Friday 25 August 2017

อังกฤษที่เปลี่ยนไป

รถติดในลอนดอน
26 July 2017
ลอนดอนช่วงสองเดือนที่ไปมา (กลางพค.ถึงกลางกค.ปี ๒๕๖๐ นี้) ไม่ปลื้มมากนัก. เป็นการเดินทางของข้าพเจ้าที่ขาดการวางแผนทุกขั้นตอนอย่างละเอียด ผิดจากความเคยชินที่ทำอย่างต่อเนื่องตลอดสามสิบสี่สิบปีที่ผ่านมา. โดยเฉพาะมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นก่อนเดินทางหนึ่งสัปดาห์ที่ทำให้จิตใจหมกมุ่นครุ่นคิด เพราะพี่ชายเสียชีวิต. พี่ออกเดินทางข้ามภพข้ามชาติ ในขณะที่ข้าพเจ้าออกเดินทางข้ามประเทศ.
      ไปลอนดอนปีนี้ ตั้งใจไปสำรวจและติดตามดูพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการต่างๆให้ทั่วถึง สองเดือนจริงๆไม่เพียงพอสำหรับการเรียนรู้ที่ตั้งเป้าไว้. เมื่อไปถึง พบสถานภาพของกรุงลอนดอน แสนเข็ญมาก.  ถนนหนทางส่วนใหญ่มีเกาะกั้นเต็มไปหมด เพราะการบูรณะปฏิสังขรณ์สถานที่ การสร้างใหม่ การขุดการเจาะถนน (เป็นเช่นนี้ในหลายเมืองทั่วไปบนเกาะอังกฤษ)  รวมถึงการที่รถจอดข้างถนนเพื่อส่งของ รับของ คนขึ้นลงกลางถนน ซึ่งทำให้รถที่ตามหลัง จอดนิ่งอยู่กับที่จนกว่าธุรกรรมของรถคันหน้านั้นจะสิ้นสุดลง. ไม่เคยเห็นคนขับรถบีบแตรไล่หรือเร่ง ไม่เคยได้ยินเสียงบริภาษใดๆ. นับว่าคนขับรถทั้งรถส่วนตัว รถสาธาณะ มีความอดทนมากและใจเย็นมาก  เจอคนอารมณ์เสียเพียงคนเดียว หน้าตาบอกว่าเป็นสายพันธุ์จีน. เคยใช้รถแท็กซี่จากสถานีรถไฟ(เนื่องจากมีกระเป๋าเดินทาง) เพื่อกลับไปที่อยู่ในลอนดอน  ใช้เวลากว่าสามชั่วโมง มีเตอร์ก็ขึ้นไปเรื่อยๆ.  เบ็ดเสร็จแล้วแพงกว่าค่ารถไฟไปกลับลอนดอนเคมบริดจ์, และใช้เวลาเดินทางข้ามกลางเมืองลอนดอนนานกว่ามาก.
      ข้าพเจ้ามีโอกาสนั่งดูชีวิตที่แฝงสัจธรรมให้คิดบนรถเมล์อังกฤษหลายสายหลายเส้นทาง (จนคนอังกฤษที่ข้าพเจ้าไปเช่าห้องอยู่ บอกว่า ข้าพเจ้ากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเส้นทางเดินรถเมล์สายต่างๆไปแล้ว). นับครั้งไม่ถ้วน เมื่อขึ้นไปนั่ง ข้าพเจ้าทำตัวสบายๆ มองดูคนรอบข้าง บนรถเมล์ บนถนน สังเกตพฤติกรรม กิริยาท่าทาง การโต้ตอบ ฟังภาษาทุกภาษาที่ได้ยินบนรถฯลฯ.  กำลังเพลินๆ เตรียมพร้อมจะไปชมอะไรส่วนไหนในพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งใจไปวันนั้นๆ  ได้ยินคนขับประกาศดังในรถว่า The bus terminates here, please take all your belongings with you.
      แล้วกัน ทำไงล่ะ?  ต้องลง หากเขาบอกว่ารถสายเดียวกันคันหลัง จะมาถึงในกี่นาที (ตั้งแต่สิบนาทีถึงครึ่งชั่วโมง หรือไม่มีเลย) ก็คอย หรือไม่ก็ต่อด้วยรถเมล์สายอื่น เท่าที่จะคิดได้ในตอนนั้น. ปีนี้เส้นทางรถเมล์ถูกปิด ถูกเบนออกจากเส้นทางเดิมไปมาก โดยไม่มีการประกาศล่วงหน้า ทำความเดือดร้อนแก่นักท่องเที่ยวที่ไม่รู้เส้นทางดีนัก. สงสารนักท่องเที่ยวที่ขึ้นรถนำเที่ยวภายในกรุงลอนดอน ประเภทโดดขึ้นโดดลงกี่ครั้งก็ได้ Hop On Hop Off นั้น ไม่มีหวังได้ชมลอนดอนทั้งเมือง  ไม่ได้เห็นอะไรนักหรอกในหนึ่งวัน เพราะรถติดค้างเป็นชั่วโมงตามจุดต่างๆ.    
      รถติดยังมีสาเหตุอื่นๆเข้ามาแทรกด้วย ดังภาพที่นำมาให้ดู ก็น่ารักดีอยู่หรอกนะ คนขับต้องหยุดให้  พวกเขาเป็นเจ้าถนนจริง
ภาพจากเมือง York, UK. กลางเมืองที่มีรถยนต์ไปมาไม่ขาดสาย. พี่น้องเป็ดต้องการข้ามจากสนามหญ้าฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่ง ก็ไม่กลัวจะลงบนพื้นถนน เดินอย่างไม่รีบร้อน มีเวลาเพียงพอให้ข้าพเจ้าหยิบกล้องออกมาเปิดถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐาน.
     นอกจากสัตว์ร่วมโลกร่วมการสัญจรในเมืองแล้ว  ยังมีการชุมนุมของผู้คนแบบต่างๆ ตามสถานการณ์และวาระสังคม เช่นการกีฬา การชุมนุมประท้วงรัฐบาล การเดินขบวนเป็นต้น.
     วันหนึ่งบนรถเมล์ ตั้งใจไป British Museum ไปได้สักพัก รถติดไม่ขยับไปไหนเลย ทุกคนก็คอยๆกันบนรถนั่นแหละ. จู่ๆก็มีเสียงแม่สาวร้องว่า Oh my God! อุทานซ้ำหลายครั้ง ทุกคนหันมองนอกหน้าต่าง ตามสายตาเธอ. หลายคนยกมือถือขึ้นถ่ายภาพอย่างฉับไว  ข้าพเจ้าเลยทำตามมั่ง ถ่ายจากบนรถเมล์ ห่างไปมากอยู่. สาวๆหัวเราะชอบใจ. ข้าพเจ้าลองถามหลายคน ทั้งที่อยู่บนรถและกับคนอื่นๆที่มีโอกาสสนทนาด้วยในเวลาต่อมา ว่ามันเรื่องอะไรกันหรือ?  ทุกคนบอกว่า I don’t have any idea! พวกเขาเองก็มิได้ทันข่าวทันเหตุการณ์กันทุกคนหรอกนะหรือไม่สนใจ.
ภาพนี้ติดอยู่ในไดรฟ์ จึงนำมาลงให้ดู. กลับมาเพิ่งเปิดดูและเข้าไปค้นข่าวเดือนมิถุนายน จึงได้ข้อมูลและแง่คิดมาดังนี้ 
      สังคมโลกมีวัน World Naked Bike Ride ตั้งแต่ปี 2004 และทำต่อเนื่องกันมาทุกปี. หลายประเทศในยุโรปเข้าร่วม แต่ละประเทศกำหนดวัน (คงต้องกำหนดวันในระหว่างฤดูร้อน) เริ่มขึ้นในหนึ่งประเทศ แล้วต่อไปยังอีกประเทศ (ในทำนองวิ่งผลัด). เป้าหมายในการจัดวันเปลือยขี่จักรยานของโลก เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกเกี่ยวกับวัฒนธรรมการใช้รถ(ใช้ถนน) และยกระดับความตระหนักรู้ในอันตรายของผู้ขี่จักรยานบนท้องถนน.
       การรณรงค์เรื่องจักรยานนี้ หลายประเทศได้พัฒนาและกำหนดเส้นทางจักรยานบนถนนในเมืองเช่นในกรุงลอนดอนบางเขตบางสาย หรือในกรุงลอสแอนเจลิส. อีกหลายเมืองเช่นกรุงออสโลกับกรุงมาดริด ออกกฎหมายห้ามรถยนต์ผ่านเข้าใจกลางเมืองเลย. หลายประเทศคิดอยากให้ประชาชนใช้รถจักรยานแบบคนจีนทั้งประเทศ สร้างเมือง two-wheeled cities แก้ปัญหาเรื่องน้ำมันเชื้อเพลิงและปัญหาพ่วงอื่นๆที่มากับการใช้น้ำมันเช่นภาวะโลกร้อนเป็นต้น. บางเมืองห้ามทั้งรถทั้งจักรยาน หรือหันไปส่งเสริมการผลิตรถยนต์อัตโนมัติไร้คนขับ. ยังต้องดูกันไปอีกนานว่าจักรยานจะยืนหยัดและคนขี่จะมีชีพต่อไปได้มากน้อยเพียงใด.
       ผู้เข้าร่วมในขบวน “เปลือยขี่จักรยาน” ที่ข้าพเจ้าได้เห็นวันนั้น (วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๐) มักทาสีสันบนผิวหนังตนเอง บางคนแต่งแต้มให้เป็นภาพลักษณ์แบบต่างๆ. ทุกคนเปลือย มีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย. ส่วนใหญ่ผู้ชายมากกว่า วัยหนุ่ม วัยกลางคนจนถึงผู้สูงวัย. สวมรองเท้ากีฬากัน หญิงสาวๆสวมรองเท้าแตะ (ดูค่อนไปทางความต้องการโชว์ตัว สนุกสนานตามประสา). บางคนสวมกางเกงในตัวเล็กๆ  บางคนคาด “ตับปิ้ง” ผ้าแบบสมัยใหม่. บางทีก็เขียนข้อความเป็นสโลแกนที่ต้องการประกาศหรือเตือนให้รู้ว่า บนท้องถนนไม่มีแต่รถคุณเท่านั้น  มีคนขี่จักรยานด้วย หรือสำนวน nude not crude ในทำนองว่า เปลือยแต่ไม่เถื่อนหรือหยาบ. สีสันบนเรือนร่างสร้างบรรยากาศของงานบันเทิงสังสรรค์ไปด้วย. ผู้คนบนฝั่งถนนหยุดดูและถ่ายรูป.   
      กรณีของลอนดอนโดยเฉพาะนั้น เพิ่งเกิดอุบัติเหตุรถชนคนขี่จักรยานตายไปสามรายในเดือนเมษายน-พฤษภาคม. ผู้จัดการรณรงค์ต้องการให้เป็นการประท้วง ต่อต้านการเป็นทาสของน้ำมันและวัฒนธรรมการใช้รถยนต์อย่างสันติ แฝงจินตนาการและอารมณ์ขัน. ให้เป็นการส่งเสริมค่านิยมในการขี่จักรยาน ให้เป็นสัญลักษณ์ของความเสี่ยงของคนขี่จักรยานในระบบการสัญจรบนท้องถนน. เป็นสัญลักษณ์อย่างไรนั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่า คนขับรถยนต์รถบัสรถแบบใดๆรวมทั้งคนนั่ง มีเกราะเหล็กของรถเป็นกันชนคุ้มครองและลดความรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุ.  เมื่อเทียบความเสี่ยงบนท้องถนน คนขี่จักรยานเหมือนตัวเปล่าเล่าเปลือย ร่างกายเขารับแรงกระแทกเต็มที่  ตายง่ายกว่าเร็วกว่า. การรณรงค์ด้วยการเปลือยกายนี้ ยังต้องการเน้นอีกว่า ร่างกายคนมีพลังอำนาจและมีความเป็นเอกเทศของมัน ในทำนองว่ามีศักดิ์มีศรีของมันเองโดยไม่ต้องมีอะไรมาปรุงแต่ง (เรื่องนี้เขียนได้ไม่จบ).
         ผู้เข้าร่วมขบวนประท้วงที่ลอนดอนนั้น เริ่มออกจากจุดรวมพลจากเขตชุมชน เขตธุรกิจและเขตศูนย์การปกครองสำคัญๆ ๖ แห่งในนครลอนดอน. คนขี่จักรยานจากเส้นทางหกสายตั้งแต่เช้าไปรวมกันที่ Hyde Park Corner ในราวห้าโมงเย็น. แต่ละเส้นทางยาวประมาณ ๙ ไมล์ (ราวสิบสี่กิโลเมตรครึ่ง) บนพื้นถนนที่ราบเรียบและสะดวก.  
