Monday 4 December 2017

หุ่นยนต์ ฝาแฝดของคน Robots our half

     เราอาจคิดไปไม่ถึงว่า ความสามารถเข้าถึงกลไกของจักรวาล การสร้างเครื่องมือดาราศาสตร์แบบต่างๆ การประดิษฐ์ระบบดาราศาสตร์ นาฬิกาแบบต่างๆจนมาเป็นนาฬิกาข้อมือเรือนจิ๋ว และเครื่องกลอัตโนมัติทั้งหลาย ทั้งหมดโดยปริยายนำคนไปสู่ความคิดที่ว่า ในร่างกายคนมีระบบกลไกเหมือนระบบเฟืองของนาฬิกาด้วยเป็นแน่ ทำให้หวาดผวา เกิดการผ่าตัด ชำแหละร่างคนตาย(และสัตว์)เพื่อศึกษาระบบกลไกของร่างกาย.
จิตรกรรมที่มีชื่อเสียงภาพหนึ่งของ Rembrandt (1606-1669) ชื่อ The Anatomy Lesson of Dr. Nicolaes Tulp, 1632. เสนอภาพการผ่าชำแหละศพเพื่อศึกษาโครงสร้างของร่างกายคน เป็นผลสืบเนื่องจากวิวัฒนาการด้านดาราศาสตร์ด้วยอย่างหนึ่ง. ภาพนี้ปัจจุบันอยู่ที่ Royal Picture Gallery Mauritshuis, The Hague ประเทศเนเธอแลนด์. ภาพของ Rembrandt [Public domain], via Wikimedia Commons.
   ในระหว่างปี 1500-1700  ผู้เชี่ยวชาญทางกายวิภาคศาสตร์ ผู้ผ่าชำแหละคนสัตว์และพืชเพื่อศึกษาโครงสร้างภายในนั้น เป็นศิลปินด้วย. พวกเขาตรวจ วิเคราะห์สิ่งที่เห็นและนำเสนอผล ด้วยการวาดเขียนหรือด้วยการทำหุ่นที่มองดูเหมือนจริง. แม้ว่าพวกเขาจะสามารถเก็บรายละเอียดของโครงสร้างของร่างกายคนได้อย่างถูกต้อง แต่พวกเขายังมิอาจอธิบายได้ว่า อวัยวะต่างๆในร่างกายคนแต่ละอย่าง มีหน้าที่เฉพาะเจาะจงอะไร และเกี่ยวกับอวัยวะอื่นๆอย่างไร. ความรู้ทางการแพทย์ยุคนั้นยังค่อข้างจำกัดอยู่.
   ดูตัวอย่างการสร้างรูปปั้นคนที่ถ่ายทอดรูปร่าง สภาพกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายคนตรงตามความเป็นจริง ภาพจากนิทรรศการหุ่นยนต์ที่ลอนดอน.
รูปปั้นเหล่านี้ ทำขึ้นในประเทศอิตาลี ระหว่างศตวรรษที่16-18.
รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งนี้ อาจแยกเป็นชิ้นส่วนต่างๆได้ เพื่อให้เห็นอวัยวะภายในของผู้หญิง.
   เป็นที่รู้กันว่า ยุโรปในระหว่างศตวรรษที่16 เป็นต้นมา มีสถาบันการเรียนการสอนกายภาคศึกษา ตัวอย่างของห้องเรียนห้องผ่าตัดที่ตั้งขึ้นในหลายประเทศในยุโรป ยืนยันความสำคัญและความทึ่งจนเป็นความหลงใหลในการศึกษาวิเคราะห์สรีระร่างกายคนและสัตว์. ห้องเรียนที่ใช้สอนวิชานี้ เรียกกันว่า anatomical theatre (เดิมใช้คำในภาษาละตินว่า Theatrum Anatomicum) มักเป็นห้องที่มีอัฒจันทร์ไปโดยรอบทั้งห้อง ให้นักเรียนมองได้ทั่วถึง มีโต๊ะผ่าตัดอยู่ตรงกลางบนพื้นห้อง การชำแหละศพทำต่อหน้านักเรียน การผ่าตัดคนที่ยังมีชีวิตก็ทำเช่นนั้น. ศัลยแพทย์ให้คนไข้กินฝิ่นหรือดื่มวิสกี้ หรือหากไม่มีทางอื่น ก็ใช้ค้อนทุบหัวคนไข้ให้สลบหมดความรู้สึกไปเลย นี่เป็นวิธีการระงับปวดในยุคนั้น. ห้องผ่าตัดสมัยนั้นสร้างอย่างมีศิลป์ทีเดียว ด้วยตระหนักว่าร่างกายคนเป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่ง. ห้องสว่างพอสมควร ยุคนั้นยังไม่มีไฟฟ้าใช้ จึงยังไม่มีเครื่องไฟฟ้าชนิดใดระโยงระยางเหนือร่างคนไข้. ดูตัวอย่างห้องเรียนที่เป็นห้องผ่าตัด ที่สร้างขึ้นในยุคนั้นจากประเทศต่างๆ ข้างล่างนี้
Anatomical theatre ส่วนหนึ่งของโรงเรียนแพทย์เมือง Bologna [โบ๊โลญา] ประเทศอิตาลี. มหาวิทยาลัยเมืองนี้ตั้งขึ้นในปี1088 เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในยุโรป. ห้องผ่าตัดกายวิภาคศึกษาสร้างขึ้นในปี1595. ในศตวรรษที่17 ถูกย้ายไปที่พระราชวังชื่อ Palazzo dell’Archiginnasio และอยู่ที่นั่นมาจนทุกวันนี้ ยังเปิดให้เข้าชมอยู่เสมอ. ที่นั่น นอกจากรูปปั้นของแพทย์มีชื่อในสมัยโบราณเช่น Hippocrates, Galenus ยังมีรูปปั้นของแพทย์ชาวอิตาเลียนยุคนั้นด้วย และที่มีชื่อเสียงคือรูปปั้น Spellati แกะสลักจากไม้ที่เหมือนถูกถลกหรือลอกผิวหนังชั้นนอกออก เพื่อให้เห็นกล้ามเนื้อเส้นเอ็นต่างๆอย่างชัดเจน.    
ภาพจาก Pinterest.com
ภาพพิมพ์ปี1610 แสดงห้องผ่าตัดสมัยนั้นที่มหาวิทยาลัย Leiden [ลัยเดิ้น] ประเทศเนเธอแลนด์. ภาพพิมพ์จากภาพวาดของ Jan van 't Woudt และจากการแกะเป็นแม่แบบของ Willem Swanenburgh. ภาพจาก Wikimedia Commons [Public domain].
รอบๆในอัฒจันทร์มีโครงกระดูกเต็มตัวของสัตว์หลายชนิด เห็นตู้ข้างฝาตรงหน้าที่มีเครื่องมือผ่าตัด แบบและขนาดต่างๆ(มีด กรรไกร เลื่อย วงเวียนฯลฯ) มีคนทั้งหญิงและชายยืนดูในท่าต่างๆ. ภาพวาดนี้ต้องการยืนยันความสนใจของการศึกษาโครงสร้างของคนและสัตว์ ที่พัฒนาขึ้นและที่สืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้.
ห้องผ่าตัดศตวรรษที่ 17 ในอาคาร Gustavianum มหาวิทยาลัย Uppsala [อุ๊บซอหละ] ประเทศสวีเดน. ภาพจาก >>
ภาพพิมพ์แสดงห้องผ่าตัดในสเปน จากหนังสือของ Martín Martínez เรื่อง Anatomía completa del hombre, พิมพ์ที่ Madrid, 1728. จากเพจ >> http://morbidanatomy.blogspot.com/2014/03/the-madrid-anatomical-theatre-anatomia.html
การผ่าตัด (โดยเฉพาะคน) เป็นเหมือนการแสดงโชว์อย่างหนึ่ง คนสนใจกันมาก น่าทึ่งที่ในหมู่ชาวตะวันตกยุคนั้น ความอยากรู้อยากเห็นอยู่เหนือความกลัวใดๆ ไม่กลัวเชื้อโรค กลิ่นคนตาย หรือผี.
   ปราชญ์ยุคนั้น มองร่างกายของสิ่งมีชีวิตว่าเป็นเครื่องกลที่สลับซับซ้อนมาก ประกอบด้วยกลไกย่อยๆอีกหลายชุดที่เกี่ยวเนื่องกันและที่ทำงานไปพร้อมๆกัน แบบเดียวกับระบบเฟืองอันซับซ้อนของนาฬิกาดาราศาสตร์. ความรู้ละเอียดเกี่ยวกับสรีระของคนและสัตว์ เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญมากที่นอกจากเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์แล้ว ยังเป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างหุ่นยนต์ที่เคลื่อนไหวและทำอะไรได้เหมือนคน. การทำหุ่นเลียนรูปร่างคนนั้น คนต้องเจาะเข้าไปในความซับซ้อนของส่วนต่างๆ, แกะความลับของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น, เก็บบันทึกรายละเอียด, วาดโครงสร้างภายในร่างกายคน, สร้างเป็นข้อมูลพื้นฐาน. การศึกษาทำให้เกิดความตระหนักว่า ร่างกายคนนั้นเปราะบาง ดึงดูดใจหรือยั่วยวนกามได้ด้วย โดยเฉพาะเมื่อนำเทคนิคของศิลปะมาช่วยในการสร้างหุ่นคนเหมือน. การเนรมิตหุ่นคนเหมือน กลายเป็นการสร้างปาฏิหาริย์อย่างหนึ่ง. กล่าวได้ว่า ในระหว่างปี1570-1800 คนได้นำกลไกและความชำนาญในการสร้างระบบเฟืองในนาฬิกา บวกกับความเข้าใจเกี่ยวกับสรีระของคน มาประดิษฐ์หุ่นยนต์ตัวแรกๆของโลก. ประเด็นสำคัญประการหนึ่ง คือการทำหุ่นยนต์ให้เคลื่อนที่และเคลื่อนไหวออกไปรอบตัว มิใช่เคลื่อนไหวอยู่กับที่เช่นหุ่นกลอัตโนมัติทั้งหลาย. และใช้พลังงานไฟฟ้าหรืออีเล็กทรอนิคเป็นพลังขับเคลื่อน เช่นแบ็ตเตอรีที่จะพัฒนาประสิทธิภาพและความทนนานขึ้นอย่างมาก หรือเครื่องบังคับแบบรีโหมด.
     มาพิจารณาวิวัฒนาการของการสร้างหุ่นยนต์จากตัวอย่างที่ถ่ายภาพมาจากนิทรรศการหุ่นยนต์ปี 2017, ลอนดอน เพื่อความสะดวก จะยกตัวอย่างบางตัวอย่าง มากล่าวถึงตามลำดับปีที่สร้างขึ้น.
หุ่นตัวนี้ เคลื่อนไหวข้อต่อทุกข้อได้เหมือนร่างกายคนจริง สร้างขึ้นในราวปี1580-1600 เป็นหุ่นคนทั้งตัวๆแรกๆ ทำด้วยเหล็ก หมุด ตะปูควง. ลักษณะหุ่นแบบนี้ยังดูเทอะทะ เป็นเพียงกรอบนอกของร่างกาย ยังไม่มีองค์ประกอบภายในของร่างกาย มีส่วนทึบตรงหน้าท้องที่ซ่อนแบ็ตเตอรีไว้ ที่ทำให้ร่างกายเดินได้เท่านั้น และไม่เหมือนหุ่นกลอัตโนมัติที่ใช้ไขลานเอา.
แขนเทียม ทำจากเหล็กกล้าและทองสัมฤทธิ์ มีแผ่นหนังเชื่อมให้เข้ากัน เป็นแบบประดิษฐ์ขึ้นในยุโรประหว่างปี1850-1910. (ภาพจากนิทรรศการหุ่นยนต์ปี2017, London). แขนเทียมนี้คล่องตัวมากอย่างน่าพิศวง อาจสวมและล็อคติดข้อศอกได้หลายจุด นิ้วมือก็เคลื่อนไหวได้จากการใช้ปุ่มทองเหลืองตรงข้อมือ  มือนี้ประดิษฐ์และประดับตามแนวศิลปะนีโอกอติค. เมื่อไปใช้กับคนป่วยแขนด้วน ไม่ปิดทั้งแขน ให้เห็นดังในภาพ. ผู้ใส่มือเทียมนี้กลายเป็นคนเครื่องกลอย่างแท้จริง.
    ความรู้เรื่องกายภาคศาสตร์สำคัญมาก การประดิษฐ์หุ่นยนต์ต้องใส่ใจกับทุกรายละเอียดของทุกส่วน มือ นิ้วและแขน ให้กระดุกกระดิกได้ทุกข้อ. มือเป็นส่วนสำคัญที่พัฒนาขึ้นให้ใช้งานได้ให้มากที่สุด มากกว่าส่วนใดของร่างกาย เป็นส่วนที่เคลื่อนไหวและ“ทำงาน” หยิบ จับ ยื่นออกและหดเข้าได้ทั้งซ้ายและขวา. ประเด็นสำคัญประเด็นแรกเมื่อเริ่มสร้างหุ่นยนต์ คือต้องเคลื่อนไหวได้ทั้งตัวเหมือนคนในทุกอิริยาบท.

