี้ไม่เคยมีมาก่อน ไม่เคยมีผู้ใดคิดสร้างองค์กรสาธารณะเพื่อรวบรวม, อนุรักษ์มรดกนานาชาตินี้. 
          พิพิธภัณฑ์น้ำหอมนานาชาติ หรือ Le Musée Internationale de la Perfumerie จึงเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งเดียวในโลก.  ชัดเจนอีกว่าพิพิธภัณฑ์นี้จะไปอยู่ที่อื่นใดในโลกก็คงไม่มีความหมายเท่ากับที่มันตั้งอยู่ในฝรั่งเศสและที่เมืองกร๊าส  เพราะเป็นถิ่นกำเนิดของเครื่องหอมยุคปัจจุบัน ที่เริ่มขึ้นในต้นศตวรรษที่ 20 กับชื่อนักปรุงน้ำหอมเด่นๆเช่น François Coty  [ฟร็องซัว โกตี้] และ Coco Chanel [โกโก้ ชาแนล].  เมืองกร๊าสได้รักษาความเป็นเยี่ยมในการผลิตวัตถุดิบธรรมชาติที่คัดกรองมาด้วยกระบวนการที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ด้วยประสิทธิภาพและคุณภาพสูงสุดของบริษัทอุตสาหกรรมเครื่องหอมใหญ่ๆที่นั่น.  François Carnot [ฟร็องซัว การฺโน] (บุตรชายของประธานาธิบดีฝรั่งเศส Sadi Carnot)  มีความรักความสนใจอย่างท่วมท้นต่อ “วิถีแห่งศิลปะ”.  ในส่วนที่เกี่ยวกับเมืองกร๊าส  เขาเป็นผู้สถาปนาพิพิธภัณฑ์ Musée Fragonard โดยใช้อาคารและพื้นที่วิลลาของครอบครัวจิตรกร Jean-Honoré Fragonard (1732-1806).  เขาเป็นบุคคลที่สำคัญยิ่งที่ผลักดันให้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์น้ำหอมนานาชาตินี้ขึ้น. ชุมชนชาวเมืองกร๊าสได้ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ และด้วยจิตมุ่งมั่นในการยกระดับเมืองกร๊าสขึ้นเป็นเมืองแรกและเป็นเมืองหลวงของน้ำหอมของโลก.  ในที่สุดทุกอย่างจึงสำเร็จลงได้. พิพิธภัณฑ์นี้จักเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญเกี่ยวกับสังคมมนุษย์แหล่งหนึ่งของโลก.
          ทุกวัฒนธรรมใช้เครื่องหอม ตั้งแต่อดีตอันไกลโพ้น  ดูหมือนว่าเริ่มขึ้นในตะวันออกในราว 7000 ปีก่อนคริสตกาล เพราะมีหลักฐานทางโบราณคดีศึกษาที่ขุดค้นพบ ที่สรุปกันว่า น่าจะเป็นคนโทเก็บน้ำหอมหรือโถใส่เครื่องสำอางในยุคนั้น.  ทุกอารยธรรมทิ้งร่องรอยบอกให้รู้ว่า คนมีเครื่องหอมใช้หลากหลายชนิด. ที่สำคัญๆคือ เรซิน ที่ใช้กันอย่างกว้างขวางเมื่อราว 4000 ปีก่อนคริสตกาล เช่นใช้เผาในพิธี อาจใส่อยู่ในภาชนะใส่ธูป เผาให้กลิ่นหอมลอยตัวออกมา ให้กลิ่นหอมนั้นเป็นตัวกลางสื่อความเคารพยำเกรงและสื่อความหวังจากการเซ่นไหว้เทพเจ้าแบบนั้น.
         สารหอมเป็นสิ่งสงวนสำหรับกษัตริย์และราชนิกูล.  ชาวอีจิปต์มีความรู้และพัฒนาเทคนิคในการดักจับกลิ่นหอมไว้ในสารมันๆ ด้วยการแช่เย็น หรือด้วยการเคี่ยวด้วยความร้อน.  ตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จักเทคยิคการกลั่น.  สารที่ได้จากเทคนิคในสมัยนั้น ยังมิได้มีกลิ่นหอมแรงพอเทียบกับกลิ่นน้ำหอมที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน.  ถึงกระนั้นสิ่งที่พวกเขารู้และทำกันมานั้น ก็เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง.  ศิลปะนี้ส่งผลกระทบต่อโลกียวิสัยของคนในยุคนั้น และเลือนหายไปเมื่อสิ้นสุดยุคทองแดงในราวปี 1200 ก่อนคริสตกาล. 
         น้ำมันหอมเป็นที่รู้จักและใช้กันแพร่หลายตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล  คนบรรจุน้ำมันหอมในขวดแบบง่ายๆที่ไม่เน้นความหรูหรา เช่นในภาชนะที่ทำจากหินอลาบาสเตอร์ (aryballe).  ความหอมยังคงมีบทบาทสำคัญและเกี่ยวโยงไปถึงความศักดิ์สิทธิ์, การเยียวยาบำบัด, การประทินโฉมและการครัว.  บทบาททั้งหมดนี้สืบทอดต่อเนื่องมาตลอดยุคกลางในทุกวัฒนธรรม.
         วัตถุดิบจากธรรมชาติโดยรอบปริมณฑลของเมืองกร๊าส ถูกกว้านเอามาใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอมที่เพิ่งเกิดใหม่นี้อย่างจริงจัง.  นอกจากการสกัดสารระเหยธรรมชาติจากเครื่องเทศ สมุนไพร ดอกไม้ ยางไม้ เรซินของเกลือแร่หรือพืชผักแล้ว  เมืองกร๊าสยังได้ผลิตน้ำมันหรือน้ำอบหอมที่ได้มาจากการแช่, การกวน การคนและด้วยกระบวนการกรองแบบต่างๆ. 
         เรื่องของน้ำหอม เกี่ยวโยงอย่างใกล้ชิดกับวิวัฒนาการของเทคนิคการกลั่นและศาสตร์แห่งอัลเคมี.  เครื่องกลั่น alembic ทำให้การกลั่นพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังปรากฏในบทแปลที่แพทย์อาหรับได้จารึกไว้  อันเป็นเอกสารที่มีค่ายิ่งของวิทยาลัยการแพทย์ที่ตั้งขึ้นที่เมือง Salerno [ซะแลรฺโน่] ในอิตาลี (ชื่อ Schola Medica Salerniatana) ในศตวรรษที่ 12.  สารระเหยที่กลั่นได้หรือที่เราเรียกกันทั่วไปว่า “แอลกอฮอล” ที่ผลิตขึ้นในศตวรรษที่12 ที่เมือง Salerno นั้นใช้จำเพาะเจาะจงในวงการแพทย์เท่านั้นไปจนถึงศตวรรษที่ 15 และเริ่มใช้ในการผลิตน้ำหอมในศตวรรษที่ 16.  แต่ความรู้ทางแพทย์และเทคนิคการกลั่น ได้แพร่เข้ามาสู่แดนอันดาลูเซีย (Andalucia [อันดาลูธี๊อา] ประเทศสเปน) ตั้งแต่ศตวรรษที่ 13. 
จิตรกรรมน้อยเสนอภาพของศูนย์การแพทย์ที่เมือง Salerno
จากหนังสือ Canon de la médecine d’Avicenne
  ตัวอย่างเครื่องกลั่น Alembic จากโรงงาน Fragonard
         ปฏิวัติฝรั่งเศสได้ทำลายผู้ผลิตน้ำหอมไปมากหลายรายก็จริง แต่มิอาจขจัดหรือกวาดล้างค่านิยมการใช้เครื่องหอมให้สิ้นซากไปได้.  ในยุคของ La Terreur (ยุตตื่นกลัวที่มีการจับฆ่ประหารชีวิตหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส  ระหว่างวันที่ 5 กันยายน1793 – วันที่ 28 กรกฎาคม 1794)  ปรากฎว่ามีผู้คนใช้น้ำหอมมากกว่าเดิมเสียอีก.  เป็นยุคที่เกิดการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงในระบบอุตสาหกรรมเครื่องหอมแบบถอนรากถอนโคนด้วย.  น่าประหลาดใจไม่น้อยที่ยุคปฏิวัติฝรั่งเศส กลับเป็นยุคสำคัญของความรักโลกียวิสัยในสังคมเมืองกร๊าส นอกเหนือไปจากพัฒนาการด้านศาสตร์วิชาและจิตสำนึก(ที่ค่อยๆก่อตัวขึ้น) ของประชาธิปไตย. 

