ฝรั่งที่มาเที่ยวเมืองไทย
หากไม่แวะเข้าไปในวัดไทยใดๆเลย น่าจะพูดได้ว่า
เขาขาดมุมมองหรือตกการสำรวจเอกลักษณ์ที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับประเทศไทย. ฉันใดฉันนั้น หากคนไทยผู้เดินทางไปเที่ยวประเทศต่างๆในยุโรป
ไม่สนใจเข้าไปแวะชมวัด โบสถ์ อารามในเครือศาสนาคริสต์(นิกายใดก็ตาม)เลย
ก็เหมือนการขี่ม้าชมสวน เป็นการแวะเด็ดดอกไม้
หรือของสวยของงามของหรูจากร้านสรรพสินค้าชื่อดังๆในประเทศเหล่านั้นเท่านั้น
จำได้เพียงลางๆสถานที่ วัง สวนหรืออุทยาน บ้านเรือนที่ผิดแปลกตาจากบ้านเรา
เป็นการเก็บภาพอย่างผิวเผิน ยิ่งหากสถานที่เหล่านี้มิได้เข้าไปสะเทือนจิตหรือจริตส่วนตัวด้วยแล้ว
ยิ่งเป็นการเก็บภาพที่จักเลือนหายไปอย่างรวดเร็วกับกาลเวลา. แม้ไม่สนใจเรื่องศาสนา วัด อารามและโบสถ์ เป็นที่พักร้อน หลบแดดที่ดีที่สุด
มีที่นั่งเสมอ ปลอดภัย ไปนั่งหลับสักงีบยังได้เลย อุณหภูมิภายในเย็นกว่าข้างนอกมาก
ยิ่งหน้าร้อนแล้ว ไม่มีที่ใดเย็นสบายเท่าภายในกำแพงวัดโดยไม่ต้องมีเครื่องทำความเย็นใดๆ.
ข้าพเจ้าไม่เคยลืมคำพูดของแม่ชีท่านหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้พบที่เมืองฟลอเรนซ์เมื่อราวสามสิบกว่าปีก่อน
ท่านเมตตาสอนข้าพเจ้าว่า หากข้าพเจ้าเลือกหัวข้อท่องเที่ยวเพียงหัวข้อเดียว
และเดินทางตามดูเกี่ยวกับหัวข้อนั้นไปเรื่อยๆ ข้าพเจ้าจะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนั้นในอนาคต. คำสอนของแม่ชีท่านนั้น
ได้เปลี่ยนวิถีชีวิต วิธีการเดินทางของข้าพเจ้าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ได้ทำให้การเดินทางของข้าพเจ้ากลายเป็นการค้นคว้าและฝังเป็นพันธสัญญาภายในใจของข้าพเจ้า
ว่าจักนำประสบการณ์และความรู้ที่เก็บมา เปิดเผยให้เป็นตัวอย่าง หวังให้เป็นแนวทางการพัฒนาศักยภาพจากการเดินทาง
แก่อนุชนรุ่นหลังๆ.
หัวข้อแรกสุดที่ข้าพเจ้าได้เลือกไว้คือ
คริสต์ศิลป์ในยุโรปตั้งแต่ยุคกลางเป็นต้นมา. เริ่มต้นจากการไม่รู้อะไรเลย
ได้ไต่เต้าขึ้นบันไดของความรู้และความตระหนักรู้ในบทบาทของคริสต์ศาสนาสูงขึ้นๆ. จนปัจจุบันนี้
ยังอดไม่ได้ที่ต้องแวะเข้าไปในวัดและโบสถ์ที่เห็นบนเส้นทางเดินของข้าพเจ้า และหลังจากได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับโบสถ์จบลงแล้ว
หัวข้อที่ติดตามต่อมาได้เบนออกไปสู่ธรรมชาติ ดินน้ำลมไฟ ต้นไม้ดอกมากขึ้น.
ปีนี้เช่นกัน
อดไม่ได้ที่จะหวนกลับไปแวะโบสถ์หลังใหญ่ๆในอังกฤษ แม้ได้แวะไปเพียงไม่กี่แห่ง
ยังทำให้หวนรำลึกถึงประสบการณ์การเดินตามดูวัดสำคัญๆทั้งหลายในยุโรป รวมถึงเส้นทางโบสถ์ใหญ่ๆในอังกฤษและสก็อตแลนด์. สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยลืมคือ ได้ฟังคณะนักร้องเพลงประสานเสียงในโบสถ์ต่างๆ เสียงไพเราะก้องกังวานไปทั้งโบสถ์
โดยที่มีคนฟังไม่ถึงสิบคน ทำให้ข้าพเจ้าอดเสียดายแทนไม่ได้ และถามในใจว่า
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น (cf. เชิงอรรถ). เกิดวิกฤติศรัทธาในสหราชอาณาจักรมานานเป็นศตวรรษแล้ว ที่ส่งผลต่อระบบสังคม ระบบการเรียนการสอนการอบรมทั้งภายในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยและภายในครอบครัวชาวอังกฤษ.
กรณีตัวอย่างภายในระบบครอบครัวชาวอังกฤษ
ครอบครัวสามัญชนจำนวนน้อยมากที่มีสำนึกเกี่ยวกับศาสนา ที่จะพาสมาชิกครอบครัวไปวัดในวันหยุด
แทนการไปวัด พวกเขาไปสนาม ไปสวน เพื่อพักผ่อนออกกำลังกาย. หากพ่อแม่ไม่มีจิตสำนึกเกี่ยวกับศาสนา ย่อมไม่เคยสอนเคยพูดอะไรเกี่ยวกับวัด
และเมื่อบังเอิญให้เข้าไปเดินในวัดเช่นในเทศกาลวันคริสต์มาส
ก็ไม่รู้จักแนะนำให้เด็กเข้าใจว่าวัดคืออะไร ส่วนต่างๆของวัดมีความสำคัญ
มีบทบาทอย่างไร. เด็กไปวัดเหมือนไปเล่นในสนามเด็กเล่น
วิ่งเล่นปีนป่ายไปตามที่ต่างๆ นั่งไม่ติด ย้ายไปนั่งตรงนั้นตรงนี้ ยิ่งหากไม่มีเจ้าหน้าที่คอยควบคุมอยู่
ถึงกับขึ้นไปนั่งบนแท่นสูงของเจ้าอธิการก็มี
พ่อแม่บางคนยังเข้าไปนั่งถ่ายรูปเสียอีก. ถ้าพูดอย่างคนไทย ก็ต้องบอกว่า ไม่รู้จักกาลเทศะ ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง. เมื่อทั้งพ่อแม่และเด็กไม่มีจิตสำนึกเกี่ยวกับสถานที่
ย่อมไม่รู้จักแยกแยะอะไรควรไม่ควร จึงไม่ห้ามปราม. หรือพวกเขาบอกตัวเองว่า ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเสมอกัน โดยมิได้คิดลึกลงไปกว่านั้นว่า มันเป็นจริงเช่นนั้นหรือไม่. นี่อาจเป็นผลจากการที่ชาวอังกฤษไม่เชื่อในศาสนาใด หรือไม่สนใจเรื่องศาสนาหรือไม่? (การไม่เชื่อในศาสนาใด
มิได้หมายความว่า เขาเป็นคนไม่ดี. มนุษย์เป็นคนดีได้โดยไม่ต้องพึ่งศาสนา). การอบรมสั่งสอนในครอบครัวที่เน้นให้เด็กได้แสดงความเป็นตัวของตัวเอง
จนลืมไปว่าเสรีภาพการแสดงออกกับกิริยามารยาทในสังคมเป็นสองสิ่งที่ต้องปลูกฝังควบคู่กันไปตั้งแต่วัยเยาว์. วันที่ข้าพเจ้ากลับจากลอนดอนถึงสนามบินสุวรรณภูมิ
เห็นแม่ชาวอังกฤษมากับลูกสองคนชายและหญิงในราวสี่ขวบ
แม่ยืนตรงหน้าเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เด็กสองคนก็ป้วนเปี้ยนอยู่แถวนั้น
และก็ปีนไปปีนมา เด็กชายปีนขึ้นไปถึงเคาว์เตอร์เจ้าหน้าที่ โดยที่แม่ก็มิได้ว่ากล่าวตักเตือน. เจ้าหน้าที่มีสีหน้าไม่พอใจ และคงนึกตำหนิแม่ในใจว่าทำไมไม่สอนลูก. ตัวอย่างนี้ชัดเจน
ได้พบเห็นเหตุการณ์ทำนองเดียวกันบ่อยๆในลอนดอน
จนอยากสรุปว่า การอบรมภายในครอบครัวสามัญชนชาวอังกฤษยังมีข้อบกพร่องอยู่มาก
ทั้งยังสงสัยว่าพ่อแม่เข้าใจข้อผิดพลาดในการเลี้ยงลูกหรือไม่? ข้าพเจ้าสังเกตปฏิสัมพันธ์การเจรจาพูดคุยระหว่างพ่อแม่ลูก
และการปฏิบัติต่อลูกของชนชาวยุโรปชาติต่างๆมาอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตเดินทางของข้าพเจ้า
ต้องยกนิ้วให้พ่อแม่ชาวสเปนและชาวเยอรมัน ที่มีวิธีอบรมเลี้ยงดูและให้ความรู้กับเด็กในวัยต่างๆได้อย่างน่าชื่นชม (ความเห็นส่วนตัว).
ตั้งแต่สิบยี่สิบปีก่อนที่ข้าพเจ้าได้ไปเห็นไปเยือน
แต่ละวัดได้พยายามหาวิธีดึงคนเข้าวัด ด้วยการจัดกิจกรรมแบบต่างๆ
ที่อาจไม่เกี่ยวกับศาสนาโดยตรง เช่นการจัดมุมหนังสือให้เด็กๆ, การจัดกิจกรรมเย็บปักถักร้อย เช่น ช่วยกันปักผ้าเย็บผ้าคลุมแท่นบูชา หรือต่างคนต่างมานั่งปักผ้าผืนเล็กร่วมกันในวัดสำหรับนำไปใช้ทำปลอกหมอน(pew) ขนาดหมอนเล็กสำหรับหนึ่งคน ใช้รองคุกเข่าเมื่อสวดมนต์เป็นต้น. จัดนิทรรศการหมอนปักแบบนี้ในวัด แสดงผลงานของชุมชนในปริมณฑลวัด.
หมอนสำหรับคุกเข่า (pew)
จากโบสถ์เมืองยอร์ค
(York
Minster, York, UK.)
ปักไขว้ cross
stitch อย่างสวยงาม เรียบง่าย
หมอนขนาดเล็กใช้สำหรับหนึ่งคน สำหรับคุกเข่าสวดมนตร์ในวัด.
ในบริบทของวัดนี้ ผู้เข้านั่งบนเก้าอี้แต่ละตัว
นำหมอนคุกเข่าวางลงบนพื้น
มิได้นั่งลงบนหมอน. ภาพตัวอย่างจาก York
Minster, York, UK.
