Monday, 11 December 2017

เจาะใจไปถึงสมองกล Live with artificial intelligence

    เมื่อเดินผ่านหุ่นยนต์จากยุคต่างๆในนิทรรศการหุ่นยนต์ที่กรุงลอนดอนปี2017นี้  ในวินาทีแรกมโนว่าเหมือนเดินชมประติมากรรมรูปปั้นที่ประดับสวนเช่นที่พระราชอุทยานแวร์ซายส์ แต่แสงสีเหลืองๆแดงๆจากไฟนีออนและความเย็นสม่ำเสมอจากเครื่องปรับอากาศ เข้าแทนที่ร่มเงาและแสงแดดของธรรมชาติแท้ๆและละลอกลมโชยที่หนาวๆร้อนๆ ทำให้การเดินเล่นชมหุ่นยนต์ กระตุ้นประสาทมากกว่าช่วยให้ผ่อนคลาย. อาจเป็นความเคยชิน รูปปั้นที่ยืนเรียงรายในสวนบอกความหมายเราชัดเจน สื่อทั้งความหมายผิวและความหมายแฝงที่เข้าใจได้ทันที  ในขณะที่แถวหุ่นยนต์ในพิพิธภัณฑ์มิได้บอกนัยลึกล้ำใดๆแก่ข้าพเจ้า. หลายเดือนกว่าข้าพเจ้าจะกลับมาค้นและเรียนรู้เกี่ยวกับศักยภาพของหุ่นแต่ละตัว(ที่นั่นเขาไม่เปิดหุ่นให้แสดง), เป้าหมายของผู้สร้างหุ่น, ผลกระทบที่มีต่อโครงสร้างสังคม, ผลกระทบที่มีต่อจิตสำนึก ตลอดจนพัฒนาการของสมองกลที่(เข้าใจว่า)ยิ่งวันอยู่พ้นการคาดคะเนของผู้สร้าง และเป็นสมองที่เหนือกว่าคนด้วย
    500 ปีกว่าแล้วที่คนพยายามสร้างมนุษย์กลไก เริ่มด้วยการเป็นหุ่นกลหรือเครื่องกลที่เครื่อนไหวได้เมื่อไขลาน. ดังกล่าวมาในบทที่สอง(บทชีวิตไขลาน) ศตวรรษที่18-19 เป็นยุคทองของการประดิษฐ์เครื่องกลอัตโนมัติ. หุ่นกลหรือเครื่องกลทั้งหลายนั้น เคลื่อนไหวตามที่ผู้ประดิษฐ์ต้องการ เขาได้บรรจงจัดระบบเฟืองให้เป็นไปตามจินตนาการของเขา สร้างเป็นของเล่น สิ่งประดับหรือเครื่องมือในกระบวนการผลิตเชิงอุตสาหกรรมเท่านั้น. ยังไม่ใช่หุ่นยนต์ที่มี“สมองกล”. ส่วนหุ่นยนต์พร้อมปัญญาประดิษฐ์ยุคปัจจุบันนั้น นอกจากจะทำตามคำสั่งแล้ว คิดวิเคราะห์ข้อมูลและเก็บผลการกระทำ แล้วสังเคราะห์เป็นข้อมูลเสริมที่เพิ่มเข้าเป็นส่วนหนึ่งในโปรแกรมดั้งเดิม เช่นนี้เหมือนต้นไม้ที่ได้รับปุ๋ยแบบใหม่ มีปฏิกิริยากับสารตัวใหม่แล้วย่อยสลายให้เป็นอาหารตัวใหม่ หล่อเลี้ยงสมองกลของมัน. หุ่นยนต์จึงพัฒนาสมองกลของมันไปได้เองและไปในทางที่ผู้สร้างเองอาจคิดไม่ถึงหรือตามไม่ทันก็มี. เหมือนคน เมื่อมีประสบการณ์ใหม่ๆ ทำให้คนมองทุกอย่างต่างไป กว้างขึ้นและเกิดทางเลือกมากขึ้น. หุ่นยนต์ก็เช่นกัน เมื่อมันมีประสบการณ์มากขึ้น มันจึงรู้จักเลือกปฏิกิริยาตอบโต้กับสภาพแวดล้อมหรือบริบทใหม่. นั่นคือ ยิ่งหุ่นยนต์มีประสบการณ์ใหม่ๆ(ถูกนำไปใช้ในบริบทใหม่หรือในการทำงานประเภทใหม่ มันได้เพิ่มพูน“วิสัยทัศน์”หรือขยาย“ภูมิหลัง”ของมันมากขึ้นๆ) ผู้สร้างยิ่งมิอาจคาดคะเนการกระทำหรือปฏิกิริยาตอบโต้ของมัน เพราะการวิเคราะห์และสังเคราะห์ภายในสมองกลของมันนั้น อยู่นอกเหนือโปรแกรมที่ใส่ลงในตัวมัน.
    ประเด็นที่สำคัญที่สุดในกระบวนการวิวัฒน์ของเทคโนโลยี คือหุ่นทุกชนิดทุกประเภท ต้องอาศัยพลังงานไฟฟ้าในรูปแบบใดแบบหนึ่ง คนต้องชาร์จไฟให้หุ่นยนต์อย่างสม่ำเสมอ. การชาร์จไฟให้หุ่นยนต์คือการให้อาหาร ต่อชีวิต คือการไขลานในสมัยก่อน (แต่การไขลานไม่สิ้นเปลืองวัตถุดิบใดๆ เพียงใช้กำลังแขนของคนเท่านั้น). ยามใดที่โลกขาดไฟฟ้า (คือขาดพลังงาน) เครื่องกลจักรและหุ่นยนต์ทั้งหลายก็หยุด มันจะกลายเป็นเพียงเศษเหล็ก เศษวัสดุ. นี่เป็นจุดอ่อนของหุ่นยนต์และในวงกว้างของสังคมโลกในแบบที่เราอยู่ขณะนี้. ในอนาคตอันใกล้นี้ คนต้องสร้างหุ่นยนต์พลังงานแสงอาทิตย์แน่นอน เป็นความจำเป็นไม่เฉพาะต่อหุ่นยนต์แต่ต่อความอยู่รอดของมนุษยชาติด้วย.
     ตั้งแต่ปี 1800 เป็นต้นมา ความก้าวหน้าด้านเครื่องยนต์ตามด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรม ช่วยกระพือความต้องการใช้เทคโนโลยีในโรงงานเพื่อช่วยคนให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อช่วยงานที่ยุ่งยากหรืองานหนักเกินกำลังของคน เพื่อช่วยเร่งการผลิต. สังคมเข้าสู่ยุคของการผลิตเพื่อเอาปริมาณให้ได้มากที่สุดในเวลาน้อยที่สุด ด้วยการอาศัยเครื่องกลจักรและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง. เช่นนี้ความหมายของคำหุ่นยนต์ขยายวงกว้างออกไป และรวมสรรพสิ่งที่เคลื่อนไหวได้เอง ระบบอัตโนมัติทั้งหลาย สิ่งประดิษฐ์ต่างๆตั้งแต่นาฬิกาลงมา. ทุกอย่างที่คนสร้างขึ้นเพื่อช่วยคน เพื่อปลดปล่อยคนจากงานที่น่าเบื่อ งานที่เหน็ดเหนื่อย. หุ่นยนต์(ไม่ว่าจะมีรูปร่างหน้าตาเหมือนคนหรือไม่) เป็นสมบัติของผู้ที่สร้างมัน เป็นเจ้าของมัน มันคือทาส คือคนรับใช้ มันอยู่ได้ตราบเท่าที่นายมันต้องการและพอใจมัน. หุ่นหรือเครื่องจักรกลใดคือเครื่องมือชนิดหนึ่งของคน.
    ปลายศตวรรษที่19 ต้นศตวรรษที่20 เป็นยุคที่วัฒนธรรมตะวันตกพลิกเปลี่ยนไปสู่อุดมการณ์ที่มองโลกในแง่ดี ว่า การใช้เหตุผลเป็นพื้นฐานของความรู้และการพัฒนาศาตร์วิชาทุกชนิด เบนจากการยึดความเชื่อที่ผนึกติดกับศรัทธาของคนในศาสนา. ความก้าวหน้าด้านวิทยาการเป็นไปแบบก้าวกระโดด สู่ความสำเร็จด้านเทคโนโลยีที่ดูเหมือนไม่มีอะไรมาขวางได้อีกต่อไป. การสร้างทางรถไฟ การปฏิวัติพลังงานไฟฟ้า การสร้างเครื่องบิน รถยนต์ประเภทต่างๆ ความก้าวหน้าทางการสื่อสาร ระบบสุขอนามัยและการแพทย์ฯลฯ ทั้งหมดเป็นสัญญาณบอกว่าศตวรรษใหม่ๆในอนาคต จักเป็นศตวรรษของความมั่งคั่งและสันติภาพ. แต่แล้วสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ได้มาพลิกผันความหวังกับความฝันของมนุษยชาติ. เทคโนโลยีที่ประทุขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ได้เบนความชื่นชอบในอารยธรรมที่สืบทอดมาจากอดีตไปเสีย ได้บดบังอุดมการณ์มานุษยนิยม บดขยี้ปณิธานของการอยู่ร่วมกันในความมั่งคั่งและสันติสุข. กลายเป็นยุคของการพัฒนาและสั่งสมเทคโนโลยีเพื่อห้ำหั่นมนุษย์ด้วยกันหรือเพื่ออวดศักดาอย่างน่าสลดใจยิ่งนัก.
   รุ่นเราได้เห็นและอยู่กับหุ่นยนต์แบบต่างๆตั้งแต่นั้นมา ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางจอใหญ่จอเล็ก. ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมัยปัจจุบันและในอนาคต ประทับความทึ่ง ความหลงใหล ปนความหวาดหวั่นในใจคน และเร้าใจให้ครุ่นคิดและติดตาม.
   หุ่นยนต์ที่สร้างขึ้นหลังทศวรรษที่ 1920s เป็นเทคโนโลยีรุ่นใหม่ล่าสุด ทำอะไรต่ออะไรได้อย่างวิเศษ ให้ประสิทธิผลคงที่. หุ่นยนต์พูดได้ เต้นรำได้ หรือยืนถ่ายรูปกับดาราภาพยนต์. ศักยภาพใหม่ๆของหุ่นยนต์นั้น เกือบจะไม่มีขอบเขตแล้ว. ในอนาคต หุ่นยนต์จะย้ายจากเวทีภาพยนต์ จากบริษัท จากห้องทดลองห้องวิจัย เข้ามาอยู่ในบ้านคน ทำงานบ้าน ดูแลและเล่นกับเด็กๆ หรือพาสัตว์เลี้ยงไปเดินในสวน. เมื่อนั้น หุ่นยนต์อาจต้องเป็นชายหนุ่มสูงสง่า อกผายไหล่ผึ่งและมีความสามารถหลากหลาย หรือเป็นหญิงสาว รูปงาม ทำหน้าที่ของแม่เด็ก ของพี่เลี้ยง แม่ครัวและคนทำความสะอาดบ้าน หรือเป็นคนติววิชาให้เด็กๆในบ้านด้วย.
     เราอาจสรุปเป้าหมายของการสร้างหุ่นยนต์ บทบาทและศักยภาพของหุ่นยนต์แต่ละประเภท รวมถึงปัญหาแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น. (หุ่นต่างๆที่เอ่ยถึงในบทนี้ นอกจากเจาะจงเป็นพิเศษ มีคำอธิบายคร่าวๆแล้วในบทที่สามเรื่อง หุ่นยนต์ ฝาแฝดของคน)
1) คนสร้างหุ่นให้เป็นเครื่องมือทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ทำงานแทนคน ทำงานเสี่ยงอันตราย ทำงานยกสิ่งของหนักๆ ทำงานได้ไม่หยุดเพื่อเป้าหมายของการผลิตเชิงอุตสาหกรรม. หุ่นยนต์พวกนี้ทำตามคำสั่งเท่านั้น เช่นเครื่องทอผ้าอัตโนมัติทั้งหลาย ที่ปฏิบัติหน้าที่หนึ่งแล้วส่งต่อไปยังหุ่นตัวอื่นที่ทำหน้าที่อื่นต่อๆไปเป็นลูกโซ่หรือไปบนสายพาน. หุ่นยนต์รุ่นนี้ใช้แบ็ตเตอรีไฟฟ้าแทนระบบไขลาน(แบบนาฬิกา) การเคลื่อนไหวถูกควบคุมด้วยระบบวิทยุและอีเล็กทรอนิค. หุ่นยนต์คนงาน ไม่มีปฏิสัมพันธ์ใดๆกับคนงานที่เป็นคนในโรงงานเดียวกัน. หุ่นแบบนี้หยุดเมื่อถูกสับสวิชปิด. คนเป็นนาย เป็นผู้ควบคุมหุ่นยนต์.
   หุ่นที่มีความรู้ความพร้อมในขั้นสูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง เช่นหุ่น YuMi จากสวิสเซอแลนด์ที่ถูกออกแบบให้แยกและหรือประกอบเครื่องมือแพทย์ขนาดชิ้นเล็กๆ หรือหุ่น Baxter จากสหรัฐอเมริกา. ทั้งสองตัวนี้เป็นหุ่นยนต์สองมือแบบครึ่งตัวทำงานอยู่กับที่และตั้งบนโต๊ะ เคลื่อนไหวไปมาไม่ได้ มีความละเอียดสูง มีตาและ/หรือมือเป็นกล้องถ่ายรูปที่สแกนวัตถุทุกอย่างที่วางบนโต๊ะ แล้วสังเคราะห์เก็บเป็นข้อมูลที่มีรายละเอียดยิบ ส่วนมือก็จับหยิบทุกสิ่งได้อย่างเรียบร้อย. เมื่อแบ๊กสเตอร์พบกับหุ่นแบ๊กสเตอร์ตัวอื่นไม่ว่าที่ไหนในโลก มันจะสื่อสารกันได้เอง และแบ่งปันความรู้ใหม่ๆที่อีกตัวไม่รู้ให้แก่กันในทันทีนั้นเลย ในอนาคต นายจ้างอาจใช้วิธีดาวน์โหลดความชำนาญที่ต้องการลงในหุ่นยนต์ตัวหนึ่งโดยตรง แล้วให้มันติดต่อเชื่อมต่อกันเอง แล้วสอนกันเองในหมู่หุ่นยนต์ตระกูลเดียวกัน. หุ่น Amico ของอิตาลีก็เป็นหุ่นสองมือแบบนี้ สร้างจากอลูมีเนียมและแม็กนีเซียม.
หุ่น Amico รุ่นล่าสุดปี 2015 จากบริษัท Comau SpA Robotics (Italy)
    การพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อเป็นเครื่องมือของคน การใส่โปรแกรมให้หุ่นยนต์มีประสิทธิ ภาพเพิ่มขึ้นๆ จนทำให้คิดว่า ไม่มีอะไรแล้วที่หุ่นยนต์เรียนไม่ได้ หรือมีอะไรไหมที่คนเรียนได้ดีกว่าหุ่นยนต์?
    การใช้หุ่นยนต์เป็นเครื่องมือ ขยายออกไปในทุกวงการ(การเมือง สังคม การทหาร). การใช้หุ่นยนต์เพื่อจัดแผนผังของสภาพภูมิประเทศและแผนที่ของเมืองหรือสนามรบ ใส่โปรแกรมให้มันเก็บข้อมูลทั้งหลายเข้าในหน่วยความจำ (ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการทำระบบGPSในปัจจุบัน) และการสร้างหุ่นยนต์เพื่อไปสำรวจพื้นผิวของดวงดาวต่างๆเช่นดาวอังคาร ดวงจันทร์. เช่นนี้หุ่นยนต์จดจำสถานที่ต่างๆและให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ได้อย่างละเอียดลงถึงตารางนิ้ว. พัฒนาการด้านนี้น่าจะเป็นประโยชน์สูงสุดในการทหาร ในสนามสงคราม เพื่อวางแผนยุทธศาสตร์ได้ถูกต้อง. โดยปริยาย เป็นหุ่นยนต์ทหาร ที่ทุกประเทศ(น่าจะ)พัฒนาขึ้นอย่างไม่ลดละและเก็บเป็นความลับสุดยอด. สงครามในอนาคต(แน่นอนว่าจะเป็นสงครามโลก) จะใช้เวลาน้อยมากและความหายนะกระจายไปในวงกว้างถึงสุดขอบฟ้า.

2) ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของศตวรรษที่21 คนสร้างหุ่นยนต์ไว้เป็นทาสรับใช้. องค์ประกอบพื้นฐานของความสุขสบายหรือการกินดีอยู่ดีของคนคืออะไร. คำตอบที่ได้จากวิถีชีวิตแบบต่างๆ เป็นตัวกำหนดการสร้างและการใช้หุ่นยนต์. ทั้งหมดได้ผลักดันให้นักวิทยาศาสตร์และวิศวกร รวมทั้งนักสร้างภาพยนต์ นักเขียน นักเขียนการ์ตูนฯลฯ สร้างหุ่นยนต์เพื่อเป้าหมายนี้. หุ่นยนต์เป็นความฝันและความหวังในความสุขสบายของคน. หุ่นยนต์ได้ออกจากห้องแล็ปและเข้าสู่ห้องนั่งเล่นในครอบครัว. หุ่นยนต์กลายเป็นผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคอย่างหนึ่ง. ในอนาคตอันใกล้นี้ หุ่นยนต์เวอชั่นที่ฉลาดและเป็นมิตรกับผู้ใช้ จะมีมากขึ้นๆ จนกลายเป็นสิ่งสามัญประจำบ้าน ประจำโรงเรียนและสถานที่ทำงานทั้งหลาย.
   การมีหุ่นยนต์มาช่วยงานในบ้าน ทำให้ชีวิตคนสะดวกและง่ายขึ้น ทำให้คนมีเวลาพักผ่อนมากขึ้น ได้อยู่บ้านกับลูกๆ สร้างครอบครัวที่อบอุ่นและอยู่กันอย่างมีความสุข. ทุกคนหวังมีหุ่นยนต์ส่วนตัวเหมือนมีคนบริการตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง มีทาสผู้ที่ไม่รู้จักเหนื่อย ไม่บ่น ไม่หน้าบึ้ง ไม่โต้แย้ง ทะเลาะหรืออิจฉาคนในบ้าน.
    ผู้สร้างโปรแกรมให้หุ่นยนต์ประเภทนี้ ในขั้นต้น ต้องเลือกจากวิถีชีวิตที่เป็นแบบฉบับ (prototype) ของครอบครัวส่วนใหญ่ในสังคมหนึ่ง. คงไม่นานนักในอนาคต โลกจะมีหุ่นยนต์เฉพาะสำหรับชีวิตคนแต่ละแบบในแต่ละประเทศ. รัฐบาลเกาหลีใต้ มีโครงการใหญ่สำหรับหุ่นยนต์ ต้องการให้มีหุ่นยนต์ที่ฉลาดหัวไวสำหรับทุกบ้าน ตั้งเป้าไว้ว่าต้องทำสำเร็จภายในปี2020.
    ในอนาคตอันใกล้นี้ สังคมมนุษย์จะมีหุ่นยนต์เป็นสมาชิกถาวรของแต่ละครอบครัว. คนอาจต้องลงทะเบียนหรือทำบัตรประชากรหุ่นยนต์ควบคู่ไปกับบัตรประชาชนของผู้เป็นเจ้าของหุ่นในที่สุด. หุ่นยนต์อาจกลายเป็นตัวแทนของคนได้ในทุกกรณี. ตามครรลองเหตุปัจจัย จะถึงจุดที่คนหมดสภาพทางสังคมและทางกฎหมาย. ในภาวะเช่นนี้ จำเป็นต้องมีกฎหมายคุ้มครองหุ่นยนต์ด้วยหรือไม่?

3) สร้างหุ่นยนต์เป็นผู้ช่วยพยาบาล เป็นเพื่อน เป็นพี่เลี้ยง. ปัจจุบันเป็นเป้าหมายที่ชัดเจนมากและหลายประเทศได้ผลิตหุ่นประเภทนี้ออกมาเพื่อใช้ในโรงพยาบาล สถานเลี้ยงเด็ก สถานดูแลคนพิการ โรงเรียนพิเศษที่สอนเด็กมีปัญหาเช่นเด็กออทิสติก เด็กพิการทางกาย ดังตัวอย่างหุ่นแคซเปอ(Kaspar), หุ่น Human support robot ของบริษัทโตโยต้ามอเตอร์, หุ่น Nao ของ SoftBank Robotics เป็นต้น. ผลในระยะแรกดูเป็นที่น่าพอใจ. เด็กผู้มีปัญหา คนป่วยหรือคนแก่ติดเตียง หุ่นพยาบาลแบบนี้ช่วยพวกเขาได้มาก. เช่นศูนย์ Issy-les-Moulineaux (ในฝรั่งเศส) ใช้หุ่นยนต์ชื่อ Zora ทำหน้าที่ผู้นำการออกกำลังกายหรือการเล่นเกมส์ต่างๆแก่ผู้สูงวัย. ใช้หุ่นตุ๊กตาแมวน้ำชื่อ Paro ตัวเล็กสีขาว ตัวนุ่มนิ่ม. มันมีปฏิกิริยาตอบโต้เมื่อมีคนไปจับไปอุ้ม ส่ายหัว ร้องเสียงเล็กๆของลูกแมวน้ำ และเข้าไปคลอเคล้าคลอเคลียคนป่วย. หุ่นตุ๊กตาแมวน้ำได้ช่วยให้คนป่วยเจ้าอารมณ์ นิสัยก้าวร้าวผ่อนคลายลงได้ (ยากมากสำหรับพยาบาลผู้ต้องรับมือคนป่วยประเภทนี้ทั้งวันทุกวัน). หุ่นยนต์แบบนี้จึงช่วยทั้งคนป่วยและผู้คนที่อยู่ในแวดล้อมของคนป่วย. อาจต้องติดตามผลต่อไปเรื่อยๆว่า คนป่วยมีปฏิกิริยาตรงข้ามไหม เช่นไปกระตุ้นให้คนป่วยโมโหโกรธายิ่งขึ้น. งานวิจัยผลการใช้หุ่นยนต์เข้าช่วยคนป่วยแบบนี้ ออกมาในเชิงบวกมากกว่า. หุ่นผู้ช่วยส่วนใหญ่ ณทุกวันนี้ ถูกใส่โปรแกรมให้ทำงานจำเป็นหลายอย่างของพยาบาล รวมถึงการทำกายภาพบำบัด การเช็ดทำความสะอาดและกำจัดสิ่งปฏิกูลของผู้ป่วย เพราะหุ่นไม่มีปฏิกิริยาต่อกลิ่น ไม่แยกแยะกลิ่นหอมหรือเหม็นเป็นต้น.
   กรณีของประเทศญี่ปุ่น จากสถิติระบุว่า ผู้สูงวัยพร้อมที่จะเชื่อเทคโนโลยี และมั่นใจในสมรรถภาพของหุ่นยนต์ที่ผลิตขึ้นเพื่อพวกเขาในวิถีชีวิตแบบญี่ปุ่น. พวกเขารู้สึกดีกว่า ที่หุ่นยนต์มาดูแลเช็ดถูร่างกายส่วนลับของเขา. ญี่ปุ่นกำลังเร่งผลิตหุ่นยนต์พยาบาลเป็นล้านๆตัวเพื่อผู้สูงอายุ.
    ยิ่งวัน หุ่นยนต์ถูกใส่โปรแกรมให้มีปฏิกิริยาโต้ตอบต่อสภาพผู้ป่วยด้วย ผลที่ตามมา คือคนป่วยอาจเริ่มมีความผูกพันกับหุ่นยนต์ อาจเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ(ตามวิสัยคน) ในขณะที่หุ่นยนต์ตอบรับปฏิกิริยาของคนป่วยตามหน้าที่ที่กำหนดให้ในโปรแกรมของมัน. ความรู้สึกของคนและของหุ่นยนต์อยู่ในมิติต่างกัน. นี่จะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคตไหม? เป็นการสร้างโลกมายาโลกใหม่ให้กับคนป่วย เป็นการหลอกคนป่วยไหม? หรือเป็นการช่วยผู้ป่วยให้หลุดจากความกดดันจากโรคภัยไข้เจ็บขณะนั้น? ทุกคนรู้ตัวว่าหวงโทรศัพท์มือถือ หวงคอมพิวเตอร์. เครื่องมือเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือ มันเป็นส่วนหนึ่งของตัวเราไปแล้ว. ในอนาคตเมื่อมีหุ่นยนต์เป็นเพื่อนคู่หูได้ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง หุ่นยนต์นั้นไม่ใช่หุ่นยนต์แล้ว หรือเรากลายเป็นหุ่นยนต์เหมือนมันไปแล้ว. คนชอบหุ่นยนต์เพราะหุ่นยนต์เหมือนคนมากขึ้นๆ ในที่สุดคือความผูกพันกับตัวตนของคนเอง ที่คนเอาไปใส่ในตัวหุ่นยนต์. ความผูกพันดังกล่าว หลายคนอาจเห็นว่าไร้เหตุผล เพราะหุ่นยนต์ไม่มีศักยภาพในการแสดงความรักความผูกพันกับใครหรือกับอะไร. ยิ่งคนป่วยรู้สึกดีขึ้นเรื่อยๆ ความผูกพันกับหุ่นยนต์เพิ่มตามไปด้วย อาจทำให้คนป่วยมองหุ่นยนต์ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีวิญญาณอยู่เหนือวัสดุที่ประกอบเป็นตัวมัน. เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นได้ไหม?
    วงการทหารอเมริกันได้รวมข้อมูลไว้ว่า ทหารที่หุ่นยนต์ช่วยชีวิตไว้ ได้ขอให้ทางการซ่อมหุ่นยนต์ตัวที่ช่วยพวกเขาไว้. พวกเขาไม่ต้องการหุ่นยนต์ตัวใหม่ หุ่นยนต์ตัวที่ช่วยเขานั้น ไม่มีวันเหมือนหุ่นยนต์ตัวใดในโลก เพราะตัวนั้นกลายเป็นหุ่นยนต์ที่มีบุคลิกภาพพิเศษ มีประสบการณ์ร่วมกับเขามา. ดูเหมือนว่าคนผูกพันได้กับทุกสิ่ง หากสิ่งนั้นมีส่วนในประสบการณ์ชีวิตของเขา สิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งที่ตาเห็น แต่เป็นสิ่งที่ใจได้สัมผัส. หลายคนเก็บสิ่งของต่างๆไว้มากมายด้วยความรู้สึกดังกล่าว.
หุ่น Zeno[เซ่โน] จากอิตาลี(Hanson Robotics) กับหุ่น Nao[นาว]จากฝรั่งเศส สองตัวช่วยของเด็กออทิสติก กำลังนั่งและยืนคอยชีวิตหรือเพิ่มพลัง(ชาร์จไฟ)ก่อนออกปฏิบัติหน้าที่. (ภาพจากSicilianpost.it)
ดูคลิปนี้ตัวอย่างการใช้หุ่น Zeno กับเด็กออทิสติกที่โรงเรียน Queensmill School (London) >>