        ในยุโรป กลิ่นเป็นเครื่องหมายบอกชนชั้นในสังคมมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว.  กลิ่นหอมเป็นคุณสมบัติของผู้ดี.  คนร่ำรวยมีกลิ่นตัวหอมกว่า เพราะมีกำลังเงินซื้อเครื่องหอมชนิดต่างๆมาประทินผิว.  เป็นเช่นนี้ไปจนเมื่อเกิดการปฏิวัติสุขอนามัยขึ้นในอังกฤษในศตวรรษที่ 18. ความสะอาดของร่างกายทำให้มีการพัฒนาเครื่องหอมที่ “เบาๆ” ที่ไม่เป็นไขหรือมีกลิ่นรุนแรงเกินไป.  เครือข่ายของนักปรุงน้ำหอมก็ขยายเป็นวงกว้างมากขึ้นๆ เพราะมีวัตถุดิบใหม่ๆหลากหลายชนิดที่นำเข้าจากต่างแดน (เช่นจากอินเดีย) โดยบริษัทเดินเรือ (British) East India Company.  ความก้าวหน้าทางเคมีทำให้กลับมาวิเคราะห์วิจารณ์การใช้สารหอมที่มีกลิ่นรุนแรงเพื่อฆ่าเชื้อโรคดังที่ทำกันในยุคนั้น.  นั่นคือการเอากลิ่นหอมเข้ากลบกลิ่นเหม็น และยิ่งกลิ่นเหม็นเท่าใด ก็ยิ่งเพิ่มกลิ่นหอมให้รุนแรงขึ้นเท่านั้น แทนการคิดกำจัดกลิ่นเหม็นที่ต้นตอให้หมดไป. ยุคนั้นคนใช้น้ำหอมหรือเครื่องหอมอื่นใด เพื่อให้เป็นเกราะกันกลิ่นเหม็นๆออกไป.  ข้อดีข้อเดียวคือการริเริ่มสร้างโรงอาบน้ำสาธารณะในศตวรรษที่ 18  หลังจากที่องค์การศาสนาได้ห้ามการอาบน้ำ แช่น้ำในยุคเรอแนสซ็องซ์ ด้วยความเชื่ออย่างจริงจังว่า การอาบน้ำทำให้รูขุมขนเปิดและเชื้อโรคแทรกซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น และน้ำเป็นตัวการแพร่เชื้อโรค  แต่ค่าอาบน้ำยังแพงมาก สูงกว่าค่าแรงรายวันของคนงานรับจ้างทุกประเภท  ชนชั้นมีเงินเท่านั้นจึงไปใช้บริการได้ หรือซื้อบริการจากคนหาบน้ำ มาขายให้อาบภายในคฤหาสน์หรือบ้านส่วนตัว. เกิดอาชีพลูกหาบน้ำเป็นอาชีพใหม่. เครื่องหอมเป็นเพื่อนคู่หูในการอาบน้ำชำระล้างร่างกาย ที่ขจัดความสกปรกโสโครกของร่างกาย ที่ควรจะโยงไปถึงการชำระล้างจิตใจให้บริสุทธ์ผ่องใสด้วย  น้ำหอมเพื่อร่างกายนั้นมาจากการใช้สารสกัดของดอกกุหลาบ ดอกไวโอเล็ตเป็นต้น. น้ำหอมถูกนำมาใช้เต็มที่เพื่อกลบกลิ่นต่างๆ. ในยุคนั้นคนใช้น้ำหอมอบสรรพสิ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวันเช่นเสื้อผ้า ถุงมือ เข็มขัด ชุดชั้นในเป็นต้น ด้วยความเชื่ออย่างแท้จริงว่า นั่นคือการสร้างวิธีคุ้มกันตัวและลดกลิ่นตัว.  กว่าที่คนจะเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับความเหม็นชนิดต่างๆ และโดยเฉพาะเกี่ยวกับกำเนิดและบทบาทของแบคทีเรียและจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ ต้องคอยการค้นพบของ Louis Pasteur (1822-1895) โดยเฉพาะงานวิจัยของเขาระหว่างปี 1877-1887.
(cf. ประวัติความสะอาดในยุโรป ตามไปอ่านได้ที่นี่ >>
http://www.chotirosk.blogspot.com/2015/04/history-of-cleanliness.html )    
         เมืองกร๊าสดั้งเดิมมีชื่อเสียงในอุตสาหกรรมการทำเครื่องหนังและฟอกหนัง. ที่ขึ้นหน้าขึ้นตาคือการทำถุงมือหนังอบหอม เสื้อกั๊กหนัง รองเท้าและเข็มขัดหนัง. ความชำนาญในการปรุงน้ำหอมเพื่ออบถุงมือนั้น จำกัดอยู่ภายในวงของนายช่างฝีมือผู้ทำถุงมือมากกว่า.  เมื่ออุตสาหกรรมน้ำหอมเริ่มขึ้น ธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องหอมก้าวกระโดดออกไปอย่างเต็มศักยภาพ อย่างที่ไม่มีผู้ใดเคยคาดคิดมาก่อน.  สภาพภูมิอากาศและภูมิธรณีของอาณาบริเวณเมือง Grasse ที่ต่อออกไปในจังหวัด Provence เหมาะสำหรับการเพาะปลูกพืชพรรณที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหอมได้เช่น มะลิ, พันธุ์ส้ม, กุหลาบ, ซ่อนกลิ่นและพืชผักอีกจำนวนมาก. ประจวบกับระบบเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นหลังการปฏิวัติ ได้ชะลอการผลิตเครื่องหนังลงไป แต่ได้เอื้อประโยชน์แก่อุตสาหกรรมเครื่องหอมมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายพัฒนาสุขอนามัยของประชาชน(ด้วยการอาบน้ำ) หลังการปฏิวัติฝรั่งเศสและตามแนวการปฏิวัติสุขอนามัยที่อังกฤษได้เริ่มขึ้นดังกล่าวมาข้างต้น.  อุตสาหกรรมเครื่องหอมได้ขยายออกไปรวมผลิตภัณฑ์ทุกอย่างที่ชำระล้างร่างกายให้สะอาดและประทินผิวทั้งสบู่ แป้ง. เครื่องสำอางเพิ่มชนิดและจำนวนเพื่อตอบสนองชีวิตในทุกขณะ. 
         เทคโนโลยีที่รุดหน้าและเจริญขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ได้เข้าไปทำให้อุตสาหกรรมนี้ในฝรั่งเศส ก้าวล้ำหน้าประเทศอื่นใด.  สร้างค่านิยมและวิถีชีวิตใหม่ในสังคมที่หอมตลบอบอวล. ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา น้ำหอมถูกจัดให้เป็นเครื่องมือหรืออาวุธเพื่อการยั่วยวนคนให้หลงใหล จากเดิมที่เคยเป็นเพียงสิ่งที่ช่วยขับกลิ่นเหม็นๆทั้งหลายให้ออกห่างไป.  ชนชั้นสูงใช้น้ำหอมทุกเมื่อ ทุกวิธี ชโลมทั้งตัว อบเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายและเครื่องใช้สารพัดชนิดเช่นเครื่องหนัง.  ความโก้เก๋และความหรูหราขยายออกไปครอบคลุมผลิตภัณฑ์อื่นๆที่มารองรับอุตสาหกรรมน้ำหอม.  บรรจุภัณฑ์แบบต่างๆ ก็พัฒนาอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกันเป็นอย่างดี เช่นกล่อง, ขวด, กระปุกหรือตลับ ฯลฯ. ความสุขเกษมเปรมปรีดิ์ทางประสาทสัมผัส กลายเป็นคำเด่นของยุค. การตระหนักรู้เรื่องสุขอนามัยถูกประกบเข้ากับความสำคัญในกามสุข.  ทั้งหมดนี้เป็นไปตามสภาวะตลาดที่มีวัตถุดิบใหม่ๆที่คนค้นพบว่านำมาปรับใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหอมได้.  ทั่วไปในวัฒนธรรมอื่นๆนั้น ยังคงใช้ถ้วย จานก้นลึก หรือกระปุกสำหรับเผาเครื่องหอมที่เป็นของแข็ง.  
         เครื่องหอมสมัยใหม่เกิดขึ้นในปลายศตวรรษที่ 19 และก้าวรุดหน้าอย่างรวดเร็วพร้อมๆกับความรู้จากการวิเคราะห์วิจัยทางเคมีอินทรีย์และทางจุลชีววิทยา  ที่ทำให้ค้นพบสรรพคุณของพืชพรรณหรือวัตถุดิบแต่ละชนิด.  ในอุตสาหกรรมเครื่องหอมตั้งแต่ศตวรรษที่ 20  นักปรุงน้ำหอมรู้จักทำน้ำมันหอมสังเคราะห์มาใช้ร่วมกับสารสกัดจากธรรมชาติมากขึ้นๆ  จนในที่สุดสารสังเคราะห์ต่างๆเข้าไปแทนที่สารจากธรรมชาติในสัดส่วนเกือบร้อยละเก้าสิบขึ้นไป. พูดสั้นๆเป็นข้อคิดเบื้องต้นว่า เพราะวัตถุดิบจากธรรมชาติลดน้อยลงเนื่องจากคนต้องการใช้มากขึ้นเพราะประชากรโลกเพิ่มขึ้น.  หรือเพราะสารสกัดจากสัตว์ เช่น กลิ่นชะมด (musk) ที่คนนำมาทำน้ำหอม สกัดจากต่อมลูกหมากของชะมดตัวผู้  ทำให้มีการจับตัวชะมดมาฆ่าเพื่อเอาต่อมลูกหมากของมัน.  ในที่สุดฝรั่งเศสต้องตรากฎหมายควบคุมการฆ่าสัตว์.  เกิดการวิเคราะห์วิจัยเพื่อหาวิธีเนรมิตกลิ่นของชะมดด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอม. เช่นนี้การปรุงน้ำหอมจึงกลายเป็นสิ่งสร้างสรรค์ เป็นศิลปะการเนรมิตอย่างแท้จริง.
          Houbigant [อูบิก็อง] และ Guerlain [แกรฺแล็ง] เป็นสองคนแรกที่ใช้สารสังเคราะห์มาเป็นองค์ประกอบในการปรุงน้ำหอม.  น้ำหอม Fougère royale [ฟูแฌรฺ รัวยัล] เกิดขึ้นในปี 1884 และน้ำหอม Jicky [จิ๊กกี้] เกิดขึ้นในปี 1889  เป็นน้ำหอมสองชนิดแรกในโลกยุคใหม่ ยุคที่ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยในทุกเรื่อง.  น้ำหอมทั้งสองนี้นำสารระเหยของวานิลลามาใช้เป็นฐานของกลิ่นด้วยอย่างหนึ่ง ที่นำไปสู่การใช้วานิลลาต่อมาอย่างแพร่หลาย และเปิดเส้นทางใหม่ให้กับนักปรุงน้ำหอมในศตวรรษที่ 20.  François Coty [ฟร็องซัว โกตี้] บิดาของน้ำหอมสมัยใหม่ เป็นอัจฉริยะผู้บุกเบิกคนหนึ่ง เขาเป็นนักอุตสาหกรรมด้วย.  เขาใช้เทคนิคการสกัดด้วยการใช้สารละลายที่มีคุณสมบัติระเหยได้ดี  มาเป็นตัวช่วย ทำให้ได้หัวน้ำมันระเหยธรรมชาติที่เรียกว่า Absolus [อั๊บโซลู] ที่ไปกันได้ดีกับสารสังเคราะห์ใหม่ๆตัวอื่นๆ.  เทคนิคนี้ได้รับใช้การสร้างสรรค์น้ำหอมต่อๆมา และทำให้สามารถแยกแยะกลิ่นทั้งหลายที่เชื่อมโยงถึงกันออกมาได้เป็นจำนวนมาก.  เป็นความสำเร็จครั้งแรกสุดในประวัติศาสตร์โลกที่คนสามารถวิเคราะห์แยกแยะกลิ่นต่างๆออกมาได้ถึงเพียงนั้น.  ความรู้เรื่องกลิ่นชนิดต่างๆ แบบต่างๆ ปูทางนำนักปรุงน้ำหอมให้ปรุงน้ำหอมใหม่ๆขึ้นจากการทดลองผสมกลิ่นต่างๆในอัตราส่วนต่างๆเป็นต้น.  
         ประเทศรั่งเศสมีบทบาทสำคัญยิ่งตั้งแต่สมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่เป็นต้นมา เป็นศต.ที่ยิ่งใหญ่ (ที่เรียกกันทั่วไปในภาษาฝรั่งเศสว่า le Grand siècle [เลอ กร็อง สิแอ๊กเกลฺอะ]) และเมืองกร๊าสคือสิ่งที่มาเสริมหน้าตาของประเทศ  เพราะกร๊าสได้กลายเป็นศูนย์วัตถุดิบธรรมชาติสำหรับเครื่องหอมและผลิตภัณฑ์ข้างเคียงต่างๆ.  กรุงปารีสเองก็เป็นเมืองหลวงด้านแฟชั่นของโลก.  ต้นศตวรรษที่ 20 อุตสาหกรรมเครื่องหอมที่เมืองกร๊าส ยังคงมุ่งอยู่กับการจัดสรรวัตถุดิบที่ได้จากธรรมชาติ จนกล่าวได้ว่าเมืองกร๊าสผูกขาดอุตสาหกรรมด้านนี้ในโลกแต่ผู้เดียว ตามด้วยการสร้างสรรค์น้ำหอม ที่เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด. ราคาของน้ำหอมนั้นไม่มีขีดจำกัดใดๆทั้งสิ้น.  เป็นยุคของการส่งออกน้ำหอมไปยังตลาดชนชั้นสูงทั่วโลก.  
          ในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ธุรกิจเครื่องหอมเปลี่ยนมาเล็งการจำหน่ายน้ำหอมไปสู่คนหมู่มาก มิได้หยุดอยู่ที่ชนชั้นสูงหรือผู้ร่ำรวยเท่านั้น.  เมื่อการผลิตเพิ่มปริมาณมากขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตลดน้อยลง ราคาขายจึงถูกลงไปด้วย. เครื่องหอมได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของมันจากการเคยเป็นสิ่งพิเศษสุด มาสู่การเป็นสิ่งสามัญที่ทุกคนใช้, จากการเคยเป็นสิ่งที่คัดสรรเป็นพิเศษสุด มาเป็นสมบัติที่ใครๆก็อาจซื้อได้.  น้ำหอมยี่ห้อใหม่เกิดขึ้นตามๆกันมา มีความสำเร็จกันมากพอสมควร.  ระยะชีวิตโดยเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์เครื่องหอมถูกกำหนดให้อยู่เพียงระยะเวลาหนึ่ง.
         น้ำหอมเป็นผลิตผลที่มีคุณค่าทางการเยียวยา, ทางสุนทรีย์, ทางพิธีกรรม.  การใช้นำหอมเป็นวิธีแสดงตวามเคารพและสื่อจิตที่สรรเสริญใฝ่หาเทพเจ้า.  เป็นวิธีชำระล้างตัวให้บริสุทธิ์.  ในแอฟริกาที่คุกกรุ่นด้วยเวทมนตร์คาถาและไสยศาสตร์  เครื่องหอมทำมาจากพืชพรรณที่มีกลิ่นหอม ยังคงเป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการตรึงความเชื่อในเวทมนตร์คาถา ควบคู่กับการเป็นยารักษาโรค ไม่ว่าจะลึกเข้าไปในป่าหรือภายในชุมชนกลางเมืองใหญ่.  และแน่นอนน้ำหอมเป็นตัวช่วยสำคัญในการเพิ่มเสน่ห์ เป็นตัวกระตุ้นความรักใคร่. 
         ในศตวรรษที่ 20 น้ำหอมที่นำเข้าเป็นขวดๆกลายเป็นแฟชั่นแนวใหม่ของการกระจายเครื่องหอม.  ขวดน้ำหอมกลายเป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จ ของสถานะในสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมภายในหมู่บ้านที่ห่างไกลหรือภายในเมือง. การที่น้ำหอมแพร่หลายออกไปทั่วโลก ทำให้เกิดมาตรฐานสากลในการใช้น้ำหอม  และอาจพูดได้ว่า น้ำหอมเป็นตัวการหนึ่งที่สร้างเอกภาพในสังคมมนุษย์ด้วย. 
       พิพิธภัณฑ์เมืองกร๊าสได้เลือกนำเสนอเรื่องราวของสังคมจากมุมมองของน้ำหอมและเครื่องหอมในแต่ละยุค ว่าเครื่องหอมเหล่านั้นมีสถานะและหน้าที่อย่างไร.  หัวข้อที่เลือกนี้นำไปสู่การพิจารณาบทบาทหน้าที่ของเครื่องหอมในฐานะที่เป็นเครื่องมือสื่อสาร เป็นยารักษา เป็นสิ่งยั่วยวน  และในที่สุดโยงไปถึงการทำความรู้จักกับวัสดุพื้นฐาน(พืชพรรณและสัตว์), กระบวนการผลิตเครื่องหอม, การใช้เครื่องหอม, บรรจุภัณณ์เครื่องหอมแบบต่างๆตั้งแต่โลกโบราณจนถึงยุคปัจจุบัน.  ทั้งยังเป็นโอกาสให้สำรวจดูว่าขนบน้ำหอม สืบทอดอย่างต่อเนื่องของจากยุคหนึ่งสู่ยุคหนึ่งหรือไม่ เพียงใด และนำไปสู่การเชื่อมโยงชีวิตเครื่องหอมในประเทศต่างๆในทวีปอื่นๆ.  มุมหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ยังจัดเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชพันธุ์ที่ใช้ทำเครื่องหอม จำนวนทั้งสิ้นสามสิบห้าชนิด จึงเป็นการให้ข้อมูลแบบครบวงจร จากพืชพรรณสู่ขวดน้ำหอม.   “การจัดพิพิธภัณฑ์ตามหัวข้อที่ได้เลือกไว้เช่นนี้  จึงสะท้อนสังคมของเราในศตวรรษที่ 21 และเป็นพยานของขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมที่ประเทศในยุโรปมีร่วมกัน.
อ่านรายละเอียดอื่นๆเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ได้ที่นี่