ภาพหมอนสำหรับคุกเข่า ผ้าปักลวดลายต่างๆ
คนนั่งหยิบหมอนที่ห้อยอยู่ตรงหน้าวางลงบนพื้นเมื่อคุกเข่า
ภาพจากโบสถ์เบลฟาสต์ จากอินเตอเน็ต
กิจกรรมยังอาจรวมถึงการจัดมุมอาหารว่างอาหารง่ายๆฝีมือจากแม่บ้านในชุมชน
นำมาขายภายในวัด โดยเฉพาะในบริเวณ crypt ส่วนของโบสถ์ที่อยู่ใต้ระดับพื้นถนน ที่ไม่เป็นที่ประกอบพิธีกรรมใดๆในนั้นแล้ว
เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าไปหาอะไรกินได้ในราคาถูกแต่คุณภาพดีเป็นต้น. ร้านอาหารเล็กๆแบบนี้ภายในวัดใต้พื้น เป็นโอกาสให้ชื่นชมสถาปัตยกรรมของวัดด้วย. บางทีก็จัดการแสดงดนตรี ตรงพื้นที่ต่ำลงจากระดับแท่นบูชาเอกบนลำตัวโบสถ์ เปิดโอกาสให้นักดนตรีมาแสดงความสามารถ
(เพลงก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเพลงสวด).
หรือใช้พื้นที่ของวัดเป็นที่จัดนิทรรศการศิลปะ ประติมากรรมหรือจิตรกรรม (กรณีนิทรรศการ
Ark
ที่ Chester Cathedral ในเดือนกรกฎาคมปี2017 ที่ข้าพเจ้าแวะไปดูมา
โอกาสหน้าจะนำมาเสนอให้ดูเป็นตัวอย่าง).
เช่นนี้กิจกรรมต่างๆมีส่วนเรียกคนเข้าวัดมากขึ้นๆ
โดยมิได้มุ่งเรื่องศาสนาเป็นสำคัญ แต่ในระยะยาว ย่อมมีส่วนปลูกฝังความรู้สึกดีๆต่อวัดที่อาจพัฒนาต่อไปเป็นความศรัทธาได้.
ทั่วไปบนเกาะอังกฤษ
วัดใหญ่เล็กจำนวนมากกลายเป็นธนาคาร ที่ตั้งสมาคมหรือองค์กรต่างๆ หรือถูกปิดทิ้งให้เสื่อมโทรมไปกับกาลเวลา ปีนี้ก็ได้เห็นอีกจำนวนไม่น้อยในไอร์แลนด์เหนือ
เพราะการบูรณะนั้นต้องใช้งบประมาณมาก. สังคมมีเรื่องต้องใช้งบประมาณของชาติในด้านที่เร่งด่วนกว่า
เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชน ของเด็กและสตรี. ในมุมมองนี้ ภาษีที่ชาวอังกฤษเสียนั้น ถูกนำมาใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตและจัดระบบสวัสดิการแก่ประชาชนอย่างแท้จริงและต่อเนื่อง. ประเด็นนี้เป็นจุดดึงดูดให้ชาวต่างชาติทั้งชาวยุโรปชาติอื่นๆและชาวต่างทวีปพากันหลั่งไหลเข้าสู่สหราชอาณาจักร
เพราะนโยบายเพื่อประชาชนที่โดดเด่นและมีประสิทธิภาพสูงของรัฐบาล.
จากสนามบิน Belfast
International Airport นั่งรถ Airport
Express 600 ตรงเข้าใจกลางกรุงเบลฟาส์ต
สุดทางที่ Europa Buscentre. นี่เป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าไปเยือนกรุงเบลฟาสต์. พอเข้าเขตเมืองไม่นาน เห็นไม้กางเขนสูงเท่าอาคารสามชั้น ตื่นตาตื่นใจทันที โอ้โฮ! เป็นหินทั้งแท่ง ตั้งตรงทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า. วันนั้นหกโมงเย็นกว่าๆแล้ว เครื่องบินช้ากว่ากำหนดไปห้าชั่วโมง. วันรุ่งขึ้น จึงไปสำรวจไม้กางเขนมหึมานั้น. ปรากฏว่าเป็นส่วนหนึ่งของโบสถ์ St Anne’s
Cathedral (หรือ Belfast
Cathedral) เป็นเอกลักษณ์เด่นของเขต
Cathedral
Quarter ในกรุงเบลฟาสต์ ไอร์แลนด์เหนือ.
ภาพถ่ายจากโปสการ์ดที่ซื้อในโบสถ์
ด้านทิศเหนือบนถนน Academy Street ไม้กางเขนหินตามแบบศิลปะเคลติคด้านนอกนี้
เป็นผลงานออกแบบของ John McGeagh ในทศวรรษที่ 1960 แต่สร้างขึ้นในปี 1981
นับเป็นไม้กางเขนขนาดใหญ่ที่สุดในไอร์แลนด์.
ภาพนี้และทุกภาพที่นำมาให้ชมเกี่ยวกับโบสถ์นักบุญแอนกรุงเบลฟาสต์
นำมาจากวิกิพีเดียในชื่อหัวเรื่องว่า St Anne’s Cathedral,
Belfast.
ภาพไม้กางเขนข้างบน เป็นภาพถ่ายของ Albert Bridge เมื่อวันที่
26 November 2007.
ภาพของ Stuart at
en.wikipedia (Transferred from en.wikipedia) [CC BY-SA 2.0 (http://creativecommons.org/licenses/by-sa/2.0)], from
Wikimedia Commons. 13 April 2007. Credit - donnamarijne on Flickr.
ภาพด้านหน้าคือทิศตะวันตกของโบสถ์บนถนน
Donegall Street หากมองจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
ดังภาพข้างล่างนี้ เห็นเสาแหลมสูงปรี๊ดเหมือนเข็มพุ่งขึ้นทะลุฟ้า.
ภาพนี้ของ Ardfern
23 December 2009
ภาพของคนนี้ปรากฏอยู่ในวิกิพีเดียในหัวเรื่อง
St Anne's Cathedral, Belfast. ข้าพเจ้าได้นำมาประกอบในเรื่องนี้หลายภาพ
(เนื่องจากกล้องส่วนตัวเสียลงกระทันหัน)
เสานี้ตั้งชื่อไว้ว่า Spire of Hope เสาแหลมแห่งความหวังนี้ ผิดรูปแบบในขนบการสร้างหอคอยที่โผล่ขึ้นจากหลังคาโบสถ์ เรียกกันว่าหอตะเกียง (roof
lantern หรือ lanternon ในภาษาฝรั่งเศส บางทีก็ใช้คำว่า flèche ที่แปลว่า ลูกธนู ตามลักษณะรูปร่างของหอ) ทอแสงสว่างในยามกลางคืนและมองเห็นจากที่ไกลๆได้ชัดเจน. การติดตั้งเสาแหลมในรูปแบบนี้ เกิดจากสภาพภูมิธรณีของพื้นดินที่ตั้งของโบสถ์ที่เป็นดินทรายผสมตะกอนโคลนเลน (silt) และโคลนสีเทาๆ(grey mud) ทำให้ดินทรุดลงไปเรื่อยๆ.
ในปี 1888 พระราชินีวิคทอเรียเสด็จไปเยือนเบลฟาสต์และประกาศยกระดับเบลฟาสต์ขึ้นเป็นเมือง(ให้ city status).
ทางการเมืองเบลฟาสต์ลงมติให้สร้างโบสถ์หลังใหม่ที่คู่ควรกัน
เริ่มด้วยการวางศิลาฤกษ์ในเดือนกันยายนปี1899 และดำเนินการก่อสร้างบนพื้นที่ที่เคยเป็นวัด St. Anne’s (1778). การก่อสร้างสืบต่อมากว่าร้อยปี
หลังจากนั้นจึงรื้อถอนวัดเก่าเสียสิ้นในปี 1903. โบสถ์หลังใหม่เปิดให้ประชาชนเข้าถึงได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี 1904. โบสถ์หลังใหม่(ดังเห็นในภาพข้างล่างต่อไปนี้)
สร้างตามแบบศิลปะโรมันเนสก์ เอกลักษณ์หนึ่งคืออาร์คครึ่งวงกลม. ส่วนที่เป็น Batistery (บริเวณประกอบพิธีล้างบาป
พิธีศีลจุ่มหรือพิธีศีลมหาสนิท) แล้วเสร็จในปี 1928 ส่วนอื่นๆของโบสถ์ก็เสร็จสิ้นลงตามๆกันมาจนถึงปี
1981. แต่จนถึงปีนั้นโบสถ์ยังไม่มีหอคอยเหนือหลังคา. สภาพภูมิธณีของพื้นดินที่ตั้งโบสถ์ใหม่หลังนี้ ทำให้ต้องหลีกเลี่ยงหอระฆังที่มีน้ำหนักกดทับโครงสร้างทั้งหลัง. ในปี 2004 เจ้าอธิการวัด(the Very Rev. Dr. Houston McKelvey,
Dean of Belfast)
เปิดการประกวดออกแบบหอตะเกียง ให้โอกาสสถาปนิกรุ่นใหม่ๆได้แสดงความคิดสร้างสรรค์. ท่านหวังให้หอตะเกียงที่จะเนรมิตขึ้น เป็นไอคอนของความรักและการให้อภัยของพระผู้เป็นเจ้า(ให้นึกถึงความไม่สงบและการรบราฆ่าฟันกันอย่างไม่ลดละในศตวรรษที่20 และโดยเฉพาะในช่วงระหว่างปี1968-1998) ท่านอธิการหวังให้หอตะเกียงเป็นคัมภีร์ของความหวังทั้งแก่ชาวไอร์แลนด์และแก่ชาวโลก.
ในที่สุด
เสาแหลมรูปเข็มที่ออกแบบโดย Colin Conn และ Robert Jamison จากบริษัท Box Architects ชนะการประกวด. เสาแหลมนี้เป็นปล่องกลวง ทำจากเหล็กกล้าปลอดสนิมยาว 15 เมตร หนักประมาณ 40 ตัน สร้างขึ้นที่เมือง Zurich ประเทศสวิสเซอแลนด์ มีมูลค่ากว่า 850,000 ปอนด์. นำมาติดตั้งณจุดตัดตรงกลางระหว่างลำตัวโบสถ์กับแขนโบสถ์ในเดือนเมษายนปี
2007 สูงจากระดับพื้นประมาณ 80 เมตร. ความสูงของเสาแหลม ส่วนที่มองเห็นเหนือหลังคาโบสถ์เท่ากับความสูงของไม้กางเขนหิน
Celtic Cross ที่อยู่ด้านทิศเหนือของโบสถ์ดังภาพที่นำมาให้ชมในตอนต้น. ฐานของเสาแหลมนี้ “เสียบลง” เหมือนทะลุหลังคาโบสถ์ ที่ปรับเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่กระจกในบริเวณจำเพาะเจาะจงตรงนั้น
ทำให้มองทะลุจากภายในโบสถ์ตรงจุดตัดดังกล่าว
ผ่านปล่องขึ้นไปถึงท้องฟ้าเหมือนได้ยลสวรรค์ชั้นฟ้า.