      สะดวกต่อขบวนประท้วง แต่ทำให้รถติดไม่ขยับเลยทั้งวัน.  ผู้คนบนรถเมล์คอยไปครึ่งค่อนชั่วโมง ชักไม่ไหวกัน เกือบทุกคนลงจากรถเมล์ เดินต่อไปหรือเปลี่ยนเส้นทางหรือย้ายจุดหมายปลายทาง. คนขับลงไปแวะร้านอาหาร เข้าห้องน้ำ เหลือข้าพเจ้านั่งคนเดียวบนรถ sans état d’âme ไม่ยินดียินร้าย แต่ปวดปัสสาวะและหิวข้าว. ถ้าเอาอย่างคนขับ ก็คงเข้าไปนั่งในร้านเลยจนค่ำ. มองๆดูไม่เหลือโต๊ะว่าง หลายคนคิดเหมือนกัน. ครั้นจะลงเดินหาห้องน้ำ ก็แสนยาก (เรื่องห้องสุขาในอังกฤษ ก็มีให้ต้องพิจารณาหลายประเด็น). เช่นจะให้เดินข้าม Kensington Gardens ทั้งพื้นที่หรือ(ราว 270 เอเครอส์) กว่าจะเจอห้องสุขา โอกาสกลายเป็นปลาแดดเดียวนั้นมีเต็มร้อย.
      ดังที่รู้กันว่า ปีนี้ยุโรปร้อนมากเพียงใด มีสถิติอังกฤษระบุว่า วันนั้นๆในลอนดอน อุณหภูมิร้อนสูงสุดในรอบสี่สิบปีที่ผ่านมา. การสร้างบ้านพักอาศัยโดยทั่วไปในเขตอบอุ่นหรือเขตหนาวในยุโรป ไม่มีระบบปรับอากาศให้เย็น มีแต่การทำให้ร้อนภายในอาคารเพื่อเพิ่มความอบอุ่น สู้กับลมหนาวภายนอก. ห้องต่างๆแม้เปิดหน้าต่าง ลมก็ไม่เข้า เพราะดั้งเดิมมิได้สร้างเน้นให้สอดคล้องกับทิศทางลม แต่ให้หันรับแสงแดด. ลมกับแดดอาจมากันคนละทิศได้. ในห้องจึงเป็นเตาอบดีๆนี่เอง. วันนั้น(และวันอื่นๆอีก) ต้องบอกตัวเองว่า กำลังฝึกความอดกลั้นทั้งทางกายและทางใจ.
       สถานการณ์การจราจรที่กรุงลอนดอน (รวมบรรยากาศความหวาดระแวงภัยก่อการร้ายหลังจากเหตุการณ์จู่โจมที่เมือง Manchester ในวันที่ ๒๒ พฤษภาคมปีนี้ และอัคคีภัยร้ายแรงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายนในอาคารที่พักอาศัย Grenfell Tower ที่สูง 24 ชั้น 67 เมตร ที่กลายเป็นวาระแห่งชาติ มีการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี Theresa May  ลาออก จนถึงเดือนนี้ การประท้วงและการไต่สวนสาเหตุตลอดจนจำนวนคนตายกับคนสูญหายไปรวมถึงการระบุผู้ตาย ยังไม่สิ้นสุดลง) ทำให้ข้าพเจ้าต้องเปลี่ยนและปรับเป้าหมายการจะอยู่ลอนดอนตลอดสองเดือน ต้องหนีออกไปต่างจังหวัด ได้เลือกขึ้นเหนือลอนดอนไป. ถ้ารู้อย่างนี้ตั้งแต่ต้น จะได้จัดแผนเดินทางให้ดีกว่านี้ ให้ได้ประโยชน์สูงสุดต่อตัวเองในหลายๆด้าน. ค่อยๆเดินทางจากเมืองหนึ่งไปเมืองถัดไปตามใจอยาก ดังที่ทำมาตลอดสามสิบกว่าปีของชีวิตผู้เดินทางสันโดษของข้าพเจ้า. แต่ประสบการณ์เที่ยวนี้ ก็ทำให้ตระหนักถึงความไม่พร้อมของร่างกายในวัยใกล้เจ็ดสิบและสภาพจิตตัวเองในสภาวะปัจจุบัน ว่าทุกความอยาก ทุกความฝัน ทุกความตั้งใจมีจุดสุดท้าย เป็นจุดมหัพภาคคอยดักอยู่ ต้องจบลงอย่างแท้จริงเป็น full stop. การเดินทางครั้งนี้ทำให้สำนึกชัดเจนว่าคอนโดส่วนตัวของข้าพเจ้า ไม่ว่าจะเล็กอย่างไร ยังเป็นบ้านที่ดีที่สุดสำหรับข้าพเจ้า ที่ข้าพเจ้าปล่อยชีวิตและจิตใจได้อย่างอิสระเกือบเต็มร้อย. There’s no place like home.   

สำเนียงบอกภาษา กิริยาบอกพื้นเพ
29 July 2017
ชื่นชมภาษาอังกฤษของบีบีซีตั้งแต่จำความได้ คือตั้งแต่เรียนภาษาอังกฤษ สมัยสาวๆเคยไปสอบเอาประกาศนียบัตรภาษาอังกฤษของเคมบริดจ์ที่ British Council กรุงเทพฯจัด ได้มากระตุ้นเกี่ยวกับความสนใจในการใช้คำและสำเนียงแบบอังกฤษ จนขนาดหงุดหงิดสำเนียงอเมริกัน ทนฟัง CNN ไม่ได้โดยเฉพาะยามเช้าตื่นนอน (เรื่องความชอบนี้ ไม่เกี่ยวกับทักษะดีเลวในภาษาอังกฤษของข้าพเจ้าเอง).  
      ประสบการณ์ที่อังกฤษปีนี้ บนรถเมล์สายต่างๆของนครลอนดอน ความที่รถติด จึงมีเวลาเหลือเฟือให้สังเกตคนและบริบทสังคมของผู้ใช้รถใช้ถนน ได้ฟังเกือบทุกภาษาบนรถเมล์ บางทีได้ยินภาษาต่างประเทศมากกว่าภาษาอังกฤษ. ภาษาอังกฤษที่ได้ยินจึงเป็นภาษาของสามัญชนชาวอังกฤษในลอนดอน ที่ผ่านเข้ามาในสายตาและพื้นที่การฟังของข้าพเจ้า. เป็นภาษาพูด ภาษาวัยรุ่น ภาษาตลาด การใช้คำไม่สละสลวยนัก เป็นภาษาเบ็ดเสร็จแบบ cliché [กลีเช่] ที่ติดปากและหลุดออกจากปากโดยไม่ต้องคิด เกือบใช้ได้ในทุกสถานการณ์ เนื้อหาจำกัดมาก วนอยู่กับเหตุการณ์เฉพาะหน้า. แน่นอนคงไม่มีใครนั่งถกเถียงปัญหาใหญ่กว่าปัญหาลูกเล็กเด็กแดง ปัญหาช้อปปิ้งบนรถเมล์เป็นต้น. ภาษาอังกฤษตัวอย่างทั้งสำเนียงอันไพเราะ ยังคงติดตามฟังและดูจากสถานีวิทยุโทรทัศน์บีบีซีและสารคดีทั้งหลายได้ ที่ยังจัดว่ามีคุณภาพสูงมาก. นักข่าว ผู้ประกาศ ผู้นำเสนอ ใบหน้าบอกดั้งเดิมชาวอินเดียมีจำนวนมากขึ้นๆ. อุปนิสัยของชาวอังกฤษเองหลายด้านที่ทำให้ชนชั้นปัญญาชนรุ่นใหม่ๆเป็นสายพันธุ์ลูกครึ่งและสายพันธุ์อินเดีย วงการธุรกิจอยู่ในมือของชาวอินเดียและหรือชาวต่างชาติผู้เข้าไปตั้งรกราก ผู้ขยันทำมาหากิน เปลี่ยนสถานภาพสูงขึ้นๆเรื่อยๆในสังคมอังกฤษ. ปัญหาในประเทศไทยเราก็คล้ายกัน ความขี้เกียจของคนไทยมีส่วนด้วยอย่างมาก บวกกับเหตุปัจจัยต่างๆที่ทำให้ไม่มีโอกาสหรือไม่ขวนขวายหาความรู้ เสริมทักษะหรือพัฒนาฝีมือ. ต่อไปแรงงานพม่าก็จะยึดอาชีพไปได้หมด  
      ชาวอังกฤษที่ได้เห็นได้ยินได้ฟัง ไม่ว่าวัยใด เพศใด พูดคำ Sorry!  Thank you! ติดปาก เหมือนที่คนไทยหลายท่านที่ข้าพเจ้ารู้จักพูดคำ “ขอโทษ ขอบใจ” เสมอ. นอกจากนี้ยังมีคำติดปากที่แสดงความชื่นชมเช่น Great! Fantastic! Brilliant! คำเหล่านี้มีความหมายกร่อนลง กร่อยๆไปอย่างน่าเสียดาย เพราะถูกใช้ซะจนหมดความยิ่งใหญ่. หากพูดถึงเฟเวอร์เล็กๆน้อยๆที่คนนำเสนอเป็นบริการว่า brilliant, พูดถึงเรื่องจิ๊บจ๊อยตรงหน้าว่า fantastic  จะหาคำอื่นใดมากำกับใช้เมื่อพูดถึงความคิดของไอนสไตนหรือนักประดิษฐ์อัจฉริยะ หรือพรรณนาเมื่อเห็นความมหัศจรรย์ของ Northern Lights ที่ขั้วโลก. ใช้คำเดียวกันรู้สึกไม่สะใจเสียแล้ว. แน่นอนความหมายของคำอยู่กับบริบทการใช้  ใจยังอยากให้มีการแยกแยะ หาคำอื่นๆมาใช้ให้เหมาะสมกว่านี้ได้ ที่ตรงจุดกว่า. แต่เพราะไม่คิดละเอียด ไม่คิดไกล ความพอใจหยุดอยู่ตรงนั้นในโลกแคบๆของตัวเอง. ในแง่นี้การเลือกใช้คำของชาวฝรั่งเศส เอาแค่ระดับผู้สื่อข่าว ดูจะชัดเจนละเอียดกว่า จับจุดใจกลางได้ทันใด. ข้าพเจ้าแน่ใจว่าการอ่านหนังสือต่างภาษามีส่วนในการช่วยสร้างวิธีพูดวิธีเขียนเรียบเรียงของเราในภาษาของเราเองได้อย่างมาก.
      การพูดคำสำนวนต่างๆจนติดปาก รวมถึงการโต้ตอบฉับพลันตามมารยาทที่สังคมวางไว้  ทำให้คำพูดกลายเป็นสำนวนเบ็ดเสร็จไร้ความหมาย ไร้ความจริงใจ เพียงเพื่อให้ผู้ฟังสบายใจเฉพาะหน้าณที่นั่นเวลานั้น. ตัวอย่างหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้เห็นบนเครื่องบินเที่ยวกลับจากลอนดอน. หญิงสาวชาวอังกฤษที่นั่งถัดข้าพเจ้าเข้าไปข้างใน เป็นที่นั่งกลาง เธอมีผู้โดยสารอื่นขนาบซ้ายและขวา เธอหันมาถามข้าพเจ้าว่าขอเปลี่ยนที่นั่งกับเพื่อนชายเธอที่นั่งอยู่แถวหน้าตรงกลางได้ไหม  ข้าพเจ้าตอบทันทีว่า ไม่เปลี่ยน ข้าพเจ้ามีปัญหาหัวเข่าต้องยื่นเท้าเหยียดยาวและเข้าออกห้องน้ำบ่อย  เธอไม่ว่าอะไร หันไปถามอีกคนที่ขนาบอีกข้างของเธอ คนนั้นก็ไม่เปลี่ยนให้. น่ารำคาญการเปลี่ยนที่นั่งแบบนี้ในเครื่องบิน กว่าเราจะจองมีที่นั่งริมทางเดินที่เราต้องการ ต้องจองล่วงหน้านานสองสามเดือนจึงจะได้  มีคนประเภทไปขอเปลี่ยนดื้อๆในเครื่องบินเลย อ้างว่ามากับเพื่อน มากับพี่กับน้อง ถ้าแค่ห่างกันเพียงไม่กี่ก้าว ก็วุ่นวายใจขนาดนี้ จะรับมือเหตุการณ์อื่นๆในชีวิตได้อย่างไร. คนปัจจุบันรวมคนอังกฤษกลายเป็นคนขี้ขอ ขอได้ก็ดี ขอไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่ต้องเอ่ยปากขอไว้ก่อน เช่นนี้ขาดความละเอียดในใจไปนิดหนึ่งแล้ว. ครั้งหนึ่งบนเครื่องบิน ทัวร์กลุ่มคนไทยมีที่นั่งโดยรอบข้าพเจ้า หัวหน้าทัวร์รี่มาขอเปลี่ยนที่นั่งให้ป้าคนหนึ่ง เขาพูดภาษาไทยกับลูกทัวร์ว่า เดี๋ยวจะจัดการเปลี่ยนที่ให้ได้ แล้วหันมาถามข้าพเจ้าเป็นภาษาอังกฤษ ข้าพเจ้าไม่รอให้พูดจบ บอกสั้นๆดังๆว่า NO!  ป้าคนนั้นเข้าที่นั่งข้างในติดหน้าต่าง ข้าพเจ้าพูดกับป้าคนนั้นว่า ที่นี้น่ะดีแล้ว สองที่นั่งเท่านั้น จะลุกจะออกบอกได้  ป้าพึมพำว่ามากับพี่ เขานั่งตรงนั้น ข้าพเจ้าตอบว่า คุณออกมาท่องเที่ยวดูโลก แค่นั่งห่างกันไม่กี่ที่นั่ง คุณก็ไม่สะดวกใจ แล้วคุณจะเกาะติดตัวพี่สาวไปตลอดชีวิตหรือ ป้าบอกว่าป้าอายุหกสิบแล้ว อาจต้องเข้าห้องน้ำบ่อย ข้าพเจ้าบอกว่าข้าพเจ้าอายุหกสิบหก. แกก้มหน้า. หัวหน้าทัวร์ไปบังคับใจชายชาวต่างชาติคนหนึ่งเปลี่ยนให้มานั่งที่นั่งป้าจนได้. ความจริงที่นั่งตรงนั้น สองที่นั่งเท่านั้น เข้าออกสะดวกจะนั่งติดหน้าต่างหรือทางเดิน  ข้าพเจ้าต้องจองที่นั่งล่วงหน้าต้องซื้อตั๋วล่วงหน้า ซื้อตั๋วราคาแพงกว่า เพื่อเจาะจงเลือกที่นั่งตรงนั้นบนเครื่องบิน Austrian Airline  คนมาขอเปลี่ยนอย่างนั้นย่อมไม่ปลื้ม ไม่ยุติธรรม. นึกหงุดหงิดรำคาญคนที่ต้องไปไหนมาไหนนั่งติดกันเสมอแม้ในหมู่เพื่อนๆทั้งกลุ่ม ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ไม่น่าไปด้วย แสดงความไม่พร้อมของคนนั้น ความใจแคบ ความเอาแต่ใจตนเอง เป็นการตั้งวงตั้งค่าย กีดกันคนอื่นๆไปในตัว คนอื่นๆที่อยากเข้าไปคุยด้วย เลยไม่กล้าแทรกตัวเข้าไป.
