Saturday 16 December 2017

มาเรียหุ่นยนต์ตัวแรกใน Metropolis

    หุ่นยนต์ตัวแรกของคน ถูกสร้างขึ้นประกอบภาพยนต์เยอรมันเรื่อง Metropolis ของ Fritz Lang [ฟริตซ-ลัง] ที่ออกสู่สายตาชาวเยอรมันครั้งแรกในปี1927. ไม่นานในปีเดียวกันนั้น บริษัท Paramount สหรัฐฯ ได้ตัดต่อฟิล์มใหม่ก่อนนำออกฉายในสหรัฐฯ. ในเยอรมนีเอง ฟิล์มก็ถูกตัดปรับเปลี่ยนโดยคณะกรรมการ Universum Film-Aktien Gesellschaft (ชื่อย่อว่า Ufa) ที่เคยเป็นองค์กรควบคุมวัฒนธรรมภาพยนต์แห่งชาติของเยอรมนี และในยุค“มืด” เป็นผู้ดูแลเนื้อหาของภาพยนต์ ตัดต่อ(เชือดเฉือน) เพื่อให้เป็นไปตามอุดมการณ์การเมืองด้วย รวมทั้งจำกัดสิทธิ์การสร้างภาพยนต์ของชาวยิวเป็นต้น.
     83 ปีต่อมา Friedrich-Wilhelm-Murnau-Stiftung ผู้ชำนาญการภาพยนต์คนสำคัญชาวเยอรมัน ได้ฟื้นฟูบูรณะม้วนฟิล์มเนกาติฟของหนังเรื่องนี้ ที่มีผู้ไปพบในพิพิธภัณฑ์เล็กๆแห่งหนึ่งที่เมืองBuenos Aires ประเทศอาร์เจนตินาในปี2008. เขาได้กู้ฟิล์มเก่าๆที่เหลือมา ปะติดปะต่อจนสมบูรณ์เต็มเรื่องในปี2010. ออกมาเป็นเวอชั่นที่ตรงกับเวอชั่นดั้งเดิมที่ชาวเยอรมันได้ดูเมื่อออกสู่สังคมครั้งแรกในปี1927 และเป็นเวอชั่นที่ตรงตามเป้าหมายและเจตนารมณ์ดั้งเดิมของ Fritz Lang ผู้สร้างในที่สุด. Metropolis เป็นหนังเงียบ เวอชั่นปี2010 มีคำบรรยายภาษาอังกฤษที่ตรงกับคำบรรยายดั้งเดิมในภาษาเยอรมัน.
    การค้นพบม้วนฟิล์มที่อาร์เจนตินา มีผู้เปรียบว่าเหมือนการค้นพบ The Holy Grail (ถ้วยเหล้าศักดิ์สิทธิ์ที่เคยรองรับเลือดของพระเยซูบนไม้กางเขน ที่มีความหมายนัยลึกซึ้งในอุดมการณ์ของศาสนาคริสต์มาก). ในที่สุดชาวโลกได้ดูภาพยนต์เรื่องนี้ ได้เห็นอัจฉริยภาพของ Fritz Lang ผู้สร้าง. ภาพยนต์เรื่องนี้เหมือนหอระฆังที่โดดเด่น, เป็น landmark, เป็นประภาคารส่องทางแก่การทำภาพยนต์ในโลกต่อมา และเป็นภาพยนต์เรื่องแรกที่มีหุ่นยนต์หน้าตาผู้หญิง เป็นหุ่นยนต์ตัวแรกสุดของโลก. ผู้แสดงที่อยู่ในเครื่องแบบหุ่นยนต์คือดาราสาวชาวเยอรมันชื่อ Brigitte Helm. การประดิษฐ์หุ่นยนต์เพื่อใช้ในภาพยนต์เรื่องนี้ จึงเป็นต้นกำเนิด เป็นแม่แบบของภาพยนต์นิยายวิทยาศาสตร์ที่ติดตลาดมาตั้งแต่บัดนั้น ทั้งยังได้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้สร้างภาพยนต์คนต่อๆมาเช่น Ridley Scott (ผู้สร้างเรื่อง Blade Runner) หรือ George Lucas (ผู้สร้างภาพยนต์ชุด Star Wars). ต้องระบุอีกด้วยว่า เป็นภาพยนต์เรื่องแรกของโลก(ฟิล์มเนกาติฟของเรื่องนี้ปี2001) ที่ถูกจัดรวมเข้าในบันทึกความทรงจำของมนุษยชาติในฐานะที่เป็นสื่อวัฒนธรรมสำคัญ (the UNESCO Memory of the World Register) ในปี2001.
     ดังกล่าวไว้ในบทที่สาม (ตอน หุ่นยนต์ ฝาแฝดของคน) Walter Schulze-Mittendorff เป็นผู้ออกแบบลักษณะรูปร่างทั้งตัว เหมือนออกแบบเสื้อผ้าให้เป็นชุดหุ่นยนต์ สำหรับนักแสดงชื่อ Brigitte Helm ที่แสดงเป็นทั้งมาเรียนางเอกผู้เป็นคนดีมีศีลธรรมและหุ่นแฝดมาเรียนางร้าย. การค้นพบหน้ากากของแฟโรห์อีจิปต์ Tutankhamun [ตูตันคามุน] (ผู้ครองอีจิปต์ระหว่างปี 1332-1323 BC) ในปี1925 มีส่วนดลใจให้เขาสร้างหน้าตาของมาเรียดังที่เห็นในภาพ และยังวางรูปแบบหน้าตาหุ่นยนต์รุ่นต่อๆมาในภาพยนต์แนวนิยายวิทยาศาสตร์อีกด้วย เช่นหุ่นที่ชื่อ C-3PO [ซีทรีพีโอ] ในภาพยนต์ชุด Star Wars (ของ George Lucas ตั้งแต่ปี1977).
ภาพจากนิทรรศการหุ่นยนต์ที่กรุงลอนดอนปี2017
ภาพจากนิทรรศการหุ่นยนต์ 
ภาพขวาจากเพ็จ flickr.com

