Tuesday 5 January 2016

วันเดือนอุดมผล จากชีวิตที่ขยันขันแข็ง - The Perfect Calendar

วันเดือนอุดมผล จากชีวิตที่ขยันขันแข็ง 
       ภาพฤดูกาล ภาพเดือนต่างๆ พัฒนาขึ้นจากความคิดเรื่องกาลเวลา ที่คนตั้งคำถาม ถามตัวเองเสมอมา ว่าเวลาคืออะไร? มีจุดเริ่มต้นที่ไหน จบลงที่ไหนไหม  เวลามาจัดระบบชีวิตคนอย่างไร?  จำเป็นต้องมีเวลาไหม?  จะยึดอะไรเป็นหลักในการแบ่งเวลา?  เวลาเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง แต่จุดนี้ไม่มีตัวตนจริงเพราะเวลาเป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่ง จับต้องไม่ได้  ทุกอย่างที่เกี่ยวกับเวลาจึงเป็นเพียงภาพลักษณ์ที่สะท้อนให้เข้าใจการหมุนผ่านไปของเวลาเท่านั้น  จนในที่สุดเวลาเป็นสิ่งที่คนสมมุติขึ้นและตกลงใช้กันเท่านั้นหรืออย่างไร ฯลฯ. คำถามทั้งหลายกับความอยากรู้อยากเข้าใจเวลา เป็นข้อขบคิดในปรัชญา ที่ปราชญ์ในคริสตศาสนาพยายามไตร่ตรองค้นหาคำตอบเสมอมา.  ยังไม่มีคำตอบ.
       แต่ไหนแต่ไรมาในโลกยุคโบราณ  การกำหนดปฏิทินเริ่มจากการสังเกตดวงดาวต่างๆในท้องฟ้า Pythagoras, Plato, Aristotle และนักคิดชาวกรีกคนอื่นๆได้วางแนวการมองและการทำความเข้าใจกับจักรวาลตามทัศนคตินี้คือ  จักรวาลเป็นเอกภพที่มีองค์ประกอบส่วนอื่นๆเกี่ยวโยงกันเป็นเครือข่าย  หากองค์ประกอบหนึ่งเปลี่ยนหรือย้ายที่ก็จะส่งผลกระทบต่อๆไปเป็นลูกโซ่ทั่วทั้งจักรวาล  พูดอีกนัยหนึ่งคือทุกสิ่งที่เห็นในจักรวาลเป็นภาพสะท้อนของทุกสิ่งที่เห็นบนโลก  ระเบียบระบบที่เห็นบนโลกก็คือระเบียบระบบของจักรวาลเบื้องบน   ศาสตร์แห่งตัวเลข (และศาสตร์แห่งดนตรี) ที่ Pythagoras คิดขึ้นมาจึงช่วยให้ชาวกรีกพัฒนาทัศนวิสัยเกี่ยวกับโลกในจักรวาลอย่างมีระเบียบมีระบบเช่นกัน  ให้มิติที่ลุ่มลึกกว่าการเชื่อตามเทพปกรณัมกรีก  ในวิสัยทัศน์ของชาวกรีก โลก(หรือคนบนโลก)  เป็นศูนย์กลางของจักรวาล  มีดวงดาวและกลุ่มดาวโคจรผ่านไปบนท้องฟ้าซึ่งครอบล้อมรอบโลกอยู่   คนจึงได้รับอิทธิพลจากการหมุนย้ายที่ของดวงดาวในจักรวาล (กลุ่มดวงดาวทั้งหลายจัดเป็นสิบสองกลุ่มเรียกว่า Zodiac of constellations)  พร้อมๆกับการเปลี่ยนแปลงของระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์. 
       การทำปฏิทินจึงเป็นความพยายามแบบหนึ่งในการจับเวลาให้อยู่ในมือเรา ให้เราใช้. มีการเสนอแบบต่างๆมาแล้วในทุกอารยธรรม. ในส่วนที่เกี่ยวกับยุโรป เมื่อยึดพระผู้เป็นเจ้าเป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่งแล้ว การกำหนดวันเดือนปีจึงง่ายขึ้น. แล้วหาเอกลักษณ์จากสภาพแวดล้อม จากสภาพธรรมชาติ มาเสริมวันเวลาที่คิดไว้  เป็นช่วงยามในแต่ละวัน เป็นเดือน เป็นฤดูกาลและไปบรรจบเป็นปีแล้วตั้งต้นใหม่ต่อไป.  ตั้งแต่ต้นคริสตกาล การทำหนังสือ รวบรวมเรื่องราวในคัมภีร์ หรือบทสวด พีธิกรรมต่างๆ จำเป็นต้องอยู่ในกรอบของเวลา  วงจรแห่งกาลเวลาจึงเข้าไปปรากฏ ไปประดับในหนังสือสวดด้วย  ขุนนางชอบให้มีจิตรกรรมน้อยประดับตกแต่งหนังสือสวดส่วนตัว.  เล่มหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเพราะสวยงามหรูหราที่สุดและเป็นข้อมูลสังคมแห่งยุคที่ดีที่สุดคือ หนังสือสวดของดยุ๊คแห่งแบร์รี (พระโอรสองค์ที่สามของกษัตริย์ฝรั่งเศสพระเจ้า Jean II le Bon, ท่านดยุ๊คมีชีวิตอยู่ระหว่าง 1340-1416, เป็นผู้ที่รักศิลปะและอุปถัมภ์ส่งเสริมศิลปินทุกแขนง)  เป็นฝีมือของสองพี่น้อง Limbourg  หนังสือนี้รู้จักกันในนามว่า Les Très Riches Heures du Duc de Berry.  นอกจากจะมีภาพเหตุการณ์ในชีวิตของพระเยซูประกอบบทสวดในแต่ละโอกาสแล้ว ยังมีภาพแต่ละเดือนด้วย  แต่ละภาพแต่ละเดือน มีภาพกิจกรรมเด่นๆในแต่ละเดือน ซึ่งคือชีวิตการงานและความเป็นอยู่ของชาวนาในยุคนั้น  และมีภาพพระราชฐานแห่งใดแห่งหนึ่งของพระองค์เป็นฉากหลัง  พระราชฐานทั้งหมดมีจริง กระจายอยู่ตามเมืองต่างๆบนดินแดนฝรั่งเศส และเป็นไปตามที่บันทึกไว้ในภาพจริง  ในบางเดือนเพิ่มภาพชีวิตขุนนางเป็นฉากเด่นตรงหน้าภาพ แล้วเลื่อนภาพชีวิตชาวนาไกลออกไปบนส่วนกลางๆของภาพ  บางทีก็ยกทิ้งไปเลย เน้นชีวิตชาววังแทนเป็นต้น เช่นในเดือนมกราคม ที่เป็นเดือนเลี้ยงฉลองในแบบส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ภายในพระราชฐาน จึงไม่มีชาวนาเข้าไปในพื้นที่ได้.  ตอนบนของแต่ละเดือนมีภาพท้องฟ้าและกลุ่มดาวที่ปรากฏในเดือนนั้น.