ข้อมูลต่อไปนี้จากนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ ที่ได้ให้คำอธิบายประกอบเป็นสามภาษา (ฝรั่งเศส, อังกฤษและอิตาเลียน) และที่โยงเป็นเครือข่ายความรู้เกี่ยวกับน้ำหอมและเครื่องหอม.  ข้าพเจ้าเลือกและรวบรวมนำมาเสนอพอเป็นตัวอย่างสองสามหัวข้อเท่านั้นดังต่อไปนี้

ประเพณีเครื่องหอมในอีจิปต์
ในโลกโบราณ ความเชื่อในประสิทธิภาพของพืชสมุนไพรว่ามีอำนาจในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บนั้น อยู่เหนือและเกิดขึ้นก่อนการรู้จักนำพืชสมุนไพรไปปรุงกลิ่นอาหาร. คนในยุคนั้น เชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ มากพอๆกับสรรพคุณทางอายุรเวช.  ในยุคกลาง พืชพรรณทั้งหลายและเครื่องเทศเกือบทั้งหมดนำเข้าจากตะวันออก แต่ละชนิดแต่ละประเภทมีคุณสมบัติเฉพาะเจาะจงของมัน.  ระบบการใช้ยาในยุคกลางตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้เชิงประจักษ์ จากประสบการณ์ จากการทดลองใช้ และยังเกี่ยวโยงไปถึงระบบสัญลักษณ์ของศาสนาด้วย.  เครื่องหอมหรือน้ำหอมเป็นเครื่องมือสื่อสารชนิดหนึ่งกับพระเจ้า.  โลกโบราณเป็นพยานที่ชัดเจนที่สุดในเรื่องนี้มากกว่ายุคอื่นใด.  คนโบราณใช้ควันหอมของธูปนำทางไปสู่พระผู้เป็นเจ้า หรือขอให้พระเจ้ามาปรากฏตัว หรือเอาน้ำมันหอมชโลมรูปปั้นเทพต่างๆ.  เครื่องหอมหรือน้ำหอมจึงสำคัญยิ่งในพิธีกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับศานาโดยตรงหรือไม่. 
         ในอีจิปต์โบราณ กระบวนการทำมัมมี่คือการทำให้ผู้ตายบรรลุความไม่ตายหรือ “อมตะวิสัย”. การทำมัมมี่เป็นการประกันว่าร่างกายนั้น (คนหรือสัตว์) จะคงอยู่เต็มตัว ครบและสมประกอบทุกประการ เพื่อผ่านไปยังชีวิตนิรันดร์หลังความตาย.  การต้องอบหอมศพนั้น เพื่อให้คนตายมีกลิ่นหอมของเทพเจ้า เพราะเอกลักษณ์หนึ่งของความเป็นเทพ คือการมีร่างหอมอบอวล. ดังนั้นคนตายที่มีร่างหอมๆจึงทำให้เทพเจ้ายอมพาไปอยู่ในที่สถิตของทวยเทพด้วยเป็นต้น.
         ประติมากรรมข้างล่างนี้ แสดงให้เห็นการตระเตรียมดอกบัว(สีฟ้า) เพื่อนำไปผสมกับน้ำมันและครีม  (อ่านภาพจากขวาไปซ้าย)  สองคนทางขวาของภาพกำลังเก็บดอกบัว  คนที่สามจากขวารวบรวมไว้ในตะกร้า ใบหน้ายังหันไปในทิศทางของสองคนริมขวาของภาพ เพื่อบอกว่าเขาเดินไปจากกลุ่มคนทางขวา กำลังนำตะกร้าดอกบัวออกไปจากทุ่ง.  คนที่สี่มีตะกร้าทูนไว้บนหัว ใบหน้าหันไปทางซ้าย ไปยังพื้นที่ตระเตรียมการสกัดดอกบัว  คนที่ห้าและคนที่หก ได้นำกลีบดอกไม้รวมกันในผ้าขาวบางผืนใหญ่ ที่กางเหนือภาชนะเหมือนโอ่งที่รองรับอยู่ข้างใต้  ทั้งสองกำลังบิดผ้าจากสองข้างโดยใช้ไม้ช่วย  สารสกัดจากดอกบัวหยดจากผืนผ้าลงในโอ่ง.  คนที่เจ็ดหันหลังในคนอื่นๆ บอกให้รู้ว่าเมื่อสกัดน้ำมันหอมจากดอกบัวได้แล้ว เทออกจากโอ่งลงคนโทใหญ่.  มือของเขาประคองคนโท กำลังเทลงในภาชนะขนาดเล็กลงอีก เพื่อนำไปใช้ในแต่ละครั้ง.  ก่อนนำไปใช้ มีการผสมสารสกัดที่ได้กับน้ำมันหรือสารเหลวที่มีระดับแอลกอฮอลสูง(ที่หาได้ในยุคนั้น)  และในขั้นสุดท้ายเทลงในถ้วย ในโถขนาดเล็กๆ  เพื่อมอบให้เจ้าของหลุมศพนั้น (ไม่เห็นในภาพนี้) 
ประติมากรรมจำหลักนูนจากสุสานของ Païrkep ในประเทศ (ราว595-589 ปีก่อนคริสตกาล)
น้ำหอมบอกสถานะทางสังคม  ผู้ตายบางคนมีเครื่องหอมจำนวนมาก มีทั้งน้ำมันหอม ครีมกระปุกเล็กกระปุกน้อยที่ถูกนำใส่ไปในโลงศพด้วย ในภาพข้างล่างนี้ ขบวนคนยกโถ กระปุก คนโทใส่เครื่องหอมมากันพร้อมหน้า.
         ด้านขวาของภาพ เห็นเหล่าสตรีและเด็กผู้หญิงซึ่งน่าจะเป็นลูกสาวหลานสาว กำลังสวดวิงวอนต่อเทพเจ้า  ทั้งหมดยกมือขึ้นสูง เป็นท่าเรียกและขอร้องให้มารับวิญญาณผู้ตาย. ครึ่งภาพด้านซ้าย มีชายสามคน เดินตามกันมา แต่ละคนยกสรรพสิ่งของผู้ตาย เพื่อผู้ตาย. คนแรกตรงกลางภาพ มีของวางบนโต๊ะ มองไม่ชัดว่าอะไร อาจจะเป็นเสื้อผ้า เห็นรองเท้าแตะหนึ่งคู่คล้องพาดบนขาโต๊ะให้ห้อยลง. คนที่สองมือสองข้างประคองโต๊ะเล็กๆขึ้นสูงในระดับไหล่  บนโต๊ะตัวหนึ่งมีคนโทสูงก้มกลมปากเล็กสองใบ  บนโต๊ะอีกตัวหนึ่งก็มีคนโททรงสูงแต่ไม่ป้อมอีกสองใบ ทั้งหมดนี้คือภาชนะที่ใส่เครื่องหอมที่เตรียมมาให้ผู้ตาย.  คนที่สามยกเก้าอี้มา  อีกมือหนึ่งถือแผ่นอะไรแผ่นหนึ่งมาด้วย (ไม่อาจเจาะจงได้ว่าอะไร) แต่ที่แน่ๆคือสรรพสิ่งเหล่านี้นำมาให้ผู้ตายเพื่อผู้ตาย. ทั้งหมดใส่รวมลงไปในโลงศพผู้ตายด้วย.
        เครื่องหอมที่น่าจะเก่าแก่ที่สุดที่คนแกะรอยไปได้ในอดีต บนดินแดนอีจิปต์ คือ  กำยาน (kamyan หรือ frankincense) ที่เป็นยางไม้ชนิดหนึ่ง ไม่มีในอีจิปต์ แต่เพราะเป็นสิ่งมีค่าสูงในวิถีชีวิตของชาวอีจิปต์ พวกเขาจึงไม่ลดละที่จะเดินทางไปเอาพืชพันธุ์สมุนไพรจากต่างแดน.  ดั้งเดิมจากประเทศ Yemen, Oman, Somalia.  จารึกการเดินทางที่มีชื่อเสียงมากที่สุดอยู่ในราวปี 1500 BC. ในสมัยของแฟโรสตรีชื่อ  Hatchepsut [ฮัตเฉ็บสู้ต]  ที่ได้ส่งกองเรือห้าลำ ออกไปยังเกาะ Punt ใน Somalia. พวกเขาได้นำธูปกำยาน, เมอร์, อบเชย (cannelle / cinnamon) กลับมาเป็นจำนวนมาก รวมทั้งต้นไม้ที่เกิดของธูปกำยานอีก 31 ต้นที่นำกลับมาพร้อมดินจากถิ่นกำเนิดห่อหุ้มรากมาด้วยดี.  เหตุการณ์นี้ได้จำหลักไว้บนกำแพงวัดที่ Deir el Bahari ในอีจิปต์. คำ incense มาจากคำละตินว่า incensum แปลว่า สิ่งที่ถูกเผา. การเผาน่าจะเกิดขึ้นเมื่อคนค้นพบ “ไฟ”. คำนี้จึงได้ให้กำเนิดคำว่า perfum / perfume จากคำว่า per fumum ที่แปลว่า เพื่อ+เผา ในความหมายของ ด้วยไฟ  เท่ากับเจาะจงที่มาของกลิ่นหอมว่า เกิดจากการนำสารหอมไปเผาไฟนั่นเอง, ยางไม้เมอร์ (myrrhe / myrrh ที่เป็นของเหลวเหมือนน้ำตาที่ไหลออกมาจากลำต้น แล้วแข็งตัวเป็นก้อนใหญ่ติดอยู่กับต้น  ต่อมาก็แห้งลงๆ สีเข้มขึ้นจนเกือบแดง. เมอร์ เป็นเครื่องหอมทาตัว และจำเป็นสำหรับการอบศพทำมัมมี่), นอกจากสองสิ่งนี้ ยังมี amber (ยางไม้ที่แข็งตัว), ambergris [แอ๊มเบอะกริซ] (เป็นสารหลั่งที่เกิดจากความผิดปกติในระบบย่อยอาหารในปลาวาฬ sperm whale), musk ( มัซค์ เป็นสารสกัดจากต่อมลูกหมากของชะมดตัวผู้), benjoin (หรือ benzoin ก็เป็นยางไม้อีกชนิดหนึ่งที่นำมาใช้ในการผลิตน้ำหอม เครื่องสำอางและในวงการแพทย์) และ coumarine [กูมารีน] (มาจากคำ cumaru ภาษาถิ่นลุ่มน้ำอาเมซอนในอเมริกาใต้ ที่ใช้เรียกเมล็ด(ถั่ว)จากต้น Tonka / Tonka bean = ถั่วต๊งกะ)  กูมารีนมีกลิ่นเหมือนฟางที่เพิ่งตัดมาใหม่ๆ ผสมกับกลิ่นหวานๆขมๆของแอลมอนด์.

