Saturday 23 December 2017

Clockwork to network - Hugo

ระบบเฟืองสู่ระบบเน็ต ตัวอย่างในภาพยนต์เรื่อง Hugo
     ข้าพเจ้าได้พูดถึงหุ่นกลนักเขียน(Automaton The writer) ที่เป็นหุ่นกลอัตโนมัติที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในกลางศตวรรษที่18 (ในบท ชีวิตไขลาน). ผลงานประดิษฐ์ระหว่างปี 1768-1774 ของพ่อลูก Jaquet Droz[จาเก้ โดร๊ซ] กับ Henri-Louis และผู้ร่วมงาน Jean-Frédéric Leschot. พ่อลูกตระกูล Droz เป็นช่างทำนาฬิกาชาวสวิส ไปอาศัยอยู่ที่ปารีส ลอนดอนและเจนีวาตามลำดับ. 
หุ่นนักเขียนของ Jaquet-Droz จากพิพิธภัณฑ์ Musée d'Art et d'Histoire de Neuchâtel เมือง Neuchâtel [เนอชาเติล] ประเทศสวิสเซอแลนด์. ภาพถ่ายของ Rama (Own work) [CeCILL (http://www.cecill.info/licences/Licence_CeCILL_V2-en.html) or CC BY-SA 2.0 fr (https://creativecommons.org/licenses/by-sa/2.0/fr/deed.en)], via Wikimedia Commons.
หุ่นกลนักเขียนตัวนี้ประกอบด้วยกลไกกว่า 6000 ชิ้น และเขียนข้อความใดๆที่ประกอบด้วยอักษรได้ถึงสี่สิบตัว ด้วยปากกาขนนกและหมึกจริง. มีลูกนัยน์ตาที่ติดตามการเคลื่อนไหวของนิ้วมือ. กลไกเป็นระบบลูกเบี้ยว (cams) 40 ตัวประกอบกันเป็นหน่วยความจำที่เก็บโปรแกรมข้อมูลที่ผู้สร้างใส่ลงไปให้ จึงไม่ผิดจากหน่วย ROM หรือ read-only memory ในคอมพิวเตอร์สมัยนี้. Jaquet Droz เหมือนต้องการยืนยันว่า เหตุผลหรือสติปัญญาของคนนั้นจัดให้เป็นระบบกลไกได้ เช่นเดียวกับอารมณ์ความรู้สึกหรือความหลงของคน ก็อาจเก็บไว้แล้วก็นำออกมาให้สัมผัสได้อีกครั้งหนึ่ง ในเครื่องกลไกอัตโนมัติแบบนี้.
      หุ่นนักเขียนของ Jaquet Droz มีชื่อเลื่องลือไปไกล จนดลใจให้ Henri Maillardet [อ็องรี มัยยารฺเด] ประดิษฐ์ขึ้นอีกตัวหนึ่งในราวปี1800. เขาเป็นช่างเครื่องกลและผู้ชำนาญการประดิษฐ์นาฬิกาอัตโนมัติ เป็นชาวสวิสฯที่ไปอาศัยอยู่ที่ลอนดอน. หุ่นนักเขียนของ Henri Maillardet มีชื่อกำกับว่า Automaton Draughtsman-Writer. ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งในคลังสะสมของพิพิธภัณฑ์ The Franklin Institute เมืองฟิลาเดลเฟียในสหรัฐอเมริกา. หุ่นตัวนี้ได้ไปออกโชว์ที่นิทรรศการหุ่นยนต์กรุงลอนดอนปี2017นี้ ที่ข้าพเจ้าได้ไปเห็น ดังภาพถ่ายข้างล่างนี้
ภาพจากนิทรรศการหุ่นยนต์ที่ลอนดอนปี 2017.
หุ่นตัวนี้บรรจุโปรแกรมรายละเอียดของภาพลายเส้นสี่ภาพ บทประพันธ์คำกลอนภาษาอังกฤษหนึ่งบทและภาษาฝรั่งเศสอีกสองบท นับว่ามันเก็บข้อมูลที่ถูกป้อนให้ได้มากกว่าหุ่นกลใดในยุคเดียวกัน. ระบบการเดินของลูกเบี้ยวถูกส่งต่อไปยังเฟืองต่อไปเป็นกลไกลูกโซ่จนถึงมือและทำให้มือเคลื่อนไปมา เขียนเป็นประโยคลงบนแผ่นกระดาษตรงหน้าด้วยปากกาที่ทำขึ้นเป็นพิเศษ. ลูกนัยน์ตาของหุ่นยังมองตามมือที่เขียน. กลไกที่สลับซับซ้อนของหุ่นตัวนี้ ยืนยันความเชี่ยวชาญของผู้สร้าง. ในศตวรรษที่19 หุ่นกลตัวนี้ได้ไปโชว์ตามที่ต่างๆหลายแห่งทั้งในสหราชอาณาจักรและในยุโรป. ต่อมาถูกทำลายเสียหายไปในอัคคีภัย และตกไปอยู่ในมือของสถาบัน The Franklin Institute ในปี 1928 (Philadelphia, USA). ที่นั่นได้พยายามบูรณะซ่อมแซมหุ่นกลนี้ให้เดินได้อีกครั้งหนึ่ง นำออกโชว์ในพิพิธภัณฑ์ เป็นที่ฮือฮาของเด็กและผู้ใหญ่. Brian Selznik [ไบรอั้น เซลซฺนิก] เป็นผู้หนึ่งที่ตามไปดูหุ่นกลนักเขียนนักวาดตัวนี้ เขาได้วาดภาพหุ่นกลนี้ไว้ร้อยกว่าภาพ. ทำไมหรือ? เพราะหุ่นกลตัวนั้นสะท้อนความเป็นตัวตนของเขา ในเมื่อเขาเป็นนักเขียนและนักวาดภาพประกอบหนังสือ. เขาคิดแผนแต่งหนังสือที่มีหุ่นกลแบบนี้เป็นปมของเรื่อง.