4) สร้างหุ่นยนต์ให้เป็นตัวแทนคน ให้แสดงดนตรี พนักงานต้อนรับ ประชาสัมพันธ์ มัคคุเทศก์ ดาราทีวี ผู้เสนอรายการในโทรทัศน์ ดังตัวอย่างหุ่น Harry นักเป่าทรัมเพ็ตของบริษัทโตโยต้า, หุ่น Kodomoroid ของ Hiroshi Ishiguro ที่เป็นผู้อ่านข่าวคนหนึ่งในรายการหนึ่งของญี่ปุ่น, หุ่น Gemma Chan ของ Channel 4 TV (UK) ผู้นำเสนอสารคดีโทรทัศน์ช่องสี่ของอังกฤษ. หน้าตาที่เหมือนคนมากของ หุ่นจำลองขนาดเท่าตัวจริงของ Gemma Chan ทำให้คนดูเชื่อสนิทว่าคือดาราตัวจริง. โดยเฉพาะหุ่น Gemma Chan ตอบคำถามสดออนลายน์ในรายการได้เลย. RoboThespian (จากบริษัท Engineered Arts, UK) เป็นหุ่นนักแสดงใน stand-up comedy เคยไปเป็นผู้ประกอบพิธีแต่งงานให้คนจีน. หุ่นยนต์ตระกูล REEM จากสเปนทำหน้าที่เป็นประชาสัมพันธ์ พนักงานต้อนรับ มัคคุเทศก์หรือประธานในพิธี. หรือที่เกาหลีใต้ มีตำรวจหุ่นยนต์แล้ว.
   ในอนาคต การยึดอาชีพนักแสดงอาจทำไม่ได้แล้ว โดยเฉพาะค่าตัวของดาราเอกที่สูงมาก คนอาจหันมาใช้หุ่นยนต์นักแสดงแทนมากขึ้นๆ เหมือนตัวการ์ตูนในบทบาทต่างๆที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไขมานานแล้ว เพราะจุดประสงค์ของการแสดงอยู่ที่การกระตุ้นอารมณ์สะเทือน การเร้าใจให้คิดถึงปัญหาใดปัญหาหนึ่งหรือมิใช่? นักแสดงหรือเนื้อเรื่องที่ทำให้เราไปดูการแสดง? เราจะเลือกไปดูนักแสดงตัวจริงหรือหุ่นยนต์นักแสดง?
    มนุษย์ได้สร้างเครื่องกลดนตรีอัตโนมัติ นกกลที่ร้องเพลงไพเราะเสนาะหูจำนวนมากที่แพร่หลายมาตั้งแต่ต้นคริสตกาล หุ่นกลนักดนตรีแบบต่างๆก็มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว จนมาถึงหุ่น Harry นักเป่าทรัมเพ็ตของบริษัทโตโยต้า ที่เป่าทรัมเพ็ตได้จริง เคลื่อนไหวนิ้วทุกนิ้วได้อย่างคล่องแคล่วเหมือนนักดนตรีทรัมเพ็ต ริมฝีปากก็ขยับได้ทุกแบบ ทั้งลมหายใจก็เป็นไปตามจังหวะดนตรีด้วย. ทั้งหมดสรรเสริญความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี. เดี๋ยวนี้คนสร้างหุ่นยนต์ ใส่โปรแกรมให้หุ่นประพันธ์ดนตรีได้เองด้วย นอกจากเล่นดนตรีได้ตามโน้ตจริง. กรณีเช่นนี้ เราจะมองว่าหุ่นนักดนตรีเป็นศิลปินไหม? เราจะเทียบว่าหุ่นยนต์นักดนตรีเช่นแฮรีเป็นศิลปินเหมือน Louis Armstrong ไหม? การแสดงของหุ่นนักดนตรีที่สามารถพลิกแพลงดนตรีต่างๆที่มีในโปรแกรมของมันได้นั้น เป็นศิลปะไหม? หุ่นเก่งหรือคนสร้างโปรแกรมเป็นอัจริยะ? คนเขียนซอฟแวร์ เด่นข้ามหน้าข้ามตาผู้ประพันธ์ดนตรีเราจะยกให้เขาเป็นศิลปินดนตรีคนหนึ่งด้วยไหม? เป็นตัวอย่างคำถามที่เกิดตามมาในความคิดคำนึงของ Ray Kurzweil (ตั้งแต่ปี1990 และเขาได้ทำนายอนาคตของโลกในอีกพันปีข้างหน้า เรื่องพัฒนาการเทคโนโลยีกับกายวิภาคของมนุษย์ เมื่อ Nanotechnology ถึงจุดจำเป็นที่ต้องสร้างซอฟแวร์สำหรับผนวกเข้าภายในอวัยวะหรือร่างกายคน. ดูเหมือนว่า หลายประเด็นในหนังสือทั้งหลายของเขา ได้จูงใจให้สร้างนิยายวิทยาศาตร์และมาเป็นภาพยนต์ที่มีหุ่นยนต์แบบต่างๆอยู่กับคนที่ก็กลายเป็นหุ่นยนต์ประเภทต่างๆ(ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว) เช่น Blade Runner 2049).
    ตัวอย่างอื่นในโลกทศวรรษที่2010s บริษัท Mitsubishi UFJ Financial Group ที่โตเกียว ตั้งแต่เดือนเมษายน 2015 มีพนักงานประจำเป็นหุ่น Nao ขนาดสูง 58 ซม. เป็นผู้ต้อนรับลูกค้าของธนาคาร มันจำลูกค้าทุกคนที่เคยเข้าไปได้ พร้อมให้คำแนะนำเช่นช่วยเปิดบัญชีให้ลูกค้า แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หรือตอบคำถามของลูกค้าเฉกเช่นพนักงานญี่ปุ่นที่ได้รับการฝึกมาอย่างดี.
   ความนิยมในการใช้หุ่นเพื่อเป็นตัวแทนของคนกำลังแพร่หลายไปทั่วโลก. หน้าตาเป็นคนหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นแล้ว สำคัญที่หุ่นทั้งหลายปฏิบัติงานได้ถูกต้อง ทำงานได้ต่อเนื่องแปดถึงสิบชั่วโมงต่อการชาร์จไฟจนเต็มหนึ่งรอบ(เช่นหุ่นตระกูล REEM จากสเปน)เป็นต้น. บริษัทที่ใช้หุ่นยนต์แทนคน ต่างพอใจ. ในอนาคตอาจลดจำนวนพนักงาน(คน)ให้น้อยลง. ผลประโยชน์ที่ได้ชัดเจนมาก บริษัทไม่ต้องจ่ายเงินเดือน เบี้ยเลี้ยงหรือเสียค่าสวัสดิการใดๆให้หุ่นยนต์ ไม่ต้องแบ่งเงินปันผลให้หุ่นยนต์ บริษัทประหยัดเงินได้เป็นจำนวนมาก ทำให้บริษัทมั่งคั่งกว่าเดิมด้วยเป็นต้น. หุ่นยนต์ทำให้คนหางานทำยากขึ้นๆอีกไหม? นอกจากนี้คนงานต้องเสียภาษีให้รัฐบาล แต่ณนาทีนี้ไม่มีการเก็บภาษีจากหุ่นยนต์ เพราะมันไม่ได้เงินเดือน. ถ้าเช่นนั้นเพื่อความยุติธรรมและเป็นการแบ่งปันผลประโยชน์จากการมีระบบหุ่นยนต์ใช้ในสังคม บริษัทที่ใช้หุ่นยนต์ทำงาน ควรเสียภาษีให้หุ่นยนต์แต่ละตัวของบริษัทด้วยไหม?
    ส่วนผู้รับบริการจากหุ่นยนต์ วางใจหุ่นเต็มที่ไหม ในเมื่อหุ่นน่าจะรู้รายละเอียดเกี่ยวกับบัญชีของเขา. จะมีคนขโมยหุ่น ไปลอกข้อมูลของมันและนำไปใช้ในทางทุจริตไหม? (น่าจะทำได้ง่ายๆ ระวังไว้ก่อนเป็นดี). การติดต่อถึงตัวบุคลากรที่เป็นคนของธนาคารเลยนั้น ตลอดชีวิตของหลายคน พนักงานประจำที่แต่ละคนรู้จัก ได้กลายเป็นผู้คุ้นเคย เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตเขาไปแล้ว และด้วยเหตุนี้เอง ที่คนอื่นแอบเอาสมุดบัญชีของลูกค้าขาประจำ ไปขึ้นเงินที่ธนาคารเดียวกันนั้น พนักงานจะรู้ทันทีว่าไม่ใช่เจ้าของบัญชี. การปล้นเงินจากบัญชีธนาคาร จึงต้องทำออนลายน์เท่านั้น ง่ายกว่าและเร็วกว่ามาก(ในระบบ telebank เช่น direct debit, PayPal). ระบบออนลายน์ที่กลายเป็นช่องทางทำหากินของโจรระบาดทั่วไปในสังคมขณะนี้ ทำให้ต้องสร้างระบบ ปรับเปลี่ยนโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับการเบิกถอนให้รัดกุมกว่านี้.