         สำหรับชาวยุโรป อารยธรรมอีจิปต์โบราณ คือภาพลักษณ์ของสติปัญญาอันชาญฉลาด, ของความรู้, ของความยุติธรรม, ทั้งยังเป็นแหล่งรวมความงาม ความประณีตอย่างมีศิลป์. อีจิปต์จึงมีทุกอย่างพร้อม เป็นบ่อเกิดของแรงบันดาลใจอันวิเศษยิ่ง.  วิถีการผลิตและการเก็บรักษาเครื่องหอมของชาวอีจิปต์ จักเป็นแบบอย่างสำคัญสำหรับนักปรุงน้ำหอมชาวยุโรปในศตวรรษที่ 20. (ดูเรื่องราวเกี่ยวกับ “อีจิปต์-อู่ทองของเครื่องหอมโบราณ” ในบล็อกที่นี่ >> http://www.chotirosk.blogspot.com/2015/07/egypt-cradle-of-perfumery.html  )
         ศิลปินในยุคของจักรวรรดิโรมัน ก็ซึมซับแรงบันดาลใจจากอีจิปต์โบราณมาแล้ว  และส่งผ่านมายังชนชาติยุโรป.  โดยเฉพาะตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา  ทุกอย่างที่เกี่ยวกับอีจิปต์ ประทับจิตประทับใจยิ่งนัก.  ชาวยุโรปหลงใหลอารยธรรมอีจิปต์ โดยเฉพาะเมื่อนโปเลียนยกทัพไปถึงอีจิปต์ (les campagnes en Egypte et en Syrie, 1798-1801)  ได้นำสมบัติจำนวนมหาศาลทุกรูปแบบจากอีจิปต์กลับมาที่กรุงปารีส (พิพิธภัณธ์ le Louvre จัดแผนกอีจิปต์โดยเฉพาะ เพื่อเป็นที่รวมสรรพสิ่งที่นำมาจากอีจิปต์ ระหว่างปี 1824-1827 ที่ประมาณกันว่ามีถึง 9000 ชิ้น เป็นแผนก Département d’Antiquités Egyptiennes. ในที่สุดทุกประเทศต่างมุ่งไปสู่อีจิปต์เพื่อไปเอาสมบัติของพวกเขามาเก็บไว้ในชาติของตน. อย่างน้อยก็ขอให้มี obelisk สักชิ้นในแต่ละประเทศ.  ดูรายละเอียดเกี่ยวกับแผนกอีจิปต์โบราณของพิพิธภัณฑ์ Le Louvre ได้ที่นี่ >>>
ฝรั่งเศสและอังกฤษแข่งกันอยู่ในที ว่าใครจะได้ไปมากกว่ากัน.  เปิดศักราชของการขุดค้นทางโบราณคดีในอีจิปต์อย่างกว้างขวาง  การแกะอักษรภาพ hieroglyphs (cf. Champollion, 1790-1832. ชาวฝรั่งเศสผู้มีชื่อในฐานะผู้แกะตัวอักษรภาพของอีจิปต์และระบบภาษาภาพของอีจิปต์ เป็นผู้สถาปนาอีจิปต์ศึกษาขึ้น ).  การค้นพบสุสานขนาดมหึมาและสิ่งอื่นๆอีกจำนวนมาก ทำให้ประเทศอีจิปต์กลายเป็นดาวดวงเด่นของสังคมยุโรป.  เกิดการค้าขายโบราณวัตถุ และผลิตภัณฑ์ทุกอย่างจากอีจิปต์ ที่พัฒนาไปถึงการทำแบบจำลองเลียนแบบของจริง ออกมาสู่ตลาดด้วย.

เครื่องสำอางจากอีจิปต์ที่รู้จักกันดีและแพร่หลายไปในหลายชนชาติ คือ ผง kohl [โคลฺ] สีดำ ทำจากทำจากเกลือแร่แอนติโมนีซัลไฟต์หรืออื่นๆ, จากแร่พลวง(antimony), จากกำยาน(benzoin) (เช่นที่ Maghreb และตะวันออกกลาง), บางทีนำมาจากคราบควันดำๆที่ได้จากการจุดตะเกียงน้ำมัน (พวกเอสกิโม Inuits ในขั้วโลกเหนือ), หรือเอาขี้เถ้าจากการเผาไม้ (ในแดนอาเมซอน), จากกระดูก, จากการเผางาช้างหรือจากน้ำมันดิน (bitumen, เช่นที่ใช้กันในตะวันออกกลาง, หรือจากอ๊อกไซด์ของธาตุแมงกานิสปนกับน้ำมันหมู (lard / saindous ในภาษาฝรั่งเศส เช่นแถบทวีปอเทริกาเหนือ). ใช้อย่างไร มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับแต่ละยุคสมัยในถิ่นต่างๆ.ชาวอีจิปต์นำมาบดในครกดังตัวอย่างครกหินอลาบาซในภาพข้างล่างนี้.  ผง Kohl มิได้ใช้เฉพาะในหมู่ผู้หญิงเท่านั้น  แต่โคลฺมักเป็นอาวุธของผู้หญิงแบบหนึ่ง ช่วยเน้นภาษาสายตาของนาง.  คนใช้ผง kohl ทาบนหนังตารอบๆดวงตาเป็นเส้นยาวเรีย เลยหางตาออกไปก็มี และใช้เขียนคิ้วให้ดำขลับด้วย.  เช่นนี้ทำให้ใบหน้าคมเข้ม แก้มและริมฝีปากก็โดดเด่นขึ้น. ส่วนผิวหน้านั้นจะฟอกขาวด้วยสารอ๊อกไซด์ของตะกั่ว.  การใช้ติดต่อกันทำให้หญิงสาวยุคนั้นหมดสวยไปดังในจารึกของแพทย์ที่ตกทอดมา ที่ได้ระบุเตือนภัยไว้ว่า  อย่าใช้มาก สารตะกั่วเป็นอันตรายต่อร่างกาย  (คนในปัจจุบันที่ฟอกหน้าให้ขาว ควรระวัง!!! สวยชั่วครู่ชั่วคราวเท่านั้น ปัญหาจะตามมาแน่นอน).
          การแต่งตานอกจากเล็งเสริมความงามให้กับลูกตาแล้ว  ยังมีหน้าที่อื่นที่สำคัญไม่น้อย เพราะมีประสิทธิภาพในการรักษาเส้นประสาทของดวงตา และเพราะคนเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ว่า ความดำมืด ดำสนิทของโคลฺ เพิ่มพลังอำนาจแก่สายตา เหมือนผนึกอาถรรพ์ขับไล่มารร้ายต่างๆให้พ้นตัวได้.  ในชุมชนบางแห่งทุกวันนี้ พวกผู้ชายยังทารอบวงตาให้ดำสนิทอยู่อีก เป็นเคล็ดเสริมท่าทางอันสง่าและความฮีกเหิมแบบลูกผู้ชาย.

ชาวอีจิปต์แกะสลักหินอลาบาสเตอร์มาทำเป็นที่บดที่โขลกเมล็ดพืชสมุนไพร หรือเม็ดเกลือแร่ก่อนนำไปปรุงเป็นสารที่ต้องการ  เทียบกับโกร่งบดยารุ่นหลังๆที่ใช้ในยุโรป รูปแบบการใช้งานเหมือนกัน เพียงแต่วัสดุที่นำมาทำเป็นโกร่งกับลูกบดหรือครกกับสาก ต่างกัน
หลอดใส่ผง kohl [โคลฺ] ทำจากกระดูก(ซ้าย) และงาช้าง(ขวา) 
ที่ชาวอีจิปต์ใช้กันตามปกติในช่วงศตวรรษที่ 1BC. - 4 AD. และใช้กันต่อมาในยุคของโรม.