      จงพิจารณาความงามของเดือนต่างๆ ตามที่ปรากฏวาดไว้อย่างวิจิตรประณีตในหนังสือ Les Très Riches Heures du Duc de Berry (1416)  ภาพลักษณ์ของเดือนที่เห็นในจิตรกรรมชุดนี้ ได้ความคิดสร้างสรรค์เป็นรูปแบบนี้มาจากไหน ?  เพราะแน่นอนทุกอย่างที่วิวัฒน์ขึ้นเช่นกรณีนี้ในศตวรรษที่ 15  ย่อมมาจากสิ่งที่ชนรุ่นก่อนได้คิดได้ทำไว้  เราจึงต้องไม่ลืมขอบคุณเจ้าของความคิดริเริ่ม.  เมื่ออาดัมกับอีฟถูกขับออกจากสวรรค์ พระเจ้าได้เจาะจงว่า ตั้งแต่นั้น คนต้องเพาะปลูก หน้าสู้ดิน หลังสู้ฟ้า เพื่อทำมาหากิน. การเพาะปลูกหรือเกษตรกรรม จึงเป็นวิถีชีวิตที่พระเจ้าได้บัญญัติให้ทำ เพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติ. เป็นชีวิตที่สุจริตที่สุด.  ส่วนผู้หญิงนอกจากหน้าที่สืบเผ่าพันธุ์ของมนุษยชาติให้คงอยู่ต่อไป ก็ต้องทอผ้า จัดหาเครื่องนุ่มห่ม และทำอาหาร.  เชิญเดินชมธรรมชาติในแต่ละเดือนข้างล่างนี้
LES TRES RICHES HEURES DU DUC DE BERRY (1416),  Les Frères LIMBOURG



  ภาพหนังสือเล่มที่มีจิตรกรรมน้อยชุดสิบสองเดือน (ภาพจากเน็ต)

มาพิจารณาดูภาพ "วงจรแห่งกาลเวลา" ที่วาดเลียนแบบจากภาพลายเส้นบนแผ่นหนังจากห้องสมุดเมือง Stuttgart [สตุ๊ดการฺต] ประเทศเยอรมนี  เป็นภาพวาดต้นศตวรรษที่12.
มีวงกลมสามวง ภายในสี่เหลี่ยมผืนผ้า
*วงในเป็นวงเล็กที่สุด มีภาพของพระผู้สร้าง ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ กลางวันและกลางคืน
** วงที่สองถัดออกมา แบ่งเป็น 12 ช่วงๆละ 30 องศา
พร้อม 12 สัญลักษณ์ในระบบจักรราศี แทน 12 เดือน
*** วงกลมวงนอก แบ่งเป็น 12 ช่อง ตรงกับ 12 ราศี แสดงกิจกรรมการงานของชาวนา
ภายในวงกลมวงในสุด  คนหนึ่งมีขนเต็มตัว มีผมและหนวดเครายาวลงหน้าอก(คือพระผู้เป็นเจ้า).  ในศิลปะตะวันตก การมีขนหรือหนวดเป็นเครื่องหมายของการเจริญวัย  จึงเป็นสัญลักษณ์ของวัยวุฒิ  มือข้างขวาประคองดวงอาทิตย์ที่มีใบหน้าเป็นชายและมือซ้ายช้อนรับดวงจันทร์ที่มีใบหน้าเป็นหญิง  ใต้ดวงอาทิตย์มีใบหน้าสัญลักษณ์แทนกลางวัน (Dies) และใต้ดวงจันทร์เป็นสัญลักษณ์ของกลางคืน (Nox).
ในวงที่สองแบ่งเป็นสิบสองช่องประกอบด้วยสัญลักษณ์ของสิบสองราศีซึ่งแทนสิบสองเดือน  ในวงรอบนอกซึ่งก็มีสิบสองช่องเช่นกันมีภาพประกอบอธิบายกิจการงานที่ทำในแต่ละเดือน  ดังจะกล่าวถึงแต่ละเดือนต่อไปข้างล่างนี้. 