เนื้อเรื่องย่อของภาพยนต์ Metropolis
    Joh Fredersen ผู้ปกครองเมือง Metropolis (ชื่อเมืองมาจากคำในภาษากรีกแปลว่า เมืองแม่ ในความหมายของเมืองสำคัญ เมืองศูนย์กลาง) เป็นเมืองทันสมัยที่เป็นผลพวงจากเทคโนโลยีล่าสุด. เขาเป็นนักอุตสาหกรรมผู้มีอำนาจ. เมืองนี้มีตึกรามบ้านช่องสูงตระหง่านทุกทิศทาง เป็นที่อยู่ ที่พักผ่อน ที่สุขสำราญใจของชนชั้นปกครอง ชนชั้นนายทุนและลูกหลาน. คนทำงานในออฟฟิศของ Joh ก็โชคดีที่ได้อยู่ในเมืองส่วนที่ “เหนือพื้นดิน”.
ห้องทำงานหรือห้องบัญชาการของ Joh Fredersen ในหอสูงบาเบล
    ใต้พื้น ลึกลงไปเป็นที่ตั้งของศูนย์พลังงานของทั้งเมือง ที่ตั้งของเมืองกรรมกร ที่อยู่ของครอบครัว ลูกๆของกรรมกร. ลึกลงไปอีกใต้ชั้นที่ลึกที่สุดของเมือง ยังมีสุสานใต้ดินโบราณอายุสองพันปี (catacombs) และมีวัดใต้ดิน ที่ใช้เป็นที่รวมลับๆของคนงาน. มีหญิงสาวชื่อมาเรีย ที่ก็เป็นลูกสาวของคนงานคนหนึ่ง ดูแลช่วยเหลือเด็กๆ.
    วันหนึ่งมาเรียพาเด็กๆเดินขึ้นไป สูงขึ้นๆ ไปถึงเมืองเหนือพื้นดินและเข้าไปในสวน Eternal Gardens ที่เป็นส่วนหนึ่งของคลับแหล่งพักผ่อนสำราญของลูกหลานชาวเมือง ลูกคหบดี (Club of the Sons). ในสวนวันนั้น Freder ลูกชายของ Joh ผู้ครองเมือง Metropolis กำลังสนุกสนานวิ่งไล่จับเด็กสาวๆในนั้น. เหลือบเห็นมาเรีย ติดใจใบหน้าบริสุทธิ์ผุดผ่องของเธอ แต่ยังไม่ทันได้พูดคุยกัน มาเรียกับเด็กๆลูกคนงาน ถูกเจ้าหน้าที่ไล่ออกไปจากสวน.
   Freder ซักถามว่าใครและออกติดตามเธอ จนลงไปในอาณาจักรใต้พื้นดิน ได้เห็นศูนย์พลังงาน เครื่องกลจักรใหญ่ๆ เสียงฉึกฉักไม่สิ้นสุดของเครื่องยนต์ กรรมกรที่เหมือนหุ่นยนต์ที่ทำงานเป็นกะๆละสิบชั่วโมงติดต่อกัน ทำงานเหมือนเครื่องจักรในความร้อนระอุ. เกิดเหตุบังเอิญวันนั้น เครื่องกลจักรระเบิด เขาเห็นคนตายถูกหามไปทิ้ง เห็นกรรมกรถูกล่ามถูกต้อนไปลงโทษฯลฯ. เขารีบกลับไปหอบาเบลเพื่อไปซักไซ้พ่อ. แต่ไม่ได้ผล พ่อกลับไล่ Josephat ออกจากงานทันทีที่รู้ว่าเกิดเหตุที่โรงพลังงาน. Josephat เป็นผู้ช่วยคนสำคัญของพ่อ และ Freder ถือว่าเขาเป็นเพื่อน. Freder พูดเปลี่ยนใจพ่อไม่ได้ เขารู้ว่าคนที่ถูกไล่ออกจากงานออฟฟิศ ต้องลงไปทำงานในความลึกใต้พื้นเมือง. Freder ตามไปขอให้ Josephat ทำงานให้เขาแทน.
   เย็นนั้น เขากลับไปที่โรงพลังงานอีก และเข้าทำหน้าที่หมุนเข็มนาฬิกาที่ต่อกับเครื่องจักรกลอื่นๆแทนคนงานหมายเลข 11811 ผู้ล้มลงด้วยความเหนื่อยล้า. Freder เปลี่ยนเสื้อผ้า แลกกับชุดคนงานเพื่อส่งคนงานคนนั้นออกไปพักที่บ้านของ Josephat. หลังงาน เขาติดตามคนงานคนหนึ่งลงลึกไปถึงสุสานใต้ดิน ได้เข้าร่วมประชุมลับในหมู่คนงาน. ที่นั่นเอง เขาได้เห็นมาเรียผู้อ่อนโยนเหมือนทูตสวรรค์ พูดให้กำลังใจแก่คนงานผู้เหนื่อยล้า เล่าให้พวกเขาฟังเรื่องการสร้างหอบาเบล คนงานผู้เป็นแรงงานสร้างหอคอยบาเบล ไม่เคยรู้หรือเข้าใจความใฝ่ฝันทะเยอทะยานของผู้คิดสร้าง. เสียงสรรเสริญคนคิด แต่กรรมกรคนทำงานสาบแช่งคนคิด พวกเขาเหน็ดเหนื่อยแสนเข็ญ หอคอยบาเบลสูงขึ้นๆ. แม้ทุกคนพูดภาษาเดียวกัน ก็ไม่เข้าใจกัน. สภาพของกรรมกรที่ Metropolis ไม่ผิดไปจากคนงานที่ถูกเกณฑ์ให้สร้างหอคอยบาเบล. มาเรียเชื่อว่า มันสมองคือคนคิดกับคนที่ลงมือทำ ต้องมีคนกลางและคนกลางนั้นคือหัวใจ. เธอปลอบใจและให้ทุกคนมีศรัทธา ว่าวันหนึ่งจะมีคนกลางที่สวรรค์ส่งมา (a divine mediator) ให้เป็นทางออก เป็นผู้ไกล่เกลี่ยระหว่างเจ้าผู้ครองกับผู้ถูกปกครองและช่วยสร้างอนาคตที่ดีกว่าแก่ชนชั้นกรรมกรของ Metropolis.
   วันนั้นเมื่อคนงานอื่นๆไปกันหมดแล้ว Freder และมาเรียได้ประจันหน้ากัน มาเรียแน่ใจว่า Freder คือคนกลางที่สวรรค์ส่งมา. สัมผัสแรก จูบแรกจากความรัก สร้างความหวังในกันและกัน. มาเรียบอกให้ Freder ไปพบเธอที่โบสถ์ในวันรุ่งขึ้น.
   อีกด้านหนึ่ง Joh เจ้าผู้ครองรู้สึกไม่สบายใจเมื่อรู้ว่าลูกชายได้ลงไปที่โรงงาน ได้เห็นสภาพของเมืองใต้พื้นดิน. Joh ไปหา Rotwang นักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์ หวังให้เขาช่วย. ที่บ้านและห้องทำงานของ Rotwang เขาได้พบความจริงว่า Rotwang เคยหลงรักและยังรัก Hel ภรรยาของ Joh แม้ว่า Hel ได้แต่งงานและมีลูกกับ Joh (คือ Freder) และเสียชีวิตไปแล้วหลังคลอด. Rotwang เก็บรูปปั้นครึ่งตัวของ Hel และยังได้สร้างหุ่นยนต์ผู้หญิงขึ้น ให้เป็นแบบของมนุษยชาติในอนาคตและเป็นตัวแทนของ Hel ผู้ที่เขารักไม่ลืม.
    Rotwang พา Joh ไปแอบดูคนงานที่นัดพบกันในสุสานใต้ดิน. เมื่อรู้ว่ามาเรียเป็นศูนย์รวมความหวังของกรรมกร. Joh ก็ยิ่งวิตกกังวล สั่งให้ Rotwang สร้างใบหน้าหุ่นยนต์ตัวนั้นให้มีหน้าตาเหมือนมาเรีย. เขามีแผนจะใช้หุ่นคู่แฝดของมาเรียไปปลุกปั่นคนงาน ทำลายศรัทธาและความหวังของคนงาน. คืนนั้นเองที่สุสานใต้ดิน เมื่อ Freder จากไป Rotwang ลงไปจับตัวมาเรีย ไปขังในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ของเขา และใช้พลังอิเล็กตรอนดูดซับข้อมูลใบหน้าของมาเรียแล้วถ่ายทอดลงเป็นใบหน้าของหุ่นมาเรียได้สำเร็จ.
ภาพจาก Pinterest.com ที่ระบุว่าเก็บมาจาก leninimports.com
Brigitte Helm ผู้แสดงเป็นมาเรียคนดีและหุ่นคู่แฝด ดูขั้นตอน(จากบนลงล่าง)ในการปรับเปลี่ยนหน้าตาของผู้แสดงให้เป็นใบหน้าของหุ่นยนต์มาเรีย.
โปสเตอร์ภาพยนต์เรื่อง Metropolis ภาพจากเว็ปเพ็จ rogerebert.com
    มาเรียตัวจริงจึงไม่มีโอกาสไปที่โบสถ์ตามที่นัดไว้, Freder ไม่พบมาเรียก็ออกติดตามและเข้าไปถึงที่บ้านของ Rotwang และติดกับอยู่ในนั้น. มาเรียยังถูกRotwang ควบคุมตัว ระหว่างนั้น Rotwang คุยอวดความสำเร็จ ทั้งยังเยาะเย้ยว่า Joh นั้นโง่ เสียภรรยาไปแล้ว ต่อไปจะเสียลูกชายด้วย เพราะหุ่นแฝดมาเรียจะฟังคำสั่งจากเขาเท่านั้น และเขาได้สั่งให้ทำลายทั้ง Joh กับลูกชายและเมือง Metropolis. Joe เข้าไปบ้านตอนนั้นพอดีและได้ยินที่ Rotwang พูด โมโหจัด เลยสู้กัน. มาเรียตัวจริงได้โอกาสหนีออกมา. เมื่อ Freder พบ Rotwang ในที่สุด เขาบอกว่ามาเรียตอนนี้อยู่กับพ่อเขาเอง. Freder ตรงไปหาพ่อและเห็นคู่แฝดมาเรียที่นั่นกำลังยั่วยวนพ่อเขา. เขาคิดว่าคือมาเรียตัวจริง เสียใจและล้มป่วย.
     มาเรียคู่แฝดเริ่มปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของ Rotwang. เธอไปปั่นหัวผู้คนใน“เขตไฟแดง” ที่เจาะจงเรียกชื่อด้วยคำภาษาญี่ปุ่นว่าเขต Yoshiwara [โยชิวาหระ] Footnote1. ผู้คนหลงใหลการเต้นรำ ท่าทียั่วยวนของเธอ ชาวเมืองจมปลักลงในกามคุณ ทุกวันทุกคืน คนทะเลาะต่อสู้กันเพราะเธอ.
    เธอยังลงไปที่สุสานใต้ดิน ไปพบกับคนงานทั้งหลาย ปลุกปั่นคนงาน ยืนยันว่าคนกลางที่พวกเขารอคอยให้มาช่วยนั้นไม่มาแล้ว. ถามกระตุ้นคนงานทั้งหลายว่าอะไรที่ทำให้พวกเขาต้องมีชีวิตในสภาพทาสอย่างนั้น อะไรที่ดูดเลือดเนื้อชีวิตพวกเขา ต้องทำลายให้สิ้นและนั่นคือต้องถล่มทำลายเครื่องกลจักรต่างๆ. กรรมกรทั้งหลายลุกฮือ แห่กันตรงไปที่โรงงานและทำลายเครื่องกลจักรสำคัญ(M-Machine และ Heart Machine). Grot หัวหน้าฟอร์แมนผู้คุม Heart Machine ได้แจ้งสถานการณ์และเตือน Joh แล้ว แต่ Joh มิได้คาดคิดว่ากรรมกรทั้งหลายจะทำลายโรงพลังงานของเมือง จึงไม่ได้สั่งปิดประตูกั้นกรรมกรไว้.
    ในที่สุดเครื่องกลจักรตัวสำคัญๆถูกถล่ม ยังผลให้ไฟฟ้าทั้งเมืองดับลงและทำให้แหล่งเก็บน้ำระเบิด น้ำไหลเข้าท่วมเมือง เริ่มจากชั้นใต้ดินที่เป็นเมืองของคนงาน ที่อยู่ของพวกกรรมกรและครอบครัว. มาเรียได้ไปช่วยพาเด็กๆหนีน้ำท่วม. Freder และ Josephat ก็ได้เข้าสมทบ ช่วยกันพาเด็กๆหนีขึ้นจากชั้นใต้ดิน ไปอยู่ที่คลับสำหรับลูกชาวเมือง(The Club of the sons).
     กลุ่มม็อบคนงานดีใจที่ทำลายโรงผลิตพลังงานได้ แต่ถูก Grot หัวหน้าคนงานตำหนิและบอกให้รู้ว่าลูกๆของพวกเขานั่นแหละคงถูกน้ำท่วมตายในเมืองใต้ดินแล้ว. Freder และ Josephat ช่วยยืนยันว่าเด็กๆทั้งหมดปลอดภัยแล้ว. ฝูงม็อบได้คิดว่าความคลุ้มคลั่งทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะมาเรียเป็นผู้ยุยง. Grot พาทั้งกลุ่มออกไปตามล่าตัวมาเรีย ไปจับตัวมาเผาไฟทั้งเป็น.
    ระหว่างที่คนงานเข้าทำลายศูนย์พลังงานของเมือง มาเรียคู่แฝดยังหลบไปเต้นรำยั่วยุชาวเมืองต่อในย่าน Yoshiwara. กลุ่มม็อบไล่จับมาเรียได้ เอาตัวไปมัดบนกอไม้ตรงหน้าบริเวณโบสถ์และจุดไฟเผา. ปรากฏให้เห็นร่างจริงที่เป็นหุ่นยนต์ใต้ผิวหนัง.
    ในความอลหม่าน Rotwang สติฟั่นเฟือนยิ่งขึ้น เห็นมาเรียเป็น Hel คนรักของเขา ลักพาเธอหนีขึ้นไปบนหลังคาโบสถ์. Freder เห็นก็ตามขึ้นไปช่วย ต่อสู้กันบนหลังคา. Joh ตอนนั้นมาอยู่ในเหตุการณ์ตรงลานหน้าโบสถ์. ความรักลูกทำให้เขาเข่าอ่อน เห็นลูกชายต่อสู้เอาเป็นเอาตายกับ Rotwang บนหลังคาโบสถ์. โชคดีที่ Rotwang พลาดท่าตกลงจากหลังคาเสียชีวิต. Freder เข้าอุ้มมาเรีย จูบเธอและรู้ว่าเธอคือมาเรียตัวจริง เป็นคนที่เขารัก.
   ฉากสุดท้ายตรงหน้าโบสถ์ Grot หัวหน้าคนงาน, Joh, Freder และมาเรียอยู่พร้อมหน้ากัน ต่อหน้ากรรมกรทั้งหมดด้วย. มาเรียบอก Freder ว่าเขาต้องเป็นคนกลางระหว่างพ่อกับหัวหน้าคนงาน. Freder จับมือพ่อข้างหนึ่ง มือของ Grot อีกข้างหนึ่ง. ประโยคสุดท้ายที่ปรากฏบนจอคือ THE MEDIATOR BETWEEN HEAD AND HAND MUST BE THE HEART. HEAD (นายทุน ผู้บริหาร ผู้คิดผู้จัดระบบระบอบ) ต้องมี HAND (ผู้ลงมือปฏิบัติ ชนชั้นกรรมกร) ต่างฝ่ายพบกันครึ่งทางด้วย HEART (หัวใจ ความเคารพในหน้าที่และศักดิ์ศรีของกันและกัน ความไว้ใจกัน). Freder ผู้มีหัวใจ มีเมตตา เข้าใจชีวิตคนงาน จักเป็นตัวเชื่อมมิให้ฝ่ายนายทุนเอาเปรียบคนงาน ในขณะเดียวกันก็ทำให้คนงานเข้าใจด้วยว่า หากขาดนายทุน พวกเขาก็ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ไม่มีชีวิตที่ดีได้. Footnote2 
      เนื้อหาของภาพยนต์เรื่องนี้ ยังคงเป็นประเด็นซ้ำๆจากอดีตมาถึงปัจจุบัน : คนรวยเอาเปรียบคนจน ชนชั้นปกครองข่มเหงชนชั้นกรรมกร. นายเห็นกรรมกรเป็นเครื่องจักรและใช้ทำงานจนหัวปักหัวปำ. นายไม่ใส่ใจเรื่องสุขภาพหรือสวัสดิการของคนงาน. และกี่ร้อยปีผ่านไปแล้ว แม้ว่าสังคมได้พัฒนาระบอบคอมมูนิสต์หรือระบอบสังคมนิยม ก็ยังไม่อาจลดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงให้หมดสิ้นไปได้. คนจนเมื่อร่ำรวยขึ้น ก็อดที่จะเอาเปรียบคนจนกว่าไม่ได้ เป็นกงกำกงเกวียนดั่งนี้เอง.
     คำขวัญของภาพยนต์ที่ผู้สร้างเจาะจงไว้ ยืนยันความหวังในมนุษยชาติว่า ตราบใดที่คนมีหัวใจมีคุณธรรม ปัญหาในสังคมมีทางออก คนยังประนีประนอมกันได้ และความรักที่มีต่อกัน นำไปสู่การสร้างหรือบูรณาการสิ่งดีงามใหม่ๆต่อไปได้  
***
    สำหรับข้าพเจ้า ความโดดเด่นของภาพยนต์เงียบเรื่องนี้ อยู่ที่การจัดฉากที่เทียบให้เห็นระหว่างโลกเก่าในยุคกลางที่อยู่ลึกลงใต้พื้นเมืองหรือในถ้ำใต้ดิน เฉกเช่นในยุคแรกเริ่มของคริสต์ศาสนา ยามนั้นเหล่าอัครสาวกต้องหลบๆซ่อนๆและมักใช้ถ้ำใต้ดินเป็นที่เทศน์ ที่สอน ที่ประกอบพิธี. ตรงข้ามกับโลกปัจจุบัน(หรืออนาคต)ที่เต็มไปด้วยตึกระฟ้า แสงไฟสว่างไสวทุกเวลานาที จนแสงอาทิตย์เกือบหมดความหมายไป เพราะเทคโนโลยีปัจจุบันผลิตพลังงานได้ทุกรูปแบบที่จำเป็นต่อการครองชีวิต ไม่ว่าจะอยู่ลึกลงใต้พื้นหรืออยู่สูงในหมู่เมฆ ตึกสูงตระหง่านได้พาคนขึ้นไปสัมผัสท้องฟ้าและท้าทายสวรรค์.
     การนำเสนอความแตกต่างไปมาระหว่างโลกชั้นต่ำ(ใต้พื้น)และโลกชั้นสูง(เหนือพื้น) ดังกล่าว ยืนยันการแบ่งแยกชัดเจนของจิตสำนึกสองแบบ. จิตสำนึกแบบแรกมีศรัทธาเป็นสิ่งค้ำจุนและให้ความหวัง กับอีกแบบหนึ่งที่เป็นความมุ่งมั่นในการสร้างอาณาจักรเบ็ดเสร็จที่สู่เป้าเดียวกัน สร้างเมืองสร้างคน(สร้างหุ่นยนต์)ได้เองโดยไม่พึ่งพระเจ้า.  
    การที่ศูนย์บัญชาการของ Joh ตั้งอยู่ในหอบาเบล ตามชื่อ Tower Of Babel ที่เล่าไว้ในคัมถีร์เก่า เป็นการเปรียบเทียบทางสถาปัตยกรรมที่ชัดเจนสมจริง. (เพียงแค่มองดูกรุงเทพมหานครในทศวรรษนี้ ก็เห็นอาคารบาเบลนับไม่ถ้วนแล้ว).
จิตรกรรม La Tour de Babel หรือหอคอยบาเบล 
ผลงานของ Brueghel(ราวปี1563)
หอสูงบาเบลในภาพยนต์ Metropolis ภาพจาก Google.
    มาเรียนำเรื่องหอคอยบาเบลมาเล่าให้เหล่ากรรมกรฟังในวัดใต้ดิน. ชื่อบาเบลนั้น นักประวัติศาสตร์สรุปยืนยัน(ณนาทีปัจจุบัน)ว่า คือบาบีโลน-Babylon เมืองหลวงของอาณาจักรบาบีโลเนียที่เคยมีจริงและเคยรุ่งเรืองมากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ (เมื่อราว1900ปีก่อนคริสตกาล).  
    เรื่องหอคอยบาเบลที่เล่าไว้ในคัมภีร์เก่า(Genesis 11, 1-9)นั้น เป็นปริศนาธรรมที่โดดเด่นมากเรื่องหนึ่ง. ทั้งผู้สอนศาสนาและผู้ศึกษาวิเคราะห์วิจัยศาสนาคริสต์ ได้ถ่ายทอดนัยในทำนองนี้เสมอมาว่า เมื่อพระเจ้าเห็นความมุ่งมั่นของคนที่รวมกันสร้างหอคอยสูงขึ้นๆไม่ยอมหยุด พระเจ้ามองว่ามนุษย์นั้นอาจหาญ อวดเก่งเกินไปแล้ว เหมือนต้องการท้าทายพระเจ้า ต้องการตีตนเสมอพระเจ้า และหากให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ไม่มีอะไรที่มนุษย์ทำไม่ได้. ดังนั้น พระเจ้าบันดาลให้คนพูดจาสื่อสารกันไม่เข้าใจ ต่างคนพูดภาษาต่างกัน เช่นนี้ทำให้การสร้างหอคอยบาเบลหยุดชะงักลง. ผู้คนแยกย้ายกันไป กระจายออกไปอยู่ทุกมุมโลก. และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการมีภาษาจำนวนมากเกิดขึ้นในโลก.
    แต่มาเรียนำมาเล่าและวิเคราะห์หอคอยบาเบลตามความเชื่อและวิสัยทัศน์ของเธอ(ซึ่งคือของ Fritz Lang ผู้สร้างภาพยนต์ ที่กำกับเป็นข้อความลงบนฟิล์มเลย เนื่องจากเป็นหนังเงียบ มีคำบรรยายประกอบเป็นระยะๆเมื่อจำเป็นเพื่อความเข้าใจตรงกัน) ว่า คนงานผู้เป็นแรงงานสร้างหอคอยบาเบล ไม่เคยรู้หรือเข้าใจความใฝ่ฝันทะเยอทะยานของผู้คิดสร้าง. หนึ่งเสียงสรรเสริญความคิดความฝันนั้น แต่ร้อยเสียงพันเสียงสาบแช่ง. กรรมกรและคนงานสาบแช่งคนคิด พวกเขาเหน็ดเหนื่อยแสนเข็ญ แม้ทุกคนพูดภาษาเดียวกัน ก็ไม่เข้าใจกัน. สภาพของกรรมกรที่ Metropolis ไม่ผิดไปจากคนงานที่ถูกเกณฑ์ให้สร้างหอคอยบาเบล. มาเรียตั้งความหวังไว้ว่า มันสมองคือคนคิดกับคนที่ลงมือทำ ต้องมีคนกลางและคนกลางนั้นคือหัวใจ คือความเห็นใจ ความประนีประนอมจากทั้งสองฝ่าย. เธอปลอบใจและกำชับให้ทุกคนมีศรัทธา ว่าวันหนึ่งจะมีคนกลางที่สวรรค์ส่งมา (a divine mediator) ให้เป็นทางออก เป็นผู้ไกล่เกลี่ยระหว่างเจ้าผู้ครองกับผู้ถูกปกครองและช่วยสร้างอนาคตที่ดีกว่าแก่ชนชั้นกรรมกรของ Metropolis. มาเรียทำให้ Freder เข้าใจความหมายว่าทุกคนเกิดมาเป็นพี่น้องกัน ที่ต้องช่วยกัน. คำ brother นี้เองที่ผลักดันให้ Freder เข้าทำงานแทนที่กรรมกรที่ล้มลงด้วยความเหนื่อยล้า เขายินดีแลกเปลี่ยนชีวิตกับคนงานคนนั้น.  
    ประเด็นของ Fritz Lang (มองผ่านความหวังของมาเรีย) เบนออกจากความเข้าใจแบบเดิม. สมัยนั้น ในหมู่ปัญญาชน ทั้งนักคิดนักปราชญ์และพระนักบวช ตีความนัยของเรื่องหอคอยบาเบลใหม่  ว่าพระเจ้าต้องการให้ผู้คนกระจายออกไปทั่วทุกดินแดน ไปสร้างเมือง สร้างชุมชนอื่นๆ ไม่ใช่รวมกันที่เมืองบาบีโลนเท่านั้น มิฉะนั้นจักเท่ากับการรวมอำนาจไว้ในมือคนๆเดียว รวมกันอยู่ในที่เดียว. ยาเวพระเจ้าในคัมภีร์เก่าได้เจาะจงว่า อับราฮัมจะมีลูกมีหลาน สืบสายพันธุ์มนุษย์แผ่กระจายไปทั่วแผ่นดิน. การอยู่เป็นกระจุกรวมกันในบาบีโลนไม่ช่วยให้เจตนารมณ์ของยาเวบรรลุเป้าหมายได้ จึงต้องหาทางกระจายผู้คนออกไป.
    นักการศาสนาเห็นด้วยว่า ความเป็นปึกแผ่นของศาสนา มิได้อยู่ที่การรวมตัวในที่เดียวหรือใช้ภาษาใดภาษาเดียว ต้องมาจากศรัทธา ศรัทธาในพันธะสัญญาใหม่ที่พระคริสต์เป็นผู้นำมาแก่มนุษยชาติรุ่นใหม่. เล่ากันมาว่า นาทีที่พระคริสต์สิ้นชีวิตบนไม้กางเขน ม่านขาวผืนใหญ่ (the Veil) ในวัดเยรูซาเล็ม ที่ปิดส่วนที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดที่พระเจ้ามาปรากฏตัว(ส่วนนี้เรียกว่า Holy of Holies ในคัมภีร์ฮีบรู) กั้นออกจากส่วนอื่นๆของวัด เป็นส่วนที่ไม่มีใครเข้าไปได้ นอกจากพระนักบวชผู้เป็นใหญ่ที่สุดของศาสนาเท่านั้น  ม่านผืนนั้นฉีกขาดลงในบัดดลนั้น เผยให้เห็นแสงสว่างจ้าจากภายในหัวโบสถ์ ที่เหล่านักเทววิทยา(เลือก)อธิบายว่า คือจุดสิ้นสุดของการแบ่งแยกศาสนิกชน ไม่มีอะไรมาบังมาขวางผู้ใดจากพระเจ้าอีกแล้ว ทุกคนเท่าเทียมกันเบื้องหน้าพระเจ้า บุญบาปเท่านั้นที่จะพาเขาไปสวรรค์หรือลงนรก. ความหลากหลายของชาติพันธุ์เป็นสิ่งที่พระเจ้าต้องการให้เป็นไป ทั้งแบบ cross-culture communion และ cross-genome.
     การสิ้นสุดของบาบีโลนจำเป็น เป็นการปกป้องมนุษย์ นำทางมนุษย์สู่การพัฒนาวัฒนธรรมแบบอื่นๆด้วยศักดิ์และสิทธิ์เสมอกัน. การตีความแบบนี้ สะท้อนความรู้สึกต่อต้านอิทธิพลการเมืองแนวชาตินิยมจัดในเยอรมนีศตวรรษที่19 และที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจนกลายเป็นอุดมการณ์การปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ(totalitarianism) ในศตวรรษที่20. สื่อวิสัยทัศน์ใหม่ว่า เอกภาพที่ถูกต้อง ควรมาจากการรวมความต่างเข้าด้วยกัน มิใช่มัดทุกอย่างให้เหมือนกัน ในเบ้าหลอมเดียวกัน. มนุษย์ต้องเรียนรู้การอยู่ด้วยกันในวัฒนธรรมแบบต่างๆ ที่ในที่สุดคือหลักประกันความมั่นคงและเป็นฐานของความเป็นสากล (universality). ภาพยนต์เรื่อง Metropolis นี้เป็นอุทาหรณ์เตือนสติให้เห็นผลที่อาจตามมาของระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ. แต่สวรรค์ไม่เป็นใจ เพียงสิบกว่าปีต่อมาอนาคตของเยอรมนีและชะตากรรมของโลกตกอยู่ในมือฮิตเลอร์คนเดียว. อุดมการณ์โลกาภิวัฒน์ในศตวรรษปัจจุบัน ก็ยังส่อให้เห็นว่า คนกำลังถอยหลังไปในยุคสร้างหอคอยบาเบลเมื่อสี่พันปีก่อนอีก รวมกันในความคิดเดียวกัน เป็นชุมชนใหญ่เดียวกัน(ไม่ว่าสหภาพยุโรปหรืออาเซียน) ไม่ต้องพูดถึงเลยว่า คนพูดและใช้ภาษาเดียวกัน. (เราหาความแตกต่างในสังคมทุกวันนี้ไม่ได้เลย) ทุกอย่างบีบความคิดความหวังหรือความฝันของเอกบุคคล อนิจจา! ประวัติศาสตร์วนเวียนซ้ำๆอย่างนี้เสมอหรือ?