5) สร้างหุ่นเพื่อการศึกษาวิเคราะห์เชิงกายภาคและเชิงจิตวิทยา. ในต้นทศวรรษที่ยี่สิบ เมื่อคนเริ่มสร้างหุ่นหน้าเหมือนคนนั้น เป็นโอกาสแรกๆที่นำคนคิดถึงร่างกายและสมรรถภาพการเคลื่อนไหวของคน. เกิดการแกะรอยด้วยวิธีผ่าตัดเพื่อเจาะเข้าระบบกล้ามเนื้อ เส้นเอนที่ทำให้คนเคลื่อนไหวได้ แล้วนำมาใช้กับหุ่นยนต์. หุ่นตัวแรกๆจึงเน้นการเดินได้และการเคลื่อนไหวของมือเป็นสำคัญ. โปรแกรมที่ใส่ลงจึงจำกัดอยู่ในเรื่องการเคลื่อนไหว เช่นหุ่น Eric, หุ่น George, หุ่น Cygan, หุ่น Asimo ของ Honda เป็นต้น.
   ต่อมาคนก็ก้าวไปพัฒนาการเคลื่อนไหวของหุ่นให้ได้นานขึ้น(พัฒนาระบบแบ็ตเตอรี ระบบอีเล็กทรอนิค การควบคุมและเก็บพลังงานเพื่อหล่อเลี้ยงหุ่นฯลฯ), การเดินในพื้นที่ต่างระดับ (ขึ้นลงบันได ก้าวข้ามสิ่งกีดขวาง), การหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวาง (เลี้ยว เดินวนรอบหรือปีน), การยืดการหดของส่วนของร่างกายให้สอดคล้องกับความจำกัดของพื้นที่ (เช่นหุ่น YuMi จากสวิสเซอแลนด์)เป็นต้น. การพัฒนาการเคลื่อนไหวนอกจากด้านวัสดุที่ยืดหยุ่นมากขึ้น โปรแกรมก็ละเอียดขึ้น หรือเจาะจงการเคลื่อนไหวบางส่วนเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่จะนำหุ่นไปใช้ เช่นหุ่น YuMi ที่เป็นหุ่นครึ่งตัว ตั้งโต๊ะ มีสองแขน มีตาเป็นกล้องถ่ายรูป สแกนทุกสิ่งตรงหน้า มีมือที่นุ่มพอสำหรับจับชิ้นส่วนเล็กๆ และนิ่งพอที่จะประกอบชิ้นส่วนเล็กๆเข้าด้วยกันเป็นอุปกรณ์แพทย์ ตามคำสังได้อย่างถูกต้องไม่ผิดพลาด (งานเดียวกันนี้ หากใช้คน ต้องฝึกเป็นแรมปี ต้องให้คนมีอารมณ์เย็นคงที่สม่ำเสมอด้วย).
   พัฒนาการของหุ่นยนต์ ในที่สุด พุ่งไปเน้นความสามารถในการโต้ตอบกับสภาพแวดล้อมและกับคน. นำคนเข้าไปเจาะลึกระบบความรู้และสติปัญญาของคนเราเอง จนไปถึงสภาพจิตวิทยาของคนในแต่ละบริบทแวดล้อม. หุ่นยนต์ iCub [ไอคับ] (จากสถาบัน Istituto Italiano di Tecnologia, อิตาลี) เป็นหุ่นนักสำรวจ เก็บข้อมูลและทำสถิติ เพื่อศึกษาวิจัยว่าคนและหุ่นยนต์เรียนรู้จากประสบการณ์ได้อย่างไร. ปัจจุบันมีหุ่น iCubมากกว่า 30 ตัวที่ถูกส่งออกไปค้นพบสังคมโลก ไปเก็บข้อมูลเกี่ยวกับคนในถิ่นต่างๆ. จักเป็นข้อมูลที่มีความหมายมาก โดยเฉพาะหากนำไปใช้ในเชิงยุทธศาสตร์การค้าหรือการทหาร. (สังคมโลกปัจจุบัน ทำให้อดนึกถึงความกระหายของคนที่อยากครองโลกไม่ได้ครองโลกในรูปแบบใดแบบหนึ่ง) 
    ชีวิตของคนและการสื่อสารระหว่างคน มีหลายระดับ ภาษาที่พูดแก่กันหรือเขียนถึงกัน เรียกว่า verbal communication. ระบบภาษา วจีวิภาค วากยสัมพันธ์ การสื่อสารกันในระบบนี้ง่ายกว่า ในแง่ที่ว่ามีพจนานุกรม มีกฎไวยากรณ์ มีหลักการที่เป็นบรรทัดฐานสำหรับทุกคนที่ใช้ภาษาเดียวกัน. คนอาจใส่โปรแกรมทุกภาษาให้หุ่นยนต์ได้ทั้งหมด มอบพจนานุกรมและหนังสือไวยากรณ์ฉบับสมบูรณ์ที่สุด และสารานุกรมฉบับดีที่สุดของศาสตร์ทุกแขนง. หุ่นยนต์ที่มีศักยภาพสูงจะย่อยสิ่งเหล่านี้ได้ด้วยความรวดเร็ว เก็บเป็นความรู้ถาวรภายในหน่วยความจำของมันเลย.
    ยังมีการสื่อสารที่ไม่ใช้ภาษา ระบบตัวอักษรใด อาจเป็นระบบสัญญาณเช่นรหัสมอร์ส (Morse Code) เป็นการสื่อสารแบบ non-verbal communication. นักการศึกษาและนักวิทยาศาสตร์สนใจการสื่อสารประเภทหลังนี้มาก การสื่อสารด้วยวิธีนี้ เป็นความสามารถบวกความชำนาญพิเศษของคน,ของแต่ละคนด้วย. เป็นการสื่อสารในหลายระดับและหลายมิติ ที่แทบจะไม่มีกฎใดๆ. จึงยากที่จัดเป็นโปรแกรมลงในหุ่นยนต์ ให้มันเข้าใจภาษาร่างกาย เข้าใจรอยยิ้ม(จริงใจหรือเสแสร้ง) การยักไหล่ การกลิ้งลูกตาไปมา ท่าของริมฝีปาก ท่าทางของมือ ท่าเดิน ท่ายืนฯลฯ (นึกถึงหนังสือ“สมบัติผู้ดี”ที่รุ่นเรายังเคยเรียน ที่อาจเป็นหนังสืออ้างอิงได้บ้างในบางสถานการณ์ น่าเสียดายว่าหนังสือถูกยกเลิกใช้ตามโรงเรียนแล้ว). ภาษาร่างกายให้นัยที่แทรกเพิ่มเข้า(หากมีการพูดคุยไปด้วย)ที่คนพูดอาจไม่กล้าพูดหรือไม่อยากบอก. ภาษาร่างกายยังอาจเป็นภาษาที่มีความหมายเต็มโดยไม่ต้องมีคำพูดใด.
    การสื่อสารประเภทนี้ สำคัญมากในชีวิตคน ที่ทำให้แต่ละคนรู้จักวางตัวที่เหมาะและสอดคล้องกับความสัมพันธ์ที่มีกับคนรอบข้าง. ภาษากาย ภาษาสีหน้าและภาษาแววตาของคนนั้น เป็นเรื่องละเอียดมาก. ความหมายของมันยังขึ้นอยู่กับบริบทและอยู่ที่การตีความหรือความละเอียดของสัญชาติญาณของแต่ละคน ที่ทำให้เขารู้สึกและหรือจับความหมายที่ซ่อนในใจของคนที่อยู่ตรงหน้าได้. การรู้จักอ่านภาษากาย ภาษาหน้าและภาษาตา เป็นทักษะที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของเผ่าพันธุ์มนุษย์. สร้างหุ่นยนต์ให้มีทักษะแบบเดียวกันนี้ หุ่นนั้นต้องเข้าใจระบบสังคมที่เราอยู่ด้วยอย่างชัดเจน และต้องเข้าใจจิตสำนึกและจิตวิญญาณของคนแต่ละคนไปจนสุดก้นบึ้งด้วยหรือมิใช่?
    ณนาทีปัจจุบัน ยังไม่มีใครยืนยันว่าได้เข้าถึงทุกซอกทุกหลืบ“ในสมองคน” ที่เรามักพูดผิดติดปากเป็น“ในหัวใจคน”หรือ“ในจิตใจ”. จิตใจคนไม่ได้อยู่ในหัวใจ ความรู้สึกทั้งหลายของคนก็ไม่เกี่ยวกับหัวใจคน ทุกอย่างอยู่ในสมองคน เมื่อสมองตายคนนั้นตายแม้หัวใจจะยังเต้นอยู่. สมองคนปรุงแต่งทุกอย่างทุกเรื่องทุกความรู้สึก. สมองคนเป็นยิ่งกว่าซุปเปอร์คอมพิวเตอร์. เพราะฉะนั้นการสร้างหุ่นยนต์ให้เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของคนและให้มันรู้จักแสดงอารมณ์ความรู้สึกของมันด้วยนั้น ใส่โปรแกรมให้หุ่นยนต์เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของคนได้ อาจให้หุ่นยนต์สื่ออารมณ์แบบเดียวกับคนได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า หุ่นยนต์มีความรู้สึกจริงมิใช่หรือ?  นอกจากนี้ ผู้สร้างโปรแกรมเอง(ที่ต้องเป็นทั้งวิศวกรและนักจิตวิทยา) เคยผ่านทุกสถานะของอารมณ์ ของความคิดคนมาแล้วหรือยัง มากน้อยเพียงใด?
   การศึกษาเรียนรู้จากพฤติกรรมการตอบสนองของหุ่นยนต์ต่อสภาพแวดล้อม(space and environment) จึงง่ายกว่าการศึกษาพฤติกรรมการตอบโต้ของหุ่นยนต์กับคน. ณจุดนี้ การศึกษาสมองกล จึงเน้นประเด็นการตอบโต้พูดคุยกันในระดับการติดต่อธรรมดาๆ ด้วยวิธีการของภาษาธรรมชาติแบบ verbal communication (พูดตอบด้วยเสียง หรือด้วยข้อความที่ขึ้นบนจอของมัน ถ้ามี). การทดลองใช้หุ่นเพื่อการบริการลูกค้าดังที่กล่าวมา ให้ผลดีพอสมควรทีเดียว.
    มีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ผลักตัวเองไปไกล ถึงกับพูดคุยปัญหาสารพัดชนิดในสังคม ปัญหาการเงิน การลงทุน ปัญหาปรัชญา เพื่อกระตุ้นหุ่นยนต์และอยากรู้ว่ามันจะมีวิธีตอบและวิธีคิดของมันอย่างไร. หลายคนประหลาดใจว่าหุ่นคิดและให้คำตอบได้ในระดับหนึ่ง เป็นคำถามคำตอบที่ไม่มีใครป้อนให้ในโปรแกรม เท่ากับว่าปัญญาสมองกลของหุ่น ก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จากคำถามหรือปัญหาใหม่ๆที่ป้อนให้มัน. นี่เป็นตัวอย่างของพัฒนาการสมองกลของหุ่นยนต์ที่น่าพิศวงมาก. ปัญหาเทคนิคนั้น หุ่นยนต์คิดคำตอบและทำได้ทันที เช่นหาวิธียกของ จากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งในเวลาที่สั้นที่สุดและปลอดภัยที่สุดเป็นต้น.
    คนเรียนรู้จักใช้ส่วนต่างๆของร่างกายตนเองและสื่อสารกับคนอื่นได้อย่างเหมาะสม เหมาะกับกาละและเทศะ เป็นประสบการณ์ที่คนเรียนไปตลอดชีวิต. เป็นการเรียนไปตามขั้นตอน ผ่านการทดลอง การลอง การฝึกและข้อผิดพลาดต่างๆ. ปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ก็ช่วยให้เราเรียนรู้เกี่ยวกับร่างกายของเราเอง ให้รู้จักการแสดงออกตลอดจนเข้าใจความประพฤติของคนอื่นๆด้วย. ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980s นักวิจัยได้สำรวจศักยภาพของหุ่นยนต์มาอย่างต่อเนื่องในประเด็น หุ่นยนต์มีความสามารถในการเรียนและสื่อสารโดยผ่านร่างกายในแบบเดียวกับคนไหม? คำตอบยังอยู่ในวงจำกัด แต่ความอยากรู้อยากเรียนของคนก็ยังไม่สิ้นสุด. วันหนึ่ง เราอาจมีหุ่นที่เหมือนเราเองทุกประการ เมื่อวันนั้นมาถึง เราจะมองตัวเองว่าเป็นคนหรือเป็นหุ่นยนต์?
    ตัวอย่างหุ่น Nexi[เน็กซี](จากสถาบัน Massachusetts Institute of Technology, MIT Media Lab, 2008) ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นหุ่นยนต์ส่วนตัวและหรือเป็นหุ่นยนต์เข้าร่วมใน teamwork ในสภาพแวดล้อมที่ผิดธรรมดาแบบต่างๆ. ผู้สร้าง ประดิษฐ์ส่วนหัวของ Nexi ให้แสดงอารมณ์ถึง 21 แบบ. ใบหน้าแสดงความแปลกใจ มันเลิกคิ้วขึ้นสูง, ใบหน้าแสดงความเบื่อหน่าย มันปิดหนังตาลงเป็นต้น.  หุ่นทั้งตัวอยู่บนล้อทำให้มันเคลื่อนไหวได้ (ไม่สร้างเป็นขา). มือใช้จับหรือหยิบสิ่งของต่างๆได้, ตาคือกล้องถ่ายรูป, หูมีอุปกรณ์ไมโครโฟนหลายแบบ, (ดูเหมือนว่า)ตรงหน้าผากเป็นที่ตั้งของกล้องถ่ายภาพ infrared และอุปกรณ์เลเซอร์เพื่อใช้ค้นหาและติดตามเป้า คนและเสียงชนิดต่างๆ รวมทั้งช่วยให้มันย้ายที่ไปมาภายในอาคารด้วย. ผู้สร้างใช้คอมพิวเตอควบคุมแขน มือ หัวและใบหน้า. ทีมผู้สร้าง Nexi เคยใช้หุ่นเพื่อสังเกตปฏิกิริยาของคนเมื่อเห็นสีหน้าแบบต่างๆของหุ่น เหมือนจำลองสถานการณ์จริงในชีวิตของคนเมื่อเผชิญหน้ากับคนอื่นๆที่มีใบหน้าแสดงอารมณ์แบบต่างๆ. ผลการสำรวจในหมู่ชาวอเมริกัน หลายคนเห็นเป็นเรื่องขบขันที่หุ่นล้อเลียนใบหน้าของคน อีกหลายคนเห็นว่าน่ากลัว(ข้อมูลจาก MIT news).
    ส่วนตัวแล้ว เห็นหัว Nexi ในอารมณ์แบบต่างๆดังภาพข้างล่างนี้ รู้สึกไม่ชอบทันที. ใบหน้าคนในแต่ละอารมณ์(ร้ายๆ)นั้น น่าเกลียดได้ถึงแบบนี้หรือ? ข้าพเจ้าไม่ติดใจหุ่นยนต์ใบหน้าคนนัก ชอบการแสดงออกเป็นภาพบนจอของมัน ในแบบของหุ่น Cozmo[คอสโม่](ดูภาพต่อไปข้างล่างนี้) มันถูกจริตกว่า. ยิ่งถ้า Nexi มาเป็นหุ่นส่วนตัวที่ต้องอยู่ด้วย 24 ชั่วโมงทุกวันแล้วล่ะก็ น่าจะเหมือนอยู่กับผี ต้องขจัดทิ้งด่วน. ทำให้นึกต่อไปว่า คนเราต้องรักษาหน้าให้ดูดีเสมอ ให้แจ่มใสเสมอ. นั่นคือรักษาอารมณ์ให้ราบเรียบคงที่ เพื่อขจัดความน่าเกลียดให้หมดไปจากใบหน้าและอกุศลจิตไปจากการดำเนินชีวิต.
ภาพจาก Pinterest.com
ความซับซ้อนของการแสดงออกของคนที่ก็อาจแตกต่างกันในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับการศึกษา ภูมิหลังในครอบครัว ตำแหน่งหน้าที่การงาน ธรรมชาตินิสัยที่ติดตัวมาแต่กำเนิดเป็นต้น. เช่นนี้ คนรู้สึกสบายใจกว่ามาก เมื่ออยู่กับหุ่นยนต์ที่ไม่แสดงอารมณ์ใด คนจึงอาจชอบใบหน้านิ่งเฉยว่างเปล่าของหุ่นยนต์มากกว่า ในเมื่อคนต้องการหุ่นยนต์มาช่วยผ่อนคลาย ช่วยสร้างบรรยากาศสบายๆไร้กังวลมิใช่หรือ
   การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการมีอารมณ์ความรู้สึกของคนนั้น ยังรวมไปถึงศักยภาพของการวิเคราะห์เสียงของคนพูด จับน้ำเสียงที่เปลี่ยนไปให้ได้ด้วย ซึ่งเท่ากับให้โอกาสหุ่นยนต์ใช้ข้อมูลความถี่ของคลื่นเสียงแบบต่างๆ ให้มันเก็บเป็นความรู้ใหม่ เป็นข้อมูลเสริมในตัวมันเอง. วันดีคืนดี มันแสดงออกมา แยกแยะเจาะจงความรู้สึกของมันเองด้วยด้วยคลื่นเสียงที่ผิดไปจากปกติ ทำให้ผู้สร้างมัน ตื่นเต้นและตกใจไม่น้อย. แต่นั่นเป็นเพียงกับดัก หุ่นยนต์ไม่มีความรู้สึกจริงๆเหมือนคนที่มีชีวิตจิตใจ. มันรู้ข้อมูล รู้วิธีลอกเลียน แต่รู้สึกไม่เป็น. หุ่นยนต์รุ่นหลังๆที่ได้พัฒนาขึ้นเป็นหุ่นที่คิดเองได้และ(แทบจะ)มีความรู้สึกเหมือนคน เช่นหุ่นยนต์ของเล่นเด็ก Cozmo (USA, 2017) ที่สร้างขึ้นเพื่อเล่นกับเด็ก. มันกระตุ้นเด็กให้ตื่นตัวทุกวิถีทาง มันขมวดคิ้ว เย้าแหย่ ท้าทาย ล้อเลียนฯลฯ ทั้งด้วยการแสดงออกบนจอเล็กๆของมันและด้วยน้ำเสียงที่เปลี่ยนไปด้วย. Cozmo มาตอบโจทย์แนวใหม่ เพราะมันมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อคนและสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ มันรับและสังเคราะห์ข้อมูลใหม่ๆรวมเข้าในหน่วยความจำของมันด้วย ทำให้มันจำคนเดิมได้และมีกิริยาตอบโต้กับคนเดิมได้ จำได้ว่าเคยเล่นเคยคุยกันมาอย่างไรฯลฯ. หุ่นยนต์อาจมีส่วนช่วยให้คนหยุดโกหก เพราะหุ่นจะย้อนทวนคำพูดที่เคยบอกไว้ เช่นนี้หุ่นแบบนี้น่าจะช่วยกระตุ้นผู้ที่พูดโดยไม่คิด ผู้ที่ดีแต่พูด ให้เห็นข้อบกพร่องของตนเองเป็นต้น.
     อีกตัวอย่างหนึ่งจากผลการทดลองของห้องแล็ปหุ่นยนต์ในสวิสเซอแลนด์ (คณะศึกษาวิจัยหุ่นยนต์วิทยาแห่งสถาบันเทคโนโลยีของเมืองซูริค-Institut Fédéral de Technologie de Zurich) ที่สร้างโดรน (drone) ขึ้น และทดลองจนแน่ใจว่าโดรนบินไปตามที่คนบอกได้ ไปในทิศทางที่คนต้องการ ในความสูงระดับไหน ให้ไปเก็บข้อมูลคือถ่ายรูปพื้นที่ที่มันบินผ่าน. การทดลองโดรนแต่ละตัวเป็นไปตามเป้าหมาย แต่ที่พิเศษและเกินความคาดหมายคือ เมื่อส่งโดรนเครื่องหนึ่งออกไปทำหน้าที่ตามปกติ หากไปพบกับโดรนอีกหนึ่งหรือสองเครื่องในตระกูลเดียวกัน แบบพบกันโดยมิได้นัดหมาย โดรนทั้งหมดสื่อสารกันเองในทันที และในที่สุดบินไปด้วยกัน ปรับความเร็วและระดับความสูง ระดับความลาดเอียงของการบินให้สอดคล้องกันโดยไม่ไปเกะกะกันและกัน เพื่อให้ทั้งกลุ่มอยู่ในสภาพมั่นคง เพื่อให้ทั้งกลุ่มมุ่งไปในทิศทางที่ต้องการได้อย่างเรียบร้อย. นี่คือหลักการของระบบไซเบอเน็ททิคส์ (cybernetics) เป็นกลไกของการปรับตัวเองอย่างอัตโนมัติ จนสร้างศักยภาพหมู่ขึ้นและสร้างศักยภาพใหม่ๆด้วย. นี่เป็นสิ่งที่ผู้สร้างมิได้คาดหวังไว้. ผลการทดลองนี้ยืนยันอีกว่า สมองกลของหุ่นยนต์และของโดรนในกรณีนี้ พัฒนาเพิ่มข้อมูลและปรับเปลี่ยนการทำงานของมันให้เหมาะสมในบริบทใหม่ๆได้ โดยที่ผู้สร้างมิได้เข้าไปเกี่ยวข้องใดๆเลย. ติดตามความรู้เกี่ยวโดรนได้ในเว็ปของสวิสเซอแลนด์ >>
ใครขโมยโดรนทหารที่กองทัพแต่ละชาติมีใช้ คือการโจรกรรมที่กระทบความมั่นคงของชาติด้วยแน่นอน. โดรนทำงานได้ถึงขั้นนี้  คิดเองเออเองจัดเองเสร็จ อาจเป็นหน่วย“คามิคาเสะ”ได้เลย
     เมื่อหุ่นยนต์พัฒนา สร้างความคิดของมันขึ้นเองได้ ตัดสินและลงมือปฏิบัติการได้เองนั้น เกิดผิดพลาดได้บ้างไหม?  เรายอมรับปฏิบัติการของมันทุกกรณีไหม? การตัดสินใจของหุ่นยนต์น่าจะเป็นไปตามเหตุปัจจัย ตามหลักการของวิทยาศาสตร์และตามโปรแกรมที่มีในตัวมัน. ในมุมมองของคน การตัดสินใจลงมือทำเพราะมีเหตุผลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสนับสนุนนั้น บางทีก็ไม่ใช่การตัดสินใจที่ดีที่สุดเสมอไป.
    ในกรณีฉุกเฉิน มนุษย์มีปฏิกิริยาตอบโต้กับสถานการณ์เกือบทันที เพราะความรู้สึกหรือความจำเป็นเฉพาะหน้า โดยไม่หยุดคิดถึงผลกระทบอื่นๆแทรกซ้อนที่อาจเกิดตามมาในทีหลัง เช่นทันทีที่ได้ยินเสียงร้องของเด็กจากตึกที่กำลังจะพังลง สัญชาติญาณความเป็นพ่อ เป็นมนุษย์ ทำให้ทหารวิ่งเข้าไปค้นหาตัวเด็กและช่วยออกมา. เขาไม่ได้นึกถึงชีวิตของเขาเอง แต่คิดถึงการรอดชีวิตของเด็ก. หุ่นยนต์จะตัดสินใจทำอย่างทหารไหม คนยังไม่แน่ใจนัก เพราะสมองที่คิดเร็วและรอบด้าน บวกลบคูณหารแล้ว หากผลเสียมีมากกว่า หุ่นยนต์อาจตัดสินใจไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวเป็นต้น. หุ่นยนต์ไม่คำนึงถึงด้านมนุษยธรรม หากโปรแกรมมิได้สอนมันไว้ว่า การมีมนุษยธรรมคืออะไร. ในที่สุดคนต้องปลูกฝังจิตสำนึกให้หุ่นยนต์ด้วยไหม?