      วันนั้นบนเที่ยวบินกลับมากรุงเทพมหานครฯ(สายการบิน Eva Air) หญิงสาวคนนั้นยังขอคนรอบข้างต่อไป. มีหนุ่มอังกฤษเข้ามา ที่นั่งติดชายหนุ่มเพื่อนของหญิงสาวคนนั้น เธอก็รีบถามเขาว่าเปลี่ยนที่กับเธอได้ไหม. คำตอบฉันพลันทันด่วนของหนุ่มอังกฤษคนนั้นคือ Sure! Take it! หญิงสาวหน้าบานย้ายจากที่ข้างข้าพเจ้าออกไปนั่งข้างเพื่อนชายเธอแถวหน้า. หนุ่มอังกฤษคนนั้นเข้าไปนั่งแทนที่เธอข้างข้าพเจ้า  ยังไม่ทันหนึ่งนาที ผลุนผลันข้ามขาข้าพเจ้า ออกไปโวยวายเสียงดังกับแอร์โฮสเตสว่า เขาต้องการที่นั่งข้างทางเดิน แอร์โอสเตสตัวสั่น เจอคนตวาดเสียงดัง หัวหน้าแอร์มาถามปัญหา. ตอนนั้นผู้โดยสารเข้ามาเกือบเต็มแล้ว เธอบอกให้กลับไปนั่งก่อน แล้วจะพยายามหาที่ให้. ข้าพเจ้ามองดูหนุ่มอังกฤษ คนตัวเล็ก ผอม สวมกางเกงยีนเก่า ขาดๆตรงหน้าแข้ง(ตามแฟชั่น) สำเนียงพูดบ่งบอกว่าเป็นสามัญชนคนใช้แรงงานมากกว่าอื่น กิริยาหุนหันเกือบอวดเบ่งแบบไม่กลัวใคร. เขาเบียดตัวกลับเข้าไปนั่งข้างข้าพเจ้า. สักครู่ แอร์เดินมาบอกว่า มีที่นั่งติดทางออกฉุกเฉิน ยื่นเท้าไปข้างหน้าได้ ถ้าต้องการก็ย้ายไปได้. พ่อหนุ่มบอกว่า เครื่องบินขึ้นแล้วจะย้าย. แม่สาวคนต้นเรื่องแน่นอนได้ยินและเห็นความวุ่นวายที่เกิดขึ้น แต่ไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ไม่รู้ไม่ชี้ ให้ที่ฉันแล้วนี่. ในที่สุด เขาก็ไม่ย้ายไปไหน เอาผ้าห่มคลุมโปง หลับไปเกือบตลอดทาง. ตัวอย่างที่นำมาเล่านี้ เพื่อให้เห็นว่า คำพูดติดปากของคนอังกฤษ พูดตามมารยาท ติดเป็นคำพูดอัตโนมัติ พูดไปแล้ว ทำไงได้ ทั้งๆที่ตัวเองไม่พอใจ ไม่ยินดี จึงไปลงกับแอร์โฮสเตส. นึกถึงการโต้วาทีในวัยมัธยมที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟหัวข้อ “มารยาทดีกว่าความจริงใจ” ยังยืนยันในใจต่อมาจนทุกวันนี้ว่า ชอบความจริงใจ ตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์รักษาคำพูด ถูกผิดตามเนื้อผ้าฯลฯ.  การพูดจาหวานๆอ่อนโยน ปฏิเสธไม่ได้เสียมารยาท เสียน้ำใจ พูดไม่ตรงกับใจ พูดเอาใจ หรือคำพูดไม่มีความหมายจริงนั้น ไม่ตั้งใจจะโกหก ก็เหมือนโกหก. เมื่อคำพูดลอยๆแบบนี้ติดเป็นนิสัย คนพูดลืมไปแล้ว หรือไม่ทำตามที่พูดเพราะไม่ได้หมายถึงอย่างนั้นจริง แต่คนฟังที่คิดตามความหมายจริงก็เสียใจเพราะฉะนั้น อยากรักษามารยาท รักษาน้ำใจกัน ไม่พูดความจริง ก็เงียบกันไปดีกว่า ดังพฤติกรรมของชาวอังกฤษบนรถเมล์ ไม่พอใจแต่เงียบไม่พูดกับคนนั้นตรงๆต่อหน้า แล้วพึมพำตำหนิลับหลังเขา. เหมือนคนไทยส่วนใหญ่ แม้ไม่เห็นด้วยก็ไม่พูด ใครพูดผิดเข้าใจผิด เป็นเรื่องของเขา ไม่ไปยุ่ง พระท่านก็สอนมาอย่างนี้ด้วยในบริบทที่เจาะจงไม่เหมือนกัน. ในด้านสังคม วิถีนี้ก็มีผลด้านลบด้วยเช่นกัน ในมุมมองของครู ผิดวิสัยครู. ข้าพเจ้าขอบคุณผู้ที่ชี้ข้อบกพร่องให้ข้าพเจ้ารู้ตัวเสมอ ไม่เคยลืมบุญคุณ. หากไม่มีการวิพากษณ์วิจารณ์ ย่อมไม่มีอะไรก้าวหน้า สังคมโลกยังต้องดำเนินต่อไป. เช่นการเปรียบเทียบอดีตกับปัจจุบัน สิ่งเก่าๆที่เคยมีกับสิ่งใหม่ที่เข้ามาแทนที่ ผลเป็นอย่างไร มิใช่เพราะผูกติดกับอดีต แต่ชี้ให้เห็นความแตกต่างเพื่อช่วยให้สังคมพัฒนาบริหารอนาคตให้ดีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นๆ.  แง่คิดจากคนฝรั่งเศสถือว่า ถ้านักการเมืองใด ไม่มีคนแตะ ไม่มีใครวิพากษณ์วิจารณ์ นักการเมืองคนนั้นหมดความหมายลง จนอาจไม่มีตัวตนในสายตาของคนอื่นเลยก็ได้. การรับมือกับข้อวิพากษณ์วิจารณ์ของนักการเมืองฝรั่งเศสอย่างไร โต้ตอบแบบไหน เป็นอีกหนึ่งความสามารถที่พวกเขาต้องพิสูจน์ให้ประชาชนเห็น.   
      รูปร่างผิวพรรณและการแต่งกาย ให้ข้อมูลเพียบแก่เรา ดังที่เคยพูดถึงความคิดที่ชาวญี่ปุ่นพยายามตั้งเป็นประเด็นปรัชญาว่า การเปลือยกายอาบน้ำหมู่ในออนเซ็งนั้นเกลี่ยช่องห่างระหว่างบุคคล ระหว่างตำแหน่งชนชั้นในสังคมญี่ปุ่น เพราะเจ้านายก็เปลือยลงแช่ออนเซ็งกับลูกน้อง (ดูเหมือนแต่ละบริษัทจะจัดการสังสรรค์รวมการพักค้างคืน การกินการดื่มและการแช่น้ำพุร่วมกัน ในระหว่างผู้ทำงานในบริษัทเดียวกัน ในมหาวิทยาลัยเดียวกัน อย่างน้อยปีละครั้ง). การเปลือยถ้วนทั่วหน้า ญี่ปุ่นคิดว่าเป็นวิธีผนึกความสามัคคีแบบหนึ่ง แต่ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงมิได้หายไปไหนในจิตสำนึก. การกลบความแตกต่างระหว่างคนนั้น ยิ่งเป็นไปไม่ได้ หน้าตา ผิวพรรณ รูปร่าง ความหนา ความละเอียด ริ้วรอย กิริยาการเดิน การพูด ล้วนเป็นข้อมูลทั้งสิ้น แค่มองมือ ก็รู้ได้ไม่ยากว่าเขามีอาชีพอะไร ทำงานอะไรเป็นประจำเป็นต้น.
       ภาษา การใช้คำ สำเนียงออกเสียง จังหวะการเน้นคำ ความเร็วในการพูดของแต่ละคน กิริยาท่าทาง วิธีพูดและเสียงที่พูด ล้วนบอกให้รู้ระดับการศึกษา ระดับวัฒนธรรม จำนวนมากน้อยในการอ่านหนังสือ เจาะจงสภาพแวดล้อมชีวิตจนอาจครอบไปถึงจิตวิญญาณของแต่ละคนด้วย.. ฟังคนไทยพูด ก็ได้ข้อมูลแบบนี้หรือมากกว่า ยิ่งเข้าใจสังคมไทย ลักษณะทั้งหลายดังกล่าวบอกให้รู้ว่าเคยทำงานในวงการไหน ตำแหน่งอะไร อยู่กับใครบ้างในครอบครัวเป็นต้น (ส่วนชาวอาหรับ, ผู้หญิงจริงไหม? ที่ปิดหน้าปิดตานุ่งห่มดำคลุมทั้งตัวนั้น คือความมืด คือการปกปิดเพื่อจุดมุ่งหมายหนึ่ง จนอาจกลายเป็นเครื่องมือการเมืองไปได้ในที่สุด  ไม่อยู่ในความคิดคำนึงในที่นี้).
       เรามักคิดเก็บรักษาข้อมูลประเภท hard evidence เช่นบัญชีธนาคาร ทะเบียนราษฎร์ทะเบียนหลวง บัตรประชาชนหรือบัตรเครดิตต่างๆ แต่ไม่มีใครหรือน้อยคนที่สามารถปกปิดข้อมูลจากอุปนิสัย การกิน การอยู่ กิริยาท่าทาง คำพูดและสีหน้าอารมณ์ของตัวเอง. จนเดี๋ยวนี้ ดูเหมือนว่ายังไม่มีกฎหมายเอาผิดกับสีหน้าแววตาที่ด่าหรือสบประมาทกันแสบกว่าคำพูด หรือสายตาที่ส่อความรู้สึกรุนแรงที่เสียดแทงยิ่งกว่าคมมีด.