ขวดทรงยาวทำจากทองสัมฤทธิ์สำหรับใส่ผง kohl [โคลฺ] ชิ้นแรกจากศิลปะไบแซน ศตวรรษที่ 6.  ชิ้นที่สองและสาม จากอีจิปต์หรือตะวันออกไกล ศตวรรษที่ 9-11.  หลอดยาวๆสามหลอดถัดไปคือแท่งดึงผงโคลขึ้นจากกระปุกทรงยาวคอเล็กและแคบ  น่าจะมาจากแหล่งเดียวกัน.  ส่วนชิ้นขวาสุดในภาพเป็นขวดทรงผอมยาว ทำจากงาช้างพร้อมแท่งยาวๆที่สอดเข้าไปเพื่อดึงผงโคลขึ้นมาใช้ จากอีจิปต์ ราวศตวรรษที่ 6.
 ตัวอย่างขวดหรือกระปุก(โลหะ) บรรจุผง Kohl [โคลฺ] มาจากแดนราชสถานในอินเดีย
ปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20
เฉกเช่นชาวอีจิปต์ ชาวกรีกโบราณใช้เครื่องหอมในพิธีกรรมทางศาสนา แต่เพิ่มการใช้เครื่องหอมในวิถีชีวิตทางโลกมากกว่าชาวอีจิปต์.  ขนบการรักษาความงามของร่างกายทั้งชายและหญิง ไม่ว่าเรื่องการอาบน้ำ แช่น้ำพุร้อน หรือการออกกำลังพัฒนารูปร่างให้สมสัดส่วน  เป็นค่านิยมที่ชาวกรีกโบราณยึดมาตลอดเวลาว่า  จิตใจและคุณธรรมย่อมพัฒนาควบคู่กับร่างกายที่งดงาม. ทั้งสองส่วน ควรจะสะท้อนกันและกัน.  การสำรวจทางโบราณคดีศึกษาให้ความรู้เกี่ยวกับกรีซโบราณว่า เป็นสังคมที่ยกคุณค่าของเหตุผลและคุณธรรมขึ้นสูงมาก.  ในศตวรรษที่ 19 เมื่อการเดินทางสะดวกและรวดเร็วขึ้น การขุดค้นทางโบราณคดีศึกษาวิวัฒน์พัฒนาอย่างรวดเร็วและแพร่หลาย ทำให้โลกได้เรียนรู้เกี่ยวกับกรีซโบราณ. ในศตวรรษที่ 20 ยุโรปถือว่า กรุงอาเธนส์เป็นอู่วัฒนธรรมของประเทศในยุโรป.
ที่เมือง Olympia  นักกรีฑามี  strigil [สตรี๊เจิ่ล] ติดตัว (ดูภาพข้างบน). Strigil เป็นท่อนเหล็กดัดให้งอโค้งและขัดให้ขอบมนๆ  ที่นักกีฬากรีกใช้ถูไปตามลำตัวและแขนขา หลังจากที่ชโลมน้ำมันทั้งตัวแล้ว เพื่อขูดคราบเหงื่อไคลและฝุ่นออก (นอกจากกระตุ้นการหมุนเวียนของโลหิต)  ก่อนออกไปกลางแดดฝึกการกรีฑาประเภทต่างๆใต้แสงแดดและคละฝุ่นบนสนามประลองกำลัง.  ชาวโรมันก็มีเครื่องมือนี้ติดตัว ไปในสถานอาบน้ำแช่น้ำ (thermes).  ผู้ชายใช้เพื่อชำระล้างร่างกาย  ผู้หญิงใช้เพื่อขจัดคราบครีมหรือน้ำมันที่พวกเธอทานวดไปทั้งตัวก่อนเป็นการบำรุงผิว แล้วจึงมาขูดออกด้วย strigil นี้ตอนอาบน้ำ.
         กรีซมีขนบธรรมเนียมเกี่ยวกับความงามอย่างชัดเจน  เริ่มจากการรักษาหน้าตาให้เป็นไปตามแบบธรรมชาติ เหมือนเทพธิดาในตำนาน ไม่มีการใช้เครื่องสำอางตกแต่งใดๆ.  แต่ต่อมาผู้หญิงตามเมืองใหญ่ๆสนใจเครื่องหอมและเครื่องผัดหน้าที่ไปจากอีจิปต์และจากเอเชียตะวันออกกลาง  จึงเริ่มยุคของการแต่งหน้า.  ยุคแรกที่ผู้หญิงกรีกแต่งหน้านั้น ใช้สีคมเข้มตัดกันรุนแรง.  ครีมที่มาจากไขมันสัตว์ก็ส่งกลิ่นแรง  รอบดวงตาก็ทาสีดำสนิทด้วย kohl [โคลฺ]  ริมฝีปากทาด้วยผงดินแดง คิ้วก็ใช้ควันดำๆทา.  เครื่องหอมกรีกมิได้จำกัดอยู่ภายในวัดหรือพระราชวังเท่านั้น แต่แผ่ออกไปสู่ตลาดชุมชนด้วย.
         การผลิตน้ำหอมในกรีซเพิ่มปริมาณและความหลากหลายมากขึ้น เพราะได้อาศัยเครื่องหอม “หนักๆ” จากแดนตะวันออก รวมทั้งสารหอมสกัดจากสัตว์ (musc, amber gris..) ที่กรีซนำเข้าไปใช้อย่างแพร่หลาย.  บรรจุภัณฑ์ก็พัฒนาไปตามวิธีการใช้เครื่องหอม และเป็นผลผลิตของแต่ละโรงงาน.  คุณค่าของบรรจุภัณฑ์หรือคุณค่าของขวดน้ำหอม บอกคุณค่าของน้ำหอมที่อยู่ภายในขวดนั้น.  มีตั้งแต่แบบชาม ถ้วย โถ เหยือก คนโท ที่เป็นเซรามิค อันเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในยุคนั้น ไปจนถึงขวดขนาดเล็กที่ปั้นจากดินเหนียวเนื้อละเอียด เป็นของหรูที่สุดในยุคนั้น(เรียกว่า fiole / phial [ฟายเอิล] ขวดขนาดเล็ก ขวดยา. la faïence / earthenware เครื่องปั้นดินเผา ดินเหนียว).  กล่าวสรุปสั้นๆได้ว่า ชาวกรีกที่พอมีเงินอยู่บ้าง นำเครื่องหอมของเขาติดตัวไปกับเขา สู่ภพหน้า. 
ตัวอย่างเครื่องปั้นดินเผากรีก รูปแบบต่างๆและขนาดต่างๆ  ขนาด “เล็ก” ตามที่เห็นในภาพ จึงน่าจะใช้สำหรับบรรจุน้ำหอม น้ำมันหอม น้ำมันนวดชโลมตัวเป็นต้น
วิวัฒนาการเครื่องหอมในกรีซ ได้ยกระดับการทำบรรจุภัณฑ์ขึ้นเป็นศิลปะแบบหนึ่ง ซึ่งโยงไปถึงการจำแนกแยกแยะและเจาะจงเครื่องหอมประเภทต่างๆ ว่าเครื่องหอมแบบใดเหมาะกับบรรจุภัณฑ์แบบไหน. 

         เครื่องปั้นดินเผาหรือเซรามิคของกรีซโบราณ มีรูปแบบต่างๆกันหลากหลายชนิด ที่ทำขึ้นเพื่อจุดมุ่งหมายต่างๆกันไป ขนาดก็ต่างๆกันเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์หนึ่งอย่างเจาะจง.  เมื่อดูรายการทั้งหมดดังที่เห็นในภาพ  การเรียกเจาะจงเป็นภาษาไทยแต่ละชนิดนั้นทำไม่ได้  บ้างอาจแปลเป็นขวด เหยือก ชามก้นลึก ถ้วยขนาดใหญ่เล็ก มีหูหิ้ว หรือที่จับ แบบไหน กี่หู ฯลฯ  ภาพนี้เป็นผลงานศึกษาวิจัยของศาสตราจารย์ Herman Weis ในหนังสือชื่อในภาษาอังกฤษว่า History of culture, Ancient Greece  ชื่อดั้งเดิมในภาษารัสเซียคือ («История культуры народов мира. Древняя Греция») автор. Г. Вайс. พิมพ์ที่ Moscow ปี 1903  (ภาพจาก commons.wikimedia.org ในหัวข้อ Shapes of ancient Greek pottery). 
  เครื่องปั้นดินเผาสมันศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาลจากกรีซ
ดูรายละเอียดต่อไปใน http://www.ancient.eu/Greek_Pottery/

นอกจากนี้ยังมีขวดน้ำหอมรูปวงแหวน เรียก aryballe annulaire หรือสั้นๆว่า aryballe ใช้บรรจุน้ำมันหอมที่นักกีฬากรีกใช้ทาตัว.  รูปร่างแบบวงแหวนเช่นนี้ทำให้สะดวกต่อการผสมเครื่องหอมอื่นๆลงไป ก่อนนำไปใช้ ด้วยการปิดปากขวดด้วยนิ้วหัวแม่มือ.  ชาวกรีกบางทีห้อยไว้ตรงข้อมือ (ผูกเชือกร้อยกับรูหูหิ้วแล้วคล้องบนข้อมือ) เมื่อนำไปชำระล้างตัวในสถานอาบน้ำ(สาธารณะ) 

 กระปุก โถ เหยือก หรือขวด เซรามิคจากกรีซโบราณ
กระปุก la pyxide (จากภาษาละติน Pyxidis [ปิ๊กสิดิซ])  แรกเริ่มเดิมทีแกะจากไม้ต้นบ็อกส์ (box tree) สำหรับใส่ยา ต่อมากลายเป็นแบบให้ทำกระปุกเซรามิคในแถบ Corinth ที่ผู้หญิงนำไปใส่ครีมทาหน้า หรือเครื่องสำอางอื่นๆ  บางทีก็เป็นที่เก็บเครื่องประดับแก้วแหวนเพชรพลอย  ต่อมาทำจากงาช้างหรือโลหะอื่นๆ.
 เครื่องปั้นดินเผาสองชิ้นนี้ จากกรีซโบราณ ไม่สามารถระบุแหล่งที่มา
 กระปุกทางซ้ายเรียกว่า lekané  ส่วนทางขวาเรียกว่า pyxide (pyxidis ในภาษาละติน)
เครื่องปั้นดินเผารูปแบบต่างๆจากพิพิธภัณฑ์ ที่ใช้บรรจุเครื่องสำอางประเภทต่างๆ 
ทางซ้ายสุดเป็นด้านหลังของกระจกเงาส่องหน้า ทั้งหมดจากยุคกรีกโบราณ
ตัวอย่างกระจกส่องหน้าในพิพิธภัณฑ์ เน้นความรักสวยรักงามของชาวกรีก.  หากกระจกเคยสะท้อนภาพสตรีกรีก(หรือนักกรีฑาหุ่นงาม) ในยุคศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล  อีกด้านหนึ่งของกระจกก็สะท้อนวัฒนธรรมของสังคมกรีกเช่นกัน.  ปกติมักมีภาพของเทพเจ้าหรือวีรบุรุษในตำนาน บางทีเป็นภาพพิธี หรือภาพชีวิตประจำวัน ประดับด้านหลังของกระจกที่ทำจากทองสัมฤทธิ์. 
          ตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาลเครื่องปั้นดินเผาและเซรามิค ตามด้วยเครื่องลายคราม เริ่มมีรูปลักษณ์แบบต่างๆ.  ผู้เชี่ยวชาญเครื่องเซรามิคจัดกลุ่มบรรจุภัณฑ์เซรามิคบางแบบว่าเป็น ขวดปลาสติก (หาได้หมายถึงวัสดุที่เป็นปลาสติกอย่างขวดน้ำปลาสติกไม่. แต่โยงไปถึง l’art plastique / plastic art)  ตามจินตนาการและความชอบส่วนตัวของนายช่างศิลป์ผู้สร้างหรือของผู้ว่าจ้างให้ทำ เช่นเป็นขวดรูปหัวคน รูปสัตว์ รูปบุคคลในท่าต่างๆกัน.  ตัวอย่างขวดนี้เป็นของทหารหรือของนักกีฬา ผู้ต้องการให้ขวดบรรจุน้ำมันของตนสื่อการมีชัยในการต่อสู้.
 ขวดบรรจุน้ำมัน

เครื่องปั้นดินเผารูปสัตว์ ศตวรรษที่ 1 AD ของชาวโกล (Gaule) 
อีกแบบหนึ่งจากอีจิปต์ (ราวศตวรรษที่ 2-3 AD) เป็นรูปครึ่งตัวของ satyr
(เทพเจ้ากรีก ตัวเป็นคน ขาเป็นแพะ)

ชาวโรมันค้นพบน้ำหอมและเครื่องหอมเมื่อยกทัพไปรุกรานกรีซ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล. การขยายอาณาจักรโรมันไปในโลก ทำให้ชาวโรมันรู้จัก  เข้าใจและเกิดความต้องการพืชพรรณสมุนไพรและเครื่องหอมทั้งหลาย ที่มาจากประเทศอาหรับ แอฟริกาและอินเดีย และนำการค้าสมุนไพรและเครื่องเทศออกไปอย่างกว้างขวาง. ในสมัยของซีซาร์ การใช้น้ำหอมเพื่อกามสุขและเพื่อประทินผิว เสริมเสน่ห์รูปร่างของตนเองนั้น พุ่งถึงจุดสูงสุด. ในด้านพิธีกรรม มีการโยงเทพเจ้าหนึ่งกับน้ำหอมแบบหนึ่ง  เช่นน้ำหอม Hermès

 ขวดน้ำหอมรุ่นต่างๆของ Hermès
แม้ว่าโรมจะทำให้เครื่องหอมกลายเป็นสิ่งที่ใครๆก็ใช้หรือเป็นเจ้าของได้  แต่โรมมิได้สร้างสรรค์เครื่องหอมหรือน้ำหอมประเภทใหม่ๆแต่อย่างใด.  สิ่งเดียวที่ชาวโรมันริเริ่มขึ้น คือได้พัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องหอม ด้วยการพัฒนาและส่งเสริมการค้าเครื่องแก้ว ที่เบากว่า เก็บเครื่องหอมได้แน่นหนากว่า และรักษากลิ่นหอมมิให้รั่วไหลได้ดีกว่า  เช่นนี้ เครื่องแก้วจึงได้ “ปลดเครื่องปั้นดินเผา” ลงจากบัลลังก์ที่ครองมานานเป็นพันๆปีตั้งแต่ยุคโบราณ.
         ชาวโรมันได้เรียนรู้เทคนิคการทำเครื่องแก้วจากตะวันออกกลาง และเริ่มพัฒนาศิลปะการทำเครื่องแก้ว ที่นำไปสู่การปฏิวัติการค้าเครื่องหอมอย่างก้าวกระโดด.  การสร้างสรรค์ท่อยาวๆสำหรับเป่าแก้ว และสร้างเตาอบที่มีความร้อนแรงสูงที่ทำให้วัตถุที่ใช้ทำแก้วหลอมยืดหยุ่นได้และยังใสขึ้นๆ. บรรจุภัณฑ์ที่เป็นเครื่องแก้วที่ผลิตขึ้นใหม่ยังคงมีรูปแบบของเครื่องปั้นดินเผารุ่นก่อนๆ.
        ขวดใส่เครื่องสำอางเป็นคู่หูของเครื่องหอม. หน้าตาเหมือนแจกัน ที่มีฐานทรงกว้างและมีคอยาว เป็นแบบสามัญที่พบบ่อยเพราะผลิตออกมาเป็นจำนวนมากเป็นขวดน้ำหอมในกรุงโรม  มักเป็นแก้วไม่มีสีหรือสีฟ้าเข้ม  สีแอมเบอร์หรือสีม่วง  เรียกขวดน้ำหอมแบบนี้ว่า le balsamaire.
 ขวดน้ำหอม balsamaires แบบต่างๆ เป็นเครื่องแก้ว มีคอยาว
อิตาลีพัฒนาเครื่องแก้วต่อมา จนเป็นหนึ่งในผู้นำด้านนี้  เครื่องแก้วจาก Murano เป็นที่รู้จักกันดีในโลก.