ติดตามดูคลิปวีดีโอจาก CBS News เกี่ยวกับหุ่นตัวนี้ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2012ที่นี่ >>

    Selznik (เกิดปี1966) เล่าว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย เขาไปทำงานในร้านหนังสือเด็กร้านสำคัญที่สุดบนถนนบรอดเวย์ที่กรุงนิวยอร์ค ชื่อ Eeyore’s Book for Children([อี๊หย่อ] Eeyore เป็นชื่อลาแก่ในหน้าหม่นหมองในหนังสือเด็กชุด Winnie the Pooh). ร้านนี้ขายหนังสือเด็กโดยเฉพาะ สำหรับชาวนิวยอร์ค ร้านนี้ทั้งเป็นร้านหนังสือและห้องสมุดของเด็กๆที่มักเดินเข้าไปแวะอ่านเป็นครั้งเป็นคราวก่อนกลับบ้าน. Selznik ไปทำงานในร้านหนังสือเด็กในบังคับบัญชาของ Steve Geck อยู่สามปี ทำให้เขามีความรู้เกี่ยวกับหนังสือเด็กทุกแง่ทุกมุม ซึ่งเขานึกขอบคุณในใจเสมอมา. (ร้านตั้งที่นั่นจนถึงปี1993 และจำต้องปิดลงเพราะไม่อาจทำธุรกิจหนังสือแข่งกับร้านหนังสือ Barnes & Noble ที่ไปตั้งไม่ไกลกันและยังเปิดสาขาไปในเมืองต่างๆด้วย). ต่อมาเขายึดอาชีพเป็นนักวาดภาพประกอบหนังสือเด็ก มีผลงานเป็นที่รู้จักกันดี ก่อนเริ่มแต่งหนังสือและวาดภาพประกอบหนังสือของเขาเอง (เริ่มด้วย The Houdini Box-1991, The Robot King-1955, Boy of a Thousand Faces-2000 เป็นต้น).
    ความสนใจตัวหุ่นกลของ Maillardet ดังกล่าวข้างต้น ทำให้เขาต้องย้อนตามรอยหุ่นกลตัวนั้นไปในประวัติศาสตร์สังคมยุโรป โดยเฉพาะตั้งแต่ศตวรรษที่17เป็นต้นมา เมื่อเครื่องกลอัตโนมัติเป็นที่ชื่นชอบ เป็นสมบัติสะสม เป็นของเล่นส่วนตัวราคาแพงของชนชั้นผู้ดีในคฤหาสน์ของพวกเขา เป็นสิ่งบันเทิงญาติสนิทมิตรสหายภายในวงการชั้นสูงและในหมู่คนร่ำรวยของยุคนั้น. เขาได้รู้ว่า Georges Méliès [จ๊อจ เมลิแยซ] (1861-1938 ชาวฝรั่งเศส) เป็นผู้หนึ่งที่สะสมเครื่องกลอัตโนมัติทุกชนิดทั้งใหม่และเก่าที่คนทิ้งแล้ว เขานำมาซ่อมและดัดแปลงตามจินตนาการของเขา. แต่เขาไม่เหมือนเจ้าของเครื่องกลอัตโนมัติคนอื่นๆ เขาไม่เก็บไว้ชื่นชมเงียบๆส่วนตัว กลับใช้หุ่นกลเครื่องเล่นของเขา สร้างมายากลแบบต่างๆและกลายเป็นนักมายากลมีชื่อในปารีสยุคนั้น.
     ชีวิตในยุคที่แสงสว่างนำปัญญา (the Enlightenment) สะท้อนความหลงใหลในสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ความตื่นตัวอยากรู้อยากเรียน ที่ผลักจินตนาการ ความคิดความฝันของคนออกไปในแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ออกไปในโลกที่ตามองไม่เห็นด้วย. Jules Verne [จูล แวรฺน] (1828-1905 นักเขียนชาวฝรั่งเศส ผู้ได้สมญานามว่า “บิดาแห่งนิยายวิทยาศาสตร์” เจ้าของนวนิยายที่หลายคนรู้จักดีเช่นเรื่องใต้ทะเลสองหมื่นโยชน์-1869, แปดสิบวันรอบโลก-1971) เป็นตัวอย่างหนึ่งของยุคนี้. เขาใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสมัยนั้น มาแต่งประกอบนวนิยายมากกว่าหกสิบเรื่อง(ที่เป็นนวนิยายโดดเด่นมีถึงห้าสิบสี่เรื่อง). เนื้อหาทั้งหลายล้ำยุคสมัยและที่กลายเป็นความจริงและเป็นไปได้ในปัจจุบัน เช่นการเดินทางในบอลลูน (เรื่อง Cinq semaines en ballon/Five Weeks in a Balloon, 1863), การสำรวจใต้พื้นโลก (เรื่อง Voyage au centre de la Terre / Journey to the Center of the earth, 1865), การสร้างเรือดำน้ำ (เรื่อง Vingt mille lieues sous les mers/Twenty Thousand Leagues under the Sea, 1869), หรือการสำรวจดวงจันทร์ (De la Terre à la Lune/From the Earth to the Moon, 1865 และเรื่อง Autour de la Lune/Around the Moon, 1870). (นวนิยายของ Jules Verne แปลเป็นภาษาต่างๆแพร่หลายไปในโลก จินตนาการของเขาดลใจนักเขียน นักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์อย่างต่อเนื่องมาเป็นศตวรรษ)
ภาพปกหนังสือนวนิยายเรื่องจากโลกถึงดวงจันทร์
De la Terre à la Lune ของ Jules Verne, 1865. (Amazon.com)
     ประดิษฐกรรมกลไกต่างๆทำให้เกิดเทคนิคใหม่ๆที่พัฒนาขึ้นจากระบบเฟือง ระบบกลไกก้าวกระโดดไปถึงการถ่ายรูป ถ่ายหนัง ของการทำหนังเงียบ. แน่นอน Georges Méliès มีโอกาสติดตามอ่านนวนิยายวิทยาศาสตร์ของ Jules Verne ผู้เกิดก่อนเขาเพียงสามสิบสามปี.
     ปรากฏการณ์ที่พลิกชีวิตความคิดอ่านของ Georges Méliès คือเมื่อสองพี่น้องชาวฝรั่งเศสตระกูล Lumière[ลูมีแยรฺ] ชื่อ Auguste[โอกุซตฺ] และ Louis[ลุย] Lumière ประดิษฐ์กล้องถ่ายภาพเคลื่อนไหวเป็นครั้งแรก ต่อมาถ่ายภาพสี (autochrome colour photography) และสร้างภาพยนต์(หนังเงียบ) รวมทั้งคิดทำแผ่นฟิล์มถ่ายรูปที่ต่อกันเป็นม้วนยาวๆ เจาะรูสองข้างฟิล์มเพื่อ ให้ฟิล์มเคลื่อนไปกับกล้องและเครื่องฉายภาพ (projector) อย่างอัตโนมัติ. และเมื่อสองพี่น้องนำภาพยนต์ที่ทำขึ้น จดลิขสิทธิ์ปี 1895 นำออกแสดงบนจอเดือนมีนาคม1895 และออกฉายบนจอในโรงหนังให้ประชาชนซื้อตั๋วเข้าชมเมื่อวันที่ 28 เดือนธันวาคม 1895 จึงเป็นปรากฏการณ์ใหม่ครั้งแรกสุดในประวัติศาสตร์สังคมโลก. หนังที่ฉายนั้นรวมฉากสั้นๆสิบฉากเช่นฉากคนเดินออกจากโรงงาน แต่ละฉากยาวไม่เกินห้าสิบวินาที ไม่มีเนื้อหาต่อเนื่องกัน (Endnote1) แม้จะสั้นแต่เพียงพอสำหรับสร้างความตื่นตะลึงแก่ผู้ชม และตรึงความสนใจของ Georges Méliès อย่างท่วมท้น. เขาตั้งใจในบัดดลนั้นว่า เขาต้องสร้างภาพยนต์ให้ได้ ตรงไปขอซื้อกล้องถ่ายหนังจากสองพี่น้อง Lumière แต่ถูกปฏิเสธ. เขาเริ่มศึกษาค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับกล้องและประกอบกล้องขึ้นเองด้วยการถอดชิ้นส่วนจากเครื่องกลไกต่างๆที่เขามี รวมทั้งสร้างโรงถ่ายหนังเล็กๆของเขา (ที่เป็นเรือนกระจกทั้งหลัง ที่เป็นเหมือนโรงละครไปด้วย-Théâtre Robert Houdin และนั่นเป็นโรงถ่ายหนังแห่งแรกในยุโรป) Endnote2.
