Sunday 31 January 2016

รักเล่น เล่นรัก - Pour un Flirt - Michel Delpech



รักเล่น เล่นรัก 
ตื่นขึ้นมาเปิดเว็ปของ Télématin ได้ยินเสียงเพลงนี้แว็บขึ้นมา ทำนองเพลงคุ้นเคยมาก เพราะเป็นเพลงที่ได้ยินในปี 1970 ปีที่เดินทางไปถึงฝรั่งเศสเพื่อเรียนต่อ.  เป็นเพลงที่ได้ยินอยู่เสมอ ทุกหนทุกแห่งในเมือง นอกเมือง ในหอพัก ตามร้านอาหาร ทั่วไปในฝรั่งเศส และตามรายงานข่าวเจาะจงด้วยว่า เป็นเพลงที่รู้จักกันแพร่หลายทั้งในอังกฤษ เยอรมนี ออสเตรีย สวิสเซอแลนด์เป็นต้น.  ในปีนั้น มีการแปลเพลงนี้เป็นภาษาอังกฤษและเยอรมัน. ภายในเวลาเพียงสี่เดือน แผ่นเสียงเพลงนี้ขายได้มากกว่าหนึ่งล้านสองแสนแผ่น. 
ฟังเพลง Pour un flirt (แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า << for a date >>) เช้าวันนี้ (25 Jan 2016) นึกถึงปีแรกที่เมือง Besançon [เบอซ็องซง] บรรยากาศของเมืองเก่า ป้อมปราการเก่าบนเนินเขาสูง  สภาพมหาวิทยาลัย  สภาพหอพักนักศึกษานานาชาติ  เพื่อนๆต่างชาติที่เรียนด้วยกัน ทำให้จิตใจกระปรี้กระเปร่า ร่างกายขยับนิดๆไปตามจังหวะดนตรีที่รื่นเริงใจ.  
Michel Delpech [มิเช็ล เด็ลแป๊ช] ประพันธ์เนื้อร้องและร้องเองในวีดีโอคลิปนี้ (พฤษภาคม 1971).  เนื้อเพลงพร้อมคำถอดความดังต่อไปนี้ ชัดเจน โจ่งแจ้ง ตรงไปตรงมา ไม่เสียเวลา  >>

Pour un flirt avec toi 
Je ferais n'importe quoi
  
Pour un flirt avec toi
Je serais prêt a tout
Pour un simple rendez-vous
Pour un flirt avec toi
เพื่อเล่นรักกับเธอสักครั้ง ผมจะทำทุกอย่าง เพื่อเล่นรักกับเธอสักครั้ง 
ผมพร้อมเผชิญทุกอย่าง เพื่อให้ได้นัดสักครั้ง เพื่อเล่นรักกับเธอสักครั้ง
Pour un petit tour, un petit jour
Entre tes bras
Pour un petit tour, au petit jour
Entre tes draps
เพื่อให้ได้เที่ยวเตร่กันสักรอบในอ้อมแขนเธอ วันหนึ่ง 
เพื่อให้ได้สนุกกันสักตั้งใต้ผ้าห่มเธอ เช้าหนึ่ง
Je pourrais tout quitter
Quitte à faire démodé 
Pour un flirt avec toi
Je pourrais me damner
Pour un seul baiser volé
Pour un flirt avec toi
ผมพร้อมจะทิ้งทุกอย่าง ยอมเป็นคนนอกกรอบ เพื่อเล่นรักกับเธอสักครั้ง
ผมยอมตกนรก เพื่อโขมยจูบสักครั้ง เพื่อเล่นรักกับเธอสักครั้ง
Pour un petit tour, un petit jour
Entre tes bras
Pour un petit tour, au petit jour
Entre tes draps
เพื่อให้ได้เที่ยวเตร่กันสักรอบในอ้อมแขนเธอ วันหนึ่ง 
เพื่อให้ได้สนุกกันสักตั้งใต้ผ้าห่มเธอ เช้าหนึ่ง 
Je ferais l'amoureux
Pour te câliner un peu
Pour un flirt avec toi
Je ferais des folies
Pour arriver dans ton lit
Pour un flirt avec toi
ผมจะแสร้งรักเธออย่างลุ่มหลง เพื่อโลมเล้าเธอ เพื่อเล่นรักกับเธอสักครั้ง
ผมจะทำท่าบ้าๆบ๊องๆ เพื่อขึ้นไปบนเตียงเธอ เพื่อเล่นรักกับเธอสักครั้ง
Pour un petit tour, un petit jour
Entre tes bras
