Friday 25 August 2017

เสน่ห์เมืองเก่า Chester


เชิญชมเมืองเก่า Chester จากภาพข้างล่างนี้ (เนื่องจากเป็นภาพจาก ipad คุณภาพไม่ดีนัก และตลอดเวลาที่อยู่ที่นั่น ช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือนกรกฎาคม 2017 นั้น เมฆครึ้มๆและฝนตกพรำๆ จึงต้องปรับภาพให้สว่างเพื่อความชัดเจน)
 Chester Town Hall แบบสถาปัตยกรรมวิคทอเรีย
บริเวณที่เป็น Bus Stands บนถนน Princess Street.
City Hall and the Coach House Inn. หน้าอาคารอิฐสีแดงๆส้มๆ มีเสาคอลัมภ์จากศตวรรษที่ 18 
และฐานหินชิ้นส่วนที่ขุดได้จากพื้นที่ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างบ้านครองเมืองยุคโรมัน.
 The Coach House Inn, hotel and restaurant.
ประติมากรรม ตรงจัตุรัสหน้าศาลาเทศบาลเมืองเชสเตอร์ เนรมิตขึ้นและนำไปประดิษฐานณที่นั้นในปี 1992 เป็นส่วนหนึ่งในวาระเฉลิมฉลอง 900 ปีของโบสถ์เมืองเชสเตอร์. มีข้อความจำหลักไว้ว่า << A celebration of Chester whose city walls make secure the freedom to work and to worship.>>
สังเกตดูการประกอบประติมากรรมกลุ่มนี้  คนยืนหน้า ใบหน้าหันไปทาง Town Hall กางแขนสองข้างแผ่ออกไปข้างหลัง มีคนหนึ่งยืนตรงในท่าสงบ อีกคนหนึ่งก้มลง มือหนึ่งจรดพื้น. ข้าพเจ้ามองว่า คนยืนกางแขน ทำหน้าที่เป็นกำแพง ปกป้องคนที่อยู่ข้างหลังเขา คนยืนนิ่งตัวตรง อาจต้องการสื่อท่าสงบของศรัทธาในสิ่งหนึ่งสิ่งใดส่วนตัวเขา และคนที่ก้มลง เหมือนกำลังเพาะปลูก ทำมาหากินตามความถนัด. คิดในมุมมองนี้ ช่วยให้เข้าใจความหมายของข้อความที่กำกับใต้ประติมากรรมนี้อย่างมีนัยสำคัญว่า กำแพงเมืองเพื่อประกันเสรีภาพของชาวเมืองในการทำงานหาเลี้ยงชีพและในการนับถือศาสนา.