    การตั้งชื่อนางเอกว่า มาเรีย เจาะจงคุณสมบัติและบทบาทของพระแม่มารีอย่างชัดเจน.
ภาพนี้ของมาเรีย แขนกางออกสองข้าง โดดเด่นในหมู่เด็กๆที่ห้อมล้อมเธอ สะท้อนไปถึงภาพอันคุ้นเคยของพระแม่มารีในคริสต์ศิลป์ เมื่อต้องการสื่อความเมตตาโอบอ้อมอารีและความคุ้มครองที่พระแม่มารีมีต่อศาสนิกผู้มีศรัทธา. ภาพในคริสต์ศิลป์ พระแม่มารีมักสวมเสื้อคลุมตัวยาว ดังนั้นเมื่อกางแขนสองข้างออกกว้าง จึงเหมือนโอบผู้ที่พระแม่คุ้มครองไว้ภายในเสื้อคลุมตัวใหญ่. มาเรียมีผ้าคลุมไหล่ผืนยาวที่พาดบนสองแขน แต่ไม่ชัดเจนมากนักเพราะเด็กๆเข้าไปเบียดใกล้ตัวเธอ.
จิตรกรรมนิรนาม ศตวรรษที่ 17 จากเมือง Seredina ประเทศรัสเซีย
ภาพลักษณ์ถาวรของพระมาแม่มารีในฐานะผู้ปกป้องศาสนิกชน.
     การเทียบมาเรียคนดีกับมาเรียคนร้าย ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่โดดเด่น ดูมาเรียในภาพข้างบน กับมาเรียนางโสเภณีบนหลังมังกรเจ็ดหัวในภาพข้างล่าง.
ภาพจาก Ufa เยอรมนี. มาเรียตัวนางร้ายไปเต้นรำยั่วยุกามอยู่ใน“เขตไฟแดง” (red- light zone คำนี้หมายถึงเขตรวมความรื่นรมย์ทางกามารมณ์ หรือเขตซ่องโสเภณี). ผู้สร้างจัดฉากการแสดงของมาเรียตัวนางร้ายได้อย่างวิเศษโดยไม่ต้องมีแสงหรือเสียงใดๆช่วยสื่อเนื้อหา ว่าความเสื่อมทรามได้เข้าครองเมือง เข้าสิงในใจคนเพียงใด (อย่าลืมว่านี่เป็นหนังเงียบและหนังขาวดำ). นั่นคือให้มาเรียนั่งอยู่บนตัวมังกรเจ็ดหัว(สิบเขา)สีแดงคล้ำๆปนสีม่วงๆ  มือถือถ้วยทองคำบรรจุความชั่วความสกปรกโสมมแบบต่างๆ ตามคำบรรยายเรื่อง หญิงงามเมืองแห่งบาบีโลน ในอะโปกาลิปส์ของนักบุญจอห์น. มังกรมีเจ็ดหัวเพราะโยงไปถึงบาปเจ็ดชนิด (the seven deadly sins) ส่วนเขามังกร หมายถึงการทำผิดทางเพศ ผิดจริยธรรมศาสนา. (Fritz Lang ได้บรรจงสร้างฉากเป็นรูปปั้นแทนบาปเจ็ดชนิดในโบสถ์ ดูภาพต่อไปข้างล่างนี้) มือคน(ผู้ชายทั้งหมด) ที่ชูสูงขี้นเหมือนอยากเข้าไปแตะต้อง เข้าไปประคอง สื่อความหลงและการคล้อยตาม. รวมกันเป็นฉากที่ปลุกอารมณ์ได้ดีที่สุดฉากหนึ่ง.
     หุ่นคู่แฝดมาเรีย หุ่นยนต์ตัวแรกที่ถูกสร้างขึ้นมาในโลกนี้ ให้เป็นตัวผู้ร้าย เทียบคู่กับมาเรียคนดี เหมือนจะยืนยันว่ามนุษย์ยังมีจิตสำนึก มีศีลธรรมและศรัทธา ใช้สติสยบกิเลสและตัณหา เช่นนี้ทำให้คนดีกว่าหุ่นยนต์ และคนมีสิทธิ์ทำลายหุ่นยนต์ที่สร้างปัญหา.