เดือนที่หนึ่ง (21ธันวาคม-19มกราคม) มีภาพสัตว์สองเขา แหลมและยาว คือตัว capricorn  ชื่อเดือนในภาษาละตินว่า Januarius เป็นชื่อเทพกรีก-โรมัน  Capricorn เป็นสัตว์มีรูปร่างลำตัวเป็นแพะและมีหางเป็นปลาเหมือนปลาโลมา  รูปลักษณ์เช่นนี้จึงรวมธรรมชาติของทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำไว้ในตัว ซึ่งเท่ากับความสามารถในการเป็นได้สองแบบสองลักษณะที่ตรงข้ามกัน และในที่สุดหมายถึงความตึงเครียดภายในคนที่ต้องต่อสู้กับแรงดึงดูดหรือแรงผลักดันจากธรรมชาติทั้งสองในตนตลอดเวลา  จนกว่าคนนั้นจะพบจุดสมดุลของตนเอง  น่าสนใจที่สัญลักษณ์นี้ถูกนำมาประกอบช่วงเวลานี้ของปี  ช่วงที่เป็นจุดเริ่มต้นฤดูหนาวเมื่อธรรมชาติดูเหมือนจะตายไปสิ้น ในความหนาวเย็นเมื่อคนหมดงานไร่งานนา เก็บตัวภายในบ้าน  แต่ความหนาวก็อาจบ่มสร้างความอดทน ความเพียร ความไม่ประมาทและจิตสำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบ   เดือนนี้ชาวนาถือไม้กระบองออกไปล่าสัตว์(ซึ่งมักจะเป็นกระต่ายป่า) กับสุนัขของเขาเพื่อนำมาเป็นอาหาร. ในศิลปะยุคศตวรรษที่ 12-15 มักเห็นเป็นภาพผู้ชายนั่งหน้าโต๊ะอาหารสื่องานเลี้ยงฉลองปีที่สิ้นสุดลงและปีใหม่ที่จะเริ่มขึ้น. บางทีมีวิธีเสนอที่แปลกละเอียดออกไป  คือผู้ชายมีสองหน้า  หน้าหนึ่งมีหนวดเครายาวมองไปด้านหนึ่ง (คือปีที่จบลงหรืออดีตที่ล่วงผ่านไป)  อีกหน้าหนึ่งอ่อนวัยกว่า(ไม่มีหนวดเครา) มองไปในทิศตรงข้าม(คือปีใหม่หรืออนาคต).  จิตรกรรมน้อยในหนังสือรวมบทสวดเล่มหนึ่ง เสนอเป็นชายสามหน้าเพื่อสื่อปัจจุบันด้วย (ปรากฏในหนังสือ Bedford Hours, จากปี 1423.  ปัจจุบันอยู่ที่ British Library ลอนดอน)  แต่รูปแบบนี้ไม่ปรากฏว่ามีการทำอีกอาจเป็นเพราะทำให้ภาพดูไม่สวยนัก   ถ้าเป็นคนใบหน้าเดี่ยวๆ  บางทีก็มีภาพประกอบในพื้นหลัง เป็นประตูที่เปิดออกเห็นหลังชายคนหนึ่งเดินห่างออกไป. ชื่อเดือนคือชื่อของเทพเจ้า Janus ผู้รักษาประตูกรุงโรม  สถานบูชาเทพนี้มีประตูทางเข้าสองประตู ซึ่งปิดในยามสงบและเปิดในยามมีศึกสงคราม เพื่อให้เทพเจ้าเข้ามาช่วยกรุงโรม.   ค่านิยมนี้พัฒนาต่อมาเป็นเทพผู้ปิดปีเก่าและเปิดรับปีใหม่  คตินี้ทำให้มีการเสนอภาพเป็นชายสองหน้ายืนอยู่ตรงกลาง  มือแต่ละข้างจับประตู ประตูหนึ่งปิดอีกประตูหนึ่งเปิดออก. ในยุคหลังๆภาพเดือนมกราคมเป็นภาพงานเลี้ยงฉลองเท่านั้น เช่นในภาพชุด les Très Riches Heures du Duc de Berry.
เดือนที่สอง ( 20มกราคม-18กุมภาพันธ์)  มีสัญลักษณ์เป็นผู้ชายถือคนโทน้ำคว่ำลง มีน้ำไหลออก  สัญลักษณ์นี้เรียกว่า aquarius โดยทั่วไปคนโทมีสองหูใหญ่ข้างๆ (เรียกว่า amphore เป็นเครื่องปั้นดินเผาแบบกรีกและโรมัน)   ชื่อเดือน Febrarius แปลว่าเดือนแห่งการทำตนให้บริสุทธิ์. น้ำที่ไหลลงสื่อความหมายของการชำระล้างมลทินทั้งทางกายและใจ  เราเห็นชาวนาแบกฟ่อนไม้แห้งๆที่เขาไปตัดมาจากในทุ่ง นำมาเป็นฟืน.  ภาพในปฏิทินนี้ทำให้รู้ว่าเป็นปฏิทินชีวิตชาวนาในภาคใต้ของยุโรปมากกว่าภาคอื่น ทั้งนี้เพราะภาพเดือนเดียวกันที่จำหลักไว้ในสถาปัตยกรรมโบสถ์ในภาคเหนือ รวมทั้งที่ปรากฏในจิตรกรรมยุโรปตอนบน เดือนกุมภาพันธ์ยังเป็นเดือนที่หนาวมาก  ผู้คนยังคงเก็บตัวอยู่ในบ้าน และนั่งหน้ากองไฟหรือเตาผิง.  

เดือนที่สาม (19กุมภาพันธ์-20มีนาคม)   มีสัญลักษณ์เป็นปลาสองตัวที่เชื่อมต่อกันด้วยสายใยดังภาพ เรียกกันว่า pesces ชื่อเดือนมาจากชื่อเทพแห่งสงคราม-Martius. สื่อความหมายของพลัง ความมานะ ความมุ่งมั่นเป็นต้น  ปลาสองตัวที่จัดวางแบบนี้ สื่อความหมายของการเข้าร่วมหลอมตัวสู่มวล(สาร) ที่ใหญ่กว่าเช่นหยดน้ำในทะเล หรือคนในหมู่มนุษยชาติ.  หมดข้อแตกต่างหมดสิ่งขวางกั้นใดๆ  จึงเป็นการข้ามจากความเป็น"ตน" สู่ความไม่มีที่สิ้นสุด.  ปลาในคติคริสต์ศาสนาอาจโยงไปถึงพระเยซู พิธีศีลมหาสนิท หรือการล้างบาปเป็นต้น  เช่นคำ Jesus-Christ นี้ในภาษากรีกคือคำ Ichtus ที่แปลว่าปลา. ในเดือนนี้ชาวนาออกไปตกปลามาเป็นอาหาร. กิจกรรมที่ต้องทำคือการจัดเตรียมต้นไม้ ตัดกิ่งแห้งทิ้ง(พรวนดิน) และเตรียมทำร้านให้กิ่งอ่อนๆที่จะเกิดใหม่ .
เดือนที่สี่ (21มีนาคม-20เมษายน)  มีแกะตัวผู้เป็นสัตว์สัญลักษณ์ของราศี Aries ชื่อเดือนในภาษาละตินว่า Aprilis. แกะสื่อความหมายของการเกิดใหม่ ของชัยชนะในคติของคริสต์ศาสนา.  แกะที่ถูกฆ่าสังเวยก็เพื่อไปสู่ชีวิตใหม่ที่ไม่มีวันตาย. ในช่วงเดือนนี้ ใบไม้กิ่งไม้ผลิใหม่และเติบโตให้ดอกให้ผลต่อไป.  ชาวนาจึงต้องดูแลจัดกิ่งใหม่ๆให้เติบโตตามจุดที่ต้องการ  (ต้นไม้ที่พูดถึงนี้ส่วนใหญ่หมายถึงต้นองุ่นเป็นสำคัญ).  ชาวตะวันตกดูจะชอบเดือนนี้เป็นพิเศษ  ฤดูใบไม้ผลิเหมือนเด็กรุ่นนำความหรรษา ความหวังใหม่ๆแก่ชีวิตเหมือนธรรมชาติที่เกิดใหม่.   มีจิตรกรรมน้อยเสนอเป็นภาพของกษัตริย์บนบัลบัลลังก์ มือหนึ่งถือคทา อีกมือหนึ่งกิ่งใบไม้อ่อนๆ  ให้ความรู้สึกว่าทั้งสองสิ่งมีความสำคัญเสมอกัน. บางทีก็เป็นภาพเด็กหนุ่มมีมงกุฎดอกไม้บนหัว.  วัยหนุ่มวัยสาวเป็นวัยสำคัญและมีค่าที่สุดในชีวิตคน.  มีประติมากรรมบางแห่งเสนอเป็นภาพเด็กหนุ่มถือขนมปังเลี้ยงนกที่บินมาเกาะกินที่มือ.  ผู้คนออกไปหาความสุขสำราญในธรรมชาติหลังจากที่เก็บตัวหนีหนาวมานาน.