Pour un petit tour, au petit jour
Entre tes draps
เพื่อให้ได้เที่ยวเตร่กันสักรอบในอ้อมแขนเธอ วันหนึ่ง 
เพื่อให้ได้สนุกกันสักตั้งใต้ผ้าห่มเธอ เช้าหนึ่ง 
เชิญคลิกไปฟังเพลงนี้ได้จากข้างล่างนี้  Michel Delpech ประพันธ์คำร้องเองและร้องเอง เมื่อครั้นเป็นเด็กหนุ่มวัยยี่สิบต้นๆ 

ทำนองเพลงที่สนุกรื่นเริง เหมือนการขอความเห็นใจ มิได้ทำให้คนฟังรังเกียจ แต่อาจเห็นใจ เพราะความตรงไปตรงมา ที่ย่อมดีกว่าการหลอกลวงให้เชื่อว่ารัก.  ดนตรีแบบนี้ในยุคทศวรรษที่ 1970 นั้น นับว่าคึกคักเร้าใจ เปิดยุคใหม่ของดนตรีวัยว้าวุ่น ตรงกับยุคฮิปปี้.  เป็นยุคที่สนับสนุนการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ในทำนองของ “หยุดสงคราม มาร่วมรักกันดีกว่า”.  การเต้นตามจังหวะของนักร้องก็ยังอยู่ในพื้นที่จำกัดไม่กี่ก้าวจากจุดยืนของเขาบนเวที.  หากเทียบกับเพลงสมัยปัจจุบันในทศวรรษที่ 2000 เป็นต้นมา  ที่ใช้พื้นที่การเต้นรำทำเพลงกว้างกว่ามากมายนัก รวมทั้งมีตัวประกอบการขับร้องที่ก็เต้นไปด้วย.  ความคึกคะนองของดนตรีที่ดังอุโฆษไม่ผิดภูเขาไฟที่กำลังคำราม  แสงไฟที่แปลบปลาบประดุจสายฟ้าฟาดที่สาดส่องไปบนพื้นที่ทุกมุมในโรงละคร  ทั้งหมดนี้ เขย่า กระทบกระเทือนจิตใจคนดูยิ่งกว่าแผ่นดินไหวรุนแรง.  ยุคปัจจุบันนี้เป็นยุคที่เนื้อร้องมิได้สำคัญเท่ากับลีลาการแสดงในแต่ละขั้นตอน.  คนร้องเสียงดี เสียงตกหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นใหญ่.  จุดหมายสุดท้ายของการแสดงคือการปลุกเร้าคนทั้งมวลได้ฉับพลัน.  เมื่อเทียบกันแล้ว เพลง Pour un flirt นับว่าเรียบร้อยหงุมหงิมมาก อีกเนื้อหาของการขอร่วมรักก็สามัญเกินไปสำหรับคนยุคนี้.
        วิธีการร้องเพลงของ Michel Delpech เป็นแบบกึ่งพูดกึ่งร้องตามทำนองดนตรีที่ดังแผ่วๆเป็นพื้นหลัง  นักร้องและเนื้อร้องโดดเด่นกว่าดนตรี.  วิธีการเสนอเพลงแบบนี้ เป็นไปตามแนวของกวีและนักเขียน  Jacques Prévert (1900-1977) ที่มักเสนอบทประพันธ์กลอนเปล่าของเขาแบบนี้.  
         เนื้อหาของเพลง Pour un flirt เมื่อมานึกในวันนี้ บ่งบอกอุปนิสัยทีเล่นทีจริงจนอาจจะพูดได้ว่า “เจ้าชู้” ของหนุ่มสาวชาวฝรั่งเศส ที่ค่อนข้างจะปล่อยอารมณ์ความรู้สึกตามสิ่งที่มากระทบจิตและกายของพวกเขา ที่พวกเขาคิดวิเคราะห์เพื่อเข้าใจอารมณ์แต่ละละลอก.  ชาวฝรั่งเศสใช้ทุกผัสสะเพื่อเรียนชีวิต แทบจะพูดได้ว่าด้วยเลือดเนื้อและจิตวิญญาณ. ไม่ยอมกลบไม่ยอมปล่อยให้ผ่านไปเฉยๆ  ส่วนหนึ่งเพราะความทรนงในตนเองด้วย.  อาจเป็นเพราะภูมิหลังในระบบการศึกษา น้อยคนจะห้ามตัวเองมิให้อ่อนไหวตามสิ่งที่มากระทบ.  หากประสบการณ์แต่ละครั้งในวัยหนุ่มสาว มิได้ทำให้พวกเขาเล็กลงในเชิงจิตสำนึก ก็นับว่าโชคดี ทำให้พวกเขาพอใจกับความสำเร็จหรือความสุขที่ได้มา.  หากโชคร้าย พวกเขาก็พร้อมจะยอมรับความทุกข์ ยอมรับความพ่ายแพ้ หลังจากที่ได้ทุ่มทั้งกายและใจไปแล้ว.
