ในเทพปกรณัมกรีก
มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์ที่มีชีวิต
ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ทำงานเฉพาะกิจหนึ่ง เช่นป้องกันเมือง (cf.Rhodes) หรือยักษ์กล Talos ที่ถูกส่งไปปกป้องเกาะครีต(Crete). ในมหากาพย์อิลเลียด(Iliad) โฮเมอร์เล่าถึง Hephaestos [เฮ็บฟาสเติส] ผู้เป็นเทพแห่งไฟและเจ้าของศาสตร์การหลอมโลหะและการหล่อรูปปั้นโลหะ
ว่าเขาเป็นผู้ทำอาวุธสำหรับทวยเทพแห่งเขาโอลิมปัส. เขาประดิษฐ์อะไรต่ออะไรหลายอย่าง รวมถึงสร้างมนุษย์กล(automaton)จากทองคำเพื่อรับใช้เขา. หากขยายความคิดเรื่องหุ่นที่ทำหน้าที่แทนเทพ ออกไปกว้างกว่านี้ เรื่องราวของ Pygmalion
ผู้บรรจงปั้นหุ่นผู้หญิงสาวสวยจนเขาเองหลงรักรูปปั้นนั้น
และทุกข์ระทมยิ่งนักที่เป็นสิ่งไม่มีชีวิต ทำให้เทวีแห่งความรัก (Aphrodite) สงสารและบันดาลให้รูปปั้นนั้นมีชีวิตเพื่อเขา (ที่ดลใจคนยุคปัจจุบัน
สร้างหุ่นผู้หญิงเพื่อเป็นเพื่อนนอน เป็นคู่นอน).
ความคิดจากจักรวาลวิทยาในโลกโบราณ อาจดลใจให้
Karel Čapek นักเขียนชาวเช็ค (Czech, 1890-1938) สร้างคำ robota ในภาษาเช็คที่มีความหมายว่า
“แรงงานที่ถูกบังคับ”(forced labour) ความหมายของคำจึงสอดคล้องกับ“สิ่งมีชีวิต”ที่เทพเจ้าในตำนานสร้างขึ้นเพื่อให้ทำงานตามที่เทพเจ้าสั่ง.
Robota มาเป็นคำ robot ที่เราใช้กันในทุกวันนี้. Karel
Čapek ใช้คำ robota แต่งบทละครเรื่อง Rossum’s Universal Robots
(หรือใช้คำย่อว่า R.U.R.) ในปี 1920 คำ robota
จึงปรากฏใช้เป็นครั้งแรกในโลกเราในบทละครเรื่องนี้.
robota ในเรื่องคือ มนุษย์สังเคราะห์ (synthetic people) เป็นตัวโคลนที่สร้างขึ้นลอกเลียนระบบชีวะเคมีของคน มนุษย์สังเคราะห์เหล่านี้
ทำงานในโรงงานแทนคนโดยไม่หยุด. (ยุคนั้น ในภาษาไทยยังไม่มีคำว่าหุ่นยนต์
ใช้). robota/robot จึงคือ แรงงานที่ถูกบังคับ. (endnote1)
ส่วนคำว่า “automaton” มาจากรากศัพท์กรีก autos = เอง ตัวเอง, automatos= ทำได้เอง, จากคำกรีกมาเป็นคำละตินเมื่อต้นศตวรรษที่17 ว่า automaton ในความหมายของ“การเคลื่อนไหวได้เอง”. ในปัจจุบันใช้คำนี้เป็นคำสามัญเรียกหุ่นกลหรือเครื่องกลอัตโนมัติต่างๆ. นัยดังกล่าวตรงกับคำจำกัดความของสิ่งมีชีวิตที่อริสโตเติลให้ไว้ว่า
คือ“สิ่งที่เคลื่อนไหวได้ด้วยตัวเองตามความต้องการ”. คนได้ยืมอัตลักษณ์ของสิ่งมีชีวิตซึ่งคือการเคลื่อนไหวเองได้
มาใช้กับเครื่องกลจักรที่ไม่มีชีวิตแต่(ถูกสร้างให้)เคลื่อนไหวได้. Heron แห่งเมืองอเล็กซานเดรีย ในต้นคริสตกาลได้เจาะจงสิ่งประดิษฐ์หรืออุปกรณ์ของเขาว่าเป็น
automata (พหูพจน์ของคำ automaton) แบบต่างๆ (ดูประดิษฐกรรมของเขาในบทที่หนึ่งตั้งแต่เรื่องนาฬิกาน้ำ).
อีกคำหนึ่งที่ใช้กันในบริบทนี้คือ android
[แอ๊น-ดรอย] ที่มาจากรากศัพท์กรีก andr- “คน” เติม -eides
รากศัพท์ที่แปลว่า รูปร่าง มาเป็นคำกรีก androdes แปลว่า “เหมือนคน” แล้วมาเป็นคำละติน androids และเป็นคำ android ใช้ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่18
ในความหมายของ “หุ่นคน”.
ในบทนี้ เราจะใช้คำ หุ่นกล
หรือบางที เครื่องกล ในความหมายของ automaton เพื่อแยกให้เห็นความแตกต่างพื้นฐานระหว่าง
automaton กับ robot(หุ่นยนต์ในความหมายที่รู้จักและเข้าใจกันในปัจจุบัน). หุ่นกลทำอะไรตามที่คนใส่โปรแกรมให้ทำเท่านั้น เดินด้วยระบบนาฬิกา(ฟันเฟือง)
ไม่มีความคิด ไม่อาจแปลงข้อมูลที่อยู่ในตัวมันให้เป็นข้อมูลอื่นหรือข้อมูลใหม่ได้
ทำซ้ำๆเท่าที่โปรแกรมกำหนดให้มันเท่านั้น. ในบทนี้ เราจะพูดถึงวิวัฒนาการของหุ่นกลเป็นสำคัญ ส่วนเรื่องหุ่นยนต์นั้น จะอยู่ในบทที่สามต่อไป.
จากจุดเริ่มต้นในอดีตกาลอันไกลโพ้น
มนุษย์ได้แกะรอยระบบดวงดาวในท้องฟ้า ด้วยความปรารถนาอยากรู้อยากเข้าใจ
ได้คิดสร้างเครื่องมือ เนรมิตกลไกทุกชนิดทุกประเภทที่มีความซับซ้อน
ความถูกต้องกับมีประสิทธิภาพมากขึ้นๆ เพื่อเจาะความลึกลับของท้องฟ้ายามราตรี. การสำรวจอวกาศในยุคปัจจุบันขยายออกไปรวมวิทยาศาสตร์อีกหลายแขนง
นำความรู้ใหม่ๆมาเป็นมรดกแก่มนุษยชาติ.
ความซับซ้อนของสิ่งประดิษฐ์ทางดาราศาสตร์ (เช่น astrolabe) สะท้อนความรู้เชิงทฤษฎีและความเชี่ยวชาญด้านกลไก.
จนถึงยุศตวรรษที่17 ศิลปินและช่างฝีมือทั้งหลายเกือบทุกแขนง ทำงานให้กับองค์การศาสนาและชนชั้นสูง
เป็นสองสถาบันที่มีอำนาจเงินพอที่จะสั่งทำอะไรต่ออะไรได้.
ต่อมาการค้ากับการเดินเรือและการพบทวีปใหม่
ดินแดนใหม่ สินค้าใหม่ๆ ทำให้เกิดชนชั้นคหบดีที่ร่ำรวยมากขึ้นๆ
จนเกินหน้าชนชั้นสูง ทำให้ชนชั้นกลางผู้ร่ำรวยกลายเป็นลูกค้ารายใหม่ของศิลปินและนายช่างฝีมือทั้งหลาย
เป็นชนชั้นที่กำลังซื้อมาก และที่สำคัญเป็นชนชั้นที่ต้องการสร้างภาพพจน์ให้ตนเอง
ต้องการยกระดับตนเองให้สูงสุด สูงเท่าหรือสูงกว่าชนชั้นผู้ดีเก่า.
ตั้งแต่ยุคเรอแนสซ็องส์เป็นต้นมา เงินคือพระเจ้า เพราะเนรมิตได้ทุกอย่าง
เร็วกว่า สะดวกกว่าการรอคอยจากพระเจ้าเบื้องบน. นอกจากคหบดีผู้มั่งคั่ง
ยังมีชนชั้นปัญญาชน(scholars)ที่มีความรู้และความกระตือรืนร้นใฝ่รู้สรรพวิชา
เป็นนักคิด นักวิจัย นักโบราณคดี นักสะสม นักเขียนฯลฯ.
ประดิษฐกรรมสมัยนั้นเช่น เครื่องมือดาราศาสตร์กลายเป็นสัญลักษณ์ของจิตสำนึกของชนชั้นใหม่
และสะท้อนความเป็น gentleman (ผู้ดี
ผู้คงแก่เรียนที่มีจิตสำนึกละเอียดประณีตและลุ่มลึก). ในอังกฤษระหว่างปี 1750-1875 มีผู้เจาะจงเป็นสมการไว้เลยว่า ผู้ใดเป็นเจ้าของท้องฟ้าจำลอง(orrery)แบบใดแบบหนึ่ง ผู้นั้นเป็นผู้ดี(noble) เป็นผู้ที่น่านับถือ.
นาฬิกาที่เราใช้กันทุกวันนี้
จึงมาจากนาฬิกาดาราศาสตร์ที่ย่อส่วนลง หน้าปัดนาฬิกาคือด้านหน้าของเครื่องมือดาราศาสตร์ (astrolabe). นาฬิกาจึงคือท้องฟ้าจำลอง. นาฬิกาเป็นเครื่องกล(automaton)แบบแรก มีใบหน้าและมีแขน. ไขลานแล้วมันก็เดินมันเอง… (ทุกวันนี้ ยังมีหลายคนที่ชอบนาฬิกาไขลาน
ติดใจการที่ต้องไขลานทุกยี่สิบสี่ชั่วโมง. การไขลานนาฬิกา ให้ความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของเวลา. บางคนเช่นชาวอังกฤษรุ่นปู่รุ่นพ่อ
ชอบการที่มือสัมผัสปุ่มไขลาน หมุนไปๆ ให้ความรู้สึกดีว่างั้น). GPS ชี้บอกพื้นที่ นาฬิกาคือ GPS ของเวลา.
ต้นศตวรรษที่14 ช่างประดิษฐ์นาฬิกาเป็นผู้สร้างทั้งนาฬิกาและเครื่องมือดาราศาสตร์รุ่นแรกๆของโลก เพราะระบบเฟืองในนาฬิกาสะท้อนปรากฏการณ์ที่สม่ำเสมอของดวงดาวในท้องฟ้าณวันเวลาหนึ่งและตำแหน่งหนึ่ง
จากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่งต่อเนื่องกันไป. ยุคนั้นเครื่องกลไกที่ทำขึ้นเป็นผลิตผลของศรัทธาในศาสนา ด้วยความมั่นใจว่า
หากเขาสามารถจำลองรูปแบบจักรวาลของพระเจ้า
เท่ากับเขามีโอกาสเข้าใกล้พระเจ้ามากขึ้นด้วย.
การประดิษฐ์อะไรได้สำเร็จคือการสรรเสริญพระเจ้า(เพราะพระเจ้าดลใจให้ค้นพบวิธีทำ)
และกระชับศรัทธายิ่งขึ้นในจิตใจคน. อย่างไรก็ตาม
งานประดิษฐ์ทั้งหลายค่อยๆขยายออกพ้นกรอบศาสนาไปสู่ชนชั้นสูงเป็นรายบุคคลด้วย.
ประดิษฐกรรมและเครื่องมือกลไกที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในที่สุดได้ไปจุดไฟแห่งอำนาจของคนบนพื้นโลก.
วัดวิหารสั่งทำนาฬิกาเครื่องกลก่อนผู้ใด นาฬิกาของวัดเรียกให้คนเข้าวัด
ทั้งยังกำหนดวันนักบุญ วันพิธีกรรมต่างๆในศาสนา
รวมถึงการคาดคะเนข้างขึ้นข้างแรมของดวงจันทร์กับการเคลื่อนไหวในจักรวาลหรือในท้องฟ้า.