ฐานของเสาแหลมที่
“เสียบลง” บนหลังคาโบสถ์ เห็นได้จากภายในโบสถ์ คือบริเวณแสงสว่างตรงกลางส่วนโค้งของเสา
กลางภาพข้างบนนี้. ภาพนี้ของ
Ross ถ่ายเมื่อวันที่
4 July 2007. (ระบุอ้างอิงไว้ดังนี้
>> By Ross, CC BY-SA 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=13011492 )
ในยามกลางคืน เสาแหลมนี้สว่างเป็นลำแสงเหนือท้องฟ้ากรุงเบลฟาสต์. (ข้าพเจ้านึกภาพว่าหากฟ้าผ่าลงเสาแหลมเหล็กกล้านี้ คงทำให้ตะลึงและสะดุ้งกลัว แสงจะสว่างเจิดจ้าเพียงใด). เหมือนหอนาฬิกาบิ๊กเบนที่เป็นเอกลักษณ์หนึ่งของกรุงลอนดอน เสาแหลมนี้กลายเป็นอัตลักษณ์ของกรุงเบลฟาสต์.
เมื่อคำนึงถึงประวัติการต่อสู้ของชาวไอร์แลนด์เหนือภายในเครือสหราชอาณาจักร สถาปนิกคงต้องการให้เสาแหลมนี้ สะท้อนความหวังของชาวไอร์แลนด์ที่ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าอันไพศาล
พวกเขาฝ่าวิกฤติและตั้งตนยืนหยัดสู้ไม่ถอยเพื่อจุดยืนที่มั่นคงของพวกเขา และในมุมมองของศรัทธา เสาแหลมนี้ยังถ่ายทอดความหวังในชีวิตนิรันดร์ได้ชัดเจนดีด้วย. ผู้สนใจประวัติการต่อสู้ เรื่องราวของไอร์แลนด์เหนือในประวัติของสหราชอาณาจักร
ควรตามไปดูนิทรรศการหัวข้อนี้โดยเฉพาะ ที่เป็นนิทรรศการถาวร จัดอยู่ภายในศาลาเทศบาลเมือง
บนพื้นที่กว้างและโอ่โถง. เขาทำได้ดีมาก สมบูรณ์และครบทั้งรูปภาพ
ภาพถ่ายหรือโปสเตอร์ สรรพสิ่งที่เกี่ยวข้องจากยุคสมัย รวมถึงสื่อมีเดียอื่นๆที่รวบรวมไปไว้ที่นั่น. มีที่นั่งให้ชมให้อ่านให้ฟังอย่างเพียงพอ. การอธิบายก็ชัดเจน รวมบทประพันธ์จากกวี นักเขียนและบุคคลสำคัญของไอร์แลนด์มาประกอบครบวงจรองค์ความรู้.
ด้านนอกทิศตะวันตก มีซุ้มประตูหลังคาครึ่งวงกลมแบบศิลปะโรมันเนสก์สามซุ้ม ซุ้มกลางใหญ่กว่าซุ้มสองข้าง. ประตูกลางจึงเป็นประตูใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุด และบ่งบอกว่า ภายในโบสถ์ มีสามช่องทางเดิน (three naves). เส้นทางเดินเส้นสำคัญอยู่ตรงกลางลำตัวโบสถ์ ขนาบด้วยทางเดินสองข้าง. บนหน้าบันเหนือประตูใหญ่ทั้งสาม จำหลักเหตุการณ์สำคัญสามตอนในชึวิตของพระเยซู. เหนือประตูใหญ่ช่องกลาง เป็นภาพของพระคริสต์นั่งหน้าตรง ล้อมรอบด้วยนักบุญ เรียกชื่อภาพในลักษณะนี้ว่า Christ in Glory. เป็นผลงานจำหลักของ Esmond Burton เขามีผลงานประติมากรรมในโบสถ์ St Paul’s กรุงลอนดอนและโบสถ์เมือง Ripon ด้วย.
ด้านนอกทิศตะวันตก มีซุ้มประตูหลังคาครึ่งวงกลมแบบศิลปะโรมันเนสก์สามซุ้ม ซุ้มกลางใหญ่กว่าซุ้มสองข้าง. ประตูกลางจึงเป็นประตูใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุด และบ่งบอกว่า ภายในโบสถ์ มีสามช่องทางเดิน (three naves). เส้นทางเดินเส้นสำคัญอยู่ตรงกลางลำตัวโบสถ์ ขนาบด้วยทางเดินสองข้าง. บนหน้าบันเหนือประตูใหญ่ทั้งสาม จำหลักเหตุการณ์สำคัญสามตอนในชึวิตของพระเยซู. เหนือประตูใหญ่ช่องกลาง เป็นภาพของพระคริสต์นั่งหน้าตรง ล้อมรอบด้วยนักบุญ เรียกชื่อภาพในลักษณะนี้ว่า Christ in Glory. เป็นผลงานจำหลักของ Esmond Burton เขามีผลงานประติมากรรมในโบสถ์ St Paul’s กรุงลอนดอนและโบสถ์เมือง Ripon ด้วย.
ภาพนี้ของ Ardfern
ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 11
October 2007.
หน้าบันเหนือประตูด้านขวา
เป็นภาพเหตุการณ์พระเยซูคริสต์ฟื้นคืนชีวิต ที่เรียกกันว่า The
Resurrection. ถ้าอธิบายตามขนบการจำหลักเหตุการณ์นี้
พระคริสต์ปรากฏต่อหน้านางมารีมัดเดอแลน ยกมือห้ามบอกนางว่า
อย่ายึดพระองค์ไว้อีกเลย (Noli me tangere).
ภาพถ่ายของ Albert
Bridge เมื่อ 27 May 2009.
ในมุมด้านขวามีคนสองคน
อาจเป็นหญิงอีกสองคนที่ตามนางมารีมัดเดอแลนไปที่หลุมฝังศพของพระเยซู เพื่อนำน้ำมันหอมไปชะโลมร่างพระเยซู. ส่วนในมุมซ้าย เทวทูตคุกเข่า ใต้ลงไปมีข้อความจำหลักไว้ว่า O GRAVE WHERE IS THY VICTORY ในความหมายว่า หลุมศพนั้นหรือจะเหมาะกับพระเยซูคริสต์.
หน้าบันเหนือประตูด้านซ้าย จำหลักเหตุการณ์พระเยซูถูกตรึงบนไม้กางเขน เรียกตอนนี้ว่า The
Crucifixion. มีพระแม่มารีกับอัครสาวกจอห์นยืนขนาบสองข้างไม้กางเขน
ด้านขวาเป็นทหารโรมันสามคน ส่วนด้านซ้ายเป็นผู้ติดตามมาในขบวน ต่างอยู่ในท่าโศกสลด. มีข้อความจำหลักกำกับไว้ว่า HE THAT LOSETH HIS LIFE SHALL SAVE IT ในความหมายว่า ผู้ที่ยอมสละชีวิตของเขาเอง ย่อมช่วยชีวิตได้.
ภาพถ่ายของ Albert Bridgeเมื่อวันที่ 27 May 2009.
หลังจากได้เดินสำรวจโบสถ์นี้รอบนอก จึงเปิดประตูเข้าไปข้างใน
เสียเงินค่าเข้าห้าปอนด์เป็นการช่วยค่าทำนุบำรุงวัด. ตอนนั้นไม่มีนักท่องเที่ยวอื่น ในมุมหนึ่งกำลังมีพิธีสวดอะไรอย่างหนึ่ง
มีผู้มาร่วมสิบกว่าคน. ข้าพเจ้าเริ่มดูจากด้านซ้ายของลำตัวโบสถ์
หยุดอ่านคำอธิบายที่วางไว้. เขาทำได้ดีมาก
ให้รายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งประดับในวัด ประติมากรรม จิตรกรรม ทำขึ้นเมื่อไร
เพื่ออะไร มีสัญลักษณ์อะไร หมายถึงอะไร มีที่มาจากคัมภีร์เล่มไหนตอนไหน ทำไมใช้หินสีนี้ณตำแหน่งนั้นฯลฯ.
เมื่ออ่านครบทุกๆแผ่นที่ติดประกอบทั่วไปทั้งโบสถ์ ต้องคารวะผู้จัดทำ
ที่สละเวลาเพื่อแนะเพื่อสอนแก่ผู้ที่สนใจอ่าน เป็นการให้ความรู้อย่างแท้จริง เสริมด้วยแง่คิดของนักวิจารณ์ศิลป์. สำหรับข้าพเจ้า นั่นเป็นโบสถ์แห่งแรกที่จัดทำเอกสารข้อมูลอย่างละเอียดลออถึงเพียงนั้นติดไว้แต่ละจุดเพื่อบริการแก่ผู้เข้าชมวัด. (ที่บอกว่าแห่งแรก
ต้องระบุต่อว่าในจำนวนห้าสิบกว่าแห่งเป็นอย่างน้อย
ที่ข้าพเจ้าเคยไปเดินชมและเยือนมาตลอดชีวิตเดินทางสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา) ตามโบสถ์ทั่วไปในยุโรป จะติดไว้เพียงสั้นๆว่าเป็นผลงานของใคร(ถ้ารู้)
ทำขึ้นเมื่อไร เป็นข้อมูลที่มิได้อธิบายเนื้อหาแต่ให้ที่มา(ถ้ารู้). รายละเอียดแบบที่โบสถ์เบลฟาสต์ทำให้นี้
ไม่เคยเห็นมาก่อน เป็นรายละเอียดที่มิได้พิมพ์แจก แต่วางติดไว้ให้คนอ่าน
และคนที่สนใจจริงเท่านั้นจึงหยุดอ่าน. โดยทั่วไป หากแจกข้อมูลเชิงลึกแบบนี้ให้ฟรีๆ
ก็ไม่มีคนสนใจอ่าน ออกจากวัดก็ทิ้งหรือไปทิ้งในห้องโรงแรม.
กล่าวโดยรวม
สิ่งที่ดูเหมือนดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้าไปโบสถ์นี้
คือ The
Titanic Pall หรือผ้าคลุมหีบศพ ทำขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ความทรงจำแด่ผู้เสียชีวิตจำนวน
1,517
คน(จากจำนวนผู้โดยสารและคณะลูกเรือทั้งหมดราว 2,200 คน)
เมื่อเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ของสหราชอาณาจักรชื่อ RMS Titanic อับปางลงในวันที่15 เมษายน1912. เรือ Titanic สร้างขึ้นที่กรุงเบลฟาสต์. ปัจจุบันที่นั่น มีพิพิธภัณฑ์หรือศูนย์ศึกษาชื่อ Titanic
Belfast ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งข้อมูลความรู้เกี่ยวกับมรดกการต่อเรือและการเดินทะเลที่กรุงเบลฟาสต์เคยเป็นศูนย์กลาง. ศูนย์นี้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ 31
มีนาคมปี 2012.