      เราคุ้นเคยพอสมควรเมื่อไปในยุโรป เห็นโบสถ์และมหาวิหารหลังใหญ่ๆมากมาย ที่เป็นผลงานแห่งศรัทธาจากยุคกลางโดยเฉพาะตั้งแต่ศตวรรษที่12 ลงมา. เป็นยุคสมัยที่ศาสนาครองสังคมและครองคน. ด้านหน้าของโบสถ์หลังใหญ่ๆทั้งหลาย ยังมี(หรือเคยมี)รูปปั้นยืนเรียงรายสองข้างทางเข้า. รูปปั้นแต่ละรูป นอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรม (นั่นคือเป็นเสาพยุงอาคารด้วย) ยังบอกเล่าเนื้อเรื่องหรือคำสอน. การจัดวางรูปปั้นตรงไหน ข้างรูปปั้นใด ท่าทางรูปปั้นเป็นอย่างไรนั้น ไม่ได้มาจากจินตนาการของนายช่างผู้จำหลัก แต่เป็นการถ่ายทอดเนื้อหาและเหตุการณ์ที่เล่าไว้อย่างเจาะจงในคัมภีร์เก่าหรือใหม่. วิธีการนำเสนอภาพ(รูปปั้นหรือจิตรกรรม) จึงมีเป้าหมายที่ชัดเจน บ่งชี้สารหรือความหมายที่ศาสนาต้องการสื่อ.
ทางเข้า ประตูกลาง ทิศตะวันตก ของมหาวิหาร Notre-Dame de Chartres ประเทศฝรั่งเศส (สร้างขึ้นระหว่าปี1145-1220) นำมาให้ดูเป็นตัวอย่างที่ยืนยันอัจฉริยภาพของสถาปนิก และเป้าหมายของการสร้างโบสถ์ให้เป็น ไบเบิลหิน”.
Fritz Lang มิได้ละเลยเอกลักษณ์หรือประเด็นต่างๆจากศาสนาคริสต์ ที่เขานำมาถักทอในภาพยนต์ของเขา. เช่นภาพทางเข้าสู่โบสถ์ในเรื่อง Metropolis.
ภาพจาก Bassman5911.tumblr.com
คนงานทั้งหมด เดินมุ่งสู่โบสถ์ เห็นรูปปั้นในซุ้มบนกำแพงด้านหน้านี้. ประตูโบสถ์เปิดรับศาสนิกชน. Grot หัวหน้าคนงานเป็นผู้นำ. การจัดแถวคนงานเป็นรูปสามเหลี่ยม สะท้อนรับมุมสามเหลี่ยมของแบบสถาปัตยกรรมกอติคเหนือประตู และมุมสามเหลี่ยมเล็กๆเหนือซุ้มแต่ละซุ้ม. เป็นฉากที่สวยงามมากฉากหนึ่ง.