         เยาวชนตะวันตกมักผ่านประสบการณ์และพัฒนาการทั้งทางกายและทางใจ ตามกำลังความคิด สติปัญญาและอารมณ์ความรู้สึก. เมื่อยามเคราะห์ ยามอกหัก หรือไม่สมหวังเพราะเหตุผลใดก็ตาม ก็เลิกรากันไป เดินผละออกไปโดยดี ยอมรับความเสียใจ ไม่มีความคิดเคียดแค้น หรืออยากทำร้ายใคร (แน่นอน ย่อมมีกรณียกเว้นในทุกสังคม).  ในสังคมไทยและเอเชีย ได้ยินแต่การฆ่าล้างแค้น หรือการทำร้ายห้ำหั่นกันทั้งทางตรงและทางอ้อมอยู่เป็นนิจศีล ในทำนองว่า “ถ้ากูไม่ได้(คนนั้นหรือสิ่งนั้น) ใครหน้าไหนก็ไม่มีวันได้”.  ทั้งๆที่เป็นประเทศพุทธศาสนา  แต่การปล่อยวางนั้น น้อยคนจะทำได้. เนื้อหาในหนังจีนจากยุคก่อนๆเรื่อยมาก็มีแต่การแก้แค้น และการแก้แค้นนั้นไม่มีวันจบสิ้น.  มันน่าเสียใจตรงนี้ เพราะเท่ากับไม่มีการพัฒนาจิตสำนึก ไม่มีการเรียนรู้จากความเสียหาย จากความผิดพลาดเก่าก่อน.
        ประสบการณ์อันปั่นป่วน ผันผวนและมีสีสันทุกแบบสร้างคน ยกระดับจิตสำนึกของตัวคน และทำให้คนก้าวต่อไป ไม่พลาดอีก. ในแง่นี้ พูดได้ว่าฝรั่งเข้าใจชีวิต เข้าใจ "การเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป" ชัดเจนกว่าคนไทยหลายคนทีเดียว.  กว่าที่ชาวยุโรปจะไปถึงจุดหยุดนิ่งอยู่กับที่ได้นั้น พวกเขาได้เดินทางมาไกลโขแล้ว เส้นทางนั้นมีความหมายยิ่ง. สัจธรรมของชีวิตได้จารึกลงในกายและใจ ที่ทำให้พวกเขามองดูชีวิต ด้วยสติและปัญญาที่แน่วแน่ ทั้งในโลกของตรรกะและในโลกของศีลธรรม  ทั้งยังทำให้เกิดความเมตตาเอื้อเฟื้อต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และมีความพร้อมที่จะให้อภัยต่อความผิดพลาดแบบต่างๆของคน. (ดังสำนวนที่ว่า To err is human, to forgive divine.)  หลายคนได้อาศัยประสบการณ์จากเส้นทางดังกล่าว เป็นกระดานกระโดดสู่การสร้างสรรค์ที่สวยงามในรูปแบบต่างๆ เช่นเพลง ดนตรี วรรณกรรม หรือจิตรกรรม.
ต่างคน ต่างชาติ ต่างศาสนา ต่างมีเส้นทางการค้นหา การเข้าใจชีวิตด้วยวิธีต่างๆ...
การค้นพบแต่ละครั้ง แต่ละมิติ ย่อมยกระดับคนขึ้นสูงไปเรื่อยๆ. 
แต่ละคนมีบันไดของตนเอง.

Michel Delpech [มิเช็ล เด็ลแป๊ชฺ] เกิดเมื่อวันที่ 26 มกราคม 1946 และมรณะเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2016 นี้เอง. นักร้องชาวฝรั่งเศสทั้งรุ่นเก่าที่ยังมีชีวิตอยู่และรุ่นใหม่ที่กำลังรุ่ง ต่างรวมกันจัดการแสดงครั้งใหญ่เพื่อไว้อาลัยและรำลึกถึง Michel Delpech นักร้องที่ชาวฝรั่งเศสรักใคร่ชื่นชมมากที่สุดคนหนึ่ง ตามรายงานข่าวจากทีวีฝรั่งเศสว่า การแสดงดนตรีรวมเพลงของ Michel Delpech นั้น นำออกอากาศสู่สาธารณชนในวันที่ 23 มกราคม 2016. 