หุ่นมาเรีย(Maria) เป็นหุ่นยนต์หน้าตาผู้หญิง (gynoid หรือ female android). เป็นหุ่นมนุษย์ตัวแรกในภาพยนต์ เป็นตัวประกอบสำคัญในภาพยนต์เยอรมันเรื่อง Metropolis[เมทร้อปอลิซ] ของ Fritz Lang [ฟริตซ ลัง] ในปี1927. Walter Schulze-Mittendorff ออกแบบลักษณะรูปร่างทั้งตัว เหมือนออกแบบเสื้อผ้าให้เป็นชุดหุ่นยนต์ สำหรับนักแสดงชื่อ Brigitte Helm ที่แสดงเป็นทั้งมาเรียนางเอกผู้เป็นคนดีมีศีลธรรมและหุ่นแฝดมาเรียนางร้าย. การค้นพบหน้ากากของแฟโรห์อีจิปต์ Tutankhamun[ตูตันคามุน](ผู้ครองอีจิปต์ระหว่างปี 1332-1323BC) ในปี1925 มีส่วนดลใจให้เขาสร้างหน้าตาของมาเรียดังที่เห็นในภาพ และยังวางรูปแบบหน้าตาหุ่นยนต์รุ่นต่อๆมาในภาพยนต์แนวนิยายวิทยาศาสตร์(science fiction)อีกด้วย เช่นหุ่นที่ชื่อ C-3PO [ซีทรีพีโอ] ในภาพยนต์ชุด Star Wars (ของ George Lucas ตั้งแต่ปี1977). (ภาพหุ่นมาเรีย ที่เห็นในนิทรรศการหุ่นยนต์ เป็นตัวจำลองทำขึ้นปี2016).
ฉากในภาพยนต์ Metropolis เมื่อ Rotwang คนสร้างหุ่น(คนสวมเสื้อคลุมตัวยาว) เปิดเผยตัวหุ่นที่เขาสร้างโดยเลียนแบบหน้าตาของมาเรีย นางเอกในเรื่อง. Fredersen ผู้สั่งหุ่นตัวนี้พออกพอใจมาก. ตามด้วยการช้าร์จประจุไฟฟ้าเพื่อให้หุ่นมีชีวิตขึ้นมา. เล่ากันว่า การถ่ายทำตอนนี้ใช้เวลาถ่ายแล้วถ่ายใหม่ทั้งหมดเก้าวันในเดือนมกราคมปี1926.
หน้ากากของแฟโรห์ Tutankhamun. ภาพของ Carsten Frenzl from Obernburg, Deutschland (TUT-Ausstellung_FFM_2012_47) วันที่ 25 เมษายน 2012. [CC BY 2.0 (http://creativecommons.org/licenses/by/2.0)], via Wikimedia Commons. ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์กรุงไคโร.
หุ่นยนต์คู่หูในเรื่อง Star Wars หุ่นตัวสูงชื่อ C-3PO[ซีทรีพีโอ] และหุ่นตัวกลมป้อมชื่อ R2D2[อารฺทูดีทู]. หุ่นตัวสูงนั้น ไม่ใช่หุ่นทั้งตัว เป็นเครื่องแบบของตัวละครที่เป็นหุ่น คนแสดงคือ Anthony Daniels นักแสดงชาวอังกฤษ. หุ่นตัวกลมป้อมนั้นเป็นหุ่นทั้งตัว. (อ่านอุปนิสัยของหุ่นทั้งสองตัวในบทที่สี่). ติดตามอ่านเรื่องย่อเกี่ยวกับภาพยนต์ Metropolis ได้ในบทที่ห้า.

หุ่นตัวนี้ชื่อเอริค-Eric ที่หน้าอก มีอักษร R.U.R. ทำให้นึกถึงหุ่นในบทละคร Rossum's Universal Robots ของ Karel Čapek [คาเรล ชับเผ็ก] ปี1920. ต่อมามีผู้นำบทละครมาทำเป็นภาพยนต์เรื่องสั้น ใช้หุ่นหน้าตาแบบนี้. หุ่นตัวนี้ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าสิบสามตัว และมีระบบควบคุมอย่างใกล้ชิดเพื่อทำให้หุ่นยืนตรง โค้งคำนับ พูดสุนทรพจน์สี่นาทีและตอบคำถามได้ถึงหกสิบคำถาม. ความสามารถของเอริค ทำให้ถูกนำไปโชว์ตัว ตระเวนไปรอบสหราชอาณาจักร. ผู้คนตื่นเต้นติดตามไปชมเขาทั้งในสหราชอาณาจักรและในสหรัฐอเมริกา. หุ่นเอริคออกแบบโดย Captain William H. Richars and Alan Reffell, Surrey, UK.