   วันนัดกับมาเรีย Freder ไปที่โบสถ์ มองหามาเรีย แต่มาเรียไม่ไปปรากฏตัว. เขาไปหยุดยืนพิจารณารูปปั้นในซุ้มสไตล์กอติคแต่ละซุ้มในกำแพง แต่ละคนแต่ละรูปปั้น เป็นตัวแทนและสัญลักษณ์ของความชั่วเจ็ดประการในคติคริสต์ศาสนา มีชื่อจำหลักกำกับไว้ด้วย(ที่เห็นเป็นครึ่งวงกลมสีขาวๆ) เจาะจงความหมายของรูปปั้นสามประการด้านซ้ายของภาพและสี่ประการด้านขวา. รวมกันเป็นบาปเจ็ดประการ(the seven deadly sins อันมีความขี้เกียจ, ความหยิ่งผยอง, ความตะกละตะกลาม, ราคะ, ความตระหนี่, ความโกรธจัด, ความอิจฉาริษยา). รูปปั้นทั้งหลายเหมือนกำลังจ้องจับ Freder. ตรงกลางมีปีศาจในร่างของโครงกระดูก แม้จะมีผ้าคลุมปกปิดอำพรางทั้งร่าง แต่เห็นกระโหลกหัวและโครงกระดูกของเท้าทั้งสอง ปากกว้าง เห็นกระดูกฟัน. ปีศาจยิ้ม เหมือนกำลังยั่วและท้าทาย Freder, มือถือเคียวอันใหญ่ คอยเชือดเฉือนเอาคนไปเป็นพวก. อีกมือหนึ่งถือกระดูกคนชิ้นใหญ่ มีผ้าผูกห้อยอยู่(เหมือนเตรียมห่อกระดูกคนที่ถูกฆ่า). Freder มองดูรูปปั้นเหล่านั้น บอกตัวเองว่า ถ้าเป็นเมื่อก่อน เขาจะไม่วิตกเกี่ยวกับบาปต่างๆเหล่านี้ เขาไม่กังวลว่าทำหรือเคยทำบาปแบบใดแบบหนึ่งตามประสาคน  แต่มาตอนนี้ เพราะเขารักมาเรีย(และรักตัวเองมากขึ้น) เขาอยากขอให้บาปทั้งหลายไปให้พ้นๆจากเขาและจากหญิงคนรักของเขา. ความรักทำให้คนถ่อมตัวลงอ้อนวอน ทำให้คนดีขึ้นหรือเปล่า?  ประเด็นของความชั่วเจ็ดประการ ยังถูกนำมาประกอบเรื่องอย่างชัดเจนอีกในฉากมาเรียนางโสเภณีบนตัวมังกรเจ็ดหัว ที่เชิญชวนหลอกล่อฝูงชน(ดังภาพที่ลงไว้ข้างบน).  