ศูนย์ศึกษา Titanic Belfast ภาพจากอินเตอเน็ต
และชมคลิปสั้นๆเกี่ยวกับภายในของพื้นที่อันกว้างใหญ่ของ
Titanic Belfast ได้ที่นี่
>> https://www.youtube.com/watch?v=eL7LUhKs6ys
เรื่องราวของเรือ Titanic ที่มาเกี่ยวกับโบสถ์เบลฟาสต์นี้
เพราะมีศิลปินผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งทอจากมหาวิทยาลัย Ulster [เออสเตอ] ชื่อ Helen O’Hare and Wilma Kirkpatrick ร่วมใจกันออกแบบและประดิษฐ์ผ้าคลุมหีบศพที่ตั้งชื่อเรียกว่า Titanic Pall
เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์เรือล่มและเพื่อมอบให้โบสถ์ไว้ใช้ในพิธีต่างๆ. ผ้าผืนนี้ขนาด 12 x 8 ฟุต ใช้เวลาทำสามเดือนครึ่ง(ด้วยความร่วมมือของคณะผู้ปักคนอื่นๆด้วย). ทอจากไยขนแกะพันธุ์เมริโน (Merino) ร้อยเปอเซ็นต์ หนุนพื้นด้านหลังด้วยผ้าไอริชลินิน ย้อมเป็นสีฟ้าคราม (indigo
blue) เพื่อสะท้อนสีของทะเลยามเที่ยงคืนเมื่อเรือไปชนภูเขาน้ำแข็งในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือ
นอกฝั่งประเทศแคนาดา.
ไม้กางเขนขนาดใหญ่เด่นอยู่ตรงกลางผืนผ้า
เมื่อเข้าไปดูรายปักอย่างใกล้ชิด เห็นไม้กางเขนจำนวนร้อยๆขนาดต่างๆวางปะปนกันไป
มีดวงดาวแบบ Star of David ปักสอดแทรกไปด้วย ทั้งหมดประกอบกันเป็นไม้กางเขนใหญ่ ภายในกรอบสี่เหลี่ยมที่ปักเป็นรูปไม้กางเขนเล็กๆอีกจำนวนนับไม่ถ้วน. ใช้ด้ายไหมแท้ ไหมสังเคราะห์ ด้ายใยโลหะและด้ายฝ้าย. ศิลปินต้องการให้ไม้กางเขนและดวงดาวเหล่านี้ เป็นสัญลักษณ์ของชีวิตที่สูญสิ้นลงกลางทะเลมืดยามเที่ยงคืน. แบบปักดังกล่าว ศิลปินผู้ออกแบบได้แรงบันดาลใจจากเนื้อหาใน Requiem
ที่ Philip Hammond ได้ประพันธ์ขึ้นเพื่อผู้เสียชีวิต
และได้แสดงดนตรีนี้เป็นครั้งแรกในโบสถ์เบลฟาสต์ในเดือนเมษายน ปี 2012.
ดูลายปักใกล้ๆ
ภาพจากเน็ตที่นี่
>> https://portanddocksofbelfasttapestry.wordpress.com/research-and-study-visits/belfast5-091/
ผ้าคลุม Titanic Pall
นี้ กลุ่ม Friends of St. Anne’s Cathedral มอบให้แก่โบสถ์เบลฟาสต์ในวันที่ 15 เดือนเมษายนปี 2012
ในวาระครบร้อยปีของเหตุการณ์เรืออับปาง.
กำแพงหินจำหลัก The Kings’ Screen, York Minster.
ตั้งแต่ปลายยุคกลางมาแล้ว
วัด โบสถ์หรือวิหาร ยอมให้ตระกูลผู้ดีหรือคหบดีผู้ร่ำรวยเช่าหรือเช่าซื้อพื้นที่สองข้างลำตัวของอาคารวัด
โบสถ์หรือวิหาร เพื่อหารายได้ทำนุบำรุงศาสนา อนุญาตให้กลุ่มอภิสิทธิ์ชนเหล่านี้เข้าไปใช้พื้นที่ในวัดสองข้างลำตัว
สร้างเป็นวัดเล็กๆ (chapel) ส่วนตัว มีการตั้งแท่นบูชาในนั้นด้วย ตระกูลเจ้าของพื้นที่ส่วนนั้น ใช้เป็นที่ฝังศพของคนในตระกูล
และใช้เป็นที่ประกอบพิธีศาสนาเป็นการเฉพาะภายในวงศ์ตระกูล. วัดเล็กภายในโบสถ์ มีประตูเหล็กดัดปิดคั่นชัดเจน
ในยุคหลังๆเท่านั้นที่เปิดให้คนอื่นเข้าไปชมภายในได้.
บางแห่งประตูวัดเล็กถูกรื้อทิ้งไปแล้ว
(อาจหมดสัญญากันแล้ว). โบสถ์วิหารใหญ่ๆทั่วไปในคริสต์จักร จึงปรากฏมีการฝังศพลงใต้พื้นโบสถ์ เช่นศพของนักบวชคนสำคัญๆของวัด
ของบุคคลในราชวงศ์ ของบุคคลสำคัญๆของชุมชนมาตั้งแต่ยุคกลางแล้ว.
โบสถ์ในอังกฤษก็เช่นกัน แต่ศพของนักบวชหรือเจ้าอาวาสที่ฝังภายในวัดมีน้อยกว่า
โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 1530 เมื่อพระเจ้าเฮนรีที่เจ็ด
ประกาศตัดขาดจากคริสต์จักรที่กรุงโรม และต่อมาตั้ง Church
of England ขึ้น
(มีลัทธิความเชื่อคณะเล็กคณะน้อยที่สถาปนาขึ้นตามๆกันมาในยุคใหม่) แนวโน้มของสังคมเบนไปสู่การยกย่องเทิดทูนทหาร
นายพล กองทัพฯลฯ ที่รับใช้สหราชอาณาจักร ตอกย้ำอำนาจ
ความสำคัญของราชวงศ์และอาณาจักรที่กว้างใหญ่ไพศาล ที่ไม่ว่ายามใด
มีส่วนของดินแดนในเครือจักรภพอังกฤษที่อยู่ในช่วงกลางวันเสมอ ตามสำนวนที่ว่า The empire on which the sun never sets (สำนวนนี้ดั้งเดิมใช้ในศตวรรษที่
16, 17 หมายถึงแสนยานุภาพของอาณาจักรสเปน). แนวโน้มนี้เห็นได้ชัดเจนที่สุดในสถาปัตยกรรมโบสถ์วิหารในอังกฤษ
ที่มีส่วนสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า rood
screen หรือสั้นๆว่า
screen ที่เป็นเสมือนกำแพงคั่นบริเวณใจกลางของโบสถ์ที่ประกอบพิธีและเคยเป็นที่สงวนไว้สำหรับเจ้านายและคณะนักบวชเท่านั้น. กำแพงแบบนี้เป็นไม้หนาทึบหรือกำแพงหิน
และจำหลักรูปปั้นแบบนูนสูงของเหล่ากษัตริย์ในราชวงศ์อังกฤษเรียงรายสองข้างทางเข้าบนกำแพงนี้. ดังภาพที่นำมาให้ดูจากกล้องส่วนตัวของข้าพเจ้าเอง
ข้างล่างนี้กำแพงหินจำหลัก The Kings’ Screen, York Minster.
เหนือขึ้นไปบนกำแพงหิน
มีไม้กางเขนไม้ ประดับด้วยผ้าขาวบางพาดบนแขนของไม้กางเขน
โยงไปถึงผ้าที่ห่อหุ้มร่างของพระเยซูที่เกือบเปล่าเปลือย และต่อไปถึงผ้าห่อศพในโลง. มีพื้นที่ตั้งออแกนขนาดใหญ่ของวัด ทำให้เข้าใจได้ทันทีว่า กำแพงนี้มีความหนาเพียงใด
จนเหมือนกับกำแพงล้อมปราสาทกันศัตรูผู้บุกรุก.
กำแพงคั่นใจกลางโบสถ์วิหารแบบนี้
ในฝรั่งเศส(เรียกว่า jubé) ถูกรื้อถอนทำลายลงไปเกือบทั้งหมดเมื่อเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส
เพราะนั่นเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นที่คณะปฏิวัติต้องการทำลายให้สิ้น
เหลือไว้เพียงไม่กี่แห่ง เพื่อให้เป็นแบบศึกษาสถาปัตยกรรมในอดีต บางแห่งมีการปรับเปลี่ยนให้ดูโล่ง
หรือเปลี่ยนเป็นกำแพงเหล็กดัดที่โปร่งมองทะลุได้. ในอังกฤษก็มีการรื้อถอนออกไปบ้าง แต่โบสถ์ใหญ่ๆยังคงรักษาไว้เสมอ
ทั้งนี้เพราะประติมากรรมที่จำหลักบนกำแพงเกือบทุกแห่งในอังกฤษ มิได้เกี่ยวกับศาสนา มิใช่ภาพนักบุญหรืออัครสาวก แต่เกี่ยวกับกษัตริย์องค์ต่างๆในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ มีชื่อจำหลักลงอย่างชัดเจน.
การเจาะจงชื่อไม่ว่าที่ไหนเมื่อไร
คือการยืนยันตัวตน เน้นสถานะและปักจุดยืนของตนเองในสายตาของโลก. ความยิ่งใหญ่ของสหราชอาณาจักรได้ฝังลึก
ผูกและพันจิตสำนึกประชาราษฎร์อยู่กับสหราชอาณาจักรและสถานะของราชวงศ์เสมอมาจนถึงทุกวันนี้.
ชาวอังกฤษไม่น่าจะมีโอกาสหลุดพ้นจากราชวงศ์สำนึกนี้ได้.
ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าไปยืนดูกำแพงแบบนี้ในโบสถ์ใหญ่แห่งหนึ่งในอังกฤษ
กำลังพินิจพิจารณาประติมากรรมบนกำแพงนั้น. เจ้าหน้าที่ผู้เดินไปมาในโบสถ์(ที่ไม่มีคนนัก)
เข้ามาพูดด้วย เขาพูดขึ้นอย่างชื่นชมว่า กำแพงสวย ประติมากรรมฝีมือเยี่ยม ใช่ไหม? ส่วนที่อยู่ภายใน
เป็นบริเวณที่คนอย่างพวกเราเข้าไปไม่ได้ สงวนให้เจ้านาย คณะนักบวชเท่านั้น. ข้าพเจ้าตอบว่า
สวยอยู่ แต่คุณเห็นไหมว่า กำแพงนี้มันสูงหนาและทึบ
ปิดบังแสงสว่างจากทิศตะวันออกที่เข้าทางหัวโบสถ์ ทำให้แสงไม่อาจส่องผ่านมาสู่ลำตัวโบสถ์.