 Goerge & Tony Sale
จ๊อร์จ-George เป็นมนุษย์หุ่นยนต์ตัวแรกๆของสหราชอาณาจักร สร้างขึ้นในปี1949 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง. ผลงานของ Tony Sale, Essex, UK. (Source : The National Museum of Computing). ขนาดเท่าคน หน้าตาบ้องแบ๊ว. Sale สร้างหุ่นยนต์ของเขาเป็นชุด George นี้ ตั้งแต่อายุ12. ตัวนี้เป็นตัวที่ห้า สูงหกฟุต. ปี1949นั้น เขารับราชการในกองทัพอากาศ ประจำที่ RAF Debden (Essex) เขามีหน้าที่สอนนักบินให้รู้จักใช้เครื่องเรดาร์. ระหว่างเวลาว่าง เขาสร้างหุ่นตัวที่ห้าขึ้น ใช้เศษอลูมีเนียมและดูราลูมิน(duralumin)ของเครื่องบินทิ้งระเบิดที่ตกลงใกล้ๆฐานของเขามาประกอบกัน. ใช้แบ็ตเตอรีสองชุดจากจักรยานยนต์เก่ามาเป็นพลังงานกระตุ้นให้หุ่นเดิน หมุนหัวไปมา ยกแขนขึ้นและนั่งลงได้. หุ่นถูกทอดทิ้งให้จับฝุ่นในโรงรถของเขากว่า45ปี Sale จึงนำออกมาซ่อมแซมจนเดินได้และทำกิจกรรมได้เล็กน้อยเช่น หิ้วถุงช้อปปิ้งหรือดายหญ้า. Sale ใช้เครื่องส่งสัญญาณขนาดมือถือที่ติดระบบรีโมทคอนโทรฺสั่งหุ่นยนต์ด้วยรหัสมอส (Morse code instruction). บรรดานักข่าวหนังสือพิมพ์ชื่นชอบจ๊อร์จมาก ว่าน่าจะเป็นหุ่นใช้ในบ้านได้ในอนาคต และอาจเป็นมนุษย์หุ่นยนต์ที่ถูกส่งไปในสนามสงครามทำหน้าที่รบแทนคน(และตายแทนคน)ในอนาคตด้วย. หุ่นตัวนี้มีศักยภาพค่อนข้างจำกัดเพราะระบบปัญญาประดิษฐ์ยุคนั้นยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นแบบหยาบๆเท่านั้น.

Dr.Piero Fiorito (จากเมือง Turin อิตาลี) สร้างหุ่นชื่อ Cygan[ซีกัน]ตัวนี้ในปี1957. หุ่นตัวนี้ที่มีน้ำหนักถึง 500 กิโลกรัม ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าสิบสามเครื่องและควบคุมให้ทำงานด้วยระบบวิทยุ. ตอนต้น Cygan โดดเด่นมาก ถูกนำไปโชว์ตามที่ต่างๆ เขาเต้นรำได้และเหยียบกระป๋องให้แหลกต่อหน้าลูกค้าเพื่อให้พวกเขาสนุกสนานเฮฮา. ต่อมาเมื่อความตื่นเต้นลดน้อยลง หุ่นถูกละทิ้งไว้กลางแจ้งจนขึ้นสนิม ก่อนที่คนมาช่วยชีวิตมันไว้และซ่อมแซมขัดเกลาให้อยู่ในสภาพเดิม.
   หุ่นยนต์ตัวแรกๆเช่น Eric และ Cygan เน้นการเดินยกมือยกขาและเท้าก้าวไปข้างหน้า. คนเริ่มตั้งชื่อหุ่นยนต์. หน้าตาหุ่นยนต์ไม่เน้นให้เหมือนคน ให้เป็นเพียงภาพคร่าวๆ เหมือนภาพวาดของเด็กๆ อาจเพิ่มลักษณะบางประการให้ดูขบขัน เช่นใบหูใหญ่ เท้ามักดูหนาและหนัก. พวกมันยังไม่มีจิตใจหรือมันสมองของมันเอง เพราะเบื้องหลังการแสดงของหุ่นเหล่านี้ มีคนเป็นผู้คุมด้วยรีโหมตหรือไมโครโฟน. นักวิจัยในทศวรรษที่1950s เริ่มค้นหาวิธีให้หุ่นยนต์เดินได้ มีพฤติกรรมด้วยตัวมันเอง โดยไม่มีคนช่วยอยู่หลังม่าน. บางคนไปไกลกว่านั้น คือมุ่งสร้างระบบสมองกลให้หุ่นยนต์ตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมหรือบริบทต่างๆในวิถีชีวิตจริงของคน.

ภาพของหุ่น Shakey [เชคกี้] ที่พิพิธภัณฑ์ Computer History Museum ภาพของ  Marshall Astor from San Pedro, United States. 10 January 2007. [CC BY-SA 2.0 (https://creativecommons.org/licenses/by-sa/2.0)], via Wikimedia Commons.
Shakey ถูกสร้างขึ้นระหว่างปี1966-1972 ในโครงการที่ Charles Rosen เป็นหัวหน้า ที่ศูนย์ Artificial Intelligence Center ของสถาบัน Stanford Research Institute (ปัจจุบันคือ สถาบันนานาชาติ SRI). เป็นหุ่นยนต์ตัวแรกที่สร้างให้เป็นหุ่นอเนกประสงค์ เคลื่อนไหวไปมาได้ ไม่มีหน้าตารูปร่างเหมือนคน มันฉลาดรู้ที่มาที่ไปเกี่ยวกับพฤติกรรมของมันเอง. เมื่อได้คำสั่ง มันวิเคราะห์คำสั่ง แยกแยะออกเป็นขั้นตอนด้วยตัวมันเอง ก่อนลงมือทำตามคำสั่ง. โครงการวิจัยดังกล่าวจึงรวมวิทยาการด้านคอมพิวเตอร์และกระบวนการเรียนรู้ภาษาธรรมชาติ. เมื่อเกิดระบบคอมพิวเตอร์ดิจิตัลในศตวรรษที่20 นักวิจัยต่างมองว่า คอมพิวเตอร์คือสมองอีเล็กทรอนิค จึงเริ่มคิดสร้างหุ่นยนต์ที่มีสมองคอมพิวเตอร์. หุ่นยนต์ที่ใส่และเปลี่ยนโปรแกรมได้ตัวนี้เป็นตัวแรกและตัวเดียวที่ไม่เหมือนหุ่นใดๆที่มีมาก่อน. บริษัท General Motors ได้นำหุ่นตัวแรกนี้ไปทำงาน(เคลื่อนย้ายโลหะร้อนๆ)ในโรงงานในปี 1961. หุ่นตัวนี้ทำงานตามโปรแกรมที่ใส่ไว้ให้อย่างอัตโนมัติ ทำงานที่เสี่ยงอันตรายซ้ำแล้วซ้ำอีก. เมื่อฟังคำสั่งเช่น ย้ายบล็อกออกไปที่โต๊ะ มันจะคิดเองว่าจะทำอย่างไร. เริ่มด้วยการมองไปรอบๆห้อง มองให้รู้ว่าบล็อกนั้นอยู่ที่ไหนและคิดวาดเส้นทางที่มันจะนำบล็อกผ่านสิ่งกีดขวางต่างๆไปถึงโต๊ะได้อย่างไร. หุ่นยนต์ Shakey จึงเป็นหุ่นยนต์ที่คิดได้ด้วยตัวเองหุ่นแรก. ในปี2004, Shakey ได้เข้าเป็นสมาชิกในสภา Carnegie Mellon Robot Hall of Fame ภายในรั้วมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon University (Pittsburgh, USA).                

ในปี 1996 บริษัท Honda Motor Company สร้างหุ่นที่ให้ชื่อว่า Honda P2. ปีนั้น หุ่นยนต์ตัวนี้ทำให้โลกตะลึง เมื่อมันเดินก้าวเท้ายาวๆข้ามห้อง เดินขึ้นบันได และในที่สุดเดินเข้าในประวัติศาสตร์ว่าเป็นมนุษย์กลที่เดินได้เองตัวแรกของโลก. โครงการสร้างหุ่นยนต์ของฮอนดา ได้ดำเนินงานสร้างมาอย่างลับๆเกือบสิบปีแล้ว หุ่น P2 ตัวนี้ เป็นแบบที่เก้าที่ทำขึ้น เป็นผลจากการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของคนอย่างเจาะลึกของคณะวิศวกรฮอนดา. อย่างไรก็ดี หุ่นตัวนี้มีเท้าแบนราบ และต้องใช้พลังงานจำนวนมากเพื่อยกขาขึ้นและวางเท้าลงไปข้างหน้าในแต่ละก้าว และใช้แบ็ตเตอรีในตัวหมดลงในเวลาเพียงสิบห้านาที.