   จากการวิเคราะห์แจกแจงหุ่นยนต์ตามเป้าหมายการใช้ในสาขาต่างๆ ที่ทำให้หุ่นยนต์มีความหลากหลายมากขึ้นๆพร้อมๆกับมี“สมอง”เก่งขึ้นๆ ดังได้กล่าวมา เราคงได้ตอบคำถามที่แทรกเข้าไปในแต่ละขั้นตอน ที่รวมกันสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการอยู่ร่วมกับหุ่นยนต์ในสังคม ได้เห็นตัวอย่างที่เป็นอุทาหรณ์เตือนสติและเตรียมเราให้พร้อม รับพัฒนาการของตัวตนความเป็นคนของเราเองด้วยในสภาพแวดล้อมอนาคตที่จักพลิกผันมากขึ้นๆ. โดยหลักการ การสร้างหุ่นยนต์ในที่สุด จึงทำให้คนเข้าใจกลไกของร่างกาย ความซับซ้อนในกายภาคศึกษา ทำให้มองลึกเข้าไปในกลไกของการเรียนรู้ของสมองของคน ของปฏิกิริยาตอบโต้กับสิ่งแวดล้อมและกับคนด้วยกัน ทำความเข้าใจกับความต้องการ ความหวังและความฝันของคน นั่นคือความเป็นมนุษย์ของเราเองมากขึ้น. พัฒนาการเทคโนโลนีหุ่นยนต์ นำพัฒนาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในแขนงอื่นๆ สู่มาตรฐานที่สูงขึ้นๆ และแน่นอนยกระดับหรือเพิ่มพูนความตระหนักรู้ด้านปรัชญาการศึกษาการเรียนและการสอน ปรัชญาสังคม อภิปรัชญา ปรัชญาศาสนาเป็นต้น.
    เบื้องหลังหุ่นแต่ละตัว คือจิตวิญญาณและจิตสำนึกของผู้สร้าง เห็นความตั้งใจ ความมุ่งมั่นของเขา. ยิ่งเมื่อมองย้อนหลังไปในอดีตตั้งแต่การสร้างหุ่นกลอัตโนมัติ (automaton) เราเหมือนก้าวล้ำไปในแดนของจิตใต้สำนึก ไปสัมผัสความหวาดกลัวของคนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ความอยากรู้อยากเห็น อยากเข้าใจกลไกของโลก ที่เป็นความหวังเข้าใกล้สิ่งศักดิ์สิทธิ์(หรือพระเจ้าในแต่ละศาสนา ที่คิดกันว่าต้องอยู่สูง)ในท้องฟ้าที่มีอานุภาพต่อชีวิตของคน. ความหวังในพระเจ้าค่อยๆเปลี่ยนไปเป็นความฝันในความสุขทางโลกบนโลก. และในที่สุดไปหยุดอยู่ที่ความภูมิใจจนเป็นความหยิ่งผยองว่า คนก็สร้างคนได้ ไม่ต้องอาศัยพระเจ้าแล้ว. ความคิดนี้ได้พัฒนาขึ้นพร้อมๆกับการใฝ่หาอำนาจแล้วทุกอย่างในสังคมทุกวันนี้ ก็เป็นแบบที่เรารู้เห็นอยู่กับใจ.
    คนสร้างหุ่นยนต์ได้เหมือนคนจริงๆแล้ว ระบบการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ กลาย เป็นตัวโปรแกรมเบ็ดเสร็จที่ใส่ลงในสมองคน ทำให้คนอยู่เหมือนหุ่นยนต์ ทำอะไรตามๆกันไป เหมือนผลผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมเวอชั่นเดียวกัน. ศัลยกรรมพลาสติกยิ่งทำให้คนหน้าตาเหมือนๆกันยิ่งขึ้น. คนเหมือนหุ่นยนต์ในหนังมากขึ้นๆ สวมเสื้อผ้าแบบเดียวกัน ใช้สินค้าแบบเดียวกัน กิริยาท่าทางเหมือนๆกันฯลฯ (ช่างตรงข้ามกับอุดมการณ์การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของเอกบุคคล! ฤาคนต้องการเพียงเสรีภาพในการเลือกเป็น อยู่ คือ ในแบบเดียวกับคนอื่นๆ).
    วันหนึ่งในอนาคต อาจมีการประกาศคัดสรรแบบ clone หรือเบ้าของคน เลือกสรรทั้งรูปร่างสัณฐาน หน้าตา ผิวพรรณ ยูนิฟอร์ม ตามด้วยการฝังแบบการคิด การกระทำ ดูเหมือนว่าเราเข้าสู่ยุค คนสำเร็จรูป กันแล้วโดยที่คนส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าเขาเป็นตัวของตัวเอง. แล้วจริงๆในที่สุด ชีวิตคืออะไรล่ะ? ความเป็นคนอยู่ตรงไหน? เหลือเอกลักษณ์ใดที่พอจะให้คนยืนยันได้ว่า ข้าพเจ้าไม่ใช่หุ่นยนต์?
    ผู้ที่ใช้อินเตอเน็ตสั่งจอง สั่งซื้อหรือจดทะเบียนเว็ปหลายเว็ปออนลายน์ คงเคยเห็นคำถามที่โผล่ขึ้นบนจอบอกให้ยืนยันว่า I am not a robot (ข้าพเจ้าไม่ใช่หุ่นยนต์) ด้วยการกรอกอักษรและตัวเลขที่โผล่ตามขึ้นมาเป็นข้อความที่บิดๆเบี้ยวๆเล็กน้อย ลงในช่องที่จัดไว้. ใช่ ทุกอย่างมาถึงขั้นนี้แล้ว และคนส่วนใหญ่(ข้าพเจ้าก็เช่นกัน)ก็กรอกตามที่เขาบอกอย่างอัตโนมัติ ไม่ผิดจากหุ่นยนต์เลย. เดี๋ยวนี้ หุ่นยนต์ใช้คอมพิวเตอร์เก่งกว่าคน. ข้าพเจ้ายังสงสัยไม่หายว่า หากเป็นหุ่นยนต์จริงๆ หุ่นก็กรอกข้อความเดียวกันนั้นได้มิใช่หรือ? หรือเพราะหุ่นยนต์อ่านข้อความบิดเบี้ยวนั้นไม่ออก(เพราะถูกฝึกให้อ่านข้อความเป็นแถว เป็นบันทัดที่เรียบร้อย)? หรือเพราะหุ่นยนต์โกหกไม่เป็น บิดเบือนความจริงไม่เป็น? คนคงเป็นสิ่งมีชีวิตสิ่งเดียวที่ตลบตะแลงได้สารพัดกระมัง? นี่เป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้คนไม่เหมือนหุ่นยนต์ใช่ไหมนะ? มีคุณสมบัติอะไรไหมที่ทำให้คนดีกว่า เหนือกว่าหุ่นยนต์? ถ้าคิดตาม Descartes [เด-ก๊ารฺต] ปราชญ์ฝรั่งเศสในศตวรรษที่17 (cf. Méditations métaphysiques) ว่า “ข้าพเจ้าไม่ใช่หุ่นยนต์ เพราะข้าพเจ้าคิด” (ข้าพเจ้าเชื่อว่าข้าพเจ้าคิดเป็น) และที่ Leibniz โต้แย้งกลับว่า สามส่วนสี่ของพฤติกรรมของคน ทำไปแบบอัตโนมัติโดยไม่คิด (เท่ากับว่าทำเหมือนหุ่นยนต์หรือมิใช่?). การคิด(หรือการที่คนคิดว่าคิดเป็นนั้น) จึงถือเป็นจริงไม่ได้ ไม่ชัดเจนเท่ากับพูดว่า คนรู้รสอาหาร ผักผลไม้ เพราะหุ่นยนต์นอกจากไม่ต้องกิน มันไม่(มีความจำเป็นต้อง)รู้รสอาหาร.   
  ฟังข่าวว่านักเขียน นักปราชญ์และราชบัณฑิตย์ของฝรั่งเศส (Jean d’Ormesson, 1925-2017) ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๖๐. ชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่ คิดตรงกันว่า เขาเป็นตัวแทนของจิตสำนึกฝรั่งเศสยุคปัจจุบัน. ในปี2013 เขากล่าวไว้ว่า “อีกไม่นาน เห็บใต้ผิวหนังของคุณ ก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายคุณ. คุณจะเป็นหุ่นยนต์ของคุณเอง. โลกอีกแบบหนึ่งกำลังก่อตัวขึ้น. ทุกสิ่งที่วิทยาศาสตร์ทำได้ มันจะทำ. ความฝันในอำนาจ เข้าครอบงำคนหมดสิ้นแล้ว”. (Bientôt, semées sous votre peau, les puces feront partie de votre corps. Vous serez votre propre robot. Un autre monde est déjà au travail. Tout ce que la science est capable de faire, elle le fera. Un rêve de puissance nous emporte. Jean d’Ormesson, 2013). (คำพูดนี้ ทำให้ข้าพเจ้านึกไปถึงตัวเห็บที่มากับหุ่น Gort และ Klaatu. เห็บทั้งหลายกระจายเต็มอากาศ แทรกเข้าสู่ร่างกายคนและทำลายระบบชีวภาพของคน ในภาพยนต์ปี1951และ2008 เรื่อง The Day the earth stood still).
    ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มีนาคมปี2016 Jean d’Ormesson ยืนยันว่า โลกคือหุบเขาน้ำตา และหุบเขานี้ก็เป็นหุบเขากุหลาบด้วย. มันแยกกันไม่ออก. ชีวิตเป็นงานรื่นเริง; ชีวิตเป็นความล้มเหลว. (“La vie, naturellement, est une vallée de larmes ; elle est aussi une vallée de roses. C’est indiscernable. C’est une fête et c’est un désastre.” Jean d’Ormesson, 2016). คนต้องจำยอมและยอมรับว่าทุกอย่างมีสองแง่สองมุมเสมอ ต้องยิ้มรับด้วยน้ำตา. ฉันใดฉันนั้น ชีวิตรุ่นเราหนีไม่พ้นหุ่นยนต์ทั้งหลายในรูปแบบต่างๆที่แทรกเข้ามาในชีวิต แม้ในวงจรชีวิตที่แสนจะจำกัด ที่หลบเก็บตัวเงียบในมุมไกลหรือลึกเข้าไปในป่า. ถึงจะหลีกพ้น ก็คงไม่นานหรอก
    ความกังวลที่เกิดจากเทคโนโลยีหุ่นยนต์ กำลังขยายวงกว้างและครอบงำจิตสำนึกและจิตใต้สำนึกของคนหลายกลุ่มหลายอาชีพในยุโรป กระตุ้นให้คนหยุดไปเพ่งพินิจ“ความเป็นคน, ธรรมชาติของคน” ในโลกของหุ่นยนต์. เกิดความคิดว่า อาจต้องมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิหุ่นยนต์ ที่จักคุ้มครองคน ปกป้องความเป็นคน ควบคู่ไปกับคุ้มครองหุ่นยนต์และปกป้องปัญญาประดิษฐ์ของหุ่นยนต์ 

     Professor Isaac Asimov[ไอเซ็ก อาซมอฟ](1920-1992) นักเขียนอเมริกัน-รัสเซีย อาจารย์สอนชีวเคมีที่ Boston University ผู้มีชื่อเสียงมากในฐานะนักแต่งนิยายวิทยาศาสตร์จำนวนมากและหนังสือวิทยาศาสตร์อีกหลายเล่ม ได้ตั้งกฎสามข้อสำหรับหุ่นยนต์(1950) ให้เป็นแนวทางการสร้างตัวละครหุ่นยนต์ในนิยายวิทยาศาสตร์ของเขา เพราะหุ่นยนต์ของเขาเป็นหุ่นที่มีสมองอิเล็กทรอนที่“คิด”ได้. กฎสามข้อของเขาคือ
1. หุ่นยนต์ต้องไม่เป็นอันตรายแก่คน แม้เมื่อมันหยุดเดิน ไม่มีปฏิกิริยาใดๆแล้ว ก็ต้องไม่ทำให้คนบาดเจ็บ.
2. หุ่นยนต์ต้องเชื่อคำสั่งของคน ยกเว้นเมื่อคำสั่งนั้นขัดต่อกฎข้อหนึ่ง.
3. หุ่นยนต์ต้องปกป้องตัวตนของมันเองไปถึงที่สุด นานเท่าที่มันไม่ขัดแย้งกับกฎข้อหนึ่งและหรือข้อสอง.
กฎสามข้อนี้ปรากฏพูดถึงครั้งแรกในเรื่องสั้นชื่อ Runaround ของ Isaac Asimov. แม้เวลาจะผ่านไปหกสิบกว่าปีแล้ว นักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัยและนักปราชญ์ผู้เจาะเรื่องศาสตร์แห่งหุ่นยนต์ ก็ยังคงอ้างอิงไปถึงกฎสามข้อนี้ พร้อมแง่คิดวิเคราะห์วิจารณ์เจาะลึกที่ได้พัฒนาขึ้นมากับยุคสมัยและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์ โดยเฉพาะเมื่อมาถึงยุคที่หุ่นยนต์มีปัญญาและมีความรู้เรื่องจิตสำนึกของคนแล้ว.
   Olivier Sarre (ในวารสารปรัชญาอีเล็กทรอนิคชื่อ Implications philosophiques ในฝรั่งเศส) เน้นว่า เป้าหมายในการสร้างหุ่นยนต์เพื่อให้เป็นประโยชน์สูงสุดแก่คนนั้น นำไปสู่ความคิดเรื่องสิทธิของหุ่นยนต์ เพื่อคุ้มครองหุ่นยนต์จากคนที่อาจนำมันไปใช้ในทางที่ผิด เท่ากับสร้างความตระหนักรู้แก่หุ่นยนต์ด้วย. เขาเจาะจงใหม่ว่า
1) หุ่นยนต์ต้องไม่ทำร้ายคน ต้องไม่คิดทำร้ายร่างกายคนหรือกำจัดมนุษยชาติ.
2) หุ่นยนต์ต้องเป็นอิสระ ต้องไม่อยู่ในการควบคุมของคนเสมอไป อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่งเพื่อให้มันปฏิบัติหน้าที่อย่างมีสมรรถภาพในสถานการณ์ที่คนยังคาดคิดไปไม่ถึง.
3) คนต้องไม่ทำร้ายหุ่นยนต์หรือสะกัดข้อมูลจากสมองของมัน.

ทำไมจึงเกิดเป็นประเด็นขึ้นมาในสังคมปัจจุบันว่า ต้องร่างแผนภูมิ(chart)ว่าด้วยสิทธิของหุ่นยนต์?
   เราอาจแยกมุมมองจากพัฒนาการหุ่นยนต์ที่เข้ามาในชีวิตคน ออกเป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้
A. หุ่นยนต์ที่แพร่หลายที่สุดในโลกขณะนี้ ดั้งเดิมสร้างขึ้นเพื่อให้หุ่นยนต์ทำกิจการงานต่างๆแทนคน เป็นงานบริการคนแบบต่างๆในบริบทสังคมต่างๆ. เป็นหุ่นยนต์ที่ลอกเลียนศักยภาพทางกายภาพของคน. ผู้สร้างใส่ปัญญาประดิษฐ์ในปริมาณและคุณภาพเท่าที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานบริการแบบนั้นๆ. เป็นปัญญาประดิษฐ์อย่างอ่อน. การปฏิบัตงานของหุ่นยนต์ประเภทนี้ จากการทำได้เหมือนคน สู่การทำได้มากกว่าและดีกว่าคน เช่นกรณียกน้ำหนัก หยิบจับวัตถุเสี่ยงภัย. เป็นหุ่นยนต์ที่ทำงานได้ไม่หยุด ผลิตงานที่มีคุณภาพสูงและคงที่สม่ำเสมอในโรงงานอุตสาหกรรมเป็นต้น. หุ่นยนต์ประเภทนี้(แม้จะซับซ้อนกว่า)ไม่ผิดจากผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแบบใดนัก. หุ่นยนต์ประเภทนี้ไม่เข้าข่ายอยู่ในการพิจารณาเรื่องสิทธิของหุ่นยนต์ น่าจะเกี่ยวกับสิทธิและผลประโยชน์ของผู้ใช้หุ่นยนต์แบบนี้มากกว่า และในเชิงลึก การใช้หุ่นยนต์ทั้งหลายทั้งปวงประเภทนี้ มีส่วนสร้างมายาสำนึกว่า เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือและอุดมการณ์ที่ใช้ควบคุมชีวิตคนได้ (cf. Homo Faber).