ในฝรั่งเศสเขารื้อถอนสิ่งก่อสร้างแบบนี้ไปเกือบหมดแล้ว
และเมื่อคิดตามหลักศาสนาแล้ว พระเจ้าคือแสงสว่าง พระเยซูคริสต์ก็บอกว่าทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเสมอกันเบื้องหน้าพระเจ้า
ไม่มีใครมีสิทธิ์มากกว่าใครไม่ว่าจะเกิดในชนชั้นไหน. แสงสว่างจากพระเจ้าเป็นของทุกคน
กำแพงจึงเป็นสิ่งกีดขวางและขัดต่อหลักการของพระเจ้า. เจ้าหน้าที่ฟังแล้ว อ้าปากค้าง เอามือปิดปาก
มองไปที่กำแพงที่เขาชื่นชมมาตลอดชีวิตทำงานที่เขาประจำอยู่ที่โบสถ์นั้น พึมพำว่า เขาไม่เคยคิดถึงประเด็นนี้เลย
และด้วยความเป็นสุภาพบุรุษ เขาบอกว่า ผมจะพาคุณไปหารองอธิการวัด
คุณจะได้ข้อมูลความรู้และเอกสารอื่นๆจากวัดเพื่อการศึกษาค้นคว้าของคุณ. เขาพาข้าพเจ้าไปพบรองอธิการ
และวันนั้นข้าพเจ้ามีโอกาสเข้าชมส่วนอื่นๆของโบสถ์ที่ปิดสำหรับคนทั่วไป
อย่างทั่วถึง. และนี่คือความหมายที่แท้จริงของ gentlemanship ในสปิริตของชาวอังกฤษ
นั่นคือการยอมรับความผิดพลาด ความไม่รู้ และหาทางนำไปสู่คนที่รู้ดีกว่าเขา
รวมถึงการคารวะความดีความสามารถของคนอื่นอย่างจริงใจ และผนวกความถ่อมตนที่น่าสรรเสริญ ในขณะเดียวกันก็แสดงความใจกว้างที่หาได้ยากในหมู่คน. สปิริตของ
gentlemanship เป็นมากกว่าการช่วยผู้หญิงถือของ
หรือลุกให้นั่ง หรือกิริยาเอื้อเฟื้ออื่นๆ ที่อาจเป็น courtesy, politeness, civility ที่บ่งบอกหรือเน้นปฏิกิริยาภายนอกมากกว่า. ข้าพเจ้าจำเรื่องกำแพง
rood screen ในโบสถ์ได้ไม่เคยลืมเช่นกัน.
ผิดจากขนบในอังกฤษ โบสถ์เบลฟาสต์อนุมัติให้เป็นที่ฝังศพของบุคคลคนเดียว เขาคือ Lord Carson of Duncairn (1854-1935, วีรบุรุษคนสำคัญของไอร์แลนด์เหนือ ผู้สนใจเปิดไปอ่านรายละเอียดของคนนี้ได้ในเน็ต) มีแผ่นโลหะจำหลักชื่อของเขาบนกำแพงเหนือหลุมศพดังภาพนี้
ผิดจากขนบในอังกฤษ โบสถ์เบลฟาสต์อนุมัติให้เป็นที่ฝังศพของบุคคลคนเดียว เขาคือ Lord Carson of Duncairn (1854-1935, วีรบุรุษคนสำคัญของไอร์แลนด์เหนือ ผู้สนใจเปิดไปอ่านรายละเอียดของคนนี้ได้ในเน็ต) มีแผ่นโลหะจำหลักชื่อของเขาบนกำแพงเหนือหลุมศพดังภาพนี้
โบสถ์เบลฟาสต์ก็ให้ความสำคัญต่อการจรรโลงคุณงามความดีของทหารผู้สละชีวิตเพื่อชาติ
จัดให้มี Regimental Chapel สถาปนาขึ้นภายในโบสถ์อย่างเป็นทางการในปี
1981 ให้เป็นที่รวมสรรพสิ่งจากกองทหารไอร์แลนด์ที่ไปร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง เช่นธงประจำกอง ปืน เครื่องแบบ ของใช้ประจำตัวทหารที่ครอบครัวทหารได้เก็บรักษาไว้. เอกสารสำคัญชิ้นหนึ่งคือ หนังสือสวดเขียนด้วยลายมือบนกระดาษสาของ POW
เชลยศึกผู้หนึ่งที่ถูกจองจำที่เกาหลีระหว่างปี 1952-53. หนังสือสวดเล่มนี้เหล่าเชลยศึกได้มอบให้แก่นายร้อยเอก James Majury ด้วยสำนึกถึงน้ำใจที่เขาได้ช่วยเหลือเชลยศึกกลุ่มนั้น
และนายทหารผู้นี้เช่นกันที่ได้ริเริ่มรณรงค์ให้มีการตั้งวัดเล็กภายในโบสถ์เบลฟาสต์เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ทหารในอดีตและสรรเสริญทหารในปัจจุบันที่ยืนหยัดรับใช้ชาติ.
ยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับโบสถ์เบลฟาสต์ที่น่าสนใจอื่นๆ
เช่นจิตรกรรมกระจกสีเนื้อหาคุณธรรม หรือไม้กางเขนจากแนวสร้างสรรค์ยุคใหม่ดังภาพนี้
ดูไม่ชัดเจนว่าลวดลายสีสวยงามบนไม้กางเขนสื่อความหมายอะไรพิเศษไหม. สีสันที่สดใส รับกับกระจกสีที่อยู่ด้านหลัง. สีสันสวยงามนั้น
อาจแนะให้เข้าใจศรัทธาของศิลปินผู้เนรมิตว่า
ไม้กางเขนที่เป็นเครื่องมือปลิดชีวิตของพระเยซูคริสต์
กลับเป็นความหวังอันรุ่งโรจน์ของคริสต์ศาสนิกชนที่มุ่งสู่ชีวิตนิรันดร์หลังความตาย.
ข้าพเจ้าเดินชมและอ่านรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับสรรพสิ่งที่มีในโบสถ์ ใช้เวลาเดินดูชั่วโมงกว่า
มาถึงบริเวณ Baptistery (ประดับตกแต่งแล้วเสร็จดังที่เห็นในปัจจุบันเมื่อปี1928) มีสระน้ำพุหินอ่อนตั้งอยู่ภายใน สำหรับพิธีศีลจุ่ม หรือพิธีล้างบาปขอเข้าเป็นคริสต์ศาสนิกชน. ดังภาพข้างล่างนี้จาก alamy.com
เพดานครึ่งวงกลมประดับด้วยโมเสกจากแก้วชิ้นเล็กๆ 150,000
ชิ้น ประกอบกันเป็นเนื้อหาของ The Creation. ดวงอาทิตย์อยู่ณจุดสูงสุดตรงกลางโดม(ภาพลักษณ์ของจักรวาล) เห็นมือของพระเจ้ายื่นโผล่ออกจากมวลเมฆ
รังสีแสงทองกระจายออกไปทั่วทุกทิศ ดวงดาวดารดาษบนท้องฟ้าสีฟ้าใส บนพื้นโลกมีต้นไม้ที่กิ่งก้านแผ่ออกโยงเป็นลวดลายเกี่ยวกันไปรอบโลก
ยืนยันความเกี่ยวโยงของต้นไม้พืชพรรณในธรรมชาติ ใบหญ้าและดอกไม้หลายชนิดงอกงามประดับพื้นโลก
ปลาแหวกว่ายไปมาอยู่ในสายน้ำ. รูปลักษณ์เหล่านี้รวมกันเพื่อบอกเล่าการสร้างโลก.
ใต้เพดานหินทรงครึ่งวงกลม เป็นที่ตั้งของสระน้ำหินอ่อนทรงกลม
(baptismal font) ที่ทำจากหินอ่อนหลากสีจากแดนต่างๆภายในไอร์แลนด์
มีคำอธิบายเจาะจงการใช้สีไว้อย่างน่าสนใจว่า ฐานของสระน้ำพุเป็นหินอ่อนสีดำหมายถึงบาปทั้งหลายที่ติดอยู่ในแต่ละคน. เสากลมๆแปดเสารองรับอ่างน้ำเป็นหินอ่อนสีแดงๆ
ต้องการโยงไปถึงสีเลือดของพระเยซูผู้ถูกตรึงจนสิ้นใจบนไม้กางเขน ที่อาจโยงไปถึงการบำเพ็ญทุกรกิริยาด้วยความสำนึกผิดในบาปของตน
(penitence). อ่างหินอลาบาสเตอร์สีขาวที่บรรจุน้ำ
โยงไปถึงชีวิตเกิดใหม่ หมดจดงดงามหลังพิธีล้างบาปและประกาศตนเป็นคริสตศาสนิกชน.
สามภาพข้างบนนี้ เป็นภาพของ Ardfern
ในวิกิพีเดียชื่อเรื่อง St
Anne's Cathedral, Belfast
กำกับภาพไว้ว่า
Baptistery and font, St Anne's Cathedral, Donegall Street,
Belfast,
Northern Ireland, July 2010.
ออกจากมุมนั้น
ถึงพื้นที่หลังประตูใหญ่ทิศตะวันตก
เห็นแนวหินอ่อนสลับสีขาวสีดำ ทอดตรงไปตามลำตัวโบสถ์ถึงหน้าแท่นบูชาเอกของโบสถ์. เข้าใจทันทีว่านั่นคือ labyrinth บนพื้นโบสถ์. ข้าพเจ้ามิได้เดินไปในเขาวงกตนั้น
ใช้ตาเดินวนไปในนั้นแทน.
ต้องเดินไปบนเส้นทางหินอ่อนสีขาวที่จะนำไปถึงหน้าแท่นบูชา
สู่แสงสว่างในทิศตะวันออก หากเลือกเดินไปบนเส้นทางหินอ่อนสีดำ
ก็จักวนไปวนมาหาทางออกไม่ได้.
เส้นทางที่ทอดตรงจากประตูใหญ่ทิศตะวันตกสู่แท่นบูชาทางทิศตะวันออก
ไม่มีฉากหรือสิ่งใดขวางกั้น เป็นเส้นทางตรงสู่พระเจ้า
และเมื่อมองจากบริเวณแท่นบูชากลับไปยังประตูใหญ่ทางทิศตะวันตก
เส้นทางตรงจากประตูทิศตะวันตกสู่แท่นบูชาทิศตะวันออกนี้
เปรียบได้กับการคลำทางจากความมืดสู่ความสว่าง จากความหลงผิดสู่การตระหนักรู้เรื่องบาปบุญคุณโทษ. labyrinth บนพื้นในโบสถ์ใหญ่ๆ จึงอยู่ในพื้นที่ของลำตัวโบสถ์ก่อนถึงบริเวณกลางโบสถ์เสมอ.
เมื่อสายตาเดินวนภายในเขาวงกตออกไปยังแท่นบูชาแล้ว ก็กลับมาถึงตำแหน่งเริ่มต้นเส้นทางเยือนวัดของข้าพเจ้าวันนั้น. ได้หยุดคุยกับเจ้าหน้าที่
แสดงความยินดีที่โบสถ์จัดข้อมูลต่างๆไว้ให้อย่างละเอียด แต่มีจุดหนึ่งที่ไม่มีข้อมูล
คือจิตรกรรมโมเสกที่อยู่บนผนังกำแพงสูงขึ้นไป ใกล้บริเวณที่ตั้งขายตั๋วและหนังสือ. เจ้าหน้าที่หนุ่มยิ้มอย่างยินดีที่มีคนสนใจถาม เขาบอกว่าเขาจบสาขาโบราณคดีศึกษา. ข้าพเจ้าบอกว่า
ภาพหรือองค์ประกอบที่มาจากเหตุการณ์ในชีวิตของพระเยซูหรือจากคัมภีร์เก่านั้น
ข้าพเจ้าเข้าใจเพราะการนำเสนอเนื้อหาเหมือนๆกันไม่ว่าวัดโบสถ์หรือวิหารใดในยุโรป
ฝีมือคนสร้างเท่านั้นที่ไม่เหมือนกันและหน้าตาบุคคลในภาพก็เปลี่ยนให้ทันสมัยขึ้น โดยรวมทุกอย่างเป็นไปตามขนบและระบบ
Christian
iconography มีแห่งเดียวที่ผิดแปลกไป. ข้าพเจ้าชี้ขึ้นไปบนจิตรกรรมโมเสกเหนือกำแพงตรงนั้น ที่ตั้งของ Chapel of the Holy Spirit. วัดเล็กนี้สถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการภายในโบสถ์เบลฟาสต์เมื่อวันที่
5 กรกฎาคม ปี 1932 ในวาระครบรอบ1500 ปีที่นักบุญ Patrick เดินทางเข้าไปเผยแผ่คริสต์ศาสนาในไอร์แลนด์.