เพราะฉะนั้น นาฬิกาจึงมิใช่เป็นเครื่องมือบอกเวลาเท่านั้น
แต่ให้ความรู้สึกของการเป็นเจ้าของเวลา ของพื้นที่. การรู้จักควบคุมและใช้เวลา ทำให้องค์การศาสนา มีสื่อและเครื่องมือที่มีอำนาจเด็ดขาด.
เวลาเป็นเหมือนสิ่งที่จับต้องได้ เห็นได้(เช่นเห็นตัวเรือน
เห็นระบบเฟือง) และในที่สุดทำให้ศาสนากลายเป็นเจ้าเหนือหัวของศาสนิกชนทั้งหลายด้วย.
นาฬิกาจึงเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและความมั่งคั่ง.
เราได้เห็นในบทก่อนแล้วว่า
เฮรอนแห่งเมืองอเล็กซานเดรียได้สร้างเครื่องกลไกอัตโนมัติหลายชนิด
เริ่มจากการทำนาฬิกาน้ำและพัฒนาไปเป็นระบบท่อกาลักน้ำที่ต่อเป็นเครือข่ายโยงการเคลื่อนไหวไปเป็นพลังขับเคลื่อนส่วนประกอบของอุปกรณ์
และทำให้อุปกรณ์นั้นเดินแบบอัตโนมัติตามที่ตั้งไว้ เช่นไปทำให้นกกระพือปีก จิบน้ำ
หรือร้องเพลงอัตโนมัติด้วยน้ำ.
automaton หรือกลไกอัตโนมัติแบบแรกๆของคน จึงน่าจะเริ่มด้วยการใช้ลม
ไอน้ำและพลังความกดน้ำมาเป็นสิ่งขับเคลื่อน ดังตัวอย่างภาพวาดจากประดิษฐกรรมของเฮรอนแห่งเมืองอเล็กซานเดรีย.
มีผู้นำงานประดิษฐ์ของเฮรอน
ลงในหนังสือภาษาอังกฤษ Pneumatica ฉบับปี 1851 อธิบายเครื่องกลที่ทำงานด้วยลม
ไอน้ำหรือความกดน้ำ
ระบบท่อกาลักน้ำเป็นสิ่งล่อใจผู้สร้างเครื่องกลอัตโนมัติมาก
เพราะมันทำให้น้ำไหลขึ้นสู่ที่สูงได้ ตามที่ปราชญ์อริสโตเติลกล่าวไว้ว่า สิ่งมีชีวิตเคลื่อนไปมาได้ตามความต้องการของมัน
สิ่งไม่มีชีวิตเคลื่อนที่ไปตามธรรมชาติของมัน ของหนักที่ประกอบด้วยดินหรือน้ำ
ย่อมลงไปสู่ที่ต่ำ ของเบาๆที่ประกอบด้วยอากาศหรือไฟ ย่อมขึ้นสู่ที่สูง. ท่อกาลักน้ำทำให้น้ำไหลขึ้นสูงได้ จึงเหมือนขัดกับหลักการของอริสโตเติล
และการไหลขึ้นของมันก็เป็นช่วงๆ จึงสร้างมายาสำนึกว่านั่นเป็นความปฏิกิริยาที่มีจิตเป็นผู้ควบคุม. การไหลของน้ำเมื่อจัดให้มันไหลผ่านคันโยก
ลูกรอก ท่อหรือเครื่องมืออื่นๆ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว
ที่คือพลังขับเคลื่อนที่นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ตามต้องการได้.
ตัวอย่างหนึ่งจากปลายศตวรรษที่ 12 ของนักประดิษฐ์ชาวอาหรับชื่อ Al-Jazari ผู้ประดิษฐ์น้ำพุนกยูงสำหรับล้างมือ
ระบบน้ำไหลของเขาไปดันให้หุ่นยื่นจานใส่ผงสบู่หอมให้ผู้ล้าง
และเมื่อล้างมือเสร็จแล้ว ก็ยื่นผ้าเช็ดมือให้. (วิศวกรคนสำคัญในโลกอาหรับ
เป็นผู้สร้างนาฬิกาช้างด้วยระบบนาฬิกาน้ำ ดังได้เล่าไว้ในตอนที่หนึ่งบทที่หนึ่ง)
ภาพจากหนังสือพิมพ์ในศตวรรษที่
14 รวมประดิษฐกรรมของ Al-Jazari ในหนังสือชื่อ Book
of Knowledge of Ingenious Mechanical Devices.
ภาพเครื่องกลไกแบบต่างๆที่ปรากฏในหนังสือของเขา
เป็นสิ่งบันดาลใจให้คนรุ่นหลังต่อมา
กลไกอัตโนมัติที่ใช้พลังน้ำกลายเป็นสิ่งสามัญในพระราชวังและคฤหาสน์ทั้งหลาย
เช่นในปลายศตวรรษที่ 13 มีบันทึกเกี่ยวกับปราสาท
Le château d'Hesdin ([เลอชาโต้ เด๊ซแด็ง]
แถบ Artois ทางเหนือของประเทศฝรั่งเศส ปราสาทนี้ถูกทำลายไปในปี1553) ว่ามีลิงกล ช้างกล แพะกล
มีเครื่องฉีดน้ำอัตโนมัติ(ที่ซ่อนไว้) หากใครเดินไปเหยียบพื้นตรงจุดหนึ่ง
น้ำพุ่งออกมาทำให้คนนั้นเปียกปอน หรือเครื่องกลหนึ่งที่เมื่อใครไปจับที่ปุ่มหนึ่ง
จะมีผงแป้งสีขาวผสมผงฝุ่นถ่านสีดำพ่นลงบนตัวคนนั้น
และยังมีเครื่องกลแบบนี้อีกมากที่นั่น. นี่เป็นหลักฐานยืนยันว่า
ระบบกลไกอัตโนมัตินั้นมีมานานแล้วและเป็นองค์ประกอบหนึ่งของปราสาท คฤหาสน์
วิลลาทั้งหลาย เป็นความสนุกสนานบันเทิงใจของผู้ดีมีเงินในยุคนั้น ซึ่งต่างต้องการอวดและแข่งขันว่า
ใครเป็นเจ้าของเครื่องเล่นกลไกแบบพิสดารที่สุด. ในบันทึกเดินทางข้ามยุโรปของ Michel
de Montaigne [มิเช็ล เดอ มงแตญ] นักปราชญ์ฝรั่งเศสในระหว่างปี 1580-81 ก็ยังพูดถึงเครื่องเล่นกลไกน้ำเหล่านี้ที่ได้เห็นตามที่ต่างๆ(จนเขาเบื่อ).
ยี่สิบปีต่อมากษัตริย์ฝรั่งเศสพระเจ้าเฮนรีที่สี่ได้ขอให้วิศวกรอิตาเลียน Tomaso
Francini สร้างระบบกลไกเล่นน้ำสำหรับพระราชวังที่ Saint-Germain-en-Laye [แซ็งแจรฺแม็งอ็องแล]. Francini
ได้สร้างถ้ำประดับด้วยหุ่นจากเทพตำนานกรีก เช่นเรื่องของ Orpheus,
เรื่อง Perseus กับ Andromeda
รวมทั้งหุ่นอาชีพต่างๆที่คือตัวฉีดน้ำเมื่อคนเผลอ.
เป็นระบบกลไกเล่นน้ำพุขนาดใหญ่ที่สุดที่มีในฝรั่งเศส. น่าเสียดายว่าไม่มีเอกสารตกทอดมาให้เห็น
เพราะเมื่อราชสำนักฝรั่งเศสย้ายไปอยู่ที่ Fontainebleau พระราชวังที่นั่นก็ทรุดโทรมลง. วิศวกรคนนี้ยังได้สร้างเครื่องกลไกเล่นน้ำพุขนาดใหญ่ๆอีกมากหลายแห่งทั้งในฝรั่งเศสและในอิตาลี.
กลไกน้ำพุที่เคยมีจำนวนมากตามวัง คฤหาสน์
วิลลาทั่วทั้งยุโรป
เสื่อมลงไปเรื่อยๆเพราะต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลเพื่อบูรณะซ่อมแซมให้เครื่องกลทั้งหลายอยู่ในสภาพดี
เช่นในอิตาลีที่มีระบบกลไกน้ำพุเล่นกลแบบนี้ในเกือบทุกสวน ถูกปล่อยทิ้ง
ตะไคร้น้ำขึ้นเต็ม ใช้การไม่ได้. แต่สวนหนึ่งที่ยังไปดูได้คือที่ Hellbrunn ปราสาทนอกเมือง Salzburg ประเทศออสเตรีย
สร้างขึ้นในระหว่างปี 1612-1615
พื้นที่ปราสาทนี้กว้างใหญ่มาก มีมุมที่เคยใช้ถ่ายทำฉากบางฉากในภาพยนต์เรื่อง The
Sound of Music. สวนน้ำที่นั่นมีระบบน้ำพุอัตโนมัติพร้อมหุ่นหลากหลายชนิดในเนื้อหาต่างๆกัน
ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ทุกผู้ทุกนาม ทุกเพศ ทุกวัย.
เป็นอัจฉริยภาพของสถาปนิกและวิศกรยุคศตวรรษที่สิบเจ็ด.
สวนน้ำพุนั้นเรียกกันที่นั่นว่า
Trick fountains. ดูข้อมูลจากที่นี่ >>
และชมตัวอย่างสั้นๆได้จากเพ็จนี้
>> https://www.salzburg.info/en/sights/top10/hellbrunn-palace-trick-fountains
ระบบน้ำพุเล่นกลแบบนี้ ราชสำนัก
เจ้าชาย ชนชั้นสูง คหบดีผู้ที่มีอิทธิพลมากในสังคมยุคนั้นและผู้ร่ำรวยมากเท่านั้น มีกำลังเงินสร้างความสนุกบันเทิงใจภายในอาณาจักรส่วนตัวของแต่ละคนและเปิดอวดเพื่อนๆในสังคมระดับเดียวกัน.
ศตวรรษที่18 ช่างกล ช่างนาฬิกาค้นพบวิธีย่อระบบเฟืองในนาฬิกาให้มีขนาดเล็กลงๆ
ทำให้นำไปใช้ในหุ่นหรือเครื่องกลแบบอื่นๆได้อย่างสะดวก
เกิดการสร้างสรรค์หุ่นอัตโนมัติขนาดเล็กรูปแบบต่างๆออกไปอย่างกว้างขวาง.
หุ่นกลทั้งหมดยังต้องไขลานเหมือนไขนาฬิกา มันจึงเดินและเคลื่อนไหว.
หุ่นอัตโนมัติแบบอื่นๆ ตัวที่สวยประณีตที่สุดที่เนรมิตขึ้นในยุโรปก็เพื่ออภิสิทธิ์ชนดังกล่าว
เป็นสมบัติสะสม เป็นความสุข ความมหัศจรรย์ในคฤหาสน์ส่วนตัว.
ทั้งหมดเป็นไปตามความสนใจ ความอยากรู้อยากเรียน เป็นการท้าทาย จนถึงการอวดปัญญาและหรือศักดาทางเทคนิคของผู้ทำและผู้เป็นเจ้าของ. ของเล่นราคาแพงแบบนี้แพร่หลายไปในหมู่ชนชั้นสูงและคหบดี. ความหลงใหลในวิทยาการใหม่ๆที่เป็นทั้งความภูมิใจและความสนุกฟุ้งเฟ้อ
เปิดช่องว่างระหว่างชนชั้น กว้างและลึกยิ่งขึ้นตลอดสองสามศตวรรษ. การปฏิวัติฝรั่งเศสคือผลที่ตามมาประการหนึ่ง ที่ได้พลิกระบอบการปกครอง
การเมืองและสังคมอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ ดังที่ทุกคนรู้กันว่ากษัตริย์
เชื่อพระวงศ์และชนชั้นผู้ดีถูกจับกิโยตินไปเสียมาก. วรรณกรรมยุคนั้นประณามชนชั้นสูงว่าเป็นหุ่นยนต์ไม่มีจิตวิญญาณ
หรือกษัตริย์หุ่นเชิด หรือกระทั่งพูดว่า สร้างกษัตริย์หรือชนชั้นสูงฝรั่งเศสหัวกลวงๆนั้น
ง่ายกว่าสร้างหุ่นยนต์ฯลฯ.