ในราวปี1999 สถาบัน Massachusetts Institute of Technology สร้างหุ่นครึ่งตัว เรียกชื่อว่า Head of Cog. Cog [ขอค]เป็นผลจากความพยายามค้นคว้าในประเด็นที่ว่า สติปัญญาแบบคนนั้น จะพัฒนาขึ้นได้ไหมโดยผ่านกระบวนการตอบโต้กับสภาพแวดล้อมรอบข้าง. Cog เหมือนทารกร่างเหล็กตัวใหญ่ เรียนรู้โลกจากประสบการณ์ เหมือนเด็กเล็กที่สำรวจการเคลื่อนไหวของร่างกายและเรียนรู้การควบคุมร่างกาย ด้วยการยื่นมือออกไปจับ สัมผัสสรรพสิ่งรอบตัว สัมผัสของเล่นสีต่างๆ เป็นการเรียนที่ผสมผสานตากับมือ ครั้งแล้วครั้งเล่าด้วยการหยิบของเล่นขึ้นดู มองดูมันและปล่อยให้มันตกลง จนเกิดทักษะใช้ประสบการณ์ตอบโต้กับสภาพแวดล้อม และมีปฏิกิริยากับคน(จริง)ที่ดูแลมัน…(การเรียนของเด็กทารก น่าจะพัฒนาเร็วกว่าหุ่นตัวนี้)
การเรียนของ Cog เริ่มด้วยการรับรู้ว่าของเล่นอยู่ที่ไหน มันมีตาเป็นกล้องถ่ายรูป แล้วไปหยิบของเล่นนั้นด้วยแขนของมัน. Cog มีครูผู้สอน(ที่เป็นคน) มันเรียนที่จะเล่นกับเศษผ้า เขย่ากระพรวนและตีกลอง.
ในยุคเดียวกันนั้น(1996-2006)ในอิตาลี คณะ Giorgio Metta แห่ง University of Genoa ก็ได้ทดลองสร้างหุ่นในแนวเดียวกันนี้ที่เรียกว่า Babybot. (Source : Instituto Italiano di Tecnologia)

ในปี2000 บริษัทฮอนดาประเทศญี่ปุ่น-Honda Motor Corporation สร้างหุ่นยนต์ชื่อ ASIMO [อะซีโม] ย่อมาจากคำ Advanced step in innovative mobility. ณปีนั้น อะซีโมเป็นมนุษย์หุ่นยนต์ที่ล้ำหน้าที่สุดในโลก. ยังไม่มีหุ่นยนต์ตัวใดที่ถูกใส่โปรแกรมปัญญาประดิษฐ์และศักยภาพในการเคลื่อนไหวอย่างคล่องตัว ฉบับเข้มและเพียบเท่าที่มีในหุ่นตัวนี้. อาซีโมถูกสร้างให้เป็นหุ่นยนต์ที่เคลื่อนไหวได้ตามลำพัง ที่วันหนึ่งในอนาคตอาจมีปฏิสัมพันธ์และช่วยเหลือมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ. วันนี้หุ่นยนต์ล้ำยุคอย่างอะซีโม ตรึงคนดูได้มากมาย มันได้ทำหน้าที่ของทูต ของตัวแทนบริษัทต่างๆที่ผลิตมันขึ้น.
   อาซีโมทำอะไรได้บ้าง? มันวิ่งขึ้นหน้าและวิ่งถอยหลังได้ วิ่งหรือเดินมีความเร็วสูงสุดที่ 7 กิโลเมตรต่อชั่วโมง. หลบหลีกสิ่งที่ขวางหน้าได้. เดินไปบนถนนต่างระดับได้ โดยไม่สะดุดหกล้ม. เลี้ยวมุมตึกได้โดยไม่ต้องหยุด. กระโดดขึ้นลงหรือกระโดดข้ามได้ทุกทิศทาง. เล็งและเตะลูกบอลไปที่เป้าได้. จับฉวยและหยิบวัตถุในชีวิตประจำวันได้. จำหน้าตาคนไว้ได้ จำเสียงคนพูดแต่ละคนได้ในวงสนทนา. ใช้ภาษาเครื่องหมายได้. หากชาร์จไฟเต็มที่ มันทำทุกอย่างที่กล่าวมาข้างต้นได้นานหนึ่งชั่วโมง.
    ข่าวล่าสุดจากฮอนดา คือหลังจากความหายนะที่เกิดขึ้นกับศูนย์พลังงานนิวเคลียส์ที่เมืองฟูกุชิมา ฮอนดาสร้างหุ่นยนต์อะซีโมรุ่นปี2017 ให้ชื่อว่า E2-DR ตามโครงการ “Development of Experimental Legged Robot for Inspection and Disaster Response in Plants” นั่นคือเพื่อใช้หุ่นยนต์แบบนี้ในการสำรวจ ช่วยเหลือและรับมืออุบัติภัยรุนแรงในโรงงาน. เรื่องหุ่นยนต์นี้ญี่ปุ่นไม่มีทีท่าจะหยุดลงเลย. (เชิญติดตามต่อไปเองในสื่อต่างๆ)

ลูซี-Lucy เป็นหุ่นยนต์อังกฤษ ที่ Steve Grand สร้างและศึกษาทดลองอย่างต่อเนื่องระหว่างปี2001-2006 เป็นหุ่นส่วนตัวของเขา ทำขึ้นเพื่อศึกษากระบวนการของสมองคนที่ตอบโต้ข้อมูลจากตาสัมผัส. ลูซีมีสมองไฟฟ้าที่ใช้ประจุนิวรอนประดิษฐ์(neuron) ห้าหมื่นประจุ. เขาใส่เซลล์ประสาทให้เต็มที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อให้สมองลูซีรับรู้โลกรอบข้าง. คนสามารถแยกแยะวัตถุต่างๆ จัดเข้าเป็นกลุ่ม และเจาะจงได้ว่าคืออะไรจากมุมมองต่างๆ. สมองคนทำอย่างนี้ได้อย่างไรนั้น ยังไม่เป็นที่เข้าใจกันนัก ความรู้เกี่ยวสมองของคนเองนั้น คนยังรู้ไม่หมด ยังไม่เจาะลึกลงไปได้ทั้งสิ้นทั้งปวง. เช่นนี้การสร้างหุ่นยนต์ให้มีปัญญาประดิษฐ์เหมือนคนนั้นจึงยากมาก.
    สมองคนนั้นประกอบด้วยเซลประสาทนิวรอน 100 billions ประจุ, ลูซีมีเพียงห้าหมื่นประจุ จึงแข่งกับสมองคนไม่ได้. เช่นเมื่อคนมองเห็นเก้าอี้ สมองคนนึกภาพเห็น(ตัวเอง)นั่งบนเก้าอี้ในทันที นั่นคือนึกถึงความหมายของเก้าอี้ นึกถึงประโยชน์ของเก้าอี้. แต่ลูซีเห็นสักแต่ว่าเห็น คิดไปไม่ถึงความหมายของเก้าอี้ (เพราะไม่เคยมีประสบการณ์นั่งบนเก้าอี้). อย่างไรก็ดี ปีแล้วปีเล่า สมองกลของลูซีเกิดรู้จักแยกภาพกล้วยว่าไม่ใช่ภาพแอปเปิล โดยที่ไม่มีการจัดโปรแกรมให้ ไม่มีคนเข้าไปช่วยกระตุ้นให้คิดใดๆ. สมองลูซีเริ่มแยกแยะสิ่งที่เห็น. (Source : Steve Grand)

iCub [ไอคับ] เป็นหุ่นเด็กหัดเดิน(เขาใช้คำว่า toddler [ท็อดเล่อ]) ที่เจาะจงไว้ว่าฉลาดที่สุดในโลก ถูกสร้างขึ้นในปี2004 โดยกลุ่มนักวิจัยชาวยุโรป(Istituto Italiano di Tecnologia, อิตาลี) เพื่อศึกษาวิจัยว่าคนและหุ่นยนต์เรียนรู้จากประสบการณ์ได้อย่างไร. หุ่น iCub มีตาที่เคลื่อนไหวได้ มีหูที่จับเสียงต่างๆได้ มีมือที่ยื่นออก จับฉวยสิ่งของได้ และมีผิวหนังที่รับรู้การถูกสัมผัส. เซ็นเชอร์ทั้งหลายที่อยู่ตามข้อต่อของหุ่นนี้ รับรู้และเก็บข้อมูลเป็นชุดๆ. ปัจจุบันมีหุ่น iCub มากกว่า 30 ตัวที่ถูกส่งออกไปค้นพบโลกด้วยวิธีการเดียวกับการปล่อยเด็กให้สำรวจสิ่งรอบกายในห้อง. นั่นคือให้หุ่นมองและสังเกตสิ่งต่างๆ เข้าไปแตะต้องสัมผัส แล้วมีปฏิกิริยาตอบโต้กับวัตถุนั้นหรือกับคนที่พบเห็น.