       ประสบการณ์หนึ่งที่ไม่เคยลืมเกี่ยวกับสายตาคน ที่ยังฝังในความทรงจำชัดเจน คือ วันหนึ่งในกรุงโซล(เกาหลีใต้)เมื่อราวสี่สิบปีก่อน ข้าพเจ้านั่งรถส่วนตัว มีคนขับรถส่วนตัว ขับพาจากมหาวิทยาลัยมุ่งกลับที่อยู่. รถติดกันนาน สายตาเหลือบไปเห็นสายตาคู่หนึ่งของชายวัยสี่สิบห้าสิบนั่งหลังพวงมาลัยรถเขาเอง. สายตานั้นทำให้ประสาทข้าพเจ้าสะดุ้งตื่นตัว เพราะมันเต็มไปด้วยความจงเกลียดจงชังความขยะแขยง. เกิดมาก็เคยเห็นสายตาแบบนั้นวันนั้นแหละ. ข้าพเจ้ามองตามสายตานั้น เห็นรถขนทหารอเมริกัน มีทหารอเมริกันนั่งอยู่ (เกาหลีใต้เป็นที่ตั้งของ American Forces Korea กองทหารอเมริกันไปตั้งที่นั่นตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองและอยู่เรื่อยมาในสงครามเกาหลี ยังอยู่มาจนทุกวันนี้ ขนาดกองกำลังอาจเพิ่มหรือลดลงแล้วแต่สถานการณ์ระหว่างเกาหลีเหนือและใต้). เข้าใจทันทีว่า คนนั้นเกลียดคนอเมริกันเพียงใด ทำไมหรือ? กองทหารอเมริกันเข้าไปตั้งฐานทัพที่นั่น ประกาศเพื่อช่วยเกาหลีใต้ต่อสู้ ต้านภัยรุกรานจากคอมมูนิสต์ในเกาหลีตอนเหนือที่มีรัสเซียและจีนคอยหนุนอยู่. พวกเขาก็รบต่อกรกันไปๆมาๆจนในที่สุดจบลงด้วยการแบ่งแยกอาณาเขตเป็นเหนือและใต้ ส่งผลกระทบต่อชีวิตสามัญชนกันอย่างมาก โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณเส้นแบ่งเขตที่ละติจูดที่ 38 ที่ชาวบ้านถูกแบ่งตัดขาดจากกัน มีครอบครัวที่ถูกแยกตัดขาดการติดต่อ แบบพ่ออยู่เหนือ ลูกอยู่ใต้ เป็นจำนวนมาก. ยังไม่รวมถึงการแก่งแย่งระหว่างรัสเซียกับญี่ปุ่นผู้หวังปกครองควบคุมคาบสมุทรเกาหลี. การเมืองเรื่องนี้ เป็นโศกนาฏกรรมใหญ่หลวงในจิตสำนึกของคนยุคนั้น (ซึ่งปัจจุบันก็อยู่ในช่วงอายุเจ็ดสิบกว่าปีขึ้นไปแล้ว). แต่ความจริงที่ไม่ประกาศคือพฤติกรรมของทหารอเมริกันที่ไปอยู่ในเกาหลีใต้ตอนนั้น ทำร้ายจิตใจชาวเกาหลียิ่งกว่าหลายเท่าพันทวี. เพราะพวกอเมริกันรวบตัวหญิงสาวลูกสาวของทุกบ้านไปปรนเปรอกาม เหมือนเมื่อญี่ปุ่นเข้าปกครองเกาหลี ก็ทำเช่นนั้นและนำพวกผู้หญิงเกาหลีกลับมาบริการต่อในญี่ปุ่นด้วย. ปัจจุบันญี่ปุ่นยอมรับความผิดพลาดนั้นและพยายามทุกทางช่วยเหลือชุมชนคนเกาหลีในญี่ปุ่นที่ขยายใหญ่ขึ้นๆ จนภาษาเกาหลีเป็นภาษาที่สองของญี่ปุ่น(อย่างไม่เป็นทางการ). สมัยนั้นทหารอเมริกันใช้คำเรียกเด็กสาวเกาหลีอายุสิบสองสิบสามขวบขึ้นไปว่า เซ็กซี่. พ่อแม่ต้องรีบแต่งงานลูกสาวตั้งแต่สิบเอ็ดสิบสองขวบ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกทหารอเมริกันเอาตัวไป. นี่คือดอกเบี้ย โบนัสพิเศษที่ทหารอเมริกันติดใจกันมาก รัฐบาลเกาหลียุคนั้นเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ผู้บัญชาการทหารอเมริกันก็เช่นกัน. ความบันเทิงของทหารอเมริกันในเกาหลีใต้ยุคนั้น สร้างความเกลียดชังในใจชาวเกาหลีใต้ ในใจของพ่อแม่ยุคนั้นอย่างที่ไม่มีอะไรไปลบเลือนได้เลย. ผู้คนที่เติบโตในยุคนั้น(ซึ่งส่วนใหญ่ก็เสียชีวิตไปแล้ว ตายไปกับความขมขื่นชอกช้ำใจ) สบถกันว่า หากมีปืนในมือ คนแรกที่จะฆ่าคือทหารอเมริกัน ไม่ใช่คอมมูนิสต์เกาหลีเหนือ. อนุชนรุ่นหลังไม่เคยรู้ว่าบรรพบุรุษได้หลั่งน้ำตาไปกับสงครามเกาหลีเพียงใดและด้วยเหตุผลหลักอะไร. เป็นที่รู้กันว่า นักการเมืองเกาหลีกับประชาชนเกาหลียุคนั้นคิดต่างกันมาก ข้าพเจ้ามองตามสายตานั้น เห็นทหารอเมริกันหนุ่มๆจำนวนสิบบนรถทหารคันนั้น เรื่องราวของพวกเขาประทุอยู่ในหัวจนเดี๋ยวนี้ ไม่เคยลืมสายตาของชายเกาหลีใต้คู่นั้น.      
       ข้าพเจ้ามองดูสามัญชนบนรถเมล์ในลอนดอนแต่ละวันๆละหลายชั่วโมง มองทะลุไปยังชีวิตในครอบครัว ระบบสังคม พฤติกรรมของแต่ละคนในพื้นที่สาธารณะที่สะท้อนนิสัยประจำวันในพื้นที่ส่วนตัวที่บ้านเป็นต้น. มองดูเด็กรุ่นใหม่ตั้งแต่หนุ่มสาวจนถึงทารก วิธีการพูดจาของแม่กับลูกบนรถเมล์ ทำให้เข้าใจข้อดีข้อผิดพลาดในระบบการสอนภายในครอบครัว(จะนำมาพูดในโอกาสต่อไป).
       ผู้หญิงอังกฤษแต่งงานแล้ว มีลูก ส่วนใหญ่ไม่ทำงาน อยู่บ้านเลี้ยงลูก. เช้าขึ้นก็เข็นรถลูกออกนอกบ้าน มีสัมภาระเพียบ ของกินของเล่นด้วย. เข็นขึ้นรถเมล์ไปลงสวนแห่งหนึ่ง ไปนั่งในสวน ใต้ต้นไม้หรือบนสนามหญ้า. บางทีก็เข็นไปเข้าร้านสรรพสินค้า ชั้นบนๆของร้านสรรพสินค้า มักมีมุมอาหารสะดวกซื้อสะดวกกิน ไปนั่งกิน ป้อนลูก ให้ลูกเล่นของเล่นต่างๆที่ร้านจัดบริการ จัดบริเวณให้เป็นสัดส่วน แม่ก็นั่งดูลายน์ไปด้วยเป็นต้น. บ่ายๆก็เข็นรถลูกพากลับบ้าน คงได้เวลาทำงานบ้านด้วย. ชุมชนอังกฤษจัดพื้นที่สาธารณะ เป็นสนามกว้าง มีต้นไม้ปลูกโดยรอบ มีสวน/park บริการเกือบทั่วไปทั้งนคร  เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เขาให้ความสนใจต่อการเลี้ยงเด็ก ต่อการเจริญเติบโตของเด็กอย่างยิ่ง  เพราะที่อยู่อาศัยของสามัญชนทั่วไป ก็มิได้ขนาดใหญ่นัก ไม่มีห้องให้เด็กแต่ละคน ไม่มีพื้นที่ให้เด็กเล่นมากนัก ไม่มีพื้นที่เปิดโล่งสู่ท้องฟ้า ใต้ต้นไม้ใหญ่. อีกประการหนึ่ง เลี้ยงดูเด็กในบ้าน บ้านก็ต้องรก ต้องตามเก็บ หากโชคดีมีสนามหญ้า ก็ต้องดูแลมันอย่างเพียงพอ ให้ปลอดแมลงให้เด็กลงไปเล่นไปคลานได้ สู้ไปนั่งเล่นในสวน อากาศดีกว่า ต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาหรือไปนั่งอาบแดดแม้เด็กจะนั่งหลับอยู่ในรถเข็น ส่วนเด็กโตก็ปล่อยให้วิ่งเล่นได้เอง แม่มองตามไปดูลายน์ไปก็ยังได้. การเข็นลูกออกไปนั่งในสวน ทำให้ได้พบปะแม่คนอื่นๆ เกิดปฏิสัมพันธ์ ได้เพื่อนใหม่ คุยเรื่องลูกไปพลางๆ แล้วพัฒนาต่อไปจนเป็นแบบ neighbour watch ที่เพื่อนบ้านเรือนเคียงคอยดูแลซึ่งกันและกัน ระแวดระวังภัย คอยกวาดตาสอดส่องคนแปลกหน้าที่ผ่านเข้าไปเป็นต้น รวมถึงการจัดงานสังสรรค์ในแต่ละชุมชน ร่วมกิจกรรมวันเด็กหรือกิจกรรมอื่นๆ. แม่บ้านแบบนี้เป็นกลุ่มใหญ่สำคัญของสังคมอังกฤษ พวกเธอเลี้ยงดูลูก ดูแลบ้าน ไม่มีเวลาสำหรับการสร้างหรือพัฒนาทักษะ เสริมสติปัญญาแขนงอื่นๆนอกเหนือความเป็นแม่ จนกว่าลูกจะโต ออกไปจากครอบครัวแล้ว มีเวลาของตัวเองมากขึ้นและเริ่มสนใจเรื่องอื่นๆ เริ่มอ่านหนังสือเป็นต้น. กลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มที่ข้าพเจ้าพาดพิงถึงในฐานะของสามัญชนชาวอังกฤษ.
     รถเมล์จัดพื้นที่รองรับรถเข็นเด็ก (buggy) ให้ขึ้นได้เต็มที่สองคัน(แบบที่ไม่ต้องพับรถเข็น). ผู้จะพับรถเข็นเมื่อขึ้นบนรถเมล์ก็ได้ จะอุ้มเด็กไว้ในอ้อมแขน เด็กโตก็ปล่อยให้เดินให้วิ่งไปเลือกที่นั่งเองเป็นต้น. ส่วนรถเข็นคนพิการ ก็มีพื้นที่สำหรับสองคัน พื้นที่เดียวกับรถเข็นเด็ก. เท่าที่เห็นในช่วงสองเดือน มีคนพิการน้อยคนที่ใช้รถเข็นขึ้นลงรถเมล์. คนขับลดความสูงของทางขึ้นรถเมล์ บางทีเทียบเข้าประชิดระดับขอบถนนเลย บางทีคนขับก็นำแผ่นเหล็กไปคลี่เป็นสะพานให้คนนั่งรถเข็น หมุนล้อรถ เข็นตัวเองขึ้นไป บางทีคนขับก็เข้าช่วย. บริการเรื่องรถเข็นของรถเมล์ในอังกฤษนับว่าดีที่สุดแล้ว. ความพร้อมด้านนี้ ทำให้มีนักท่องเที่ยวชาวอาหรับ อินเดีย ยุโรป เข็นรถผู้สูงวัยไปเที่ยวลอนดอนกันมากขึ้นๆ.
       บนรถเมล์มีที่นั่งกำกับสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ทุพพลภาพ หญิงท้อง หญิงอุ้มเด็ก เป็นที่นั่งที่สะดวกแก่การขึ้นลง ปกติชาวลอนดอนไม่ไปนั่งที่นั่งเหล่านั้น นอกจากเมื่อไม่มีบุคคลประเภทกายภาพเปราะบางดังกล่าว หรือในยามวิกาล หรือลุกทันทีเมื่อมีหนึ่งในคนประเภทนี้ขึ้นรถมา. นี่เป็นสิ่งที่ทำกันแบบอัตโนมัติ สอนกันมาฝึกกันมาเป็นธรรมเนียมอังกฤษแบบหนึ่ง. มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ วัยสาววัยกำยำเท่านั้น ที่เข้าไปนั่ง ทำไม่รู้ไม่ชี้. คนประเภทกายภาพเปราะบางนี้ เคยเห็นว่าเมื่อขึ้นไป และทุกที่มีคนนั่งหมด ไม่มีใครลุกให้ เขาจะไปยืนที่นั่งที่จัดให้คนที่มีกายภาพเปราะบาง ไปทวงสิทธิ์ ไปยืนตรงที่นั่ง ชี้บอกคนนั่งเลยว่า จะนั่งตรงนั้น คนนั้นต้องลุก. ในเมื่อคนนั่งไม่มีจิตสำนึกพอ ก็ต้องใช้วิธีนี้. ที่นั่งสำหรับคนประเภทนี้ มักมีพื้นที่ตรงหน้ากว้าง เพราะติดพื้นที่ที่จัดให้รถเข็น.
       ยุคใหม่ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากหลั่งไหลเข้ากรุงลอนดอน พวกเขาใช้รถเมล์เดินทางไปหรือออกจากสถานีรถไฟหรือชุมทางเดินรถ. มันสะดวกมากกว่าใช้รถไฟใต้ดิน ที่ต้องขึ้นลงบันไดหรือบันไดเลื่อน. รถเมล์หลายสายผ่านสถานีรถไฟทุกแห่ง มักจอดใกล้ๆเลย ขึ้นลงเข้าออกสถานีง่ายกว่ากันมาก  จึงมีคนเดินทางพร้อมกระเป๋าเดินทางทั้งลูกเล็กลูกใหญ่ เลือกใช้รถเมล์แทนรถไฟใต้ดิน. ถ้าเลือกได้ ก็มักนั่งบนที่นั่งและพื้นที่สำหรับบุคคลประเภทเปราะบางดังกล่าว เพื่อให้เกะกะน้อยที่สุดต่อผู้โดยสารอื่น. เดี๋ยวนี้เกือบทุกคนนำสัมภาระวางบนที่นั่งข้างตัว ยึดใช้สำหรับตัวเอง. คนอื่นก็หมดโอกาสนั่งข้างเขา บางคนยึดพื้นที่สี่ที่นั่งเลย. พอคนแน่นเข้าๆ มันก็ไม่สะดวก เจ้าของสัมภาระก็ไม่ขยับ. ทุกคนทนไป ใครกล้าหน่อย ก็ตรงเข้าไปจะนั่งตรงที่ของวางนั้น เจ้าของสัมภาระจึงเลื่อนของไปไว้ใกล้ตัวหรือบนตัว. ไม่ต้องเอ่ยปากพูดคำใด เป็นไปแบบนี้.  