The Cross ไม้กางเขนหินโบราณ(แขนด้วน)ที่ยังเหลือให้เห็นจากยุคกลาง
เป็นจุดใจกลางเมืองเก่าในสมัยก่อน.
ไม้กางเขนจึงเป็นเหมือนหลักกิโลเมตรศูนย์ของเมือง มีเส้นทางทอดไปในทิศต่างๆ.
 ภาพจาก Photochrom เป็นบ้านเรือนแถว Chester Rows
(Covered medieval era walkways)
เมื่อมองจากที่ตั้งไม้กางเขน ภาพถ่ายปี 1895. Photo Public domain.
เส้นทางทิศตะวันออก มองไปเห็นหอนาฬิกาบนกำแพงโบราณที่สร้างขึ้นในราวปี 1769. หอนี้เนรมิตด้วยศิลปะเหล็กดัด รูปแบบโปร่ง สวยงาม บนสะพานเชื่อมอาคารสองฝั่งถนน. หากขึ้นไปเดินบนสะพานนั้นไปทางซ้ายหรือทางขวา เท่ากับเดินบนกำแพงเมืองที่ล้อมรอบเมืองเชสเตอร์ ที่เคยมีมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 12  ทางการได้อนุรักษ์กับบูรณะให้สอดคล้องกับการพัฒนาเมืองขึ้นมาตามยุคสมัย. เมืองนี้จึงเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งในยุคที่อาณาจักรโรมันแผ่ไปปกครองอังกฤษ หลักฐานทางโบราณคดีระบุว่าน่าจะอยู่ในราวปีคศ. 79 เพื่อเป็นฐานของกองกำลังทหารที่ยี่สิบ(20th Legion มีกำลังราว 3000-6000 คน).
คุยกันว่า เป็นหอนาฬิกาที่มีผู้ไปถ่ายรูปมากเป็นอันดับสองในอังกฤษ
ลองจากหอบิ๊กเบนที่กรุงลอนดอน.
หอนาฬิกานี้มีสี่ด้านหันไปสี่ทิศ สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์การขึ้นครองราชย์ครบ๖๐ปีของพระราชนินีวิคทอเรีย (ตามข้อความที่จำหลักไว้ที่ฐานด้านทิศตะวันออก) ใต้หน้าปัดนาฬิกาทุกด้าน มีตัวเลข 1879 (คือปีที่หกสิบ ขึ้นครองราชย์ตั้งแต่วันที่ 20 June 1837). ส่วนด้านทิศตะวันตก จำหลักชื่อนายกเทศมนตรีสองคนของเชสเตอร์ในปี 1897, 1898 ปีที่มีการริเริ่มสร้างหอนาฬิกานี้.
 ทางเดินสะดวก เดินชมเมืองได้สบายๆ บนกำแพงรอบเมืองเชสเตอร์. ภาพจากเน็ต >>
ฐานด้านทิศใต้ จำหลักชื่อผู้ประดิษฐ์และสร้างแบบสถาปัตยกรรมหอนาฬิกานี้ในปี1897 และด้านทิศเหนือ กำกับว่า สร้างด้วยเงินบริจาคของชาวเมืองและสร้างแล้วเสร็จในปี 1899 พร้อมชื่อนายกเทศมนตรีปีนั้น. เหนือตัวนาฬิกาขึ้นไปทุกทิศ มีอักษร VR (Victoria Regina พระราชินีวิคทอเรีย) ประดับ. มีเสาบนยอดหอนาฬิกา ติดแผ่นสี่เหลี่ยมแผ่นบางเบาที่ชี้ทิศทางลม (weather vane) กลางแผ่นสี่เหลี่ยมนี้ประดับด้วยสิงโตในท่าผงาดบนพื้นสีแดง (ภาพลักษณ์ของอำนาจที่ชัดเจน)
     ถนนสายต่างๆภายในเมือง อาคารบ้านเรือนที่อนุรักษ์และบูรณะอย่างต่อเนื่องตามแบบสถาปัตยกรรมยุควิคทอเรีย. Chester จึงเป็นเมืองเก่าและเป็นเมืองในกำแพง (walled city) ที่คงความเป็นแบบฉบับของเมืองเก่าในอดีตได้ดีที่สุด.






แม่น้ำ Dee ไหลผ่านเมือง Chester มีบริการเรือนั่งชมแม่น้ำ. วันที่ไปนั้น ฝนตกพรำๆทั้งวัน เย็นสบายดี ไม่เดือดร้อนนัก
เขตเมืองใหม่กว่า ทางไปสถานีรถไฟ
ส่วนหนึ่งของพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำ เป็นสวนขนาดใหญ่สำหรับชาวเมือง
Queen’s Park Suspension Bridge over the River Dee.
 

รูปปั้นลูกช้างอินเดีย เยื้องๆศาลาเทศบาลเมือง กำกับไว้ว่าชื่อ Janya ( जन्य ) ในภาษาสันสกฤต ใช้เป็นชื่อเด็กผู้หญิงหรือผู้ชายได้ ในความหมายว่า ชีวิต เกิดขึ้น น่ารัก เป็นต้น ลูกช้างทองสัมฤทธิ์นี้เป็นของขวัญจากสวนสัตว์เมือง Chester (เปิดขึ้นแล้วตั้งแต่ปี1931) มอบให้ชาวเมืองเชสเตอร์ แสดงไมตรีจิตที่มีต่อกัน. ที่สวนสัตว์ยังมีประติมากรรมลูกช้างและกลุ่มช้า สร้างขึ้นในปี 2010 ผลงานของศิลปิน Annette Yarrow ผู้เติบโตในอินเดียในทศวรรษที่ 1930-1940. ชาวอังกฤษเข้าไปอยู่อินเดียกันมากขึ้นๆ เริ่มด้วยการไปตั้งทำมาค้าขายเกือบสองร้อยปีก่อน และขยายสืบมาเป็นการตั้งอาณานิคม. ผู้สนใจติดตามอ่านประวัติอันยาวนานของอินเดียกับเครือจักรภพได้ในอินเตอเน็ตเอง.
รถบัสพิเศษเลียนแบบรถยนต์รุ่นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 (ครองราชย์ 1901-1910)
บริการนักท่องเที่ยวชมเมืองเก่า สร้างบรรยากาศให้ประทับใจยิ่งขึ้น

บันทึกเดินทางของโชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ เมื่อไปเยือนเชสเตอร์
เดือนกรกฎาคม ๒๕๖๐.

ติดตามบันทึกเดินทางสู่เมืองเชสเตอร์ตอนที่ ๒ ไปชมนิทรรศการประติมากรรมในโบสถ์เชสเตอร์ 




                                                           


No comments:

Post a Comment