ถ้าพิจารณาเรื่องกลิ่นเป็นแกนนำแล้ว ยุคกลางและยุคเรอแนสซ็องส์ในยุโรป อาจรวมกันเป็นยุคเดียวกันได้.  ความเข้มงวดในขนบประเพณีทางศาสนา ทำให้การใช้นำหอมในโลกย์ชะลอตัวลง. แต่ในระหว่างสงครามครูเสดและต่อมาการค้นพบโลกใหม่ ทำให้มีพืชสมุนไพรและพืชพรรณใหม่ๆเข้าสู่ยุโรป.  ตั้งแต่นั้นมา แนวโน้มทุกกระแสจักโยงไปถึงสรรพคุณของพืชพรรณและเครื่องเทศชนิดต่างๆ ที่กระชับความศรัทธาและความรู้คุณต่อความรักของพระเจ้าในฐานะผู้สร้าง ผู้เนรมิตสรรพสิ่ง ทั้งพืชพรรณและสัตว์เพื่อมนุษย์ และที่ดลใจให้คนรู้จักนำมาใช้เพื่อกลบกลิ่นเหม็น. เพื่อขับไล่และป้องกันเชื้อโรคที่ระบาดบ่อยครั้งตลอดยุคกลางจนถึงยุคใหม่.  บนเส้นทางศรัทธาดังกล่าว ความเชื่อในความลึกลับและขนบการโยงสรรพสิ่งไปถึงศาสนา ทำให้มีการแยกแยะจัดระบบสรรพคุณของพืชพรรณตามสีและรูปลักษณ์ของพืชพรรณ.  ยุคกลางนี้นักประวัติศาสตร์เรียกว่าเป็น ยุคของ “Jardin des simples” (หรือ garden of the common people ที่หมายถึง สวนของสามัญชน).  นักบวชเป็นผู้ปลูก อนุบาลพืชพรรณสมุนไพรทั้งหลายที่ปลูกภายในอาณาบริเวณวัดและอาราม เพื่อเป็นคลังยาของวัด.  สวนแบบนี้ยังคงมีอยู่ในยุโรป ในเยอรมนี สเปน อิตาลี ฝรั่งเศสเป็นต้น. 
โกร่ง (mortar) และลูกบด (pestle) ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของยา การผลิตยาและในที่สุดของเภสัชกรรม. โกร่งที่เห็นจากฝรั่งเศส ทำจากสัมฤทธิ์.  การบดยาจึงเป็นการเตรียมยาขั้นพื้นฐาน ก่อนจะนำไปใช้หรือผสมกับองค์ประกอบอื่น. 
นักปรุงยาในยุคกลาง พร้อมกระปุกครีม ขวดยารูปลักษณ์ต่างๆ  บ้างเป็นรูปหัวอาหรับมัวร์  บ้างเป็นคนโทแก้วแบบฟลอเรนซ์(ดูรูปข้างล่างนี้). ส่วนเครื่องกลั่นมักเป็นเซรามิค. ในยุคเรอแนสซ็องซ์ การทำระบบท่อในถังขนาดใหญ่ที่เย็นจัด ช่วยให้การกลั่นได้ผลดียิ่งขึ้น. ตามด้วยการค้นพบว่าหากใช้แอลกอฮอลบริสุทธิ์มาช่วยดักจับและดูดซึมกลิ่นหอม ได้น้ำหอมที่คุณภาพดีกว่า เข้มข้นกว่าการใช้น้ำมันหรือไขมันที่เคยทำกันมา. วัตถุที่อยู่ในหน้าต่างโชว์นั้นมีบางชิ้นที่มาจากหลังยุคกลาง  แต่ทั้งหมดมีรูปแบบและทำจากวัตถุดิบเดียวกันกับที่ทำกันตั้งแต่ยุคกลาง. 
ตัวอย่างขวดเครื่องแก้วที่ใช้เก็บสารสกัด น้ำมันระเหยหรือน้ำหอมที่เรียกกันว่า 
เครื่องแก้วแบบฟลอเรนซ์ ผลิตภัณฑ์ในยุคศตวรรษที่19-20 จากเมือง Grasse.

อุปกรณ์ในการสกัดกลิ่นหอม ขวดแก้ว มีคอขวดเป็นกรวยยาวหักมุมกับตัวขวด
มีช่องเปิดเป็นคอสั้นๆอีกแห่งบนตัวแก้ว (เรียกว่า entonnoir)
ต้นศตวรรษที่ 19 จากเมือง Grasse.

อุปกรณ์ที่ใช้ในการกลั่นน้ำหอมแบบนี้เรียกกันว่า “tête de maure” (หัวอาหรับมัวร์)  
ทำขึ้นในระหว่างศตวรรษที่ 19-20 ในฝรั่งเศส.
 ขวดแก้วรูปร่างต่างๆที่เป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์การกลั่นหัวน้ำหอม 
ดังที่เห็นในหน้าหนังสือเก่าเล่มหนึ่ง ที่พิพิธภัณฑ์เปิดโชว์ไว้

         ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนในทวีปใด การเผาธูปหอมหรือเครื่องหอมใดเป็นการเปิดประตูสู่การสื่อสารระหว่างคนกับสิ่งที่เหนือกว่าคนที่ตาคนมองไม่เห็น. ในที่สุดคือวิธีการเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ นอกจากธูปหอมแล้ว ยังมียางไม้อีกชนิดที่เรียกว่า copal [โค้บัล] ที่ชนเผ่ามายาใช้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 AD.  Copal ยังคงใช้ต่อมาถึงทุกวันนี้ในหลายชนชาติ.
 ตัวอย่างของหม้อเผาเครื่องหอม ส่วนบนเจาะเป็นรูโปร่งๆ ใช้เผายางไม้ พบในเม็กซิโก
เป็นเครื่องปั้นดินเผาจากศตวรรษที่ 13-15
ผลิตภัณฑ์บรรจุเครื่องหอม (ที่อาจเป็นน้ำมันหอมระเหย เป็นสารหอมอัดเป็นก้อนแข็งหรือเป็นผง) บางแบบมีฝาครอบ ฝานี้เจาะเป็นรูเป็นช่องเพื่อให้กลิ่นหอมลอดผ่านออกมาสู่พื้นที่แวดล้อม.  บางแบบให้จุดไฟได้เพื่อให้ความร้อนเร่งการกระจายของกลิ่นหอมออกมา. บางแบบไม่ต้องเผา สารหอมก็กระจายกลิ่นอ่อนๆออกมาได้.  แบบที่เห็นตรงกลางภาพที่มีโซ่เชื่อมฝากับฐานของกระปุกนี้ เรียกว่า encensoir ที่คริสต์ศาสนาใช้ในพิธีกรรมต่างๆในวัด และเมื่อจุดธูปหอมที่บรรจุไว้ภายใน และปิดฝาครอบจนแน่นแล้ว พระผู้ประกอบพิธีจะแกว่งกระปุกธูปแบบนี้ไปมาจากซ้ายไปขวาหรือขวาไปซ้าย เพื่อให้ควันหอมกระจายออกมามากและเร็ว และแผ่ออกไปทั่วบริเวณพิธี.  ควันที่แผ่ออกนั้นเหมือนวาดอาณาเขตหรือกำหนดพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่พระเจ้า(อาจ)มาปรากฏตัว.  ควันหอมจึงเป็นวิธีการสื่อสารกับพระเจ้า หรือเรียกร้องความสนใจจากพระเจ้าเป็นต้น.  การใช้ธูปหอมแบบนี้แพร่หลายและทำกันอย่างต่อเนื่องเมื่อคริสต์ศาสนาสถาปนาขึ้นอย่างมั่นคง.  แต่การอบหอมผู้ตายกลับยุติลง.  คนชำระล้างตัวผู้ตายในอ่างน้ำสมุนไพรที่มีกลิ่นหอม แล้วจะห่อทั้งตัวด้วยแผ่นหนังหรือผ้าใยลินิน. 



 ชุดเผาสารหอม ผลิตภัณฑ์ฝรั่งเศสราวปี 1824-1830.
 

นี่คือโต๊ะทำงานหรือออแกนของนักปรุงน้ำหอม ตามศัพท์ที่ใช้กันว่า  orgue à parfum (หรือออแกนของนักปรุงน้ำหอม). ลักษณะของโต๊ะ การจัดเรียงขวดหัวน้ำหอม ไม่ผิดกับคีย์บอร์ดของออแกน  นักปรุงน้ำหอมเหมือนนักเล่นออแกนหรือเปียโน รู้ชัดเจนว่า ขวดไหนคือหัวน้ำหอมจากอะไร มีกลิ่นอย่างไร เขาจะปรุงน้ำหอมจากขวดนั้นหรือขวดใด เพื่อให้ได้กลิ่นที่วิเศษสุดที่เขาต้องการ. เขาต้องผ่านการฝึก ประสบการณ์(เหมือนชั่วโมงบิน) เป็นปีๆ เพื่อจดจำกลิ่น  ชี้เจาะจงกลิ่น แยกกลิ่นและจับคู่กลิ่น “งามๆ” ออกมา. กว่าจะมีความรู้ได้ถึงเพียงนั้น ต้องใช้เวลาเป็นปีๆเลยทีเดียว. วิธีการเรียงขวดน้ำหอม น่าจะเป็นไปตามระบบที่ถือปฏิบัติกันมา อาจเรียงตามประเภทกลิ่นก็ได้.  ห้องปรุงน้ำหอม ก็ไม่ควรมีกลิ่นอื่นใดรบกวนประสาทของนักปรุงน้ำหอม และควรมีอุณหภูมิคงที่ เพื่อให้สารระเหยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่บริสุทธิ์.  แต่การพิสูจน์กลิ่นนั้น น่าจะต้องให้กลิ่นผ่านทุกสภาวะอากาศและทุกสภาพแวดล้อม เพราะทุกอย่างส่งผลกระทบต่อกลิ่นทั้งนั้น.   ผิดจากดนตรีตรงนี้ เพราะดนตรีน่าจะโดดเด่นขึ้นเหนือสภาพแวดล้อม. อย่างไรก็ดี การเทียบกับเครื่องดนตรีนั้น จึงมิใช่เพื่อความโก้เก๋ แต่เพราะกลิ่นกับดนตรีมีคุณสมบัติร่วมกันหลายอย่าง ไม่มีรูป จับต้องไม่ได้ ไม่มีสี ไม่มีรส และล่องลอยหายวับไปในอากาศได้รวดเร็วที่สุด.  แต่อัจฉริยะของคน ของนักดนตรี ของนักประพันธ์ดนตรี ได้แสดงให้เห็นว่า พวกเขาสัมผัสมันได้ ทำให้มันมีสีสันได้ ทำให้มีรสชาติประทับใจได้ ทำให้มันคงอยู่ต่อไปได้ในความทรงจำของเรา.  กลิ่นแม้จะมีข้อจำกัดกว่า  แต่ก็มีศักยภาพไม่แพ้กัน  ตามที่นักวิทยาศาสตร์และนักจิตวืยาได้ศึกษาวิเคราะห์มาว่า น้ำหอมทิ้งร่องรอยถาวรมิลบเลือนไปได้จากความทรงจำของผัสสะของคน.