เดือนที่ห้า (21เมษายน-20พฤษภาคม)   มีวัวกระทิง(แทนตระกูลวัวทั้งหมด) หรือ Taurus เป็นสัญลักษณ์. ชื่อเดือนคือ Maius มาจากชื่อเทพ Maia ในเทพปกรณัมกรีกและโรมัน. เธอเป็นภรรยาของ Zeus/Apollo คนหนึ่งและเป็นแม่ของ Hermes.  ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของความสมบูรณ์ ของสมรรถภาพในการขยายพันธุ์.  ช่วงเดือนนี้ธรรมชาติกำลังผลิบานและเติบโตขยายพันธุ์เช่นกัน.  วัวหมายถึงกำลังหรืออำนาจ หรือความมุมานะที่ไม่ท้อถอยและไม่หวั่นเกรง. ในชีวิตชาวนาวัวคือคู่ทุกข์คู่ยาก มีค่าเหนือสิ่งใด เป็นทั้งนายและผู้รับใช้.  ในปฏิทิน เราเห็นชาวนาถือรังผึ้งที่เขาไปเก็บมาจากธรรมชาติ  อีกมือหนึ่งถือชามมีนกสองตัว เพื่อสื่อว่าเดือนนี้คนจับนกกินเป็นอาหาร.  เราเห็นรังนกกับลูกนกบนกิ่ง.  ปฏิทินยุคหลังๆเสนอภาพของขุนนางขี่ม้าออกไปล่าสัตว์  มีเหยี่ยวเกาะบนแขนข้างหนึ่ง.  เหล่าหญิงชาววังเดินทอดน่องเก็บดอกไม้ ท่ามกลางธรรมชาติที่น่าอภิรมย์.  ปฏิทินยุคหลังจึงเบนไปให้ภาพของชีวิตของขุนนางแทน.
เดือนที่หก (21 พฤษภาคม-21มิถุนายน)  มีสัญลักษณ์คนคู่หรือ Gemini  ชื่อเดือนมาจากชื่อของกงศุลโรมัน Lucius Junius Brutus (ศตวรรษที่ 6 BC)  วีรบุรุษคนหนึ่งของโรมผู้คว่ำระบบราชาธิปไตย (509 BC). สัญลักษณ์คนคู่หมายถึงการติดต่อ การเชื่อมสัมพันธ์กัน.  ปกติมักเป็นเด็กหนุ่มสองคนมากกว่าเป็นชายหญิงคู่หนึ่งที่เห็นในภาพนี้.  ผู้ชายถือกิ่งไม้ในมือ สื่อการทำงานในทุ่ง  ส่วนผู้หญิงมีผ้าคล้องที่มือ สื่อการทำงานทอผ้าในบ้าน.  นัยยะสำคัญคือการเป็นผู้เสริมซึ่งกันและกัน  ความสัมพันธ์นี้นำไปสู่วิวัฒนาการในธรรมชาติ คือความสุกงอมของเหล่าพืชพันธุ์ในเดือนถัดไป.  เดือนนี้ผู้ชายแบกเครื่องมือไถพรวนดินพร้อมกับถือถ้วยในมือที่ใส่เมล็ดพืชผักที่เขาจะปลูกในทุ่งนา (ชาวนาในยุคนั้นหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวในช่วงตุลาคม เพื่อให้มันจมฝังอยู่ในดินจนถึงฤดูใบไม้ผลิ)ปีถัดไป.
เดือนที่เจ็ด (22 มิถุนายน-22 กรกฎาคม)   มีสัญลักษณ์เป็นสัตว์คล้ายปูเรียกว่า Cancer (ในภาพนี้มีหางด้วย).  ชื่อเดือนมาจากชื่อของ Caius Julius Caesar (101-44 BC)  ผู้แผ่อาณาจักรโรมันออกไปกว้างและไกล ปรับปรุงและพัฒนาระบบการปกครองภายในจักรวรรดิโรมัน.   สัตว์สัญลักษณ์ของเดือนนี้ เป็นสัตว์น้ำที่มีกระดองแข็งป้องกันตัว  มีคุณสมบัติของน้ำในแง่ของผู้ให้กำเนิดชีวิต  ในขณะเดียวกัน ก็สื่อการเก็บตัวหรือการฟื้นฟูและธำรงชีวิตของตน.  เมื่อมาถึงเดือนนี้ดวงอาทิตย์ได้โคจรไปถึงจุดสูงสุดบนเส้นทางโคจรรอบโลกและจากจุดนี้ไปก็จะลดต่ำลงไปเรื่อยๆ.  ในเดือนนี้ต้นข้าวในนาเติบโตไปถึงจุดสุดของมันเช่นกัน.  ชาวนาเตรียมลับมีดลับเคียวเพื่อการเก็บเกี่ยวในเดือนถัดไป.