โรงถ่ายภาพยนต์ของ Georges Méliès (คนแรกด้านซ้ายของภาพ) ที่เขาใช้ถ่ายทำภาพยนต์ A Trip to the Moon เป็นสตูดิโอ Star Film Production ของเขาที่ชานเมืองปารีส(Montreuil). ภาพนี้ในราวปี1900 จาก Wikimedia Commons [Public domain].
    ความตั้งใจของคนมีพลังมากเหลือคณา G.Méliès ได้ทดลองถ่ายทำหนังตั้งแต่นั้นและนำหนังเรื่องแรกของเขาขึ้นฉายบนจอได้สำเร็จเมื่อวันที่ 4 เมษายนปี1896 แม้จะเป็นหนังสั้นแค่หนึ่งนาทีก็ตาม. เขาทดลองรวมเทคนิคการถ่ายหนังเข้ากับรูปแบบการแสดงละครบนเวทีเพื่อสร้างผลลัพธ์ใหม่ๆที่การละครทำไม่ได้. ครั้งหนึ่งขณะถ่ายฉากบนถนน กล้องของเขาเกิดติดขัด ต้องหยุดเช้คและแก้ปัญหา แล้วจึงถ่ายต่อ. เมื่อล้างฟิล์มออกมา ได้เห็นว่าในฟิล์มที่ถ่ายมา สิ่งที่ถูกถ่ายปรากฏแล้วหายไป กลับมาใหม่หรือมีสิ่งอื่นเข้าแทนที่. เหตุบังเอิญที่เกิดขึ้นเมื่อเขาหยุดเช้คกล้อง ทำให้เขาตระหนักรู้ว่าในการถ่ายหนัง คนสามารถเข้าไปตัดแต่งและบ่ายเบนทั้งเวลาและสถานที่ได้ ทำให้สร้างผลลัพธ์แตกต่างกันไปได้. เขาเป็นคนแรกที่ทดลองถ่ายภาพซ้อนทับลงบนภาพเดิม เป็นคนแรกที่แบ่งจอออกเป็นจอเล็กหลายจอเพื่อถ่ายภาพต่างกันในเวลาเดียวกัน และเป็นคนแรกที่ถ่ายภาพแล้วแทนการตัดภาพ ทำให้ภาพค่อยๆเลือนหายไปจากจอ เป็นคนแรกที่เสนอภาพเปลือยบนจอหนัง  ทั้งยังเป็นคนสร้างโรงถ่ายหนังแห่งแรกในยุโรป. เทคนิคของเขาวางฐานใหม่ให้วงการภาพยนต์ เป็นเทคนิคที่คนทำกันเป็นเรื่องสามัญในปัจจุบันและก็ไม่มีใครคิดถึงเขาผู้ริเริ่มคนแรกเลย.
        นื้อหาหนังของ Méliès ส่วนใหญ่เป็นเรื่องประหลาด เพ้อฝัน ไม่จำกัดรูปแบบ ทุกคนรู้ดีว่าภาพยนต์ของเขาเป็นแนวนี้. ตลอดชีวิตเขาแต่งและสร้างพล็อตเรื่อง ลงทุนเอง แสดงเองและกำกับหนังของเขาเอง ไม่ต่ำกว่าห้าร้อยเรื่องตั้งแต่ปี1896เป็นต้นมา แม้จะเป็นหนังเงียบสั้นๆยาวไม่เกินสิบนาทีก็ตาม แต่ก็เป็น “ภาพยนต์”เต็มศักดิ์ศรีและตรงตามหลักการ. เรื่องที่โดดเด่นของเขาที่เป็นเรื่องยาว คือเรื่อง Le Voyage dans la Lune/A Trip to the Moon (หนังยาวประมาณสิบสี่นาที) ที่ออกมาในปี1902 (อ่านเรื่องย่อและดูหนังเงียบเรื่องแรกของโลกได้ในตอนท้ายบทความนี้). ขาได้แรงดลใจจากนวนิยายเรื่อง De la Terre à la Lune/From the Earth to the Moon ของ Jules Verne (1865). Endnote3 หนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นเทคนิคการถ่ายหนังที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เป็นเรื่องที่คนชื่นชอบมากและทำให้เขาเป็นดารานานาชาติอย่างแท้จริง. ทุกคนจำภาพจรวดที่พุ่งสู่ดวงจันทร์ตรงเข้าไปฝังในลูกตาข้างหนึ่งบนใบหน้าของดวงจันทร์ เป็นภาพ signature ของ Georges Méliès. เขากลายเป็นตำนาน หนังของเขามีผู้แอบก๊อปปี้ เป็นโจรสลัดหนัง(หน้าด้านๆ) นำไปฉายหาเงินในสหรัฐฯอย่างแพร่หลาย. งานสร้างสรรค์ของเขามีอิทธิพลต่อวงการภาพยนต์ เป็นฐานสำคัญในประวัติศาสต์การสร้างภาพยนต์ของโลกเลยทีเดียว.
จรวดลูกกระสุนปืนแบบนี้ที่ Georges Méliès สร้างขึ้นในหนังของเขา เป็นแบบของจรวดทรงยาวๆหัวแหลมๆที่เราคุ้นเคยในปัจจุบันและก็ยิงจากฐานบนพื้น ต้องยิงขึ้นสู่ท้องฟ้า ฝ่าแรงดึงดูดโลกออกไปให้พ้นก่อน.