กล่องกระดาษอย่างดีประดับภาพสวยงามลวดลายอีจิปต์ ตั้งชื่อไว้ว่า Nefertiti.
 กล่องกระดาษกล่องกลมๆประดับสวยงามแบบนี้ เป็นกล่องบรรจุผิวมะกรูดอบแห้ง(เป็น “เครื่องหอม” ชนิดหนึ่งที่นิยมกันมากในยุคนั้น). ในศตวรรษที่ 18 เมือง Grasse ผลิตกล่องแบบนี้จำหน่าย ที่ไม่เคยมีผู้ใดทำมาก่อน  เป็นผลิตภัณฑ์เฉพาะของเมือง Grasse ที่ขึ้นหน้าขึ้นตาไปทั่วยุโรป. ปัจจุบันนี้ ไม่มีผู้ใดทำอีกแล้ว. กล่องเซรามิค กล่องโลหะหรือกล่องปลาสติกเข้าไปแทนที่กล่องแบบเก่าจากงานฝีมือของชาวเมือง Grasse. ส่วนขวดใส่น้ำหอมที่คนพกติดตัวหรือที่คนวางโชว์ไว้บนโต๊ะเครื่องแป้ง รวมทั้งขวดโลชั่น, กระปุก, ตลับ, กล่องขนาดและรูปร่างต่างๆ. ต่างแข่งกันทั้งในด้านความเก๋และความประณีต 
จนเกือบจะกล่าวได้ว่า  ความสำคัญของ “เปลือกนอก” เท่าเทียม “สิ่งที่บรรจุอยู่ข้างใน” 
ตลับแบบต่างๆ

ในยุคแรกๆของการผลิตน้ำหอม ขวดที่ใช้บรรจุน้ำหอมขายนั้น ยังคงเป็นแบบเรียบๆ แล้วค่อยๆแปรงร่างให้น่าพิศน่ามองมากขึ้นตามลำดับในศตวรรษที่ 19 และมีแนวโน้มไปสู่การสร้างแบบถาวรเฉพาะของแต่ละบริษัทผู้ผลิตน้ำหอมด้วยในยุคปัจจุบัน.  กว่าจะถึงเวลานั้น แผ่นป้ายติดบนขวดน้ำหอม ที่เป็นเครื่องหมายการค้าในยุคนั้น จึงมีบทบาทสำคัญที่ดึงดูดใจให้คนซื้อและทำให้น้ำหอมเผยแพร่ออกไป.  แผ่นป้ายเหล่านี้ นับได้ว่าเป็นผลงานดีเด่นของผู้ออกแบบที่สามารถนำเสนอภาพที่สื่อความหอม ความสดชื่นแจ่มใส ความงาม และในที่สุดกระตุ้นความอยากใช้. 
ดีไซน์แผ่นป้ายติดบนผลิตภัณฑ์น้ำหอมและเครื่องสำอางอื่นๆ เจาะจงดอกไม้หรือผลไม้ที่ใช้เป็นหลัก รวมทั้งชื่อผู้ผลิต. ในที่นี้เป็นตัวอย่างจากผู้ผลิตเมือง Grasse.
 



         แก้วเป็นวัตถุที่คนหลงใหลกันมากที่สุดในยุคกลาง เพราะความที่เป็นวัตถุโปร่งแสงและประสิทธิภาพในการเก็บกักของเหลวและสาร ระเหยได้ดีกว่าวัตถุอื่นใด  แต่ในยุคนั้น แก้วเป็นวัตถุราคาแพง.  รูปลักษณ์ของเครื่องแก้วก็แปรเปลี่ยนไป  รูปแบบของขวดน้ำหอมสมัยใหม่จนถึงสมัยปัจจุบัน เป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดลูกค้า  การดีไซน์ขวดบรรจุน้ำหอม ตลอดจนแผ่นตราของน้ำหอมแต่ละรุ่น สำคัญมาก. ตัวอย่างขวดน้ำหอมในยุคแรกๆบางแบบจากพิพิธภัณฑ์ (สำหรับขวดน้ำหอมในยุคปัจจุบันนั้น มีมากมายรูปลักษณ์แปลกๆ สวยงาม เพียงแค่พิมพ์ชื่อบริษัทผู้ผลิตหรือชื่อน้ำหอมยี่ห้อดังๆลงในหน้าค้นหาจากเน็ต ก็ได้ภาพสวยงามขึ้นมาให้เห็นจำนวนมาก)


น้ำหอมกลิ่นดอกไม้จากเมือง Grasse ยังคงใช้แบบเรียบง่าย เน้นสีสันที่เป็นเอกลักษณ์ของเมือง
สีเหลืองทองของกล่องที่ทำให้นึกถึงดอก mimosa ของถิ่นนี้
 ขวดน้ำหอมจากเมือง Grasse ขวดแก้วสีน้ำเงินแบบนี้ก็ดูสวยงามไม่น้อย.

 ตัวอย่างขวดน้ำหอมที่เป็นขวดแก้ว เน้นจุกที่พิเศษขึ้นมาหน่อย
 ขวดคริสตัล Bichara ปี 1913 ของฝรั่งเศส
 สองขวดนี้เป็น Eau de Cologne จาก Paris. เล่ากันมาว่า นโปเลียน(ที่หนึ่ง) หลงใหลน้ำหอมชนิดนี้มาก. คำเรียก Eau de Cologne เป็นคำสามัญที่ใช้บอกสรรพคุณของน้ำหอมที่ให้ความสดชื่น (ตามตำนาน “hespéridée”)  มีกลิ่นหอมมะนาว ผิวมะกรูด ส้ม ส้มแมนดารินและ grapefruit .รวมกันเป็นส่วนอัตราส่วนของหัวน้ำหอมจากพันธุ์ส้มนี้ 4-6 %  ผสมกับแอลกอฮอลบริสุทธิ์ ที่ให้ความสดชื่นในทันที เป็นความหอมที่ละเมียดละไม ไม่หวือหวาหรือยืดเยื้อ. น้ำหอมชนิดนี้เกิดขึ้นที่เมืองฟลอเรนซ์ในศตวรรษที่ 14. สูตรของน้ำหอมนี้ Jean-Paul Feminis ได้ก็อบปี่นำไปผลิตที่เมือง Cologne (ในเยอรมนี) ในศตวรรษที่ 17.  Jean-Marie Farina ได้นำสูตรมาปรับปรุงและผลิตเป็น Aqua mirabilis (แปลเอาความได้ว่า น้ำที่เป็นความเกษมเปรมปรีดิ์) ขึ้นในปี 1708 ที่เมือง Cologne. และเรียกกันว่าน้ำหอมจากเมืองโคลอญ ที่ทำให้สดชื่นกับกลิ่นที่อ่อนโยนกว่า.  ชนชั้นผู้ดีที่ชอบความละเมียดละไมจึงหันมาใช้น้ำหอมชนิดนี้. ดั้งเดิมใช้กันในวงแคบภายในอาณาบริเวณเมืองโคลอญและเมืองใกล้เคียงกัน  แต่กลายเป็นน้ำหอมที่คนนิยมกันมาก จนมีการส่งไปขายเป็นปารีสตั้งแต่ปี 1727.  ตระกูล Farina ผู้เป็นหลานชายเป็นผู้ค้าขายน้ำหอมนี้และได้เปิดร้านขายที่กรุงปารีส (rue St-Honoré) ในปี 1806.  ต่อมาในปี 1862  Charles Armand Roger (พ่อค้า) ได้ร่วมมือกับนายธนาคาร Charles Martial Gallet ซื้อร้านน้ำหอมนี้ต่อและทำกิจการต่อมาได้อย่างรุ่งเรือง. ทั้งสองใช้ชื่อ Roger & Gallet [โรเฌ้ เอ กัลเล่] เป็นชื่อธุรกิจการค้าร่วมกันตั้งแต่นั้น นอกจากการค้าขายน้ำหอม  ธุรกิจยังได้พัฒนาการผลิตและการค้าสบู่ไปด้วย ได้สร้างโรงงานใกล้กรุงปารีส ที่เป็นความสำเร็จอย่างงดงาม. 

 น้ำหอม Butterfly ของ Lalique, Paris. 2003.

น้ำหอม Deux Coeurs (หัวใจสองดวง) ของ Lalique, Paris. 2004.
น้ำหอม Love You (รักเธอ) ของ Fiorucci, France. 2004.
โถเครื่องหอมของ Wedgewood จากอังกฤษ ปี 1983.
 แผนที่โลกขนาดใหญ่ ที่เสนอให้เห็นแหล่งดอกไม้พืชพรรณสำคัญชนิดต่างๆ ที่คนนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการปรุงน้ำหอม  แหล่งดอกไม้พืชพรรณเหล่านี้ เท่ากับระบุเส้นทางหอมหวนบนโลกเราด้วย  พืชและพันธุ์ไม้เป็นวัตถุพื้นฐานที่ใช้ทำน้ำหอม ไม่ว่าจะใช้โดยตรงหรือทางอ้อม. สารสกัดจากพืชบางชนิดเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตน้ำหอมโดยตรง เช่นกุหลาบ ไอริส และพืชอื่นๆอีกสามสิบสามชนิดที่ปลูกไว้เป็นตัวอย่างในสวนหย่อมหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ (encens, noix de muscade, badiane, benjoin, jasmine sambac, cadamome, vanilla, patchouli, vétiver, marjoraine, gingembre, sarriette, serpolet ou thym serpolet, cannelier de Ceylan, ylang ylang, tubéruese, etc)  พืชบางชนิดแม้จะมีกลิ่นหอม แต่เอาไปสกัดเป็นสารหอมมาใช้ไม่ได้ เช่น muguet (lily of the valley) แต่ความหอมของมันอาจดลใจให้ผู้สร้างสรรค์น้ำหอม พยายามปรุงให้ได้กลิ่นที่ใกล้เคียงที่สุด.