        จากปี 1965 จนถึงปี 2013  เนื้อหาในเพลงของเขา เพิ่มมิติที่ลุ่มลึกมากขึ้นๆ เบนไปสู่การบันทึกพฤติกรรมหรือเหตุการณ์ในสังคม. นักวิจารณ์หลายคนให้ความเห็นว่า เขาเป็นนักร้องของประชาชน ร้องลำนำชึวิตของสามัญชนด้วยความอ่อนโยน ด้วยใจที่ผูกพันกับความเป็นคนเช่นเพลง Chez Laurette (1965) (=ที่ร้านของลอแร้ต) ที่เขาแต่งด้วยความรำลึกถึงเจ้าของร้านอาหารที่เคยเปิดร้านต้อนรับกลุ่มของเขากับเพื่อนนักร้องหนุ่มๆที่ยังไม่มีใครรู้จัก.  เพลงนี้เป็นที่ชื่นชอบในสังคมทันที ที่จักเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จในวงการเพลงของ Michel Delpech. 
(ฟังเพลงนี้ได้ที่นี่ https://www.youtube.com/watch?v=G8AXNSIe9A8 )
          ในปลายทศวรรษที่ 1960 นั้น มีมหกรรมดนตรีร็อคบนเกาะเล็กๆชื่อ Wight ที่ตั้งอยู่นอกฝั่งทิศใต้ของเกาะอังกฤษ (ในช่องแคบอังกฤษที่คั่นอังกฤษกับฝรั่งเศส) มหกรรมดนตรีจัดขึ้นที่นั่นติดต่อกันสามปี รวมดารานักร้องชื่อดังของอังกฤษเช่น Bob Dylan, The Who, The Doors, Jimo Hendrix เป็นต้น.  Michel Delpech ได้แต่งและนำเพลง Wight is wight (1969) ไปร้องที่นั่น เนื้อหายกย่องกระบวนการฮิปปี้ที่กำลังขยายออกอย่างกว้างขวางในหมู่หนุ่มสาวผู้รักอิสระและต้องการสิทธิกับเสรีภาพในการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา จะออกนอกกรอบก็ควรทำได้ โดยไม่ต้องผ่านการคัดกรองจากขนบธรรมเนียมประเพณีเดิมๆ. แต่ชาวฝรั่งเศสกลับมองกลุ่มฮิปปี้นี้ว่าไม่ได้เรื่องหรือไร้สาระ. คำ wight [ไวทฺ] เป็นคำจากภาษาอังกฤษเก่าว่า wiht ที่แปลว่า สื่งที่มีชีวิต มีจิตใจและมีความรู้สึก  เป็นการเล่นคำว่า เกาะไวท์เป็นสิ่งมีชีวิตมีจิตใจมีความรู้สึก  แน่นอนโยงไปถึงอุดมการณ์ของกลุ่มฮิปปี้ที่ไปรวมตัวกันที่นั่นว่า นั่นมิใช่ไร้ความหมาย.  ภาพข้างล่างนี้เป็นปกแผ่นเสียงของเพลงนี้ในญี่ปุ่น (มีการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นทันทีเหมือนกัน รวมทั้งอัลบัมเพลงอื่นๆด้วย)
   (ฟังเพลงนี้ได้ที่นี่  https://www.youtube.com/watch?v=sJuFkpIYfUk )

         เพลง Que Marianne était jolie (1973) (=มารีอานช่างสวยจริงๆ) ที่พรรณนาผู้หญิงคนหนึ่งที่ทั้งสวยและแข็งแกร่ง  แต่ลึกลงไป ผู้หญิงที่ชื่อมารีอานในเพลงนี้ คือภาพลักษณ์ของสาธารณรัฐฝรั่งเศส (ผลพลอยได้จากยุคการปฏิวัติฝรั่งเศส)  ในเพลงเจาะจงว่า มารีอานมีลูกชายห้าคนที่เธอได้สูญเสียไปแล้วสี่คน  แฝงนัยยะโยงไปวิจารณ์สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่หนึ่งถึงที่สี่ ที่ล้มเหลว. ส่วนลูกชายคนที่ห้านั้น(สาธารณรัฐที่ห้า) เปลี่ยนแปลงไปเกินกว่าที่มารีอานผู้แม่จะจำลูกตัวเองได้.  ดูเหมือนว่า Michel Delpech จะผิดหวังในนโยบายของ George Pompidou ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีในยุคของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ห้าตั้งแต่ปี 1962-1968 และเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 1969 ถึงปี 1974 เมื่อเขาถึงแก่อนิจกรรม. Pompidou เป็นนักการเมืองที่อยู่ในรัฐบาลฝรั่งเศสนานที่สุดในประวัติศาสตร์ (12 ปี).