      นอกจากบุคคลที่มีกายภาพเปราะบางสามสี่ประเภทดังกล่าว ยังมีคนจูงสุนัขหนึ่งตัวสองตัวขึ้นใช้รถเมล์ด้วย ถ้ารถว่างพอ มักไปนั่งพื้นที่ด้านหลังรถ ใช้พื้นที่นั่งบริเวณนั้นไปสามสี่ตัวเพื่อเป็นอาณาเขตของสุนัข. คนอื่นที่ขึ้นรถเมล์เมื่อเห็นเช่นนั้น ก็มักหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่สุนัขนอนอยู่. คงไม่ใช่เพราะไม่ชอบสุนัขแต่เพื่อความสะดวกสบายใจมากกว่า. เคยเห็นคนจูงสุนัขขนาดใหญ่สองตัวขึ้นรถเมล์คันเดียวกัน พาไปนั่งตรงสองที่นั่งสำหรับคนแก่ ที่มีพื้นที่ว่างกว้างตรงหน้าเพราะตอนนั้นไม่มีรถเข็น. สุนัขสองตัวหมอบลงบนพื้นเรียบร้อยไม่งอแง. นั่งๆไปคนเลี้ยงก็นำถ้วยหรือชามออกมา เทน้ำจากขวดน้ำปลาสติก วางชามลงบนพื้นรถให้สุนัขสองตัวดื่ม อากาศมันร้อน. วิธีที่สุนัขใช้ลิ้นวักน้ำเข้าปาก ย่อมทำให้พื้นรถแถวนั้นเปียก. คนเลี้ยงก็ปล่อยให้เปียกไป คงคิดในใจว่าเดี๋ยวมันก็แห้งเอง. มันไม่แห้งง่ายๆหรอก. เช่นกัน คนได้แต่มองดูพฤติกรรม อาจนึกชมว่าเขารักสุนัขหรือนึกตำหนิว่าทำพื้นที่สาธารณะสกปรกและอันตรายต่อคนอื่น อาจลื่นหกล้มได้. ในอังกฤษมีอาชีพรับจ้างจูงสุนัขออกเดินเล่นในแต่ละวัน เพราะเจ้าของไม่มีเวลา มีงานทำประจำเป็นต้น. น่าจะเป็นหนทางทำมาหากินแบบแรกๆของชาวต่างชาติที่เข้าไปตั้งรกรากในลอนดอน. (นึกดีใจว่าลุงเจ้าของบ้านที่ข้าพเจ้าไปเช่าห้อง ไม่ได้ขอให้ข้าพเจ้าช่วยพาแมวของลุงที่ชื่อโสเครติส ออกไปเดินเล่น เพราะมันเดินไปเที่ยวทุกบ้านแถวนั้นทุกวัน โดยที่ข้าพเจ้าไม่มีทางตามไปดูว่า มันไปทำอะไรที่ไหน ไปเจอเปลโตหรือเปล่า  ลุงหัวเราะขบขันแบบเย้ยๆคนที่จ้างคนจูงสุนัขเดินเล่น บอกว่าไม่มีวันเสียเงินแบบนั้น. it’s ridiculous. แถมยังเย้ยๆที่ข้าพเจ้ายอมจ่ายเงินค่าแท็กซี่ไปสนามบิน แทนการใช้บริการสาธารณะ กว่าข้าพเจ้าจะลากกระเป๋าขึ้นๆลงๆไปถึงจุดขึ้นรถไปสนามบิน ใช้เวลานานแค่ไหน จะเหนื่อยหอบเพียงใดกับสัมภาระใหญ่เล็กสามชิ้น ลุงเสนอช่วยรึก็เปล่า ข้าพเจ้าจะเอ่ยปากขอให้ช่วยรึ ไม่มีวัน. ข้าพเจ้าบอกว่าเสียค่าแท็กซี่ถูกกว่าเสียค่ารักษากระดูก ค่าเจ็บปวด ค่าหมอฯลฯ )
      เดี๋ยวนี้รถเมล์มิได้เงียบ เสียงคนคุยกัน ในทุกภาษา คุยกันหรือคุยกับมือถือ ไม่มีใครลดเสียง พูดคุยตามปกติ ได้ยินกันทั้งรถ ใครจะฟังๆไป. (ครั้งหนึ่ง นั่งตรงข้ามผู้ชายคนหนึ่งบนรถไฟในฝรั่งเศส เขาเปิดมือถือสั่งเลขาฯให้ทำนี่นั่นโน่น บอกให้เธอจดลงไปด้วย ข้าพเจ้าเกือบจดตาม ก็สั่งอยู่ตรงหน้านี่นะ ต้องลุกไปนั่งที่อื่น). ข้าพเจ้าเลยได้ฝึกฟังทุกภาษา และก็บอกตัวเองว่า นี่ฝรั่งเศส อิตาเลียน สเปน รัสเซีย ดัตช์ อาหรับ อินเดีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี. เคยเจอผู้ชายอังกฤษสำเนียงอังกฤษแน่นอน คุยกันข้ามหัวคนจากหน้ารถไปยังอีกคนที่อยู่หลังรถ เฉยเลย ต้องเสียงดังแน่ ไม่งั้นไม่ได้ยิน. ผู้คนมองหน้าทั้งสอง. อีกครั้งหนึ่งปู่พาหลานขึ้นรถ นั่งลงแล้ว ก็พูดนี่นั่นโน่นกับหลาน เสียงดังกังวานบนที่นั่งท้ายรถ. หลายคนหันไปมองหน้า ข้าพเจ้าก็เหมือนกัน. ปู่นั่งพูดไปไม่หยุดสักครึ่งชั่วโมง พอพวกเขาลงไป หญิงอังกฤษที่นั่งใกล้ข้าพเจ้า พูดขึ้นว่า คุณคิดว่าเขาเมาไหม? สงสารเด็กที่ต้องฟัง his garbage!  ข้าพเจ้าพยักหน้าคล้อยตาม. ถ้าเป็นชาวต่างประเทศ ที่พูดเสียงดังลั่น ภาษาที่ฟังไม่ออก ชาวอังกฤษก็หันไปมองหน้าเหมือนกัน แต่จะไม่มีใครพูดอะไรแม้จะไม่พอใจหรือรำคาญ ข้าพเจ้าเองเกือบอดทนไม่ไหวหลายครั้งทีเดียว. สังคมอาจต้องจำกัดความคำว่า “เสรีภาพในการแสดงออก” เสียใหม่แล้ว. ต้องสั่งสอนกันใหม่ด้วยว่า พื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะต่างกันอย่างไร ควรมีความประพฤติอย่างไร. กว่าคนจะไปถึงจุดนั้น เป็นการดีหากเอาแว็กส์อุดหูไปด้วยเมื่อต้องนั่งรถเมล์นานๆในลอนดอน. การพูดเสียงดังจนเกือบเหมือนตะโกนคุยกันนั้น ได้กลายเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของ “คนยุคใหม่” แล้ว. คนหูตึงกันมากขึ้นหรืออย่างไร? มองในแง่จิตวิทยาได้ว่า เป็นการยืนหยัดประกาศตน เรียกความสนใจ หรือยืนยันเสรีภาพของตน หรือในทางตรงข้าม ใช้เสียงดังข่มความต่ำต้อยของตนเป็นต้น. เสียงพูดดังแซ็ดในทุกภาษาทำให้นึกถึง Tour de Babel ในคัมภีร์เก่า เหตุการณ์ไฟไหม้ตึก Grenfell Tower ก็สอดคล้องกับความหายนะที่เกิดกับ Tour de Babel สะท้อนความสับสนอลหม่านของผู้คนที่พูดภาษาต่างกัน. อาคาร Grenfell Tower นั้น มีชาวอินเดียปากีสถาน ชาวอาหรับเข้าไปอยู่กันมากด้วย ปะปนกับชาวอังกฤษและชาวยุโรปชาติอื่นๆ.
      ชนชั้นปัญญาชนชาวอังกฤษ ผู้มีงานทำ มีตำแหน่งในองค์กร สถาบันหรือบริษัทต่างๆ ก็ไม่ใช้บริการรถเมล์ในช่วงเวลาเดียวกับข้าพเจ้า ซึ่งอยู่หลังชั่วโมงเร่งรีบของผู้ไปทำงาน จึงมิได้มีโอกาสสังเกตหรือฟังการใช้ภาษาของพวกเขา. เท่าที่เห็นมา ทุกคนบนเส้นทางรถเมล์มีความอดทนอดกลั้นสูงมาก ไม่เคยบ่น ด่าทอเรื่องรถติด รถไม่ไป เดินไปก็ได้ ทุกคนเดินเก่ง กระฉับกระเฉิง. นักท่องเที่ยวสาวไทยทำไม่ได้หรอก. ออกจะแปลกใจอยู่เหมือนกันว่า ไม่เคยเจอนักท่องเที่ยวคนไทยบนรถเมล์เลย  คนไทยที่ได้เห็นได้ยินพูดกับมือถือ เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในลอนดอนกัน. คนไทยในร้านอาหารไทย ก็ไม่พูดไทยกับข้าพเจ้า เคยลองถามว่าจานนี้เป็นอาหารภาคไหน เขาก็ตอบว่า I don’t know. Full stop!

คนแก่ในเมืองมหาวิทยาลัย
2 สิงหาคม 2017  
หนีรถติดลอนดอนไปอยู่เคมบริดจ์สามสี่วัน โรงแรมที่จอง อยู่บนฝั่งแม่น้ำ Cam[แคม] ห่างจากกลางเมืองที่เป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวชมเมือง ราวหนึ่งกิโลเมตรครึ่ง เดินเลาะแม่น้ำไปเรื่อยๆก็ถึงกลางเมือง. ชาวเคมบริดจ์เองไปเดินเล่นพักผ่อนแถบนั้น มีสนามหญ้าผืนใหญ่ แนวต้นไม้ใหญ่ๆ ร่มรื่นมาก เป็นที่ชาวเมืองจัดกิจกรรมทั้งดนตรีและกีฬา. นักท่องเที่ยวไม่ไปถึงแถบนี้ นอกจากผู้ไปอยู่เพื่อพักผ่อนหลายๆวัน เพราะลำพังชมกลางเมืองก็หมดเวลาแล้ว
 
อาคารที่เห็นคือ Arundel House Hotel
มีบ้านเรือจอดเรียงรายหลายลำ มีคนอยู่จริง เสพความสุขอิงกระแสธารา
มองจากกลางสะพานข้ามฝั่ง พื้นที่สนามกว้างมาก
 มองจากห้องโรงแรม เช้าๆคนออกมาวิ่งออกกำลังกัน
เดินเลาะไปตามฝั่งน้ำ เข้าสู่กลางเมืองได้
บ่ายๆสุดสัปดาห์ นักดนตรีขับกล่อมชาวเมืองผู้นั่งๆนอนๆอย่างสบายใจพ่อแม่ลูก
และมิตรสหาย เป็นพื้นที่เพื่อความสุขสำราญของชาวเมืองอย่างแท้จริง
นี่คือความสุขง่ายๆแบบฉบับของชาวอังกฤษ ทุกชุมชนต้องมีพื้นที่แบบนี้
ข้าพเจ้าก็ไปนั่งริมฝั่งน้ำ ฟังดนตรีเพลิดเพลินใจจนเกือบหลับเพราะลมพัดเย็นสบาย
นอกจากเดินเลียบฝั่งแม่น้ำ(ที่ไกลกว่า) มีเส้นทางใต้แนวต้นไม้ใหญ่ๆ
เดิน วิ่งหรือขี่จักรยานใต้แนวต้นไม้ใหญ่ ตัดตรงเข้าสู่กลางเมือง
หากเดินเลาะไปบนฝั่ง ไปได้สักหน่อย ก็เป็นร้านอาหารริมฝั่งน้ำหรือร้านขายของ ชั้นสูงๆขึ้นไปอาจเป็นแฟล็ต. ด้านติดแม่น้ำทำทางเดินเป็นแนวยาวเหนือแม่น้ำ ได้ชื่นชมความงามของแม่น้ำและทิวทัศน์ฝั่งตรงข้าม. เรือท้องแบน (punt) จอดพร้อมให้บริการ. ผู้ไปเที่ยวเมืองเคมบริดจ์โดยเฉพาะชาวต่างชาติต้องนั่งเรือถ่ออย่างน้อยสักครั้งไปตามแม่น้ำ Cam เส้นทางมาสิ้นสุดแถวหน้าโรมแรมที่ข้าพเจ้าไปพักนั่นเอง แล้ววนกลับไปยังท่าลงเรือกลางเมือง. ไม้ถ่อเรือที่นั่นยาวมาก เพราะต้องปักลงไปถึงก้นแม่น้ำ คนถ่อต้องชำนาญใช้ไม้อันยาวเหยียดนั้น โดยเฉพาะเมื่อต้องลอดใต้สะพาน. 
  เส้นทางเดินเลียบแม่น้ำ เหนือแม่น้ำเลย เดี๋ยวนี้มีคนพายเรือ
เป็นแคนู (canoe) หรือ คายัค (kayak)
เมื่อเดินสุดทาง ก็พบศูนย์บริการนั่งเรือ เดินต่อไปคือกลางเมืองที่ตั้ง colleges ต่างๆ
แต่ก่อน นักศึกษา นักกีฬา แข็งแรงกำยำ พอปิดภาค ก็มาถ่อเรือพานักท่องเที่ยวชมเมืองไปตามแม่น้ำ ผ่าน The Backs ที่เป็นด้านหลังของ Colleges ต่างๆ ลอดใต้สะพานรูปลักษณ์ต่างกันอย่างน้อยสิบแห่ง เล่าประวัติมหาวิทยาลัย ประวัติสะพาน ชีวิตนักศึกษา. นับเป็นการนั่งเรือที่เบิกบานใจมาก ดีกว่านั่งเรือติดเครื่องยนต์ของเมืองใหญ่ๆหลายๆแห่งในหลายประเทศ. ปัจจุบัน มิได้มีแต่นักศึกษาที่ทำหน้าที่ถ่อเรือ มีคนทำมาหากินอย่างจริงจังเข้ามาปนด้วย รวมถึงชาวจีนและชาติอื่นๆที่ตั้งรกรากในเคมบริดจ์.