     ฉากในศูนย์พลังงานใต้ดิน เมื่อ Freder ลงไปเห็นเหตุการณ์เครื่องจักรระเบิด เพราะความอ่อนล้าของคนงาน  เขาเห็นคนงานถูกลากไปลงโทษ เข้าไปในประตูกว้างใหญ่ที่มีควันร้อนรุนแรงพุ่งออกมา. Freder ตกใจกลัว. Fritz Lang สร้างฉากนั้นให้ดูเหมือนปากทางลงนรก ที่มีปีศาจทะเล Leviathan [เลอวายเถิ่] ตัวมหึมาที่อ้าปากกว้างคอยกลืนกินคน ดังที่เล่าไว้ในหนังสือคัมภีร์เก่า (Book of Job, Hebrew Bible เจาะจงว่า Leviathan เป็นศัตรูที่มีพละกำลังมาก ของเมืองบาบีโลน).
Leviathan in the fresco The Last Judgment; painted by Giacomo Rossignolo, c. 1555.
จิตรกรรมผลงานของ Giacomo Rossignolo (ระหว่างปี1524-1604) [GFDL (http://www.gnu.org/copyleft/fdl.html) or CC BY-SA 3.0 (https://creativecommons.org/licenses/by-sa/3.0)], via Wikimedia Commons.  
ภาพเกี่ยวกับปีศาจทะเลตัวนี้ บางทีก็ดูคล้ายมังกร งู จรเข้หรือปลาวาฬ. ภาพที่ Freder เห็นในศูนย์พลังงานใต้ดิน จึงเจาะจงให้เข้าใจว่า ศูนย์พลังงานมหาศาลที่เป็นหัวใจของเมือง Metropolis นั้น คือปีศาจที่กลืนชีวิตคน คือนรกของคนงานนั่นเอง.
     ประเด็นย่อยอื่นๆ เช่น มีดวงดาวหกแฉกประดับบนผนังกำแพงในห้องที่ตั้งของหุ่นยนต์ของ Rotwang (และบนประตูบานหนึ่งของที่อยู่และแล๊ปวิทยาศาสตร์ของเขา). ดาวหกแฉกเรียกกันว่า Star of David เป็นสัญลักษณ์ของลัทธิจูดาอิสซึม(Judaism) และต่อมาเป็นสัญลักษณ์ของชาวยิว. นอกจากนี้หากดูหน้าตาของ Rotwang ผู้สร้างหุ่นยนต์(ที่เขาเรียกว่า Machine Man of the future) ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่นอนที่ผู้กำกับ Fritz Lang เลือกนักแสดงในบทของ Rotwang ให้มีหน้าตาทรงผมที่ชวนให้นึกถึงไอนสไตน์ยอดอัจฉริยะเชื้อสายยิวผู้ได้รางวัลโนเบลในปี1921 หกปีก่อนการสร้างหนังเรื่องนี้. ดาวหกแฉกที่เห็นในเรื่องนี้ เหมือนเป็นลางบอกอนาคตของเยอรมนี เมื่อฮิตเลอร์บังคับให้ชาวยิวติดดาวหกแฉกบนเสื้อ ดาวแบบนี้จึงโยงไปถึงการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว (Holocaust)ของฮิตเลอร์สิบกว่าปีต่อมา.
      ความคงที่สม่ำเสมอในการจัดฉากและการดำเนินเรื่องโดยใช้ประเด็นจากศาสนาในอดีต สะท้อนไปประณามอุดมการณ์อันเลวร้ายของการปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จของโลกปัจจุบันดังที่เห็นในภาพยนต์ เหมือนจะยืนยันความคิดของผู้สร้างว่า ศาสนาหรือศีลธรรมและหัวใจคน เป็นความหวังสุดท้ายของคน.
      ไม่ว่าสังคมจะวิวัฒน์ไปอย่างไร ชาวเยอรมันไม่ใช่ผู้เคร่งศาสนา ไม่เหมือนชาวสเปนเป็นต้น แต่ชนชาตินี้มีสำนึกศาสนาในจิตวิญญาณและในสติปัญญาที่รู้วิเคราะห์วิจารณ์. ความเชื่อและศรัทธาในศาสนาแม้จะอยู่ลึก มองไม่เห็นหรือถูกลืมไปแล้ว ยังเป็นฐานหินที่แข็งแกร่งและมั่นคงของโลกปัจจุบัน. เหมือนที่เมือง Metropolis ตั้งอบู่บนสุสานใต้ดินที่อยู่ลึกลงไปที่เคยเป็นศูนย์รวมศรัทธาและความเห็นใจต่อกัน. เหมือนในคริสต์ศิลป์ที่สร้างภาพให้นักบุญในคัมภีร์ใหม่ ขี่บนคอของศาสดาพยากรณ์ในคัมภีร์เก่า. เป็นวิธีการนำเสนอที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพยิ่ง สื่อการสืบทอดและวิวัฒนาการได้ครบทุกนัย. ดังตัวอย่างภาพข้างล่างนี้
นักบุญจอห์นในคัมภีร์ใหม่ ขี่คอเอเซเกียล(Ezekiel) ศาสดาพยากรณ์ในคัมภีร์เก่า ผู้มีหนวดเครายาวลงปิดคอ บอกความสูงวัย เท้าปิดมิดชิดเหมือนสวมถุงเท้า. ภาพของจอห์นมีรัศมีรอบหัว เท้าเปลือย. ทั้งรัศมีและการมีเท้าเปลือยคือสัญลักษณ์ของนักบุญในคริสต์ศิลป์.
นักบุญมาร์คในคัมภีร์ใหม่ ขี่คอดาเนียล(Daniel)ศาสดาพยากรณ์ในคัมภีร์เก่า. ดาเนียลยังอายุน้อย น้อยกว่านักบุญมาร์คผู้มีเคราบางๆ. มาร์คมีรัศมีเรืองรองรอบหัว เท้าเปลือยเหมือนนักบุญจอห์น. ศาสดาพยากรณ์ยังไม่ถือว่าสูงหรือสำคัญเท่านักบุญ.
ภาพจากบล็อกของ Jean-Yves Cordier ทั้งสองภาพคือบานหน้าต่างกระจกสีทรงสูงแคบที่มหาวิหาร Notre-Dame de Chartres ประเทศฝรั่งเศส.