นอกจากกลุ่มอภิสิทธิ์ชนดังกล่าว เราไม่ลืมลูกค้ารายสำคัญที่เป็นลูกค้าถาวร
คือองค์การศาสนา (วัด อาราม โบสถ์) ผู้สั่งทำหุ่นกลเนื้อหาศาสนา.
ศาสนาคาทอลิกเป็นผู้เริ่มให้สร้างหุ่นกลรูปร่างคน(ตอนนั้นยังเป็นขนาดเล็ก)
เป็นหุ่นกลไขลานตัวแรกๆของโลก. เช่นหุ่นที่จำลองของพระคริสต์, หุ่นซาตานที่คำรามหรือกรีดร้อง
หรือหุ่นอื่นที่สร้างประกอบเหตุการณ์ในคัมภีร์. หุ่นกลพระเยซูบนไม้กางเขน ทำกิริยาท่าทาง พูดพึมพำ กระพริบตา กลอกลูกตาไปมา
หน้านิ่วคิ้วขมวดด้วยความเจ็บก่อนสิ้นใจบนไม้กางเขน. บางตัวมีใบหน้ายิ้มอย่างอ่อนโยนเมื่อพอใจ และเปลี่ยนเป็นดุดันเมื่อคนทำผิด.
เล่ากันมาว่า เพราะหุ่นกลพระคริสต์แบบนี้เอง ที่จูงใจให้คนจำนวนมาก
เดินทางจาริกไปดูที่ Boxley Abbey ใน Kent (UK) ในศตวรรษที่15. นอกจากหุ่นพระคริสต์ยังมีหุ่นซาตาน
ที่วัดนำออกไปตั้งให้ศาสนิกได้เห็น หุ่นหน้าตาหน้าเกลียด ทำท่าแลบลิ้น
กลอกลูกนัยน์ตา มือถือไม้เหวี่ยงไปมา ยิ่งตรึงความหวาดกลัวในหมู่ชาวบ้าน.
ดูตัวอย่างหุ่นกลนักบวชตัวนี้…
หุ่นพระนักบวช (Automaton monk บางคนเรียกสั้นๆง่ายๆว่า
Monkbot) เนรมิตขึ้นในราวปี
1560 เข้าใจว่ามาจากประเทศสเปน/เยอรมนี (เป็นยุโรปในยุคของกษัตริย์ Carlos Quinto หรือ Charles V ผู้ครองอาณาจักรสเปน อาณาจักรออสเตรียจากการสืบเชื้อสายราชวงศ์ Habsburg, the Holy Roman Empire
และยังดินแดนอื่นๆอีกในยุโรปตอนบน, ครองราชย์ระหว่างปี 1519-1556). ดูคลิปวีดีโอนี้เป็นตัวอย่าง
คุณภาพอาจไม่ดีพอ แต่เห็นได้ว่า หุ่นกลตัวแรกตัวนี้เป็นเช่นใด.
หุ่นนักบวชนี้เดินไปมาบนโต๊ะ
พร้อมกับทำปากขมุบขมิบสวดมนตร์ ยกไม้กางเขนและสร้อยลูกประคำขึ้นสูง
แล้วทุบหน้าอกตัวเองในท่าของคนสำนึกผิด. เล่ากันมาว่า เมื่อพระโอรสของพระเจ้าฟิลิปที่สอง(ชื่อ Don Carlos) ตกบันได บาดเจ็บสาหัส พระองค์ได้สวดมนต์ขอพรจากพระเจ้าให้พระโอรสหายเป็นปกติ
และเมื่อพระโอรสหายแล้ว
ได้ทรงสั่งให้สร้างหุ่นนักบวชถวายแก่วัดเพื่อเป็นเครื่องเซ่นบูชาพระเจ้า.
หุ่นนี้มีขนาดเล็กสูง 15
นิ้ว สร้างได้อย่างวิเศษ เป็นหุ่นกลแบบแรก. เป็นกลไกที่ยืนยันศรัทธาอันแก่กล้าทั้งของผู้ทำและผู้สั่งทำ.
หุ่นตัวนี้นำมาจาก National
Museum of American History, Smithsonian Institution, Washington, D.C. ออกแสดงที่นิทรรศการหุ่นยนต์ที่ลอนดอนปี 2017. หุ่นนักบวชแบบนี้วัดวิหารทั้งหลายในยุโรปยุคนั้น
(1500-1800) สั่งทำและนำออกให้ศาสนิกชนได้เห็น
สร้างความตื่นเต้นไม่รู้ลืมเลือน ประทับเป็นภาพติดตาคาใจศาสนิกชนที่ได้เห็น
ยิ่งกว่าการฟังเทศน์. สำหรับสามัญชนผู้ไม่คุ้นเคยกับเครื่องกลไกแบบใดๆมาก่อน
หุ่นกลต่างๆเหมือนปาฏิหาริย์ของพระเจ้า. หุ่นกลจึงเป็นเครื่องมือของศาสนา จับจิตวิญญาณและกระชับศรัทธาได้อย่างดี. ทำให้คาดเดาได้ว่า ศาสนามีบทบาทและอำนาจเพียงใด.
ทำจากไม้และเหล็ก เป็นงานประดิษฐ์ปี 1560s ของ Juanelo Turriano
ผู้เป็นนายช่างกลของจักรพรรดิ Carlos V
หุ่นกลอัตโนมัติอีกชุดหนึ่งที่สร้างขึ้นในปี
1700 ในฝรั่งเศส
จำลองพระเยซูบนไม้กางเขน ศีรษะที่ตกลงหมุนจากข้างหนึ่งไปอีกข้างหนึ่ง
มีการจำหลักหยดเลือดบนเนื้อไม้ให้เห็นชัดเจนด้วย. นอกจากหุ่นพระเยซู มีหุ่นจำลองรอบๆพระเยซูอีกสี่ตัว
สามตัวนิ่งเหมือนถูกตรึงในความโศกสลด ยกเว้นพระแม่มารี
มีกลไกอัตโนมัติที่ซ่อนอยู่ที่ฐาน ทำให้พระแม่
มารียื่นมือขึ้นเหมือนจะไปอุ้มพระเยซูลงจากไม้กางเขน.
ในบางประเทศเช่นอิตาลี
มีการสร้างฉากในสวรรค์ เป็น“สวรรค์กล”ที่มีหุ่นกลหลายตัวเดินไปมาในแสงสีวับๆแวมๆ. ฉากแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเล่าเรื่องในคัมภีร์
ยกระดับเนื้อหาที่คุ้นเคยให้สมจริง มีชีวิตชีวาและตรึงจิตใจคนยิ่งขึ้นอีก. หุ่นกลและเครื่องกลไกอัตโนมัติเหล่านี้ เป็นเครื่องมือวิเศษ
เป็นกุศโลบายที่มีประสิทธิภาพมากในการปลูกฝังจิตสำนึกเกี่ยวกับศาสนา.
ภาพพิมพ์นี้ปรากฏในหนังสือ Musurgia Universalis (1650) ของเขา.
จากแผ่นเฟือง เป็นลูกเบี้ยว
เป็นท่อทรงกระบอกที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูลทุกรายละเอียดเป็นสมองความจำของเครื่องกลทุกชนิด คนได้ค้นพบวิธีเก็บข้อมูลลงบนแผ่นจานกลมๆหรือดิสก์
ที่ดลใจไปสู่การสร้างแผ่นเสียง. จานเสียง เป็นหน่วยความจำที่จับต้องได้และทำงานได้เหมือนแคม.
ร่องทั้งหลายบนจานเสียงได้เก็บข้อมูลไว้และเมื่อนำไปเปิดจานเสียงแผ่นนั้นอีก
ข้อมูลทั้งหลายกลับมีชีวิตขึ้นใหม่. นอกจากเสียงแล้ว พัฒนาการด้านภาพยนต์ก็ยังเก็บแสงต่างๆไว้ได้ด้วย.
เทคโนโลยีการอัดเสียงอัดภาพ ในที่สุด
มิใช่อื่นใดคือผู้สืบเชื้อสายของระบบกลไกต่างๆที่กล่าวมาข้างต้นนั่นเอง
และทำให้เราได้สัมผัสประสบการณ์ที่เราคิดว่าสูญเสียไปแล้ว
อีกครั้งหรือได้อีกหลายๆครั้งตามต้องการ. เราเป็นหนึ้อัจฉริยบุคคลที่วาดฝันความสัมพันธ์แนวใหม่
ที่อาจเป็นความสัมพันธ์ที่ดีกว่าเดิม ระหว่างความเป็นคนกับเทคโนโลยี.
ประดิษฐกรรมเพิ่มความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น
เป็นกล่องดนตรี เครื่องกลดนตรีขนาดใหญ่ขึ้นๆจนเป็นวงดนตรีทั้งวง ตามหลักการเดียวกันนี้เอง. ดังตัวอย่างของเล่นเครื่องกลดนตรีแบบต่างๆข้างล่างนี้ ส่วนใหญ่เป็นประดิษฐ์ภัณฑ์ในศตวรรษที่สิบเก้า
ที่แสดงให้เห็นว่า หุ่นกลหรือเครื่องกลอัตโนมัติที่สร้างขึ้นเพื่อความบันเทิงนั้นยังคงเป็นที่นิยมกันอย่างต่อเนื่องในยุโรป.
ภาพทั้งหลายข้าพเจ้าเดินทางไปถ่ายมาได้อย่างสะดวกจาก
Music Forest, Kawaguchi-ko, Japan… (ทำไมที่ญี่ปุ่น เพราะที่นั่นรวมตัวอย่างเครื่องกลดนตรีจากยุโรปไว้เป็นจำนวนมาก
เจ้าของพิพิธภัณฑ์หลงใหลสิ่งเหล่านี้ ได้ลงทุนมหาศาลเพื่อซื้อมาสะสมไว้
และคงได้สร้างแรงบันดาลใจแก่ช่างกลชาวญี่ปุ่นที่ได้ผลิตหุ่นกลแบบต่างๆ ที่พิเศษพิสดารยิ่งขึ้นอีก
แม้แต่หุ่นยนต์ญี่ปุ่นก็ก้าวไปเกินหน้า(เกือบ)ทุกชาติแล้ว)
กล่องดนตรีขนาดเล็ก
ที่ประดิษฐ์สวยงาม ใช้ระบบไขลาน ตัวหุ่นขยับด้วยเช่นขึ้นลงบันได หรือมือที่ยกขลุ่ย
ขยับเข้าใกล้ปากขึ้นๆลง หรือตุ๊กตาหมีที่ขยับตัวยกแขนขึ้นลงเป็นต้น.
กล่องดนตรีที่เป็นกล่องด้านบนเป็นกระจกให้เห็นการทำงานของกลไกข้างใน ส่วนบ้านแบบ chalet จากสวิสเซอแลนด์ ก็มีกลไกดนตรีบรรจุอยู่ภายใน.
กล่องดนตรีที่เป็นกล่องด้านบนเป็นกระจกให้เห็นการทำงานของกลไกข้างใน ส่วนบ้านแบบ chalet จากสวิสเซอแลนด์ ก็มีกลไกดนตรีบรรจุอยู่ภายใน.
นกร้องเพลงแต่ละชั่วโมง
หรือนาฬิกาดนตรี เป็นของเล่น เป็นสิ่งสะสมของคนรวยในยุคก่อน
แผ่นเสียงหรือจานเสียงพัฒนาขึ้นมาแทนที่เฟือง,แคมหรือลูกเบี้ยวและหน่วยความจำทรงกระบอก
มาเป็นแผ่นกลมบาง มีข้อมูลเจาะลงบนแผ่นโลหะเป็นรูๆตามตำแหน่งของเสียง. แผ่นเสียงแบบนี้สะดวกกว่า
ใช้กับเครื่องอ่านแผ่นดิสก์ในสมัยนั้นที่ใช้มือหมุน(เครื่องกลทุกชนิดใช้ระบบเฟืองในนาฬิกาเสมอมา)
ผลิตเสียงดังตามโน้ตที่เจาะรูไว้บนแผ่น ทำให้เพลงกลับมามีชีวิตได้อีก.