เปิดไปดูสะพานทั้งหมดที่ทอดข้ามแม่น้ำแค็มได้ที่นี่ >>
แต่สะพานสำคัญๆที่คนจำได้ขึ้นใจคือ Mathematical Bridge, King’s College Bridge, Clare College Bridge, Trinity Bridge, (St John’s) Bridge of Sighs, Magdalene Bridge เป็นต้น.
ชื่อเดิมของแม่น้ำคือ Granta ชื่อเมืองเคมบริดจ์เดิมในภาษาอังกฤษเก่า (Old English) คือ Grantebrycge. ปกติคนใช้ชื่อแม่น้ำมาตั้งชื่อเมืองที่อยู่ริมแม่น้ำนั้น ต่อมาเมื่อมีการแปลงชื่อเมืองให้เป็นภาษาทันสมัยขึ้น (ในภาษา Middle English) เป็นชื่อ Cambridge จึงมีการเปลี่ยนชื่อแม่น้ำ Granta ให้สอดคล้องกับชื่อเมือง กลายเป็น River Cam (เป็นกรณีพิเศษที่เปลี่ยนชื่อแม่น้ำตามชื่อเมือง). ชมภาพสะพานแบบต่างๆได้ในเน็ต. เคมบริดจ์อยู่ห่างจากทะเลเพียง 64 กิโลเมตร. การจัดระบบการสัญจรทางน้ำจึงสำคัญสำหรับเมืองนี้ สภาพภูมิประเทศบวกกับประวัติของการสร้างเมือง การก่อตั้งมหาวิทยาลัยและแบบสถาปัตยกรรม ทำให้เมืองนี้โดดเด่น พิเศษเหนือเมืองใดในอังกฤษ.
ภาพถ่ายด้านตะวันตก สนาม Back Lawn และ Chapel ของ King’s College อาคารด้านซ้ายในภาพเป็นส่วนหนึ่งของ Clare College. เจ้าของภาพ Andrew Dunn, 9 กันยายน 2004. (http://www.andrewdunnphoto.com/). ที่มาของภาพจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:KingsCollegeChapelWest.jpg
ด้านหลังของ colleges ต่างๆติดแม่น้ำ Cam มักจัดเป็นพื้นที่โล่งกว้างหรือเป็นสวนสำหรับนักศึกษา นั่งพักผ่อน อ่านหนังสือ ถกเถียงวิพากษณ์วิจารณ์ข้อมูลความรู้. สนามหญ้าเปิดให้คนใช้เต็มที่ ทำให้ต้องมีคนสวนดูแลเลี้ยงดูสนามหญ้าอย่างสม่ำเสมอ เป็นค่าใช้จ่ายสูงทีเดียว. 
สะพาน King’s College Bridge
 ฝั่งตรงข้ามก็มีสวนพร้อมประติมากรรมดีเอ็นเอ
 DNA Double Helix by Charles Jenck, 2005.
Clare College มีพื้นที่สวนพร้อมประติมากรรมที่โดดเด่นเหนือ colleges อื่นๆ
ในเมืองเคมบริดจ์ สนใจตามไปดูต่อได้ที่ >>
จะไม่พูดถึง Bridge of Sighs ใน St John’s College เลย ก็เหมือนไปไม่ถึงเมืองเคมบริดจ์. โชคเข้าข้าง ได้แฝงตัวเข้าไปเดินดูบนสะพานนั้น ไปคนเดียวดีอย่างนี้ เงียบๆเดินผ่านป้ายที่เขียนว่าห้ามผ่าน. หลายปีก่อนยังเข้าออกได้ เก็บภาพมาไว้ ปีนี้ปิดห้ามเลย. น่าเห็นใจเจ้าหน้าที่เขาอยู่. 
ทางระเบียงยาวใต้หลังคาสถาปัตยกรรมศต.ที่ ๑๖
สะพานนี้แคบๆเท่านั้น มีแสงส่องผ่านสว่างแจ่มใส
มองจากหน้าต่างบนสะพาน ก็สวยงามดังภาพข้างล่างนี้
 ตึกสีอิฐแดงๆข้างซ้ายในภาพ ล้วนเป็นห้องพักอาศัยของนักศึกษา
สำหรับมหาวิทยาลัยที่ Cambridge อาจโยงไปถึงความกังวลของนักศึกษาก่อนสอบ ว่าจะสอบผ่านไม่ผ่านมากกว่า. ในทำนอง “บันไดอักษรศาสตร์” ที่น่าจะเรียกเป็น Stairs of Sighs สำหรับนิสิตอักษรน้องใหม่รุ่น 2510 เมื่อทุกปีวันประกาศผลสอบ ทุกคนยืนฟังตรงเชิงบันได เงยหน้าซีดๆฟังท่านอาจารย์ไพฑูรย์ ประกาศรายชื่อนิสิต สอบได้สอบตกทีละคนๆ เป็นนาทีก่อนถูกกีโยตินจริงๆ.
รู้กันดีว่า ที่เมืองเวนิสมี Ponte dei Sospiri ที่เล่ากันมาผิดๆว่าพวกนักโทษเดินข้ามสะพานตรงนั้น เห็นเมืองเวนิสเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนถูกปิดจองจำในคุกมืด จึงทอดถอนใจ สำนึกผิดบ้างกระมัง. เล่ากันมาว่า Lord Byron กวีอังกฤษเป็นผู้แปลชื่อในภาษาอิตาเลียนเป็นภาษาอังกฤษว่า Bridge of Sighs ในศตวรรษที่ 19. ในความเป็นจริงตามประวัติศาสตร์และตามปีการก่อสร้างสะพานระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 นั้น เมืองเวนิสมิได้อยู่ใต้อำนาจของ Doge [โด๊จ] ดังยุคกลางถึงยุคเรอแนสซ็องส์ในอิตาลี และไม่มีการจองจำในห้องมืด ช่องหน้าต่างสองช่องที่เจาะเปิดเล็กเกินกว่าจะเห็นอะไรนัก. ตัวสะพานเองและหลังคาดังในภาพก็ตันปิดทึบหมด. สะพานนี้อยู่เหนือแม่น้ำ Rio de Palazzo. ดังภาพข้างล่างนี้จากเน็ตกูเกิล
ในยุคปัจจุบัน เกิดค่านิยมใหม่ว่า คู่รักใดผ่านใต้สะพานนี้ ความรักของทั้งคู่จะยั่งยืนนาน. และนี่เองที่ทำให้นักท่องเที่ยวทุกชาติทุกภาษา พยายามไปนั่งเรือ gondola ที่นั่นให้ผ่านใต้สะพานนี้. หลายประเทศนำชื่อ Bridge of Sighs ไปเรียกสะพานลอยฟ้าที่เชื่อมสองอาคาร เช่นที่เมือง Lima ประเทศเปรู. ที่มีชื่อเสียงมากไม่แพ้เวนิสคือ Bridge of Sighs ใน St John’s College เมืองเคมบริดจ์ดังเสนอข้างต้น และ Bridge of Sighs เมือง Oxford ดังภาพข้างล่างนี้
ความจริง Bridge of Sighs ที่ Oxford มีชื่อว่า Hertford Bridge เป็นสะพานลอยฟ้าเชื่อมสองอาคาร (Old and New Quadrangles ที่เป็นอาคารแอ็ดมินกับอาคารที่พักของนักศึกษา) ของ Hertford College. สะพานมิได้อยู่เหนือแม่น้ำลำคลองใด แต่เหนือถนน New College Lane. รูปแบบสะพานสวยโก้เก๋ ดึงดูดสายตา. เป็นผลงานการออกแบบของ Sir Thomas Jackson สร้างแล้วเสร็จในปี 1914. การไปเรียกว่า Bridge of Sighs นั้น เรียกผิดๆ เพราะรูปแบบสถาปัตยกรรมไม่เหมือน Bridge of Sighs ที่เมืองเวนิส แต่เหมือนสะพาน Ponte de Rialto ในเมืองเวนิสเช่นกัน.เชิญชมภาพสะพาน Ponte di Rialto เมืองเวนิส ข้างล่างนี้
ภาพของ Chene Beck ถ่ายไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2011 By Chene Beck (Own work) [CC BY-SA 3.0 (http://creativecommons.org/licenses/by-sa/3.0)], via Wikimedia Commons.
ความที่มีนักท่องเที่ยวและกลุ่มนักเรียนนักศึกษาจำนวนมาก ที่ต้องการเข้าชม colleges ต่างๆทั้งในเมืองเคมบริดจ์และอ็อกสฟอร์ด มากันเป็นกลุ่มใหญ่ เสียงดัง ถ่ายภาพเซลฟี่กันไม่หยุด เสียงหัวหน้าทัวร์อธิบายฯลฯ รบกวนความสงบของสถานที่ ทำให้หลายแห่งปิดไม่ให้เข้าไปแล้วแม้ในระหว่างปิดภาค บางแห่งเปิดให้เข้าไปบางส่วน เพราะมีการเรียนการสอน และต้องเสียค่าเข้าด้วย. มหาวิทยาลัยปิดภาค อาจารย์บางคนอาจไม่อยู่แต่สถาบันไม่เคยปิด เพราะเดี๋ยวนี้เปิดสอนภาษาอังกฤษแก่คนต่างชาติ  มีเกือบทุกระดับ หลักสูตรฤดูร้อนหนึ่งถึงสองสามเดือน หลักสูตรทั้งปีก็มี. ทุกอย่างไม่ว่าธุรกิจการค้าทุกชนิด การโรงแรมและบ้านพักบ้านเช่า เครือข่ายเดินรถฯลฯ วิวัฒน์ไปตามกระแสคลื่นคนที่เข้าไปอยู่. ชาวเคมบริดจ์เดิมๆย้ายออกไปอยู่นอกเมืองมากขึ้นๆ. หลาย colleges ขยายพื้นที่ บูรณะหรือสร้างอาคารใหม่ๆ ให้เป็นที่พักรองรับนักศึกษารวมทั้งเปิดรับนักท่องเที่ยวจรด้วย.
      ผู้สนใจเปิดเว็ปเพจของแต่ละ college เช้คห้องว่างและราคา อย่างน้อยสามเดือนก่อนเดินทาง จึงมีโอกาสได้ห้อง. ห้องสะดวกสบายกว่า B&B ตามบ้าน สะอาดกว่าด้วย แม้เครื่องเรือนที่ใช้จะเป็นแบบเรียบง่าย ไม่หรูหราแต่ใช้สอยได้เต็มตรงตามเป้าหมาย และยังใช้ห้องอาหารของ college ได้ด้วย. พื้นที่สวนในแต่ละ college มีจำนวนมากเป็นหย่อมเล็ก มุมนั้นมุมนี้ หรือพื้นที่สนามกว้างใหญ่เปิดให้ใช้ได้ เมื่อคำนึงถึงจุดนี้ ไม่มีโรงแรมห้าดาวไหนสู้ได้แม้จะเสียค่าห้องต่อคืนแพงกว่าหลายเท่าก็ตาม. ข้าพเจ้าไม่เคยรู้ว่าไปเช่าห้องใน college ใดได้ จึงไม่ได้จองล่วงหน้า ต้องไปอยู่โรงแรมในเคมบริดจ์แทน. แต่มีโอกาสที่ Oxford เข้าไปอยู่ในอาคารที่พักของ Keble College. ไม่อยากกลับเลย หวนนึกถึงชีวิตนักเรียนในฝรั่งเศส ที่ห้องพักเล็กกว่ามาก ไม่สะดวกเท่า.
 Keble College, Oxford
ถ้ากลับไปอังกฤษอีก ไม่ไปอยู่ที่อื่นแล้ว อยู่ห้องในมหาวิทยาลัยดีที่สุด. เขามีห้องหลายประเภทให้เลือก ห้องเดี่ยวห้องคู่ ห้องสามคน ห้องพร้อมห้องน้ำส่วนตัวหรือใช้ห้องน้ำรวมเป็นต้น ราคาต่างกันไป. ห้องรวมห้องน้ำส่วนตัว เท่าที่เช้คดูราคาคืนละไม่เกิน 80 ปอนด์ (เหมือนแพง แต่ถูกกว่าเช่าห้องในโรงแรมมาก). ที่ Keble College รวมอาหารเช้าในห้องโถงยาวใหญ่ของ college เลย. ห้องใหญ่อลังการ บรรยากาศขรึมและขลัง. Grand Hall ที่คือ dining hall มีจิตรกรรมภาพเหมือนของอาจารย์คนเก่งคนดังของมหาวิทยาลัย ประดับบนผนังกำแพงรอบๆห้อง เหมือนกำลังเหลือบตาสำรวจกิริยามารยาทและวิสัยทัศน์ของนักศึกษารุ่นใหม่ๆ. อาหารที่บริการก็วิเศษสุด เพียบด้วยคุณค่าทางโภชนาการ เป็น full English Breakfast กินมื้อเช้าอย่างนั้น  มื้อเที่ยงตอนบ่ายสามอีกครั้ง พอเพียงที่สุด ยกเลิกมื้อเย็นไปได้เลย
 Grand Dining Hall, Keble College
ภาพนี้น่าจะเป็นกลุ่มอาจารย์เกือบทั้งหมด จากเพจของสถาบันเอง
ผู้หญิงหากสวมกระโปรงเมื่อต้องลุกเข้าๆออกๆม้านั่งยาวอย่างนี้ ต้องยกขาขึ้นสูง หรือไม่ก็เหยียดขาไปข้างตัว หมุนก้นเอี้ยวตัวออกนอกม้านั่ง แล้วจึงวางขาลงพื้น ยันตัวลุกขึ้น เช่นนี้ไม่สะดวกและไม่น่าดูนัก. อย่าลืมว่าสมัยก่อนนั้น มหาวิทยาลัยเป็นที่เรียนที่ศึกษาของผู้ชายทั้งสิ้น.