ภายในบนเพดานประดับด้วยงานโมเสกสีทองระยิบระยับ
เหมือนถ่ายทอดความพร่างพราวของสวรรค์ชั้นฟ้าเต็มโดมครึ่งวงกลม ทูตสวรรค์(seraphim) ประจำอยู่สี่มุมทำจากชิ้นโมเสกสีฟ้า
สีเงินและสีขาว โดดเด่นเหมือนจะโผออกมาต้อนรับ.
มีอักษร HOLY และ LORD กำกับ
ส่วนกำแพงตอนบนเหนือทางเข้าเป็นจิตรกรรมโมเสก ดังภาพข้างล่างนี้
ภาพถ่ายจากโปสการ์ดที่ซื้อมาจากโบสถ์วันนั้น
เมื่อมาขยายดูภายหลังจึงชัดเจน. จิตรกรรมโมเสกนี้อยู่สูงขึ้นไปจรดเพดาน ขณะที่ข้าพเจ้ายืนดูอยู่ในโบสถ์วันนั้น
ข้าพเจ้ามองไม่เห็นใบไม้ที่นักบุญถือชูอย่ในมือ ไม่เห็นอักษรที่จารึกสองข้างนักบุญ
ไม่เห็นข้อความในแผ่นกระดาษที่ทอดพริ้วลงที่ประกอบสตรีแต่ละนาง.
วันนั้นข้าพเจ้าเห็นเพียงภาพสตรีสองนางยืนคนละข้างนักบุญผู้หนึ่ง สตรีทั้งสองมีผ้าผูกตา
คนที่อยู่ด้านซ้าย ผ้าปิดลงบนตาแบบปิดมิด ส่วนคนที่อยู่ด้านขวา ผ้าที่ผูกเลื่อนขึ้นไปตรงหน้าผาก
คนนี้จึงมองเห็นชัดเจน. ข้าพเจ้าถามว่า
สตรีสองนางนี้ มีความหมายหรือเป็นสัญลักษณ์พิเศษอะไรหรือเปล่า? ปกติแล้วคนที่ถูกปิดตาหมายถึง Synagogue ผู้ที่ไม่นับถือพระคริสต์ เหมือนคนที่เดินไปบนทางมืด
ส่วนอีกคนหนึ่งคือผู้ที่เชื่อในพระองค์จึงเดินไปบนทางที่สว่าง. เจ้าหน้าที่หนุ่มจ้องมองไปที่ภาพ สารภาพว่า ผมมาทำงานที่นี่สองปีแล้ว แต่ไม่เคยสังเกตเห็นความแตกต่างของผู้หญิงสองคนนั้น
ไม่รู้ว่ามีความหมายอะไรพิเศษไหม. เขาเดินไปค้นหาแผ่นพับต่างๆว่าจะมีอธิบายไว้ไหม. เขาไม่พบข้อมูลใด. ข้าพเจ้าจึงพูดต่อว่า ข้าพเจ้าคิดเอาเองว่า
ตามประวัติการเผยแผ่ศาสนาบนดินแดนไอร์แลนด์ นักบุญตรงกลางคงจะเป็น St.Patrick ผู้สถาปนาคริสต์ศาสนาในไอร์แลนด์. เจ้าหน้าที่ตอบว่าใช่. ข้าพเจ้าพูดต่อว่า ถ้าอย่างนั้น
ผู้หญิงที่มีผ้าปิดตา อาจหมายถึงไอร์แลนด์ก่อนยุคคริสต์ศาสนา. ให้สังเกตรายละเอียดที่ประกอบรอบๆตัวผู้หญิงที่ถูกปิดตา มีต้นไม้กิ่งโล้นไม่มีใบหรือผล
นางยืนบนพื้นที่ขรุขระเพราะมีก้อนหินเต็ม ไกลไปข้างหลังมีสิ่งก่อสร้างแบบง่ายๆ (คล้ายStonehenge) เมื่อเทียบกับองค์ประกอบรอบข้างของสตรีด้านขวาของภาพนี้
นางยืนบนพื้นสนามหญ้าสีเขียว มีดอกไม้ขึ้นเต็มสะพรั่ง เป็นฤดูใบไม้ผลิ
ชีวิตเกิดใหม่และงอกงาม ไกลออกไปมีอาคารสถาปัตยกรรมที่ดูมั่นคงประณีตกว่า.
จึงน่าจะหมายถึงไอร์แลนด์หลังจากที่นักบุญแพทริคได้เข้าไปเผยแผ่คริสต์ศาสนาแล้ว ผ้าที่ปิดตานางจึงเลื่อนขึ้นไปบนหน้าผาก.
วันนี้ เมื่อขยายภาพโปสการ์ดดูจึงรู้ว่าที่เราพิจารณาภาพไว้วันนั้น
ถูกต้องแล้ว อ่านชื่อกำกับนักบุญว่า SAINT PATRICK APOSTLE OF CHRIST มือชูใบ cloverleaf
สามแฉก
สัญลักษณ์ของประเทศไอร์แลนด์. นักบุญยืนบนผืนแผ่นดินที่เขียวชอุ่ม. สตรีด้านซ้าย มีพิณประกอบ (พิญเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของไอร์แลนด์)
ข้อความในแผ่นกระดาษที่กำกับรอบตัวสตรีคนซ้ายเขียนไว้ว่า OUT OF THE DEEP HATH I CALLED UNTO THEE (ใจความว่า ข้าร้องเรียกท่านจากถ้ำมืด) ส่วนข้อความบนแผ่นกระดาษที่ประกอบสตรีด้านขวา
เขียนว่า MINE EYES HAVE SEEN THY
SALVATION (ตาของข้าได้เห็นหนทางพ้นบาปจากพระคริสต์)
ใต้ลงไปเป็นภาพเรือล่องไปในทะเลที่มีคลื่นลมแรงพอสมควร
คนหนึ่ง(มีลำแสงเรืองรองรอบศีรษะ เพื่อบอกว่าเป็นนักบุญ) ยืนอยู่ที่หัวเรือ มือหนึ่งจับไม้กางเขน
อีกมือหนึ่งชี้สูงขึ้น เพื่อบอกว่าเขาไปเพื่อเผยแผ่คริสต์ศาสนา มีอีกสามคนในเรือแบบไวกิ้ง
ทั้งหมดสวมเสื้อคลุมหลวมๆสีดำของนักบวช เห็นแนวเทือกเขาสูง
เพราะต้องข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังเกาะไอร์แลนด์. ข้าพเจ้าชื่นชมศิลปินผู้เนรมิตจิตรกรรมโมเสกชิ้นนี้
ที่รู้จักนำรูปลักษณ์เก่ามาใช้อธิบายเนื้อหาใหม่ได้อย่างรัดกุมและเฉพาะเจาะจงดังกรณีของไอร์แลนด์ได้อย่างสวยงามและเต็มตรงตามความหมายที่ต้องการสื่อ.
อีกเรื่องหนึ่งที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับโบสถ์เบลฟาสต์นี้คือ เมื่อ 37
ปีก่อน เจ้าอธิการ Rev. Samuel B. Crooks ได้ริเริ่มออกไปนั่งที่บันไดหน้าโบสถ์หนึ่งสัปดาห์ก่อนวันคริสต์มาส (เรียกกันว่า Christmas Sit Out) ท่านนั่งตั้งแต่ 9:00 น.ถึง 17:30 น.ทุกวัน (เดือนธันวาคมไอร์แลนด์หนาวมากแล้ว)
ท่านนั่งรับเงินบริจาคทุกชิลลิงทุกปอนด์จากผู้คนที่เดินผ่านไปมา.
เจ้าอธิการรวบรวมเงินบริจาคทั้งหมดและแบ่งแจกจ่ายให้กับองค์กรการกุศลต่างๆของท้องถิ่น. คนเลยตั้งสมญานามเรียกเจ้าอธิการ Crooks ว่าเป็น Black Santa หรือซันตาครอสดำ
(เพราะสวมเสื้อคลุมยาวกรอมเท้าสีดำของนักบวช – black chasuble). เจ้าอธิการคนต่อๆมาก็ปฏิบัติตามมาจนถึงคนปัจจุบัน (ภายหลังนักบวชคนอื่นๆในสังกัดของโบสถ์
ก็พากันมานั่งนอกโบสถ์เบลฟาสต์ด้วย) เปิดรับเงินบริจาคทุกปีเช่นกัน. ตั้งแต่ปีแรกที่ทำ (1976) มาจนถึงปัจจุบันนี้ โบสถ์ได้รวบรวมเงินบริจาคมาหลายล้านปอนด์
เงินนี้ได้กลับสู่ชุมชนด้วยการบริหารจัดการขององค์กรการกุศลต่างๆอย่างเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ. ผู้คนยังคงเรียกคณะนักบวชที่ออกไปนั่งนอกโบสถ์ว่า Black Santa.
ข้าพเจ้าผู้เป็นชาวพุทธ เคยคิดว่า
วิธีเผยแผ่คริสต์ศาสนาที่น่าจะได้ผลอีกหนึ่งช่องทาง คือผ่านทางคริสต์ศิลป์ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของศิลปะทุกประเภทในวัฒนธรรมตะวันตก
เป็นศิลปะแขนงสำคัญที่สุด ที่มีความหลากหลาย อีกปริมาณงานศิลป์ก็มีมาก และหาดูได้ในทุกประเทศในยุโรป.
งานศิลป์ฝีมือชั้นครูตั้งแต่ต้นยุคกลาง(คริสตศตวรรษที่ 12)
เป็นต้นมา
งานศิลป์ที่ทำขึ้นด้วยศรัทธา
ด้วยความรู้สึกร่วมกับเหตุการณ์ที่เขากำลังถ่ายทอดออกมาเป็นรูปลักษณ์ มีอานุภาพมากเพียงพอ
สื่อนามธรรมและคุณธรรม
ที่ดลใจคนได้ หากคนสนใจเข้าไปพินิจพิจารณา เข้าถึงกลไกของการใช้รูปลักษณ์แบบต่างๆ
อีกแสงสี และดนตรีก็มีส่วนด้วยอย่างมาก (ตัวอย่างเช่น ดนตรีของ Gustav Mahler, Johann Sebastian Bach, Johannes
Brahms, George Frideric Handel หรือเพลงสวด canticles,
hymns, Gospel music etc. นึกถึง Jesus
Superstar, the musical ที่น่าประทับใจไม่น้อย).