เดือนที่แปด (23 กรกฎาคม-22 สิงหาคม)    เป็นราศีสิงห์ Leo.  สิงโตหรือราชสีห์เป็นภาพลักษณ์ของอำนาจ  สัญลักษณ์นี้ยังโยงไปถึง Leones  เหล่าพระผู้ประกอบพิธีบูชาเทพมิทรา-Mithra (เทพเจ้าในแดนอิหร่านโบราณและเข้ามาปะปนในเทพปกรณัมกรีกและโรมัน).  พระเหล่านี้มีรูปร่างภายนอกเป็นสิงโต เป็นที่เคารพยำเกรง.  ชื่อเดือนนี้มาจากชื่อของจักรพรรดิโรมันเช่นกันคือ Caius Julius Caesar Octavianus Augustus (63-14 BC).  Augustus เป็นหลานของ Caesar ยุคของเขาได้ชื่อว่าเป็นยุคทองของจักรวรรดิโรมัน.  เดือนนี้ชาวนาทำงานหนักเก็บเกี่ยวข้าวสาลี.  ในยุโรปเดือนสิงหาคม เมื่อไปในท้องทุ่งนาไร่นอกเมือง  เห็นทุ่งนาข้าวเหลืองทอง เป็นภาพของความอุดมสมบูรณ์.  ภาพเก็บเกี่ยวข้าวจึงมักหมายถึงเดือนสิงหาคม. (แล้วแต่ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ฤดูเก็บเกี่ยวไม่เหมือนกันในทุกท้องถิ่นเพราะอนุภูมิอากาศที่ต่างกัน).  ในศตวรรษที่15-16 ใช้ภาพกล้อนขนแกะที่นิยมกันมากในยุคนั้น  เพราะคนได้อาศัยขนแกะมาทำเครื่องห่อหุ้มกายกันหนาว ส่วนแกะก็ยังมีเวลาพอให้ขนงอกใหม่คุ้มตัวมันเองในฤดูหนาวเช่นกัน.
เดือนที่เก้า (23 สิงหาคม-22 กันยายน)    เป็นภาพหญิงสาวถือช่อไม้สองช่อในมือ  เรียกว่า Virgo. ช่อไม้นี้เป็นใบปาล์ม บางทีก็เป็นรวงข้าว หรือเป็นกิ่งช่อดอกไม้เล็กๆ.  ช่อพรรณไม้นี้เป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ของความงาม.   ต่อมาคริสต์ศาสนาเพิ่มนัยยะของการรักษาพรหมจรรย์ ซึ่งถือเป็นคุณธรรมที่น่ายกย่องสรรเสริญอย่างหนึ่ง  และยังใช้เป็นสัญลักษณ์ของการยอมสังเวยชีวิตเพื่อศาสนา.  Virgo ยังเป็นชื่อหมู่ดาวหมู่หนึ่งและเป็นชื่อธารน้ำสายหนึ่งที่ไหลผ่านกรุงโรม.  ชื่อเดือนกันยายน มาจากคำว่า September หมายถึงเดือนที่เจ็ดของปี  ตามปฏิทินโรมันเก่าที่เริ่มปีใหม่ด้วยเดือนมีนาคม.  ในตอนใต้ของยุโรปชาวนาเริ่มหว่านเมล็ดลงดินสำหรับปีต่อไป  เมล็ดจะฝังจมลงในดินลงเรื่อยๆด้วยอำนาจฝนและหิมะ คอยฤดูใบไม้ผลิปีต่อไป.  ในยุโรปตอนบนการเก็บเกี่ยวยังไม่สิ้นสุด  การหว่านเมล็ดจะไปอยู่เดือนถัดไป.
เดือนที่สิบ (23 กันยายน-22 ตุลาคม)    มีสัญลักษณ์เป็นคันชั่ง  ชื่อเดือนมาจากคำ October หมายถึงเดือนที่แปดของปีตามปฏิทินโรมันเก่า.  ภาพของคันชั่งสื่อความหมายของการชั่งตวง กฎบัญญัติและในที่สุดคือความยุติธรรมที่คริสต์ศาสนาโยงไปถึงความยุติธรรมในการตัดสินครั้งสุดท้ายของพระผู้เป็นเจ้า (The Last Judgement) เมื่อทุกวิญญาณฟื้นขึ้นรับฟังคำตัดสินว่า จะได้ไปอยู่สวรรค์หรือจะถูกลากตัวลงนรก.  เดือนนี้ชาวนาเริ่มเก็บองุ่นและยุ่งกับการหมักทำเหล้าองุ่น.  (คันชั่งบางทีก็เปลี่ยนใช้ดาบแทน  ในคริสต์ศิลป์มีภาพพระผู้เป็นเจ้าคาบดาบไว้ในปาก เพื่อสื่อความเป็นกลางไม่เข้าใครออกใคร.  รูปปั้นที่มักจะประดับอยู่ในบริเวณที่ตั้งกระทรวงยุติธรรมในยุโรป  เป็นผู้หญิงมือหนึ่งถือดาบ อีกมือหนึ่งถือคันชั่งและมีผ้าผูกปิดตาทั้งสอง  จึงเป็นรูปลักษณ์ที่สื่อความยุติธรรมที่สมบูรณ์ที่สุด เพราะคำตัดสินขึ้นอยู่กับน้ำหนักของความถูกความผิดบนคันชั่ง  ผู้นั้นจะเป็นใครไม่เห็นไม่รับรู้ทั้งนั้น  หากผิดก็จะถูกลงโทษอย่างแน่นอน.  

เดือนที่สิบเอ็ด (23 ตุลาคม-22 พฤศจิกายน)  มีแมงป่องเป็นสัตว์สัญลักษณ์ประจำราศี  เรียกว่า Scorpio.  ชื่อเดือนมาจากคำ November (novem แปลว่า เก้า หมายถึงเดือนที่เก้าตามปฏิทินโรมันเก่า). สัญลักษณ์แมงป่องสื่อความหมายของความทนทาน ของการสู้ไม่ถอยจนในที่สุดหมายถึงความตายด้วย.  ในตำนานเทพกรีก Scorpion ช่วยแก้แค้นให้ Diana ด้วยการเข้ากัดส้นเท้าของ Orion  ผู้คิดหวังในตัวนาง.  Scorpion เลยถูกแปลงร่างไปเป็นหมู่ดาวบนท้องฟ้า (Orion ก็ถูกระเห็ดให้ไปเป็นหมู่ดาวเช่นกันและยังต้องคอยหลีกหนี Scorpion อยู่อีก).  หลังการเก็บองุ่นแล้วอากาศเริ่มหนาวขึ้นเรื่อยๆ ในปฏิทินนี้ชาวนาออกไปตัดไม้ในป่าเพื่อเป็นฟืนสำหรับทำความอบอุ่นในบ้านระหว่างฤดูหนาว.   ภาพวัวกับชาวนา บอกให้รู้ว่าได้ออกไปพรวนดินและกลับดินในทุ่งนามาด้วยกัน.   บางทีเป็นภาพของชาวนาต้อนฝูงหมูไปเลี้ยงในป่าใต้ต้นโอ๊คซึ่งยังมีมากในยุโรปยุคนั้น.  ต้นโอ๊คมีผลเหมือนลูกนัทเล็กๆ ที่เป็นอาหารหมูได้อย่างดี (ผลนัทนี้ในภาษาละตินคือคำ glans คือ acorn ในภาษาอังกฤษ)  หมูกินจนอ้วน.