ตอนที่ไปอยู่ Oxford กล้องสิ้นชีพไปแล้ว จึงไม่มีภาพจากกล้องส่วนตัวมาให้ดู. เมื่อก่อนทุกคนนั่งเรียบร้อยติดๆกันไปบนม้านั่งไม้ยาวมาก ขนานไปกับโต๊ะตัวยาวเหยียด มีคนเสริฟอาหาร ไม่มีการลุกจนกว่าจะกินเสร็จ. เดี๋ยวนี้โต๊ะและม้านั่งยังคงยาวเท่าเดิม แต่ต้องลุกไปเลือกอาหารเอง. มีบริการชากาแฟถึงที่เท่านั้น. เมื่อก่อนคนเสริฟอาหารคือนักศึกษาผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่ เดี๋ยวนี้เป็นผู้รับจ้างมาทำงานแบบนั้น. ทุกคนแต่งกางเกงขายาวสีดำ เสื้อเขิ้ตขาว ผูกเน็คไท มองดูเรียบร้อยสะอาดตา. แต่กิริยาท่าทางก็แสดงชัดเจนว่าเป็นคนพื้นเพอังกฤษหรือเปล่า เป็นนักศึกษาหรือเปล่า. มีไม่ต่ำกว่าสิบคน. มีโอกาสคุยกับคนที่ยืนตรงประตูทางเข้า ทักทายสวัสดีต้อนรับทุกคนที่เข้าไป แนะนำให้ไปเลือกอาหารแบบไหนที่ใด ด้วยภาษาที่สุภาพสำเนียงเสนาะหู. พูด sir, ma’me ทุกคำ. เป็นเด็กหนุ่ม หน้าตาสะอาดหมดจด ผมสีทองอ่อนๆ สุภาพเรียบร้อย หน้าตาน่ารัก. พูดคุยไปมา จึงรู้ว่าเขาเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยคนเดียวในหมู่ผู้บริการสิบกว่าคน. เขาพูดได้หลายภาษา ได้ยินเข้าทักทายต้อนรับคนสเปน คนฝรั่งเศสด้วย. ช่วงที่ไปพัก พอดีมีสัมมนา จึงมีนักวิชาการจากที่ต่างๆไปพักที่นั่น. เมื่อก่อน ห้องกินข้าวรวมทุกคนพร้อมกันเวลาเดียวกัน ถือเป็นช่วงเวลาของการฝึกกิริยามารยาท การอบรมสั่งสอนหัวข้อต่างๆที่อาจารย์นำขึ้นเป็นประเด็นก่อนหรือหลังอาหาร. ทุกคนนั่งกินเรียบร้อย เก็บข้อศอก ไม่เคี้ยวเสียงดัง ไม่ให้ส้อม ช้อนหรือมีดกระทบกันจนเกิดเสียง ไม่ข้ามมือข้ามหน้าใครไปหยิบขวดเกลือหรือพริกไทยเป็นต้น. ถามได้ความว่า เดี๋ยวนี้ไม่เข้มงวดเท่าสมัยก่อน แม้จะนั่งกินด้วยกัน มีเหมือนกันที่ดูมือถือไปด้วย แต่ห้ามพูดโทรศัพท์ในห้องนั้น. เดี๋ยวนี้เขากำหนดช่วงเวลาอาหาร ไปก่อนหลังได้ตามสะดวก. ช่วงที่ไปอยู่นั้น คณะสัมมนาที่ไปพักที่นั่น ไม่ยึดกฎเด็กๆอะไรทั้งสิ้น โตเป็นผู้ใหญ่สี่สิบกว่าขึ้นไปกันแล้ว ปล่อยตัวพอสมควร พูดคุยเสียงดังโดยเฉพาะคนจีน.
      ข้าพเจ้าไปนั่งทานอาหารมื้อเช้าที่ห้องโถงยาวใหญ่ พอดีใกล้ๆกัน มีอาจารย์ชาวอังกฤษสอนมัธยมโรงเรียนหนึ่งที่ Birmingham มาเข้าสัมมนา. ได้คุยกัน เขาบอกว่าเคยไปเมืองไทยหลายปีมาแล้ว เราคุยกันต่อถึงความพร้อมของสถานที่ของ Keble College เขาบอกว่าดีกว่าโรงแรมห้าดาว. แล้วคุยกันถึง chapel ภายในแคมพัสนี้ ได้เข้าไปเดินดูทุกเช้าหลังอาหาร ไม่มีคนเลย ดูช้าๆสบายๆ จึงพูดถึงจิตรกรรมโมเสกประดับกำแพงวัดของที่นั่น ที่สวยวิเศษมาก เนื้อหามาจากทั้งคัมภีร์เก่าและใหม่. เชิญชมภายในวัด Chapel of Keble College ว่าอลังการเพียงใด
 มองด้วยตาเปล่าชัดกว่าภาพที่นำมาลง
ภาพถ่ายของ Diliff เมื่อวันที่ 10 March 2005 http://www.gnu.org/copyleft/fdl.html)], 
via Wikimedia Commons. By Diliff (Own work) [CC BY-SA 3.0]
 หน้าต่างกระจกสีตรงหัวโบสถ์ยังสดใสสวยงาม จิตรกรรมโมเสกทั้งชุดก็ยังชัดเจนมาก.
ภาพเหล่านี้จากหน้าเว็ปเพจของ Keble College. วัดของสถาบันนี้ขึ้นชื่อว่า เป็นที่รวมศิลปะสมบัติที่สำคัญๆขึ้นหน้าขึ้นตาระดับชาติทีเดียว และหนึ่งในสมบัติดังกล่าวคือ จิตรกรรมชื่อ The Light of the World.  ข้าพเจ้าได้ไปยืนพินิจพิจารณาอยู่นาน และอ่านคำอธิบายอย่างละเอียดที่ตั้งไว้ตรงนั้น. (ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่ >> http://www.keble.ox.ac.uk/about/chapel/chapel-history-and-treasures)
      ภาพ “แสงสว่างของโลก”เป็นผลงานลือชื่อของศิลปินชาวอังกฤษกระแส Pre-Raphaelite
 ชื่อ William Holman Hunt (1827-1910). กระแสนี้ต้องการเน้นว่า ควรมองและอ่านโลกให้เหมือนการอ่านระบบภาพ  หน้าที่ของจิตรกรคือเปิดเผยความสอดคล้องระหว่างภาพลักษณ์กับความเป็นจริง. Hunt เน้นและทุ่มเทจิตวิญญาณบรรจงลงรายละเอียดยิบของโลกธรรมชาติ เป็นความทุ่มเททั้งกายและใจประดุจผู้ใฝ่แสวงหาศาสนาด้วยความเชื่อและศรัทธาอย่างหมดจิตหมดใจ นอกขอบเขตของตรรกะและเหตุผล. ผลงานจิตรกรรมของเขาไม่ประสบความสำเร็จนัก ยกเว้นภาพ “แสงสว่างของโลก” ดังกล่าวที่เขาเริ่มสเก็ตช์ภาพตั้งแต่ปี 1851 ใช้เวลาเนรมิตอยู่นานกว่าจะตัดสินใจประกอบภาพจิตรกรรมของเขาในปี 1853. เขาเริ่มภาพนี้ตั้งแต่อายุ 21 แต่กว่าจะเสร็จสมบูรณ์สมดังใจจิตรกรเมื่อเขาอายุ 29 เขาไม่รีบร้อนเพราะต้องการให้ภาพมีแสงสว่างตามที่ต้องการ ขนาดนำภาพติดตัวไปแต่งเติมแสงสียามอาทิตย์ตกดินนอกเมือง Bethleham ในแดนปาเลสตายน์.
ภาพข้างบน จิตรกรถ่ายทอดเนื้อหาจากคัมภีร์มาสองตอนอย่างเฉพาะเจาะจง ตอนที่หนึ่งคือ << I am the Light of the World; he who follows Me will not walk in darkness, but will have the Light of life >>. (St John Gospel 8.12) ข้าคือแสงสว่างของโลก ใครที่ตามข้ามา จะไม่เดินในความมืด แต่จะมีชีวิตในความสุกสว่างนิรันดร. ตอนที่สองคือ << Behold I stand at the door and knock. If any man hear my voice and open the door I will come in to him and will sup with him and he with me.>>  (Revelation 3.20) ดูสิ ข้ายืนเคาะประตูอยู่ ใครที่ได้ยินเสียงข้าและเปิดประตู ข้าจะเข้าไปหาเขาและร่วมโต๊ะกินอาหารกับเขาและเขากับข้า. มีนักวิจารณ์ศิลป์พูดถึงภาพนี้กันหลายคน จะหาอ่านหรือฟังได้จากในเน็ต ข้าพเจ้าอยากนำมาเป็นแง่คิดสำหรับเราไม่ว่าจะนับถือศานาใดหรือไม่มีศาสนาว่า ความรู้ แสงสว่างหรือธรรมะ เข้าไปในใจคนไม่ได้ถ้าคนนั้นไม่เปิดใจรับ การเรียนหรือการรับรู้อะไรก็ตาม ผู้นั้นต้องเปิดรับจากภายใน เหมือนแขกจะเปิดประตูเข้าบ้านคนอื่นไม่ได้ เจ้าของบ้านต้องเปิดรับแขกจากข้างในเอง. ผู้สอนไม่อาจเปิดเข้าไปบอก เพราะจะพร่ำสอนอย่างไรเพียงใดก็ไม่บังเกิดประโยชน์อันใด หากใจคนนั้นไม่ใฝ่รู้เอง. การเปิดใจรับเหมือนการปลดปล่อยความถือดี ความหยิ่งผยองของตน วางอัตตาลง แล้วน้อมรับด้วยความถ่อมตน. ความสว่างหรือปัญญาย่อมซึมซับเข้าสู่ใจสู่สติปัญญาของเขา. รายละเอียดที่ Hunt ถ่ายทอดความคิดนี้ปรากฏชัดเจน เช่นประตูไม่มีลูกบิดหรือที่จับแบบใด เท้าของพระเยซูเบนออกจากประตู มิได้หันเข้าสู่ทางประตูเหมือนกำลังเดินออกจากประตูนั้น เพราะเคาะแล้วไม่มีใครเปิด. แสงสว่างส่องประกายอยู่สองจุด คือรอบศีรษะของพระคริสต์ในความหมายของแสงสว่างนิรันดรจากความรักของพระเจ้า และตะเกียงในมือเป็นแสงส่องทางบนโลก ส่องให้เห็นสิ่งสกปรก ให้เห็นกอไม้ที่แห้งๆ ผลไม้เน่าๆ หรือดอกไม้เหี่ยวๆบนพื้น ส่องทะลุความมืดนำให้เห็นทางที่ควรเดินไป.
     Hunt ได้วาดภาพเดียวกันนี้ขึ้นอีกหนึ่งภาพในราวปี 1900 เมื่อเขามีอายุ 70 เป็นภาพขนาดใหญ่กว่าภาพที่อยู่ที่ Keble College  นักวิจารณ์ศิลป์บอกว่า ความละเอียดของภาพหลังนี้สู้ในภาพแรกไม่ได้. ภาพหลังนี้ได้เดินทางไปโชว์ในหลายประเทศทั้งในยุโรป แคนาดา แอฟริกาใต้ นิวซีแลนด์และออสเตรเลีย (นั่นคือประเทศในเครือจักรภพ). พูดกันว่า จิตรกรรมนี้เป็นบทเทศน์ที่เข้าถึงจิตสำนึกได้ดีกว่าการอ่านคำสอนในคัมภีร์. เป็นที่รู้จักกันดีในวงจิตรกรรม และทำให้ Hunt มีชื่อเสียง. ปัจจุบันภาพใหญ่เวอชั่นนี้ ไปประดับอยู่ที่ St Paul’s Cathedral กรุงลอนดอน.  