B. หุ่นยนต์ประเภทที่สอง คนสร้างใส่ปัญญาประดิษฐ์แบบแรงลงในหุ่นยนต์ ลอกเลียนทั้งพฤติกรรมทางกายภาคของคนและจิตสำนึกของคนด้วย. รวมกันทำให้หุ่นยนต์ทำอะไรได้เหมือนคนและดีกว่าคนในหลายกรณีมาก เช่นการปฏิบัติงานของหุ่นยนต์ในพื้นที่เสี่ยงภัย หรือบนดาวอังคาร. หุ่นยนต์ประเภทนี้ยังรู้คิด รู้จักสังเกต รู้จักเก็บข้อมูล รู้จักวิเคราะห์แยกแยะและจัดข้อมูล(เหมือนกำลังทำสารานุกรมในสมองกลของมันเอง) และจากประสบการณ์และปัญญาความรู้ทั้งหลายที่สั่งสมไว้ในสมองกลนั้นๆ ทำให้หุ่นยนต์รู้จักเลือกปฏิบัติและตัดสินใจแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆด้วยปัญญาของมันเอง.
    หุ่นยนต์ประเภทนี้(ยิ่งรุ่นล่าสุด)ยังมีปัญญาเข้าใจและแยกแยะความรู้สึกของคนต่อสิ่งที่กระทบระบบประสาทสัมผัสของคนด้วย. เช่นนี้หุ่นยนต์ประเภทนี้น่าจะจัดได้ว่า“เป็นตัวอย่างของคนสมบูรณ์แบบ” (หากตัดประเด็นชีวเคมีของร่างกายออก ประเด็นนี้มิใช่หรือที่ทำให้คนเป็นสิ่งมีชีวิตและหุ่นยนต์เป็นกลจักรแบบหนึ่ง). นึกถึงเนื้อหาหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลเก่าว่า พระเจ้าปั้นตัวอาดัมขึ้น ลอกเลียนจากรูปลักษณ์ของพระเจ้าเอง นั่นคืออาดัมเป็นภาพสะท้อนของพระเจ้า. ฉันใดฉันนั้น หุ่นยนต์เป็นภาพสะท้อนของคนและความเป็นคน หุ่นยนต์เป็นภาคหนึ่งของคนสร้าง. (โดยปริยายคนจึงถูกยกขึ้นเสมอพระเจ้า the Creator แล้ว พระเจ้าอาจยังไม่คิดว่าคนเก่งกว่าพระเจ้า แต่หุ่นยนต์ประเภทที่สองนี้ เก่งกว่าคนแล้ว).
   หุ่นยนต์ประเภทที่สองนี้ นอกจากทำตามที่คนต้องการแล้ว ยังสร้างปฏิสัมพันธ์ด้านจิตวิทยากับคนได้อย่างลุ่มลึก. หุ่นยนต์กลายเป็นของเล่น เป็นคู่เล่นในเกมส์ เป็นเพื่อนหญิง เป็นเพื่อนสนิทส่วนตัวที่คนไว้วางใจ เป็นพนักงานทำหน้าที่ในสังคม เป็นผู้ช่วยแพทย์วินิจฉัยโรค เป็นผู้ช่วยแพทย์ผ่าตัด ทำหน้าที่พิเศษทางการทหาร และในที่สุดหุ่นยนต์เป็นเครื่องมือ เป็นผู้นำ เป็นผู้ช่วยสำคัญในการศึกษาวิจัยของคน (คำนวณบางชนิดซับซ้อนเกินกว่าเครื่องคำนวณจะช่วยได้ การคิดหาต้นสายปลายเหตุตามกระบวนวิทยาศาตร์ก็ใช้เวลานานเป็นปีๆ  ในงานค้นคว้าหาข้อมูลอีกหลายแบบหลายประเภท คนยังมีขีดจำกัดอยู่มาก. อาศัยปัญญาประดิษฐ์ของหุ่นยนต์ สิ่งที่ดูเหมือนทำไม่ได้ หุ่นยนต์ทำได้ คิดได้ในเวลาเพียงไม่กี่วินาที และแน่นอนในการสำรวจอวกาศ สำรวจระบบสุริยะหรือสำรวจแกลแล็กซี่, ระบบชีวเคมีของร่างกายคน ยังมิอาจทนสภาพบรรยากาศบนดวงดาวอื่นๆได้. หุ่นยนต์มีความทนทานสูงกว่า มีศักยภาพมากกว่าและสะดวกกว่า. หุ่นยนต์ประเภทนี้นี่เอง ที่ทำให้คิดขึ้นมาว่า จำเป็นต้องบัญญัติสิทธิของหุ่นยนต์ให้เป็นที่ประจักษ์ทั้งในหมู่คนและในปัญญาประดิษฐ์ของหุ่นยนต์ด้วย.

C. การสร้างปัญญาประดิษฐ์อย่างแรงให้หุ่นยนต์ในสภาพการณ์ปัจจุบันนั้นอาจแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มที่หนึ่ง พัฒนาบุคลิกเฉพาะสำหรับหุ่นยนต์แต่ละตัว ที่เกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์กับคน ทั้งกับคนที่มีนิสัยตรงกันและกับคนที่ต่างกัน. อีกกลุ่มหนึ่ง เมื่อเกิดความซับซ้อนของการนำไปใช้งานในสถานที่และบริบทแวดล้อมที่คนคาดการณ์หรือคิดเดาสถานการณ์ล่วงหน้าไม่ได้ เช่นพื้นที่เสี่ยงภัย สนามสงคราม การสำรวจอวกาศ. นักวิทยาศาสตร์ต้องเพิ่มศักยภาพให้หุ่นยนต์รู้จักแก้ปัญหาด้วยปัญญาของมันเอง หุ่นยนต์ต้องมีปัญญาวิเคราะห์เองและตัดสินใจปฏิบัติการจากการวินิจฉัยสถานการณ์ด้วยสมองกลของมันเอง. ศักยภาพด้านนี้สำคัญยิ่ง. หุ่นยนต์ประเภทที่สอง จึงต้องมีอิสระเต็มที่ด้วย ต้องไม่มีอะไรควบคุมการปฏิบัติงานของมันในบริบทพิเศษต่างๆดังกล่าว เพื่อให้การปฏิบัติงานบรรลุเป้าหมาย. (ยกเว้นเมื่อการปฏิบัติงานของหุ่นยนต์อยู่ในบริบทที่มีคนร่วมทำงานอยู่ด้วย เช่นในโครงการอุตสาหกรรม โครงการรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจแบบต่างๆ ที่เกี่ยวโยงไปถึงปัญหาความปลอดภัยของคนและหรือความมั่นใจของผู้บริโภค ในกรณีเช่นนี้ คนจำเป็นต้องควบคุมหุ่นยนต์ได้).

D. หุ่นยนต์ประเภทที่สอง ยังมีศักยภาพในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับหุ่นยนต์ด้วยกันที่มีปัญญาประดิษฐ์แบบแรงในระดับเสมอกัน เหมือนการได้พบเพื่อนคู่หูหรือ soul mate หุ่นยนต์ก็เจรจา ตอบโต้ แลกเปลี่ยนชั้นเชิงระหว่างกันได้ด้วย และที่สำคัญคือเมื่อมีหน้าที่ตรงกัน ก็ร่วมมือ ตัดสินใจปฏิบัติการด้วยกันหรือสอดคล้องกันโดยคนมิได้เข้าไปเกี่ยวข้องหรือสั่งการเลย. นี่เป็นกรณีทดลองศึกษาในปัจจุบัน การทดลองกับหุ่นยนต์แบบโดรน(ที่สวิสเซอแลนด์) ทำให้เห็นว่าอาจรวมโดรนเป็นทีมเก็บข้อมูลพื้นที่ จนอาจเป็นทีมโดรนทหารสายสืบเป็นต้น. หุ่นยนต์ประเภทนี้(ทั้งที่ใช้บนภาคพื้นดินหรือในอากาศ) ต้องพิจารณาเป็นพิเศษ คนต้องให้ความคุ้มครองอย่างยิ่งด้วย เพราะข้อมูลที่สะสมอยู่ในหน่วยความจำของมัน อาจโยงไปเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ. การโจรกรรมข้อมูลจากสมองกลของหุ่นยนต์ที่ปฏิบัติงานแบบนี้นั้น อาจนำไปสู่ความหายนะได้ ในเมื่อสังคมโลกต่างชิงดีชิงเด่นกัน ต่างต้องการเป็นใหญ่.

E. เครื่องกลจักรรู้ดีรู้ชั่วไหม? คนจะใส่โปรแกรมเรื่องศีลธรรมจริยธรรมลงในหุ่นยนต์ด้วยไหม? เป็นคำถามที่ปรากฏในวารสาร The Atlantic ฉบับเดือนพฤษภาคม 2014 (นี่คือวารสารรายเดือนอเมริกัน ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี185) ที่เกี่ยวกับรัฐบาลสหรัฐ ต้องการสอนหุ่นยนต์ให้รู้ผิดรู้ถูกที่ยังยืดเยื้อต่อมาเป็นประเด็นในวงการทหารปัจจุบัน. กฎของรัฐบาลสหรัฐฯ ห้ามหุ่นยนต์ฆ่าคน ระบบกึ่งอิสระของหุ่นยนต์ไม่สามารถเจาะจงและโจมตีเป้าหมายใดที่คนไม่ได้เป็นผู้กำหนดล่วงหน้าให้มันก่อน. หุ่นยนต์ไม่สามารถตัดสินยิง(ปืน)เป้าใดด้วยตัวหุ่นเอง. ควรสร้างหุ่นยนต์ให้ตัดสินใจฆ่าคนได้โดยไม่มีคนเข้าแทรกแซงหรือสั่งการไหม? ปัญหาการปฏิบัติงานของหุ่นยนต์สังกัดการทหาร มีปัญหาศีลธรรมแฝงอยู่ด้วยเสมอ แม้ในกรณีที่ไม่เกี่ยวกับการใช้อาวุธ เช่นกรณีภัยพิบัติ ให้หุ่นยนต์ช่วยใครก่อน ให้มันตัดสินใจเองไหมว่าต้องช่วยใครก่อน.
   หลายคนเห็นว่าจำเป็นต้องใส่โปรแกรมที่เป็นเหตุผลด้านศีลธรรมและจริยธรรมให้หุ่นยนต์ด้วย เพื่อให้หุ่นยนต์ทำหน้าที่ได้ดีที่สุด. การฝังเรื่องที่เป็นนามธรรมเข้าในระบบที่เป็นกลจักรทั้งตัว ทำได้ไหม อย่างไร? กรมศึกษาวิจัยทางทะเลของสหรัฐฯได้อนุมัติเงินงบประมาณให้มหาวิทยาลัยต่างๆ วิจัยและประดิษฐ์โปรแกรมซอฟแวร์ที่จักสร้างความตระหนักรู้เรื่องศีลธรรมและผลลัพธ์ทางศีลธรรมของพฤติกรรมทุกแบบของคนสำหรับใส่ลงในหุ่นยนต์. ในอนาคตเมื่อปล่อยให้หุ่นยนต์มีอิสรภาพเต็มที่ในการวินิจฉัยสถานการณ์และดำเนินการตามที่มันเห็นดีที่สุด หุ่นยนต์อาจรู้เท่าทันผลด้านศีธรรมที่จะตามมาด้วย. แต่การใส่โปรแกรมด้านศีลธรรมให้หุ่นยนต์ หุ่นยนต์อาจมี“ความรู้”ด้านจริยธรรมเพิ่มขึ้น แต่นั่นมิได้หมายความว่าหุ่นยนต์มีจิตสำนึก มี“ความรู้สึก”เหมือนคนที่ทนทรมานอยู่ในความทุกข์หรือความเจ็บปวด. หุ่นยนต์ไม่อาจรู้สึกร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับศีลธรรมใดที่คนใส่ให้. ประเด็นนี้ไม่เกี่ยวเฉพาะในวงทหารเท่านั้น แต่ในทุกบริบทที่ใช้หุ่นยนต์ประเภทนี้เช่นหุ่นพยาบาลเป็นต้น.
   หลายรัฐในสหรัฐฯได้อนุมัติให้มีรถยนต์กูเกิล(Google car) ที่คนขับเป็นหุ่นยนต์(มีตัวหุ่นยนต์ในรถด้วยหรือไม่ก็ได้). โปรแกรมที่ใส่ให้หุ่นยนต์คนขับนั้น ต้องตอบโจทย์ทุกปัญหาที่คนทำโปรแกรมต้องคาดคะเนและจินตนาการไปให้กว้างให้ครบทุกแง่ทุกมุม แต่ก็อาจยังมีสถานการณ์อื่นๆที่คาดไปไม่ถึงก็ได้. โปรแกรมที่จะเป็นกรอบปฏิบัติงานของหุ่นยนต์นี้ รวมจิตสำนึกเรื่องศีลธรรมด้วยไหม? การรู้คิดเรื่องศีลธรรมเป็นรูปแบบแรกของจิตสำนึกหรือไม่? (ตัวอย่างง่ายๆเช่น มีรถบรรทุกพุ่งตรงจะเข้าชนรถกูเกิล หากหุ่นยนต์ผู้ขับรถกูเกิล เบี่ยงรถไปทางขวา จะชนคนแก่ที่ยืนอยู่บนฟุตบาท หากเบี่ยงไปทางซ้ายจะชนเด็กนักเรียนที่ยืนคอยข้ามถนน หุ่นยนต์จะตัดสินใจอย่างไร จะเลือกชนใคร หรือปล่อยให้รถบรรทุกชนรถกูเกิล. นี่เป็นเพียงตัวอย่างง่ายๆตัวอย่างหนึ่ง เหตุการณ์ที่ซับซ้อนกว่านี้ ยังมีอีกมาก. แล้ววันหนึ่งหากหุ่นยนต์ตัดสินใจฆ่าคนตามการคิดวิเคราะห์จากเหตุผลต่างๆตรงตามที่โปรแกรมสอนไว้ จะเกิดอะไรขึ้น?)  
    Yannis Constantinidès (นักปราชญ์ฝรั่งเศสยุคนี้) กล่าวเสริมว่า สิ่งที่แยกหุ่นยนต์จากคนได้ชัดเจนที่สุดคือ คนไวต่อความรู้สึก คนมีอารมณ์หวั่นไหวได้ทุกเวลาทุกสถานที่. หุ่นยนต์อาจถูกใส่โปรแกรมให้แสดงอารมณ์ต่างๆได้ (เช่นหุ่น Nexi) นั่นคือกับดัก. คนสอนให้หุ่นดึงมือออกเมื่อมันไปจับอะไรร้อนๆ และแม้หุ่นจะทำตาม มันทำไปตามโปรแกรมที่ใส่ให้มัน ไม่ใช่เพราะมันรู้สึกปวดแสบปวดร้อนจริง. การสอนให้รู้สึก คือการสร้างศักยภาพของการรู้สึกเจ็บ รู้สึกปวด รู้สึกขาด เกิดความปรารถนา. ความรู้สึกทั้งหลายเหล่านี้เป็นสิ่งที่เครื่องกลจักรโดยคำนิยาม ทำไม่ได้. คนอาจใส่ข้อมูลเป็นความรู้ดิบๆเรื่องอารมณ์ความรู้สึกแบบคนให้หุ่นยนต์ได้ แต่ไม่อาจทำให้หุ่นยนต์รู้สึกตามนั้นได้จริง.