เดือนที่สิบสอง (22 พฤศจิกายน-20 ธันวาคม)   มีสัญลักษณ์เป็นพรานธนูครึ่งคนครึ่งม้าหรือ Sagittarius.  ชื่อเดือนธันวาคมมาจากคำ December หมายถึงเดือนที่สิบตามปฏิทินโรมันเก่า.  ภาพนายพรานธนูสื่อความหมายของการเคลื่อนไหวของสัญชาติญาณแบบคนป่าล่าสัตว์และพเนจร  อันสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นอิสระของคน.  ตรงกับที่เป็นช่วงว่างงานในทุ่งนาและก่อนถึงจุดเริ่มฤดูหนาว.  ชาวนาฆ่าหมูเพื่อทำขาหมูเค็ม ไส้กรอกและหมูเค็มแบบต่างๆ เพื่อไว้เป็นอาหารตลอดฤดูหนาว.  ในศิลปะ บางทีเห็นเป็นภาพคนนั่งหน้าขาหมูแฮม มือถือถ้วยเหล้าและมีด  สื่อการฉลองปีที่จะสิ้นสุดลงหรือปีแห่งการทำงานที่จบลงเพราะฤดูหนาวเป็นฤดูที่ไม่มีกิจกรรมใดในยุคนั้น.   
จะเห็นว่าภาพทั้งหมดเกี่ยวกับชีวิตของชาวนาเป็นสำคัญ  เพราะกิจการงานของชาวนาคือภาพสะท้อนของดวงอาทิตย์ ของแสงแดดในแต่ละเดือน  ความร้อนแรงของแสงแดดที่ไม่เหมือนกันตามถิ่นที่ตั้งอยู่ในภาคเหนือหรือในภาคใต้  ยังผลให้กิจการงานของชาวนาไม่เหมือนหรือตรงกันเลยทีเดียว   ชีวิตชาวนาหมายถึงการมีอาหาร ความสามารถในการดำรงชีวิตและในที่สุดการตั้งเป็นประชาคม   เนื้อหาดังกล่าวกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในศิลปะคลาซสิกตะวันตกทั้งในจิตรกรรมและประติมากรรม  แม้วิธีการเสนอจะเปลี่ยนไปตามความนิยมแต่ละสมัย  ในมุมมองของคริสต์ศาสนา พระเจ้าได้เจาะจงอย่างชัดเจนแก่อาดัมและอีฟ เมื่อจะถูกขับออกจากสวรรค์ว่า  ต่อนี้ไปพวกเขาต้องทำงานเพาะปลูกเพื่อสะกัดอาหารออกจากดินและอีฟต้องลำบากอุ้มท้องสืบพันธุ์มีลูกมีหลานสร้างเผ่าพันธุ์มนุษย์  งานเพาะปลูกจึงเป็นงานที่คริสต์ศาสนาเน้นเหนือกิจการงานอื่น และคริสต์ศิลป์ทุกรูปแบบก็บันทึกไว้เหมือนดั่งจะสรรเสริญและปลอบใจคนไปพร้อมๆกัน
รอบๆขอบวง เห็นหัวคนด้านข้างโผล่ออกมาเป็นระยะ ทั้งหมดสิบสองหัวในสิบสองเดือน  เราเห็นลมออกจากปาก  คือลมที่พัดในแต่ละเดือน มีลมหลักประจำสี่ทิศ ลมหลักๆยังมีลูกลมอีกสองลูก. 
ลมเหนือ (Septentrio) เป็นลมหนาว มีลมลูกที่ชื่อ Aquilo เป็นลมหนาวเย็นและแห้ง ในขณะที่ลมลูกชื่อ Circius เป็นลมหนาวที่นำหิมะและลูกเห็บมา.  
ลมตะวันออก (Subsolanus) เป็นลมที่มีความแรงพอประมาณ  มีลมลูก Vultirnus เป็นลมแห้งและลมลูก Hellespontius เป็นลมที่เพิ่มความชื้นให้กับเมฆ.  
ลมใต้ (Auster) เป็นลมที่นำฝนและพายุฝน   มีลมลูก Euroauster เป็นลมร้อนและลมลูก Austroafricanus เป็นลมร้อนน้อยกว่า.
ลมตะวันตก (Zephyrus) เป็นลมอุ่นที่พัดเอื่อยๆ  เมื่อลมนี้พัดมาเท่ากับบอกว่าฤดูหนาวสิ้นสุดลงแน่แล้ว  ลูกลม Agrestes ทำให้เมฆรวมตัวในขณะที่ลูกลม Africus ทำให้เกิดพายุฝน
ในมุมทั้งสี่ภายในกรอบสี่เหลี่ยม ก็มีภาพคนสี่คน แต่ละคนสื่อความหมายต่างๆดังนี้คือ
ในมุมบนด้านซ้าย คนถือกิ่งไม้ที่เพิ่งผลิใบ(หรือดอก)  สื่อฤดูใบไม้ผลิ (Ver) นอกกรอบออกไปเห็นภาพของรุ่งอรุณ Aurora. 
ในมุมล่างด้านซ้าย เป็น คนสวมหมวกมือถือตะกร้า เห็นพวงองุ่น ข้าวโพด  คือภาพของฤดูใบไม้ร่วง (Autumnus) อันเป็นฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตจากนาไร่. ฤดูใบไม้ร่วงจึงเป็นฤดูของความอุดมสมบูรณ์.  นอกกรอบออกไปเห็นภาพของเที่ยงวันหรือ Meridies.

ในมุมล่างด้านขวา ชายไว้หนวดเครายาว (หนวดเคราสื่อว่าคนนี้มีอายุมาก) บนตัวมีเสื้อคลุมทับอีกชั้นหนึ่ง. เขามีผ้าโพกปิดทั้งหัว  เขาถอดรองเท้าออก ยื่นเท้าเข้าไปใกล้กองไฟเพื่อช่วยให้คลายเหน็บคลายหนาว.  เป็นภาพของฤดูหนาว (Hiemps) อันเป็นฤดูที่ผู้คนอยู่ในบ้าน. เป็นฤดูพักผ่อนก็ว่าได้เพราะเกือบไม่มีกิจกรรมใดๆนอกบ้าน. นอกกรอบออกไปเห็นภาพของยามเย็นหรือ Vespera.