 (ฟังเพลงได้ที่นี่  https://www.youtube.com/watch?v=SxJpnEjIIH4 )
          เพลงชื่อ Les Divorcés (1973) ของเขา (แปลได้ว่า “คนที่แยกทางกันเดิน”) ได้เปิดประเด็นเรื่องสิทธิสตรีในสังคมฝรั่งเศสขึ้น และมีส่วนกระตุ้นให้รัฐบาลฝรั่งเศสพินิจพิจารณากฎหมายว่าด้วยการหย่าร้าง ว่ามิใช่เป็นเรื่องเลวร้ายเสมอไป ว่าชายหญิงอาจหย่าร้างกันได้ฉันมิตรและตกลงแยกทางกันเดินอย่างสงบด้วยความยินยอมทั้งสองฝ่าย. เพราะแม้ทุกอย่างจะสลายลงในชีวิตคู่ระหว่างคนสองคน แต่ชีวิตต้องดำเนินต่อไป เพื่อชีวิตที่ยังทอดไกลออกไปข้างหน้า.ในฝรั่งเศส มีการตรากฎหมายใหม่เกี่ยวกับการอนุมัติให้คู่สามีภรรยาหย่าร้างกันได้ในปี 1975. 
ฟังเพลงนี้ได้ที่นี้ >> https://www.youtube.com/watch?v=en1UmpRAREE
แต่สังคมก็รู้ว่า ในชีวิตจริงของ Michel Delpech  การหย่าร้างจากภรรยาคนแรก (Chantal Simon) ของเขานั้น ยากลำบากและสร้างปัญหาในชีวิตเขามากเพียงใด เพราะเธอเองเป็นคนทิ้งเขาไป เขายอมรับและหวังว่าการหย่าร้างจะทำให้ภรรยาของเขามีโอกาสดีๆใหม่ๆ มีความสุขมากกว่าการทนอยู่กับเขา.
         ปรากฏว่าภรรยาเขาฆ่าตัวตายไม่นานต่อมาหลังจากนั้น.  เช่นนี้แม้ว่าอาชีพนักร้องของเขากำลังพุ่งขึ้นสูง เขากลับโศกสลด เกิดตวามกังขาในชีวิต จนเครียดหนัก และหันไปยึดแอลกอฮอลและยาเสพติดเพื่อผ่อนคลายความเครียด ไปรักษาบำบัดด้วยการฉีดยาให้หลับ ไปปรึกษาจิตแพทย์ ไปหาหมอดูหลายศาสนา  รวมทั้งการไปเข้าฌาณกับกลุ่มฮินดู กลุ่มจีน เข้าจำศีลในหมู่นักบวชเป็นต้น  ในปี 1993 เขาได้เขียนอัตชีวประวัติ เล่าถึงชีวิตช่วงมืดมนของเขาดังกล่าวว่า เหมือน “ การสร้างบ้านบนทราย ” เขาเล่าว่าเป็นช่วงเวลาที่ชีวิตเขาจมปลักลงในบ่วงกิเลสและตัณหา “ ผมอยู่อย่างไร้จิตสำนึกถึงศีลธรรม ไร้จริยธรรม ไร้กฎเกณฑ์ ผมเป็นกษัตริย์ที่มีอำนาจเต็มเหนือชีวิตของผม ไม่ต้องอธิบายไม่ต้องรายงานผู้ใด ผมมีทุกอย่าง... ชีวิตที่หยิ่งผยองและกลวงความหมาย ... ต่อมาผมได้อ่านหนังสือเรื่อง Chemins de la sagesse (=บนเส้นทางสู่ปัญญาอันพิสุทธิ์ ) ของ Arnaud Desjardins [อารฺโน เดฌารฺแด็ง] (1925-2011) (มีชื่อเสียงในฐานะที่เป็นหนึ่งในชาวฝรั่งเศสคนแรกๆ ผู้แนะนำและเผยแผ่ปรัชญาของลัทธิศาสนาต่างๆในโลกตะวันออก มาสู่ฝรั่งเศส) เรื่องนี้ได้พลิกผันชีวิตผม  ผมต้องใช้เวลาเกือบเจ็ดปี เพื่อปีนป่ายขึ้นจากเหวนรกที่ผมได้ตกลงไป”.  