     Brian Selznik เล่าเอง(ในเว็ปไซต์ส่วนตัวของเขา)ว่า เขาได้ดูหนัง A Trip to the Moon เวอชั่นปี1902 ที่เป็นเวอชั่นดั้งเดิมของ Georges Méliès และชื่นชมอัจฉริยภาพของผู้สร้าง จนสัญญากับตัวเองว่า วันหนึ่งเขาจะเขียนหนังสือเล่าเรื่องของคนที่สร้างหนังเรื่องนั้น. The Invention of Hugo Cabret คือหนังสือที่เขาเนรมิตขึ้นตรงตามเป้าหมายที่ต้องการและพิมพ์ออกสู่ตลาดในปี2007. เรื่องนี้ได้รางวัลยอดเยี่ยมของหนังสือที่มีภาพประกอบ เป็นรางวัล Caldecott Medal จาก American Labrary Association ในปี2008. เป็นหนังสือหนากว่า 533 หน้า มีภาพประกอบถึง 284 ภาพ. แทบพูดได้ว่า เขาสร้างฉากต่างๆไว้พร้อมสำหรับนำไปสร้างเป็นภาพยนต์ได้เลย. ดูสไล้ด์ภาพวาดฉากต่างๆที่ Brian Selznik จัดประกอบในหนังสือ The Invention of Hugo Cabret ของเขา ที่นี่ >>

     หุ่นกลในภาพยนต์เรื่อง Hugo แน่นอนไม่ใช่ตัวเดียวกับที่เก็บไว้ที่ The Franklin Institute มลรัฐ Philadelphia, USA  เป็นตัวที่ Martin Scorsese [มารฺติน สกอรฺแซสิ] ต้องสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการถ่ายภาพยนต์ สร้างเลียนประสิทธิภาพ(คร่าวๆ)ของหุ่นกลตัวจริง Draughtsman-Writer ของ Henri Maillardet.
ภาพจาก Palimpsest.com
     การที่ Brian Selznik ผูกเรื่องให้หุ่นกลเก็บบันทึกภาพวาดตอนจรวดพุ่งไปปักลงในลูกตาข้างหนึ่งบนใบหน้าดวงจันทร์ จากหนัง A Trip to the Moon ของ Georges Méliès นั้นเป็นปมเด่น เป็นตัวนำ ตัวเชื่อม ตัวกุญแจไขลานอดีตที่เหมาะสมอย่างยิ่ง และที่สอดคล้องกับมิติต่างๆในยุคศตวรรษที่18-19 ในยุโรปและโดยเฉพาะฝรั่งเศสในกรณีนี้ เช่นมิติด้านจิตวิทยาสังคม ความบันเทิงแนวใหม่ จากจินตนาการที่กว้างไกลที่พุ่งพ้นกรอบของโลกที่เราอยู่ หรือที่ดิ่งลงใต้ทะเล ใต้พื้นโลก, มิติด้านวิทยาการความรู้ การค้นพบเทคนิคใหม่ การสร้างกลจักรใหม่ๆ(จากระบบเฟือง) สำหรับใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนอย่างสิ้นเชิง, มิติด้านเศรษฐกิจ ที่เกิดชนชั้นใหม่ผู้ร่ำรวยที่จะกลายเป็นชนชั้นปกครองที่มีอำนาจมาจนถึงทุกวันนี้ อันเป็นผลพวงจากวิวัฒนาการอุตสาหกรรม การผลิตและการค้าขายทั้งภายในและโดยเฉพาะระหว่างทวีป.
     ดังกล่าวมาแล้วตัวหุ่นกล Draughtsman-Writer ที่เก็บข้อมูล สารหรือความลับจากอดีต สะท้อนบทบาทและหน้าที่ ความคิด จินตนาการและวิญญาณนักเขียน ของ Brian Selznik ในฐานะที่เขาเองเป็นนักเขียนและนักวาดภาพ. Martin Scorsese เป็นผู้สร้างภาพยนต์ เขาก็รู้คุณค่าของงานสร้างสรรค์ภาพยนต์ยุคแรกๆและโดยเฉพาะของ Georges Méliès, เหมือน Brian Selznik เขาไม่อยากให้โลกลืม “สองอนุสาวรีย์ที่เป็นสุดยอดของอัจฉริยภาพของคนในอดีต” - หุ่นกลที่เป็นอนุสรณ์ความเป็นยอดทางกลไกในอดีต เป็นตัวบันทึกข้อมูลจากภาพยนต์เรื่องแรกของโลกที่ก็เป็นอนุสาวรีย์แบบหนึ่ง. การสืบทอดเนื้อหา ผ่านสามขั้นตอนจากหุ่นกล (Henri Maillardet ราวปี 1800) ไปยังผู้แต่งหนังสือ (Brian Selznik, 2007) และจบลงที่ผู้สร้างภาพยนต์ (Martin Scorsese, 2011). The Invention of Hugo Cabret กับภาพยนต์เรื่อง Hugo คงจะเป็นอนุสรณ์ความทรงจำแบบหนึ่งของศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดนี้เช่นกัน. ในมุมมองดังที่แจกแจงมา ข้าพเจ้าคิดว่าภาพยนต์เรื่อง Hugo ที่ผู้กำกับเจาะจงไว้ว่าเป็นภาพยนต์ถ่ายทำด้วยเทคนิคสามมิติ จึงมิได้เป็นสามมิติแค่ด้านเทคนิคเท่านั้น
     เครื่องกลอัตโนมัติที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของศตวรรษที่สิบแปด นำไปสู่พัฒนาการเทคนิคด้านอื่นๆ. ใครจะไปคิดว่าหุ่นกล The Turk ของ Wolfgang von Kempelen (cf.บทที่สอง ชีวิตไขลาน) จะนำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมสิ่งทอในอังกฤษและขยายวงออกไปสู่อุตสาหกรรมประเภทอื่นๆ (ระหว่างปี 1760-1820).
Illustrator T. Allom - History of the cotton manufacture in Great Britain by Sir Edward Baines. [Public domain], via Wikimedia Commons.
ภาพในโรงงานทอผ้าปี1835. สิ่งทอเป็นอุตสาหกรรมแนวหน้าของการปฏิวัติอุตสาหกรรม โรงงานทอผ้าเป็นโรงงานแห่งแรกที่ใช้กระบวนการผลิตสมัยใหม่เช่นเครื่องทอและเครื่องกลจักรไอน้ำ.
ใครจะคิดว่าหุ่นกล Draughtsman-Writer ของ Henri Maillardet จะปูทางมาถึงเรื่อง Hugo.