การจัดประเภทของเครื่องหอมหรือสารหอมใดๆนั้น โดยทั่วไปจัดตามวัตถุดิบพื้นฐานที่นำมาใช้ในการปรุงน้ำหอมนั้นๆ  แต่การวิเคราะห์แยกแยะน้ำหอมหนึ่งนั้น น้ำหอมตัวเดียวกันอาจมีกลิ่นหอมหลายประเภทก็ได้.  กลิ่นที่จัดตามระบบนี้ แยกเป็นเจ็ดประเภท. ในที่นี้เห็นควรว่าให้ชื่อตามการเจาะจงชนิดในภาษาฝรั่งเศสเลย เนื่องจากพวกเขาเป็นคนเริ่มต้นแยกแยะไว้  ในภาษาอื่นๆใช้ทับศัพท์คำฝรั่งเศสก็มี  หรือแปลเป็นภาษายุโรปอื่นๆก็สะดวกเพราะเกือบเหมือนกันอยู่แล้ว  แต่ข้าพเจ้ามิอาจหาคำสั้นๆง่ายๆแต่ครอบคลุมความหมายทั้งหมดที่มี ให้เป็นคำไทยได้  เพราะไม่มีความรู้ภาษาไทยเพียงพอ.
1. les florales  หมายถึงกลิ่นหอมดอกไม้ ดอกไม้ใดก็จัดเข้าในกลุ่มนี้  และเจาะจงชื่อดอกไม้นั้นๆลงไปด้วย  ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า floral (family).
2. les fruitées   หมายถึงกลิ่นหอมจากผลไม้  ผลไม้แต่ละชนิดก็มีกลิ่นแตกต่างออกไป ให้เจาะจงกลิ่นผลไม้ลงไปด้วย  ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า fruity.
3. les boisées  หมายถึงกลิ่น (อับชื้น) เป็นกลิ่นไม้ กลิ่นป่าไม้ ในภาษาอังกฤษใช้คำ woody. 4.  les  herbacées-agrestes หมายถึงกลิ่นหญ้า กลิ่นดิน กลิ่นทุ่งหญ้า
5. les épicées หมายถึงกลิ่นเครื่องเทศ
6. les baumes et vanilles หมายถึงกลิ่นบาล์ม (ข้นแบบขี้ผึ้ง) จากพืชบางชนิด และ / หรือกลุ่มกลิ่นวานิลลา
7. les animales หมายถึงกลิ่นสัตว์ประเภทต่างๆ  น้ำหอมกลิ่นสัตว์อาจต้องใจหลายคน โดยเฉพาะผู้ชาย  ทำให้จิตใจฮึกเหิมเป็นต้น
แต่ละกลุ่มกลิ่นก็ยังแยกแยะออกไปอีก ต้นไม้ที่เห็นในภาพแตกเป็นกิ่งย่อยๆออกไป เป็นผลไม้ที่ลักษณะพิเศษแต่ไม่ถึงกับผ่าเผ่าพันธุ์.  อย่างไรก็ตาม นักวิชาการคนอื่นก็มีวิธีจำแนกแยกแยะกลุ่มกลิ่นต่างออกไป. ล่าสุดในปี 2013 มีงานวิจัยที่สรุปกลิ่นพื้นฐาน 10 กลิ่นที่มิได้ยึดวัตถุดิบเป็นหลักแต่ยึดศักยภาพของประสาทรับรู้กลิ่นของแต่ละคนเป็นที่ตั้ง  จึงมีกลุ่มกลิ่นที่ทำให้คลื่นไส้, กลุ่มกลิ่นเคมี, กลุ่มกลิ่นฉุนๆเผ็ดๆ เป็นต้น.  บ้างจัดตามลักษณะและบุคลิกของกลิ่น มีกลุ่มกลิ่นเฟิร์น, กลุ่มกลิ่นยาสูบ, กลุ่มกลิ่นหนังเป็นต้น.  เช่นนี้ ทำให้เข้าใจว่า การจำแนกกลิ่นจึงยังมิได้จบลง ยังเป็นหัวข้อถกเถียงกันต่อไป. เรื่องการจำแนกกลิ่นนี้นำมาเกริ่นให้รู้เพียงคร่าวๆเท่านั้น ว่าเขาพูดถึงกลิ่นกันอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะเมื่อคนขายน้ำหอมอธิบายให้ฟังเป็นต้น. 
ในอินเตอเน็ต มีผู้รวบรวมพืชพรรณสำคัญๆ(24 ชนิด)ที่นำมาใช้ในการปรุงน้ำหอม เป็นภาพสรุปดังนี้ 




Origine des principales matières premières utilisées en parfumerie. © Comité Français du Parfum, d’après Givaudan Roure.

        ที่พิพิธภัณฑ์ มีนิทรรศการอธิบายขั้นตอนการสกัดสารหอม ซึ่งอาจทำได้หลายวิธี พอจะสรุปสั้นๆได้ว่า ๑) การสกัดด้วยความร้อน  ๒) การสกัดด้วยไขมัน  ๓) การสกัดด้วยน้ำ  ๔)  การสกัดด้วยแอลกอฮอล ๕) การสกัดด้วยแกซคาร์บอนไดออกไซด์.  เทคโนโลยีปัจจุบันได้ช่วยให้การสกัดหัวน้ำหอมง่าย เร็วขึ้นและคุณภาพดีขึ้นด้วย. ถึงกระนั้น น้ำหอมที่เราซื้อกันไม่ว่าจะราคาแพงเพียงใด มีสารสกัดจากธรรมชาติแท้ๆไม่เกิน 5 %  นอกนั้นมาจากน้ำมันหอมที่คนสังเคราะห์ขึ้นแทน.  มองในแง่ดี อัจฉริยภาพของคนได้สร้างสิ่งที่มาทดแทนธรรมชาติได้เกือบเต็มร้อย. น้ำหอมเป็นเพียงความสำเร็จชิ้นเล็กๆ เมื่อเทียบกับการทำ cloning สัตว์. ในอนาคตก็จะถึงคิวของคนแล้ว.
เจ้าหน้าที่นำชมและอธิบายขั้นตอนในการสกัดน้ำหอมที่เคยทำกันมาตลอดระยะเวลาหลายศตงรรษในเมืองกร๊าส





 มีข้อมูลเกี่ยวกับกรรมวิธีการสกัดหัวน้ำหอม ที่ผู้สนใจตามไปอ่านและดูได้ในอินเตอเน็ต ใน youtube มีคลิปวีดิโอเรื่องนี้ด้วย.  ทั้งหมดดูเหมือนจะส่งเสริมให้ปรุงน้ำหอมง่ายๆใช้เองในครัวเรือน ตามอย่างวิถีชีวิตของคนในสมัยก่อน ที่ทำน้ำปรุง น้ำอบหอมจากดอกไม้ที่มีในบ้าน ในสวน.
 ภาพเอกลักษณ์ของคนมีอาชีพขายน้ำหอม ตามแนวการเสนอในศตวรรษที่ 19
(อาชีพอื่นๆก็มีเช่นกัน คือมีอุปกรณ์ของอาชีพ สิ่งที่เขาขาย ประดับเต็มตัวในแบบที่เห็นนี้)

         เพื่อให้ครบวงจรการประทินความงาม  พิพิธภัณฑ์ยังโยงไปยังข้อมูลเกี่ยวกับการแต่งหน้า ที่นับวันจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่ทำไม่ได้แล้ว.  เกร็ดความรู้ที่น่าสนใจคือในศตวรรษที่ 17, 18 เป็นยุคของการแต่งหน้าอย่างท้าทายในยุโรป  เน้นการทาริมฝีปากและแก้มให้เป็นสีแดง ให้ตัดกับความขาวจัดของผิว.  การแต่งหน้ามักเลยเกินขีดความพอเหมาะ จนถึงขั้นละเลยสุขภาพของตนเอง ทั้งนี้เพราะสารที่ใช้ผลิตเครื่องสำอางนั้นอันตรายต่อสุขภาพ แม้ว่าคุณภาพของเครื่องสำอางจะดีขึ้นๆ.  ยุคนั้นรสนิยมเรื่องความงามความเก๋ที่ต้องการ คือการมีผิวพรรณขาวจนซีด เพราะความขาวซีดเป็นลักษณะหนึ่งของความโรแมนติค.  รสนิยมในการแต่งหน้า มิเคยเปลี่ยนตั้งแต่ยุคนั้นลงมา.  ความขาว(แต่ไม่ซีด) ยังคงเป็นที่หมายปองของผู้หญิงผิวเหลืองและผิวดำ.
        เสน่ห์ของคนอีกประการหนึ่งมาจากผมด้วย.  เกิดทรงผมแบบต่างๆแทบไม่มีขีดจำกัด. ในศตวรรษที่ 18 แฟชั่นฝรั่งเศสอยู่ที่การใช้แป้งหอมเคลือบผมให้อยู่ทรง. ในด้านสีนั้น ใช้ครีมจากมะกอกฝรั่งมาทาผม ทำให้มีสีเทาๆแบบสีขี้เถ้า.  ยุคนั้นเกิดความหลงใหลผมสีนั้น  ทุกคนมีสีผมเดียวกันหมด ไม่ว่าอายุเท่าใด จึงเหมือนการเกลี่ยอายุของทุกคนให้เท่ากันไปด้วย. ส่วนพวกที่ต้องการให้ผมสีบล็อน ใช้สีอิฐออกเหลืองทองๆปนลงในแป้งทาผมของพวกเขา  (แป้งนี้มาจาก starch-สตาร์ช เมื่อนำไปละลายน้ำในสัดส่วนพอเหมาะ เกิดเป็นเมือกและมีความหนืด จึงยึดสิ่งที่ “ลงแป้ง” ไว้ให้แข็งหรือยู่ตัว) 
         ผู้หญิงเกือบทั่วโลกติดการใช้เครื่องสำอาง อย่างน้อยก็ทาปาก. การแต่งเล็บเริ่มขึ้นในราวปี 1950 ลังจากที่วาสลินเข้าไปแทนที่น้ำมันพืชในเครื่องสำอางทั้งหลายตั้งแต่ปี 1900. ในยุคศตวรรษที่ 21 เล็บเป็นพื้นที่สำหรับจิตรกรรมน้อย เหมือนที่ร่างกายเป็นพื้นที่สำแดงศิลป์. ในที่สุดดูเหมือนว่า ใน(เกือบ)ทุกมุมโลก การแต่งตัวขยายต่อไปยังการแต่งประดับประดาบนร่างกายทั้งร่าง  บนผิวแท้ๆของพวกเธอเลย  ด้วยการทาสีตัว หรือการสักตัวให้เป็นรูปลักษณ์สวยงามต่างๆ เป็นแนวโน้มที่ชาวตะวันตกพัฒนาให้อลังการขึ้น ในขณะที่ชนชาติพื้นเมืองจำนวนมากในซีกโลกอื่นเช่นแอฟริกาหรือชนชาวโพลินีเซียน ทำกันมาเป็นขนบธรรมเนียมแต่โบราณแล้ว.  จิตรกรรมขนาดใหญ่หรือเล็กบนร่างคน เป็นอีกวิถีหนึ่งของการกระชับอัตลักษณ์ของคน จึงไม่จำกัดเฉพาะเพศใด. ตัวอย่างปัจจุบันที่มีให้เห็นในสังคมโลก ตามกระแส the art of body painting ยังคงต้องอิงสารสกัดจากธรรมชาติ  ธรรมชาติที่เอื้อประโยชน์ต่อความต้องการของคน ต่อจินตนาการของคน.

ภาพจาก guity-novin.blogspot.com  เจาะจงว่า เป็นศิลปะพื้นบ้านที่เรียกว่า Mehndi ที่ทำกันเป็นธรรมเนียมในพืธีแต่งงานตามขนบอินเดียและในแอฟริกาเหนือ.
Cf. Chapter 50, The Art of Body Painting  ตัวอย่างจากชาติต่างๆ คลิกที่นี่ >>


Heart Tree tattoo by Jackie Rabbit,
from www.deviantart.com  seen on 22th July 2015.
 Tattoo ภาพจักรวาล จาก flavorwire.com  seen on 22th July 2015.
ดูเหมือนว่า ความต้องการงาม ต้องการเด่น ต้องการเป็นที่หลงใหลของทุกคน ไม่มีอะไรมาหยุดได้เสียแล้ว จนกว่าความตายจะมาพราก...

ข้าพเจ้าคิดว่าข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์น้ำหอมนานาชาติที่เมือง Grasse ที่เป็นผลงานของคนในท้องถิ่นนั้น ด้วยความรู้จากนักปรุงน้ำหอมผู้เลื่องชื่อของที่นั่น(และของโลก)  ให้ความรู้พื้นฐานที่ครอบคลุมเครือข่ายเรื่องเครื่องหอมมากพอสมควร ที่นำไปสู่การคิดพินิจเกี่ยวกับบทบาทของน้ำหอมในจิตวิทยาของคน และบทบาทของกลิ่นต่อพัฒนาการของคน-สิ่งมีชีวิตที่มีจิตสำนึกและจิตวิญญาณในมิติที่ลึกลงไป.

โอกาสจึงเปิดให้ตามไปสัมผัสความมหัศจรรย์ของกระบวนการชีวเคมีของการรับรู้กลิ่นของคน... 


ติดตามตอนที่สาม  กลิ่นล่องลมมา...ตามล่ากลิ่น ...ตามกลิ่นไปทุกมิติ ได้ที่นี่ >>


โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ รายงาน ณ วันที่  ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙.

No comments:

Post a Comment