ในปี 1983 Michel Delpech ผู้จมปลักในกองทุกข์ หมดอาลัยตายอยากในชีวิต ตื่นตัวขึ้นอีกครั้ง และได้พบผู้หญิงคนหนึ่งผู้มาช่วยให้เขากลับออกมาสู่ความสว่างอีกครั้งหนึ่ง พร้อมความหวังในชีวิตข้างหน้า. ผู้หญิงคนนั้น (Geneviève Charlotte M. Garnier-Fabre) คือภรรยาคนที่สองของเขา. ในปี 1986 เขาได้จาริกแสวงบุญไปที่เมืองเยรูซาเล็ม  ความเครียดความทุกข์ในใจยุติลงณที่นั่น เมื่อเขาได้ไปยืนสงบอยู่เบื้องหน้าสุสานของพระคริสต์ น้ำตาหลั่งไหลด้วยความตื้นตัน.  เขารู้สึกว่า เขาไปถึงจุดหมายปลายทางของชีวิตแล้ว ณที่นั้น เขาสามารถวางกระเป๋าเดินทางลงและเริ่มชีวิตใหม่.  ในที่สุดเขาประกาศตนเป็นคริสต์ศาสนิกชน. 
 ภาพถ่ายกับ Geneviève ภรรยาคนที่สองในปี 2011
         ในปี 1975 เพลง Quand j’étais chanteur (=เมื่อผมเป็นนักร้อง) ที่น่าจะเป็นเพลงที่รู้จักกันมากที่สุดของ Michel Delpech. ในเพลงนี้ นักร้องเสนอภาพตนเองในวัย 73 และมองย้อนหลังชีวิตกับความสำเร็จที่ผ่านไปในอดีต. แต่เขามิได้อยู่จนถึงอายุ 73 เพราะเสียชีวิตไปแล้วปีนี้เมื่ออายุ 69 ปี. ภาพข้างล่างนี้เป็นภาพที่ถ่ายในปี 2012 
ฟังเพลงนี้ได้ที่นี่ >>>
         เพลงทำนองร็อคตามยุคสมัยนั้นปนลูกทุ่งฝรั่งเศสชื่อ  Le Loir et Cher (1977) (=ถิ่นลัวร์และแชร์) เล่าถึงครอบครัวพ่อแม่และการได้ไปเยือนถิ่นกำเนิดที่นั่นที่แฝงทั้งความอ่อนโยนและการเหน็บแนมไว้  และในที่สุดอาจหมายถึงชนบททุกถิ่นทุกแดนดินในฝรั่งเศส ก็เป็นอีกเพลงที่คนชื่นชอบกันมาก. 
 (ฟังเพลงนี้ได้ที่นี่ https://www.youtube.com/watch?v=5NWl-ds3Hyg )
        ตลอดชีวิตนักร้อง นักประพันธ์เพลงของเขา Michel Delpech ได้รับเกียรติ รับรางวัลต่างๆ เป็นที่ยอมรับของทุกคน และแม้เมื่อยามที่เขาตกอยู่ในช่วงที่เลวร้ายที่สุด เพลงของเขาก็ยังเป็นที่ชื่นชอบอยู่เสมอ ดังนั้นเมื่อเขากลับคืนสู่วงการอีกครั้งหนึ่ง ชีวิตนักร้องจึงดำเนินต่อไปโดยไม่สะดุดอีกเลย.  ความรักความอ่อนโยนต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เป็นคุณสมบัติอีกหนึ่งที่ทำให้เขาเป็นที่เคารพยกย่องจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต และเพลงของเขาก็จะยังคงอยู่ต่อไปเช่นกัน.