หุ่นต้นแบบตัวนี้ (Cronos/ECCE1) ออกแบบมาศึกษาทดลองเพื่อนำไปสร้างหุ่น CRONOS ที่เป็นหุ่นตัวแรกที่สร้างเลียนแบบโครงสร้างของร่างกายคน ทำจากเศษไม้ ลวดและยางยืดหยุ่น(อีลาสติค)ประกอบเข้าด้วยกัน. Owen Holland และ Rob Knight สองนักประดิษฐ์หุ่นยนต์ ได้สร้างหุ่นตัวทดสอบขึ้นระหว่างปี2004-2005 จากการศึกษาภาพวาดสรีระของคนในหนังสือแพทย์เล่มดังๆเช่น Gray’s Anatomy ทั้งยังเป็นการทดสอบคุณภาพของวัสดุแบบต่างๆที่นำมาใช้สร้างหุ่นด้วย. เป็นที่รู้กันดีว่า โครงสร้างของร่างกายคนเป็นตัวกำหนดการเคลื่อนไหวของคน, เคลื่อนไปอย่างไร หันซ้ายแลขวา บิดหรือเอี้ยวตัว เหยียด ยืดหรือหดตัวเป็นต้น. โครงการนี้ยังทำกันต่อมาอีกระหว่างปี2005-2009.
   โครงสร้างของหุ่นยนต์ Cronos ชิ้นส่วนแต่ละชิ้นกับสายระโยงระยางอันซับซ้อนของเส้นเอ็นทั้งหลายของหุ่นยนต์ (ตรงตามระบบเส้นเอ็นในร่างกายคน) ทั้งหมดเป็นผลงานจากมือของผู้สร้างเองทั้งสิ้น. การสร้างหุ่นทดลอง Cronos ต่อเนื่องกันหลายๆปี ทำให้มีปฏิสัมพันธ์กับหุ่นยนต์อย่างต่อเนื่อง ทำให้นักวิจัยสร้างหุ่นที่ถูกต้องมากขึ้นที่เหมือนคนมากขึ้นๆ. การประดิษฐ์สรีระร่างกายที่เหมือนคนจริงๆ มิใช่เรื่องง่าย ล้มเหลวไปก็หลายครั้ง. ถึงกระนั้น หุ่นแต่ละตัวในชุด Cronos นี้ก็มิอาจแทนมนุษย์ทุกแบบทุกประเภทได้. เราทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกันก็จริง แต่เราแต่ละคนก็เป็นหนึ่งเดียวในหมู่มนุษย์. เช่นเดียวกัน หุ่นแต่ละตัวก็มีอะไรเฉพาะตัว แต่ละตัวก็มีความสามารถเฉพาะตัว อาจมีพฤติกรรมแปลกๆ หรือมีข้อบกพร่องเฉพาะตัว(ยิ่งเป็นสิ่งที่ทำด้วยมือด้วย) เช่นนี้จึงทำให้สร้างหุ่นที่เหมือนๆกันสองตัวไม่ได้. อัตลักษณ์ของหุ่นแต่ละตัวทำให้มันเป็นคนมากขึ้นในแง่ที่แต่ละคนไม่เหมือนกันเลย จึงยิ่งยากที่จะใช้หรือซ่อมแซมได้. หุ่น Cronos ตัวล่าสุดคือ ECCE3. Rob Knight เป็นผู้สร้างและออกแบบให้บริษัท EXXEROBOT Consortium ปี 2011.
   เราทุกคนใช้เวลาหลายปีแรกของชีวิต เรียนรู้ความซับซ้อนของร่างกายคน. Owen Holland เชื่อว่า การเรียนรู้ด้วยตัวเองเช่นนี้ เป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยพัฒนาจิตสำนึกที่เติบโตตามร่างกายไปด้วย. Cronos ถูกสร้างเพื่อให้คนสำรวจความเป็นไปได้หรือไม่ ที่หุ่นยนต์เรียนจนรู้จักควบคุมการเคลื่อนไหวของตัวมันเอง.
    ที่มหาวิทยาลัยเทคนิคเมืองมิวนิค (Technische Universität München) พวกนักศึกษากำลังทดลองสร้างหุ่นแบบสามมิติ (3D-printed robot) ด้วยความหวังว่าจะเข้าถึงโครงสร้างร่างกายอย่างชัดเจน ที่ทำให้ควบคุมหุ่นง่ายขึ้นด้วย สะดวกกว่าหุ่นที่ทำด้วยมือดังในหุ่นยนต์ชุด ECCE.

แฮรี-Harry หุ่นนักเป่าทรัมเพ็ตจากญี่ปุ่น ผลงานสร้างสรรค์ของบริษัทโตโยตาในปี2005. โตโยตาได้พัฒนาและส่งเสริมให้ใช้หุ่นเป็นผู้ช่วย เช่นหุ่นตัวนี้ถูกออกแบบให้เป่าทรัมเพ็ตได้จริง แฮรีเคลื่อนไหวนิ้วทุกนิ้วได้อย่างคล่องแคล่วเหมือนนักดนตรีทรัมเพ็ต ริมฝีปากก็ขยับได้ทุกแบบ ทั้งลมหายใจก็เป็นไปตามจังหวะดนตรีด้วย. แฮรีเป็นตัวอย่างและเป็นหน้าต่างที่เปิดให้เห็นความก้าวหน้าแบบก้าวกระโดดของการพัฒนาหุ่นยนต์ของบริษัทโตโยตา ภายในเวลาเพียงห้าปีเท่านั้น ก็สร้างหุ่นได้ถึงขั้นนี้แล้ว.
   แฮรีทำอะไรได้บ้าง? แฮรีเล่นดนตรีตามโน้ตจริง โดยมีคอมเพรสเซอร์อัดลมอยู่ภายในที่ปั๊มอากาศให้ออกจากริมฝีปากประดิษฐ์ ทำริมฝีปากเป่าลมเหมือนนักดนตรีทรัมเพ็ต แถมยังส่ายสะโพกไปมาในขณะที่เท้าเคาะพื้นเป็นจังหวะตามดนตรี. แฮรีเล่นเพลงแจ๊สชื่อ When you wish upon a star, What a wonderful world, Moon river และเพลงฮิตญี่ปุ่นอื่นๆ. (Source: Totota Motor Corporation).

แคซเปอ-Kaspar เป็นหุ่นยนต์เด็ก(ออกแบบและสร้างขึ้นโดยทีม University of Hertfordshire ในสหราชอาณาจักร ระหว่างปี2005-2016). เป็นหุ่นสังคมตัวแรกๆที่สร้างขึ้นเพื่อเด็กออทิซติก(autism) เช่นเป็นโรคสมาธิสั้นหรือโรคจิตหมกมุ่นกับตัวเอง หรือเด็กที่มีปัญหาการสื่อสารกับคนอื่นๆ. เด็กกลุ่มนี้มีปัญหาเรื่องการอ่านสีหน้าแววตาและสภาวะอารมณ์ของคนอื่นๆ หรือไม่เข้าใจความหมายของความประพฤติของคนอื่น. แคซเปอทำหน้าที่เหมือนคนกลาง เป็นเพื่อนที่ช่วยเด็กกลุ่มนี้ให้เล่นเกมส์ต่างๆ. การเล่นเกมส์เป็นสนามของการสื่อสารเบื้องต้นและสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ. เมื่อเด็กกลุ่มนี้เล่นกับหุ่นยนต์ เด็กเพิ่มความมั่นใจในตัวเองมากขึ้นๆที่นำไปสู่การสมาคมกับคนอื่นๆ. ตัวขวาเป็นต้นแบบ เป็นแคซเปอตัวแรก และตัวซ้ายเป็นหุ่นแคซเปอรุ่นล่าสุด.
  แคซเปอช่วยเด็กได้อย่างไรบ้าง? แคซเปอช่วยให้เด็กอ่านและเข้าใจการแสดงออกบนใบหน้าแบบง่ายๆ. ฝึกให้เด็กทำอะไรเมื่อถึงคราวของตน. กระตุ้นให้เด็กเข้าร่วมกับคนอื่น. ให้เข้าใจเหตุและผลที่ตามมาในปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นในสังคม. ให้เข้าใจการสัมผัสทางร่างกาย(การจับต้องผิวกาย)ที่เหมาะสม เช่นเมื่อโดนจับแรงๆ ประสาทสัมผัสที่ผิวของแคซเปอจะมีปฏิกิริยาตอบโต้และทำให้แคซเปอพูดขึ้น เช่น“โอ้ย เบามือลงหน่อย”. แคซเปอทำให้เด็กไม่รู้สึกเคอะเขิน ไม่อายที่จะพูดจะทำ เพราะลักษณะใบหน้าของแคซเปอเหมือนเด็กก็จริงแต่เป็นแบบง่ายๆ ทำให้เด็กคาดเดาความรู้สึกและเข้าใจกิริยาท่าทางของแคซเปอได้. เช่นนี้เด็กรู้สึกมั่นใจในตัวเองมากขึ้น และเข้าใจว่าแคซเปอไม่ได้แกล้งทำเป็นคน เป็นหุ่นที่เด็กเห็นได้ชัดๆว่าเป็นชิ้นส่วนของเครื่องกลไกเป็นต้น. แคซเปอจึงเป็นเครื่องมือของการเรียนรู้ที่ปลอดภัยและคนคาดเดาปฏิกิริยาตอบโต้ของมันได้.