ภาพประกอบภาพยนต์เรื่อง Hugo จากกูเกิล

เรื่องย่อของ Hugo
เรื่องเกิดขึ้นในทศวรรษที่ 1930 พ่อของ Hugo เป็นช่างซ่อมนาฬิกาและเครื่องกลไก เก็บหุ่นกลตัวหนึ่งที่ไม่มีคนต้องการ นำกลับมาบ้านและพยายามซ่อมเพื่อคืนชีวิตให้มัน.(ในหนังสือของ Selznik ดั้งเดิมนั้น เด็กชาย Hugo ไปพบหุ่นตัวนี้ในถังขยะ). เขาสอนลูกชายอายุสิบสองเกี่ยวกับเครื่องกลอัตโนมัติแบบต่างๆ การทำงานของมัน การซ่อมแซม. ต่อมาเมื่อพ่อเสียชีวิตไปในอัคคีภัย ลุงรับ Hugo ไปอยู่ด้วยที่ปารีส อยู่ในระหว่างชั้นกำแพงของสถานีรถไฟ Gare de Montparnasse ที่มีทางเดินเชื่อมต่อไปถึงส่วนใต้หลังคาของสถานีรถไฟ และจากตรงนั้นเห็นทิวทัศน์กรุงปารีสที่ทอดไปไกลถึงหอเอเฟล (Eiffel Tower) หรือประตูชัย(Arc de Triomphe). Hugo นำหุ่นกลของพ่อติดตัวไปปารีสด้วย. ุงเป็นคนขี้เหล้าเมายา มีหน้าที่ไขลานนาฬิกาเรือนใหญ่ของสถานีรถไฟ บางที Hugo ต้องทำหน้าที่ไขลานแทน. วันดีคืนดีก็หายตัวไป(เมาจนจมน้ำตายในแม่น้ำแซน) Hugo ทำหน้าที่ไขลานต่อมาเรื่อยๆ. เขาต้องขโมยขนมนมเนยกินยังชีพ และยังขโมยชิ้นส่วนของเครื่องเล่นกลไกประเภทต่างๆจากร้านขายของเล่นที่ตั้งอยู่ในสถานีรถไฟจนถูกเจ้าของร้านจับได้. เขาพยายามหาอะไหล่ไปเติมเต็มในตัวหุ่นยนต์ของพ่อด้วยความหวังว่าวันหนึ่งมันจะเดินได้ และบอกอะไรเขา เขาเชื่อว่าหุ่นเก็บสารที่พ่อต้องการบอกในระบบเฟืองของมัน.
   ครั้งหนึ่งได้กุญแจจาก Isabelle ลูกบุญธรรมของเจ้าของร้านขายของเล่นที่เขาขโมยชิ้นส่วนบ่อยๆจนถูกจับได้, Hugo ลองใช้ไขลานหุ่นยนต์ หุ่นเริ่มเคลื่อนไหว เขียนอะไรบนแผ่นกระดาษ. Hugo หวังจะได้คำตอบหรือคำสั่งเสียจากพ่อของเขา แต่หุ่นเขียนไม่เป็นตัว ไม่ได้ความ แล้วกลับวาดภาพจรวดพุ่งเข้าไปปักในลูกตาข้างหนึ่งบนใบหน้าดวงจันทร์ พร้อมกำกับชื่อใต้ภาพว่า Georges Méliès. Hugo ก็ไม่เข้าใจว่าภาพนั้นคืออะไร มีความหมายพิเศษอะไร เกี่ยวกับพ่อของเขาอย่างไร. เมื่อเจ้าของร้านเห็นภาพวาดภาพนั้น เขาล้มป่วยด้วยความรู้สึกรุนแรงที่พุ่งขึ้นมา.
   Isabelle กับ Hugo ไปห้องสมุดค้นหาที่มาของภาพที่หุ่นวาด. ได้พบคนดูแลห้องสมุดที่รู้จัก Georges Méliès. คนนั้นเก็บฟิล์มหนังเก่าเรื่อง A Trip to the Moon ไว้ม้วนหนึ่ง(เรื่องอื่นๆของ G.Méliès ถูกทำลายหรือหายสูญไป) พากันมาที่บ้าน Isabelle เพื่อดูภาพวาดจากหุ่นกลของ Hugo ที่พ่อบุญธรรมของ Isbabelle ดึงเอาไป. เมื่อเห็นแม่บุญธรรมของ Isabelle, คนนั้นจำได้ทันทีว่าเธอเคยแสดงในหนังของ Georges Méliès. ในที่สุดพบว่าพ่อบุญธรรมของ Isabelle คือ Georges Méliès อดีตผู้สร้างภาพยนต์ และภาพจรวดพุ่งไปจอดบนดวงจันทร์คือภาพจากหนังเงียบเรื่อง A Trip to the Moon ที่เป็นเรื่องที่ยาวที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดของเขา. ในตอนจบ มีการนำหนังม้วนเก่าเรื่องเดียวที่เหลือของ Georges Méliès มาฉายให้ทุกคนได้ดูอีก เชิญชวนให้ติดตามความฝันและจินตนาการของเขาไปยังดวงจันทร์. ทั้งหนังทั้งผู้สร้างหนัง ได้ฟื้นคืนชีวิต มาสร้างความบันเทิงแก่ผู้คนอีกครั้งหนึ่ง. Endnote4
     Hugo เข้าใจในที่สุดว่า เหมือนชิ้นส่วนในหุ่นกล ทุกชิ้นมีหน้าที่เฉพาะของมัน มีที่ตั้งของมัน ไม่มีชิ้นใดที่เกินมา ไม่มีชิ้นใดเปล่าประโยชน์. หากโลกเป็นเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ ตัวเขาก็ต้องไม่ใช่ส่วนเกิน ต้องมีเหตุผลของการตั้งอยู่ของเขา เขาต้องมีหน้าที่ มีที่ตั้งอยู่ในโลกในระบบกลจักรโลก. หากเขาหาที่ตั้งหรือจุดยืนของเขาไม่ได้ เขาก็เหมือนชิ้นส่วนที่หลุดหายไป เหมือนหุ่นกลที่แตกหัก หยุดเดิน. เขานึกถึงเจตจำนงของพ่อที่เพียรซ่อมหุ่นนักเขียนตัวนั้น เพื่อสะกัดเอาสารเอาข้อมูลที่ใส่ไว้ในตัวหุ่นออกมาให้ได้ เพราะพ่อมองไปถึงความคิดความฝันของผู้ประดิษฐ์หุ่นนั้น. ความตั้งใจมุ่งหาคำตอบเกี่ยวกับหุ่นกล ทำให้เขาได้พบหลักฐานงานสร้างภาพยนต์ในอดีต(ภาพจรวดพุ่งไปปักลงในลูกตาข้างหนึ่งของดวงจันทร์) และนำเขาไปพบกับ Georges Méliès ในที่สุด. เขาได้ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมอดีตกับปัจจุบันสำเร็จลง เหมือนเอาชิ้นส่วนที่หลุดหายไปกลับคืนมาใส่ณตำแหน่งของมัน.  

ภาพพิเศษนี้ผลงานการถ่ายทำจากภาพยนต์เรื่อง Hugo เป็นภาพน่าทึ่งมากในขั้นต้น ภาพมุมสูงของ La Place de lEtoile [ลา ปล๊าส เดอ เลตัวลฺ] ที่กรุงปารีส. ประตูชัย (l’Arc de Triomphe [ลาค เดอ ทรีอ๊งฟฺ]) ตั้งอยู่ตรงกลางพื้นที่ มีถนนสายสำคัญๆแยกออกไปทุกทิศทางทั้งหมดสิบสองเส้น จึงดูเหมือนการแผ่รังสีของดวงดาว (ถนนสายหนึ่งที่คนรู้จักดีคือ L’avenue des Champs- Elysées [ฌ็องเซลีเซ่]).