         มีผู้ถาม Michel Delpech ว่า เขาแต่งเพลงอย่างไร คำพูดง่ายๆ ที่เข้าถึงคนทุกรุ่นทุกวัย ? Michel Delpech ตอบว่า “ เพลงแรกๆสมัยวัยรุ่นนั้น คำพูดออกมาเองง่ายๆ แล้วก็ยากขึ้นๆตามลำดับ. บางครั้งต้องกลับไปขุดคุ้ยจากความทรงจำเก่าๆ ที่เคยประสบมาในชีวิตจริง.  บางครั้ง ต้องตั้งใจคิด ตั้งใจเขียน แก้แล้วแก้อีก เพื่อให้ได้ประโยคที่ง่ายๆแต่ตรงจุด ประโยคที่จะไม่ทำให้สงสัย ไม่ทำให้เกิดคำถามขึ้น และจี้ตรงสู่นัยยะที่ต้องการ.  แต่ความพยายามในการแต่งเพลงดังกล่าวมานี้ ต้องไม่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่า ผู้แต่งคร่ำเคร่งกับมันมาก ทั้งๆที่ในความเป็นจริง การแต่งเพลงนั้นต้องใช้ความตั้งใจกับความเพียรสูงมาก. และในที่สุด ต้องให้คนฟังรู้สึกว่า เพลงนี้เขียนขึ้น(เหมือนไหลออกจากจิตวิญญาณ)ในเวลาเพียงไม่กี่นาที”.  
« Les premières chansons naissent assez facilement, mais après cela devient plus difficile. Il faut aller piocher dans les souvenirs, dans le vécu. C’est parfois du travail pour arriver à trouver la phrase juste et simple, celle qui va poser le moins de problèmes, de questions, en allant directement au but. Il ne faut jamais que le travail apparaisse, même si la chanson a demandé beaucoup d’efforts. Il faut au bout du compte qu’elle donne l’impression qu’elle a été écrite en quelques minutes. »  นี่เป็นแง่คิดที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้รักการเขียน เขียนอย่างไรจึงให้คนอ่านรู้สึกว่า มันง่ายและเร็วแบบ effortless จริงๆ.
         ในปี 2013 แพทย์พบว่า เขาเป็นมะเร็งในลำคอและที่ลิ้น เขาเข้ารับการรักษา. ได้ยกเลิกการแสดงหลายครั้งเพราะปัญหาสุขภาพ.  แต่ในปี 2014 เขาได้ออกร้องเพลง และเจาะจงร้องเพลง La fin du chemin (=สุดทาง) ด้วยความสงบ  วางจิตวิญญาณในมือของพระเจ้าอย่างมั่นใจและสบายใจในที่สุด. เนื้อเพลงมีดังนี้
Voici la fin de mon chemin
Sur terre
Je suis à toi
Accueille moi
Mon père
นี่คือสุดทางของผมบนโลกนี้.  พ่อ ผมอยู่นี่แล้ว อ้าแขนรับผมนะ
Voici mon âme
Séchez vos larmes
Mes frères
Je m’en vais là
Où brille la
Lumière
นี่คือดวงวิญญาณของผม.  ซับน้ำตาเสียเถิด พี่น้องเอ่ย.  ที่ที่ผมจะไปนั้น คือแดนสว่างแจ่มจรัส.
Chère Sarah
Ouvre tes bras
J’arrive
Tu penses à moi
Prépare moi la rive
ซาราห์ที่รัก อ้าแขนออกกว้าง ผมใกล้ถึงแล้ว. อย่าลืมผมนะและเตรียมฝั่งน้ำให้ผมด้วย. 
Sarah ชื่อฮีบรูในคัมภีร์เก่าเป็นภรรยาของอับราฮัม ผู้ที่ศาสนายกให้เป็นบรรพบุรุษคนสำคัญของมนุษยชาติ รองลงมาจากอาดัมกับอีฟ (ต้องรู้ว่า มีผู้สืบเชื้อสายอีกมากระหว่างอาดัมกับอับราฮัม)   ในคริสต์ศิลป์ อับราฮัมปรากฏเสมอในบริบทของวันพิพากษาสุดท้าย เขาเป็นผู้โอบอุ้มดวงวิญญาณคนดีที่ผ่านการพิพากษาแล้ว มีสำนวนใช้ว่า “หน้าตักอับราฮัม” . ส่วนชื่อซาราห์มีความหมายในฮีบรูว่า “แม่ของทุกชนชาติ”  เพื่อคู่กับอับราฮัมผู้เป็น “พ่อของทุกชนชาติ”  นี่จึงน่าจะเป็นนัยความหมายของเพลงว่า ขอให้แม่ซาราห์โอบอุ้มตัวเขาไว้  ในอ้อมอกแม่อาจอบอุ่นใจกว่าบนหน้าตักอับราฮัม.  ฝั่งน้ำที่กล่าวถึง อาจโยงไปถึงการเดินทางข้ามภพข้ามแม่น้ำ Styx ที่ขวางคั่นโลกกับภพภูมิอื่น ย้ำว่าให้การเดินทางไปนั้นมีจุดหมายปลายทาง มีท่าเทียบคอยรับอยู่.