     ข้าพเจ้าชื่นชอบจิตรกรรมตะวันตกตั้งแต่ยุคกลางเป็นต้นมา ซึ่งเริ่มจากการเป็นจิตรกรรมศาสนา ภาพฝีมือชั้นครูเข้าถึงจิตสำนึกของผู้ดูได้ลึกซึ้ง เพราะการประกอบภาพมีรายละเอียดที่สะดุดสายตา เกิดคำถามในใจว่า ทำไมมีนี่ นั่น โน่นในภาพ มันหมายถึงอะไร. เหมือนวรรณกรรมที่นักเขียนเลือกใช้คำที่เขาคิดว่าตรงที่สุดในแต่ละบริบท แทรกบทอุปมาอุปมัย ดึงจินตนาการและจิตสำนึกของผู้อ่านไปกว้าง ไกลและลึก. ความแตกต่างของเนื้อหาจริงๆแล้วไม่มีอะไรใหม่นักในโลกนี้ เพราะชีวิตคนวนเวียนอยู่ในวัฏจักรเหมือนๆกันทั้งสิ้น ความแตกต่างอยู่ที่วิธีการนำเสนอ วิธีการตรึงจิตใจผู้อ่านผู้ดู สร้างอรรถรสที่ไม่เหมือนกัน ความประทับใจเจาะทะลุกิริยาผิวเผินของการอ่านหรือการดูภาพ เช่นนี้สารที่ผู้เขียนหรือจิตรกรต้องการสื่อ จึงฝังลึกลงสู่จิตสำนึกจิตวิญญาณ. เมื่อคนอ่านหรือคนดูต้องใช้เวลาย่อยสารที่อยู่ตรงหน้า โอกาสที่สารนั้นจะตกผลึกในใจจึงสูงกว่าและฝังลึกลงมากกว่า. การได้ฝึกดูภาพจิตรกรรมแบบนี้ มีส่วนช่วยพัฒนาวิธีการพูด การเขียนและการถ่ายทอดสารให้แก่ข้าพเจ้า. ระบบการเปรียบเทียบในคริสตศิลป์ เป็นแบบฝึกหัดที่ดีมาก เป็นฐานพัฒนาความคิดและการแสดงออกในระบบการศึกษาตะวันตก. สำหรับข้าพเจ้า แน่นอนไม่เกี่ยวกับความเชื่อหรือศรัทธาในคริสต์ศาสนา เป็นการศึกษา“ตามเนื้อผ้า”.
     คุยกับอาจารย์ชาวอังกฤษถึงภาพนี้ และข้าพเจ้าก็เลยแทรกความคิดเห็นเชิงพุทธว่า ชาวคริสต์ย้ำกันมาเสมอ คริสต์ศิลป์ก็เจาะจงอย่างไม่ลดละว่า พระเจ้าเป็นทั้ง alpha-อัลฟ่า (A หรือ α) และ omega-โอเมก้า หรือ ω) นั่นคือเป็นจุดเริ่มต้นและจุดจบ (ใช้อักษรตัวแรกและตัวสุดท้ายในระบบอักษรกรีก). ข้าพเจ้าคิดในฐานะชาวพุทธ ว่าแต่ละคนเป็นทั้งจุดเริ่มต้นและจุดจบของตัวเอง การกระทำของเราเป็นผู้กำหนดชีวิตของเราเอง บุญบาปที่เราทำกำหนดการเวียนว่ายตายเกิด เจาะจงชาติภพของตัวเราเอง. เขาฟังอย่างครุ่นคิดและจากกันไป.
     ยุคสมัยเปลี่ยนไป การที่มหาวิทยาลัยจะยืนหยัดจรรโลงอุดมการณ์และพันธกิจในฐานะผู้ปลูกฝังสติปัญญาของชาติให้อยู่ในระดับสูง ต้องรู้จักบริหารทรัพยากรบุคคลและเงินงบประมาณของแต่ละมหาวิทยาลัยแต่ละสถาบัน. College ต่างๆเปิดให้เช่าสถานที่ในบางโอกาส โดยเฉพาะวัดของแต่ละ college ให้เช่าจัดงานแต่งงานเป็นต้น ดังภาพนี้ 
 ใน Chapel of Keble College
ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ คือการจัดคณะนักร้อง Choir ในแต่ละ college นักศึกษาเสียงดีๆเข้าสมัครคัดเลือกเป็นนักร้องประจำในวัด (เขาอาจไม่นับถือศาสนาคริสต์ไม่ว่านิกายใดก็ได้ แต่รักดนตรีรักการร้องเพลง) ดังนั้นวัดจึงเป็นศูนย์การแสดงดนตรีด้วย (ตามหลักการ) จึงจรรโลงการร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า ควบคู่กับการอ่านคัมภีร์ตอนสั้นๆและหัวหน้าพระนักบวชก็เทศนานำเหตุการณ์ปัจจุบันมาวิเคราะห์และโยงไปถึงคุณธรรมอย่างหนึ่งเป็นต้น. ในที่สุดโดยปริยาย เหมือนมีการแข่งดนตรีในหมู่ colleges ด้วย. ชาวเมืองเข้าไปฟังดนตรีและฟังเทศน์ได้ ปัจจุบันอาจเป็นโอกาสเดียวที่คนทั่วไป ได้เข้าไปชม chapel.

 ในวาระสำคัญๆ มีการแสดงดนตรีด้วยวงดนตรีขนาดใหญ่ ดังภาพบนนี้
ก่อนปิดภาค ยังมีการรวมกลุ่มร้องเพลงริมฝั่งแม่น้ำ Cam ด้วย
เพราะความอยากเข้าฟังเพลงฟรีๆแบบนี้ ทำให้ไปเข้าร่วมครั้งหนึ่งใน chapel ของ Trinity College, Cambridge. วันนั้น เดินผ่านหน้า Trinity College เห็นผู้คนเข้าออกพลุกพล่านผิดปกติ เอ? เขาปิดไม่รับนักท่องเที่ยวนี่นะ ทำไม่รู้ไม่ชี้เดินเข้าไป ไม่พูดอะไร เจ้าหน้าที่เห็นหน้าจีนๆ คงขี้เกียจชี้แจง เสียเวลาสื่อสารกันนานกว่าจะเข้าใจกัน จึงปล่อยให้เข้าไป ปรากฏว่า วันนั้นเป็นวันสอบเสร็จวันสุดท้ายของปีการศึกษา คณะนักร้องขึ้นไปร้องเพลงบนหอคอยสูง ได้ความว่าปีละครั้งเท่านั้น เจ้าหน้าที่บอกห้ามถ่ายรูป แต่ผู้คนยกมือถือขึ้นบันทึกภาพไม่ขาดสาย ห้ามไม่ไหวหรอก ข้าพเจ้าจึงมีรูปมาใบสองใบ เจียมตัวมิได้เข้าไปยืนใต้หอคอย ซึ่งน่าจะเป็นที่รวมของนักศึกษา จึงยืนห่างๆถ่ายจากขอบสนามไกลออกไปมาก

การแสดงสั้นๆไม่เกินครึ่งชั่วโมง เอิกเกริกมากกว่าโดดเด่น เพราะลมพัดแรงมาก. ออกมานอกประตูเห็นป้ายบอกว่า มี choral evening songs ตอนหกโมงเย็น เปิดให้เข้าตั้งแต่ห้าโมงครึ่ง. ตั้งใจว่าครั้งนี้แหละจะได้ฟังเพลงประสานเสียง ไพเราะเสนาะหูเต็มที่. เดินกลับไปพักที่โรงแรม พอใกล้ห้าโมงครึ่งเดินออกมาเข้าเมืองอีกครั้ง ไปถึงหน้าวัดเกือบหกโมงแล้ว เดินตามคนอื่นๆสี่ห้าคน ท่าทางเป็นชาวเมืองเคมบริดจ์เอง พวกเขาหยิบเอกสารที่วางอยู่ ข้าพเจ้าก็หยิบตาม แป๊บเดียวหายเข้าไปในวัด เหลือข้าพเจ้าคนเดียวเดินเข้าไป.
 ผ่านประตูที่เห็นในภาพข้างบนนี้ เข้าสู่ลำตัววัด
แต่คนนั่งเต็มกันหมด ชักตกประหม่า ทุกคนมองมาที่ข้าพเจ้า น่าจะเป็นคนแปลกหน้าแถมคนเอเชียคนเดียว. ภายหลังกวาดสายตาดูหน้าคนอื่นๆ เดาได้ว่าเป็นชาวเมืองเคมบริดจ์เองทั้งนั้น. วันนั้น ไม่ได้คาดคิดล่วงหน้าเลยว่า จะต้องเข้าร่วมพิธีสวดด้วย อยากไปฟังนักร้องประสานเสียงเท่านั้น แต่เพราะวัดในมหาวิทยาลัยไม่มีพื้นที่มากนัก ใครเข้าไปในวัด ก็คือไปร่วมพิธี ต้องเข้าไปรวมอยู่ในหมู่พระนักบวชและคณะนักร้องประสานเสียงเลย. ทำไงได้ จะเดินออกหรือ ยิ่งเสียมารยาท. ข้าพเจ้ารีบเดินไปเข้ามุมใกล้ประตู และเห็นว่าที่นั่งแถวนั้นมีป้ายบอกว่า จองแล้ว ถามผู้หญิงคนหนึ่งว่า ไปนั่งตรงไหนได้ เขาตอบว่าต้องไปข้างหน้าๆโน่น. อดแปลกใจไม่ได้ เพราะใกล้แท่นบูชาเข้าไป น่าจะเป็นพื้นที่อภิสิทธิ์ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร เดินไปนั่งที่ว่างแถวหน้า. คนมาทีหลังคนอื่นๆ มีคนชี้ให้มานั่งแถวเดียวกับที่ข้าพเจ้านั่งอยู่. พระผู้ใหญ่ผู้นำพิธีและคณะนักร้องกับผู้ที่เป็นขาประจำของวัด จะนั่งรวมกันบนที่นั่งใกล้ประตู คนสำคัญน้อยนั่งลึกเข้าไปใกล้แท่นบูชา. 
 การจัดพื้นที่ภายในเป็นดั่งภาพที่นำมาให้ดูข้างบน จากเพจของ Trinity College
วันนั้นจึงได้ร่วมพิธี evening service เต็มทุกนาทีตั้งแต่ต้นจนจบ. ข้าพเจ้าเบิกตาอ่านข้อความทุกบททุกตอน แปลกใจตัวเองว่า เห็นตัวอักษรชัดเจนโดยไม่สวมแว่นใดๆ, ลุกขึ้นยืนร้องเพลงเมื่อถึงเวลา, คุกเข่าลงสวดตามเมื่อถึงจังหวะ, หยุดฟังคณะนักร้องโดยมองตามเนื้อหาที่เขาร้องกัน. พิธีทุกขั้นตอนได้เขียนไว้ทั้งหมดในเอกสารที่ทุกคนหยิบติดมือก่อนเดินเข้าสู่ลำตัววัด(ยกเว้นเนื้อหาที่พระเทศน์เท่านั้น ต้องฟังเอา). วันนั้นได้ร้องเพลงสวดจริง ทุกคนร้องกัน เสียงดังกระหึ่ม โล่งใจมากที่ข้าพเจ้าแค่อ่านตามเนื้อเพลงเป็นภาษาอังกฤษ ทำปากขมุบขมิบไปตามตัวอักษร ดนตรีกับเสียงคนอื่นๆช่วยพาให้ร้องตามได้ราวกับรู้ทำนองทั้งหมด ไม่หยุดผิดจังหวะซะด้วย. แน่นอนแถวผู้นั่งตรงหน้าและคนข้างๆข้าพเจ้า แอบสังเกตกิริยาท่าทางข้าพเจ้าอยู่.
     วันนั้นพระเทศน์เรื่องการทำบุญให้ทาน ยกตัวอย่างนักบุญมาร์ตินที่ตัดเสื้อคลุมของเขาครึ่งหนึ่ง มอบให้คนเปล่าเปลือย และโยงต่อไปถึงพระเยซูคริสต์ ย้ำมิให้ลืมว่า มนุษยชาติได้รับการห่มปกปิดร่างเปลือย จากพระคริสต์ตัวเปล่า (เกือบ)เปลือยเช่นกัน เป็นการมอบร่างทั้งร่างเพื่อปกปิดร่างของมนุษยชาติ (ปกคลุมให้พ้นจากบาป). พระท่านเสริมต่อไปอีกว่า พระองค์มิได้ให้เพียงครึ่งตัวของพระองค์แต่ทั้งตัวเต็มตัวด้วยความรักต่อมนุษย์ พร้อมกับย้ำว่า เดี๋ยวนี้การให้เพียงครึ่งหนึ่งนั้น ไม่เพียงพอเสียแล้ว ไม่ว่าในกิจกรรมใด ทำอะไร ต้องทุ่มกายทุ่มใจทั้งหมด ผลดีก็จะตามมาฯลฯ. ข้าพเจ้าหยิบปากกาจดคำพูดและคำสำคัญบางคำไว้เพื่อกันลืม. พิธีวันนั้นประมาณหนึ่งชั่วโมง จบพิธี มีบริการเครื่องดื่ม. ข้าพเจ้าเดินออกมาจากวัดอย่างเงียบๆ.
     วันนั้นนำกล้องถ่ายรูปไป หวังจะถ่ายรูปสวยๆของวัด และโดยเฉพาะรูปปั้นของคนดังๆในอดีตที่เคยศึกษาและพำนักอยู่ที่ Trinity College เช่น Sir Isaac Newton, Francis Bacon, Lord Alfred Tennyson เป็นต้น แต่สถานการณ์ไม่อำนวย ไม่กล้าหยิบกล้องออกจากกระเป๋าเลย. ข้าพเจ้ามิได้คาดคิดล่วงหน้าว่า การไปฟัง Choral evening songs คือการเข้าร่วมพิธีสวดภาคเย็นและร่วมสวดร่วมร้องเพลงกับคณะนักร้อง Choir of Trinity College, Cambridge  จึงเป็นประสบการณ์ที่คงไม่ลืมเลือนไปได้ง่ายๆ.

บันทึกการเดินทางไปอังกฤษของโชติรส โกวิทวัฒนพงศ์
บันทึกลงบล็อกไว้ ณ วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๐.



No comments:

Post a Comment