   เมื่อพิจารณาประเด็นต่างๆที่ข้าพเจ้าติดใจและยกมากล่าวถึง ข้าพเจ้าจึงเข้าใจว่าทำไมคนยกย่อง Fritz Lang ว่าเป็นผู้สร้างผู้กำกับภาพยนต์คนโดดเด่นที่สุดคนหนึ่งในโลกภาพยนต์ และทำไมเรื่อง Metropolis นี้จึงเป็นภาพยนต์คลาซสิกที่ได้ดลใจนักสร้างภาพยนต์คนต่อๆมา. ไม่ใช่เพราะเขาสร้างหุ่นยนต์ตัวแรกในโลกภาพยนต์ ไม่ใช่เพราะเขาเสนอปัญหาสังคมปัญหาการปกครอง แต่เพราะเขารู้จักใช้เอกลักษณ์โลกเก่ากับโลกใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้เป็นกระจกส่องกันและกัน และปูทางไปสู่การสร้างสรรค์ภาพยนต์ในอนาคต ให้มี ภาพยนต์ที่สะท้อนจิตสำนึกของคน ความเป็นคนและอุดมการณ์สังคมในการอยู่ร่วมกันแบบ “พบกันครึ่งทาง”.
  
หุ่นยนต์พาไป
โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๐.

เชิงอรรถ Footnote
1. Yoshiwara (吉原) ชื่อญี่ปุ่นที่เจาะจงใช้ในเรื่องนี้นั้น ออกจะแปลกอยู่สักหน่อยเมื่อคำนึงถึงเนื้อหาที่ไม่เกี่ยวไปถึงประเทศอื่นใดในแถบใดของโลก ทำให้คิดว่า ในสมัยต้นศตวรรษที่20 เมื่อ Fritz Lang สร้างภาพยนต์เรื่องนี้ ชาวเยอรมันรู้จักเขตขายบริการและการขายบริการในญี่ปุ่นเป็นอย่างดี(โดยไต้องมีคำอธิบายเพิ่มเติม). เฉกเช่นในทุกประเทศ การขายบริการมีมาแต่ไหนแต่ไรแล้วตั้งแต่โลกโบราณ เป็นเรื่องธรรมดาโลก. กรณีในประเทศญี่ปุ่น อาจเป็นที่กล่าวขวัญถึงมากที่สุดในขณะนั้น เป็นความสนใจใคร่รู้ใคร่ลองของชาวตะวันตก. และการติดต่อการค้าระหว่างประเทศยิ่งโบกพัดความอยากรู้อยากไปเช่นตามเมืองโตเกียว เกียวโต โอซากา. ปัจจุบันตรงกับพื้นที่ Senzoku 4-chome, Taito-ku ทางตะวันออกเฉียงเหนือของโตเกียว.

2. ดูเหมือนว่า ประโยคที่สรุปปรัชญาการปกครองในเรื่อง Metropolis ที่ว่า THE MEDIATOR BETWEEN HEAD AND HAND MUST BE THE HEART นั้น อาจารย์ดร.อาจอง ชุมสาย เป็นผู้หนึ่งที่ได้เทียบ Head, Hand and Heart กับสำนวนไทย คิดดี พูดดีและทำดี.
-------------------------------
ติดตามไปดูภาพยนต์ขาวดำ Metropolis เวอชั่นปี 1927 ได้ที่นี่ >>
------------------------------------------- 
เก้าปีหลังจากภาพยนต์เรื่อง Metropolis  ชาร์ลีแช็ปปลินนำเรื่อง Modern Times ออกสู่โลกภาพยนต์(1936) เป็นหนังเงียบที่สร้างให้ดูตลกขบขัน แต่เป็นหนังตลกที่สุดสลด. เขาเป็นผู้แต่งเรื่องและผู้กำกับเอง. ตัวละคร << the Tramp >> (คนพเนจร หรือคนจรจัด) ที่ชาร์ลีแช็ปปลินสร้างขึ้นและแสดงเองในทุกเรื่อง มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกตั้งแต่บัดนั้น และกลายเป็นไอคอนของนักแสดงศิลปิน Charlie Chaplin ตลอดมา. เป็นแบบถาวรของรูปปั้นที่มีตามที่ต่างๆในโลก เช่นที่ Leicester Square ในกรุงลอนดอนบ้านเกิด หรือที่สวนเลียบทะเลสาบที่เมือง Vevey ประเทศสวิสเซอแลนด์ที่เขาอยู่กับครอบครัวจนถึงแก่กรรมรวมนานยี่สิบห้าปี. 
    เนื้อหาของ Modern Times วิพากษณ์วิจารณ์โลกอุตสาหกรรมพร้อมเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพสูง ที่กลับทำให้สภาพสังคม สภาพชีวิตของกรรมกรแรงงานลำบากยากเข็ญเนื้อหาทำนองนี้สืบทอดต่อมาในภาพยนต์ยุคหลังอีกจำนวนมาก
สมัยนี้ไม่ต้องสร้างหุ่นยนต์แล้ว เพราะคนทำงานเหมือนหุ่นยนต์ ง่ายดี สะดวกดีและไม่เสียเวลา