ในตู้ดนตรี
ประกอบด้วยหุ่นตัวเล็กๆที่จะแสดงท่าทางตามจังหวะเพลง
รูปปั้นผู้หญิงนั้น
เพื่อบอกว่า ปกติเครื่องจริงเป็นตู้ใหญ่ๆนั้น ใช้กำลังแขนหมุนให้เครื่องเดิน.
เครื่องนี้ เป็นเครื่องเล่นดนตรีที่เรียกว่า Regina Corona Style 37 ผลิตในสหรัฐอเมริกาในราวปี
1900 ด้วยเทคนิคของวิศวกรรมเครื่องกลระดับสูงที่สุดในโลกยุคนั้น
ให้ช่วงระยะเสียงสูงต่ำที่กว้างมาก. แผ่นเสียงโลหะแต่ละแผ่นมีเส้นผ่าศูนย์กลาง
21 นิ้ว. ตอนล่างของตู้ ใช้เก็บแผ่นเสียงแบบนี้ได้อีก 12 แผ่นที่จะเข้าแทนที่แผ่นที่เล่นจบลงอย่างอัตโนมัติ
ต่อเนื่องกันไป หรืออาจเลือกแผ่นใดแผ่นหนึ่งที่ต้องการได้.
Automaton of the Castle of Herrenchimsee, 1955. ชุดดนตรีอัตโนมัติขนาดใหญ่ จำลองห้องโถงใหญ่ในปราสาท Herrenchimesee (ที่เรียกกันว่าพระราชวังแวร์ซายส์ของเยอรมนี
ปราสาทนี้ Ludwig แห่ง Bavaria
ทรงให้สร้างขึ้นเลียนแบบพระราชวังแวร์ซายส์ของพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ที่พระองค์เคารพชื่นชมมาก) จัดเป็นห้องเต้นรำ ตกแต่งอย่างหรูหรา
มีหุ่นเล็กๆชายหญิงจับคู่เต้นรำตามเสียงดนตรีคลาซสิกเช่นวอลซ์ หุ่นทั้งหลายทำอย่างประณีตสวยงาม.
ออร์แกนที่เรียกว่า Limonaire Organ, France, c. 1901. บริษัทผู้ผลิตออร์แกนฝรั่งเศสชื่อ Limonaire Frères company ตั้งอยู่ที่กรุงปารีสตั้งแต่ปี1840 เรียกเครื่องออร์แกนนี้ว่า Orchestrophone. ออร์แกนแบบนี้นิยมแพร่หลายกันมากในระหว่างปี 1910-1914 ขนาดไปดูไปฟังได้ตามร้านกาแฟและร้านอาหารใหญ่ๆในฝรั่งเศส. ประกอบด้วยระนาด (xylophone), กลอง (drum) และฉิ่งหรือฉาบ (cymbal)
และท่อออร์แกนแบบต่างๆที่เลียนเสียงไวโอลิน เสียงท่อเบส เสียงแตรยาว (trombone) หรือเสียงปี่หรือขลุ่ย
รวมทั้งเสียงของนักร้องทั้งวงด้วย.
เครื่องดนตรีขนาดใหญ่กว่านี้
เรียกว่า Orchestrelle
(หรือ home
orchestra เหมือนเครื่องเสียงชุดใหญ่ในปัจจุบันที่เป็นชุด home theatre) เป็นสมบัติหนึ่งในสิ่งที่ผู้ดีต้องมีประจำวิลลาหรือคฤหาสน์
เป็นหน้าเป็นตา เป็นสิ่งแสดงอำนาจและเกียรติยศของผู้เป็นเจ้าของ. เครื่อง Orchestrelle นี้ผู้ที่ไม่ใช่นักดนตรีก็เล่นได้ รวมเสียงจากเครื่องดนตรีวงใหญ่ มีทั้ง strings, flutes, reeds and brass. ข้างในเครื่องมีม้วนบันทึกโน้ตดนตรีที่ก็อปปี้มาจากบทประพันธ์ของนักดนตรีเอกทั้งหลาย
มีทั้งเพลงวอลซ์และดนตรีซิมโฟนีมีชื่ออีกหลายเพลง.
ที่พิพิธภัณฑ์นั้น ยังมีห้องดนตรีพิเศษห้องหนึ่งที่สร้างขึ้นตามผังพื้นที่ดั้งเดิม
เมื่อมีการสั่งทำเครื่องดนตรี Dance
organ (หรือ orchestrion) ขนาดใหญ่ ประกอบด้วยหุ่นกลนักดนตรีเกือบร้อยตัว
และให้ใส่โปรแกรมดนตรีลงไว้เป็นจำนวนมาก สำหรับนำขึ้นไปประดับห้องโถงที่เป็นห้องเต้นรำบนเรือTitanic เพื่อความบันเทิงตลอดเวลาบนเรือ. ผู้สร้างวงออเคสตร้าชุดพิเศษนี้
คือ Marc Fournier et Fils
พ่อลูกชาวฝรั่งเศสแห่งเมือง Seyssuel
[เซะซูเอล] ทำงานให้บริษัท Mortier. จะด้วยเหตุผลประการใดไม่รู้ชัดเจน วงออเคสตร้าทั้งชุดนี้ มิได้ขึ้นเรือTitanic เมื่อวันที่15 เมษายนปี1912 จึงเป็นโชคดีที่เครื่องกลออเคสตร้านี้มิได้จมทะเลหายไปกับเรือTitanic, เปิดโอกาสให้เราไปชมฝีมืองานสร้างสรรค์วงดนตรีพร้อมหุ่นนักดนตรีที่เคลื่อนไหวและดีดสีตีเป่าตามจังหวะดนตรีต่างๆ. ห้องที่ตั้งวงออเคสตร้าชุดนี้ ตอนบนของผนังห้องประดับด้วยภาพจิตรกรรมบนแผ่นไม้
ที่แสดงสถานที่สำคัญและโดดเด่นของกรุงปารีสและของฝรั่งเศส ระหว่างแผ่นภาพจิตรกรรม ยังมีหุ่นนักดนตรีแทรกอยู่. หุ่นทุกตัวที่ประดับในห้องนี้
ตีระฆัง เป่าขลุ่ย รัวกลองฯลฯ สอดคล้องตามจังหวะดนตรีของวงออเคสตร้าบนเวที.
ห้องโถงแสดงดนตรีที่สร้างเลียนแบบห้องดนตรีบนเรือ
Titanic. ตรงหน้าบนเวทีที่ยกขึ้นสูงกว่าเล็กน้อย
แผ่เต็มความกว้างของห้อง คือวงออเคสตร้าอัตโนมัติพร้อมหุ่นกลนักดนตรีประเภทต่างๆ.
เมื่อเข้าไปพิจารณาใกล้ๆ หุ่นแต่ละตัวหน้าตาน่ารัก สวยงามในเครื่องแบบต่างๆกัน.
บนผนังกำแพงตอนบน
ระหว่างภาพจิตรกรรม มีหุ่นนักดนตรีตัวเล็กๆที่ก็เคลื่อนไหวและดีดสีตีเป่าตามจังหวะดนตรีบนเวทีด้วย. ดูคลิปดนตรีสั้นๆจากวงออเคสตร้าได้ที่นี่
>>
เนื่องจากหุ่นนักดนตรีขนาดเล็กและการถ่ายทำวิดีโอ
ไม่อาจเข้าไปใกล้ๆหน้าเวทีได้ ทำให้เราไม่เห็นการเคลื่อนไหวของหุ่นดนตรีต่างๆ. เมื่อไปดูที่นั่น
เห็นชัดเจนกว่า.
เครื่องดนตรีเป็นวงออเคสตร้าขนาดเล็ก
ยังมีให้ชมอีกมากตามพิพิธภัณฑ์ในยุโรป หรือบนถนนสายหลักของกรุงอัมสเตอดัม
และตามพื้นที่จัดงานเทศกาลหรือนิทรรศการต่างๆเสมอ. ผู้ที่เคยไป คงได้พบ เห็นและได้ฟังดนตรีจากเครื่องดนตรีแบบนี้ขนาดเล็ก
(ที่เรียกว่า orgue de barbarie หรือ barrel organ) จนพูดได้ว่ากลายเป็นอัตลักษณ์หนึ่งของเนเธอแลนด์ไปแล้ว. หากมีโอกาสไม่ควรพลาดไปชมพิพิธภัณฑ์
Speelklok Museum เมือง Utrecht ประเทศเนเธอแลนด์. ติดตามเครื่องดนตรีแบบต่างๆ(สมัยเก่า)
ที่เล่นดนตรีได้เองอย่างไพเราะ โดยเฉพาะเครื่องไวโอลินที่เล่นเพลงได้เอง (The self-playing violin) ได้นำออกแสดงที่งานมหกรรมนานาชาติปี
1910 และได้รับการกล่าวขานว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์อันดับแปดของโลก. ดูตัวอย่างการเล่นของวงออเคสตร้าวงนี้
ที่นำออกแสดงที่ Antwerp Belgian Dance Café ที่สร้างขึ้นในราวปี 1950 >>
ดูรายละเอียดกลไกการสร้างเลียนไวโอลินอัตโนมัติ(ของนักประดิษฐ์ยุคใหม่)
ที่นี่ >> https://www.youtube.com/watch?v=IvUU8joBb1Q&list=RDxs0mP2cOmJs
และดูเครื่องดนตรีเครื่องนี้ด้วย
ที่ทำให้แน่ใจว่า ทุกอย่างสร้างเสียงดนตรีได้และไม่มีอะไรอีกแล้วที่คนทำไม่ได้ >>
ตัวอย่างทั้งหมดที่เห็นข้างต้นแม้เป็นเพียงกลไกอัตโนมัติที่ทำตามโปรแกรมที่กำหนดให้ซ้ำๆกัน แต่โลกได้อาศัยวิวัฒนาการกลไกอัตโนมัติในศตวรรษก่อนๆมาสร้างเครื่องจักรกลอื่นๆในศตวรรษที่19 เช่นกลไกเครื่องทอผ้า ดังจะกล่าวต่อไปข้างล่างนี้ และจากจุดนี้ไปสู่บัตรที่เจาะรูเพื่อเป็นรหัสเก็บข้อมูลในคอมพิวเตอร์ ที่เรียกว่า punch cards และมาเป็นชิ้นซิลิคอน(chip)ในปัจจุบัน. คนยังคงสร้างสิ่งมหัศจรรย์ใหม่ๆจากฐานความรู้เดิมๆ จากระบบเฟืองในนาฬิกามาเป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่มีศักยภาพแทบไม่รู้จบสิ้นในปัจจุบัน. อย่างไรก็ตาม พึงระลึกว่า การประดิษฐ์กลไกในสมัยก่อนๆนั้น ไม่ว่าจะซับซ้อนเพียงใด เป็นไปเพื่อจุดประสงค์เฉพาะเช่นด้านศาสนา ด้านบันเทิงหรือเพื่อการผลิตเชิงอุตสาหกรรม. กลไกยุคนั้นสร้างสิ่งตรงข้ามกัน เน้นความแตกต่างแบบขาวกับดำ เทียบเป็นคู่ขนานระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งไม่มีชีวิต, การเคลื่อนไหวตามใจชอบกับการเคลื่อนไหวตามสั่งของโปรแกร, การทำงานด้วยสติปัญญากับการทำงานอัตโนมัติเป็นต้น. เครื่องกลไกที่คิดทำขึ้นในสองสามศตวรรษดังกล่าวมานั้น ยังไม่มีจุดหมายปลายทางอื่นใด นอกจากการสานฝันให้เห็นว่า คนสามารถแปลงวัสดุหรือวัตถุดิบให้เป็นเครื่องกลไกที่ทำตามสิ่งที่คนต้องการได้. คนยังจินตนาการไปไม่ถึงว่าอาจใช้กลไกแบบเดียวกันนั้น มาสร้างระบบคอมพิวเตอร์ หรือสร้างเครือข่ายสารสนเทศหรือไอที (Informational technology). โลกเรายังต้องคอยต่อมาถึงกลางศตวรรษที่ 20 เมื่อมีปราชญ์ นักคิด นักวิทยาศาสตร์ ที่เริ่มเจาะถึงเบื้องหลังกลไกและศักยภาพของมันที่อาจสานใยเป็นเครือข่าย เชื่อมระบบต่างๆเข้าด้วยกันได้และต่อๆกันไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดอย่างทุกวันนี้.