บริษัท Toyota Motor Corporation ได้ผลิตหุ่นยนต์ผู้ช่วยหรือหุ่นยนต์พยาบาลในปี2012 ใช้ชื่อว่า Human support robot. ภาพนี้เป็นตัวอย่างแบบแรกๆที่สร้างขึ้นเพื่อช่วยคนป่วยในบ้าน. หุ่นรุ่นใหม่ที่ออกมาในปี 2015 ได้ถูกนำไปทดลองใช้กับคนป่วยแล้วได้ผลดี. เจ้าของใช้หุ่นได้เองในบ้านของตัวเอง หรือสมาชิกคนใดในครอบครัว หรือหมอประจำที่ไปดูแลที่บ้าน ก็อาจสั่งหุ่นยนต์ได้ด้วยเครื่องบังคับรีโหมต. หุ่นจะเชื่อฟังจากเสียงผู้สั่ง เช่นสั่งให้เอายามา สั่งให้ดึงม่าน ปิดหรือเปิดม่านหรือหน้าต่าง. หุ่นมีแขนและร่างกายที่ยืดหดได้ จึงยืดมือขึ้นไปหยิบของจากที่สูงเช่นหลังตู้ได้ และหยิบของชิ้นใหญ่ชิ้นเล็กได้ รวมทั้งแผ่นกระดาษ เพราะสิ่งที่บุนิ้วนั้นเป็นวัสดุอ่อนและปรับแรงดูดแรงดันอากาศได้ ทำให้นิ้วอ่อนนุ่มพอที่หยิบกระดาษแผ่นบางๆได้.
   ประเทศญี่ปุ่นมีพลเมืองสูงวัยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คาดกันไว้ว่า จำเป็นต้องใช้พยาบาลดูแลคนสูงวัยเป็นล้านคนในปี 2025 แต่ไม่มีคนในประเทศเพียงพอที่ยินดีหรือชอบงานพยาบาลโดยเฉพาะแก่คนสูงวัย. จึงคิดสร้างหุ่นยนต์เพื่อทำหน้าที่แทน เช่นนี้เท่ากับช่วยลดความจำเป็นในการจ้างคนงานชาวต่างชาติ(ที่ญี่ปุ่นพยายามหลีกเลี่ยง). ชาวญี่ปุ่นหลายคนคิดว่าเป็นการดีกว่า มีศักดิ์ศรีกว่าที่จะเชื่อใจเทคโนโลยี แทนการเชื่อคนอื่นให้มาดูแลร่างกายส่วนลับของเขา. ชาวญี่ปุ่นเปิดใจกว้างรับหุ่นยนต์ใหม่ๆล้านกว่าตัวที่จะเข้าร่วมชีวิตกับพวกเขา.

หุ่นยนต์ฝรั่งเศสตัวนี้ เรียกว่า ROSAL (Rob’s Open Source Android) สร้างระหว่างปี2010-2016. หุ่นนี้เคลื่อนไหวได้เหมือนคน โครงกระดูกของมันทำด้วยปลาสติก เชื่อมกันด้วยเส้นเชือกที่ทำหน้าที่เหมือนเส้นเอ็น มีมอเตอร์ควบคุมกล้ามเนื้อ. คนเคยจินตนาการกันว่า การเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์นั้นแข็งทื่อและเงอะงะ แต่นั่นเนื่องมาจากวิธีการสร้างหุ่นยนต์รุ่นแรก. Rob Knight ได้เปลี่ยนโครงสร้างของหุ่นยนต์ตามโครงสร้างของร่างกายคน ทำให้หุ่นยนต์มีความคล่องตัวและยืดหยุ่นมากขึ้น.
(Source: Rob Knight/The Robot Workshop).
นี่ก็เป็นผลงานอีกชิ้นหนึ่งของ Rob Knight ที่เขาเรียกว่า Hobby Grade Hand สร้างขึ้นในปี 2012. เขาแสดงให้เห็นว่า กล้ามเนื้อของคนทำงานร่วมกันจึงทำให้ทั้งร่างเคลื่อนไหวได้. เมื่อสร้างหุ่นก็ต้องให้สอดคล้องกับระบบเส้นเอ็นกับกระดูกด้วย หุ่นตัวนี้เคลื่อนไหวมือได้ มีเส้นเอ็นเทียมทำจากเชือก ปลายเชือกด้านหนึ่งเอาไปติดแน่นกับกระดูก(เทียม)ของหุ่นเลย อีกปลายหนึ่งติดกับมอเตอร์ที่ทำหน้าที่เหมือนกล้ามเนื้อ.
    มือมนุษย์สามารถเคลื่อนไหวได้สารพัดวิธีมาก. โครงสร้างของมือคนและความสามารถในการใช้มือเพื่อจัดการกับวัตถุชนิดต่างๆ เป็นความซับซ้อนและวิเศษสุดที่ทำให้มือมนุษย์เป็นมือวิเศษเหนือสรรพชีวิตใด. การใช้มือจัดการกับวัสดุสิ่งของ ยังคงเป็นสิ่งยากสำหรับหุ่นยนต์ทั่วไป แต่นักวิจัยก็กำลังคิดค้นวิธีใหม่ๆเพื่อให้หุ่นยนต์สามารถจับต้องวัสดุต่างๆในโลกคนและด้วยวิธีของคน.
ดูใกล้ชิดหุ่นรุ่นใหม่ในภาพยนต์. มือและนิ้วยังคงความสำคัญมากที่สุด.

หุ่นโคโดโมรอยด์-Kodomoroid ผลิตโดยห้องแล็ปของ Hiroshi Ishiguro (ATR, Dentsu Inc. and Miraikan, National Museum of Emerging Science and Innovation), เปิดตัวครั้งแรกในปี 2014. จำนวนที่สร้างขึ้นจนถึงปี 2016 คือ 1 ตัว. ในปีนั้น หุ่นตัวนี้เป็นหุ่นยนต์ที่เหมือนคนมากที่สุดในโลก. ชื่อหุ่นตัวนี้ มาจากการประสมคำญี่ปุ่น kodomo ที่แปลว่า เด็ก กับคำ android ที่แปลว่า เหมือนคน รวมกันคือหุ่นยนต์ที่เหมือนเด็ก. มีผิวหนังเป็นซิลิคอนที่ยืดหยุ่นตัวได้ดี. ผมของหุ่นนั้น ใช้มือคนบรรจงอัดเข้าไปในหนังหัวทีละเส้นๆ. Kodomoroid กลายเป็นหน้าตาของหุ่นยนต์ที่แพร่หลายออกไปไกลนอกประเทศญี่ปุ่น.
    หุ่นตัวนี้ออกแบบให้เป็นผู้อ่านข่าวของ Miraikan (日本科学未来 ที่เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม หรือ National Museum of Emerging Science and Innovation) หน้าที่ของหุ่นยนต์คือการอ่านข่าวและเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน. ปัจจุบันมีหุ่นนักข่าวที่สร้างขึ้นทำหน้าที่นี้อีกหลายตัว.

ในปี2016 ที่อังกฤษ สถานีโทรทัศน์ช่องสี่ (Channel 4 TV) ได้ให้สร้างหุ่นยนต์ตัวนี้ขึ้น สำหรับรายการสารคดีเรื่อง สร้างคนได้อย่างไร (How to Build a Human) หุ่นตัวนี้สร้างลอกเลียนรูปร่างหน้าตาทุกกระเบียดนิ้ว ทั้งคิ้วและฟันของ Gemma Chan นักแสดงสตรี. หุ่นตัวนี้ยังผนวกซอฟต์แวร์ของปัญญาประดิษฐ์เข้าไปด้วย ที่ทำให้หุ่นทำหน้าที่เต็มสมบทบาทของผู้แนะนำและพาชมรายการ. รายการทีวีนี้ประสบความสำเร็จมาก ทุกคนเชื่อว่าผู้ที่กำลังพูดหรือตอบคำถามในรายการสัมภาษณ์ออน
ลายน์ คือนักแสดง Gemma Chan ตัวจริง. (Source : Little Gem Medua Ltd.)
ติดตามสารคดีเรื่องนี้ได้ (ยาว1ชั่วโมง20นาที) ที่นี่ >> https://www.youtube.com/watch?v=evw12nLFAQc   


Nao[นาว] เป็นหุ่นยนต์จากบริษัท SoftBank Robotics เป็นบริษัทหุ่นยนต์ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปารีส. หุ่นเวอชั่นแรกออกมาในปี2008 หลังจากนั้นก็มีเวอชั่นอื่นๆออกมาอย่างต่อเนื่อง. ในปี2015 มีประเทศกว่าห้าสิบประเทศแล้วที่ใช้หุ่นยนต์ตัวนี้ เพื่อการค้นคว้าและการศึกษาตามสถาบันการศึกษาทั่วโลก จึงเป็นหุ่นยนต์ที่นำออกใช้แพร่หลายมากที่สุดในโลกตั้งแต่ปีนั้น อีกทั้งราคาย่อมเยากว่า(เมื่อเทียบกับหุ่นยนต์อื่นๆ)และใช้ง่าย. มักใช้ในงานวิจัยและในกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดปฏิสัมพันธ์ในหมู่เด็ก. แต่ก็มีที่ถูกนำไปใช้ในแนวใหม่ๆด้วยเช่นเป็นหุ่นคอยทักทายลูกค้าในธนาคารหรือของสายการบิน หรือประจำที่เคาว์เตอร์ประชาสัมพันธ์หรือฝ่ายบริการลูกค้าของโรงแรม หรือเข้าร่วมฟุตบอลโลกของหุ่นยนต์เป็นต้น. ผู้สร้างสามารถสร้างโปรแกรมเฉพาะกิจตามความต้องการของลูกค้า เพื่อนำไปใช้ตามเป้าหมายที่แตกต่างออกไป. ในกรณีของเด็กผู้ป่วย(ติดเตียงเป็นต้น) Nao ช่วยได้ นอกจากการเป็นเพื่อนอยู่ข้างๆคนป่วย เช่นเด็กที่ต้องอยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลเป็นระยะเวลานานๆ ไม่มีโอกาสไปเข้าห้องเรียนเหมือนเด็กอื่นๆ Nao อาจไปเข้าฟังแทนและมาสอนให้เด็กที่โรงพยาบาล. Nao ยังทำกายภาพบำบัดให้เด็กได้ ทำเป็นช่วงๆอย่างต่อเนื่องกัน หรือสอนให้รู้จักอ่านระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยติวคำนวณ ติวภาษาต่างๆให้ เป็นต้น. เด็กๆมักพอใจที่จะเรียนหรือเล่นกับหุ่น Nao.