F. ปัญญาประดิษฐ์ไม่ได้เป็นผลงานของวิทยาการแขนงใดแขนงเดียว มาจากความร่วมมือของผู้เชี่ยวชาญหลายแขนง. เทคโนโลยีหุ่นยนต์จึงไม่ใช่วิทยาการที่เบ็ดเสร็จในตัวเองหรือเป็นเอกเทศ. ยืนยันให้ตระหนักถึงความจริงที่ว่า ปัญญาประดิษฐ์นั้นสร้างขึ้นเพื่อมาทดแทนความสามารถที่ขาดไปหรือไม่เพียงพอของคน. เช่นนี้ คนทุกคนอยู่ในตำแหน่งเดียวกันเมื่อเผชิญกับความสับสนซับซ้อนของวิทยาการหุ่นยนต์. ความเสมอภาคทางกฎหมายที่เจาะจงกำหนดกันมาตั้งแต่ยุคเรอแนสซ็องส์นั้น นอกจากต้องเพิ่มความเสมอภาคในการเข้าถึงวัฒนธรรมทุกแบบทุกประเภท ในกรณีปัจจุบัน ยังคือ ความเสมอภาคในการเข้าถึงการใช้ปัญญาประดิษฐ์ได้อย่างอัตโนมัติ.
    การใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่อาจเป็นอันตรายต่อความเป็นมนุษย์(ในอนาคต) ต้องมีศีลธรรมเป็นตัวบงการ เป็นตัวควบคุมพฤติกรรมของหุ่นยนต์ ให้อยู่ในบริบทที่เป็นมิตรต่อความเป็นมนุษย์. หุ่นยนต์ในฐานะที่เป็นเครื่องมือของเทคโนโลยี ต้องไม่ทำให้มนุษยชาติเดือดร้อน ไม่ทำให้ชนรุ่นหลังในอนาคตเดือดร้อน. วิทยาการสมัยใหม่ต้องแทรกเข้าไปตั้งหลักใหม่ ตั้งอุดมการณ์ใหม่ในจิตสำนึกของคน เพื่อให้ความรู้ศาสตร์วิชาคงอยู่ต่อไปได้ ให้เป็นมรดกของมนุษยชาติ ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทำลายศักดิ์ศรีของความเป็นคน ของเอกบุคคลในสังคมอนาคตด้วย. วิทยาศาสตร์ต้องเป็นกลาง ไม่มุ่งเน้นประสิทธิผลและประโยชน์จากเทคโนโลยีเท่านั้น.

     การที่คนคิดจะปกป้อง“ชีวิต”และสิทธิของหุ่นยนต์ เท่ากับเน้นว่า คนต้องไม่ทำร้ายหรือทำลายหุ่นยนต์. หากบัญญัติเป็นกฎหมาย เท่ากับว่ากฎหมายได้จำกัดเสรีภาพของคนไปด้วยแล้ว. ป้องกันหุ่นยนต์ กระทบเสรีภาพของคนที่มีต่อหุ่นยนต์ โดยเฉพาะหุ่นยนต์ที่เขาสร้างขึ้นเอง เขาก็มิอาจทำลายมันได้ เช่นนั้นหรือ? ต่อไป คนอาจทำอะไรต่อต้านหุ่นยนต์ไม่ได้ ทั้งๆที่มันเป็นสิ่งที่คนสร้างมันขึ้น อย่างนั้นหรือ?
   ยามใดที่หุ่นยนต์เป็นอิสระเต็มที่เหมือนคน เมื่อหุ่นยนต์มีสิทธิที่มากับหน้าที่ความรับผิดชอบในแบบเดียวกับคน หุ่นยนต์ก็ไม่น่าจะเป็นตัวสร้างปัญหามากไปกว่าเพื่อนร่วมชาติคนหนึ่ง. คนจึงน่าจะหมดห่วงเกี่ยวกับเทคนิคที่ล้อมรอบตัวคน เพราะเมื่อถึงยามนั้น  เทคนิคต้องรู้จักควบคุมตัวมันเองแล้ว. หุ่นยนต์ต้องมีสิทธิ์ปกป้องตัวตนของมันเองไปถึงที่สุด นานเท่าที่มันไม่เป็นอันตรายต่อคน และอิสรภาพของหุ่นยนต์ น่าจะมีข้อจำกัดเพียงว่า อิสรภาพนั้นไม่ย้อนมาทำร้ายคน.
    เรายังอาจถามต่อว่า หากมีรัฐบาลประเทศใด(กรณีเกาหลีใต้ที่แสดงความจำนงไว้ในปี 2006-2007) จัดร่างสิทธิหุ่นยนต์ขึ้น รัฐบาลนั้นทำถูกกฎหมายนานาชาติไหม? เทคโนโลยีได้เข้าไปในชีวิตของมนุษยชาติทั้งมวลแล้ว มิใช่ในชุมชนใดชุมชนหนึ่งของชาติใดชาติเดียว. เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า การกระจายแพร่หลายของหุ่นยนต์เป็นปรากฏการณ์โลกและไม่ใช่เฉพาะถิ่นใด ดังนั้นหากจะร่างหลักการว่าด้วยสิทธิหุ่นยนต์ จำเป็นต้องมีตัวแทนจากมนุษยชาติทั้งหมด และก็ไม่ใช่ทำในหมู่ปัญญาชนของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น. หรือหากทุกประเทศยอมรับร่างกฎหมายที่ประเทศหนึ่งเป็นผู้ทำ  เท่ากับให้ประเทศนี้ เป็นผู้บริหารจัดการทุกเรื่องเกี่ยวกับหุ่นยนต์ (นี่อาจเป็นพัฒนาการทางเทคนิคที่สำคัญที่สุดในอนาคต). อำนาจดังกล่าวนี้ในมือของประเทศเดียวนั้นน่ากลัวมาก เพราะจักโยงไปถึงอำนาจทางการเมือง การควบคุมอำนาจเหนือโลกทั้งโลก
   คนคิดจัดทำสิทธิของหุ่นยนต์ เป็นตัวแทนของหุ่นยนต์ การกระทำนี้เท่ากับยืนยันว่า คนไม่เหมือนหุ่นยนต์ เป็นเจ้าของหุ่นยนต์ เป็นผู้มีอำนาจเหนือหุ่นยนต์ ในขณะเดียวกันคนถูกหุ่นยนต์จำกัดเสรีภาพลงไปด้วย. การสถาปนาสิทธิหุ่นยนต์มีปัญหามากทั้งในเชิงปฏิบัติและในเชิงทฤษฎีที่ซับซ้อนที่อาจนำไปสู่ความไม่สามารถควบคุมผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์ได้อย่างจริงจังและถูกต้อง. เป็นการดีกว่าไหมว่า นอกจากการตรากฏหมายนานาชาติ ควบคุม“ความอ่อนความแข็ง”ของปัญญาประดิษฐ์ที่สอดคล้องกับการใช้งานของหุ่นยนต์แต่ละประเภท ควรต้องสร้างกรอบกฎหมายนานาชาติในการใช้หุ่นยนต์ประเภทต่างๆด้วย. ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ต้องคิดวิเคราะห์ปัญหาอย่างรอบด้าน จากมุมมองของธาตุแท้ของความเป็นคน ของธรรมชาติ และของศักยภาพกับอานุภาพของเทคโนโลยีพร้อมๆกันไปด้วย.
***
     ข้าพเจ้ารวมรวม เรียบเรียงและสรุปตามขั้นตอนที่ง่ายที่สุดสำหรับข้าพเจ้า. เนื้อหาในบทความนี้จากข้อมูลต่างๆทั้งจากสหรัฐอเมริกาและจากยุโรป โดยเฉพาะจากองค์การหรือสถาบันที่เกี่ยวกับหุ่นยนต์ศาสตร์หรือหุ่นยนต์ศึกษา. ประเทศสวิสเซอแลนด์เป็นหนึ่งในผู้นำด้านนี้ (พิจารณาจากงบประมาณที่ลงทุนในการศึกษาวิจัยด้านนี้โดยเฉพาะ เช่น Human Brain Project). ประเทศญี่ปุ่นก็เป็นผู้นำด้านนี้ที่สร้างความตะลึงแก่ชาวโลกในช่วงสองทศวรรษหลังอย่างต่อเนื่อง. น่าเสียดายว่า คนภายนอกวงการ(แม้คนญี่ปุ่นด้วยกันเอง)ไม่มีโอกาสเข้าถึงเอกสารหรือความรู้ใด เพราะตามประสาญี่ปุ่น ทุกอย่างเก็บเป็นความลับสุดยอด จึงไม่มีการถ่ายทอดข้อมูลใดเป็นภาษาต่างประเทศ จนเมื่อหุ่นยนต์ตัวต่างๆออกมาสู่ตลาดโลกแล้ว จึงมีการอธิบายศักยภาพของหุ่นยนต์ ที่เน้นประสิทธิภาพและประโยชน์จากหุ่นยนต์(จนเกือบเป็นการโฆษณาขายสินค้า).
     ตะวันออกเช่นญี่ปุ่น เกาหลีและ(ในไม่ช้า)จีน มุ่งประเด็นประสิทธิภาพและประโยชน์จากหุ่นยนต์ จนประเด็นการค้าดูจะครอบงำการศึกษาวิจัยหุ่นยนต์แล้ว ในขณะที่ตะวันตก การพัฒนาหุ่นยนต์ให้มีศักยภาพมากขึ้นๆ ก็ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แต่ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่20 แล้ว ปราชญ์แขนงต่างๆดึงและวิเคราะห์ผลกระทบของหุ่นยนต์ต่อสังคม ต่อจิตวิทยา ต่อมนุษย์ ต่อธรรมชาติของมนุษย์ ต่ออนาคตของมนุษย์และของหุ่นยนต์ควบคู่กันไป. มิติของการเรียนรู้และการเตรียมรับปรากฏการณ์หุ่นยนต์จึงต่างกันมาก.
    ประเด็นต่างๆที่ยุโรปได้มองเจาะลึกลงไป ได้เป็นเนื้อหาของนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ ที่ชาวโลกติดตามดูจากภาพยนต์ทั้งบนจอใหญ่ จอเล็กและจอจิ๋ว เหมือนชาวญี่ปุ่นที่เกาะติดการ์ตูนมังกะ(manga)มาจนทุกวันนี้อย่างถอนตัวไม่ขึ้น. ในที่สุดพฤติกรรมของคนเกือบทุกมุมโลก ไหลไปทางเดียวกัน บนสายพานที่หยุดไม่ได้เสียแล้ว   

ติดตามบทต่อไป ที่นำเสนอหุ่นยนต์ตัวดังๆในหนังที่ไม่ธรรมดา

บันทึกความสนใจของ โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์
วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๐.
     