    ข้าพเจ้าปลาบปลื้มเป็นพิเศษเพราะเน้นเสมอมาว่า ทุกอย่างเริ่มจากฟันเฟืองขนาดต่างๆ หมุนไปเป็นเครือข่ายเน็ต (หรือ Clockwork to network). เมื่อนึกใคร่ครวญจริงๆจังๆ ภาพนี้กลายเป็นภาพที่กระตุกและเขย่าจิตสำนึกของข้าพเจ้า ของคน ความเป็นคน ของการอยู่รวมกันในสังคม สังคมที่ทุกอย่างเป็นระบบ หลุดไปไหนไม่ได้แล้วจนต้องสรุปว่า รักจะอยู่ ก็ต้องอยู่ในระบบในระเบียบเพื่อให้ทุกอย่างดำเนินต่อไปด้วยดี.
    การจัดระเบียบเหมือนการต่อชิ้นส่วนชิ้นเล็กๆ(puzzle) เข้าเป็นภาพเต็มสมบูรณ์ เผยให้เห็นภาพรวมภาพใหญ่ที่เป็นเป้าหมายดั้งเดิมของผู้สร้าง. หรือเหมือนการซ่อมหุ่นกล จัดระบบเฟืองที่ซ้อนกันต่อกันไปมาให้เข้าที่ ไขลานแล้วมันก็เดินไปได้ มีชีวิตอีก. หรือเหมือนการค้นพบก้อนหินอุกกาบาต มันไม่ใช่ก้อนหินธรรมดาๆแต่มีชีวิตมีวิวัฒนาการของมัน มาจากไหน ที่นั่นเป็นอย่างไรฯลฯ. การย้อนรอยจากอะไรชิ้นเล็กๆเพื่อไปยังภาพใหญ่ ไปถึงเป้าหมายดั้งเดิม ประเด็นนี้ต่างหากที่จูงใจนักคิดนักปราชญ์และนักวิทยาศาสตร์ และที่ได้เป็นฐานของพัฒนาการทุกแขนงทุกด้านทุกมิติในความเป็นคน.
    วิทยาการทั้งหลายทั้งปวงนำคนมาสู่จุดที่ต้องจัดระเบียบ แบ่งแยก จัดกลุ่ม อะไรเหตุอะไรผล. วิทยาการบังคับให้คนมองทุกสิ่งรอบด้าน ถ่ายทอดให้ถูกต้องตรงตามที่สังเกตที่เห็นอย่างละเอียด เพื่อเป็นฐานข้อมูลต่อไปในอนาคต. ณนาทีนี้ แต่ละคนคือหน่วยข้อมูล และทุกคนเป็นเครื่องจักรประมวลข้อมูล (data-processing machine)  (ดังที่ Yuval Noah Harari อธิบายไว้ในหนังสือ Homo Deus)
    เรามาถึงยุคของ dataism ยุคของระบบข้อมูลและสถิติ ที่กลายเป็นระบบที่มีอำนาจสูงสุด เป็น “สมองกล” บนยอดปิรามิด ที่กำหนดความหมาย กำหนดทิศทางเดิน กำหนดราคา กำหนดคุณค่าทั้งหลายทั้งปวงในสังคมมนุษย์. ระบบนี้อยู่เหนือทุกเครือข่าย (network) เหนือทุกกลุ่ม(ศาสนาหรือการเมือง) ทุกองค์การ องค์กร ทุกมูลนิธิฯลฯ.
    คนเป็นสิ่งมีชีวิตสิ่งเดียวที่ด้นดั้นขุดค้น สงสัย ตั้งปัญหากับทุกสิ่ง เป็นผลลัพธ์ของวิวัฒนาการของสมองตั้งแต่สัตว์เซลล์เดียวจนมาเป็นคนที่ยืนบนลำแข้งของตัวเอง (Homo erectus) และมีศักยภาพในการเรียนรู้ (Homo sapiens) โดยมีสัญชาตญาณของการอยู่รอดและอยู่ดีเป็นแสงส่องทาง. ทุกคนประจักษ์ชัดแก่ใจว่า ความรู้วิทยาการทั้งหลาย ไม่ทำให้คนมีความสุข แต่ตราบใดที่ยังมี 7.6 พันล้านคนบนโลก (สถิติ ณ เดือนธันวาคม2017) คนก็ยังต้องเดินต่อไป เรียนต่อไป(เพื่อหางาน หาเงินมาเลี้ยงชีพ) บนเส้นทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและเทคโนโลยีที่เป็นดาบสองคมเสมอมา. เคยคิดว่าแต่ละคนมีเส้นทางส่วนตัวเฉพาะตนในการเรียนรู้สั่งสมปัญญาทางโลก สู่การพัฒนาปัญญาทางธรรมด้วยตัวเอง เพราะคนมีปัญญาและมีสติที่เป็นเครื่องมือที่สรรพชีวิตอื่นใดบนโลกไม่มี. แต่มาบัดนี้ในยุคศตวรรษที่21 คนกำลังแยกสติออกจากปัญญา. ชัดเจนกันดีว่า คนที่รู้จักยอม ยอมหลอมตน หลอมสติ หลอมปัญญาไปกับซุปเปอร์จักรกลฉลาดๆทั้งหลาย จักเป็นผู้ที่เข้าถึงความรู้ที่แท้จริง(ที่คือการรู้จักเอาตัวรอด รู้วิธีอยู่ดีกินดีในระบบสถิติระบบข้อมูล) ส่วนที่เหลือของมนุษยชาติเป็นเพียงเครื่องมือ. นึกถึงเรื่อง The Day the Earth Stood Still นี่เรามาถึงจุดสุดท้ายบนหน้าผาแล้วสินะ ขาด“สติ”คนก็เดินลงสู่ความว่างในอากาศ
    ข้าพเจ้าคิดไปไม่ถึงว่า จากการติดตามดวงดาวไปจับเวลาชีวิต ตามไปไขลานหุ่นกลตัวเล็กตัวน้อย แล้วไปหยุดเผชิญหน้าหุ่นยนต์ที่เหมือนคน ที่เก่งกว่าคน ที่มีสมองที่ไม่ตาย ไม่ฝ่อไม่ห่อเหี่ยว เส้นทางยาวเหยียดข้ามยุคสมัยมาพันๆปีนี้ นำข้าพเจ้ามาหยุดลงบนหน้าผาจำเป็นต้องจบรายงานเรื่องหุ่นยนต์ เพื่อคลานกลับไปตั้งสติใหม่ ไกลจากความเวิ้งว้างเหนือหน้าผา

โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์  ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๐.