ยูมิ-YuMi เป็นหุ่นอุตสาหกรรมที่มีสองแขนตัวแรกจากบริษัท ABB Robotics ประเทศสวิสเซอแลนด์ (มีรหัสหุ่นว่า IRB 14000 YuMi) สร้างขึ้นในปี2015. ผู้สร้างรับประกันความปลอดภัย ยืนยันว่า มันทำงานร่วมกับคนงานได้. ยูมิถูกออกแบบให้มาเป็นผู้ประกอบชิ้นส่วนอีเล็กทรอนิค ชิ้นส่วนทางการแพทย์และชิ้นส่วนเล็กๆอื่นๆ. ยูมิตัวเล็กและไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ แม้ให้มันทำงานบนโต๊ะตรงข้าม. ยูมิไม่เหมือนหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่สร้างกันมา ซึ่งมักตัวใหญ่ กำลังแรงสูง จึงอาจเป็นอันตรายต่อคนได้.
    ยูมิทำอะไรได้บ้าง? มันจัดตำแหน่งแขนของมันได้ตลอดเวลา ให้สอดคล้องกับความกว้างของพื้นที่ที่ตั้งมันไว้ และคิดกะระยะทางตามเวลาจริง เพื่อมิให้แขนที่ยืดออกไป ไปชนสิ่งใดหรือผู้ใดบนเส้นทาง. ยูมิจึงรู้จักหลบหลีกคนงานอื่นๆที่มันทำงานด้วย ทำงานร่วมกับคนได้โดยไม่สร้างปัญหาให้ใคร. มันจะหยุดทันทีด้วยความเร็วภายในเสี้ยวพันของหนึ่งวินาที เมื่อเกิดปะทะกับสิ่งกีดขวาง. นอกจากนี้ ส่วนของหุ่นที่เป็นโลหะแข็ง ผู้สร้างได้ใช้หมอนหนุนนุ่มๆสีเทาเข้าไปปกปิดบริเวณที่เป็นโลหะแข็ง จึงช่วยลดแรงกระแทกได้อย่างมาก หากเกิดการปะทะกับคนในสภาพการณ์ที่คาดไม่ถึง.

แบ๊กสเตอร์-Baxter หุ่นสองแขนจากสหรัฐอเมริกา เจาะจงไว้ว่าเป็นหุ่นยนต์สองแขนตัวแรกของโลก(ปีสร้าง2015)ที่ถูกออกแบบมาให้ทำงานร่วมกับคน. มีเวอชั่นที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ในโรงงาน และเวอชั่นสำหรับใช้ในงานวิจัยภายในห้องแล็ป
    แบ๊กสเตอร์จ้องไปที่ทิศทางใดเพื่อบอกว่ามันกำลังจะทำอะไร และใช้ข้อมูลบนใบหน้าของมัน(ที่กำหนดไว้แบบต่างๆ)เพื่อบอกสภาวะของการปฏิบัติงานของมัน เช่นใบหน้านิ่งเฉย สับสน แปลกใจ เศร้า(เพราะกำลังไฟลดลง) หรือใบหน้าที่กำลังหลับ. แม้ผู้ที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ก็อาจฝึกแบ๊กสเตอร์ได้ด้วยการจับแขนของมันไปวางณตำแหน่งที่ถูกต้องก่อนให้มันทำงาน. เมื่อมันทำอะไร มันเก็บข้อมูลของสิ่งที่ทำเพิ่มเข้าไปในหน่วยความจำของมัน. แบ๊กสเตอร์ตัวนี้ถูกออกแบบให้ทำอะไรได้บ้าง?   
    มือของแบ๊กสเตอร์ติดกล้องถ่ายรูปไว้ มันจึงสแกนวัตถุต่างๆบนโต๊ะได้ในทันที. มันจับและหยิบสิ่งของได้ เมื่อจับแล้วก็จะสแกนข้อมูลของสิ่งนั้นเข้าไปเก็บในหน่วยความจำของมัน. มหาวิทยาลัยบราวน์ (Brown University) ได้ให้แบ๊กสเตอร์ช่วยเก็บข้อมูลต่างๆจากฝูงชน. ยิ่งแบ๊กสเตอร์รู้ข้อมูลใหม่ๆจากสิ่งต่างๆมากขึ้นๆ ยิ่งง่ายที่จะฝึกให้มันทำงานชิ้นใหม่ๆที่มันไม่เคยทำมาก่อนได้. โครงการ Million Object Challenge หมายมั่นจะส่งหุ่นแบ๊กสเตอร์จำนวนร้อยๆหุ่นไปทั่วโลก เพื่อให้มันเรียนรู้สิ่งใหม่ๆเป็นจำนวนหนึ่งล้านประเภท แล้วนำความรู้ที่สั่งสมในสมองกลของมันมาแบ่งปันกับคน. Software ที่เป็นโปรแกรมในหุ่นแบ๊กสเตอร์นั้นเป็นผลงานของ John Oberlin and Stefani Tellex.
   ในปี2016 อิตาลีก็สร้างหุ่นสองแขนขึ้นเช่นกันให้ชื่อว่า Amico [อะมี้โกะ] มีศักยภาพไม่ผิดหุ่นยนต์สองแขนที่กล่าวมา เพิ่มความสามารถพิเศษว่าแต่ละแขนยกสิ่งของหนักได้ถึงสามกิโลกรัม.

หุ่นยนต์ RoboThespian [โรโบเธซเปียน] ผลิตโดย Engineeered Arts (UK) เริ่มออกตัวแล้วในปี 2005 (ปริมาณขายในปี 2006 คือ80ตัว). ภาพที่เห็นเป็นเวอชั่นปี2016. เป็นหุ่นขนาดเท่าคนจริงตัวแรกของอังกฤษที่ผลิตขึ้นเพื่อขาย ผลิตให้ไปเป็นหุ่นนักแสดง. นอกจากการแสดงปกติที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ทั่วไปในโลกแล้ว ยังได้เป็นดาราในภาพยนต์และละครอีกหลายเรื่อง เล่นละครสดต่อหน้าคนฟัง(stand-up comedy) และเคยเป็นผู้ดำเนินพิธีแต่งงานในจีน.
    หุ่นยนต์ RoboThespian ถูกใส่โปรแกรมให้ทำอะไรได้บ้าง? หุ่นตัวนี้ขยิบตา กลิ้งลูกตาไปมา กระพริบหนังตา มองจ้องหน้าใคร จะจำหน้าตาคนนั้นได้ ทั้งยังเดาเพศ อายุ สีหน้าที่บ่งบอกความรู้สึกของคนที่มองตามัน. มันมีกิริยาท่าทีหลากหลายเพื่อเน้นจุดยืนของมันในการสนทนา. โต้ตอบและให้ข้อมูลได้สี่ภาษา. นอกจากนี้ ขณะแสดง จะเกิดแสงวับๆได้ห้าจุดบนตัวหุ่นยนต์ เพื่อให้การแสดงออกของมันตื่นเต้นประทับใจยิ่งขึ้น.


หุ่นตระกูล REEM จากประเทศสเปน สร้างขึ้นในระหว่างปี2006-2010. หุ่นเหล่านี้ แต่ละตัวเป็นตัวเดียวของตระกูล. เป็นตระกูลหุ่นยนต์บริการ. การสร้างหุ่นที่เดินปะปนในกลุ่มคนได้อย่างอิสระนั้น เป็นความท้าทายสำหรับวิศวกรทั้งหลาย. เทคโนโลยีปัจจุบันที่เอื้อให้เปลี่ยนการเคลื่อนตัวของหุ่นยนต์ไปเป็นแบบหมุนไปด้วยล้อนั้น เป็นกระบวนการที่มีประสิทธิภาพสูงและสะดวกด้วย.
   เวอชั่นล่าสุดปี2016 เป็นหุ่นบริการที่ถูกออกแบบให้ทำงานในสภาพแวดล้อมของคนจริงๆและมีปฏิสัมพันธ์กับคนอย่างอิสระ. บริษัทและองค์การต่างๆเช่าหุ่น REEM ไปใช้เพื่อสร้างวิสัยทัศน์ดีๆเกี่ยวกับกิจกรรมของบริษัท หรือนำไปออกงานโปรโมชันต่างๆ. หุ่น REEM เป็นพนักงานต้อนรับ ทักทายแขก เป็นประธานในพิธีหรือเป็นมัคคุเทศก์.
   หุ่น REEM ทำอะไรได้บ้าง?  หุ่นเคลื่อนตัวได้อย่างอิสระ สามารถหลีกเลี่ยงการเดินชนใครหรือสิ่งกีดขวางใด. ติดตาม บันทึกและจดจำใบหน้าคนทุกคนได้. ตอบคำถามง่ายๆด้วยการพูด หรือปรากฏบนจอสัมผัสตรงหน้าอกของหุ่น. ทำแผนที่ของสภาพแวดล้อมของสถานที่. หากชาร์ตไฟเต็มที่ หุ่นนี้ทำหน้าที่ของมันได้ถึงแปดชั่วโมง.
(Source : PAL Robotics)