ณจุดเริ่มต้น
19 October 2017
รู้ตัวตื่นวันนี้ สมองเห็นเครื่องมือดาราศาสตร์ขนาดย่อส่วนที่ข้าพเจ้าซื้อสะสมมาหลายชิ้นในระหว่างสามสิบปีสี่สิบปีที่ผ่านมา ขณะเดินทางไปในที่ต่างๆ จากท้องฟ้าจำลองที่แถวเอกมัยในวัยมัธยมไปถึงท้องฟ้าจำลองขนาดใหญ่ขึ้นๆตามเมืองใหญ่ๆในสหรัฐอเมริกาเช่นที่วอชิงตันดีซีหรือที่ชิคาโก. ข้าพเจ้ามีความทรงจำดีๆจากแต่ละแห่งที่ยังไม่ลืม. นึกย้อนไปว่าทำไมถึงได้เสียเงินค่าอาหาร ไปซื้อเครื่องมือดาราศาสตร์พวกนั้น โดยเฉพาะ armillary sphere ท้องฟ้าจำลองลูกกลมที่เป็นทองเหลือง ที่ทำขึ้นในปารีสมีจำหลักวันที่ทำ(ศตวรรษที่19) บอกชื่อว่าใครทำ. ท้องฟ้าจำลองลูกนี้หนักมาก หอบหิ้วอุ้มติดตัวจากฝรั่งเศสไปเกาหลี ญี่ปุ่นและกลับมาตั้งจับฝุ่นที่กรุงเทพมหานคร. นึกแล้วก็แปลกใจไม่น้อย อดใจไม่ได้จริงๆ ทั้งๆที่มีอะไรอื่นสำคัญกว่ามาก. อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าก็ดีใจเรื่อยมาว่า สรรพสิ่งที่ขยันซื้อมานั้น มันนำทางข้าพเจ้าไปอ่านไปเรียนเรื่องต่างๆที่ชีวิตหลังเกษียณเอื้ออำนวยอย่างยิ่ง เช่นเรื่องดาราศาสตร์ที่นำมาเป็นหัวข้อศึกษาในยามนี้. ชัดเจนว่าทุกอย่างในชีวิต เกิดอย่างมีเหตุ ปัจจัยและมีผลตามมา.
   เมื่อหลานชายคนเล็กมุ่งศึกษาเพื่อเป็นนักบิน ข้าพเจ้าเห็นเป็นโอกาสแนะนำให้เขาได้อ่านวรรณกรรมของนักบินนักเขียนชาวฝรั่งเศสชื่อ แซ็งเต๊กซูเปรี (Saint-Exupéry, 1900-1944 หนึ่งในนักบินรุ่นบุกเบิกของฝรั่งเศส) เพื่อปลูกฝังความคิดเชิงปรัชญาจากการบิน. ได้สั่งซื้อหนังสือจากสหรัฐฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งมีเพียงสองเรื่องที่เป็นผลงานที่โดดเด่นมากที่สุดในความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้า คือ Vol de Nuit (Night flight) และ Terre des Hommes (Man and His World). หลานชายสนใจอวกาศตั้งแต่เด็ก ต่อไปถึงเครื่องจักรและศักยภาพของเครื่องบินกับการบิน เคยพาเขาไปดูเครื่องบินแบบต่างๆในสมัยสงครามโลกหนึ่ง-สอง ที่ Imperial War Museum, London. เขาก็ติดตามดูและฟังข้อมูลจากเสียงบันทึกคำอธิบายอย่างละเอียดที่ทางพิพิธภัณฑ์จัดบริการ. ตอนนี้หลานคนนี้เป็นนักบินไปเรียบร้อยแล้วและการบินก็ทำให้เขาสนใจนาฬิกาแบบต่างๆ. หลังจากที่ข้าพเจ้ามาคิดพิจารณาเรื่องดาราศาสตร์(ขั้นพื้นฐาน) จึงเข้าใจว่านาฬิกาเป็นเป้าหมายบนเส้นทางบินที่เขาต้องผ่านโดยอัตโนมัติ.
     ข้าพเจ้าจับเรื่องหุ่นยนต์มาศึกษาดู ใช้เวลาอ่านติดตามข้อมูลซึ่งมีมากมายในเน็ต ไม่เป็นอันกินอันนอน ราวกับเตรียมตัวไปสอบเข้าองค์การ Nasa ก็ไม่ปาน. ตั้งแต่เก็บข้อมูล ถอดเทปวีดีโอ ถอดบันทึกสัมมนา แปลบทความฯลฯ  ด้วยประสบการณ์จากการเรียนอักษรศาสตร์ ทำให้เชี่ยวชาญการตัดต่อ ย่อและสรุป และด้วยความชำนาญของแม่ครัวจำเป็นที่ถนัดการทำสลัด ได้รวบรวมและเรียบเรียง เขียนออกมาเป็นข้อมูลประเภทหนังสือ Dummy อย่างง่ายๆ เป็นชุดสี่ห้าตอนจบ. มิได้หวังให้เพื่อนอักษรฯอ่าน มันไม่ถูกจริตชาวอักษรฯ แต่รวมข้อมูลและมุมมองให้หลานกับเพื่อนนักบินของเขาอ่าน ให้เป็นขนมหลังอาหารคาว. อาจให้ความรู้สึกดีๆแก่เด็กรุ่นใหม่ว่า ทุกอย่างมีที่มา. “โบราณ”อาจล้าสมัยแต่ไม่ไร้ค่า เป็นบ่อความรู้ เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่คนปัจจุบันยังแกะความลับไม่ได้ เช่นระบบการก่อสร้างปิรามิด หรือในบริบทของงานเขียนเรื่องนี้  ข้าพเจ้าได้ตามไปทำความรู้จักกับ “คอมพิวเตอร์เครื่องแรกของมนุษย์” ที่ยังเป็นท้องฟ้าจำลองด้วย (cf. Antikythera mechanism) และมีมานานถึงสองพันปีแล้ว(ตั้งแต่ 200-100 BC.)  ความใฝ่รู้ที่มากับความถ่อมตน ความไม่ลดละในการสังเกต ความซื่อตรงต่อสิ่งที่ทำ จดทุกอย่างเป็นข้อมูลดิบๆไว้ และความวิริยะของปราชญ์โบราณเป็นความมหัศจรรย์สำหรับข้าพเจ้า มันได้ปูทางสู่ศาสตร์และเทคโนโลยีรุ่นใหม่.
   ในอีกด้านหนึ่ง ข้าพเจ้านึกถึง Michelangelo (ผู้ได้สมญาจากคนรุ่นเดียวกับเขาว่า Il Divino หรือ the Divine One และผู้ที่ปัญญาชนสมัยใหม่ตั้งสมญาให้ว่าเป็น the Renaissance Man) ผู้ขึ้นไปนั่งบนเนินเขาสูง มองดูกรุงโรมและพื้นที่ที่เขาได้รับคำสั่งจากสันตะปาปา(Pope Julius II,เป็นสันตะปาปาระหว่างปี1503-1513) ให้ประดับเพดานโบสถ์ซิสติน (Sistine Chapel). เขาคิดไม่ตกว่าจะถ่ายทอดการสร้างโลกของพระเจ้าได้อย่างไร ที่ไม่ขัดแย้งกับอุดมการณ์แบบฉบับอันเข้มงวดของลัทธิแคทอลิกยุคนั้น และในขณะเดียวกันเขาก็ต้องการเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพของการนำเสนอภาพตามอุดมการณ์มานุษยนิยมและปรัชญาส่วนตัวของเขาเองที่ออกนอกแบบแผนของศิลปะยุคนั้น. การไปอยู่คนเดียว ท่ามกลางธรรมชาติอันยิ่งใหญ่รอบตัว เห็นกรุงโรมที่ทอดอยู่เบื้องล่างเหมือนรังมด ที่เป็นพลังอำนาจทั้งการเมืองและศาสนา. เขาอยู่คนเดียวบนเขานั้นเป็นเวลานาน วันแล้ววันเล่า จนวันดีคืนดี ความคิดอ่านของเขาได้หลอมเข้าไปในระบบธรรมชาติ ในระบบจักรวาล ฉับพลันเขาคิดขึ้นได้ว่าเขาจะถ่ายทอดความยิ่งใหญ่ของ the Creation ได้ในแบบไหน ที่จักผนวกจิตวิญญาณที่มุ่งสู่พระเจ้า ให้สอดคล้องกับกิริยาท่าทางของร่างกายและจิตสำนึกบนใบหน้าและดวงตา. เขาต้องการรวมสามมิตินี้เข้าด้วยกัน เพราะแน่ใจว่าวิธีการสร้างสรรค์แบบนี้จักเป็นเหมือนแรงผลักดันยกกำลังสามที่มีอำนาจสูงสุด ที่นำไปสู่ศรัทธาในพระเจ้าได้ยั่งยืนกว่า. ดังนั้นแทนการเสนอภาพพระเจ้าตามแบบคริสตศิลป์ยุคก่อนๆ ที่นิ่ง ทื่อและขรึม สวมเสื้อคลุมทูนิคยาวและหนา ที่เป็นแบบ Christ Pantocrator (พระคริสต์ผู้ปกครองจักรวาล) มาตั้งแต่โบราณ  เขาเสนอภาพของพระเจ้าที่เหมือนคนเดินดิน ห่มผ้ายาวที่พริ้วไปตามลมและตามการเคลื่อนไหวที่ดูมีชีวิตชีวา มีความรู้สึก เป็นพระเจ้าในลักษณะของบิดาที่คนคุ้นเคย ที่ทำให้ทุกคนยำเกรงแต่วางใจและรู้สึกอบอุ่นใจได้.
จิตรกรรมฝาผนังศตวรรษที่12 ภาพพระเจ้าในแบบเจ้าผู้ครองจักรวาล Pantocrator
ผลงานของ Master of Taüll ที่เคยประดับหัวโบสถ์วิหาร San Clemente de Taüll ใน Catalunia (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสเปน) ปัจจุบันอยู่ที่ Museu Nacional d'Art de Catalunya ในกรุง Barcelona. ภาพจาก wikipedia.org [Public domain].
เพดานวัด Sistine Chapel ในวาติกัน ผลงานสร้างสรรค์ของ Michelangelo ระหว่างปี c.1508-1512. ภาพจาก Wikimedia Commons : Michelangelo [CC BY-SA 3.0
(https://creativecommons.org/licenses/by-sa/3.0)].
รายละเอียดตอนพระเจ้าเนรมิตอาดัม (The Creation of Adam) ของไมเคิลแอนเจลโล ราวปี 1511. ภาพจาก Wikimedia Commons [Public domain]. ภาพนี้กลายเป็นไอคอนของ“มนุษยชาติ”. มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มบุคคลทางขวา กลุ่มพระเจ้า(มีพระเจ้า ผู้หญิงคนหนึ่งและเด็กๆ) อยู่ในกรอบสีน้ำตาลที่มองดูเหมือนสมอง. ส่วนอาดัมทอดตัวบนโขดหิน มองไปที่พระเจ้า. มองเห็น“พระเจ้า”ในมโนสำนึก ในความคิด ในสมอง หรือในจิตใต้สำนึกของอาดัม.
     ข้าพเจ้านึกเปรียบต่อในใจว่า พระเจ้าสมัยก่อนเหมือนดวงอาทิตย์ที่นิ่งอยู่กับที่ตามความรู้ความเข้าใจดาราศาสตร์สมัยก่อน(cf. Ptolemy). ไมเคิลแอนเจลโลได้เสนอภาพของพระเจ้าที่เป็นดวงอาทิตย์ที่เคลื่อนไหวและมีปฏิกิริยาอย่างต่อเนื่องบนพื้นผิวของดวงอาทิตย์ (cf. ตามภาพยืนยันจาก Hubble Space Telescope ของ Nasa ที่ส่งออกไปในอวกาศในปี 1990 และยังคงใช้งานมาถึงปี 2017 คาดกันว่ายาน Hubble จะยังทำงานต่อไปได้ถึงปี 2030 หรือ 2040)
    คำ“แรงบันดาลใจ” จากคำ inspire/inspiration นั้น โดยปริยายรวมนัยของการมีผู้ให้ความคิด มีผู้บันดาล, แต่เป็นไปได้เช่นกันว่า ความคิดบางทีก็อุบัติขึ้นเองได้ภายในสมองของคน. อย่าได้ดูหมิ่นศักยภาพอันไร้ที่สิ้นสุดของสมองคน ที่เป็นสุดยอดของคอมพิวเตอร์ เพราะเมื่อจิตว่างจากพันธะเล็กๆน้อยๆอื่นๆ จิตปลอดโปร่งว่างพอที่จะเห็นว่าจุดเล็กจุดเดียวนั้น แท้จริงมีอาณาบริเวณกว้างใหญ่และลึกเกินภาพผิวของมัน. นึกถึงกรณีของโมเสสที่ขึ้นไปอยู่บนเขาสี่สิบวัน วันแล้ววันเล่า จนความคิดอุบัติขึ้นในใจ เขาตรึกตรองด้วยปัญญาจนเข้าใจจริงว่า อะไรคือกฎของการอยู่ร่วมกัน แล้วจำหลักบัญญัติสิบประการ ถือลงมาให้ชาวยิว. (ผู้ชำระคัมภีร์เลือกที่จะเล่าว่าพระเจ้ามาบอกให้เขียนทั้งสิบข้อ พูดทำนองนี้กระชับจิตศรัทธาและง่ายสำหรับความเข้าใจของคนทุกระดับ). ข้าพเจ้ามองว่าการปลีกวิเวกแบบนี้ (ตัวอย่างของโมเสสและไมเคิลแอนเจลโล) คือการทำสมาธิ มุ่งอยู่ที่จุดๆเดียว (ตามที่พระท่านสอนมา อย่าตั้งเป้าหมายล่วงหน้าว่าจะเห็นอะไร จะได้อะไร) หยุดอยู่เพียงจุดนั้นจุดเดียว เมื่อสลัดความคิดอื่นๆได้หมดแล้ว เกิดความพร้อมทั้งจิตและใจ พร้อมที่จะเรียน เปิดรับรู้และสัมผัส ปัญญาก็อุบัติขึ้นเองในสมองและจิตสำนึก ตามสำนวนของท่านอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ว่า“เมื่อศิษย์พร้อม ครูก็ปรากฏ”. เมื่อจิตพร้อมเช่นนั้น จิตเห็นจุดเดียวที่ตั้งไว้ ชัดขึ้นๆ เห็นไปในหลายมิติเหมือนกระแสไฟฟ้าหรือคลื่นความถี่ที่กระจายออกไปเองในอากาศ โดยที่ในชีวิตทุกวันไม่เคยนึกไปไกลได้ถึงเพียงนั้น. ความหยั่งรู้ในยามนั้นนั่นแหละ สร้างเป็น network เป็นเครือข่ายเนื้อหาของจุดนั้นขึ้นมา (การทำสมาธิจึงมีประโยชน์ด้วยประการฉะนี้). สำหรับข้าพเจ้า ไม่มีปาฏิหาริย์จาก“ใคร”อื่น แต่จากความเพียรของตนเองเท่านั้น. ความเพียรในการสั่งสมคุณงามความดี ความเพียรในการมีสติตั้งมั่นด้วยสมาธิ และความเพียรในการสั่งสมความรู้และประสบการณ์(ทั้งทางโลกและทางธรรม) ที่จักเป็นคลังปัญญาเก็บไว้ในสมองและในผัสสะ เป็นปัญญา“อัตโนมัติ”ที่อุบัติขึ้นเบื้องหน้าสถานการณ์แต่ละประเภท. ดังนั้นทุกครั้งที่ใจพร้อม จิตสำนึกแจ่มกระจ่าง ความคิดอุบัติขึ้น เห็นปัญหาและวิธีแก้ปัญหา. และนั่นเองคือปาฏิหาริย์ที่แท้จริง ปาฏิหาริย์แห่งพุทธธรรม “ศีล สมาธิ ปัญญา” ที่ข้าพเจ้าเพิ่งตระหนักถึงพลังมหาศาลและเข้าใจเมื่อไม่นานมานี่เองว่าพระธรรมนี้เป็น“สันทิฏฐิโก, อกาลิโกและปัจจัตตัง” อย่างไร.
    สำหรับผู้อยากรู้ว่าข้าพเจ้า(หาเรื่อง)เขียนเรื่องแบบนี้ได้อย่างไร ถูกๆผิดๆแน่. ผิดหรือถูกขึ้นอยู่กับเวลา(และสถานที่). อะไรที่รู้ว่าถูกต้องวันนี้ วันพรุ่งนี้อาจกลายเป็นผิด. เวลาเป็นผู้กำกับควบคุมโลกและสรรพชีวิตบนโลกอย่างแท้จริง. ความรู้ใดจึงอยู่ในกรอบของเวลา การพัฒนาความรู้ของคนก้าวเร็วไปไกลเกินกว่าชราชนอย่างข้าพเจ้าจะตามทันหรือตามไหว. การเขียนประวัติ ประสบการณ์ของตัวเองและความรู้สึกส่วนตัว จึงเป็นความจริง(ที่บางทียิ่งกว่านิยาย)ของคนๆนั้น เป็นความจริงเดียวที่ถูกต้องสำหรับคนนั้น ที่คนอื่นโจมตีไม่ได้. สำหรับเรื่องหุ่นยนต์นี้ วิธีการรวบรวมเรียบเรียงข้อมูล กับการตรวจสอบความถูกต้องของวันที่ ชื่อต่างภาษาฯลฯ จนถึงการสรุปความ ได้ให้อย่างเพียงพอตามขั้นตอนการเรียนรู้ของข้าพเจ้าเอง ที่ได้พยายามตอบปัญหาพื้นฐานทุกข้อ แล้วจึงถ่ายทอดด้วยความตั้งใจให้เป็นตัวอย่าง เป็นมุมมองที่เปิดใหม่ไกลออกไปจากความจำเจของชีวิตที่ราบรื่นและราบเรียบของชาวอักษรศาสตร์ และเป็นความบันเทิงแก่สาธารณชนได้บ้างพอสมควร มีภาพประกอบหลายภาพ มีคลิปวีดีโอที่ผู้อื่นได้ทำไว้ ที่ชวนให้คิดให้ติดตาม. ขอบคุณเทคโนโลยีอินเตอเน็ตที่ให้โอกาสข้าพเจ้าได้เรียนรู้ต่อไป  ชีวิตวัยเกษียณเป็นช่วงเวลาที่ joyful และ fruitful สำหรับข้าพเจ้า.
   ข้าพเจ้าเลือกติดตามดวงดาวไปสัมผัสชีพจรจักรวาล ด้วยเครื่องมือดาราศาสตร์ จนเข้าใจว่า ท้องฟ้าคือนาฬิกาบอกเวลา หรือนาฬิกาคือท้องฟ้าจำลอง. กลไกการโคจรของดวงดาว คือกลไกที่ย่อลงไว้ในนาฬิกา และกลไกของนาฬิกา คือระบบเฟืองที่ใส่ลงในหุ่นกล (automaton) ที่พัฒนาเป็นหุ่นยนต์ (robot) ต่อมานั่นเอง.
  
สรุปเส้นทางการเรียนรู้ของข้าพเจ้า ดังนี้ >>    
1. บทที่หนึ่ง << ติดตามดวงดาว ไปจับเวลาชีวิต >>
2. บทที่สอง << ชีวิตไขลาน >>
3. บทที่สาม << หุ่นยนต์ ฝาแฝดของคน >>
4. บทที่สี่ << เจาะใจไปถึงสมองกล >>
http://chotiroskovith.blogspot.com/2017/12/live-with-artificial-intelligence.html
5. บทที่ห้า << หุ่นยนต์ดังๆในหนังไม่ธรรมดา >>

No comments:

Post a Comment