เชิงอรรถ Footnote
1. ติดตามอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับสองพี่น้องตระกูล Lumière ได้ที่นี่>>
2. โรงถ่ายหนังของ Georges Méliès อยู่ชานเมืองตะวันออกของกรุงปารีส (Montreuil). เมื่อความสนใจในหนังเงียบถดถอยลงตั้งแต่ปี1915, Méliès จำต้องหยุดสร้างหนัง และกลับไปเล่นละครหาเลี้ยงชีพด้วยความยากลำบาก. ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โรงละครของเขาก็ถูกแปลงให้เป็นสถานพยาบาลสำหรับทหารบาดเจ็บจากสงคราม. เขาหายเงียบไปจากสังคม นานหลายปี จนภายหลังในราวทศวรรษที่1920 ที่ทางรัฐบาลฝรั่งเศสประกาศเกียรติคุณของเขาในฐานะผู้มีส่วนสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆให้กับโลกภาพยนต์และมอบเหรียญเกียรติยศให้เขา พร้อมกับที่อยู่ฟรีตลอดชีวิต. เขาถึงแก่กรรมในปี 1938.
3. ในยุคนั้น มีนิยายเรื่อง The First Man in the Moon ของ H.G.Wells ที่ลงเป็นตอนๆในนิตยสาร The Strand Magazine ของอังกฤษ ระหว่างเดือนธันวาคม1900 ถึงเดือนสิงหาคม 1901. เนื้อเรื่องเล่าถึงการเดินทางไปดวงจันทร์ของนักธุรกิจและนักวิทยาศาสตร์ ทั้งสองได้พบว่า ดวงจันทร์มีสิ่งมีชีวิต ที่มีรูปร่างเหมือนแมลงเรียกว่า Selenites. G. Méliès ได้แทรกการเผชิญหน้ากับสัตว์บนดวงจันทร์นี้ลงในหนังด้วย ทั้งนำสัตว์จากดวงจันทร์ติดกลับมาบนโลกด้วย. รูปแบบของยานอวกาศในนิยายชุดของ Wells นั้นเป็นทรงกลมเหมือนลูกโลก ในขณะที่ยานอวกาศของ G. Méliès เป็นรูปทรงจรวดหัวแหลมพุ่งออกจากปล่องขนาดใหญ่และยาวที่เล็งไปยังผิวหน้าของดวงจันทร์เลย. ยานอวกาศในโลกต่อมาเป็นไปในแบบของ G. Méliès และยิงขึ้นจากฐานยิงอวกาศบนพื้นโลกในแบบเดียวกับในหนังของ G. Méliès.
4. ความฝันหรือความอยากของคนไปสำรวจดวงจันทร์ ยังคงอยู่ในจิตสำนึกของคนอีกจำนวนมาก เมื่อเปิดดูภาพวาดเกี่ยวกับดวงจันทร์ในกูเกิล จะเห็นภาพจำนวนมากที่เสนอการไปถึงดวงจันทร์ ตั้งแต่แบบง่ายๆเช่นบันไดพาดไปถึงดวงจันทร์ และบันไดก็มีแบบทันสมัยขึ้น เป็นบันไดเลื่อน เป็นลิฟต์ และที่ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นหากเชื่อตามที่เขาประกาศไว้คือ ญี่ปุ่นตั้งใจจะสร้าง « space elevator » ไปถึงดวงจันทร์ภายในปี 2050. หลานๆพวกเราอาจได้ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ในอนาคต. เอารูปต่างๆมาลงให้ฝันไปเพลินๆ
ภาพฝันแบบโรแมนติคจาก imgfave.com
ภาพสะดวกจาก timwit.wordpress.com
ภาพแย็บหมัดจาก IGG-games.com
ภาพคิดจริงคิดจังแบบนาซา
ภาพสู้ไม่ท้อแบบคามิคาเสะ
-------------------------------------------
ดูคลิปวีดีโอเรื่อง A Trip to the Moon เวอชั่นดั้งเดิมของ Georges Méliès ปี 1902 (ยาว 12:52 นาที) >>

ภาพจาก Georges Méliès “ดวงจันทร์อยู่ไกลเพียงเมตรเดียว”, Star Film Production. ให้สังเกตว่านักดาราศาสตร์สวมหมวกทรงโคนสูงแหลมเพราะ“หัวแหลม” กว่าใครในปัฐถพี (ในนี้คนวาดเจตนาให้สูงขึ้นมาก เหมือล้อเล่นหน่อยๆ ในความเป็นจริง ยิ่งสูงมาก ปลายแหลมจะพับตกลง) หมวกสามเหลี่ยมทรงโคนแหลมนี้ โดยทั่วไปเป็นสัญลักษณ์ของของปัญญา ความฉลาด. คนเรียกหมวกทรงแบบนี้ว่า le chapeau juif. ในศิลปะยุโรปยุคกลาง หมวกนี้ระบุว่าเป็นชาวยิวในคัมภีร์ และมักเป็นพ่อค้าชาวยิว แฝงนัยเชิงลบ แต่ก็ไม่เสมอไป บางทีเพื่อแยกชาวยิวจากชาวอีจิปต์หรือชนชาติโบราณอื่นๆ.     
เนื้อเรื่อง มีดังนี้ >>
ในที่ประชุมสภานักดาราศาสตร์ ประธานสภา(Professor Barbenfouillis ที่ G. Méliès แสดงเอง) เสนอให้ไปสำรวจดวงจันทร์ หลายคนประท้วง แต่ในที่สุดมีนักดาราศาสตร์อีกห้าคนเห็นด้วยและพร้อมจะเดินทางไปด้วยกันทั้งหกคน (หนึ่งในนั้นคือ Nostradamus นักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศส ที่หลายคนรู้จักในฐานะที่ได้ทำนายเหตุการณ์ร้ายแรงต่างๆในอนาคตที่จะเกิดขึ้นกับโลก cf. The Prophecies). พวกเขาให้สร้างยานอวกาศทรงลูกกระสุนปืนและกระบอกปืนขนาดใหญ่เพื่อยิงยานรูปกระสุนนี้ขึ้นไปถึงดวงจันทร์. จรวดนี้ยิงขึ้นไปจากฐานกองทัพเรือ (ใช้ผู้หญิงแต่งเสื้อปกทหารเรือประกอบฉาก ให้ฮือฮากันเล่น). ดวงจันทร์(ใบหน้ายิ้มๆ)มองดูความพยายามของคนกลุ่มนี้ แล้วจู่ๆยานอวกาศรูปกระสุนก็พุ่งไปแทงลูกตาข้างหนึ่งของดวงจันทร์ให้เจ็บปวด. ทั้งหมดออกจากยานอวกาศและมองเห็นดาวโลกขึ้นไปในท้องฟ้า.