เมื่ออำนาจซื้อย้ายออกไปนอกสังคมชั้นสูง และย้ายผ่านมือจากองค์การศาสนามาสู่ชนชั้นกลางที่ร่ำรวยขึ้น(เพราะการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าโดยเฉพาะการค้าขายระหว่างประเทศ)
สู่ชนชั้นพ่อค้า เครื่องกลไกทั้งหลายเข้าร่วมในการแสดง การเล่นละคร ไปอยู่บนโต๊ะ(หุ่นที่เดินเสริฟไวน์เป็นต้น)ในระหว่างการกินอาหาร
ในร้านกาแฟ จนไปถึงนักแสดงในซุ้มสนามเด็กเล่นหรือในโรงละครสัตว์. เครื่องกลอัตโนมัติเหล่านี้ ตรึงความตื่นตะลึงของชาวประชาในงานมหกรรม
งานนิทรรศการทั้งหลาย. สามัญชนตื่นเต้นที่สุดเมื่อเห็นหุ่นกลที่ทำกิจกรรมของคนเช่นเขียน วาดเขียน
เล่นดนตรี แต่ละตัวมีรูปลักษณ์สวยประณีต เหมือนมีอุปนิสัยเฉพาะของมัน. หุ่นกลทั้งหลายสะท้อนพฤติกรรมของคนที่จบลงไปแล้ว ชุบให้มีชีวิตขึ้นใหม่ มันบันทึกกิริยาท่าทางของคนไว้ไปชั่วนิรันดร์เลยหรือไฉน? เป็นคำถามซื่อๆของคนยุคนั้น…
การผลิตเครื่องกลอัตโนมัติพุ่งถึงจุดสูงสุดในศควรรษที่18 บุคคลสำคัญที่ต้องรู้จักในยุคนั้น
เป็นผู้ที่ประวัติศาสตร์โลกจารึกไว้คนหนึ่งคือ Jacques de
Vaucanson [ฌ้าก เดอ โวก็องซง](นักประดิษฐ์และศิลปินชาวฝรั่งเศส,
1709-1782).
Vaucanson เป็นคนแรกที่ประดิษฐ์นักดนตรีกล
คือ คนเป่าขลุ่ย(1737) เป็นหุ่นกลนักดนตรีขนาดเท่าคนจริงที่เล่นดนตรีจริงๆ
และเล่นได้ถึง12เพลง มิใช่เป็นกล่องดนตรีที่มีตัวหุ่นประดับ. ต่อมาเขาประดิษฐ์คนตีกลอง
(the Tambourine player) และเป็ดกลที่เรียกว่า le
Canard digérateur (Digesting duck ในทำนองว่า เป็ดที่กินแล้วย่อย).
ภาพพิมพ์จากศตวรรษที่18 เสนอหุ่นกลสามตัวผลงานประดิษฐ์ที่โดดเด่นที่สุดของ
Vaucanson จากซ้ายไปขวา
คนเป่าขลุ่ย เป็ดกลและคนตีกลอง. ภาพนี้ปรากฏในหนังสือของ Henry René d’Allemagne ชื่อ Histoire des jouets (1902 ประวัติของเล่น).
ศตวรรษที่ 18 เป็ดกลเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีผู้กล่าวถึงมากที่สุด Jacques de Vaucanson ประดิษฐ์ขึ้นในปี 1739 เป็นเป็ดทองแดงชุบทอง ขนาดเท่าเป็ดจริง ร้องเสียงแคว๊กๆและว่ายไปมาในน้ำได้
มันทำท่ากินน้ำ รับอาหารจากมือคนสั่ง กลืนเมล็ดข้าวเปลือก (ย่อยภายในตัวมัน)
แล้วอึกากที่เหลือออก. ในความเป็นจริง
เป็ดกลตัวนั้นมิได้กินและย่อยสิ่งที่มันกิน
แต่เพราะมีสารที่เหมือนขี้เป็ดใส่ไว้ในตัวเป็ดและตั้งกลไกตามจังหวะให้มันอึออกเท่านั้น. Vaucanson หวังว่าวันหนึ่งคนจะทำเป็ดเช่นนั้นได้จริง.
เรื่องเป็ดกลที่ย่อยอาหารได้ของนักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศสนี้
ปรากฏอ้างอิงถึงหรือกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในวรรณกรรมยุคนั้น
ที่กระตุ้นจิตสำนึกของคนเกี่ยวกับระบบกลไกอัตโนมัติ. ที่น่าทึ่งคือ ในปี 2006 ศิลปินชาวเบลเยี่ยมชื่อ
Wim Delvoye ได้สร้างเครื่องกลที่เขาเรียกว่า Cloaca Machine ที่ย่อยอาหารแล้วถ่ายอุจจาระได้สำเร็จ. เป็นเครื่องกลย่อยอาหารตรงตามที่ Vaucanson หวังและฝันไว้.
ความคิดความหวังของนักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศส มีชาวเบลเยียมมาสานฝัน 267 ปีต่อมาจนสำเร็จ. ข้าพเจ้าคิดว่านี่คือปาฏิหาริย์ที่แท้จริงของคน!
ปี 1745 Vaucanson ยังสร้างเครื่องทอผ้าอัตโนมัติเครื่องแรกของโลกด้วยระบบ punch
cards เขาตั้งใจช่วยอุตสาหกรรมสิ่งทอของฝรั่งเศสให้ก้าวหน้ากว่าอังกฤษคู่แข่ง
แต่น่าเสียดายที่ช่างทอฝรั่งเศสยุคนั้นไม่รู้เท่าทันความคิดก้าวหน้าของเขา
จึงไม่ให้ความร่วมมือ. อย่างไรก็ดีครึ่งศตวรรษต่อมาในปี
1804, Joseph-Marie
Jacquard ได้พัฒนาระบบเครื่องทอของ Vaucanson สำเร็จเป็นรูปธรรม ตั้งเครื่องทอ Jacquard loom ที่มีประสิทธิภาพทอผ้าลวดลายซับซ้อนเช่นผ้าแพรหรือผ้าต่วน
ผ้าดิ้นเงินดิ้นทอง (brocade fabric), ผ้าทอยกดอก (damask fabric) หรือผ้าที่ทอซ้อนหลายชั้นแบบผ้านวม (matelassé fabric). ผ้าทอแบบนี้มีราคาแพง ลายดอกไม้หรือลวดลายเรขาคณิต เป็นผ้าสวย มันเป็นเงา
มีสีเหลือบๆงามตา และเป็นผ้าที่คงทน ทั้งยังจับเข้ารูปทรงได้ง่ายด้วย. บริษัทนี้ยังคงความเป็นเลิศในด้านการผลิตผ้าประเภทนี้มาจนทุกวันนี้.
เครื่องทอในปัจจุบันยิ่งก้าวหน้าทอครั้งเดียวกันได้เลย
สอดด้ายไปมาหลายชั้นหลายระดับในเวลาเดียวกัน. ประดิษฐกรรมของ Vaucanson
เป็นก้าวสำคัญในการปฏิวัติระบบกลไกที่เหมือนสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนที่สุดแห่งยุค.
ส่วนนักดนตรีกลและเป็ดกลของเขาได้หายสูญไปในกาลเวลา.
ปี1746 Vaucanson ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกในสภาราชบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งฝรั่งเศส (L’Académie
des Sciences)
บุคคลสำคัญในโลกของหุ่นกลอีกผู้หนึ่งคือ พ่อลูกตระกูล Jaquet Droz [จาเก้ โดร้ซ]
(กลางศตวรรษที่18 เป็นตระกูลช่างทำนาฬิกาชาวสวิส
ไปอาศัยอยู่ที่ปารีส ลอนดอนและเจนีวาตามลำดับ). ระหว่างปี 1768-1774 Pierre Jaquet Droz ผู้พ่อกับลูก Henri-Louis และผู้ร่วมงาน Jean-Frédéric Leschot ได้ช่วยกันสร้างหุ่นกลขึ้นเพื่อช่วยล่อลูกค้าให้สนใจมาซื้อนาฬิกาและนกกลร้องเพลงของบริษัท.
ในบรรดาหุ่นกลที่เขาประดิษฐ์ขึ้น หุ่นสามตัวนี้ได้สร้างประวัติศาสตร์ในโลกเครื่องกลไกที่ฝังในความทรงจำของคนยุคนั้นต่อมาจนทุกวันนี้.
หุ่นกลสามตัวของ Jaquet-Droz จากพิพิธภัณฑ์ Musée d'Art et d'Histoire de Neuchâtel เมือง Neuchâtel [เนอชาเติล] ประเทศสวิสเซอแลนด์. ภาพถ่ายของ Rama (Own work) [CeCILL or CC BY-SA 2.0 fr], via Wikimedia
Commons.
จากซ้ายไปขวา
หุ่นคนสเก็ตช์ภาพ
(The Draughtsman ที่ประกอบด้วยกลไกกว่า
2000 ชิ้น สเก็ตช์ภาพด้วยดินสอถ่าน บางครั้งบางคราหุ่นยังเป่าผงถ่านออกจากกระดาษวาดเขียนตรงหน้าด้วย). หุ่นนักดนตรี
(The Musician, ประกอบด้วยกลไกกว่า 2500 ชิ้น
เล่นดนตรีได้ห้าเพลงบนเครื่องดนตรีคีย์บอร์ดหรือ harpsichord ตรงหน้าเธอ.
ศีรษะและลูกนัยน์ตาติดตามจังหวะและนิ้วที่เคลื่อนไปมาบนคีย์บอร์ด.
คนดูยังเห็นอาการหายใจเข้าออกบนหน้าอกของหุ่นหญิงสาวนักดนตรี ที่ขึ้นลงได้ด้วย และเมื่อเล่นดนตรีจบลง
เธอก้มคำนับผู้ดู). ส่วนหุ่นนักเขียน (The Writer ประกอบด้วยกลไกกว่า 6000 ชิ้น และเขียนข้อความใดๆที่ประกอบด้วยอักษรได้ถึงสี่สิบตัว ด้วยปากกาขนนกและหมึกจริง. หุ่นทั้งสามมีลูกนัยน์ตาที่ติดตามการเคลื่อนไหวของนิ้วมือในขณะแสดงโชว์. Jaquet Droz เหมือนต้องการยืนยันว่า
เหตุผลหรือสติปัญญาของคนนั้นจัดให้เป็นระบบกลไกได้ เช่นเดียวกับอารมณ์ความหลงของคนก็อาจเก็บกักแล้วปลดปล่อยออกมาได้เหมือนกลไกอัตโนมัติแบบหนึ่ง).
ภาพพิมพ์นี้จากหนังสือ Scientific American, Vol. 88, Number 16 (April 1903) เห็น Jaquet Droz ผู้ยืนอยู่ระหว่างหุ่นกลของเขา
กำลังแนะนำสิ่งประดิษฐ์ของเขาถวายพระเจ้าหลุยส์ที่สิบห้า. ดูรายละเอียดของเครื่องกลของหุ่นสามตัว
จากคลิปวีดีโอนี้ ที่อธิบายเป็นภาษาฝรั่งเศสพร้อมคำบรรยายในภาษาเยอรมันและอังกฤษ
วีดีโอดูเข้าใจง่าย >> https://www.youtube.com/watch?v=IeTOqDb-86s
หุ่นกลทั้งสามนี้เป็นสิ่งมหัศจรรย์แห่งของยุคเลยทีเดียว
ผู้คนตื่นตะลึงไปทั่วทั้งยุโรปตั้งแต่กษัตริย์ไปจนถึงสามัญชน. ชื่อเสียงของ Jaquet Droz ข้ามน้ำข้ามแผ่นดินไปถึงพระกรรณจักรพรรดิจีน ญี่ปุ่นและอินเดีย. ในปี 1906
สมาคมประวัติศาสตร์และโบราณคดีของเมือง
Neuchâtel ได้ติดตามหาซื้อหุ่นทั้งสามตัวกลับมามอบให้แก่พิพิธภัณฑ์ของเมืองได้ในที่สุด. หุ่นกลทั้งสามนี้โดยหลักการคือบรรพบุรุษของคอมพิวเตอร์ยุคใหม่
และหลายคนจัดว่าเป็นตัวอย่างที่เก่าที่สุดของคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะหุ่นนักเขียนที่มีกลไกเป็นระบบลูกเบี้ยว
(cams) 40 ตัวประกอบเป็นหน่วยความจำที่เก็บโปรแกรมข้อมูลที่ผู้สร้างใส่ลงไปให้ จึงไม่ผิดจากหน่วย ROM หรือ
read-only memory ในคอมพิวเตอร์สมัยนี้. อีกหลายสิบปีต่อมา Charles Babbage ชาวอังกฤษได้นำกลไกนี้ไปต่อยอด จนสามารถสร้างเป็นคอมพิวเตอร์แบบดิจิตัลและใส่โปรแกรมได้
(digital programmable
computer).