บ่อยครั้ง
บนเส้นทางเดินของข้าพเจ้าไปตามวัด โบสถ์ วิหารต่างๆในยุโรป แม้ไม่ได้เป็นคริสต์ศาสนิกชน
ยังพลอยตื้นตันไปกับผลงานจากมือ“อุ่นๆ”ของผู้มีเลือดเนื้อวิญญาณของเหล่าอัจฉริยบุคคลในอดีต. สำหรับข้าพเจ้า
มือคนเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ให้กับงานสร้างสรรค์ เหนือกว่าเครื่องจักรกล ใดๆ. ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นช่องทางนำผู้ชมสู่ศรัทธาได้ และคนที่เข้าถึงศรัทธาด้วยเส้นทางนี้
อาจเกิดอารมณ์สะเทือนที่ลึกล้ำและไม่สิ้นสุดลงง่ายๆ.
แต่มาในวันนี้ ข้าพเจ้าชักไม่แน่ใจเสียแล้ว การจะเข้าถึงส่วนลึกส่วนละเมียดละไมของจิตสำนึกหนุ่มสาวยุคปัจจุบัน
อาจต้องใช้สื่อคนละแบบ อาจต้องใช้
animation ขั้นสูงบวกเทคโนโลยีที่สร้างมารยากล
วับๆแว็บๆแล้วหายไปเพื่อกระตุ้นให้ติดตาม เหมือนการออกตามแสวงหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเกมส์การเล่นสมัยใหม่.
ในที่สุด
เพื่อความอยู่รอดของสถาบันศาสนา
วัดต่างๆต้องเบนหน้าที่ออกไปร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชน ช่วยให้ทุกหน่วยในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น. การทำดีน่าจะเป็นสิ่งประกันศรัทธาในใจคน
และนำคนสู่มิติขั้นสูงขึ้นๆต่อไป.
นักบวชอาจต้องทุ่มเทตนรับใช้
ช่วยเหลือคนจน คนเจ็บ คนป่วยตามคำสอนของพระเยซู อาจต้องเป็นดั่งนักบุญฟรานซิสในสมัยศตวรรษที่สิบสาม
หรือแม่ชีเทเรซาในสมัยศตวรรษที่ยี่สิบเป็นต้น.
แต่ปัจจุบันมีนักบวชที่พร้อมแบบนั้นไหม?
กล่าวโดยสรุป
โบสถ์เบลฟาสต์มีได้เป็นโบสถ์ที่สวยงามพิเศษมากเกินหน้าโบสถ์อื่นๆอีกจำนวนมากที่ได้เห็นมา
โบสถ์เบลฟาสต์ที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 19 แม้จะสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมต้นยุคกลางแบบโรมันเนสก์
ก็มิอาจเทียบกับความประณีตด้านสถาปัตยกรรมและประติมากรรมของโบสถ์ใหญ่ๆที่ตั้งมาตั้งแต่ต้นยุคกลางจริงๆเช่น
York Minster (ศต.13 บนพื้นที่ที่เคยเป็นศาสนสถานตั้งแต่ศต.ที่ 7) หรือ Chester Cathedral (ศต.11).
ข้าพเจ้าอ้างอิงถึงสองโบสถ์นี้ เพราะปีนี้ได้กลับไปเยือนอีก
เป็นแม่นางในวัยงามที่ตรึงใจไม่เสื่อมคลาย.
บันทึกนี้เป็นเพียงตัวอย่างของการเดินชมโบสถ์
แค่เพียงได้เห็นไม้กางเขนหินขนาดยักษ์จากบนรถทัวร์ ทำให้ข้าพเจ้าต้องแวะเข้าไปพินิจพิจารณาโบลถ์เบลฟาสต์อย่างใกล้ชิด
และในที่สุดได้แง่คิดใหม่ๆเกี่ยวกับบทบาทของวัดในไอร์แลนด์เหนือและในสังคมอังกฤษปัจจุบัน.
ผู้ที่ศึกษาศิลปะหรือสนใจในเรื่องการออกแบบไม่จำเพาะต้องเป็นสถาปัตยกรรม โบสถ์และคริสต์ศิลป์ในวงกว้างตามพิพิธภัณฑ์
เป็นศูนย์รวมรูปแบบรูปลักษณ์ ที่คนนำมาประกอบผสมผสานกันเป็นแบบใหม่ๆได้เกือบไม่มีที่สิ้นสุด. เช่นนี้การไปเยือนไปชม
จึงอาจดลบันดาลใจให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ของตนเองในอนาคต โดยไม่จำเป็นต้องนับถือคริสต์ศาสนา. วัด โบสถ์ วิหาร อารามนักบวช(ไม่ว่าในศาสนาใด) เคยเป็นแหล่งความรู้
ศูนย์ศึกษาและถ่ายทอดวิชาการเกือบทุกแขนงมาแล้วตั้งแต่ดึกดำบรรพ์และแม้จะไม่มีบุคลากรที่ทุ่มเทแบบเดิมในปัจจุบัน
สิ่งที่เหลือให้เห็นในสถานที่เหล่านั้น ยังคงเป็นขุมทรัพย์
เป็นมรดกจิตวิญญาณที่มีอานุภาพเพียงพอ หากคนรู้จักมอง.
บันทึกเดินทางของโชติรส
โกวิทวัฒนพงศ์ เขียนไว้เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๐.
เชิงอรรถ ๑
ในสหราชอาณาจักร
มีสถาบัน องค์กรและนักวิจัย ที่ศึกษา ทำสถิติอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับศาสนาและความเชื่อในหมู่ประชาราษฎร์
อย่างเจาะลึกในทุกมิติ ที่รวมและวิเคราะห์ทุกความเชื่อทุกนิกายมาเป็นเวลานาน
ดังสถาบันต่อไปนี้ที่ผู้สนใจอยากรู้รายละเอียดเข้าไปค้นอ่านต่อได้
* BRIN (British Religion in Numbers,
based at the University of Manchester)
* English Church Census 2005 (20 March
2008)
* British Attitudes Survey, British
Household Panel Survey
* Pew Research Center
* หนังสือเล่มสำคัญของ Peter Brierley, UK Church Statistics 2 : 2010-2020 งานวิจัยของเขาเป็นที่ยอมรับและอ้างอิงถึงเสมอ.
ข้าพเจ้าสรุปบางประเด็นจากข้อมูลต่างๆอย่างย่อๆมาเป็นแนวคิดณที่นี่
ดังนี้ >>
* จำนวนประชาชนในสหราชอาณาจักร ที่ประกาศตนเป็นคริสต์ศาสนกชนจะลดลงจาก 64% ในปี 2010 เหลือเพียง 45% ในปี 2050 ในขณะที่จำนวนมุสลิมจะเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 11% ส่วนจำนวนประชาชนผู้ประกาศตนไม่มีศาสนาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 28% เป็น 39%.
* ในปี 2070 จำนวนมุสลิมในโลกอาจมีมากกว่าจำนวนคริสต์ศาสนิกชน(ทุกนิกายรวมกัน). ในหมู่ชาวมุสลิม มีอัตราการเกิดที่สูงกว่า
เพราะอิสลามห้ามทำหมันถาวรหรือทำแท้ง.
* สถิติปี 1910 ระบุว่า 66% ของคริสตศาสนิกชน อยู่ในทวีปยุโรป ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 25%. ในระดับโลก คริสต์ศาสนิกชนกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยที่ 4 ใน 10 ของคริสต์ศาสนิกชนอาศัยอยู่ในแถบแอฟริกาซาฮารา
เพราะอัตราการเกิดที่สูงมากและอัตราการตายของเด็กลดลงไปเรื่อยๆ.
* ความเชื่อที่ว่า ศาสนาจะเสื่อม ศรัทธาจะคลาย
เมื่อสังคมเจริญร่ำรวยทางเศรษฐกิจและประชาชนได้รับการศึกษามากขึ้นและอย่างทั่วถึง ยังเป็นข้อถกเถียงโต้แย้งมาจนทุกวันนี้ เพราะมีกรณีตัวอย่างที่ตรงกันข้ามชัดเจน. เสรีภาพในการนับถือศาสนามีมากขึ้นก็จริง นั่นเป็นเพียงข้อยกเว้นสำหรับบางประเทศ
มิใช่มาตรฐานที่ใช้ได้กับทุกกรณีทุกประเทศ.
* สถาบันศาสนาหลักในสหราชอาณาจักร Church of England และ Church of Scotland กำลังล่มสลายลง เพราะขาดความสัมพันธ์กับชีวิตประจำวันของประชาชน
และศาสนากลายเป็นวิธีการมองเข้าภายในองค์กรศาสนา มากกว่าเป็นการเปิดกว้างไปสู่สังคม.
* เป็นไปได้หรือที่สหราชอาณาจักรจะสูญเสียรากเหง้าของความเป็นคริสต์ที่ได้หยั่งลึกมานาน
และที่ได้ขัดเกลา ปูพื้นฐานประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมตลอดจนสวัสดิการต่างๆของประเทศตลอดมา. ทั้งสองสถาบันมิได้เอาชนะจิตสำนึกของชนรุ่นใหม่ๆ
ในขณะที่จำนวนวัดคาทอลิกมีความสำคัญมากขึ้นเพราะได้สมาชิกจากผู้อพยพเข้าไปอยู่ในสหราชอาณาจักร.
* พร้อมๆกันการไม่ไยดีต่อศาสนา ชาวอังกฤษก็คงคิดอยู่ในใจเช่นกันว่า
การขยายตัวของอิสลามบนดินแดนสหราชอาณาจักรนั้น มีความหมายและจะกระทบวิถีชีวิตพวกเขาอย่างไร.
* เกิดความพยายามในการเข้าใจจุดยืนที่อาจมีหรือไม่ของผู้ที่ไม่มีศาสนา ว่าทั้งนี้เกี่ยวกับศิลปะ
วิทยาการ กาพย์กลอน มานุษยวิทยา ฟุตบอล รูปแบบใหม่อื่นใดของวิญญาณสำนึก
หรือเพราะผู้คนใฝ่หาความพอใจได้อย่างเพียงพอในวิถีชีวิตครอบครัวและเพื่อนฝูง. การขาดความเชื่อนี้มิใช่เฉพาะเรื่องศาสนา
แต่กระทบไปยังทุกเครือข่ายในทุกหน่วยงาน. เทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้เอกบุคคลสั่งสมความรู้ได้มากกว่าแต่ก่อน แต่ทุกคนก็ตระหนักชัดว่า
ศาสตร์วิชาและเทคโนโลยีทั้งหลายมิได้ทำให้คนมีความสุขมากขึ้น. ศรัทธาในนักการเมือง รัฐบาล มีเดียหลักๆ ศรัทธาต่อสถาบันต่างๆ
ลดน้อยเสื่อมถอยลง ถึงกระนั้น ก็ยังมีผู้คนที่ค้นหาความหมาย
อัตลักษณ์และหลักเกณฑ์ต่างๆที่จักผูกและสานโยงใยชาวประชาให้เป็นสังคมหนึ่งสังคมเดียวกัน.