มีควันพุ่งออกเป็นครั้งคราวจากใต้พื้นดวงจันทรฺ. ทั้งหมดจัดแจงคลี่ผ้าห่มนอนพักเพราะเดินทางมาเหนื่อยๆ. (ใช้เทคนิคของการจัดฉากละคร ถ่ายเป็นฉากในหนัง ให้เนื้อหาเพียบตามจินตนาการและความรู้ในยุคนั้นในเวลาเพียงไม่กี่นาที) ระหว่างนี้บนท้องฟ้า(ที่มองจากดวงจันทร์) มีดาวตกผ่านไป, ตามด้วยภาพของกลุ่มดาวไถ (The Big Dipper / The Plough) ที่มีใบหน้าคนโผล่มองจากดาวแต่ละดวง, ต่อมาเห็น Phoebe[ฟี่บิ] เทพธิดาดวงจันทร์ในตำนานกรีกโบราณ นั่งห้อยเท้าบนชิงช้ารูปดวงจันทร์เสี้ยว, เห็นดาวเสาร์พร้อมวงแหวนของมันด้วย, เห็นวีนัสมือแตะที่ดาวศุกร์
    Phoebe บันดาลให้หิมะตก ทำให้กลุ่มนักดาราศาสตร์รู้ตัวตื่นและพากันเดินสำรวจดวงจันทร์ เข้าไปในถ้ำหนึ่งที่มีเห็ดขนาดยักษ์. คนหนึ่งเอาร่มปักลงบนพื้น ร่มกลายเป็นเห็ดไปด้วย. มีตัว Selenite มาปรากฏ เป็นสัตว์เจ้าถิ่น หน้าตาเหมือนแมลง (ชื่อ Selenite ตั้งตามชื่อของเทพธิดากรีก Selene ประจำดวงจันทร์). คนหนึ่งเอาร่มฟาดมัน มันก็หายวับไป แต่ปรากฏว่ามีตัวเหล่านี้ตามกันมาเป็นขบวน กลุ่มคนสู้ไม่ไหว ถูกห้อมล้อมและถูกพาเดินไปพบหัวหน้าในวัง.
   คนหนึ่งรี่ไปจับตัวหัวหน้าจากบัลลังก์ เหวี่ยงทั้งตัวลงบนพื้น หัวหน้าตายลง. กลุ่มคนทั้งหมดรีบกลับไปที่ยานอวกาศ มีพวกแมลงทั้งหลายกวดตาม. ห้าคนกลับเข้าไปในยานอวกาศได้ คนที่หกดึงสายเชือกที่ผูกกับยาน ดึงจนยานดิ่งลงในอวกาศ. แมลง Serenite ตัวหนึ่งเกาะบนยานอวกาศตามลงมาถึงพื้นโลกด้วย. ยานอวกาศตกลงในทะเล มีเรือมาช่วยดึงกลับขึ้นบก.
    ฉากสุดท้ายเป็นฉากพาเหรดเพื่อเป็นเกียรติแก่กลุ่มนักดาราศาสตร์ที่เดินทางไปดวงจันทร์และกลับมา มีการติดเหรียญเกียรติยศเป็นรูปใบหน้าดวงจันทร์(ใช้ลักษณะของผ้าทรงกลมผืนใหญ่สวมปิดหน้าอก). ตัวแมลงที่ติดยานอวกาศมา ก็ยังมีชีวิต ฟาดฟันกับคนบนโลกตรงนั้นด้วย. แล้วทุกคนไปที่รูปปั้นนักดาราศาสตร์ที่ทางการสร้างให้เป็นอนุสรณ์ ชาวเมืองเต้นรำกันอย่างครื้นเครง.
(ฉากจบนี้เป็นฉากที่ขาดหายไปจากฟิล์มจนถึงปี2002 เมื่อมีผู้ค้นพบฟิล์มครบชุดม้วนหนึ่งในโรงเก็บเครื่องมือแห่งหนึ่งในฝรั่งเศส นำมาบูรณะแล้วต่อเติมเข้าเป็นตอนจบของเรื่อง. หนังเงียบเต็มทั้งเรื่องของ G.Méliès ได้นำออกฉายที่ the Pordenone Silent Film Festival ปี2003. ต่อมายังมีคนค้นพบฟิล์มหนังเรื่องนี้ในยุโรปเช่นที่สเปนและในสหรัฐฯ. โดยเฉพาะที่สหรัฐฯ มีการก๊อปปี้ฟิล์มนี้กันมากในยุคที่ G. Méliès ยังมีชีวิตอยู่ โดยไม่เคารพลิขสิทธิ์ของผู้สร้าง เอาหนังออกฉายหาเงินเป็นที่สนุกสนาน ในขณะที่ผู้สร้างขัดสนล้มละลาย. ในปีหลังๆนี้ มีการเอาฟิล์มมาแต่งแต้มสีทีละแผ่นๆด้วยมือ.)
-----------------------------------------------------
รวมบทความในชุดหุ่นยนต์ที่เอาลงบล็อก มีดังนี้ >>
1.1. ติดตามดวงดาว ไปจับเวลาชีวิต (1)
1.2. ติดตามดวงดาว ไปจับเวลาชีวิต (2)
2. ชีวิตไขลาน Automata
3. หุ่นยนต์ ฝาแฝดของคน Robots our half
4. เจาะใจไปถึงสมองกล Live with artificial intelligence
5. มาเรียหุ่นยนต์ตัวแรกใน Metropolis
6. ระบบเฟืองสู่ระบบเน็ต ตัวอย่างจากภาพยนต์เรื่อง Hugo>> บทความนี้

3 comments:

  1. Eeyore เป็นชื่อของลาครับ

    ReplyDelete
  2. ขอบคุณมากค่ะที่ท้วงติงมา ไม่รู้ทำไมใส่เป็นลิงไปได้ เขียนไว้นานจนลืม เพิ่งมีโอกาสเห็นที่คุณเขียนนะคะ และดีใจมากที่คุณบอกมา ได้จัดการแก้แล้วค่ะ
    นอกจากนี้ ยังทำให้ตระหนักด้วยว่า แม้เขียนไปนานแล้ว ก็ต้องตามแก้ให้ถูก
    เขียนเอง อ่านเอง ทวนเอง จึงมีข้อบกพร่องเสมอ บางทีก็ปลอบใจตัวเองว่า คนย่อมทำอะไรพลาดได้เสมอๆ มันเป็นรอยนิ้วมือยีนของความเป็นคนอย่างหนึ่ง
    จึงมีสำนวนฝรั่งเขาว่า พระเจ้าเท่านั้นที่เป็นผู้ถูกต้องสมบูรณ์แบบ
    เราเป็นคนเดินดิน เรียนจากการทำผิดได้ ก็ดีมากแล้ว จริงไหมคะ
    ขอบคุณมาก และหวังว่าคุณจะมีโอกาสกลับมาอ่านข้อความนี้

    ReplyDelete