หุ่นนักเขียนอีกตัวหนึ่งเป็นงานประดิษฐ์ในราวปี1800 ของ Henri Maillardet ช่างเครื่องกลและช่างนาฬิาชาวสวิสที่ไปอาศัยอยู่ที่ลอนดอน. หุ่นนักเขียนของ Maillardet ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งในคลังสะสมของพิพิธภัณฑ์ The Franklin Institute เมืองฟิลาเดลเฟียในสหรัฐอเมริกา. หุ่นตัวนี้ได้ไปออกโชว์ที่นิทรรศการหุ่นยนต์กรุงลอนดอนปีนี้ที่ข้าพเจ้าได้ไปเห็น
ดังภาพถ่ายข้างล่างนี้
ภาพจากนิทรรศการหุ่นยนต์ที่ลอนดอนปี
2017.
ชื่อกำกับหุ่นกลตัวนี้ว่า Automaton
Draughtsman-Writer จากสหราชอาณาจักร
เป็นผลงานของ Henri Maillardet ผู้ชำนาญการประดิษฐ์นาฬิกาอัตโนมัติจากประเทศสวิสเซอแลนด์ เขาสร้างหุ่นกลนักเขียนตัวนี้ขึ้นในราวปี
1800. หุ่นตัวนี้บรรจุโปรแกรมรายละเอียดของภาพลายเส้นสี่ภาพ
บทประพันธ์คำกลอนภาษาอังกฤษหนึ่งบทและภาษาฝรั่งเศสอีกสองบท
นับว่ามันเก็บข้อมูลที่ถูกป้อนให้ได้มากกว่าหุ่นกลใดในยุคเดียวกัน. ระบบการเดินของลูกเบี้ยวถูกส่งต่อไปยังเฟืองต่อไปเป็นกลไกลูกโซ่จนถึงมือและทำให้มือเคลื่อนไปมา
เขียนเป็นประโยคลงบนแผ่นกระดาษตรงหน้าด้วยปากกาที่ทำขึ้นเป็นพิเศษ. กลไกที่สลับซับซ้อนของหุ่นตัวนี้
ยืนยันความเชี่ยวชาญของผู้สร้าง. หุ่นกลตัวนี้ได้ไปโชว์ตามที่ต่างๆหลายแห่งทั้งในสหราชอาณาจักรและในยุโรป. ต่อมาถูกทำลายเสียหายไปในอัคคีภัย และตกไปอยู่ในมือของสถาบัน The Franklin Institute ในปี 1928 (มลรัฐ Philadelphia, USA).
ที่นั่นได้พยายามบูรณะซ่อมแซมหุ่นกลนี้ให้เดินได้อีกครั้งหนึ่ง
ซึ่งมิใช่เรื่องง่ายเลย แต่ในที่สุดก็ทำได้สำเร็จ
นำออกโชว์ในพิพิธภัณฑ์ เป็นที่ฮือฮาของเด็กๆ. ติดตามดูคลิปวีดีโอเกี่ยวกับหุ่นนี้ได้ที่นี่ >>
หุ่นนักเขียนของ Jaquet
Droz กับหุ่นนักเขียนของ Maillardet รวมทั้งคลังสะสมหุ่นและเครื่องกลแบบต่างๆของผู้บุกเบิกสร้างภาพยนต์ชาวฝรั่งเศสชื่อ
Georges Meliès ได้ดลใจ Brian
Selznick แต่งนวนิยายเรื่อง The
Invention of Hugo Cabret พิมพ์ออกมาครั้งแรกในปี
2007 และที่ Martin
Scorsese นำมาสร้างเป็นภาพยนต์เรื่อง
Hugo ในปี 2011 หนังเรื่องนี้ได้รางวัลตุ๊กตาทองห้าตัวและรางวัลอื่นๆอีกมาก. (ดูเรื่องย่อเรื่องนี้ได้ในบทที่หก)
ดังกล่าวมาแล้วว่า ศตวรรษที่18 เป็นยุคที่รวมเครื่องเล่นกลไกสารพัดชนิด ทั้งหมดสร้างขึ้นด้วยระบบเฟืองและเมื่อไขลานก็กลับมีชีวิตขึ้นมา. ในราวปี1772 John Joseph Merlin ได้สร้างระบบกลไกสำหรับตัวหงส์เงินที่มีขนาดเท่าหงส์จริง (ดูคลิปวีดีโอข้างล่างนี้). James Cox เป็นผู้ประดับตกแต่งหงส์เงินตัวนั้น ทำด้วยเงินทั้งตัวอย่างหรูหรา. James Cox เป็นช่างทอง ช่างนาฬิกาชาวอังกฤษ ทั้งยังเป็นพ่อค้าที่ชาญฉลาดและเชี่ยวชาญในการนำเสนอสินค้าอย่างไม่มีใครเหมือนในยุคนั้น. ใครๆก็รู้จักเขา. เขาเองได้สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ที่เป็นเครื่องกลอัตโนมัติจำนวนมาก. ในปี1772 เขาตั้งพิพิธภัณฑ์ส่วนตัว เรียกชื่อพิพิธภัณฑ์ว่า The Spring Gardens ที่กลายเป็นคลังสะสมเครื่องเล่นกลไกทุกชนิดทั้งเล็กทั้งใหญ่ ทั้งแบบคนหรือแบบสัตว์. มีบันทึกเล่าว่า ในราวปี1774 หงส์ตัวนี้เป็นสิ่งล่อตาล่อใจของผู้คนที่ไปเยือนพิพิธภัณฑ์ของเขา. หงส์เงินตัวนี้น่าจะถูกนำไปแสดงในที่ต่างๆทั่วไป เพราะปรากฏมีบันทึกของ Mark Twain (นักประพันธ์ชาวอเมริกัน, 1835-1910) กล่าวถึงหงส์ตัวนี้ว่า “ข้าพเจ้าจ้องมองหงส์เงิน ที่เคลื่อนไหวได้อย่างสง่างามเหมือนหงส์ตัวเป็นๆและเมื่อมองดูลูกตาของหงส์ ก็เห็นแววฉลาด. ข้าพเจ้ามองดูหงส์ว่ายลอยตัวในน้ำอย่างผาสุก ดูไม่ไยดีที่มันต้องอยู่ในร้านขายเพชรพลอยแทนการไปอยู่ในหนองน้ำ ข้าพเจ้าได้เห็นมันก้มลงจับปลาเงินหนึ่งตัวในน้ำ เห็นมันส่ายหัวไปมาทำท่ากลืน จนปลาตกลงในลำคอ…” หงส์ตัวนี้ถูกซื้อขายเปลี่ยนมือไปมาหลายครั้ง. เคยถูกนำไปออกแสดงที่งานมหกรรมนานาชาติปี1867 ที่กรุงปารีส.
ในที่สุด พิพิธภัณฑ์ Bowes
Museum ได้ซื้อหงส์เงินตัวนี้จาก M.Briquet
ช่างเพชรพลอยชาวฝรั่งเศสในปี1872
ในราคาสองร้อยปอนด์ยุคนั้น.
ตั้งแต่นั้นมาหงส์เงินจึงไปอยู่ที่นั่นจนถึงทุกวันนี้. มีการไขลานให้เครื่องเดินตอนบ่ายสองของทุกวัน.
หงส์ตัวใหญ่ขนาดเท่าหงส์จริง
ลอยอยู่บนผิวน้ำ ที่ทำจากแผ่นกระจกซี่ๆซ้อนกันหลายแผ่น เมื่อเจ้าหน้าที่ไขลาน ดนตรีเริ่มขึ้น แผ่นกระจกหมุนขยับนิดหน่อยไปมา
ทำให้แลดูเหมือนคลื่นน้ำ. หงส์งอลำคอไปทางซ้ายและทางขวาหรือเอนคอยาวของมันไปด้านหลัง
แล้วหันไปจ้องธารน้ำไหลที่มีปลาเงิน(ปลากลไก)กำลังว่ายไปมาในสายน้ำ. มันก้มลงจิกปลาเงินขึ้นมาหนึ่งตัว
แล้วขยับปากกับคอไปมาจนกลืนปลาเงินตัวนั้นลงคอไป. ดนตรีจบลง หัวและคอหงส์กลับคืนสู่ท่าตั้งตรง. การแสดงเสร็จสิ้นภายในเวลา 40 วินาที. (Address:
The Bowes Museum, Bernard Castle, Teesdale, County Durham, England)
ดูคลิป “หงส์เงิน” ที่นี่ >>
ครึ่งหลังของศตวรรษที่18 โดยเฉพาะ กรุงลอนดอนเป็นหนึ่งในศูนย์สร้างสรรค์ประดิษฐกรรมอัตโนมัติราคาแพง. James Cox มีส่วนนำเครื่องเล่นกลไกแบบต่างๆออกสู่สายตาชาวยุโรปและชาวโลกในยุคนั้น (เขามีลูกค้าจากจีน ญี่ปุ่น รัสเซียเป็นต้น).
หุ่นกลอีกชุดหนึ่ง(เพราะมีองค์ประกอบหลายส่วนหลายแบบ) ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจมาจนทุกวันนี้
คือนาฬิกานกยูงที่พิพิธภัณฑ์ Hermitage Museum เมือง St Petersburg. เป็นผลงานสร้างสรรค์ของ James Cox เช่นกัน เขาขายนาฬิกาทั้งชุดนี้แก่ Potemkin (เจ้าชายรัฐบุรุษ และผู้บัญชาการกองทหาร เป็นคนโปรดของพระนาง Catherine
มหาราช). Cox
ทำเสร็จส่งไปถึงที่มือ Potemkin
ในปี 1781 แต่ส่งไปแบบถอดออกเป็นส่วนๆ (เข้าใจว่าเพราะต้องส่งไปไกลถึงรัสเซีย). Ivan
Kulibin ช่างกลชาวรัสเซียต้องใช้เวลาเกือบเจ็ดปี
กว่าจะเข้าใจระบบกลไกและประกอบขึ้นเต็มทั้งชุดตามที่ Cox
ประดิษฐ์ไว้. ดูเหมือนว่า นาฬิกาและเครื่องกลไกชุดนี้ เป็นเครื่องกลอัตโนมัติชุดเดียวที่เหลือตกทอดมาจากศตวรรษที่18 ที่ยังเดินได้จริงตรงตามต้นแบบดั้งเดิมสมัยนั้น.
เครื่องทั้งชุดนี้ทำด้วยทองสัมฤทธิ์เคลือบทอง เงิน แก้ว สูงสามเมตร
หน้าปัดนาฬิกาป็นหัวกลมๆของเห็ด เหนือเห็ดมีตัวแมลงปอที่ก็ขยับ เป็นเข็มที่สองของนาฬิกาด้วย.
เห็ดนี้อยู่ที่โคนต้นไม้.
นกยูงเกาะอยู่บนตอไม้โอ๊ค ทางขวาต่ำลงไปมีไก่แจ้ที่จะขันเป็นช่วงๆโดยเฉพาะเมื่อยูงรำแพน
ทางซ้ายต่ำลงไปมีนกฮูกภายในกรงทรงกลมโปร่งๆที่ติดระฆังเสียงใสเล็กๆโดยรอบ
และเครื่องประดับอื่นๆเช่นกระรอกบนกิ่งไม้ ใบไม้ ผลนัตเป็นต้น ดูสมจริงในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ.