----------------------------------------------------------------------------------------
เชิงอรรถ ๒
----------------------------------------------------------------------------------------
เชิงอรรถ ๒
ก่อนหน้าคริสตกาล ในยุโรปยังไม่มีการแยกเป็นประเทศๆ มีแต่ชนเผ่าเคลต์ (Celt). ขนบธรรมเนียมและภาษาของชนชาตินี้ยังปรากฏในวัฒนธรรมบนดินแดนตะวันตกของฝรั่งเศส
(Bretagne),
บนเกาะอังกฤษโดยเฉพาะในแคว้นเวลส์ (Wales),
บนดินแดนที่ราบสูงในสก็อตแลนด์และในไอร์แลนด์เป็นต้น. ชาวเคลต์ชอบกินชอบดื่ม
ทำมาหากินด้วยการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์. พวกเขาเชื่อว่าสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าสูงสุด เคารพบูชาเทพยาดาฟ้าดิน
รุกขเทวดาในป่า บูชาดวงอาทิตย์ เชื่อในวิญญาณอมตะ เคารพบูชาดวงวิญญาณบรรพบุรุษฯลฯ. ชาวเคลต์แต่ละเผ่าประกอบด้วยสามัญชนหนึ่ง นักรบหนึ่ง และพระนักบวชที่เรียกว่า
ดรูอิด มีหัวหน้าเผ่าผู้เป็นใหญ่ที่สุด
รวมกันเป็นลัทธิดรูอิดิซึม (Druidism). คำว่า druid น่าจะมาจากคำที่แปลว่า “ไม้” กับ “ต้นไม้” และต้นไม้ภาพลักษณ์ของพลังอำนาจ. Pliny ปราชญ์ชาวโรมัน(23-79
AD) เชื่อว่า คำ Druid น่าจะมาจากคำกรีก drûs ที่หมายถึง ต้นโอ๊ค ดังที่รู้กันว่า ลัทธินี้เคารพบูชาต้นโอ๊คอย่างไม่มีชนเผ่าใดเสมอเหมือน
พิธีกรรมต่างๆทำกันในป่าในวงล้อมของต้นโอ๊ค. ป่าคือเทวสถานสำหรับชาวดรูอิด. นักบวชดรูอิดมีความรู้เกี่ยวกับโหราศาสตร์ เวทมนตร์คาถา
หยั่งรู้ถึงอำนาจลึกลับของต้นไม้พืชพรรณ. ต้นไม้จึงมีบทบาทสำคัญมากที่สุดในพิธีกรรมของชนชาวเคลต์
สำคัญจนเป็นเครื่องหมายของความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์เคลต์.
สำหรับชาวเคลต์ ต้นไม้เป็นแกนตั้งที่เชื่อมสามโลก คือโลกใต้ดิน โลกมนุษย์กับโลกสวรรค์. รากของต้นไม้ที่กระจายออกอย่างได้สัดส่วน คือต้นตระกูล
อดีตที่จักบ่งบอกความเป็นปัจจุบันและอนาคตของคน. นักบวชดรูอิดผู้มีความรู้เกี่ยวกับต้นไม้
เป็นผู้เลือกต้นไม้มาปลูกเป็นวงล้อมอย่างมีระเบียบและเป็นระบบ. กำหนดอาณาเขตของป่าศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นเทวสถานของเหล่าดรูอิด
เป็นที่ประกอบพิธีกรรมต่างๆของชาวเคลต์. เทวสถานของลัทธิดรูอิดจึงเป็นศูนย์รวมพลังบวกของธรรมชาติ (พูดได้ในแบบจีนว่า เป็นตำแหน่ง ฮวงจุ้ย ที่ดีที่สุด). ชาวเคลต์ สักตัวอักษรศักดิ์สิทธิ์ บนต้นไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ลึกลับจากยุคโบราณ. กฎหมาย Brehon ของชาวเคลต์คุ้มครองต้นไม้ทั้งหลายในป่า ชาวเคลต์เชื่อว่าต้นไม้แต่ละต้นแต่ละชนิดมีอุปนิสัย
มีอารมณ์ความรู้สึกและมีพลังวิเศษหรือพลังการเยียวยารักษาต่างกัน. โบสถ์คริสต์ใหญ่ๆในยุคกลาง
เมื่อขุดเจาะลงไปในชั้นดินลึกๆ จะพบร่องรอบของที่ตั้งเทวสถานของลัทธิดรูอิดมาก่อน
ที่ที่คนเคยอยู่ในดุลยภาพกับธรรมชาติและที่มโนสำนึกเกี่ยวกับศาสนาเป็นไปตามจังหวะธรรมชาติบนพื้นโลก.
โบสถ์คริสต์จึงเหมือนมาสืบสานความศักดิ์สิทธิ์ของเทวสถานธรรมชาติของนักบวชดรูอิดในยุคโบราณ แม้ว่าโดยพฤติกรรม
คริสต์ศาสนาได้ไปลบหลู่และทำลายความเชื่อโบราณนั้น.
ในศตวรรษที่ห้า เมื่อนักบุญ Patrick
(385-461)
ต้องการล้มศาสนาและพิธีกรรมต่างๆของชาวเคลต์ที่ไอร์แลนด์ ได้สั่งทำลายต้นโอ๊คใหญ่ๆที่ขึ้นสูงเด่นณใจกลางหมู่บ้าน
และยังเผาทำลายป่าศักดิ์สิทธิ์จนราบเป็นหน้ากลอง
เพื่อขจัดพลังอำนาจของเหล่านักบวชดรูอิดให้สูญสิ้นไปจากแผ่นดินนั้น. (ในมุมมองของธรรมชาติวิทยากับนิเวศวิทยา
นั่นเป็นการทำลายทำร้ายธรรมชาติครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ) ไม่มีต้นไม้ ไม่มีป่า
พวกนักบวชดรูอิดเหมือนถูกตัดหัวตัดตัว
สูญสิ้นชีวิตจิตใจ หมดพลังอำนาจใดๆ. หลังจากที่นักบุญ Patrick
ได้ทำการล้างป่าแบบนั้นแล้ว เขาสถาปนาวัดที่ Armagh (อยู่ตอนใต้ของไอรแลนด์เหนือ) ให้เป็นศูนย์สั่งสอนและเผยแผ่คริสต์ศาสนา. เล่ากันว่าตลอดระยะเวลาหลายศตวรรษต่อมา เหล่านักบวชที่นั่น(ในนามของคริสต์ศาสนา) นอกจากเรียนรู้เกี่ยวกับคริสต์ศาสนาแล้ว
ยังศึกษาประวัติของไอร์แลนด์
เรียนรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์และความมหัศจรรย์ต่างๆ
ของวีรบุรุษและเหล่านักบวชดรูอิด โดยที่องค์การคริสต์ศาสนาที่นั่น (องค์การที่ทำลายขับไล่นักบวชดรูอิด) ไม่รู้เรื่องเลยหรือทำเป็นไม่รู้. แม้ว่าคริสต์ศาสนาจะเข้าไปตั้งรกรากที่นั่นนานเป็นยี่สิบศตวรรษ
ความเชื่อของชาวเคลต์ยังคงฝังรากอย่างไม่คลอนแคลนในจิตสำนึกของประชาชน. (ไปไอร์แลนด์
มีอะไรที่ทำให้รู้สึกว่า พวกเขายังมีเชื้อสายเคลต์ในจิตวิญญาณ ไม่มีพิธีรีตอง ตรงไปตรงมา มีจิตอิสระ พูดคุยด้วยง่ายฯลฯ ได้ตระเวนไปในชนบททุกทิศทางจากกรุงเบลฟาสต์
ดูเหมือนว่า
ชาวอังกฤษจะอพยพไปอยู่ในไอร์แลนด์มากขึ้น ไปสร้างบ้านหรูพร้อมสวนใหญ่โต
เพราะที่ดินถูกกว่า กินอยู่สะดวก ค่าครองชีพถูกกว่า… ปลาใหญ่ย่อมกินปลาเล็กเสมอ).
นักบวชดรูอิดในยุคโบราณ สองสามศตวรรษก่อนยุคจักรวรรดิโรมัน
ได้ถอดรหัสอักษรในภาษาเคลต์และเข้าใจในที่สุดว่า
ระบบอักษรในภาษาเคลต์ มาจากการนำอักษรตัวแรกของชื่อต้นไม้สำคัญๆมาเป็นพยัญชนะบ้างเป็นสระบ้าง
รวมกันเป็นระบบอักษรที่มีพยัญชนะ13 ตัว และสระอีก 5 ตัว. ขนบการใช้ชื่อต้นไม้เป็นอักษรนี้ย้อนหลังกลับไปได้ไม่ต่ำกว่าหลายพันปี. ไม่มีผู้ใดสามารถเจาะจงได้ว่ามีตั้งแต่เมื่อใดและใครเป็นผู้เริ่มขึ้น. หลายภาษารับไปใช้หรือเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบอักษรสมัยใหม่ เช่นในระบบอักษร Ogham
[ออน] ของชาวไอริช (Irish ที่เรียกว่า Ogham alphabet) เป็นพยานชัดเจนว่า
อักษรแต่ละตัวคืออักษรแรกของชื่อต้นไม้
มียกเว้นเพียงไม่กี่ตัวอักษรเท่านั้น.
ภาพแสดงระบบอักษร Ogham ที่เป็นภาษาที่ใช้ในชนชาวเคลต์และมาใช้ในภาษาไอริชจนถึงทุกวันนี้ ให้สังเกตการสลักรูปลักษณ์ที่ตรงกับอักษรแต่ละตัว
ในแถวที่สามและสี่
ความสนใจในต้นไม้ที่เพิ่มพูนขึ้นจากการศึกษาเกี่ยวกับชาวเคลต์
ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกติดใจและเห็นใจชนเผ่านี้มาก ได้ตามไปสำรวจต้นไม้ที่ชาวเคลต์เห็นว่า
“ศักดิ์สิทธิ์” ตามเข้าไปดูระบบปฏิทินของชาวเคลต์ที่เป็นปฏิทินต้นไม้. ข้าพเจ้ารู้สึกยินดียิ่งเมื่อได้ไปเห็นชาวเนเธอแลนด์ปัจจุบัน(ชาวเยอรมันด้วย)ได้หวนกลับไปศึกษาปฏิทินต้นไม้ของชาวเคลต์
ได้จัดพื้นที่ป่า ปลูกต้นไม้ตามแบบเทวสถานดรูอิดในสมัยโบราณ เพื่อติดตามศึกษาพฤติกรรมของต้นไม้และดูวงจรของต้นไม้ที่พวกเขาจัดปลูกขึ้นตามปฏิทินต้นไม้ของชาวเคลต์
(ในป่าVenlo, The Netherlands). ข้าพเจ้าอยากมีโอกาสติดตามต่อไป.
นำมาเล่าสู่กันฟังอย่างย่นย่อที่สุด สำหรับผู้สนใจเรื่องต้นไม้อาจเข้าไปอ่านบทความนี้
เป็นอาหารว่าง ที่นี่ค่ะ >> http://chotirosk.blogspot.com/2014/06/trees-and-your-self.html
No comments:
Post a Comment