Voici la fin de mon chemin
Sur terre
Je viens vers toi
Accueille moi
Mon père
นี่คือสุดทางของผมบนโลกนี้.  พ่อ ผมอยู่นี่แล้ว อ้าแขนรับผมนะ.
Adieu la vie
Mais je bénis
Ma chance
La vérité
L’éternité commence
ลาก่อนชีวิต. หัวใจนี้ซาบซึ้งและรู้คุณยิ่งสำหรับโชคและโอกาสต่างๆที่ผมมีในชีวิต. 
ชีวิตต่อแต่นี้ คือความจริงแท้ คือชีวิตนิรันดร์ที่จะเริ่มขึ้น  
Commence
Commence
เริ่มซะทีนะ! เริ่มซะทีสิ!
La vérité
L’éternité commence
ความจริงแท้ ชีวิตนิรันดร์ที่เริ่มขึ้น.


ภาพถ่ายเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2014
ฟังเพลงสุดท้ายของเขาชื่อ La fin du chemin ได้ที่นี่ >> https://www.youtube.com/watch?v=2PDEcOM7ado  (รวมภาพสมัยต่างๆ)
     เดือนมีนาคม ปี 2015 Michel Delpech ได้พิมพ์หนังสือเล่มใหม่ออกมาชื่อ Vivre! (=ใช้ชีวิต) เล่าถึงโรคมะเร็งของเขา ประสบการณ์การต่อสู้กับโรค และผลกระทบต่อจิตวิญญาณของเขา. หนังสืออีกเล่มหนึ่งชื่อ J’ai osé Dieu (=ผมกล้าเลือกพระเจ้า) ออกมาในปีเดียวกัน  เล่าประสบการณ์บนเส้นทางของจิตวิญญาณเพื่อไต่เต้าสู่พระเจ้า หรือความศรัทธาในศาสนาของเขา (ที่เขาพูดเองว่า ไม่อยากเจาะจงว่าเป็นลัทธิคาทอลิก หรือ โปรแตสแนต์ หรือออธอดอกส์).  ความศรัทธาที่ได้เชื่อมความรักความเข้าใจอย่างลึกซึ้งระหว่างเขากับภรรยามาเกือบสามสิบปี.  สำนวนที่ใช้เป็นชื่อหนังสือนี้ สื่อความกล้าหาญ ความท้าทายในการเชื่อในพระเจ้า ทั้งๆที่นักร้องเองก็คิดว่า แล้วถ้าพระเจ้าไม่มีตัวตนล่ะ ถ้าไม่เชื่อเขาจะได้อะไร และถ้าเขายอมเชื่ออย่างหมดจิตหมดใจล่ะ เขาจะได้อะไรไหม ? และในที่สุดเขาเลือกที่จะเชื่อ. ฟังสัมภาษณ์ของเขาเรื่องศรัทธานี้เมื่อวันที่ 14 กันยายน ปี 2014 หนึ่งปีหลังจากที่ได้ผ่านการรักษามะเร็งแล้ว >> http://www.lejourduseigneur.com/Web-TV/Thematiques/Vie-spirituelle/Temoignages/Michel-Delpech-J-ai-ose-Dieu )

       เดือนมิถุนายน ปีเดียวกัน Michel Drucker [มิเช็ล ดรุ้กแกรฺ] เพื่อนสนิทของ Michel Delpech ได้ออกประกาศต่อสังคมว่า นักร้องได้ขอให้เขาประกาศให้รู้ทั่วกันว่า เขายังต้องรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลและเขาจะไม่อยู่ในเดือนกันยายนแล้ว. หลังจากที่ Michel Delpech ถึงแก่กรรมแล้ว Michel Drucker  นักจัดรายการเพลงชื่อดังของฝรั่งเศส ได้เป็นผู้จัดรายการรวบรวมนักร้องทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ มาร้องเพลงต่างๆของ Michel Delpech เพื่อเป็นการไว้อาลัยและแสดงความรำลึกถึงนักร้องผู้จากไป ในวันที่ 23 มกราคม 2016.
 




 
        เส้นทางชีวิตที่พุ่งขึ้น ตกลง แล้วไปหยุด ณ จุดที่ควรอยู่อย่างมั่นคงในใจของชาวฝรั่งเศส  ทั้งหมดนี้บอกให้รู้ว่า คนๆนี้เป็นเช่นใด. 
        ขอคารวะ  Michel Delpech.  

โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ รายงานไว้ ณ วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๙. 


No comments:

Post a Comment