ในมุมบนด้านขวาเป็นคนไม่ใส่เสื้อผ้า มือขวาถือเคียวและมือซ้ายถือช่อข้าว(แบบภาพคร่าวๆ)  แสดงฤดูร้อน (Aestas) เพราะเมื่อต้องทำงานกลางทุ่งนา พวกฝรั่งมักถอดเสื้อผ้าหนาๆออก. นอกกรอบออกไปเห็นภาพของยามดึกหรือ Priuna.
นอกจากนี้ยังมีภาพคนในสี่มุมนอกกรอบด้วย  ในเอกสารต้นฉบับมีคำภาษาละตินกำกับไว้ที่ทำให้เข้าใจว่าต้องการสื่อเวลาสี่ช่วงในแต่ละวันโดยที่ในมุมบนซ้ายคือภาพสัญลักษณ์ของอรุณรุ่ง (Aurora) หรือยามเช้า  ภาพเด็กรุ่นสื่อความหมายของวัยเยาว์  มือหนึ่งยกขึ้น อีกมือชี้ไป  สื่อความหมายว่ากำลังจะไปที่หนึ่งที่ใดหรือหมายถึงชีวิตที่จะเริ่มพัฒนา จะเดินก้าวออกไปสู่โลกที่ตนจะต้องเผชิญและเรียนรู้.  ในมุมล่างด้านซ้ายเป็นยามเที่ยง (Meridies) เป็นชายมีหนวดเคราท่าทางกำยำ  มือทั้งสองไปชี้ในทิศทางเดียวกัน สื่อความหมายของผู้สั่ง ผู้อธิบายหรือผู้พูด  ผู้มีวัยฉกรรจ์เป็นผู้ที่รู้ทิศทางชีวิต  รู้ในกิจที่ต้องทำจึงเป็นผู้ปฏิบัติการและผู้นำ.  ในมุมล่างด้านขวาเป็นยามเย็น (Vespera)  ภาพผู้หญิงยกแขนขึ้นและกางออกทั้งสองข้าง เพื่อบอกว่าเห็นด้วยหรือยินยอม  สื่อวัยสาวเต็มตัวพร้อมที่จะรับภาระของภรรยา รับหน้าที่ในครัวเรือน.  ในมุมบนด้านขวาเป็นยามดึก (Priuna) ภาพคนมีขนเต็มตัว สื่อความหมายของวัยวุฒิ  ในฐานะของผู้ที่มีประสบการณ์มาก่อนจึงเป็นผู้ที่คอยแนะหรือคอยห้ามปราม เพื่อสร้างความสงบในครอบครัว ในหมู่คน.  เวลาสี่ช่วงดังกล่าวยังอาจหมายถึงสภาวะจิตใจกับอารมณ์ของคนในแต่ละช่วงของวันด้วย  (การจัดวางใกล้กันระหว่างฤดูกับช่วงยามของวันในมุมในและนอกของกรอบสี่เหลี่ยมนั้น  มิได้ต้องเกี่ยวโยงกัน เพราะการกำหนดช่วงยามในหนึ่งวันไม่เกี่ยวกับฤดูกาล แต่เพราะคงหามุมสำหรับลงช่วงยามของวันไม่ได้แล้ว) อย่างไรก็ดี นับว่าปฏิทินนี้ได้รวมองค์ประกอบสำคัญในช่วงหนึ่งปีไว้ได้ครบในพื้นที่หนึ่งหน้านี้.  ถือว่าเป็นภาพ ปฏิทินที่สมบูรณ์ที่สุดที่เหลือมาจากยุคกลาง.
          จะเห็นว่าปฏิทินแบบนี้ เพียบด้วยความหมายที่นอกจากจะสื่อการหมุนเวียนของดวงอาทิตย์ในรอบปี ของฤดูกาล ของแต่ละเวลาในหนึ่งวัน ของลมแล้ว  ยังสรรเสริญการทำงานและเน้นความสำคัญของวัฏจักรชีวิตทั้งคนสัตว์และพืช  ซึ่งก็คือการอนุรักษ์สมดุลธรรมชาติของโลกไว้ คริสต์ศาสนาได้ปลูกฝังความคิดไว้ตั้งแต่อาดัมกับอีฟแล้วว่า  ต่อไปนี้คนต้องทำงานเพื่อช่วยตัวเองและจากการทำงาน ผ่านความลำบาก ต่อสู้กับอารมณ์กิเลสและตัณหาภายในของตน  เขาจะเรียนรู้ชีวิต มีจิตสำนึกที่แจ่มกระจ่างและในที่สุดยกระดับคุณธรรมของตน เพื่อจะได้กลับคืนสู่สวรรค์สู่อ้อมอกของพระผู้เป็นเจ้าดังเดิม  พระผู้เป็นเจ้าเป็นศูนย์กลางที่สรรพสิ่ง กระจายออกเป็นเครือข่ายอย่างมีระเบียบมีระบบ และจะกลับคืนสู่พระองค์เช่นกัน  วงจรแห่งกาลเวลาจึงประจวบกับวงจรชีวิตทั้งภายในและภายนอกของคน  ศิลปะแบบนี้นำผู้ดูไปสู่ความรู้สึกที่ลุ่มลึก สะกิดให้ไตร่ตรองเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ เกี่ยวกับธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงเรา  ความสำคัญของการเกษตร หรือในที่สุดเกี่ยวกับจุดยืนของเราแต่ละคนในจักรวาล

เมื่อเข้าใจวงจรชีวิตชาวนาในแบบรวบรัดแต่ชัดเจนจากภาพวาดข้างต้นแล้ว  เราก็จะเข้าใจประติมากรรมจำหลักชุดปฏิทินชีวิตชาวนาบนกำแพงด้านนอกของโบสถ์ใหญ่ๆในฝรั่งเศสได้ทันทีที่เห็น.  ประติมากรรมศิลาจำหลักนูนที่แสดงปฏิทินครบชุดเป็นขวัญตาแก่เราในยุคปัจจุบัน ไม่มีที่อื่นใดในโลกที่เราไปดูได้นอกจากที่เมืองอาเมียงส์ในฝรั่งเศส  ซึ่งองค์การยูเนสโกประกาศให้เป็นหนึ่งในมรดกมนุษยชาติในปี 1981 ที่เราต้องช่วยกันถนอมไว้ให้อยู่ต่อไปอีกนานที่สุดที่จะทำได้.  ข้าพเจ้าจึงถือโอกาสนำมาลงทั้งชุดไว้ณที่นี้.  จะเห็นว่าเมื่อเทียบกับภาพวาดปฏิทินที่เรากล่าวถึงอย่างละเอียดตั้งแต่ต้นนั้น  เดือนจะคาบเกี่ยวไป  ทั้งนี้แล้วแต่ที่ตั้งและอนุภูมิอากาศของท้องถิ่นที่ต่างกัน  เนื่องจากเป็นศิลาจำหลักพื้นที่หินที่มีจำกัดทำให้ศิลปินมีวิธีย่อเอกลักษณ์ประจำเดือนต่างกันไป  มีเสน่ห์อีกแบบหนึ่งและโดยเฉพาะเมื่อคิดถึงนายช่างฝีมือที่ตอกลงบนหินให้เป็นรูปร่างโดยตรงเลย ด้วยน้ำมือของพวกเขาทีละก้อนทีละส่วน  ทำให้ผลงานนี้ผนวกชีวิตจิตใจของคนทำยุคศตวรรษที่13ไว้ด้วยอย่างถาวร  เพราะไม่ว่าวันเวลาผ่านไปแล้วกี่ศตวรรษ อารมณ์ของศิลปินยังเป็นสิ่งที่เรารู้สึกได้ด้วยใจเมื่อไปยืนดูที่หน้าโบสถ์เมืองอาเมียงส์ ศักดิ์สิทธิ์และสื่ออารมร์สุนทรีย์ได้ยิ่งกว่าการไปยืนคารวะสุสานของศิลปิน (อันกลายเป็นค่านิยมในสมัยนี้)