มีบันทึกการจ่ายเงินให้แก่
Cox จากกองทุนส่วนพระองค์ของพระราชินี Catherine
เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 1800
ปอนด์สเตอร์ลิงปีนั้น. ตั้งแต่ปี 1797 เป็นต้นมา
นาฬิกานกยูงนี้เป็นสมบัติที่เชิดหน้าชูตาสิ่งหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ Hermitage เมือง St
Petersburg, Russia.
อย่าพลาดคลิปกลไกของนาฬิกานกยูงสุดพิเศษนี้. หากไปที่ The
Hermitage เอง ก็อาจไม่ได้เห็นการแสดงของนาฬิกานกยูงชุดนี้
เพราะที่นั่นพยายามถนอมเครื่องกลไกของมันให้อยู่ต่อไปได้นานที่สุด
นานๆครั้งเช่นในวันพิเศษ จึงไขลานให้มันแสดง. ชมที่นี่ >>
การปฎิวัติอุตสาหกรรมที่เริ่มขึ้นในราวปี 1760 ได้เปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่ของคนอย่างมากมายทั้งวิถีสังคมและวิถีครอบครัว. หลายคนคิดว่าโลกชักกลับตะละปัดแล้ว ทุกอย่างถูกผลักถูกดันไปบนสายพานที่เคลื่อนไปไม่หยุด ทุกวันทุกเวลาเป็นนาทีฉุกเฉิน. ช้าไปนิดก็ต้องวิ่งตามสายพาน (นึกถึงภาพยนต์ Modern Times, 1936 ของชาร์ลี แช็ปปลิน) ไม่มีแล้วความเฉื่อย ไปช้าสบายๆ ท่ามกลางสายลมแสงแดดของชนบท.
เครื่องกลที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ตัวแทนของยุคอุตสาหกรรมคือหุ่นเติร์ก-The
Turk, 1769 ที่เล่นหมากรุก
เอาชนะคู่ต่อสู้ได้ทุกคนรวมทั้ง Napoleon Bonaparte, Benjamin Franklin,
Edgar Allan Poe. เป็นผลงานสร้างสรรค์ของ Wolfgang
von Kempelen ในปี 1770. เขาทำขึ้นเพื่อถวายความบันเทิงแด่พระนาง
Maria Theresa ที่พระราชวัง Schönbrunn ประเทศออสเตรีย. หุ่นกลเติร์กนี้ได้เดินทางไปโชว์ตัว(เกือบ)รอบโลกและเป็นที่กล่าวขวัญและพาดพิงถึงมากที่สุดในยุคศตวรรษที่18-20. ติดตามดูคลิปวีดีโดที่เกี่ยวกับหุ่นเติร์ก >>
เมื่อเจ้าของสิ้นชีวิตลง หุ่นเติร์กถูกทอดทิ้ง
สุดท้ายไปอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เมือง Philadelphia
และถูกทำลายไปในกองไฟเมื่อเกิดไฟไหม้วันที่ 5
กรกฎาคมปี1854. 200 ปีต่อมา John
Gaughan (ผู้เป็นนักประดิษฐ์อุปกรณ์และหุ่นมายากลคนสำคัญในยุคปัจจุบัน) ที่เมืองลอสแอนเจลิส
ได้พยายามสร้างหุ่นเติร์กขึ้นใหม่จนสำเร็จ… และนำออกแสดงท้าแข่งหมากรุกอีกหลายครั้ง. ตามดูความลับที่ถูกเฉลย 84 ปีต่อมาเกี่ยวกับหุ่นเติร์ก ที่นี่ >> https://www.youtube.com/watch?v=0DbJUTsUwZE
เครื่องกลไกของหุ่นเติร์กที่สร้างขึ้นใหม่ในทศวรรษที่1980s ตามการออกแบบดั้งเดิมของ
Kempelen. เปิดประตูโต๊ะที่เป็นตู้ให้เห็นเครื่องกลไกข้างใน
ส่วนด้านบน มีแผ่นกระดานหมากรุกเท่านั้น. ภาพนี้กำกับไว้ว่าเป็นของ Carafe
at English Wikipedia [GFDL (http://www.gnu.org/copyleft/fdl.html) or CC BY-SA
3.0 (https://creativecommons.org/licenses/by-sa/3.0)], via Wikimedia Commons.
ภาพแสดงให้เห็นว่า
ตู้ใต้โต๊ะของเครื่องกลหุ่นเติร์ก มีพื้นที่เพียงพอให้ผู้ใหญ่หนึ่งคนเข้าไปนั่งได้
และเป็นผู้สั่งหรือบังคับกลไกให้หุ่นเติร์กหยิบหมากตัวไหนวางไว้ที่ใดบนกระดานหมากรุก. ดูคลิปวีดีโอนี้ >>
เมื่อความลับถูกเปิดเผยว่า หุ่นเติร์กมิใช่หุ่นกลเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์แต่มีคนเข้าไปนั่งภายในตู้และเป็นคนสั่งวางตัวหมากรุก.
แม้จะรู้ความจริงเช่นนั้นผู้คนก็ยังคงชื่นชม Kempelen ที่สามารถคิดเครื่องกลไกที่สลับซับซ้อนได้ถึงเพียงนั้น. หุ่นเติร์กชุดนี้นอกจากยืนยันอัจฉริยภาพของ
Kempelen ยังทำให้เขาบรรลุเป้าหมายที่เขาตั้งไว้ในใจเรื่อยมา คือการสร้างมายาสำนึกว่าเครื่องกลนั้นคิดได้
ตัดสินเองได้และฉลาด กระตุ้นให้ตระหนักว่าถึงยุคที่คนต้องการเป็นหุ่น(หลบซ่อนไม่ออกตัวภายในเครื่องกลไก)
ในขณะที่เครื่องกลกลับพยายามพิสูจน์ว่าเป็นสิ่งที่รู้คิดและมีปัญญาเยี่ยงคน.
หุ่นเติร์กนี่เองที่ได้ดลใจ Edmund
Cartwright ให้ประดิษฐ์กลไกที่ทอผ้าได้โดยอัตโนมัติในปี
1784. เขาเสนอต้นแบบของเครื่องจักรทอผ้า
(power loom) ที่นำไปสู่การผลิตเครื่องกลจักรที่เคลื่อนไหว
สอดด้ายไปมาบนแท่นทอผ้า เหมือนมือหุ่นเติร์ก. เกิดเครื่องทอผ้าอัตโนมัติใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมทอผ้าเป็นครั้งแรก ทำให้อัตราการผลิตเพิ่มขึ้นมากในเวลาน้อยที่สุด.
เครื่องทอผ้า ที่ไปตั้งแสดงในนิทรรศการหุ่นยนต์ ที่ทำให้ฉงนใจนักว่าเกี่ยวอะไรกับหุ่นยนต์. เครื่องทอผ้าแบบนี้ผลิตขึ้นมาตามหลักการของหุ่นเติร์ก. เครื่องนี้ของบริษัท Northorp Loom Company ที่เริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่ปี1895 และผลิตออกมา 700.000 เครื่อง. ทำให้คาดเดาได้ว่า อังกฤษพัฒนาสิ่งทอไปได้อย่างก้าวกระโดดยิ่งกว่าชาติใด. เครื่องนี้เป็น model 1939.
หุ่นเติร์กยังได้ดลใจให้ Alexander
Graham Bell ประดิษฐ์โทรศัพท์ที่จดสิทธิบัตรเครื่องแรกของโลกในปี 1885. เครื่องกลไกอัตโนมัติแบบต่างๆที่เคยเป็นสิ่งสนุกบันเทิงใจ
เมื่อย้ายมันเข้าไปอยู่ในโลกของอุตสาหกรรม ได้ย้อนมาปฏิวัติชีวิตความเป็นอยู่ของคนอย่างถาวร เป็นกระแสน้ำไหลเชี่ยวที่ไม่มีวันไหลทวน.
การปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้คนต้องทำงานเหมือนเครื่องกลจักรที่ทำงานได้ไม่เคยหยุด. เมื่อโรงงานมีมากขึ้นๆ คนกลายเป็นตัวปัญหา เพราะร่างกายคนไม่อาจทำงานได้
24 ชั่วโมงโดยไม่พัก คนต้องกิน
ต้องนอนและบางครั้งก็บาดเจ็บหรือเป็นโรค. เมื่อส่วนย่อยส่วนหนึ่งไม่เดิน ส่งผลต่อระบบโรงงานทั้งระบบ.
เพื่อธำรงประสิทธิภาพการผลิตให้ได้คงที่สม่ำเสมอและความสำเร็จในการตลาดที่ไม่ผกผันขึ้นๆลงๆ
การใช้หุ่นยนต์กลายเป็นความจำเป็นมากขึ้นๆ. ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่18
เป็นต้นมา คนผลิตเครื่องกลอัตโนมัติ สารพัดสารพันแบบ
ที่ช่วยให้นายทุนควบคุมการผลิตที่ไม่มีวันหยุดชะงัก. ในที่สุด คนประสบความสำเร็จในการสร้างกลไกที่ทำงานแทนคนได้เกือบทุกอย่าง
และเครื่องกลไกเหล่านั้นได้แย่งงานที่คนเคยทำไปแล้ว.
ในสภาพสังคมปลายศตวรรษที่ 18-19 นี้เอง ที่นักเขียนชาวเช้ค Karel Čapek [คาเร็ล ชับเผ็ค] ได้แต่งบทละครเรื่อง Rossum’s Universal Robots (หรือใช้คำย่อว่า R.U.R.) ในปี 1920. (ดูเชิงอรรถข้างล่างนี้)
ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่18
ชนชั้นสูงในยุโรปที่ยังเหลืออยู่
ถูกริดรอนอภิสิทธิ์ต่างๆลงไปมาก พวกเขามิได้เป็นผู้สั่งซื้อ สั่งทำเครื่องเล่นกลไกราคาแพงอีกต่อไป
แต่การประดิษฐ์หุ่นกลแบบต่างๆยังคงมีอยู่ต่อไป
เพราะมีชนชั้นกลางผู้ร่ำรวยจากการค้าขายในระดับนานาชาติ. ลูกค้าที่หลงใหลเครื่องกลไกของเล่นราคาแพงนี้ขยายออกไปถึงต่างทวีป. หุ่นกลจำนวนมากถูกสร้างขึ้นและส่งออกไปขายในประเทศจีน ญี่ปุ่น. บริษัทเครื่องเพชรพลอยฝรั่งเศสที่กรุงปารีส เช่น Van
Cleef & Arpels [วันคลีฟ เอ อารฺเป็ลซฺ]
ยังคงผลิตเครื่องกลอัตโนมัติที่สวยงามน่าทึ่ง
ทั้งละเอียดและประณีต เสนอให้แก่ลูกค้าประเภทใหม่จากสังคมชั้นแนวหน้าของโลก.
ดูคลิปตัวอย่างของหุ่นกล Automate
Fée Ondine คลิปฝรั่งเศสมีบรรยายภาษาอังกฤษม สร้างขึ้นในปี 2017 >>
ในอินเตอเน็ต ยังมีคลิปหุ่นกลอีกมากให้ได้ดูเพลินๆ หากสนใจ
ติดตามอ่านบทที่สาม หุ่นยนต์ ฝาแฝดของคน >>
http://chotiroskovith.blogspot.com/2017/12/robots-our-half.html
http://chotiroskovith.blogspot.com/2017/12/robots-our-half.html
บันทึกความสนใจของ โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์
วันที่ ๓๐ พฤศิกายน ๒๕๖๐.
เชิงอรรถ Footnotes
1. เนื้อหาของ Rossum’s Universal Robots (หรือใช้คำย่อว่า R.U.R.) ของ Karel Čapek แต่งขึ้นในปี 1920 มีดังนี้ >> Old Rossum (ชื่อ Rossum แปลเทียบได้กับคำว่า intellectual, brain) เจ้าของบริษัทใหญ่ ค้นพบวิธีสร้างหุ่นที่มีรายละเอียดทางชีวะเคมีที่ซับซ้อน (a
synthetic protoplasma) เขาได้สร้างสิ่งมีชีวิตที่เหมือน“ตัวโคลน”ของคน(ตามที่เราเข้าใจกันในปัจจุบัน).