จบตัวอย่างที่นำมาบอกเล่าแต่เพียงเท่านี้.  การติดตามหุ่นยนต์ที่สร้างขึ้นใหม่ในแต่ละปีนั้น เป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไปไม่มีวันสิ้นสุด เพราะนี่เป็นยุคของหุ่นยนต์ครองสังคมจริงๆแล้ว. ตั้งแต่หุ่นยนต์ตัวแรกๆที่คนสร้าง ใส่หน้าตาเหมือนคนเดินดิน มาเดี๋ยวนี้คำหุ่นยนต์ ไม่เจาะจงแล้วว่าต้องเหมือนเป็นหุ่นคนทั้งรูปร่างหรือหน้าตา แต่อาจเป็นรูปลักษณ์แบบใด เป็นทรงเหลี่ยมหรือทรงกลม. ลักษณะและศักยภาพของหุ่น ขึ้นอยู่กับเป้าหมายการใช้เป็นสำคัญ บางทีต้องเป็นตัวใหญ่ บางทีเป็นตุ๊กตาที่อุ้มไปไหนด้วยได้ บางทีก็เป็นขนาดเล็กแบบตั้งโต๊ะ หรือเหมือนของเล่นชิ้นหนึ่ง. ดังตัวอย่างหุ่นยนต์ตัวที่เพิ่งออกใหม่ปี2017ชื่อ CozmoBot ผลผลิตของบรษัท AnthroTronix, Inc.(USA) มีขนาดกระทัดรัด มีใบหน้าสี่เหลี่ยม ที่รวมแล้วคือซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ยุคปัจจุบัน ที่ตอบโต้กับคนเล่นด้วยตัวมันเอง คำพูดของมันมิใช่ประโยคซ้ำๆ แต่คือการสนทนาจริงระหว่างคนเล่นกับหุ่นน้อยตัวนี้ เป็นประโยคใหม่ๆที่มันคิดขึ้นในแต่ละขณะ. ยังทำหน้านิ่วคิ้วขมวด หรือแสดงอารมณ์ทุกประเภทด้วยบนจอเล็กของมัน. (โลกมีของเล่นใหม่ๆที่วัยชราของเรา ตามไปเล่นด้วยไม่ได้แล้ว).
 ภาพหุ่นยนต์ Cozmo จากอินเตอเน็ต เป็นหุ่นที่ผลิตเพื่อจำหน่าย

     การที่หุ่นยนต์พูดได้ โดยเฉพาะหุ่นยนต์รุ่นใหม่ๆ มักใช้เสียงเหมือนเด็ก เสียงใส พูดเสียงสูงต่ำ เน้นและมีจังหวะตามธรรมชาติของภาษา. เสียงแบบนี้ทำให้คนรู้สึกดี จิตใจอ่อนโยนลง เหมือนกำลังพูดคุยกับลูกหลาน. หุ่นยนต์รุ่นก่อนๆเป็นเสียงห้าวๆ ระดับเสียงเสมอกันเรื่อยๆ ราบเรียบไม่กระตุ้นอารมณ์ ที่อาจทำให้คนหลับ. ข้าพเจ้าคิดว่า เสียงพูดของหุ่นยนต์สำคัญมาก ใช้ความถี่เสียงที่สบายหูและคุ้นหู นี่อาจเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาหุ่นและสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับหุ่นได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะหุ่นยนต์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเพื่อนของเด็ก ของผู้สูงวัย
     ส่วนหน้าตาหุ่นยนต์นั้น เริ่มต้นด้วยการสร้างหน้าตาให้เหมือนคนที่สุด เช่นกรณีของหุ่นมาเรีย(ในภาพยนต์เรื่องMetropolis) หรือหุ่น C-3PO (ในภาพยนต์เรื่อง Star Wars) ที่นับว่าหน้าตาดีกว่าหุ่นคนเหมือนใดๆ แต่นั่นเพราะเป็นเพียงหน้ากากของคนที่แสดงเป็นหุ่น. คนคุ้นเคยกับสิ่งที่เห็น หน้าตาในที่สุดมิใช่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะความใกล้ชิดโดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทำให้เห็นอะไรๆที่ไม่สวยบางทีน่าเกลียดด้วยซ้ำ เป็นสิ่งที่พอทนได้จนกลายเป็นสวย มีเสน่ห์ เป็นความงามได้. เช่นนี้การประดิษฐ์หุ่นจึงไม่เน้นเรื่องความเหมือนอีกต่อไป ใบหน้าหุ่นเป็นเพียงภาพคร่าวๆเท่านั้น. นี่เป็นข้อดีอย่างหนึ่ง เพราะเป็นใบหน้าที่ว่างเปล่าราบเรียบ เหมือนผืนผ้าใบของจิตรกร จะแต่งแต้มอะไรลงไปก็ทำได้เต็มที่ สิ่งที่แต่งแต้มลงจึงสะท้อนตัวตนของผู้วาด. ตัวอย่างใบหน้าของหุ่นเด็กแคซเปอ(Kaspar) เมื่อข้าพเจ้าแรกเห็น แคซเปอมีใบหน้าเหมือนเด็กปัญญาอ่อน จนนึกตำหนิผู้สร้างว่า สร้างหน้าตาให้ดูดีกว่านั้นไม่ได้หรือไง. แต่บัดนี้เข้าใจแล้วว่า เพราะใบหน้าแคซเปอเป็นใบหน้าที่“ว่าง”เหมือนผืนผ้าใบ เด็กจะเห็นตามความรู้สึกของเขา คือเอาความรู้สึกของเขาใส่ลงในใบหน้าของแคซเปอ. เมื่อหุ่นที่เห็นมีความรู้สึกเหมือนกัน มี“สีหน้า”เดียวกัน ทำให้เด็กออทิสติกชอบ เกิดความคุ้นเคย ไม่อายจนกล้าขึ้นๆ เป็นก้าวสำคัญนำเขาออกสู่สังคมภายนอก. จึงพูดได้ว่าหุ่นมีส่วนช่วยในการพัฒนาทักษะการสื่อสารให้เด็กออทิสติก. หุ่นรุ่นใหม่ๆยิ่งมีหน้าตาไม่เหมือนคนเลย เหมือนสัตว์ เหมือนวัตถุมากขึ้นๆ.
    มนุษย์ต่างดาวใน E.T. เป็นหุ่นที่หน้าตาน่าเกลียดสุดๆ แต่ในสายตาของเด็ก(ที่ยังมีใจบริสุทธิ์และอยากรู้อยากเห็น) มันเป็นเพียงหน้าแปลกๆแล้วก็ไม่สนใจเรื่องหน้าตารูปร่างของมนุษย์ต่างดาวนั้น เด็กเกิดความผูกพันทางอารมณ์ความรู้สึกจนพัฒนาเป็นความรับผิดชอบต่อการอยู่รอดของเพื่อนต่างดาวไปจนจบเรื่อง. ทุกคนรู้แน่ชัดแก่ใจว่า สิ่งที่น่ารักเป็นไปได้สารพัดสารพันแบบตามจริต ตามปัญญา ตามภูมิหลังของแต่ละคน. ตรงกับที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ทุกสิ่งที่เห็นเป็นเพียงมายา จิตเท่านั้นที่ปรุงแต่งให้เป็นไปในแบบต่างๆ
   ข้าพเจ้าได้ยกตัวอย่างหุ่นยนต์ตั้งแต่รุ่นแรกๆมาจนถึงราวปี 2015 มาลงไว้เพียงจำนวนน้อย ยังมีหุ่นต่างๆอีกมากมายในโลก สุดที่จะจดจำไหว. ผู้สนใจตามไปดูเรื่องหุ่นยนต์แต่ละตัวได้จากภาพรวมเคร่าๆข้างล่างนี้
เมื่อรู้จักหน้าตาและศักยภาพของหุ่นยนต์ต่างๆแล้ว จำต้องตามไปดูบทบาทของมันในวิถีชีวิตและในจิตสำนึกของคน  ติดตามบทต่อไปเรื่อง << ปรัชญาหุ่นยนต์ >>

บันทึกความสนใจของ โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์
วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๖๐.

บทเขียนในซีรีส์เรื่องหุ่นยนต์ มีดังนี้        :
1. บทที่หนึ่ง << ติดตามดวงดาว ไปจับเวลาชีวิต >>
2. บทที่สอง << ชีวิตไขลาน >> http://chotiroskovith.blogspot.com/2017/11/automata.html
3. บทที่สาม << หุ่นยนต์ ฝาแฝดของคน >> คือบทนี้
4. บทที่สี่ << เจาะใจไปถึงสมองกล >> 
http://chotiroskovith.blogspot.com/2017/12/live-with-artificial-intelligence.html
5. บทที่ห้า << หุ่นยนต์เด่นๆในภาพยนต์ที่ไม่ธรรมดา >> กำลังทำ

No comments:

Post a Comment