  ภาพโปสเตอร์ดั้งเดิมสำหรับภาพยนต์เรื่อง Modern Times ปี 1936. 
ภาพจาก Wikimedia Commons [Public domain]. 
ภาพจากเว็ป charliechaplin.com 
ระบบเฟืองเป็นระบบชีวิตคนในสังคม เช่นนี้มาทุกยุคทุกสมัย 
ชื่นชมอัจฉริยภาพของ Charlie Chaplin ได้อีก ที่นี่ >>
แล้วยิ้มฟังเพลง Smile ที่นี่ >>
และฟังตอนจบของ The Great Dictator (1940)
ทุกคำพูดยังใช้ได้กับสภาพการณ์ในโลกปัจจุบัน >>
คำพูดของ Charlie Chaplin เมื่อ 77 ปีก่อน เพียบด้วยความหมาย เมื่อเทียบกับคำพูดกลวงๆของนักการเมืองที่โลกได้เห็นได้สัมผัส…
      « ขอโทษครับ ข้าพเจ้าไม่ต้องการเป็นจักรพรรดิ นั่นไม่ใช่เรื่องที่ข้าพเจ้าสนใจ. ข้าพเจ้าไม่ต้องการปกครองหรือเอาชนะผู้ใด ถ้าเป็นไปได้ข้าพเจ้าอยากช่วยทุกคน ชาวยิว ชาวคริสต์ คนดำ คนขาว. เราต่างอยากช่วยกันและกัน. โลกนี้มีที่ให้ทุกคน ผืนแผ่นดินนี้อุดมสมบูรณ์ เลี้ยงดูทุกคนได้ เอื้อให้ทุกคนมีชีวิตอิสระและงดงาม แต่เราหลงทางไปแล้ว
    ความโลภได้ทำลายจิตวิญญาณ สร้างกำแพงกั้นคนด้วยความเกลียดชัง เหยียบย่ำคนให้จมลงในความทุกข์ในกองเลือด. เราพัฒนาความเร็วและกักขังตัวเราเองในนั้น. เครื่องกลจักรที่ผลิตทุกอย่างในจำนวนมาก กลับทำให้เรามีความอยากมากขึ้นๆ. วิทยาการความรู้ทำให้เราผยองเย้ยฟ้าท้าดิน ทำให้ปัญญาคนเหี้ยมหาญไร้เมตตา. เราคิดมากเกินไปและมีวิญญาณสำนึกน้อยลง. ยิ่งกว่าเครื่องจักรเครื่องกลใด เราจำเป็นต้องพัฒนา ความเป็นคน. ยิ่งกว่าปัญญา เราต้องพัฒนาความเอื้อเฟื้อความเห็นใจ. หากไม่มีคุณธรรมเหล่านี้ ชีวิตคนฝังรากจมอยู่ในความรุนแรง และทุกอย่างที่คนสร้าง ที่คนเป็นได้ จักสูญเปล่า
    เครื่องบินและวิทยุร่นระยะห่างระหว่างเรา. ธรรมชาติเนื้อแท้ของประดิษฐกรรมของคน สะท้อนสิ่งดีๆในตัวคน ประกาศภราดรภาพในโลก เชื่อมคนเข้าด้วยกัน. แม้ในนาทีนี้ เสียงข้าพเจ้าไปถึงหูคนจำนวนล้านๆคน ไปถึงคนสิ้นหวังจำนวนล้านๆคนทั้งผู้หญิงและเด็กๆ ผู้เป็นเหยื่อของระบบที่บีบคั้นและจองจำคนบริสุทธิ์.
     ข้าพเจ้าขอบอกแก่ทุกคนที่ได้ยินข้าพเจ้าว่า อย่าสิ้นหวัง. ความทุกข์โศกสลดที่กดทับเราในขณะนี้ เป็นเพียงเงาผ่านของความโลภที่สะท้อนความขมขื่นในจิตวิญญาณของผู้ที่หวาดกลัวความก้าวหน้าของมนุษยชาติ. ความเกลียดจักมลายจางหายไป พวกเผด็จการวันหนึ่งก็ต้องตาย อำนาจที่พวกเขากระชากไปจากประชาราษฎร์ จักกลับคืนสู่มือของปวงชน. และนานตราบเท่าที่คนต้องตาย อิสรภาพต้องไม่มีวันดับ
     ทหารทั้งหลาย อย่ายอมตนแก่คนโหด คนที่เหยียดหยามท่าน คนที่ใช้ท่านอย่างทาส คนที่จัดระบบชีวิตท่านด้วยระบบทหาร คนที่กำหนดให้ท่านทำ คิดและรู้สึก. คนที่ฝึกท่าน กำหนดให้ท่านกิน คนที่เลี้ยงท่านเหมือนเลี้ยงฝูงสัตว์ ใช้ท่านเหมือนอาวุธสงครามเหมือนลูกปืนลูกหนึ่ง. อย่ายอมตนให้กับคนผิดธรรมชาติเหล่านี้ พวกเขาเป็นกลจักร มีสมองเป็นกลจักรและหัวใจเป็นกลจักร! ท่านทั้งหลายไม่ใช่เครื่องกลจักร ท่านไม่ใช่ฝูงสัตว์ ท่านเป็นคน ท่านมีความรักต่อกันในจิตใจ ท่านไม่เกลียดใคร. คนที่ไม่มีคนรักเท่านั้น คนที่ผิดธรรมชาติเท่านั้น ที่เกลียดคนอื่น! ทหารทั้งหลาย! อย่าปกป้องการเป็นทาส จงสู้เพื่อเสรีภาพ!
    ในคัมภีร์นักบุญลุคบทที่17 มีข้อความเขียนไว้ว่า อาณาจักรของพระเจ้า อยู่ภายในคน ไม่ได้อยู่ในคนหนึ่งคนหรือในกลุ่มคนกลุ่มเดียว แต่ในตัวทุกคน ในตัวท่าน! ท่านทั้งหลาย ท่านเป็นผู้มีอำนาจในมือ มีอำนาจสร้างเครื่องจักรกลประเภทต่างๆ  ท่านมีอำนาจสร้างสรรค์ความสุข! ปวงชนทั้งหลาย ท่านมีอำนาจทำให้ชีวิตนี้ของท่านเป็นชีวิตที่อิสระและสวยงาม ทำให้ชีวิตนี้ของท่านเป็นการผจญภัยที่วิเศษสุดได้!
    เช่นนี้ในนามของประชาธิปไตย ขอให้เราใช้อำนาจนั้น จงรวมกันทั้งหมด รวมกันต่อสู้เพื่อโลกใหม่ โลกที่ดีกว่าที่ให้คนทุกคนมีโอกาสทำงาน ให้เยาวชนมีอนาคต ให้ชราชนอยู่อย่างมั่นคงไร้กังวล. คนโหดจำพวกหนึ่งยึดอำนาจไว้ได้ด้วยการสัญญาสิ่งดังกล่าวนี้ แต่พวกเขาโกหก พวกเขาไม่ทำตามสัญญา พวกเขาไม่คิดจะทำตามสัญญา!
    พวกเผด็จการมีอิสระเสรี แต่กลับไปจองจำประชาชนเสมือนทาส! บัดนี้เราต้องต่อสู้เพื่อให้สัญญาทั้งหลายบรรลุเป้า. ขอให้เราสู้เพื่อปลดปล่อยโลก ขจัดกำแพงกีดขวางใดๆ ขจัดความโลภ ความเกลียดชังและทิฐิ. ขอให้เราสู้เพื่อจรรโลงโลกของเหตุผล โลกที่วิทยาศาสตร์และความก้าวหน้านำทุกคนไปสู่ความสุข.
    ทหารทั้งหลาย ในนามของประชาธิปไตย ขอให้เรารวมกันเป็นหนึ่ง! »

โชติรส รายงาน
๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๐
คิดถึงชาร์ลี
------------------------------------------------ 

No comments:

Post a Comment