เขาไม่มองว่าคนสังเคราะห์ที่เขาสร้างนั้น
เป็นเพียงกลไกชนิดหนึ่ง
แต่เหมือนจะท้าพิสูจน์ว่า โลกไม่ต้องมีพระเจ้า
เพราะคนสามารถสร้างโลก สร้างคนได้. Old Rossum ในเรื่องนี้เป็นตัวแทนของวิทยาการเชิงวัตถุนิยมของศตวรรษที่สิบเก้ายี่สิบที่พัฒนาขึ้น.
ลูกชาย (Young Rossum) ผู้มีวิญญาณของนักเศรษฐศาสตร์ ไม่สนใจหรือทึ่งในปัญญาของสมองคน เขาต้องการเพียงนำปัญญานั้นมาใช้ในการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม
จึงสั่งให้สร้างหุ่นยนต์เวอชั่นคนงานที่ทำตามคำสั่ง
แล้วขายให้โรงงานอุตสาหกรรมในราคาถูก ให้ถูกกว่าการจ้างคนมาทำงาน. หุ่นยนต์ที่สร้างขึ้นให้ จำทุกสิ่งทุกอย่างได้ไม่ตกหล่น
ทำตามที่สั่งอย่างไม่บกพร่อง ไม่สงสัย ไม่ต้องคอยกำชับกำชา.
หุ่นยนต์ทั้งหลายจึงในไม่มีความคิดริเริ่มหรือสร้างสรรค์ของมันเอง
ทั้งไม่สนใจเกี่ยวกับตัวเอง ไม่มีความคิดเกี่ยวกับการตั้งอยู่ของตัวเอง นั่นคือไม่มีสันชาตญาณเกี่ยวกับชีวิตหรือการธำรงรักษาปกป้องตัวตนของมัน
พอใจอยู่กับการรับใช้คนเท่านั้น. คนสร้างต้องการให้หุ่นยนต์เข้าแทนที่แรงงานคนในโรงงาน เป็นแรงงานหุ่นยนต์ในราคาต่ำมาก
ด้วยความคิดว่า เมื่อมีหุ่นยนต์ใข้ คนจะมีเวลาอิสระมากขึ้น ไร้กังวล สุขสบายมากขึ้น
ร่างกายก็ไม่ทรุดไม่เสื่อมไปกับการทำงานหามรุ่งหามค่ำ เช่นนี้แต่ละคนก็จะใช้ชีวิตเพื่อพัฒนาตัวเองให้เป็นคนสมบูรณ์ที่สุด.
ในเรื่องเจาะจงด้วยว่า การเอาแต่ทำงานเพื่อผลผลิตในอุตสาหกรรม
ทำให้คนเป็นหมัน.
Helena Glory ประธานสตรีของสมาคมเพื่อสิทธิการเป็นมนุษย์ (Humanity League) เชื่อว่าหุ่นยนต์อาจพัฒนาศักยภาพ
จนอาจมีความคิดความอ่านได้ มีอารมณ์ความรู้สึก. เพราะเธอเชื่อเช่นนั้น จึงคิดว่าต้องคุ้มครองสิทธิของความเป็นหุ่นยนต์.
บางครั้งบางคราวในโรงงาน หุ่นบางตัวหยุดทำงาน
ท่าทีขบเขี้ยวเคี้ยวฟันด้วยความโกรธ. งานโรงงานที่ต้องทำต่อกันไปลูกโซ่ (chain production) จึงชะงักลง. หุ่นอื่นๆอีกมากงุนงง
ว่าทำไมหุ่นตัวนั้นเป็นอย่างนั้น. การที่หุ่นยนต์รู้จักโกรธ ทำให้ Helena ยิ่งมั่นใจว่า นั่นเป็นสัญญาณบอกว่าหุ่นยนต์มีจิตสำนึก.
ต่อมา
Helena แต่งงานกับ Harry Domin ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท
R.U.R. (ชื่อของเขามีนัยโยงไปถึงคำ domain)
ผู้เป็นนักอุตสาหกรรมเต็มตัว ตาบอดเรื่องศีลธรรม
ไม่ตระหนักถึงผลที่จะตามมาของการใช้หุ่นยนต์ในโรงงาน. เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์กำมะลอที่ไม่รู้วิทยาการใดจริงจังหรือลึกซึ้ง. ส่วน Helena ต้องการให้โรงงานของสามีพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อเร่งให้หุ่นพัฒนาวิญญาณสำนึกของมันให้ดีขึ้นและอย่างเต็มศักยภาพ.
(การตั้งชื่อของประธานสตรีคนนี้ด้วยการโยงไปถึงตำนาน
Helen of Troy ผู้เป็นต้นเหตุของการวิวาทระหว่างทวยเทพในตำนานกรีก. Helena ในเรื่องนี้ก็เป็นผู้แปลงโปรแกรมของหุ่นยนต์ตัวหนึ่ง ทำให้มันมีความคิดขึ้นมา
ยังผลเลวร้ายจนสิ้นสายพันธุ์มนุษย์ที่เธอคาดไม่ถึง และเธอเองก็ตายเพราะหุ่นยนต์).
อีกด้านหนึ่ง
สังคมกลับทุ่มตัวเข้าในกระแสวัฒนธรรมอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่.
คนไม่มีเวลาคิดเรื่องมีลูกไว้สืบสายพันธุ์มนุษย์.
หุ่นตัวที่ Helena ได้ทดลองใส่ข้อมูล แปลงโปรแกรมให้มีจิตสำนึก ก็เกิดคิดขึ้นว่า
ต้องทำลายล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ เพราะมนุษย์ไร้สมรรถภาพลงไปเรื่อยๆ(เมื่อเทียบกับหุ่นยนต์ผู้ไม่รู้เหนื่อยรู้ล้า)
จึงวางแผนว่าต้องให้สร้างหุ่นยนต์จำนวนมากขึ้นๆ เพื่อให้หุ่นยนต์เข้ายึดครองโลกและบริหารสังคมแทนคน.
ตามเหตุปัจจัย การเกิดขึ้นและตั้งอยู่ของหุ่นยนต์
คือการธำรงศักยภาพและประสิทธิภาพของการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมมิให้ขาดตอนหรือหยุดชะงัก
เพื่อให้ระบบกลไกทุกอย่างทำงานอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นหุ่นยนต์ทุกตัวมีหน้าที่ต้องบรรลุเป้าหมายนั้น.
การทำลายฆ่าล้างคนผู้เคยเป็นนาย
และที่เป็นคนงานที่ไร้สมรรถภาพ จึงเป็นผลร้ายที่หุ่นต้องกำจัดทิ้ง.
หุ่นตัวรู้คิด สั่งให้หุ่นทุกตัวประท้วงและฆ่าคนหมดโลก.
Domin คิดต่อรองกับฝ่ายหุ่นยนต์ เพราะเขารู้สูตรสร้างหุ่นยนต์ จึงถือว่าเป็นต่อในเมื่อหุ่นยนต์ต้องการทวีจำนวนของมันขึ้นเรื่อยๆ.
บังเอิญ Helena เผาสูตรนั้นทิ้งไปด้วยความเสียใจว่า
คนมัวแต่ทำงานจนร่างกายเป็นหมัน ไม่อาจมีลูกได้. หุ่นทั้งหลายลงมือฆ่าคนไปเสียสิ้น Helena ก็ถูกฆ่าตายด้วย เหลือไว้เพียง Alquist หัวหน้าคนงานก่อสร้างของบริษัทเท่านั้น เพราะหัวหน้าหุ่นยนต์คิดขึ้นได้ว่า
พวกมันไม่อาจสร้างชีวิต
ไม่อาจขยายพันธุ์หุ่นยนต์ให้เต็มโลกได้. พวกมันต้องให้คนเป็นผู้สร้างหุ่นยนต์ใหม่ๆขึ้นเพื่อเข้าแทนที่ชาวโลก. แต่ Alquist
ไม่รู้สูตร จึงสร้างหุ่นยนต์ใหม่ไม่ได้. หุ่นยนต์อื่นๆทั้งหมดก็คือหุ่นยนต์ธรรมดาๆที่คิดไม่เป็น ทำตามเท่านั้นและเป็นเหมือนบล็อกหินหรือบล็อกโลหะแบบหนึ่ง.
เรื่องจบลงที่ Alquist
พบว่า มีหุ่นสองตัวที่พัฒนาศักยภาพไปในด้านความรู้สึก
เกิดพึงพอใจกัน เป็นความรักแบบคน. ตัวหนึ่งชื่อ Helena (ตามชื่อประธานสตรี Helena
ที่ถูกฆ่าตายไป) และอีกตัวหนึ่งชื่อ Primus (ชื่อมีนัยของการเป็นคนแรก คนเริ่มต้น). Alquist ผู้เหลือเป็นคนอยู่คนเดียวในโลกหุ่นยนต์ ทำพิธีแต่งงานให้หุ่นทั้งสองตามขนบธรรมเนียมของคน
แล้วตั้งชื่อใหม่ให้หุ่นทั้งสองว่า อาดัมกับอีฟ
และปล่อยทั้งสองไปด้วยกันตามทางของเขา.
หุ่นยนต์ในละคร/ภาพยนต์เรื่อง R.U.R.นี้. ภาพจากนิทรรศการหึ่นยนต์ปี 2017 ที่ลอนดอน
เรื่องนี้ทิ้งท้ายให้มโนต่อไปว่า
ทั้งสองจะสร้างหุ่นยนต์รุ่นต่อไป .
ตามทฤษฎีชีววิทยาของคน
เมื่อมีความรักก็มีการสืบพันธุ์ สานต่อชีวิตและพัฒนาพันธุ์…
ความจริงในโลกมนุษย์ ณจุดนี้
ยังไม่มีใครสร้างหุ่นยนต์ที่สืบพันธุ์ได้…
ละครเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่มองไกลไปถึงอนาคตในสังคมมนุษย์เมื่อหุ่นยนต์เข้ามาร่วมในวิถีชีวิตมากขึ้นๆ(ซึ่งก็เป็นความจริงแล้ว), แนะให้คิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนกับหุ่นยนต์ควรจะเป็นอย่างไร
มีข้อจำกัดอะไรไหม, ความเป็นไปได้หรือไม่ที่หุ่นยนต์จะมีจิตวิญญาณเหมือนคน
มีอารมณ์และความรู้สึก…
เพียงเจ็ดปีหลังจากบทละครเรื่องนี้ออกมาในสังคมยุโรป
Fritz Lang (ชาวเยอรมัน) ได้สร้างภาพยนต์ที่มีหุ่นยนต์เป็นตัวละคร ชื่อว่า Metropolis
ดังจะได้กล่าวถึงในบทที่สามต่อไป.
---------------------------------------------------------------
อ่านบทที่หนึ่ง <<
ติดตามดวงดาว ไปจับเวลาชีวิต >>
ตอนที่หนึ่ง >>
จับตาดูดาว
จับเวลา นับเวลา
วัดเวลากับแดด กับน้ำ กับทราย กับเทียน
แต่วัดเวลา ไม่ได้บอกเวลา
กว่าจะรู้เวลา หลายคนหมดเวลา…
บทที่หนึ่งตอนที่สอง >> จากระบบสุริยะ มาเป็นระบบเฟืองในนาฬิกา
ภาพท้องฟ้า
จำลองมาลงบนหน้าปัดนาฬิกา
ตั้งแต่นั้น
เพื่อนเอ่ย เราเป็นทาสผู้ซื่อสัตย์ของเวลา…
บทที่สอง << ชีวิตไขลาน >> บทนี้
บทที่สี่
<< เจาะใจไปถึงสมองกล >> http://chotiroskovith.blogspot.com/2017/12/live-with-artificial-intelligence.html
-----------------------
สนใจอยากรู้เรื่องอื่นๆ
เชิญเข้าไปเลือกอ่านได้ที่นี่ >>
-------------------------------