เชิญชมภาพปฏิทินเดือนต่างๆ จากโบสถ์ Notre Dame d’Amiens ที่งดงามน่าทึ่ง เรียงตามลำดับเดือนดังนี้ 






Notre-Dame d’Amiens, France (ศตวรรษที่13)
 เครื่องหมายดอกจันบอกตำแหน่งบนกำแพงโบสถ์ที่มีประติมากรรมจำหลักนูน
เป็นวงจรชีวิตชาวนาในแต่ละเดือน

ภาพประตูใหญ่ตรงกลางด้านหน้า ทิศตะวันตกของโบสถ์ Notre-Dame d’Amiens. ที่มีเครื่องหมายดอกจันกำกับคือที่ไปถ่ายภาพประติมากรรมจำหลักนูนที่นำมาให้ชมข้างต้น. หมายเลขหนึ่งเสนอสิบสองเดือนในวงจรชีวิตชาวนา  ส่วนหมายเลขสองด้านซ้ายของภาพ เสนอภาพชุดคุณธรรม-อธรรม เป็นสองแถวคู่กันไป. สองข้างทางเข้าประตูทั้งซ้ายและขวา ก็มีประติมากรรมจำหลักนูนเป็นดอกจิกสองแถวเช่นกัน เนื้อหาในคัมภีร์เก่า ที่หาดูที่อื่นไม่ได้. กำแพงจำหลักอย่างงดงามนี้ อยู่ในระดับสายตาที่ทุกคนจะเห็นเมื่อเดินเข้าออกโบสถ์  เป็นตอนบนของฐานกำแพง ด้านขวามือของเรา(หมายเลข1)  คงได้เห็นแล้วว่า ภายในดอกจิก แถวบนเป็นสัญลักษณ์ประจำแต่ละเดือน  ส่วนแถวล่างตรงกันเป็นภาพชีวิตชาวนา.
กำแพงด้านซ้ายมือตรงข้ามกันบนทางเข้าประตูใหญ่ทิศตะวันตกของโบสถ์ มีการจำหลักเป็นสองแถวในลักษณะเดียวกันนี้. แต่เป็นภาพชุดของคุณธรรมที่อยู่แถวบน และมีอธรรมอยู่แถวล่างคู่ขนานกันไป (หมายเลข 2).  เป็นประติมากรรมจำหลักนูนที่ยังคงสวยงามประทับใจอยู่เสมอ ที่หาดูจากที่อื่นไม่ได้แล้ว แม้ที่ Notre Dame de Paris ยังไม่สวยและชัดเจนเท่ากับที่นำมาให้ชมข้างบนนี้.
ถ้าได้ไปเห็นด้วยตนเองจะยิ่งเข้าใจดีขึ้นว่า ทำไมวัดหรือโบสถ์จึงรวมชีวิตจิตใจของปวงชนไว้ได้  ความงามของศิลปะบวกประสิทธิภาพของสารที่ต้องการสื่อ สามารถชักพา โดนใจและกระตุ้นศรัทธาความเชื่อ  ในขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งปลอบใจด้วยว่า พระเจ้าเห็นการทำงานของพวกเขา และไม่ลืมพวกเขา  ความสนใจในการจารึกการหมุนเวียนของกาลเวลา เพิ่มขึ้นเรื่อยๆพร้อมๆกับศรัทธาในคริสต์ศาสนา. 
  
รายงานบทนี้ เป็นส่วนหนึ่งจากบทความเรื่อง  "วงจรแห่งกาลเวลา - ปฏิทินยุโรปแบบแรกๆ"  ของ โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์  ที่ปรากฏใน Journal of  European Studies, Vol  8 no  2 July-December 2000, pp. 140-169  จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย.
หนังสืออ่านประกอบที่น่าสนใจ
1. 
Jean Chevalier & Alain Gheerbrant.  Dictionnaire des symbols.  Paris, Robert Laffont.  1982.
2.  Alexander Roob.  Alchimie et Mystique.  Koln,  Ed.
Taschen.  1997.
3.  Solange de Mailly Nesle.  Astrology - History, Symbols and Signs. Originally Editions Fernand Nathan, 1981.  Reprinted by Leon Amiel Publisher with English translation by Lawrence Lockwood.
---------------------------------------------------------------------------------------------------
บางตัวอย่างปฏิทินของชนชาติต่างๆ  จากวารสาร GEO ฉบับที่ 270 Août 2001.
หัวข้อ  L’Astrologie autour du monde. Dossier dirigé par Carole Chatelain. Textes d'Eve Sivadjian. pp. 54-79.
1. ปฏิทินเคลต์ (Celtic calendar)
2.  ปฏิทินแอซเท็ค (Aztec calendar)
3. ปฏิทินดาโกต้า (Dakota calendar)
4. ปฏิทินทิเบต (Tibetan calendar)
5. ปฏิทินดาวพระเคราะห์อินเดีย (Indian Planetary calendar)
6. จักรราศีจีน (Chinese zodiac)
7. จักรราศีอีจิปต์ (Egyptian zodiac)
8. จักรราศีตะวันตก (Occidental zodiac)



No comments:

Post a Comment